Le Bonheur

Happiness (1965) French : Agnès Varda ♥♥♥

ความสุขของ Agnès Varda ยินยอมรับได้ถ้าสามีคบชู้นอกใจ มอบความรักให้หญิงอื่น มันผิดอะไรกับการมีเมียหลายคน (Polygamy) แต่ผมกลับรู้สึกเหมือนเธอกำลังหลอกตัวเองยังไงชอบกล?

บางทีการหลอกตัวเองก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง?

ณ คอน ลับแล

Le Bonheur (1965) เป็นภาพยนตร์ที่มีความงดงามราวกับภาพวาดศิลปะ Impressionist ชวนนึกถึงชุดผลงาน Sunflowers ของ Van Gogh พยายามสร้างโลกให้มีความสวยสดงดงาม สีสันแห่งความสุข อุดมคติแห่งรักที่หญิงสาวราวกับแม่พระ ยินยอมพร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่าง

ผมพอจะเข้าใจว่าผกก. Varda สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในช่วงเวลาแห่งความสุข(กระสันต์) หลังแต่งงานกับสามีคนใหม่ Jacques Demy (ไม่แน่ใจว่าตอนรักกับ Antoine Bourseiller แต่งงานกันหรือเปล่า แต่มีบุตรสาวหนึ่งคน) ได้รับความรัก ความสุขอย่างไม่เคยบังเกิดขึ้นมาก่อน แม้เขาจะมีข้อตำหนิอยู่บ้าง แต่ก็ยินยอมพร้อมให้อภัยทุกสิ่งอย่าง … นั่นเพราะ Demy เป็นเกย์ (น่าจะเรียกว่า Bisexual) มีคู่ขาประจำ แต่งงานเพื่อปกปิดรสนิยมทางเพศ แต่ยังมอบความรักให้ Varda อย่างเท่าเทียมกัน

ในมุมของผู้ชมชาวตะวันตกที่ยึดถือมั่นในแนวคิดผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) รับชมหนังย่อมรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน ถกเถียงถึงความเหมาะสมทางศีลธรรม, แต่ชาวตะวันออกที่เติบโตมากับประวัติศาสตร์ผัวเมียหลายคน (Polygamy) พระราชามีสนมหลายองค์ ชาวมุสลิมแต่งงานภรรยาสี่คน ฯ เรื่องพรรค์นี้ถือว่าธรรมดาสามัญ

ใครที่ติดตามอ่านบล็อคนี้มานาน น่าจะรับรู้ว่าผมสนับสนุนแนวคิด Polygamy ด้วยซ้ำไป! แต่การรับชม Le Bonheur (1965) มันกลับรู้สึกจอมปลอม หลอกลวง เพราะผกก. Varda สร้างโลกสวยเกินจริง ทำให้ทุกสิ่งกลายเป็นอุดมคติ แล้วซ่อนเร้นโศกนาฎกรรม … นั่นแสดงถึงความคลางแคลง ตั้งคำถามถึงสิ่งที่ตนเองพยายามนำเสนอ แต่เพราะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงจำต้องทำใจยินยอมรับ หลอกตนเองทุกวี่วัน แล้วความสุขนั้นจักกลายเป็นจริง


Agnès Varda ชื่อจริง Arlette Varda (1928-2019) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติ Belgian-French เกิดที่ Ixelles, Belgium เป็นบุตรคนที่สามจากพี่น้องห้าคน บิดาเป็นชาวกรีกในครอบครัวผู้ลี้ภัยจาก Asia Minor, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหลบซ่อนตัวอยู่ Sète (เมืองท่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศส), โตขึ้นใฝ่ฝันทำงานภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์ จึงเข้าศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ (Art History) École du Louvre และการถ่ายภาพ (Photography) École des Beaux-Arts แล้วทำงานเป็นช่างภาพ Théâtre National Populaire ระหว่างนั้นยังร่ำเรียนวรรณกรรมและจิตวิทยาที่ Sorbonne University

I started earning a living from photography straightaway, taking trivial photographs of families and weddings to make money. But I immediately wanted to make what I called ‘compositions.’ And it was with these that I had the impression I was doing something where I was asking questions with composition, form and meaning.

Agnès Varda

ช่วงทำงานเป็นช่างภาพอยู่ Théâtre National Populaire (ระหว่าง ค.ศ. 1951-61) ผกก. Varda มีโอกาสถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก La Pointe Courte (1955) ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นการลองผิดลองถูก เพราะเธอไม่เคยร่ำเรียน(ภาพยนตร์) ไม่มีผู้ช่วย ไม่ได้ขอคำแนะนำใคร เพียงถ่ายภาพเคลื่อนไหวในสิ่งที่อยากถ่ายทำ แต่ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ “truly the first film of the nouvelle vague”

When I made my first film, La Pointe Courte—without experience, without having been an assistant before, without having gone to film school—I took photographs of everything I wanted to film, photographs that are almost models for the shots. And I started making films with the sole experience of photography, that’s to say, where to place the camera, at what distance, with which lens and what lights?

หลังจาก La Pointe Courte (1955) ผกก. Varda ก็ได้สรรค์สร้างสารคดีสั้นแนวทดลองหลายเรื่อง ก่อนกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สอง Cléo from 5 to 7 (1961) ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ ติดชาร์ทนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll (2022) #อันดับ 14

สำหรับ Le Bonheur แปลว่า Happiness ภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สาม ผกก. Varda ใช้เวลาพัฒนาบทเพียงสามวัน! นำแรงบันดาลใจจากชีวิตหลังแต่งงานกับ Jacques Demy ช่างมีความสุขเอ่อล้น เลยครุ่นคิดสรรค์สร้างภาพยนตร์สำหรับพรรณาความรู้สึกดังกล่าว

I don’t think I’ve ever worked so quickly. I wrote it in exactly three days. I wrote the film fast and shot it fast, like the vivid brightness of our short-lived summers.

แซว: Jacques Demy ให้คำนิยามผลงานของภรรยาเรื่องนี้ว่า Film de Famille Amateur แปลตรงตัว Amateur Family Film


เรื่องราวของช่างไม้ François (รับบทโดย Jean-Claude Drouot) มีชีวิตครอบครัวสุขสันต์กับภรรยา Thérèse และบุตรชาย-สาว กระทั่งวันหนึ่งตกหลุมรักสาวไปรษณีย์ Émilie (รับบทโดย Marie-France Boyer) เกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน มีโลกสองใบโดยไม่หวาดกลัวเกรงอะไร

วันหนึ่งระหว่างพาครอบครัวมาท่องเที่ยวชนบท François ตัดสินใจพูดบอกความจริงทั้งหมดกับ Thérèse แม้เธอจะตอบเหมือนให้การยินยอมรับ แต่โศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นติดตามมา พลัดตกสะพาน จมน้ำเสียชีวิต มันคืออุบัติเหตุหรือจงใจฆ่าตัวตาย?

เกร็ด: ในส่วนของนักแสดง มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมองหาเด็กชาย-หญิงอายุ 4-5 ขวบ ด้วยเหตุนี้ผกก. Varda จึงเลือก Jean-Claude Drouot (เกิดปี ค.ศ. 1938) นักแสดงชาว Belgian ที่เพิ่งแจ้งเกิดจากซีรีย์โทรทัศน์ Thierry La Fronde (1963-66) เค้าโครงหน้าตาช่างละม้ายคล้าย Jacques Demy ราวกับแกะ! พร้อมภรรยา Claire Drouot และบุตรชาย-หญิง ยกมาทั้งครอบครัว!


ถ่ายภาพโดย Claude Beausoleil (1928-83) และ Jean Rabier (1927-2016) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montfort-L’Amaury จากเป็นศิลปินวาดรูป ผันสู่ทำงานตากล้องภาพยนตร์ เริ่มจากควบคุมกล้อง (Camera Operator) ถ่ายทำหนังสั้นตั้งแต่ปี 1948, ผู้ช่วย Henri Decaë ถ่ายทำ Crèvecoeur (1955), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), The 400 Blows (1959), จากนั้นได้รับการผลักดันจาก Claude Chabrol เป็นตากล้องเต็มตัว/ขาประจำตั้งแต่ Wise Guys (1961), ผลงานโด่งดัง อาทิ Cléo from 5 to 7 (1962), Bay of Angels (1963), The Umbrellas of Cherbourg (1964), Le Bonheur (1965) ฯ

ผกก. Varda แต่งงานกับ Jacques Demy เมื่อปี ค.ศ. 1962 นั่นแสดงว่าเธอน่าจะได้ช่วยงานในกองถ่าย The Umbrellas of Cherbourg (1964) ที่เลื่องชื่อในการละเล่นสีสัน รับอิทธิพลจากจิตรกรเอก Henri Matisse (1869-1954) จัดจ้านในสไตล์ Fauvism (ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Wild Beasts) 

นั่นกระมังทำให้ผกก. Varda ครุ่นคิดสรรค์สร้าง Le Bonheur (1965) โดยอ้างอิงผลงานศิลปะของจิตรกรคนโปรด Vincent van Gogh แห่งยุคสมัย (post) Impressionism ละเล่นกับเฉดเหลือง-ส้ม ซึ่งคือสีอบอุ่น (Warm Color) หรือจะเรียกว่าสีแห่งความสุขก็ได้กระมัง

Impressionist paintings emanate such melancholy, though they depict scenes of everyday happiness.

Agnès Varda

ปล. ผมสังเกตว่าเฉดสีสันของหนังค่อนไปทาง Fauvism แต่ทว่าผู้ชมจะมีภาพจำดอกทานตะวัน อ้างอิงถึงชุดภาพวาด Sunflowers (มีเป็นสิบๆรูปเลยนะ) ของ van Gogh จึงถูกจดจำในฐานะ Impressionism เสียมากกว่า!

ภาพยนตร์กำลังฉายในโทรทัศน์คือ Le Déjeuner sur l’herbe (1959) ชื่ออังกฤษ Picnic on the Grass กำกับโดย Jean Renoir ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดชื่อเดียวกัน (Le Déjeuner sur l’herbe ยังสามารถแปลว่า The Luncheon on the Grass) ของ Édouard Manet (1832-83) วาดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1862-63

ส่วนภาพยนตร์ที่ Brigitte Bardot และ Jeanne Moreau แสดงร่วมกันครั้งแรกนั้นก็คือ Viva Maria! (1965) กำกับโดย Louis Malle … ซึ่งเรื่องนี้ยังส่งให้ Jeanne Moreau คว้ารางวัล BAFTA Award: Best Foreign Actress

ถึงผมยังไม่เคยรับชม Viva Maria! (1965) แต่ก็มักคุ้นกับสองนักแสดง Bardot และ Moreau พวกเธอมีความแตกต่างตรงกันข้าม (คนหนึ่ง Dumb Blonde, อีกคน Femme Fatale) จะว่าไปสอดคล้องเข้ากับ Thérèse & Émilie

หญิงสาวที่ยืนอยู่ไกลสุดของภาพ นั่นใช่ Agnès Varda หรือเปล่านะ? ฉากอื่นมีเยอะแยะแต่ทำไมถึงเลือกปรากฎตัวในงานศพของ Thérèse?

ตัดต่อโดย Janine Verneau ขาประจำผกก. Agnès Varda ตั้งแต่หนังสั้น L’opéra-mouffe (1958), ภาพยนตร์ Cléo from 5 to 7 (1962), Le Bonheur (1965), Les Créatures (1966) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ François แม้มีชีวิตครอบครัวแสนสุขสันต์ แต่แล้ววันหนึ่งพบเจอสาวไปรษณีย์ Émilie มิอาจหักห้ามใจตนเองให้ตกหลุมรัก เกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน ก่อนตัดสินใจพูดบอกความจริงกับภรรยา

  • ครอบครัวสุขสันต์
    • วันหยุด François พาครอบครัวมาท่องเที่ยวพักผ่อน
    • เช้าวันใหม่เริ่มต้นทำงาน François เป็นช่างไม้, Thérèse รับตัดเย็บชุดแต่งงาน
  • ตกหลุมรักแรกพบ Émilie
    • ระหว่างเดินทางไปติดต่องาน François แรกพบเจอ ตกหลุมรักสาวไปรษณีย์ Émilie
    • วันหยุดพาครอบครัวไปท่องเที่ยว แคมปิ้ง สวนสัตว์
    • François หาข้ออ้างเยี่ยมเยียน Émilie ชักชวนดื่มกาแฟ แล้วเดินไปคุยไป
    • François ประดิษฐ์ชั้นวางของ, Thérèse ตัดเย็บชุดแต่งงานแล้วเสร็จ
    • Thérèse ส่งมอบชุดแต่งงาน, François เดินทางไปที่อพาร์ทเม้นท์ของ Émilie
  • โลกสองใบ
    • วันหยุดพาครอบครัวไปท่องเที่ยว, หาเวลาว่างได้เมื่อไหร่ขึ้นอพาร์ทเม้นท์ของ Émilie
    • ท่องเที่ยวงานเทศกาล วันแรกไปภรรยา Thérèse, อีกวันไปกับ Émilie
    • ฉากเพศสัมพันธ์กับ Émilie
    • ผองเพื่อนสังเกตเห็นความร่าเริงของ Émilie, เพื่อนร่วมงานก็สังเกตเห็นความสุขของ François
  • ความสุขและโศกนาฎกรรม
    • วันหยุดพาครอบครัวท่องเที่ยวชนบท
    • François พูดบอกความจริงกับภรรยา
    • Thérèse พลัดตกคลองเสียชีวิต
    • François แต่งงานใหม่กับ Émilie

ลีลาตัดต่อของผกก. Varda ชอบร้อยเรียงชุดภาพ สลับสับเปลี่ยนทิศทาง-มุมกล้อง ดำเนินเรื่องคู่ขนานตัวละคร ล้วนให้ความรู้สึกเหมือนอัลบัมภาพถ่าย(เคลื่อนไหว) นั่นเพราะเธอมาจากสายการช่างภาพ (Photographer) ไม่ได้ร่ำเรียนทฤษฎี หลักการตัดต่อ สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความสนใจตนเองเป็นที่ตั้ง!

ในส่วนของเพลงประกอบ ทั้งหมดคือบทเพลงคลาสสิกของ Wolfgang Amadeus Mozart (1756-91) คีตกวีชาว Austrian ที่คนส่วนใหญ่รับรู้จักในความขี้เล่น ซุกซน ทำตัวเหมือนเด็กน้อย สนุกสนานครื้นเครง ประพันธ์บทเพลงแห่งความสุข! นำมาเรียบเรียงใหม่โดย Jean-Michel Defaye (1932-2025) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส

บทเพลงที่ถือเป็น Main Theme (ดังขึ้นระหว่าง Opening Credit) เรียบเรียงจาก Adagio and Fugue in C minor, K. 546 (1788) สำหรับเครื่องสาย สองไวโอลิน วิโอล่า และดับเบิ้ลเบส, ต้นฉบับมีบรรยากาศทะมึน อึมครึม โศกนาฎกรรมกำลังย่างกรายเข้ามา แถมบรรเลงอย่างเชื่องช้าเนิบ (คำว่า Adagio แปลว่า อย่างช้าๆ) … ลองรับฟังฉบับออร์เคสตราของ Herbert von Karajan บังเกิดความหดหู่ขึ้นโดยพลัน

มันช่างแตกต่างตรงกันข้ามกับฉบับเรียบเรียงใหม่ที่ได้ยินในหนัง มีการเร่งจังหวะ สลับเปลี่ยนเครื่องดนตรี (จากเครื่องสายมาเป็นเครื่องเป่า) ทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง (แต่มันก็ยังมีบรรยากาศทะมึนอยู่เล็กๆ) นั่นอาจเพราะผกก. Varda ต้องการแปรเปลี่ยนสิ่งเลวร้าย หายนะ อารมณ์ซึมเศร้าหดหู่ ให้กลายเป็นความสุขสันต์ โลกสวยสดใสขึ้นโดยพลัน

อีกบทเพลงที่ผมรู้จักคือ Clarinet Quintet in A Major, K. 581: I. Allegro (1789) ต้นฉบับจะมีแค่หนึ่งคาริเน็ต และสามเครื่องสาย ท่วงทำนองฟังสบาย เคลิบเคลิ้มผ่อนคลาย เพลิดเพลินหฤทัย, ฉบับดัดแปลงแค่เพียงสลับมาใช้เครื่องเป่าทั้งหมด แต่ยังคงความขี้เล่นซุกซน ไม่ได้แตกต่างสุดโต่งแบบ Adagio and Fugue in C minor, K. 546 (1788)

Le Bonheur = Happiness, ความสุขคืออะไร? พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามว่า “น. ความสบายกายสบายใจ…” คือความรู้สึกหรืออารมณ์ประเภทหนึ่ง มีหลายระดับตั้งแต่ความสบายใจเล็กน้อยหรือความพอใจ จนถึงความเพลิดเพลินหรือเต็มไปด้วยความสนุก

ผกก. Varda (และ Jacques Demy) ต่างเติบโตพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง เคยพบเห็นโศกนาฎกรรม ความตาย หายนะแห่งมนุษยชาติ เรียนรู้ว่ามันไม่มีประโยชน์อันใดที่เราจะจมปลักอยู่กับความซึมเศร้าโศก ด้วยเหตุนี้เธอจึงพยายามมองโลกในแง่ดี สีสันสวยสดใส เรียนรู้จักแบ่งปันความรักให้ใครๆ “It’s a shame to deprive oneself of life and love.”

ความรักในมุมมองของผกก. Varda คงได้รับการปลูกฝัง/ล้างสมองมาจากสามี Demy ที่พยายามบิดเบือน สรรหาข้ออ้าง แต่งงานเพื่อปกปิดรสนิยมทางเพศต่อสาธารณะ โดยบอกว่าการรักใครสักคนอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้อีกฝ่ายจะคบชู้นอกใจ (หรือมีคู่ขากับเพื่อนเพศเดียวกัน) นั่นคืออุดมคติแห่งรัก แม่พระผู้สูงส่ง

ผกก. Varda ไม่ใช่ผู้หญิงหัวก้าวหน้า (Feminist) อย่างที่ใครๆเข้าใจกัน เธอก็แค่หญิงสาวตัวเล็กๆ เติบโตขึ้นในสังคมชายเป็นใหญ่ หลังเลิกราสามีคนแรก การเลี้ยงดูแลบุตรสาวตามลำพังไม่ใช่เรื่องง่าย โหยหาที่พึ่งพักพิงทางกาย-ใจ เมื่อได้พบเจอ Demy มอบอุดมคติแห่งรัก ก็หลงเชื่อหัวปลักหัวปลำ ครุ่นคิดว่าตนเองค้นพบความสุขนิรันดร์

ฉากที่ François พูดบอกความจริงภรรยา Thérèse ผมเปรียบเทียบกับ Demy สารภาพว่าตนเองเป็นเกย์ต่อ Varda แน่นอนว่าปฏิกิริยาแรกคือรับไม่ได้ หญิงสาวพยายามบิดม้วน หันหลังให้ แต่เธอก็แค่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ถูกสามีโน้มน้าว เกลี้ยกล่อมเกลา (ได้รับการปลูกฝังอุดมคติแห่งรักมานาน จึงไม่สามารถต่อต้านขัดขืน) สุดท้ายจึงยินยอมตอบตกลง มองโลกในแง่ดีจนไม่รับรู้ตนเองว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ

ผมรู้สึกว่าตอนสร้างหนังเรื่องนี้ ผกก. Varda ยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่ออุดมคติแห่งรักนั้น เพราะเธอตัดสินใจจบชีวิตภรรยาแทนที่สามคนผัวเมียสวิงกิ้งพร้อมหน้า ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุ หรือจงใจฆ่าตัวตาย (ถกเถียงไปก็ไร้ประโยชน์) ต้องมีใครบางคนยินยอมเสียสละ, รวมถึงตอนจบช่วงฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) สามี-เมียใหม่-และลูกๆก้าวออกเดินเข้าป่ารกชัญ มันเหมือนการมุ่งสู่หายนะ อนาคต(ฤดู)หนาวเหน็บ

หลายปีให้หลัง Varda ความรักที่เคยเชื่อมั่น พลันถึงจุดแตกหัก มิอาจอดรนทนต่อความ (สำส่อน?) ตัดสินใจแยกอยู่กับ Demy (แต่พวกเขาก็มีบ้านอยู่ฟากฝั่งตรงข้ามถนน) สะท้อนผ่านภาพยนตร์ One Sings, the Other Doesn’t (1977) [แค่ชื่อก็สะท้อนความสัมพันธ์ของทั้งสองแล้วนะ] และ Vagabond (1985) ช่วงเวลาร่อนเร่ เตร็ดเตร่ ชีวิตดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย, ก่อนท้ายที่สุดก็หวนกลับมาเพราะยังหลงเหลือเยื่อใย ให้การดูแลช่วงชีวิตสุดท้ายก่อนตายจากไปด้วยโรคเอดส์

หลังความตายของ Demy แปรสภาพผกก. Varda กลายเป็นภรรยาผู้อุทิศทุกสิ่งอย่างให้(อดีต)ชายคนรัก สรรค์สร้างภาพยนตร์ชีวประวัติ Jacquot de Nantes (1991), หวนกลับหา The Young Girls Turn 25 (1993) สถานที่เคยถ่ายทำ The Young Girls of Rochefort (1967), รวมถึงสารคดี The World of Jacques Demy (1995) ฯ เรียกว่าลบลืมเลือนช่วงเวลาเลวร้าย หลงเหลือเพียงความทรงจำดีๆ โลกสีสันสวยสดใส … นี่คือตอนที่เธอหมดความคลางแคลงใจในอุดมคติแห่งรัก ค้นพบความสุขแท้จริง และกลายเป็นแม่พระ “Goddess of Cinema”


เมื่อตอนออกฉายในฝรั่งเศส แม้เสียงตอบรับจะดีเยี่ยม (สามารถคว้ารางวัล Prix Louis Delluc) กลับถูกกลบเกลื่อนด้วยความอื้อฉาวของเรื่องราว ยุคสมัยนั้นยังมีความละเอียดอ่อนไหว สังคมตะวันตกไม่ให้การยินยอมรับ แต่พอเดินทางไปยังเทศกาลหนังเมือง Berlin สามารถคว้ามาสองรางวัล … ผู้ชนะรางวัล Golden Bear ปีนั้นคือ Alphaville (1965)

  • Silver Berlin Bear: Grand Jury Prize (ที่สอง) เคียงคู่กับ Repulsion (1965)
    • เป็นปีแรกของที่มีการมอบรางวัล Grand Jury Prize
  • Interfilm Award – Recommendation

กาลเวลาทำให้เสียงตอบรับของหนังดีขึ้นเรื่อยๆ ได้รับการโหวตนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll (2022) #ติดอันดับ 152 (ร่วม) หนึ่งในผู้ร่วมโหวตคือชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (คนที่สองต่อจากโดม สุขวงศ์)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K โดย Ciné Tamaris ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Varda เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2014 สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Criterion Collection หรือใครสนใจบ็อกเซ็ต The Complete Films of Agnès Varda (หนังสั้น+หนังยาว+สารคดีรวมๆแล้ว 39 เรื่อง)

ระหว่างรับชมผมชื่นชอบหนังมากๆ หลงใหลภาพถ่าย Impressionist ดัดแปลงเพลงคลาสสิก Mozart ได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง แต่พอเก็บมาครุ่นคิดก็เริ่มหน้าเบ้ ตรรกะของผกก. Varda มันอิหยังว่ะ? โลกสวย อุดมคติ ความสุขจากการหลอกตนเองมันช่าง …

จัดเรต 18+ กับความจอมปลอม หลอกลวง

คำโปรย | Happiness ความสุขกระสันต์ของ Agnès Varda มันช่างจอมปลอม หลอกตนเอง
คุณภาพ | สุสัต์
ส่วนตัว | หลอกตนเอง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: