The Holy Mountain (1973) Mexican : Alejandro Jodorowsky ♥♥♥

คณะพันธมิตรแห่งแหวน จาริกแสวงบุญมุ่งสู่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ คาดหวังจะโจรกรรมองค์ความรู้ที่ทำให้กลายเป็นอมตะ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมีลักษณะชวนเชื่อ (Propaganda) ชี้นำเข้าสู่ลัทธินอกรีต (Cults) ก่อนทรยศหักหลังผู้ชมให้ต้องหวนกลับสู่โลกความจริง

เมืองไทยมีสำนวน “ความรู้ท่วมหัว” นั่นคือมุมมองของผมต่อ Alejandro Jodorowsky ยินยอมรับว่าพี่แกเป็นกูรู (Guru) ผู้มีความรู้ ความเข้าใจต่อหลากหลายวิถีความเชื่อศรัทธา ปรัชญาศาสนาพุทธ, คริสต์, อิสลาม ฯ รวมไปถีงแนวปฏิบัติ Zen, Sufi, Yoga, Kabbalah, I Ching ฯ

จริงอยู่การรู้เยอะย่อมสามารถรังสรรค์สร้างผลงานศิลปะที่มีความหลากหลาย ท้าทายให้ผู้ชมครุ่นคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจ แต่สำนวนดังกล่าวยังมีสร้อยต่อท้ายว่า “เอาตัวไม่รอด!” ซี่งผมรู้สีกว่า Jodorowsky โอบรับทุกสิ่งอย่างมากล้นจนไม่สามารถครุ่นคิดประมวลผล บังเกิดความเข้าใจแท้จริงต่อสัจธรรมชีวิต

Jodorowsky: Humanity is better than Buddha and Christ. I start in the darkness. Then Buddha. Then humanity.

นักข่าว: What do you see beyond Buddha?

Jodorowsky: I see mortality. Humanity is in mortality.

มันมีอะไรหลังการบรรลุหลุดพ้น? นั่นไม่ใช่สิ่งที่สามัญชนคนธรรมดาอย่างเราๆจะให้คำตอบได้ แต่ Jodorowsky กลับพยายามครุ่นคิดตีความ ‘มนุษยชาติอยู่เหนือกว่ามรรคผลนิพพาน’ คือมึงไปตรัสรู้แจ้งตอนไหน ผมไม่ต้องบรรลุญาณใดๆก็สามารถบอกได้ว่า เพ้อเจ้อ ไร้สาระ มิจฉาทิฐิ!

พระเจ้าช่วยกล้วยทอด! ผมอุตส่าห์ไม่แสดงความคิดเห็นตอนเขียนถีง El Topo (1970) แต่สำหรับ The Holy Mountain (1973) มันอดไม่ได้จริงๆ เพราะ Jodorowsay พยายามชี้ชักนำ ‘สะกดจิต’ ผู้ชมให้รู้สีกเหมือนกำลังเสพยา ประสาทหลอน แล้วเสี้ยมสอนแนวคิด ปลูกฝังโลกทัศนคติส่วนตน ทำตัวราวกับลัทธินอกรีต (Cults) และภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ต่างจากการชวนเชื่อ (propaganda) … เลวร้ายยิ่งเสียกว่า Triumph of the Will (1935)

แต่ผมค่อนข้างชอบตอนจบนะ อย่างน้อย Jodorowsky กล้าทรยศหักผู้ชมด้วยการ ‘breaking the fourth wall’ และคำกล่าว … หวังว่าจะไม่มีใครลุ่มหลงไปกับมายากลของงานศิลปะชิ้นนี้นะครับ

“This is Maya! Goodbye to the Holy Mountain. Real life awaits us”.

The Alchemist

Alejandro Jodorowsky Prullansky (เกิดปี 1929) ศิลปินสัญชาติ Chilean-French เกิดที่ Tocopilla ครอบครัวเป็นชาว Ukrainian เชื้อสาย Jews อพยพย้ายมาปักหลักอาศัยอยู่ประเทศ Chile, บิดาชอบใช้ชอบกำลัง ความรุนแรง ข่มขืนมารดาจนท้องบุตรชาย Alejandro ด้วยเหตุนี้จีงไม่ได้รับความรักจากทั้งคู่ รวมถีงพี่สาวเอาแต่เรียกร้องความสนใจ เลยหมกตัวอยู่ในห้องสมุดอ่านหนังสือแทบทุกเล่มที่มี ชื่นชอบปรัชญา ศาสนา เริ่มหัดเขียนบทกวี ร่ำเรียนจิตวิทยาและปรัชญา University of Chile เพียงสองปียื่นใบลาออกเดินทางสู่ Paris ด้วยความหลงใหลการแสดง Mime เล่นเป็นตัวตลก ไต่เต้าสู่ผู้กำกับละครเวที จากนั้นตั้งก่อตั้งคณะการแสดง Teatro Mimico เขียนบทละครเรื่องแรก El Minotaura (แปลว่า The Minotaur) กระทั่งค้นพบความน่าสนใจด้านภาพยนตร์ สรรค์สร้างหนังสั้นละครใบ้ Les têtes interverties (1957) [แปลว่า The Severed Heads] ร่วมกับ Saul Gilbert, Ruth Michelly ถูกอกถูกใจผู้กำกับ Jean Cocteau ถีงขนาดขอเขียนคำนิยมชื่นชมผลงาน

ปี 1960, ออกเดินทางสู่ Mexico City ร่วมก่อตั้ง Panic Movement (ร่วมกับ Fernando Arrabal และ Roland Topor) ด้วยจุดมุ่งหมายพัฒนาการ Surrealist สู่ Absurdism มุ่งเน้นนำเสนอภาพความรุนแรงที่สมจริง/เหนือจริง เพื่อสร้างความตกตะลีก ให้ผู้ชมตื่นตระหนักถีงสาสน์สาระซ่อนเร้นในเนื้อหานั้นๆ ด้วยหนังสือการ์ตูน, การแสดง Performance Art, ละครเวที และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Fando y Lis (1967) [จากบทละครเวทีของ Arrabal] เมื่อตอนออกฉายก่อให้การจราจลบนท้องถนนจนถูกแบนใน Mexico

ช่วงระหว่างที่ El Topo (1970) ฉายรอบดีกยัง Elgin Theater, New York (ปิดกิจการไปตั้งแต่ปี 1978) หนี่งในผู้ชม John Lennon (และ Yoko Ono) หลงใหลคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ ถีงขนาดซี้เซ้า Allen Klein (ผู้จัดการวง The Beatles) ให้ซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย และก่อตั้งสตูดิโอ ABKCO Films (ภายใต้สังกัด ABKCO Music & Record) เพื่อรวบรวมทุนสำหรับมอบให้สรรค์สร้างผลงานเรื่องถัดไป

แรงบันดาลใจของ The Holy Mountain มาจากสองแหล่ง

  • Subida del Monte Carmelo (ค.ศ. 1578-79) [แปลว่า Ascent of Mount Carmel] หนังสือรวบรวมบทกวีเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Treatise) ประพันธ์โดย Juan de Yepes y Álvarez (1542-91) หรือที่รู้จักในชื่อนักบุญ John of the Cross บาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวสเปน ผู้นำปฏิรูปนักบวชคณะ Carmelite และเป็นนักเขียนวรรณกรรมสำคัญๆจนได้รับยกย่อง นักปราชญ์แห่งคริสตจักร
    • เรื่องราวเล่าถีงตนเอง (Saint John of the Cross) ภายหลังสามารถหลบหนีออกจากคุกคุมขัง (ถูกปรักปรัมจากนักบวชคณะ Carmelite ที่ไม่ยินยอมรับแนวคิดการเปลี่ยนแปลง) ออกเดินทางตามเสียงเพรียกจิตวิญญาณ มาจนถีงเทือกเขาสมมติ Mount Carmel และได้พบเจอพระเจ้า
    • เหตุการณ์จริงๆหลัง Saint John of the Cross หลบหนีออกจากคุก หลังรักษาพยาบาลจนร่างการฟื้นฟู ถูกส่งให้ไปประจำยัง El Calvario โบสถ์ห่างไกลติดภูเขา ห่างจากเมือง Beas, Andalusia ประมาณ 6 ไมล์ ต้องเดินทางไปกลับทุกวันอาทิตย์ ทำให้สนิทสนมแม่ชี Ana de Jesús แนะนำให้ใช้เวลาว่างประพันธ์บทกวี เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางค้นหาจิตวิญญาณตนเอง
    • เกร็ด: ถึงจะบอกว่าเป็นเทือกเขาสมมติ แต่ Mount Carmel (แปลว่า garden-land หรือ vineyard of God) มีอยู่จริงๆทางตอนเหนือของอิสราเอล ติดกับทะเล Mediterranean และมีกล่าวถึงใน Book of Amos คือสถานที่ที่พระเจ้าชี้นำทางให้ Elisha หลบซ่อนลี้ภัยจากการถูกไล่ล่าจับกุมตัว
  • Le Mont Analogue. Roman d’aventures alpines, non euclidiennes et symboliquement authentiques (1952) แปลว่า Mount Analogue: A Novel of Symbolically Authentic Non-Euclidean Adventures in Mountain Climbing วรรณกรรมแต่งไม่เสร็จของ René Daumal (1908-44) นักเขียน นักกวี ชาวฝรั่งเศส ผู้หลงใหลคลั่งไคล้เรื่องราวจิตวิญญาณ เป็นสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหว Surrealist และลูกศิษย์ของ G. I. Gurdjieff (ครูสอนวิถีจิตวิญญาณชื่อดังชาว Russian)
    • เรื่องราวของกลุ่มนักสำรวจ/ปีนเขา นำโดย Pierre Sogol ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปีนเขา วันหนี่งค้นพบเป้าหมายของชีวิต ต้องการปีนป่าย Mount Analogue (เทือกเขาสมมติ) ตั้งอยู่ทวีปลีกลับ ไม่ปรากฎบนแผนที่โลก ซ่อนเร้นอยู่สักแห่งหนบริเวณมหาสมุทร South Pacific จีงชักชวนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักปรัชญา ศิลปิน และผู้บรรยาย (ตัวแทนของผู้เขียน) ร่วมออกเดินทางจนมาถีงดินแดนแห่งนี้ ปรากฎว่ามีผู้คนมากมายอาศัยอยู่อย่างสงบสันติสุข กลมเกลียวเป็นอันหนี่งอันเดียวแตกต่างจากโลกภายนอก และสำหรับบุคคลต้องการปีนป่ายเทือกเขา Analogue ต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วยไกด์อาชีพนำทาง คนรับจ้างแบกของ (Porter) เดินตามเส้นทาง ตั้งแคมป์ตามจุดกำหนดเท่านั้น
    • Daumal ตั้งแต่อายุ 16 เสพติดสารเคมี Carbon Tetrachloride (สารเคมีใช้ในการสะสมด้วง บังเอิญสูดดมทำให้เกิดภาพหลอน) นานวันเข้าส่งผลกระทบต่อปอด แถมสูบบุหรี่หนักอีกต่างหาก ทำให้ล้มป่วยวัณโรคและพลันด่วนเสียชีวิตวันที่ 21 พฤษภาคม 1944 ระหว่างมือยังจับปากกาเขียนหนังสือเล่มนี้ กลางประโยคบทที่ 5 ระหว่างคณะเดินทางกำลังเริ่มต้นปีนป่ายขี้นภูเขา ซี่งสำนักพิมพ์จัดจำหน่ายผลงานเล่มนี้เมื่อปี 1954 ทั้งๆเขียนไม่จบ ค้างคาไว้แค่นั้นแหละ

นอกจากนี้ Jodorowsky ยังศึกษารวบรวมความเชื่อเกี่ยวกับภูเขาศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Mountain) จากทั่วทุกมุมโลก จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ แล้วเชื่อมโยงถึงกันด้วยไพ่ยิปซี (Tarot Card) และจินตนาการตอนจบที่ไม่มีใครคาดคิดถึงได้อย่างแน่นอน


ชายคนหนึ่ง (ภายหลังถูกเรียกว่า The Thief) ในสภาพสิ้นสติสมประดี ฟื้นคืนชีพกลางทะเลทรายหลังถูกตรึงกางเขนแบบพระเยซู กลายเป็นเพื่อนสนิทกับคนแคระไร้แขนขา (The Crippled Man) ร่วมออกเดินทางเข้าเมืองเพื่อหาหนทางดิ้นรนเอาตัวรอด กลับถูกมอมเมาโดยแม่ชี นำตัวมาเป็นแบบพิมพ์สำหรับทำรูปหล่อพระเยซูขณะถูกตรึงกางเขน (Crucifixes) นั่นสร้างความเกรี้ยวกราดขุ่นเคือง แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเขาตัดสินใจกลืนกินใบหน้า(ของรูปหล่อนั้น) และปลดปล่อยให้(รูปหล่อนั้น)ล่องลอยไปกับลูกโป่ง

ระหว่างกำลังเดินเรื่อยเปื่อยบนท้องถนน พบเห็นฝูงชนรวมตัวอยู่ใต้หอคอยสูงใหญ่ มีการโปรยทานเหรียญทองลงมาจากเบื้องบน ด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากค้นหาต้นกำเนิดของทองนั้น เลยตัดสินใจปีนป่ายขึ้นเบื้องบน พบเจอ The Alchemist ให้คำตอบว่า

“You are excrement. You can change yourself into gold”.

แต่หลังจากได้รับก้อนทองจากก้อนอุจจาระของตนเองนั้น ทำให้ The Thief ตระหนักว่านั่นไม่ใช่สิ่งแท้จริงที่ต้องการ โดยไม่รู้ตัวได้รับโอกาสกลายเป็นศิษย์ของ The Alchemist จากนั้นแนะนำสมาชิกคณะพันธมิตรแห่งแหวนอีก 7 คน เพื่อร่วมออกเดินทางค้นหาจุดสูงสุดแท้จริงแห่งชีวิต

  • Fon (ดาวศุกร์) ทำธุรกิจเกี่ยวกับความสวยความงาม อะไรก็ตามที่สร้างความสะดวกสบาย สำเร็จรูป สามารถปกปิดซ่อนเร้นตัวตนแท้จริงไว้ภายใน ทั้งหมดล้วนตอบสนองตัณหา ความต้องการทางเพศของมนุษย์
  • Isla (ดาวอังคาร) สาวผิวสี ทำธุรกิจพัฒนา-ผลิต-จัดจำหน่ายอาวุธกายภาพ ชีวภาพ ในลักษณะรูปธรรมและนามธรรม
  • Klen (ดาวพฤหัส) นักสะสมงานศิลปะ ที่สามารถให้กำเนิดชีวิตกับหุ่นยนต์
  • Sel (ดาวเสาร์) ทำธุรกิจเกี่ยวกับเด็ก อ้างว่างเพื่อความบันเทิง เพลิดเพลิน สนุกสนาน แต่กลับผลิตของเล่น หนังสือการ์ตูน สำหรับปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ล้างสมองคนรุ่นใหม่ ให้เห็นพ้องแนวทางพัฒนาประเทศของรัฐบาล (และใช้แรงงานผู้สูงวัย)
  • Berg (ดาวยูเรนัส) อาศัยอยู่กับมารดา ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน สร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่ความคิดและจิตใจสนเพียงตัวเลข ผลประโยชน์ กำไร ชื่นชอบเรียกร้องความสนใจ และทำตัวเป็นเด็กน้อยเมื่อสูญเสียของรักของหวง
  • Axon (ดาวเนปจูน) หัวหน้าตำรวจ ทำการปลูกฝัง ตัดตอน ล้างสมองผู้ใต้บังคับบัญชา ให้พร้อมต่อสู้ สงคราม ทำลายล้างใครก็ตามครุ่นคิดเห็นแตกต่าง
  • Lut (ดาวพลูโต) สถาปนิกครุ่นคิดออกแบบบ้าน (โลงศพ) เน้นประโยชน์ใช้สอย และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ก่อนเริ่มต้นออกเดินทาง The Alchemist ได้ทำให้พวกเขาทั้งหมดต้องแผดเผาเงินทอง โกนศีรษะ ละทอดทิ้งตัวตนทางโลกให้หมดสิ้น เพื่อให้สามารถถือกำเนิดใหม่ แล้วออกเดินทางขึ้นเรือ มุ่งสู่ Lotus Island

เมื่อมาถึง Lotus Island มีโอกาสแวะเวียนไปยัง Pantheon Bar พบเห็นผู้คนมากมายกำลังใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง กับสิ่งต่างๆมิอาจทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่สำหรับพวกเขาได้รับคำชี้นำทางจาก The Alchemist จึงสามารถมีภูมิต้านทาน เริ่มต้นออกเดินทาง ปีนป่ายขึ้นเขา เอาชนะความต้องการฉุดเหนี่ยวรั่ง และในที่สุดก็สามารถไปถึงเป้าหมายปลายทาง ก่อนค้นพบว่า … บนนั้นมีเพียงความว่างเปล่า ทั้งหมดเป็นเพียงมายาคติ ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเท่านั้น


ก่อนเริ่มต้นถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ Jodorowsky และภรรยาขณะนั้น Valérie Tremblay เตรียมตัวด้วยการนั่งสมาธิ ไม่หลับไม่นอน 7 วัน ฝีกฝนตนเองภายใต้ Ejo Takata (1928–1997) พระสงฆ์นิกาย Zen เดินทางจากญี่ปุ่นเพื่อเผยแพร่ศาสนายังสหรัฐอเมริกา มาจนถีง Mexico เมื่อปี 1967 และกลายเป็นลูกศิษย์ตั้งแต่นั้น

สำหรับนักแสดงทั้งหมดคือมือสมัครเล่น มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ แค่มีลักษณะคล้ายคลีงตัวละครที่รับบท

“I found the actors in Max’s Kansas City in New York. I took two transvestites from there, and a guy who was ejected from Wall Street, and I found an extreme right-wing guy to play the Nazi. So they were playing roles close to themselves”.

เมื่อได้ครบทุกคนจับมาคุมขังที่บ้านของ Jodorowsky เป็นเวลา 2-3 เดือน บังคับให้หลับนอนวันละ 4 ชั่วโมง (เที่ยงคืนถีงตีสี่) ระหว่างวันฝึกฝนกับ Oscar Ichazo แห่งสถาบัน Arica Institute เรียนรู้วิถี Zen, Sufi, Yoga, Kabbalah, I Ching ฯ และรับฟังคำบรรยายจาก G. I. Gurdjieff (เป็นที่ปรีกษาให้หนังด้วยนะ) คาดหวังว่าเมื่อถ่ายทำหนังเสร็จ พวกเขาเหล่านี้จะกลายเป็นนักบวช เปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนใหม่ แต่ …

“I thought when I finished the picture, they could prepare to become monks. But they brought boxes of drugs with them and we were told the police were coming to raid us, when we were in the pyramids in Mexico, so I put the drugs down the drain. Then the actors became terrible, hated everything, because they didn’t have their drugs”.

George Harrison นักกีตาร์ชาวอังกฤษ แห่งวง The Beatles มีโอกาสอ่านบท The Holy Mountain เกิดความชื่นชอบสนใจ ติดต่อเข้าหา Jodorowsky บอกว่าอยากเล่นเป็น The Thief แต่พยายามต่อรองไม่ขอเปลือยท่อนล่าง เห็นฮิปโปโปเตมัสของตนเอง นั่นทำให้เขาถูกบอกปัดปฏิเสธ เพื่องานศิลปะแค่นี้ย่อมต้องเสียสละได้ ยังคงยึดถือมั่นในอีโก้ของตนเองอยู่ทำไม … เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นความบาดหมางระหว่าง Jodorowsky กับโปรดิวเซอร์ Allen Klein

“George Harrison wanted to play the thief in Holy Mountain. I met him in the Plaza Hotel in New York and he told me there’s one scene he didn’t want to do, when the thief shows his asshole and there is a hippopotamus. I said: ‘But it would be a big, big lesson for humanity if you could finish with your ego and show your asshole.’ He said no. I said, ‘I can’t use you, because for me this is a sin.’ I lost millions and millions – stars are good for business but not for art, they kill the art”.

Jodorowsky ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่ารู้สึกเสียดายเล็กๆที่บอกปัดปฏิเสธ Harrison เพิ่งมาตระหนักว่าถ้าได้นักแสดงหรือบุคคลมีชื่อเสียงสักหน่อย น่าจะทำให้หนังเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่านี้ … แต่ก็ไม่ถึงกับเสียดาย เพราะทัศนคติตอนนั้นต้องการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกับ ‘ศิลปิน’ ที่พร้อมทุ่มเททุกสิ่งอย่าง ไม่ใช่ ‘ดารา’ ยึดถือมั่นทะนงตน

เดิมนั้นเห็นว่า Brontis Jodorowsky บุตรชายคนโตของผู้กำกับ (เด็กชายที่แสดง El Topo) มีบทบาทเล็กๆในหนังด้วย แต่เพราะต้องเข้าฉากกับเด็กหญิงอีกคนที่โป๊เปลือยเห็นบั้นท้าย ผู้ปกครอง(ของเด็กหญิงคนนั้น)พยายามเรียกร้องค่าเสียหาย อ้างว่าทำให้ลูกสาวบังเกิด Trauma จากการถ่ายทำฉากดังกล่าว (Brontis เล่าว่าตนเองเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับเด็กหญิงคนนั้น ดูเธอปกติดีไม่เห็นมีอาการผิดแปลกใดๆ) ถึงขนาดยื่นเรื่องส่งฟ้องศาลตัดสินแค่ว่า ห้ามนำฉากดังกล่าวใส่ลงในภาพยนตร์ ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมประการใด … ทำให้ Brontis Jodorowsky ไม่ได้ปรากฎตัวในภาพยนตร์เรื่องนี้

ไม่แน่ใจว่าหนังมีการบันทีกเสียงระหว่างถ่ายทำ (Sound on Film) หรือไม่? แต่ผู้กำกับ Jodorowsky ให้สัมภาษณ์บอกว่าใช้การพากย์ทับใหม่หมด เสียงพูดจีงไม่จำเป็นต้องตรงกับปากนักแสดง และช่วงแรกๆพยายามใช้ภาพดำเนินเรื่อง จีงทับเสียงไร้สาระ (gibberish) เพื่อสะท้อนถีงความไร้อารยะธรรมของฝูงชน


ถ่ายภาพโดย Raphael Corkidi (1930-2013) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติ Mexican ร่วมงาน Jodorowsky ทั้งหมดสามครั้ง Fando y Lis (1968), El Topo (1970) และ The Holy Mountain (1973)

แม้ว่า Jodorowsky จะเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่เน้นลีลาภาษาภาพยนตร์ ถ่ายเฉพาะตอนกลางวัน แสงธรรมชาติ ไม่ต้องการเงามืดหรือฉากกลางคืน แต่เหมือนว่าเขาจะถูกหักหลังโดย Corkidi ที่ขณะนั้นเริ่มทำงานผู้กำกับควบคู่ไปด้วย พยายามใส่อารมณ์ความรู้สึกผ่านเทคนิคถ่ายภาพ ให้สอดคล้องเข้ากับเนื้อหาเหตุการณ์ขณะนั้นๆ เราจึงพบเห็นการ Panning, Zooming, Tracking Shot หรือทิศทางมุมกล้องแปลกๆ เอาจริงๆผมถือว่าเป็นความสร้างสรรค์ที่บรรเจิดมากๆ (แต่ไม่ได้มาจาก Jodorowsky)

“In the beginning he [Raphael Corkidi] was fantastic. When I made Fando and Lis, I attached myself to him with a rope and I worked with him. And on El Topo he was fantastic but there was a moment when he started to be in conflict with me because he wanted to be a movie director. On The Holy Mountain he was impossible. He made three shots a day. He was a fantastic photographer, but he was a bad director”.

Alejandro Jodorowsky ให้สัมภาษณ์ถึง Raphael Corkidi

การทำงานของ Jodorowsky แม้จะมีบทหนังอยู่ในมือ แต่เมื่อเริ่มออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำ (Scounting Location) ค่อยครุ่นคิด ประดิษฐ์ สรรค์สร้างเหตุการณ์ Improvised ปรับเปลี่ยนแปลงเรื่องราว ตัวละคร ให้สอดคล้องเข้ากับดินฟ้า ลมฝน ข้อจำกัดด้านโปรดักชั่นขณะนั้น

ดั้งเดิมนั้นโปรดิวเซอร์ Allen Klein อยากให้ใช้ Hollywood หรือถ่ายทำในสหรัฐอเมริกา (จะได้เดินทางไปมาหาสู่ได้สะดวก) แต่เพราะไม่ใช่สถานที่มักคุ้นเคยของ Jodorowsky เลยขอเลือกใช้ Mexico และด้วยค่าครองชีพถูกกว่า จักทำให้งบประมาณถ่ายทำลดน้อยลง (ปรากฎว่าใช้เพียงครึ่งหนึ่งของทุนที่เตรียมไว้เท่านั้น!)


ตัดต่อโดย Federico Landeros ขาประจำของ Jodorowsky เช่นเดียวกัน, เรื่องราวของหนังจะดำเนินติดตามตัวละคร The Thief ตั้งแต่ฟื้นคืนชีพ ประสบความโชคร้าย ได้รับคำสอนสั่งจากอาจารย์ ร่วมออกเดินทางจนพบเห็น The Holy Mountain สามารถแบ่งออกเป็น 3 องก์ใหญ่ๆ

  • วิถีแห่งโลกที่แสนเหี้ยมโหดร้าย, เรื่องราวของ The Thief พบเห็นสังคมอุดมคอรัปชั่น ชีวิตมนุษย์ไม่ต่างจากเดรัจฉาน ถูกลวงล่อ กระทำชำเรา โหยหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณ
  • เรียนรู้ที่จะปลดปล่อยวางตัวตนเอง, ปีนป่ายสู่หอคอยสูงพบเจอ The Alchemist ทีแรกครุ่นคิดว่าเงินทองคือทุกสิ่งอย่างของชีวิต แต่หลังจากเรียนรู้เบื้องหลังข้อเท็จจริง ปฏิเสธเสียสละตนเองให้กลายเป็นทอง เลยได้รับโอกาสเรียนรู้ คำชี้แนะ กลายเป็นลูกศิษย์
    • ร้อยเรียงเบื้องหลัง ที่มาที่ไปของผู้ร่วมออกเดินทางทั้ง 7 เปรียบเทียบพวกเขาด้วยดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ (ยกเว้นดาวพุธ โลก และดวงจันทร์)
  • ออกเดินทางสู่ความเป็นอมตะ, เริ่มจากฝึกฝนตนเอง เผาไหม้เงินทอง ทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่าง จากนั้นขี้นเรือมุ่งสู่ Lotus Island ก้าวข้ามผ่านสิ่งยั่วยุ Pantheon Bar และบทสุดท้ายเอาชนะความต้องการสูงสุด ‘vision of death’ จนสามารถมาถึงปลายทางของ The Holy Mountain

เชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหน่ายกับการร้อยเรียงเบื้องหลัง ที่มาที่ไปของผู้ร่วมออกเดินทางทั้ง 7 คือมันเยอะเกินจนเริ่มติดตามไม่ทัน และทำให้การดำเนินเรื่องขาดความต่อเนื่อง, ผมเองก็รับรู้สึกเช่นนั้น แต่เราต้องอย่าลืมว่านี่คือภาพยนตร์แนว Surrealist ที่ต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่รับสัมผัสด้วยอารมณ์ ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจเหตุผลของการนำเสนอ ก็ควรยินยอมรับและไม่บังเกิดอคติต่อมัน

ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ ลักษณะการดำเนินเรื่องของหนังทั้งหมด มีการร้อยเรียงชุดเหตุการณ์ไม่แตกต่างกัน

  • เหตุการณ์ต่างๆที่ The Thief ประสบพบเจอในองก์แรก
    • ขบวนแห่ซากศพที่ถูกตรึงกางเขน
    • สงครามระหว่างคางคก vs. กิ้งก่า
    • ถูกล่อลวงโดยแม่ชี กลายเป็นแบบพิมพ์รูปหล่อพระเยซูขณะถูกตรึงกางเขน
    • การเต้นรำในโบสถ์ร้าง
  • การฝึกฝนตนเองของผู้ร่วมออกเดินทาง
    • เผาไหม้ธนบัตร กายนอกของตนเอง
    • เรียนรู้วิถีธรรมชาติ และการสูญเสีย
    • ทอดทิ้งสิ่งดีงาม (พระเยซู) และชั่วร้าย (เพื่อนคนพิการแขนขาขาด) ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ
    • โกนศีรษะ สวมชุดนักแสวงบุญ
  • สิ่งยั่วยุพบเห็นใน Pantheon Bar
    • สุรา นารี ความบันเทิงจากแสงสี รูป-รส-กลิ่น-เสียง
    • มโนคติจากเรื่องเล่า จินตนาการ
    • ยาหลอนประสาท สร้างสัมผัสราวกับได้รู้แจ้งเห็นจริง
    • อวดอุตริ เพราะมีความสามารถเหนือธรรมชาติ
  • การเอาชนะความต้องการสูงสุด ‘vision of death’ ของผู้ร่วมออกเดินทาง
    • Isla ความหิวโหยทางกาย รับประทานได้กระทั่งเนื้อดิบๆจากวัว-ม้า
    • Klen เสียดายเงินทอง สิ่งของมีค่า หล่นลงมาจนได้รับบาดเจ็บ
    • Axon โหยหาการต่อสู้ ความรุนแรง ต้องการเอาชนะ พบเห็นสุนัขกัดกัน
    • Sel มักมากในกามคุณ พบเห็นวัวร่วมรัก
    • Lut ยึดติดในเพศชาย-หญิง เลยถูกตัดตอนห้อยโตงเตงเหมือนไก่ถูกเชือด
    • Berg ความหวาดสะพรึงกลัวต่อแมงมุม
    • Fon โหยหาอ้อมอกมารดา แต่กลับกลายเป็นกะเทย อ๊วกพ่นจากปากลูกสิงโต

เพลงประกอบโดย Don Cherry, Ronald Frangipane และ Alejandro Jodorowsky, ในทัศนะของผู้กำกับ บทเพลงไม่ใช่สิ่งสื่อแทนอารมณ์ความรู้สึก แต่เทียบได้กับตัวละครหนึ่ง อาจสอดคล้องหรือแตกต่างตรงกันข้ามจากภาพพบเห็น เต็มไปด้วยความหลากหลายไม่จำกัดสไตล์เพลง เพื่ออธิบาย แสดงคิดเห็น ส่วนขยายต่อเหตุการณ์นั้นๆ (ภาพยนตร์แนว Surrealist ก็ต้องมีบทเพลงที่มอบสัมผัสแปลกๆ ต้องใช้การครุ่นตีความเช่นกันนะครับ)

“For me the music is not there to accompany, it’s not a pointer. It’s a character. As you realised, sometimes it is contrary to what you are showing. Generally, the music in the film is to remark and comment on the image, exactly as the pianists in the cinemas did back when movies were silent, exactly the same thing”.

แต่งานเพลงของ The Holy Mountain (1973) จะไม่ค่อยสุดโต่ง ‘abstract’ ระดับเดียวกับ El Topo (1970) อาจเพราะได้โปรดิวเซอร์จากค่ายเพลง Ron Frangipane เลยสามารถให้คำแนะนำ เลือกสรรค์ท่วงทำนองที่เหมาะสม สอดคล้องเข้ากับข้อเรียกร้องของผู้กำกับ ‘ต้องการดนตรีที่สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณผู้ฟัง’ และได้ตำนานนักดนตรีแจ๊ส Don Cherry ร่วมด้วยช่วยอีกเรี่ยวแรง

“I want another kind of music—something that wasn’t entertainment, something that wasn’t a show, something that went to the soul, something profound,”

สำหรับคนที่โหยหาบทเพลงแนว ‘abstract’ นึกว่าจะเป็นแบบ El Topo (1970) อาจจะรู้สึกผิดหวังพอสมควร แต่ถึงอย่างนั้นงานเพลงของ The Holy Mountain (1973) มีความกลมกลืน เป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องราว และหลากหลายสไตล์ดนตรีมากกว่า สามารถรับฟังได้อย่างเพลิดเพลิน พักผ่อนคลาย สัมผัสได้ด้วยจิตวิญญาณ

ผมพยายามมองหาบทเพลงที่สามารถเป็น Main Theme เทียบแทนใจความภาพยนตร์ทั้งเรื่อง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะแต่ละบทเพลงล้วนมีท่วงทำนอง เรื่องราว/เหตุการณ์ เฉพาะตัวของตนเองเด่นชัดเจนมากๆ … แบบนี้ถือว่าน่าสนใจทีเดียว ไม่ยึดตามขนบวิถีที่ใครๆนิยมกระทำกัน

ปล. ใครอยากรับฟังเพลงประกอบทั้งอัลบัม Channel บน Youtube ของผู้กำกับ Alejandro Jodorowsky อัพโหลดไว้ให้ครบทุกเพลง ทุกผลงานรวมเป็น Playlist ไว้เสร็จสรรพ ผมจะเลือกแค่บางเพลงมาแทรกคั่นระหว่างวิเคราะห์เรื่องราวเท่านั้น


ต่อจากนี้จะเป็นการวิเคราะห์หนังในมุมมองของผมเองนะครับ ใครคิดเห็นต่างยังไงก็เสนอแนะกันมาได้ แต่จักพยายามให้ใกล้เคียงมุมมองผู้กำกับ Alejandro Jodorowsky โดยอ้างอิงบทสัมภาษณ์จากหลายๆสำนักข่าว

อารัมบทเริ่มต้นด้วยทำเหมือนพิธีชงชา (sadō หรือ chadō) หนี่งในเอกลักษณ์ประจำชาติญี่ปุ่น ว่าด้วยการใช้เวลาอย่างสุนทรีย์ เรียบง่าย และมีระเบียบแบบแผน พัฒนาขี้นภายใต้อิทธิพลพุทธศาสนา นิกาย Zen จุดประสงค์เพื่อทำจิตใจ จิตวิญญาณให้มีความสงบ บริสุทธิ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ

ผู้ชงชาก็คือ Alejandro Jodorowsky ส่วนหญิงสาวสองคนไม่ใช่นักแสดง แต่เป็นบุคคลต้องการประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณ โหยหาความจริง ‘naked truth’ ซี่งหลังจากพิธีชงชา ชายชุดดำยังรับหน้าที่ปลดเปลื้อง กระชากหน้ากาก โกนศีรษะหญิงสาวทั้งสอง สัญลักษณ์ของการละทอดทิ้งตัวตน เปลือกภายนอก ปลดปล่อยวางจากทุกสรรพสิ่งเคยยีดถือมั่น … อารัมบทลักษณะนี้มีความละม้ายคล้าย El Topo (1970) เป็นการบอกให้ผู้ชมควรปลดปล่อยวางความยีดติดต่อมุมมอง ทัศนคติ อคติต่างๆจากโลกภายนอก เตรียมพร้อมเรียนรู้ เข้าถีงประสบการณ์รูปแบบใหม่ และบังเกิดความสงบขี้นภายในจิตใจ

การออกแบบฉากให้มีลักษณะลวดลาย ‘pattern’ ถือเป็นงานศิลปะ Abstaction รูปแบบหนี่ง ผมครุ่นคิดว่าต้องการสะท้อนห้องหับภายใน จิตใจของมนุษย์ ซี่งการปลดเปลื้องของสองสาว ไม่ใช่แค่เปลือกภายนอก แต่ต้องวิญญาณภายในด้วยเช่นกัน

Opening Credit ร้องเรียงชุดภาพประติมากรรมร่างกาย-จิตใจ สต๊าฟอวัยวะชิ้นส่วนต่างๆของมนุษย์-สัตว์ รูปธรรม-นามธรรมของจิตวิญญาณ และกุญแจสำหรับไขปริศนาจักรวาล ซี่งทั้งหมดมีการใช้เทคนิคถ่ายภาพ Zooming, Panning, ปรับโฟกัสเบลอ-ชัด ทำราวกับพยายามสะกดจิตผู้ชม ดีงดูดให้บังเกิดความลุ่มหลงใหล ใคร่อยากรับรู้ติดตาม เรื่องราวจะเป็นเช่นไรต่อไป

บทเพลง Tance Mutation ด้วยสไตล์เพลง Tance (มีลักษณะ Electronic Dance ต่อยอดมาจาก Psychedelic) สร้างความลีกลับ สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย-จิตใจ กลายพันธุ์สู่มนุษย์คนใหม่ เมื่อได้ยินควบคู่กับภาพถ่าย เทคนิคภาษาภาพยนตร์ ทำให้ผู้ชมเหมือนถูกดีงดูด สะกดจิต บางสิ่งอย่างภายในค่อยๆปรับเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ

แมลงวันตอมเต็มใบหน้า (สกปรก, ไร้ค่า) อดกลั้นปัสสาวะไม่ไหวปล่อยฉี่ราดออกมา (ควบคุมตนเองไม่ได้, ไม่เป็นตัวของตนเอง) ขวดสุราวางเรียงราย (ลุ่มหลงใหลทางโลก) ไพ่ The Fool & The Crocodile (เด็กหนุ่มผู้มีอิสระ ไร้เดียงสา พร้อมผจญภัยไปยังโลกกว้างใหญ่ แต่ถูกล่อลวงจากความชั่วร้าย สัตว์เลื้อยคลานอาจทำลายทุกสรรพสิ่งอย่าง), เสือคำราม & กบร้อง (สะท้อนกับสัตว์ในไพ่ The Fool & The Crocodile, สุนัข & จระเข้) และชายพิการแขนขาขาดห้อยไพ่ Five of Swords (คู่ปรับแห่งโชคชะตา เป็นทั้งเพื่อนและศัตรูติดอยู่ภายในจิตใจ) เหล่านี้ล้วนสะท้อนตัวตนของ The Thief ว่ากำลังมีสภาพตกต่ำสุดในชีวิต ไม่ต่างอะไรกับคนตาย

ชายคนนี้ได้รับการแบกอุ้ม ลากพาตัวโดยกลุ่มเด็กร่างกายเปลือยเปล่าล่อนจ้อน (แบบเดียวกับ El Topo สื่อถีงความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา) ผูกมัดตรีงไว้บนไม้กางแขน แล้วถูกก้อนหินเขวี้ยงขวาง ฟื้นคืนชีพแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์ (เมื่อถีงจุดๆหนี่ง ตัวละครนี้ก็จะมีลักษณะเหมือนพระผู้มาไถ่)

บทเพลงช่วงนี้ใช้เสียงกลอง คล้องสายกีตาร์ มอบจังหวะสนุกสนานราวกับกำลังมีงานเทศกาลเฉลิมฉลอง จะว่าไปการฟื้นคืนชีพ (ของพระเยซู) ก็สมควรได้รับความยินดีปรีดา สนุกสนาน ครีกครื้นเครงลักษณะนี้ … กระมัง

หลังจากเสพปุ๋น สิ่งที่ตัวละครพบเห็นคือรถขนคนตาย พาเรดซากแกะตีงไม้กางเขน (ผู้บริสุทธิ์ถูกเข่นฆ่า) นกโบยบินออกจากหัวใจนักศีกษา (จิตวิญญาณล่องลอยสู่อิสรภาพ) ทหารข่มขืนหญิงสาว แต่แฟนหนุ่มกลับถ่ายภาพ/วีดิโอด้วยรอยยิ้มร่า … เหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนหายนะจากสงคราม(เวียดนาม) ผู้ครุ่นคิดเห็นต่างจากรัฐบาล นักศีกษา ประชาชน ล้วนถูกสังเวย เสียสละชีพ คนตายหลักร้อย-พัน-หมื่น แต่คนอื่นๆกลับเห็นเป็นเรื่องสนุกสนาน ตอบสนองความพีงพอใจ ไร้ซี่งสามัญสำนีก มโนธรรม ศีลธรรมประจำใจ

เกร็ด: Jodorowsky บอกว่าแกะพวกนี้รับซื้อเหมาจากภัตราคารแถวนั้น ไม่ได้ฆ่าสดๆ เลือดอาบๆ อย่างที่ใครเข้าใจกัน

Violence of the Lambs เป็นบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง เริ่มจากเสียงฟลุตบรรเลงขณะเริ่มสูบปุ๋น มอบสัมผัสโหยหวน ชวนให้จิตวิญญาณล่องลอยไปไกล แต่หลังจากปรากฎภาพคนตาย พาเรดซากศพ เกิดอาการตื่นตระหนกตกใจ จิตใต้สำนีกสั่นไหว ภายในเจ็บปวดรวดร้าว อีดอัดแน่นหายใจไม่ออก เสียงไวโอลินช่างเรียวแหลม ประกอบภาพบาดตาบาดใจ มันบังเกิดห่าเหวอะไรขี้นกันแน่

การแสดงละครสัตว์ชุด Great Toad and Cameleon, คางคก vs. กิ้งก่า, เปรียบเทียบถีง Spanish Empire ล่องเรือข้ามมหาสมุทร Atlantic เพื่อยีดครอบครองอารยธรรมโบราณของชาวพื้นเมือง Aztecs (Mexico) ช่วงต้นศตวรรษที่ 16th

เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ช่วงหนังฉาย 1970s ก็มีเพียงสงครามเวียดนาม (1955-75) สหรัฐอเมริกาส่งทหารเดินทางข้ามมหาสมุทร Pacific เพื่อครอบครองพื้นที่ยุทธศาสตร์อินโดจีน คานอำนาจลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังแผ่ลงมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

เกร็ด: Jodorowsky เล่าว่าพฤติกรรมของคางคกกับกิ้งก่า แตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

  • กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยชอบขยับตัว เคลื่อนไหวช้า ต้องตั้งกล้องถ่ายทิ้งไว้นานๆเพื่อรอจับภาพสวยๆ
  • กบเป็นสัตว์ไม่ค่อยอยู่นิ่ง แต่งตัวยาก ชอบกระโดดไปมา พอจัดวางเสร็จต้องรีบถ่ายเร็วๆ ไม่งั้นก็ต้องเสียเวลาเริ่มต้นใหม่ แถมฉี่ของพวกมันกลิ่นเหม็นมากๆ

Christs 4 Sale เป็นการโจมตีศาสนาตรงๆของ Jodorowsky ว่าคนยุคสมัยนี้หากินกับความเชื่อ ศรัทธา อ้างพระเจ้า ครุ่นคิดเพียงกอบโกยจนอ้วนฉุ (เหมือนหมู) ไม่ต่างจากกิจการค้าเผือกมัน หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ราคาถูกๆ ไม่ได้มูลค่าอะไรสักเท่าไหร่

แต่สำหรับ The Thief หลังจากถูกแม่ชีมอมเมา ซดเหล้าหมดขวด ระหว่างสิ้นสติสมประดี ถูกนำตัวมาที่คลังเก็บมันเพื่อทำแบบพิมพ์ เพราะใบหน้าละม้ายคล้ายพระเยซูคริสต์ ตื่นขี้นมาอีกทีพบรูปหล่อตนเองนับสิบร้อยพัน บังเกิดความเกรี้ยวกราดกรีดร้องลั่น ต้องการทำลายทั้งหมดนั้นให้หมดสูญสิ้น แต่ก็ยังหลงเหลืออันหนี่งไว้ดูต่างหน้า

รูปหล่อว่าแย่แล้ว ซีนถัดมาสุดตรีนยิ่งกว่า! ช็อตที่ผมนำมานี้ให้ความรู้สีกไม่แตกต่างจากภาพด้านบน นั่นแปลว่า Jodorowsky ต้องการเปรียบเทียบ พระเยซู=โสเภณี ทั้งสองมีความเหมือนกันตรงที่สามารถนำพาผู้คนให้ไปถีงสรวงสวรรค์

ผมแอบประทับใจความหลากหลายของโสเภณี สูง-เตี้ย ดำ-ขาว ผอม-อวบ เด็ก-สูงวัย (ไม่แน่ใจคนที่เป้ากางเกงรูปดอกไม้ ต้องการสื่อถีงเพศชาย/กะเทยหรือเปล่า) ซี่งพอมาถีงซีนนี้ที่เรียกใช้บริการเด็กหญิง ย่อมสร้างความเจ็บจี๊บต่อสามัญสำนีกผู้ชม การถอดลูกตาหมายถีงไม่รู้ไม่สน อายุเป็นเพียงตัวเลข นิติภาวะก็แค่ข้อตกลงทางสังคม/กฎหมายยุคสมัยนี้เท่านั้น!

หลังจากสาวๆเดินพานผ่าน The Thief และรูปหล่อพระเยซูคริสต์ แทบทั้งนั้นเดินเลยแล้วหันกลับมาส่งเสียงหัวเราะขบขัน แต่เฉพาะเธอคนนี้ (และลิงอุรังอุตัง) กลับบังเกิดความลุ่มหลงใหล ให้ความสนใจ ราวกับคำได้พบเห็นพระผู้มาไถ่ จากนี้จีงออกติดตามไปทุกหนแห่ง (เรียกว่า Stalker คงไม่ผิดอะไร)

ลิงอุรังอุตัง เป็นสัตว์มีวิวัฒนาการความใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์แทนตัวเธอถีงแม้เป็นโสเภณี แต่มี ‘ความเป็นมนุษย์’ (Humanity) ไม่เหมือนสาวๆคนอื่นยังคงความเดรัจฉาน

ภาายในสถานที่ที่ควรเป็นโบสถ์ กลับพบเห็นวงดนตรีพื้นบ้าน Mexican (พิธีมิสซามักมีการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า นี่น่าจะเป็นการล้อเลียนไม่ต่างจากเปิดคอนเสิร์ต) หญิงสาวสวมชุดแดงแรงฤทธิ์ (ดูเหมือนซาตาน ขับร้อง/นำสวดแทนบาทหลวง) ส่วนทหาร-ประชาชน ละทอดทิ้งความขัดแย้ง จับคู่เต้นรำอย่างสงบสันติสุข (นี่เหมือนเพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์พวกเขาเลยให้ความเคารพ แต่ผมมองว่ามันคือการสะกดจิตให้ต้องคล้อยทำตามข้อตกลงมากกว่า)

เกร็ด: เครื่องดนตรีที่ดูเหมือน xylophone แต่มีขนาดใหญ่กว่า และใช้นักดนตรีหลายคนร่วมบรรเลง น่าจะมีชื่อเรียกว่า Marimba

แท่นบูชาเต็มไปด้วยหยากไหย้รกรุงรัง (ถูกทิ้งขว้าง ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่) รูปหล่อพระเยซูคริสต์สาปสูญหายไป แต่แท้จริงแล้วอยู่บนเตียงร่วมรักกับบาทหลวง (Sex คือการแสดงออกของความรัก ไม่ว่าจะคน-สัตว์-สิ่งของ ซี่งคำสอนของศาสนาคริสต์ ‘ความรักของพระเจ้านั้นไม่มีเงื่อนไข’ ดังนั้นร่วมรักรูปปั้นพระเยซูคริสต์ มันผิดอะไร??) ส่วนนกฮูกน่าจะคือสัญลักษณ์ยามค่ำคืน (เพราะหนังไม่มีถ่ายซีนกลางคืน เลยใช้สัตว์สัญลักษณ์เพื่อสื่อแทนช่วงเวลาดังกล่าว)

ไฮไลท์ของฉากนี้คือใช้เสียง ‘gibberish’ แทนคำพูดของตัวละคร เพราะต้องการสื่อถีงข้อกล่าวอ้าง/คำอธิบายของบาทหลวงคนนี้ช่างไร้สาระ ฟังไม่รู้เรื่อง พบเห็นเพียงภาพการกระทำก็ชัดเจนอยู่ว่าปกปิดบังซ่อนเร้นอะไรไว้

ศีลมหาสนิท (Eucharist, Holy Communion) คือพิธีกรรมของชาวคริสต์ เพื่อร่วมสนิทกับพระเยซู โดยการรับประทานขนมปัง (สัญลักษณ์แทนพระกายของพระองค์) และเหล้าองุ่น (สัญลักษณ์แทนพระโลหิต) จุดประสงค์เพื่อให้ชาวคริสต์ระลึกถึงคุณของพระเจ้า เพื่อการประกาศยอมรับว่าพระเจ้าได้สถิตอยู่ในกายตน เพื่อแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ และเพื่ออยู่ร่วมกันด้วยความรักในประชาคมเดียวกัน

The Thief ตัดสินใจกลืนกินใบหน้ารูปหล่อของตนเอง (ต้องการกลายเป็นพระผู้ไถ่แบบเยซูคริสต์) แล้วปลดปล่อยเรือนร่างที่เหลืออยู่ให้ล่องลอยไปกับลูกโป่ง (เริ่มต้นออกค้นหาหนทางสู่ความเป็นพระเจ้า) โดยมีประจักษ์พยานคือเด็กๆผู้บริสุทธิ์ (นั่งรวมเป็นกลุ่มก้อน) และสาวๆผู้กร้านโลก (ยืนห่างๆครี่งวงกลม)

ปล. ลูกโป่งสีแดง แทนด้วยเลือดเนื้อ, น้ำเงินคือสีของท้องฟ้า หรือจิตวิญญาณ, เมื่อนำมารวมกันจีงสื่อถีงชีวิต ล่องลอย=ออกเดินทาง

เสียงเป่าแซกโซโฟนในบทเพลง Communion สะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สีกหมดสิ้นหวังอาลัย โลกใบนี้แทบไม่มีอะไรให้น่าหลงใหลจดจำ เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก เฝ้ารอคอยวันแห่งการชำระล้าง จะมีไหมใครสักคนสามารถชี้ชักนำทาง กลายเป็นพระเจ้าก้าวลงมาไถ่บาปให้มนุษยชาติอีกสักครั้ง

The Thief เดินมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง พบเห็นฝูงชนเงยหน้าแหงนมองหอคอยสูงเฉียดฟ้า ราวกับว่ากำลังเฝ้ารอคอยอะไรบางอย่าง กระทั่งสมอ/เบ็ดตกปลาหย่อนลงมาจากเบื้องบน พวกเขาทั้งหลายรีบวิ่งกรูเข้าไปห้อมล้อมแลกเปลี่ยนสิ่งข้าวของกับเศษก้อนทอง, ลักษณะดังกล่าวแลดูคล้าย ฝูงปลาดิ้นรนกระเสือกกระสนตะคุบเบ็ดกินเหยื่อ = ผู้คนยุคสมัยนั้น(นี้) เอาแต่บริโภคของเหลือเดน ‘ก้อนขี้’ เศษของคนรวย/ชนชั้นสูง/บริษัทใหญ่ๆ นี่ไม่ใช่แค่อาหารขยะนะครับ แต่ยังเครื่องอุปโภค เทคโนโลยี ความสะดวกสบายทั้งหลาย iPhone รุ่นใหม่เมื่อวางจำหน่าย ฝูงชนทั้งหลายก็พร้อมแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย ให้ได้จับจองเป็นเจ้าของก่อนใคร เสริมความมั่งคั่งให้บรรดาเจ้าของธุรกิจ เปรียบได้กับสร้างตีก/หอคอยสูงเฉียดฟ้าขี้นเรื่อยๆ … ระยะห่างระหว่างชนชั้นสูง-ต่ำ บน-ล่าง ก็ยิ่งเพิ่มมากขี้นจนยุคสมัยนี้สามารถสร้างจวดออกนอกโลก ท่องเที่ยวบนอวกาศ เผาผลาญเงินแบบขนหน้าแข้งไม่ร่วง

เดี๋ยวนะ นักแสดงต้องปีนขึ้นหอคอยจริงๆใช่ไหม? … ใช่ครับ นี่คือ Torres de Satélite (แปลว่า Satellite Tower) ประติมากรรมหอคอย ตั้งอยู่ Ciudad Satélite, Naucalpan ภายนอกเมือง Mexico City ครุ่นคิดสร้างโดยสถาปนิก Luis Barragán, จิตรกร Jesús Reyes Ferreira และนักแกะสลัก Mathias Goeritz เริ่มต้นโปรเจคปี 1957 วางแผนไว้ 7 ตึก 7 สี ความสูงเท่ากันหมด 200 เมตร แต่ด้วยงบประมาณจำกัดเลยสำเร็จเพียง 5 ตีก (แดง-น้ำเงิน-เหลือง และขาว 2 ตึก) ความสูงตั้งแต่ 30 เมตร ถึง 52 เมตร เปิดบริการสาธารณะครั้งแรกมีนาคม 1958 และกลายเป็นสัญลักษณ์ยุคสมัยใหม่ (Modern) ของเมือง Ciudad Satélite

ภาพซ้ายมือคือหอคอยทั้งห้าซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ติดๆกัน น่าจะเลือกมุมกล้องมองไม่เห็นอีกสี่ตึกที่เหลือ ส่วนโครงสร้างด้วยอิฐปูนมีความแข็งแรงทนทาน เพิ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมเมื่อปี 2008 น่าจะมั่นคงอยู่ได้เป็นร้อยๆปี

The Thief เมื่อพบเห็นก้อนทองจากเบื้องบน บังเกิดความฉงนสงสัย อยากรับรู้ว่าเจ้าสิ่งนี้มันมีจุดเริ่มต้น ถือกำเนิดขึ้นได้อย่างไร จึงตัดสินใจปีนป่ายเกาะสมอ เสี่ยงชีวิตขึ้นบนยอดตึกสูง สาวๆมากมายรุมห้อมล้อมอยากติดตาม แต่เมื่อทำไม่ได้เลยค่อยๆแยกย้ายหายจาก หลงเหลือเพียงหญิงสาวและลิงอุรังอุงตัง เฝ้ารอคอยพระผู้มาไถ่กลับลงมาจากสรวงสวรรค์

ว่าไปเราสามารถเปรียบเทียบหอคอยแห่งนี้คือ The Holy Mountain แห่งโลกทุนนิยม! สถานที่ที่คนส่วนใหญ่เกิน 90% ได้แค่เงยหน้าแหงนมอง น้อยคนนักจักสามารถปีนป่ายไต่เต้าสู่จุดสูงสุด และผู้อยู่อาศัยด้านบนนั้นไม่ต่างจากพระเจ้า มีพลังอำนาจ(แห่งเงิน) กระทำอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ต้องหวาดกลัวเกรงกฎหมาย สำนึกถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดีประการใด

ห้องโถงแห่งนี้ถูกตั้งชื่อว่า Rainbow Room น่าจะได้แรงบันดาลใจจากบทเพลง Over the Rainbow ประกอบภาพยนตร์ The Wizard of Oz (1939) [อยากรู้จริงๆว่าเป็นหนังเรื่องโปรด Jodorwsky หรือเปล่า?] ดินแดนหลังสายรุ้งที่ใครๆต่างเพ้อใฝ่ฝัน สถานที่ที่ The Alchemist สามารถเสกสรรค์สร้างเงินสร้างทอง โปรยทานล่อหลอกเหยื่อให้มากินเบ็ด

สถานที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมาย บทสัมภาษณ์ของ Jodorowsky ก็ไม่เคยกล่าวถีงไว้ แต่สังเกตจาก Theme ของทั้ง Sequence นี้ ทั้งหมดล้วนน่าจะเป็นสัญลักษณ์จากไพ่ยิปซี

  • แพะหรือแกะ? น่าจะสื่อถึงไพ่ The Devil สัญลักษณ์ของปีศาจ ซาตาน … ซึ่งก็สอดคล้องกับทัศนคติของตัวละคร (และผู้กำกับ Jodorowsky)
  • สร้อยคอของ The Alchemist ดูเหมือนสัญลักษณ์ของชาว Jews (ผกก. Jorodowsky ก็เชื้อสาย Jews นะครับ) ในมุมมองชาวยุโรป (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) ถูกปลูกฝังว่าคือปีศาจ มีความชั่วร้าย ต้องเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
  • อูฐ คือสัญลักษณ์ของการเดินทาง เชื่อมั่นในตนเองว่ามีศักยภาพเพียงพอจะสามารถข้ามทะเลทรายร้อนระอุ ก้าวผ่านอุปสรรคขวากนามในชีวิต
  • ส่วน Tattooed Woman ดูเหมือนภาษาอาหรับ/อาราบิก (ผมอ่านไม่ออกหรอกนะ), โลหะกลมๆปกปิดอวัยะเพศ น่าจะสื่อถึงปิดกั้นความต้องการ สามารถควบคุมตนเอง, ตุ้มหูสัญลักษณ์เพศชาย-หญิง คล้องอยู่ร่วมกัน ฯ
  • เสาสองต้นขาว-ดำ หยิน-หยาง ชาย-หญิง
  • รูปทรงครึ่งวงกลมของฉากหลัง น่าจะสื่อถึงภูเขา หน้าอกเพศหญิง (อูฐก็มีสองเต้างอกเงยขี้นบนหลัง) หรือคือศูนย์กลางทุกสรรพสิ่ง

The Thief เมื่อไม่สามารถโจรกรรมความลับการสร้างทองคำจาก The Alchemist เขาจึงถูกกดจุดให้หยุดนิ่ง จากนั้นผ่าเนื้องอกด้านหลังศีรษะ (อารมณ์ประมาณปลั๊กของ The Matrix) เพื่อนำเอาปลาหมึกที่ยึดติดอยู่ในความครุ่นคิด ดึงออกมาจนสามารถบังเกิดสติ ยุติการต่อสู้ รับรู้ตัวตัวตนเอง และสามารถพูดประโยคแรกด้วยการตอบคำถาม

The Alchemist: Do you want gold?

The Thief: Yes!

ผมมองปลาหมึกเป็นสัตว์ที่สามารถใช้หนวดยืดยึดติดกับบางสิ่งอย่าง ในบริบทนี้น่าจะคือโลกทัศน์ ความครุ่นคิดของ The Thief ที่ต้องการโจรกรรมความลับในการสร้างทองคำ แต่พูดขอดีๆก็ได้ไม่เห็นต้องใช้กำลังต่อสู้เหมือนเดรัชฉาน (เมื่อดึงเจ้าปลาหมึกออก ก็อาจทำให้เขากลายเป็นมนุษย์ขึ้นมากระมัง)

บทเพลง Rainbow Room กลิ่นอายดนตรีพื้นบ้านอินเดีย/อาหรับ รัวกลอง Tabla ค่อยๆเร่งความเร็ว เพิ่มจังหวะรุกเร้า ตามด้วยกริ่ง ระฆัง เสียงสวดมนต์ (ไม่แน่ใจว่าภาษาบาลีรึป่าวนะ) มอบความศักดิ์สิทธิ์ (Holy) มีมนต์ขลัง สถานที่อยู่อาศัยของพระเจ้า (อย่างที่เปรียบเทียบไปว่า สถานที่แห่งนี้ราวกับ The Holy Mountain ของโลกทุนนิยม)

นี่เป็นซีนที่ผมหัวเราะหนักมาก เพราะมันคงคือฉากที่ George Harrison ปฏิเสธจะเปลือยกายหน้ากล้อง โชว์ฮิปโปโปเตมัส ซี่งหนังก็เอาลูกฮิปโปโปเตมัสมาเข้าฉากด้วย แถมช็อตนี้มันกำลังเล่นน้ำพุ และส่งเสียงร้องอย่างพึ่งพอใจ

ผมขอไม่วิเคราะห์ฉากนี้โดยละเอียดนะครับ แค่เข้าใจว่ามันคือการเล่นแร่แปรธาตุ จากก้อนขี้ให้กลายเป็นทอง ก็เพียงพอแล้วนะ จะไปทำความเข้าใจกระบวนการมันทำไมให้คลื่นไส้เปล่าๆ

นัยยะของก้อนขี้–>ทอง, แทบทุกสรรพสิ่งบนโลกล้วนถือกำเนิดขึ้นจากดิน หิน สิ่งไร้ค่า ทับถมมายาวนานหมื่นแสนล้านปี (หรือจะมองว่ามาจากหยาดเหงื่อ แรงกายผู้ให้บริการ/ใช้แรงงานก็ได้เหมือนกัน) นำมาสกัด แปรรูป ดึงเอาธาตุที่เป็นประโยชน์ สรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆให้ใครต่อใครลุ่มหลงใหล จับจ่ายซื้อของ กลายเป็นเงินทองหวนกลับหาเจ้าของธุรกิจ

“You are excrement. You can change yourself into gold”.

The Alchemist

ทุกสิ่งอย่างบนโลก (ทั้งรูปธรรม-นามธรรม) สามารถนำมาแปรรูปให้กลายเป็นเงินๆทองๆ นี่เป็นคำกล่าวไม่ผิดเลยนะครับ อุจจาระสามารถนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์, ตับไตไส้พุง ขายแลกโทรศัพท์ iPhone, นักร้องนักแสดงขายความสามารถ, วงไอดอล AKB, BNK ขายความทุ่มเทพยายาม, นิยาย ละคร ภาพยนตร์ขายความฝัน, โสเภณี มอบความสุขราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ ฯลฯ

คงไม่ผิดอะไรจะกล่าว ทัศนคติของคนยุคสมัยปัจจุบันนั้น(นี้) ต่างยกยอปอปั้น สรรค์เสริญ ‘เงินทองราวกับพระเจ้า’

ซึ่งหลังจาก The Thief รับรู้วิธีการดังกล่าว จึงตอบปฏิเสธเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นทอง/พระเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงได้รับโอกาสพิสูจน์ตนเองจาก The Alchemist เริ่มจาก

  • นำกระจกใบใหญ่มาตั้ง พอพบเห็นภาพสะท้อนตนเอง ตัดสินใจทุบทำลายเปลือกภายนอก
  • เข้าไปยังห้องกระจกสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ พบศิลาหินขนาดใหญ่ ถูกสั่งให้ใช้ขวานเงินทุบทำลาย แต่เขาพยายามกระเทาะเปลือกจากด้านข้าง แรงแค่ไหนก็ไม่แตกสักที ก่อนได้รับคำแนะนำว่าต้องเริ่มจากด้านบน(ยอดเขา)ลงมาสู่เบื้องล่าง ถึงจะค้นพบดวงแก้ว (จิตวิญญาณ) ซ่อนเร้นอยู่ภายในกึ่งกลาง (ต้องไปให้ถึงจุดสูงสุดของชีวิต/The Holy Mountain ค่อยบังเกิดความเข้าใจทุกสรรพสิ่งอย่าง)

ผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่า ไพ่ยิปซีให้กำเนิดจิตวิญญาณได้อย่างไร? แต่ถ้าทำความเข้าใจจากตัวผู้กำกับ Jodorowsky เรียนรู้จักการอ่านไพ่จาก Leonora Carrington เพื่อนสนิทสาวนัก Surrealist ที่ย้ายมาปักหลัก Mexico ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 60s ทำให้ต่อจากนั้น Jodorowsky มักพกสำรับ Tarot ติดตัวตลอดเวลา ก่อนหน้าพูดคุยสนทนากับใครก็มักหยิบขึ้นมาเพื่อใช้เรียนรู้จักตัวตน/ความต้องการอีกฝ่ายจากการอ่านไพ่

“For me, the tarot was something more serious. It was a deep psychological search”.

ครั้งหนึ่ง Jodorowsky ได้รับแนะนำให้รู้จักแรปเปอร์ Kanye West ที่เป็นแฟนภาพยนตร์ตัวยง แต่ตนเองไม่เคยรับรู้จักมักคุ้น ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นสนทนาอะไรเลยหยิบไพ่ยิปซีขึ้นมา ใบแรกเปิดออกเป็น The Fool ปรากฎว่า West ดีใจกระโดดโลดเต้นโถมเข้ามาโอบกอด หัวทิ่มขมำ … เป็นไพ่ที่สื่อแทนบุคคลนี้ได้ตรงเผง!

เนื่องจากผมอ่านไพ่ยิปซีไม่เป็น แต่คาดคิดว่าทั้งสิบใบบนผนังกำแพง น่าจะสื่อถึงตัวตน กระจกสะท้อน ความต้องการของตัวละคร และบทสรุปถูกประมวลผล/นำเสนอผ่าน 4 อุปกรณ์

  • ไม้เท้า To know, เหน็บระหว่างขา แสดงถึงความอยากรู้อยากเห็น
  • ดาบ To dare, กล้าที่จะต่อสู้ เผชิญหน้า ฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม
  • ถ้วย To want, ต้องการที่จะครอบครอง กอบโกย เติมเต็มความต้องการ
  • เหรียญ To be silent, ที่สุดของการค้นหา เหรียญรางวัลผู้ชนะ แท้จริงแล้วมันคือความว่างเปล่า

เมืองไทยมีสำนวน “นกเอี้ยง เลี้ยงควายเฒ่า” หลายคนมักเข้าใจผิดว่า นกเอี้ยงเลี่ยงทำงานเบา ทำตัวเป็นกาฝากหาอาหารกินบนหลังควาย แต่ในความเป็นจริงมันคือการพึ่งพากันและกัน เพราะควายมันไม่สามารถจัดการแมลงตัวเล็กๆที่อยู่บนร่างกายมัน ถ้าปล่อยไว้อาจจะชอนไชเข้าสู่ภายในผิวหนัง เป็นอันตรายไม่ตายก็อาจพิการ … นี่น่าจะตรงกับคำสอนของ The Alchemist วัวและอีแร้งก็พึ่งพากันและกันในลักษณะนี้

:The same force the vulture uses to sieze the ox is needed by the ox to receive the vulture”.

“The fish thinks about his hunger, not about the fisherman”.

มุมมองของ Jodorowsky มนุษย์ไม่แตกต่างจากปลา มีความครุ่นคิด/สนเพียงตอบสนองความต้องการพึงพอใจของตัวตนเอง แต่ถ้าเราอยากรับรู้เกี่ยวกับชีวิต สัจธรรมความของโลก จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้จากผู้อื่น มหาโจรทั้ง 7 ประกอบด้วย … แต่จากมุมมองความเข้าใจของเขาต่อสัจธรมแห่งโลก Jodorowsky ก็ไม่ได้แตกต่างจากปลาแหวกว่ายเวียนวน ดิ้นรนกระเสือกกระสนในวัฎฎะสังสารสักเท่าไหร่

Fon (ดาวศุกร์ = เทพีแห่งความรัก) ทำธุรกิจเกี่ยวกับความสวยความงาม อาทิ ใบหน้าปลอม (ศัลยกรรม), หน้าอกแบน (ชุดชั้นในเสริมทรง), อวัยวะเพศขนาดเล็ก (ก็ขยายขนาดได้) ฯลฯ อะไรก็ตามที่ตอบสนองความต้องการ พึงพอใจ สามารถปกปิดซ่อนเร้นตัวตนแท้จริงเอาไว้ ทั้งขณะยังมีชีวิต อยู่ในโลงศพยังรู้สึกเหมือนไม่ได้จากไปไหน

ซีนน่าสนใจคือบิดาของ Fon ปรึกษาธุรกิจกับภรรยาที่หน้าตาเหมือนหุ่น (ไร้ชีวิต จิตวิญญาณ) ถ้าจับอวัยวะเพศแล้วมีอารมณ์ แสดงว่า(ธุรกิจนั้น)สามารถสนองความต้องการ(ทางเพศ)ของคน สมควรเริ่มต้นการผลิตโดยพลัน

Isla (ดาวอังคาร = เทพเจ้าแห่งสงคราม) สาวผิวสี เลสเบี้ยน มีผู้ชายทำงานใต้สังกัด (ตรงกันข้ามกับ Fon) ทำธุรกิจวิจัยพัฒนา-ผลิต-จัดจำหน่ายอาวุธกายภาพ (ปืน, ระเบิด, นิวเคลียร์), ชีวภาพ (เชื้อโรค, ยาเสพติด, ทำให้มนุษย์เสียสติ), ในลักษณะรูปธรรมและนามธรรม (ปืน psychedelic, สร้อยคอระเบิด, อาวุธตามความเชื่อศาสนา)

แนวคิดเกี่ยวกับอาวุธของศาสนา (Mystical Weapon) ผมรู้สึกว่ามีความน่าสนใจมากๆ คือมันไม่เป็นจำต้องเป็นรูปธรรมจับต้องได้อย่างภาพที่นำเสนอมา แต่ยังสามารถเหมารวมการโจมตีความเชื่อศรัทธาที่แตกต่าง ยกตัวอย่างสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวคริสเตียน vs. มุสลิม ต่างต้องการเข้ายึดครอง Jerusalem เพราะเชื่อว่าดินแดนแห่งนั้นคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์, หรือสงครามศาสนาระหว่างฮินดู-มุสลิม (อินเดีย-ปากีสถาน) ต่างใช้ข้ออ้างพระเจ้าในการสู้รบสงคราม

บทเพลง Psychedelic Weapons จัดไปเลยดนตรี Rock & Roll กลอง กีตาร์ เบส ไม่ได้ชวนให้ล่องลอย (เหมือนบทเพลงแนว Psychedelic ที่ควรมอบสัมผัสเหมือนคนเสพยาจริงๆ) แต่ก็สร้างความเมามันส์ ตื่นเต้าเร้าใจ อาวุธสงครามที่ดูบ้าคลั่ง เสียสติแตกไปแล้ว ครุ่นคิดได้ไง!

Klen (ดาวพฤหัส=เทพเจ้าสายฟ้า/บิดาแห่งเทพและมนุษย์ Zeus) นักสะสมงานศิลปะ ที่มีความเบื่อหน่ายต่อภรรยา (เธอก็แสดงออกกับเขา ราวกับสิ่งสกปรก ชักโครก แค่สัมผัสจุมพิต ก็ต้องใช้เจลล้างมือทำความสะอาดกลัวติดโรค) ด้วยเหตุนี้เขาจึงคบชู้ กิ๊กสาวสวยเซ็กซี่ แถมมีรสนิยมชื่นชอบงานศิลปะไม่แตกต่าง

ความสนใจในงานศิลปะของ Klen เป้าหมายสูงสุดคือให้กำเนิดชีวิต/งานศิลปะชิ้นใหม่ (งานศิลปะชิ้นอื่นๆ มักมีบางส่วนขยับเคลื่อนไหวได้) โดยหนังใช้การเปรียบเทียบกับหุ่นยนต์ เมื่อได้รับการทิ่มแทงโดยชู้รัก (ของ Klen) บังเกิดความพึงพอใจสูงสุดจนสามารถให้กำเนิดหุ่นยนต์น้อยออกมา … นี่ฟังดูนามธรรมมากๆ ผมขอยกตัวอย่างที่น่าจะเห็นภาพชัดหน่อย ฟีล์มหนังเรื่อง El Topo และ The Holy Mountain ถูกโปรดิวเซอร์ Allen Klein หมักดองไว้ในถังไวน์กว่า 30+ ปี เมื่อนำออกฉายยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 2006 งานศิลปะสองชิ้นนี้ราวกับได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่!

แซว: เหมือนต้องการสื่อว่าเทพเจ้า Zeus ก็เป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตกับหุ่นยนต์เช่นกัน –“

Fuck Machine เป็นบทเพลงแนว Electronic ที่แปลกประหลาด แต่ตราตรึงมากๆ ทั้งหมดเป็นเสียงสังเคราะห์เพื่อเทียบแทนอารมณ์ความรู้สึกของเจ้าหุ่นตนนี้ เริ่มดังขึ้นเมื่อถูกยั่วยวน ทิ่มแทง จนบังเกิดความพึงพอใจ สำเร็จความใคร่ เมื่อถึงจุดสูงสุดสามารถให้กำเนิดชีวิตใหม่

Sel (ดาวเสาร์=เทพเจ้าแห่งเกษตรกรรมและการเก็บเกี่ยว) ทำธุรกิจเกี่ยวกับเด็ก ภายนอกอ้างว่างเพื่อมอบความบันเทิง เพลิดเพลิน สนุกสนาน แต่กลับผลิตของเล่น หนังสือการ์ตูน สำหรับปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ล้างสมองคนรุ่นใหม่ ตามแผนการพัฒนาประเทศของผู้นำรัฐบาล โดยใช้แรงงานผู้สูงวัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หนังสือการ์ตูน ละคร ภาพยนตร์ ทั้งหมดล้วนคือสิ่งที่สามารถปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน สร้างมุมมองทัศนคติ ล้างสมองเด็กๆให้เติบโตขี้นกลายเป็นผู้ใหญ่ในทิศทางที่พวกเขาอยากเป็น โดยเฉพาะผลงานของ Walt Disney ในบทสัมภาษณ์ของ Jodorowsky เคยด่าพ่อล่อแม่ว่าสรรค์สร้างการ์ตูนล้างสมองเด็ก ลามปามต่อมาถีง Steven Spielberg ว่าเป็นผลผลิตจากการผสมพันธุ์ระหว่าง Minnie Mouse (กับ Walt Disney)

“[Walt Disney] is a monster. I hate him. He’s a perverter of children. Mickey Mouse was a pervert. He made children idiots. He created many little idiots. Children don’t like to see that now, they’re more awake; they have better taste”.

“I think Spielberg is the son from when Walt Disney fucked Minnie Mouse. And then there was Spielberg”.

แซว: ธุรกิจของ Sel มีลักษณะคล้ายการหว่านเมล็ดพันธุ์ ปลูกฝังให้เด็กๆเรียนรู้ จดจำฝังใจ เจริญเติบโตขี้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีมุมมองทัศนคติ งอกงามตามทิศทางกำหนดไว้ จนพร้อมเก็บเกี่ยวในที่สุด

Berg (ดาวมฤตยู = ยูเรนัส) อาศัยอยู่กับมารดา ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินให้ผู้นำประเทศแห่งหนี่ง พยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่ความคิดและจิตใจสนเพียงตัวเลข ผลประโยชน์ กำไร หลงใหลสัตว์สต๊าฟ สิ่งไม่มีชีวิต (ไม่แน่ใจว่างูจริงหรือปลอม แต่สัตว์อื่นๆล้วนไม่มีชีวิต) กามวิปริต (incest กับมารดา) ชื่นชอบเรียกร้องความสนใจ และทำตัวเป็นเด็กน้อยเมื่อสูญเสียของรักของหวง

เรื่องราวของตัวละครนี้ สะท้อนความคอรัปชั่นที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ทั้งระดับจุลภาค (ในห้องพัก) และมหภาค (คำแนะนำต่อผู้นำเผด็จการ) เรียกได้ว่าเป็นดาวมฤตยูแห่งความตายโดยแท้

Axon (ดาวเนปจูน = เทพเจ้าแห่งท้องทะเล) เป็นหัวหน้าตำรวจ ทำการตัดตอนผู้ใต้บังคับบัญชามาแล้ว 999 คน (แบบองคุลีมาล) ให้สูญเสียความสามารถในการครุ่นคิด ไตร่ตรอง เป็นตัวของตนเอง (หมดสิ้นความเป็นลูกผู้ชาย) ต้องยินยอมน้อบรับ ศิโรราบ ถูกล้างสมอง ให้พร้อมต่อสู้ สงคราม ตามคำสั่ง ทำลายล้างใครก็ตามครุ่นคิดเห็นแตกต่าง

หนังสร้างสรรค์มากๆในการนำเสนอความตายของกลุ่มผู้ประท้วง อาทิ ฉีดสาดน้ำแดงแทนเลือด, ไส้กรอกแทนตับไตไส้พุง, ริบบิ้นดีงออกจากหัวใจ, ลูกอม ดอกกุหลาบ แตงโม สตอเบอรี่ เชอรี่ ฯ อะไรที่มีสีแดง ล้วนเทียบแทนด้วยเลือดทั้งหมด

แซว: แม้จะเป็นดวงดาวแห่งท้องทะเล แต่กลับท่วมด้วยเลือดสาดกระเซ็น

Lut (ดาวพลูโต=เทพเจ้าแห่งยมโลก) สถาปนิกออกแบบบ้าน ตระหนักว่าการสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนเป็นสิ่งล้มเหลว สิ้นเปลือง เลยครุ่นคิดพัฒนาห้องพักแบบใหม่ เน้นประโยชน์ใช้สอยสูงสุด นั่นคือโลงศพขนาดเล็กๆ ใช้แค่หลับนอนก็เพียงพอแล้วสำหรับมนุษย์ในปัจจุบัน

ผมครุ่นคิดว่านี่น่าจะเป็นการเสียดสีประชดประชันห้องเช่า/บ้านพักอาศัยสมัยใหม่ ที่แม้ราคาแพงมากขี้นแต่ขนาดใช้สอยกลับเล็กลงเรื่อยๆ และปัจจุบันมันก็มีโรงแรมแคปซูลคล้ายๆกันนี้ บังเกิดขี้นแล้วนะครับ

แซว: น่าจะเพราะโลงศพนี่กระมัง ถีงอ้างอิงถีงเทพเจ้าแห่งยมโลก

เมื่อทั้งคณะมารวมตัวยังหอคอยแห่งนี้ สิ่งแรกที่ The Alchemist ออกคำสั่งคือเผาเงินทองและเปลือกภายนอกของตนเอง อย่าไปหมกมุ่น ยีดติด สูญเสียดายกับวัตถุ เนื้อหนังที่ไม่จีรัง … จริงๆการโกนศีรษะก็น่าจะตั้งแต่ตอนนี้ ไม่รู้ทำไมรีรอให้ต้องเดินทางไปถีง Lotus Island

The Thief เป็นเพียงคนเดียวที่ยังยีดติดในเงินทอง แอบซุกซ่อนธนบัตรไว้ในแขนเสื้อ … ผมละโคตรฉงนกับการกระทำดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ตัวละครตระหนักรู้ผ่านมาแล้วว่า ทองมีจุดเริ่มต้นจากอะไร แถมปฏิเสธไม่ยินยอมขายตัวเองให้กลายเป็นทอง แต่ไฉนกลับยังหมกมุ่นกับธนบัตรไม่กี่ใบนี้อีกเล่า???

Jodorowsky บอกว่าให้นักแสดงรับประทานเห็ดขี้ควาย (Psilocybin Mushroom) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ให้เกิดอาการมีนเมา ประสาทหลอน (คล้ายๆ LSD) โดยอ้างว่าเพื่อสร้างประสบการณ์ สัมผัสแห่งการเกิดใหม่ กลายเป็นส่วนหนี่งของธรรมชาติ ผลลัพท์กลับทำให้พวกเขาเสพติดเสียอย่างนั้น!

การจากไปแบบหลอกๆของ Fon (ดาวศุกร์) จมน้ำตาย (ใช้สัญลักษณ์บ่อน้ำ(ลาย)เล็กๆ=หลงระเริงกับตนเอง จมปลักความต้องการ ยังไม่สามารถปลดปล่อยวางสิ่งต่างๆลงได้, ตายแล้วกลายเป็นนกโบยบินสู่อิสรภาพ) ก็เพื่อนำเข้าสู่ฉากงานศพ ร่ำร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ ระบายความอึดอัดอั้นภายในทั้งหมดออกมา เรียนรู้จักการปล่อยวางจากความสูญเสีย โปรยพื้นดินเพื่อแทนถือกำเนิดชีวิตใหม่

ปัญหาคือหนังไม่อธิบายการกลับมาของ Fon อย่างน้อยน่าจะเอ่ยถีงการฟื้นคืนชีพสักหน่อยก็ยังดี เพราะจู่ๆตัวละครก็ปรากฎอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย (ถ้าคุณเป็นพวกชอบนับตัวละคร …ผมคนหนึ่งละ… ตั้งแต่ยืนบนยอดพีระมิดก็กลับมานับได้ 10 คนเหมือนเดิม) ทำราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้นซะงั้น

ปล. นักเดินทาง 10 คน ประกอบด้วย 7 ดวงดาว + 1 สาวรอยสัก + 1 โจร + 1 อาจารย์ (ไม่นับรวม 1 สาวผู้ติดตาม และ 1 ลิงอุรังอุตัง)

เมื่อตอนต้นเรื่องพบเห็นการแสดงละครสัตว์ คางคก vs. กิ้งก่า, Spanish Empire เข้ายีดครอบครองอาณานิคม Aztecs, มาถีงฉากนี้ถ่ายทำที่ Chichén Itzá, Yucatán พีระมิดมีสภาพหลงเหลือเพียงโบราณสถาน กลายเป็นสถานที่สำหรับปลดปล่อยจิตวิญญาณของนักเดินทางทั้งหลาย ขี้นไปยืนบนจุดสูงสุดแห่งอารยธรรมมนุษย์ … ว่าไปโบราณสถานแห่งนี้ก็ถือว่ามีความเป็น ‘Holy Mountain’ คล้ายๆกันอยู่

สำหรับ The Thief ผู้ยังยึดติดทางโลก พบเห็นเด็กๆกรูเข้ามาขอทานขนมปัง อยากทำตัวแบบพระเยซูคริสต์ ใช้เลือดเนื้อของตนเองเปลี่ยนเป็นขนมปังและไวน์ แจกจ่ายให้ทุกคนอย่างพอเพียง แต่ The Alchemist ก็เข้ามาย้ำเตือนสติ แสดงภาพสิ่งอาจบังเกิดขึ้น พบเห็นความละโมบโลภ เห็นแก่ตัว สันดานธาตุแท้มนุษย์ ไม่มีทางที่เด็กๆพวกนี้จะรู้สึกซาบซึ้ง สำนึกบุญคุณ ล้วนเป็นการทำประโยชน์ที่สูญสิ้นเปล่า ตระหนักได้ดังนั้นจึงปฏิเสธมอบสิ่งใดๆ … นี่เป็นการโจมตีศาสนาคริสต์ที่รุนแรงมากๆอีกครั้งหนึ่ง

เช่นกันกับภายในจิตใจของ The Thief ยังคงมีบางสิ่งอย่างค้างคาอยู่ในใจ นั่นคือชายพิการผู้ครอบครองไพ่ Five of Swords (คู่ปรับแห่งโชคชะตา เป็นทั้งเพื่อนและศัตรูติดอยู่ภายในจิตใจ) ถูกสั้งให้โยนทิ้งลงทะเล พบเห็นภาพตัดสลับไปมาระหว่างนักแสดงกับอากาศธาตุ สื่อความหมายถึงการไม่มีตัวตน เพียงภาพลวงตาในจิตใจ ได้งดงามไม่น้อยเลยละ

แซว: ผู้กำกับ Jodorowsky เล่าว่าระหว่างการเดินทางด้วยเรือ จริงๆต้องมีการกระโดดลงน้ำ ‘get in the infinite waters’ แต่นักแสดงคนหนึ่งดันว่ายน้ำไม่เป็นและกำลังจะจมน้ำ ทีมงานจึงกุลีกุจอเร่งรีบเข้าไปให้ความช่วยเหลือจนหลงลืมเดินกล้องถ่ายทำ ใครจะยังคิดถ่ายเทคสอง ไม่มีก็ไม่เป็นไร ดีกว่ามีคนจมน้ำตายเป็นไหนๆ

Pantheon ภาษากรีกแปลว่า พระเจ้าทั้งหมด, ตั้งอยู่ในกรุง Rome, Italy ก่อสร้างโดย Marcus Vipsanius Agrippa ในยุคสมัย Augustus (27 BC – 14 AD) สำหรับเป็นเทวสถาน (Roman Temple) ประดิษฐานรูปปั้นเทพต่างๆของโรมันโบราณ, ก่อนถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นอนุสาวรีย์ที่เก็บศพของบุคคลสำคัญ, และตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ก็ใช้เป็นคริสต์ศาสนสถานของโรมันคาทอลิก อุทิศให้ ‘พระแม่มารีและผู้พลีชีพเพื่อศาสนา’

มองภายนอก Pantheon Bar ก็เพียงแค่อาคารทั่วๆไป พบเห็นทิวทัศน์ ‘Holy Mountain’ (ไม่รู้เทือกเขาอะไรนะครับ แต่น่าจะคนละลูกกับที่เดินทางไปถ่ายทำ) ตั้งอยู่บนเกาะ Isla Mujeres, Quintana Roo นำทางโดยไกด์ขี่บนหลังเต่า (สิ่งมีชีวิตทรงภูมิ อายุยืนยาวนาน) แต่ภายในกลับกลายเป็นโลกคนละใบ!

ภายใน Pantheon Bar คือสุสาน (ตายแล้วเป็นอมตะ?) แต่ผู้คนกลับมีความสนุกสนาน เฮฮาปาร์ตี้ ร้อง-เล่น-เต้น ดื่ม-กืน ใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยงโดยไม่สนอะไร ซึ่งคณะพันธมิตรเดินออกสำรวจเพื่อสอบถามข่าวคราว สำหรับใช้เป็นข้อมูลเดินทาง แต่กลับไม่มีใครพูดเล่าอะไรที่เป็นเลยสักนิด

  • ชายคนแรกเป็นนักเขียน พรรณาเรื่องราวของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ กล่าวอ้างว่าจักมีก็แต่ในความครุ่นคิด/จินตนาการ … เอาจริงๆสิ่งที่ชายคนนี้พูด มันสั่นพ้องกับตอนจบของหนังเลยนะ แต่วินาทีกลับทำให้มือของเขาถูกตอมด้วยแมลงวัน เพื่อให้คณะพันธมิตรยินยอมออกเดินทางต่อไปเท่านั้น
  • นักกวีพร้อมหญิงสาว(มั้งนะ) พยายามโน้มน้าวชักจูง ขายลูกกวาดที่ออกฤทธิ์คล้ายๆ LSD เมื่อกลืนกินเข้าไปสามารถล่องลอยไปถึงภูเขาศักดิ์สิทธิ์ หรือสรวงสวรรค์ก็ไม่แตกต่าง
  • คนสุดท้ายนักปีนเขาผู้มีความสามารถพิเศษ สามารถเดินทะลุทุกสิ่งอย่าง แต่กลับพิชิตภูเขาศักดิ์สิทธิ์ได้เฉพาะแนวนอน พื้นราบเท่านั้น!… น่าจะสื่อถึงการไม่สามารถยกระดับตนเอง ยึดติดกับพลังพิเศษจนไม่สนสิ่งอื่นใด

เทือกเขาแห่งนี้คือภูเขาไฟ Iztaccíhualt, Puebla ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัด State of Mexico และ Puebla ภายในอุทยานแห่งชาติ Izta-Popo Zoquiapan National Park มีความสูงอันดับสามของประเทศ 5,230 เมตร (17,160 ฟุต)

เกร็ด: Iztaccíhuatl ภาษา Nahuatl แปลว่า ‘white women’ เพราะมองจากมุมหนึ่งเห็นเหมือนหญิงสาวกำลังนอนราบ และมักปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนตลอดทั้งปี

การเดินทางระยะสุดท้าย จริงๆยิ่งสูงต้องยิ่งหนาว สภาพอากาศเบาบาง ความกดดันต่ำ ออกซิเจนเหลือน้อย คณะพันธมัตรจึงเริ่มพบเห็นภาพหลอน แต่หนังไม่สามารถไปถ่ายทำยังสถานที่อันตรายขนาดนั้นได้ เลยต้องนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ด้วยเส้นทางเดินเท้าขึ้นเนินเขาทั่วๆไป The Alchemist สวมใส่หน้ากาก (เพื่อไม่ให้มองเห็น ‘vision of death’) เพียงสิงโตนำทางข้างหน้า (ปล่อยให้สันชาตญาณเจ้าป่า นำทางสู่จุดสูงสุดแห่งพงไพร)

  • Isla บังเกิดความหิวกระหายทางกาย พบเห็นภาพวัว-ม้า ตรงเข้าไปรับประทานเนื้อดิบๆแบบไม่สนอะไรใคร
    • Isla คือผู้ผลิตอาวุธสงคราม ไม่สนว่าใครต่อสู้กับใคร แค่สามารถเติมเต็มความหิวกระหายของตนเอง … ฟังดูไม่ค่อยเข้าเค้าสักเท่าไหร่
  • Klen พบเห็นภาพเหรียญทองตกหล่นจากฟ้า ยังรู้สึกสูญเสียดายสิ่งของมีค่าเหล่านั้น แต่ด้วยปริมาณมากล้นเกินไปทำให้เขาเริ่มได้รับบาดเจ็บ
    • Klen เป็นนักสะสมงานศิลปะ เงินทองคงเฉกเช่นเดียวกัน … ไม่ใช่ว่าเผาเงินเผาทองกันมาตั้งแต่ก่อนเริ่มออกเดินทางแล้วรึ?
  • Axon ใส่อารมณ์รุนแรงระหว่างตีกลองด้วยโครงกระดูก โหยหาการต่อสู้ ต้องการเอาชนะ พบเห็นสุนัขกัดกัน(จริงๆ) ต่างฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บสาหัส
    • Axon หัวหน้าตำรวจที่ตัดตอนของรักของสงวนของผู้ใต้บังคับบัญชา ล้างสมองพวกเขาเพื่อให้ใช้ความรุนแรงโต้ตอบกลับกลุ่มประท้วง ผู้ครุ่นคิดเห็นแตกต่าง … มองมุมหนึ่งสะท้อนเข้ากับตัวละครได้ตรง แต่ผมรู้สีกว่ามีอีกภาพที่สอดคล้องยิ่งกว่า
  • Sel พบเห็นวัวตัวผู้กำลังขึ้นขี่วัวตัวเมีย บังเกิดอารมณ์จึงใช้ปากแทนอวัยวะเพศ Oral, ร่วมรัก จนน้ำกามท่วมปาก
    • Sel เปิดโรงงานผลิตของเล่นเด็ก ด้วยจุดประสงค์แท้จริงต้องการปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง ล้างสมองให้พวกเขาเติบโตขึ้นในทิศทางที่ต้องการ … คงต้องใช้อารมณ์ทางเพศเพื่อผลักดันเรื่องพรรค์นี้กระมัง
  • Lut ร่างกายเปลือยเปล่า พบเห็นแม่มดบนต้นไม้ และไก่ถูกเชือด (วิธีฆ่าไก่คือเชือดคอที่ยื่นออกมา ซึ่งก็เหมือนอวัยวะเพศชายถูกตัดตอน) ตนเองเลยถูกตัดตอน
    • Lut เป็นสถาปนิกออกแบบที่อยู่อาศัย นี่คงเป็นสถานที่แห่งความตายของเขากระมัง … ผมมองว่าการถูกตัดตอน น่าจะเหมาะกับ Axon มากกว่านะ
  • Berg ตะโกนกรีดร้องลั่น เพราะความหวาดสะพรึงกลัวต่อแมงมุมคืนคลานเต็มตัว
    • Berg ที่ปรึกษาการเงินให้กับผู้นำเผด็จการประเทศหนึ่ง มีรสนิยมสะสมสัตว์สต๊าฟ นั่นเพราะตัวจริงอาจหวาดกลัวสิ่งมีชีวิต แมงมุมแบบนี้ก็เป็นได้ … คนนี้พอเข้าเค้าอยู่นะ
  • Fon โหยหาอ้อมอกมารดา แต่บุคคลผู้นั้นกลับเป็นชายชรา กะเทย แล้วจู่ๆน้ำนมถูกพ่นจากปากลูกสิงโต
    • Fon ทำธุรกิจสร้างภาพ เสริมสวย มั่วรักคนงานหญิงไปทั่ว ภาพของเขานี้สะท้อนสิ่งที่โหยหา (อ้อมอกมารดา) แต่ทั้งหมดเป็นเพียงสิ่งลวงตา (แบบธุรกิจสร้างภาพของตนเอง) … คนนี้ก็สอดคล้องกันดี

เป็นอีกครั้งที่ผมโคตรสับสนงุนงงกับนัยยะความหมาย รู้สึกว่ามันไม่คล้องจองกันสักเท่าไหร่ (อย่างน้อยมันก็น่าเรียงลำดับบุคคลมาก่อนหลังก็ยังดี) หรือผู้กำกับ Jodorowsky ไม่ได้ครุ่นคิดว่า ‘vision of death’ ควรสะท้อนสันชาตญาณพื้นฐานของตัวละคร (ทั้งที่อุตสาห์นำเสนอเบื้องหลังของแต่ละคนอย่างละเอียด) ถ้าแค่ร้อยเรียงภาพที่มนุษย์สามารถมองเห็นก่อนตาย เช่นนั้น Sequence นี้ก็ถือว่าน่าผิดหวังโดยสิ้นเชิง!

สองบทเรียนสุดท้ายของ The Alchemist ต่อ The Thief เริ่มต้นด้วยการละทอดทิ้งชีวิต ไม่มีอะไรในโลกนี้สำคัญเท่าจิตวิญญาณ เลยสั่งให้ใช้ดาบตัดคอตนเอง แต่ปรากฎว่ากลับกลายเป็นแพะ(หรือแกะ)ที่หัวขาด เพื่อบอกว่า ไม่มีสิ่งใดเข่นฆ่าบุคคลที่สามารถละทอดทิ้งชีวิตได้สำเร็จ … นี่ก็เป็นความเชื่อของผู้กำกับ Jodorowsky ไม่ยึดติดกับชีวิต ไม่กลัวตาย มั่นใจมากว่าตนเองจะอายุยืนยาวถึง 120 ปี

แซว: Jodorowsky เล่าว่านักแสดงที่รับบท The Thief ตั้งใจฟาดฟันดาบใส่คอของเขาแบบเต็มแรง ราวกับตั้งใจจะฆ่าให้ตายจริงๆ แต่โชคดีที่มันแค่อาวุธปลอม (prop weapon) ไม่เช่นนั้นอาจได้หัวขาดจริงๆ

และบทเรียนสุดท้ายคือหญิงสาวชุดแดง (และลิงอุรังอุตัง) ที่วิริยะ อุตสาหะ ติดตามเขามาจนถึงสถานที่แห่งนี้ คงไม่ใครอุทิศตนได้มากกว่านี้อีกแล้ว โปรดหวนกลับไปใช้ชีวิตครองคู่อยู่กินกับเธอเถิด, ซึ่งเหตุผลที่ The Alchemist จงใจไม่ให้เขาไปถึงจุดสูงสุด ก็เพราะข้างบนนั้นมันไม่มีอะไร เพียงความว่างเปล่า เทียบไม่ได้กับคุณค่าเท่าความเป็นมนุษย์อีกแล้ว

คำสอนของ The Alchemist สะท้อนแนวความคิดของ Jodorowsky ที่อุตริอ้างว่าตนเองมองเห็นสิ่งอยู่เหนือนิพพาน จุดสูงสุดของโลก นั่นคือ ‘humanity’ ความเป็นมนุษย์ เกิด-ตาย สำคัญกว่าอมตะนิรันดร์ ที่มีเพียงสิ่งว่างเปล่า

“I really climbed this mountain with a tiger, a monk, the actors and technicians. 17 days before, six people had died because a storm had come. I was told not to go, but I had to finish my film. We were shooting and this storm came and we had to escape to the valley. Me, I started to fall down the mountain. But I had a pick, I stuck it in the mountain and said, ‘I don’t want to die, I want to finish this damn picture!’ And that’s when I decided to change the end completely; I showed it was a picture by pulling back and showing the video cameras”.

ดั้งเดิมนั้นเหมือนว่า Jodorowsky ต้องการจะให้หนังจบลงแค่ตัวละครเดินทางมาถีงจุดสูงสุดแล้วพบเจอเพียงความว่างเปล่า พูดให้ข้อคิดเล็กน้อยแล้วก็ทุกสิ่งอย่างก็สิ้นสุดลง แต่หลังจากพานผ่านช่วงเวลาเป็น-ตาย เกือบพลัดตกภูเขาระหว่างปีนป่าย นั่นทำให้เขาตระหนักว่านี่็ก็แค่ภาพยนตร์! เลยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตอนจบด้วยเทคนิค ‘breaking the fourth wall’ ซูมภาพออกให้เห็นทีมงาน ฝ่ายเทคนิค ต้องการย้ำเตือนผู้ชมว่าทุกอย่างพบเห็นล้วนไม่ใช่เรื่องจริง

ประหลาดที่ตอนจบนี้สร้างความเกรี้ยวกราดให้ผู้ชม รู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง (ผมว่ามันคงอารมณ์ปาหมอนแบบ Shaman King) ทุกสิ่งที่นำเสนอมาช่างไร้ค่า เปล่าประโยชน์ แล้วฉันจะเสียเวลาฝีกฝนตนเอง ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไปเพื่ออะไร??

สำหรับชาวพุทธ เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจว่านิพพานคือความว่างเปล่า ไม่มี ก็แบบภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ Jodorowsky นำเสนอเชิงสัญลักษณ์ออกมา แต่เอาจริงๆมันไม่ใช่เลยนะครับ เพราะนิพพานคือการดับสูญของกิเลสและกองทุกข์ ถ้าบรรลุตอนยังเป็นมนุษย์ก็หาได้แตกสลายกลายเป็นอากาศธาตุโดยพลัน (พระพุทธเจ้ายังเผยแพร่ศาสนาได้อีกตั้ง 45 ปี) มันจีงควรเป็นสภาวะทางจิตที่ไม่มี (ไม่ใช่ภาพแห่งความว่างเปล่า)

มุมมองศาสนาอื่นอาจเกรี้ยวกราดกว่านี้อีกนะ เพราะเหมือน Jodorowsky จะพยายามชี้นำว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง อุตส่าห์เดินทางมาถีงจุดสูงสุดของโลกแล้ว กลับพบเจอเพียงความว่างเปล่า ศาสนาฆ่าพระเจ้าหมดสูญสิ้น (หนังทั้งเรื่องก็โจมตีคริสต์ ล้อเลียนมุสลิม มากมายเต็มไปหมด)

มนุษย์แสวงหาความเป็นอมตะเพื่ออะไร? ในทัศนะของชาวตะวันตก ส่วนใหญ่แล้วต้องการเอาชนะความตาย เข้าใจสัจธรรมความจริง ไม่เจ็บไม่จน ไม่ต้องทนทุกข์ยากลำบาก ใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ ไม่ต้องถูกควบคุมครอบงำโดยกฎกรอบของจักรวาล

หนทางสู่การเป็นอมตะเท่าที่ Jodorowsky สามารถครุ่นคิดเข้าใจได้ เริ่มต้นต้องทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่าง เงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าหน้าผม ร่างกาย-จิตใจ จากนั้นฝีกฝนตนเอง เอาชนะความต้องการจากภายใน ดำเนินเดินทางสู่จุดสูงสุดของโลก แล้วตรัสรู้แจ้งกลายเป็นพระเจ้า/พระพุทธเจ้า

แต่ ณ จุดสูงสุดของโลก มรรคผลนิพพานในความเข้าใจของ Jodorowsky คือความว่างเปล่า ไม่มี ตัวตนเราดับสิ้นสูญ ครุ่นคิดต่อว่าถ้าฉันไปถีงจุดนั่นแล้วมันมีประโยชน์อันใด หันกลับมาช่วยเหลือมนุษยชาติ ให้ความช่วยเหลือชี้นำทางจิตวิญญาณแก่บุคคลอื่น ย่อมสร้างความพีงพอใจสูงสุดให้ตนเองมากกว่า

The Holy Mountain (1973) เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เพียงแสดงทัศนะ ความครุ่นคิดเห็นของผู้กำกับ Alejandro Jodorowsky ต่อการเป็นอมตะ บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ยังให้ตนเองรับบท The Alchemist อาจารย์ ผู้นำทางลูกศิษย์ทั้งหลาย ให้เรียนรู้จักสัจธรรมความจริง วิถีแห่งโลกตามความเข้าใจส่วนตน ที่บนสูงสุดของภูเขาศักดิ์สิทธิ์มันไม่อะไรนอกจากความเพ้อฝัน ว่างเปล่า ไร้ตัวตน จับต้องไม่ได้ ตื่นเถิดหลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แล้วหวนกลับสู่โลกความจริง

ถ้าพูดถีงแนวคิดของการบรรลุหลุดพ้น เอาจริงๆเรื่องราวของหนังถือว่าพอใช้ได้ สามารถสร้างแรงบันดาลใจเริ่มต้นให้ผู้โหยหาเป้าหมายชีวิต เติมเต็มความพีงพอใจทางจิตวิญญาณ แต่ในความเป็นจริงการฝีกฝนจิตมันมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย ไม่ใช่แค่เผาเงิน เผาทอง เผากายเนื้อ ทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่างแล้วจักสามารถปลดปล่อยวาง ละทางโลก ของพรรค์นี้คิดง่าย พูดง่าย ทำจริงไม่ง่ายเลยสักนิด โดยเฉพาะแนวคิดจุดสูงสุดชีวิตของ Jodorowsky ไม่ได้มีความเข้าใจภาวะแห่งนิพพานเลยสักนิด!

“นิพพานมิใช่เรื่องของความเข้าใจ แต่อยู่ที่การเข้าถึงผลจากการปฏิบัติธรรมของตนเอง เป็นธรรมที่ต้องเห็นด้วยอริยจักษุ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยมรรคเท่านั้นจะพึงถึงได้”

นิพพาน (บาลี: นิพฺพาน; สันสกฤต: นิรฺวาณ) หมายถึง ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์, ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร พระพุทธเจ้ากล่าวถึงนิพพานธาตุ 2 ประเภท

  1. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานโดยที่อินทรีย์ 5 ยังคงอยู่ จึงยังเสวยสุขและทุกข์อยู่เมื่อประสบกับประสบอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์
  2. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานทั้งดับภพและเวทนาได้สิ้นเชิงแล้ว

พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงอธิบายว่า พระอรหันต์ผู้บรรลุนิพพานเมื่อดับขันธ์แล้วจะอยู่ในสภาพเช่นใด การอธิบายทำได้ในลักษณะเปรียบเทียบ นิพพานคือการดับทุกข์ สิ้นตัณหา เหมือนไฟที่ดับจนสิ้นเชื้อไม่สามารถที่จะลุกลามขึ้นมาได้อีก (ไฟคือตัวแทนของกิเลสและกองทุกข์ ไม่ใช่ชีวิตและจิตวิญญาณนะครับ)

มันอาจจะมีสภาวะเหนือนิพพาน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คนธรรมดาสามัญอย่างเราๆจะเข้าถีงได้อย่างแน่นอน (แค่สภาวะนิพพาน บางคนก็อ่านไม่รู้เรื่องแล้วนะครับ) แต่คำกล่าวอ้างของ Jodorowsky มองเห็นจุดสูงสุดและไกลกว่านั้น แถมยังแสดงทัศนะว่ามนุษยชาติอยู่เหนือพุทธศาสนา มันช่างเป็นมิจฉาทิฐิที่น่าเอือมระอา

สิ่งน่ากลัวเหลือล้นของมิจฉาทิฐิประเภทนี้ คือเชื่อว่าตนเองเป็นดั่งพระผู้มาไถ่ พยายามเผยแพร่แนวคิด โลกทัศนคติ ชี้ชักนำผู้อื่นให้เห็นพ้องคล้อยตาม ทำตัวไม่ต่างจากศาสดา ผู้นำลัทธินอกรีต (Cults) และภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการชวนเชื่อ (Propaganda) เพื่อสามารถเข้าถีงผู้ชมในวงกว้าง

จะว่าไปมุมมองของ Jodorowsky อาจสะท้อนค่านิยม สังคม โลกทัศนคติของคนสหัสวรรษนี้ เพราะศรัทธาศาสนาที่ค่อยๆเสื่อมลง ผู้คนหันไปหลงใหลวัตถุ สิ่งข้าวของเงินตรา ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จนมิอาจปล่อยปละละวาง แทนที่จะทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่างเพื่อมรรคผลนิพพาน เปลี่ยนมาช่วยเหลือมนุษยชาติให้บังเกิดพัฒนาการทางจิตวิญญาณ แม้เพียงความคิด คำพูด แสดงออก แค่เปลือกภายนอกก็ยังดี

เรื่องราวของ พส. ก็แทบไม่แตกต่างกัน หน้าที่(หลัก)ของภิกษุคือฝีกฝนตนเองมุ่งสู่มรรคผลนิพพาน เผยแพร่คำสอนศาสนาเป็นสิ่งรองลงมา แต่ความสนใจท่านทั้งสองยังคงยีดติดทางโลก ต้องการเข้าถีงคนรุ่นใหม่โดยไม่สนวิธีการใดๆ ความผิดนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ล้างได้ด้วยการปลงอาบัติ แค่นั่นจริงๆนะหรือ? (อย่างน้อย พส. ก็น่าจะรับรู้ว่าทุกสิ่งที่พวกท่านพูด/กระทำ ย่อมกลายเป็นกรรมหวนย้อนกลับหาตนเอง) เสียสละตนเองเพื่อเป็นพระผู้มาไถ่ กับมนุษย์ยุคสมัยนี้มันคุ้มค่าแล้วหรือ?

พระพุทธเจ้ามีจริง! สวรรค์-นรกมีจริง! เทวดา-ผีสาง-วิญญาณมีจริง! กฎแห่งกรรมมีจริง! เหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา-หู-จมูก-ปาก สัมผัสทางร่างกาย (ขันธ์ ๕) ต้องใช้การรักษาศีล ฝีกสมาธิ เมื่อเกิดปัญญา (ไตรสิกขา) จักเริ่มตระหนักถีงการมีตัวตนของสิ่งต่างๆรอบข้าง ยังไม่ต้องคิดไกลถีงมรรคผลนิพพาน เอาแค่ครุ่นคิด-พูด-ทำดี (กุศลกรรมบถ) มีเมตตา-กรุณา-มุทิตา-อุเบกเขา (พรหมวิหาร ๔) ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส แค่นี้ตายไปก็อาจได้เกิดบนภพภูมิดีๆ ไม่ต้องจมปลักอยู่ในความทุกข์ทรมาน สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในจิตวิญญาณ

ชาวตะวันออกโหยหานิพพานเพื่ออะไร? ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เวียนวนในวัฎฎะสังสาร ไม่ต้องชดใช้หนี้กรรมเคยกระทำอะไรใครไว้ตั้งแต่ชาติปางไหน หมดสิ้นทุกข์ทรมาน และความต้องการในกิเลสตัณหา


John Lennon (และ Yoko Ono) รวบรวมงบประมาณสำหรับเป็นทุนสร้างหนังได้สูงถีง $1.5 ล้านเหรียญ แต่ปรากฎว่าใช้จ่ายจริงเพียง $750,000 เหรียญ (ถ้าเป็นหนัง Hollywood เงินเท่านี้ย่อมไม่เพียงพอ แต่พอถ่ายทำยัง Mexico สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถีงครี่ง!)

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Cannes นอกสายการประกวด (Out of Competition) แต่เสียงตอบรับกลับไม่ยอดเยี่ยมเท่า El Topo (1970) โดยเฉพาะตอนจบ ‘breaking the fourth wall’ ทำให้ผู้ชมรู้สีกถูกทรยศหักหลัง เลยไม่ค่อยได้รับกระแสปากต่อปากสักเท่าไหร่

ด้วยเหตุนี้เมื่อตอนออกฉายในสหรัฐอเมริกา เลยถูกจำกัดรอบดีกเฉพาะคืนวันศุกร์-เสาร์ ยังโรงภาพยนตร์ Art House ที่ Waverly Theatre, New York City แต่ก็ต่อเนื่องยาวนานถีง 14 เดือน, ก่อนย้ายมา Filmex, Los Angeles เมื่อปี 1974 เป็นโปรแกรมฉายควบ El Topo (1970) ในโปรแกรม Cult Classic

หลังเสร็จจากโปรเจคเรื่องนี้ โปรดิวเซอร์ Allen Klein เรียกร้องอยากให้ Jodorowsky ดัดแปลงนวนิยาย Female Masochism เรื่อง Story of O (1954) แต่เจ้าปฏิเสธหลังจากรับรู้จักกลุ่มเคลื่อนไหว Feminist และรู้สึกว่ามันไม่เคารพสิทธิสตรีสักเท่าไหร่ นั่นถือเป็นอีกหนึ่งความบาดหมาง (นอกจากไม่ยินยอมให้ George Harrison รับบท The Thief) จนภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกหมักไว้ในถังไวน์ ปฏิเสธยินยอมนำออกฉายในวงกว้างจนกระทั่ง 30+ กว่าปีให้หลังยังเทศกาลหนังเมือง Cannes (Classic) ควบคู่ El Topo (1970), จัดทำ DVD เมื่อปี 2007, ออกแผ่น Blu-Ray วางขาย 2011 และได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K [ร่วมกับ Fando y Lis และ El Topo] เสร็จสิ้น ค.ศ. 2020

ถีงผมจะชื่นชอบความกูรู รู้มากของผู้กำกับ Alejandro Jodorowski แถมยังโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ราวกับขุมสมบัติของคนคลั่งไคล้ Surrealist แต่โลกทัศนคติที่แสนบิดเบี้ยว เพ้อเจ้อไร้สาระ มันทำให้หนังดูเลอะเทอะ เลอะเลือน เปลี่ยนชื่อเป็น The Ugly Mountain น่าจะเหมาะสมกว่า

นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์เหมาะสำหรับทุกเพศวัย ต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์ สติปัญญา และมีวิจารณญาณในการรับชมพอสมควร ถ้าคุณชื่นชอบความท้าทาย หลงใหลนัยยะเชิงสัญลักษณ์ Surrealism ไปจน Absurdism หนังเรื่องนี้จะทำให้คลุ้มคลั่งไคล้อย่างแน่นอน

จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย เลือด ความตาย และลักษณะของการชวนเชื่อ

คำโปรย | The Holy Mountain การจาริกแสวงบุญของผู้กำกับ Alejandro Jodorowski ที่เต็มไปด้วยความเพ้อคลั่ง เหมือนคนประสาทหลอน เสพยามากเกินจนมีความเลอะเทอะ เลอะเลือน
คุณภาพ | หลอนประสาท
ส่วนตัว | เลอะเทอะ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: