
The Lovers (1958)
: Louis Malle ♥♥♥♡
เรื่องราวรักต้องห้ามสุดอื้อฉาว! Jeanne Moreau มีคู่ครองอยู่แล้วกลับตกหลุมรักชายอื่น แต่ขณะเดียวกันสามีของเธอก็แอบซ่อนชู้รัก เช่นนั้นแล้วมันผิดอะไร? คว้ารางวัล Grand Jury Prize (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Venice
ในชีวิตจริงของ Moreau ขณะนั้นแต่งงานอยู่กับ Jean-Louis Richard แม้แยกกันอยู่แต่เหมือนว่ายังไม่เซ็นใบหย่า ซึ่งระหว่างถ่ายทำ The Lovers (1958) เธอและผกก. Malle ก็ได้กลายเป็นชู้รัก … แต่ความสำเร็จอย่างล้นหลามของหนัง ต่างคนต่างไม่หลงเหลือเวลาใหักัน จำต้องลดสถานะเหลือเพียงเพื่อนร่วมงาน ไปมาหาสู่บางครั้งคราว
The Lovers (1958) ภาพยนตร์ ‘Fictional’ เรื่องที่สองของผกก. Malle มักถูกเปรียบเทียบกับ Elevator to the Gallows (1958) แม้คนละแนวหนัง แต่ราวกับพี่น้อง (Sibling) เพราะต่างนำแสดงโดย Jeanne Moreau แอบคบชู้นอกใจสามี และฉากก้าวเดินเรื่อยเปื่อยหลายนาที เหมาะสำหรับรับชมเคียงข้างกันยิ่งนัก!
ในเรื่องคุณภาพ Elevator to the Gallows (1958) มักถูกมองว่ายอดเยี่ยมกว่า The Lovers (1958) แต่ทว่าเรื่องหลังประสบความสำเร็จทั้งรายรับ คว้าสองรางวัลจากเทศกาลหนังเมือง Venice และยังแจ้งเกิด Moreau กลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอีกด้วย!
Louis Marie Malle (1932-95) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Thumeries, Nord ในครอบครัวชนชั้นกลาง (Upper-Middle Class) บิดาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตน้ำตาล ฐานะร่ำรวย ส่งบุตรชายไปโรงเรียนประจำ Le Petit-College d’Avon, ตอนอายุ 11 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พบเห็นการบุกรุกรานของพวก Gestapo จับเพื่อนสนิท+ครูชาวยิวส่งไปค่ายกักกัน Auschwitz นั่นคือเหตุการณ์ฝังใจไม่รู้ลืมเลือน
เติบโตเข้าศึกษารัฐศาสตร์ Institut d’études politiques de Paris (Sciences Po) ก่อนเปลี่ยนความสนใจมาเรียนภาพยนตร์ที่ Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) จบมาได้ทำงานเป็นผู้ช่วย Jacques Cousteau ถ่ายทำสารคดี The Silent World (1956) **คว้ารางวัล Palme d’Or และ Oscar: Best Foreign Language Film, จากนั้นฝึกงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Robert Bresson ภาพยนตร์ A Man Escape (1956), ก่อนฉายเดี่ยวภาพยนตร์ Elevator to the Gallows (1958), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Lovers (1958), The Fire Within (1963), Murmur of the Heart (1971), Lacombe, Lucien (1974), Atlantic City (1981), Au revoir les enfants (1987) ฯ
สำหรับ Les amants ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Point de Lendemain (แปลว่า No Tomorrow) แต่งโดย Dominique Vivant, Baron Denon (1747-1825) สัญชาติฝรั่งเศส นักการทูตในรัชสมัย Louis XV (1710-74, ครองราชย์ 1715-74) และ Louis XVI (1754-93, ครองราชย์1774-92) ก่อนได้รับแต่งตั้งจาก Napoleon Bonaparte เป็นผู้อำนวยการคนแรกของ Louvre Museum ระหว่างค.ศ. 1802-14
Baron Denon เขียนเรื่องสั้นอีโรติก Point de Lendemain ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1777 แต่ตีพิมพ์แบบไม่ออกนาม (Anonymously) ก่อนทำการปรับปรุงแก้ไขในปี ค.ศ. 1812 แล้วตีพิมพ์ใหม่โดยไม่ปกปิดชื่อภายหลังเสียชีวิต (Posthumously) Point de lendemain: conte dédiée à la reine เมื่อปี ค.ศ. 1876
สำหรับบทภาพยนตร์พัฒนาโดย Marie Louise Lévêque de Vilmorin (1902-69) นักกวี นักเขียนหญิง สัญชาติฝรั่งเศส ผู้แต่งนวนิยายชื่อดัง Madame de… (1951) หรือที่หลายๆคนรับรู้จักจากฉบับดัดแปลงภาพยนตร์ The Earrings of Madame de… (1953) กำกับโดย Max Ophüls
สังเกตว่าผมไม่ได้ใช้คำว่า ‘ดัดแปลง’ แต่คือ ‘แรงบันดาลใจ’ เพราะหลังจากพยายามหาอ่านเรื่องย่อ Point de Lendemain ก็พบว่ามีความผิดแผกแตกต่างออกไปมา ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองชายหนุ่มไร้เดียงสา ถูกเกี้ยวพาราสีโดยหญิงชนชั้นสูง Mme de T… (คล้ายๆกับ Madame D… ไม่มีการระบุชื่อตัวละคร) แต่เธอมองเขาเป็นแค่เพียงของเล่น เครื่องประดับ (Object of Affection) เบื่อเมื่อไหร่ก็โยนทิ้งขว้าง หลังพานผ่านค่ำคืนสุขกระสันต์ ตื่นขึ้นมาได้รับบทเรียนชีวิตโดยพลัน
เรื่องราวของ Jeanne Tournier (รับบทโดย Jeanne Moreau) แต่งงานกับสามี Henri (รับบทโดย Alain Cuny) เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ อาศัยอยู่แมนชั่นหรูใกล้กับ Dijon, Côte-d’Or วันๆใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เบื่อหน่าย โหยหาความตื่นเต้นเร้าใจ ชอบออกเดินทางสู่กรุง Paris เพื่อเยี่ยมเยียนเพื่อนสนิท Maggy (รับบทโดย Judith Magre) และเกี้ยวพาราสีนักโปโลหนุ่ม Raoul (รับบทโดย José Luis de Vilallonga)
เหตุการณ์วุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Henri โน้มน้าวให้ Jeanne ชักชวน Maggy และ Raoul มาร่วมรับประทานอาหาร ค้างแรมที่แมนชั่น ซึ่งระหว่างเดินทางกลับจากกรุง Paris จู่ๆรถจอดเสียข้างทาง ได้รับความช่วยเหลือจากนักโบราณคดีหนุ่ม Bernard (รับบทโดย Jean-Marc Bory) พามาส่งบ้าน ร่วมรับประทานอาหาร โดยไม่ตัวตกหลุมรัก ก่อนตัดสินใจหนีตามกันไป
Jeanne Moreau (1928-2017) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris มารดาเป็นชาวอังกฤษ (เธอจึงสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ชัดเจน) ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีโอกาสรับชมการแสดงละครเวทีของ Jean Anouilh เลยเกิดความสนใจเข้าฝึกฝนการแสดง Conservatoire national supérieur d’art dramatique (CNSAD) จนมีโอกาสร่วมคณะ Comédie-Française ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 50s รับเล่นเพียงตัวประกอบ (ยังมุ่งมั่นกับละครเวทีมากกว่า) จนกระทั่งความสำเร็จของ Elevator to the Gallows (1958) และ The Lovers (1959) ถึงค่อยหันมาเอาจริงจังทางนี้ ผลงานเด่นๆ อาทิ Seven Days… Seven Nights (1960), La notte (1961), Jules and Jim (1962), The Trial (1962), Chimes at Midnight (1965), Viva Maria! (1965), The Old Lady Who Walked in the Sea (1992) ฯ
รับบท Jeanne Tournier ภรรยาผู้มีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตครอบครัว หลังจากรับรู้ว่าสามี Henri แอบคบชู้เลขาส่วนตัว ก็ไม่รู้สึกผิดที่ตนเองสานสัมพันธ์นักโปโล Raoul ก่อนโชคชะตานำพาให้พบเจอนักโบราณคดีหนุ่ม Bernard ในค่ำคืนที่แสนเปล่าเปลี่ยว มีเพียงเขาสามารถเติมเต็มความต้องการร่างกาย+จิตใจ
ในขณะที่ Elevator to the Gallows (1958) ไม่ได้มีการแต่งหน้าทำผม ใช้เพียงแสงธรรมชาติ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ห่อเหี่ยวสิ้นหวัง, ตรงกันข้ามกับ The Lovers (1958) ตัวละครของ Moreau ถูกจับแต่งองค์ทรงเครื่อง มัดผมเรียบร้อย สวมใส่ชุดหรูหรา เครื่องประดับราคาแพง แม้ทำให้เธอดูราวกับเจ้าหญิง แต่ก็ไม่ต่างจากตุ๊กตาในลังกระดาษ (Doll House)
เสียงบรรยายของ Moreau ฟังดูเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย พูดระบายความในใจออกมา แต่พยายามปกปิดสีหน้า เล่นละคอนตบตา ถึงอย่างนั้นผู้ชมสามารถสังเกตเห็นร่องรอย อากัปกิริยาซุกซ่อนเร้นไว้ รอยยิ้มกริ่มเมื่อจับได้ว่าสามีคบชู้นอกใจ … Moreau ถือเป็นขุ่นแม่แห่งการสำแดงอารมณ์ออกทางสีหน้าจริงๆ
แต่ไฮไลท์คือการเปลี่ยนแปรสภาพจากความเบื่อหน่าย กลายมาเป็นตกหลุมรักชายหนุ่ม Bernard ที่เพิ่งพบเจอกัน ยามค่ำคืนทั้งสองก้าวเดินผ่านแมกไม้ ลำธาร ล่องลอยเรือข้ามฟาก อาบฉาบแสงจันทรา มันช่างโรแมนติก อีโรติก ก่อนจบลงที่ห้องนอนฝ่ายหญิง เช้าตื่นมาก็พร้อมปลดปล่อยตนเอง หลบหนีออกจากบ้านตุ๊กตา
บทบาทของ Moreau ดูมีมิติทางการแสดง หลากหลายทางอารมณ์มากกว่า Elevator to the Gallows (1958) คงเพราะเรื่องนั้นต้องสลับเปลี่ยนหลายมุมมองตัวละคร ขณะที่ The Lovers (1958) คือศูนย์กลางเรื่องราว นางเอกเต็มตัวก็ว่าได้ และด้วยความสัมพันธ์โรแมนติกกับผกก. Malle ให้คำนิยาม “a great love affair” เลือกสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เพื่อส่งให้เธอเป็นดาวดารา
ความสำเร็จของหนังมันเกินความคาดหวังของผกก. Malle จนมิอาจเอื้อมมือไขว่คว้า Moreau ไม่ใช่ว่าเธอเป็นผู้หญิงใจง่าย แต่เมื่อได้ลิ้มรสอิสรภาพแห่งรัก (แบบเดียวกับตัวละครที่ทอดทิ้งสามีหนีตามชายชู้) ก็ไม่อาจจำกัดตนเองอยู่กับความรักเดียวใจเดียวอีกต่อไป (เมื่อเบื่อหน่ายชายชู้ก็เปลี่ยนไปคบหาคนรักถัดไป)
Louis could no longer stand to see me as others then saw me, and as only he had seen me until then. I knew that if I played the love scenes just as Louis wanted, he would love me as an actress but hate me as a woman. I could not play them without betraying him.
Jeanne Moreau

ถ่ายภาพโดย Henri Decaë (1915-87) ตากล้อง/วิศวกรเสียง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Saint-Denis โตขึ้นทำงานเป็นช่างภาพ (Photojournalist) ให้กองทัพอากาศฝรั่งเศสช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นเริ่มถ่ายทำหนังสั้น กลายเป็นขาประจำผกก. Jean-Pierre Melville และ French New Wave ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Sea (1949), Les Enfants terribles (1950), Bob le flambeur (1955), Les Amants (1958), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), Les Cousins (1959), The 400 Blows (1959), Purple Noon (1970), Léon Morin, Priest (1961), Le Samouraï (1967), The Red Circle (1970), The Professional (1981) ฯ
ความสำเร็จของ Elevator to the Gallows (1958) ทำให้ผกก. Malle ได้ทุนสร้างมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้กล้อง Chevereau Cameras อัตราส่วน Dyaliscope (2.35:1) เพื่อนำเสนอมหากาพย์แห่งความรัก “a great love affair” แต่ยังคงแนวคิดดั้งเดิมคือบันทึกภาพเป็นจริง (Reality) ตามธรรมชาติ ไม่พยายามปรุงปั้นแต่งอะไรมาก ใช้เพียงสันชาตญาณ (Cinema of Instinct) สิ่งใดบังเกิดก็คว้าโอกาสนั้นมา
แต่การถ่ายทำยังชนบทแตกต่างจากในเมือง แสงจันทราไม่ได้สว่างไสวเหมือนหลอดไฟตามร้านรวง การก้าวเดินผ่านแมกไม้ ล่องลอยเรือข้ามฟาก มันเลยไม่ช็อตสวยๆที่พบเห็นแล้วตื่นตาตะลึง อ้าปากค้างแบบตอน Elevator to the Gallows (1958) … อัตราส่วนภาพก็มีผลเช่นกัน Dyaliscope เหมาะสำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์ ระยะไกล ไม่ใช่โคลสอัพใบหน้า


แม้ฉากก้าวเดินพรอดรักจะไม่ค่อยน่าจดจำสักเท่าไหร่ แต่ทว่า Sex Scene ลองจินตนาการถึงตอนรับชมในโรงภาพยนตร์ด้วยอัตราส่วนภาพ Dyaliscope มันจะมีความยิ่งใหญ่อลังการขนาดไหน! และยุคสมัยนั้นเรื่องพรรค์นี้ยังไม่ได้รับการยินยอมรับ (ทั้งฉากร่วมรัก และการคบชู้นอกใจ) แถมมีภาพเปลือยหน้าอกของ Jeanne Moreau มันเลยขัดตาขัดใจพวกอนุรักษ์นิยม & ศาสนจักรอย่างรุนแรง


และสิ่งพิลึกพิลั่นที่สุดในยุคสมัยนั้น คือชู้รักหนีตามกันไป เป็นการกระทำที่สังคมไม่ให้การยินยอมรับ ขัดต่อวิถีความเชื่อทุกสิ่งอย่าง! แต่มันคือจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ บุรุษมีชู้ได้ ทำไมสตรีถึงทำไม่ได้? เบื่อหน่ายชีวิตครอบครัวก็เลิกราหย่าร้าง ไม่จำเป็นต้องอดกลั้นฝืนทน มนุษย์ทุกคนล้วนมีอิสรภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ
ระหว่างรับประทานอาหารเช้า มันจะมีช็อตนี้ Jeanne หันไปมองกระจกด้านหลัง แล้วหยุดครุ่นคิดชั่วขณะหนึ่ง น่าจะกำลังทบทวนตนเองว่าตัดสินใจถูกหรือผิด (บางคนอาจตีความถึงการมองภาพสะท้อนตัวตนเอง) ก่อนที่ชู้รักจะเอ่ยกล่าว “Jeanne, the Sun” (ได้ยินเสียงไก่ขันด้วยนะ) จากใบหน้าเคร่งขรึม บึ้งตึง บังเกิดรอยยิ้ม พร้อมแล้วจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง


แถมให้อีกนิดกับแผนที่พื้นหลัง Opening Credit ผมเพิ่งพบเจอว่าคือ Carte du Tendre แปลว่า Map of Tendre คือแผนที่เมืองสมมติ Tendre (แปลอังกฤษ Tender) สร้างโดย Madeleine de Scudery (1607-1701) นักเขียนนวนิยายสัญชาติฝรั่งเศส วาดขึ้นเพื่อประกอบนวนิยาย Clélie (1654-61) โดยใช้แนวคิด “geography of Love”


ตัดต่อโดย Léonide Azar (1900-) สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Saint Petersburg คาดว่าน่าจะอพยพสู่ฝรั่งเศสในช่วง Russian Revolution (1917-22) เริ่มมีผลงานตัดต่อตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1930s ผลงานเด่นๆ อาทิ La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), Love in the Afternoon (1957), Elevator to the Gallows (1958), The Lovers (1958), Sundays and Cybele (1962) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Jeanne Tournier พร้อมเสียงบรรยายความครุ่นคิด รำพันอารมณ์เบื่อหน่ายในชีวิต โหยหาสิ่งตื่นเต้นเร้าใจ หลังพบเห็นสามีแอบคบชู้ เธอจึงไม่รู้สึกผิดที่จะกระทำสิ่งเดียวกัน
- ร่องรอยการคบชู้นอกใจ
- Jeanne รับชมการแข่งขันโปโลกับเพื่อนสนิท Maggy แอบชื่นชอบนักโปโลรูปงาม Raoul
- กลับมาบ้านทานอาหาร พูดคุยกับสามี Henri ชีวิตครอบครัวเต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่าย
- Jeanne เดินทางไปยังโรงพิมพ์ สังเกตเห็นสามีแอบนอกใจตนเอง
- เธอเลยเที่ยวเล่นกับชู้รัก Raoul อย่างเปิดเผย
- เหตุการณ์ไม่คาดฝัน
- Henri โน้มน้าวให้เธอพาทั้ง Maggy และ Raoul มาพบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน
- Jeanne เดินทางไปเชื้อเชิญ Maggy และ Raoul
- ระหว่างทางกลับ Jeanne รถเสียกลางทาง ได้รับความช่วยเหลือจากชายแปลกหน้า Bernard
- Bernard ขับรถมาส่งที่แมนชั่น เลยได้รับการชักชวนให้ร่วมรับประทานอาหารเย็น
- การสนทนาอาหารก่อน-หลังรับประทานอาหารเย็น
- ค่ำคืนแห่งความฝัน
- หลังจากแยกย้ายเข้านอน Jeanne แอบออกมาพบเจอ Bernard
- ก้าวเดินผ่านแมกไม้ ล่องลอยเรือข้ามฟาก
- กลับมาร่วมรักในห้องนอน
- เช้าไม่อยากตื่นจากฝัน เลยตัดสินใจหนีตามกันไป
สำหรับเพลงประกอบ ดนตรีแจ๊สดูไม่เหมาะกับ “a great love affair” สักเท่าไหร่ ผกก. Malle เลยเลือกใช้บทเพลงคลาสสิกที่มีความอมตะ Johannes Brahms: String Sextet No. 1 in B♭ major, Op. 18 (1860) บรรเลงโดยหกเครื่องสาย (สองไวโอลิน สองวิโอล่า และสองเชลโล่) สร้างสัมผัสรักต้องห้าม บางสิ่งอย่างพยายามฉุดเหนี่ยวรั้งความสัมพันธ์ แต่ไม่สิ่งใดสามารถกีดกั้นขวางเราสองไม่ให้ครองคู่รักกัน
เบื้องหลังของเพลงนี้ก็ไม่ธรรมดา! ขณะนั้น Brahms มีสัมพันธ์ชู้สาวกับ Clara Schumann ภรรยาของคีตกวีชื่อดัง Robert Schumann แต่หลังจากสามีเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1856 เขากลับปฏิเสธแต่งงานกับเธอ แล้วไปหมั้นหมายนักร้องเสียงโซปราโน Agathe von Siebold ที่เพิ่งพบเจอได้ไม่นาน “He left me alone with words of love and devotion, and now he falls for this girl because she has a pretty voice?” โดยไม่รู้ตัวส่งผลกระทบต่อการแสดง Piano Concerto No. 1 เสียงตอบรับย่ำแย่จนสร้างความผิดหวังให้ Agathe เขียนจดหมายถอนหมั้น นั่นทำให้ Brahms ตกอยู่ในความห่อเหี่ยวสิ้นหวัง ประพันธ์ String Sextet No. 1 ท่ามกลางความรู้สึกโดนหักหลัง และต้องการพูดบอกกับ Clara (ผ่านท่อนที่สอง) เหตุผลบอกปฏิเสธแต่งงาน เพราะไม่ต้องการถูกเปรียบเทียบ(ด้านดนตรีกับ)สามีผู้ล่วงลับของเธอ
บทเพลงนี้มีทั้งหมด 4 Movement แต่ท่อนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก และถูกนำมาใช้ประกอบหนังเรื่องนี้คือ II. Andante, ma moderato กำกับวงโดย Serge Baudo
The Lovers (1958) นำเสนอเรื่องราวรักสามสี่เส้าของ Jeanne Tournier หญิงสาวผู้มีความเบื่อหน่ายชีวิตแต่งงาน โหยหาความตื่นเต้นเร้าใจ หลังจับได้(คาหนังคาเขา)ว่าสามีแอบคบชู้ เธอเลยไม่รู้สึกผิดที่จะกระทำสิ่งเดียวกัน สานสัมพันธ์กับชายอื่น … ผัวมีชู้ได้ ทำไมเมียจะมีบ้างไม่ได้?
ตามสามัญสำนึก (Common Sense) เราอาจครุ่นคิดการคบชู้นอกใจเป็นเรื่องต้องห้าม (Taboo) ผิดหลักศีลธรรม สังคมไม่ให้การยินยอมรับ แต่นั่นคือสิ่งที่มนุษย์อุปโหลกขึ้นมา ชนชั้นสูง/บุรุษใช้เป็นข้ออ้างสำหรับควบคุมครอบงำสตรีเพศ ต้องเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ แต่งงานแล้วอุทิศตนให้สามี ซื่อสัตย์มั่นคง รักเดียวใจเดียว (Monogamy) … ตรงกันข้ามกับเมื่อสามีคบชู้นอกใจ แอบสานสัมพันธ์หญิงอื่น กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติสามัญ ใครๆเขาก็ทำกัน แค่เพียงกลเกมแห่งความรัก
เรื่องราวของ The Lovers สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงนำ Jeanne Moreau ขณะนั้นยังมีสถานะแต่งงานอยู่กับสามี Jean-Louis Richard แม้ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ก็ยังไม่ได้เซ็นใบหย่าร้าง ความสัมพันธ์กับผกก. Malle จึงถือเป็นการคบชู้สู่ชาย นอกใจสามี
แต่หนังไม่ได้จะสื่อถึงแค่เรื่องราวรักๆใคร่ๆ สร้างขึ้นในยุคสมัยใกล้ถึงจุดจบของ Fourth French Republic (1946-58) ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบบ/รัฐบาล = ภรรยาหมดรักสามี หลังล่วงรู้พฤติกรรมคอรัปชั่น/แอบสานสัมพันธ์หญิงอื่น (สามีเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ สื่อที่สามารถทำการ ‘manipulate’ จัดการข่าวสารในทิศทางที่ต้องการนำเสนอ)
Elevator and The Lovers take place in a specific political context – the death throes of the French Fourth Republic (1946-58). France was just coming out of the war in Indochina (1946-54), which had been very traumatic, and was entering the Algerian War (1954-62) which led to the collapse of the republic and paved the way for De Gaulle’s rise to power. Politicians were besieged with accusations. It seemed the French no longer believed in their government, and the administration kept changing hands.
Louis Malle
ด้วยเหตุนี้การคบชู้นอกใจของภรรยา จึงไม่ใช่แค่การโต้ตอบสามี หรือเรียกร้องสิทธิสตรี (Feminist) แต่ยังคือการปลดแอกตนเองจากบริบททางสังคมที่ถูกกดทับ ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบบ/รัฐบาล การล่มสลายของ Fourth French Republic … และเป็นการอารัมบทก่อนกาลมาถึงของ Cultural Revolution ในอีกทศวรรษถัดมา
ตอนจบของหนัง Jeanne ทอดทิ้งสามี หนีไปกับชู้รัก (=ดำเนินสู่ French Fifth Republic) ผมครุ่นคิดว่าผกก. Malle ต้องการใช้เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระยะยาว (กับ Jeanne Moreau) แต่มันกลับคือจุดสิ้นสุดการเดินทาง ไม่มีโอกาสที่เราสองจักได้ครองคู่อยู่ร่วม
ตอนเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Venice ด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับคบชู้นอกใจ แถมตอนจบหนีตามกันไป สร้างความไม่พึงพอใจต่อแวดวงศาสนจักรคาทอลิก พยายามล็อบบี้ให้ถูกแบนห้ามฉาย แต่กลับกลายเป็นคว้ามาสองรางวัล
- Grand Jury Prize
- New Cinema Award: Best Actress (Jeanne Moreau)
ในสหรัฐอเมริกาก็มีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล กล่าวหาว่า Nico Jacobellis ผู้จัดการโรงภาพยนตร์ Heights Art Theater ณ Cleveland Heights, Ohio ทำการฉายหนังที่มีความล่อแหลม โป๊เปลือย (Pornography) แต่ศาลสูงสุดตัดสินยกฟ้องคดี Jacobellis v. Ohio, 378 U.S. 184, 197 (1964)
I know it when I see it, and the motion picture involved in this case is not that.
ผู้พิพากษาศาลชั้นสูง Potter Stewart
อาจเพราะความอื้อฉาวด้วยกระมัง ทำให้ยอดจำหน่ายตั๋วหนังในฝรั่งเศสสูงถึง 2,594,160 ล้านใบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มากยิ่งกว่า Elevator to the Gallows (1958) เกือบเจ็ดแสนใบ!
ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ ฉบับของ Criterion Collection เป็นแค่การสแกนใหม่ ‘digital transfer’ คุณภาพ High-Definition มีวางจำหน่ายแค่ DVD เมื่อปี ค.ศ. 2008, หรือใครสนใจบ็อกเซ็ต The Louis Malle Features Collection Blu-ray ของค่าย Artificial Eye จำนวนสิบเรื่อง (แยกขายก็มี แต่ซื้อรวมถูกกว่า)
ส่วนตัวชื่นชอบ The Lovers (1958) พอๆกับ Elevator to the Gallows (1958) แต่ในแง่คุณภาพผมมองว่าเรื่องหลังทำได้กลมกล่อมกว่า และประเด็นต้องห้ามสร้างความขัดแย้งรุนแรง ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่สามารถทำความเข้าใจนัยยะซ่อนเร้น เพียงมองแค่ว่าหนังส่งเสริมการคบชู้นอกใจ ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม
จัดเรต 13+ กับการคบชู้นอกใจ
Leave a Reply