Cure (1997) : Kiyoshi Kurosawa ♥♥♥♥
ผู้ป่วยของ Cure (1997) คือบุคคลธรรมดาทั่วไป ครู หมอ ตำรวจ ฯ ต่างมีครอบครัวอบอุ่น อาชีพการงานมั่นคง ได้รับนับหน้าถือตาจากผู้คน แต่เมื่อพวกเขาผ่านการ”รักษา”ทำให้ตัวตนแท้จริงเปิดเผยออกมา กลายเป็นฆาตกรสังหารโหด พร้อมทิ้งรอยบาดแผล X
โลกยุคสมัยนี้เต็มไปด้วยขนบกฎกรอบ ข้อบังคับโน่นนี่นั่น ทำการควบคุมครอบงำ ให้จำต้องก้มหัวศิโรราบ สวมใส่หน้ากาก สร้างภาพเพื่อสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม แต่ทว่าวิถีชีวิตดังกล่าวจักทำให้เราค่อยๆถูกกลืนกิน สูญสิ้นอัตลักษณ์ตัวตน … นี่คือลักษณะอาการที่ผมขอเรียกว่า “สังคมป่วย”
Who are you?
Kunio Mamiya
Do you know who I am?
ผู้ชมส่วนใหญ่มักครุ่นคิดว่า Kunio Mamiya คือฆาตกรโรคจิต คล้ายๆแบบ Hannibal Lecter ใช้จิตวิทยาโน้มน้าวชักจูงผู้อื่นให้กระทำสิ่งที่ตนเองต้องการ, แต่ว่ากันตามตรง Mamiya ไม่เคยออกคำสั่งให้ใครทำอะไร เป้าหมายของเขาเพียงอยากรักษาอาการ “สังคมป่วย” ปลุกบุคคลที่ถูกบริบททางสังคมกดทับ ตื่นขึ้นมาค้นพบตัวตน และได้กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการของตนเอง … มันก็คล้ายๆ Arthur Fleck หรือ Joker (2019)
Cure (1997) เป็นภาพยนตร์ที่ดูยาก ท้าทาย เคลือบแฝงแนวคิดลุ่มลึกล้ำ แถมยังให้อิสรภาพผู้ชมขบครุ่นคิดตีความ คนส่วนใหญ่มักมองหนังอาชญากรรม (Crime) สืบสวนสอบสวน (Investigation) ฆาตกรโรคจิต/ต่อเนื่อง (Psychopath Killer/Serial Murder) แต่ขณะเดียวกันยังเคลือบแฝงปัญหาสังคม (Sociology) การเมือง (Political) จิตวิทยา (Psychology) รวมถึงแนวคิดอภิปรัชญา (Metaphysics) ฉันคือใคร? เกิดมาเพื่ออะไร?
There’s a sense of horror that trickles down your spine while watching it. It’s something that only Kiyoshi can create.
Bong Joon-ho ยกให้ Cure (1997) คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรด (Top5)
Cure is his most terrifying movie… There are startling images and moments in this picture that will haunt you for a long time to come, and I suppose I should say that it’s not for the faint of heart. But be brave, because it’s worth it.
Martin Scorsese
Kiyoshi Kurosawa, 黒沢 清 (เกิดปี 1955) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kobe, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะสังคมวิทยา Rikkyo University ระหว่างนั้นได้เป็นสมาชิกกลุ่มภาพยนตร์สมัครเล่น Parodias Unity ร่วมกับ Tatsuya Mori และ Akihiko Shiota ซึ่งต่างได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีภาพยนตร์ของนักวิจารณ์ Shigehiko Hasumi (ที่รับอิทธิพลมาจาก French New Wave) เริ่มต้นสรรค์สร้างหนังสั้น 8mm, ก่อนได้งานผู้ช่วยกองถ่าย The Man Who Stole the Sun (1979), ผู้ช่วยผู้กำกับ Sailor Suit and Machine Gun (1981), กำกับหนังแนว Pink Film เรื่องแรก Kandagawa Pervert Wars (1983), ติดตามด้วย The Excitement of the Do-Re-Mi-Fa Girl (1985), Sweet Home (1989), The Guard from Underground (1992), ช่วงต้นทศวรรษ 90s ใช้เวลาว่างๆพัฒนาบทหนัง Charisma แล้วได้รับทุนการศึกษาจากสถาบัน Sundance Institute จึงมีโอกาสเดินทางไปร่ำเรียนภาพยนตร์ยังสหรัฐอเมริกา
เกร็ด: Kiyoshi Kurosawa ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆกับ Akira Kurosawa
นอกจาก Charisma ที่ส่งไปประกวด ยังมีบทหนังอีกหลายเรื่องที่ผกก. Kurosawa ครุ่นคิดพัฒนาขึ้น หนึ่งในนั้นคือ 伝道師 อ่านว่า Dendoushi แปลตรงตัว Evangelist (ภายหลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น キュア, Cure) ได้แรงบันดาลใจจากการพบเห็นข่าวฆาตกรรมตามสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ครูสอนหนังสือเข่นฆ่าภรรยา, ตำรวจสังหารโหดเพื่อนร่วมงาน, แพทย์หญิงเชือดคอคนไข้ ฯ พวกเขาเหล่านี้ล้วนคือบุคคลธรรมดาทั่วไป มันต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นภายในจิตใจ!
Often when a murder incident occurs and you see a friend or a neighbor get interviewed on the TV news, and so on after the culprit is arrested. They generally say, “I never imagined he or she would…” They’re so polite. And what is generally reported in those instances is that it was actually a horrible killer pretending to be, or wearing the mask of a good father, a polite person, a courteous person. But I wondered if that really was the case. Couldn’t a good father, a courteous person, a polite person, suddenly kill someone without having a secret homicidal side?
Kiyoshi Kurosawa
วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 90s มีความช่วงซบเซาอย่างมากๆ ผกก. Kurosawa เลยเลือกเข้าสู่วงการ V-Cinema (Vシネマ) สำหรับส่งตรงลง Home Video (Direct-to-Video) เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ มีผลงานนับสิบๆเรื่อง ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมาย ครึ่งหนึ่งลองติดต่อขอทุนจากสตูดิโอ Daiei Film ซึ่งไหนๆก็ไหนๆเลยส่งเรื่องย่อ/บทร่าง (Film Synopsis) ของทั้ง Charisma และ Evangelist ไปให้พิจารณาด้วยเลย ปรากฎว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม! … น่าเสียดายที่ Daiei Film มีความสนใจเฉพาะ Evangelist เลยได้รับโอกาสดัดแปลงภาพยนตร์ Cure (1997), ส่วนอีกเรื่อง Charisma ของบประมาณจากสตูดิโอ Nikkatsu ออกฉายปี ค.ศ. 1999
เกร็ด: ช่วงระหว่างถ่ายทำ เกิดเหตุก่อการร้ายโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินสารซาริน (1995 Tokyo subway sarin attack) โดยสมาชิกลัทธิโอมชินริเกียว (オウム真理教, Aum Shinrikyo) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน, บาดเจ็บอีกกว่า 5,500 คน และสูญเสียการมองเห็นชั่วคราวอีกเกือบ 1,000 คน … นั่นคือเหตุผลที่โปรดิวเซอร์ของ Daiei Film แนะนำให้เปลี่ยนชื่อหนังจาก Evangelist มาเป็น Cure เพื่อไม่ให้เชื่อมโยงเข้ากับศาสนา หรือลัทธิวันสิ้นโลกดังกล่าว
เรื่องราวของนักสืบ Kenichi Takabe (รับบทโดย Kōji Yakusho) ได้รับมอบหมายทำคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่มีความแปลกประหลาด ฆาตกรทุกคนล้วนยินยอมรับสารภาพผิด ส่วนผู้เสียชีวิตล้วนปรากฎสัญลักษณ์ X บนเรือนร่างกาย เช่นนั้นแล้วแต่ละเหตุการณ์มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์อะไรกัน?
Takabe ปรึกษากับเพื่อนนักจิตวิทยา Shin Sakuma (รับบทโดย Tsuyoshi Ujiki) ตั้งคำถามว่าคดีฆาตกรรมดังกล่าวอาจเกิดจากการสะกดจิตได้หรือไม่? แล้ววันหนึ่งพบเจอชายหนุ่มผู้ต้องสงสัย Kunio Mamiya (รับบทโดย Masato Hagiwara) อดีตนักศึกษาจิตวิทยา แต่กลับแสดงออกขี้หลงขี้ลืม พูดจาวกไปวนมา มันมีพลังดึงดูดบางอย่างที่ทำให้ Takebe ครุ่นคิดว่าหมอนี่แหละคือต้นตอของปัญหา
ตลอดการซักไซร้ไล่เรียง Mamiya มักทำเป็นไม่รู้ไม่สน กระทำสิ่งโน่นนี่นั่น เบี่ยงเบนความสนใจ หาเรื่องเปลี่ยนหัวข้อสนทนาอยู่เป็นประจำ แต่ไม่ใช่สำหรับนักสืบ Takabe อาจด้วยพลังวิญญาณ (Willpower) อันเข้มแข็งแกร่ง จึงสามารถต่อต้านขัดขืน ถึงอย่างนั้นจุดอ่อนของเขาคือภรรยา Fumie Takabe (รับบทโดย Anna Nakagawa) ล้มป่วยสมองเสื่อม ขี้หลงขี้ลืม กลายเป็นภาระรับผิดชอบ ซึ่งหลังจากระบายอารมณ์อัดอั้นนั้นออกมา โดยไม่รู้ตัว Takabe กลับกลายเป็นผู้สืบทอดพลังแม่เหล็กของ Mamiya
Kōji Yakusho ชื่อจริง Kōji Hashimoto, 橋本 広司 (เกิดปี 1956) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Isahaya, Nagasaki หลังสำเร็จการศึกษา Nagasaki Prefectural High School of Technology เข้าทำงานยัง Chiyoda City แต่หลังจากมีโอกาสรับชมละครเวที The Lower Depths เกิดความชื่นชอบสนใจด้านการแสดง ยื่นใบสมัครทดสอบหน้ากล้อง เซ็นสัญญากับเอเจนซี่ Mumeijuku จากตัวประกอบ กระทั่งได้รับบทนำครั้งแรกซีรีย์ Tokugawa Ieyasu (1983), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Shall We Dance? (1996), The Eel (1997), Cure (1997), โกอินเตอร์เรื่อง Memoirs of a Geisha (2005), Babel (2006), 13 Assassins (2010), The Third Murder (2017), Perfect Day (2023) ฯ
รับบทนักสืบวัยกลางคน Kenichi Takabe ดูมีท่าทางเหนื่อยหน่าย ปลงกับชีวิต เนื่องจากภรรยา Fumie Takabe ล้มป่วยสมองเสื่อม อาการย่ำแย่ลงทุกวัน อีกทั้งภาระการงานก็หนักอึ้ง คดีฆาตกรรมซับซ้อนซ่อนเงื่อน แทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนกระทั่งพบเจอผู้ต้องสงสัย Kunio Mamiya ราวกับไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าหมอนี่ต้องคือต้นสาเหตุทุกสิ่งอย่าง
เป็นความโชคดีที่ผกก. Kurosawa ติดต่อเข้าหา Yakusho ชักชวนมาร่วมงานก่อนโด่งดังพลุแตกกับ Shall We Dance? (1996) และ The Eel (1997) [พอโด่งดังแล้วคิวงานแทบไม่เหลือว่าง] ตอนอ่านบทเห็นว่าแสดงความสนใจตัวละคร Mamiya แต่ทว่าผู้กำกับร้องขอให้เล่นเป็น Takabe เหมาะกับภาพลักษณ์ชายวัยกลางคนมากกว่า
นอกจากนี้ ผกก. Kurosawa แนะนำให้ Yakusho เตรียมความพร้อมด้วยการรับชม And Life Goes On (1992) กำกับโดย Abbas Kiarostami ซึมซับตัวละครที่มีความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เผชิญหน้าสารพัดปัญหา แบกภาระหนักอึ้งแต่ไม่สามารถพูดบอก หาหนทางระบายออกมา
การได้เผชิญหน้ากับ Mamiya มันไม่ใช่ว่า Takabe มีพลังจิตวิญญาณอันเข้มแข็ง แต่พฤติกรรมหมอนี้ช่างมีความยียวนกวนประสาท จี้แทงใจดำ ทำให้เขาขึ้นเสียง ใส่อารมณ์ สำแดงคารมเกรี้ยวกราด เมื่อได้ระบายความอัดอั้นเหล่านั้นออกมา ก็เริ่มเข้าใจเหตุผล/ตัวตนอีกฝ่าย บังเกิดความตระหนักว่าทำไมฉันต้องอดกลั้นฝืนทนกับสิ่งที่เป็นอยู่ โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นผู้สืบทอด รับต่อไม้ผลัด … คล้ายๆกับ The Testament of Dr. Mabuse (1933)
ผมเคยรับชมผลงานการแสดงของ Yakusho มาปริมาณหนึ่ง บอกเลยว่า Cure (1997) สร้างความประทับใจอย่างล้นหลาม! มีความลุ่มลึก ซับซ้อน ซ่อนบางสิ่งอย่างอยู่ภายใต้ โดยเฉพาะวิวัฒนาการตัวละครที่สร้างความหวาดสะพรึง ถ้าคุณสามารถเข้าถึงจะยิ่งรู้สึกขนหัวลุกพอง โดยเฉพาะฉากสุดท้าย! หนึ่งในบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดเลยก็ว่าได้
Masato Hagiwara, 萩原 聖人 (เกิดปี ค.ศ. 1971) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Chigasaki, Kanagawa ครอบครัวหย่าร้างตั้งแต่สามขวบ อาศัยอยู่กับปู่ย่า หลังเรียนจบมัธยมเดินทางสู่ Tokyo รับจ้างทำงานทั่วไป เก็บหอมรอมริดเดินทางท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา เกิดความหลงใหลอาชีพนักแสดง พอหวนกลับญี่ปุ่นเข้าตาแมวมองสมทบซีรีย์ดราม่า Abunai Deka (1987), ภาพยนตร์ A Class to Remember (1993), All Under the Moon (1993), รับบทนำครั้งแรก Marks (1995), โด่งดังกับ Cure (1997), Chaos (2000), Onmyoji (2001), Café Lumière (2004) ฯ
รับบท Kunio Mamiya จากเด็กกำพร้า มาร่ำเรียนจิตวิทยา ก่อนสืบทอดวิชาสะกดจิต เป็นเหตุให้สูญเสียตัวตนเอง ไม่รับรู้ตนเองว่ากำลังทำอะไร ฉันเป็นใคร อยู่สถานที่แห่งหนไหน แต่ทุกอากัปกิริยาล้วนทำให้บุคคลเป้าหมาย ปลุกตื่นสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง ลุกขึ้นมากระทำสิ่งตอบสนองสันชาตญาณ! จนกระทั่งพบเจอคู่ปรับ/นักสืบ Takabe ตระหนักว่าอีกฝ่ายสามารถทำเข้าใจสิ่งต่างๆในทิศทางเดียวกัน จึงให้คำแนะนำสุดท้ายเพื่อส่งต่อแนวคิดของตนเอง
เกร็ด: ใครเคยรับชม Sweet Home (1989) น่าจะมักคุ้นชื่อตัวละคร Lady Mamiya ซึ่งถือเป็น ‘Last Boss’ วิญญาณชั่วร้ายไม่ยอมไปผุดไปเกิด นั่นกระมังคือเหตุผลการเลือกใช้ชื่อนี้กับบุคคลอันตราย ตัวร้ายในจักรวาล Kiyoshi Kurosawa
ผกก. Kurosawa มีความประทับใจ Hagiwara จากภาพยนตร์ Marks (1995) รับบทฆาตกรต่อเนื่อง ทีแรกแอบหวั่นๆว่าอีกฝ่ายจะตอบปฏิเสธเพราะกลัวกลายเป็น ‘typecast’ ระหว่างพูดคุยเลยแนะนำให้ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิต สร้างตัวละครนี้ให้เป็นคนว่างเปล่า ไร้อารมณ์ มีชีวิตอย่างสายลม
Hagiwara Masato, who was popular at the time for his exaggerated emotional acting. I told him to never show emotions and act like a hollow person. He himself was very fresh. So it seems that the acting that no one expected came out.
Kiyoshi Kurosawa
โดยปกติแล้ว ฆาตกรต่อเนื่องมักมีภาพลักษณ์โหดๆ หน้าตาเคร่งขรึง สีหน้าบูดบึ้งตึง แต่ทว่า Hagiwara กลับมีรูปร่างผอมบาง ดวงตาลอยๆ ท่าทางสับสน เหมือนคนไม่รู้หนาวรู้ร้อน ไม่เคยทำสิ่งชั่วร้ายอะไรมาก่อน นั่นทำให้ใครต่อใคร/บุคคลเป้าหมายเกิดความผ่อนคลาย ไร้การป้องกันตัวเอง เลยถูกชักนำการสนทนา โดนสะกดจิตโดยไม่รู้ตัว!
ตัวร้ายอย่าง Kunio Mamiya ว่ากันตามตรงมีความอันตราย น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า Norman Bates หรือ Hannibal Lecter เสียอีกนะ! เพราะคนแบบนี้ไม่ได้มีภาพลักษณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องตีตนออกห่างไกล เหมือนบุคคลธรรมดาๆทั่วไป วัยรุ่นข้างบ้าน แล้วจู่ๆโดนชักจูง ล่อหลอก สะกดจิต โดยไม่รับรู้ตัวเอง (แบบพวกแชร์ลูกโซ่, The Icons) ตื่นขึ้นมาทุกสิ่งอย่างกลายเป็นหายนะไปเรียบร้อยแล้ว นี่ฉันทำอะไรลงไป??? WTF happened? มันคือความสิ้นหวังทางใจอย่างแท้จริง!
ถ่ายภาพโดย Tokushô Kikumura, 喜久村徳章 (เกิดปี ค.ศ. 1949) ตากล้องสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Naha, Okinawa เริ่มต้นเข้าทำงานสตูดิโอ Nikkatsu พอเริ่มมีประสบการณ์ก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ขาประจำร่วมงานผู้กำกับ Kiyoshi Kurosawa สรรค์สร้าง V-Cinema ก่อนมาโด่งดังพลุแตกกับ Cure (1997), ผลงานเด่นๆ อาทิ Ju-on: The Grudge (2002), Happy Dining Table (2007), Death Note: L Change the World (2008), Flower and Sword (2017) ฯ
เมื่อตอน Sweet Home (1989) แม้ได้ร่วมงานตากล้องที่มีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพระยะไกล (Long Shot และ Extreme-Long Shot) แต่เพราะถูกแทรกแซงโดยโปรดิวเซอร์ Juzo Itami แถมไร้กรรมสิทธิ์ในฉบับตัดต่อสุดท้าย (Final Cut) หนังจึงเต็มไปด้วยช็อตระยะใกล้ (Close-Up) ที่ไม่ตอบสนองวิสัยทัศน์ของตนเอง … ภาพยนตร์เรื่องนั้นแม้ขึ้นชื่อผกก. Kurosawa แต่ถือว่ามี ‘ความเป็น Juzo Itami’ มากกว่าเสียอีก!
Cure (1997) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆ (ไม่นับพวก V-Cinema) ที่ผกก. Kurosawa สามารถถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของตนเองออกมาอย่างแท้จริง! งานภาพจึงเต็มไปด้วยภาพระยะไกล ใช้พื้นที่ว่าง ระยะห่าง สำหรับสร้างความคลุมเคลือ (เพราะมองไม่เห็นปฏิกิริยาสีหน้าตัวละคร ผู้ชมจึงมีอิสรภาพในการครุ่นคิดจินตนาการ) ทั้งยังให้เวลากับสิ่งต่างๆ ดำเนินเรื่องอย่างไม่เร่งรีบ เพื่อสร้างลุ่มร้อนรน (slow-burn) รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ แต่ความเอื่อยเฉื่อย เรื่อยเปื่อย จู่ๆบังเกิดเหตุการณ์รุนแรง ในวินาทีที่ไม่มีใครคาดคิดถึง นั่นแผดเผาทำลายจิตวิญญาณผู้ชมอย่างวอดวาย
หนึ่งในความมหัศจรรย์ของหนังคือการละเล่นกับธาตุทั้งสี่ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เมฆหมอก ลมฝน แสงสว่าง-ความมืดมิด จนหลายคนอาจรู้สึกเหมือน Mamiya มีอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติที่สามารถควบคุมสภาพอากาศได้ดั่งใจ! … แต่บทสัมภาษณ์ของผกก. Kurosawa สารภาพว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนคือความบังเอิญแทบทั้งหมด เพราะหนังไม่มีเวลา+ทุนสร้างมากมาย ได้เท่าไหนก็เท่านั้น มันจึงขึ้นกับโชคชะตาฟ้ากำหนด
ภาพแรกของหนังก็สำแดง ‘ความเป็น Kurosawa’ ด้วยภาพระยะไกลที่โหยหามานาน –” เอาจริงๆกว่าผู้ชมจะเริ่มเข้าใจว่าซีนนี้ต้องการนำเสนออะไรก็ช่วงกลางเรื่อง Fumie ภรรยาของนักสืบ น่าจะระหว่างอาศัยอยู่ในโรงพยาบาล กำลังอ่านหนังสือเคราน้ำเงิน (Bluebeard) เทพนิยายฝรั่งเศส (French Folktale) ฉบับเก่าแก่สุดเขียนโดย Charles Perrault รวบรวมในหนังสือ Histoires ou contes du temps passé (1697)
Bluebeard คือผู้ดี เศรษฐีผู้มั่งคั่ง แต่งงานมาแล้วหกครั้ง แต่ภรรยาทั้งหมดล้วนสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ กระทั่งภรรยาคนที่เจ็ด ค้นพบห้องลึกลับที่เต็มไปด้วยกลิ่นคาว รอยเลือด ก่อนตระหนักว่าสามีของเธอคือฆาตกรเข่นฆ่าภรรยาตนเอง, เรื่องราวดังกล่าวเลยมีการให้คำนิยาม Bluebeard คือชายผู้เข่นฆ่าภรรยาของตนเอง … ใครดูหนังจบแล้วก็น่าจะเข้าใจนัยยะเคลือบแอบแฝงดังกล่าว!
สไตล์ของผกก. Kurosawa โดดเด่นกับการใช้สภาพแวดล้อม วัตถุสิ่งข้าวของ หลอดไฟกระพริบ ร่วมด้วยช่วยสร้างบรรยากาศอันน่าหวาดสะพรึง เหมือนพยายามบอกใบ้หายนะกำลังจะบังเกิดขึ้น แต่สำหรับผู้ชมครั้งแรกจะไม่ค่อยรู้สึกเอะใจสักเท่าไหร่ แค่เพียงเรื่องราวดำเนินไป ก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ตกตะลึงงัน ขยี้ตาหลายครั้งแบบงงๆ
ชายคนหนึ่งเดินทางมาใช้บริการโสเภณี ยังห้องพักโรงแรมที่ปกคลุมด้วยความมืดมิด แถมยังถ่ายทำจากระยะไกล (Long Shot) ทำให้มองอะไรแทบไม่เห็น เสียงประกอบคือตัวช่วยให้เข้าใจว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไร แล้วให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการ
It is true that close-ups of the face are extremely effective in revealing the psychology of the character, what he’s feeling. But in terms of really telling the story, what’s going on, I don’t think it’s a very useful shot at all. With live-action films, I think the real strength of the medium lies in being able to record what is truly happening before your eyes. And I think you have to take advantage of that element. That is the root, the base, the strength altogether of film itself in live-action. So I typically use the sizes of the shots that most clearly reveal what is happening before your eyes. That just happens that most of the time it becomes a long shot… What I want to do is leave it open to the audience to figure out how they want to feel in this certain situation. That’s what I want to accomplish in my films.
Kiyoshi Kurosawa
การปรากฎตัวครั้งแรกของ Kunio Mamiya ทั้งซีเควนซ์ถ่ายภาพระยะไกล เดินเตร็ดเตร่ เร่ร่อนอยู่ริมชายหาด (สถานที่คาบเกี่ยวระหว่างชีวิต & ความตาย, คลื่นกระทบหาดทราย & ผืนแผ่นดินที่แน่นิ่ง) เข้ามาสอบถามชายคนหนึ่ง/ครูสอนหนังสือ ฉันคือใคร? สถานที่แห่งนี้คือแห่งหนไหน?
จริงๆแล้วซีนนี้ดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อยมากๆหลายนาที ถึงขนาดพบเห็นเงาก้อนเมฆ เดี๋ยวมืด เดี๋ยวสว่าง ผมต้องเร่งความเร็วภาพ 6x เท่าตัว เพื่อให้ลองสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว … นี่ไม่ใช่ความตั้งใจของผกก. Kurosawa ใครกันจะสามารถควบคุมก้อนเมฆ? แต่ความบังเอิญดังกล่าวมอบผลลัพท์อันน่าอัศจรรย์ (การเข้ามาของ Mamiya นำพาเงามืด/หายนะให้กับครูสอนหนังสือที่นั่งอยู่)
อาจเพราะความสงสาร เข้าใจว่าล้มป่วยความจำเสื่อม ครูสอนหนังสือจึงนำพา Mamiya กลับมาบ้าน แต่ตลอดทั้งซีเควนซ์ชายแปลกหน้าคนนี้พยายามหลบซ่อนตัวอยู่ในเงามืด ทำตัวลึกลับ ราวกับสิ่งชั่วร้าย เฝ้ารอคอยที่จะทำอะไรบางอย่าง
วินาทีที่ Mamiya จุดไฟแช็ก มันราวกับมีมนต์สะกดบางอย่าง ทำให้ครูหนังสือเกิดอาการหยุดนิ่ง ชะงักงัน ไม่มีใครรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายในจิตใจหรือเปล่า แต่จากที่อีกฝ่ายถามคำถามโน่นนี่นั่น หลังจากนี้ Mamiya กลับแสดงความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับภรรยา
ในชีวิตจริง การสะกดจิตมันมีรายละเอียด ความละเอียดอ่อนค่อนข้างสูง ไม่สามารถทำได้ทุกขณะ หรือกับทุกคน ซึ่งหนังเพียงพยายามสร้างบรรยากาศให้เหมาะสม และใช้บางสิ่งเป็นตัวกระตุ้น (อย่างเหตุการณ์นี้ก็คือไฟแช็ค) ส่วนที่เหลือคืออิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการว่าเกิดการสะกดจิตขึ้นจริง!
หลังเลิกงาน เดินทางกลับบ้าน ภรรยาเข้ามาช่วยเตรียมอาหาร ในมุมชาวต่างชาติอย่างเราๆย่อมไม่สังเกตเห็นความผิดปกติใดๆ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นจะเต็มไปด้วยข้อคำถาม ทำไมภรรยาถึงไม่ทำหน้าที่ภรรยา? จัดเตรียมอาหารเย็นไว้ล่วงหน้า? การสนทนาที่ฝ่ายชายดูสุภาพอ่อนโยนกว่าปกติ (แถมยังปักธง ‘Death Flag’ ทำคดีความนี้เสร็จจะพาไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด)
นั่นเพราะวิถีญี่ปุ่นดั้งเดิม บุรุษคือช้างเท้าหน้า ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ภรรยามักต้องเสียสละออกจากงาน มาเป็นแม่บ้าน เลี้ยงดูบุตรหลาน ปรนเปรอนิบัติสามี … การแสดงออกของ Fumie จึงผิดแผกแตกต่างจากผู้หญิงญี่ปุ่นพอสมควร
เมื่อตอนที่ครูสอนหนังสือนำพา Mamiya มาที่บ้านหลังเดินเล่นชายหาด จะมีฉากภายในบ้านที่ปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่เช้าวันถัดมาหลังเหตุการณ์ฆาตกรรม ภาพแรกพบเห็นกลับคือภายนอกบ้าน ครูสอนหนังสือกระโดดลงมาจากชั้นสองได้รับบาดเจ็บสาหัส จากนั้นซีนถัดมาถ่ายจากหน้าตา (บริเวณที่กระโดด) ก่อนกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลเข้ามาพบเห็นคราบเลือด ความตาย (แต่ดูไม่เหมือนภรรยาของเขาสักเท่าไหร่)
ลีลาการนำเสนอดังกล่าวล้วนเป็นแบบเดียวกันหมด ทั้งตำรวจสังหารโหดเพื่อนร่วมงาน (เริ่มจากซักไซร้ภายในป้อม ตอนฆาตกรรมถึงค่อยถ่ายจากภายนอก) หรือแพทย์หญิงเชือดคอคนไข้ (เริ่มจากแพทย์หญิงตรวจอาการผู้ป่วย แต่หลังถูก Mamiya สะกดจิต ก็แอบเข่นฆ่าคนไข้ในห้องน้ำสาธารณะ/นอกโรงพยาบาล) นี่อาจสอดคล้องคำพูดของ Mamiya เคยกล่าวไว้ว่า
All the things that used to be inside me now they’re all outside. So… I can see all of the things inside you, Doctor. But the inside of me is empty.
Kunio Mamiya
กล่าวคือ Mamiya เริ่มต้นจาการสำรวจสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของพวกเขา และเมื่อทำการ “รักษา” จึงสามารถนำสิ่งเหล่านั้นออกสู่โลกภายนอก (นั่นคือเหตุผลของการถ่ายทำฉากภายนอก) ไม่หลงเหลืออะไรอยู่ภายในอีกต่อไป (เมื่อกล้องถอยหลังกลับเข้าไปในบ้าน นั่นคือสภาพหลงเหลืออยู่ภายใน)
ซีเควนซ์ที่นักสืบ Takabe ซักไซร้ไล่เรียงครูสอนหนังสือประกอบด้วยภาพ 2 ช็อต
- ภาพแรกคือ ‘Two Shot’ ถ่ายระยะกลาง (Medium Shot) ระหว่างที่ Takabe พยายามพูดคุยสอบถาม เล่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้นเมื่อคืน แต่ยังไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับใดๆจากครูสอนหนังสือ
- อีกช็อตคือภาพระยะไกล (Long Shot) และถ่ายทำแบบ Long Take นำเสนอปฏิกิริยาของครูสอนหนังสือ ดูไม่อยากพูดตอบคำถาม แต่แสดงออกทางภาษากาย ลุกขึ้นมา ก้าวออกเดิน (กล้องเคลื่อนเลื่อนติดตาม) นั่งลงเก้าอี้ ทิ้งตัวลงพื้น ก่อนวิ่งไปด้านหลัง พุ่งชนกำแพง หมดเรี่ยวแรงล้มลง
จากบทสัมภาษณ์ผกก. Kurosawa การเลือกใช้ภาพถ่ายระยะไกล (Long Shot) เพื่อให้สามารถสังเกตเรื่องราวบังเกิดขึ้น อย่างซีเควนซ์นี้คือปฏิกิริยาแสดงออก/ภาษากายของตัวละคร ขึ้นอยู่กับผู้ชมแล้วว่าจะสามารถขบครุ่นคิด ทำความเข้าใจได้มากน้อยเพียงไหน
เราไม่จำเป็นต้องไปครุ่นคิดหาเหตุผลว่า ครูสอนหนังสือถึงลงมือฆาตกรรมภรรยาทำไม? เพราะข้อมูลหลักฐานไม่เพียงพอให้สามารถตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่ว ความตั้งใจของผกก. Kurosawa คือสร้างความคลุมเคลือให้นักสืบ (และผู้ชม) แค่รับรู้ว่ามันต้องอะไรบางอย่างซุกซ่อนอยู่ภายในตัวละคร
สำหรับคนที่อ่านภาษาภาพยนตร์ออก จะพบว่ามันมีการแทรกคำตอบ บอกใบ้เหตุผลการกระทำของครูสอนหนังสืออยู่แล้วในซีนถัดไป ซึ่งผมค้นพบว่าผกก. Kurosawa จงใจจัดองค์ประกอบภาพ ลีลาการเคลื่อนเลื่อนกล้อง รวมถึงหัวข้อสนทนา ให้มีความสอดคล้อง ละม้ายคล้ายคลึง แต่ในทิศทางตรงกันข้าม
- เปลี่ยนจากภายในห้องโถง ออกมาภายนอกบนชั้นดาดฟ้า
- จากช็อตที่นักสืบ Takabe นั่งอยู่ข้างเตียง (ฝั่งขวา) พยายามซักไซร้ไล่เรียงครูสอนหนังสือ = บนดาดฟ้านักสืบ Takabe สอบถามเพื่อนจิตแพทย์ Sakuma เปลี่ยนตำแหน่งมานั่ง (ฝั่งซ้าย)
- คำถามของ Takabe สามารถใช้เป็นคำอธิบายเหตุผลการฆาตกรรมได้ชัดเจนที่สุดแล้ว!
- กล้องมีการเคลื่อนเลื่อนไปทางขวาแบบเดียวกันเปี๊ยบ (มีเก้าอี้วางอยู่เหมือนกันด้วยนะ)
- ในขณะที่ครูสอนหนังสือเกิดอาการคลุ้มคลั่ง วิ่งไปชนกำแพงด้านหลัง
- Takabe (และ Sakuma) ต่างก้าวเดินไปยืนพิงรั้วกั้นที่อยู่อีกฟากฝั่ง (ย้อนรอยกับช็อตแรกที่ Takabe เริ่มซักไซร้ไล่เรียงครูสอนหนังสือ)
- ซึ่งหัวข้อสนทนาขณะนี้ Sakuma สอบถามอาการป่วยภรรยาของ Takabe นี่สะท้อนเข้ากับเรื่องราวของครูสอนหนังสือกับภรรยา(ที่ก็เห็นว่าล้มป่วยอยู่)ได้ตรงๆอีกเช่นกัน
- ตอนเริ่มต้นเดินทางมาซักไซร้ไล่เรียงครูสอนหนังสือ Takabe และ Sakuma ต่างขึ้นลิฟท์ชั้นไหนไม่รู้ละ
- แต่หลังจากทั้งสองสนทนาบทชั้นดาดฟ้าเสร็จ กลับเดินลงบันไดซะงั้น!
ความคู่ขนานของสองซีนนี้ สามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่ครูสอนหนังสือไม่สามารถอธิบาย เราสามารถทำความเข้าใจได้จากการสนทนาระหว่างนักสืบ Takabe กับเพื่อนจิตแพทย์ Sakuma
เมื่อตอนที่ Sakuma สอบถามอาการป่วยของภรรยา Takabe จู่ๆเปลี่ยนทิศทางการยืน 180 องศา หันเข้าหากล้อง (คนละฟากฝั่งกับ Sakuma) เป็นการกระทำเพื่อให้สอดคล้องคำอธิบาย ภายนอกของเธอดูปกติดี แต่ข้างในเป็นอย่างไรไม่มีใครบอกได้
ซึ่งหลังจากทั้งสองแยกย้าย จะมีการร้อยเรียงชุดภาพที่ดูเหมือนพรรณาความรู้สึกภายในจิตใจของ Takabe ต่อภรรยา Fumie ประกอบด้วย สัญญาณไฟกระพริบ (สัญญาณเตือนอันตราย) ยืนมองท้องฟ้ายามเย็น (ช่วงเวลาใกล้ค่ำ กำลังจะตกอยู่ในความสิ้น) เดินทางไปยังสถานที่เคยเกิดเหตุฆาตกรรม (เหมือนเขาเกิดความครุ่นคิดจะทำเช่นนั้นกับภรรยา)
ภาพสุดท้ายของซีเควนซ์นี้คือ Fumie เดินเข้ามานั่งเขียนอะไรสักอย่างก่อนลุกขึ้นจากไป แต่สังเกตว่าถ่ายทำจากห้องครัว ผ่านบานประตู และเป็นตอนกลางวัน (ผิดกับชุดภาพก่อนหน้านั้นที่ถ่ายตอนใกล้ค่ำ) ผมครุ่นคิดว่าต้องการสื่อถึงเธอคือแสงสว่างภายในจิตใจของเขา จึงยังไม่สามารถกระทำสิ่งที่ตนเองครุ่นคิด (ฆาตกรรมภรรยา?)
Mamiya ขึ้นไปทำอะไรอยู่บนหลังคา? เหม่อมองหาเหยื่อรายถัดไป? แต่ผมครุ่นคิดว่าต้องการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับนักสืบ Takabe ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานก็ยืนเหม่อมองท้องฟ้ายามเย็น พระอาทิตย์ใกล้ตกดิน
ระหว่างที่ Mamiya ถูกควบคุมตัวมายังป้อมตำรวจ (Police Box) ทีแรกผมนึกว่าจะมีแค่สองช็อตเหมือนตอนก่อนหน้า แต่ครานี้วินาทีที่เขาพูดถาม “Who are you?” เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหันควับ กล้องตัดมาให้เห็นปฏิกิริยาสีหน้าดูไม่พึงพอใจ (ใช้การตัดต่ออย่างรวดเร็วเพื่อสร้างอารมณ์บางอย่างให้เกิดขึ้น) แล้วตัดไปใบหน้าเอ๋อเหรอของ Mamiya มรึงหันมาทำไม? นี่เป็นการแสดงให้เห็นความผิดปกติ มันเหมือนมีบางสิ่งซุกซ่อนเร้น
แถมตอนที่ Mamiya ขอสูบบุหรี่ ตำรวจนายนี้ยังพูดไม่เห็นด้วย “You can’t smoke here!” แสดงว่าเป็นคนเคร่งเครียด จริงจัง ยึดถือมั่นในกฎกรอบ ระเบียบข้อบังคับ ไม่รู้จักการโอนอ่อนผ่อนปรน จนต้องขอตัวออกไปทำงานสายตรวจ ไม่อยากสุงสิงกับคนหละหลวมพรรค์นี้ … นี่อาจคือเหตุผลเคลือบแฝงที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกราย (คนที่ซักไซร้ไล่เลียง) ลงมือสังหารโหดเพื่อนร่วมงานก็เป็นได้!
หลังจากตำรวจหนุ่มออกไปทำงานสายตรวจ Mamiya แสร้งว่าง่วงหงาวหาวนอน เดินไปนั่งยังโต๊ะทำงานของตำรวจนายนั้น ทำการปิดไฟ หลบซ่อนตัวอยู่ในความมืดมิด แล้วจุดไฟแช็คสะกดจิต (แบบเดียวกับที่เคยทำครูสอนหนังสือ) พูดบอกให้เล่าเรื่องราวติดค้างคาใจ
ผมมาครุ่นคิดดู การหลบซ่อนตัวในเงามืดแล้วจุดไฟแช็ค สามารถเปรียบเทียบถึงการเข้าไปภายในจิตใต้สำนึก(อันมืดมิด) จากนั้นมอบแสงสว่างนำทางบุคคลนั้น ให้สามารถค้นพบตัวตนเอง กล้ากระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ หรือที่มันติดค้างคาใจ
เรื่องราวของแพทย์หญิง Dr. Akiko เริ่มต้นด้วยการตรวจวินิจฉัย”ภายใน”ของผู้ป่วย ต่อมน้ำเหลืองโตกว่าปกติเล็กน้อย … นี่ถือเป็นการล้อกับเรื่องราวของหนังที่พยายามสำรวจจิตวิทยา/สภาพภายในจิตใจของ Kunio Mamiya
เมื่อครั้นนักสืบ Takabe นัดพบเจอเพื่อนจิตแพทย์ Sakuma สอบถามถึงความเป็นไปได้ที่คนร้ายจะทำการสะกดจิตเหยื่อ ได้รับคำตอบว่ามีโอกาสเป็นไปได้ แต่จะทำไปเพื่ออะไร? คำรำพันทิ้งท้ายซีนนี้ของ Takabe ไม่มีใครรู้หรอกว่าฆาตกรครุ่นคิดอะไร? โดยไม่รู้ตัว สองซีเควนซ์ถัดไปสามารถขยับขยายคำพูดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย
- Fumie เดินขึ้นสะพานลอยแล้วจู่ๆเดินวกกลับมา แสดงอาการสับสน มึนงง เหมือนคนกำลังหลงทาง ไม่รับรู้ตัวเองว่ากำลังอะไร
- ตำรวจที่ป้อมลงมือสังหารโหดเพื่อนร่วมงานอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่รับรู้ตนเองว่าทำไปทำไม
ผมชอบบรรยากาศซีนนี้มากๆ เป็นวันที่ฟ้าโปร่ง แดดออก นกกระจอกเข้ารัง กล่าวคือก็แค่วันธรรมดาๆหนึ่ง แล้วจู่ๆตำรวจสูงวัย(ยืนอยู่ในเงามืด ด้านหลังกิ่งไม้ไร้ใบ)ชักปืนขึ้นมาจ่อยิงเพื่อนตำรวจ อย่างไม่รู้ไม่ชี้ ทำราวกับเหตุการณ์ปกติทั่วไป … เป็นการฆาตกรรมที่ ‘low profile’ ไม่มีการ ‘romantize’ อะไรทั้งนั้น
แซว: เห็นตัวอักษรสีแดง ข้อความรณรงค์ NO MORE GUN ที่ติดอยู่ตรงบอร์ดประชาสัมพันธ์กันไหมเอ่ย? ล้อกับการใช้อาวุธปืนฆ่าเพื่อนร่วมงานได้อย่างเจ็บแสบ
จริงๆแล้วผกก. Kurosawa ก็อยากจะใช้ไฟแช็คไปให้ตลอดรอดฝั่ง แต่ซีเควนซ์นี้ถ่ายทำในโรงพยาบาลจริงๆ ซึ่งไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ จุดไฟแช็ค ด้วยเหตุนี้เลยเปลี่ยนจากไฟเป็นน้ำ Mamiya น่าจะเริ่มทำการสะกดจิตตั้งแต่รินน้ำ ปัดแก้วตกแตก และน้ำค่อยๆเคลื่อนไหล คืบคลานเข้าหาแพทย์หญิง
วินาทีที่ Mamiya ปัดแก้วน้ำนั้น พอดิบพอดีกับที่เขาพูดว่า “But the inside of me is empty.” นี่ไม่ใช่เคลือบแฝงนัยยะ “น้ำเต็มแก้ว” ที่เสี้ยมสอนให้คนเราไม่ปิดกั้น เหลือพื้นที่ว่างสำหรับรองรับสิ่งใหม่ๆ บริบทของหนังคือการสูญเสียตัวตนเอง ภายในว่างเปล่าจึงสามารถมองเห็นตัวตน/จิตวิญญาณของผู้อื่น
All the things that used to be inside me now they’re all outside. So… I can see all of the things inside you, Doctor. But the inside of me is empty.
Kunio Mamiya
น้ำที่ค่อยๆเคลื่อนไหล โดยปกติแล้วมันไม่ได้มีอะไรเลย แต่ภาพช็อตนี้อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกหวาดระแวง วิตกจริต เพราะมันมอบสัมผัสเหมือนบางสิ่งอย่าง(ชั่วร้าย)กำลังคืบคลานเข้าหา หรือก็คือ Mamiya ใช้เป็นสื่อกลางสำหรับการสะกดจิต
ซีเควนซ์ซักไซร้ไล่เรียงนายตำรวจสังหารโหดเพื่อนร่วมงาน นำเสนอแบบโคตรๆ Long Take แพรวพราวด้วย ‘Mise-en-scène’ ใช้ประโยชน์จากทิศทางซ้าย-ขวา ระยะใกล้-ไกล แสงสว่าง-เงามืด มุมห้องทั้งสี่ และยังมีนั่ง-ยืน ก้ม-เงย ถือว่าละเล่นกับข้อจำกัดภายในห้องแคบได้อย่างน่าประทับใจ … แต่กล้องถ่ายจากฟากฝั่งเดียว แทนมุมมองผู้ชม
- เริ่มต้นตำรวจนายนั้นหันหลังให้กล้อง แม้มีการพูดอธิบายการกระทำอย่างตรงไปตรงมา แต่ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ไร้ความรู้สึก มันช่างเต็มไปด้วยลับลมคมใน (การหันหลังให้กล้อง คือยังปกปิดบังตัวตนแท้จริง)
- กล้องอยู่เอียงไปทางขวามือของห้อง ผมถือว่าคือทิศทางการแสดงออกที่ดูเหมือนปกติทั่วไป
- กระทั่งจิตแพทย์ Sakuma เข้ามานั่งฝั่งซ้าย (กล้องเคลื่อนเลื่อนเอียงมาทางซ้ายมือของห้อง) นำเอาไฟฉายมากระพริบส่องหน้า ระหว่างสอบถามโน่นนี่นั่น ท่าทางนายตำรวจเริ่มแสดงอาการลุกลี้ร้อนรน หงุดหงิด รำคาญใจ
- มุมกล้องฝั่งนี้คือทิศทางแห่งความผิดปกติ
- เมื่อถึงจุดๆหนึ่งตำรวจนายนั้นพยายามดิ้นรนขัดขืน ลุกขึ้นมานั่งหลบมุมห้อง ฝั่งซ้าย ใกล้กับกล้อง ท่ามกลางความมืดมิด แต่ยังคงถูกซักไซร้พร้อมไฟฉายกระพริบ
- นี่ถือเป็นตำแหน่งใกล้กล้องมากที่สุด แต่กลับมีความมืดมิดที่สุด! ผลลัพท์เลยไม่สามารถหาคำตอบใดๆ นายตำรวจซุกซ่อนตนเองอยู่ในความมืดมิด
หลังจากนักสืบ Takabe ตัดสินใจยุติการซักไซร้ไล่เรียง ตัวเขาและนายตำรวจต่างแยกกันอยู่คนละฟากฝั่งมุมห้อง แถมสองภาพที่ผมนำมา ทิศทางสลับตำแหน่งของพวกเขาสามารถมองเป็นตัวอักษร X อย่างจงใจ!
- นายตำรวจขอไปดื่มน้ำ เดินไปมุมห้องฝั่งซ้าย ด้านไกล, นักสืบ Takabe และจิตแพทย์ Sakuma มายืนคุยมุมห้องฝั่งขวา ใกล้กล้อง แสดงความคิดเห็นว่าอีกฝ่ายมีแนวโน้มที่จะถูกสะกดจิต
- แล้วพอ Takabe & Sakuma ย้ายมานั่งฝั่งซ้าย ใกล้กล้อง หันมองการกระทำประหลาดๆของนายตำรวจ ใช้ช้อนเขียนตัวอักษร X ลงบนหน้าอกเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกคน ยังตำแหน่งฝั่งขวา ด้านไกล (ติดกับประตูทางเข้า-ออก)
การแสดงออกดังกล่าวเป็นการยืนยันว่า ตำรวจนายนี้ถูกสะกดจิตจริง! เมื่อโดนกระตุ้นด้วยแสงไฟ/แสงกระพริบ ทำให้สำแดงพฤติกรรมนั้นออกมาโดยไม่รับรู้ตัวเอง
เมื่อตอนกล้องเคลื่อนเลื่อนเข้าไปในห้องน้ำ มีการล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิด (misdirection) เพราะหญิงสาว (ที่สวมใส่เสื้อคลุมเดียวกับแพทย์หญิง) ก้าวเดินเข้าห้องน้ำหญิง ผมเลยหลงครุ่นคิดว่ากล้องจะติดตามเธอไป แต่ที่ไหนได้ กลับเคลื่อนเข้าห้องน้ำชาย เปิดเผยภาพเหตุการณ์บาดตาบาดใจ
ผมขออธิบายแรงจูงใจของแพทย์หญิงสักเล็กน้อย (อ้างอิงจากการสะกดจิตของ Mamiya) ซึ่งมันวกเข้าสู่วิถีชาวญี่ปุ่น สังคมชายเป็นใหญ่ วงการแพทย์สมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมสตรีเพศเป็นหมอเฉพาะทาง เธออยากเรียนผ่าตัดแต่โดนกีดกัน ผลักไส คงไม่ได้อนุญาตจากผู้หลักผู้ใหญ่ กลายเป็นความเก็บกด อดกลั้น ใจอยากใช้มีดกรีดเรือนร่างบุรุษ เลยต้องการกระชากหน้ากากคนเหล่านั้นออกมา
และหลังจากแพทย์หญิงกำลังกระชากใบหน้าเหยื่อ น้ำในอ่างล้างหน้าเอ่อไหลออกมา นั่นกระมังคือสิ่งทำให้เธอเกิดแรงกระตุ้นฆาตกรรม เพราะก่อนหน้านี้ Mamiya ก็ใช้น้ำเคลื่อนไหลเป็นสื่อกลางสะกดจิต
เมื่อตอน Mamiya กำลังถูกล้อมจับ หลบซ่อนตัวอยู่ในห้องเก็บของปกคลุมอยู่ในความมืดมิด ทำการจุดบุหรี่ พยายามจะพูดคุย โน้มน้าวชักจูงนักสืบ Takabe แต่ทว่าอีกฝ่ายกลับสำแดงอารณ์เกี้ยวกราด ปฏิเสธเล่นเกม ตอบคำถาม นั่นคือวิธีการป้องกันตัวไม่ให้ถูกสะกดจิต
การเลือกใช้สถานที่ที่มีความมืดมิด มองอะไรแทบไม่เห็น (มีแค่ประกายไฟจากบุหรี่ ที่ทำให้พอชี้ตัว Mamiya) ก็เพื่อสื่อถึงมุมมืดภายในจิตใจ ซึ่งสิ่งที่ Takabe พยายามค้นหา (Mamiya) คือต้นตอ/มวลรวมแห่งความชั่วร้าย แสงสว่างในเงามืดที่ล่อหลอกผู้คนให้หลงติดกับดัก
ช็อตลักษณะนี้ระหว่างการซักไซร้ไล่เรียง แม้ทั้งสองนั่งอยู่ฟากฝั่งตรงกันข้าม แต่ใบหน้าของพวกเขามักบดบังกันและกัน นั่นหมายถึงต่างฝ่ายต่างรับรู้ตัวตนของอีกฝ่าย “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” ซึ่งขณะนี้ Mamiya พยายามใช้สารพัดวิธีเพื่อสะกดจิต แต่นักสืบ Takabe สามารถต่อต้านขัดขืน ไม่เล่นเกม ไม่ตอบคำถาม ไม่ยินยอมให้ตนเองถูกชักจูง
“ส่วนใหญ่ศัตรู คือผู้ที่รู้ใจเรามากที่สุด” คำกล่าวของสุมาอี้ จากวรรณกรรมสามก๊ก สามารถใช้อธิบายสถานการณ์ลักษณะนี้ได้ชัดเจนที่สุด ภาพซ้อนทับ=ความเข้าใจกันและกัน
ค่ำคืนนี้เมื่อเดินทางกลับบ้าน ปรากฎว่าภรรยาสูญหายตัวไป โชคดีว่าพบเจอหลงทางอยู่ไม่ไกล … อาการหลงทางของ Fumie คือคำอธิบายความรู้สึกของนักสืบ Takabe ทำคดีไม่คืบหน้า ไม่สามารถล้วงข้อมูลใดๆจากปาก Mamiya
ภาพอีกช็อตที่ถ่ายมุมกลับกัน นักสืบ Takabe บอกกับภรรยาว่าไม่ต้องออกจากบ้าน จะได้ไม่หลงทางแบบนี้ ภาพพื้นหลังคือทะเลสาปยามค่ำคืน สะท้อนแสงแห่งความมืดหม่นภายในจิตใจ … ก่อนหน้านี้ Takabe เคยยืนเหม่อมองพระอาทิตย์ตกดิน คราวนี้กาลเวลาเคลื่อนคล้อยยามค่ำคืน สื่อถึงสภาพจิตใจปกคลุมอยู่ในความมืดมิด อาการป่วยภรรยาเข้าขั้นรุนแรงกว่าที่คาดคิด!
เราไม่จำเป็นต้องไปสนใจเนื้อหา ตำหรับตำรา หนังสือจิตวิทยา เหล่านี้มันก็แค่พร็อพ (Prop) เพื่อให้เข้าใจเบื้องหลังตัวตนของ Kunio Mamiya เคยเป็นนักศึกษาแพทย์ มีความรู้ เฉลียวฉลาด อัจฉริยภาพด้านการสะกดจิต … แค่นี้ก็เพียงพอแล้วละ!
ขอกล่าวถึง Mesmer สักเล็กน้อยก็แล้วกัน! เป็นคำที่มีความหมาย (vt) สะกดจิต, ทำให้หลงเสน่ห์, ทำให้มึนงง, ทำให้จับใจ ฯ
จุดเริ่มต้นมาจาก Franz Anton Mesmer (1734-1815) แพทย์ชาวเยอรมันที่มีความสนใจด้านดาราศาสตร์ พัฒนาทฤษฎีชื่อว่าพลังแม่เหล็กของสัตว์ Animal Magnetism (หรือ Mesmerism) สืบเนื่องตั้งแต่ชาวยุโรปยุคกลาง เชื่อกันว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีพลังแม่เหล็กแฝงอยู่ในตนเอง จึงนิยมประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับที่มีแม่เหล็ก (เพื่อว่าพลังจากแม่เหล็กจะให้คุณประการแก่ร่างกาย) จากนั้น Mesmer ได้ทำการต่อยอดโดยนำเอาพลังแม่เหล็กมาใช้รักษาโรคทางประสาท ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการชัก ร้องไห้ ตะโกนอย่างคนเสียสติ หรือการฝันลึก มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน … นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นการสะกดจิต (Hypnosis)
แต่ทว่าวิธีการรักษาแบบ Mesmer มีกระแสต่อต้านมากมาย, ในปี ค.ศ. 1787 สมาคมแพทย์ The Royel Society of Medicine ได้ตั้งคณะกรมการขึ้นมาตรวจสอบ กอปรด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในสมัยนั้น Benjamin Franklin, Antoine Lavoisier, Josep-Ignace Guillotin (แพทย์ผู้ประดิษฐ์เครื่องประหารชีวิตกิโยติน) แต่ทว่าคณะกรรมการดังกล่าวกลับให้ข้อสรุป แม่เหล็กแห่งสัตว์ไม่มีอยู่จริง! ผลลัพธ์ของการรักษาเพียงเกิดจากการพูดชักจูงโน้มน้าว (Suggestion) และผลจากการจินตนาการของผู้รับการรักษาเท่านั้น
การได้พบเห็นสภาพที่อยู่อาศัยของ Mamiya โดยไม่รู้ตัวทำให้นักสืบ Takabe ปรากฎภาพ ‘Flash’ เกิดความตระหนักถึงบางอย่าง ลิงในกรง = ภรรยาสมองเสื่อม จึงเร่งรีบขับรถกลับบ้านโดยพลัน!
จะว่าไปพฤติกรรมของ Mamiya รวมถึงบรรดาฆาตกร/เหยื่อหลังก่อเหตุ ต่างมีดวงตาล่องลอย ไม่รับรู้ตนเอง จดจำอะไรไม่ค่อยได้ ช่างละม้ายคล้ายอาการป่วยของ Fumie … นี่อาจคือวินาทีที่ Takabe เริ่มสามารถแปะติดปะต่อ เชื่อมโยงบางสิ่งอย่าง มันอาจเคยมีอะไรเกิดขึ้นกับภรรยาก่อนหน้านี้หรือเปล่า?
และพอกลับมาถึงบ้าน สิ่งที่ Takabe พบเห็น (Fumie แขวนคอตาย) ทำให้เขาตกอยู่ในความสิ้นหวังโดยพลัน แต่ทั้งหมดล้วนเพียงภาพหลอน ครุ่นคิดไปเอง เธอยังคงมีชีวิตอยู่ต่อหน้า … การเห็นภาพหลอนของ Takabe ไม่ได้เกิดจากการถูกสะกดจิต แต่น่าจะเพราะโหมงานหนัก ไม่ได้พักผ่อน เครียดหนักจนสายตาฝ้าฟาง ซึ่งนี่ถือเป็นอีกการล่อหลอก (misdirection) เพื่อบอกว่าสิ่งพบเห็น เปลือกภายนอก มันอาจไม่ใช่ภาพความจริง
การเผชิญหน้าในห้องขัง/โรงพยาบาลจิตเวชระหว่างนักสืบ Takabe และ Mamiya จริงๆมันมีรายละเอียด ‘Mise-en-scène’ มากมายเต็มไปหมด แต่ผมจะยกขึ้นมาอธิบายเพียงสองสามจุดที่น่าสนใจ
ห้องคุมขังแห่งนี้มีความแปลกประหลาด แบ่งสัดส่วนออกเป็นห้องนอนขนาดใหญ่ (โทนสีน้ำเงิน เย็นๆ) และห้องน้ำขนาดเล็ก เพดานต่ำ (ไฟสีเหลืองส้ม อุ่นๆ) มีลักษณะคล้าย ‘ห้องซ้อนห้อง’ แสงสว่างภายในความมืด
- แรกเริ่มต้น Takabe ยืนอยู่ภายนอก พยายามพูดคุยสอบถาม แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ, ขณะที่ Mamiya นั่งอยู่ในห้องน้ำ นอกจากทำไม่รู้ไม่สน ยังพยายามหาโอกาสชี้นำการสนทนา แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถสะกดจิตอีกฝ่าย
- หลังการสนทนาดำเนินไปพักใหญ่ๆ Mamiya ย้ายออกมานั่งอยู่บนเตียงนอน รับฟังคำพร่ำบ่น พร้อมชื่นชมอีกฝ่ายที่สามารถต่อต้านการสะกดจิต, ขณะที่ Takabe เดินเข้าไปในห้องน้ำ พูดพร่ำบ่นโน่นนี่นั่น ระบายอารมณ์อัดอั้น
ทั้งสองภาพที่ผมนำมานี้ มุมกล้องคล้ายๆเดิม (ถ่ายทำแบบ Long Take) แต่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้งสอง ที่แม้อยู่ฟากฝั่งตรงกันข้าม แต่สามารถเติมเต็ม เข้าใจกันและกัน “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่”
ช่วงท้ายของซีเควนซ์นี้ Takabe พยายามจะสะกดจิต Mamiya ด้วยการจุดไฟแช็ค แต่มือสมัครเล่นหรือจะสู้มืออาชีพ สำแดงอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลท้องฟ้ามืดครื้ม จู่ๆภายนอกฝนตกหนัก น้ำหยดจากเพดานลงมาดับไฟ แล้วสายน้ำค่อยๆเคลื่อนไหลเข้าหา
นัยยะของไฟแพ้น้ำ พบเห็นจุดประจุไฟฟ้า/กระแสแม่เหล็ก (Animal Magnetism) ปรากฎขึ้นลางๆบริเวณเหนือศีรษะของ Takabe (เหมือนการส่งต่อพลังแม่เหล็ก) และคำกล่าวของ Mamiya พูดชี้นำว่า “The water will make you calm. It will make you happy, empty.” เหล่านี้ล้วนบ่งบอกว่า Takabe ได้รับการรักษา ผ่านการสะกดจิต สืบทอดพลังแม่เหล็กของ Mamiya เป็นที่เรียบร้อยแล้ว!
แต่นั่นไม่ได้แปลว่า Takabe จะกลายเป็นฆาตกร ลงมือเข่นฆ่าใครโดยทันที เจ้าตัวยังคงปฏิเสธต่อต้าน Mamiya เพียงเริ่มตระหนักถึงแนวคิด วิธีการ หนทางออก เหลือเพียงเวลาเท่านั้นก่อนที่เขาจะตัดสินใจ
เพื่อนจิตแพทย์ Sakuma พยายามโน้มน้าว Takabe ไม่ให้ถลำตัวลึกลงไปกว่านี้ แต่การอุตส่าห์เดินไปหยิบลูกรักบี้ กลับไม่มีความหมายอันใด และท่ามกลางสายลมแรง (ผกก. Kurosawa เคยบอกว่าขณะนั้นลมแรงจริงๆ ไม่มีเงินทุนเอามาพัดลมมาเป่าหรอก) สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจของพวกเขาที่กำลังสั่นคลอน (แต่ผมว่าออกไปทาง Sakuma เสียมากกว่า) เพราะความหวาดกลัวต่อ Mamiya จะย้อนกลับเข้ามาทำลายตนเอง
ทีแรกผมนึกว่าจะเป็นการพิจารณาคดีความ ขึ้นศาลไต่สวน แต่กลับแค่เชื้อเชิญพวกผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ระดับสูงมารับฟังคำให้การ ซึ่งล้วนเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เต็มไปด้วยอีโก้ เย่อหยิ่ง ทะนงตน วางตัวหัวสูงส่ง หัวหน้าของ Takabe ก็เกือบจะวางมวยกับ Mamiya ไม่เปิดใจรับฟัง ปฏิเสธทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่าย
นักสืบ Takabe กลับมาบ้านครั้งนี้ในสภาพจิตใจสั่นคลอน ตลอดทั้งซีเควนซ์ถ่ายทำด้วยกล้อง Hand-Held ภาพสั่นๆ เปิดฝาชีพบเห็นเนื้อดิบ (ภรรยาลืมทำอาหารเย็น), หงุดหงิดกับเสียงเครื่องซักผ้า (ข้างในไม่มีผ้าซัก คืออาการหลงลืมของภรรยาเช่นเดียวกัน), ยืนตรงประตูห้องนอน ใบหน้าปกคลุมอยู่ในความมืดมิด จากนั้นเข้าไปหยิบมีดในครัว เหมือนครุ่นคิดจะ … แต่นี่เป็นการล่อหลอกผู้ชม (misdirection) อาจแค่เอามีดไปทำอาหารก็ได้นะ
วันถัดมา Takabe นำพาภรรยาขึ้นรถโดยสาร (ที่ภายนอกราวกับกำลังล่องลอยอยู่บนปุยเมฆ) นี่น่าจะคือจินตนาการของ Fumie ครุ่นคิดว่าพวกเขากำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยว แต่แท้จริงแล้วคือโรงพยาบาลจิตเวช ฝากเธอไว้เพื่อขอจัดการคดีความให้เสร็จสิ้นลงเสียงก่อน
Takabe เดินทางมารับชุดยังร้านซักรีด เหมือนจะทำใบนัดหล่นหาย แต่พนักงานกลับบอกว่าไม่มีรายการคงค้าง นั่นแปลว่าเขาต้องเคยมาเอาไปแล้วตั้งแต่ตอนก่อนหน้า … นี่แสดงถึงสภาพจิตใจไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หลังเพิ่งสูญเสียคนรัก (ส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวช)
ค่ำคืนนี้เมื่อไม่มีเหตุผลให้กลับบ้าน Takabe เลยมานั่งทานข้าวเย็นในร้านอาหาร แต่ดูเหมือนเขาจะยังไม่ได้ทานสักคำ เอาแต่เหม่อล่องลอยออกไปนอกหน้าต่าง จนกระทั่งพนักงานเสิร์ฟเข้ามาขัดจังหวะ ขอเก็บจานข้าว … นี่กระมังคือเหตุผลที่นำไปสู่เหตุการณ์หายนะช่วงปัจฉิมบท
นี่ไม่น่าจะใช่ฟุตเทจการสะกดจิตครั้งแรกในญี่ปุ่น เป็นการถ่ายทำขึ้นเพื่อใช้ในหนังโดยเฉพาะ (เพราะผมเห็นเครดิตนักแสดงผู้รับบท Suzu Murakawa) แต่คำอธิบายอื่นๆน่าจะจริงทั้งหมด ผมลองสอบถาม ChatGPT ถึงประวัติการสะกดจิตในญี่ปุ่น (ก็ไม่รู้เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน) เล่าว่ามีมาตั้งแต่ยุคสมัย Meiji Era (1868-1912) เริ่มต้นโดย Dr. Shuzo Kure (1865-1932) เดินทางไปร่ำเรียนยุโรป แล้วเดินทางกลับมาปรับประยุกต์ใช้ในญี่ปุ่น ซึ่งก็ไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ มองเป็นเรื่องตลกขบขันด้วยซ้ำไป ต้องหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงค่อยๆเปิดกว้างมากขึ้น
การนำเสนอฟุตเทจที่อ้างว่าคือการสะกดจิตครั้งแรกในญี่ปุ่น แล้วผู้ทำการสะกดจิตวาดตัวอักษร X ก็เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ อาจเรียกว่าต้นกำเนิดลัทธิ(ในญี่ปุ่น) ที่สามารถสืบสาน ต่อยอด ส่งต่อพลังแม่เหล็กที่สามารถ”รักษา”อาการป่วยทางใจของมนุษย์
ทั้งๆที่จิตแพทย์ Sakuma บอกกับเพื่อนนักสืบไม่ให้ถลำตัวลงลึก แต่ตัวเขาเองกลับกู่ไม่กลับ ตรงสำนวน “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” ตกเป็นเหยื่อของ Mamiya ซึ่งระหว่างการฉายเทปการสะกดจิตครั้งแรกในญี่ปุ่น เจ้าตัวทรุดนั่ง เหงื่อซก พบเห็นสารพัดภาพหลอน (หรือจะมองเป็นการฉายภาพย้อนอดีตระหว่างที่ Sakuma พยายามสืบเสาะค้นหาความจริง) ลิงทดลองในกรง เดินทางไปยังสถานกำพร้า (ของ Mamiya) เข้าห้องขังของ Mamiya กลับพบเห็น Takabe กำลังตรงเข้าหาตนเอง ฯ
การเห็นภาพหลอนของ Sakuma ทำให้เขาตระหนักว่าตนเองพลั้งพลาด ตกเป็นเหยื่อของ Mamiya ใกล้จะคลุ้มคลั่ง สูญเสียสติแตก เลยจัดการล็อกกุญแจมือตนเอง ปล่อยให้ปีศาจตนนั้นลงมือเข่นฆ่าตัวเอง … แต่บางคนอาจมองว่าความตายของ Sakuma อาจเป็นฝีมือของ Takabe เพราะเขาเป็นคนสุดท้ายที่พบเจอกัน และปฏิกิริยาตอนรับโทรศัพท์บนรถตำรวจ แสดงออกเหมือนไม่ยี่หร่า รับรู้อยู่แล้วว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
วิธีการที่ Mamiya ใช้หลบหนีออกจากห้องขังในโรงพยาบาล เริ่มต้นจากการฉกฉวยโอกาสระหว่างเกิดแผ่นดินไหว จากนั้นใช้เก้าอี้ทุบตีเครื่องทำความร้อน เสียงดังเป็นจังหวะ ส่งต่อพลังแม่เหล็กไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจภายนอก ก็ไม่รู้ยังไงเหมือนกันยินยอมปลดปล่อยเขาออกจากห้องขัง … อาจเป็นการสะกดจิตหมู่ กระมังนะ!
Takabe ขึ้นรถโดยสาร (คันเดียวกับที่เคยไปส่งภรรยาเข้าโรงพยาบาลจิตเวช) ล่องลอยไปจนถึงสถานกำพร้าที่ถูกทิ้งร้าง (ที่เพื่อนจิตแพทย์ Sakuma เคยไปเยี่ยมเยียน) สังเกตว่าตลอดทางปกคลุมด้วยหมอกควัน สร้างสัมผัสลึกลับ พิศวง ราวกับสถานที่เหนือธรรมชาติที่ไม่มีอยู่จริง
สถานกำพร้าแห่งนี้เคยเป็นสถานที่อยู่อาศัยวัยเด็กของ Mamiya ซึ่งสามารถสื่อถึงการหวนกลับหารากเหง้า จุดกำเนิดหายนะ เผชิญหน้ากับปีศาจร้าย เพื่อว่า Takabe จักได้รับการปลดปล่อย ปลดเปลื้องภาระทุกสิ่งอย่าง
หลังสำรวจห้องหับเสร็จสิ้น ก็เป็นการเผชิญหน้าครั้งสุดท้ายระหว่าง Takabe vs. Mamiya แม้ทั้งสองสามารถเข้าใจกันและกัน แต่ต่างฝ่ายต่างอยู่ฟากฝั่งตรงกันข้าม เสี้ยมหนามที่ต้องกำจัดให้พ้นภัยทาง นั่นคือเหตุผลที่นักสืบ Takabe ลงมือเข่นฆ่า Mamiya เสือสองตัวมิอาจอยู่ร่วมถ้ำเดียวกัน
ความตายของ Mamiya ยังถือเป็นการปลดเปลื้องภาระ ปลดปล่อยตัวตนเองของ Takabe กำจัดบุคคลที่คือตัวแทนสิ่งชั่วร้าย มุมมืดมิดภายในจิตใจ ต่อจากนี้จักสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่
หลังปลิดชีพ Mamiya ก็เท่ากับภายในจิตใจของ Takabe หลงเหลือเพียงความว่างเปล่า ก้าวเดินไปยังห้องเก็บเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Phonograph) รับฟังข้อความบันทึกไว้ตั้งแต่ร้อยปีก่อน พร้อมกับสายลมพัดผ่านผ้าม่าน พื้นน้ำเปียกปอน องค์ประกอบเหล่านี้สามารถสะกดจิตตัวละคร หรือจะมองว่าเป็นการสืบสาน ต่อยอด Takabe กำลังจะถือกำเนิดเป็น Mamiya รุ่นถัดไป
ปล. จะว่าไปชื่อตัวละคร Mamiya อ่านออกเสียงละม้ายคล้าย Mesmer อยู่เล็กๆ
หลังจากปิดบัญชีกับ Mamiya ฉายภาพโรงพยาบาลจิตเวชที่นักสืบ Takabe พาภรรยามารักษา แต่ช็อตสุดท้ายทำเอาผมใจหายวาป หญิงสาวคนนี้คือใคร ทำไมมีตัวอักษร X ราวกับถูกฆาตกรรม หรือว่า !#$%^
หนังจงใจไม่มีคำอธิบายใดๆ ให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิดจินตนาการ, ข้อสรุปของผมคือ Takabe ได้สืบทอดพลังแม่เหล็กมาจาก Mamiya จึงทำการสะกดจิตนางพยาบาลคนนี้ (เธอคือคนที่ปรากฎขึ้นก่อนภาพศพ) เพื่อให้ลงมือฆาตกรรมภรรยา Fumie ถือเป็นการปลดเปลื้องภาระทุกสิ่งอย่างของตนเอง
ปัจฉิมบทของหนัง Takabe กลับมานั่งมุมเดิมในร้านอาหาร ครั้งก่อนหน้านี้ไม่ใช่ไม่หิว แต่ไม่มีกระจิตกระใจเลยไม่สามารถกินอะไร แต่คราวนี้หลังจากปลดเปลื้องภาระทุกสิ่งอย่าง เลยสามารถรับประทานหมดจาน อิ่มหนำกับชีวิต!
ภาพสุดท้ายของ Takabe มีการสลับเปลี่ยนทิศทางมุมกล้อง (จากมุมกล้องหันเข้าหาหน้าต่าง พบเห็นภาพสะท้อนตัวตนเอง → เปลี่ยนฝั่งมาภายในร้าน) กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจากใบหน้า ปรับโฟกัสภายนอกให้มีความคมชัด นั่นสามารถสื่อถึงการเปิดมุมมอง พบเห็นโลกทัศน์ใหม่ … จากเคยเคร่งเครียดกับภาระมากมาย เมื่อสามารถปลดปล่อยตนเอง เขาจึงเริ่มมองเห็นโลกกว้างใหญ่
ตอนจบฉบับร่างแรกที่ผกก. Kurosawa เคยครุ่นคิดพัฒนาไว้นั้น จะเป็นการหวนย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้น Takabe ในสภาพสับสน มึนงง จดจำตัวเองไม่ได้ ตื่นขึ้นบริเวณริมหาดทราย เข้าไปทักทายใครคนหนึ่ง (ย้อนรอยกับตอนแรกพบเจอ Mamiya)
ส่วนตอนจบที่พบเห็นในหนังนี้ ตาดีได้ ตาร้ายเสีย สาวเสิร์ฟเดินไปหยิบมีด กิริยาท่าทางช่างดูผิดวิสัย แต่จะเกิดอะไรต่อไปนั้น คืออิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการ! พฤติกรรมของเธอมาจากการสะกดจิตของ Takabe หรือไม่?
เกร็ด: ผกก. Kurosawa เล่าว่าถ่ายทำตอนจบแบบเต็มๆเอาไว้ด้วย คือสาวเสิร์ฟถือมีดเข้าไปหลังร้าน แล้วทิ่มแทงเพื่อนพนักงานเสียชีวิต!
ตัดต่อโดย Kan Suzuki, 鈴木歓 หนึ่งในขาประจำผู้กำกับ Kiyoshi Kurosawa ร่วมงานกันตั้งแต่ V-Cinema ก่อนแจ้งเกิดกับ Cure (1997), Eyes of the Spider (1998) ฯ
ช่วงองก์แรกของหนังดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่างนักสืบ Kenichi Takabe พยายามสืบสวนสอบสวน ไล่ล่าติดตามชายผู้ต้องสงสัย Kunio Mamiya ที่ได้กระทำการบางอย่างกับเหยื่อ นำไปสู่คดีฆาตกรรมติดตามมา, ซึ่งพอผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมตัว องก์สองคือการสอบเค้นหาความจริง แต่ยังไม่ยินคำตอบใดๆ, ต้องเข้าสู่องก์สาม รายละเอียดทุกสิ่งอย่างถึงได้รับการเปิดเผย นำสู่การตัดสินใจของนักสืบ Takabe จะจัดการอะไรยังไงกับ Mamiya
- อารัมบท
- Fumie ภรรยาของนักสืบ Takabe กำลังอ่านหนังสือในโรงพยาบาล
- ชายคนหนึ่งลงมือฆาตกรรมโสเภณีในโรงแรม
- คดีฆาตกรรม X
- นักสืบ Takabe เดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุ จับกุมคนร้าย กลับมาโรงพักพูดคุยปรึกษากับเพื่อนจิตแพทย์ Sakuma
- เรื่องราวของ Mamiya กับครูสอนหนังสือ พบเจอกันริมชายหาด ก่อนพามาที่บ้าน
- ค่ำคืนนั้นนักสืบ Takabe เดินทางกลับบ้าน พูดคุยกับภรรยา วันถัดมาเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุ ซักไซร้ไล่เรียงครูสอนหนังสือ
- เรื่องราวของ Mamiya กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถูกจับกุมเพราะทำเหมือนจะกระโดดตึก นำพามายังป้อมโรงพัก ซักไซร้ไล่เรียง
- แพทย์หญิง Dr. Akiko กำลังตรวจคนไข้, Takabe สอบถามเพื่อนจิตแพทย์ Sakuma ถึงความเป็นไปได้จากการถูกสะกดจิต
- คดีฆาตกรรมเพื่อนตำรวจ
- Mamiya เข้าพบแพทย์หญิง Dr. Akiko แล้วทำการสะกดจิตอีกฝ่าย
- Takebe และ Sakuma สังเกตเห็นความผิดปกติระหว่างการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนั้น
- ต่อด้วยแพทย์หญิง Dr. Akiko ลงมือเชือดคอคนไข้
- Takabe สามารถล้อมจับกุม Mamiya ในโรงพยาบาล
- การซักไซร้ไล่เรียง
- Takabe พยายามซักไซร้ไล่เรียง Mamiya แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
- Takabe กลับมาบ้านไม่เห็นภรรยา จึงออกติดตามหา ก่อนพบว่าเธอพลัดหลงทาง
- Takabe ติดตามเบาะแสไปยังห้องพักของ Mamiya
- หลงครุ่นคิดว่าตนเองถูกสะกดจิต เลยรีบเดินทางกลับบ้าน พบเห็นภาพหลอนภรรยาแขวนคอตาย
- วันถัดมา Takabe จึงขอพูดคุยกับ Mamiya ในห้องขังสองต่อสอง
- Sakuma พยายามโน้มน้าว Takabe ไม่ให้ถลำลึกกับ Mamiya มากไปกว่านี้
- Takabe นำพา Mamiya มาให้การกับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูง
- การตัดสินใจของนักสืบ Takabe
- Takabe ตัดสินใจนำพาภรรยา Fumie มาพักอาศัยในโรงพยาบาลชั่วคราว
- Sakuma ค้นพบเทปวีดีโอลึกลับ บันทึกการสะกดจิตเมื่อศตวรรษก่อน
- Sakuma เดินทางไปยังสถานกำพร้า แล้วเข้าพบกับ Mamiya
- Mamiya ทำการสะกดจิตเจ้าหน้าที่ทั้งโรงพัก
- Takabe เดินทางไปยังบ้านของ Sakuma ที่ทำการฆ่าตัวตาย
- Takabe เดินทางมาที่โรงพักไม่พบเจอ Mamiya
- Takabe เผชิญหน้ากับ Mamiya ยังสถานกำพร้า
- ปัจฉิมบท, สาวเสิร์ฟคลุ้มคลั่งในร้านอาหาร
ผมพยายามเงี่ยหูฟังอยู่เนิ่นนาน ถึงขนาดหลงครุ่นคิดไปแล้วว่าหนังอาจใช้เพียง ‘diegetic music’ ผสมผสานเข้ากับเสียงประกอบ (Sound Effect) ซึ่งความเงียบงันช่วยสร้างบรรยากาศตึงเครียด เก็บกดดันได้เป็นอย่างดี … แต่แล้วจู่ๆได้ยินเสียงบทเพลงดังขึ้นมาเบาๆ
เพลงประกอบโดย Gary Ashiya, ゲイリー芦屋 (เกิดปี ค.ศ. 1966) นักดนตรีสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo, ตั้งแต่เรียนมัธยมมีความหลงใหล YMO และ Burt Bacharch พอขึ้นมหาวิทยาลัยเข้าร่วมวง Big Band Jazz เข้าเรียนทฤษฎีดนตรี ฝึกแต่งเพลงประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ มีผลงานเพลงประกอบโฆษณา โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อาทิ Cure (1997), License to Live (1998), Charisma (1999), Ju-on: The Curse (2000) ฯ
งานเพลงของ Ashiya มุ่งเน้นสร้างความกลมกลืนเข้ากับภาพและเสียงประกอบ พยายามทำออกมาไม่ให้สังเกตจับต้อง แต่ถึงไม่ได้ยินเสียงเพลงพื้นหลัง ผู้ชมจักรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งอย่างที่สร้างความอื้ออึง น่ารำคาญ ซุกซ่อนอยู่ในความมืด/ภายใต้จิตสำนึก รอวันเปิดเผยตัวตนแท้จริงออกมา
ผมขอพูดถึงแค่บทเพลง 動物磁気, Animal Magnetism ดังขึ้นช่วงอารัมบท ชายคนหนึ่งเดินทางมาใช้บริการโสเภณีในห้องพักโรงแรม จู่ๆหยิบท่อเหล็กมาทุบศีรษะเธอจนเสียชีวิต … เสียงเปียโนดังขึ้นแบบ Monotone บรรเลงโน๊ตชุดเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ ไม่รู้หนาวรู้ร้อน ไม่สนห่าเหว อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด สรรพสิ่งยังคงดำเนินไป เป็นบทเพลงที่เข้ากับแนวทางสามัญของหนัง
ตั้งแต่ภรรยาล้มป่วยสมองเสื่อม ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง หลงๆลืมๆ เลอะๆเลือนๆ กลายเป็นภาระให้นักสืบ Kenichi Takabe แทนที่หลังเสร็จงานหนัก กลับบ้านจักได้พักผ่อนคลาย จำต้องแบ่งเวลามาคอยดูแลเอาใจใส่ สร้างความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า จนเมื่อเผชิญหน้า Kunio Mamiya จึงระบายอารมณ์อัดอั้นภายในออกมา
Look … you think this is how I wanted to end up? We should all relax, enjoy ourselves, lead peaceful lives. But society isn’t like that! It’s people like you. It’s guys like you who have my head about to split open! Lunatics like you have it easy while citizens like me go through hell. I spend my whole life taking care of that wife of mine! If it weren’t for you… things would be fine with my wife and me. Her I can forgive… but you I can’t.
Kenichi Takabe
Takabe คือตัวแทนคนรุ่นเก่า หัวโบราณ ยังยึดติดกับวิถีญี่ปุ่นดั้งเดิม บุรุษคือช้างเท้าหน้า ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ภรรยามักต้องเสียสละออกมาเป็นแม่บ้าน เลี้ยงดูบุตรหลาน ปรนเปรอนิบัติสามี … นั่นทำให้เมื่อ Fumie ล้มป่วยสมองเสื่อม ไม่สามารถจัดการงานบ้านงานเรือน จึงกลายเป็นภาระวุ่นวายให้กับสามี
ตรงกันข้ามกับ Mamiya ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ไม่สนห่าเหวอะไร อยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่ยึดติดอยู่กับขนบกฎกรอบ เรียกวิถีญี่ปุ่นดั้งเดิมว่าผู้ป่วย ต้องทำการบำบัดรักษา สะกดจิตเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ตัวตน ตั้งคำถามชีวิต ค้นหาความต้องการแท้จริงที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน
คำว่า Cure, รักษา คนส่วนใหญ่มักครุ่นคิดถึงแค่แง่บวก ทำให้อาการป่วยหายดี แต่จริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับมุมมอง ซึ่งก็มีความแตกต่างตรงกันข้าม
- การรักษาของ Mamiya (เสรีชน) คือทำให้ผู้ป่วยเรียนรู้จักตัวตนเอง ค้นพบความต้องการที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องลึกภายใน แล้วได้กระทำสิ่งนั้นตอบสนองความพึงพอใจ โดยไม่ต้องสนห่าเหวอะไรใคร
- แต่มุมมองของ Takebe (อนุรักษ์นิยม) อิสรภาพคือการทำลายกฎระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติ วิถีทางสังคม ถือเป็นสิ่งชั่วร้าย ผิดกฎหมาย บุคคลอันตราย ต้องกำจัดให้พ้นภัยทาง
สาเหตุที่ Mamiya ไม่สามารถสะกดจิต Takabe เพราะทั้งสองต่างมีทัศนคติแตกต่างตรงกันข้าม! แบบเดียวกับขั้วการเมืองขวา-ซ้าย อนุรักษ์นิยม-เสรีชน เป็นเรื่องสามัญที่พวกเขาจะไม่ยินยอมรับกันและกัน แต่ขณะเดียวกันต่างก็สามารถทำความเข้าใจอีกฝ่ายอย่างถ่องแท้จริง ตรงกับสำนวนไทย “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่”
แม้ท้ายที่สุด Takebe ยังคงไม่สามารถยินยอมรับ Mamiya จึงลงมือปลิดชีพอีกฝ่าย แต่เขาก็ซึมซับแนวคิด กลายเป็นผู้สืบสาน ต่อยอด ค้นพบหนทางออก/ความต้องการแท้จริงของตัวตนเอง คลายความหมกมุ่นยึดติด ลงมือฆาตกรรมภรรยา เป้าหมายถัดมาคือสาวเสิร์ฟในร้านอาหาร เพื่อดำเนินการ”รักษา”สังคมป่วยต่อไป
เราสามารถเปรียบเทียบนักสืบ Takabe คือตัวตายตัวแทนของผกก. Kurosawa ราวกับจะบอกว่าตนเองก็เคยหมกมุ่นยึดติดกับขนบวิถีญี่ปุ่นรูปแบบเก่า แต่ปัจจุบัน(นั้น)ได้เรียนรู้ที่จะเปิดกว้าง ยินยอมรับแนวคิดใหม่ๆ โหยหากระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ … แต่มันไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างที่เขาจะยินยอมรับได้ทั้งหมด
Cure (1997) จึงเปรียบดั่งยารักษาแผลใจ(ผกก. Kurosawa) หลังต้องทนทุกข์ทรมาน เวียนวนอยู่ในวงการ Pink Film, V-Cinema มานานกว่าทศวรรษ! นี่คือครั้งแรกที่ได้สรรค์สร้างภาพยนตร์ตอบสนองวิสัยทัศน์ ตรงต่อความต้องการ ถือเป็นการปลดปล่อยตนเองสู่อิสรภาพ ต่อจากนี้ไม่มีอะไรสามารถหยุดยับยั้งการมาถึงของ Kiyoshi Kurosawa
แซว: หลังเสร็จจาก Cure (1997) ผกก. Kurosawa ยังต้องหวนกลับไปกำกับหนัง V-Cinema อีกสองสามเรื่องระหว่างรอคอยความสำเร็จของหนัง แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรฉุดเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาล Tokyo International Film Festival แต่เสียงตอบรับออกไปทางมึนๆงงๆ นักวิจารณ์ญี่ปุ่นดูไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่ยังสามารถคว้ารางวัล Best Actor (Kōji Yakusho) จึงมีโอกาสเดินทางไปฉายต่างประเทศ พอมาถึงฝรั่งเศส Festival d’Automne de Paris ปรากฎว่าเสียงตอบรับดีล้นหลาม ทำให้ชื่อของ Kiyoshi Kurosawa เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติโดยพลัน!
Arguably overshadowed by other films in the turn-of-the-century J-Horror canon like Ringu (1998) and Audition (1999). Cure (1997) lives on as one of the more powerful works of the era.
Stephanie Monohan นักวิจารณ์จาก Screen Slate
Cure (1997) is a horror film in the purest sense of the word; its ability to unsettle the viewer is second to none. In it, Kiyoshi Kurosawa unleashes a shadow. It is the shadow of apocalypse, an apocalypse which is not seen or heard, but sensed. And it’s creeping ever closer.
Tom Mes นักวิจารณ์จาก Midnighteye
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยตากล้อง Tokushô Kikumura เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2022 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Criterion, Kadokawa Entertainment, Eureka Entertainment (ในคอลเลคชั่น Masters of Cinema)
- Kinema Junpo: Top 100 best Japanese movies ever made (1999) ติดอันดับ #92
- Kinema Junpo: Top 200 best Japanese movies ever made (2009) ติดอันดับ #57
สิ่งสร้างความอึ้งทึ่งในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่แนวคิด พล็อตเรื่องราว ภาพถ่าย การแสดง ฯ แต่คือลักษณะของ ‘Contemporary Art’ มองไปทางไหนล้วนพบเห็นอิทธิพล The Testament of Dr. Mabuse (1933), The Boston Strangler (1968), The Silence of the Lambs (1991), And Life Goes On (1992) ฯ ซึ่งมันดันสอดคล้องหนึ่งในคำพูดตัวละคร
All the things that used to be inside me now they’re all outside. So I can see all of the things inside you, Doctor. But the inside of me is empty.
Kunio Mamiya
แม้ว่า Cure (1997) จะมีแนวคิดอันลุ่มลึกล้ำ นำเสนอสันดานธาตุแท้มนุษย์-สังคม ตั้งคำถามปรัชญาชีวิต แต่สิ่งที่ผมแอบผิดหวังคือมันกลับไม่สามารถ”รักษา”อะไร นอกจากแผลใจของผกก. Kurosawa … ทิ้งรอยบาดแผลทางใจให้ผู้ชมด้วยซ้ำไป
จัดเรต 18+ บรรยากาศทะมึน คดีฆาตกรรมต่อเนื่อง
Leave a Reply