
Gloria (1980)
: John Cassavetes ♥♥♥♡
Gena Rowlands รับบทเป็น Gloria Swenson หญิงแกร่งผู้มีความอึดถึก ต้องคอยดูแลเด็กชายวัยหกขวบ ไม่ให้ถูกเก็บจากแก๊งค์มาเฟียฆ่าล้างครอบครัว, คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice
ระหว่างรับชมผมเกาหัวไป ฉงนสงสัยว่าผกก. Cassavetes เป็นมือปืนรับจ้างหรือไร? ทำไมมันดู Hollywood แทบไม่เห็นความเป็นส่วนตัว ‘สไตล์ Cassavetes’ สูญหายไปไหน? จนกระทั่งได้ยินประโยค “You can’t beat the system.” ทำเอาผมรู้สึกสิ้นหวังโดยพลัน
คือถ้าคุณไล่เรียงรับชมผลงานผกก. Cassavetes มาตั้งแต่เรื่องแรกๆ Shadows (1959) นำเสนออีกด้าน(มืด)ของวงการภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา, Faces (1968) กระชากหน้ากาก Hollywood ฯ ล้วนเป็นการสำแดงอารยะขัดขืน พฤติกรรมต่อต้านระบบ ไม่ต้องการก้มหัวศิโรราบให้โปรดิวเซอร์ นายทุน (ระบบ)สตูดิโอ, แต่ความล้มเหลวไม่ทำเงินของ The Killing of a Chinese Bookie (1976) และ Opening Night (1977) เป็นเหตุให้ผกก. Cassavetes ต้องเร่งหาเงินด่วน (Quick Cash) พัฒนาบทหนังเรื่องนี้อย่างเร่งรีบ ตั้งใจแค่ขายเอาเงิน ไม่คิดอยากกำกับเอง “I don’t even know any gangsters!” จนกระทั่งศรีภรรยา Gena Rowlands ตอบตกลงรับบทนำ เลยโน้มน้าวสามีอยากให้ร่วมงานกัน
Gloria (1980) เป็นภาพยนตร์ที่ดูสนุก ตื่นเต้น ลุ้นระทึก การแสดงถึกๆของ Gena Rowlands ชวนนึกถึง Humphrey Bogart (ในหนังนัวร์ทศวรรษ 40s) แต่ปัญหาใหญ่คือเด็กชายวัยหกขวบ John Adames ด้วยวัยนั้น ทำได้เท่านั้นก็อาจดีพอแล้ว ทว่ากลับผู้ชมสมัยนั้นรุมทึ้ง ด่าทอเสียๆหายๆ จนคว้ารางวัล Golden Raspberry Awards: Worst Supporting Actor ทำให้อนาคตดับวูบโดยพลัน
John Nicholas Cassavetes (1929-89) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Greek-American เกิดที่ New York City บิดา-มารดาเป็นผู้อพยพชาวกรีก จนอายุ 7 ขวบพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักประโยค, เนื่องจากสนทนาไม่ได้ เรียนไม่เก่ง เลยตัดสินใจดำเนินรอยมารดาเป็นนักแสดง เข้าศึกษายัง American Academy of Dramatic Arts พบเจอว่าที่ศรีภรรยา Gena Rowlands, เริ่มทำงานฟากฝั่งละครเวที แสดงซีรีย์ หนังเกรดบี ช่วงปี ค.ศ. 1956 ก่อตั้ง Acting Workshop ร่วมกับ Burt Lane (บิดาของนักแสดง Diane Lane) เพื่อโต้ตอบเทคนิค Method Acting ของ Lee Strasberg ตั้งชื่อว่า The Cassavetes-Lane Drama Workshop แล้วสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Shadows (1959)
ความล้มเหลวไม่ทำเงินของ The Killing of a Chinese Bookie (1976) และ Opening Night (1977) เป็นเหตุให้ผกก. Cassavetes ต้องเร่งหาเงินด่วน (Quick Cash) ติดต่อหาสตูดิโอ MGM ได้รับมอบหมายพัฒนาบทดั้งเดิม (Original Screenplay) โดยมีศูนย์กลางคือนักแสดงเด็ก Rick Schroder เพิ่งแจ้งเกิดภาพยนตร์ The Champ (1979) ในตอนแรกตั้งชื่อ One Summer Night แต่ต่อมา Schroder ติดพันหนังเรื่องอื่น เลยหมดความสนใจโปรเจคนี้
I wrote this story to sell, strictly to sell.
John Cassavetes
ผกก. Cassavetes นำเอาโปรเจคดังกล่าวมาขายต่อให้ Columbia Pictures แนะนำนักแสดงนำ Barbra Streisand แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ สตูดิโอเลยติดต่อหา Gena Rowlands อ่านบทแล้วชื่นชอบ ตอบตกลงรับบทนำ และโน้มน้าวสามีอยากให้ร่วมงานกัน
ณ South Bronx, New York City ครอบครัว Dawn ถูกหมายหัวแก๊งค์มาเฟีย เนื่องจากค้นพบว่าบิดาแอบส่งข้อมูลบัญชีการเงินให้กับ FBI กำลังจะโดนฆ่ายกครอบครัวเพื่อเป็นต้นแบบอย่าง บังเอิญว่าเพื่อนบ้าน Gloria Swenson (รับบทโดย Gena Rowlands) แวะมาเยี่ยมเยียน จึงฟากบุตรชายคนเล็ก Phil Dawn (รับบทโดย John Adames) หวังให้หลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ
แต่ทว่าแก๊งค์มาเฟียกลับไม่ยินยอมยุติการไล่ล่า Gloria ที่แม้ไม่ค่อยเต็มใจ ไม่อยากให้ความช่วยเหลือสักเท่าไหร่ แต่ยังคอยปกปักษ์ พาหลบหนี เผชิญหน้าแก๊งค์มาเฟียโดยไม่หวาดกลัวเกรง พยายามต่อรองอดีตคนรักเก่า(ที่เป็นหนึ่งในหัวหน้าแก๊งค์) ร้องขอให้ไว้ชีวิตเด็กชาย สุดท้ายจะทำสำเร็จหรือไม่?
Virginia Cathryn ‘Gena’ Rowlands (1930-2024) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Madison, Wisconsin มารดาคือนักแสดงละครเวที Lady Rowlands, โตขึ้นเข้าเรียน University of Wisconsin ได้เป็นสมาชิกชมรม Kappa Kappa Gamma ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษาเดินทางสู่ New York City เพื่อเข้าเรียนการแสดง American Academy of Dramatic Arts พบเจอแต่งงานกับ John Cassavetes ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954, เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละคอนเวที Broadway ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The High Cost of Loving (1958), ร่วมงานขาประจำสามีทั้งหมด 10 ครั้ง อาทิ Faces (1968), A Woman Under the Influence (1974), Opening Night (1977), Gloria (1980), Love Streams (1984) ฯ
รับบท Gloria Swenson หญิงวัยกลางคนที่มีความอึดถึก (Tough) ชอบพูดเสียดสี ถากถาง หยาบกระด้าง ตรงไปตรงมา อารมณ์ขึ้นๆลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่ชื่นชอบเด็กเล็กเพราะเอาใจยาก คุยด้วยไม่ค่อยรู้เรื่อง นิสัยดื้อรั้นเอาแต่ใจ (เจ้าตัวก็พอๆกัน) แต่เข้าใจว่าอีกฝ่ายไม่เหลือใคร จะปล่อยให้ตายมันก็เลวร้ายเกินไป จึงยินยอมให้ความช่วยเหลือ เผชิญหน้าแก๊งค์มาเฟียโดยไม่หวาดกลัวเกรงอันตราย
เกร็ด: ชื่อตัวละคร Gloria Swenson เป็นการเคารพคารวะโคตรนักแสดงหนังเงียบ Gloria Swanson (1899-1983) แต่คนส่วนใหญ่มักรู้จักเธอจากภาพยนตร์ Sunset Boulevard (1950)
When I read the script, I knew I wanted a walk for her. I wanted something that, from the minute you saw me, you knew I could handle myself on the streets of New York. So I started thinking about when I lived in New York, how different I walked down the street when there was nobody but me. It was a walk that said, they’d better watch out.”
Gena Rowlands
มันราวกับบทบาทนี้เขียนมาเพื่อ Rowlands ทั้งน้ำเสียง รูปร่างหน้าตา อากัปกิริยา รวมถึงท่าทางการเดิน ภาพจำการแสดงของเธอคือหญิงแกร่ง อึดถึก นิสัยบ้าๆบอๆ พร้อมระเบิดระบายอารมณ์คลุ้มคลั่ง ไม่หวาดกลัวเกรง ไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น ด้วยความห้าวเป้งระดับนี้ จึงมักได้รับการเปรียบเทียบ Humphrey Bogart (ในหนังนัวร์ทศวรรษ 40s)
การแสดงของ Rowlands มันช่างดูง่ายดายราวกับเดินอยู่ในสวน (ตรงกันสำนวน walk in the park) เห็นว่าเธอสวมบทบาท (in-Character) อยู่ในตัวละครตลอดการถ่ายทำ เพื่อจะไม่สร้างความสับสนให้นักแสดงเด็ก นอกจอ-ในจอคือบุคคลเดียวกัน!
ถ้าเทียบผลงานไฮไลท์อย่าง Faces (1968), A Woman Under the Influence (1974) หรือ Opening Night (1977), การแสดงของ Rowlands ใน Gloria (1980) ผมรู้สึกว่าดูธรรมดาๆไปเสียด้วยซ้ำ แต่ยุคสมัยนั้นมันไม่ค่อยมีบทบาทหญิงแกร่งระดับนี้นัก มันจึงมีความสดชื่น แปลกใหม่ ผู้ชมหลงใหลคลั่งไคล้ เลยได้เข้าชิงทั้ง Oscar และ Golden Globe สาขา Best Actress (แต่ก็ไม่ได้รางวัลใดๆ)
Gena is subtle, delicate. She’s a miracle. She’s straight. She believes in what she believes in. She’s capable of anything… She doesn’t care if it’s cinematic, doesn’t care where the camera is, doesn’t care if she looks good – doesn’t care about anything except that you believe her. She caught the rhythm of that woman living a life she’d never seen. When she’s ready to kill, I’m amazed at how coldly she does it.
John Cassavates กล่าวชื่นชมศรีภรรยา
การจะมองหานักแสดงเด็ก Phil Dawn อายุระหว่าง 5-7 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด! มีการว่าจ้างแมวมองถึงแปดคน เดินทางไปตามโรงเรียน สนามกีฬา เอเจนซี่ทั่วกรุง New York ติดต่อนัดหมายวันเสาร์เช้า ให้เด็กๆมาพร้อมผู้ปกครอง ยังสถานที่ดิสโก้เธค New York, New York แม้ถูก(ผู้ปกครอง)ด่ายับว่าเลือกสถานที่ไม่เหมาะสม แต่เป้าหมายคือค้นหาเด็กชายที่มีความเข้มแข็ง หาญกล้า ไม่งอแงกับสถานการณ์แค่นี้
จากเด็กๆประมาณ 300-400 คน ได้ค้นพบ John Adames (ชื่อจริงคือ Juan Adames) ถูกค้นพบโดยน้องสาวของ Vic Ramos (ผู้เป็น Casting Director) อาศัยอยู่ละแวกใกล้เคียง ชักชวนไปทดสอบหน้ากล้อง เข้าตาผกก. Cassavetes เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ไม่ร้องไห้งอแง พูดจาโผงผาง และมีเชื้อสาย Puerto Rican
Adames ไม่เคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์ ไม่เคยได้รับการฝึกฝนใดๆ เดินทางมากองถ่ายโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้กำลังจะทำอะไร ปฏิกิริยาเอ๋อเหรอ ไม่รู้เดียงสา (พูดภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยชัดสักเท่าไหร่) นั่นคือเขาไม่รู้จะแสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา ก็เหมือนกับตัวละครไม่รับรู้ว่าตนเองอยู่ในสถานการณ์เช่นไร ค่อยๆเรียนรู้ เติบโต ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆรอบข้าง เพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่โดยไว “I’m a Man!”
The kid is also well cast. He’s a youngster named John Adames who has dark hair and big eyes and a way of delivering his dialogue as if daring you to change one single word. Precisely because the material of this movie is so familiar, almost everything depends on the performances. And that’s where Cassavetes saves the material and redeems the corniness of his story.
Roger Ebert กล่าวชื่นชมเด็กชาย John Adames
ผมมองว่า Adames เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม สามารถต่อล้อต่อเถียง เคมีเข้าขากับ Rowlands แต่ผู้ชมสมัยนั้นส่วนใหญ่กลับไม่ชอบ เพราะพฤติกรรมน่ารำคาญ ไอ้เด็กเมื่อวานซืน ทำตัวไม่น่ารักเอาเสียเลย ดูไม่เข้าใจสถานการณ์ของตัวละคร เลยถูกนักวิจารณ์เหยียบย่ำจมมิดดิน แถมได้รับรางวัล Golden Raspberry Awards: Worst Supporting Actor ดับโอกาสในวงการภาพยนตร์โดยพลัน
Adames had the dubious distinction of splitting the first Razzie award for Worst Supporting Actor with Laurence Olivier (in Richard Fleischer’s The Jazz Singer), and one has to assume that most of the blame rested on his unique vocal delivery. He manages to perfectly capture what Paddy Chayefsky would sound like impersonating Alvin Chipmunk.
Eric Henderson จากนิตยสาร Slant Magzaine
The aspect of the film that came in for the most criticism from reviewers was Juan Adames’ performance. They came in apparently expecting him to be cute and cuddly in the Little Miss Marker mode. When he wasn’t, they judged that Cassavetes had failed. What they overlooked was that Cassavetes deliberately worked hard to avoid sentimentality.
The kid is neither sympathetic nor non-sympathetic. He’s just a kid. He reminds me of me, constantly in shock, reacting to this unfathomable environment. He was always full of excitement and wonderment as to what he was doing, trying to comprehend this fathomless story of a family being wiped out.
นักวิจารณ์ Ray Carney
ถ่ายภาพโดย Fred Schuler (เกิดปี ค.ศ. 1940) ตากล้องสัญชาติ Germany แล้วมาเติบโตอยู่สหรัฐอเมริกา โด่งดังจากการเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ภาพยนตร์ Dog Day Afternoon (1975), Taxi Driver (1976), Network (1976), Annie Hall (1977), The Deer Hunter (1978), Manhattan (1979), ก่อนได้รับโอกาสจากผู้กำกับ John Cassavetes ได้รับเครดิตถ่ายภาพยนตร์ Gloria (1980)
ด้วยความที่หนังได้รับทุนสร้างจากสตูดิโอ มันจึงไม่สามารถแบกกล้องขึ้นบ่า เดินไปเดินมา อยากจะขยับเคลื่อนย้าย ให้อิสระตากล้องทำอะไรก็ได้ (Improvisational Film), ทุกช็อตฉากจำต้องมีการวางแผน ติดต่อหาสถานที่ถ่ายทำ เลือกตำแหน่ง ทิศทางมุมกล้อง ครุ่นคิดว่าฉากนี้จะถ่ายทำอะไรยังไง … นั่นคือสิ่งที่โดยปกติแล้วผกก. Cassavetes ไม่ค่อยให้ความสนใจสักเท่าไหร่ แต่พอทำงานร่วมกับสตูดิโอมันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานภาพของหนังเลยมีความเป็น Hollywood มากกว่า ‘สไตล์ Cassavetes’
มันไม่ใช่ว่าพอเป็น Hollywood แล้วเทียบไม่ได้กับ ‘สไตล์ Cassavetes’ ต่างฝ่ายต่างก็มีดีในตนเอง! ด้วยเงินทุนที่มากขึ้น ทำให้โปรดักชั่นงานสร้างมีความเป็นมืออาชีพ งานภาพเต็มไปด้วยลูกเล่น ลีลานำเสนอที่ดูโฉบเฉี่ยว กล้องค่อยๆขยับเคลื่อนไหล เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดทีละน้อยๆ (นำเสนอผ่านมุมมองเด็กชายที่ยังไม่รู้ประสีประสา) แต่ละสถานที่มีการออกแบบตกแต่งฉากแตกต่างออกไป (สะท้อนสถานะ/รสนิยมของเจ้าของ)
เกร็ด: บิดาของผกก. Cassavetes เสียชีวิตช่วงสัปดาห์สุดท้ายระหว่างเตรียมงานสร้าง (Pre-Production) บรรยากาศหนังในช่วงแรกๆ (ที่ครอบครัว Dawn ถูกฆ่าล้าง) จึงดูมืดหม่นพอสมควร
หลังจากห้าสัปดาห์ค้นหานักแสดงนำ สามสัปดาห์ซักซ้อมการถ่ายทำ (Rehearsal) หนังเริ่มต้นถ่ายทำยัง Grand Concourse (Bronx) โดยสถานที่หลักๆคืออพาร์ทเมนท์ที่ 800 Riverside Drive และอดีตโรงแรม Concourse Plaza Hotel (South Bronx) ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 26 กันยายน ค.ศ. 1979
เกร็ด: เพื่อความสมจริงของหนัง ผกก. Cassavetes ว่าจ้างสมาชิกแก๊งค์มาเฟียจริงๆให้มาเข้าฉากที่ Gloria บุกขึ้นอพาร์ทเมนท์ช่วยเหลือเด็กชายจากเงื้อมมือแก๊งค์มาเฟีย … หลังฉากเห็นว่าสมาชิกแก๊งค์มาเฟีย ยังให้คำแนะนำว่าฉากนี้ควรทำออกมาอะไรยังไง
ตอนจบของหนังมันช่าง Hollywood เหลือทน (ที่มักจบลงอย่าง Happy Ending) นั่นก็เพราะ … (อ่านเอาเองแล้วกันนะครับ ขี้เกียจแปล)
And a lot of people don’t like the ending no matter what happens! In honesty, I think the ending is not as good as it could be. [I just did it that way] because I really didn’t want the kid to suffer. What kind of picture would it be if at the end the kid went to pieces? I just didn’t want to kill off the person who had protected that boy.
John Cassavetes

ตัดต่อโดย George C. Villaseñor (1931-2009) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Gloria (1980), Love Streams (1984) ฯ
จุดศูนย์กลางของหนังคือ Gloria Swenson บังเอิ้ญแวะมาขอยืมกาแฟจากเพื่อนบ้าน ได้รับการฝากฝังบุตรชาย Phil Dawn เพราะกำลังถูกหมายหัวโดยแก๊งค์มาเฟีย อาจโดนฆ่าล้างครอบครัว เรื่องราวต่อจากนี้คือการผจญภัยในย่าน The Bronx, Halem, Manhattan, New York City เพื่อหาหนทางหลบหนีเอาตัวรอด
- เหตุการณ์ฆ่าล้างครอบครัว
- Jeri Dawn เดินทางกลับมายังอพาร์ทเม้นท์ พบเห็นสมาชิกแก๊งค์มาเฟียดักรออยู่ใต้อพาร์ทเม้นท์
- บังเอิ้ญ Gloria แวะเวียนมาหา ได้รับการฝากฝังบุตรชาย Phil
- แก๊งค์มาเฟียเดินทางมาฆ่าล้างครอบครัว Dawn
- Gloria พยายามเกลี้ยกล่อม ก่อนฉุดกระชากลาก Phil หลบหนีไปยังอพาร์ทเม้นท์อีกแห่งของตนเอง
- การผจญภัยในกรุง New York
- เช้าวันถัดมา Gloria ต้องหาหนทางพา Phil หลบหนีลงจากอพาร์ทเม้นท์ ก่อนกราดยิงพวกมาเฟียที่มาดักรอ
- Gloria เดินทางไปถอนเงินธนาคาร
- เข้าพักโรงแรมม่านรูด
- Gloria พา Phil ไปยังสุสานเพื่ออำลาครอบครัว
- เดินทางไปสถานีรถไฟ ระหว่างแวะทานอาหาร ก่อนหลบหนีจากพวกแก๊งมาเฟีย
- ด้วยรักและห่วงใย
- Gloria ให้โอกาส Phil เลือกว่าจะติดตามตนเองหรือแยกย้ายไปตามทาง
- แต่ไม่นาน Gloria ออกติดตามหา Phil ไปยังละแวก Harlem ขึ้นอพาร์ทเม้นท์แก๊งค์มาเฟีย ช่วยเหลือเด็กชายกลับคืนมา
- ถูกแก๊งค์มาเฟียขับรถไล่ล่า หลบหนีสำเร็จที่รถไฟใต้ดิน
- เข้าพักโรงแรม Gloria ตระหนักว่าไม่สามารถหลบหนีแก๊งมาเฟีย จึงครุ่นคิดต่อรองคนรักเก่า Tanzinni
- การเผชิญหน้า & หลบหนี
- เช้าวันถัดมา Gloria โทรศัพท์หาคนรักเก่า Tanzinni ต้องการเข้าไปต่อรองไว้ชีวิตเด็กชาย
- Gloria เดินทางมาถึงสถานที่นัดหมาย พูดคุยต่อรอง แต่เหมือนจะประสบความล้มเหลว
- Phil ตัดสินใจขึ้นรถไฟ ออกเดินทางสู่ Pittsburgh สุดท้ายแล้วจะได้พบเจอ Gloria หรือไม่?
เพลงประกอบโดย Bill Conti หรือ William Coti (เกิดปี ค.ศ. 1942) นักแต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Providence, Rhode Island สำเร็จการศึกษาด้านการแต่งเพลงจาก Louisiana State University School of Music และปริญญาโท Juilliard School, โด่งดังจากทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Rocky (1976), Gloria (1980), For Your Eyes Only (1981), Bad Boys (1983), The Right Stuff (1983)**คว้ารางวัล Oscar: Best Original Score, The Karate Kid (1984), Broadcast News (1987) ฯ
โดยปกติแล้ว ‘สไตล์ Cassavetes’ มักเลือกบทเพลงจากศิลปินมีชื่อ ท่วงทำนอง/เนื้อคำร้องสอดคล้องเข้ากับเรื่องราวขณะนั้นๆ แต่ทว่านี่คือโปรเจคสตูดิโอ เลยไม่ได้มีความกระตือรือล้นสักเท่าไหร่ มอบอิสระให้นักแต่งเพลง ตอบปฏิเสธ Conti ที่พยายามนัดหมายคุยงาน “I’m not doing that – it’s why I hired you”
ส่วนตัวไม่ค่อยชื่นชอบเพลงประกอบนี้สักเท่าไหร่ รู้สึกว่า Conti เล่นใหญ่เกินจริง บ่อยครั้งท่วงทำนองมอบสัมผัสอลังการงานสร้าง (Epic) บีบเค้นอารมณ์มากไป โดยเฉพาะฉากไล่ล่าพยายามทำออกมาราวกับการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งๆตัวหนังไม่ได้มีอะไรเว่อวังมโหฬารขนาดนั้น
แต่ความโดดเด่นของ Conti คือการใช้แซกโซโฟน (Saxophone) สร้างท่วงทำนองโหยหวน คร่ำครวญ เจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ สื่อถึงการสูญเสีย เหตุการณ์โศกนาฎกรรม ครอบครัวถูกฆ่าล้างพงศ์พันธ์ุ แม้ตัวละครแทบไม่เคยแสดงความรู้สึกใดๆ แต่บทเพลงรำพรรณาสิ่งที่อยู่ภายใน
อีกปัญหาหนึ่งของเพลงประกอบ ผมรู้สึกว่าท่วงทำนอง(โดยเฉพาะเสียงแซกโซโฟน)มันช่างคุ้นหูเสียเหลือเกิน Elevator to the Gallows (1958), Taxi Driver (1978) ฯ แม้มันไม่ได้เหมือนเป๊ะๆ แต่บรรยากาศ อารมณ์ มันช่างละม้ายคล้ายคลึง สูญเสียความสดใหม่ เลยไม่สามารถสร้างความประทับใจสักเท่าไหร่
ปล. เท่าที่ผมหาอ่านความคิดเห็นของผู้ฟัง ต่างให้ยกย่อง Gloria (1980) อาจคือผลงานเพลงยอดเยี่ยมที่สุดของ Bill Conti (มากกว่า Rocky หรือ The Karate Kid) นั่นเพราะอิสรภาพในการรังสรรค์ จุดไฟทำงานที่เคยมอดดับ ให้กลับมาโชติช่วงขึ้นอีกครั้ง
เพื่อนข้างบ้านที่ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็น ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ ไม่ได้ชื่นชอบเด็กด้วยซ้ำไป แต่ทว่า Gloria เมื่อได้รับการฟากฝังเด็กชาย Phil จากมารดา/ครอบครัวกำลังจะถูกแก๊งค์มาเฟียกวาดล้าง ด้วยจิตสามัญสำนึกความเป็นมนุษย์ (บางคนอาจมองสันชาตญาณเพศแม่) ทำให้เธอมิอาจละทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลย ยินยอมให้ความช่วยเหลือ แม้ต้องเสี่ยงอันตราย อาจถูกฆ่าตาย … จัดเป็นภาพยนตร์ที่สำแดงมนุษย์ธรรม (Humanity) ก็ได้กระมัง
Gloria celebrates the coming together of a woman who neither likes nor understands children and a boy who believes he’s man enough to stand on his own. There’s a lot of pain connected with raising children in today’s world. It’s considered a big holdback for a woman. So a lot of women have developed a distrust of children. I wanted to tell women that they don’t have to like children – but there’s still something deep in them that relates to children, and this separates them from men in a good way. This inner understanding of kids is something very deep and instinctive. In a way, it’s the other side of insanity. But we had to be careful how we evoked this in the movie. We avoided anything like a traditional mother-son relationship. Gloria doesn’t know why she’s doing any of these things. She’s lost by it, and that’s the way I feel. I’m lost by life. I don’t know anything about life. If I make a movie, I don’t even understand why I’m making the movie. I just know that there’s something there. Later on, we all get to know what it’s about through the opinions of others.
John Cassavetes
Gloria (1980) อาจเป็นเพียงภาพยนตร์ที่ผกก. Cassavetes พัฒนาขึ้นเพื่อหาเงินด่วนมาหมุน สร้างเรื่องราวที่แสนเรียบง่าย นำเสนอการหลบหนี-ไล่ล่า แมวจับหนู (Cats-chasing-Mouse) เน้นความตื่นเต้น ลุ้นระทึก หวนระลึก Hollywood Classical หนังอาชญากรรมนัวร์ช่วงทศวรรษ 40s
แต่ลึกๆแล้ว Gloria (1980) เป็นผลงานที่สะท้อนตัวตนของผกก. Cassavetes ตั้งแต่มีปัญหาขัดแย้ง(โปรดิวเซอร์) Stanley Kramer ภาพยนตร์ A Child Is Waiting (1963) ปฏิเสธทำงานภายใต้ระบบสตูดิโอ สรรค์สร้างภาพยนตร์อิสระ/นอกกระแส (Independent Film) อยู่เกือบสองทศวรรษ จนกระทั่งความล้มเหลวสองเรื่องติด The Killing of a Chinese Bookie (1976) และ Opening Night (1977) หนทางออกหนึ่งเดียวคือหวนกลับไปพึ่งใบบุญ Hollywood
Gloria (และเด็กชาย Phil) พยายามหลบหนีการไล่ล่าจากแก๊งมาเฟีย = ผกก. Cassavetes ไม่ต้องการหวนกลับไปทำงานสตูดิโอ Hollywood, แต่จนแล้วจนรอด “You can’t beat the system.” ทั้งเรื่องหนี้สิน และศรีภรรยา Gena Rowlands พูดโน้มน้าวจนเขายินยอมตอบตกลง ขายวิญญาณให้ปีศาจ สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ภายใต้ Columbia Pictures … ด้วยข้อตกลงว่าสตูดิโอจะไม่เข้าไปยุ่งย่ามก้าวก่าย
ผมครุ่นคิดอยู่นานว่าเด็กชาย Phil จะสื่อถึงผกก. Cassavetes ได้อย่างไร? แต่เจ้าตัวเคยพูดบอกเองในบทสัมภาษณ์ นอกจากพฤติกรรมกร้าวกระด้าง หัวรั้น เอาแต่ใจ คือความตกตะลึงต่อสถานการณ์ต่างๆถาโถมเข้าใส่ น่าจะโดยเฉพาะ Hollywood ที่มีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
The kid is neither sympathetic nor non-sympathetic. He’s just a kid. He reminds me of me, constantly in shock, reacting to this unfathomable environment. He was always full of excitement and wonderment as to what he was doing, trying to comprehend this fathomless story of a family being wiped out.
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับดียอดเยี่ยม สามารถคว้ามาสองรางวัล
- Golden Lion เคียงคู่กับ Atlantic City (1980)
- OCIC Award – Honorable Mention
ด้วยทุนสร้าง $4 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกาได้เพียง $4 ล้านเหรียญ นั่นทำให้หนังถูกมองข้ามจากสถาบันต่างๆ ยกเว้นเพียง Gena Rowlands ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress (พ่ายให้กับ Sissy Spacek ภาพยนตร์ Coal Miner’s Daughter) และ Golden Globe: Best Actress – Drama (พ่ายให้กับ Mary Tyler Moore ภาพยนตร์ Ordinary People)
เกร็ด: Gloria (1999) คือผลงานที่ Akira Kurosawa ชื่นชอบมากสุดในบรรดาผลงานของ John Cassavetes
ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะ แผ่น Blu-Ray ของค่าย Kino Lorber ที่วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2023 เป็นแค่ HD Digital Transfer คุณภาพพอใช้ เพียงเอาไว้รับชมแก้ขัด แถมของแถมก็ไม่มีสักสิ่งอย่าง
แม้หนังดูสนุก เพลิดเพลิน ตื่นเต้นเร้าใจ แต่สำหรับแฟนเดนตายของผกก. Cassavetes น่าจะรู้สึกผิดหวังพอสมควร แทบไม่พบเห็น ‘สไตล์ Cassavetes’ แถมยังพยายามประณีประณอม (ต่อแก๊งค์มาเฟีย) ยินยอมศิโรราบต่อระบบ (สตูดิโอ Hollywood) มันช่างเป็นเรื่องน่าเศร้า ผิดหวัง ก็คงได้แค่นี้กระมัง
จัดเรต 13+ อาชญากร มาเฟีย ฆ่าล้างครอบครัว
Leave a Reply