
The Party (1980)
: Claude Pinoteau ♥♥♥♡
La Boum ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า The Party, บางครั้งใช้ชื่อ Ready for Love, เรื่องราวของหญิงสาวแรกรุ่นกับความวุ่นๆในรัก(ครั้งแรก) ตรงกันข้ามกับบิดา-มารดาที่ใกล้เลิกราหย่าร้าง ความเห็นต่างระหว่างคนสองรุ่น มันช่างครื้นเครง อลเวง
La Boum (1980) อาจมีรายละเอียดพื้นหลังที่ดูเฉิ่มเชย ตกยุคสมัยไปนานแล้ว (แต่คนรุ่น Gen X น่าจะยังชื่นชอบ ได้หวนระลึกความหลัง) แต่เรื่องราวสะท้อนความขัดแย้งระหว่างสองคนรุ่น บิดา-มารดา vs. ลูกหลาน ผมว่ายังคงคลาสสิก และลีลานำเสนอของผกก. Pinoteau มีความจัดจ้านไม่เบา
- ถ้ารับชมหนังตอนวัยรุ่น คงถือหางเด็กสาว รักอิสระ ต่อต้านครอบครัว บิดา-มารดาช่างเห็นแก่ตัว โหยหาใครสักคน(แฟนหนุ่ม)สำหรับพึ่งพักพิง
- ตรงกันข้ามถ้าดูหนังตอนเป็นผู้ใหญ่ พบเห็นลูกหลาน วัยรุ่นนิสัยดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ พูดอะไรไม่ฟัง มันช่างเหนื่อยหน่ายใจยิ่งนัก แต่ด้วยสถานะบิดา-มารดา พยายามแสดงความห่วงใย เอ็นดูรักใคร่ ออกคำสั่ง/ให้คำแนะนำโน่นนี่นั่น เพื่อไม่อยากให้พบเจอสิ่งเลวร้าย กระทำเรื่องผิดพลาดก่อนวัยอันควร
ตอนที่หอภาพยนตร์และ Doc Club & Pub. เคยนำ La Boum (1980) มาฉายเมื่อปีสองปีก่อน ผมไม่ได้มีความสนอกสนใจสักเท่าไหร่ คือเกิดไม่ทัน ครุ่นคิดว่าแค่หนังวัยรุ่นทั่วๆไป แต่ระหว่างค้นหาข้อมูลเพื่อจะเขียนถึง ‘French Romantic’ พบเจอเรื่องนี้เคยฮิตถล่มทลาย เข้าฉายเมืองไทยสองปีให้หลังยังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีโปสเตอร์ภาษาไทย “ลาบูมที่รัก” ใครคือลาบูม?
แซว: ผมคุ้นๆว่าในหนังไม่มีอะไรเกี่ยวกับแอปเปิ้ล? แต่มันคือผลไม้ต้องห้ามในสวนอีเดน = เด็กสาววัยสิบสามยังมีความละอ่อนวัย บริสุทธิ์สดใส และกำลังจะถูกกัดกิน

Claude Pinoteau (1925-2012) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Boulogne-Billancourt, บิดาเป็นผู้จัดการละคอนเวที ตั้งแต่เด็กเลยคลุกคลีอยู่กับวงการแสดง สานงานต่อบิดา ก่อนได้รับชักชวนจาก Jean Cocteau มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ Les parents terribles (1948), Les enfants terribles (1950), สะสมประสบการณ์นานกว่าสองทศวรรษ กว่าจะกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก It Only Happens to Others (1971), โด่งดังสุดกับผลงาน La Boum (1980) และ La Boum 2 (1982)
จุดเริ่มต้นของ La Boum (1980) เกิดจาก Danièle Thompson (1942-) นักเขียนบทภาพยนตร์ชื่อดัง เจ้าของผลงานอมตะอย่าง La Grande Vadrouille (1966), Cousin Cousine (1975) ฯ บ่ายวันหนึ่งแวะเวียนกลับมาบ้าน พบเห็นบุตรสาววัยรุ่น Caroline จัดงานเลี้ยงปาร์ตี้ที่เต็มไปด้วยแสงสีสัน สวมใส่ชุดสุดเปรี้ยว ลุกขึ้นมาเริงระบำ เกิดอาการตกตะลึง คาดไม่ถึง มันหาใช่ปาร์ตี้น้ำชา (Tea Party) อย่างที่เคยครุ่นคิดเข้าใจ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Thompson บังเกิดแรงบันดาลใจพัฒนาบทหนัง La Boum แปลว่า The Party โดยเด็กหญิง Victoire มาจากบุตรสาว, ส่วนตัวละคร Poupette ก็จากยายตนเอง … นี่เท่ากับว่าบทบาทมารดา Françoise (ครอบครัว Beretton ) ก็คือภาพสะท้อนตัวตนเองของ Thompson ด้วยกระมัง!
หลังได้เค้าโครงเรื่อง บทร่างแรก นำไปพูดคุยหลากหลายโปรดิวเซอร์+ผู้กำกับเคยร่วมงาน ก่อนลงเอยที่ผกก. Pinoteau แสดงความสนอกสนใจ ร่วมกันพัฒนาบทหนังให้แล้วเสร็จ และยื่นของบประมาณได้จากสตูดิโอ Gaumont Film Company
ครอบครัว Beretton อพยพย้ายจากชนบทสู่กรุง Paris เพื่อส่งบุตรสาววัยรุ่น Victoire ชื่อเล่น Vic (รับบทโดย Sophie Marceau) เข้าศึกษาต่อ Lycée Henri-IV โรงเรียนดีที่สุดในเมืองหลวง แต่เธอยังไม่รับรู้จักใคร ต้องมองหาเพื่อนใหม่ ได้รับชักชวนเข้าร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ แล้วตกหลุมรักชายหนุ่มรูปงาม Matthieu
เรื่องวุ่นๆวายๆไม่ได้มีแค่บุตรสาว แต่ยังบิดา François (รับบทโดย Claude Brasseur) ทำงานทันตกรรม แอบนอกใจภรรยา Françoise (รับบทโดย Brigitte Fossey) ลักลอบสานสัมพันธ์ชู้รักเก่า วันดีคืนดีกลับยินยอมรับสารภาพผิด เลยถูกขับไล่ออกจากบ้าน พยายามงอนง้อขอโอกาส สุดท้ายแล้วจะทำสำเร็จหรือไม่?
Sophie Danièle Sylvie Maupu (เกิดปี ค.ศ. 1966) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาขับรถบรรทุก มารดาทำงานผู้ช่วยร้านค้า ครอบครัวหย่าร้างตอนบุตรสาวอายุเก้าขวบ, เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1980 มีแมวมองมาขอถ่ายรูป แล้วเข้าตาผู้กำกับ Claude Pinoteau จับเซ็นสัญญาระยะยาวกับสตูดิโอ Gaumont Film Company แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก La Boum (1980)
รับบท Victoire ‘Vic’ Beretton สาวแรกรุ่นวัยสิบสามปี ครอบครัวเพิ่งย้ายสู่ Paris เปิดเทอมใหม่ยังไม่รับรู้จักใคร ก่อนสนิทสนมกับเพื่อนสาว Penelope แล้วได้รับการชักชวนจาก Raoul เข้าร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ ที่นั่นทำให้แรกพบเจอรุ่นพี่ Matthieu แอบคบหา สานสัมพันธ์ อยากสูญเสียพรหมจรรย์ (แต่อีกฝ่ายไม่เอาด้วย) พานผ่านเหตุการณ์วุ่นๆวายๆตามประสาวัยรุ่น
บทบาทนี้มีการประกาศรับสมัคร เด็กสาวมากมายเดินทางมาคัดเลือกนักแสดง อาทิ Cristiana Reali, Emmanuelle Béart, Mathilda May, Sandrine Bonnaire, Sheila O’Connor ฯ แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่มีใครถูกตาต้องใจ ใกล้จะเปิดกล้องผกก. Pinoteau ถึงได้พบเห็นภาพถ่าย Sophie Marceau เลยเรียกตัวมา ทดสอบหน้ากล้อง ทั้งๆไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน กลับสร้างความประทับใจอย่างล้นหลาม
เหตุผลที่ผกก. Pinoteau มีความสนใจ Marceau จากทรงผมดำหน้าม้าที่แตกต่างจากพิมพ์นิยมสาวฝรั่งเศสผมบลอนด์ ดวงตาดูเศร้าๆ เหงาๆ แต่มีรอยยิ้มอันแสนสดใส ในส่วนการแสดงไม่มีเวลาฝึกฝนร่ำเรียน ก็ใช้ความเป็นธรรมชาติของสาววัยรุ่น ไม่ต้องปรุงปั้นแต่งอะไรมาก เพียงเท่านั้นก็ทำให้ผู้ชมตกหลุมรักระดับปรากฎการณ์
เกร็ด: แทนที่จะใช้ชื่อ-นามสกุลจริง Sophie Maupu, ผกก. Pinoteau กางแผนที่กรุง Paris ให้เธอเลือกหาชื่อในวงการ ก่อนจิ้มนิ้ว Avenue Marceau กลายมาเป็น Sophie Marceau เหตุผลเพราะต้องการเก็บชื่อจริง และนามสกุลออกเสียงละม้ายคล้ายกัน
พบเห็นการแสดงของ Marceau ชวนให้ผมนึกถึง Molly Ringwald ในภาพยนตร์ของผู้กำกับ John Hughes อย่าง Sixteen Candles (1984), The Breakfast Club (1985) ฯ ทั้งสองถือว่ารุ่นราวคราวเดียวกัน เคยเล่นบทสาวหัวขบถ ขัดแย้งครอบครัว โลกหมุนรอบตัวฉัน ระริกระรี้หาแฟนหนุ่มร่วมเพศสัมพันธ์, ในเรื่องการแสดง Ringwald มีความโดดเด่นกว่า แต่ทว่าความโด่งดังระดับปรากฎการณ์ของ Marceau ยากนักจะหาใครมาเทียบเคียง (สงสัยชาวตะวันตกเริ่มเบื่อสาวผมบลอนด์แล้วกระมัง)
ความสำเร็จล้นหลามของหนังทำให้มีการยื่นบทบาท ข้อเสนอมากมาย แต่ทว่า Marceau กลับซื้อคืนสัญญาตนเองจากสตูดิโอ Gaumont เพื่อเอาเวลาไปเรียนหนังสือจนจบก่อน ถึงอย่างนั้นก็ยินยอมเล่นภาคต่อ La Boum 2 (1982) และเริ่มรับงานแสดงจริงจังตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 (หลังเรียนจบมัธยม)
Claude Pierre Espinasse (1936-2020) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine, บุตรชายของคู่รักนักแสดง Pierre Brasseur และ Odette Joyeux แต่ทั้งสองก็ไม่ได้ใคร่สนใจบุตรชายคนนี้นัก ส่งไปโรงเรียนประจำ แล้วหลบหนีออกมาเป็นผู้ช่วยช่างภาพ Walter Carone นิตยสาร Paris Match, จากนั้นเข้าสู่วงการละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Eyes Without a Face (1960), Band of Outsiders (1964), Pardon Mon Affaire (1977), A Simple Story (1979), The Police War (1980), La Boum (1980) ฯ
รับบทบิดา François Beretton ประกอบอาชีพทันตกรรม (หมอฟัน) ตัดสินใจย้ายสู่กรุง Paris เพื่อส่งบุตรสาวเข้าศึกษาต่อ Lycée Henri-IV ขณะเดียวกันพบเจออดีตคนรักเก่า Vanessa เจ้าของร้านขายน้ำหอม มิอาจต้านทานมารยาหญิง จนเกิดความรู้สึกผิดต่อภรรยา จึงสารภาพความจริง แล้วถูกไล่ออกจากบ้าน ถึงอย่างนั้นยังพยายามติดตามมางอนง้อ ไม่อยากเป็นต้นแบบไม่ดีให้กับบุตรสาว
ในตอนแรกผกก. Pinoteau พยายามติดต่อ Francis Perrin แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ ตัวเลือกที่สองคือ Claude Brasseur คงเพราะเล่นบทดราม่ามาเยอะ (ติดภาพอาชญากรจาก Band of Outsiders (1964)) เลยอยากเปลี่ยนมาเป็นบทตลก สร้างเสียงหัวเราะ สบายๆ ผ่อนคลาย
โดยคาดไม่ถึง Brasseur มีทุกสิ่งอย่างเหมาะสำหรับเล่นบทตัวตลก ทั้งใบหน้า ท่าทาง ชอบแสดงความเอ๋อเหรอ ป้ำๆเป๋อๆ ไม่รับรู้ตนเองว่าทำอะไรผิด ถึงสร้างความไม่พึงพอใจต่อทั้งภรรยาและบุตรสาว แต่ด้วยจิตใจอันซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา รักครอบครัวยิ่งกว่าอื่นใด จึงพยายามขอโทษขอโพย รับสารภาพผิด พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อหวนกลับมาคืนดี พ่อ-แม่-ลูกอาศัยอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า
Brigitte Florence Fossey (เกิดปี ค.ศ. 1946) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Tourcoing, Hauts-de-France ตอนอายุห้าขวบได้รับเลือกจากผู้กำกับ René Clément แสดงภาพยนตร์ Forbidden Games (1952) หลังจากนั้นมีผลงานอีกสองสามเรื่อง ก่อนออกจากวงการไปร่ำเรียนหนังสือ ชื่นชอบเล่นเปียโน เต้นรำ เคยทำงานเป็นแปลภาษาอยู่ Geneva, พออายุยี่สิบกลับมาฝึกฝนการแสดงยัง Studio d’Entrainement de l’Acteur เล่นบทผู้ใหญ่ครั้งแรก The Wanderer (1967), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Man Who Loved Women (1977), The Glass Cell (1978), La Boum (1980) ฯ
รับบทมารดา Françoise Beretton เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ มักเรื่องมากกับบุตรสาว ชื่นชอบการวาดรูป ได้งานเขียนการ์ตูนแก๊ก ไม่เคยครุ่นคิดนอกใจสามี จนกระทั่งเขาสารภาพว่าแอบสานสัมพันธ์หญิงอื่น ทำให้เธอรู้สึกผิดหวัง ไม่รู้จะทำอะไรยังไง เลยสานสัมพันธ์ครูสอนภาษาเยอรมัน Éric แต่ท้ายที่สุดก็พร้อมให้อภัยชายคนรัก ไม่ต้องการเป็นแบบอย่างไม่ดีต่อบุตรสาว
ตรงกันข้ามกับ(บิดา/สามี) Espinasse บทบาทของ(มารดา/ภรรยา) Fossey มีความจู้จี้ขี้บ่น ใบหน้านิ่วคิ้วขมวด จริงจังกับชีวิต ด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ทำให้ไม่มีความเคลือบแคลง หวาดระแวง โลกสวยสดใส แต่เมื่อสามีรับสารภาพว่าคบชู้นอกใจ บุตรสาวพูดระบายอารมณ์อัดอั้นภายใน มันเลยทำให้เธออ้ำๆอึ้งๆ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่รู้จะทำอะไรยังไง การคบหาครูสอนภาษาเยอรมันไม่ใช่เพราะแอบรัก แค่เพียงต้องการประชดประชันตนเอง(สามี)ก็เท่านั้น!
ผมไม่รู้มาก่อนว่า Fossey เคยแสดงภาพยนตร์ Forbidden Games (1952) สำหรับคนที่จดจำได้ ย่อมมีภาพจำเด็กสาวหน้าตาบ้องแบ้ว ละอ่อนวัย ไร้เดียงสา พอเติบใหญ่กลายเป็นมารดาก็ยังโลกสวยสดใส จนกระทั่งทุกสิ่งอย่างพังทลาย … แต่ทว่า Fossey ไม่ได้ถ่ายทอดอารมณ์สิ้นหวังออกมา เพราะหนังตั้งใจให้เป็นความตลกร้าย (Black Comedy) เธอเลยดูลอยๆ เหมือนคนไม่รับรู้ตนเองว่ากำลังทำอะไร
ถ่ายภาพโดย Edmond Séchan (1919-2002) ตากล้อง ผู้กำกับหนังสั้นสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montpellier, Hérault ช่วงหลังสงครามโลก ร่ำเรียนการถ่ายภาพจากสถานบัน Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) เริ่มต้นจากถ่ายทำหนังสั้น The Red Balloon (1956), ภาพยนตร์ขนาดยาว อาทิ The Adventures of Arsène Lupin (1957), That Man from Rio (1964), La Boum (1980) ฯ นอกจากนี้ยังเคยกำกับหนังสั้น Le haricot (1962) คว้ารางวัล Palme d’Or – Best Short Film และ One-Eyed Men Are Kings (1974) คว้ารางวัล Oscar: Best Short Film, Live Action
งานภาพของหนังมีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน ตามสไตล์วัยรุ่น ชีวิตเต็มไปด้วยความสนุกสนานครื้นเครง! แต่ไฮไลท์คืองานเลี้ยงปาร์ตี้ (La Boum) มีการจัดแสงสีที่ดูจัดจ้าน เทคโน (Techno) อิเล็กโทร (Electro) ดิสโก้ (Disco) มันช่างล้ำอนาคต (Futuristic) ผิดแผกแตกต่างจากโลกความจริงโดยสิ้นเชิง!
ไม่ใช่ว่าโลกความจริง(ที่ไม่ใช่งานเลี้ยงปาร์ตี้)จะไม่มีสีสันอะไรนะครับ ส่วนใหญ่มักเลือกใช้สีพาสเทล (Pastel) ที่ดูจืดชืด ธรรมดาๆ (ยกเว้นร้านน้ำหอม+อพาร์ทเม้นท์ของ Vanessa มีความไฮโซหรูหรา) แล้วตกแต่งด้วยสิ่งข้าวของให้ดูรกๆ อะไรก็ไม่รู้มากมายเต็มไปหมด เสื้อผ้าหน้าผมก็มีความหลากหลายตามยุคสมัย
หนังใช้เวลาถ่ายทำประมาณสองเดือน 16 กรกฎาคม – 20 กันยายน ค.ศ. 1980 บางฉากสร้างขึ้นในสตูดิโอ Boulogne-Billancourt (Hauts-de-Seine) ส่วนสถานที่จริงประกอบด้วย โรงเรียนมัธยม Lycée Henri-IV (Latin Quarter), ร้านอาหาร La Coupole (Montparnasse), ไนท์คลับ La Main Jaune (Place de la Porte-de-Champerret) [ปิดกิจการเมื่อปี ค.ศ. 2003], สนามบิน Aéroport Roissy-Charles de Gaulle ฯ
ฉากที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากสุดของหนัง ระหว่างงานเลี้ยงปาร์ตี้(ครั้งแรก) Matthieu แอบเดินเข้ามาด้านหลัง สวมหูฟังให้กับ Vic วินาทีนั้นบทเพลงแดนซ์มันส์ๆ Swingin’ Around (ขับร้องโดย The Cruisers) กลายมาเป็น Reality (ขับร้องโดย Richard Sanderson) นี่คือโลกความจริงของเด็กสาว ตกอยู่ในภวังค์แห่งรัก สถานที่ที่เราสองได้พบเจอกัน เติมเต็มความฝัน ทอดทิ้งความวุ่นวายจาก(โลก)ภายนอก

เรื่องที่รับชมในโรงภาพยนตร์นี้คือ L’agression (1975) ชื่ออังกฤษ Act of Aggression, กำกับโดย Gérard Pirès, นำแสดงโดย Jean-Louis Trintignant, Catherine Deneuve, Claude Brasseur (ผู้รับบทบิดา François Beretton)

Ai no Korīda มาจากภาษาญี่ปุ่น 愛のコリーダ แปลตรงตัว Bullfight of Love แต่คนส่วนใหญ่คงรับรู้จักชื่อภาษาอังกฤษ In the Realm of the Senses (1976) โคตรหนังอีโรติกอันอื้อฉาว กำกับโดย Nagisa Ōshima … ประเดี๋ยวนะ? Samantha (น้องสาว Pénélope) เด็กหญิงเกรดหก (ประถมหก?) รับชมหนังเรื่องนี้???

ตัดต่อโดย Marie-Josèphe Yoyotte (1929-2017) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Saint-Fons, Rhône ผลงานเด่นๆ อาทิ Love in Jamaica (1957), Moi, un noir (1958), The 400 Blows (1959), Testament of Orpheus (1960), La pyramide humaine (1961), Léon Morin, Priest (1961), War of the Buttons (1962), Le Signe du Lion (1962), La Boum (1980) ฯ
แม้เรื่องราวหลักๆของหนังจะเกี่ยวกับเด็กสาววัยสิบสาม Vic แต่หลายครั้งก็นำเสนอผ่านมุมมองบิดา-มารดา (และบางครั้งคุณย่า Poupette) เหมารวมสมาชิกครอบครัว Beretton เพื่อสะท้อนความขัดแย้งแตกต่างระหว่างคนสองรุ่น
- วันเปิดเทอมใหม่
- บิดาขับรถพา Vic มาส่งหน้าโรงเรียน ก่อนกลับไปขนย้ายข้าวของเข้าบ้านใหม่
- Vic พบเจอเพื่อนใหม่ เข้าเรียนคาบแรก
- หลังเลิกเรียนคุณย่า Poupette มารับ Vic ไปห้องอัด ทานอาหารเย็น ร่ำเรียนบัลเล่ต์
- กลับมาบ้าน ทำการบ้าน และหลายวันผ่านไป
- ฉันอยากเข้าร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้
- ระหว่างทางกลับบ้าน Pénélope ชักชวน Vic ไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ที่บ้านของ Raoul
- มารดาได้งานวาดการ์ตูนแก๊ก
- บิดาพบเจออดีตคนรัก
- กลับมาบ้าน Vic แสดงความไม่พึงพอใจที่บิดา-มารดา ปฏิเสธไม่ให้เธอเข้าร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้
- แต่หลังจากได้รับการเสี้ยมสอนจากคุณย่า Poupette ก็สามารถโน้มน้าวมารดาได้สำเร็จ
- บิดาขับรถไปส่ง Vic ที่งานเลี้ยงปาร์ตี้
- ช่วงแรกๆของงานเลี้ยง ดำเนินไปอย่างน่าเบื่อหน่ายVic เลยโทรศัพท์ให้บิดามารับ
- แต่หลังจากเธอถูก Matthieu สวมหูฟัง ก็โยกเต้นเริงระบำ
- บรรดาผู้ปกครองของเด็กๆ ต่างมาเฝ้ารอคอยรับลูกๆกลับบ้าน
- เรื่องวุ่นๆของบิดากับถ่านไฟเก่า
- มารดา คุณย่า และ Vic ขับรถไปเยี่ยมเยียนญาติต่างจังหวัด
- บิดากลับสุงสิงอยู่กับถ่านไฟเก่า Vanessa สรรหาข้ออ้างว่าเขาประสบอุบัติเหตุเข้าเฝือก
- หลังกลับจากเยี่ยมญาติ Vic เที่ยวเล่นกับ Matthieu
- ช่วงวันหยุดยาว Vic เดินทางไปเข้าค่ายสกี (ที่มีแต่สาวๆ)
- บิดารู้สึกผิดที่ต้องหลอกภรรยา เลยตัดเฟือกออก แล้วพูดบอกความจริง
- คุณย่า Poupette จูงจมูกให้ Françoise โต้ตอบเอาคืนชู้รัก Vanessa
- พอ Vic เดินทางกลับบ้าน มารดาพยายามอธิบายว่าบิดาจะย้ายออก(ถูกไล่ออก)จากบ้านชั่วคราว
- เรื่องวุ่นๆจากความเข้าใจผิดๆ
- Vic แอบหนีจากบ้านตอนดึก เข้าผับโรเลอร์สเก็ต
- บิดาออกติดตามหามาจนถึงผับดังกล่าว แล้ว Matthieu เกิดความเข้าใจผิดครุ่นคิดว่าเขาคือคนรักของ Vic
- วันถัดๆมา บิดาแวะเวียนกลับมาเยี่ยมเยียนมารดาแต่เธอไม่อยู่ แอบเฝ้ารออยู่หน้าบ้านจนพบเจอชายแปลกหน้าที่มาส่ง
- บิดามาดักรอ Vic หน้าโรงเรียน เกิดเรื่องชกต่อยกับ Matthieu และรับรู้ว่าชายแปลกหน้าคนนั้นคือครูสอนภาษาเยอรมัน Éric
- ความระริกระรี้ของครอบครัว Beretton
- Vic กับคุณย่า Poupette ร่วมกันวางแผนสูญเสียพรหมจรรย์ ล่อหลอก Matthieu บอกว่าหนีออกจากบ้าน
- Matthieu นำพา Vic มายังห้องเช่าริมชายหาด แต่ทว่าเขากลับ…
- เช้าวันถัดมา Matthieu เป็นเด็กเสิร์ฟอาหารในห้องพักคุณย่า Poupette ก่อนพบเจอกับ Vic
- บิดานัดทานอาหารกับมารดา แต่เขากลับพูดประชนประชันถึงครูสอนภาษาเยอรมัน
- มารดาตัดสินใจร่วมรักกับ Éric แล้ววางแผนหนีเที่ยวแอฟริกา
- บิดาซื้อตั๋วไป Venice พยายามจะโน้มน้าวมารดาครั้งสุดท้าย
- หนังจบลงด้วย Vic จัดงานเลี้ยงปาร์ตี้ที่บ้าน เริงระบำกับชายหนุ่มคนใหม่
ลีลาตัดต่อก็ต้องชมว่ามีความกระชับ ฉับไว ทันใจวัยรุ่น เต็มไปด้วยลูกเล่นสร้างเสียงหัวเราะขบขัน หลายครั้งตัดสลับกลับไปกลับมาระหว่างบุตรสาว vs. บิดา-มารดา แสดงการเปรียบเทียบ พบเห็นความขัดแย้งแตกต่างระหว่างคนสองรุ่นได้ด้วยเช่นกัน
เพลงประกอบโดย Vladimir Cosma (1940-) คีตกวีสัญชาติ Romanian เกิดที่ Bucharest, Kingdom of Romania ในครอบครัวนักดนตรีเชื้อสาย Jewish บิดาเป็นวาทยากรและนักเปียโน แต่บุตรชายเลือกเรียนไวโอลิน เคยคว้ารางวัลประพันธ์เพลง(สำหรับไวโอลิน)อันดับหนึ่งจาก Bucharest Conservatory จากนั้นเดินทางมาเรียนต่อฝรั่งเศส Conservatoire de Paris มีชื่อเสียงจากการแสดงคอนเสิร์ต ประพันธ์เพลงซิมโฟนี ออร์เคสตรา ประกอบภาพยนตร์ อาทิ La Boum (1980), Diva (1981), La Bal (1983), Octav (2017) ฯ
ก่อนหน้านี้ผกก. Pinoteau เคยร่วมงานขาประจำ Georges Delerue แต่ทว่าพอเป็นหนัง Teenage Romance จึงแนะนำให้รู้จักนักร้อง/แต่งเพลง Michel Polnareff (1944-) ที่ได้รับความนิยมกับวัยรุ่นฝรั่งเศส แต่ทว่าขณะนั้นอีกฝ่ายอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา ไม่สามารถติดต่อสื่อสารสะดวก เลยปรับเปลี่ยนมาเป็น Vladimir Cosma จากความประทับใจภาพยนตร์ Salut l’artiste (1973)
ในตอนแรก Cosma ก็ตอบปฏิเสธ ตนเองเป็นชาว Romanian ประพันธ์เพลงคลาสสิก ไม่เคยมีประสบการณ์เขียนเพลงป็อป/ร็อคร่วมสมัย ก่อนถูกโน้มน้าวโดยผู้บริหารสตูดิโอ Gaumont ให้เวลานานถึงเก้าเดือน! จึงมีโอกาสศึกษา ค้นคว้าบทเพลงประสบความสำเร็จในช่วงสองทศวรรษผ่านมา
ผลลัพท์กลายมาเป็น Reality แนว Soft Rock คำร้องโดย Jeff Jordan, ขับร้องโดย Richard Sanderson ศิลปินสัญชาติ Scottish โดยไม่มีใครคาดคิดถึงประสบความสำเร็จระดับปรากฎการณ์ ติดชาร์ทอันดับหนึ่งกว่า 15 ประเทศ! ยอดขายทั่วโลก 27 ล้านก็อปปี้! ได้ค่าจัดเก็บลิขสิทธิ์โดยเฉลี่ยปีละ 250,000 ยูโร รวมๆแล้วสร้างรายได้กว่า 29+ ล้านยูโร
Met you by surprise
I didn’t realize
That my life would change for ever
Saw you standing there
I didn’t know I’d care
There was something special in the airDreams are my reality
The only kind of real fantasy
Illusions are a common thing
I try to live in dreams
It seems as if it’s meant to beDreams are my reality
A different kind of reality
I dream of loving in the night
And loving seems all right
Although it’s only fantasyIf you do exist
Honey, don’t resist
Show me your new way of loving
Tell me that it’s true
Show me what to do
I feel something special about youDreams are my reality
The only kind of reality
Maybe my foolishness is past
And maybe now at last
I’ll see how the real thing can beDreams are my reality
A wondrous world where I like to be
I dream of holding you all night
And holding you seems right
Perhaps that’s my realityMet you by surprise
I didn’t realize
That my life would change for ever
Tell me that it’s true
Feelings that are new
I feel something special about youDreams are my reality
A wondrous world where I like to be
Illusions are a common thing
I try to live in dreams
Although it’s only fantasyDreams are my reality
I like to dream of you
Close to me
I dream of loving in the night
And loving you seems right
Perhaps that’s my reality
ในอัลบัมมีอยู่สิบบทเพลง แต่ถ้าไม่นับรวมเพลงบรรเลง (ไม่ใส่คำร้อง) จะเหลือแค่ 6-7 เพลง ส่วนใหญ่จะเป็นแนวสนุกสนาน Rock, Regge, Fuck เหมาะสำหรับลุกขึ้นมาโยกเต้นเริงระบำในงานเลี้ยงปาร์ตี้ Gotta Get a Move On (ขับร้องโดย Karoline Krüger), Swingin’ Around (ขับร้องโดย The Cruisers), It Was Love (ขับร้องโดย The Regiment)
แต่ยังมีอีกบทเพลงที่ผมรู้สึกว่ามีความไพเราะเพราะพริ้ง ท่วงทำนองอาจฟังดูละม้ายคล้าย แต่ถือเป็น Variation แปรทำนองให้แตกต่างจาก Reality ดังขึ้นระหว่าง Closing Credit ชื่อว่า Go on Forever คำร้องโดย Jeff Jordan, ขับร้องโดย Richard Sanderson
There’s light in the lobby
There’s music playing and
I’m glad you are with me
I’m glad that you stayedI feel that I know you
So real, I can show you
My wish is we’ll go on foreverThere’s light in the lobby
Soft music playing and
It’s right that you’re with me
I’m glad you remainedI’m glad that I kept you
So glad that I met you
I wish this could go on foreverI wish we were sleeping
My arms ’round you keeping
This moment from leaving foreverThere’s nobody left now
The moment’s ours to keep
The music has stopped now
I wish we could sleepTogether our breathing
Our dreams never leaving
This moment from leaving forevermore
La Boum (1980) นำเสนอเรื่องราวคู่ขนานระหว่างสมาชิกสองรุ่นของครอบครัว Beretton ประกอบด้วย
- บุตรสาว Vic เปิดเทอมใหม่ ชีวิตวัยรุ่นเต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ โหยหารักครั้งแรก ระริกระรี้อยากเสียพรหมจรรย์
- ความแตกร้าวระหว่างบิดา-มารดา
- ฝั่งสามี François มิอาจต้านทานมารยาอดีตคนรัก Vanessa เลยแอบนอกใจภรรยา
- ตรงกันข้ามกับภรรยา Françoise ไม่เคยครุ่นคิดนอกใจจนกระทั่งได้ยินคำรับสารภาพสามี เลยขับไล่ ผลักไส แล้วคบหาครูสอนภาษาเยอรมัน
ในขณะที่บุตรสาวโหยหารักครั้งแรก บิดา-มารดากลับมีเรื่องให้ต้องเหินห่าง (บิดาถูก)ไล่ออกจากบ้าน นี่เป็นการพยายามนำเสนอความแตกต่างระหว่างคนสองรุ่น (Generation Gap) ไม่ใช่แค่เรื่องรักๆใคร่ๆ แต่ยังความครุ่นคิดเห็นในทุกสรรพสิ่งอย่าง นำสู่การโต้เถียง ขัดแย้ง ‘พ่อ-แม่ไม่เข้าใจฉัน’ และ ‘ลูกไม่เคยทำความเข้าใจหัวอกบิดา-มารดา’
ความไม่ลงรอยระหว่างคนสองรุ่น มันคือปัญหาโลกแตกที่คงมีมาตั้งแต่โบราณกาล เพราะทุกๆทศวรรษล้วนเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ทำให้มุมมอง ทัศนคติ วิธีครุ่นคิดของคนรุ่นใหม่ผิดแผกแตกต่างจากผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งในบริบทของหนังช่วงทศวรรษ 70s พาดพิงถึงคนสองสามรุ่น
- คุณย่า Poupette รุ่น Silent Generation (1928-45) พานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง อายุอานามมากแล้วเลยไม่ยี่หร่าอะไรใคร พยายามเสี้ยมสอนหลานสาวให้กระทำสิ่งสนองความพึงพอใจ จะได้ไม่ต้องเสียใจเอาภายหลัง
- บิดา-มารดา น่าจะถือว่ามาจากรุ่น Baby Boomer (1946-64) ถือกำเนิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกเสี้ยมสอนให้มีความขยันขันแข็ง ก้มหน้าก้มตาทำงาน เลยไม่ค่อยหลงเหลือเวลาให้กับบุตรหลาน
- วัยรุ่น Gen X (1965-80) ถือกำเนิดในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม Mai ’68 จึงมีความครุ่นคิดอ่านของตนเอง รักอิสระ ไม่ชอบทำตามคำสั่งใคร
การปฏิวัติทางวัฒนธรรมในฝรั่งเศส Mai ’68 คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวัยรุ่นยุค 70s-80s รวมถึงผู้ใหญ่ Baby Boomer โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพทางเพศ (Sexual Freedom) หญิงสาวไม่จำเป็นต้องเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ ก้มหัวศิโรราบต่อบุรุษเพศอีกต่อไป
- คุณย่า Poupette ยังคงครึกครื้น ระเริงรื่น คบหาหนุ่มรูปงาม ไม่สนอายุอานามของตนเอง
- มารดา Françoise จากเคยเป็นช้างเท้าหลังในครอบครัว เพียงวาดรูปเป็นงานอดิเรก ลองติดต่อสำนักพิมพ์ ได้รับการว่าจ้างทำงาน เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน สามารถพึ่งพาตนเองได้สำเร็จ, ขณะเดียวกันเมื่อสามีเปิดเผยว่าตนเองคบชู้นอกใจ เธอเลยโต้ตอบด้วยการคบชู้สู่ชาย ตาต่อตา ฟันต่อฟัน!
- บุตรสาว Vic นอกจากได้รับการเสี้ยมสอนจากคุณย่า ยังอิทธิพลจากเพื่อนพ้อง สภาพแวดล้อม สังคมรอบข้างผันแปรเปลี่ยนไป แม้เพิ่งอายุสิบสาม แต่ก็พร้อมตกหลุมรัก ระริกระรี้อยากเสียพรหมจรรย์
งานเลี้ยงปาร์ตี้ (La Boum) คือกิจกรรมการปลดปล่อยของวัยรุ่น คนหนุ่ม-สาว จากความวุ่นๆวายๆของครอบครัว แต่มันเป็นความตลกร้ายที่งานเลี้ยงเหล่านี้มักจัดขึ้นที่บ้านของใครบางคน … เมื่อพ่อ-แม่ไม่อยู่บ้าน ลูกๆเลยระริกระรี้แรดร่าน สถานที่แห่งความสุขสำราญ & ทุกข์ทรมาน
มันอาจเพราะอายุอานามที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผมสัมผัสถึงความตั้งใจของผู้เขียนบทหนัง Danièle Thompson เธอคงตกอกตกใจกับสิ่งพบเห็น (คล้ายๆกับ Culture Shock ตื่นตระหนกกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง) แต่ก็ไม่ได้ปิดกลั้นบุตรสาวห้ามทำอย่างโน้นนี้นั่น เพียงต้องการสำแดงความห่วงใย อย่าเร่งรีบร้อน อย่าด่วนใช้อารมณ์ ครุ่นคิดอย่างมีสติรอบคอบ จักได้ไม่สูญเสียใจภายหลัง
ขณะเดียวกันหนังก็มอบบทเรียนผู้ใหญ่ ทั้งบิดา-มารดา และในฐานะสามี-ภรรยา ยุคสมัยได้ปรับเปลี่ยนไปแล้ว เราควรเปิดใจให้กว้าง ยินยอมรับความเปลี่ยนแปลง เปิดอกคุยกัน ให้โอกาสกันและกันในทุกๆเรื่อง เพื่อครอบครัวสมบูรณ์ พ่อ-แม่-ลูกอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ไม่ค่อยอินกับหนังวัยรุ่น โรแมนติก จึงไม่มีใครคาดหวังอะไรกับ La Boum (1980) แต่ปรากฎว่าเสียงตอบรับกลับล้นหลาม ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสสูงถึง 4,378,430 ใบ, เฉพาะในยุโรปประเมินว่าเกิน 15 ล้านใบ! เรียกว่าฮิตถล่มทลาย หลายประเทศทำเงินสูงกว่า Star Wars: The Empire Strike Back (1980) ด้วยซ้ำไป!
โดยปกติแล้วหนังฝรั่งเศสมักไม่นิยมสร้างภาคต่อ แต่ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ La Boum (1980) คงทำให้ผู้สร้างอดใจไม่ไหว และมันยังพอมีเรื่องราวให้สามารถสานต่อสองปีถัดมา La Boum 2 (1982)
ผมเป็นคน Gen Y แม้เกิดไม่ทันตอนหนังออกฉาย แต่ยังรู้สึกว่าหลายๆสิ่งอย่างใกล้เคียงยุคสมัยของตนเอง มันจึงมีความคุ้นเคยชิน อินกับเรื่องราว โดยเฉพาะความขัดแย้งบิดา-มารดา คิดเห็นต่างระหว่างคนสองรุ่น มันช่าง … ขำไม่ออกสักเท่าไหร่ ปัจจุบันแทบไม่ได้แตกต่างจากอดีต
จัดเรต pg ปาร์ตี้ รักๆใคร่ๆ ครอบครัวหย่าร้าง
Leave a Reply