Magnificent Obsession (1954) : Douglas Sirk ♥♥♥
ผลงานที่การันตีความสำเร็จใน Hollywood ของ Douglas Sirk ด้วยความพยายาม ‘ชวนเชื่อ’ ให้ผู้ชมลดละทิฐิ ความเห็นแก่ตัว รู้จักทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ แต่พฤติกรรมหมกมุ่นมากเกินพอดี ไม่เห็นมันจะมีความ ‘Magnificent’ ตรงไหนกัน?
จิตอาสา เป็นกิจกรรมที่ดีถ้าเรากระทำด้วยความตั้งใจบริสุทธิ์ ไม่ได้ถูกบีบบังคับ หรือมีสิ่งใดเคลือบแอบแฝง ย่อมก่อให้ประโยชน์แท้จริงต่อสาธารณะ แต่ปัจจุบันมันกลับเป็นกลเกมสำหรับสร้างภาพของผู้มีอำนาจ เพียงคนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์ เลือกปฏิบัติเฉพาะพรรคพวกพ้อง มันเลยดูปลิ้นปล้อน หลอกลวง โฉดชั่วร้าย
การจะทำความดี(ให้ได้ดี) มันต้องมีความบริสุทธิ์ใจ! ไม่ใช่สักแต่ทำ ให้แต่เงิน สร้างภาพว่าฉันมีเมตตา-กรุณา หรือหมกมุ่นเพราะบังเกิดความพึงพอใจ(ว่าได้ทำความดี) อะไรก็ตามที่ทำเพื่อหวังผลประโยชน์ ไม่ว่าจะทางวัตถุ ร่างกายหรือจิตใจ มันช่างแปดเปื้อนมลทิน สกปรกโสมม … นี่คืออุดมคติของการความดีนะครับ แต่ยุคสมัยนี้คงเป็นไปได้ยากที่ใครจะทำอะไรโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ
Magnificent Obsession (1954) คือภาพยนตร์ที่จะ ‘ชวนเชื่อ’ ให้ผู้ชมหมกมุ่นกับการทำความดีต่อผู้อื่น/สร้างประโยชน์สาธารณะ โดยตั้งสองข้อแม้ให้ผู้รับ หนึ่งต้องไม่พูดบอกใคร สองห้ามทำอะไรตอบแทนกลับคืนมา … ผมเอาส้นตีนก่ายหน้าผาก แม้ไร้สาระชิปหาย
ผมขอถอนคำพูดจากย่อหน้าก่อนนะครับ (แต่ไม่ขอลบ/แก้ไข เพราะต้องการให้เห็นว่าผมไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีอคติต่อแนวความคิดดังกล่าว) เพราะลึกๆก็แอบเชื่อว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจทำให้ใครหลายคนบังเกิดแรงบันดาลใจในการทำความดี ต้องการเลียนแบบแนวความคิดของตัวละคร ถ้ามันสามารถกระตุ้นพลังบวก และก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ ก็ไม่ถือว่าไร้สาระเลยนะ แต่อยากให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า เราไม่จำเป็นต้องสร้างเงื่อนไข(ในการทำความดี)เลยสักนิด!
สิ่งน่าสนใจจริงๆของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ ‘สไตล์ Sirk’ นำเสนอเรื่องราวสุดเชย (cliché) แต่กลับสามารถดำเนินเคลื่อนไหลดั่งสายน้ำ (และมีความซับซ้อนโคตรๆ) บทสนทนาฟังดูเรื่อยเปื่อยแต่ก็เต็มไปด้วยคำคม สาระข้อคิด งานภาพมีสีสันสดสว่าง (lush color) สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เว้นเพียงเมื่อคลื่นอารมณ์ถาโถมก็คลุ้มคลั่งดังลมมรสุมลูกใหญ่
Douglas Sirk ชื่อจริง Hans Detlef Sierck (1897 – 1987) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Hamburg, German Empire ช่วงวัยรุ่นมีความชื่นชอบละครเวที แต่เข้าเรียนกฎหมายยัง Munich University มีเรื่องให้ย้ายมหาวิทยาลัยมาเป็น University of Jena ตามมาด้วย Hamburg University เปลี่ยนสู่คณะปรัชญา ประวัติศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ที่นี่ทำให้มีโอกาสรับฟังคำบรรยายทฤษฎีสัมพันธภาพของ Albert Einstein จากนั้นมีโอกาสเข้าร่วมโปรดักชั่น Deutsches Schauspielhaus มุ่งมั่นเอาดีด้านการละคร ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่ใช่น้อย
แม้ตัวเขาจะไม่ได้มีเชื้อสาย Jews แต่ตัดสินใจอพยพสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1937 เพราะภรรยากำลังถูกเพ่งเล็ง ได้เซ็นสัญญากับ Columbia Pictures สร้างภาพยนตร์ Anti-Nazi อาทิ Hitler’s Madman (1943), Summer Storm (1944), ย้ายสังกัดมา Universal-International สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1955), Written on the Wind (1956), A Time to Love and a Time to Die (1958), และ Imitation of Life (1959)
สไตล์ของ Sirk มีลักษณะ Melodrama มักเกี่ยวกับผู้หญิง ‘woman film’ นำเสนอมุมมองที่อ่อนไหว น่าสงสารเห็นใจ ปัญหาภายในครอบครัว ด้วยเทคนิคที่ดูไม่ค่อยสมจริงสักเท่าไหร่ เลยทำให้นักวิจารณ์สมัยนั้นมองข้ามไม่สนใจ บ้างเรียกว่า ‘bad taste’ แต่กลับประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม, เป็นนักวิจารณ์ฝรั่งเศสของ Cahiers du cinéma เริ่มต้นจาก Jean-Luc Godard พบเห็นคุณค่า และกลายเป็นอิทธิพลสำคัญต่อยุคสมัย French New Wave
“…I am going to write a madly enthusiastic review of Douglas Sirk’s latest film, simply because it set my cheeks afire”.
Jean-Luc Godard เกริ่นนำในบทความวิจารณ์ A Time to Love and a Time to Die (1958)
Magnificent Obsession (1929) คือนวนิยายเล่มแรกของ Lloyd C. Douglas (1877-1951) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน นักบวชนิกาย Lutheran ที่หลังเกษียณอายุหันมาจับปากกา เขียนนวนิยายแฝงข้อคิด คำสอนศาสนา แทรกใส่เข้าไปในเรื่องราวอย่างแนบเนียน (คือไม่อ้างอิงถึงศาสนาตรงๆ แต่ใช้บุคคลธรรมดาทั่วไปประสบพบเจอเหตุการณ์ที่สามารถแทรกใส่ข้อคิดต่างๆลงไปได้) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Robe (1942), The Big Fisherman (1948), A Time To Remember (1951) ฯ
Magnificent Obsession was a mélange of half-baked and drastically underdramatized subplots, but it began and ended memorably.
คำวิจารณ์ต่อนวนิยาย Magnificent Obsession (1929)
ก่อนหน้านี้ Magnificent Obsession เคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 1935 กำกับโดย John M. Stahl ซึ่งคงไว้เพียงเหตุการณ์เริ่มต้น-สิ้นสุด แล้วปรับเปลี่ยนแปลงเนื้อหาทั้งหมดให้ดูง่าย ไม่ได้สลับซับซ้อน เป็นหนังดราม่าทั่วๆไป ผลลัพท์เลยไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แถมสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้ผู้แต่ง Douglas … ก็แน่ละ ปรับเปลี่ยนเรื่องราวเสียหมดจะไปสร้างความพึงพอใจต่อผู้แต่งได้อย่างไร!
จุดเริ่มต้นของฉบับ Remake เกิดจากนักแสดง Jane Wyman เมื่อย้ายมาเซ็นสัญญากับ Universal-International ก็มีความมุ่งมั่นจะรับบทนำภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายเล่มนี้ โปรดิวเซอร์ Ross Hunter เลยนำ Magnificent Obsession มาเสนอให้ผู้กำกับ Douglas Sirk
Ross Hunter gave me the book, and I tried to read it, but I just couldn’t. It is the most confused book you can imagine. It is so abstract in many respects that I couldn’t see a picture in it.
Douglas Sirk
ด้วยเหตุนี้ Sirk และทีมนักเขียน Wells Root, Sarah Y. Mason, Victor Heerman, Finley Peter Dunne จึงพัฒนาเรื่องราวโดยอ้างอิงจากฉบับภาพยนตร์ Magnificent Obsession (1935) โดยไม่ต้องวิตกกังวลต่อผู้แต่งนวนิยาย Lloyd C. Douglas (เพราะได้เสียชีวิตจากไปแล้ว)
ทายาทมหาเศรษฐี Bob Merrick (รับบทโดย Rock Hudson) ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย สุดเหวี่ยง ขับขี่เรือ Speedboat จนประสบอุบัติเหตุ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (Resuscitator) จึงสามารถรอดชีวิตมาได้ พอดิบพอดีกับ Dr. Phillips นายแพทย์ประจำเมืองที่ได้รับความนับหน้าถือตา เป็นที่เคารพรักจากผู้คน จู่ๆทรุดล้มลงด้วยอาการหัวใจล้มเหลว (Heart Attack) แล้วเสียชีวิตเพราะไม่มีเครื่องช่วยหายใจ (ในชุมชนแห่งนี้มี Resuscitator เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น!)
หลังจาก Bob รับรู้สิ่งบังเกิดขึ้น ต้องการชดใช้ ให้ความช่วยเหลือแม่หม้าย Helen (รับบทโดย jane Wyman) แต่ก็ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ ไม่ยินยอมอยากพบเจอหน้า ถึงอย่างนั้นความหมกมุ่นต้องการพูดขอโทษให้จงได้ กลับเป็นเหตุให้เธอประสบอุบัติเหตุ ถูกรถชน สูญเสียการมองเห็น ไม่มีหนทางรักษาหาย
แม้เหตุการณ์จะบานปลายขนาดนี้ Bob ยังคงติดตามตื้อไม่เลิกรา มันอาจเป็นความบังเอิญที่เขาพบเจอ Helen เลยทำการดัดเสียง ปลอมตัวเป็น Robby Robinson โดยไม่รู้ตัวทั้งคู่สานสัมพันธ์จนตกหลุมรัก สู่ขอแต่งงาน แต่เมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย เลยไม่ใช่เรื่องง่ายที่เธอจะยิมยอมรับสิ่งบังเกิดขึ้น
Rock Hudson ชื่อจริง Roy Harold Scherer Jr. (1925-85) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Winnetka, Illinois ครอบครัวหย่าร้างเพราะยุคสมัย Great Depression ช่วงวัยรุ่นค้นพบความชื่นชอบในภาพยนตร์ เพ้อฝันอยากเป็นนักแสดง แต่ไม่สามารถท่องจำบทเลยพลาดโอกาสสำคัญๆมากมาย, อาสาสมัครทหารเรือในสงครามโลกครั้งที่สอง ประจำเรือขนส่งเครื่องบิน SS Lew Wallace หลังปลดประจำการมุ่งสู่ Los Angeles เข้าตาแมวมอง Henry Wilson เปลี่ยนชื่อให้เป็น Rock Hudson (มาจากสองคำ Rock of Gibraltar และ Hudson River) สมทบภาพยนตร์เรื่องแรก Fighter Squadron (1948), จากนั้นเซ็นสัญญา Universal-International ค่อยๆสะสมประสบการณ์ ได้รับบทนำ Scarlet Angel (1952), ร่วมงานครั้งแรกกับ Douglas Sirk เรื่อง Taza, Son of Cochise (1954), แจ้งเกิดโด่งดังจาก Magnificent Obsession (1954), ผลงานเด่นๆ อาทิ All That Heaven Allows (1955), Giant (1956), Written on the Wind (1956), Pillow Talk (1959) ฯ
รับบท Bob Merrick หนุ่มหล่อ พ่อรวย แต่นิสัยซังกะบ๊วย มักทำอะไรโดยไม่ครุ่นคิดหน้า-หลัง ตอบสนองความต้องการ พึงพอใจส่วนตัวเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อรับรู้อุบัติเหตุของตนเองสร้างความสูญเสียให้ใครบางคน พยายามแสดงตน ไถ่โทษ รับรู้สำนึกผิด แต่กลับยิ่งสร้างปัญหาจนลุกลามบานปลาย ถึงอย่างนั้นเมื่อได้รับคำแนะนำ มุ่งมั่น หมกมุ่น กระทำความดีโดยไม่แสวงหาสิ่งตอบแทน สักวันหนึ่งในที่สุดก็สามารถทำให้อีกฝั่งฝ่ายตกหลุมรัก พิสูจน์คุณค่าของตนเองได้สำเร็จ
บอกตามตรงผมโคตรรำคาญกับการตีตราตัวละครนี้ หนังพยายามตอกย้ำ ซ้ำเติม ให้ผู้ชม(และตัวละคร)รับรู้สึกว่าพฤติกรรมเห็นแก่ตัว การกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม ไม่สมควรค่าแก่การมีชีวิต น่าจะปล่อยให้ตกตายไปดีกว่า … ใครกันแน่ที่โลกแคบ มีมุมมองเห็นแก่ตัวขนาดนี้
นี่เป็นบทบาทแจ้งเกิดโด่งดัง กลายเป็น ‘Superstar’ ของ Hudson ที่บอกตามตรง ผมมองแทบไม่เห็นความโดดเด่นอะไร เพียงหน้าตาหล่อเหลา ร่างกายสูงใหญ่ แต่การแสดงก็ทั่วๆไป ไร้ซึ่ง Charisma (เหมือนดู Hudson เล่นเป็น Hudson) และนี่เป็นบทนำเรื่องแรกๆเลยเต็มไปด้วยประหม่า ถ่ายทำ 30-40 เทค เป็นเรื่องปกติ
Hudson ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียงจากบทบาทการแสดง แต่คือภาพลักษณ์ที่แม้จะมาดแมน ร่างกายสูงใหญ่ แต่ใบหน้ามีความละอ่อนหวาน ทำให้มักได้เล่นตัวละครที่มีด้านอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา คนในวงการจะรับรู้ดีกว่าเขาเป็นเกย์/ควีน? (นักแสดงดังคนแรกที่เสียชีวิตเพราะ AIDS)
Jane Wyman ชื่อจริง Sarah Jane Mayfield (1917 – 2007) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Saint Joseph, Missouri หลังพ่อ-แม่หย่าร้าง อาศัยอยู่กับครอบครัวบุญธรรม ระหว่างเรียนมัธยมค้นพบความชื่นชอบร้องเพลง จัดรายการวิทยุ มุ่งหน้าสู่ Hollywood เริ่มจากเป็นตัวประกอบ เข้าตาแมวมองเซ็นสัญญา Warner Bros. เมื่อปี 1936 ผลงานช่วงแรกๆส่วนใหญ่เป็นหนังเกรดบี จนกระทั่งความสำเร็จของ The Lost Weekend (1945) ทำให้ได้รับโอกาสสำคัญๆอย่าง The Yearling (1946), Johnny Belinda (1948)**คว้า Oscar: Best Actress, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Blue Veil (1951), Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1955)
รับบท Helen Phillips แม้เพิ่งแต่งงานได้ไม่นานกับ Dr. Philips แต่ก็มีความรัก พร้อมทุ่มเทเสียสละชีวิตที่เหลือ และยังสนิทสนมกับ Joyce Phillips (รับบทโดย Barbara Rush) บุตรสาวจากภรรยาคนก่อน (ของ Dr. Philips) แต่เหตุการณ์คาดไม่ถึงก็ทำให้ชีวิตพวกเธอไปต่อไม่ถูก
ลึกๆแล้ว(ผมคิดว่า) Helen ไม่ได้มีอคติอะไรต่อ Bob Merrick แต่ความดื้อรัน พยายามจะเข้าหา มอบเงิน พูดขอโทษ นั่นสร้างความไม่พึงพอใจสักเท่าไหร่ แถมยังทำให้ประสบอุบัติเหตุ สูญเสียการมองเห็น ดีแล้วที่จะไม่ได้เห็นหน้ากันอีก … แต่เขาก็ยังไม่ยินยอมเลิกรา ดัดเสียง ปลอมตัวเป็น Robby Robinson เข้ามาตีสนิท ชิดเชื้อ โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก และเมื่อความจริงประจักษ์ มันก็ยากจะหักห้ามใจ
ผมโคตรเหนื่อยใจแทนตัวละครนี้ ประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซาก เต็มไปด้วยวิบาก ซึ่งพอดวงตามืดบอด ก็สูญเสียการมองเห็น (ทั้งนามธรรม-รูปธรรม) จำเป็นต้องโหยหาบุคคลสามารถพึ่งพักพิง เลยถูกความดื้อรั้นของชายคนนี้ทำให้จิตใจอ่อนไหว โดยไม่ตระหนักว่าเพราะเขามีเงิน เลยสามารถกระทำทุกสิ่งอย่างได้ตามใจ
แม้อายุของ Wyman อาจจะดูแก่เกินบทบาทไปสักนิด (เห็นว่าจริงๆต้องอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ Joyce Phillips) แต่ผมก็ไม่ติดใจสักเท่าไหร่ ประทับใจในความพยายามสร้างภาพตัวละครให้ดูเข้มแข็ง แม้จิตใจจะอ่อนเรี่ยวแรง สูญเสียที่พึ่งพักพิง เมื่อค้นพบบุคคลให้แกะแก่ง ก็พร้อมพุ่งทะยานถาโถมเข้าใส่
จริงอยู่นี่เป็นบทบาทที่เธอมุ่งมั่น ทุ่มเท ตั้งอกตั้งใจ (เป็นคนผลักดันโปรเจคนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง) เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน หลากหลายมิติอารมณ์ ขัดย้อนแย้งภายในจิตใจ แต่มันก็ไม่น่าถึงขั้นได้เข้าชิง Oscar: Best Actress สักเท่าไหร่ … อาจเพราะก่อนหน้านี้ Wyman เคยคว้า Oscar: Best Actress จากบทบาทบ้าใบ้ ไม่มีบทพูดสักประโยค สามารถถ่ายทอดความรู้สึกผ่านทางสีหน้าสายตาได้อย่างทรงพลัง มาครานี้ตัวละครตาบอด สูญเสียการมองเห็น เลยคงจับจิตจับใจชาว Hollwood เพราะการเล่นบทคนพิการถือเป็นสิ่งท้าทาย ไม่ง่าย แทบจะการันตีความสำเร็จ (เพราะผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ)
ถ่ายภาพโดย Russell Metty (1906-78) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เริ่มจากผู้ช่วยห้องแลป Standard Film Laboratory ในสังกัด Paramount Pictures ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ จากนั้นออกมาเป็นช่างภาพของ Universal Studios และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Douglas Sirk ผลงานเด่นๆ อาทิ Bringing Up Baby (1938), Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1956), Written on the Wind (1956), Imitation of Life (1959), Spartacus (1961)**คว้า Oscar: Best Cinematography, Color
The angles are the director’s thoughts. The lighting is his philosophy.
Douglas Sirk
‘สไตล์ Sirk’ แทบทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ มีการจัดองค์ประกอบฉากภายในเต็มไปด้วยรายละเอียด สิ่งข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ประดับประดาด้วยต้นไม้/ดอกไม้ ลวดลาย สีสันสวยสดใส ผิดกับฉากภายนอกที่มักใช้ Rear Projecter ดูจอมปลอม หลอกลวง (แต่ถ้าถ่ายมุมกว้างไม่เห็นใบหน้านักแสดง ก็จะเป็นหน้าที่ของกองสอง-สาม ทำให้รายละเอียดดูมีความสมจริงอยู่บ้าง)
ช่วงทศวรรษ 50s การมาถึงของ Technicolor สร้างความหลงใหล ประทับใจให้ผู้กำกับ Sirk หลังจากทดลองผิดลองถูกกับ Taza, Son of Cochise (1954) [เห็นว่าถ่ายทำด้วยระบบ 3D ด้วยนะ] ก็ค้นพบวิถีทางที่จะนำเสนอภาพสี ทำอย่างไรถึงจะออกมาให้ดูดี มีความชอุ่มชุ่มชื่น (lush color) ซึ่งก็เริ่มต้นจาก Magnificent Obsession (1954) ถือเป็นเรื่องที่ทำให้ ‘สไตล์ Sirk’ พัฒนามาถึงจุดสูงสุด!
มุมกล้องในหนังของผู้กำกับ Sirk ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนมากมาย แทบทั้งนั้นถ่ายหน้าตรง เหมือนละครเวที ซิทคอม Soap Opera (เพราะส่วนใหญ่ถ่ายทำในสตูดิโอ) แต่จะไปโดดเด่นเรื่องการจัดแสง สีสัน และเงามืด สร้างบรรยากาศที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก/ปรัชญาของผู้สร้าง
ผู้กำกับ Sirk ชื่นชอบการใส่รายละเอียดรกๆให้ฉากภายใน (interior scene) ดูมีความหรูหรา ฟู่ฟ่า อะไรก็ไม่รู้มากมายเต็มไปหมด ผิดกับหนัง Hollywood ในยุคแรกๆที่ดูสะอาดสะอ้าน เอี่ยมอ่อม แทบไม่มีสิ่งข้าวของฟุ่มเฟือยใดๆ
นอกจากนี้ผู้กำกับ Sirk ยังชื่นชอบความท้าทายด้วยการถ่ายให้เห็นทิวทัศน์ภายนอกหน้าต่าง ซึ่งก็มีทั้งต้นไม้/ดอกไม้ปลอมๆ (มันก็ต้นไม้จริงๆนะแหละ แต่แค่นำมาใช้ประกอบหนังเท่านั้น) ภาพวาดบนกระจก (Matte Painting) หรือไม่ก็ด้วยเครื่องฉาย Rear Projection เป็นการเพิ่มรายละเอียด สีสัน ให้ดูรกๆยิ่งขึ้นกว่าเก่า
ผมคงไม่ลงรายละเอียดทุกฉากในหนัง แต่อยากให้สังเกตการจัดแสงฉากภายใน สำหรับตัวละคร Helen Phillips จะค่อยๆมีพัฒนาการความมืดที่หมองหม่นลงเรื่อยๆ พอเดินทางไปยุโรปและแพทย์วินิจฉัยว่าไม่สามารถทำการรักษาให้หายขาด นั่นถือเป็นช่วงเวลามืดมิดที่สุดของเธอแล้วละ!
- ภาพแรก: การเผชิญหน้าระหว่าง Bob กับ Helen
- ภาพสอง: หลังประสบอุบัติเหตุ ทำให้ Helen สูญเสียการมองเห็น
- ภาพสาม: Helen เดินมารักษาตัวที่ยุโรป
- ภาพสี่: หลังหมอวินิจฉัยว่าไม่สามารถผ่าตัดรักษา เธอมืดมนถึงขนาดครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย
เมื่อชีวิตพานผ่านช่วงเวลาตกต่ำ/มืดมิดที่สุด Helen ก็ได้มีโอกาสพบเจอสีสัน ความสุข สนุกสนานหรรษา จากการที่ Bob เดินทางมาเยี่ยมเยียน แล้วนำพาออกท่องเที่ยว มาจนถึงเทศกาลล่าแม่มด (สัญลักษณ์ของการเผาทำลายความชั่วร้าย เพื่อเริ่มต้นฤดูกาล/ชีวิตใหม่) … นี่คือฉากมีความหลากหลายสีสันที่สุดในหนังแล้วกระมัง
ความสุขแสนสั้นของคู่รัก จบลงด้วยการจุมพิตท่ามกลางความมืดมิด (พร้อมดอกไม้ ต้องถือไว้ประดับช็อต) สื่อนัยยะตรงๆถึงความ(ยัง)เป็นไปไม่ได้ขณะนั้น มีบางสิ่งอย่างภายในจิตใจของ Helen มิอาจยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น เพราะ Bob คือบุคคลที่ทั้งทำให้ตนเองสายตามืดบอด และค้นพบประกายแสงสว่างแห่งความหวัง
ฉากนี้ทำให้ผมสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างห้องที่เต็มไปด้วยดอกไม้ (Joyce เพิ่งคลอดบุตร ชีวิตเต็มไปด้วยความสุข เบิกบาน) ผิดกับห้องมีเพียงต้นไม้ ใบสีเขียว (ห้องของ Bob ที่แม้ดูเขียวฉอุ่มแต่ก็ไม่เบ่งบาน เพราะขาดคนรัก/คู่ครอง ไม่รู้ว่า Helen หายไปอยู่แห่งหนไหน)
แซว: ผมรู้สึกว่าแทบทุกฉากของหนัง จะต้องมีต้นไม้ หรือดอกไม้ แทรกแซมอยู่สักแห่งหนใด ภายนอก-ใน
ช็อตสุดท้ายในหนังหลายๆเรื่องของผู้กำกับ Sirk มักเคลื่อนเลื่อนกล้อง ถ่ายให้เห็นทิวทัศน์ภายนอกหน้าต่าง ที่แม้มีความสวยสดงดงาม แต่ล้วนเป็นการฉายภาพจาก Rear Projection … ถึงอย่างนั้นผมก็ยังครุ่นคิดว่า ต้องการสื่อถึงอนาคตที่เปิดกว้าง ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ Happily Ever After
ตัดต่อโดย Milton Carruth (1899-1972) สัญชาติอเมริกัน ทั้งชีวิตอยู่ประจำสตูดิโอ Universal Pictures ตัดต่อภาพยนตร์เกินกว่าร้อยเรื่อง อาทิ All Quiet on the Western Front (1930), Dracula (1931), The Mummy (1933), Magnificent Obsession (1935), Shadow of a Doubt (1943), Pillow Talk (1959), Imitation of Life (1959) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสองตัวละครหลัก Bob Merrick และ Helen Phillips มักตัดสลับไปมาตามเรื่องราวและโอกาส โดยเราสามารถแบ่งภาพรวมออกเป็น 5 องก์
- แนะนำตัวละคร
- Bob Merrick หนุ่มหล่อ พ่อรวย นิสัยซังกะบ๊วย ประสบอุบัติเหตุระหว่างซิ่งเรือ Speedboat
- การเสียชีวิตของ Dr. Phillips สร้างความเศร้าโศกให้กับภรรยา/แม่หม้าย Helen Phillips
- พบเจอกันระหว่าง Bob กับ Helen คนหนึ่งต้องการจะชดใช้ แต่อีกคนปฏิเสธยินยอมรับ
- การทดลองทำความดีของ Bob ทำให้บังเกิดความหมกมุ่น
- Bob หวนกลับไปเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา
- บังเอิญพบเจอกับศิลปิน Edward Randolph (รับบทโดย Otto Kruger) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำความดี
- ทดลองทำครั้งแรกแล้วเกิดความพึงพอใจอย่างมาก แต่กลับไปสร้างปัญหาใหม่ให้ Helen
- การสูญเสียความสามารถในการมองเห็นของ Helen
- ดวงตาที่มืดบอด ทำให้วิถีชีวิตของ Helen เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
- Bob พยายามรักษาระยะห่าง แต่โชคชะตาก็นำพาให้ทั้งสองชิดใกล้ เขาจึงตัดสินใจดัดเสียง ปลอมตัวเป็น Robby Robinson
- ขณะเดียวกัน Bob ก็ใช้เส้นสายติดต่อหมอที่ยุโรป เพื่อให้ช่วยวินิจฉัย หาหนทางให้ Helen กลับมามองเห็นอีกครั้ง
- Helen เดินทางสู่ยุโรปด้วยความหวัง
- แรกเริ่มด้วยความหวัง แต่หลังผ่านการทดสอบหลายครั้ง แพทย์ก็ลงความเห็นว่าไม่มีทางรักษาหาย
- Bob ตัดสินใจเดินทางมาให้กำลังใจ Helen พูดบอกความจริง แล้วสู่ขอแต่งงาน แต่เธอกลับหลบหนีหายตัว
- หลายปีผ่านไป เมื่อได้หวนกลับมาพบเจอ
- Bob กลายเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านเส้นประสาท ได้รับการนับหน้าถือตาจากผู้คน เสพติดการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน
- เมื่อได้รับรู้ข่าวคราวของ Helen บินตรงสู่ New Mexico ตัดสินใจผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือ
- แล้วทุกจบลงอย่าง Happy Ending
การดำเนินเรื่อง ‘สไตล์ Sirk’ จะใช้เทคนิค Cross-Cutting ทุกครั้งระหว่างการเปลี่ยนฉาก ซึ่งจะสร้างความต่อเนื่องที่ลื่นไหลราวกับสายน้ำ แม้ซีนนั้นจะมีเพียงภาพช็อตเดียวก็ตาม เพื่อห้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ล่องลอยไป ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเวลาเคลื่อนพานผ่านนานสักเท่าไหร่ … หนังของ Sirk ให้ความรู้สึกเหมือนไม่ยาว แต่รายละเอียดยิบๆย่อยๆ เยอะโคตรๆ
เพลงประกอบโดย Frank Skinner (1897-1968) สัญชาติอเมริกัน ทำงานในสังกัด Universal Studios ขาประจำของผู้กำกับ Douglas Sirk ผลงานเด่นๆ อาทิ Mad About Music (1938), Son of Frankenstein (1939), Arabian Nights (1942), Harvey (1950), Imitation of Life (1959) ฯ
สิ่งที่ถือเป็นความ ‘Magnificent’ ของหนังก็คือบทเพลงประกอบ ทำหน้าที่บดขยี้อารมณ์ ขยายโสตประสาทของผู้ชม ให้สามารถเข้าถึงความรู้สึกตัวละคร สอดคล้องเนื้อเรื่องราวขณะนั้นๆ แต่เชื่อว่าหลายคนอาจมักคุ้นท่วงทำนองเสียเหลือเกิน นั่นเพราะทั้งหมดเป็นการเรียบเรียงขึ้นจากเพลงคลาสสิกที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ
- Beethoven: Symphony No. 9 in D minor, Op. 125, No.4 ‘Ode to Joy’
- Chopin: Nocturne No. 7 in C-sharp minor, Op. 27, No. 1
- Chopin: Étude in E major, Op. 10, No. 3 ‘Tristesse’
- Liszt: Consolations, S. 172 – No. 3 in D-Flat Major. Lento placido
- Johann Strauss II: Wiener Blut Op. 354
ฯลฯ
การที่ผู้กำกับ Sirk ไม่เรียกร้องขอ Original Soundtrack เพราะต้องการสร้างความมักคุ้น เหมือนเคยได้รับฟัง สัมผัสถึงความซ้ำซากจำเจอ (cliché) สอดคล้องกับเนื้อเรื่องราวเชยๆ การเแสดงเฉิ่มๆ พื้นหลังไม่แนบเนียน ทุกสิ่งอย่างดูจอมปลอม เพราะนี่คือการละคอน/ภาพยนตร์ อย่านำมาสับสนกับชีวิตจริง
สำหรับบทเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจ Main Theme ของหนังก็คือ Magnificent Obsession (1953) แต่งคำร้องโดย Frederick Herbert, ขับร้องโดย The Four Lads ร่วมกับ Percy Faith orchestra
นำเอาฉบับที่รวมอยู่ในอัลบัม Love Affair (1960) มาให้รับฟังกัน
ความหมกมุ่น/ครุ่นยึดติด (Obsession) คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เวียนว่ายตายเกิดในวัฎฎะสังสาร ต้องการมีชีวิต กระทำสิ่งโน่นนี่นั่น เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน มิอาจปล่อยวาง ละทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่าง ร่างกาย-จิตใจ
เอาจริงๆแล้วพฤติกรรม ‘หมกมุ่น’ ไม่ได้มีความงดงามแม้แต่น้อย! เพราะมันทำให้มนุษย์พยายามต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน แสดงออกธาตุแท้ตัวตน กระทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ เติมเต็มความต้องการเพ้อใฝ่ฝัน … แต่โลกยุคสมัยนี้พยายามสร้างค่านิยมขึ้นใหม่ ด้วยการแปรสภาพนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรม มันผิดอะไรที่มนุษย์จะอยากได้ อยากมี อยากทำโน่นนี่นั่น แล้วเรียกสื่อที่สามารถแสดงออกทางอารมณ์ว่าศิลปะ มีความงดงาม เลอค่า วิจิตรศิลป์
ผมเองก็คนหนึ่งที่มีความหมกมุ่นในการทำบล็อคนี้ ตระหนักถึงความอัปลักษณ์ ดื้อรั้น ต้องการไปให้ถึงเป้าหมายบางอย่าง แต่จุดประสงค์ส่วนตัวเพราะต้องการฉีกกระชากหน้ากาก เปิดเผยธาตุแท้ตัวตน ให้ผู้อ่านเข้าถึงจิตวิญญาณของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ แล้วแยกแยะมุมมอง ความคิดเห็น ทัศนคติผู้สร้าง ไม่ใช่แนวคิดทุกสิ่งอย่างจะถูกต้องเหมาะสม อ้างอิงตามหลักศีลธรรม พุทธศาสนา อย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่พยายามสร้างค่านิยมแปลกๆ ทำเรื่องราวให้สลับซับซ้อนโดยใช่เหตุ กลายเป็นความหมกมุ่นที่ดูไร้สาระ แนวคิดเหมือนจะมีประโยชน์ แต่กว่าจะดูหนังจบก็สับสนโคตรๆ มึนๆงงๆ สรุปแล้วเราสามารถตัดสินตัวละคร สมควรได้การยกย่องนับถือ หรือเหยียบย่ำซ้ำเติมมิดดิน … ผมเองก็ตอบไม่ได้ แค่รับรู้สึกว่าความ ‘หมกมุ่น’ มันไม่น่าอภิรมณ์เลยสักนิด!
สังคมอเมริกัน ต้องถือว่ามีความหมกมุ่นอย่างแรงกล้าที่จะพิสูจน์ตนเอง ดูอย่างตัวละคร Bob Merrick เมื่อตระหนักถึงพฤติกรรมไร้สาระของตนได้สร้างความสูญเสียใหญ่หลวงต่อสังคม พยายามอย่างยิ่งจะชดใช้ ทำบางสิ่งอย่างคืนตอบสนอง โดยเฉพาะกับครอบครัว/แม่หม้าย Helen Philips ทั้งที่เธอพยายามปฏิเสธหัวชนฝา แต่เขาดื้อรั้นไม่ยอมหยุด ต่างฝ่ายต่างมืดบอดในความหมุกมุ่นของกันและกัน
ถ้ามองในความเปลี่ยนแปลงของ Bob ผมก็ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำนั้นน่าประทับใจ เลิกเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา หวนกลับไปตั้งใจเรียนหมอ จบออกมากลายเป็นแพทย์เฉพาะทาง เอ่อล้นด้วยอุดมการณ์ ทำสิ่งต่างๆเพื่อผู้อื่นโดยไม่สนสิ่งตอบแทนใดๆ
แต่ที่ชวนสับสนสุดๆก็คือความสัมพันธ์ระหว่าง Bob กับ Helen เมื่อฝ่ายหญิงสูญเสียการมองเห็น ฝ่ายชายก็ฉกฉวยโอกาสดังกล่าว ปลอมตัว ดัดเสียง เข้าตีสนิท ต่อให้ด้วยความบริสุทธิ์จริงใจ แต่นั่นคือการหลอกลวง ให้อีกฝั่งฝ่ายตกหลุมรัก ลุ่มหลงใหล จนกระทั่งเมื่อรับรู้ความจริง ก็เหมือนเป็นการบีบบังคับยินยอมยกโทษให้อภัย (ใช้ข้ออ้างความรัก ทำให้จิตใจแปรเปลี่ยน) สร้างความชอบธรรมจนได้แต่งงาน ครองคู่ และได้อยู่ร่วมกัน … ทั้งหมดนี้ผมมองว่าคือการบิดเบี้ยวข้อเท็จจริง ตัวละครหมกมุ่นเกินกว่าเหตุ ใช้อำนาจการเงินเป็นใหญ่ เพื่อให้ได้สิ่งตอบสนองตัณหา ความต้องการ พึงพอใจส่วนตน
ในมุมชาวตะวันตก/คริสเตียน คงสรรเสริญเยินยอ ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ สามารถทำให้ศัตรู(Helen)ที่เคยโกรธเกลียด แปรเปลี่ยนมายกโทษให้อภัย (และตกหลุมรักแต่งงานกับ Bob) มองเพียงผลลัพท์ไม่ใช่แค่วิธีการ ทำความหมกมุ่นให้กลายเป็นจริง แล้วทุกสิ่งจะสวยงาม ผลลัพท์ออกมาดีเอง
การสร้างความปั่นป่วน ชวนสับสน เปลือกนอกคือ Melodrama น้ำเน่า แต่ลึกๆลงไปกลับซ่อนเร้นเนื้อหาที่เหมือนจะมีสาระ ทรงคุณค่าทั้งศาสตร์ ศิลปะ นั่นคือหนึ่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Sirk’ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัว ดั่งคำแนะนำของนักวิจารณ์ Roger Ebert กล่าวถึงผลงานของผู้กำกับ Sirk ได้สาแก่ใจมากๆ
To appreciate [Douglas Sirk’s film] probably takes more sophistication than to understand one of Ingmar Bergman’s masterpieces, because Bergman’s themes are visible and underlined, while with Sirk, the style conceals the message. His interiors are wildly over the top, and his exteriors are phony — he wants you to notice the artifice, to see that he’s not using realism but an exaggerated Hollywood studio style.
Films like this are both above and below middle-brow taste. If you only see the surface, it’s trashy soap opera. If you can see the style, the absurdity, the exaggeration, and the satirical humor, it’s subversive of all the 1950s dramas that handled such material solemnly.
นักวิจารณ์ Roger Ebert
แม้แรกเริ่มผู้กำกับ Sirk จะไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับนวนิยายเรื่องนี้ แต่เขาก็ค้นพบความหมกมุ่นที่จะสรรค์สร้างภาพยนตร์ออกมา ด้วยสไตล์ลายเซ็นต์อันเป็นเอกลักษณ์ แฝงข้อคิดที่เหมือนจะสร้างประโยชน์ให้สังคม แต่โดยไม่รู้ตัวบั้นปลายชีวิต กลับตาบอดมองอะไรไม่เห็นเหมือนตัวละคร
Years ago I made that picture about blindness—and now I’m blind. It’s goddamn ironic!
Douglas Sirk
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง เสียงตอบรับตอนออกฉายก็กลางๆ แต่สามารถทำเงิน $5.2 ล้านเหรียญ (สูงอันดับ 9 แห่งปี ในสหรัฐอเมริกา) ทศวรรษนั้นถือว่าเป็นตัวเลขสูงทีเดียวละ!
ช่วงปลายปีเหมือนฟลุ๊กมากๆที่ Jane Wyman ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress (คือจู่ๆก็ได้เข้าชิง โดยไม่มีชื่อใน Golden Globe หรือ BAFTA Award) แต่ก็พ่ายให้กับ Grace Kelly จากเรื่อง The Country Girl (1954) แก่งแย่งรางวัลนี้ไปจาก Judy Garland เรื่อง A Star Is Born (1954)
ผมติดอกติดใจภาพยนตร์ของ Douglas Sirk ตั้งแต่ครั้งแรกรับชม Imitation of Life (1959) แม้จะผิดหวังเล็กๆกับ Magnificent Obsession (1954) ในเนื้อหาสาระและประเด็น ‘ชวนเชื่อ’ แต่ก็เริ่มหลงใหลคลั่งไคล้ ‘สไตล์ Sirk’ ที่สามารถนำพล็อตเชยๆมาทำให้โคตรน่าสนใจ ดำเนินเรื่องลื่นไหลดั่งสายน้ำ แม้สีสันสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย แต่ก็เต็มไปด้วยความอึดอัด ยื้อๆยักๆ พ่อแง่แม่งอน … ถ้าไม่เพราะเรื่องราวของหนัง ก็อาจจะให้คุณภาพคะแนนเต็มเลยละ
สิ่งที่การันตีความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ Criterion Collection จนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2022) มีผลงานของ Douglas Sikr ได้รับการบูรณะ Hi-Def (digital restoration) ทั้งหมดสามเรื่อง! สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel (ภาพยนตร์ที่ได้รับเลือกจาก Criterion การันตีคุณภาพที่สุดแล้วนะครับ)
หนังมีส่วนผสมระหว่าง Melodrama กับ Romantic จะว่าไปก็พอเหมาะกับคู่รัก เทศกาลวาเลนไทน์ หรือคนเพิ่งประสบอุบัติเหตุ สูญเสียอวัยวะ ใครบางคน หรือบางสิ่งอย่าง อาจได้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับการสู้ชีวิต รู้จักให้อภัย สอนทำความดี และอยากสร้างประโยชน์ให้สาธารณะ
จัดเรต pg กับลักษณะชวนเชื่อ และพฤติกรรมเอาแต่ใจของตัวละคร
Leave a Reply