
I Love You, I Love You (1968)
: Alain Resnais ♥♥♥
การทดลองย้อนอดีต (Time Travel) ที่ทำให้ Claude Rich กระโดดไปกระโดดมาหลากหลายช่วงเวลาในทุกๆนาที ผู้ชมต้องคอยแปะติดปะต่อกระเบื้องโมเสกความทรงจำ เพื่อค้นหาเหตุการณ์บังเกิดขึ้นทั้งหมด
Je t’aime, je t’aime (1968) เป็นภาพยนตร์สำหรับคนชื่นชอบความท้าทาย ละเล่นเกมค้นหาเรื่องราวบังเกิดขึ้น ผ่านการแปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ แต่ละซีนความยาวไม่เกินหนึ่งนาที จากนั้นกระโดดไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง ยังไม่ทันรับรู้อะไรก็กระโดดไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง ย้อนกลับไปกลับมา รวมระยะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง … ใครชอบคงชอบมาก ใครไม่ชอบก็คงส่ายหน้าหนี
ผกก. Resnais อาจถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้กระมัง ใช้สื่อภาพยนตร์ทำการทดลองเกี่ยวกับเวลา ก็ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก Hiroshima mon amour (1959) นำเสนอคู่ขนานระหว่างญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส (Space) อดีต-ปัจจุบัน (Time), Last Year at Marienbad (1961) นำเสนอแบบพหุจักรวาล (Multiverse) เมื่อปีก่อนในหลายภพชาติ หลายสถานที่ หลายโอกาส เขาพยายามโน้มน้าวชักชวนเธอหนีตามกันไป
และสำหรับ Je t’aime, je t’aime (1968) มองผิวเผินคือหนังไซไฟ (Sci-Fi) เกี่ยวกับการย้อนเวลา (Time Travel) แต่แท้จริงแล้วทำการทดลองเกี่ยวกับความทรงจำ สมองมนุษย์มีศักยภาพเพียงพอที่จะแปะติดปะต่อเศษเสี้ยวเหตุการณ์ต่างๆ ประมวลผลจนได้เรื่องราวทั้งหมดอย่างน่าสนเท่ห์
เช่นนั้นแล้ว … ทำไมหนังถึงชื่อ Je t’aime, je t’aime แปลว่า I Love You, I Love You?? ต้องซ้ำสองครั้งนะ??
This 1968 film’s title, Je T’aime, Je T’aime, translated into English is I love you, I love you, which suggests that what you are about to watch very well could be a sappy French romance. Nothing could be further from the truth. Instead, director Alain Resnais’ film is a futuristic psychological drama and a deep dive into the disturbing nuances of a damaged relationship and the suicidal mind.
นักวิจารณ์ Leo Gray จากนิตยสาร The Baltimore Sun
Alain Resnais (1922-2014) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Vannes, Brittany ช่วงวัยเด็กล้มป่วยโรคหอบหืด ทำให้ต้องร่ำเรียนหนังสืออยู่กับบ้าน ชื่นชอบการอ่านการ์ตูน และหลงใหลในสื่อภาพยนตร์, วันเกิดอายุ 12 ได้รับของขวัญกล้อง Kodak 8mm จึงทดลองสร้างหนังสั้น แต่หลังมีโอกาสรับชมละครเวที เปลี่ยนความสนใจอยากเป็นนักแสดง โตขึ้นเดินทางสู่ Paris ทำงานเป็นผู้ช่วย Georges Pitoëff ณ โรงละคอน Théâtre des Mathurins ระหว่างนั้นฝึกฝนการแสดงยัง Cours René-Simon เริ่มตระหนักว่าการเป็นนักแสดงไม่ค่อยเหมาะสมกับตน เลยกลับสู่ความสนใจภาพยนตร์ ศึกษาการตัดต่อจาก Jean Grémillon สอนอยู่สถาบันเปิดใหม่ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC)
Resnais อาสาสมัครทหารเมื่อปี ค.ศ. 1945 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองถูกส่งไป Germany และ Austria ในฐานะสมาชิกคณะการแสดง Les Arlequins พบเห็นเศษซากปรักหักพัง ซึมซับบรรยากาศโศกนาฎกรรม, หลังปลดประจำการทหาร เดินทางกลับสู่ Paris ทำงานเป็นนักตัดต่อ ถ่ายทำหนังสั้นเรื่องแรก Schéma d’une identification (1946) [สูญหายไปแล้ว], ผลงานในยุคนี้มักเป็นสารคดีขนาดสั้น เกี่ยวกับศิลปิน/จิตรกร อาทิ Van Gogh (1948) [คว้า Oscar: Best Short Subject (Two-Reel)], Gauguin (1950), Guernica (1950), Statues Also Die (1953), ก่อนโด่งดังจากผลงาน Nuit et Brouillard (1955) แปลว่า Night and Fog สารคดีเรื่องแรกที่นำเสนอภาพเหตุการณ์ในค่ายกักกันนาซี, และภาพยนตร์ขนาดยาว Hiroshima mon amour (1959), Last Year at Marienbad (1961) ฯ
ผกก. Resnais รับรู้จักกับ Jacques Sternberg (1923-2006) นักเขียนนวนิยายไซไฟ-แฟนตาซี (Fantastique) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 มีความสนิทสนม พูดคุยถูกคอ ชื่นชอบผลงานกันและกัน เลยชักชวนมาร่วมงานภาพยนตร์ มีแนวคิดอะไรน่าสนใจแนะนำมาได้เลย!
Sternberg ยื่นเสนอมาสี่โปรเจค ผกก. Resnais เลือกเรื่องราวเกี่ยวกับการย้อนเวลา (Time Travel) พระเอกกระโดดไปกระโดดมาช่วงเวลาต่างๆของชีวิต เปรียบเทียบสำรับไพ่โยนขึ้นกลางอากาศ บางใบหงาย บางใบคว่ำ “a good part of the cards are covered, we don’t talk about them, and the others are scattered, they don’t form a continuous series.”
ด้วยความที่ผกก. Resnais ติดพันหลากหลายโปรเจค จึงไม่เร่งรีบร้อนพัฒนาบทหนัง ในปีแรกมอบหมายให้ Sternberg ครุ่นคิดหาโครงสร้าง กรอบเรื่องราว ใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะได้ข้อสรุป นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลอง, ชายคนหนึ่งพยายามฆ่าตัวตาย, ย้อนเวลากลับไปหาหญิงคนรัก, เผชิญหน้ากับความสุข-ทุกข์ และช่วงเวลาแห่งการสูญเสียอีกครั้งหนึ่ง
ตัวละคร Claude Ridder พัฒนาขึ้นโดย Sternberg ใช้ตนเองเป็นต้นแบบ อาชีพนักเขียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเคยปลอมแปลงเอกสาร เกือบเอาตัวไม่รอดหวุดหวิดหลายครั้ง, ส่วนตัวละคร Catrine ก็คือศรีภรรยา Francine (ของ Sternberg) ที่ถูกครอบครัวทอดทิ้งตั้งแต่เธออายุห้าขวบ
ในช่วงสองสามปีสุดท้าย (จากห้าปี) การพัฒนาบทหนังนั้น Sternberg จะครุ่นคิดเขียนฉากสั้นๆ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผกก. Resnais ทุกวันอาทิตย์ แล้วจัดแยกใส่สามตะกร้า 1) น่าสนใจ 2) ลังเลใจ 3) ไม่น่าสนใจ, รวมๆแล้ว 800-900 หน้ากระดาษ ซึ่งในตะกร้าน่าสนใจมีประมาณ 240 ฉาก!
หลังจากพัฒนาบทหนังแล้วเสร็จ ยังมีอีกอุปสรรคใหญ่คือไม่ใครอยากให้ทุนสร้าง เรื่องราวมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน หาความน่าสนใจแทบไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นจุดขาย เห็นว่าต้องขึ้นหิ้งเป็นปีๆจนกระทั่ง François Truffaut โน้มน้าวโปรดิวเซอร์ Mag Bodard ยินยอมตอบอนุมัติโปรเจค (โดยที่ผกก. Resnais ไม่รับรู้มาก่อน)
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งมีความสนใจในตัว Claude Ridder (รับบทโดย Claude Rich) รอดชีวิตจากความพยายามฆ่าตัวตายอย่างหวุดหวิด ชักชวนมาร่วมทำการทดลองย้อนเวลา (Time Travel) ถ้าทำสำเร็จประเมินว่าจะย้อนได้หนึ่งนาทีเมื่อปีที่แล้ว
แต่เมื่อเริ่มทำการทดลอง ปรากฎว่า Claude Ridder กลับกระโดดไปกระโดดมา ปรากฎตัว-สูญหาย โผล่วันเวลานี้ที แล้วไปโผล่อีกวันเวลานี้ที ไปๆกลับๆ ไม่สามารถควบคุมการเดินทาง จนท้ายที่สุดนักวิทยาศาสตร์จำต้องยินยอมรับชะตากรรม ว่าหนูทดลองคนนี้คงไม่รอดชีวิตกลับมา
Claude Rich (1929-2017) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Strasbourg แล้วมาเติบโตที่ Paris, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองถูกส่งไปโรงเรียนประจำ ณ Neauphle-le-Vieux แล้วมีโอกาสรับชมการแสดงละคอนเวทีของ Michel Bouts เกิดความชื่นชอบหลงใหล เข้าฝึกฝนการแสดงยัง Conservatoire National Supérieur d’Art Dramatique รุ่นเดียวกับ Jean Rochefort, Jean-Paul Belmondo, Jean-Pierre Marielle และ Bruno Cremer รวมกลุ่มชื่อว่า Conservatoire Gang, หลังเรียนจบกลายเป็นนักแสดงละคอนเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก The Grand Maneuver (1955), ส่วนใหญ่เล่นบทสมทบจนกระทั่งได้รับบทนำครั้งแรกกับ Je t’aime, je t’aime (1968), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Le souper (1992) ฯ
รับบท Claude Ridder เมื่อครั้นทำงานเป็นบรรณาธิการข่าว ตกหลุมรักลูกจ้างชั่วคราว Catrine (รับบทโดย Olga Georges-Picot) กลายเป็นสามี-ภรรยา แต่หลังจากเธอล้มป่วยหนัก ทำให้เขาแอบคบชู้นอกใจ ครั้งหนึ่งเมื่อพากันไปท่องเที่ยว Scotland อุบัติเหตุคร่าชีวิตภรรยา ก่อเกิดความรู้สึกผิด เลยครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตาย โชคดี(หรือร้ายก็ไม่รู้)ได้รับการช่วยเหลือไว้ทัน ภายหลังจึงยินยอมเป็นหนูทดลอง ย้อนเวลากลับหาอดีต หวนระลึกถึงความรักและสิ้นหวัง
ช่วงระหว่างพัฒนาบทหนัง Jacques Sternberg มีภาพนักแสดง Maurice Ronet ประทับใจจากจากภาพยนตร์ The Fire Within (1963) แต่ถูกปฏิเสธโดยผกก. Resnais เพราะอยากร่วมงานกับ Claude Rich
ผมบอกไม่ได้ว่า Rich เล่นดี-แย่ประการใด เพราะการกระโดดไปกระโดดมา ทำให้ไม่เห็นความต่อเนื่องด้านการแสดง ฉากโน่นเล่นอย่างหนึ่ง ฉากนี้เล่นอย่างหนึ่ง ถึงอย่างนั้นสิ่งที่พอสังเกตได้ก่อนเริ่มการทดลองคือความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า (เพราะเพิ่งพยายามฆ่าตัวตายมา) ในช่วงแรกๆยังดูระริกระรี้ ยินดีที่ได้พบเจอหญิงคนรัก แต่เมื่อตระหนักว่าตนเองจักต้องเผชิญหน้าโศกนาฎกรรม(อีกครั้ง) ค่อยๆตกอยู่ในความห่อเหี่ยว สิ้นหวัง ไร้หนทางออก นอกจากพยายามฆ่าตัวตายอีกครั้ง
ถ่ายภาพโดย Jean Boffety (1925-88) สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Je t’aime, je t’aime (1968), The Things of Life (1970), A Simple Story (1978), Les Uns et les Autres (1981) ฯ
ในตอนแรกผกก. Resnais วางแผนจะถ่ายทำฉากย้อนเวลาแบบ Subjective Camera อธิบายง่ายๆก็คือใช้กล้องแทนมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First-Person หรือ Point-of-View) แต่มันคงมีความยุ่งยากลำบาก ข้อจำกัดมากเกินไป เลยล้มเลิกความตั้งใจ
งานภาพของหนังทำการย้อมโทนสีน้ำเงิน มอบสัมผัสหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สร้างบรรยากาศหมองหม่น (ยกเว้นเพียงในห้องทดลองที่ใช้โทนสีน้ำตาล) สำหรับสะท้อนอารมณ์ห่อเหี่ยว สิ้นหวัง หลังการฆ่าตัวตาย และกำลังจะต้องเผชิญหน้าโศกนาฎกรรมอีกครั้ง
แตกต่างจากผลงานก่อนๆของผกก. Resnais ที่มักมีลีลาเคลื่อนเลื่อนกล้องอย่างโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เพื่อสื่อถึงกาลเวลาเคลื่อนผ่านพาน, Je t’aime, je t’aime (1968) แม้วันเวลากระโดดไปกระโดดมา แต่ทว่าสำหรับตัวละคร Claude Ridder นาฬิกาในตัวเขาเกือบหยุดนิ่ง (เคยพยายามฆ่าตัวตาย) กล้องจึงแทบไม่ขยับเคลื่อนไหวติง (พบเห็นแค่แพนนิ่ง กล้องตั้งอยู่กับที่แล้วใช้การขยับหมุนไปมา)
เกร็ด: หนังปักหลักถ่ายทำอยู่ Brussels, Belgium ระหว่างวันที่ 4 กันยายน – 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1967
ห้องทดลองสำหรับทำการย้อนเวลา (Time Travel) ดูราวกับก้อนเนื้อ (Lump of Flesh) ผมมองว่ามีลักษณะละม้ายคล้ายสมอง เพราะการย้อนเวลาของตัวละคร ล้วนคือวันเวลา-สถานที่ที่เขาเคยประสบพบเจอ ยังคงติดค้างอยู่ในความทรงจำ หวนระลึกนึกย้อนอดีต ฉายภาพ “Flash”back
แซว: การทดลองย้อนอดีตด้วยวิธีการฉีดยา แล้วปรากฎภาพที่ราวกับอยู่ในความทรงจำ ดูแล้วน่าจะรับอิทธิพลไม่น้อยจากโคตรหนังสั้น La Jetée (1962) ของผู้กำกับ Chris Marker


ภาพแรกที่ปรากฎขึ้นเมื่อตัวยาเริ่มออกฤทธิ์ คือการดำผุดดำว่าย โผล่ขึ้นริมชายฝั่ง Ostend Beach ทางตอนเหนือประเทศ Belgium (ติดทะเล North Sea) ซึ่งเราสามารถตีความถึงจิตใต้สำนึก หวนระลึกความทรงจำ … ที่นักจิตวิทยาชอบใช้เปรียบเทียบสิ่งภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง

บ่อยครั้งที่ตัวละครหวนกลับมาปัจจุบัน นอนอยู่ในห้องทดลอง พูดแสดงความรู้สึก ช่วงแรกๆพร่ำเพ้อถึงคนรัก Je t’aime, je t’aime ก่อนตระหนักว่าเธอจากไปแล้ว แล้วเขากำลังจะต้องพบเห็นโศกนาฎกรรมนั้นอีกครั้ง ไม่สามารถหยุดยับยั้ง(การย้อนเวลา) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจมปลัก/ถูกกลืนกินเข้าไปในเบาะ(ที่อยู่ในห้องทดลอง) ค่อยๆสูญเสียตนเอง ตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย หลงเหลือวิธีเดียวจักสิ้นสุดทุกสิ่งอย่าง

ความตั้งใจของนักเขียน Jacques Sternberg ไม่ได้ต้องการให้มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไรบังเกิดขึ้นในโรงแรมที่ Glasgow แต่โศกนาฎกรรม/ความตายของ Catrine เกิดจากถูกรถชนเสียชีวิต ไม่ใช่ฆ่าตัวตาย หรือ Claude Ridder เปิดเตาผิงไฟทิ้งไว้ ซึ่งผกก. Resnais เลือกตัดทิ้งฉากเหล่านั้นเพื่อสร้างความคลุมเคลือ ไม่นำเสนอออกมาตรงๆว่าบังเกิดอะไรขึ้น (เหมือนสำรับไพ่โยนขึ้นกลางอากาศ ย่อมมีใบที่หงายและคว่ำ)

ช่วงท้ายของหนังที่ Claude Ridder ปรากฎตัวนอกห้องทดลอง เพื่อสื่อถึงการเดินทางข้ามเวลาที่ไม่จำกัดแค่ Space & Time ถึงอย่างนั้นการย้อนอดีตของเขากลับถูกจำกัดแค่เพียง 8 ปีก่อนหน้า ตั้งแต่แรกพบเจอว่าที่ภรรยา Catrine นี่อาจฟังดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ ไม่มีตอนเป็นเด็ก วัยรุ่นได้ยังไง? … ข้ออ้างของผกก. Resnais ต้องการนำเสนอแค่ช่วงเวลาระหว่างความรักและการสูญเสีย เริ่มต้น-สิ้นสุด Je t’aime, je t’aime

ตัดต่อโดย Colette Leloup และ Albert Jurgenson (1929-2002) สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Classe tous risques (1960), La Verité (1960), The Sucker (1965), La Grande Vadrouille (1966), Je t’aime, je t’aime (1968), Providence (1977), My American Uncle (1980), The Grilling (1981), Smoking/No Smoking (1993) ฯ
ยี่สิบนาทีแรกของหนังเป็นการเกริ่นนำ (Prologue) นักวิทยาศาสตร์แสดงความสนใจในตัว Claude Ridder ที่พยายามฆ่าตัวตาย แต่ได้รับความช่วยเหลือรอดชีวิตอย่างหวุดหวิด หลังออกจากโรงพยาบาล เข้ามาพูดคุยโน้มน้าว อธิบายโน่นนี่นั่น พามายังห้องทดลอง จากนั้น …
ชั่วโมงกว่าๆหลังจากนั้นคือการเดินทางข้ามเวลา (Time Travel) พบเห็น Claude Riddle กระโดดไปกระโดดมา (เสมือนภาพ “Flash”back) จากวันเวลาสถานที่หนึ่ง สู่อีกวันเวลาสถานที่หนึ่ง ครั้งละไม่เกิน 1-2 นาที โดยมีขอบเขตย้อนไปไกลสุด 8 ปี เมื่อครั้นแรกพบเจอ Catrine
ช่วงการเดินทางข้ามเวลา มันอาจดูสะเปะสะปะ ระเกะระกะ (Non-Chronological Order) แต่ผมมีสองข้อสังเกตที่อาจช่วยเสริมความเข้าใจในการรับชม
- บ่อยครั้งจะมีการตัดกลับมาปัจจุบัน ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์(ภายนอกห้องทดลอง)ต่างพร่ำบ่นไร้สาระ, Claude Riddle (ภายในห้องทดลอง) มักพรรณาความรู้สึกของตนเองออกมา ซึ่งสามารถแบ่งออกคร่าวๆ
- ช่วงแรกๆรู้สึกดีใจเมื่อได้พบเจอ Catrine หวนระลึกความรัก พร่ำเพ้อรำพัน Je t’aime, je t’aime
- เมื่อครุ่นคิดได้ว่าเธอจากไปแล้ว เริ่มรู้สึกหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก
- ต่อมาตระหนักว่าตนเองกำลังต้องเผชิญหน้าโศกนาฎกรรมซ้ำอีกรอบ จึงตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยวสิ้นหวัง
- และหลังจากค้นพบว่าตนเองไม่สามารถดิ้นหลบหนี หยุดยับยั้งการย้อนเวลา หนทางออกหนึ่งเดียวเท่านั้นคือฆ่าตัวตายรอบสอง
- ช่วงแรกๆจะยังไม่ค่อยมีความต่อเนื่องระหว่างวันเวลาสถานที่ แต่หลังๆจะเริ่มพบเห็นบางสิ่งอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์ จากห้องนอนหนึ่งกับแฟนสาวคนหนึ่ง → สู่อีกห้องนอน อีกหญิงสาวคนหนึ่ง, เปิดประตูเดินออกจากห้องนอน → ก้าวเข้ามายังคาเฟ่แห่งนี้, โดยเฉพาะฉากกระทำอัตวินิบาต มันเหมือนว่า Claude Riddle ยิงตนเองอีกหน แล้วกระโดดไปกระโดดมา ค้นหาสถานที่แห่งความตาย
ช่วงระหว่างการตัดต่อ ผกก. Resnais ทดลองนำเรื่องราวย้อนเวลามาไล่เรียงตามลำดับเวลา (Chronological Order) เพื่อดูว่าผลลัพท์จะออกมาเช่นไร? ก่อนพบว่าหนังไม่สามารถสร้างสัมผัสทางอารมณ์ให้บังเกิดขึ้นแม้แต่น้อย … นี่แปลว่าผลสัมฤทธิ์ของหนังเกิดจากลีลาตัดต่อเท่านั้นเอง!

เพลงประกอบโดย Krzysztof Eugeniusz Penderecki (1933-2020) คีตกวีสัญชาติ Polish เกิดที่ Dębica หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มร่ำเรียนไวโอลินกับ Stanisław Darłak ฉายแววจนได้เข้าศึกษาต่อ Jagiellonian University แล้วร่ำเรียนการแต่งเพลง Academy of Music in Kraków พอสำเร็จการศึกษาได้งานอาจารย์สอนแต่งเพลง ประพันธ์ซิมโฟนี่ ออร์เคสตรา แจ้งเกิดกับ Threnody to the Victims of Hiroshima (1960) นั่นกระมังทำให้ได้รับชักชวนจากผู้กำกับ Alain Resnais ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Je t’aime, je t’aime (1968)
ตอนเห็นเครดิตของ Penderecki ผมก็แอบคาดหวังไว้เยอะ Opening Credit สร้างความโหยหวน คร่ำครวญ บรรยากาศสิ้นหวัง สั่นสะท้านทรวงใน ระหว่างรับชมเลยพยายามเงี่ยหูฟัง แต่กลับแทบไม่ได้ยินอะไรนอกจาก ‘diegetic music’ เสียงประกอบ (Sound Effect) ยังโดดเด่นเสียกว่า!
มันอาจเพราะลีลาตัดต่อ กระโดดไปกระโดดมา มันจึงไม่หลงเหลือช่องว่าง ช่วงเวลาสำหรับแทรกใส่เพลงประกอบ นานๆครั้งถึงได้ยินบทเพลงจากโทรทัศน์ เครื่องเล่นแผ่นเสียง ฯ
Je t’aime, je t’aime (1968) มีเรื่องราวเกี่ยวกับชายเห็นแก่ตัว ตกหลุมรัก แต่งงานกับหญิงสาว แต่ยังแอบสานสัมพันธ์หญิงอื่น พอเธอพลันด่วนเสียชีวิต ครุ่นคิดได้เมื่อสาย พยายามฆ่าตัวตาย กลายเป็นหนูทดลองที่ต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำสอง ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังอาลัย
แม้เรื่องราวของหนังจะเกี่ยวกับการย้อนเวลา (Time Travel) แต่แท้จริงแล้วกลับร้อยเรียงภาพเหตุการณ์ทรงจำ สะท้อนจิตวิทยาตัวละคร อดีตติดตามมาหลอกหลอน ฉายภาพความรัก-สิ้นหวัง “Flash”back ของคนพยายามฆ่าตัวตาย … ก่อนจะลงมือฆ่าตัวตายจริงๆ
ความสนใจของผกก. Resnais และนักเขียน Jacques Sternberg ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการย้อนเวลา หรือภาพสุดท้ายก่อนฆ่าตัวตาย เพียงการทดลองภาพยนตร์ด้วยการฉายฉากเล็กฉากน้อย คล้ายๆจิ๊กซอว์ กระเบื้องโมเสก วางอยู่กระจัดกระจาย กระโดดไปกระโดดมา ไม่ดำเนินไปตามเส้นเรื่องราว (Non-Linear Narrative) แล้วท้าทายศักยภาพผู้ชม จะสามารถขบครุ่นคิด ทำความเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดได้หรือไม่?
คำตอบคือ “ได้” (ถ้าตั้งใจรับชมจริงๆ) สมองมนุษย์มีศักยภาพเพียงพอจะแปะติดปะต่อ แบ่งแยกแยะ จัดหมวดหมู่เหตุการณ์ละม้ายคล้าย แล้วเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน … ความทรงจำมนุษย์ก็มีลักษณะเช่นนั้น ไม่มีทางที่เราจะจดจำทุกสิ่งอย่าง เวลาหวนระลึกถึงก็เพียงเหตุการณ์สำคัญๆ ช่วงเวลาสั้นๆ
แซว: สำหรับคนดูหนังไม่รู้เรื่อง อย่างน้อยที่สุดระหว่างรับชมก็น่าจะจักเข้าใจความรู้สึกตัวละคร ตกอยู่ในสถานการณ์สิ้นหวังไม่ต่างกัน!
ตั้งใจจะฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่ทว่าปีนั้นเกิดเหตุการณ์ Mai’ 68 ล้มเลิกจัดงาน ซึ่งนั่นส่งผลกระทบอย่างมากๆ เพราะหนังไม่มีจุดขาย ดูยากเกินไป กระแสปากต่อปากก็ไม่มี ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสเพียงแค่ 390,000+ ใบ ถือว่าขาดทุนย่อยยับ!
กาลเวลาทำให้ผู้ชมสมัยใหม่เปิดใจกับหนังมากขึ้น หลังการมาถึงของ Memento (1999), Peppermint Candy (1999) และโดยเฉพาะ Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ที่ผกก. Michel Gondry กล่าวว่านำแรงบันดาลใจจาก Je t’aime, je t’aime (1968)
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K โดย Cine-Mag Bodard ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจาก CNC (Centre National de la Cinématographie) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015, สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Kino Lorber (แต่แปลงมาแค่ HD) หรือ Radiance Films (2K พร้อมของแถมตรึม วางจำหน่ายมีนาคม ค.ศ. 2025)
ลึกๆผมอยากจะชื่นชอบหนังนะ แต่รู้สึกว่าเรื่องราวมันกลวงไปหน่อย ไม่มีอะไรให้น่าจดจำ แถมจำกัดระยะเวลาแค่เพียงแปดปี (ไม่มีตอนเป็นเด็ก, วัยรุ่นได้ยังไง?) โดดเด่นเพียงลีลาตัดต่อ ย้อนเวลากระโดดไปกระโดดมา แล้วยังสามารถทำความเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมด … ท้าทาย เสร็จแล้วก็แยกย้าย
จัดเรต 13+ กับความพยายามฆ่าตัวตาย
Leave a Reply