
The Defiant Ones (1958)
: Stanley Kramer ♥♥♥♥
ยุคสมัยนั้นมันแทบเป็นไปไม่ได้ที่คนขาว จะถูกล่ามโซ่ตรวนกับชายผิวสี! แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการกระทุ้งความรู้สึกนึกคิดของชาวอเมริกัน ถ้าสองชาติพันธุ์สามารถร่วมแรงรวมใจ พึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกันและกัน จากเคยอคติขัดแย้ง ย่อมกลับกลายเป็นมิตรแท้
The Defiant Ones (1958) น่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่นำเสนอการร่วมแรงรวมใจ (Integration) ระหว่างคนขาว-ชายผิวสี เพื่อหลบหนีเอาตัวรอด จำต้องพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกันและกัน แต่ยุคสมัยนั้นยังมีกฎหมายแบ่งแยกสองชาติพันธุ์ สังคมจึงไม่ให้การยอมรับ เกิดประเด็นโต้เถียงขัดแย้ง (Controversy Films) แต่ที่น่าอึ่งทึ่งคือไม่มีข้อมูลว่าหนังถูกแบนห้ามฉายในรัฐตอนใต้ (ที่ขึ้นชื่อเรื่อง Racism)
ไม่ใช่ว่าหนังไม่ถูกแบน แต่เลือกไม่ฉายวงกว้างในรัฐทางตอนใต้มากกว่า เพราะยุคสมัยนั้นมันมี Segregated Theaters แบ่งแยกโรงภาพยนตร์คนขาว-ชายผิวสี ซึ่งความสำเร็จของ The Defiant Ones (1958) เกินกว่าครึ่งล้วนมาจากคนดำแห่กันไปรับชม Sidney Poitier นักแสดงผิวสีคนแรกของโลกเข้าชิง Oscar: Best Actor
หลังจากเขียนถึง The Shawshank Redemption (1994) และ The Green Mile (1999) ผมครุ่นคิดอยากหา ‘prison film’ มาไล่เรียงเขียนถึงสักนิดหน่อย ทีแรกตั้งใจจะเริ่มที่ Le Trou (1960) ก่อนบังเอิญพบเห็น The Defiant Ones (1958) เกี่ยวกับสองนักโทษหลบหนี แม้ไม่มีสักฉากในเรือนจำ แต่อยากรับชมผลงานของ Poitier อีกสักเรื่อง!
ระหว่างรับชม ผมยังแอบอึ่งทึ่งกับบทสนทนาเฉียบคมคาย เต็มไปด้วยสัญญะในแต่เรื่องราว, ภาพถ่ายขาว-ดำของ Sam Leavitt สมรางวัล Oscar: Best Cinematography, Black & White, ลีลาการกำกับของผกก. Kramer ต้องถือว่าไม่ธรรมดา! รับชมในปัจจุบันยังคงความคลาสสิก เหนือกาลเวลา
Stanley Earl Kramer (1913-2002) ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ในครอบครัวเชื้อสาย Jewish อาศัยอยู่กับมารดาทำงานอยู่สำนักงานสาขา Paramount Pictures ที่ New York, โตขึ้นสามารถสอบเข้าคณะบริหารธุรกิจ New York University สำเร็จการศึกษาตั้งแต่อายุ 19 ปี! จากนั้นทำงานเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ระหว่างนั้นก็ได้ฝึกงานสตูดิโอ 20th Century Fox ก่อนตัดสินใจย้ายสู่ Hollywood เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆจากคนตัดฟีล์ม MGM, เขียนบท/นักค้นคว้าข้อมูล Columbia Picture, Republic Picture, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกจับใบแดงส่งไป Signal Corps มีโอกาสฝึกงานกับ Frank Capra, Anatole Litvak, ภายหลังสงครามสมัครงานที่ไหนก็ไม่รับ เลยก่อตั้งสตูดิโอ Screen Plays Inc. กลายเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ Champion (1949), The Men (1950), Cyrano de Bergerac (1950), High Noon (1952), Death of a Salesman (1951), The Caine Mutiny (1954), จากนั้นเริ่มกำกับ The Defiant Ones (1958), On the Beach (1959), Inherit the Wind (1960), Judgment at Nuremberg (1961), It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963), Guess Who’s Coming to Dinner (1967) ฯ
สำหรับ The Defiant Ones ดัดแปลงจากบทดั้งเดิมของ Nedrick Young (1914-68) นักแสดง/นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกแบล็กลิสต์ (Hollywood Blacklist) เพราะปฏิเสธแถลงไขต่อ HCUA (House Committee on Un-American Activities) ว่าตนเองเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่? เลยโดนสั่งห้ามปรากฎตัว รวมถึงขึ้นชื่อบนเครดิตภาพยนตร์ เลยเปลี่ยนมาใช้นามปากกา Nathan E. Douglas
เกร็ด: ผลงานเขียนบทอื่นๆของ Nedrick Young อาทิ Jailhouse Rock (1957) และ Inherit the Wind (1960)
บทดั้งเดิมของ Young ถูกนำมาปรับปรุงแก้ไขร่วมกับ Harold Jacob Smith (1912-70) เพื่อให้สอดคล้องตามกฎระเบียบสมาคมภาพยนตร์ [ด้วยความที่ Young ถูกแบล็กลิสต์ มันเลยจำต้องมีนักเขียนอีกคน(ที่ไม่ถูกแบล็กลิสต์)ปรากฎชื่อบนเครดิต] และทั้งสองยังร่วมงานกันอีกครั้งในการดัดแปลงบท Inherit the Wind (1960)
ค่ำคืนหนึ่งช่วงปลายทศวรรษ 1950s ณ รัฐทางตอนใต้สหรัฐอเมริกา, รถขนนักโทษประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำตกข้างทาง มีสองนักโทษถูกล่ามโซ่ตรวนหลบหนีหายตัวไป เจ้าหน้าที่ตำรวจ นายอำเภอ และบรรดาผู้เกี่ยวข้อง จึงจำต้องจัดขบวนออกไล่ล่าติดตามตัวอาชญากรมารับโทษทัณฑ์
สองนักโทษหลบหนีประกอบด้วยชายผิวขาว John ‘Joker’ Jackson (รับบทโดย Tony Curtis) และชายผิวสี Noah Cullen (รับบทโดย Sidney Poitier) ด้วยอคติทางชาติพันธุ์ทำให้ทั้งสองไม่ถูกกันนัก มีเรื่องขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง ชกต่อยตีเป็นประจำ แต่หลังจากพูดคุย เรียนรู้จักอีกฝ่าย ทั้งยังต้องพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกันและกันอยู่หลายครั้ง โดยไม่รู้ตัวบังเกิดมิตรภาพ … ท้ายที่สุดพวกเขาจักสามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จหรือไม่?
Tony Curtis ชื่อเดิม Bernard Schwartz (1925-2010) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Manhattan ครอบครัวเป็นชาว Jews อพยพจาก Czechoslovakia และ Hungary โตขึ้นสมัครเข้าเป็นทหารเรือหลังจากเหตุการณ์ Pearl Harbor ประจำการในเรือดำน้ำ USS Proteus เห็นญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ที่ Tokyo Bay ปลดประจำการออกมาเข้าเรียนการแสดงยัง The New School ที่ Greenwich Village ได้รับการค้นพบโดย Joyce Selznick เซ็นสัญญากับ Universal Picture รับบทนำเรื่องแรก The Prince Who Was a Thief (1951), แจ้งเกิดกับ Trapeze (1956), Sweet Smell of Success (1957), The Defiant Ones (1958), Some Like It Hot (1959), Operation Petticoat (1959), The Boston Strangler (1968) ฯ
รับบท John ‘Joker’ Jackson หลังปลดประจำการทหาร ทำงานเป็นช่างซ่อมเกียร์รถยนต์ (Transmission Man) ถูกจับข้อหาลักขโมยรถหรูของลูกค้า โดนล่ามโซ่ตรวนกับชายผิวสี Noah Cullen มองหน้าหาเรื่อง ไม่ทันไรก็เกิดการทะเลาะวิวาท แต่เมื่อรถบรรทุกพลิกคว่ำตกข้างทาง ร่วมกันออกวิ่ง หาหนทางหลบหนี ทอดทิ้งอคติเคยมี ค่อยๆให้การยินยอมรับ บังเกิดมิตรภาพอย่างคาดไม่ถึง!
ในตอนแรกผกก. Kramer มีความสนใจ Marlon Brando ประกบคู่ Sidney Poitier แต่ขณะนั้น Poitier ติดพันโปรเจคอื่นเลยตัดสินใจรอ พอคิวว่างกลายเป็น Brando ติดพันโปรเจคอื่นแทน เลยจำต้องติดต่อหา Tony Curtis (ในตอนแรกผกก. Kramer มองว่า Curtis หล่อเหลาเกินไป แต่พอ Brando คิวไม่ว่าง เลยไม่มีตัวเลือกอื่นใด)
Robert Mitchum เป็นอีกคนที่ได้รับการติดต่อเข้าหา เพราะตอนอายุ 14 เคยต้องโทษ ล่ามโซ่ตรวน (Chain Gang) แต่เจ้าตัวกลับบอกปฏิเสธ เพราะไม่เชื่อว่าคนขาว-ชายผิวสีจะถูกล่ามโซ่ตรวนด้วยกันได้! ถึงอย่างนั้นผู้ชมส่วนใหญ่กลับเข้าใจผิดๆว่า Mitchum มีอคติต่อชาติพันธุ์ ไม่ต้องการร่วมงานนักแสดงคนดำ … ขนาดว่าในหนังสือชีวประวัติของ Curtis ยังอธิบายความเข้าใจผิดๆนั้น
ยังมีอีกคนที่สนใจบทบาทนี้ Elvis Presley (ก่อนหน้านี้เพิ่งมีผลงาน Jailhouse Rock (1957)) แสดงเจตจำนงค์อยากร่วมงานกับเพื่อนศิลปิน Sammy Davis Jr. แต่ถูกผู้จัดการส่วนตัว Colonel Tom Parker ทำการโน้มน้าว ไม่ต้องการให้ทั้งสองเสียชื่อเสียงกับหนังที่มีประเด็นละเอียดอ่อน (Controversy Film)
ผมมีภาพจำ Curtis จากบทบาท Comedy เสียส่วนใหญ่! แต่ใช่ว่าพี่แกเล่นบทดราม่าจริงจังไม่ได้ The Defiant Ones (1958) ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ด้านการแสดง (ครั้งแรกครั้งเดียวได้เข้าชิง Oscar: Best Actor) ไม่ใช่แค่พฤติกรรม ‘stereotypes’ คนขาวทั่วๆไป แต่คือวิวัฒนาการตัวละคร เมื่อต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม พานผ่านประสบการณ์เฉียดเป็นเฉียดตายร่วมกับชายผิวสี ก็เริ่มบังเกิดความเข้าใจ ให้การยินยอมรับอีกฝั่งฝ่าย และเมื่อต้องเลือกระหว่างเธอกับเขา มิตรภาพระหว่างชาติพันธุ์ มันช่างลึกซึ้ง งดงาม แรกเบ่งบาน
เกร็ด: ยุคสมัยนั้นเป็นเรื่องปกติที่ค่าจ้าง/เครดิตขึ้นชื่อนักแสดง คนขาวย่อมต้องมากกว่า/สูงกว่านักแสดงผิวสี! แต่ทว่า Curtis เรียกร้องขอให้ Sidney Poitier ได้ขึ้น ‘Top Billing’ ระดับเดียวกับตนเอง ไม่แน่ใจว่าครั้งแรกของวงการภาพยนตร์เลยหรือเปล่านะ
Sir Sidney Poitier (1927-2022) นักแสดงเชื้อสาย Bahamian แต่บังเอิญคลอดที่ Miami, Florida เลยได้รับสัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ แล้วมาเติบโตยัง Bahamas จนกระทั่งย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 15 ปีถัดมาเข้าร่วม American Negro Theater แรกๆไม่ได้รับการยอมรับเพราะ Tone Deaf ร้องเพลงไม่ได้ แต่ก็ฝึกหัดการแสดงด้วยตนเองจนกระทั่งได้รับบทนำละครเวที Broadways เข้าตาโปรดิวเซอร์ Darryl F. Zanuck จับเซ็นสัญญาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก No Way Out (1950), โด่งดังกับ The Defiant Ones (1958), กลายเป็นนักแสดงผิวสีคนแรกที่คว้ารางวัล Oscar: Best Actor จากเรื่อง Lilies of the Field (1963), ผลงานเด่นอื่นๆ A Patch of Blue (1965), In the Heat of the Night (1967), Guess Who’s Coming to Dinner (1967) ฯ
รับบท Noah Cullen ชายผิวสีเคยทำฟาร์มเกษตร 36 เอเคอร์ วันหนึ่งถูกทวงหนี้สิน เกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง แก่งแย่งชิงปืน ถูกจับกุมข้อหาพยายามฆ่า ไม่ได้พบเจอหน้าลูก-เมียมานานแปดปี วันนี้มีโอกาสหลบหนี ปฏิเสธลงใต้ตามคำแนะนำของ Joker เป้าหมายคือเดินเท้า 60 ไมล์ บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย ลักลอบขึ้นขบวนรถไฟมุ่งสู่ Ohio (รับรู้ว่ามีขบวนรถไฟจากเคยทำงานโรงงานผลิตน้ำมันสน (Turpentine))
ด้วยความที่ยุคสมัยนั้นมีนักแสดงผิวสีไม่มาก Hollywood ยังไม่เปิดกว้างสักเท่าไหร่ ผกก. Kramer ประทับใจการแสดงของ Poitier จึงพยายามติดต่อชักชวน อ่านบทชื่นชอบมากๆ แต่ติดพันสัญญาอยู่กับ M-G-M ถูกบีบบังคับให้เล่น Porgy and Bess (1959) แลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวมาแสดง The Defiant Ones (1958)
Sam Goldwyn, who had said, “I want Sidney Poitier to play Porgy.” … I went to California to see Sam. And I told him as respectfully as I could that I couldn’t play the part. He said, “Do me a favor: Go back to New York and think about it for two weeks.” And I said, “But I know now!” And he said, “Just think about it.” When I went back to my hotel, there was a script waiting for me called The Defiant Ones. I read the script in one sitting and said to (Agent) Marty, “This is something I’d like to do. Tell Mr. Goldwyn that I’d like to meet with Stanley Kramer”—the guy who wants me to do this movie. So I went to see Stanley, and he said, “I would love to have you play in it, but you have a problem—Sam Goldwyn.” Sam was one of the most powerful men in the entire industry. And having having gone public with the news that I may play the Porgy role, he had put himself on the line. He wouldn’t have stood for it. So I got a call from Hedda Hopper [the famous Hollywood columnist]. She said, “I know Sam, and he’s in a tough position. If you don’t do his picture, he’ll see to it that you never work in this town again.”
So I had a lot of thinking to do, and I agonized. And I couldn’t come to a conclusion. Finally, Marty and I came up with the only thing I could do, because I wanted to do The Defiant Ones. I did one movie, Porgy and Bess, so I could do the other. It was painful, but it was useful. I learned some lessons, and if I had it to do again, I wouldn’t do it any differently, because I had work to do.
Sidney Poitier
น่าจะเป็นครั้งแรกๆในวงการภาพยนตร์ ที่นักแสดงผิวสีสามารถขึ้นเสียง ใส่อารมณ์ โต้ตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบต่อคนขาว อาจเพราะต่างฝ่ายต่างเป็นนักโทษหลบหนี ถูกล่ามโซ่ตรวน (ไม่ต่างจากแหวนแต่งงาน) จึงจำต้องพึ่งพาอาศัย รับฟังความคิดเห็น ให้ความช่วยเหลือกันและกัน
แต่เอาจริงๆผมรู้สึกว่า Poitier ดูมีพลังการแสดง Charisma บทบาทโดดเด่นกว่า Curtis พอสมควร (เห็นว่าผกก. Kramer ก็ให้ความสำคัญกับ Poitier มากกว่า Curtis) เพราะสามารถอดกลั้นต่อพฤติกรรม ‘stereotypes’ ของคนขาวทั่วๆไป ยินยอมให้ความช่วยเหลือ ร่วมหัวจมท้าย คลายความโกรธเคือง และท้ายที่สุดบังเกิดมิตรภาพ ให้การยินยอมรับกันและกัน
แซว: น้ำเสียงร้องเพลงของ Poitier ถ้าไม่บอกว่าเคยเป็น Tone Deaf (ร้องเพลงไม่ได้) หลายคนคงไม่เชื่ออย่างแน่แท้ มีลีลา ลูกคอ อันเป็นเอกลักษณ์ ฉบับคนผิวสีโดยแท้!
ก่อนหน้านี้ Poitier พอมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง กระทั่งความสำเร็จของ The Defiant Ones (1958) ส่งให้เป็นดาวดารา นักแสดงระดับซุปเปอร์สตาร์ของชาวผิวสี ได้รับการยกย่องจากนานาชาติ จุดเริ่มต้นของตำนาน ก่อนกลายเป็นอมตะหลังจาก Lilies of the Field (1963) คว้ารางวัล Oscar: Best Actor หวังว่าสักวันผมจะมีโอกาสเขียนถึง
ถ่ายภาพโดย Samuel Leavitt (1904-84) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, โตขึ้นทำงานเป็นผู้ช่วยควบคุมกล้อง (Camera Operato) ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 30s กว่าจะเริ่มได้รับเครดิตภาพยนตร์ก็ต้นทศวรรษ 50s ผลงานเด่นๆ อาทิ A Star Is Born (1954), The Man with the Golden Arm (1955), The Defiant Ones (1958)**คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, Anatomy of a Murder (1959), Exodus (1960), Cape Fear (1962), Guess Who’s Coming to Dinner (1967) ฯ
มันมีความจำเป็นที่หนังต้องถ่ายทำด้วยภาพขาว-ดำ เพื่อสื่อถึงคนขาว-ชายผิวสี และยังพยายามปรับความคมเข้ม (Contrast) เพื่อให้เกิดความตัดกันของส่วนมืดและส่วนสว่างของภาพ ฉากกลางคืนจะถูกทำให้มืดมากจนแทบมองไม่เห็นรายละเอียดรอบข้าง
แม้เรื่องราวจะมีพื้นหลัง Southern America แต่ไม่มีทางที่กองถ่าย นักแสดงผิวสี จะสามารถเดินทางไปยังสถานที่จริง! เพียงตระเวนอยู่ในรัฐ California อาทิ Malibu Creek State Park, Kern River (Bakersfield), Newhall Land & Farming Company (Newhall), ขบวนรถไฟ Southern Pacific Railroad และสตูดิโอ Universal Studios
โปรดักชั่นหนังใช้เวลาเพียงเดือนกว่าๆ สิ่งท้าทายคือศักยภาพร่างกายของนักแสดงนำ ทั้งสองต้องออกวิ่งสุดแรงเกิด ตะลุยหนองบึง ปีนป่ายขึ้นจากหลุม ฯ คนเดียวว่ายากแล้ว พวกเขายังถูกพันธนาการโซ่ตรวน ต่างได้รับบาดแผล รอยฟกช้ำไม่เว้นวัน
เป็นความจงใจของผกก. Kramer ที่ให้นักเขียนบททั้งสองมารับเชิญ (Cameo) ในบทคนขับรถบรรทุกขนส่งนักโทษ และขึ้นเครดิตข้างใต้พวกเขา แต่ทว่าฉบับหารับชมในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนจากนามปากกา Nathan E. Douglas มาเป็นชื่อจริง Nedrick Young นั่นเพราะตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1996 สมาพันธ์นักเขียน Writers Guild of America ได้ประกาศคืนชื่อนักเขียนที่เคยถูก Hollywood Blacklist ให้สามารถใช้ชื่อจริงปรากฎขึ้นบนเครดิต
เห็นคนสองถูกล่ามโซ่ตรวนทีไร ชวนให้ผมนึกถึงหนังไทย ชั่วฟ้าดินสลาย ทุกครั้งไป! คำกล่าวของ Noah ช่างตรงใจยิ่งนัก โซ่ตรวนเปรียบกับแหวนแต่งงาน พันธนาการเราสองให้ต้องอยู่เคียงข้าง ไปไหนไปด้วย ต้องพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกันและกัน ตราบชั่วฟ้าดินสลาย
สหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้น เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่มีทางบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน! เพราะมันมีกฎหมาย Jim Crow Laws สำหรับแบ่งแยกชาติพันธุ์ ห้ามสุงสิง ไปมาหาสู่ สัมผัสเนื้อต้องตัว คนขาวมองเห็นชาวผิวสีไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เพียงทาสใช้แรงงาน หาใช่มนุษย์เสมอภาคเท่าเทียม
คำพูดประโยคนี้ของ Joker ก็มีความน่าสนใจ ระยะทางใกล้-ไกล จะให้ฉันเดินอ้อมทะเลสาป 60 ไมล์ เพื่อไปขึ้นขบวนรถไฟที่ไม่รู้ยังเปิดให้บริการอยู่หรือเปล่า? ก็จริงอยู่ถ้าหลบหนีลงใต้ ระยะทางใกล้กว่า แต่ทว่าชาวใต้เลื่องชื่อในความรังเกียจเดียดฉันท์ชาวผิวสี ถ้ายินยอมไปที่นั่น Noah คงไม่สามารถเอาตัวรอดได้อย่างแน่นอน
ตรงกันข้ามหลบหนีขึ้นเหนือ แม้ระยะทางไกลกว่า ใช้เวลานานกว่า แต่โอกาสที่ทั้งสองจะรอดชีวิตย่อมสูงกว่า … นี่ก็สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนสอง นึกถึงชาย-หญิงก็ยังได้ จะรีบร้อนร่วมรักกันตั้งแต่ค่ำคืนแรก หรือศึกษาดูใจกันเสียก่อนแต่งงาน แบบไหนจักทำให้ชีวิตคู่ยั่งยืนยาวนานกว่ากันละ?
Charlie Potatoes คือศัพท์แสลงโบราณ หมายถึงบุคคลที่อยู่ ‘Top of the World’ ทั้งชื่อเสียง เงินทอง หรือในบริบทของหนังคือความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเองของ Joker (ตัวแทนคนขาว) ครุ่นคิดว่าตนเองยิ่งใหญ่เหนือใครใต้หล้า … ครั้งแรกที่ Noah พูดประโยคนี้ สังเกตว่า Joker ยืนอยู่ตำแหน่งสูงกว่าพอดิบดี
ฉากสองนักโทษแหวกว่ายข้ามแม่น้ำ Kern River ถือเป็นหนึ่งในฉากเสี่ยงอันตราย ขนาดว่าพยายามเลือกตำแน่งที่โขดหินเยอะๆ แต่กระแสน้ำรุนแรงมากๆ ขนาดว่า Curtis ต้องพึ่งพาสตั๊นแมน, Poitier ใช้ดัมมี่ระหว่างล่องลอยตามกระแสน้ำ มันอาจดูไม่คุ้มค่าเสี่ยง ทว่ายุคสมัยนั้น นักแสดงยินยอมพร้อมทุ่มเททำทุกสิ่งอย่างเพื่อศิลปะ!
การข้ามแม่น้ำเชี่ยวกราก สามารถสื่อสัญญะของการฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม เพื่อที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง จำต้องร่วมแรงรวมใจ พึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกันและกัน ถึงสามารถดำเนินถึงอีกฟากฝั่งฝัน
ผมไม่คิดว่าจะมีคณะติดตามผู้ร้ายไหน บันเทิง และผ่อนคลายไปมากกว่าหนังเรื่องนี้อีกแล้ว พวกเขาต่างพยายามหาข้ออ้างอู้งาน เปิดเพลงฟัง เรียกร้องสิทธิแรงงาน สิทธิสัตว์ ไม่ต้องการทำ OT (Overtime) ทั้งมนุษย์และสัตว์สมควรมีเวลาหยุดพักผ่อน –” นี่ก็สไตล์ Kramer ที่ชอบยำใหญ่ใส่สารพัด ล้อเลียน เสียดสี พาดพิงทุกปัญหาสังคม
ยามค่ำคืนข้างกองไฟ สองหนุ่มต่างนอนสนทนา เปิดอก ระบายอารมณ์อัดอั้น อะไรที่อีกฝ่ายทำแล้วไม่ถูกจริต ไม่พึงพอใจ อย่ามาขอบคุณฉัน อย่าเรียกผมว่าเด็กชาย ก็พูดบอกออกมาตรงๆอย่างไม่อ้อมค้อม … นี่อาจจะเรียกว่าช่วงละลายพฤติกรรม (Ice Breaking) ก็ได้กระมัง
การปีนป่ายขึ้นจากหลุม/บ่อขุด ท่ามกลางฝนตกหนัก น่าจะเป็นฉากที่มีความยุ่งยากลำบากที่สุด! คงเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่เคลือบแฝงนัยยะอย่างตรงไปตรงมา ถึงความจำเป็นที่ทั้งสองต้องพึ่งพาอาศัย ใครคนหนึ่งอยู่ด้านล่างให้อีกคนย่ำเหยียบ ปีนป่ายขึ้นสู่เบื้องบน พวกเขาถึงสามารถเอาตัวรอดจากหลุมแห่งนี้ได้พร้อมกัน!
ผมแอบเสียดายสาสน์ตรงนี้พอสมควร เพราะหนังเลือกให้คนผิวสียืนเป็นฐานด้านล่าง แล้วให้คนขาวย่ำเหยียบ ปีนป่ายขึ้นสู่เบื้องบน แต่ก็เข้าใจได้ว่ายุคสมัยนั้นถ้านำเสนอในทิศทางกลับกัน หนังอาจไม่ได้ออกฉายกระมัง!
เมื่อมาถึงชุมชน Turpentine Camp ก่อนออกปล้นร้านสะดวกซื้อ (General Store) ทั้งสองนั่งพัก พูดคุยความหลัง ต่างสลับบทสนทนาเรื่องของตนเองไปมา นี่ถือเป็นช่วงเวลาเรียนรู้อดีต ที่มาที่ไป ทำความเข้าใจตัวตนอีกฝั่งฝ่าย และยังมีลีลาการเคลื่อนกล้อง (จริงๆถ่ายแบบ Long Take แต่มีการแทรกภาพผู้คนปิดไฟหลับนอน) เริ่มจากฟากฝั่งของ Joker เลื่อนมาหน้าตรง ก่อนหมุนไปยัง Noah
ฉากก่อนนี้ทำการปีนป่ายขึ้นจากหลุม มาคราวนี้ต้องการลักลอบเข้าไปขโมยของร้านขายของชำ จำต้องปีนป่ายลงจากหลังคา แต่ทว่าความรีบร้อนของ Joker ทำให้เกิดความผิดพลาด พากันร่วงหล่นลงพื้น ส่งเสียงดังสนั่น เลยถูกชาวบ้านรุมห้อมล้อม ไร้หนทางหลบหนี … นี่อาจต้องเรียกว่า ‘มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน’
หลังจากชาวบ้านล้อมจับกุมสองนักโทษหลบหนี ต่างพยายามทำตัวเป็นศาลเตี้ย ต้องการตัดสินโทษประหารชีวิต แขวนคออาชญากรทั้งสอง โดยไม่สนสีผิว ชาติพันธุ์ แต่ทว่ามีชายคนหนึ่งชื่อ Big Sam (ล้อกับ Uncle Sam รับบทโดย Lon Chaney Jr.) ลุกขึ้นมาท้าทายให้ใครสักคนลงมือ … นี่ชวนให้นึกถึงคำสอน Jesus Christ ณ Mount of Olives.
When they kept on questioning him, he straightened up and said to them, “Let any one of you who is without sin be the first to throw a stone at her.”
John 8:7
เช้าวันถัดมา Big Sam แอบเข้ามาให้ความช่วยเหลือนักโทษทั้งสอง ก่อนเปิดเผยว่าตนเองเคยเป็นสมาชิก Chain Gang (สังเกตจากรอยแผลเป็นที่ข้อมือ แสดงถึงเคยถูกล่ามโซ่ตรวนมานาน) พร้อมอำนวยอวยพรอย่าให้ถูกจับกุม หลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จอย่างตนเอง … การกระทำของ Big Sam ไม่ได้จำเพาะเจาะจงต้องการช่วยเหลือ Joker หรือ Noah คนขาวหรือชายผิวสี มองว่าทั้งสองต่างคือนักโทษหลบหนีเหมือนกัน (ล้อกับตอนศาลเตี้ยเมื่อคืน พร้อมตัดสินลงทัณฑ์พวกเขาโดยไม่สนขาว-ดำ)
เกร็ด: Chain Gang ไม่ใช่ชื่อแก๊งค์อาชญากรอะไรนะครับ แต่เป็นคำเรียกบุคคลเคยต้องโทษ ถูกล่ามโซ่ตรวน และมักหลงเหลือร่อยรอยแผลเป็นติดตัวจนวันตาย
ระหว่างพักเหนื่อยจากการวิ่งหนี Noah หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ ส่งมอบให้ Joker เช็ดก้นกรองก่อนนำเข้าปาก นั่นคือชนวนเหตุความไม่พึงพอใจ “You afraid of catchin’ my colour?” นำไปสู่การต่อสู้ ปลุกปล้ำ ชกต่อยตี นี่ถือเป็นขีดสุด จุดแตกหัก ตามประสามนุษย์ คุยกันไม่รู้เรื่องก็ใช้ความรุนแรง จนกว่าใครสักคนจะยินยอมแพ้ หรือ…
การต่อสู้สิ้นสุดลงเมื่อ Billy ถือปืนขึ้นมาจ่อ เด็กชายไม่รู้ประสีประชา ไม่รับรู้ว่าทั้งสองคือนักโทษหลบหนี เพียงเห็นชายแปลกหน้าสองคน เลยชักชวนมาที่บ้าน อาศัยอยู่กับมารดา น่าจะให้ความช่วยเหลือพวกเขาได้ … เด็กชายเป็นตัวแทนความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ยังไม่สามารถแยกแยะ รับรู้ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ พบเห็นทุกคนก็ชายแปลกหน้าเหมือนกัน ไม่ถือสาที่ถูกแย่งปืน ล้มลงหัวฟากพื้น
สังเกตจากสีหน้า กิริยาท่าทางของหญิงสาว (มารดาของ Billy) ดูไม่ยากว่าพยายามอ่อยเหยื่อ เรียกร้องความสนใจจาก Joker นั่นเพราะเธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว ของขาด อาศัยอยู่กับบุตรชายเพียงลำพัง เลยโหยหาใครสักคนนำพาฉันออกไปจากสถานที่แห่งนี้!
แน่นอนว่า Noah สังเกตเห็นพฤติกรรมของเธอ เปลือกภายนอกอาจไม่ได้ดูหวาดกลัวชายผิวสี แต่ทว่าถ้อยคำพูด กิริยาท่าทาง “Him too?” ชัดเจนว่ามีอคติต่อคนดำ (เธอคือ Stereotype ของชาวอเมริกัน!) ด้วยเหตุนี้เมื่อเขาสามารถปลดเปลื้องพันธนาการ หลุดจากโซ่ตรวน จึงรีบหยิบปืนขึ้นมาข่มขู่ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น จนกระทั่งผลอยหลับจึงถูกแก่งแย่งปืนกลับคืนมาโดยพลัน!
หลายคนอาจจะไม่ชอบเรื่องราว ‘มารดาของ Billy’ แม่เลี้ยงเดี่ยวผู้มีความระริกระรี้ พยายามเกี้ยวพาราสี Joker ร่วมรักหลับนอน ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อจะได้หลบหนีไปกับเขา … แต่ทว่า Cara Williams ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress เชียวนะครับ! มันเพราะคุณไม่สามารถทำความเข้าใจสัญญะของซีเควนซ์นี้หรือเปล่า?
เรื่องราวของ Billy และมารดา คือภาพสะท้อน Joker และ Noah ต่างถูกพันธนาการเหนี่ยวรั้ง ไม่สามารถดิ้นหลบหนี มองหาใครสักคนช่วยพาฉันออกจากสถานที่แห่งนี้ (Joker & Noah นำเสนอประเด็น Racism, ส่วนมารดาของ Billy สามารถมองเป็นสิทธิสตรี Feminist) แต่ทว่าความเห็นแก่ตัวของหญิงสาว กลายเป็นสิ่งฉุดเหนี่ยวรั้งทั้งเขาและเธอ จมปลักอยู่ในหนองบึง โคลนตม ไม่มีใครได้ออกไปไหนทั้งนั้น!
แม้ไม่มีโซ่ตรวนพันธนาการ แต่ทว่ามิตรภาพระหว่าง Joker กับ Noah (พันธนาการทางใจ) ทำให้ทั้งสองต่างลากพากันและกัน บุกป่าฝ่าหนองบึง ปีนป่าย ตะเกียกตะกาย ถ้าฉันรอด นายก็ต้องรอด มุ่งสู่เป้าหมายปลายทาง ได้ยินเสียงหวูดรถไฟอยู่ไม่ห่างไกล
อาการบาดเจ็บของ Joker จากการถูกยิงโดย Billy ผมมองว่าคือบาดแผลที่เกิดจากทัศนคติเก่าๆของคนขาว เชื่อมั่นว่าตนเองทำในสิ่งถูกต้อง นำพาทุกคนสู่ความรอด แต่ทว่าตนเองกลับมีสภาพสะบักสะบอม เจ็บปวดทรมาน กลายเป็นตัวถ่วงสังคม ประเทศชาติ ติดหล่มอยู่ในหนองบึง
ระหว่างวิ่งไล่ตามรถไฟ Noah สามารถปีนป่ายขึ้นเบื้องบน แต่ทว่าอาการบาดเจ็บของ Joker กลายเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้ง แถมยังฉุดกระชากอีกฝ่ายกลับลงมาเบื้องล่าง … นี่ชัดเจนมากๆว่าสื่อถึง คนขาวกำลังถ่วงความเจริญ แทนที่จะช่วยเหลือกันและกันหลบหนีเอาตัวรอด กลับทำลายอนาคต อิสรภาพ สูญเสียทุกสิ่งอย่าง
ภาพการจับมือระหว่างขบวนรถไฟกับออกวิ่ง นี่ชวนให้ผมนึกถึง Michelangelo: The Creation of Adam มันคือวินาทีที่คนขาว-ชาวผิวสี สามารถเชื่อมโยง สัมผัสจับต้องกันและกัน
ท้ายที่สุด Joker ก็จำต้องยินยอมรับความผิดพลาด บทเรียนความโง่ขลาดเขลา ฉันไม่ใช่ Charlie Potatoes แต่มีสภาพเหมือนมันบด (Mashed Potatoes) หมดเรี่ยวแรง สูบบุหรี่ของ Noah และปล่อยให้เขาขับร้องเพลง Long Gone โดยไม่ตะขิดตะขวงใจอีกต่อไป
คำร้องท่อนสุดท้ายก่อนตัดจบ A sewin’ machine เครื่องจักรเย็บผ้า น่าจะสื่อถึงการเย็บติดความสัมพันธ์ที่แตกร้าวระหว่างคนขาว-ชาวผิวสี เชื่อมั่นสักวันในอนาคตเราสองชาติพันธุ์จักกลายเป็นหนึ่งเดียวกันเสียที!
ตัดต่อโดย Frederic Knudtson (1906-64) สัญชาติอเมริกัน เริ่มต้นเข้าวงการจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ What Price Hollywood? (1932), ช่วงทศวรรษ 30s-40s กลายเป็นนักตัดต่อหนังเกรดบี จนกระทั่งสร้างชื่อให้กับตนเองจาก The Window (1949), แล้วกลายเป็นขาประจำผกก. Stanley Kramer ตั้งแต่ The Defiant Ones (1958), On the Beach (1959), Inherit the Wind (1960), Judgment at Nuremberg (1961), It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963) ฯ
หนังตัดสลับกลับไปกลับมาระหว่างสองนักโทษหลบหนี บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย พานผ่านอุปสรรคขวากหนามมากมาย vs. บรรดาตำรวจ และคณะผู้ไล่ล่าติดตามตัว ต่างมีความสบายๆ จับได้ก็ได้ จับไม่ได้ก็ไม่ได้ หมดเวลาทำงานเมื่อไหร่แยกย้ายกลับบ้าน
- Opening Credit, ค่ำคืนฝนตกถนนลื่น รถบรรทุกขนนักโทษพลิกคว่ำกลางทาง
- สองนักโทษหลบหนี
- นายอำเภอ+เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมคณะติดตาม เตรียมความพร้อมก่อนออกไล่ล่า
- Noah + Joker ออกวิ่งหลบหนี พักกลางทางเพื่อทำลายโซ่ตรวนแต่ไม่สำเร็จ พูดคุยหาข้อสรุปว่าจะหลบหนีไปไหน
- คณะติดตามเริ่มออกไล่ล่านักโทษหลบหนี
- Noah + Joker แหวกว่ายข้ามแม่น้ำ
- ยามเย็นคณะติดตามอ้างว่าหมดเวลาทำงาน เตรียมแยกย้ายกลับบ้าน พรุ่งนี้ค่อยเริ่มต้นออกค้นหาใหม่
- ค่ำคืน Noah + Joker นั่งคุยปรับความเข้าใจกันริมกองไฟ
- เช้าตื่นมาฝนตก กระโดดหลบลงบ่อน้ำ ตะเกียกตะกาย ปีนป่าย กลับขึ้นมาเบื้องบน
- คณะติดตามดำเนินมาถึงริมแม่น้ำ
- ชุมชนแห่งหนึ่ง
- ยามค่ำคืน Noah + Joker เดินทางมาถึงชุมชนแห่งหนึ่ง (Turpentine Camp) เพ่งเล็งร้านสะดวกซื้อ (General Store) ระหว่างรอคอยชาวบ้านหลับนอน พูดคุยถึงอดีต เล่าความหลัง ทำไมถึงถูกจับกุม
- ระหว่างลักลอบเข้าไปในร้านค้า พลั้งพลาดส่งเสียงดัง เลยถูกชาวบ้านห้อมล้อมจับกุม
- คณะติดตามนั่งคุยรอบกองไฟ
- ชาวบ้านพันธนาการสองผู้บุกรุก หาข้อสรุปว่าจะทำยังไง โชคดีได้รับความช่วยเหลือจาก Big Sam
- เช้าวันถัดมา Big Sam แอบปล่อยตัวสองนักโทษ เปิดเผยว่าเขาคืออดีตสมาชิก Chain Gang
- มารดาของ Billy
- ระหว่างหยุดพักกลางทาง Noah มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับ Joker ก่อนยุติลงหลังจากพบเจอเด็กชาย Billy
- Billy พามาที่บ้าน พบเจอกับมารดา แบ่งปันอาหาร พร้อมปลดโซ่ตรวน
- คณะติดตามมาถึงยัง Turpentine Camp พร่ำบ่นกับชาวบ้านว่าปล่อยนักโทษหลบหนีไปได้อย่างไร
- ค่ำคืนนั้นมารดาของ Billy พยายามเกี้ยวพาราสี/ร่วมรักหลับนอนกับ Joker
- เช้าวันถัดมาเธอยังพยายามโน้มน้าว Joker ให้หลบหนีไปด้วยกัน
- Joker ตัดสินใจแยกย้ายกับ Noah แต่ทว่าเส้นทางที่มารดาของ Billy แนะนำกลับคือหนองน้ำอันตราย เขาจึงตอบปฏิเสธเธอ รีบออกติดตามไปช่วยเหลือ
- หนองบึงและขบวนรถไฟ
- คณะติดตามเดินทางมาถึงบ้านมารดาของ Billy
- Joker ติดตามมาพบเจอ Noah ร่วมกันลุยหนองคลองบึง
- พอได้ยินเสียงหวูดรถไฟพยายามออกวิ่งไล่ล่า
- ท้ายที่สุดคณะติดตามมาพบเจอ Noah + Joker
หลายคนเหมือนจะไม่ชอบการตัดต่อกลับไปกลับมาแบบนี้ เพราะมันคนละโทนอารมณ์ นักโทษหลบหนีอย่างจริงจัง แต่บรรดาตำรวจ คณะผู้ไล่ล่า กลับดูตลกร้าย ไม่ต่างจาก ‘Comedy Show’ แต่นั่นคือ ‘สไตล์ Kramer’ พยายามสร้างความสมดุลระหว่างจริงจัง-ตลกร้าย ไม่ให้ผู้ชมรู้สึกเคร่งเครียดกับประเด็นขัดแย้ง (Controversy) มากเกินไป
แม้เครดิตเพลงประกอบจะขึ้นชื่อ Ernest Gold แต่ทั้งหมดล้วนคือ ‘diegetic music’ ได้ยิน Sidney Poitier ขับร้องบทเพลง Long Gone John, นอกนั้นจะดังจากวิทยุ มีดีเจคอยเปิดกวนประสาทสารวัตรตำรวจ ต้องคอยสั่งให้ปิด โดยเนื้อคำร้องเพลงเหล่านั้น มักเลือกสรรค์ให้มีความสอดคล้อง ล้อเลียน เข้ากับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ
สำหรับบทเพลง Long Gone John (From Bowlin’ Green) (1920) ทำนองโดย William C. Handy (เจ้าของฉายา Father of the Blues), คำร้องโดย Chris Smith เนื้อหาเกี่ยวกับจอมโจร John Dean เจ้าของฉายา Long Gone John ปล้นธนาคารที่ Bowling Green, Kentucky แล้วสามารถหลบหนีหายตัวอย่างไร้ร่องลอย (บางปรัมปราเล่าว่า John Dean หลบหนีออกจากเรือนจำที่ Bowling Green, Kentucky ก็ไม่รู้เหตุการณ์ไหนจริง?)
บทเพลงนี้ได้รับการขับร้องโดยศิลปินดังๆมากมายนับไม่ถ้วน (โด่งดังสุดน่าจะเป็นของ Louis Armstrong) แต่ผมกลับชื่นชอบลีลาการใช้ลูกคอ ระดับเสียง Bowlin’ Green ของ Poitier แถมดัดแปลงคำร้อง Sewin’ machine ให้มีความสอดคล้อง เย้ายียวน กวนบาทายิ่งนัก!
คำร้องฉบับของ Louis Armstrong |
คำร้องในหนัง |
---|---|
Pops, did you hear the story of Long John Dean? [Chorus] Take another one Velma, take another one [Chorus] |
Long gone, Ain’t he lucky Bowlin’ green Sew so fast A-look a-here what I got, Jack Long gone, Don’t mean maybe Bowlin’ green |
The Defiant Ones (1958) นำเสนอเรื่องราวสองนักโทษ หนึ่งคนขาว สองชายผิวสี ถูกล่ามโซ่ตรวน ชักชวนกันหลบหนี สามารถเปรียบเทียบถึงสหรัฐอเมริกา ยุคสมัยนั้นยังมีการแบ่งแยกเชื้อชาติพันธุ์ (Segregation) เต็มไปด้วยอคติ ต่อต้าน ดูถูกเหยียดหยาม (Racism) แต่ถึงอย่างนั้นพวกเราก็อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน (ล่ามโซตรวนอยู่ด้วยกัน) เมื่อไม่อาจดิ้นหลบหนี ทำไมไม่สมัครสมานสามัคคี
In The Defiant Ones, it was my purpose to stress the idea about all human beings having basically the same nature. To show this, I took two individuals on the lowest possible level in order to tell the glory of the sacrifice for a man, to stress the need they have for each other. This is symbolized by the chain they wear together.
Stanley Kramer
ผกก. Kramer เลื่องชื่อในฐานะผู้กำกับ ‘message film’ ผลงานมักเคลือบแฝงสาระข้อคิดอะไรบางอย่าง The Defiant Ones (1958) นำเสนอบทเรียนสำหรับชาวอเมริกัน วิสัยทัศน์แห่งอนาคต เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความเสมอภาคเท่าเทียม ถ้าสองชาติพันธุ์สามารถรวมกันเป็นหนึ่ง ให้ความเคารพนับถือ ยินยอมรับกันและกัน เชื่อเถอะว่าย่อมนำพาประเทศชาติสู่อนาคตสดใส
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1958 แม้โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่เรื่องราวของ The Defiant Ones (1958) ในปัจจุบันยังสามารถเป็นบทเรียน เสี้ยมสอนการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างคนขาว-ชาวผิวสี … เรียกว่ายังคงคลาสสิกเหนือกาลเวลา!
The Defiant Ones grew out of the times. Couldn’t possibly have grown out what was Hollywood at that time. Hollywood at that time was so far distance from the fact of The Defiant Ones. But there was a filmmaker Stanley Kramer, he was quite a remarkable personality. A wonderful filmmaker who had a vision of himself and a vision of our country and a vision of the industry. And it was a personal choice of his to articulate himself as an artist. So Hollywood was lucky to have him in it’s midst.
Sidney Poitier
และต่อให้ไม่จำเพาะเจาะจงถึงปัญหาชาติพันธุ์ เราสามารถมองหนังในแง่มุมความสัมพันธ์ (อย่าไปมองให้มันเป็น Bromance ชายรักชายเลยนะครับ) คนสองที่อาจเคยขัดแย้ง ไม่ลงรอย ครุ่นคิดเห็นแตกต่าง (เช่นทัศนคติทางการเมือง ฯ) แต่เพราะทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ ควรให้เกียรติ ให้โอกาส ทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่าย ท้ายที่สุดมิตรภาพจะบังเกิดขึ้นแม้ไม่มีพันธการเหนี่ยวรั้ง
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Berlin เสียงตอบรับระดับนานาชาติถือว่าดียอดเยี่ยม สามารถคว้ารางวัล Silver Bear: Best Actor กลายเป็นนักแสดงผิวสีคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ
ด้วยทุนสร้าง $778,000 เหรียญ แม้เข้าฉายจำกัดโรงเสียส่วนใหญ่ ยังสามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกาได้กว่า $2.5 ล้านเหรียญ กำไรเหนาะๆประมาณ $1 ล้านเหรียญ ยุคสมัยนั้นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
ช่วงปลายปียังได้เข้าชิง Oscar, Golden Globe รวมถึง BAFTA Award อีกหลายสาขา จริงๆถือเป็นตัวเต็งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี แต่ก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่
- Academy Award
- Best Picture พ่ายให้กับ Gigi (1958)
- Best Director
- Best Actor (Tony Curtis)
- Best Actor (Sidney Poitier)
- Best Supporting Actor (Theodore Bikel)
- Best Supporting Actress (Cara Williams)
- Best Original Screenplay **คว้ารางวัล
- Best Cinematography, Black-and-White **คว้ารางวัล
- Best Film Editing
- Golden Globe Award
- Best Motion Picture – Drama **คว้ารางวัล
- Best Director
- Best Actor – Drama (Tony Curtis)
- Best Actor – Drama (Sidney Poitier)
- Best Supporting Actress (Cara Williams)
- Best Film Promoting International Understanding
- BAFTA Award
- Best Film of any Source
- Best Foreign Actor (Tony Curtis)
- Best Foreign Actor (Sidney Poitier) **คว้ารางวัล
- UN Award **คว้ารางวัล
แซว: Sidney Poitier กวาดรางวัลนักแสดงนำจากต่างประเทศมากมาย แต่ไม่ได้สักรางวัลในสหรัฐอเมริกา! บางว่าอาจตัดคะแนนกันเองกับ Tony Curtis ถึงอย่างนั้นเหตุผลแท้จริงใครๆก็รู้กันอยู่
ปัจจุบันหนังได้รับการสแกนใหม่ HD Digital Transfer เมื่อปี ค.ศ. 2018 คุณภาพพอใช้ได้ สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Eureka Entertainment หรือรับชมออนไลน์ทาง Prime Video และช่องทางธรรมชาติทั่วไป
ถ้าเปรียบเทียบกับผลงานชิ้นเอกของผกก. Kramer อย่าง Inherit the Wind (1960), Judgment at Nuremberg (1961) ฯ หนังเรื่องนี้ยังมีความไม่กลมกล่อมอยู่บ้าง แต่ผมชื่นชอบลีลานำเสนอ สัญญะซ่อนเร้น ภาพถ่ายขาว-ดำที่มีความคมเข้ม ตัดกัน และโดยเฉพาะสองนักแสดงนำ Tony Curtis และ Sidney Poitier จากปรปักษ์กลายเป็นมิตรแท้!
จัดเรต 15+ นักโทษหลบหนี ความรุนแรง ขัดแย้งชาติพันธุ์
คำโปรย | The Defiant Ones เมื่อคนขาว-ผิวสีถูกล่ามโซ่ไปด้วยกัน จากเคยเป็นปรปักษ์ อคติขัดแย้ง ย่อมกลับกลายเป็นมิตรแท้
คุณภาพ | ปรปักษ์
ส่วนตัว | ประทับใจ
Leave a Reply