
Holy Motors (2012)
: Leos Carax ♥♥♥♥
Denis Lavant ก้าวขึ้นรถลีมูซีน แต่งหน้าทำผม สวมใส่หน้ากาก แสดงบทบาทขอทาน อาชญากร นักดนตรี ชายสูงวัย ฯ สลับสับเปลี่ยนถึงเก้าครั้งในรอบหนึ่งวัน ทำไปทำไม? ใครคือผู้ชม?
Holy Motors (2012) เป็นหนังที่ถ้าคุณไม่สามารถขบครุ่นคิด ค้นหาเหตุผลการกระทำ สลับสับเปลี่ยนเก้าบทบาทในรอบวันไปทำไม? ต้องการสื่ออะไร? ก็จักไม่มีวันเข้าใจความหลงใหลคลั่งไคล้ของบรรดานักวิจารณ์ ส่วนใหญ่ยกย่องสรรเสริญระดับมาสเตอร์พีซ หนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี ค.ศ. 2012
จะว่าไป TikTok ช่างมีความละม้ายคล้ายคลึง Holy Motors (2012) ผู้ชมกดเปิดคลิปหนึ่ง รับชมการแสดงร้อง-เล่น-เต้นหนึ่ง → จากนั้นปัดซ้ายเปิดคลิปถัดไป รับชมการแสดงร้อง-เล่น-เต้นสอง → จากนั้นปัดขวาคลิปถัดไป รับชมการแสดงร้อง-เล่น-เต้นสาม → บลา บลา บลา ดำเนินต่อเนื่องไม่รู้จักจบสิ้น
ชีวิตคนเราก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก อยู่กับพ่อ-แม่รับบทลูก-หลาน, ไปโรงเรียนกลายเป็นนักเรียน-นักศึกษา, จบออกมาทำงาน ลูกน้องไต่เต้าหัวหน้า, แต่งงานสามี-ภรรยา, อายุมากขึ้นถูกเรียกลุง-ป้า-น้า-อา ปู่-ย่า-ตา-ยาย ฯลฯ ในแต่ละวันเราต้องสวมบทบาท สวมใส่หน้ากาก กลายเป็นคนโน้นนี่นั่นไม่รู้จักจบสิ้น
Holy Motors (2012) เป็นภาพยนตร์ที่อาจไม่ได้มีลูกเล่นแปลกใหม่ สิ่งตื่นตาตื่นใจ ดูน่าเบื่อหน่ายด้วยซ้ำเมื่อเทียบผลงานอื่นๆของผกก. Carax แต่ถ้าคุณสามารถขบครุ่นคิด เปรียบเทียบการแสดงชีวิต ย่อมบังเกิดความตระหนักว่านี่คือผลงานมาสเตอร์พีซ และ Denis Lavant คือมนุษย์พันหน้าคนล่าสุด!
Leos Carax ชื่อจริง Alex Christophe Dupont (เกิดปี ค.ศ. 1960) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Suresnes, Hauts-de-Seine เป็นบุตรของ Joan Osserman นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นิตยสาร International Herald Tribune จึงไม่แปลกที่จะชื่นชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก หลงใหลคลั่งไคล้หนังเงียบของ D.W. Griffith, Lilian Gish, King Vidor ฯ หลังจบมัธยม (หรือลาออกกลางคันก็ไม่รู้) แอบเข้าห้องเรียนคอร์สภาพยนตร์ Université Sorbonne Nouvelle นั่งเคียงข้าง Serge Daney และ Serge Toubiana (ขณะนั้นเป็นบรรณาธิการ Cahiers du Cinéma) เลยมีโอกาสเขียนบทความลงนิตยสาร Cahiers du Cinéma ไม่รู้เพราะเนื้อหาสุดโต่งไปหรือไร เลยอยู่ได้ไม่นาน, ต่อมาทำงานในบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์แห่งหนึ่ง เก็บหอมรอมริดนำเงินมาซื้อกล้อง Bolex 16mm ถ่ายทำหนังสั้นเรื่องแรก La Fille Rêvée แต่เกิดอุบัติเหตุไฟสป็อตไลท์ลุกไหม้ เผาทำลายฟีล์มหมดสิ้น! เลยเปลี่ยนมาสร้างหนังสั้นเรื่องใหม่ Strangulation Blues (1980) เข้าฉาย Hyères International Young Cinema Festival คว้ารางวัล Grand Prize for Short Film สร้างความประทับใจให้โปรดิวเซอร์ Alain Dahan พร้อมสนับสนุนโปรเจคภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Boy Meets Girl (1984)
หลังเสร็จจาก Alex Trilogy (Boy Meets Girl (1984), Mauvais Sang (1986) และ Les Amants du Pont-Neuf (1991)) ผกก. Carax พยายามมองหาโปรเจคดัดแปลงอะไรสักอย่าง ใช้เวลาหลายปีกว่าจะสรรค์สร้าง Pola X (1999) แต่ผลลัพท์กลับล้มเหลวย่อยยับ
โปรเจคถัดไปก็เฉกเช่นกัน เลือกนาน เลือกไม่ได้ ไม่มีใครอยากให้งบประมาณ เลยตอบตกลงสร้างหนังสั้น Merde นำแสดงโดย Denis Lavant รวมอยู่ใน Anthology film เรื่อง Tokyo! (2008) [อีกสองเรื่องกำกับโดย Michel Gondry และ Bong Joon-ho]
จากนั้นผกก. Carax พยายามมองหาเงินทุนก้อนใหญ่ (น่าจะ)สำหรับสรรค์สร้าง Annette (2021) แต่ตอนนั้นห่างหายจากวงการไปนาน ไม่มีนายทุนไหนยินยอมพร้อมเสี่ยง เขาเลยเปลี่ยนแผนมากำกับหนังอินดี้ทุนต่ำสักเรื่องหนึ่ง กอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนมา
Holy Motors was born of my incapacity to carry out several projects, all of them in another language and another country. They all ran into the same two obstacles: casting and cash. Fed up with not being able to film, I used Merde, which had been commissioned in Japan, as inspiration. I commissioned myself to make a project under the same conditions, but in France – come up with an inexpensive film, quickly, for a pre-selected actor.
Leos Carax
Holy Motors (2012) ได้แรงบันดาลใจจากทริปไปสหรัฐอเมริกา พบเห็นรถลีมูนซีนสีขาวขนาดยาวใหญ่ กำลังได้รับความนิยมใช้ในงานแต่งงาน แต่เขากลับมองเห็นเหมือนโลงศพ เชื่อมโยงระหว่างอดีต-อนาคต (Past-Future) เกิด-ตาย (Birth-Death) และการถือกำเนิดใหม่ (Rebirth)
For Holy Motors, one of the images I had in mind was of these stretch limousines that have appeared in the last few years. I first saw them in America and now every Sunday in my neighborhood in Paris for Chinese weddings. They’re completely in tune with our times – both showy and tacky. They look good from the outside, but inside there’s the same sad feeling as in a whores’ hotel. They still touch me, though. They’re outdated, like the old futurist toys of the past. I think they mark the end of an era, the era of large, visible machines.
These cars very soon became the heart of the film – its motor, if I may put it that way. I imagined them as long vessels carrying humans on their final journeys, their final assignments.
The film is therefore a form of science fiction, in which humans, beasts and machines are on the verge of extinction – sacred motors linked together by a common fate and solidarity, slaves to an increasingly virtual world. A world from which visible machines, real experiences and actions are gradually disappearing.
หนังเริ่มต้นที่ชายคนหนึ่ง (ผู้กำกับ Leos Carax) ตื่นขึ้นมาในห้องพักโรงแรม นิ้วกลางกลายเป็นลูกกุญแจ ไขประตูห้องลึกลับ โผล่ออกมายังโรงภาพยนตร์ และสุนัขตนหนึ่งกำลังก้าวเดินออกมา
ชายคนหนึ่งชื่อ Monsieur Oscar (รับบทโดย Denis Lavant) ก้าวออกจากบ้านหรูหรา โบกมือลาครอบครัว เดินไปขึ้นรถลีมูนซีน ได้รับแจ้งจากคนขับ Céline (รับบทโดย Édith Scob) วันนี้มีเก้ากำหนดการนัดหมาย แล้วจึงเริ่มต้นออกเดินทาง (จริงๆแล้วมีทั้งหมด 11 บทบาท)
- เริ่มต้นเป็นนักธุรกิจ La Banquier สวมสูทผูกไทด์ ก้าวเดินจากบ้าน พูดคุยโทรศัพท์ขณะอยู่บนรถลีมูนซีน
- รับบทหญิงสูงวัยหลังค่อม La Mendiante เดินขอทานอยู่บริเวณสะพาน Pont Alexandre III
- จากนั้นกลายเป็นนักแสดง L’ O.S. de la Motion Capture กระโดดโลดเต้นร่วมกับนักแสดงหญิงอีกคน แล้วพบเห็นภาพ VFX สัตว์ประหลาดร่วมรักกันบนจอมอนิเตอร์
- รับบท Monsieur Merde (แปลว่า Mr. Shit) ชายผมแดงราวกับปีศาจร้าย ผุดขึ้นจากท่อระบายน้ำขึ้นมายังสุสาน Père Lachaise ลักพาตัวโมเดลสาวสวย Kay M. (รับบทโดย Eva Mendes) ลงไปปู้ยี้ปู้ยำ
- บิดา Le Père ขับรถมารับบุตรสาว Angèle (รับบทโดย Jeanne Disson) หลังงานเลี้ยงปาร์ตี้ ก่อนมีเรื่องทะเลาะวิวาทเมื่อรับรู้ว่าเธอเอาแต่หลบซ่อนตัวอยู่ในห้องน้ำ
- กลายเป็นนักดนตรีแอคคอร์เดียน L’Accordèoniste เดินไปเล่นไปร่วมกับผองเพื่อน เดินวนรอบโบสถ์ Saint-Merri
- เล่นเป็นฆาตกร Le Tueur เข่นฆ่าชายคนหนึ่งที่หน้าตาเหมือนกับตนเอง แล้วกลายเป็นบุคคลนั้นคืบคลานกลับขึ้นรถลีมูซีน
- หลังจากสนทนากับชายที่มีปานแดงบนศีรษะ (รับบทโดย Michel Piccoli) เหลือบไปเห็นนายธนาคาร Le Tuè (ที่หน้าตาเหมือนตนเอง) นั่งดื่มอยู่ข้างทาง เรียกขอให้คนขับหยุดรถ แล้วลงไปจ่อยิงอีกฝ่าย
- Monsieur Vogan หรือ Le Mourant ชายสูงวัย ติดเตียง พูดคุยสั่งลาหลานสาว Élise (รับบทโดย Élise L’Homeau) ก่อนสิ้นใจตาย
- เกือบพุ่งชนรถลีมูซีนอีกคัน แล้วพบว่าอีกฝ่ายคือ Jean (รับบทโดย Kylie Minogue) อดีตคนรัก มีเวลา 20 นาทีสำหรับหวนระลึกความหลัง ก่อนที่เธอจะกระโดดตึกฆ่าตัวตายกับชายคนรัก
- สถานที่สุดท้ายกลับมาถึงบ้าน L’Homme au Foyer แต่ภรรยาและบุตรต่างคือลิงชิมแปนซี
จากนั้น Céline ขับรถกลับมายังโรงเก็บ Holy Motors พร้อมๆกับรถลีมูซีนคันอื่นๆ พอจอดรถ สวมหน้ากาก แล้วปิดไฟ รถทั้งหลายต่างก็พูดคุยสนทนากัน พร่ำบ่นถึงอนาคตที่ใกล้จะถูกปลดระวาง
Denis Lavant (เกิดปี ค.ศ. 1961) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine, Hauts-de-Seine เมื่อตอนอายุ 13 บังเกิดความหลงใหล Marcel Marceau เข้าคอร์สฝึกฝนละครใบ้ โตขึ้นเข้าเรียนการแสดง Paris Conservatoire กับอาจารย์ Jacques Lassalle ได้ทำงานละครเวที โทรทัศน์ บทสมทบเล็กๆภาพยนตร์ Les Misérables (1982), แล้วแจ้งเกิดกับ Boy Meets Girl (1984), ผลงานเด่นๆ อาทิ Mauvais Sang (1986), Les Amants du Pont-Neuf (1991), Beau travail (1999), Holy Motors (2012) ฯ
รับบท Monsieur Oscar (เป็นทั้งนามปากกาของผกก. Leos Carax และอยากส่งให้ Lavant คว้ารางวัล Oscar) ตั้งแต่ยังหนุ่มรับงานการแสดง ขึ้นรถลีมูนซีน แต่งหน้าทำผม สวมใส่หน้ากาก แสดงบทบาท เล่นเป็นบุคคลต่างๆยังสถานที่นัดหมายตามกำหนดการ แม้ปัจจุบันอายุมากขึ้นก็ยังคงยึดติดกับวิธีการ ไม่ลดละเลิก ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย คงจะจนกว่าถึงวันตกตายจากโลกนี้ไป
If Denis had said no, I would have offered the part to Lon Chaney or to Chaplin. Or to Peter Lorre or Michel Simon.
Leos Carax
ผกก. Lavant เล่าว่าเมื่อยี่สิบปีก่อนตอนสรรค์สร้าง Alex Trilogy เขาไม่สามารถจินตนาการ Lavant สวมหน้ากาก เล่นได้หลายบทบาท แต่ช่วงระยะเวลาดังกล่าวที่เวียนวนอยู่ในวงการ (ทั้งละคอนเวทีและภาพยนตร์) พานผ่านการแสดงมากมาย เขาคนนี้ได้แปรสภาพเป็นชายพันหน้า ยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่า Lon Chaney นักแสดงคนแรกที่ได้รับฉายา “The Man of a Thousand Faces”
แต่ในบรรดาบทบาทการแสดงทั้งหมด ผมกลับหลงใหลคลั่งไคล้ตอนเป็นนักแสดง Motion Capture เพราะนั่นคือจุดโดดเด่นที่สุดของ Lavant ทุกท่วงท่า ทุกลีลา มันมีความลื่นไหล ขยับเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งๆที่มันดูไม่เหมือนมนุษย์มนาเลยสักนิด!
Like cinema itself, Denis comes from the stage, the fairground and the circus. His body is sculpted like those of the athletes chronophotographed by Marey. And when I film this body on the move, I feel the same pleasure I imagine Muybridge felt watching his galloping horse.
มันยากที่จะบอกว่า Holy Motors (2012) คือผลงานการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Lavant หรือไม่? เพราะตัวละครไม่ได้มีมิติตื้นลึกหนาบาง เพียงความหลากหลายด้านทักษะการแสดงเสียมากกว่า … ส่วนตัวยังรู้สึกว่าบทบาทใน Les Amants du Pont-Neuf (1991) และ Beau travail (1999) มีความน่าประทับใจมากกว่า
แม้ว่าผกก. Carax อยากถ่ายทำหนังด้วยกล้องฟีล์ม แต่การห่างหายจากวงการภาพยนตร์ไปนาน จำต้องประณีประณอมกับสตูดิโอต่อรองให้ใช้กล้องดิจิตอล (เพราะมันลดต้นทุนค่าฟีล์ม) เลยเลือกใช้บริการ Yves Cape และว่าที่ตากล้องขาประจำคนใหม่ Caroline Champetier เพิ่งโด่งดังจากภาพยนตร์ Of Gods and Men (2010) คว้ารางวัล César Award: Best Cinematography
งานภาพของหนังแทบจะไม่มีลูกเล่นภาพยนตร์ใดๆ แต่โดดเด่นกับลีลาการขยับเคลื่อนไหว แทบจะไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง ถ้ากล้องไม่ขยับ ก็ต้องมีอะไรบางสิ่งอย่างเลื่อนไหล จากตัวละครหนึ่งสู่อีกตัวละครหนึ่ง สถานที่นัดหมายหนึ่งสู่อีกสถานที่นัดหมายหนึ่ง สร้างสัมผัสราวกับล่องลอยความฝัน (Dream-like)
อีกสิ่งโดดเด่นคือเฉดสีของหนัง ตอนกลางวันแดดจร้าๆ จะรู้สึกว่ามีความขาวซีดๆกว่าปกติ, ส่วนยามค่ำคืนทำการย้อมแสงสีเหลืองทอง (Golden Hour) ดูไฮโซ หรูหรา Paris ยามค่ำคืนช่างมีเสน่ห์น่าหลงใหล … ถ่ายทำระหว่างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน ค.ศ. 2011
ช่วงระหว่างขึ้นเครดิตตอนต้นเรื่องมีการแทรกฟุตเทจของ Étienne-Jules Marey (1830-1904) นักวิทยาศาสตร์ นักถ่ายภาพ Chronophotographer (มาจากภาษากรีก Chrónos แปลว่า Time ผสมเข้ากับ photography) รวบรวมการเคลื่อนไหวของคน-สัตว์-สิ่งของ จุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว
Chronophotography is a set of photographs of a moving object, taken for the purpose of recording and exhibiting successive phases of motion.
Marey คือหนึ่งในผู้บุกเบิกภาพเคลื่อนไหว ก่อนกาลมาถึงของ Cinématographe (ของสองพี่น้อง Auguste & Louis Lumière) ส่วนฟุตเทจที่ใช้ในหนังผมจนปัญญาหา เพราะมันมีใน Chronophotographic Films (1890-1904) มากกว่า 400 เรื่อง! ใครสนใจลองค้นชื่อ Films Chronophotographiques ใน Youtube ดูกันตาเปียกตาแฉะ

I first had this image of a large, full cinema that is darkened for the film screening. But the members of the audience are completely frozen and their eyes seem to be shut. Are they asleep? Dead? The cinema audience seen from front on – something no one ever sees (apart from in the extraordinary final shot of The Crowd by King Vidor).
Leos Carax
ผมมองภาพแรกของหนังนี้คือมนุษย์ไร้หน้า (Faceless) แต่นั่นไม่ได้แปลว่าไม่มีใบหน้า ตรงกันข้ามพวกเขาสามารถเป็นใครก็ได้ (Thousand Faces) ก็เหมือนตัวละคร Monsieur Oscar อาจเป็นหนึ่งในผู้ชม หรือทุกผู้คน ต่างว่ายเวียน สวมบทบาทมากมายในชีวิต

Then my friend Katia told me about one of Hoffman’s tales. The hero discovers that his bedroom opens via a hidden door into an opera house. Just as in this sentence by Kafka, which could serve as a preamble to any creative act:
“There is in my apartment a door that I had never noticed until now.”
So I decided to begin the film with this sleeper who wakes up in the middle of the night and finds himself in his pajamas in a large cinema filled with ghosts. I instinctively called the man – the dreamer in the film – Leos Carax. And so I played him.
Leos Carax
เกร็ด: Don Juan (1812) คือเรื่องสั้นแต่งโดย E. T. A. Hoffman เกี่ยวกับห้องพักในโรงแรมแห่งหนึ่ง มีประตูลับเชื่อมต่อกับโรงละคอนเวที (ตั้งอยู่ติดกับโรงแรม) ทำให้สามารถเข้าชมการแสดงอุปรากร Mozart: Don Giovanni
อารัมบทเริ่มต้นโดยผู้กำกับ Carax ตื่นขึ้นกลางดึก พบเห็นผนัง ประตูลึกลับ ใช้นิ้วกลางไขกุญแจ เปิดเข้าไปเป็นโรงภาพยนตร์กำลังฉายหนัง … เอาจริงๆไม่ต้องวิเคราะห์อะไรเลยก็ได้นะ เพราะมันสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา สิ่งกำลังฉายก็เปรียบดั่งความเพ้อฝัน จิตใต้สำนึก ผืนป่าในจินตนาการของผู้สร้าง ภาพยนตร์ทำให้เขาเหมือนเป็นเด็กน้อย ได้รับการปกปักษ์รักษาโดยเจ้าสุนัข (คล้ายๆ Cerberus สุนัขสามหัวเฝ้าประตูนรก)

สถานที่แห่งนี้มันช่างดูโมเดิร์น ทันสมัยใหม่ ทีแรกผมนึกว่าใช้ CGI แต่มันคือวิลล่า Villa Paul-Poiret ตั้งอยู่ยัง Mézy-sur-Seine, Yvelines สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924-25 ออกแบบโดยสถาปนิก Robert Mallet-Stevens ด้วยสถาปัตยกรรม Art Deco ได้แรงบันดาลใจจาก Cubism … ปัจจุบันได้กลายเป็น French National Historic Landmark Commission ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999
ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลที่เลือกใช้วิลล่าแห่งนี้ เพราะรูปลักษณะยาวใหญ่ มันช่างละม้ายคล้ายรถลีมูซีนสีขาว มีความเก่าแก่แต่ยังดูล้ำอนาคต สถานที่อยู่เหนือกาลเวลา และยังถือเป็นสัญลักษณ์ชนชั้นกลาง (Middle Class) ตรงกันข้ามกับตอนจบที่ Monsieur Oscar หวนกลับบ้านจัดสรรของชนชั้นแรงงาน (Working Class)


ตอนจบของหนังจะมีขึ้นภาพถ่ายพร้อมข้อความอุทิศเป็นภาษารัสเซีย Катя тебя (แปลว่า For Katya) เธอคือนักแสดง Yekaterina Golubeva (ร่วมงานภาพยนตร์ Pola X (1999)) แฟนสาวของผกก. Carax (ไม่ได้แต่งงาน) เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 2011 ทอดทิ้งบุตรสาว Nastya Golubeva Carax เกิดปี ค.ศ. 2005 โตพอมารับเชิญในภาพยนตร์ของบิดา

แต่ละเรื่องราว แต่ละบทบาทการแสดง มันจะมีความเปลี่ยนแปลง สองสิ่งขั้วตรงข้ามเกิดขึ้นเสมอๆ เริ่มต้นการเดินทาง Monsieur Oscar เป็นนักธุรกิจ สวมสูทผูกไทด์ คุยโทรศัพท์กับเพื่อนร่วมงาน จากนั้นแต่งตัวเป็นหญิงหลังค่อม ขอทานอยู่บริเวณสะพาน Pont Alexandre III … นักธุรกิจ-ขอทาน อาชีพที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม!
แซว: ถ้าคุณเคยรับชม Les Amants du Pont-Neuf (1991) ผลงานก่อนหน้าของผกก. Carax เมื่อพบเห็นฉากเกี่ยวกับสะพาน (ไม่จำเป็นต้อง Pont-Neuf) แถมด้วยขอทาน/คนเร่ร่อน มันจักต้องบังเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นภายใน


In the sequence where Denis Lavant’s body is covered in white sensors, he’s like a worker specialized in motion capture. Not so unlike Chaplin in Modern Times – except that the man is no longer caught up in the cogs of a machine but in the threads of an invisible web.
Leos Carax
เมื่อตอน Modern Times (1936) จะมีฉากที่ Chalie Chaplin ติดอยู่ภายในเครื่องจักรกล! แต่เมื่อโลกพานผ่านมาเกือบศตวรรษ 100 ปี! จากกลไกเหล่านั้น ผันแปรเปลี่ยนมาเป็น VFX ภาพอนิเมชั่น Visual Effect ที่มีความซับซ้อน จับต้องไม่ได้ มองเห็นแต่ไร้ตัวตน โดยเฉพาะภาพช็อตนี้ให้ความรู้สึกเหมือน Danis Lavant กำลังติดอยู่ในหยากไย้ ใยแมงมุม ไม่มีทางที่มนุษย์สมัยใหม่จะดิ้นหลบหนีพ้น!

ซีนที่ผมมองว่าน่าสนใจมากสุดของหนัง คือสองนักแสดงชาย-หญิง Motion Capture กำลังเริงระบำแล้วพบเห็นภาพ VFX สัตว์ประหลาด (Cybermonster) กำลังร่วมเพศสัมพันธ์! นี่ไม่ใช่การนำเสนอความก้าวล้ำของเทคโนโลยี แต่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบของสื่อสมัยใหม่ (Motion Capture ไม่จำกัดแค่ภาพยนตร์) นักแสดงสามารถแปลงกาย กลายเป็นอะไร-ใครก็ได้ คน-สัตว์-สิ่งของ เติมเต็มความเพ้อฝันจินตนาการ
แซว: จากฟุตเทจ Chronophotographic Films (1890-1904) ของ Étienne-Jules Marey มาจนถึงเทคโนโลยี Motion Capture ในรอบกว่าร้อยปีวิวัฒนาการภาพยนตร์มันช่างน่าอึ่งทึ่งยิ่งนัก!


I dreamed up the part of the model Kay M. for Kate Moss. We wanted to shoot a feature film in New York about the further adventures of Monsieur Merde, “Merde in USA”. A kind of “Beauty and the Beast”. And then I met Eva Mendes at a festival and we felt like shooting a film together. She is erotic and robotic at the same time.
Leos Carax
ในตอนแรกผกก. Carax มีภาพนักแสดง Kate Moss (ตั้งชื่อตัวละคร Kay M.) ครุ่นคิดอยากทำภาคต่อ Marde in USA (ล้อกับ Made in U.S.A (1966) ของผกก. Jean-Luc Godard) แต่ได้รับการบอกปัดเพราะเธอกำลังจะแต่งงาน ก่อนมีโอกาสพบเจอ Eva Mendes ที่เทศกาลหนังแห่งหนึ่ง ภาพลักษณ์ของเธอดูราวกับนางฟ้าเย็นชา สวยเซ็กซี่ แต่ไม่ยี่หร่าอะไรใครทั้งนั้น

Marde ดูราวกับปีศาจ/สัตว์ร้ายผุดขึ้นจากท่อระบายน้ำ (เลยมีการใช้เพลงประกอบ Godzilla) ลักพาตัวหญิงสาว Kay M. งดงามราวกับนางฟ้า … นี่คือ Beauty and the Beast สองบุคคลที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม โดยปกติไม่มีทางจะพบเจอ ครองคู่รัก แต่เรื่องของความรักมันมีสิ่งใดๆสามารถกีดกั้นขวาง
น่าเสียดายผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าผกก. Carax ต้องการอ้างอิงภาพวาด/งานศิลปะใด? แต่การจัดวางองค์ประกอบของภาพนี้ ก็มีความแตกต่าง ตั้งฉาก! Marde เปลือยกายล่อนจ้อน กำลังนอนพิงตักหญิงสาว ตรงกันข้ามกับ Kay M. นั่งบนเก้าอี้ สวมใส่ผ้าคลุมมิดชิด (เว้นไว้เพียงดวงตา)
เกร็ด: Monsieur Merde ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจาก Opale ในภาพยนตร์โทรทัศน์ Experiment in Evil (1959) ของ Jean Renoir ซึ่งก็นำแรงบันดาลใจจากนวนิยาย Strange Case of Dr Jekyll and Mr Hyde (1886) แต่งโดย Robert Louis Stevenson

It was extremely hard to find a girl to play Angèle. I was initially thinking of a 13 or 14-year-old child, but Jeanne, who was only 10, was the only one who could accommodate all the changes the character goes through in the ten-minute scene. And in real life she’s funny.
ผู้กำกับ Leos Carax กล่าวถึง Jeanne Disson รับบทเด็กหญิง Angèle
ไม่รู้ทำไมรับชมซีเควนซ์นี้ชวนนึกถึง La Boum (1980) เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คุณปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับงานปาร์ตี้ของวัยรุ่นไปโดยสิ้นเชิง! ซึ่งจุดหมุนของฉากนี้เกิดขึ้นหลังจากรับโทรศัพท์มารดา ทำให้รับรู้ว่าเรื่องเล่าครึ่งแรกของ Angèle ล้วนเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง ความจริงมันช่างกลับตารปัตรตรงกันข้าม

กึ่งกลางของหนังก่อนเข้าสู่บทบาทนักดนตรีแอคคอร์เดียน กล้องค่อยๆซูมเข้าหาข้อความบนโน๊ตเพลง Entr’acte หมายความว่า Between the Acts หรือจะเรียก Interval/Intermission จากนั้นแทรกภาพมือกำ-แบ นี่ก็น่าจะจากฟุตเทจของ Étienne-Jules Marey ดูราวกับเป็นการวอร์มอัพก่อนเริ่มเล่นดนตรี

โบสถ์คริสต์ มันควรเป็นสถานที่แห่งความสงบไม่ใช่หรือ? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Église Saint-Merry (แปลว่า Church of Saint-Merri) สร้างอุทิศนักบุญองค์อุปถัมภ์ Saint Mederic ผู้เลื่องชื่อในฐานะ Hermit (รักความสงบ) แต่ยามค่ำคืนกลับบรรเลงเพลง Let My Baby Ride (1998) ท่วงทำนองสนุกสนานครื้นเครง ผีในหลุมคงลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น

อาจจะเรียกว่า Doppelgänger เมื่อตอน Mauvais Sang (1986) ก็เคยมีการอ้างอิงถึง ตามความเชื่อปรับปราพื้นบ้านเยอรมัน “มนุษย์ทุกคนบนโลกจะมีฝาแฝดของตนอยู่” หากแต่บุคคลนั้นเป็นคนดี ฝาแฝดก็จะชั่วร้าย หากบุคคลนั้นเป็นคนชั่วร้าย ฝาแฝดก็จะเป็นไปในทางกลับกัน และการที่ฝาแฝดทั้งสองมาพบเจอกัน จักทำให้ทั้งคู่ต้องพบกับจุดจบของชีวิต!



I was supposed to play this character. But that would have confused matters; he is not the filmmaker but the “boss of the invisible cameras”. He’s a shadowy figure. We don’t know whether he is a producer, a sinister Secretary of the Interior or a big-time mafia boss. So I offered the role to Piccoli. The idea was that he would be unrecognizable and appear in the titles under a pseudonym, Marcel Tendrolo. He found that very amusing, but unfortunately word got out.
Leos Carax
Michel Piccoli เคยร่วมงานผกก. Carax ภาพยนตร์ Mauvais Sang (1986) รับบทเป็นอดีตสมาชิกแก๊งค์มาเฟีย มาเรื่องนี้ก็ดูละม้ายคล้ายเดิม เพิ่มเติมคือปานแดงบนใบหน้า (ในเครดิตขึ้นว่า The Man with a Birthmark) อาจมองสัญญะตราบาป สิ่งชั่วร้ายติดตัว เคยพานผ่านอะไรบางอย่าง และจากบทสนทนาเหมือนว่าเคยประกอบอาชีพเดียวกันนี้แล้วเกษียณตัวเอง พูดสอบถาม Monsieur Oscar จะทำต่อไปอีกนานเท่าไหร่?

ระหว่างอยู่บนรถ Monsieur Oscar เหลียวไปเห็นชายคนหนึ่งกำลังนั่งดื่มอยู่ร้านริมทาง เขาคนนั้นคือนายธนาคาร/บุคคลแรกที่สวมบทบาท เรียกร้องขอให้หยุดรถ สวมใส่ผ้าคลุมหน้าสีแดง แล้วลงไปจ่อยิง! นี่เป็นซีเควนซ์ที่ดูงงๆ Céline บอกไม่ใช่กำหนดการนัดหมาย แต่มันล้อกับฉากก่อนหน้าที่รับบทฆาตกร (Le Tueur, The Killer) คราวนี้สวมบทบาทเป็นเหยื่อ (Le Tuè = The Killed)
และหลังลงมือฆาตกรรมสำเร็จ ก็ถูกเก็บโดยลูกน้องนายธนาคาร ทำให้ Céline ต้องลงมาลากกลับขึ้นรถ ย้อนรอยกำหนดการก่อนหน้าเช่นกัน!


รถแล่นผ่านประตูชัย (Arc de Triomphe) ชวนให้ครุ่นคิดว่ากำหนดการถัดไปควรจะเป็นสถานที่สุดท้าย (ถึงเป้าหมายเส้นชัย) แต่ทว่าบทบาทที่ได้รับคือ Monsieur Vogan ชายสูงวัยที่กำลังจะสิ้นใจตายเท่านั้น! … อาจจะคือบทบาทกำลังจะถึงปลายทางชีวิตกระมัง?
Élise is a modern young woman, but if you slow her down, she seems as if she’s from a different era – the very origins of cinema. She is neither fresh flesh nor cannon fodder like too many “young actresses”. Her body and her eyes stand up to the camera.
Leos Carax
มันมีความสับสนเล็กน้อยกับบทบาทหลานสาว มันเหมือนว่า Élise L’Homeau เล่นเป็นสองตัวละคร Élise และ Léa พอเปลี่ยนเสื้อผ้า คำเรียกของ Monsieur Vogan ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน! แต่นี่คงไม่ใช่ Doppelgänger มันคือบุคคลเดียวสลับเป็นพี่น้อง/ฝาแฝดเสียมากกว่า อาจเพราะใครคนหนึ่งไม่ว่างมาเยี่ยมเยียน ล้มหายตายจาก อาจมีหรือไม่มีตัวตน หรือคือความเข้าใจผิดของผู้ชม???
Élise/Léa สนทนาเรื่องชีวิตและความรักกับ Monsieur Vogan ก่อนที่อีกฝ่าย(น่าจะ)สิ้นใจตาย (Death) จากนั้นฟื้นคืนชีพ (Rebirth) พูดกล่าวขอบคุณ แล้วออกจากโรงแรม ขึ้นรถลีมูซีน เดินทางไปยังสถานที่นัดหมายถัดไป


ระหว่างกำลังถอดหน้ากาก มันจะมีชั่วแวบหนึ่งที่ภาพกระตุก นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดอย่างแน่นอน เป็นการจงใจใช้ ‘Jump Cut’ เคยพบเห็นอยู่หลายครั้งในผลงานเก่าๆของผกก. Carax แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจนัยยะขณะนี้สักเท่าไหร่ ต้องการสื่อถึงการเปิดเผยอีกตัวตน/สิ่งอยู่ภายใต้หน้ากาก?
ระหว่างรถขับผ่านบริเวณสุสาน ทีแรกผมนึกว่าเกิดความผิดพลาดของไฟล์หนัง ก่อนค้นพบว่ามันคือความจงใจ เทคนิคใหม่ชื่อว่า Datamoshing เป็นการทำให้ภาพเหมือนถูกแทรกแซง (โดยดิจิตอล) พิกเซลถูกบดขยี้เข้าด้วยกัน รังสรรค์โดย Jacques Perconte นักออกแบบ Visual Artist ชาวฝรั่งเศส … จุดประสงค์น่าจะทำเหมือนกำลังเดินทางสู่โลกหลังความตาย


Until recently, all I knew about Kylie were her name and her 1990s’ duet with Nick Cave. And then Claire Denis mentioned her to me for a different project I was supposed to shoot in London. Kylie is purity itself. Shooting with her was the gentlest experience I’ve ever had on a set.
Leos Carax กล่าวถึง Kylie Minogue
ในตอนแรกผกก. Carax ตั้งใจจะมอบบทบาทนี้ให้กับแฟนเก่า Juliette Binoche แต่ไม่สามารถพูดคุยโน้มน้าว “did not get along” จนกระทั่งเพื่อนผู้กำกับ Claire Denis แนะนำนักร้อง/นักแสดง Kylie Minogue (เกิดปี ค.ศ. 1968) สัญชาติ Australian ได้ทั้งขับร้องบทเพลง Who were we? และแสดงเป็นอดีตคนรัก Jean ที่กำลังจะสวมบทบาทเป็น Eva Grace เข้าฉากกระโดดตึกฆ่าตัวตายกับชายคนรัก
สถานที่แห่งนี้คือห้างสรรพสินค้า La Samaritaine ตั้งอยู่เขตหนึ่ง 1st arrondissement of Paris ติดกับสถานีรถไฟ Pont-Neuf เจ้าของคนแรก Ernest Cognacq ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1870 ด้วยสถาปัตยกรรม Art Nouveau ถือเป็นสถานที่ที่มีความเก่าแก่ หรูหรา แต่ตั้งแต่ 1970s ความนิยมก็ลดลงอย่างมาก แม้กระทรวงวัฒนธรรมยกย่องให้เป็น Monument Historique ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้บริการมากขึ้นสักเท่าไหร่ ถูกสั่งปิดตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2005 ปัจจุบันยังมีความพยายามซ่อมแซม ปรับปรุงใหม่ เปิดให้บริการอีกรอบมิถุนายน ค.ศ. 2021 ไม่รู้จะยังอยู่รอดอีกนานแค่ไหน
สถานที่แห่งนี้เคยมีอดีตรุ่งเรือง (เคยคลั่งรักแฟนสาว) ปัจจุบันขณะถ่ายทำเหลือสภาพร่องแร่ง (กลายเป็นคนรักเก่า) เพียงตึกร้างว่างเปล่า ตัวละครเดินจากชั้นล่างขึ้นบนดาดฟ้า (เค้าบอกว่าถ่ายติดสะพาน Pont-Neuf แต่ผมดูไม่ออกว่าสะพานไหน) ขณะที่เขาเดินลงมา หลบซ่อนตัวจากคนรักของเธอ แต่พอกำลังจะขึ้นรถ พบเห็นร่างทั้งสองกระโดดลงมาฆ่าตัวตาย ตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว เกรี้ยวกราด แทบมิอาจควบคุมอารมณ์ตนเอง … จากสูงสุดกลับสู่สามัญ


ก่อนหน้านี้มันเคยมีฉายภาพอินฟราเรดฉายบนจอมอนิเตอร์ แต่หลังเผชิญหน้าโศกนาฎกรรมของอดีตคนรัก ภาพอินฟราเรดสะท้อนมุมมองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของ Monsieur Oscar และพอตัดกลับมาบนรถ พูดบอกว่ารู้สึกหนาวเหน็บ เอามืออังไฟปลอม แต่กลับสวมใส่เพียงชุดอาบน้ำ (มันน่าจะเป็นอาการหนาวเหน็บทรวงใจเสียมากกว่า) และหลอดไฟระยิบระยับ (ย้อนรอยตอนเป็นนักแสดง Motion Capture) เป็นการสื่อว่าทุกสิ่งอย่างกลายเป็นความเหนือจริง สูญสิ้นตัวตน จับต้องไม่ได้อีกต่อไป

พอรถมาจอดยังสถานที่สุดท้าย หมู่บ้านจัดสรรเรียงราย จะมีแทรกฟุตเทจของ Étienne-Jules Marey ชายคนหนึ่งกำลังดึงเชือก ชักกะเย่อ สำแดงถึงความยื้อยัก โล้เล้ลังเลใจ ไม่อยากสิ้นสุดความฝัน/การทำงาน พอลงจากรถเขาก็หยุดยืนด้วยสีหน้าเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ไม่อยากสวมบทบาทสุดท้าย … ไม่ต้องการหวนกลับหาภรรยาและบุตร??

หมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้คือ Les Dents de Scie (แปลว่า The Sawtooth) ในอดีตคือชุมชนคนงานตั้งอยู่ Trappes, Yvelines สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1931 จุดประสงค์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของพนักงานสร้างทางรถไฟ ออกแบบโดยพ่อ-ลูก Henry & André Gutton เน้นความเรียบง่าย (Minimalism) ราคาถูก สุขอนามัย ปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรมจัดเป็น Heritage Of The 20th Century
ตรงกันข้ามกับตอนต้นเรื่องที่บ้านหรูของนายธนาคารคือตัวแทนของชนชั้นกลาง (Middle Class) สถานที่แห่งนี้ถือเป็นบ้านจัดสรรของชนชั้นแรงงาน (Working Class) มีความเรียบง่าย ราคาถูก ผลิตซ้ำสุดลูกหูลูกตา และสิ่งที่สร้างความตกอกตกใจ ภรรยาและบุตรไม่ใช่มนุษย์ กลับเป็นลิงชิมแปนซี มันช่างดูเหมือนการเสียดสีล้อเลียน มนุษย์ชนชั้นทำงานมีสภาพไม่แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน อาศัยอยู่ในกรงขัง (กล้องถ่ายจากภายนอก มองลอดหน้าต่างที่มีลักษณะเหมือนซี่กรงขัง) … วิถีของชนชั้นแรงงาน ก้มหน้าก้มตาทำงาน เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด ได้ค่าแรงน้อยนิดมาจุนเจือครอบครัว ชีวิตไร้ซึ่งอิสรภาพ มันเลยไม่น่าแปลกใจที่การแสดงจะดูไร้ชีวิตชีวา ต้องหายใจเข้าลึกๆก่อนเดินเข้าบ้าน


ที่แท้ชื่อหนัง Holy Motors คือโรงจอดรถลีมูซีน ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการว่าคือสรวงสวรรค์? ขุมนรก? สถานที่สำหรับรับ-ส่ง ขับเคลื่อนการเดินทางชีวิต?
ขณะที่ Céline สวมใส่หน้ากากจากภาพยนตร์ Les Yeux sans visage (1960) แปลว่า Eyes Without a Face ผลงานเรื่องแรกของนักแสดง Édith Scob (เล่นเป็นบุคคลที่สวมหน้ากากด้วยนะ!) นี่ย่อมสื่อถึงเธอคือบุคคลไร้หน้า (Faceless) ตีความแบบเดียวกับภาพแรกของหนัง ไม่ใช่ไม่มีใบหน้า แต่สามารถเป็นใครก็ได้ (Thousand Faces) มีตัวตน-ไม่มีตัวตน คน-สัตว์-สิ่งของ เทวดา นางฟ้าประจำตัว หรือแล้วแต่จะครุ่นคิดจินตนาการ
I had already filmed Édith in Lovers on the Bridge (1991), but all that was left after editing were her hair and hands. So I owed her a real part. Édith is a woman-cinema, marvelous in the true sense of the word. Also, the shadow of Georges Franju was already hanging over the project, so her figure, her face and her voice became essential. She became the film’s fairy godmother.
Leos Carax กล่าวถึง Édith Scob


ซีนสุดท้ายของหนังนึกว่าอนิเมชั่น Cars! บรรดารถลีมูซีนในโรงงาน Citroën ณ Asnières-sur-Seine ต่างกระพริบไฟท้าย สื่อสารด้วยภาษาอะไรก็ไม่รู้แต่มีคำแปลขึ้นให้ ตั้งคำถามการมีตัวตน อัตถิภาวนิยม (Existentialism) ฉันจะทำงานได้อีกนานเท่าไหร่? การมาถึงของรถรุ่นใหม่ๆ รถรุ่นเก่าก็ต้องปลดระวาง ถูกทอดทิ้งขว้าง วันนี้ยังสามารถขับเคลื่อนรับ-ส่งผู้โดยสาร ก็ควรใช้เวลาดังกล่าวทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด!
หลายคนอาจมองซีเควนซ์นี้ในเชิงไซไฟ (Sci-Fi) แฟนตาซี (Fantasy) เหนือจริง (Surreal) แต่ผมมองถึงการเปลี่ยนแปรสภาพ (Transcendent) จากรูปธรรมสู่นามธรรม คน-สัตว์-สิ่งของ ต่างมีวัฏจักร/อายุไข (Circle of Life) เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย สวมบทบาทชีวิตไม่แตกต่างกัน!

หนังจบแล้วแต่ระหว่าง Closing Credit ก่อนปรากฎชื่อ “Un film de LEOS CARAX” ยังแอบแทรกใส่ฟุตเทจสุดท้ายของ Étienne-Jules Marey เด็กชายทำเหมือนชกลูกบอล? มันคงคืออารมณ์หลังสร้างหนังเสร็จ ได้ปลดปล่อยตนเองเสียที กระมังนะ!

ตัดต่อโดย Nelly Quettier (เกิดปี ค.ศ. 1957) นักตัดต่อหญิง สัญชาติฝรั่งเศส ร่วมงานขาประจำผกก. Claire Denis, Leos Carax ผลงานเด่นๆ อาทิ Bad Blood (1986), The Lovers on the Bridge (1991), Beau Travail (1999), The Intruder (2004), Holy Motors (2012), Happy as Lazzaro (2018), Annette (2021), La Chimera (2023) ฯ
นอกจากอารัมบทตื่นนอนเข้าสู่โรงภาพยนตร์ เรื่องราวต่อจากนั้นนำเสนอการเดินทางของ Monsieur Oscar ขึ้นรถลีมูนซีน เดินทางไปยังทำการแสดงยังสถานที่นัดหมายต่างๆ โดยแต่ละเรื่องราวล้วนประกอบด้วยสองสิ่งตรงกันข้าม ที่สามารถเติมเต็มกันและกัน
- อารัมบท, ผกก. Carax ตื่นนอน ไขประตูลึกลับ โผล่ออกมายังโรงภาพยนตร์
- Monsieur Oscar ก้าวออกจากบ้าน ขึ้นรถลีมูซีน ได้รับแจ้งเก้ากำหนดการนัดหมาย
- เริ่มต้นจากเป็นนักธุรกิจ แต่งตัวโก้หรู พูดคุยโทรศัพท์ขณะอยู่บนรถ จากนั้นสวมบทบาทเป็นหญิงสูงวัยหลังค่อม เดินขอทานอยู่บริเวณสะพาน Pont Alexandre III เริ่มต้นจากใต้สะพาน ก่อนเปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นบนสะพาน
- นักแสดง Motion Capture เริ่มจากกระโดดโลดเต้นตัวคนเดียว จากนั้นมีนักแสดงหญิงร่วมกันอีกคน แล้วพบเห็นภาพ VFX สัตว์ประหลาดร่วมรักกันบนจอมอนิเตอร์
- Monsieur Merde ชายผมแดงราวกับปีศาจร้าย ผุดขึ้นจากท่อระบายน้ำ ลักพาตัวโมเดลสาวสวย Kay M. กำลังถ่ายแบบอยู่เบื้องบนสุสาน กลับลงไปปู้ยี้ปู้ยำในท่อระบายน้ำ
- บิดาขับรถมารับบุตรสาว Angèle หลังงานเลี้ยงปาร์ตี้ ช่วงแรกๆก็พูดคุยกันดี ก่อนมีเรื่องทะเลาะวิวาทหลังรับรู้ว่าเธอเอาแต่หลบซ่อนตัวอยู่ในห้องน้ำ
- นักดนตรีแอคคอร์เดียน เดินวนไปวนมารอบโบสถ์แห่งหนึ่ง
- ฆาตกรลงมือฆาตกรรมชายคนหนึ่ง จากนั้นปลอมแปลงตนเองให้กลายเป็นบุคคลนั้น แล้วคืบคลานกลับขึ้นรถลีมูซีน
- นายธนาคารระหว่างนั่งดื่ม ถูกฆาตกรรมโดยชายสวมใส่ผ้าโพกศีรษะสีแดง … ย้อนรอยบทบาทฆาตกรตอนฉากก่อนหน้า คราวนี้ถือว่าเล่นเป็นนายธนาคารผู้ถูกฆาตกรรม
- Monsieur Vogan ชายสูงวัย ติดเตียง พูดคุยสั่งลาหลานสาว Élise ก่อนสิ้นใจตาย … แล้วลุกขึ้น/ฟื้นคืนชีพ
- พบเจออดีตคนรักเก่า Jean มีเวลา 20 นาทีสำหรับหวนระลึกความหลัง ก่อนที่เธอจะกระโดดตึกฆ่าตัวตายกับชายคนรัก(ใหม่)
- สถานที่สุดท้ายขับรถกลับมาบ้าน … ย้อนรอยกับตอนเริ่มต้นที่ออกเดินทางไปทำงาน
- ปัจฉิมบท, Céline ขับรถกลับมายัง Holy Motors แล้วบรรดารถลีมูซีนพูดคุยสนทนากัน
เหตุผลที่แต่ละบทบาท/กำหนดการนัดหมาย ประกอบด้วยสองสิ่งตรงกันข้ามที่สามารถเติมเต็มกันและกัน ก็เพื่อให้สอดคล้องแนวคิดเริ่มต้น-สิ้นสุด (Begin-End), เกิด-ตาย (Birth-Death) ทุกสิ่งอย่างว่ายเวียนวน ถือกำเนิดใหม่ (Rebirth) ไม่รู้จักจบจักสิ้น
ในส่วนของเพลงประกอบ ตามสไตล์ผกก. Carax ไม่ได้ว่าจ้างนักแต่งเพลงคนไหน แต่เลือกเอาท่วงทำนองหรือท่อนคำร้องจากศิลปินมีชื่อที่สอดคล้องเข้ากับเรื่องราว-อารมณ์ขณะนั้นๆ เพลงคลาสสิก (Dmitri Shostakovich) เพลงประกอบภาพยนตร์ (Godzilla) เพลงร่วมสมัย (Kylie Minogue, Gérard Manset, R.L. Burnside, Sparks) นำมาผสมผสานคลุกเคล้า
- เรื่องราวของ Monsieur Merde มาพร้อมกับบทเพลง Main Theme และ Sinking of Bingou-Maru จากภาพยนตร์ Gojira (1954) ประพันธ์โดย Akira Ifukube
- บิดาเดินทางไปรับบุตรสาวจากงานเลี้ยงปาร์ตี้
- บทเพลงดังจากวิทยุระหว่างขับรถมารับบุตรสาว How Are You Getting Home? (1975) แต่งโดย Ron Mael, ขับร้องโดยศิลปินดูโอ้ Sparks (Ron & Russell Mael)
- บทเพลงดังจากงานเลี้ยงปาร์ตี้ แต่งโดย Cathy Dennis & Rob Davis, ขับร้องโดย Kylie Minogue รวมอยู่ในอัลบัม Fever (2001) เคยไต่อันดับสูงสุด #7 ชาร์ท Billboard Hot 100
- บทเพลงดังจากวิทยุหลังส่งบุตรสาวกลับบ้าน Let My Baby Ride (1998) แต่งโดย R.L. Burnside & Tom Rothrock ขับร้องโดย R.L. Burnside
- บทเพลงที่ Denis Lavant นำบรรเลงแอคคอร์เดี้ยนคือ Let My Baby Ride (1998)
- หลานสาวกับบิดาล้มป่วยติดเตียง ได้ยินบทเพลง Dmitri Shostakovich: String Quartet No. 15 in E-Flat Minor, Op. 144 (1975) ท่อนที่ V. Funeral March: Adagio molto
- Monsieur Oscar กับคนรักเก่า Jean รับบทโดย Kylie Minogue ขับร้องบทเพลง (Original Song) ชื่อว่า Who were we? คำร้องโดย Leos Carax & Neil Hannon, ทำนองโดย Neil Hannon, บรรเลงออร์เคสตราโดย Andrew Skeet ร่วมกับ Berlin Music Ensemble
- หลังพบเห็นความตายของ Jean ระหว่างนั่งรถไปยังสถานที่สุดท้าย ได้ยินบทเพลงของ Shostakovich: String Quartet No. 15, Op. 144 (1975) ท่อนเดิม V. Funeral March: Adagio molto
- ระหว่างรถกำลังแล่นไป Monsieur Oscar เหมือนจะฮัมเพลง My Way (1969) ของ Frank Sinatra
- พอมาถึงบ้านหลังสุดท้าย ได้ยินบทเพลงภาษาฝรั่งเศส Revivre (1991) แต่ง/ขับร้องโดย Gérard Manset
I call experience a journey
Georges Bataille (1897-1962) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส
to the limits of man’s potential.
ในมุมมองของผกก. Carax สรรค์สร้าง Holy Motors (2012) สำหรับเป็นพลังขับเคลื่อนตนเองและนักแสดงนำ Denis Lavant ทั้งแวดวงการแสดงและภาพยนตร์ สะท้อนวิถีชีวิต กิจวัตรของงานที่ทำ จากบทบาทหนึ่ง หนังเรื่องหนึ่ง → สู่อีกบทบาทหนึ่ง หนังอีกเรื่องหนึ่ง → สู่อีกบทบาทหนึ่ง อีกหนังอีกเรื่องหนึ่ง → เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จักจบจักสิ้น
บางคนอาจมองการแสดงของ Lavant คือ Performance Art (ศิลปะการแสดงสด) แต่งหน้าทำผม สวมใส่หน้ากาก ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้รับมอบหมายให้ทำ โดยไม่สนว่าใครคือผู้ชม หรือจะมีผู้พบเห็นหรือไม่ เพื่อสำแดงความเป็นศิลปิน นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘การแสดงชีวิต’ ยังไงเสียก็ถูกบันทึกไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้
การทำความเข้าใจหนังโดยง่ายที่สุดคือเปรียบเทียบกับตัวเราเอง! ทุกวี่วันเราต้องสวมบทบาทมากมาย อยู่บ้านในฐานะบุตร บิดา-มารดา สามี-ภรรยา → เดินทางไปโรงเรียน ลูกศิษย์ รุ่นพี่-รุ่นน้อง ครูอาจารย์ → โตขึ้นทำงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า เจ้าของบริษัท ฯ ทุกสิ่งอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่และวันเวลา (Space & Time)
ใครเคยรับชมผลงานของผกก. Carax มาตั้งแต่เรื่องแรกๆ Boy Meets Girl (1984) จะพบว่าเป็นบุคคลที่หลงใหลคลั่งไคล้ภาพยนตร์ยุคก่อน หนังเงียบ, German Expressionism, Hollywood Classical & Musical, French New Wave, New German Cinema ฯ พยายามนำหลายๆสิ่งอย่างมาคลุกเคล้า แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำออกมาให้เข้ากันอย่างกลมกล่อม, Holy Motors (2012) เป็นอีกความพยายามผสมผสานหลากหลายแนวหนัง (Genre) อาทิ Drama, Fantasy, Horror, Musical, Crime, Family, Tragedy ฯ รวมถึงฟีล์มฟุตเทจของ Étienne-Jules Marey, หน้ากากหนัง Eyes Without a Face (1960) ฯ … อาจจะมองว่าผกก. Carax ได้ทำการ Tribute to Cinema
Holy Motors (2012) ยังเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนวิถีชีวิตมนุษย์โลกแห่งศตวรรษที่ 21st พวกสังคมสื่อสารออนไลน์ Facebook, Twitter/X, IG, Youtube, TikTok ฯ ข่าวสารทั้งหลายมีการผันแปรเปลี่ยน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวโศก เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ อ่าน-รับชมอย่างหนึ่ง รู้สึกอย่างหนึ่ง → อ่าน-รับชมอย่างสอง รู้สึกอย่างสอง → บริโภคไปเรื่อยๆจักค่อยๆสูญเสียตัวตนเอง เอื่อยเฉื่อยชา ไม่รับรู้สึกอะไรอีกต่อไป
การตีความที่ผมชื่นชอบมากสุดก็คือเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เกิดเป็นบุคคลหนึ่งในชาติภพหนึ่งแล้วตกตายไป → เกิดใหม่เป็นบุคคลสองในชาติภพสองแล้วตกตายไป → เกิดใหม่เป็นบุคคลที่ ∞ ในชาติภพกัปกัลป์ ∞ แล้วตกตายไป → จนกว่าเราจะรู้แจ้งเห็นจริง เข้าใจสัจธรรมแห่งชีวิต ถึงสามารถดิ้นหลุดพ้นออกจากวังวนดังกล่าว
ภาพยนตร์ลักษณะนี้ (Intelligent Film) มันอาจดูไม่สนุก ไม่เห็นมีเนื้อหาสาระจับต้องได้ ลูกเล่น(ภาพยนตร์)ตื่นตาตื่นใจ หรือกระแทกกระทั้นความรู้สึกทรวงใน แต่การให้อิสระผู้ชมขบครุ่นคิด ตีความได้ครอบจักรวาล ไม่รู้จักจบจักสิ้น นั่นคือผลงานมาสเตอร์พีซอย่างไร้ข้อกังขา!
ผมเพิ่งมาเอะใจหลังเห็นข้อความอุทิศ Катя тебя (แปลว่า For Katya) ให้แฟนสาวผู้ล่วงลับ Yekaterina Golubeva บังเกิดความตระหนักว่า Holy Motors (2012) อาจเป็นภาพยนตร์กึ่งๆอัตชีวประวัติของผกก. Carax สังเกตว่าตัวละคร Monsieur Oscar ตลอดทั้งเรื่องดูเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ทำการแสดงตามกำหนดการนัดหมายอย่างไร้ชีวิต ราวกับซอมบี้ไร้จิตวิญญาณ
- หญิงขอทาน หรือก็คือผกก. Carax ต้องบากหน้าขอเงินนายทุนสำหรับสรรค์สร้างภาพยนตร์
- ผกก. Carax เคยกล่าวว่าไม่ชื่นชอบดิจิตอล แต่จำยินยอมทำตามคำร้องขอนายทุน = นักแสดง Motion Capture พยายามวิ่งหนี VFX แต่ก็ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น
- เพศสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ & สัตว์ประหลาดดิจิตอล
- Monsieur Merde ลักพาตัว Kay M. หรือก็คือผกก. Carax ตกหลุมรัก Yekaterina Golubeva
- Yekaterina มีบุตรสองกับสามีคนก่อน (และอีกคนหนึ่งกับผกก. Carax เกิดปี ค.ศ. 2005) คาดว่าเรื่องราวบิดาไปรับบุตรสาวที่งานเลี้ยงปาร์ตี้ น่าจะคือผกก. Carax ไปรับบุตรสาวคนหนึ่งของ Yekaterina
- ฉากฆาตกรรม Doppelgänger และนายธนาคาร สะท้อนอคติผกก. Carax กับบรรดานายทุนหน้าเลือดทั้งหลาย
- ชายผู้มีปานแดง = พวกโปรดิวเซอร์ นายทุน เจ้าของสตูดิโอ โน้มน้าวให้เขาล้มเลิกสร้างภาพยนตร์
- ความตายของบิดา = ความตายของ Yekaterina, ตอนจากลา มีการขอบคุณที่รักกันด้วยนะ!
- ฉากรำลึกความหลังกับแฟนเก่า นั่นก็ตรงๆถึงอดีตคนรัก Juliette Binoche พอเธอปฏิเสธหวนกลับมารับบท เลยให้กระโดดตึกฆ่าตัวตายกับชู้รัก
ความตายของ Yekaterina ย่อมทำให้ผกก. Carax ตกอยู่ในความห่อเหี่ยว สิ้นหวัง (อารมณ์เดียวกับตอน Mr. Oscar พบเห็นอดีตคนรักกระโดดฆ่าตัวตาย) แต่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป พอเสร็จการเสร็จงาน เดินทางกลับมาบ้าน จำต้องรับบทบาทบิดาเลี้ยงดูแลบุตรสาว Nastya แม้เหมือนไม่ค่อยเต็มใจสักเท่าไหร่ ก็ไม่หลบหนีความรับผิดชอบดังกล่าว!
(การเสียชีวิตของ Yekaterina ไม่มีระบุสาเหตุ แต่เห็นว่าเธอล้มป่วยซึมเศร้า บางแหล่งข่าวอ้างว่ากระทำอัตวินิบาต แต่ถ้าสังเกตเรื่องราวภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมครุ่นคิดว่าเธอน่าจะจากไปด้วยดีมากกว่านะ)
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้เสียงตอบรับจะดียอดเยี่ยม แต่กลับเพียงคว้ารางวัล Award of the Youth … ผู้ชนะรางวัล Palme d’Or ปีนั้นคือ Amour (2012) ไม่ได้มีลุ้นอยู่ดี
จากนั้นเดินทางไปตระเวนฉายตามเทศกาลหนัง กวาดรางวัลติดไม้ติดมือมากมาย ด้วยทุนสร้าง €3.96 ล้านยูโร มีรายงานรายรับ $4.2 ล้านเหรียญ (แต่ไม่รวมฝรั่งเศสที่ไม่มีรายงานตัวเลข) ช่วงปลายปีได้ยังเข้าชิง César Awards จำนวนถึง 9 สาขา แต่กลับไม่ได้สักรางวัล!
- Best Film
- Best Director
- Best Actor (Denis Lavant)
- Best Supporting Actress (Édith Scob)
- Best Original Screenplay
- Best Cinematography
- Best Editing
- Best Production Design
- Best Sound
นอกจากนี้ยังได้รับการโหวตจากนิตยสาร Cahiers du Cinéma ติดอันดับ #1 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ค.ศ. 2012 และอันดับ #2 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษ 2010s เป็นรองเพียง Twin Peaks SS3 (2017)
สำหรับคนที่อยากหาซื้อ Blu-Ray แนะนำ The Leos Carax Collection ของค่าย Artificial Eye รวมผลงานของผกก. Carax จำนวนสี่เรื่อง ประกอบด้วย Boy Meets Girl (1984), Mauvais Sang (1986), Pola X (1999) และ Holy Motors (2012)
ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังอย่างมากๆ มันอาจไม่มีลูกเล่นหวือหวา เทคนิคภาพยนตร์ตื่นตระการตา แต่แนวคิดของผกก. Carax สามารถครุ่นคิดต่อยอดไม่รู้จบ และโดยเฉพาะการแสดงของ Denis Lavant วิวัฒนาการจากการ์กอยล์ (Gargoyle) มาเป็นมนุษย์พันหน้าแห่งศตวรรษที่ 21st ได้อย่างน่าประทับใจ
คนที่ไล่เรียงรับชมผลงานของผกก. Carax มาตั้งแต่เรื่องแรก Boy Meets Girl (1984) น่าจะสามารถสังเกตเห็น Holy Motors (2012) ได้ทำการประมวลผล หลงเหลือเพียงตัวตนอันบริสุทธิ์ ความใฝ่ฝันอยากเป็นมันทุกสิ่งอย่าง! กลายเป็นภาพยนตร์ที่สามารถตีความครอบจักรวาล เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น
จัดเรต 18+ กับการผจญภัยเหนือจริง
Leave a Reply