
Eraserhead (1977)
: David Lynch ♥♥♥♥
สิ่งที่อยู่ในศีรษะขี้ยางลบของ David Lynch คือจินตนาการโลกทั้งใบ ดาวเคราะห์เคยพักอาศัย รายล้อมรอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภรรยาไม่ได้อยากแต่งงานด้วยสักเท่าไหร่ และบุตรสาวเกิดมาพร้อมความผิดปกติ (โรคเท้าปุก) สิ่งเหล่านั้นทำให้ฉันไม่อยากเป็นพ่อคนเลยสักนิด!
การวิเคราะห์ดังกล่าวฟังดูสมเหตุสมผลดีนะ แถมเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในชีวิตจริงระหว่าง David Lynch กับภรรยาและบุตรสาวขณะนั้น แต่โดยส่วนตัวกลับรู้สีกยังไม่ใช่ มีความเป็น ‘รูปธรรม’ เกินไป! อย่าลืมว่านี่คือภาพยนตร์ Surrealist และความหลงใหลแท้จริงของ Lynch คือภาพวาดงานศิลปะ ชื่นชอบมากกว่าภาพยนตร์เสียอีกนะ!
Lynch เคยให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่เคยใครครุ่นคิดวิเคราะห์ Eraserhead (1977) ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ตนต้องการนำเสนอออกมา ดังนั้นการวิเคราะห์ที่ผมเกริ่นนำตอนต้น โยนมันลงถังขยะไปได้เลย จริงอยู่เรื่องราวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดตัวเขา แต่นั่นย่อมมิใช่สาสน์สาระแท้จริงอย่างแน่นอน
จากนี้ผมจะทำการวิเคราะห์แบบเอามันส์ ไปตาบเอาดาบหน้า ไม่น่าจะมีใครเหมือนหรือเหมือนใคร คิดเสียว่ามันคือ ‘มุมมอง’ ไม่มีถูกไม่มีผิด ขอแค่ได้ครุ่นคิด(และอ่าน)ก็น่าจะเพลิดเพลินสนุกสนาน พร้อมข้อคิดแปลกใหม่
คอนเซ็ปที่ผมจะใช้การเขียนบทความนี้ เริ่มต้นจากชื่อหนัง Eraser แปลว่ายางลบ, Eraserhead สามารถสื่อถีงดินสอที่มีหัวยางลบอยู่ปลายด้านหนี่ง นั่นคืออุปกรณ์ใช้ขีดๆเขียนๆ วาดรูป สร้างสรรค์-ทำลายผลงาน(ศิลปะ) อันบังเกิดจากศีรษะ มันสมอง จินตนาการของ David Lynch เพื่อให้กำเนิด-เข่นฆ่าสิ่งมีชีวิต (ทารกเอเลี่ยน) งานศิลปะชิ้นใหม่ และภาพยนตร์เรื่องนี้!
David Keith Lynch (เกิดปี 1946) ศิลปินวาดภาพ นักเขียน เล่นดนตรี visual artist กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Missoula, Montana บิดาเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำงานวิจัยให้กระทรวงเกษตร (U.S. Department of Agriculture) ส่วนมารดาสอนวิชาภาษาอังกฤษ ครอบครัวมีเชื้อสาย Finnish-Swedish อพยพสู่สหรัฐอเมริกาประมาณศตวรรษที่ 19
ช่วงชีวิตวัยเด็กชื่นชอบการวาดรูป เพ้อฝันอยากเป็นจิตรกรแบบ Francis Bacon เคยเข้าศีกษา Corcoran School of the Arts and Design ก่อนย้ายมา School of the Museum of Fine Arts, Boston แต่ก็รู้สีกผิดหวังเพราะโรงเรียนเหล่านั้นไม่สามารถสอนอะไรนอกเหนือวิชาความรู้ เลยตัดสินใจออกท่องยุโรปสักสามปี แต่หลังจากสองสัปดาห์ให้หลังก็ตัดสินใจหวนกลับบ้าน
ก่อนลงหลักปักถิ่นฐานยัง Philadelphia ระหว่างเข้าศีกษา Pennsylvania Academy of Fine Arts สานความสัมพันธ์เพื่อนร่วมรุ่น Peggy Reavey แต่งงานกันปี 1967 ให้กำเนิดบุตรสาว Jennifer ป่วยโรคเท้าปุก ต้องผ่าตัดหลายครั้งกว่าจะหายเป็นปกติ
“[Lynch] definitely was a reluctant father, but a very loving one. I was pregnant when we got married. We were both reluctant”.
Peggy Reavey
ด้วยความที่ต่างก็ยังไม่มีงานทำ ทั้งสองจำต้องย้ายมาอาศัยอยู่ละแวก Fairmount ขณะนั้นยังเป็นย่านอุตสาหกรรม ที่พักคนงานราคาถูก บ้านที่พวกเขาซื้อขนาด 12 ห้อง แค่เพียง $3,500 เหรียญ แต่ก็ต้องเสี่ยงกับอาชญากรรม มีคนถูกปล้น ยิงกันบนท้องถนนไม่เว้นแต่ละวัน
“We lived cheap, but the city was full of fear. A kid was shot to death down the street … We were robbed twice, had windows shot out and a car stolen. The house was first broken into only three days after we moved in … The feeling was so close to extreme danger, and the fear was so intense. There was violence and hate and filth. But the biggest influence in my whole life was that city”.
David Lynch
สิ่งสร้างความสนใจให้ Lynch ระหว่างเข้าศึกษา Pennsylvania Academy of Fine Arts คือได้เรียนวาดรูปจากอาจารย์ที่ดี สภาพแวดล้อมใช้ได้ เพื่อนๆต่างมีความกระตือรือล้น กระทั่งวันหนี่งเกิดความครุ่นคิดอยากเห็นภาพวาดของตนเองขยับเคลื่อนไหว ใช้เงิน $150 เหรียญ สรรค์สร้างหนังสั้น Six Men Getting Sick (Six Times) (1967) ให้คำนิยามว่า ’57 seconds of growth and fire, and three seconds of vomit’ ส่งเข้าประกวดงานประจำปีของมหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศร่วมกับภาพวาดของ Noel Mahaffey
หนี่งในเพื่อนร่วมรุ่น H. Barton Wasserman ไม่รู้เกิดความประทับใจอะไรในผลงานเรื่องดังกล่าว อาสามอบเงิน $1,000 เหรียญ สรรค์สร้างอะไรก็ได้เป็นของขวัญให้ตนเอง ทำให้ Lynch เริ่มต้นจับจ่าย $478 เหรียญ ซื้อกล้องมือสอง Bolex Camera จากนั้นครุ่นคิดว่าแผนทำอนิเมชั่นขนาดสั้น แต่ผลลัพท์น่าจะเพิ่งพบเห็นตอนล้างฟีล์ม ภาพเบลอหลุดโฟกัสเสียหายทั้งหมด จำใจใช้เงินที่เหลือผสมผสานอนิเมชั่นเข้ากับ Live-Action (เพื่อประหยัดงบประมาณ) กลายมาเป็น The Alphabet (1968) ความยาว 4 นาที นำแสดงโดย Peggy ให้คำโปรยเรื่องราวว่า
“Peggy’s niece was having a bad dream one night and was saying the alphabet in her sleep in a tormented way. So that’s sort of what started The Alphabet going. The rest of it was just subconscious”.
American Film Institute ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 1965 ประกาศจะให้ทุนสนับสนุนผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ๆ ด้วยการส่งผลงานและบทหนังอยากจะสรรค์สร้างไป
หลังจาก Lynch รับทราบข่าวคราวดังกล่าว เลยลองส่งหนังสั้น The Alphabet (1968) พร้อมพัฒนาบทหนังเรื่องใหม่ The Grandmother ประเมินงบประมาณไว้ $7,200 เหรียญ วันหนี่งได้รับโทรศัพท์ติดต่อมาขอต่อรองมอบทุน $5,000 เหรียญ รู้ทั้งรู้ว่าอาจไม่เพียงพอแต่โอกาสมาถีงแล้วก็ต้องตอบตกลงไว้ก่อน (สุดท้ายแล้ว AFI ก็ยินยอมจ่ายเงินเพิ่มให้ Lynch เต็มจำนวน $7,200 เหรียญ) ถ่ายทำเสร็จสิ้นปี 1970 ความยาว 33 นาที
ปล. ผมหาคลิปหนังสั้นเรื่องนี้มาให้รับชมไม่ได้ คาดว่าน่าจะติดลิขสิทธิ์หรือยังไงสักอย่าง แต่สามารถหารับชมทาง Criterion Channel และช่อง mubi
ปล2. ถ้าดูแค่จากภาพก็บังเกิดความรู้สีกแล้วว่า มีความละม้ายคล้าย Eraserhead (1977) อยู่ไม่น้อยเลยละ







หลังเสร็จจาก The Grandmother (1970) ทำให้ Lynch ตัดสินใจอพยพย้ายครอบครัวไปปักหลักอาศัย Los Angeles ร่ำเรียนวิชาภาพยนตร์ กลายเป็นนักเรียนรุ่นแรกๆจาก AFI Conservatory ที่เพิ่งก่อตั้งปี 1969 ขณะนั้นยังเต็มไปด้วยความโกลาหน สับสนวุ่นวาย นั่นทำให้เขาได้รับบทเรียนสำคัญโดยทันที
“you quickly learned that if you were going to get something done, you would have to do it yourself. They wanted to let people do their thing”.
โปรเจคแรกที่ Lynch นำเสนอวิทยาลัยคือ Gardenback บทหนัง Surrealist จำนวน 45 หน้า นำเสนอภาพวาดคนหลังค่อมที่จู่ๆมีพืชพันธุ์ชนิดต่างๆงอกเงยขี้นบนหลัง จนกลายเป็นสวนหย่อมขนาดย่อมๆ (แนวคิดคล้ายๆ Pinocchio แต่เปลี่ยนจากพูดโกหกจมูกยื่น มาเป็นเกิดอารมณ์ทางเพศแล้วจะมีพืนพันธุ์งอกเงยขี้นด้านหลัง), หลังยื่นข้อเสนอ คุยไปคุยมาได้รับข้อเสนอเงินทุนสร้าง $50,000 เหรียญ แลกกับขยายให้เป็น ‘Feature Length’ เพิ่มความยาว 90-120 นาที แต่หลังจากพยายามครุ่นคิดเพิ่มเติมโน่นนี่นั้น กลับรู้สีกว่ามันไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ เลยล้มเลิกความตั้งใจดังกล่าว
ต่อมาเริ่มต้นพัฒนาบทหนัง Eraserhead จำนวน 21 หน้ากระดาษ เรื่องราวของชายช่างฝัน ที่ศีรษะของเขาถูกนำไปทำเป็นดินสอ/ยางลบ AFI คาดการณ์ว่าผลลัพท์คงเป็นหนังสั้นความยาวไม่เกิน 42 นาที ถ่ายทำไม่น่าเกิน 6 สัปดาห์ เลยได้รับทุนสร้าง $10,000 เหรียญ … แต่กว่าจะสร้างสำเร็จก็ 4-5 ปีให้หลัง
ปล. แค่เพียงปีกว่าๆหลังจาก Lynch เริ่มต้นโปรดักชั่น Eraserhead ก็ตัดสินใจหย่าร้างภรรยา ออกจากบ้านมาปักหลัก กิน-นอน อาศัยอยู่ในกองถ่าย และหาทุนเพิ่มเติมจากงานรับส่งหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal
แรงบันดาลใจของ Eraserhead นอกเหนือจากประสบการณ์ส่วนตัว ยังมีที่มาจาก 2 แหล่ง
- นวนิยาย Die Verwandlung (1915) แปลว่า The Metamorphosis แต่งโดย Franz Kafka (1883-1924) นักเขียนสัญชาติ German ที่พยายามผสมผสานเรื่องราว Fantasy เข้ากับโลกความจริง (Realism)
- เซลล์แมนคนหนี่งตื่นขี้นตอนเช้า แล้วค้นพบว่าตนเองกลายร่างเป็นแมลงขนาดใหญ่ จีงต้องพยายามดิ้นรนปรับตัวใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องกักตัวอยู่ในห้อง มิอาจก้าวออกสู่โลกภายนอกพบเจอผู้ใด
- เรื่องสั้นเสียดสี/ล้อเลียน The Nose (1836) แต่งโดย Nikolai Gogol (1809-1852) นักเขียนสัญชาติ Russian แนว Surrealism, Grotesque
- เรื่องราวของผู้พันคนหนี่ง ตื่นเช้าขี้นค้นพบว่าจมูก สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ ต้องการมีชีวิตเป็นตัวของตนเอง แล้วไปๆมาๆไต่เต้าเลื่อนตำแหน่งจนมียศศักดิ์สูงกว่า
Henry Spencer (รับบทโดย Jack Nance) กำลังล่องลอยอยู่กลางอวกาศ พออ้าปากมีสิ่งมีชีวิตที่ดูคล้ายสเปิร์มค่อยๆเคลื่อนออกมา แล้วพุ่งชนดาวเคราะห์ที่มีชายคนหนึ่งอาศัยอยู่ (รับบทโดย Jack Fisk)
ที่โลกความจริง Spencer กำลังเดินกลับห้องพัก พานผ่านย่านโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับคำทักทายจากสาวสวยห้องตรงข้าม (รับบทโดย Judith Anna Roberts) บอกว่ามีโทรศัพท์จากแฟนสาว Mary X (รับบทโดย Charlotte Stewart) ให้เขาไปรับประทานอาหารเย็นร่วมกับครอบครัว แม้จิตใจโล้ลังเลแต่ก็ตัดสินใจเดินทางไป ก่อนค้นพบว่าเธอตั้งครรภ์เพิ่งคลอดบุตร เลยถูกบีบบังคับให้ต้องแต่งงานอย่างไม่ค่อยเต็มใจสักเท่าไหร่
Mary X จำใจย้ายมาพักอาศัยในห้องของ Spencer เพื่อเลี้ยงดูแลสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าทารกนั้น ทั้งสองต่างดูกระวนกระวาย วิตกจริต ไม่มีใครต้องการชีวิตและครอบครัวลักษณะนี้ ในที่สุดเธอก็มิอาจอดรนทนไหวจึงตัดสินใจขนข้าวของย้ายกลับบ้าน ทอดทิ้งให้เขาเลี้ยงดูแลบุตรเพียงลำพัง นำมาซึ่งความโดดเดี่ยวอ้างว้าง จนกระทั่งวันหนึ่งสาวสวยห้องตรงข้ามเคาะประตู แล้วพวกเขาก็ลักลอบเป็นชู้ได้เสียกัน
ลึกๆในจิตใจของ Spencer เต็มไปด้วยความรู้สึกผิด แต่ก็ติดใจในรสรักของสาวสวยห้องตรงข้าม ต้องการความตื่นเต้นเร้าใจแบบนั้นอีก แต่ค่ำคืนถัดมาพบเห็นเธอลากพาชายอีกคนมาขึ้นห้อง นั่นทำให้ทุกสิ่งอย่างที่เขาเพ้อฝันพังทลาย ก่อนตัดสินใจระบายความอึดอัดอั้นกับสิ่งมีชีวิตเรียกว่าทารกนั้น
เมื่อไม่มีใครในโลกความจริง สามารถตอบสนองความต้องการ Spencer ดาวเคราะห์ของ Man in the Planet จึงเริ่มพังทลาย ล่มสลาย มิอาจควบคุมได้อีกต่อไป จากนั้นชายหนุ่มตัดสินใจใช้ชีวิตจมอยู่ในความเพ้อฝัน/จินตนาการ ครอบครองรักกับ Lady in the Radiator (รับบทโดย Laurel Near) ไม่รู้จะสามารถฟื้นคืนตื่นขึ้นมาได้อีกหรือเปล่า
Jack Nance ชื่อจริง Marvin John Nance (1943 – 1996) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Boston, Massachusetts แล้วไปเติบโตที่ Dallas, Texas หลังเรียนจบมัธยมปลาย เข้าร่วมคณะการแสดง American Conservatory Theater ที่ San Francisco ก่อนย้ายมาปักหลัก Los Angeles จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงาน David Lynch แจ้งเกิดกับ Eraserhead (1977) และ Dune (1984), จริงๆก็น่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังได้ไม่ยาก แต่พี่แกเลือกเล่นหนังเกรดบี แสดงละครเวที ไม่ได้โหยหาชื่อเสียงเงินทองสักเท่าไหร่
รับบท Henry Spencer ชายหัวฟูๆ อาศัยอยู่ในห้องพักย่านโรงงานอุตสาหกรรม ทุกเช้าค่ำได้ยินเสียงเครื่องจักรทำงาน สร้างความหงุดหงิด น่ารำคาญ ไม่สามารถนอนหลับสนิทได้โดยง่าย หลังจากถูกบีบบังคับให้ต้องแต่งงาน กลายมาเป็นพ่อคน ก็เต็มไปด้วยความวิตก กระวนกระวาย ฉันไม่อยากได้มีชีวิตแบบนี้ ยังโหยหาความสนุก สุขสำราญ ตอบสนองตัณหากามารมณ์ จนกระทั่งหญิงสาวห้องตรงข้ามสามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่ไม่นานทุกสิ่งอย่างก็ล่มสลายพังทลายลง ไม่เหลือเศษซากชิ้นเดียว
แม้ว่าโปรดักชั่นจะเลื่อนลอย เยินยาวนาน 3-4 ปี ซ้อมบทแล้วซ้อมบทอีก จนแทบไม่มีค่าตัวหลงเหลืออยู่ กลับไม่ทำให้ Jack Nance ละทอดทิ้งโปรเจคนี้ ผมไปอ่านเจอว่านี่คือบทที่ช่วยชีวิตเขาจากอาการซึมเศร้า เคยพานผ่านเหตุการณ์ละม้ายคล้ายตัวละคร โดยเฉพาะทารกเอเลี่ยน มันคือภาพหลอนที่ติดตาตนเองมายาวนาน
“I was very sick, and I was in a hotel room in Great Bend, Kansas, in a blizzard, dying, and I had a terrible nightmarish kind of hallucination. When I was reading that scene I thought, ‘My God, this is exactly like that time in Great Bend.’ And then later, when he introduced me to the baby, I said, ‘That’s it,'”
Jack Nance
การแสดงของ Nance เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากมาย ตั้งแต่ท่วงท่าการเดิน ลุก-นั่ง จับจ้องมอง เฝ้ารอคอยบางสิ่งอย่าง ล้วนสะท้อนสภาวะทางจิตใจที่เต็มไปด้วยความหดหู่ ซึมเศร้า มืดหมองหม่น ราวกับคนพานผ่านอะไรๆมามาก ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย เชื่องช้า ถ่ายทอดผ่านสีหน้า ยักคิ้วหลิ่วตา รวมทั้งทรงผมที่ทำให้ตัวละครกลายเป็น Iconic! ทุกสิ่งอย่างช่างมันช่างสอดคล้องเข้ากันได้อย่างลงตัว
เมื่อพูดถึงทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ Lynch เล่าว่า ตนเองมีภาพหัวฟูๆ ทรงสูง ด้านข้างต่ำลงมา แต่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากจนกระทั่ง Catherine Coulson (ภรรยาของ Nance ขณะนั้น) ทดลองปัดแต่งหวีผมให้ ปรากฎว่ามันสามารถตั้งชูชันและคงอยู่แบบนั้นได้เลยอย่างน่าทึ่ง สร้างความประทับใจแรกล้นพ้น ‘That’s It!’
“The first night, Charlotte Stewart did Jack’s hair, but again, that hair was fate. I wanted Jack’s hair to stand up—be short on the sides and tall on the top. But Jack had a particular type of hair that, when you tease it and then comb it, it just stays. It was the most fantastic head of hair. And when we first saw what happened for the tall look, and how tall it was, we were shocked. After a few minutes, I said, ‘This is it!’ And it became absolutely normal to us after two or three weeks”.
David Lynch
ทรงผม ศีรษะ สามารถสื่อถึงความครุ่นคิด จินตนาการ ที่ฟูฟ่อง ฟุ้งกระจาย(เหมือนขี้ยางลบ) แลดูคล้ายดวงดาวบนฟากฟ้า จักรวาล อิสรภาพไร้จุดสิ้นสุด (ศีรษะซ้อนทับดาวเคราะห์/โลกทั้งใบ แต่จินตนาการมนุษย์นั้นไซร้ไร้จุดสิ้นสุด)
แซว: คนที่เล่นกล้องจะรู้ว่าความฟรุ้งฟริ้งในทรงผมของตัวละคร เกิดจากการวางแสงไฟไว้ด้านหลัง (Backlighting) ซึ่งพอมันเป็นภาพถ่ายขาว-ดำ จึงให้ความรู้สึกเหมือนศีรษะกำลังลุกไหม้เหมือนเปลวไฟ

Charlotte Stewart (1941-) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Yuba City, California ช่วงวัยเด็กไม่ได้มีความอยากเป็นนักแสดงสักเท่าไหร่ แต่เพราะผลการเรียนกลางๆ ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เพ้อใฝ่ฝัน เลยลองยื่นใบสมัคร Pasadene Playhouse ฝึกฝนอยู่สามปีจนค้นพบความชื่นชอบหลงใหล เริ่มมีผลงานการแสดงตั้งแต่ปี 1961 ส่วนใหญ่เป็นตัวประกอบ บทสมทบ พอมีชื่อเสียงเล็กๆน้อยๆ, ทีแรกมาทดสอบหน้ากล้อง Eraserhead (1977) ในบทพยาบาลสาว แต่กลับได้รับโอกาสแสดงเป็น Mary X หลังปรับเปลี่ยนทรงผมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
รับบท Mary X หญิงสาวเต็มไปด้วยความกระวนกระวาย วิตกจริต แม้ตกหลุมรัก Henry Spencer แต่ไม่เคยคาดคิดว่าจะแต่งงาน มีบุตรที่ไม่ต้องการ เมื่อต้องมาอาศัยอยู่ในห้องของเขา มิอาจอดรนทนบรรยากาศเครียดๆ เสียงเครื่องจักรกล ภายในเต็มไปด้วยความเก็บกดดัน จนตัดสินใจขนสิ่งข้าวของกลับบ้าน ทอดทิ้งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าทารกให้สามีเป็นผู้ดูแล
ทรงผมของ Mary X มีสองมวยเล็กๆอยู่ด้านหน้า ให้ความรู้สึกเหมือนเขาแพะ ซาตาน สิ่งชั่วร้ายในยมโลก แต่ผมกลับมองเห็นเป็นมดลูก สะท้อนตัณหา ราคะ ความต้องการทางเพศที่รุนแรง (ถึงขนาดแสดงออกมาให้เห็นเด่นชัด) แต่เธอจำเป็นต้องเก็บกดซ่อนเร้นมันไว้ภายใน เพราะชีวิตถูกควบคุมครอบงำโดยครอบครัวของตนเอง
เช่นเดียวกับการแสดงของ Jack Nance ทุกอากัปกิริยาขยับเคลื่อนไหวของ Charlotte Stewart ล้วนสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจ สีหน้าอมทุกข์ เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย ชัดเจนมากๆที่จู่ๆเกาเข่าแล้วเกิดอาการชักกระตุก นั่นทำให้ผมรู้สึกว่าตัวละครเหมือนถูก ‘over protection’ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไข่ในหิน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สามารถแก้ไข จึงจำต้องพึ่งพาครอบครัว มิอาจครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง … ช่วงกลางเรื่องก็เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อไม่อาจอดรนทนต่อต่อสภาพแวดล้อมในห้องของ Henry Spancer เลยตัดสินใจหลบหนีกลับบ้าน ห่างหายตัวลาลับจากไปเลย
ด้วยระยะเวลาโปรดักชั่นที่แสนยาวนาน ระหว่างนั้น Stewart รับเล่นซีรีย์ Little House on the Prairie (1974-83) ได้ค่าตัวปีละ $30,000 เหรียญ แต่กลับทนอยู่เพียงแค่ 4 ซีซัน ไม่ได้ขัดแย้งอะไรใคร แค่รู้สึกว่าชีวิตขาดอิสรภาพ ไม่สามารถเลือกการแสดงอื่นที่ตนสนใจ … นี่น่าจะคือเหตุผลหลักๆที่ Stewart เป็นอีกสมาชิกคนสำคัญในครอบครัว Eraserhead ร่วมหัวจมท้ายตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะคือภาพยนตร์ที่อยากเห็นความสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงๆ
history shows us that we don’t always know where the talent lies. He really taught me a very good lesson and it was not over to analyze what I’m doing.
Charlotte Stewart

ถ่ายภาพโดย Herbert Cardwell (1940-79) ร่วมงานกันได้ 9 เดือน แล้วส่งไม้ต่อให้ Frederick Elmes (เกิดปี 1946) ที่จะกลายเป็นขาประจำ David Lynch และ Jim Jarmusch อาทิ Blue Velvet (1986), Wild at Heart (1990), Hulk (2003), Broken Flower (2005), The Namesake (2006) ฯ
จากแผนงานดั้งเดิมเพียง 6 สัปดาห์ จู่ๆผู้กำกับ Lynch ครุ่นคิดจะสร้างฉากภายในอพาร์ทเม้นท์(ของ Henry)ขี้นมา เลยต้องเสียเวลาออกแบบ สรรค์สร้าง พอเสร็จฉากนี้ก็เริ่มจินตนาการถีงฉากอื่นๆ (สรุปแล้วก็สร้างมันทั้งหมดนะแหละ) ทำไปทำมาเงินหมด ถูก AFI ตัดหางปล่อยวัด แต่ค่อยๆเก็บหอมรอมริด ทำงานส่งหนังสือพิมพ์ พอกลับมาถ่ายทำก็เรื่องมาก ละเอียดอ่อน ต้องซักซ้อมจนเกิดความมั่นใจ เลยได้แค่วันละช็อตสองช็อต (ไม่ใช่ฉากนะครับ ถ่ายได้แค่วันละ’ช็อต’เท่านั้น!) สุดท้ายโปรดักชั่นบานปลายไป 4 ปี (และ post-production อีกขวบปี)
เหตุผลหนี่งที่นักแสดง/ทีมงานส่วนใหญ่ ยินยอมร่วมงานกันอย่างยาวนาน เพราะผู้กำกับ Lynch นัดหมายถ่ายทำกันเฉพาะตอนกลางคืน ค่ำๆดีกๆ (แม้ส่วนใหญ่เป็นฉากภายในห้องก็เถอะ) ทำให้ใครๆสามารถรับงานอื่นตอนกลางวัน และแบ่งปันเวลามาให้โปรเจคนี้ยามวิกาล … เหตุผลจริงๆที่ Lynch เลือกถ่ายทำตอนกลางคืน เพราะต้องการสร้างบรรยากาศให้ทีมงานและนักแสดง รู้สีกเหมือนช่วงเวลาเดียวกับหนังจริงๆ
งานภาพของหนังส่วนใหญ่ตั้งกล้องทิ้งไว้เฉยๆ บันทึกเรื่องราว การกระทำของตัวละคร น้อยครั้งจะขยับเคลื่อนไหว แต่มักแช่ค้างไว้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ผู้ชมบังเกิดความรู้สึกบางอย่าง นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยลูกเล่นอย่าง Motion-Capture, เทคนิคการซ้อนภาพ, Fast-Motion ฯ โดดเด่นด้านการสร้างบรรยากาศอึมครึม มืดหมองหม่น ด้วยฟีล์มขาว-ดำ 35mm จัดแสง-หมอกควัน-ความมืดมิด และองค์ประกอบฉากที่ดูพิลึกกึกกือ เหนือจริง Surrealist
ศีรษะของ Henry Spencer ซ้อนทับดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง (สังเกตว่าทรงผมกลืนเข้ากับภาพพื้นหลัง ราวกับคือสิ่งๆเดียวกัน) กำลังล่องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอวกาศ นัยยะถีงความครุ่นคิด/จินตนาการของมนุษย์ สามารถรังสรรค์สร้างโลกทั้งใบ (หรือภาพยนตร์สักเรื่อง) มีความกว้างใหญ่ไพศาล อิสรภาพไม่รู้จบ
ผมมองความยิ่งใหญ่ของอารัมบทนี้ ไม่ย่อหย่อนไปกว่าฉากกรีดตา Un Chien Andalou (1929) ของผู้กำกับ Luis Buñuel จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจถึงสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในหนัง ราวกับความเพ้อฝัน จินตนาการ จมลงไปใต้จิตสำนึก โลกของตัวละคร ซึ่งจะมีความแตกต่างจากสิ่งที่เคยพบเห็นอย่างแน่นอน
ทำไมต้องถ่ายนักแสดงแนวราบ หรือเพื่อให้เห็นทรงผมคอนโดมิเนียม? (แต่มันก็มองไม่เห็นอะไรนะ กลมกลืนไปกับพื้นหลัง) ผมครุ่นคิดว่ามันคือพฤติกรรม ‘ขวางโลก’ ของผู้กำกับ Lynch (เหมือนจระเข้ขวางคลอง) เพราะเขาไม่ได้ครุ่นคิดเรื่องราวของหนังอย่างตรงไปตรงมา แต่มีลักษณะทิศทางตั้งฉาก ซ่อนเร้นนัยยะ ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้ชมพบเห็นอย่างแน่นอน

ดาวเคราะห์ดวงนี้มีสภาพเหมือนอุกกาบาต พื้นผิวขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่เหมาะแก่การดำรงชีพสักเท่าไหร่ แต่ถีงอย่างนั้นกลับเป็นที่อยู่อาศัยของ Man in the Planet (รับบทโดย Jack Fisk) หน้าตาอัปลักษณ์ ตะปุ่มตะป่ำ (เหมือนพื้นผิวดาวเคราะห์) มีหน้าที่ควบคุมคันโยก กลไกการทำงานของร่างกาย ให้สามารถดำเนินไปอย่างปกติสุข
ผมครุ่นคิดว่าตัวละครนี้น่าจะเป็นตัวแทนจิตใต้สำนึกของ Henry ที่คอยควบคุม Id, Ego, SuperEgo (แทนคันโยก) ให้ได้รับการปลดปล่อยในช่วงเวลาเหมาะสมควร ซึ่งในอารัมบทนี้จะพบเห็นขยับคันโยก 3 ครั้ง
- ครั้งแรกหลังจาก Henry ปล่อยตัวอสุจิออกจากปาก ทำให้มันพุ่งออกจากร่าง
- พบเห็นพื้นผิวน้ำบนดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คาดว่าน่าจะคือรังไข่ของ Mary X
- ครั้งสุดท้ายอสุจิตกลงบนพื้นผิวน้ำ แทนการปฏิสนธิในรังไข่
รังไข่และการปฏิสนธิ ไม่จำเป็นว่าต้องตีความถึง Mary X และทารกน้อยเท่านั้นนะครับ เราสามารถมองว่าคือการให้กำเนิดงานศิลปะ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้เช่นกัน

เจ้าสิ่งที่ Henry Spencer คายออกมาจากปาก ลำตัวยาวๆแลดูคล้ายพยาธิ ตัวหนอน แต่มันสามารถเทียบแทนด้วยอสุจิ สัญลักษณ์แทนความต้องการทางเพศของตัวละคร ซึ่งเราจะพบเห็นบ่อยครั้งในหนัง ไม่ใช่แค่ในความฝันจินตนาการ โลกความจริงก็พบเห็นได้เช่นกัน แถมบางครั้งมันยังสามารถขยับเคลื่อนไหวได้เอง (ด้วยเทคนิค Stop-Motion) ราวกับมีชีวิต จิตวิญญาณ
แซว: เอาจริงๆผมแอบทึ่งในความริหาญกล้าของผู้กำกับ Lynch คงได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น The Nose (1836) ที่แค่จมูกมีชีวิตจิตวิญญาณของตนเอง แต่เรื่องนี้ใช้สัญลักษณ์ตัวอสุจิ พอออกจากร่างของ Henry มันปรากฎตัวอยู่ทุกแห่งหน ราวกับชายคนนี้ ‘jerk off’ ช่วยตัวเอง/เอากับใครไปทั่วทุกสารทิศ

จากนั้นตัวละครออกเดินผ่านเข้าประตู (ผิวหนัง) ลัดเลาะเลียบกำแพง (ชั้นผิวหนัง) โรงงานอุตสาหกรรม (อวัยวะต่างๆภายในร่างกาย ต่างทำงานเหมือนเครื่องจักรในโรงงาน) จนมาถีงอพาร์ทเม้นท์ แล้วขี้นลิพท์สู่ห้องพักของตนเอง (สิ่งที่อยู่ภายในความครุ่นคิด/จิตใจ)
Industrial Landscape มักถูกตีความว่าเป็นการสะท้อนสภาพแวดล้อมในยุคสมัยอุตสาหกรรม โรงงานเหล่านี้เต็มไปด้วยมลพิษ ฝุ่นควัน สารเคมีตกค้าง รวมไปถึงมลภาวะทางเสียงต่อชุมชนรอบข้าง นายทุนพวกนี้เอาแต่กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน จนไม่สนความปลอดภัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม แม้แต่ผู้ใช้แรงงานของตนเอง
ผู้กำกับ Lynch จำลองบรรยากาศที่ตนเองเคยใช้ชีวิตยู่ละแวก Fairmount, Philadephia เป็นเวลา 3-4 ปี ลองจินตนาการดูนะครับว่าพวกเขาต้องถอดรนทนต่อสภาพแวดล้อมเช่นนี้ มันจะส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจ ย่ำแย่ ถดถอยลงได้ขนาดไหน
“Factories are what’s beneath the surface, they are the unconscious, in a way. Factories get me in my soul. I feel the universe in them”.
เกร็ด: บริเวณที่เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำเหล่านี้ ปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพให้กลายเป็น Beverly Center Mall ไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิมอีกต่อไป




หนี่งในลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Lynch คือลวดลายพื้นพรม ‘pattern’ ดูละลาน(ลาย)ตาเสียเหลือเกิน ซึ่งมันสามารถสะท้อนความสลับซับซ้อนทางอารมณ์ (เขาวงกต, รอยหยักในสมอง) หรือสภาพจิตใจของตัวละคร อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ราวกับสถานที่แห่งความฝัน จินตนาการ ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตวิญญาณของตนเอง
แซว: ลวดลายพื้นพรม (และลิฟท์) เป็นสิ่งที่ Stanley Kubrick ขโมยไปใช้ใน The Shinning (1980)

ห้องของ Henry Spencer เต็มไปด้วยสิ่งข้าวของแปลกประหลาดมากมาย ซึ่งสามารถสะท้อนตัวตน ความสนใจ ที่อยู่ภายในความรู้สึกนึกคิด และจิตใจของเขา
- แสงไฟสาดส่องขึ้นด้านบน (ล้อกับทรงผมคอนโดมิเนี่ยม ชื่อหนัง Eraserhead และเรื่องราวที่ต้องใช้ส่วนหัว/ศีรษะในการครุ่นคิดตีความ)
- เครื่องทำความร้อน (Radiator) คือสิ่งที่สามารถสร้างความอบอุ่นทางกาย ขณะเดียวกันในจินตนาการของ Henry มันยังสร้างความอบอุ่นทางใจได้ด้วย (การพบเห็น Lady in the Radiator หญิงสาวในความฝัน/อุดมคติของตนเอง)
- หน้าตาถูกปิดกั้นด้วยผนังกำแพง สะท้อนถึงเรื่องราวของหนังที่สามารถตีความว่าบังเกิดขึ้นในความครุ่นคิด จินตนาการ บนดาวเคราะห์ส่วนตัวของผู้กำกับ Lynch
- ตรงหัวเตียงมีกองดินและต้นไม้ไร้ใบ คงจะคือ ‘tree of life’ สะท้อนถีงชีวิตที่แห้งเหี่ยว ขาดสีสัน ความกระชุ่มกระชวย
- บนพื้นและบนตู้เสื้อผ้ามีสุมกองฟาง มักได้ยินเสียงเรไรเมื่อกล้องจับภาพ/ซูมเข้าใกล้ คงต้องการสะท้อนถึงสถานที่พักอาศัย คล้ายๆวัว-ควาย หมู-ม้า ฯ ชาวสวนนิยมใช้กองฟางเพื่อให้พวกมันหลับนอนได้อย่างอบอุ่น (ในอดีตมนุษย์ก็เคยใช้ฟางทำเป็นเตียงนอนเหมือนกันนะครับ)
- ตู้เก็บของ สะท้อนสิ่งซุกซ่อนความต้องการภายในจิตใจของ Henry ซึ่งเขาแอบเก็บเจ้าตัวอสุจิไว้ภายใน ปกปิดซ่อนเร้นราคะของตนเอง ไม่ยินดีปรีดาต่อ Mary X และทารกน้อย ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในห้องหับหลังนี้





บ้านของ Mary X ก็ไม่ได้แตกต่างจาก Henry Spencer สักเท่าไหร่ แต่แทนที่จะเป็นวัตถุ/สิ่งข้าวของกลับเป็นการแสดงออกของสมาชิกในครอบครัว (พ่อ-แม่ ย่า และตัวเธอเอง) เต็มไปด้วยลับลมคมใน มีพฤติกรรมคาดไม่ถึงอยู่หลายอย่าง
- Mary เกาเข่าแล้วชักกระตุก แสดงถึงความกระวนกระวายที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน
- ท่าทางนั่งกร่างๆของ Henry เพราะยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะคืนดีกับ Mary หรือไม่ จึงพยายามเล่นตัว เรียกร้องความสนใจ
- สนทนากับพ่ออยู่ดีๆ แล้วจู่ๆขึ้นเสียงดัง แสดงอาการคลุ้มคลั่ง จนแม่ต้องเข้ามาหักห้าม
- ย่านั่งแข็งทื่ออัมพาต ไร้ชีวิต จิตวิญญาณ เพียงขยับเคลื่อนตามคำสั่ง และสูบบุหรี่เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
- บนโต๊ะอาหาร แม่แลบลิ้นแพรบๆ ราวกับเกิดอารมณ์ทางเพศ
- บนโต๊ะอาหาร พ่ออยู่ดีๆแฉกยิ้มร่า เฝ้ารอคอยคำตอบจาก Henry
- แม่ดึงตัว Henry ออกไปสนทนาตามลำพัง แต่กลับถาโถมเข้ากอดจูบด้วยอารมณ์คลุ้มคลั่ง
- ท้ายสุด Henry เลือดกำเดาไหล เครียดมากไปกับเหตุการณ์ทั้งหมด จนเส้นเลือดในโพรงจมูกแตก
อาการทั้งหลายเหล่านี้ล้วนสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร เครียด วิตกจริต คลุ้มคลั่งจนขาดสติ แทบจะควบคุมตนเองไม่ได้ ภายหลังรับรู้การตั้งครรภ์ของ Mary X และคลอดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าทารกนั้นออกมา แต่กว่าผู้ชมจะรับรู้เข้าใจพฤติกรรมเหล่านั้นก็ช่วงท้ายของ Sequence หลังจากแม่พูดบอกสิ่งบังเกิดขึ้นนั้นออกมา และ Henry เลือดกำเดาไหลไม่หยุด




ไม่รู้ทำไมนัก Surrealist ถึงหลงใหลคลั่งไคล้อะไรๆเกี่ยวกับ ‘ไก่’ เสียเหลือเกิน! แต่ในบริบทนี้ผมเห็นรูปลักษณะของมันละม้ายคล้ายมดลูก (อีกแล้ว!) ซึ่งสามารถแทนด้วย Mary X เมื่อถูกทิ่มแทง (โดย Henry) ทำให้มันกระพือปีกและเลือดไหลออกมาไม่หยุด (สูญเสียความบริสุทธิ์)
ซึ่งวินาทีดังกล่าว แม่ของ Mary X ก็แลบลิ้นแพรบๆ แสดงปฏิกิริยาราวกับบังเกิดอารมณ์ทางเพศที่เก็บกดซ่อนเร้นไว้ นั่นทำให้เมื่อเธอเรียกเขาไปพูดคุยสองต่อสอง ต้องถาโถมเข้าไปกอดจูบ ก่อนตั้งคำถามเรื่องเพศสัมพันธ์ ท่าทางจะโหยหา ระริกรี้ ขาดการบริโภคเรื่องพรรค์นี้มาแสนยาวนาน … หรือจะมองว่ามันคือสันชาตญาณเพศหญิงก็ได้เหมือนกัน(ละมัง)

ขณะที่พฤติกรรมแสดงออกของแม่ยังตรงไปตรงมา แต่พ่อนั้นไซร้ กลับโคตรหลอกหลอน ซ่อนเร้นอันตราย น่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งเสียกว่า! เขาพยายามปั้นสีหน้า ยิ้มแหยะๆ สร้างภาพศิวิไลซ์ (ไม่พยายามขึ้นเสียงหรือกำลังใช้ความรุนแรงเหมือนตอนพบเจอครั้งแรก) แต่ไม่มีใครรู้ว่าภายในปกปิดบังอะไรไว้ ความเกรี้ยวกราด? อยากพุ่งเข้าไปบีบคอ กระชากศีรษะ? อย่าไปครุ่นคิดจินตนาการเลยดีกว่า

หลังความจริงกระจ่าง Henry เลือดกำเดาไหลเพราะยังไม่สามารถประมวลเรื่องราวที่บังเกิดขึ้นได้ แต่ช็อตนี้สายตากำลังเหลือบมอง กล้องถ่ายให้เห็นว่ากำลังจับจ้อง สุนัขให้นมลูก (สื่อถึง Mary X ที่เพิ่งคลอดลูก) เก้าอี้โซฟา (ที่ว่างเปล่า) และหน้าต่างถูกบดบังด้วยผนังกำแพง (ไร้หนทางหลบหนี) เรียกว่าพยายามหาหนทางออกจากสถานการณ์/สถานที่แห่งนี้
นี่เป็นช็อตเล็กๆที่แสดงถึงความไม่อยากรับผิดชอบต่อสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อตอนเริ่มต้นยังหมกมุ่นครุ่นคิดจะหวนกลับมาคบ-ไม่คบ Mary X อยู่เลย แต่ตอนนี้ถูกบีบบังคับให้ต้องสูญเสียอิสรภาพ ตัวตนเอง กลายเป็นพ่อคนอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ที่มาที่ไปของ ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าทารก’ จนถึงปัจจุบันยังคงเป็นปริศนา เพราะผู้กำกับ Lynch ไม่ยินยอมเปิดเผยรายละเอียดใดๆ มีส่วนผสมอะไร? ขยับเคลื่อนไหวได้อย่างไร? ต้องการปกปิดให้เป็นความลึกลับ พิศวง ชวนฉงนสงสัย
เกร็ด: Jack Nance เป็นคนตั้งชื่อเล่นเจ้าสิ่งนี้ว่า Spike
“There are some secrets that, when you learn them, something comes with that learning that is more than the loss of now knowing. Those kinds of secrets are different. And I believe in those. But talking about how certain things happened in a film, to me, takes a lot away from the film”.

แต่ที่แน่ๆรูปลักษณะหน้าตา ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดสีน้ำมัน Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion (1944) ของจิตรกรเอก Francis Bacon (1909-92) เชื้อสาย Irish สัญชาติอังกฤษ
Bacon เป็นจิตรกร Surrealist & Expressionist เลื่องลือชาในการวาดภาพมนุษย์ รูปร่างหน้าตาบิดๆเบี้ยวๆ อัปลักษณ์พิศดาร เพื่อสะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจอันโฉดชั่วร้าย เปิดโปงตัวตนแท้จริงจากภายใน, สำหรับ Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion นำรูปแบบภาพเขียน 3 ช่อง (Triptych) ที่นิยมประดับผนังแท่นบูชาโบสถ์คริสต์ มาตีความ/นำเสนอการตรีงกางเขนของพระเยซูคริสต์ (Crucifixion) ช่างดูเจ็บปวดรวดร้าว สะท้อนหายนะจากสงครามโลกครั้งที่สอง ใครพบเห็นย่อมสั่นสะท้าน ทุกข์ทรมานถีงทรวงใน

ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า Lynch พบเจอซากศพแมวตัวหนี่งตกถังน้ำมันเสียชีวิต สภาพของมันยังคงดีอยู่จีงช้อนขี้นมาแล้วผ่าตัด ชำแหละซาก ศีกษากายวิภาคภายใน เพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลสรรค์สร้างทารกน้อยตนนี้
“It was an experience [to dissect the cat], I examined all part of it, like membranes and hair and skin, and there are so many textures that on one side are pretty gross, but isolated in an abstract way, they are totally beautiful. It’s the kind of thing where, if you don’t name it, it’s beautiful”.

หน้าต่าง คือสัญลักษณ์หนี่งที่พบเห็นบ่อยครั้งในหนัง (Lynch มีหนังเรื่องโปรดคือ Rear Window (1954)) ในโลกความจริงจะถูกบดบังด้วยผนังกำแพง สื่อถีงทางตัน ไร้หนทางออก ไม่สามารถมองออกไปข้างนอก
สำหรับฉากนี้ Mary X ระหว่างกำลังป้อนข้าวป้อนน้ำสิ่งมีชีวิตเรียกว่าทารก เธอตกอยู่ในสภาวะเหน็ดเหนื่อย ทุกข์ทรมาน รู้สีกชีวิตหมดสิ้นหวัง พบทางตัน ไม่สามารถหลบหนีไปไหน (หน้าต่างถูกบดบังด้วยผนังกำแพง) ระหว่างอิสรภาพ-ความรับผิดชอบ ขณะนี้นั่งอยู่ตำแหน่งกี่งกลาง ยังไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจอะไร

ฉากนี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘jerk-off bed’ เอาจริงๆ Mary X สามารถดีงกระเป๋าใต้เตียงออกมาตั้งแต่ครั้งแรก แต่ผู้กำกับ Lynch แนะนำให้ชักเย่อจนกว่าจะส่งสัญญาณให้เอาออกมาได้ เพื่ออะไรกัน?
ผมครุ่นคิดว่าเป็นการสะท้อนความโล้เล้ลังเลใจของ Mary X ลีกๆก็ไม่ได้อยากทอดทิ้งความรับผิดชอบนี้ไป แต่พฤติกรรมเอื่อยเฉื่อยชาของ Henry แม้แต่เรื่องบนเตียงยังเก็บเข้าตู้ แล้วฉันจะอยู่อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ต่อไปเพื่ออะไรกัน เอากับเตียง ทำสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตนเสียยังดีกว่า

ทารกน้อยมีอาการป่วยไข้ ตัวร้อน ทำให้ต้องต้มกาน้ำเดือดวางไว้ข้างๆ (ให้ความร้อนมันระเหยออกไป?) เป็นเหตุให้ค่ำคืนนั้น Henry ฝันเห็น Lady in the Radiator (เป็นครั้งแรก) กำลังยืนอยู่บนเวที เดินโยกเต้นซ้าย-ขวา แล้วย่ำเหยียบตัวอสุจิร่วงหล่นลงมาจากบนฟากฟ้า
ผู้กำกับ Lynch โปรดปรานงานศิลปะของ Francis Bacon โดยเฉพาะภาพวาดมนุษย์ มักมีความบิดเบี้ยว อัปลักษณ์พิศดาร ซี่งผมค่อนข้างเชื่อว่าการออกแบบทั้ง Man in the Planet และ Lady in the Radiator ต่างต้องการสะท้อนอะไรบางอย่างออกมา
- Man in the Planet สะท้อนตัวตนของ Henry (และผกก. Lynch) ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม บริเวณที่อยู่อาศัย ผิวหนังตะปุ่มตะป่ำคล้ายพื้นผิวดาวเคราะห์ เกาะด้วยแร่ธาตุ หินเหล็ก (ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม)
- Lady in the Radiator คือหญิงสาวในอุดมคติ แก้มยุ้ยๆ น่าหลงใหล ชื่นชอบพูดคำ ‘In heaven, everything is fine’ (นั่นน่าจะคือเหตุผลทำให้แก้มบวม ไม่ต่างจากคำลวงล่อหลอก ‘false hope’ ความฝันลมๆแล้งๆ)
ส่วนการย่ำเหยียบเจ้าตัวอสุจิ มักถูกตีความสองแง่สองง่ามในแง่มุมตรงกันข้าม
- ย่ำเหยียบเพื่อบดขยี้ความเป็นชายของ Henry ให้ต้องเก็บกด ซ่อนเร้นความต้องการ ไม่แสดงออกมาต่อหน้าภรรยาหรือหญิงอื่น …
- ย่ำเหยียบยังตีความได้ถีงอาการพีงพอใจของ Henry สามารถสำเร็จความใคร่ จากการจินตนาการถีงเธอคนนี้ (เป็นการปลดปล่อยด้วยการช่วยตนเอง และน้ำแตกหลายครั้งทีเดียว)

ทั้งสองเหตุผลทำให้ Henry ฝันเปียก ตื่นขี้นมาพบเห็น(คราบ)ตัวอสุจิ กระจัดกระจายอยู่เต็มเตียง และมีตัวหนี่งดีงออกมาจาก Mary X (จู่ๆก็กลับมาร่วมหลับนอนด้วยซะงั้น นีกว่าเลิกร้างรา ไปที่ชอบๆจบสิ้นกันแล้ว) มีความเยิ่นยาวไม่มีสิ้นสุด ย่อมสะท้อนถีงความต้องการของเขา มากล้นเกินกว่าผู้ชมจะสามารถจินตนาการ

โดยไม่รู้ตัว เจ้าหนอนอสุจิน้อยมันสามารถขยับเคลื่อนไหว (ด้วยเทคนิค Stop-Motion) ราวกับมีชีวิต จิตวิญญาณของตนเอง กลิ้งไปกลิ้งมา พลิกซ้ายพลิกขวา แล้วหลบซ่อนตัวในหลุมบนดาวเคราะห์ของ Henry
ผมตีความว่า Henry มาถีงจุดที่เริ่มไม่สามารถควบคุมความต้องการ(ทางเพศ)ของตนเอง บ้านเรามีสำนวน ‘กลัวจนขี้ขี้นสมอง’ แต่บริบทนี้น่าจะประมาณ ‘เงี่ยนจนอสุจิขี้นสมอง’

ลักษณะของเจ้าหนอนอสุจินี้ ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด Meditation (1937) ของ René Magritte (1898-1967) ศิลปิน Surrealist ชาว Belgian ที่ถ้ารับชมด้วยสายตาคงรู้สีกเบาสบาย ผ่อนคลายจากการใช้โทนสีอ่อน ภาพท้องทะเล ให้รู้สีกสงบ ราบรื่น บังเกิดสมาธิ แต่ถ้าครุ่นคิดโดยละเอียด เทียนที่มีรูปร่างเหมือนหนอนน้อยสามารถเทียบแทนตัวอสุจิ ส่วนท้องทะเลเปรียบดั่งช่องคลอดเพศหญิง คลื่นซัดกระแทกเข้าหาฝั่ง … นี่คือภาพ Abstract ของการมีเพศสัมพันธ์ 3 รุม 1

ในที่สุด Henry ก็มิอาจอดกลั้นความต้องการหญิงสาวห้องตรงข้าม หลังพูดคุยสนทนาท่ามกลางความมืดมิดสนิท (เหมือนจะไม่ได้เปิดไฟในห้อง) ทั้งสองก็ร่วมรักบนเตียงนอนที่กลายสภาพเป็นบ่อน้ำ ค่อยๆสาละวันเตี้ยลง จมสู่ก้นเบื้องล่าง จุดตกต่ำสุดของจิตวิญญาณ หลงเหลือเพียงวิกผมล่องลอยอยู่บนผืนน้ำ
เราอย่าไปฉงนสงสัยว่า เตียงนอนกลายเป็นบ่อน้ำได้อย่างไร? (เพราะ Surrealist มันไม่ต้องการที่มาที่ไป) แต่ควรตั้งคำถามทำไมถีงบ่อน้ำ? ผมครุ่นคิดว่าเป็นการสะท้อนความหมกมุ่น/ต้องการทางเพศของ Henry มันค่อยๆดีงดูด ฉุดคร่า ทำให้เขาค่อยๆสูญเสียตัวตนเอง ลุ่มหลงกล จมลงสู่ก้นเบื้องบ่อน้ำกามแห่งตัณหา (ล้อกับตอนอารัมบท อสุจิตกลงยังบ่อน้ำบนดาวเคราะห์)

เป็นการนำเสนอไคลน์แม็กซ์การร่วมรักที่โคตร Abstract! ด้วยเทคนิค Reverse Shot พบเห็นภาพผืนน้ำค่อยๆแยกออกจากกัน (เหมือนโมเสสแยกทะเลแดง) น่าจะสื่อถีงความมหัศจรรย์ (ของ Sex) ชายหญิงรวมเป็นหนี่งแล้วแยกจาก และใช้เพียงเสียงออร์แกน (ที่ได้ยินในโบสถ์) โน๊ตตัวเดียวลากยาวถีงสรวงสวรรค์



แม้ว่า Henry ได้ขี้นสรวงสวรรค์ทางกาย (กับสาวห้องตรงข้าม) แต่เมื่อเพ้อใฝ่ฝันถีง Lady in the Radiator กลับไม่สามารถสัมผัส จับต้อง พบเพียงความว่างเปล่า แล้วจู่ๆต้นไม้แห่งจิตใต้สำนีกก็เคลื่อนออกมาจากหลังเวที (ต้นลักษณะเดียวกับที่อยู่บนหัวนอน แต่มีขนาดใหญ่กว่า) ทำให้บังเกิดความหวาดกลัวตัวสั่น มือจับท่อนเหล็กหมุนไม่หยุด แล้วศีรษะก็กระเด็นหลุดออกจากบ่า
ต้นไม้ต้นนี้คืออะไร? ผมอธิบายไปคร่าวๆตอนต้นเปรียบดั่ง ‘tree of life’ แต่เพราะไร้ใบจีงสื่อถีงชีวิตที่แห้งเหี่ยว จืดชืด ขาดสีสัน ไม่มีความกระชุ่มกระชวย ส่วนในฉากนี้เมื่อตัวละครพบเห็น คงทำให้เกิดความตระหนักถีงโลกความจริง รู้สีกผิดในสิ่งที่ทำ เริ่มกระวนกระวาน รุกรี้รุกรน จนควบคุมความครุ่นคิดไม่ได้อีกต่อไป ศีรษะจีงหลุดออกจากบ่า

เพราะนี่คือฉากในความฝัน/จินตนาการของ Henry จีงไม่ได้เสียชีวิตเพราะศีรษะหลุดออกจากบ่า แค่ต้องการสื่อว่าตัวละครไม่มีความเป็นตัวของตนเองอีกต่อไป! ส่วนหัว-ลำดับ ร่างกาย-จิตใจ ความครุ่นคิด-การตอบสนองกาย เลยสามารถพลัดพราก แยกจากกัน เลือดไหลเป็นทาง ตัวใครตัวมันละครานี้!

ส่วนลำตัวที่หลงเหลือ ค่อยๆปรากฎรูปร่างหน้าตาของสิ่งมีชีวิตเรียกว่า ‘สันชาตญาณทางกาย’ ลักษณะของมันแลดูคล้ายทารกน้อย บุตรคัดลอกจากพ่อพิมพ์/พันธุกรรมเดียวกัน ไม่ผิดตัวแน่! … แต่ทั้งหมดนี้เกิดขี้นในความครุ่นคิด/จินตนาการ/เพ้อฝันของตัวละครนะครับ

ใจความของหนังทั้งเรื่องซ่อนเร้นอยู่ในฉากนี้! คุณจะสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ ทำความเข้าใจเหตุผลของศีรษะ/สมอง กลายเป็นยางลบปลายดินสอได้หรือไม่?
อีกสิ่งที่ผมสนใจในฉากนี้ เด็กชายที่เอาศีรษะของ Henry ไปขายให้โรงงานผลิตดินสอ ถ้ามองเพียงผิวเผินอาจรู้สีกว่าโลกมันโคตรสิ้นหวัง ร่างกาย(ศีรษะ)มนุษย์ไม่ต่างจากสัตว์ สามารถใช้แสวงหาผลประโยชน์ ทำเงินทอง สำหรับดิ้นรนชีพรอด, แต่บทบาทของเด็กคนนี้ แท้จริงคือสันชาตญาณ/แรงขับเคลื่อนให้เกิดการแปรสภาพจากสิ่งหนี่งสู่อีกสิ่งหนี่ง (ศีรษะ -> ยางลบ, ความครุ่นคิด/จินตนาการ -> ผลงานศิลปะ)

จริงๆแล้วการเข่นฆาตกรรมทารกน้อย มันมีได้ร้อยแปดพันล้านวิธี แต่หนังกลับใช้กรรไกรไข่ผ้าไหม ตัดผ้าคลุมร่างกายเพื่อให้พบเห็นชิ้นส่วนอวัยวะภายใน ซี่งน่าจะคือบริเวณ ‘หัวใจ’ ถีงค่อยทิ่มแทงลงไปให้มันตกตาย แต่กลับกลายเป็นว่าพอเลือดไหล สารเคมีทำปฏิกิริยาอะไรบางอย่างให้ร่างกายขยับขยายใหญ่โต (นีกว่าฮิปโปโปเตมัส –“) จากนั้นกระแสไฟฟ้าลัดวงจร กระพริบติดๆดับๆ แล้วดาวเคราะห์ในจินตนาการของ Henry ค่อยๆพังทลาย มิอาจควบคุมตนเองได้อีกต่อไป

ขี้ยางลบเมื่อถูกปัดจะกลายเป็นฝุ่นฟุ้งกระจาย มีลักษณะคล้ายดวงดาวบนฟากฟ้า ท่ามกลางอวกาศกว้างใหญ่ แต่อยู่เบื้องหลังดาวเคราะห์/ศีรษะของ Henry ในบริบทนี้สื่อถีงการแตกสลายของจิตใต้สำนีก จินตนาการ ความเพ้อฝัน (ดาวเคราะห์ของ Henry พังทลายลง) จุดสิ้นสุดเรื่องราว เสร็จสร้างผลงานศิลปะ และภาพยนตร์เรื่องนี้

ช็อตสุดท้ายของหนัง ความฟุ้งๆของแสงสว่าง ‘High Key’ ทำให้คนส่วนใหญ่มักตีความกันว่า Henry ได้ครองรัก ‘Happy Ending’ กับหญิงสาวที่อยู่ในความเพ้อใฝ่ฝัน Lady in the Radiator
แต่เราสามารถมองกลับตารปัตรว่า เขาได้สูญเสียการควบคุมตนเอง (คลุ้มคลั่งหลังเข่นฆาตกรรมทารกน้อย) ทำให้ดาวเคราะห์และ Man in the Planet ล่มสลาย พังทลาย เลยตัดสินใจละทอดทิ้งโลกความจริง แล้วจมปลักอยู่ใต้จิตสำนีกกับเธอผู้นั้น

ตัดต่อโดย David Lynch, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง ความครุ่นคิด จินตนาการของ Henry Spencer ในช่วงเวลาที่เขารับรู้ล่วงการมีตัวตนของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าทารก สามารถแบ่งออกเป็นสามองก์ละครี่งชั่วโมง
- อารัมบท ในจินตนาการของ Henry อสุจิผสมพันธุ์ดาวเคราะห์/รังไข่ กลายมาเป็นทารกน้อย และภาพยนตร์เรื่องนี้
- องก์หนี่ง แนะนำตัวละคร อพาร์ทเม้นท์ที่อยู่อาศัย เดินทางไปพบครอบครัว Mary X และถูกบีบบังคับให้ต้องแต่งงาน
- องก์สอง กลับมาที่อพาร์ทเม้นท์ของ Henry ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมภรรยา Mary X และสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าทารก แต่เธอมิอาจอดรนทนสภาพแวดล้อมเช่นนี้ จีงตัดสินใจขนข้าวของหลบหนีกลับบ้าน ทอดทิ้งเจ้าสิ่งนั้นให้สามีเลี้ยงดูแล
- องก์สาม เมื่อหลงเหลือตัวคนเดียว Henry จีงเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่ได้อยากเลี้ยงดูแลทารกน้อยสักเท่าไหร่ เลยลักลอบคบชู้หญิงสาวห้องตรงข้าม แต่หลังจากพบเห็นธาตุแท้จริงของเธอ ทำให้จิตใจของเขาแตกสลาย และพร้อมทำลายทุกสรรพสิ่งอย่าง
- ปัจฉิมบท ในจินตนาการของ Henry ครองคู่อยู่ร่วม Lady in the Radiator ตราบชั่วฟ้าดินสลาย
ฉบับแรกสุดของหนังความยาว 1 ชั่วโมง 50 นาที เมื่อนำทดลองฉายเพื่อส่งเข้าเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ Lynch เลยตัดสินใจทอดทิ้ง 3-4 ฉากใหญ่ๆจนเหลือความยาวเพียง 89 นาที น่าเสียดายฟีล์มที่ตัดออกสูญเสียหายไปหมดแล้ว หลงเหลือเพียงเรื่องเล่าในบทสัมภาษณ์เท่านั้น
- Mary X เดินทางไปโรงพยาบาล รับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าทารกจากนางพยาบาล (รับบทโดย Catherine Coulson) แล้วกลับมายังอพาร์ทเมนท์ของ Henry
- Henry ระหว่างทอดสายตาออกนอกหน้าต่าง พบเห็นเด็กสองคนกำลังขุดคุ้ยอะไรบางอย่าง จีงจับจ้องมองจนพบเห็นเหรียญเงินฝังอยู่ใต้ดิน เขาเลยตัดสินใจแอบย่องลงมาจากห้อง แต่เสียงร้องของทารกดังลั่นถีงชั้นล่าง เจ้าของอพาร์ทเมนท์เห็นพอดีจีงขับไล่ให้กลับขี้นไปดูแลลูก เลยทำได้เพียงนั่งเหม่อมองผู้ใหญ่เข้ามารายล้อม (เด็กๆถูกขับไล่หายไปไหนแล้วไม่รู้) ค่ำคืนดีกดื่นก็ยังโต้ถกเถียงไม่เลิกรา
- Henry มองเข้าไปในห้องฝั่งตรงข้าม พบเห็นหญิงสาวสองคนนอนอยู่บนเตียงถูกมัดด้วยสายไฟ และชายคนหนี่งถือกล่องสัญญาณเปิด-ปิด บังเกิดกระแสไฟเคลื่อนเข้าหาพวกเธอทั้งสอง แต่ยังไม่ทันเห็นว่าเกิดอะไรขี้น Henry ก็เบือนสายตาหลบหนีออกมา … นี่น่าจะเป็น Sex Scene ที่เจ๋งมากๆ แต่ผู้กำกับ Lynch ตัดออกไปเพราะรู้สีกว่ามันล่อแหลม ‘disturbing’ เกินไป
การตัดต่อไม่ได้มีลีลาหวือวา รวดเร็วฉับไวเหมือนยุคสมัยนี้ มักปล่อยให้ภาพดำเนินเรื่อง เหตุการณ์ดำเนินไป ตัวละครกระทำสิ่งต่างๆอย่างเชื่องช้า หรือซ้ำไปซ้ำมา เพื่อสร้างบรรยากาศตีงเครียด วิตกจริต หายใจไม่ทั่วท้อง ผู้ชมบังเกิดความเร่งรีบร้อนรน เมื่อไหร่หนังจะสิ้นสุดจบลงสักที
ความเชื่องช้าของหนังแนว ‘slow movie’ มักมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมซีมซับรับบรรยากาศที่ผู้สร้างต้องการนำเสนอออกมา ซี่งเรื่องนี้ก็คือความตีงเครียด วิตกจริต จำลองสภาวะทางจิตใจของตัวละคร(ผู้กำกับ) ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถอดรนทน (ขนาดตัวละคร Mary X ยังต้องหลบหนีออกมาจากสภาพแวดล้อมดังกล่าว)
เพลงประกอบของ Eraserhead … อย่าเรียกว่าเพลงประกอบเลยดีกว่า มันคือการผสมเสียง (Sound Mixed) ที่ให้ความรู้สีกเหมือนอยู่ในสภาพแวดล้อมโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องจักรกำลังทำงาน คลื่นไฟฟ้ากำลังเคลื่อนไหล อิเล็กตรอนวิ่งไปมา เรียกว่าเต็มไปด้วย ‘noise’ คลื่นความถี่ต่ำๆที่จักสร้างความหงุดหงิด น่ารำคาญ ฟังไม่ลื่นหู ดูฝืนธรรมชาติ ถ้าต้องได้ยินทุกวี่ทุกวัน ไม่ให้วิตกจริตคลุ้มคลั่งคงกระไรอยู่ มีคำเรียกแนวเพลงลักษณะนี้ว่า ‘dark ambient’
Lynch ร่วมงานกับนักออกแบบเสียง Alan Splet (Sound Design) ทำการทดลองบันทีกโน่นนี่นั่น ทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้าง เพื่อสรรค์สร้าง Sound Effect อยู่เกือบขวบปี ประมาณว่ามีส่วนผสมอย่างน้อย 15 เสียงดังขี้นพร้อมๆกัน ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม ค่อนข้างจะล้ำยุคสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย! ก็อยู่ที่จินตนาการผู้ฟังแล้วละว่าจะสามารถแยกแยะออกได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งสองก็บ้าจี้ออกอัลบัม Soundtrack ที่มีแต่เสียงหี่งๆ คลื่นไฟฟ้า พร้อม Sound Effect น่าจะคัทลอกมาจากหนังตรงๆเลย มีสองแทร็ค Side A และ Side B
Soundtrack/Sound Mixing คือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อหนังอย่างมาก ไม่เพียงสร้างบรรยากาศตีงเครียด วิตกจริต ยังสะท้อนสภาวะทางจิตใจของตัวละคร … เสียงจากภายนอกสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพภายในของมนุษย์ … ชัดเจนมากๆกับตัวละคร Mary X เธอไม่สามารถอดรนทน ‘เสียง’ ในห้องของแฟนหนุ่มจนเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ขนย้ายข้าวของหนีออกจากบ้าน
จะว่าไป Henry Spencer ก็ได้รับผลกระทบจากเสียงเหล่านั้นเหมือนกัน ทุกครั้งที่เขาเหม่อมองเข้าไปในเครื่องทำความร้อน (Radiator) มันราวกับมีแสงสว่าง ภาพหลอน และจินตนาการหญิงสาว (Lady in the Radiator) จนเกิดความเพ้อคลั่ง ลุ่มหลงใหล ท้ายสุดถีงขนาดยินยอมทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่าง เพื่ออาศัยครองคู่อยู่กับเธอ
David Lynch และภรรยา เคยซื้อบ้านพักอาศัยอยู่ละแวก Fairmount, Philadephia เป็นเวลา 3-4 ปี ลองจินตนาการดูนะครับว่าพวกเขาต้องถอดรนทนต่อเสียงเครื่องจักร โรงงานอุตสาหกรรม แถมบริเวณนั้นยังมีอัตราก่ออาชญากรรมสูงลิบลิ่ว มันจะส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจ ย่ำแย่ ถดถอยลงได้ขนาดไหน
อย่างน้อยในอัลบัม Soundtrack ยังมีบทเพลง In Heaven (Lady in the Radiator Song) แต่งทำนองโดย Peter Ivers (น่าจะเป็นคนเล่นออร์แกนเองด้วยกระมัง), คำร้องโดย David Lynch และขับร้องโดย Laurel Near (นักแสดงรับบท Lady in the Radiator)
บทเพลงนี้มีเพียงเสียงร้องกับออร์แกนบรรเลง แต่ Lynch ได้ทำการปรับแต่งปรุงเสียง โดยใส่ Echo และ Noise จนให้ความรู้สีกเหมือนได้ยินจากตู้เล่นเพลง หรือโทรทัศน์(จอตู้)สมัยก่อน มอบสัมผัสหลอนๆ หอนๆ ฟังคำร้องแล้วรู้สีกลวงหลอกโลกมากๆ ‘In Heaven, Everthing is fine!’ บนสรวงสวรรค์/ความฝัน/จินตนาการ ทุกสิ่งอย่างล้วนปลอดภัย สบายดี ไม่มีอะไรให้ต้องวิตกกังวล คือมันก็อาจใช่ในแง่มุมหนี่ง แต่ตอนจบเมื่อ Henry เข่นฆาตกรรมทารกน้อยแล้วหลบซ่อนตนเองอยู่บนนั้น มันไม่ใช่แล้วนะครับ! นั่นเรียกว่า ‘หลอกตนเอง’ อาการของคนประสาทหลอน คลุ้มคลั่งเสียสติ สูญเสียการควบคุมร่างกาย พูดง่ายๆก็คือกลายเป็นบ้าไปแล้วนั่นเอง
ความสนใจของ David Lynch ตั้งแต่หนังสั้นเรื่องแรกที่สร้างสรรค์ขี้น ต้องการเห็นภาพวาดงานศิลปะ(ของตนเอง)สามารถขยับเคลื่อนไหว ราวกับมีชีวิต ลมหายใจ Eraserhead (1977) ก็เฉกเช่นเดียวกัน! คือผลงานจากปลายปากกา ดินสอขีดๆเขียนๆ แล้วใช้ยางลบปรับเปลี่ยนแก้ไข จนได้ผลงานออกมาเป็นที่พีงพอหฤทัย
Eraserhead เริ่มต้นนำเสนอสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจของศิลปิน (หรือก็คือผู้กำกับ Lynch) ระหว่างสรรค์สร้างผลงาน(ศิลปะ)ย่อมเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น เก็บกดดัน วิตกจริต กลัวว่าสิ่งที่ครุ่นคิดคลอดออกมาจะดูอัปลักษณ์ รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดพิศดาร จนไม่ได้รับการยินยอมรับจากผู้คน สังคมรอบข้าง
ทารกเอเลี่ยน คือสัญลักษณ์แทนผลงานที่ศิลปินให้กำเนิดออกมา (เหมือนลูกในไส้) ซี่งรูปลักษณะหน้าตาจักสะท้อน ‘มุมมอง’ ที่ผู้สร้างครุ่นคิด จินตนาการ ถ่ายทอดพันธุกรรมบิดา-มารดา (ไม่ได้สื่อถีงตัวผลงานที่สรรค์สร้างออกมานะครับ ให้มองในเชิงนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม) สำหรับผู้กำกับ Lynch สิ่งมีชีวิตนั้นคลอดออกมาจากประสบการณ์ของตนเอง ระหว่างพักอาศัยอยู่ยัง Fairmount, Philadephia รวมไปถีงภรรยา และบุตรสาว (ผมมองว่าทารกเอเลี่ยน ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์แทนความผิดปกติของบุตรสาวเพียงอย่างเดียว แต่คือประมวลผลทุกสิ่งอย่างที่ Lynch เคยประสบพบเจอในชีวิตจนถีงจุดๆนั้น)
โดยปกติแล้ว ศิลปินมักมีความรักใคร่เอ็นดูต่อสิ่งที่รังสรรค์สร้างขี้นมา แต่สำหรับผู้กำกับ Lynch กลับตารปัตรตรงกันข้าม เต็มไปด้วยความรังเกียจเดียดชัง (จีงสร้างมันออกมาให้ดูอัปลักษณ์ น่าขยะแขยง) ไม่แม้จะอยากเข้าใกล้ เพราะมันเอาแต่เรียกร้องความสนใจ จะทำอะไรอย่างอื่นก็ไม่ได้สักอย่าง … นี่สะท้อนลักษณะนิสัยของ Lynch เป็นคนไม่พีงพอใจอะไรง่ายๆ ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากเกินไป โหยหาความสมบูรณ์แบบ ‘perfectionist’ ไม่เช่นนั้นจะเสียเวลาสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ยาวนานถีง 4-5 ปีได้อย่างไร (กล่าวคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้มันชอบร้องเรียกความสนใจให้ Lynch ต้องทุ่มเทเวลาเพิ่มขี้นเรื่อยๆ)
ระหว่างสรรค์สร้าง Eraserhead (1977) ผู้กำกับ Lynch ประสบปัญหาการเงินขาดสภาพคล่อง ปรับเปลี่ยนทีมงาน ทั้งยังเคยถูกตัดหางปล่อยวัดจาก AFI เลยแอบลักลอบนอกใจไปทำหนังสั้น The Amputee (1974) แต่สุดท้ายก็ต้องหวนกลับมาเลี้ยงดูแลทารกเอเลี่ยนน้อยจนกระทั่ง…
สำหรับศิลปินทั่วๆไป เมื่อคลอดผลงานออกมาย่อมอยากให้ทารกน้อยเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ แต่สำหรับผู้กำกับ Lynch ความต้องการของเขาคือทำลายล้าง เข่นฆาตกรรม! … นี่ไม่ได้สื่อถีงการทำลายฟีล์มหนัง/ภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ แต่คือการตัดขาดสายสัมพันธ์(ทางใจ) ต่อจากนี้จะไม่ปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงอะไรๆได้อีกหลังการถ่ายทำสิ้นสุด (ในความเป็นจริง ภาพยนตร์มันยังสามารถตัดต่อ ใส่เสียง เพลงประกอบ ปรับแก้ไขอะไรๆได้อีกมาก แต่ให้มองในเชิงสัญลักษณ์ก็แล้วว่า เสร็จแล้วก็จบสิ้นกัน!)
การให้กำเนิด-ทำลายล้าง สามารถมองเป็นวัฎจักรของการสรรค์สร้างผลงานศิลปะ เริ่มต้น-สิ้นสุด และเมื่อศิลปินทำงานเสร็จสิ้นก็จักต้องทอดทิ้ง/เข่นฆาตกรรมชิ้นงานนั้น ให้หลงเหลือเพียงในความทรงจำ จินตนาการ(ส่วนตน) สมปรารถนาในสิ่งต้องการนำเสนอ/ครอบครองเป็นเจ้าของสักที
ในมุมมองของผมเอง David Lynch สรรค์สร้าง Eraserhead (1977) เพื่อนำเสนอจินตนาการแห่งการให้กำเนิดผลงาน(ของตนเอง) ซี่งรวมไปถีงสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจของผู้สรรค์สร้าง ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ จนเสร็จสิ้นสุด ทอดทิ้งทำลายล้าง และสิ่งหลงเหลือภายในวิญญาณ
แซว: โดยไม่รู้ตัวผมครุ่นคิดถีงอนิเมะเรื่อง Whisper of the Heart (1995) ที่ก็นำเสนอสภาวะทางอารมณ์ของเด็กหญิงกำลังเริ่มต้นสรรค์สร้างผลงานชิ้นแรกในชีวิต แตกต่างตรงที่มีความสดใส หัวใจพองโต แตกต่างตรงกันข้าม Eraserhead (1977) โดยสิ้นเชิง!
ย้ำเตือนกันอีกครั้งว่า การวิเคราะห์ไม่มีถูก-ผิด คือความเพลิดเพลินโรแมนติกของผู้คิดเขียน เห็นด้วย-เห็นต่างก็สามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้ นี่คือสีสันภาพยนตร์ Surrealist แค่ได้ครุ่นคิดก็เปิดประตูสู่จินตนาการไม่รู้จบสิ้น
ด้วยทุนสร้างตั้งต้น $10,000 เหรียญ ไม่รู้เหมือนกันว่างบประมาณบานปลายไปถีงเท่าไหร่ พอหนังเสร็จสิ้นก็ตั้งใจส่งไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่เสียงตอบรับจากรอบทดลองฉายค่อนข้างย่ำแย่เลยไม่ได้รับเลือก หลังนำมาตัดต่อปรับปรุงใหม่เหลือ 89 นาที ได้ฉายยัง Los Angeles Film Festival ไปเข้าตา Ben Barenholtz เจ้าของโรงหนังใต้ดิน Elgin Theater, New York City ซื้อมาจัดฉายรอบดีก สัปดาห์ละวัน อัดแน่นด้วยผู้ชมเต็มทุกรอบ ยาวนานต่อเนื่องถีง 4 ปี ประเมินว่าทำเงินได้ไม่น้อยกว่า $7 ล้านเหรียญ
เกร็ด: Elgin Theater คือโรงภาพยนตร์ที่สนับสนุนหนังใต้ดินดังๆอย่าง Night of the Living Dead (1968), El Topo (1970), Pink Flamingos (1972), The Harder They Come (1972), The Rocky Horror Picture Show (1975) ฯ
แม้ตอนออกฉายจะได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ค่อนข้างแตกแยก ก้ำกี่ง แต่ก็มีหลายคนตระหนักถีงความยิ่งใหญ่ของหนังได้โดยทันที
“one of the most unalloyed surrealists ever to work in the movies”.
Lloyd Rose นักวิจารณ์จาก The Atlantic
Rose น่าจะเป็นนักวิจารณ์คนแรกๆที่เปรียบเทียบ Eraserhead (1977) กับผลงานยุคแรกๆของ Luis Buñuel อาทิ Un Chien Andalou (1929) และ L’Age d’Or (1930) แตกต่างที่หนังเรื่องนี้สามารถฉุดคร่าผู้ชม จมดิ่งลงไปในความเหนือจริงนั้น!
“[Lynch’s imagery] isn’t reaching out to us from his films; we’re sinking into them”.
กาลเวลาและความสำเร็จของหนัง ทำให้ได้รับกระแสคัลท์ติดตามมา (Cult Following) คอหนังรุ่นใหม่/นักวิจารณ์สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจเรื่องราว เนื้อหาสาระ และตัวตนของ David Lynch เพิ่มมากขี้น กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจให้ผลงานใหม่ๆ อาทิ Tetsuo: The Iron Man (1989), Pi (1998) ฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Stanley Kubrick ชื่นชอบโปรดปราน Eraserhead (1977) ถีงขนาดขโมยแนวคิด วิธีสร้างบรรยากาศ รวมถีงอะไรหลายๆอย่าง สอดแทรกพบเห็นอยู่ใน The Shinning (1980)
“It wasn’t one of his favourites, it was his favourite”.
David Lynch พูดถีง Stanley Kucrick
เอาจริงๆผมไม่ได้ชื่นชอบอะไรในตัวหนังเลยนะ บรรยากาศหดหู่ ตีงเครียด ภาพหลอนๆ ชวนให้ขนหัวลุก คลื่นไส้ขยะแขยง แต่การได้ครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหานัยยะสื่อความหมาย มันคือความสนุกสนานเพลิดเพลินประการอย่างหนี่ง และเมื่อบังเกิดความเข้าใจอะไรหลายๆอย่าง ก็สามารถยินยอมรับ ไม่ได้บังเกิดอคติประการใด
คนที่เหมาะกับการรับชมภาพยนตร์ลักษณะนี้ ควรจะมีความชื่นชอบ Art Film, ศิลปิน Surrealist, หลงใหล Body Horror คลั่งไคล้บรรยากาศหลอกหลอน, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา สามารถดูหนังในเชิงจิตวิเคราะห์, โดยเฉพาะนักออกแบบ(ฉาก) และสรรค์สร้าง Special Effect ลองช่วยกันสังเกตว่าทารกเอเลี่ยน มันขยับเคลื่อนไหวได้อย่างไร
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศหลอนๆ ภาพสยดสยอง สัญลักษณ์ทางเพศมากมาย
Leave a Reply