Lightning

Lightning (1952) Japanese : Mikio Naruse ♥♥♥♥♡

สังคมพยายามเสี้ยมสอนให้หญิงสาวต้องแต่งงาน ลงหลักปักฐาน ก้มหัวศิโรราบต่อบุรุษเพศ แต่หลังจาก Hideko Takamine พบเห็นสารพัดความวุ่นๆวายๆในครอบครัวของมารดาและพี่ทั้งสาม ตัดสินใจก้าวออกมา พึ่งพาตนเอง ครองตัวเป็นโสดเสียยังดีกว่า, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ก่อนรับชมผมรู้สึกว่าโปสเตอร์ใบนี้มันช่างดูธรรมดา แค่หญิงสาวก้าวเดิน ไม่เห็นมันจะมีอะไรน่าประทับใจ? แต่หลังจากรับชมหนังจบ พบเห็นความมุ่งมั่นตัวละคร กล้าจะ(ก้าว)ออกจากครอบครัว วิถีทางสังคมที่ถูกปลูกฝัง ควบคุมครอบงำ ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน พบเห็นโปสเตอร์นี้อีกครั้งสัมผัสถึงออร่า ความแน่วแน่ของเธอที่จะกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ เป็นตัวของตนเอง ไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบให้ใคร

Lightning (1952) น่าจะถือเป็นผลงานระดับ ‘Top 5’ ของผกก. Naruse (ผมยังไล่ดูไม่หมด เลยบอกไม่ได้ว่าอยู่อันดับไหน) ทุกรายละเอียด พล็อตเรื่องราว ถ่ายภาพ-ตัดต่อ-เพลงประกอบ ทุกองค์ประกอบมันช่างมีความลงตัวกลมกล่อม แต่สิ่งเจิดจรัสที่สุดก็คือนักแสดง Hideko Takamine

ด้วยรูปร่างผอมบาง ใบหน้าดูอ่อนหวาน (soft beauty) มองผ่านๆไม่ใช่รูปโฉมงดงามนัก แต่เมื่อพานผ่านเหตุการณ์เลวร้าว ประสบพบเจอหายนะใกล้ตัว จิตใจของเธอกลับมีความเข้มแข็ง มุ่งมั่น แน่วแน่ สำแดงความเฉลียวฉลาด กล้าครุ่นคิดตัดสินใจ ทำในสิ่งเชื่อมั่นว่าถูกต้อง … เป็นผู้หญิงที่ดูสวยขึ้นมากๆ เมื่อต้องอดรนทนทุกข์ทรมาน

She has a conscious, sponge-like presence in Naruse’s films, frowningly absorbing and remaining stained by all the pettiness of a human world, and yet always amazingly, achingly matched by an acute and moving rebellion, the need to persevere and continue on.

Daniel Kasman จาก MUBI

วันก่อนผมพร่ำบ่นถึง Repast (1951) ตอนจบดูยังไงมันก็ไม่สมเหตุสมผล พอมารับชม Lightning (1952) ดัดแปลงจากนวนิยายอีกเรื่องของ Fumiko Hayashi โอ้โห! คือมันชัดเจนมากๆว่าผู้เขียนมีมุมมอง แนวคิด เป้าหมายชีวิต เข้าใจแทบจะโดยทันทีว่าตอนจบเรื่องนั้นควรเป็นเช่นไร


Mikio Naruse, 成瀬 巳喜男 (1905-69) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ในตระกูลซามูไร Naruse Clan แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน แถมบิดาพลันด่วนเสียชีวิต จึงจำต้องต่อสู้ดิ้นรนกับพี่ชายและพี่สาว ตอนอายุ 17 สมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Shōchiku ไต่เต้าจากลูกจ้าง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yoshinobu Ikeda ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหนัง(เงียบ)สั้นเรื่องแรก Mr. and Mrs. Swordplay (1930), ผลงานช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นแนว Comedy Drama ตัวละครหลักคือผู้หญิง ต้องต่อสู้ดิ้นรนในสภาพแวดล้อมทุกข์ยากลำบาก … น่าเสียดายที่ผลงานยุคหนังเงียบของ Naruse หลงเหลือมาถึงปัจจุบันแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น

โดยปกติแล้วผู้ช่วยผู้กำกับในสังกัด Shōchiku เพียงสามสี่ปีก็มักได้เลื่อนขั้นขึ้น แต่ทว่า Naruse กลับต้องอดทนอดกลั้น ฝึกงานนานถึงสิบปีถึงมีโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก (Yasujirō Ozu และ Hiroshi Shimizu เข้าทำงานทีหลัง แต่ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้กำกับก่อน Naruse) นั่นทำให้เขาตระหนักว่า Shōchiku ไม่ค่อยเห็นหัวตนเองสักเท่าไหร่ ไม่เคยมีห้องทำงานส่วนตัว ยื่นโปรเจคอะไรไปก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ เลยยื่นใบลาออกช่วงปลายปี ค.ศ. 1934 เพื่อย้ายไปอยู่ P.C.L. Studios (Photo Chemical Laboratories ก่อนกลายเป็นสตูดิโอ Toho) สรรค์สร้างภาพยนตร์ Wife! Be Like a Rose! (1935) ถือเป็นครั้งแรก(ในยุคก่อน Post-War)ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม

แต่หลังจาก Wife! Be Like a Rose! (1935) ผลงานถัดๆมาของผกก. Naruse ล้วนถูกมองว่าเป็น ‘lesser film’ แนวตลาด คุณภาพปานกลาง ขายได้บ้าง เจ๊งเสียส่วนใหญ่ เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ จนสตูดิโอ Toho เริ่มสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ กระทั่งการมาถึงของ Repast (1951) ดัดแปลงจากนวนิยายแต่งไม่เสร็จของ Fumiko Hayashi, 林芙美子 (1903-51) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับ และกวาดรางวัลในญี่ปุ่นมากมายนับไม่ถ้วน

Hayashi คือนักเขียนคนโปรดของผกก. Naruse หนึ่งในโปรเจคที่อยากดัดแปลงสร้างภาพยนตร์มากๆคือ 稲妻 (1936) อ่านว่า Inazuma แปลตรงตัว Lightning แต่ทว่านวนิยายเล่มดังกล่าวอยู่ในการครอบครองของสตูดิโอ Daiei Film จึงโน้มน้าวให้อีกฝ่ายหยิบยืมตนเองไปเป็นผู้กำกับ

(ว่ากันว่าอีกเหตุผลที่ผกก. Naruse ไม่อยากกำกับโปรเจคนี้กับ Toho เพราะตอน Repast (1951) ได้รับใบสั่งว่าตอนจบห้ามหย่า! เช่นนั้นแล้ว Lightning (1952) ที่เต็มไปเรื่องขัดแย้งต่อบริบทสังคมยุคสมัยนั้น อาจโดนสั่งให้ปรับเปลี่ยนโน่นนั่นไม่ต่างกัน ให้อีกค่ายใหม่หยิบยืมตัวไป คงไม่โดนบีบบังคับอะไรมากมาย)

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Sumie Tanaka (1908-2000) กลายเป็นขาประจำผกก. Naruse มาตั้งแต่ Repast (1951) คราวนี้ไม่ได้ต้องครุ่นคิดหรือแก้ไขปรับเปลี่ยนอะไร ยึดตามต้นฉบับบทประพันธ์ เพียงปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมกับสื่อภาพยนตร์เท่านั้น


มารดาของ Kiyoko แต่งงานทั้งหมดสี่ครั้ง มีบุตรสี่คน (จากสามีคนละคน) ประกอบด้วย

  • พี่สาวคนโต Nuiko (รับบทโดย Chieko Murata) เป็นคนมักมาก ปากร้าย จิตใจมืดดำ สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ พยายามโน้มน้าวน้องสาวคนเล็ก Kiyoko ให้แต่งงานกับคนขายเบเกอรี่ Tsunakichi (รับบทโดย Sakae Ozawa) เพื่อตนเองจะได้เป็นผู้ดูแลโรงแรมของอีกฝ่าย แต่เมื่อทำไม่สำเร็จเลยเลิกราสามี แล้วแต่งงานใหม่กับชายคนนั้นแทน
  • พี่ชาย Kasuke (รับบทโดย Maruyama Osa) ทหารผ่านศึก หลังกลับจากสงครามใช้ชีวิตอย่างล่องลอย เรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน วันๆเอาแต่เที่ยวเล่น Pachinko ไม่เคยทำการทำงาน เก่งแต่ปาก พึ่งพาอะไรไม่ได้สักสิ่งอย่าง
  • Mitsuko (รับบทโดย Mitsuko Miura) เปิดกิจการร้านขายเสื้อผ้าในย่าน Shitamachi, Tokyo แต่แล้ววันหนึ่งสามี Rohei พลันด่วนเสียชีวิต ทำให้ญาติพี่น้อง ใครต่อใคร รวมถึงชู้รัก/เมียน้อย ต่างเข้ามาเกาะแก่ง ขอส่วนแบ่งเงินประกัน
  • Kiyoko (รับบทโดย Hideko Takamine) หญิงสาววัย 23 ปี อาศัยอยู่กับพี่สาว Mitsuko ทำงานไกด์ทัวร์รถโดยสาร ครองตัวเป็นโสด ปฏิเสธเสียงขันแข็งไม่ยินยอมแต่งงานกับคนขายเบเกอรี่ Tsunakichi ให้ความช่วยเหลือพี่สาวเผชิญหน้าชู้รักสามี Ritsu (รับบทโดย Chieko Nakakita) พยายามอดกลั้น ฝืนทน จนถึงจุดถึงแตกหักจึงตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง

เรื่องราวของหนังนำเสนอผ่านมุมมองของ Kiyoko พบเห็นความวุ่นๆวายๆของมารดา พี่ๆ รวมถึงคนรอบข้างที่สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ ตอบสนองตัณหาความใคร่ ตระหนักว่าการแต่งงานไม่ใช่หนทางออก และเมื่อตนเองถูกคุกคาม จึงตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง มองหาสถานที่อยู่ใหม่ เรียนรู้จักพึ่งพาตนเอง ไม่งอนง้อใครอีกต่อไป


Hideko Takamine, 高峰 秀子 (1924-2010) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hakodate, Hokkaido หลังจากมารดาเสียชีวิตตอนอายุ 4 ขวบ ย้ายมาอาศัยอยู่กับคุณป้าที่กรุง Tokyo เข้าตาแมวมองสตูดิโอ Shōchiku เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก Mother (Haha) (1929) จนได้รับฉายา ‘Japan’s Shirley Temple’ น่าเสียดายหลายๆผลงานสูญหายไปช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, ช่วงทศวรรษ 50s-60s กลายเป็นนักแสดงฟรีแลนซ์ ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Keisuke Kinoshita และ Mikio Naruse ผลงานเด่นๆดังๆ อาทิ Lightning (1952), Twenty-Four Eyes (1955), Floating Clouds (1956), Time of Joy and Sorrow (1958), The Rickshaw Man (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Happiness of Us Alone (1961), A Wanderer’s Notebook (1962), Yearning (1964) ฯ

รับบท Kiyoko น้องสาวคนเล็ก ทำงานไกด์ทัวร์รถโดยสาร เธอเป็นสาวสมัยใหม่ กล้าพูด กล้าแสดงออก แม้ถูกมารดาและพี่ๆกดดันให้แต่งงาน ก็ยังกล้าปฏิเสธเสียงขันแข็ง เบื่อหน่ายพวกผู้ชายมักมาก พบเห็นความวุ่นๆวายๆของสมาชิกครอบครัว เต็มไปด้วยความเก็บกด อดกลั้น เมื่อถึงจุดแตกหักจึงตัดสินใจย้ายออกจากบ้าน เรียนรู้ที่จะพึ่งพาอาศัยตนเอง ใช้ชีวิตตัวคนเดียวอย่างสงบสันติสุข

ก่อนหน้านี้ Takamine เคยร่วมงานผกก. Naruse ภาพยนตร์ Hideko, the Bus Conductor (1941) ซึ่งก็รับบทเป็นไกด์ทัวร์รถโดยสาร แต่เรื่องนั้นจะออกไปทาง Comedy Drama รอยยิ้มของหญิงสาวแรกรุ่นวัย 16 ปี ช่างมีความละอ่อนเยาว์วัย น่ารักสดใส ไร้เดียงสายิ่งนัก!

ด้วยความที่ Takamine เป็นนักแสดงมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ผู้ชมติดภาพจำสาวขี้เล่น ซุกซน จนกระทั่งหลังสงครามโลก (Post-War) ร่วมงานผู้กำกับ Keisuke Kinoshita และ Mikio Naruse ถึงเริ่มได้รับบทผู้ใหญ่ มุ่งเน้นขายการแสดง ยังคงภาพลักษณ์น่ารักสดใส แต่เพิ่มเติมคือจิตใจเข้มแข็งแกร่ง สามารถเผชิญหน้าอุปสรรคขวากหนาม ก้าวข้ามผ่านสารพัดปัญหา ด้วยความมุ่งมั่น แน่วแน่ จริงจัง ไม่หวาดกลัวเกรงอะไรทั้งนั้น

หน้าตาของ Takamine อาจไม่ได้สวยโดดเด่น (ผมชอบคำว่า Soft Beauty สวยแบบน่ารัก ธรรมชาติ) ทว่าบทบาทการแสดง วิวัฒนาการตัวละคร ความกล้าได้กล้าเสี่ยง กล้าพูดกล้าแสดงออก กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งไม่ถูกต้อง และโดยเฉพาะกล้าก้าวออกมาจากวังวนแห่งความวุ่นวาย นั่นทำให้เธอดูมีความสวยเจิดจรัส เปร่งประกายขึ้นทุกๆขณะ

ผมพบเจอบทสัมภาษณ์ของ Takamine กล่าวถึงการร่วมงานผกก. Naruse เล่าว่าอีกฝ่ายเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูดจา ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่เคยให้คำแนะนำใดๆด้านการแสดง ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดจากการรังสรรค์ของตนเอง

Mr. Naruse was more than merely reticent: he was a person whose refusal to talk was downright malicious. Even during the shooting of a picture, he would never say if something was good or bad, interesting or trite. He was a completely unresponsive director. I appeared in about 20 of his films, and yet there was never an instance in which he gave me any acting instructions… so it was always up to me to decide how to act on my own.

Hideko Takamine

นอกจากนี้ผมยังอ่านเจอว่า Takamine มีส่วนร่วมกับหนังตั้งแต่ตอนเขียนบท บทพูดไหนไม่ชอบ คิดว่าไม่เหมาะสมกับตัวละคร ก็บอกตรงๆว่าจะไม่พูด ตัดทิ้ง หรือปรับเปลี่ยนเป็นแสดงออกผ่านสีหน้า อากัปกิริยา ภาษากาย นี่ช่วยให้การแสดงของเธอมีความเพียงพอดี ไม่มากไม่น้อย ไม่ดู Over-Acting จนเกินไป

Naruse clearly recognised that Takamine’s face was the key to her acting. In the films she made with him it is peerlessly expressive; without overemoting she is capable of registering finely pitched emotion in merely a glance. Takamine said that, starting with Lightning, she would work on scripts herself with Naruse, cutting out lines of dialogue she didn’t want to say, replacing them with gestures or looks.

For in Naruse’s films Takamine was never placidly serene the way Setsuko Hara’s in Ozu’s, smiling through adversity; instead she could show irritation and even cruelty alongside warmth and stoicism, and yet remain sympathetic and believably adult.

James Bell จากนิตยสาร Sight & Sound

ถ่ายภาพโดย Mine Shigeyoshi, 峰重義 ตากล้องในสังกัด Daiei Film ผลงานเด่นๆ อาทิ The Life of a Horsetrader (1951), Lightning (1952), Older Brother, Younger Sister (1953), The Moon Has Risen (1955) ฯ

ผมเคยพร่ำบ่นมาทุกบทความก่อนหน้านี้ว่าสไตล์ Naruse มีความละม้ายคล้ายคลึง Yasujirō Ozu (นั่นเพราะพวกเขาได้รับการฝึกฝนมาจากสตูดิโอ Shōchiku รับแนวคิด ซึมซับอิทธิพล รวมถึงข้อจำกัดด้านเทคโนโลยียุคสมัยนั้น) แต่ทว่า Lightning (1952) พยายามฉีกตนเอง เลือกทิศทางมุมกล้องที่ดูแตกต่าง ละเล่นกับพื้นที่ ช่องว่าง ระยะห่าง การจัดแสง-เงา ให้มีลักษณะของ Expressionism มากขึ้น (งานภาพของ Ozu ออกไปทาง Impressionism) รวมถึงการแทรกใส่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ภาพเจ้าเหมียว ตุ๊กตา คนเร่ขายของ ตัวประกอบเดินสวนไปมา ฯ เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวา จับต้องได้ (Realist)

แม้ส่วนใหญ่ของหนังจะถ่ายทำในสตูดิโอ แต่ผู้ชมจะได้พบเห็นทิวทัศน์กรุง Tokyo (ระหว่างทัวร์รถโดยสาร) หลังสงครามโลกที่ได้รับการฟื้นฟู บูรณะ สิ่งก่อสร้างใหม่ๆผุดขึ้นมากมาย (แทบจะไม่หลงเหลือเศษซากปรักหักพังให้พบเห็น) เก็บบันทึกไว้ใน ‘Time Capsule’ ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นเชยชม

หลายๆฉากของหนังมีการเล่นกับระยะห่างใกล้-ไกล ยกตัวอย่างฉากนี้ระหว่างพี่สาวคนโต Nuiko มาเยี่ยมเยียนน้องสาวคนรอง Mitsuko ที่เป็นเจ้าของร้านขายเสื้อผ้า เริ่มต้นทั้งสองอยู่เหินห่าง (หน้าร้าน-ในร้าน) สะท้อนความสัมพันธ์ที่ไม่ได้สนิทสนมไปมากกว่าสถานะพี่-น้อง แต่พอ Nuiko สังเกตเห็นเสื้อใหม่ จึงเดินเข้ามา หยิบสวมใส่ (สลับเปลี่ยนมุมกล้อง 180 องศา) ของฟรี ไม่ต้องเสียเงิน จึงยินยอมเข้าหา ร่นระยะห่าง

คนที่รับชมหนังของ Yasujirō Ozu มาปริมาณหนึ่งย่อมตระหนักว่าไม่เคยพบเห็นการจัดวางตัวละครที่มีความสะเปะสะปะ กระจัดกระจาย ดูวุ่นๆวายๆขนาดนี้ (สไตล์ Ozu จะมีความเป็นระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน) นี่แสดงให้เห็นว่าผกก. Naruse พยายามฉีกตนเองออกจากกฎกรอบ ทิศทางมุมกล้องที่มีความละม้ายคล้ายคลึง … สอดคล้องเข้ากับเรื่องราวของหนังที่ Kiyoko ก็พยายามแยกตนเองออกจากสมาชิกครอบครัว

เอาจริงๆคุณอาจต้องรับชมผลงานของผกก. Naruse ในยุคก่อนหน้านี้มาพอสมควร ถึงสังเกตเห็นความละม้ายคล้ายคลึงสไตล์ Ozu แล้วพอมาถึง Lightning (1952) จักพบเห็นความพยายามทำออกมาให้ผิดแผกแตกต่าง

สไตล์ Naruse ก่อนนำเข้าซีเควนซ์ใดๆ (จะเรียกว่า Establishing Shot ก็ได้กระมัง) มักถ่ายภาพตรอกซอกซอย (ส่วนใหญ่ก็หน้าบ้านหลังนั้นๆ) ผู้คนไปมา รถราสวนทางไป ไม่ก็ตัวละครก้าวเข้ามา เหล่านี้เป็นการสร้าง ‘ชีวิต’ ให้กับหนังดูมี ‘ชีวา’ ให้เวลาผู้ชมได้พบเห็นบรรยากาศรอบข้าง

แมวเหมียว สัตว์สัญญะของความน่ารัก สดใส ไร้เดียงสา เมื่อตัวละครไหนมีความเคร่งเครียด ทุกข์ทรมานใจ การแสดงออกต่อพวกมันสามารถบ่งบอกตัวตน จิตวิญญาณธาตุแท้ของบุคคลนั้นๆ … ถ้าแสดงออกด้วยความรัก ความเอ็นดู ย่อมคือผู้มีจิตใจดีงาม แต่ถ้าขับไล่ ผลักไส จับโยนทิ้ง นั่นคือคนชั่วร้ายอย่างแน่นอน!

เรื่องราวของ Ritsu ชู้รักสามีของพี่สาว Mitsuko ถือว่ามีความตรงกันข้ามกับ Kiyoko คือพึ่งพาตนเองไม่ได้ ต้องคอยเกาะแก่งผู้ชาย ไม่ต่างจากปลิง แมงดา คอยสูบเลือดสูบเนื้อ แถมใช้ข้ออ้างบุตรชายขอเงินจาก Mitsuko เชื่อเหรอว่ามันจะจบลงแค่วันนี้ หรือยัยนี่จะนำไปใช้เลี้ยงดูแลบุตรจริงๆ … มันเลยไม่แปลกที่ Kiyoko มองตารู้สันดาน ไม่ถูกชะตากันอย่างรุนแรง เต็มไปด้วยความเสแสร้ง ดัดจริต มารยาหญิง

จุดแตกหักของ Kiyoko เกิดขึ้นในวันที่สมาชิกครอบครัวมีเรื่องชกต่อย ทะเลาะเบาะแว้ง ข้าวของระเนระนาด พี่ชายและสามีของ Nuiko ต่างถูกคนขายเบเกอรี่ Tsunakichi ทรยศหักหลัง ปากเก่งว่าเจอหน้าเมื่อไหร่จะลงมือจัดการ แต่พออีกฝ่ายมาถึงกลับชวนกินเหล้า จะเอาอะไรกับคนเหล่านี้ พึ่งพาไม่ได้ มีแต่ความวุ่นๆวายๆ … พอมารดากลับมาเห็น คำถามแรกสนแต่เรื่องเงิน ใครจ่ายค่าเสียหาย?

ปล. นี่คือลักษณะของครอบครัวบกพร่อง (Dysfunctional family) ที่สมาชิกเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สนเพียงตัวตนเอง แต่บางสิ่งอย่างทำให้พวกเขาเกาะเกี่ยว พึ่งพักพิง อาศัยอยู่ร่วมกัน … มันอาจจะคือเสาไม้กลางบ้านกระมัง

ขณะที่สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆต่างก้มหน้าก้มตา รับประทานโซบะ (เส้นหมี่ของญี่ปุ่น) โดนไม่สนห่าเหวอะไรใคร Kiyoko ตั้งใจทานเหลือ เก็บเผื่อไว้ให้ลูกบ้านที่เข้าพักอาศัย ใช้โอกาสนี้พูดคุย ทำความรู้จัก สนิทสนมแทบจะโดยทันที

ย้อนรอยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ น้ำใจไมตรีที่ Kiyoko มีให้กับลูกบ้าน เมื่อเธอย้ายเข้ามาพักอาศัยห้องเช่าชานเมือง เจ้าของเกิดความเอ็นดูรักใคร่ ชักชวนเธอมารับประทานโซบะ นั่งตำแหน่งเดียวกัน มุมกล้องเดียวกันเป๊ะๆ … จากผู้ให้กลายมาเป็นผู้รับ นี่เรียกว่าบุญสนองบุญ (จริงๆมันก็คือ ‘กรรมสนองกรรม’ แต่คนส่วนใหญ่มักมอง ‘กรรม’ ในแง่ลบ ผมเลยเปลี่ยนเป็น ‘บุญสนองบุญ’)

จุดแตกหักที่สองเกิดจากการถูกคุกคาม คนขายเบเกอรี่ Tsunakichi พยายามจะใช้กำลังบีบบังคับ ขืนใจ แต่ทว่า Kiyoko ปฏิเสธเสียงขันแข็ง ฉันไม่มีวันก้มหัวศิโรราบต่อคนพรรค์นี้

คบคนพาลพาลพาไปหาผิด
คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล
คบคนชั่วพาตัวต้องอับจน
คบคนดีให้ผลจนวันตาย

มันอาจไม่ใช่ทุกคนที่มีจิตใจเข้มแข็งแกร่ง สามารถเอาชนะตนเอง หลบหนีออกจากวังวนแห่งความชั่วร้าย แต่ถ้าเราทำสำเร็จ ย่อมพบเจอโลกใบใหม่ อนาคตสว่างสดใส … เอาแค่ประเด็นนี้หนังก็ควรค่าแก่การ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แล้วนะ!

Kiyoko ได้ยินเสียงเปียโนดังจากบ้านข้างๆ พบเห็นฝนตกพรำเลยลงมาช่วยเก็บผ้า นั่นไม่ใช่หน้าที่เลยสักนิด! แต่ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ดีงาม ย่อมทำให้เธอได้พบเจอความหวัง ความสุขสงบ และอนาคตที่อาจเป็นไปได้ … ฝ่ายชายพูดชมดวงตาของ Kiyoko แต่เรายังสามารถเปรียบเทียบ ‘ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ’ หรือก็คือชื่นชมจิตใจอันงดงามของเธอด้วย!

ฝนที่ตกเพียงชั่วครู่ก่อนซาลง เปรียบได้กับปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น ประเดี๋ยวก็ผ่านไป ฟ้าหลังฝน Kiyoko ได้รับชักชวนให้รับประทานแตงโมเย็นๆ แต่ขณะนี้เธอยังไม่มีโอกาสได้ลิ้มชิม เพราะยังมีอีกอุปสรรคให้ต้องเผชิญหน้าแก้ไข นั่นคือการมาถึงของมารดา

หนังอาจไม่ได้พัฒนาลูกเล่นที่ทำให้แสงสว่างตอนกลางวัน ค่อยมืดครื้ม (เพราะเมฆฝน) แต่ผู้ชมสามารถสังเกตจากภาพแต่ละช็อตที่จะค่อยๆมืดลงทีละนิด สะท้อนการสนทนาระหว่างมารดากับ Kiyoko ที่คอยพร่ำบ่น ตำหนิต่อว่า ลูกเนรคุณ ไม่รักดี ทอดทิ้งตนเองได้ลง ก่อนร่ำร้องไห้ ระบายความทุกข์ทรมานใจ … การทำให้บุพการีเสียน้ำตา ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไหวในวัฒนธรรมญี่ปุ่น/เอเชีย ฟากฝั่งโลกตะวันออก

น้ำตามารดา = ฝนตกฟ้าคะนอง (วินาทีที่พบเห็นฟ้าฝ่า คือตอนที่มารดากำลังร่ำร้องไห้ออกมาพอดี) ราวกับจะสื่อว่าการกระทำของบุตรสาว ปฏิเสธแต่งงาน ทอดทิ้งครอบครัว/มารดา เป็นสิ่งขัดแย้งต่อขบนวิถีที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา รวมถึงไม่ปฏิบัติตามกฎแห่งธรรมชาติ ย่อมต้องถูกฟ้าดินลงทัณฑ์ อสนีบาตฟาดเปรี้ยง

ในทิศทางตรงกันข้าม ผมมองภาพฟ้าคำราม คือตัวแทนหายนะ ความวุ่นๆวายๆของชีวิต สิ่งที่หญิงสาวพยายามดิ้นหลบหนี ตีตนออกห่างไกล ปฏิเสธหวนกลับไป จากนั้นเธอขอให้มารดาสงบสติอารมณ์ หยุดร่ำร้องไห้ ไม่มีอะไรสามารถเปลี่ยนใจ

สิ่งที่ทำให้มารดาหยุดร่ำร้องไห้ คือเมื่อ Kiyoko เปิดสมุดบัญชีธนาคาร บอกว่าตนเองมีเงินเก็บเหลือเท่าไหร่ แล้วชักชวนไปซื้อกิโมโนใหม่ … แม้งเอ้ย! ทำเอาผมโคตรละเหี่ยใจกับมารดาคนนี้ สนแต่เรื่องเงินๆทองๆ สนองความสุขสบายส่วนตน ไม่เคยครุ่นคิดถึงหัวอกบุตรสาว แต่อย่างน้อยที่สุดนี่คือการตอบแทนบุพการี สำแดงความกตัญญูกตเวที ไม่ได้จะทอดทิ้ง แค่ไม่ขอสุงสิงกับใครอื่น

แซว: ฉากจบของหนัง Kiyoko เดินทางไปส่งมารดาขึ้นรถกลับบ้าน ระหว่างทางพบเห็นอะไรไม่รู้วับแวว ครุ่นคิดว่าเป็นเหรียญเงินเลยหยิบขึ้นมา ฮืม…

ขอย้อนกลับไปวัตถุประสงค์แท้จริงที่มารดาเดินทางมาหา Kiyoko นั่นเพราะ Mitsuko สูญหายตัวไปเมื่อสามวันก่อน ไม่รู้ไปไหน? ไม่มีใครค้นพบเจอ? ซึ่งหนังก็ไม่ได้ให้คำตอบ ค้างปลายเปิด ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น? อาจใช้เป็นสัญญะของความไม่แน่นอน อะไรๆล้วนบังเกิดขึ้นได้!

ผมไม่อยากครุ่นคิดในแง่ร้ายอย่างโดนฆ่า ถูกลักพาตัว หรือกระทำอัตวินิบาต แต่ค่อนข้างเชื่อว่าน่าจะถูกคนขายเบเกอรี่ Tsunakichi คุกคามทางเพศ (ย้อนรอยกับ Kiyoko) เลยตัดสินใจหลบหนี ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่ต้องการคบค้าสมาคมกับคนพาลเหล่านั้น … แต่หนังปลายเปิดเอาไว้ ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการ

ตัดต่อโดย Toyo Suzuki, 鈴木東陽

หนังนำเสนอผ่านมุมมองของ Kiyoko ร้อยเรียงวิถีชีวิต พบเห็นความวุ่นๆวายๆของสมาชิกครอบครัว รวมถึงคนรอบข้างที่สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ ตอบสนองตัณหาความใคร่ และเมื่อถึงจุดแตกหัก จึงตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง

  • Kiyoko และครอบครัว
    • Kiyoko ทำงานไกด์ทัวร์รถโดยสาร ระหว่างทางพบเห็นสามีพี่สาว Rohei เดินอยู่กับหญิงแปลกหน้าคนหนึ่ง
    • พี่สาวคนโต Nuiko แวะเวียนมาที่ร้านขายเสื้อผ้าของ Mitsuko
    • มารดาพยายามโน้มน้าว Kiyoko ให้แต่งงานกับคนขายเบเกอรี่ Tsunakichi
    • คนขายเบเกอรี่ Tsunakichi เกี้ยวพาราสี Nuiko บอกให้โน้มน้าว Kiyoko แต่งงานกับตนเองเพื่อแลกกับบางสิ่งอย่าง
    • Kiyoko กลับมาที่ร้านของ Mitsuko แต่สามีของเธอยังไม่กลับมาบ้าน
    • กลับกลายเป็นสามีของ Nuiko แวะเวียนมาหา Mitsuko แต่ขณะนั้นเธอกำลังออกติดตามหาสามี
  • ความวุ่นๆวายๆของครอบครัว
    • ค้นพบว่าสามีของ Mitsuko พลันด่วนเสียชีวิต จัดพิธีศพ ใครๆต่างเข้ามาขอเงินประกัน ไม่เว้นแม้แต่ชู้รักสามี
    • Mitsuko ตัดสินใจขายร้านขายเสื้อผ้า ย้ายมาอยู่ห้องเช่าของมารดา
    • Tsunakichi พยายามเกี้ยวพาราสี Kiyoko แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนบ่อยครั้ง
    • Nuiko หย่าร้างสามี เพื่อจะแต่งงานใหม่กับ Tsunakichi
    • Kiyoko ให้ความช่วยเหลือพี่สาว Mitsuko เดินทางไปจัดการหนี้สินกับชู้รักสามี
    • พี่ชายและอดีตสามีของ Nuiko ต่างถูก Tsunakichi ทรยศหักหลัง ปากเก่งจะโต้ตอบ แต่พออีกฝ่ายแวะเวียนมากลับชักชวนดื่มเหล้า … แต่ต่อมาก็มีเรื่องชกต่อยกันจริงๆ
  • การก้าวออกมาของ Kiyoko
    • Kiyoko มองหาสถานที่อยู่ใหม่ ห่างไกลจากความวุ่นๆวายๆ
    • หลังจากได้สถานที่อยู่ใหม่ Kiyoko แวะเวียนกลับมาเก็บข้าวของ
    • Kiyoko ไปเยี่ยมเยียนพี่สาวทำงานบาร์แห่งหนึ่ง ถูกคุกคามโดย Tsunakichi จึงรีบหนีออกมา
    • Kiyoko กับเพื่อนบ้าน หลงใหลเสียงเปียโน
    • มารดาแวะเวียนมาที่ห้องพักใหม่ของ Kiyoko ปรับความเข้าใจ ยินยอมรับการตัดสินใจของกันและกัน

โครงสร้างดำเนินเรื่องอาจไม่ได้ซับซ้อน แต่ลีลาตัดต่อถือว่าแพรวพราวอย่างมากๆ เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ สร้างสัมผัสความมีชีวิตชีวาให้กับหนัง และโดยเฉพาะขณะรวมญาติ มีการตัดสลับเปลี่ยนมุมกล้องไปมา ระหว่างพูดคุยสนทนา ทะเลาะเบาะแว้ง มีปากมีเสียง พยายามทำให้ดูสับสน วุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วน เห็นแล้วไม่อยากสุงสิงกับกลุ่มคนเหล่านี้สักเท่าไหร่


เพลงประกอบโดย Ichirō Saitō, 斎藤一郎 (1909-1979) นักไวโอลิน แต่งเพลง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Chiba ร่ำเรียนไวโอลินและแต่งเพลงจาก National Music School จากนั้นกลายเป็นนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ ขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse อาทิ Mother (1952), Lightning (1952), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956), Yearning (1964), ผลงานเด่นอื่นๆ The Flavor of Green Tea over Rice (1952), The Life of Oharu (1952), Ugetsu (1953), A Geisha (1953) ฯ

ตามสไตล์ Naruse เลือกใช้ดนตรีสากล บทเพลงคลาสิก เพื่อสร้างสัมผัสร่วมสมัย ญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่ และโดยคาดไม่ถึง Lightning (1952) มีการบรรเลงเปียโนอันไพเราะเพราะพริ้ง เสียงแห่งความหวังของหญิงสาว ได้ยินตั้งแต่ Opening Credit ดังขึ้นอยู่บ่อยครั้งจนติดหู มักคุ้นชิน กลิ่นอาย Franz Liszt

ความน่าจดจำของบทเพลงนี้คือลีลาการไต่ไล่ระดับตัวโน๊ต เดี๋ยวขึ้น-เดี๋ยวลง ราวกับระลอกคลื่น เปรียบดั่งจังหวะชีวิต มีสุขมีทุกข์ เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย (ช่วงออร์เคสตราราวกับพายุฝน คลื่นลมโหมกระหน่ำ) ขณะเดียวกันยังสร้างสัมผัสโหยหวน คร่ำครวญ ใฝ่ฝันถึงความสงบสุขของจิตวิญญาณ

ไม่ใช่ว่าหนังจะมีแค่บรรเลงเปียโนนะครับ บทเพลงอื่นๆคอยแทรกแซมอยู่เต็มไปหมด ซึ่งล้วนรำพันความรู้สึกของ Kiyoko ทั้งสุข-ทุกข์ วุ่นวาย เบื่อหน่าย หลากหลายอารมณ์ เพื่อช่วยเสริมเหตุเสริมผล ให้เธอตัดสินใจละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง แสวงหาสถานที่แห่งความสงบสุข ได้ยินเสียงเปียโนแห่งความหวัง

มันคือสันชาตญาณสิ่งมีชีวิตที่จะต้องสืบพงศ์เผ่าพันธุ์ แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่สามารถครุ่นคิด ตัดสินใจ ควบคุมสันชาตญาณตนเอง ด้วยเหตุนั้นจึงพยายามสร้างกฎระเบียบขึ้นมาควบคุมครอบงำ กำหนดวิถีชีวิต บีบบังคับหญิงสาวให้ต้องแต่งงาน ลงหลักปักฐาน ก้มหัวศิโรราบต่อบุรุษ ยึดถือปฏิบัติสืบต่อมายาวนาน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ วิถีชีวิต แนวทางปฏิบัติสืบทอดแต่โบราณกาล บุรุษคือช้างเท้าหน้า สตรีมีหน้าที่แต่งงาน ดูแลการบ้านการเรือน เลี้ยงบุตรหลาน ไร้สิทธิ์เสียง จำต้องก้มหัวศิโรราบต่อสามี, แต่ความพ่ายสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกยึดครองโดยสหรัฐอเมริกา นำเอาแนวคิด วิถีชีวิต ค่านิยมใหม่ๆ หญิงสาวเริ่มที่จะเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม

เรื่องราวของ Lightning (1952) นำเสนอสิ่งขัดแย้งต่อขนบวิถี ธรรมเนียมปฏิบัติที่ชาวญี่ปุ่นสืบทอดต่อกันมายาวนาน ร้อยเรียงเรื่องราววุ่นๆวายๆของบรรดาสมาชิกในครอบครัว ตั้งแต่มารดาแต่งงานสี่ครั้ง, พี่สาวคนโตปากร้ายใจทราม, พี่ชายไม่เอาอ่าว, พี่สาวอีกคนก็อ่อนแอปวกเปียก เต็มไปด้วย ‘Toxic Relationship’ นั่นทำให้น้องสาวคนเล็กปฏิเสธการแต่งงาน ไม่อยากลงหลักปักฐาน และเมื่อถูกคุกคาม(ทางเพศ) จึงตัดสินใจหลบหนี ก้าวออกมา พึ่งพาตนเอง ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง

มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่เรื่องราวแบบนี้จะถูกสร้างขึ้นในญี่ปุ่นช่วงก่อนสงครามโลก เอาจริงๆหลังสงครามก็ใช่ว่าจะมีใครไหนยินยอมตอบอนุมัติ แต่การที่ผกก. Naruse ตัดสินใจเลือก Daiei Film เพราะสามารถควบคุมไม่ให้สตูดิโอเข้ามายุ่งย่ามก้าวก่าย ฉันไม่ใช่ผู้กำกับในสังกัดเลยโต้ตอบอะไรกันไม่ได้ ผลลัพท์กลายมาเป็น Lightning (1952) ราวกับอสนีบาตฟาดลงกลางใจชาวญี่ปุ่น

ผกก. Naruse เคยแต่งงานกับ Sachiko Chiba แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง(ความขัดแย้งทางสถานะ/ชนชั้น)ทำให้ต้องเลิกราหย่าร้าง เลยเกิดความตระหนักว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องจำเป็น/สำคัญที่สุดในชีวิต มนุษย์สามารถอยู่ตัวคนเดียว สันโดษเดี่ยว ถ้าไม่ต้องพึ่งพาการเงินกับใคร

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าผกก. Naruse ต่อต้านการแต่งงานนะครับ ช่วงท้ายของหนังเปิดกว้างความสัมพันธ์ระหว่าง Kiyoko กับหนุ่มนักเปียโนที่อาศัยอยู่บ้านข้างๆ มันอาจพัฒนาสู่ความรัก ความสัมพันธ์ที่ไม่ ‘Toxic’ การแต่งงานที่บุรุษไม่ช้างเท้าหน้า สตรีไม่ใช่ช้างเท้าหลังจึงสามารถบังเกิดขึ้นได้

ผมไม่ได้มองหนังแค่การแต่งงาน หรือปัญหาครอบครัว แต่มันยังสะท้อนถึงประเทศญี่ปุ่นยุคสมัยนั้น (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) เราสามารถเปรียบเทียบคนขายเบเกอรี่ Tsubomi = สหรัฐอเมริกา ที่เข้ามายึดครอบ บ่อนทำลายทุกสิ่งอย่างในครอบครัวของ Kiyoko ทุกคนล้วนหลงเชื่อ เออออห่อหมก ยินยอมอีกฝ่ายเพราะเงินทอง ความสุขสบาย โดยไม่รู้ตัวว่าพอหมดประโยชน์ก็จักถูกเฉดหัวทิ้งขว้าง … Tsubomi/อเมริกัน สนเพียงปู้ยี้ปู้ยำ กระทำชำเรา ได้ครอบครองเรือนร่าง Kiyoko กอบโกยผลประโยชน์จากชาวญี่ปุ่นเท่านั้นเอง!

หรือถ้ามองในเชิงปรัชญา ครอบครัวเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆวายๆ ว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏฏะสังสาร Kiyoko จึงเลือกตัดขาด ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ออกค้นหาสถานที่แห่งความสุขสงบทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ


ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าหนังทำเงินมากน้อยเพียงไหน แต่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ถือว่าดียอดเยี่ยม ได้รับการโหวตจาก Kinema Junpo: Best Japanese Film of 1952 #ติดอันดับ 2 รองจาก Ikiru (1952), ทั้งยังกวาดหลากหลายรางวัลจาก Mainichi Film Award และ Blue Ribbon Awards (สมัยนั้นมีแต่ประกาศผู้ชนะ ไม่มีรายชื่อผู้เข้าชิง)

  • Mainichi Film Award
    • Best Supporting Actress (Chieko Nakakita)
    • Best Film Score
  • Blue Ribbon Awards
    • Best Film
    • Best Director
    • Best Supporting Actress (Chieko Nakakita)

ในบรรดาภาพยนตร์ของผกก. Naruse มีเพียง 3 เรื่องเท่านั้นติดอันดับชาร์ทภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยมตลอดกาลจากนิตยสาร Kinema Junpo ทั้งสองครั้ง (ค.ศ. 1999 และ 2009) ประกอบด้วย Lightning (1952), Floating Clouds (1955) และ Scattered Clouds (1967)

  • Kinema Junpo: Top 100 best Japanese movies ever made (1999) #ติดอันดับ 85
  • Kinema Junpo: Top 200 best Japanese movies ever made (2009) #ติดอันดับ 113

เกร็ด: ด้วยความที่หนังเรื่องได้กลายเป็นสาธารณสมบัติไปแล้ว จึงสามารถหารับชมออนไลท์ทางช่อง @cinemadumonde มีหนังเก่าๆ ดังๆ ซับอังกฤษ ให้เลือกชมไม่น้อย

ส่วนตัวมีความหลงใหลคลั่งไคล้ Lightning (1952) เพราะมันใกล้ตัวใกล้หัวใจ ใกล้เคียงกับหลายๆสิ่งอย่างในชีวิตของผมเอง เบื่อหน่ายครอบครัว เพื่อนฝูง ทุกผู้คนรอบข้างเต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ หนทางออกหนึ่งเดียวเท่านั้นคือปลีกวิเวก หลีกหนีไปให้ไกล เรียนรู้จักพึ่งพาตนเอง แสวงหาความสันโดษ ค้นหาความสงบสุขจากภายใน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่คือภาพยนตร์ที่ทำการปลดแอกจิตวิญญาณผู้ชม! ไม่ใช่แค่เรื่องครอบครัว คู่ครอง หรือการแต่งงาน แต่เหมารวมความหมกมุ่นยึดติดกับแนวคิด วิถีชีวิต ขนบกฎกรอบทางสังคม อะไรที่มันบีบรัด เค้นคั้น สร้างความทุกข์ทรมานจิตใจ เราควรเรียนรู้ที่จะก้าวออกมา ปล่อยละวาง ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เมื่อนั้นจักค้นพบโลกใบใหม่

จัดเรต pg กับความวุ่นๆวายๆในครอบครัว

คำโปรย | Lightning ภาพยนตร์ที่ราวกับอสนีบาต ฟาดลงกลางใจ Hideko Takamine ถ้าชีวิตครอบครัวมันวุ่นๆวายๆเพียงนี้ ฉันขอครองตัวเป็นโสดเสียดีกว่า
คุณภาพ | นี
ส่วนตัว | ฟาดลงกลางใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: