
Repast (1951)
: Mikio Naruse ♥♥♥♡
พลิกภาพนางฟ้า Setsuko Hara มาเป็นภรรยาผู้เต็มไปด้วยความเก็บกด อดกลั้น อัดอั้นกับชีวิตแม่บ้าน ซักผ้า ทำอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู ปรนเปรอนิบัติสามี วันๆมีแต่ความซ้ำซากจำเจ ไม่รู้จักจบจักสิ้น เธอจะค้นพบหนทางออกของชีวิตหรือไม่?
ว่ากันตามตรงผู้หญิง/แม่บ้าน ที่ตระหนักถึงวังวน วัฏฏะสังสาร เบื่อหน่ายกับงานของตนเอง มันควรมีหนทางออกหนึ่งเดียวเท่านั้นคือก้าวออกมา เลิกราหย่าร้าง ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง! แต่เพราะบริบทสังคมยุคสมัยนั้น และเห็นว่าสตูดิโอออกใบสั่ง ห้ามหย่า! ตอนจบของหนังมันเลยโคตรไม่สมเหตุสมผล
ถึงอย่างนั้น Repast (1951) กลับประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ดียอดเยี่ยม แถมทำรายได้(ในญี่ปุ่น)เป็นกอบเป็นกำ เป็นการพลิกฟื้น ปลุกตื่นยักษ์หลับ (นอนมากว่า 30 ปี) ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ Mikio Naruse ก้าวย่างสู่จุดสูงสุดแห่งอาชีพการงาน
และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ Setsuko Hara ถือเป็นการพลิกบทบาทภาพจำ นางฟ้าจากหนังของ Yasujirō Ozu มาเป็นหญิงธรรมดา ภรรยาผู้เต็มไปด้วยความเก็บกด อัดอั้น การแสดงของเธอจะทำให้ผู้ชมกำหมัดแน่น บีบคั้นหัวใจ หนึ่งในบทบาทยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต พร้อมกวาดรางวัลจากแทบทุกสำนักที่มี(ขณะนั้น) … ตอนนั้น Hara โด่งดังระดับดาวดารา จนภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เธอกลายเป็นนักแสดงเจ้าบทบาท เจิดจรัสค้างฟ้า!
Mikio Naruse, 成瀬 巳喜男 (1905-69) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ในตระกูลซามูไร Naruse Clan แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน แถมบิดาพลันด่วนเสียชีวิต จึงจำต้องต่อสู้ดิ้นรนกับพี่ชายและพี่สาว ตอนอายุ 17 สมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Shōchiku ไต่เต้าจากลูกจ้าง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yoshinobu Ikeda ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหนัง(เงียบ)สั้นเรื่องแรก Mr. and Mrs. Swordplay (1930), ผลงานช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นแนว Comedy Drama ตัวละครหลักคือผู้หญิง ต้องต่อสู้ดิ้นรนในสภาพแวดล้อมทุกข์ยากลำบาก … น่าเสียดายที่ผลงานยุคหนังเงียบของ Naruse หลงเหลือมาถึงปัจจุบันแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น
โดยปกติแล้วผู้ช่วยผู้กำกับในสังกัด Shōchiku เพียงสามสี่ปีก็มักได้เลื่อนขั้นขึ้น แต่ทว่า Naruse กลับต้องอดทนอดกลั้น ฝึกงานนานถึงสิบปีถึงมีโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก (Yasujirō Ozu และ Hiroshi Shimizu เข้าทำงานทีหลัง แต่ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้กำกับก่อน Naruse) นั่นทำให้เขาตระหนักว่า Shōchiku ไม่ค่อยเห็นหัวตนเองสักเท่าไหร่ ไม่เคยมีห้องทำงานส่วนตัว ยื่นโปรเจคอะไรไปก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ เลยยื่นใบลาออกช่วงปลายปี ค.ศ. 1934 เพื่อย้ายไปอยู่ P.C.L. Studios (Photo Chemical Laboratories ก่อนกลายเป็นสตูดิโอ Toho) สรรค์สร้างภาพยนตร์ Wife! Be Like a Rose! (1935) ถือเป็นครั้งแรก(ในยุคก่อน Post-War)ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม
แต่หลังจาก Wife! Be Like a Rose! (1935) ผลงานถัดๆมาของผกก. Naruse ล้วนถูกมองว่าเป็น ‘lesser film’ แนวตลาด คุณภาพปานกลาง ขายได้บ้าง เจ๊งเสียส่วนใหญ่ เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ จนสตูดิโอ Toho เริ่มสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ กระทั่งการมาถึงของ Repast (1951)
ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องสุดท้าย เขียนไม่เสร็จ めし อ่านว่า Meshi (แปลว่าข้าวสวย, มื้ออาหาร) แต่งโดย Fumiko Hayashi, 林芙美子 (1903-51) นักเขียนหญิง Feminist สัญชาติญี่ปุ่น, ระหว่างตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ The Asahi Shimbun, 朝日新聞 พลันด่วนเสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) หลงเหลือตอนจบค้างๆคาๆ ไร้บทสรุป
เกร็ด: ผกก. Naruse มีความหลงใหลคลั่งไคล้นวนิยายของ Fumiko Hayashi หลังจาก Repast (1951) ยังดัดแปลงผลงานของเธออีกหลายเรื่อง Lightning (1952), Wife (1953), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955) และ A Wanderer’s Notebook (1962)
บทภาพยนตร์ดัดแปลงโดย Toshirô Ide และ Sumie Tanaka ทั้งสองมีความต้องการให้ตอนจบลงเอยด้วยการหย่าร้าง แต่ทว่าเบื้องบนสั่งลงมาว่า ห้ามหย่า! สร้างความไม่พึงพอใจต่อ Tanaka ตัดสินใจลาออกกลางคัน แต่สตูดิโอก็ยังคงเครดิตร่วมดัดแปลงบทไว้ให้
เกร็ด: ดั้งเดิมนั้น Toho มอบหมายงานผู้กำกับ Chiba Yasuki แต่เนื่องจากนักแสดงนำที่วางตัวไว้ติดพันโปรเจคอื่น เลื่อนงานสร้าง คิวงานไม่ว่าง เลยส้มหล่นใส่ผกก. Naruse ได้รับโอกาสครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้
ภรรยายังสาว Michiyo Okamoto (รับบทโดย Setsuko Hara) เดินทางจาก Tokyo มาปักหลักอาศัยอยู่ Osaka กับสามี Hatsunosuke (รับบทโดย Ken Uehara) พนักงานกินเงินเดือน (Salary Man) ทำงานตลาดหุ้นแห่งหนึ่ง, แต่ทว่าเธอกลับยุ่งวุ่นวายอยู่แต่งานบ้านงานเรือน จนแทบไม่มีเวลาเหลือให้กับตนเอง เกิดความซ้ำซากจำเจ เบื่อหน่ายกับชีวิต ครุ่นคิดอยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
วันหนึ่งหลานสาว Satoko (รับบทโดย Yukiko Shimazaki) วัยเพิ่งยี่สิบ หนีออกจากบ้านเพราะไม่อยากแต่งงาน มาขอพึ่งพาใบบุญพี่ชาย Hatsunosuke แต่วันๆกลับไม่คิดทำการทำงานอะไร แถมยังสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับ Michiyo จนเมื่อถึงจุดแตกหัก Satoko ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่ Tokyo ก่อนสามีติดตามมาของอนง้อ ขอคืนดี
Setsuko Hara, 原 節子 ชื่อจริง Masae Aida, 会田 昌江 (1920-2015) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของฉายา ‘the Eternal Virgin’ เกิดที่ Hodogaya-ku, Yokohama มีพี่น้อง 8 คน เมื่อพี่สาวคนโตแต่งงานผู้กำกับ Hisatora Kumagai กลายเป็นใบเบิกทางให้ตนเองวัย 15 ปี ลาออกจากโรงเรียนมุ่งหน้าสู่วงการภาพยนตร์ เซ็นสัญญา Nikkatsu Studios แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Do Not Hesitate Young Folks! (1935), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Daughter of the Samurai (1937), ผลงานเด่นๆ อาทิ No Regrets for Our Youth (1946), A Ball at the Anjo House (1947), The Idiot (1951), Repast (1951), Sound of the Mountain (1954), ร่วมงานผู้กำกับ Ozu ทั้งหมดหกครั้ง Late Spring (1949), Early Summer (1951), Tokyo Story (1953), Tokyo Twilight (1957), Late Autumn (1960) และ The End of Summer (1961)
รับบท Michiyo Okamoto ภรรยายังสาว แม้เธอเลือกแต่งงานกับชายคนรัก แต่การย้ายมาปักหลัก Osaka ที่แทบไม่รับรู้จักใคร (เหลือเพื่อนแค่ 5 คน) ทำให้วันๆไม่ได้ออกไปไหน อาศัยอยู่แต่ในบ้าน วุ่นวายอยู่กับงานบ้านงานเรือน เกิดความเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจ ครุ่นคิดอยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
ผมไม่ค่อยมีโอกาสรับชมการแสดงของ Hara นอกจากหนังของ Ozu มากนัก! แต่ทุกครั้งเธอสามารถลบล้างภาพจำ สำแดงให้ผู้ชมเห็นว่าฉันก็แค่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง รัก-โลภ-โกรธ-หลง หาใช่นางฟ้าดีเลิศประเสริฐศรีไปทุกสิ่งอย่าง
สำหรับ Repast (1951) น่าจะเป็นหนึ่งในบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Hara แม่บ้านผู้ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสามี แต่เขากลับไม่เคยสนใจใยดี เพิกเฉยเฉื่อยชา ราวกับทาสรับใช้ ไม่มีตัวตน สร้างความเก็บกด อดกลั้น อัดอั้น ไม่รู้จะทำอะไรยังไง เพียงเจ้าแมวเหมียวช่วยผ่อนคลายความทุกข์ทรมานใจ
จุดแตกหักของตัวละคร ไม่ใช่ระเบิดอารมณ์เกรี้ยวกราด หรือระบายความอึดอั้นอัดภายในออกมาเหมือนพวกยุโรป/อเมริกา, สังคมญี่ปุ่น/เอเชียมักดื้อเงียบ สำแดงอารมณ์ผ่านสีหน้า และพฤติกรรมเสียดสี ประชดประชัน (ไม่พูดบอก/แสดงออกมาตรงๆ) ผู้ชมสัมผัสถึงขีดสุดความอดกลั้น จากนั้นหลบหนี หายตัว เดินทางกลับบ้าน ไม่พูดว่ากล่าวอะไรทั้งนั้น
ตอนจบที่สามี-ภรรยาคืนดีกัน รอยยิ้มเศร้าๆบนใบหน้าของ Hara สร้างความเจ็บปวดรวดร้าว มากกว่าจะรู้สึกว่าเธอบังเกิดความเข้าใจชีวิต ยินยอมศิโรราบต่อวิถีชายเป็นใหญ่ … จุดนี้ทำให้ผมนึกถึง Late Spring (1949) ที่ผกก. Ozu ไม่ฉายให้เห็นปฏิกิริยาสีหน้าของ Hara ภายหลังการแต่งงาน เพื่อให้ผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการเอาเอง ว่าเธอจักมีความสุข-ทุกข์ มันคุ้มค่าที่จะแต่งงานจริงๆนะหรือ?
Ken Uehara, 上原謙 ชื่อจริง Ikebata Seiryo, 池端清武 (1909-91) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ในครอบครัวทหาร บิดาประดับยศพันเอก (Colonel) สำเร็จการศึกษาจาก Rikkyo University จากนั้นเข้าร่วมสตูดิโอ Shōchiku ช่วงสงครามโลกกลายเป็นฟรีแลนซ์ ไม่ค่อยมีงานสักเท่าไหร่ ก่อนย้ายมาลงหลักปักฐานสตูดิโอ Toho ร่วมงานขาประจำผกก. Mikio Naruse อาทิ Repast (1951), Wife (1953), Husband and Wife (1953), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954)
รับบท Hatsunosuke Okamoto สามีของ Michiyo ย้ายมา Osaka เพื่อทำงานบริษัทตลาดหุ้นแห่งหนึ่ง เป็นคนเอื่อยๆเฉื่อยๆ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เรื่อยเปื่อย ไม่โหยหาชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ นั่นทำให้เขาไม่ค่อยแสดงความกระตือรือล้น จนดูเหมือนเพิกเฉยเฉื่อยชา, การมาถึงของหลานสาว Satoko พยายามทำตัวเป็นลุงที่ดี พาออกไปท่องเที่ยว ให้เงินจับจ่ายใช้สอย แต่กลับสร้างความเข้าใจผิดต่อภรรยา พอเธอเดินทางกลับกรุง Tokyo ใช้ชีวิตตัวคนเดียว จึงค่อยๆตระหนักว่าตนเองกระทำผิดพลาดอะไรไป
ก่อนหน้านี้ Uehara เป็นนักแสดงระดับกลางๆ พอมีชื่อเสียงระดับหนึ่งแต่ไม่ได้โด่งดังมากนัก หลังสงครามโลกเลยถูกมองข้ามจากต้นสังกัดเดิม Shōchiku จึงย้ายมาปักหลังอยู่ Toho กลายเป็นขาประจำผกก. Naruse เพราะต่างเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน (ผกก. Naruse ก็เคยถูก Shōchiku มองข้าม ไม่เห็นหัวมาก่อน)
Uehara มีใบหน้าเข้มขรึม เย็นชา เหินห่าง ก็ไม่รู้ทำงานหนักหรืออะไร กลับบ้านมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า จึงมักปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่ค่อยให้ความสนใจภรรยา (หนังไม่ได้พูดบอกออกมาตรงๆ แต่อาจรวมถึงการไม่ค่อยทำการบ้าน อยู่กินกันมาหลายปีกลับยังไม่มีลูกหลาน) การมาถึงของหลานสาว คอยเอาอกเอาใจ เธอทำให้เขามีรอยยิ้ม ชีวิตมีสีสัน แม้ไม่ได้คิดอะไรเลยเถิด แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่ภรรยาจะเกิดความเข้าใจผิดๆ
จนตอนจบผมก็ไม่เห็นว่า Uehara จะแสดงอาการรู้สำนึกผิดอะไร ใบหน้ายังคงแน่นิ่งเฉย แต่ภายในคงเกิดความเข้าใจอะไรบางอย่าง จึงออกติดตาม งอนง้อ มาถึงยังกรุง Tokyo และสอบถามความคิดเห็นเรื่องการเรื่องงาน สำหรับคนญี่ปุ่นที่ยึดถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี วิถีซามูไร ยุคสมัยนั้นนี่คงเป็นการกระทำมากสุดเท่าที่จะแสดงออกได้แล้วกระมัง
Yukiko Shimazaki, 島崎 雪子 ชื่อจริง Toshiko Tsuchiya, つちや としこ (1931-2014) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo หลังสงครามทำงานระหว่างทำงานเป็นสาวเสิร์ฟ วาดฝันอยากเป็นนักแสดง เข้าฝึกฝนยัง Haiyuza Training School (ปัจจุบันคือ Toho Gakuen College of Drama and Music) จากนั้นเข้าร่วมสตูดิโอ Shintoho แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Red Peony of Night (1950), ก่อนย้ายมาสตูดิโอ Toho ผลงานเด่นๆ อาทิ Repast (1951), สมทบ Seven Samurai (1954), แต่ภาพรวมไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เลยรีไทร์จากวงการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964
รับบท Satoko Okamoto สาวแรกรุ่น นิสัยแก่นแก้ว ดื้อรั้น เอาแต่ใจ หนีออกจากบ้านเพราะไม่อยากแต่งงาน เดินทางมา Osaka อาศัยใบบุญของลุง Hatsunosuke แต่วันๆก็ไม่เห็นทำอะไร กิน นอน เที่ยว เกี้ยวพาราสีหนุ่มบ้านตรงข้าม จนสร้างความเอือมระอา(ปนริษยา)ต่อ Michiyo, พอกลับกรุง Tokyo ก็ยังจะพยายามพึ่งใบบุญของ Michiyo ก่อนถูกพี่ชายขับไล่ ไส่ส่ง พูดแทงใจดำ สุดท้ายยินยอมหวนกลับบ้าน แต่เธอคงไม่ยินยอมถูกกักขังเหมือนนกในกรงอย่างแน่แท้
หน้าตาของ Shimazaki มีความละอ่อนเยาว์วัย พยายามทำตัวน่ารักสดใส แต่ตัวจริงกลับระริกระรี้แรดร่าน ชอบเล่นหูเล่นตา เล่นละคอนตบตา หยอกล้อเกี้ยวพาราสี ได้หมดกับผู้ชายทุกวัย ขอแค่ตนเองได้มีชีวิตอย่างอิสระ กระทำสิ่งโน่นนี่นั่นตามใจ และไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร
การแสดงของ Shimazaki ต้องถือว่ามีแววอยู่ไม่น้อย แต่ทว่าชาวญี่ปุ่นสมัยนั้นคงไม่ประทับใจตัวละคร/ตัวจริงๆของเธอก็มีความดื้อรั้น เอาแต่ใจ หัวก้าวหน้าเกินไป เลยไม่ค่อยได้รับโอกาสด้านการแสดง สุดท้ายก็จำต้องออกจากวงการไป
อีกหนึ่งตัวละครที่ผมรู้สึกว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่านักแสดง! เจ้าแมวสีขาวหางกุด ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของมันช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของ Michiyo วันไหนอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดรำคาญใจกับสามี ขอเพียงได้เล่นกับเจ้าเหมียว ก็สามารถเอาตัวรอดพานผ่านวันนั้นไปได้
มันมีภาพยนตร์ของผกก. Naruse อยู่หลายเรื่องที่ผมได้รับชม ใช้สัตว์เลี้ยง แมว สุนัข ฯ สำหรับผ่อนคลายความเครียด และถ้าใครเล่นกับมันแสดงว่าเป็นคนดี ใครพยายามผลักไส โยนทิ้ง มันต้องโฉดชั่วร้าย!

ถ่ายภาพโดย Masao Tamai, 玉井正夫 (1908-97) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Matsuyama ยังไม่ทันเรียนจบเข้าฝึกงานสตูดิโอ Teikoku Kinema Geijutsu ก่อนย้ายมา Ichikawa Utaemon Production จากนั้นกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Japanese Society Of Cinematographers (JSC) พอมาปักหลักอยู่ P.C.L./Toho กลายเป็นตากล้องขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse อาทิ Repast (1951), Beyond Love and Hate (1951), Sound of the Mountain (1954), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955), Flowing (1956), Summer Clouds (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), นอกจากนี้ยังมีผลงานเด่น Godzilla (1954), Happiness of Us Alone (1961) ฯ
ด้วยความที่ผกก. Naruse และ Yasujirō Ozu ต่างได้รับการฝึกฝนจากสตูดิโอ Shōchiku ก้าวมาเป็นผู้กำกับในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน รวมถึงข้อจำกัดการถ่ายภาพยุคสมัยนั้น งานภาพในหนังของทั้งสองจึงมีความละม้ายคล้ายคลึง ตั้งกล้องนิ่งๆ ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหวติง นักแสดงเดินเข้า-ออก จัดวางองค์ประกอบภายในเฟรมภาพ
แต่สิ่งที่ Naruse แตกต่างจาก Ozu คือความเข้มข้น(จริงๆต้องเรียกว่ารันทน)ของเรื่องราว การดำเนินเรื่องที่จะค่อยๆไต่ไล่ระดับ บดขยี้อารมณ์ นักแสดงได้สำแดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ไม่มุ่งเน้นความ Stylish พยายามทำออกมาในลักษณะ Realistic
ถ้าจะสรุปรายละเอียดของหนังในหนึ่งภาพ めし, Meshi, Repast พบเห็นบ่อยครั้งที่สุดก็คือมุมกล้องช็อตนี้ ราวกับศูนย์กลางจักรวาล ถ่ายติดห้องนั่ง-นอนเล่นสำหรับรับประทานอาหาร และด้านหลังไกลสุดห้องครัว (ต่างห้อมล้อมรอบด้วยกรอบบานประตู และลวดเหล็กบริเวณหน้าต่างให้ดูเหมือนห้องกรงขัง) สถานที่ที่ Michiyo ต้องคอยปรนเปรอนิบัติสามี เสริฟข้าว เสริฟน้ำ เช้า-สาย-บ่าย-ค่ำ ทำซ้ำๆอยู่อย่างนี้ ทุกวี่วัน ไม่เคยหยุดหย่อน จนเกิดความเก็บกด อดกลั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง
ให้ข้อสังเกตนิดนึงว่าสามีมักที่จะนั่งๆนอนๆ จุ้มปุ๊ก ทานข้าว อ่านหนังสือพิมพ์ แทบไม่ขยับเคลื่อนไปไหน ตรงกันข้ามกับศรีภรรยาเดินไปเดินมา ยกข้าวยกจาน เต็มไปด้วยความยุ่งวุ่นวายตลอดเวลา



หลานสาว Satoko เดินทางมาพึ่งใบบุญลุง Hatsunosuke ที่ Osaka ทุกกิจกรรม ทุกสิ่งเคยกระทำ ล้วนสะท้อนย้อนรอยกับตอน Michiyo เดินทางกลับบ้านกรุง Tokyo อาศัยอยู่กับมารดา พี่ชาย และพี่สะใภ้ ตั้งแต่นอนตลอดทั้งวัน รับประทานอาหารร่วมโต๊ะ ออกท่องเที่ยวรอบเมือง ฯ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความละม้ายคล้ายคลึงระหว่าง Michiyo = Satoko ต่างเป็นตัวแทนหญิงสาวสมัยใหม่ โหยหาอิสรภาพ แต่ทว่าคนหนึ่งแต่งงาน คนหนึ่งยังครองตัวโสด สถานะทางสังคมแตกต่าง ปฏิกิริยาที่ได้รับก็ตรงกันข้าม
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลูกฝังให้ประชาชนมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามขนบกฎกรอบสังคมอย่างเคร่งครัด คนที่ขาดความรับผิด กระทำสิ่งนอกคอก จึงมักถูกตำหนิต่อว่า ตีตราว่าร้าย ไม่ให้การยินยอมรับ, Satoko ที่ยังไม่แต่งงานจึงถูกมองเป็นตัวปัญหา, ขณะที่ Michiyo แต่งงานแล้ว มีภาระรับผิดชอบ ย่อมไม่สามารถหลบหนีปัญหา






ซีเควนซ์ที่มีความเป็น ‘Cinematic’ มากสุดของหนัง! ค่ำคืนที่ Satoko แวะเวียนมาขอพักค้างแรม ณ บ้านพี่ชายของ Michiyo สถานที่แห่งนี้แทบไม่มีที่ว่างหลงเหลือ เลยถูกพี่ชายพูดขับไล่ ผลักไส ถ้าไม่เพราะกำลังเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง คงไม่ได้นอนค้างคืนอย่างแน่แท้
ถึงอย่างนั้นคนนอนไม่หลับกลับคือ Michiyo ลืมตาขึ้นมาจับจ้องมองเงาต้นไม้พริ้วไหว อาบฉาบใบหน้า สะท้อนความรู้สึกสั่นไหว หัวใจสั่นคลอน ระลึกนึกย้อนกลับหาตนเอง (เธอพยายามหนีออกจากบ้าน ไม่แตกต่างจาก Satoko) ยังครุ่นคิดไม่ตกว่าจะทำอะไรต่อไป? หางานทำ? เลิกราหย่าร้าง? หวนกลับหาสามี?

การมาถึงของสามีอย่างไม่ทันตั้งตัว Michiyo พยายามจะหลบลี้หนีหน้า แต่เขาก็ติดตามตื้อไม่ยอมหยุดหย่อน จนกระทั่งขบวนแห่อะไรสักอย่างเคลื่อนพานผ่าน ราวกับเทพเจ้าดลบันดาลให้หญิงสาวไม่สามารถดิ้นหลบหนี ไร้หนทางออก จำยินยอมพูดคุยทักทาย ปรับความเข้าใจในร้านอาหาร


การตัดสินใจหวนกลับบ้านที่ Osaka ของ Michiyo หนังพยายามทำให้ผู้ชมรู้สึกว่านั่นคือหนทางออกที่หญิงสาวไม่สามารถหลีกเลี่ยง เพราะมันคือวิถีทางของชาวญี่ปุ่น สังคมยังไม่ยอมรับการเลิกราหย่าร้าง ผู้หญิงคือช้างเท้าหลังต้องคอยปรนเปรอนิบัติสามี ชีวิตมันก็เท่านี้ เราจึงควรพึงพอใจ เพียงพอดี สุขกับสิ่งที่เรามี
แถมการออกแบบตัวละครสามี Hatsunosuke เรียกได้ว่าพ่อคนดี การทรยศหักหลัง เลิกราหย่าร้างกับคนแบบนี้ มันเป็นเรื่องเลวร้าย สังคมรับไม่ได้ อาจทำให้ชื่อเสียงของ Setsuko Hara ป่นปี้ย่อยยับยับ

ตัดต่อ … ไม่มีเครดิต
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Michiyo และหลายๆครั้ง Hatsunosuke Okamoto สองสามี-ภรรยา อพยพย้ายมาอาศัยอยู่ Osaka ต่างคนต่างมีวิถีชีวิตที่แตกต่าง คนหนึ่งแม่บ้าน อีกคนมนุษย์เงินเดือน (Salary Man) พยายามนำเสนอมุมมองของทั้งสอง เพื่อให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจเรื่องราวทั้งสองด้าน
- อารัมบท, การมาถึงของ Satoko Okamoto
- Michiyo บรรยายถึงการย้ายมาอาศัยอยู่ Osaka ตั้งคำถามถึงวิถีชีวิต การตัดสินใจของตนเอง
- หลังอาหารเช้า Hatsunosuke เดินทางไปทำงานบริษัทตลาดหลักทรัพย์
- การมาถึงของ Satoko หลบหนีการแต่งงานมาพึ่งใบบุญลุง Hatsunosuke
- ความเคลือบแคลงของ Michiyo
- เช้าวันถัดมา Hatsunosuke นำพาหลาน Satoko ขึ้นรถโดยสารทัวร์ Osaka
- งานเลี้ยงรวมรุ่นของ Michiyo พบเจอเพื่อนห้าคนที่อาศัยอยู่ Osaka
- กลับมาบ้านพบเห็นความขี้เกียจคร้านของ Satoko
- หลังเลิกงาน Hatsunosuke ไปดื่มกับเพื่อนร่วมงาน
- Satoko ใช้ชีวิตวันอย่างเตร็ดเตร่ เร่ร่อน ไร้แก่นสาน
- ฟางเส้นสุดท้ายของ Michiyo ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่ Tokyo
- Michiyo เดินทางสู่ Tokyo
- เรื่องวุ่นๆบนขบวนรถไฟ
- พอกลับมาถึงบ้าน ก็ใช้ชีวิตวันๆอย่างเตร็ดเตร่ ไร้แก่นสาน
- Hatsunosuke ได้รับการเลื่อนขั้นจากหัวหน้า แต่การไม่มีภรรยาอยู่เคียงข้าง จึงรู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่า
- วันหนึ่ง Satoko หลบหนีออกจากบ้าน(อีกแล้ว) มาขอพึ่งใบบุญ Michiyo แต่ถูกพี่ชายขับไล่ ผลักไสส่ง
- ปัจฉิมบท, การตัดสินใจของ Michiyo
- Hatsunosuke เดินทางมาหา Michiyo ที่กรุง Toyko
- Michiyo ตัดสินใจเดินทางกลับ Osaka ร่วมกับสามี
เพลงประกอบโดย Fumio Hayasaka, 早坂 文雄 (1914-55) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Sendai, Miyagi บนเกาะ Honshū ก่อนครอบครัวย้ายมาอยู่ Sapporo, Hokkaido บิดามีความชื่นชอบการวาดภาพ บุตรชายเลยครุ่นคิดอยากเป็นจิตรกร แต่พออายุ 15 ค้นพบว่าชื่นชอบด้านดนตรี ทว่าปีถัดมาบิดาทอดทิ้งครอบครัว แถมมารดาล้มป่วยเสียชีวิต จึงจำต้องดูแลน้องๆทั้งสอง ล้มเลิกความตั้งใจเรียนต่อ ถึงอย่างนั้นก็พยายามมองหาสิ่งต่างๆทดแทน ร่วมกับเพื่อนสนิท Akira Ifukube และ Atsushi Miura ก่อตั้งกลุ่ม New Music League เข้าร่วมประกวดคว้ารางวัลมากมาย, กระทั่งปี ค.ศ. 1939 ย้ายสู่ Tokyo เริ่มต้นทำเพลงประกอบภาพยนตร์ กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Akira Kurosawa และ Kenji Mizoguchi ผลงานเด่นๆ อาทิ Drunken Angel (1948), Stray Dog (1949), Rashomon (1950), Repast (1951), Ikiru (1952), Ugetsu (1953), Sansho the Bailiff (1954), Seven Samurai (1954), A Story from Chikamatsu (1954) ฯ น่าเสียดายอายุสั้นไปหน่อย เสียชีวิตจากวัณโรคเมื่อปี ค.ศ. 1955
งานเพลงในสไตล์ Naruse บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสากล เพื่อสื่อถึงโลกยุคสมัยใหม่ ซึ่งสำหรับ Repast (1951) ใช้แทนความรู้สึกของภรรยา Michiyo Okamoto โหยหาอิสรภาพ ไม่ต้องการอุดอู้คุดคู้ ซ้ำซากจำเจ ศิโรราบภายใต้บุรุษ/สามี นั่นคือแนวคิดหญิงสาวสมัยใหม่ … แม้สุดท้ายเธอจะยินยอมประณีประณอม แต่ก็ด้วยความเข้าใจระหว่างคนสอง ไม่ใช่ปิดกั้น กีดกัน ตัวใครตัวมันอีกต่อไป
บทเพลงแทบทั้งหมดคละคลุ้งด้วยกลิ่นอายความหวัง มันอาจมีระลอกคลื่นขึ้น-ลง (ไต่ไล่ระดับตัวโน๊ต) แต่ท้ายที่สุดชีวิตก็ยังสามารถดำเนินต่อไป
ตั้งแต่โบราณกาล ชาวญี่ปุ่นยึดถือในวิถีชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) บุรุษคือช้างเท้าหน้า หน้าที่ของสตรีเพศคือแต่งงาน เลี้ยงลูก ดูแลงานบ้านงานเรือนอย่าให้ขาด แต่เมื่ออิทธิพลจากยุโรปแผ่อิทธิพลเข้ามา รวมถึงความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นอาณานิคมสหรัฐอเมริกา แนวคิด วิถีชีวิตของหญิงสาว-คนรุ่นใหม่ จึงกำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป
จริงๆตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกที่ผกก. Naruse พยายามนำเสนอมุมมอง ทัศนคติ ค่านิยม(หญิงสาว)ยุคสมัยใหม่ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่เพราะสังคมญี่ปุ่นยังคงปิดกั้น ไม่ยินยอมรับเรื่องพรรค์นี้ ตอนสรรค์สร้าง Repast (1951) ก็ชัดเจนว่ายังไม่ค่อยเปิดกว้าง แทนที่สตูดิโอจะยินยอมให้ภรรยาเลิกราหย่าร้าง บีบบังคับตอนจบต้องหวนกลับมาคืนดี เพื่อตอบสนอง “mass appeal” ผลลัพท์ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม!
ผมแนะนำให้ลองรับชมผลงานเรื่องอื่นๆที่ผกก. Naruse ดัดแปลงนวนิยายของ Fumiko Hayashi ยกตัวอย่าง Lightning (1952), Late Chrysanthemums (1954), Floating Clouds (1955) ฯ แล้วจะพบเห็นความชัดเจนถึงตอนจบที่ควรเป็น/ตามความตั้งใจของผู้แต่ง คำเรียกนักเขียน Feminist ย่อมไม่มีหนทางออกอื่น
จะว่าไป Repast (1951) เกือบจะสามารถเป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติผกก. Naruse สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับอดีตภรรยา/นักแสดง Sachiko Chiba คงแทบไม่แตกต่างจาก Hatsunosuke และ Michiyo ซึ่งชีวิตจริงของทั้งสองจบลงด้วยการเลิกราหย่าร้าง
ผมเชื่อว่าผกก. Naruse ก็คงอยากทำตอนจบที่สะท้อนชีวิตจริงของตนเอง แต่ทว่าตัวเขาไม่แตกต่างจาก Hatsunosuke (รวมถึงนักแสดง Ken Uehara) รับรู้ตัวว่าไม่ได้มีศักยภาพ ความสามารถที่จะเผชิญหน้า โต้ตอบ ขัดขืนคำสั่งจากเบื้องบน … ปฏิเสธเพื่อนร่วมงาน พึงพอใจกับสิ่งที่มี ได้รับโอกาสเลื่อนขั้นจากหัวหน้า ฉากเหล่านั้นราวกับนำจากประสบการณ์/ชีวิตจริงของ Naruse
ตอนจบของหนังจึงสร้างความระทมทุกข์ มากกว่าที่ผมจะรู้สึกยินดีปรีดา เพราะมันไม่มีทางที่นกน้อยได้ลิ้มรสแห่งอิสรภาพ จักยินยอมหวนกลับสู่กรงขัง สักวันก็คงแห้งเหี่ยวเฉาตาย ไม่ก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายเดียวกันนี้ซ้ำไปซ้ำมา จนกว่าถึงวันเลิกราหย่าร้าง
ปล. ชื่อหนัง めし, Meshi รวมถึงชื่อภาษาอังกฤษ Repast (คำนี้ไม่ได้แปลว่าย้อนอดีต แต่หมายถึงมื้ออาหาร, เวลารับประทานอาหาร) สื่อถึงกิจการงานบ้าน(การทำอาหาร)ที่สร้างความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่ายให้กับภรรยา Michiyo จนครุ่นคิดอยากจะทำอะไรสักสิ่งอย่าง แต่ตอนจบก็เวียนวนกลับมายังร้านอาหาร เพราะมันคือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถดิ้นหลบหนี


แม้ตอนจบของหนังจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่ภาพรวมได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม สามารถกวาดรางวัลมากมายจาก Mainichi Film Concours และ Blue Ribbon Awards (ตอนนั้นยังไม่มี Japan Academy Film Prize) รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี (ประกาศแต่ผู้ชนะ ไม่มีประกาศเรื่องเข้าชิง)
- Mainichi Film Award
- Best Film ** คว้ารางวัลเคียงคู่กับ Early Summer (1951)
- Best Director ** คว้ารางวัล
- Best Actress (Setsuko Hara) ** คว้ารางวัล
- Best Cinematography ** คว้ารางวัล
- Best Sound Recording ** คว้ารางวัล
- Blue Ribbon Awards
- Best Film ** คว้ารางวัล
- Best Actress (Setsuko Hara) ** คว้ารางวัล
- Best Supporting Actress (Haruko Sugimura) ** คว้ารางวัล
- Best Screenplay **คว้ารางวัล
นอกจากนี้หนังยังเคยได้รับการโหวตจากนิตยสาร Kinema Junpo
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี ค.ศ. 1951 #ติดอันดับ 2 รองจาก Early Summer (1951)
- Top 100 best Japanese movies ever made (1999) #ติดอันดับ 116
ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะ มีเพียงจัดจำหน่าย DVD แนะนำคอลเลคชั่น Master of Cinema ของค่าย Eureka Entertainment มันจะมีบ็อกเซ็ต Naruse: Volume One ประกอบด้วย Repast (1951), Sound of the Mountain (1954) และ Flowing (1956)
สำหรับคนรุ่นเก่า อนุรักษ์นิยม รับชม Repast (1951) อาจมีความหลงใหลคลั่งไคล้ตอนจบ นั่นคือสิ่งที่ภรรยาควรเรียนรู้ ยินยอมรับ ก้มหัวศิโรราบให้กับบุรุษ, แต่เมื่อยุคสมัยผันแปรเปลี่ยน โลกยุคสมัยใหม่เสี้ยมสอนสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง การตัดสินใจของนางเอกจึงไม่สมเหตุสมผล และไม่น่าจะตรงตามความตั้งใจเจ้าของบทประพันธ์
ผมเองก็แอบรู้สึกเสียดาย เพราะภาพรวมของหนังคุณภาพระดับขึ้นหิ้ง แต่ตอนจบทำให้สูญเสียสถานะอมตะ เหนือกาลเวลา รับชมในปัจจุบันมันคือแนวคิดเฉิ่มเชย ตกยุคสมัย เคยยิ่งใหญ่แค่ก่อนการมาถึงของสหัสวรรษใหม่! … แต่ถ้าเรามองอีกแง่มุมหนึ่ง การยินยอมเลือกตอนจบนี้ ทำให้ผกก. Naruse มีโอกาส รวมถึงอิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงานเรื่องถัดๆไป กลายเป็นเหมือน ‘springboard’ พุ่งทะยานสู่การเป็นปรมาจารย์ผู้กำกับภาพยนตร์
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply