The Element of Crime

The Element of Crime (1984) Danish : Lars von Trier ♥♥♥♡

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ Lars von Trier เมื่อตำรวจสวมวิญญาณเป็นอาชญากร (คล้ายๆแบบนักแสดงสวมบทบาทเป็นตัวละคร) เพื่อติดตามหาฆาตกรต่อเนื่อง “Lotto Murderer” แต่เขากลับไม่สามารถควบคุมตนเอง ก่ออาชญากรรมเสียเอง นั่นสะท้อนความสิ้นหวังของยุโรป ไม่ต่างจากวันโลกาวินาศ

ความเหลืองทองอร่ามของตะเกียงแสง Sodium Light ทำให้งานภาพออกมาคล้ายๆโทนสีซีเปีย (ทำการเคารพคารวะ Stalker (1979) ของ Andrei Tarkovsky) มอบสัมผัสร่วงโรย แห้งเหี่ยว (สีของฤดูใบไม้ร่วง) พร้อมเศษซากปรักหักพังของยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มันช่างเหมือนดิสโทเปีย (Dystopian) ไม่ต่างจากวันโลกาวินาศ

เกร็ด: Europa Trilogy ไตรภาคแรกเกี่ยวกับความทรงจำ/สภาพของยุโรป ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองของ Lars von Trier ประกอบด้วย The Element of Crime (1984), Epidemic (1987), Europa (1991)

ผมพยายามหลีกเลี่ยงไม่เขียนถึงผลงานของ Lars von Trier เพราะรับรู้ถึงความรุนแรง ทัศนคติสุดโต่ง มักจับต้องเรื่องราวละเอียดอ่อน เนื้อหาสร้างความขัดแย้ง เป็นผู้กำกับมากด้วย ‘Controversy’ แต่เมื่อประสบการณ์รับชมภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้น ก็ครุ่นคิดว่าตนเองน่าจะพร้อมเปิดใจกว้าง … รับชมหนังของ Lars von Trier ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมสมองให้โล่งๆ ร่างกายผ่อนคลาย เพราะเนื้อหามีความตึงเครียด ประเด็นหนักอึ้ง ต้องครุ่นคิดตามอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญคือต้องลดละอคติ ถึงสามารถเข้าถึงศิลปะขั้นสูง

The Element of Crime (1984) มีเรื่องราวที่ค่อนข้างซับซ้อน สะกดจิตเข้าไปในความทรงจำ จากนั้นสวมวิญญาณเป็นอาชญากร แต่เอาจริงๆมันก็ไม่ได้สลับซับซ้อนขนาดนั้น (ผมว่าประมาณ Touch of Evil (1958) ของ Orson Welles) พวกรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ลีลานำเสนอ ภาพความรุนแรง บรรยากาศตึงเครียด โทนสีซีเปีย ฯ เหล่านั้นต่างหากทำให้ต้องใช้ความอดรนทนในการดูหนังสูงมากๆ


Lars von Trier (เกิดปี 1956) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Danish เกิดที่ Kongens Lyngby, Denmark เป็นบุตรบุญธรรมของ Ulf Trier เมื่อตอนมารดาใกล้เสียชีวิต ค.ศ. 1989 สารภาพว่าบิดาแท้จริงคือ Fritz Michael Hartmann อดีตสมาชิกกลุ่มต่อต้านนาซี และเคยทำงานกระทรวงกิจการสังคม (Ministry of Social Affairs)

โตขึ้นร่ำเรียนทฤษฎีภาพยนตร์ยัง University of Copenhagen ต่อด้วยสาขาการกำกับ National Film School of Denmark ปีสุดท้ายตัดสินใจเพิ่ม ‘von’ เข้าไปกึ่งกลางชื่อ (แบบเดียวกับ Erich von Stroheim และ Josef von Sternberg) บนเครดิตผลงานจบการศึกษา Images of Liberation (1982) ความยาว 57 นาที เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin ส่วนของ Panorama

หลังสำเร็จการศึกษา Trier ร่วมกับเพื่อนนักเขียน Niels Vørsel พัฒนาบทภาพยนตร์ Forbrydelsens Element (1984) แปลว่า The Element of Crime โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากความต้องการสร้างหนังนัวร์สมัยใหม่ (ในลักษณะ Neo-Noir) ด้วยทดลองเลือกเฉดสีและสถานที่ … ตอนนั้นยังไม่ได้มีแผนจะทำเป็นไตรภาค Europa Trilogy แค่ว่าเลือกพื้นหลังบนทวีปยุโรปเท่านั้นเอง

The Element of Crime was an attempt to make a modern film noir, but a film noir in colour. I thought it would be terribly difficult, because there was a risk of it being far too coloured. I tried to counteract that in my use of colour and in the choice of locations. The film, after all, is filmed in a Europe that is under the threat of nature. I haven’t seen the film for a long time now. What’s the film about? Well, what can I say? There’s an element of intrigue, with a couple of obscure ideas about switches of identity.

Lars von Trier

แม้ว่า Trier จะเป็นชาว Danish แต่กลับเลือกสรรค์สร้าง The Element of Crime (1984) โดยใช้ภาษาอังกฤษ (ทุกผลงานของ Trier ถ่ายทำใน Denmark ไม่ก็ Sweden เพราะเป็นโรคกลัวเครื่องบิน) จุดประสงค์หลักๆเพื่อให้สามารถเข้าถึงวงกว้าง เตะตาผู้ชมระดับนานาชาติ และครุ่นคิดว่าหนังนัวร์ควรเคียงคู่กับภาษาอังกฤษที่สุด

To begin with, I think English is a good language for film. All the films I like are in English. And most of the films I don’t like are in Danish! The Element of Crime can be seen as a sort of latter-day film noir, so English was more suited to the film than Danish. And in the back of my mind I also had an idea that it might get noticed outside Denmark if I filmed it in English. Which happened, of course. There’s nothing to say that just because I make films in Denmark I have to make them in Danish.

สำหรับชื่อหนังสอดคล้องกับชื่อหนังสือ (สมมติ) The Element of Crime เขียนโดยนักอาชญาวิทยา (Criminologist) นำเสนอทฤษฏีเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของอาชญากรรม ว่าอาจได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง แรงกระตุ้นธรรมชาติ สันชาตญาณผลักดันให้มนุษย์ (อาชญากร) กระทำสิ่งขัดแย้งต่อหลักศีลธรรม (ก่ออาชญากรรม)

The title is linked to a book written by Osborne, one of the central characters in the film. The book is called The Element of Crime, and it proposes the thesis that crimes occur in a certain element, a locality that provides a sort of ‘centre of infection’ for crime, where, like a bacteria, it can grow and spread at a certain temperature and in a certain element—moisture, for instance. In the same way, crime can arise in a certain element, which is represented here by the environment of the film. ‘The element of crime’ is the force of nature that intrudes upon and somehow invades people’s morals.


นักสืบชื่อ Fisher (รับบทโดย Michael Elphick) ถูกส่งมาประจำการ Cairo, Egypt เหมือนจะสูญเสียความทรงจำ จึงเข้ารักษากับจิตแพทย์ให้ทำการสะกดจิต พูดเล่าเหตุการณ์บังเกิดตอนเดินทางกลับยุโรปเมื่อหลายปีก่อน

ในความทรงจำของ Fisher ได้รับการติดต่อจากผู้กำกับการ/เพื่อนเก่า Kramer (รับบทโดย Jerold Wells) ให้มาช่วยสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรต่อเนื่อง ‘Lotto Murderer’ ซึ่งเขาค้นพบวิธีการของฆาตกร ละม้ายคล้ายตัวละคร Harry Grey จากหนังสือ The Element of Crime จึงเดินทางไปหาอาจารย์/ผู้แต่ง Osborne (รับบทโดย Esmond Knight) หลังจากถูกขับไล่ออกจากสถาบัน(นายร้อยตำรวจ?) ตกอยู่ในสภาพหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต

Fisher ทดลองใช้วิธีการเดียวกับในหนังสือ The Element of Crime พยายามลอกเลียนแบบพฤติกรรม การกระทำ จำลองสร้างสถานการณ์ กล่าวคือต้องการสวมวิญญาณเป็นฆาตกรรายนั้น เพื่อจะได้คาดการณ์เหตุการณ์บังเกิดขึ้น ติดตามจับกุมตัวมาลงโทษทัณฑ์ แต่….


Michael John Elphick (1946-2002) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chichester, Sussex ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการร้านขายเนื้อสัตว์ เมื่อตอนอายุ 15 ได้เป็นเด็กฝึกงานช่างไฟยัง Chichester Festival Theatre ทำให้มีโอกาสพบเห็นการแสดงของ Laurence Olivier, Michael Redgrave, Sybil Thorndike เกิดความชื่นชอบหลงใหล ตัดสินใจเข้าศึกษา Royal Central School of Speech and Drama จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์ อาทิ Fraulein Doktor (1968), Hamlet (1969), O Lucky Man! (1973), The Elephant Man (1980), Gorky Park (1983), The Element of Crime (1984), Withnail & I (1987) ฯ

รับบทนักสืบ Fisher ถูกส่งไปประจำยังกรุง Cairo, Egypt นานถึง 13 ปี โหยหาต้องการเดินทางกลับมาทำงานยุโรป จนกระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้กำกับการ/เพื่อนเก่า Kramer เพื่อสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ‘Lotte Murderer’ ทดลองสวมวิญญาณตามอย่างหนังสือ The Element of Crime แต่ทำไปทำมา ทำให้เขากลายเป็นฆาตกรเสียเอง! ถึงอย่างนั้นกลับสามารถเอาตัวรอดพ้น หวนกลับกรุง Cairo และพยายามหลงลืมทุกสิ่งอย่าง

ใบหน้าของ Eliphick ดูเหนื่อยๆอ่อนล้า แต่เมื่อตัวละครได้รับโอกาสเดินทางกลับยุโรป สีหน้าเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น จริงจัง ต้องการพิสูจน์ตนเอง จึงทำการสืบสวนสอบสวนด้วยวิธีการผิดแผกแปลกประหลาด (Unorthodox) ลอกเลียนแบบพฤติกรรมตัวละคร Harry Grey จากหนังสือ The Element of Crime ด้วยการจำลองสถานการณ์ เสพยา เล่นเซ็กซ์อย่างบ้าคลั่ง สวมวิญญาณฆาตกรจนเริ่มไม่สามารถควบคุมตนเอง เสียสติแตก คลุ้มบ้าคลั่ง และเมื่อรับรู้ว่าได้กระทำสิ่งผิดพลาด ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก

ภาพลักษณ์ดิบเถื่อนของ Eliphick สร้างมิติให้กับตัวละครอย่างมากๆ โดยเฉพาะการสวมวิญญาณเป็น Harry Grey (เรียกได้ว่า ‘acting ซ้อน acting’) ช่วงแรกๆอาจยังสังเกตไม่ค่อยเห็น แต่วินาทีแห่งความคลุ้มบ้าคลั่ง (ขณะกลายเป็นฆาตกร กับเหยื่อรายสุดท้าย) มันจะมีวินาทีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอย่างขนหัวลุก

ฉากร่วมเพศสัมพันธ์กับโสเภณี Kim ก็ไม่รู้พี่แกเล่นจริงแรงขนาดไหน หลังถ่ายทำเสร็จ Meme Lai หลบไปร้องไห้ (แต่เหตุผลจริงๆที่เธอร้องไห้ เพราะตระหนักว่าหน้าอกที่เพิ่งทำขนาดใหญ่เกินไป) ทำให้ Eliphick รู้สึกผิด(ครุ่นคิดว่าทำเธอรุนแรง)จึงหลบไปร้องไห้เช่นเดียวกัน


Esmond Penington Knight (1906-87) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ East Sheen, Surrey บิดาทำธุรกิจส่งออกซิการ์ หลังเรียนจบมัธยมเริ่มต้นเป็นนักแสดงละครเวที ก่อนมีผลงานภาพยนตร์ อาทิ The Private Life of Henry VIII (1933), Waltzes from Vienna (1934), อาสาสมัครทหารเรือช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับบาดเจ็บตาบอดสองข้าง โชคดีที่ต่อมาตาขวาค่อยๆกลับมามองเห็น, ผลงานยุคหลังๆมักได้รับบทสมทบเล็กๆ อาทิ Henry V (1944), Black Narcissus (1947), Hamlet (1948), The Red Shoes (1948), The River (1951), Richard III (1955), Peeping Tom (1960), The Spy Who Came in from the Cold (1965), The Element of Crime (1984) ฯ

รับบทนักอาชญาวิทยา (Criminologist) Osborne เคยเป็นอาจารย์สอน(โรงเรียนนายร้อยตำรวจ?) แต่หลังจากทำคดีความ Harry Grey นำเอาเหตุการณ์บังเกิดขึ้นมาเขียนหนังสือ The Element of Crime กลับไม่ได้รับการยินยอมรับ จึงถูกขับไล่ออก ต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยากลำบาก ไม่มีใครเหลียวดูแล ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง เฝ้ารอคอยความตายไปวันๆ จนกระทั่งการมาถึงของ Fisher

นี่เป็นบทบาทท้ายๆอาชีพของ Knight แสดงสีหน้าเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย แต่ท่าทางกลับดูร้อนรน กระวนกระวาย เหมือนพยายามปกปิดซุกซ่อนอะไรบางอย่าง ปฏิเสธรับโทรศัพท์ Kramer แถมยังพูดผลักไสไล่ส่ง Fisher ไม่ต้องการให้มายุ่งย่ามวุ่นวาย พบปะพูดคุยกับใคร

การเขียนหนังสือ The Element of Crime ทำให้ Osborne ต้องจมปลักอยู่กับความครุ่นคิด วิธีการก่ออาชญกรรม สวมวิญญาณเป็นฆาตกรต่อเนื่อง Harry Grey ผลลัพท์จึงละม้ายคล้ายสิ่งบังเกิดขึ้นกับ Fisher แต่เนื่องจากไม่มี Cairo ให้หลบหนี/ลืมเลือน เขาจึงจมปลักอยู่ในยุโรปและกระทำการ …


Me Me Lai (เกิดปี 1952) นักแสดงสัญชาติ Burmese-British เกิดที่ประเทศพม่า บิดาเป็นคนอังกฤษ พออายุ 18 เดินทางสู่ London กลายเป็นนักแสดงซีรีย์ พอมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ Italian-Horror ผลงานเด่นๆ อาทิ Au Pair Girls (1972), Jungle Holocaust (1977), Revenge of the Pink Panther (1978), แต่หลังจากทำหน้าอก แสดงภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย The Element of Crime (1984) แล้วเข้าร่วมหน่วยงานตำรวจ Essex Police Force

รับบทโสเภณี Kim ถูกว่าจ้างโดยนักสืบ Fisher ให้แสดงเป็นแฟนสาวของ Harry Grey ซึ่งเธอก็สามารถเข้าถึงบทบาท รับรู้ความต้องการ ตอบสนองด้วยอารมณ์รุนแรง เพศสัมพันธ์อย่างบ้าคลั่ง ภายหลังถึงเฉลยว่าเธอคืออดีตแฟนสาวตัวจริง (ของ Harry Grey) และยังมีบุตรสาวร่วมกัน

ตาคมๆ อกสะบึ้ม สวยสังหาร นั่นคือบทบาท ‘stereotypes’ ของนักแสดงหญิงเอเชียมาตั้งแต่ไหนแต่ไร (ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Anna May Wong) บทบาทของ Me Me Lai ก็ไม่ผิดแปลกแตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่ โสเภณีขายเรือนร่างกาย ภายนอกดูสงบนิ่งเงียบ แต่ซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่างไว้ภายใน

เอาจริงๆหน้าอกของ Me Me Lai ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่คงทำให้เธอสูญเสียความมั่นใจ หวาดกลัวที่จะเปิดเผยสู่สาธารณะ (แต่ก็ยังเข้าฉากเปลือยกายอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ) ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวแทรกซึมอยู่ในตัวละครไม่น้อยเลยละ โดยเฉพาะฉากพยายามดิ้นหลบหนีจาก Fisher สัมผัสได้ถึงความเจ็บปวด สั่นสะท้านทรวงใน


ถ่ายภาพโดย Tom Elling (เกิดปี 1946) สัญชาติ Danish เพื่อนร่วมรุ่นผู้กำกับ Lars von Trier ร่วมงานกันตั้งแต่โปรเจคนักศึกษา Nocturne (1980), Images of Liberation (1982), หลังเรียนจบยังช่วยถ่ายทำภาพยนตร์ The Element of Crime (1984)

เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษา Lars von Trier เคยสรรค์สร้างหนังสั้น Nocturne (1980) ด้วยการทดลองจัดแสงด้วยเฉดสีเดียว ‘monochrome lighting’ เพื่อเวลาถ่ายทำด้วยฟีล์มสี รายละเอียดสีอื่นจะถูกลบเลือน สูญหายไป

In my early short film, Nocturne, we used monochrome lighting, a strongly filtered light which means that all the nuances in colours disappear. We went to a lighting company and they told us about sodium lamps, which were available in high- and low-pressure versions. One was entirely monochrome, and the other gave slightly greater colour reproduction. So we used that type of lighting on the film instead of the usual floodlights.

Lars von Trier

นั่นคือแรงบันดาลใจโทนสีของหนัง วิธีการคือใช้ตะเกียงหลอดโซเดียม (Sodium Lamps) แสงสีเหลืองอมส้มที่สมัยก่อนนิยมติดตามท้องถนน, ลานจอดรถ, สนามบิน ฯ แต่ข้อเสียคือส่องสว่างไม่ไกลมาก (ช็อตมุมกว้างจึงถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ แล้วนำไปย้อมสีเอาภายหลัง) และที่สำคัญคือต้องระวังเรื่องน้ำ เพราะถ้าอากาศชื้นเกินไปอาจมีการระเบิด ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง (เพราะหนังถ่ายทำในสถานที่มีความชื้นแฉะ ฝนตกเปียกปอนแทบตลอดทั้งเรื่อง)

This also meant that we could put in a blue lamp, or some other colour, and get different lighting effects—in other words, moderate the yellow lighting with other coloured elements. I don’t think that sort of experiment had been tried before in Danish cinema before we did The Element of Crime. It was a lot of fun, but bloody difficult.

ใครเคยพานผ่านผลงานยุคหลังๆ Dogme 95 ของผกก. Lars von Trier ที่แทบไม่มีลูกเล่นอะไรหวือหวา กลับมารับชมไตรภาคแรก Europa Trilogy อาจรู้สึกผิดหวังพอสมควร นั่นเพราะภาพยนตร์ยุคแรกๆนี้ แพรวพราวด้วยเทคนิค ลวดลีลา มุมกล้องแปลกตา จุดประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศตึงเครียด เก็บกดดัน ล่องลอยอยู่ในความเพ้อฝัน/ความทรงจำ ยุโรปในสภาพสิ้นหวัง Dystopian ราวกับวันโลกาวินาศ

ส่วนใหญ่ของหนังมักถ่ายทำตอนกลางคืน เพื่อให้บริเวณรอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิด (ส่วนตอนกลางวัน มักพบเห็นภายในห้องพัก) สภาพอากาศชื้นแฉะ ถ้าไม่ฝนตกเปียกปอน ก็มักเลือกสถานที่ใกล้แหล่งน้ำ สภาพเสื่อมโทรม ปรักหักพัง เศษขยะปลิดปลิว เหล่านี้เพื่อสร้างยุโรปดิสโทเปีย (Dystopian) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงไม่นาน

เกร็ด: หนังถ่ายทำโดยไม่มีการบันทึกเสียง ให้อิสรภาพนักแสดงในการ ‘Improvised’ แล้วค่อยไปเข้าห้องอัด พัฒนาบทพูดเอาภายหลัง ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตจะพบเห็นปากและถ้อยคำมักไม่ค่อยตรงกัน รวมถึงเสียงชี้นำของจิตแพทย์ มอบสัมผัสเหมือนฝัน ล่องลอยในความทรงจำ


ช็อตแรกของหนังเห็นว่าถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm ภาพจึงเบลอๆ ขุ่นมัว บูรณะแล้วก็ไม่ดีขึ้นสักเท่าไหร่ พบเห็นเจ้าลากำลังทิ้งตัวลงนอนกลิ้งเกลือกใกล้ตาย นี่เป็นการเคารพคารวะผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ที่ชื่นชอบใช้สรรพสัตว์โดยเฉพาะม้า แทนสัญลักษณ์ชีวิต (Life) ในบริบทนี้จึงสามารถสื่อถึงสภาพท้อแท้สิ้นหวัง ซึ่งสอดคล้องเข้ากับบรรยากาศของหนัง ตัวละคร Fisher หลังพานผ่านเหตุการณ์ที่ยุโรป เดินทางกลับกรุง Cairo, Egypt ในสภาพตกตายทั้งเป็น

Cairo, Egypt ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของจักรวรรดิอียิปต์ (Egypt Empire) ซึ่งมีความยิ่งใหญ่ เกรียงไกร แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วยุโรป แต่ปัจจุบันกลายเป็นดินแดนทะเลทราย ห่างไกลความเจริญ เรียกว่าสูงสุดกลับสู่สามัญ … นี่เป็นการใช้สถานที่ในเชิงเปรียบเทียบถึงยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กำลังจะมีสภาพไม่แตกต่างจากสถานที่แห่งนี้

บางคนอาจมองว่า Cairo, Egypt คือดินแดนตั้งอยู่สุดปลายขอบทวีปยุโรป ซึ่งตัวละคร Fisher ใช้ในการหลบหนี ลบเลือนความทรงจำ ต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง แต่ถึงอย่างนั้นมันกลับฝังรากลึกภายใน (เมื่อสะกดจิตก็สามารถหวนระลึกถึง) อะไรเคยบังเกิดขึ้นไม่มีทางสูญหายไป

แซว: เจ้าลิงนั่งนิ่งๆบนบ่าจิตแพทย์ร่างท้วม ผกก. Lars von Trier บอกว่าต้องการแค่ทำออกมาให้ดูตลกขบขันเท่านั้น แต่ถ้าใครเคยรับชมหนังที่ Hollywood สร้างภาพเกี่ยวกับอิยิปต์/ตะวันออกกลาง เจ้าลิงเป็นสัตว์ที่มักพบเห็นบ่อยครั้ง

ภาพช็อตแรกของ Osborne พบเห็นเอาศีรษะคลุมพลาสติก กำลังสูดหายใจเอาไอน้ำ/แอลกอฮอล์ หรือก๊าซอะไรสักอย่างเข้าปอด มองผิวเผินอาจจะสื่อถึงสภาพอากาศย่ำแย่ของยุโรป แต่คงไม่ใช่แค่ฝุ่น PM 2.5 เป็นการเปรียบเปรยถึงสภาพแวดล้อมอันย่ำแย่ ตกต่ำทราม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

หลอดไฟกลมวางอยู่ข้างขวดสุรา ดูเหมือนแสงอาทิตย์ส่องสว่างจร้า นั่นอาจสื่อถึงสิ่งมึนเมาได้กลายเป็นที่พึ่งพักพิงของชายคนนี้ หลังจากสูญเสียทุกสิ่งอย่าง รอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิด ภายนอกก็เปียกปอน หนาวเหน็บ

ชั้นหนังสือที่ว่างเปล่า = ความทรงจำที่สูญหาย = Osborne จดจำไม่ได้ว่าเคยอนุญาตให้ Fisher แปลหนังสือ The Element of Crime เป็นภาษาอิยิปต์ แต่อีกฝ่ายบอกว่าเคยเขียนจดหมายมาขอ และได้รับคำตอบกลับ … ความทรงจำสูญหายของ Osborne สะท้อนถึงอนาคตของ Fisher ที่ก็สูญเสียความทรงจำจากเหตุการณ์คล้ายๆกัน

ทุกช็อตฉากของหนังล้วนมี Mise-en-scène ที่สามารถขบครุ่นคิดวิเคราะห์ อย่างช็อตมุมก้มที่เท้าของ Fisher วางทับภาพสะท้อนใบหน้าของ Osborne (กำลังถือหลอดไฟกลม) นี่ไม่ใช่การย่ำเหยียบสภาพจิตใจอีกฝ่าย เพราะหัวข้อสนทนาขณะนี้เกี่ยวกับความรักภรรยา ยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสีย ผมจึงมองถึงมุมมืด/ความตกต่ำทางร่างกายและจิตใจของ Osborne หลงเหลือเพียงหลอดไฟกลม(ในบริบทนี้ดูเหมือนดวงจันทร์ยามค่ำคืน) สำหรับส่องสว่างนำทางชีวิต

ระหว่างที่ Osborne กำลังพร่ำพูดถึงหนังสือ The Element of Crime ที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสังคม ตัวละครยืนอยู่ตรงหน้าต่าง แล้วมีการถ่ายช็อตภายนอก-ใน

We always look for the element of crime in society. But why not look in the very nature of man?

Osborne

ประโยคแรกสื่อถึงการที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมองปัญหาสังคม/อาชญากรรมเพียงเปลือกภายนอก การแสดงออก หลักฐาน พยาน ผลลัพท์บังเกิดขึ้น แต่กลับไม่เคยสนใจธรรมชาติภายในบุคคล เพราะเหตุใด ทำไม แรงจูงใจ อิทธิพล ครอบครัว การเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมรอบข้าง ฯ

Osborne ปิดกั้นตนเองจากโลกภายนอก ด้วยการเอาโทรศัพท์วางไว้ใต้โต๊ะ/บนพื้น เมื่อเสียงกริ่งดังก็เดินหลบเข้าประตู ปล่อยให้ Fisher รับโทรศัพท์ของ Kramer คาดเดาไว้แล้วว่าอีกฝ่ายต้องมาเยี่ยมเยียนอาจารย์เก่า

Europe lies dormant. There’s a man with a horse harnessed to a wagon. The wagon loaded with apples. Very peaceful.

ภายนอกของยุโรปดูเงียบสงบ สันติสุข กล้องค่อยๆเคลื่อนผ่านชายสูงวัย รถม้า (สัญลักษณ์ของชีวิต) บรรทุกแอปเปิ้ล (ผลไม้ต้องห้ามในสวนอีเดน กัดกินทำให้เกิดความเฉลียวฉลาด) ด้านหลังคือเด็กๆโผล่ขึ้นมาจากเบื้องล่างชี้นิ้วไปยังเหมืองถ่านหิน ภายในเต็มไปด้วยความเร่าร้อนคุกรุ่น จิตใจสับสนวุ่นวาย บังเกิดเหตุโศกนาฎกรรม ฆาตกรเข่นฆ่าเหยื่ออย่างเลือดเย็น

Here comes a candle to light you to bed.
Here comes a chopper to chop off your head.
Chip, chop, chip, chop.
The last one’s dead.

นำจาก Oranges and Lemons (1744) คำร้องกล่อมเด็ก (Nursery Rhyme) ร้องเล่นตามท้องถนน (Children’s Street Song) เพลงพื้นบ้านของอังกฤษ

เอาจริงๆผมก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องฉีดน้ำ? ขับไล่ฝูงชน? แต่การที่ Kramer ขึ้นไปยืนบนหลังคารถ เพื่อแสดงความอวดอ้าง บารรีสูงส่งของตำแหน่งผู้กำกับการ (Chef of Police) มีอำนาจออกคำสั่ง รวมถึงพูดคุยกับ Fisher ผ่านโทรโข่งโดยไม่สนห่าเหวอะไรใคร … เข้ามาโอบกอดข้างหลังอีกฝ่ายด้วยนะ (ไม่ได้จะสื่อว่าหมอนี่เป็นเกย์นะครับ แต่คือการไต่เต้าด้วยการใช้เส้นสาย/เข้าประตูหลัง)

เมื่อตอน Fisher เดินทางมาถึงสถานที่เกิดเหตุนี้ เหตุการณ์ดูสงบราบเรียบ แต่การมาถึงผู้กำกับการ Kramer ทั้งฉีดน้ำ พูดผ่านโทรโข่ง จับกุมคนโน่นนี่นั่น เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย แถมยังกราดยิงฝูงชน ทั้งม้า รถขนแอปเปิ้ล ตกลงสูงคูคลอง ล่องลองไร้ชีวิต (เจ้าม้าน่าจะถูกฆ่าจริงๆ เพราะผกก. Lars von Trier เคยมีข่าวเรื่องการใช้ความรุนแรงกับสัตว์ในกองถ่าย)

ความแตกต่างระหว่าง Fisher vs. Kramer เห็นได้อย่างชัดเจนจากหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังวิ่งหลบหนี แล้วถูกต้อนจนมุมไร้หนทางออก

  • Kramer ชักปืนขึ้นมายิง โดยไม่สนว่าอีกฝ่ายเป็นผู้บริสุทธิ์หรืออาชญากร เพียงฆ่าปิดปากบุคคลไม่ทำตามคำสั่งฉันไว้ก่อน
  • Fisher พยายามหักห้าม Kramer แล้วเข้าไปพูดคุยกับหญิงสาวคนนั้น สืบสาวราวเรื่อง ทำให้รับรู้เหตุการณ์บังเกิดขึ้นของ “Lotte Murderer”

แซว: ที่แท้กระดาษปลิดปลิวในซีเควนซ์นี้ก็คือล็อตเตอรี่นี่เอง … แต่มีลักษณะคล้ายกับใบปลิวที่นาซี/ฝ่ายอักษะชอบโปรยให้ประชาชนเบื้องล่าง

ถือเป็น ‘Common Sense’ เวลาที่หนังมีการซ้อนภาพสองสิ่งทับซ้อนกัน ย่อมต้องการสื่อถึงความละม้ายคล้ายคลึง หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน!, ช็อตนี้ระหว่างขึ้นลิฟท์เพื่อไปดูสถานที่เกิดเหตุ Kramer พยายามพร่ำสอน อ้างอวดดี ตอนนี้ฉันเป็นผู้กำกับการ มีอำนาจล้นมือ นายเพียงก้มหัวทำตามคำสั่ง ซึ่งพอกล่าวจบพบเห็นภาพซ้อนระหว่าง Fisher กับเจ้าม้า(กากบาท X)ที่ถูกยิงตกน้ำเสียชีวิต

ก่อนอื่นต้องพูดถึงการตายของเจ้าม้า (ตัวเดียวกับที่ Fisher พบเจอตอนมาถึงสถานที่เกิดเหตุ) ทั้งๆมันไม่ได้กระทำผิดอะไร แต่กลับถูกตำรวจกราดยิงเสียชีวิต สามารถล้อกับความตายของหญิงสาวขายล็อตเตอรี่ ทั้งๆไม่ได้กระทำอะไรผิด แต่กลับถูกเข่นฆาตกรรมโดย ‘Lotte Murderer’ … พบเห็นความละม้ายคล้ายคลึงกันไหมเอ่ย นี่เป็นการเปรียบเทียบ ตำรวจต่างอะไรกับอาชญากร??

ซึ่งการซ้อนภาพ Fisher กับเจ้าม้า สามารถเหมารวมหญิงสาวขายล็อตเตอรี่ที่เสียชีวิต พวกเขาไม่เคยกระทำอะไรผิด แต่ต้องตกเป็นเหยื่อของความคอรัปชั่น ได้รับผลกระทบจากลูกหลง อิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง (ถึงแม้ Fisher จะไม่ได้เสียชีวิต แต่สภาพของเขาไม่ต่างจาก ‘ตายทั้งเป็น’)

Fisher เดินทางมายังสถานีตำรวจ สอบถามประชาสัมพันธ์ถึงห้องทำงาน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่กล่าวคำเสียดสีถากถาง มองผิวเผินเหมือนต้องการสื่อถึงความคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่พอผมสังเกตเห็นภาพในโทรทัศน์ (กล้องวงจรปิด) ซึ่งฉายภาพเอียงๆ คำพูดทั้งหมดของชายผิวสีต้องการสื่อถึง “Take a look at yourself.”

Just mindin’ my own business when the new sheriff rides into town. He walks into that saloon, and he pulls out his six-shooter and he says, “I’m gonna clean up this mess.” And I believe he will, ’cause he got the fastest draw I ever did see. How did I get involved with a couple of assholes like you?

เรื่องล่านี้ของชายผิวสี เป็นการเปรียบเทียบ Fisher ไม่ต่างจากนายอำเภอคนใหม่ (New Sheriff) ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง ชักปืนเร็ว สามารถสืบสวนสอบสวนคดีความด้วยตนเอง ในมุมมองชาวเมือง(ภาพเอียงๆในจอโทรทัศน์)ย่อมรู้สึกว่าหมอนี่แม้งโคตรอวดเก่ง หลงตนเอง เป็นคำพูดประชดประชันที่ตรงไปตรงมามากๆ

ท่อส่งเอกสาร ชวนให้ผมนึกถึงโคตรภาพยนตร์ Brazil (1985) แต่เอ๊ะ! The Element of Crime สร้างปี ค.ศ. 1984 น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้มากกว่านะ

การจะเข้าสู่ห้องเก็บเอกสาร (Archive) ต้องปีนป่ายด้วยเชือกลงมาชั้นล่าง เอ่อนองด้วยน้ำ ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และระหว่างกำลังตรวจสอบเอกสาร นอนบนแพล่องลอยไปอย่างไร้แก่นสาน (ชวนให้นึกถึง The Graduate (1967)) ไม่รู้จะทำอะไรยังไง ไม่มีใครให้คำแนะนำใดๆ

เหล่านี้สะท้อนยุโรปยุคสมัยใหม่ แม้มีความเจริญก้าวหน้า (ท่อส่งเอกสาร) แต่เพราะความสะดวกสบาย ทำให้ปล่อยปละละเลย ทอดทิ้งสิ่งต่างๆมากมาย ดำเนินชีวิตโดยไม่สนใจอะไรใครรอบข้าง ล่องลอยแพ เรื่องเปื่อยไร้แก่นสารไปวันๆ

ระหว่างที่ Osborne กำลังพูดเล่าถึงการไล่ล่าจับกุมฆาตกร Harry Grey จะมีการซ้อนภาพลางๆ (นั่งอยู่ในรถจึงมองเห็นหน้าปัดน้ำฝน) รถยนต์(อีกคัน)กำลังปะทุระเบิด (ความตายของ Harry Grey) จากนั้นพอเปลี่ยนมาเป็น Fisher กำลังจับจ้องมองภาพถ่ายรถคันนั้น เปลวไฟ(จากซ้อนภาพ)กำลังลุกไหม้ตำแหน่งเดียวนั้น … มันเป็นความต่อเนื่องที่น่าทึ่ง จากซ้อนภาพความทรงจำ กลายมายังภาพถ่ายความหลัง

Fisher: Is it always as dark as this time of year?
หญิงชรา: There are no seasons anymore.

คำกล่าวของ Fisher แม้พูดถึงสภาพอากาศ แต่นัยยะสื่อถึงสภาพแวดล้อมของยุโรป(ในปัจจุบัน) กลางวันมันช่างมืดมิด เพราะจิตใจผู้คนมีความตกต่ำทรามลง แสดงอุปนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ มีเพียงความคอรัปชั่นซ่อนอยู่ภายใน ต่อให้ภายนอกสดสว่างแค่ไหน ภายในย่อมมืดมิดเท่านั้นแล

Halberstadt is everything I thought it would be, only worse. The place has three attractions… the Hotel Schatz, the site of the Lotto Murder… and Frau Gerda’s whorehouse.

Halberstadt, Saxony-Anhalt เมืองเก่าแก่ตอนกลางของประเทศเยอรมัน ช่วงสงครามโลก(ทั้งสองครั้ง)เป็นสถานที่ผลิตเครื่องบินรบ รวมถึงค่ายกักกัน Langenstein-Zwieberge ถูกทำลายสิ้นซากเนื่องจากชาวเมืองไม่ยอมอ่อนข้อให้ทหารสัมพันธมิตร

คงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า Halberstadt เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เลวร้าย แต่ปัจจุบันมันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งหนังทำการเสียดสีประชดประชัน สามสถานที่สำคัญ(เช็คอิน)ขาดไม่ได้ ประกอบด้วย Hotel Schatz, สถานที่ฆาตกรรม และซ่องโสเภณี … รวมถึงขอที่ระลึก เครื่องลางศีรษะม้า (ม้าคือสัญลักษณ์ของชีวิต แต่เมื่อมันมีเพียงศีรษะ นั่นคือตัวแทนฆาตกร/ความตาย)

This is the maiden all forlorn,
That milk’d the cow with the crumpled horn,
That tossed the dog,
That worried the cat,
That kill’d the rat,
That ate the malt
That lay in the house that Jack built.

อารัมบทเข้าสู่ซ่องโสเภณี (Frau Gerda’s whorehouse) นำจาก The House That Jack Built (1755) บทเพลงสำหรับเด็ก (Nursery rhyme) ของชาวอังกฤษ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบ้านของ Jack หรือ Jack ผู้สร้างบ้าน แต่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับผู้คนและสิ่งต่างๆรอบข้าง … สะท้อนแนวคิดของหนังสือ The Element of Crime ว่าอาชญากรรมเกิดขึ้นจากอิทธิพลสภาพแวดล้อมรอบข้าง

แซว: ผกก. Lars von Trier หลายทศวรรษถัดมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ The House That Jack Built (2018) นำแรงบันดาลใจจากบทเพลงนี้ตรงๆเลย

I’m gonna fuck you back to the Stone Age.

คำพูดของ Fisher ฟังดูรุนแรง บ้าคลั่ง แต่สะท้อนความหมกมุ่นของคนปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่หลายๆสิ่งอย่างที่แม้ทำให้โลกมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่จิตใจกลับตกต่ำทรามลง เห็นแก่ตัว คอรัปชั่น ใช้ชีวิตตอบสนองสันชาติญาณ ไม่ต่างจากมนุษย์ยุคหินและเก่าแก่กว่านั้น

Kim พา Fisher ล่องเรือผ่านอุโมงค์แห่งรัก (Tunnel of Love) น่าจะเป็นทางน้ำใต้ดินกระมัง แต่ผมมองในเชิงสัญลักษณ์ของโพรงกระต่าย (Alice in Wonderland คล้ายๆแบบ Being John Malkovich (1999)) ซึ่งหลังจาก Kim พานผ่านสถานที่แห่งนี้ เขาก็เริ่มลิ้มลองเสพยา ทำให้พบเห็นภาพหลอน เพราะต้องการสวมวิญญาณ อวตาร มุดเข้าไปในความครุ่นคิดของ Harry Grey ก็ได้กระมัง

ช่วงระหว่างที่ Fisher มึนเมากับการเสพยา (พยายามทำความเข้าใจอาการคลุ้มบ้าคลั่งของ Harry Grey) จะมีการนำเสนอลูกเล่นภาพยนตร์อย่างซ้อนภาพ สโลโมชั่น หมุน 360 องศา และที่น่าตื่นตะลึงก็คือ ‘Long Take’ กล้องเคลื่อนเลื่อนจาก Kim (เหมือนกำลังนั่งปัสสาวะอยู่ข้างรถ) พื้นดินเปียกปอน หนังสือเรียงราย กระดาษปลิดปลิว มาจนถึง Fisher นอนสะลึมสะลืออยู่ริมตึก น้ำจากท่อไหลลงเบื้องล่าง (ชวนให้ครุ่นคิดว่าคือปัสสาวะของ Kim) จากนั้นกล้อง Tilt Up เงยขึ้นเห็นหลังคาวิหาร (ไม่รู้เหมือนกันว่าสถานที่แห่งหนไหน)

ซีนนี้จุดประสงค์เพื่อสร้างสัมผัสอาการเมายา โดยใช้กล้องขับเคลื่อน ‘Long Take’ ราวกับจิตใจล่องลอยไป แต่แทนที่จะโบยบินบนท้องฟ้าไหล กลับถ่ายภาพพื้นดินสะท้อนจิตใจอันต่ำตม ผู้เสพ Fisher นอนอยู่ริมปากเหว (ขอบตึก) กึ่งกลางระหว่างลงนรก(เบื้องล่าง) หรือขึ้นสวรรค์(หลังคาวิหาร)

ช่วงครึ่งแรกแทบจะไม่มี ‘Long Take’ ยาวๆลักษณะนี้! แต่หลังจากมุดอุโมงค์ เสพยา ก็จะค่อยๆพบเห็นการ ‘show off’ บ่อยครั้ง (เพื่อสร้างสัมผัสอาการเมายา) อย่างคราวนี้ศพผู้เสียชีวิตรายที่ 6 กล้องเคลื่อนเลื่อนจากผู้กำกับการ Kramer เดินขามเนินดิน มายังริมชายหาด พานผ่านความวุ่นวาย จนพบเห็นศพผู้เสียชีวิต (เคียงข้างเจ้าม้า) แล้วกล้องเงยขึ้นพบเห็น Fisher โอบกอดกับ Kim (เศร้าเสียใจกับภาพพบเห็น) และจบด้วย Kramer พูดคำเสียดสีประชดประชัน

แผนผังฆาตกรรม (Geography of Crime) ในตอนแรก Harry Grey สามารถทำสำเร็จได้ 4 ศพ ก่อนถูกไล่ล่าวิสามัญ ซึ่ง Osborne ได้ข้อสรุปว่ามีลักษณะเหมือนกรอบสี่เหลี่ยม โดยมุมทั้งสี่คือชื่อเมืองที่ลงมือปฏิบัติการ

  • Halberstadt (HAL)
  • Friedingen (FRIED)
  • Neukalkau (NEU)
  • Oberdorf (OB)

แต่เมื่อมีการค้นพบศพที่ 5-6 เพิ่มเติมจากเหตุการณ์ฆาตกรรมรอบใหม่

  • ท่าเรือ Innenstadt ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่าง Neukalkau (NEU) และ Oberdorf (OB)
  • เหยื่อรายล่าสุด Dritten Marsk (DM)

จุดสุดท้ายเพื่อให้ได้เติมเต็มพิธีกรรม ตัวอักษร H จึงคือเมือง Halle, Saxony-Anhalt ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการศึกษาทางตอนกลาง-ตะวันออกของเยอรมนี

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าทั้ง 6 สถานที่มีนัยยะอะไรซ่อนเร้นหรือเปล่า แต่ลองค้นหาข้อมูลก็พบว่าต่างมีค่ายกักกัน (Concentration Camp), ส่วนทำไมต้องตัวอักษร H อาจเป็นชื่อย่อ Harry Grey และเมืองสุดท้าย Halle (ออกเสียงเดียวกับ Harry) อาจจะเพราะความหมาย Halle = Hall, Indoor สื่อถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจฆาตกร กระมังนะ

Fisher ดำเนินตามรอย Harry Grey จนมาถึงเมือง Halberstadt เข้าพักโรงแรม Die Halbe Nacht ถูกพนักงานตักเตือนว่าไม่ให้ทำลายสิ่งข้าวของ แต่หลังจากพบเห็นรอยเลือดประจำเดือนของ Kim สร้างความเดือดดาล เกี้ยวกราด ใช้ความรุนแรงข่มขู่ จนเธอต้องตะเกียกตะกาย ทุบกระจกแตก หาหนทางหลบหนีเอาตัวรอด กลับถูกฉุดกระชากกลับมา

กระจกแตก ผมมองว่าคือแรงกระตุ้นฆาตกร ราวกับจิตใจแตกสลาย ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง ใช้กำลังความรุนแรง และกระทำการเข่นฆาตกรรม … หรือคือ Fisher ได้สูญเสียตัวตนเอง สวมวิญญาณ อวตาร กลายร่างเป็น Harry Grey

Fisher เมื่อเริ่มตระหนักว่าไม่สามารถควบคุมตนเอง จึงแพ็กเก็บสิ่งข้าวของ ตั้งใจจะเดินทางกลับกรุง Cairo แต่จู่ๆได้รับจดหมายท่อจาก Kramer มอบหมายให้ดูแลเด็กสาวคนหนึ่ง คาดว่าคือเป้าหมายถัดไปของ ‘Lotte Murderer’ เขาจึงยังฝืนทนอยู่ อาสาดูแลเธอคนนี้ พาเข้ามาในโรงงานร้างหลังหนึ่ง

โรงงานแห่งนี้มันช่างมีความแปลกประหลาด เรียงรายด้วยขวดแก้วว่างเปล่า (ผมมองว่าคือสัญลักษณ์แทนสภาพจิตใจมนุษย์ที่มีความเปราะบาง ว่างเปล่า) ในบริเวณที่มีเต็มไปด้วยเศษแก้วแตกหัก ก็ให้เด็กหญิงขึ้นนอนบนรางเลื่อน ลากพามาถึงจุดๆหนึ่งเปิดไฟส่องสว่าง พบเห็นเหมือนร่างมนุษย์อยู่เบื้องล่าง (ดูละม้ายคล้ายๆ ‘Long Take’ ก่อนหน้าที่เคยอธิบายไป ราวกับขุมนรก/สภาพจิตใจที่ตกต่ำทรามของ Fisher)

มันช่างละม้ายคล้ายตอนที่ Kim พยายามตะเกียกตะกาย ดิ้นหลบหนี ทุบกระจกแตก แต่ครานี้เปลี่ยนมาเป็นเด็กหญิงในการดูแลของ Fisher เมื่อได้รับแรงกระตุ้น (วินาทีที่ทุบกระจกแตก) ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง สวมวิญญาณ อวตาร กลายเป็น Harry Grey โอบรัด บีบคอ จนเธอสูญสิ้นลมหายใจ … วินาทีนี้ Fisher ถือว่าได้สืบทอดจิตวิญญาณ กลายเป็นฆาตกร ‘Lotte Murderer’ คนถัดไป (คล้ายๆแบบภาพยนตร์ The Testament of Dr. Mabuse (1933))

เอาจริงๆผมก็ไม่รู้นี่มันกิจกรรมบ้าบออะไร ดูราวกับพิธีกรรมของลัทธิอะไรบางอย่าง ซึ่งล้อกับคดีความ ‘Lotte Murderer’ ที่ฆาตกรต้องเลือกเหยื่อ เลือกสถานที่ เลือกวิธีการเข่นฆ่า รวมถึงทิ้งเครื่องราง (ศีรษะม้า) สัญลักษณ์บางอย่างเพื่อแสดงอัตลักษณ์ตัวตน เรียกร้องความสนใจ รวมเรียกว่า ‘พิธีกรรมฆาตกร’

แต่ลักษณะของกิจกรรมนี้คือกระโดดบันจี้จัมพ์จากเบื้องบน ลงมาสัมผัสพื้นน้ำเบื้องล่าง สูงสุดกลับสู่สามัญ ดำดิ่งลงสู่ขุมนรก ล้อกับสภาพยุโรปยุคสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน

นักสืบ Fisher เดินอยู่เบื้องล่างในสภาพเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้สิ้นหวัง (เพราะตนเองเพิ่งเข่นฆาตกรรมเด็กสาวคนนั้น) ขณะที่ผู้กำกับการ Kramer เดินอยู่เบื้องบน กำลังพร่ำพูดถึงถึงฆาตกรตัวจริง Osborne ได้เลียนแบบพฤติกรรม Harry Grey ทำตามหนังสือ The Element of Crime มันช่างเป็นความบังเอิญคู่ขนาน สอดคล้องทิศทางการเดินของพวกเขาอย่างน่าอัศจรรย์ … แต่ใครเคยรับชม Andrei Rublev (1966) ก็น่าจะมักคุ้นการเดินเคียงคู่ขนานลักษณะนี้นะครับ

นั่นทำให้ Fisher แม้เพิ่งก่ออาชญากรรม เข่นฆาตกรรมเด็กหญิง กลับสามารถเอาตัวรอดพ้นความผิด เขาจึงออกเดินเตร็ดเตร่มาส่องไฟยังท่ออันหนึ่ง พบเห็นค้างคาวอาศัยอยู่ภายใน ผมตีความว่าคือการกลบฝัง ปิดกั้น ซุกซ่อนเร้นความทรงจำ เมื่อฟื้นตื่นก็จะหลงลืมเหตุการณ์ทุกสิ่งอย่าง!

ตัดต่อโดย Tómas Gislason (เกิดปี 1961) สัญชาติ Danish เพื่อนร่วมรุ่นผู้กำกับ Lars von Trier ร่วมงานกันตั้งแต่โปรเจคนักศึกษา Nocturne (1980), Images of Liberation (1982), หลังเรียนจบยังช่วยตัดต่อภาพยนตร์ The Element of Crime (1984)

หนังเริ่มต้นที่กรุง Cairo, Egypt จิตแพทย์กำลังอธิบายวิธีการสะกดจิต เพื่อรื้อฟื้นความทรงจำนักสืบ Fisher จากนั้น(เข้าไปในความทรงจำ)นำเสนอเหตุการณ์บังเกิดขึ้นหลายปีก่อน เมื่อเขาเดินทางกลับยุโรป เพื่อร่วมสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรต่อเนื่อง ‘Lotte Murderer’

  • อารัมบท ณ กรุง Cairo, Egypt จิตแพทย์กำลังสะกดจิตนักสืบ Fisher
  • องก์แรก, Fisher เดินทางกลับยุโรป แวะหาอาจารย์ ได้รับมอบหมายคดีความ
    • Fisher เดินทางมาเยี่ยมเยียนอาจารย์ Osborne ผู้เขียนหนังสือ The Element of Crime
    • มาถึงยังสถานที่ฆาตกรรม พบเจอกับ Kramer เรียนรู้เกี่ยวกับ ‘Lotte Murderer’
    • ออกสืบสวนสอบสวน ครุ่นคิดหาวิธีไขคดีความ ก่อนหวนกลับหา Osborne เล่าข้อสรุปเบื้องต้น
  • องก์สอง, Fisher พยายามสวมวิญญาณเป็นตัวละคร Harry Grey จากหนังสือ The Element of Crime
    • เดินทางไปยังซ่องโสเภณี ว่าจ้าง Kim ให้รับบทแฟนสาวของ Harry Grey
    • จากนั้นตัวเขาพยายามสวมบทบาทเป็น Harry Grey ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
    • ในที่สุด Fisher ก็สามารถครุ่นคิดไขปริศนาต่างๆ ก่อนพบว่า Kim คือแฟนสาวของ Harry Grey จริงๆ
  • องก์สาม, เป้าหมายสุดท้ายของ ‘Lotte Murderer’
    • Kramer ติดต่อขอความช่วยเหลือ เพราะค้นพบเป้าหมายถัดมาของ ‘Lotte Murderer’
    • Fisher อาสาดูแลบุคคลที่เป็นเป้าหมายนั้น แต่จู่ๆเขากลับไม่สามารถควบคุมตนเอง
    • ในที่สุดก็พบเจอฆาตกรต่อเนื่อง!

สังเกตจากโครงสร้างดำเนินเรื่อง จะพบว่าหนังไม่ได้ความสลับซับซ้อนอะไรมากมาย (แค่เข้าไปในความทรงจำของ Fisher เท่านั้นเอง) แต่โทนสีซีเปีย ลูกเล่นการนำเสนอ บรรยากาศของหนังที่มีความตึงเครียด รวมถึงความพยายามสวมวิญญาณกลายเป็น Harry Grey อาจสร้างความสับสน งุนงง ไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องราวทั้งหมด


เพลงประกอบโดย Bo Holten (เกิดปี 1948) คีตกวีสัญชาติ Danish หลังสำเร็จการศึกษาดนตรีวิทยา (Musicology) University of Copenhagen ทำงานนักวิจารณ์ ครูสอนดนตรี ก่อตั้งวง Ars Nova (Copenhagen), Musica Ficta (Denmark), ประพันธ์อุปรากร, แต่งเพลงออร์เคสตรา, คอนแชร์โต, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Zappa (1983), Buster’s World (1984), The Element of Crime (1984), Twist and Shout (1984) ฯ

งานเพลงของหนัง Holten จัดเต็มวงออร์เคสตรา (แต่จะเปิดเบาๆสำหรับคลอประกอบพื้นหลัง เคียงข้าง ‘Sound Effect’ ที่หลายครั้งโดดเด่นกว่า) ทำหน้าที่สร้างความลึกลับ พิศวง เสริมบรรยากาศตึงเครียด เก็บกดดัน หลอกหลอน ล่องลอยอยู่ในความเพ้อฝัน และยังสะท้อนสภาพยุโรปยุคสมัยนั้น ไม่แตกต่างจากโลกดิสโทเปีย (Dystopian)

I wanted the music to be like a lullaby, something that would lull the audience into a false sense of security. Then, when the violence starts, it would be all the more shocking.

I also wanted the music to reflect the psychological state of the protagonist, Fisher. He’s a man who’s trying to suppress his own violence, and I wanted the music to reflect that. So, there are a lot of dissonant chords and a lot of tension in the music. I wanted it to be like a mirror of Fisher’s own inner turmoil.

Lars von Trier

Closing Credit ชื่อบทเพลง Der Letzte Tourist in Europa (แปลว่า The Last Tourist in Europe) แต่งโดย Henrik Blichmann, คำร้องโดย Mogens Dam, ต้นฉบับภาษา Danish กล่าวถึงภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฉบับใช้ในหนังแปลภาษาเยอรมันโดย Waltraut Andersen และขับร้องโดย Sonja Kehler

หนังสือ The Element of Crime (ที่อยู่ในหนัง) นำเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับอาชญากรรม ว่าอาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม อิทธิพลผู้คนรอบข้าง แรงกระตุ้นธรรมชาติ สันชาติญาณภายในผลักดันให้มนุษย์ (อาชญากร) กระทำสิ่งขัดแย้งต่อหลักศีลธรรม (ก่ออาชญากรรม)

เรื่องราวของหนังพบเห็นบุคคลที่ถือเป็นอาชญากรทั้งหมดสามคน ประกอบด้วย

  • Harry Grey ตัวละครที่อยู่ในหนังสือ The Element of Crime ซึ่งมีต้นแบบจากอาชญากรตัวจริง เล่นยา มั่วเซ็กซ์ ชอบใช้ความรุนแรง สติสตางค์ไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว เหล่านี้ล้วนเป็นอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง สังคมเสื่อมทราม ศีลธรรมมนุษย์ตกต่ำ การจะเอาตัวรอดมีแต่ต้องก่ออาชญากรรม
  • Osborne เพราะต้องจมปลักอยู่กับความครุ่นคิด วิธีการก่ออาชญกรรมของฆาตกร Harry Grey เพื่อเขียนหนังสือ The Element of Crime แต่เมื่อผลงานเรื่องนี้ไม่ได้รับการยอมรับ ถูกขับไล่ออกจากโรงเรียน(นายร้อยตำรวจ) ทำให้ชีวิตผันแปรเปลี่ยน ต้องนำเอาสิ่งข้าวของ/หนังสือเก่าออกขาย จนแทบไม่หลงเหลืออะไร ด้วยความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง นั่นคือสาเหตุให้เขากลายเป็น ‘Lotte Murderer’ ไม่ต่างจาก Harry Grey
  • นักสืบ Fisher ต้องการติดตามหาฆาตกรต่อเนื่อง ‘Lotte Murderer’ พบเห็นวิธีการฆาตกรรมละม้ายคล้ายเรื่องราวในหนังสือ The Element of Crime จึงพยายามสวมวิญญาณ อวตาร ให้ตนเองกลายเป็น Harry Grey เล่นยา มั่วเซ็กซ์ ใช้ความรุนแรง เพื่อสามารถทำความเข้าใจความครุ่นคิด ค้นพบเป้าหมายถัดไป แต่โดยไม่รู้ตัวเขากลับกลายเป็นอาชญากรเสียเอง!
    • แรงผลักดันของ Fisher อาจดูแตกต่างจาก Harry Grey และ Osborne เพราะเจ้าตัวเป็นนักสืบ ต้องการติดตามหาฆาตกร แต่เหตุผลที่เขาสามารถเข้าใจความครุ่นคิดอาชญากร เพราะตนเองเคยถูกสั่งย้ายไปประจำการยังกรุง Cairo, Egypt ดินแดนไกลปืนเที่ยง ทะเลทราย ห่างไกลความเจริญ (จากทวีปยุโรป) ยาวนานหลายสิบๆปี ชีวิตตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง นี่ถือว่ารับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้ด้วยกระมัง

หนังนัวร์ (film noir) คือแนวหนังที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงทศวรรษ 40s-50s ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการสะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้น อิทธิพลจาก ‘Great Depression’ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับมุมมืดภายในจิตใจ รวมถึงด้านมืดของมนุษยชาติด้วยเช่นกัน

การทำหนังนัวร์ของผู้กำกับ Lars von Trier ไม่เพียงเคารพคารวะแนวหนังที่ตนเองชื่นชอบ แต่ต้องการเปรียบเทียบสภาพสังคมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ทศวรรษ 40s-50s) ไม่แตกต่างจากปัจจุบันนั้นทศวรรษ 80s มีความเสื่อมโทรม จิตใจผู้คนตกต่ำทราม ยุคสมัยดิสโทเปีย (Dystopian) ไม่ต่างจากวันโลกาวินาศ

ไตรภาค Europa Trilogy เหมารวมทั้งทวีปยุโรป ดินแดนเคยเป็นศูนย์กลางอารยธรรม ประวัติศาสตร์ยืนยาว แต่การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทุกสิ่งอย่างเสื่อมทรามลง โดยเฉพาะวิถีชีวิต ความครุ่นคิด จิตสามัญสำนึก คุณธรรม-ศีลธรรมประจำใจ ค่านิยมสังคมสมัยใหม่สวนทางกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ผมรู้สึกว่าผู้กำกับ Lars von Trier สรรค์สร้าง The Element of Crime (1984) (รวมถึง Europa Trilogy) ในลักษณะเสียดสี แดกดัน (ตัวของผกก. Trier ก็ไม่ได้ยึดถือมั่นศีลธรรมอันใด) พยายามประชดประชันชาวยุโรป ชนชั้นผู้นำ ที่มัวลุ่มหลง จมอยู่กับตนเอง แสร้งทำเป็นหลงลืมสิ่งเคยบังเกิดขึ้นเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สอง สภาพสังคมในปัจจุบันแทบจะไม่แตกต่างจากยุคสมัยนั้น … ฆาตกรต่อเนื่องในหนังสือ สักวันย่อมต้องมีใครลุกขึ้นมาสานต่ออาชญากรรม (ชวนให้นึกถึง The Testament of Dr. Mabuse (1933) อยู่ไม่น้อยทีเดียว)

นอกจากนี้การเข้าไปในความทรงจำ สวมวิญญาณ อวตารเป็นอาชญากร แนวคิดคล้ายๆ ‘method acting’ ของการแสดง แต่เราสามารถวิเคราะห์ถึงมุมมองโลกทัศน์ของผู้กำกับ Lars von Trier แม้เจ้าตัวไม่เคยพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง (รวมถึงยุคสมัย ‘Great Depression’) แต่อิทธิพลจากครอบครัว สภาพแวดล้อมรอบข้าง สังคม/ประเทศชาติ และความหลงใหลในสื่อภาพยนตร์ (มักได้รับการเปรียบเทียบ ‘ทายาท Carl Theodor Dreyer’) รวบรวมประมวลผล กลายเป็นอีกอัจฉริยะแห่งวงการภาพยนตร์


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับค่อนข้างแตกแยก มีทั้งชื่นชมและส่ายศีรษะ ว่ากันว่าประธานกรรมการปีนั้น Dirk Bogarde มีความรังเกียจเดียดฉันท์ ‘despised’ ถึงขนาดขู่จะถอนตัวถ้าหนังเรื่องนี้คว้ารางวัลใหญ่ (ปีนั้นเลยไม่มีมอบ Jury Prize ด้วยนะครับ) ผลลัพท์เลยได้มาแค่สาขาเทคนิค Technical Grand Prize สร้างความผิดหวังเล็กๆให้กับ Trier แต่ก็ประสบความสำเร็จในการเตะตาผู้ชม/นักวิจารณ์ระดับนานาชาติ

เกร็ด: ในการฉายรอบปฐมทัศน์ ผกก. Lars von Trier มีการแจกสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘Manifesto’ เพื่ออธิบายความน่าสนใจ ‘fascination’ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ (หลังจากนี้ก็เหมือนจะทำเป็นกิจวัตรทุกเรื่องเลยกระมัง) น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดไม่ได้ว่าในถ้อยแถลงการณ์นั้นกล่าวถึงอะไร

Lars von Trier’s The Element of Crime is a cerebral, postmodern, well-conceived, and beautifully shot film. But for all of its cleverness and its striking imagery, it’s strangely unsatisfying.

นักวิจารณ์ Josh Ralske จาก TV Guide

Brimming with unforgettable images and extraordinary shots, Von Trier’s hypnotic film makes it easy to forget its general unpleasantness and murky storyline.

นักวิจารณ์ Keith Philpps จาก AV Club

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 3K (ทำไมถึงไม่ 4K?) ผ่านการตรวจสอบพร้อม Commentary โดยผกก. Lars von Trier รวบรวมอยู่ใน Boxset ไตรภาค Lars von Trier’s Europe Trilogy ของค่าย Criterion Collection

ไม่รู้เพราะผมเพิ่งจบการศึกษาจาก Charlie Kaufman หรือเปล่า? พอรับชม The Element of Crime ของ Lars von Trier จึงรู้สึกมักคุ้นเคยกับการมุดเข้าไปในสมอง เวียนว่ายในความทรงจำ สวมวิญญาณ อวตาร กลายร่างเป็นอาชญากร แค่นี้ก็ทำให้ชื่นชอบประทับใจ แถมโทนสีนัวร์อร่าม ส่วนผสม Orson Welles & Andrei Tarkovsky แทบอยากดูผลงานถัดไปต่อโดยทันที!

หลายคนที่เคยแค่รับชมผลงานยุคหลังๆของ Lars von Trier ตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว Dogme 95 อาจรู้สึกผิดแผกแปลกตากับ Europa Trilogy เพราะแพรวพราวด้วยเทคนิค ลูกเล่นภาพยนตร์ แต่ก่อนที่ปรมาจารย์ผู้กำกับจะค้นพบสไตล์ลายเซ็นต์ ส่วนใหญ่มักสรรค์สร้างผลงานที่เคารพคารวะสิ่งที่ตนเองชื่นชอบด้วยกันทั้งนั้น

จัดเรต 18+ เรื่องราวอาชญากรรม ภาพความรุนแรง โป๊เปลือย

คำโปรย | The Element of Crime ตำรวจสวมวิญญาณเป็นอาชญากร แล้วก่ออาชญากรรมเสียเอง ยุโรปมันช่างสิ้นหวัง ไม่ต่างจากวันโลกาวินาศ
คุณภาพ | นัวร์อร่าม
ส่วนตัว | หดหู่ใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: