Marnie (1964) : Alfred Hitchcock ♥♥♡
ปมบางอย่างในวัยเด็กของ Tippi Hedren ทำให้มีความรังเกียจผู้ชาย ปลอมตัวเข้าทำงานเลขานุการ รอคอยจังหวะไขตู้เซฟ ลักขโมยเงินนายจ้าง ก่อนถูกจับได้โดย Sean Connery บีบบังคับให้แต่งงาน แล้วทำการข่มขืนกระทำชำเรา
ผกก. Hitchcock มีความลุ่มหลงใหล เอ็นดูรักใคร่ Tippi Hedren ตั้งแต่แรกค้นพบ จับมาปลุกปั้นให้กลายเป็นนักแสดงนำ The Birds (1963) สารพัดสื่อยกให้เธอคือตัวตายตัวแทน Grace Kelly แต่ทว่าระหว่างร่วมงาน Marnie (1964) เริ่มสำแดงสันดานธาตุแท้ คุกคามทางเพศ โอบกอดจูบ เรียกร้องขอให้ร่วมเพศสัมพันธ์ พอไม่ได้ดั่งใจก็ทำการข่มขู่ แบล็กเมล์ บอกจะทำลายอาชีพของเธอ
He stared at me and simply said, as if it was the most natural thing in the world, that from this time on, he expected me to make myself sexually available and accessible to him – however and whenever and wherever he wanted. That was when things came to a horrible, horrible fight. He made these demands on me, and no way could I acquiesce to them.
I said I wanted to get out of my contract. He said: “You can’t. You have your daughter to support, and your parents are getting older.” I said: “Nobody would want me to be in this situation, I want to get out.” And he said: “I’ll ruin your career.” I said: “Do what you have to do.” And he did ruin my career. He kept me under contract, paid me to do nothing for close on two years.
Tippi Hedren
หลายคนอาจโต้แย้ง พยายามแก้ต่างให้ผกก. Hitchcock ไม่ยินยอมรับพฤติกรรม “Sexual Predator” เพราะมันเป็นคำกล่าวอ้างเพียงข้างเดียวของฝ่ายหญิง Hedren แต่สำหรับคนที่สามารถทำความเข้าใจศิลปะภาพยนตร์ ย่อมตระหนักถึงสิ่งซุกซ่อนเร้น เค้ามูลความจริง และมันอาจไม่ใช่ครั้งแรก Ingrid Bergman, Grace Kelly ขึ้นอยู่ว่าคุณจะ “กล้า” ครุ่นคิดจินตนาการหรือเปล่า
Marnie (1964) เป็นภาพยนตร์ที่ผมรับชมแล้วรู้สึกละเหี่ยใจ แม้การแสดงของ Hedren จะโดดเด่นตราตรึง แต่เรื่องราวที่เลือนลางกับชีวิตจริง (ระหว่างผกก. Hitchcock และ Hedren) ทั้งการควบคุมครอบงำ บีบบังคับแต่งงาน ฉกฉวยโอกาส สัญญาว่าจะไม่ทำอะไรแต่กลับข่มขืนกระทำชำเรา ต่อให้หนังมีความเป็นศิลปะชั้นสูงแค่ไหน แต่ถ้าความตั้งใจของผู้สร้างอัปลักษณ์พิศดารขนาดนี้ แม้งก็ขยะเน่าๆเรื่องหนึ่ง
เอาจริงๆผมไม่ได้มีแผนจะรับชมหนังเรื่องนี้หรอกนะ แต่เห็นว่าเป็นการร่วมงานครั้งสุดท้ายกับสามสหาย ถ่ายภาพ Robert Burks, ตัดต่อ George Tomasini, เพลงประกอบ Bernard Herrmann หลังจากนี้ทุกคนต่างแยกย้าย ล้มหายตายจาก ถือเป็นจุดสิ้นสุด ‘Peak Year’ ของผกก. Hitchcock
Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang
ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938), จากนั้นเซ็นสัญญา(ทาส)โปรดิวเซอร์ David O. Selznick ออกเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างผลงานเด่นๆ Rebecca (1940), Spellbound (1945), Notorious (1946), Stranger on a Train (1951), Rear Window (1954), To Catch a Thief (1955), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960), The Birds (1963) ฯ
ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Psycho (1960) ทำให้ผกก. Hitchcock นำเอากำไรแลกเปลี่ยนเป็นหุ้นสตูดิโอ Universal กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หนึ่งในสาม ถือว่ามีอำนาจในการอนุมัติโปรเจคส่วนตัว อยากทำอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ต้องถูกควบคุมครอบงำโดยใคร … แต่ความเป็นจริงผู้บริหาร/หุ้นส่วนของสตูดิโอ Universal ก็ยังสามารถกดดัน เรียกร้องโน่นนั่นผกก. Hitchcock ได้อยู่ดี
ผกก. Hitchcock มีความสนใจนวนิยายอาชญากรรม Marnie (1961) แต่งโดยนักเขียนสัญชาติอังกฤษ Winston Mawdsley Graham (1908-2003) มาตั้งแต่วางจำหน่ายปี ค.ศ. 1961 ใช้มุกเดิมๆคือไม่ระบุผู้ชื่อผู้ประมวล แต่ทว่า Graham เกิดความเคลือบแคลงสงสัย เลยเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว! … ภายหลังรับรู้ว่าใครคือผู้ชนะการประมูล ก็กล่าวว่าถ้าบอกมาตรงๆตั้งแต่แรกว่าคือผกก. Hitchcock ก็อาจมอบลิขสิทธิ์ดัดแปลงให้ฟรีๆเลยด้วยซ้ำ รู้สึกเป็นเกียรติอยากมากที่ผลงานตนเองได้รับการดัดแปลงโดยผู้กำกับชื่อดัง
เกร็ด: ในหนังสือ Hitchcock and the Making of Marnie (2002) ผู้แต่ง Tony Lee Moral ได้สอบถาม Winston Graham ถึงแรงบันดาลใจนวนิยายเล่มนี้ อธิบายว่ามาจากสามเหตุการณ์จริง
- พี่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งของ Graham เป็นหญิงสาวทรงเสน่ห์ มักได้รับจดหมายจากมารดา พร่ำบ่นถึงอันตรายจากการคบหาผู้ชาย และเห็นว่าเธอชื่นชอบการขี่ม้าอีกด้วย
- บทความหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับหญิงสาวที่ชอบปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ย้ายงานไปเรื่อยๆเพื่อลักขโมยเงินจากนายจ้าง
- หญิงสาวคนหนึ่งมีบุตรสามคน สามีไม่ค่อยอยู่บ้าน จึงชอบหลับนอนกับลูกค้ากะลาสีเรือ ครั้งหนึ่งพลั้งพลาดตั้งครรภ์ พอคลอดก็ฆ่าเด็กทิ้ง ขึ้นศาลไต่สวน รอดพ้นความผิดเพราะข้ออ้างฟั่นเฟือนชั่วขณะ ไม่นานหลังจากนั้นบุตรชายก็เริ่มมีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย
พอได้รับลิขสิทธิ์ดัดแปลง เริ่มต้นมอบหมายนักเขียน Joseph Stefano ที่เคยร่วมงาน Psycho (1960) พัฒนาบทร่างแรก (Treatment) จำนวน 161 หน้ากระดาษ โดยมีภาพนักแสดงนำ Grace Kelly พร้อมตอบตกลง แต่ถูกบีบบังคับให้ถอนตัว (เพราะกลัวทำลายชื่อเสียง Princess of Monaco) ระหว่างมองหานักแสดงคนใหม่ เลยให้เวลากับการสรรค์สร้าง The Birds (1963)
ต่อมาเมื่อ Stefano ขอถอนตัวเพื่อไปรับงานซีรีย์ The Outer Limits (1963-65) เปลี่ยนมาเป็นนักเขียน Evan Hunter ที่เพิ่งร่วมงาน The Birds (1963) แต่เจ้าตัวไม่ค่อยชอบฉากข่มขื่นสักเท่าไหร่ มองว่าอาจทำลายความน่าเห็นใจของพระเอก ทว่าผกก. Hitchcock ยืนกรานต้องใส่ให้ได้ และมีความกระตือรือล้นอย่างมากๆด้วย
Hitch held up his hands the way directors do when they’re framing a shot. Palms out, fingers together, thumbs extended and touching to form a perfect square. Moving his hands toward my face, like a camera coming in for a close shot, he said, “Evan, when he sticks it in her, I want that camera right on her face”.
Evan Hunter เล่าถึงภาพฉากข่มขืนที่ผกก. Hitchcock กระตือรือล้นอยากถ่ายทำ
Hunter ยินยอมพัฒนาบทหนังตามคำร้องขอนั้น และยังตระเตรียมฉากสำหรับใช้แทนการข่มขืน พร้อมยังพยายามโน้มน้าวให้เปลี่ยนใจ ผลลัพท์ทำให้ถูกไล่ออกจากโปรเจค! แล้วถูกแทนที่ด้วยนักเขียนหญิง Jay Presson Allen (1922-2006) ขณะนั้นยังไม่มีชื่อเสียงใดๆ แต่บทละคอนเวที The Prime of Miss Jean Brodie เคยผ่านตาผกก. Hitchcock อ่านแล้วเกิดความชื่นชอบประทับใจ เลยชักชวนมาร่วมงาน และเห็นว่าเคยเสนอแนะให้เธอกำกับหนังเรื่องนี้เองด้วยแต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ
It seems perfectly clear to me that any project takes a minimum of a year to direct. I like to get things on and over with… Did you ever hear the phrase, ‘the lady proposes, the studio disposes’? I didn’t make it up. I would never propose myself as a director.
Jay Presson Allen กล่าวถึงเหตุผลที่บอกปัดการกำกับภาพยนตร์ Marnie (1964)
เกร็ด: เครดิตเขียนบท (Screenplay by) ปรากฎชื่อเพียง Jay Presson Allen เห็นว่าเจ้าตัวมารับรู้เอาภายหลังว่าตนเองคือนักเขียนคนที่สาม เฉกเช่นเดียวกับ Evan Hunter ไม่เคยรับรู้ว่า Joseph Stefano พัฒนาบทก่อนหน้าตนเอง!
บทหนังของ Jay Presson Allen เพียงปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆน้อยๆจากต้นฉบับนวนิยาย สถานที่พื้นหลังประเทศอังกฤษสู่สหรัฐอเมริกา และตอนจบในลงเอยในทิศทางที่ดี สุทรรศนนิยม (Optimistic)
เรื่องราวของหญิงสาวสวย Margaret ‘Marnie’ Edgar (รับบทโดย Tippi Hedren) ปลอมตัวเป็นเลขานุการบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง สบโอกาสเมื่อไหร่ทำการไขตู้เซฟ ลักขโมยเงิน แล้วสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ
ต่อมา Marnie เข้าทำงานในบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ของ Mark Rutland (รับบทโดย Sean Connery) จดจำเธอได้ว่าเคยลักขโมยเงินบริษัทอื่น เลยพยายามเข้าหา แอบตีสนิท พอหญิงสาวลงมือโจรกรรม ก็ทำการข่มขู่ แบล็กเมล์ บีบบังคับให้แต่งงาน ไม่สามารถต่อต้านเลยจำต้องสมยินยอม เรียกร้องขอไม่ให้สัมผัสเนื้อต้องตัว แต่ไม่นานเขาก็มิอาจหักห้ามใจ ลงมือข่มขืนกระทำชำเรา ใช้ข้ออ้างความรักเพื่อขุดคุ้ย ค้นหาปมฝังใจ อะไรที่ทำให้เธอกลายเป็นคนแบบนี้
Nathalie Kay ‘Tippi’ Hedren (เกิดปี ค.ศ. 1930) นักแสดง/นางแบบ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New Ulm, Minnesota พออายุ 20 เดินทางสู่ New York กลายเป็นนางแบบขึ้นหน้าปกนิตยสารดังๆอย่าง Life, Glamour ฯ ค้นพบโดยผู้กำกับ Alfred Hitchcock จากโฆษณาเครื่องดื่มไดเอท Sego จับเซ็นสัญญาเจ็ดปี ทีแรกครุ่นคิดว่าคงมีผลงานรายการโทรทัศน์ Alfred Hitchcock Presents แต่กลายเป็นรับบทนำภาพยนตร์ The Birds (1963) ติดตามด้วย Marnie (1964)
รับบท Margaret ‘Marnie’ Edgar เมื่อครั้นยังเป็นเด็กพบเห็นมารดาทำงานโสเภณี เลยเกิดความรังเกียจเดียดฉันท์พวกผู้ชาย ครั้งหนึ่งครุ่นคิดว่าตนเองโดนกระทำร้ายเลยโต้ตอบ(ชายคนนั้น)ด้วยความรุนแรง จากนั้นพยายามลบเลือนความทรงจำ ทำให้หลงเหลือเพียงอาการหวาดกลัวสีแดง และฟ้าร้องฟ้าผ่ายามฝนตก
เพราะโหยหาการยอมรับจากมารดา ไม่ต้องการให้เธอหวนกลับไปทำงานโสเภณี จึงพยายามหาเงินให้ได้มากๆ ออกเดินทางไปยังรัฐต่างๆ สมัครงานเลขานุการ คอยสังเกต จับจ้อง เฝ้ารอคอยโอกาส ก่อนลักขโมยเงินบริษัทแล้วหลบหนีหายตัวไปอย่างลึกลับ
จนกระทั่งวันหนึ่งถูกจับได้โดย Mark Rutland โดนข่มขู่ แบล็กเมล์ บีบบังคับให้แต่งงาน พยายามต่อรองไม่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็ถูกใช้กำลังข่มขืน ฝืนใจตนเองอยู่นานในที่สุดก็ยินยอมจำนวน ให้เขาขุดคุ้ยความทรงจำ เผชิญหน้ากับอดีต เชื่อว่าจักก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนั้นได้สำเร็จ
ความตั้งใจแรกของผกก. Hitchcock อยากได้ Grace Kelly ซึ่งเธอก็มีความกระตือรือร้น อยากหวนกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกสักครั้ง แต่สถานการณ์ขณะนั้นมีความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศส-โมนาโก ราชวงศ์ต้องการรักษาภาพลักษณ์ ยิ่งถ้าเจ้าหญิงจุมพิตชายอื่นคงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เธอเลยจำต้องถอนตัวอย่างช่วยไม่ได้
หลังข่าวคราวว่า Kelly ถอนตัวจากโปรเจค Marilyn Monroe พยายามเสนอตัวเข้ามา ผกก. Hitchcock ให้ความเห็นว่า “an interesting idea” นักแสดงคนอื่นๆก็อย่าง Lee Remick, Vera Miles, Eva Marie Saint, Susan Hampshire, สุดท้ายระหว่างถ่ายทำ The Birds (1963) ประทับใจความตั้งใจทำงานของ Tippi Hedren เลยประกาศกลางกองถ่ายว่าจะให้รับบทนำภาพยนตร์เรื่องถัดไป!
การแสดงของ Hedren แม้จะถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรงตอนออกฉาย ดัดจริต เปลืองตัว ทำเรื่องชั่วแล้วจะให้สงสารเห็นใจได้อย่างไร? แต่กาลเวลากับผู้ชมรุ่นใหม่ ต่างให้การยกย่องสรรเสริญถึงความลึกล้ำ ซับซ้อน ภายนอกแสดงพฤติกรรมเย็นชา สำหรับปกปิดความกลัว/สิ่งชั่วร้าย/ปมจากอดีตซุกซ่อนไว้ภายใน จนเมื่อถูกกดดัน บีบคั้น ไร้หนทางออก วินาทีที่เธอบีบเสียงแหลมเหมือนเด็ก เบื้องหลังได้รับการเปิดเผย ใครจะไปคาดคิดถึง เกิดอาการอ้ำอึ้ง จุกแน่นอก เจ็บปวดรวดร้าว โคตรๆน่าสงสารเห็นใจ
I consider my acting, while not necessarily being method acting, but one that draws upon my own feelings. I thought Marnie was an extremely interesting role to play and a once-in-a-lifetime opportunity.
Tippi Hedren
แตกต่างจากตอน The Birds (1963) เพราะยังขาดประสบการณ์ ไม่เคยแสดงภาพยนตร์มาก่อน ผกก. Hitchcock จึงคอยประกบ Hedren แทบจะทุกย่างก้าว, มาคราวนี้ Marnie (1964) ไม่ได้ให้คำแนะนำอะไร มอบอิสรภาพในการแสดงอย่างเต็มที่ ถึงอย่างนั้นกลับกีดกันคนอื่นไม่ให้เข้าใกล้ ไม่ให้สุงสิง เข้าสังคม แตะเนื้อต้องตัว เวลาจะพูดคุยอะไรก็ต้องปลีกวิเวกสองต่อสอง
She was never allowed to gather around with the rest of us, and he demanded that every conversation between her and Hitch be held in private… Nothing could have been more horrible for me than to arrive on that movie set and to see her being treated the way she was.
Diane Baker รับบทน้องเขย Lil Mainwaring
การคุกคามทางเพศของผกก. Hitchcock ค่อยๆชัดเจนขึ้นเรื่อยๆระหว่างการถ่ายทำ จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Hedren ก็ไม่สามารถอดรนทน แม้นำความไปพูดคุยกับใครหลายคนแต่ก็ไม่มีใครสามารถช่วยเหลืออะไร ยุคสมัยนั้นยังไม่มีกระแส #MeToo ไม่มีใครกล้าออกมาพูดความจริงออกมา เพราะบุคคลเสียหายจะคือตัวเธอเอง ไม่ใช่ผู้กำกับดังที่ใครต่อใครมากมายสนับสนุนหลัง
He’d find some way to express his obsession with me, as if I owed it to him to reciprocate somehow… He suddenly grabbed me and put his hands on me. It was sexual, it was perverse and it was ugly. The harder I fought him, the more aggressive he became.
It was an awful, awful moment. I didn’t tell anyone because sexual harassment and stalking were terms that didn’t exist. Which one of us was more valuable to the studio, him or me? Studios were the power. And I was at the end of that, and there was absolutely nothing I could do legally whatsoever. There were no laws about this kind of a situation. If this had happened today, I would be a very rich woman.
I’ve made it my mission ever since to see to it that while Hitchcock may have ruined my career, I never gave him the power to ruin my life.
Tippi Hedren
เหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นกับ Hedren มันช่างเลือนรางระหว่างภาพยนตร์ & ชีวิตจริง จนทำให้ใครหลายคนไม่อยากเชื่อ แค่เพียงข่าวแท็บลอยด์ ฟังความข้างเดียว สำหรับขายหนังสือชีวประวัติ แต่ผมไม่คิดว่ามันจะห่างไกลความจริงมากนัก เพราะบุคคลที่เป็นศิลปินมักนำตัวตนเองใส่ลงมาในผลงานศิลปะ ต่อให้มันอัปลักษณ์พิศดารสักเพียงไหน ถ้านักวิจารณ์ให้การยินยอมรับ ยกย่องศิลปะชั้นสูง ย่อมมีคุณค่าสูงส่งเหนือกาลเวลา
Sir Sean Connery (1930-2020) นักแสดงสัญชาติ Scottish เกิดที่ Edinburgh พออายุ 16 สมัครเข้าร่วมทหารเรือ (Royal Navy) ประจำการยัง HMS Formidable ถูกปลดประจำการตอนอายุ 19 เพราะตรวจพบแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer) จากนั้นทำงานคนขับรถ ไลฟ์การ์ด โมเดลลิ่ง ก่อนตัดสินใจเอาดีด้านการแสดง เริ่มจากละคอนเวที แจ้งเกิดจากแฟนไชร์ James Bond ตั้งแต่ Dr. No (1962) จนถึง Diamonds Are Forever (1971) และ Never Say Never Again (1983), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Marnie (1964), The Hill (1965), Murder on the Orient Express (1974), The Man Who Would Be King (1975), A Bridge Too Far (1977), The Name of the Rose (1986), The Untouchables (1987)**คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor, Indiana Jones and the Last Crusade (1989), The Hunt for Red October (1990), The Rock (1996) ฯ
รับบทพ่อหม้าย Mark Rutland สูญเสียภรรยาไปเมื่อหลายปีก่อน สืบทอดกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ใน Philadelphia ครั้งหนึ่งเคยแวะเวียนไปหาเพื่อนร่วมธุรกิจที่เพิ่งโดนเลขาส่วนตัว จดจำเค้าหน้าลางๆ คาดไม่ถึงจะมีโอกาสพบเจอระหว่างสมัครทำงานบริษัทตนเอง พยายามหาโอกาสพูดคุย ทำความรู้จัก ฉกฉวยโอกาสตอนเธอลงมือโจรกรรม ทำการข่มขู่ แบล็กเมล์ บีบบังคับให้แต่งงาน ใช้ข้ออ้างความรักให้โอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่
Connery ขณะนั้นเพิ่งถ่ายทำ James Bond ภาคแรก Dr. No (1962) รับรู้ตัวว่ากำลังจะได้เล่นภาคสอง-สาม ไม่ได้ต้องการกลายเป็น ‘Typecast’ เลยพยายามมองหาบทบาทอื่นที่ไม่ใช่นักสืบ สายลับ เล็งเห็นโอกาสร่วมงานผกก. Hitchcock อ่านบทแล้วจึงตอบตกลง
ผมรู้สึกว่า Connery เป็นตัวเลือกที่ ‘Mis-Casting’ อย่างรุนแรง แม้เป็นชาว Scottish แต่ทั้งภาพลักษณ์ บุคลิกภาพ น้ำเสียงสนทนา ล้วนมีความเป็นผู้ดีอังกฤษ ซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต ดูไม่น่าจะทำการบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ สำแดงด้านมืด ข่มขืนกระทำชำเราหญิงสาว
การแสดงของ Connery ดูเรื่อยๆ เฉื่อยๆ ใบหน้านิ่งๆ ขาดความกระตือรือล้น ผมสัมผัสไม่ได้ถึงความรัก/สงสารเห็นใจนางเอก หรือด้านมืดตัวละครแต่อย่างใด แถมน้ำเสียงยังแบนราบเรียบ ไร้อารมณ์ร่วม … สงสัยมาแต่ตัว หรือไม่รู้ขัดแย้งอะไรผกก. Hitchcock ระหว่างถ่ายทำหรือเปล่า? หวนกลับไปเล่น James Bond น่าจดจำกว่าเยอะ
ถ่ายภาพโดย Leslie Robert Burks (1909-68) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chino, California พออายุ 19 เข้าทำงานแผนก Special Effect ในห้องแลป Warner Bros. ก่อนไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ช่วยตากล้องเมื่อปี ค.ศ. 1929, ควบคุมกล้อง ค.ศ. 1934, แล้วได้รับเครดิตถ่ายภาพตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944, ร่วมงานขาประจำผกก. Alfred Hitchcock เริ่มตั้งแต่ Strangers on a Train (1951) จนถึง Marnie (1964), คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, Color ภาพยนตร์ To Catch a Thief (1955)
งานภาพของหนังอาจไม่ได้มีลูกเล่นหวือหวาเทียบเท่าหลายๆผลงานก่อนหน้า แต่ยังคงความเป็น Hitchcockian ละเล่นกับแสงสี (โดยเฉพาะเหลือง-ส้ม-แดง) ทิศทางมุมกล้อง รายละเอียดประกอบฉาก ซึ่งสำหรับ Marnie (1964) โดดเด่นสุดเห็นจะเป็นขณะเล่าย้อนอดีต ปรับประยุกต์เทคนิค Dolly Zoom (หรือ Vertigo Effect) มาใช้กับการรื้อฟื้นความทรงจำ (แต่มันก็ไม่ได้ดูน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ Vertigo (1958))
แม้กองสองจะเดินทางไปถ่ายทำยังหลายๆสถานที่ อาทิ Pennsylvania, Virginia, New Jersey แต่การถ่ายทำนักแสดงทั้งหมดเกิดขึ้นภายในโรงถ่าย Universal Studios ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 เสร็จสิ้นวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1964
ภาพแรกของหนังจับจ้องที่กระเป๋าสีเหลือง ไม่นานนักจักรับรู้ว่าคือกระเป๋าใส่เงิน ลักขโมยจากตู้เซฟบริษัทแห่งหนึ่ง ถ้าเป็นภาษาโปรแกรมเมอร์มีคำเรียกว่า “ประกาศตัวแปร” บ่งบอกให้ผู้ชมรับรู้ว่าเฉดสีนี้เคลือบแฝงนัยยะอะไรบางอย่าง
จากนั้นหญิงสาว(ที่ถือกระเป๋าใบนี้)ระหว่างเข้าพักโรงแรม ทำการย้อมสีผม เปลี่ยนจากดำเป็นบลอนด์ (เอาว่ามันคือเฉดสีเหลืองเดียวกัน) เพื่อจะสื่อว่ากระเป๋าใส่เงิน = หญิงสาวกระทำสิ่งชั่วร้าย หรือก็คือ ‘Hitchcock Blonde’ ผู้หญิงอันตรายในสไตล์ Hitchcockian
ระหว่างหญิงสาวกำลังก้าวเดินในโถงโรงแรม ผกก. Hitchcock ก็เปิดประตู ก้าวออกมา แล้วหันสบตาหน้ากล้อง ผมไม่ค่อยแน่ใจว่านี่คือครั้งแรกเลยรึเปล่าที่ทำการ “Breaking the Fourth Wall” ทำลายความคลุมเคลือระหว่างภาพยนตร์/ผู้ชม เหมือนต้องการจะสำแดงความสัมพันธ์ระหว่างหนังเรื่องนี้กับชีวิตจริงของตนเอง … จะว่าไปก้าวออกจากห้องพักโรงแรม ผมละไม่อยากจินตนาการว่าทำอะไรอยู่ในนั้น
ทุกครั้งหลังลงมือโจรกรรม ปล้นเงินจากตู้เซฟบริษัท Marnie จะมาควบขี่ม้าคู่ใจ Forio (มาจากภาษากรีก Phorion แปลว่า Stolen Goods) ดูแล้วน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการโลดแล่น เป็นอิสรภาพ ได้กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ
แต่การถ่ายทำนักแสดงบนหลังม้า ยุคสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย! ต้องติดต่อขอหยิบยืมม้าจักรกล (Mechanical Horse) มาจากสตูดิโอ Walt Disney ส่วนพื้นหลังก็ฉายภาพผ่านเครื่อง Rear Projection ทำให้ภาพดูลอยๆ ราวกับหญิงสาวกำลังโบยบินในความเพ้อฝัน
บ้านของมารดา Bernice Edgar (รับบทโดย Louise Latham) ตั้งอยู่ยัง Sanders St., Baltimore รัฐ Maryland จะส่งกองสองไปถ่ายทำยังสถานที่จริงก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุผลที่เลือกใช้การวาดภาพทิวทัศน์ด้านหลัง เพื่อสามารถควบคุมวันเวลา สภาพอากาศ รวมถึงลมฟ้าฝน ช่วงท้ายของหนังพบเห็นฟ้าแลบไกลๆด้วยนะ
และอีกเหตุผลสำคัญก็คือ ทำให้บ้านหลังนี้ดูราวกับดินแดนแห่งความฝันของ Marnie ทุกครั้งที่หวนกลับมา โหยหาการยินยอมรับ พยายามเรียกร้องหาความสนใจจากมารดา
เกร็ด: ตอนต้นเรื่องเมื่อ Marnie เดินทางมาถึงบ้าน ระหว่างลงจากแท็กซี่มันจะมีอะไรสักอย่างบินผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมพยายามสังเกตแล้วแต่ก็มองไม่ออก อ่านเจอเบื้องหลังว่าคือนกอีกา เพื่ออ้างอิงถึงภาพยนตร์ The Birds (1963)
ทุกครั้งที่ Marnie พบเห็นอะไรก็ตามที่มีสีแดง จะเกิดอาการหน้ามืดวิงเวียน ปั่นป่วนท้องไส้ วิธีที่หนังนำเสนอคือสาดส่องแสงสีแดงอาบฉาบใบหน้า ให้มีลักษณะวูบๆวาบๆ ติดๆดับๆ สร้างสัมผัสต้องห้าม อันตราย จะเป็นจะตาย … แต่ว่ากันตามตรงนี่เป็นเทคนิคที่ดู ‘Cheap’ ไม่ได้มีความน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อเทียบกับ Dolly Zoom หรือ Vertigo Effect
ถึงอย่างนั้นนี่เป็นเทคนิคได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะบรรดาผู้กำกับ French New Wave และหนังแนว Giallo นำเอาไปสาดแสงสีเพื่อสร้างสัมผัสทางอารมณ์
ยามค่ำคืน Marnie นอนหลับฝันร้าย มารดาจึงเข้ามาปลุกให้ไปรับประทานอาหารค่ำ (Supper) แต่ภาพของเธอหันหลังให้กับแสงสว่าง ทำให้เรือนร่างปกคลุมด้วยความมืดมิด สร้างสัมผัสชั่วร้าย บุคคลอันตราย เต็มไปด้วยลับลมคมใน เหมือนว่าเคยกระทำบางสิ่งอย่างเอาไว้ให้กลายเป็นปม/ตราบาปฝังใจ … แต่นี่คือลักษณะของการ ‘mis-direction’ ล่อหลอกว่ามารดาน่าจะเคยกระทำสิ่งเลวร้ายบางอย่าง
สถานที่ทำงานใหม่ของ Marnie ยังบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ Rutland & Co. ตั้งอยู่ยัง Philadelphia, Pennsylvania ภาพช็อตนี้มีส่วนผสมของภาพวาดทิวทัศน์พื้นหลัง และอาคารหลังนี้ใช้เทคนิค Matte Painting (ภาพวาดบนกระจก) ทำออกมาเกือบจะแนบเนียน แต่ก็ให้ความรู้สึกสถานที่ในความฝัน ไม่มีอยู่จริง
แค่ชื่อตัวละคร Lil Mainwaring (รับบทโดย Diane Baker) ก็ทำเอาผมเกิดการตื่นตัว ยัยนี่ต้องการ Warning อะไร? สวมใส่ชุดเหลืองก็แอบบอกใบ้ถึงบุคคลอันตราย ลับลมคมใน ผมอ่านจากภาษากายแสดงออกว่าแอบตกหลุมรัก Mark รังเกียจชัง Marnie ที่แก่งแย่งเขาไป ภายหลังจึงครุ่นคิดแผนการชั่วร้ายบางอย่าง … ในบทหนังจะมีฉากที่เธอเผชิญหน้ากับ Marnie พร้อมจ่ายสินบน $25,000 เหรียญ เพื่อให้หายตัวไปไม่หวนกลับมา
เกร็ด: เมื่อตอน The Birds (1963) ผกก. Hitchcock มีความประทับใจการแสดงของ Suzanne Pleshette เลยชักชวนมารับบท(อดีต)น้องสะใภ้ แต่เธอตอบปฏิเสธเพราะตระหนักว่านี่ไม่ใช่บทนางเอก “Is the sister’s name ‘Marnie’? I don’t think so! I don’t think that’s the lead!”
เมื่อนายจ้างมอบหมายให้ Marnie มาทำงานพิเศษวันหยุด บังเอิญว่าวันนี้ฝนฟ้าคะนอง ทำให้หญิงสาวแสดงอาการหวาดกลัวสายฟ้าแลบ ลุกขึ้นถอยหนีหลังพิงประตู Mark เข้ามาโอบกอด ปลอบประโลม พาไปนั่งบนโซฟา แล้วจู่ๆต้นไม้ล้มลงมาทับสิ่งของอดีตภรรยา (ถ่ายมุมก้มจากเพดาน ‘God’s Eye View’ พระเจ้าดลบันดาลฟ้าฝน) ทั้งสองจึงย้ายไปยืนตรงประตู (มุมกล้องเอียงๆสื่อถึงโลกภายในที่กำลังสั่นคลอน) ฉกฉวยโอกาสจุมพิตให้เธอสงบสติอารมณ์
ตั้งแต่แรกเริ่ม Mark มีความสนอกสนใจในตัวหญิงสาว รู้สึกมักคุ้นตอนเข้ามาสมัครงาน สังเกตอาการผิดปกติตอนน้ำหมึกหยดใส่เสื้อ มาคราวนี้พบเห็นพฤติกรรมกลัวฟ้ากลัวฝน จึงเกิดความรักใคร่เอ็นดู ต้นไม้ล้มทับทำลายสิ่งของอดีตภรรยา สื่อว่าภายในจิตใจของเขาไม่หลงเหลืออะไรกับเธอคนนั้น และตอนนี้กำลังจะเริ่มต้นรักครั้งใหม่ … นัยยะของต้นไม้ล้มเข้ามาในห้องทำงาน ก็เปรียบเหมือนหญิงสาวเข้ามาแทนที่คนเก่าในหัวใจ
การขโมยจูบของ Mark บางคนอาจมองว่ามันมีความโรแมนติกดี เหมาะกับสถานการณ์ทำให้หญิงสาวสงบสติอารมณ์ แต่ผมมองว่าเป็นการฉกฉวยโอกาส จุมพิตในช่วงเวลาที่เธอไม่สามารถปกป้องกันตนเอง … อันนี้ถือเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่มีผิดไม่มีถูก ถ้าฝ่ายหญิงมีใจคงไม่อะไร แต่ถ้าเธอปฏิเสธก็อาจถึงขั้นเป็นตาย
วันที่ Marnie ลงมือโจรกรรมเงินบริษัท เริ่มต้นจากหลบซ่อนตัวในห้องน้ำ แสงภายนอกที่ลอดเข้ามาตัดกับเงามืดภายใน หญิงสาวยืนอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่าง (แสงสว่าง-เงามืด) นี่สะท้อนมุมมองผกก. Hitchcock คิดเห็นว่าเธอยังคาบเกี่ยวระหว่างดี-ชั่ว พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นเพราะแรงกระตุ้นบางอย่าง ไม่สามารถควบคุมตนเอง
การลงมือโจรกรรมของ Marnie ไม่ได้มีความตื่นเต้น ลุ้นระทึกประการใด (เทียบไม่ได้กับการย่องแมว To Catch a Thief (1955)) เพราะแผนการของเธอถือว่าเกือบจะสมบูรณ์แบบ ‘Perfect Crime’ ด้วยเหตุนี้ผกก. Hitchcock จึงพยายามมองหาสิ่งสร้างความตื่นเต้นสักเล็กน้อย นั่นคือแม่บ้านสวมกระโปรงเหลือง (สัญลักษณ์บุคคลอันตราย) กำลังทำความสะอาด ถูพื้นไล่มาเรื่อยๆ … แต่มันก็ไม่สามารถปลุกตื่น สร้างความเนื้อเต้นให้ผู้ชมสักเท่าไหร่
หลังจาก Marnie ถูก Mark จับได้ว่าลักขโมยเงินบริษัท พอเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จสรรพ แม้จะไม่มีไอน้ำโพยพุ่ง แต่ก็ชวนให้นึกถึง Vertigo (1958) อยู่ไม่น้อย! ตรงกันข้ามคือหญิงสาวไม่ได้ปลอมตัวเป็นใคร นี่คือภาพลักษณ์ ตัวตนแท้จริงของเธอเอง!
หนึ่งใน “Worst Sex/Rape Scene of All-Time” วินาทีที่หญิงสาวโดนกระชากเสื้อผ้า เธอก็หยุดแน่นิ่ง ไม่ขยับเคลื่อนไหวติง กลายเป็นตุ๊กตา ซากศพ ไร้จิตวิญญาณ ถึงกระนั้นฝ่ายชายยังบังเกิดอารมณ์ทางเพศ เข้ามาจุมพิตบน (มุมก้ม) จุมพิตล่าง (มุมเงย) จากนั้นทิ้งตัวลงนอน จับจ้องใบหน้าทั้งสองค่อยๆโน้มตัวเข้าหากัน ก่อนกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลไปยังหน้าต่าง พบเห็นทิวทัศน์มหาสมุทรยามค่ำคืน
สิ่งแรกที่ผมตั้งคำถาม ผกก. Hitchcock ต้องการให้ผู้ชมรับรู้อะไรกับฉากนี้? ไม่ใช่ว่ามันควรเป็นสิ่งต้องห้าม บังเกิดอคติต่อต้าน แต่นอกจากปฏิกิริยาฝ่ายหญิงที่แน่นิ่ง (และชุดสีเหลืองมอบสัมผัสอันตราย) จุมพิตอันนุ่มนวล พร้อมบทเพลงโรแมนติก มันช่างขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง
ผมรับรู้สึกว่าผกก. Hitchcock พยายามจะทำฉากนี้ให้ดูเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทั้งสองมีสถานะสามี-ภรรยา มันจึงเป็นสิทธิที่บุรุษจะได้ครอบครองเรือนร่าง ร่วมรักภรรยา ไม่ว่าเธอจะสมยินยอมพร้อมใจหรือไม่ … แนวคิดนี้สะท้อนค่านิยมทางสังคมยุคสมัยก่อนนะครับ ถ้าเรามองผ่านเลนส์ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ย่อมไม่เห็นชอบด้วยอย่างแน่แท้
หลังถูกข่มขืน Marnie ครุ่นคิดอยากจะฆ่าตัวตาย แต่แทนที่จะกระโดดลงมหาสมุทรจะได้จบๆเรื่อง กลับเลือกสระว่ายน้ำบนเรือ นอนคว่ำ กลั้นหายใจ เหมือนยังไม่ได้อยากตายจริงๆ แค่ต้องการเรียกร้องความสนใจ เพื่อไม่ให้เขายุ่งเกี่ยวอะไรกับตนเอง
การลอยคออยู่ในสระน้ำของ Marnie ถ้าไม่มองเป็นเรื่องฆ่าตัวตาย มันเหมือนเหมือนเธอพยายามดำดิ่งลงสู่ก้นเบื้องจิตใจ สำรวจใต้ผืนผิวน้ำ/ภูเขาน้ำแข็ง ค้นหาอดีตที่ถูกเก็บซ่อนเร้น ฝันร้ายติดตามมาหลอกหลอน ต้องการเป็นอิสระ ค้นพบเบื้องหลังความจริง เพื่อว่าจะมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่
ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ Notorious (1945) ที่กล้องเคลื่อนเลื่อนจากชั้นสองมาถึงมือของ Ingrid Bergman พยายามซุกซ่อนกุญแจห้องใต้ดิน! แต่ทว่าฉากนี้ใน Marnie (1964) กล้องเคลื่อนเลื่อนจากชั้นสองลงไปตรงประตู ไม่ได้มีความน่าประทับใจอะไร เรื่องราวก็แค่เพียงน้องสะใภ้ Lil Mainwaring เชื้อเชิญอดีตนายจ้างของ Marnie เพื่อให้เกิดการเผชิญหน้า เปิดโปงเบื้องหลังความจริงอะไรบางอย่าง
หลังจากพบเห็นใครคนหนึ่งสวมชุดสีแดงระหว่างการล่าสัตว์ ทำให้ Marnie ขวัญหนีดีฝ่อ ควบขี่ม้าออกจากขบวนล่าสัตว์ ไม่สามารถหยุดยับยั้ง ควบคุมตนเอง จนพุ่งเข้าชนกำแพงบ้านหลังหนึ่ง Forio ได้รับบาดเจ็บสาหัส เธอจึงเรียกร้องขอให้ช่วยปลิดชีวิตม้าตัวโปรด … ในเมื่อ Forio หมายถึง Stolen Goods ความตายของมันจึงอาจสื่อถึงจุดจบอาชีพหัวขโมย สูญเสียอิสรภาพ/สันชาตญาณของหญิงสาว
ปล. ผมค้นหาอยู่นานว่า Helicopter Shot ถ่ายภาพระหว่างการควบม้าไล่ล่าสัตว์ เคยพบเห็นจากภาพยนตร์เรื่องไหน? ก่อนพบเจอ Tom Jones (1963) ก็ไม่รู้ผกก. Hitchcock ทันได้รับชมแล้วหรือยัง? แต่เรื่องนั้นถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ดูสมจริงกว่ามากๆ
ความตายของเจ้าม้าตัวโปรด ทำให้ Marnie ไม่สามารถควบคุมตนเอง ไขตู้เซฟ กำลังจะปล้นเงิน (สายรัดธนบัติสีเหลือง!) ยื่นมือสั่นๆ กล้องซูมเข้าซูมออกธนบัติ แต่มันกลับบังเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน … การต่อสู้ระหว่างสันชาติญาณ (Id) vs. จิตสามัญสำนึก ต้องการกระทำสิ่งถูกต้อง (Super Ego)
การไม่สามารถกระทำตามสัญชาตญาณ (Id) หยิบเงินออกจากตู้เซฟของ Marnie ก็เหมือนกำแพงที่เจ้าม้า Forio ไม่สามารถกระโดดข้าม เป็นเหตุให้เธอต้องลงมือสังหาร แม้เป็นการทำลายตัวตนเอง สูญเสียอิสรภาพ แต่จักก่อให้เกิดจิตสามัญสำนึก สามารถควบคุมตนเอง กระทำในสิ่งถูกต้องเหมาะสม
Mark ลากพา Marnie หวนกลับบ้านมาเผชิญหน้ามารดา เพราะครุ่นคิดว่าเธอคงเคยกระทำบางสิ่งชั่วร้ายกับบุตรสาว แต่แท้จริงแล้วคือ Marnie ต่างหากที่เคยทำบางสิ่งอย่างเอาไว้ แล้วเก็บฝังความทรงจำนั้นไว้ก้นเบื้องภายในจิตใจ
การรื้อฟื้น เล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) ถ่ายทำด้วยเฉดสีซีเปีย (มอบสัมผัสภาพถ่ายเก่าๆ จะว่าไปก็ออกโทนเหลืองแก่ๆ) เริ่มต้นพบเห็นเทคนิค Dolly Zoom แต่แตกต่างจาก Vertigo (1958) ตรงทิศทางการเคลื่อนกล้องไปในทิศทางเดียวกับการซูมมิ่ง … โดยปกติแล้ว Dolly Zoom มักจะทำในสิ่งขัดแย้ง เคลื่อนกล้องเข้า-ซูมออก หรือเคลื่อนกล้องออก-ซูมเข้า แต่ภาพช็อตนี้ทำการเคลื่อนกล้องเข้า-ซูมเข้า มันยังถือเป็นเทคนิค Dolly Zoom แต่จะเรียกว่า Vertigo Effect คงไม่ถูกต้องนัก
ลีลาการถ่ายภาพลักษณะนี้ก็เพื่อนำพาผู้ชมเข้าไปในจิตใต้สำนึกตัวละคร เปิดเผยเบื้องหลัง ความทรงจำเลวร้ายที่ซุกซ่อนไว้ในห้องหัวใจอันคับแคบ อธิบายเหตุผลที่ Marnie รังเกียจผู้ชาย กลัวฟ้าร้องฟ้าผ่าและเฉดสีแดง(เลือด) รวมถึงเหตุผลที่เธอกลายเป็นหัวขโมย เพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูแลมารดา จักได้ไม่ต้องขายตัวกับกะลาสี พิสูจน์ตนเองให้ได้รับการยินยอมรับ
ตอนจบของหนังเป็นอีกสิ่งที่ผมโคตรๆเอือมละอา แทนที่ Marnie จะยินยอมรับความผิดเคยกระทำ (การลักทรัพย์นายจ้างถือเป็นคดีอาญา) กลับศิโรราบต่อ Mark ขอให้เขาใช้ ‘เงิน’ ชดใช้หนี้สิน ไม่ต้องติดคุกติดตาราง ครุ่นคิดว่าฉันสวย แต่งานกับคนรวย กลายเป็นเจ้าหญิง (Princess Syndrome) สามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง
และความรักที่ Marnie มีต่อ Mark มีลักษณะคล้ายๆ Stockholm Syndrome (คล้ายๆ Beauty and the Beast เจ้าหญิงตกหลุมรักจอมอสูรที่จับตนคุมขังทรมาน) หญิงสาวถูกข่มขู่ แบล็กเมล์ บีบบังคับให้แต่งงาน แล้วข่มขืนกระทำชำเรา แต่เธอกลับยังมอบความรักให้อีกฝ่าย … นี่ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หรืออาการป่วยทางจิตเวช แต่มุมมองคนภายนอกมักไม่เห็นด้วยว่ามันถูกต้องเหมาะสม เพียงเกมการละเล่นของบุรุษเท่านั้นเอง
ตัดต่อโดย George Tomasini (1909-64) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Springfield, Massachusetts ทำงานในสังกัด Paramount Picture เริ่มมีชื่อเสียงจาก Stalag 17 (1953), โด่งดังจากการร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock ตั้งแต่ Rear Window (1954) จนถึง Marnie (1964)
เรื่องราวของหนังมีจุดศูนย์กลางคือ Margaret ‘Marnie’ Edgar แต่หลายครั้งดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Mark Rutland ใช้ข้ออ้างความรักในการปกป้อง ให้ความช่วยเหลือ แบบเดียวกับผู้ชมที่มีความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจว่าเธอเคยมีปมปัญหาอะไรที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน
- เรื่องราวของหญิงสาว Marnie
- Title Sequence + หญิงสาวผมดำถือกระเป๋าเหลืองเดินจากไป + บริษัทแห่งหนึ่งถูกปล้นตู้เซฟ
- หญิงสาวเข้าพักโรงแรม ย้อมผมบลอนด์ เปลี่ยนถ่ายกระเป๋าในสถานีรถไฟ แล้วไปควบขี่ม้าตัวโปรด
- เดินทางกลับบ้าน ทำตัวเหมือนเด็กน้อย เรียกร้องหาความสนใจจากมารดา
- เข้าสัมภาษณ์งานบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์แห่งหนึ่งใน Pennsylvania
- การโจรกรรมของ Marnie
- ระหว่างทำงานเลขานุการ พยายามสังเกต จดจำรายละเอียดตู้เซฟ ครั้งหนึ่งทำหมึกแดงหยดใส่เสื้อ ท่าทางลุกรี้ร้อนรน จะเป็นจะตาย
- Mark Rutland ว่าจ้าง Marnie ให้มาทำงานนอกเวลา แต่บ่ายวันนั้นฝนตกฟ้าคะนอง สร้างความหวาดกลัวให้หญิงสาว
- Mark นำพา Marnie ไปยังลานแข่งม้า ตามด้วยพบเจอบิดา
- Marnie ทำการลักขโมยเงินของบริษัท
- ถูกจับได้ไล่ทันโดย Mark Rutland
- ระหว่างกำลังควบขี่ม้า Mark เดินทางมาหา Marnie เรียกร้องขอให้เธอคืนเงินบริษัท
- Mark ทำการข่มขู่ แบล็กเมล์ บีบบังคับให้ Marnie แต่งงานกับตนเอง
- ฮันนีมูนบนเรือโดยสาร ก่อนลงมือข่มขืน ทำให้ Marnie พยายามจะฆ่าตัวตาย
- จึงต้องพากลับบ้านก่อนกำหนด พร้อมค่ำคืนฝันร้าย
- การเผชิญหน้าตัวตนตนเองของ Marnie
- ในงานเลี้ยงปาร์ตี้ Marnie ต้องเผชิญหน้ากับเจ้านายเก่า แต่แสร้งว่าจดจำไม่ได้
- วันถัดมาระหว่างกิจกรรมล่าสัตว์ Marnie ควบขี่ม้าตัวโปรดหลบหนีความวุ่นวาย แต่พลั้งพลาดประสบอุบัติเหตุ ไม่อยากเห็นมันทุกข์ทรมานจึงฆ่าให้ตกตาย
- ด้วยแรงผลักดันบางอย่างทำให้ Marnie ต้องการลักขโมยเงินในตู้เซฟ
- Mark ลากพา Marnie ไปยังบ้านของมารดา บีบบังคับให้รื้อฟื้นความทรงจำ เผชิญหน้ากับอดีต เพื่อให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่
ลีลาการดำเนินเรื่องของ Marnie (1964) มีส่วนผสมของ Psycho (1960) และ The Birds (1963) ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดทีละเล็กละน้อย อย่างไม่รีบเร่งร้อน ให้เวลาสร้างความอยากรู้อยากเห็น แต่ความล้มเหลวของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดจากการไม่มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นใดๆระหว่างทาง แถมความยาวนานกว่าทั้งสองเรื่องอีกนะ 130 นาที!, Psycho มีเหตุการณ์ฆาตกรรม, The Birds มีนกโจมตี, การลักขโมย ไขตู้เซฟของ Marnie ไม่ได้ลุ้นระทึก ตัวเกร็ง ปั่นป่วนท้องไส้ เพียงความง่วงหงาวหาวนอน ฉากข่มขืนก็ไม่ได้มีอะไรน่าจดจำ แค่เพียงตอนจบปลุกตื่นให้ผู้ชมเตรียมออกจากโรงภาพยนตร์เท่านั้นเอง!
เพลงประกอบโดย Bernard Herrmann ชื่อเกิด Maximillian Herman (1911-75) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ในครอบครัว Russian Jewish บิดาผลักดันบุตรชายให้ร่ำเรียนไวโอลินตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 13 แต่งเพลงชนะรางวัล จึงมุ่งมั่นเอาจริงจังด้านนี้ โตขึ้นเข้าศึกษา New York University ต่อด้วย Juilliard School จบออกมาก่อตั้งวง New Chamber Orchestra of New York, ก่อนเข้าร่วม Columbia Broadcasting System (CBS) กลายเป็นวาทยากร CBS Symphony Orchestra ระหว่างนั้นมีโอกาสร่วมงาน Orson Welles ทำเพลงประกอบรายการวิทยุ, Radio Drama, ภาพยนตร์เรื่องแรก Citizen Kane (1941), The Devil and Daniel Webster (1941)**คว้ารางวัล Oscar: Best Music, Scoring of a Dramatic Picture, The Magnificent Ambersons (1942), Jane Eyre (1943), Anna and the King of Siam (1946), The Day the Earth Stood Still (1951), Cape Fear (1962), Taxi Driver (1976) ฯ
Herrmann ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock ทั้งหมด 7 ครั้ง ประกอบด้วย The Trouble with Harry (1955), The Man Who Knew Too Much (1956), The Wrong Man (1956), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960) และ Marnie (1964)
ในบรรดาการร่วมงานระหว่าง Herrman และผกก. Hitchcock ทั้งหมด 7 ครั้ง ผมแอบรู้สึกว่า Marnie (1964) เป็นผลงานน่าประทับใจน้อยที่สุด จริงอยู่บทเพลงมีความไพเราะเพราะพริ้ง (นึกว่าหนังแนว Costume Period) แฝงบรรยากาศทะมึน อึมครึม เพื่อสื่อถึงบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ แต่ท่วงทำนองกลับขาดความสดใหม่ บางท่อนฟังดูละม้ายคล้าย Vertigo (1958) และเห็นว่ายังมีความใกล้เคียง Joy in the Morning (1965) รวมถึง The Bride Wore Black (1968) สงสัยจะรับงานเยอะจนเริ่มสับสนในตนเอง … แม้แต่ผกก. Hitchcock ยังกล่าวเลยว่า “Herrmann was repeating himself.”
เกร็ด: จริงๆแล้ว Hermann ยังมีโอกาสร่วมงานผกก. Hitchcock ภาพยนตร์ Torn Curtain (1966) แต่ทว่าความขัดแย้งบางอย่างเลยถูกไล่ออกกลางคัน
ในบรรดา Variation ของ Main Theme ที่ผมรู้สึกประทับใจมากสุดคือ The Strom พายุลมฝนโหมกระหนำ จนทำให้ต้นไม้หักโค่นล้มเข้ามาในห้อง ตามสไตล์ Herrmann ชอบบรรเลงท่อนเดิมซ้ำไปซ้ำมา แต่เพิ่มเติมคือยังสลับสับเปลี่ยนเครื่องดนตรีเครื่องสาย ↔ เครื่องเป่า กลับไปกลับมาด้วยเช่นกัน! นี่ถือเป็นความขัดแย้งสุดขั้วที่สามารถสะท้อนความแตกต่างภายนอก↔ใน ร่างกาย↔จิตใจ … เหมือนต้นไม้จากภายนอกโค่นล้มเข้ามาในห้อง
ในบรรดา Variation ของ Main Theme ที่ผมรู้สึกผิดหวังมากสุดคือ Love Scene (จริงๆควรเรียกว่า Rape Scene) วินาทีที่ Mark กำลังจะข่มขืน Marnie แม้มันจะพอมีความน่าสะพรึงอยู่บ้าง แต่ท่วงทำนองกลับทำให้ผมรับรู้สึกว่าเหมือนเธอสมยินยอมด้วยเช่นกัน … นี่กระมังคือเหตุผลให้ Herrmann ตั้งชื่อเพลงนี้ว่า Love Scene ไม่ใช่ Rape Scene
ปัญหาของบทเพลงนี้คือวินาทีที่ Mark ลุกล้ำเข้ามา ตัดสลับใบหน้า Marnie มันเป็นท่วงทำนองคุ้นหู เคยที่ได้ยินมาแล้ว (จาก The Storm) ไม่ได้มีการสร้างสัมผัสเลวร้าย อันตราย กรีดกราย แบบภาพยนตร์ Psycho (1960), อาจเพราะผกก. Hitchcock ประดิษฐ์ประดอยฉากนี้มากเกินไป หรือยังเกรงอกเกรงใจกองเซนเซอร์ Hays Code ผลลัพท์ทำให้เพลงนี้ไม่สะท้อนเหตุการณ์บังเกิดขึ้น การข่มขืนคือเรื่องโรแมนติก !@#WTF$%^
โดยปกติแล้ว Herrmann นิยมใช้เครื่องสายในการบรรเลงท่วงทำนองซ้ำไปซ้ำมา เพราะนอกจากสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เสียงแหลมของเครื่องสายยังกรีดบาดแทงจิตใจผู้ชม แต่ทว่า The Hunt เลือกใช้เครื่องเป่า (Brass & Woodwind Instrument) ระหว่างการควบม้าไล่ล่าและหลบหนี ผมละเหนื่อยแทนนักดนตรีจะหายใจกันทันไหม แต่ก็เข้ากับซีนนี้ที่ต้องใช้พละกำลังร่างกาย หอบหายใจ เพื่อไล่ล่าหลบหนีอะไรบางอย่าง
นี่เป็นอีกเพลงที่น่าประทับใจ Forio’s Fall เมื่อม้าตัวโปรดของ Marnie สะดุดล้ม ไม่สามารถกระโดดข้ามกำแพง ได้รับบาดเจ็บสาหัส เครื่องเป่าโน๊ตตัวเดียวนานเกือบ 10 วินาที ราวกับลมหายใจเฮือกสุดท้าย นั่นทำให้หญิงสาวเร่งรีบร้อนรน ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้มันต้องทนทุกข์ทรมาน
Marnie (1964) นำเสนอเรื่องราวของหัวขโมยสาว ชอบปลอมแปลงตนเอง สมัครงานบริษัทใหญ่ๆ ได้จังหวะเมื่อไหร่ก็ไขตู้เซฟ โจรกรรมเงินบริษัท ลงมือมาแล้วหลายครั้งครา คนส่วนใหญ่ย่อมมองว่าคืออาชญากรกระทำสิ่งชั่วช้า ผิดกฎหมาย สมควรต้องถูกจับติดคุกติดตาราง แต่ไม่ใช่สำหรับ Mark Rutland มองเห็นอะไรบางอย่างในตัวเธอ จึงต้องการให้ความช่วยเหลือ ขุดคุ้ยค้นหาเบื้องหลัง อะไรคือปมจากอดีตติดค้างคาใจ
มองผิวเผินการกระทำของ Mark เป็นสิ่งน่ายกย่องสรรเสริญ สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ชม ไม่ใช่ว่าจะมีใครอยากเป็นจอมโจร อาชญากร ระริกระรี้อยากทำสิ่งผิดกฎหมาย ทุกคนล้วนมีเหตุมีผล มีแรงจูงใจ บางสิ่งอย่างติดค้างคาใจ ถ้าเราให้ช่วยเหลือ มอบโอกาสสอง บุคคลนั้นย่อมสามารถแก้ไข ปรับปรุงตัว เริ่มต้นชีวิตใหม่
แต่การกระทำของ Mark มันบริสุทธิ์ใจจริงๆนะหรือ? เต็มไปด้วยการข่มขู่ แบล็กเมล์ บีบบังคับให้แต่งงาน ใช้ความรุนแรง ทั้งยังเคยข่มขืนกระทำชำเรา เหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมปัจจุบันไม่ให้การยินยอมรับ แต่ยุคสมัยนั้นมันยังไม่มีกฎหมาย เป็นเรื่องส่วนตัวของคนสอง ตามวิถีชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) สตรีเพศยังไร้สิทธิ์เสียง ไม่มีใครกล้าต่อต้านขัดขืน เพียงก้มหัวศิโรราบ ทำตามคำสั่งสามี แล้วทุกสิ่งอย่างจะดีเอง
นี่ไม่ใช่แค่นวนิยายปรุงแต่ง แต่สะท้อนทัศนคติของผกก. Hitchcock เติบโตมาในสังคมผู้ดีอังกฤษ เชื่อในวิถีชายเป็นใหญ่ บุรุษ/สามีอำนาจเหนือสตรี/ภรรยา รวมถึงผู้กำกับ-นักแสดง ฉันเป็นคนค้นพบ ปลุกปั้น Tippi Hedren เฉกเช่นนั้นเธอต้องเป็น(สิ่ง)ของของฉัน
มันไม่ใช่ว่าผกก. Hitchcock เพิ่งมาเสียแก่ แต่คาดว่าน่าจะบิดๆเบี้ยวๆมานานแล้ว อาจตั้งแต่อพยพย้ายสู่ Hollywood มีต้นแบบคือโปรดิวเซอร์ที่เคยรังเกียจเดียดฉันท์ David O. Selznick ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง ลุ่มหลงในอำนาจ พอก้าวขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของสตูดิโอ Universal มีอำนาจ สิทธิ์ขาด เลยไม่หวาดกลัวเกรง ไม่ต้องงอนง้อผู้อื่นใด สนเพียงกระทำตอบสนองความใคร่
ผมมองว่า Marnie (1965) คือจดหมายรักที่ผกก. Hitchcock ตั้งใจจะสรรค์สร้างให้กับ Tippi Hedren เพื่อป่าวประกาศให้โลกรับรู้ว่าเธอเป็น(สิ่ง)ของของฉัน ฉันคือผู้คนพบ ปลุกปั้น ครอบครองทั้งร่างกายและจิตใจ … แต่ทว่าหญิงสาวหาใช่ตุ๊กตา หุ่นเชิดชัก เธอมีความคิดอ่าน ความต้องการของตนเอง จึงพยายามกีดกัน ผลักไส ยุคสมัยนั้นแม้ไม่สามารถโต้ตอบอะไร กาลเวลาเมื่อความจริงปรากฎ ดูสิว่าเมื่อไหร่สังคมจะกล้าตัดสินเดรัจฉานสายพันธุ์นี้
มันเลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ผลงานหลังจากนี้ของผกก. Hitchcock จะมีคุณภาพถดถอย สาละวันเตี้ยลง สูงสุดกลับสู่สามัญ หลายคนอาจหลงใหลคลั่งไคล้เพราะได้สำแดงความเป็นศิลปิน แต่สำหรับผู้ชมที่พอมีจิตสามัญสำนึกทางศีลธรรมหลงเหลืออยู่บ้าง ย่อมค้นพบความอัปลักษณ์ พิศดาร สันดานธาตุแท้จริง ไม่หลงเหลือความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ให้น่านับถือแม้แต่น้อย!
ด้วยทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญ เสียงตอบรับค่อนข้างเอื่อยเฉื่อย (Lukewarm) ทำเงินในสหรัฐอเมริกาได้เพียง $3.25 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลกประมาณ $7 ล้านเหรียญ น่าจะเพียงพอคืนทุน
เฉกเช่นเดียวกับผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Hitchcock เมื่อเดินทางไปฝรั่งเศส นักวิจารณ์ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ยอดจำหน่ายตั๋ว 821,425 ใบ และได้รับการโหวตติดอันดับ #3 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Cahiers du Cinéma’
กาลเวลาทำให้เสียงตอบรับของ Marnie (1964) ดีขึ้นกว่าเมื่อตอนออกฉาย นักวิจารณ์บางคนถึงขนาดกล่าวยกย่อง “Hitchcock’s Greatest and Darkest Achievements” และเคยได้รับการโหวตติดอันดับ #47 ชาร์ท BBC: 100 greatest American films (2015)
ปัจจุบันหนังยังไม่ได้การบูรณะ แต่มีการแสกนใหม่ ‘Digital Transfer’ คุณภาพ 4K ของค่าย Universal Studios เมื่อปี ค.ศ. 2022หรือถ้าสนใจคอลเลคชั่น The Alfred Hitchcock Classics Collection 4K Blu-ray ประกอบด้วย Saboteur (1942), Shadow of a Doubt (1943), The Trouble with Harry (1955), Marnie (1964), Family Plot (1976)
ระหว่างรับชม Marnie ทำให้ผมระลึกถึงประโยคคลาสสิกจาก The Dark Knight (2008) คำกล่าวของชายสองหน้า “You either die a hero or you live long enough to become the villain.” ภาพยนตร์ยุคหลังๆ (Later Year) ของผกก. Hitchcock แม้ได้รับอิสรภาพ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบ Hays Code แต่สันดานธาตุแท้ ด้านมืดของเขาก็ค่อยๆเปิดเผยออกมาเช่นกัน … Hitch Cock
สิ่งที่ผมหงุดหงิดรำคาญใจมากสุดคือฉากข่มขืน (Rape Scene) แทนที่จะทำออกมาให้รู้สึกขมขื่น สัมผัสถึงความโฉดชั่วร้าย สิ่งต้องห้าม ไม่ถูกต้องเหมาะสม กลับนำเสนอเหมือน Love Scene ด้วยบทเพลงโรแมนติก … ศิลปะพรรค์นี้ (Rape Fantasy หรือ Rape Romantic) ควรได้รับการยินยอมรับ ยกย่องสรรเสริญจริงๆนะหรือ? มันคือหลักฐานพฤติกรรม ‘Sexual Predator’ มัดตัวอย่างชัดเจน
ผมละโคตรเสียดาย Tippi Hedren บทบาทใน Marnie (1964) ถือว่าไม่ธรรมดา เกือบจะเป็น Method Acting ที่น่าประทับใจ อนาคตช่างสดใส แต่กลับถูกทำลายโดยบุคคลได้รับการยกย่อง “ผู้กำกับยอดเยี่ยมที่สุดในโลก” น่าแปลกใจที่กระแส #MeToo ในปัจจุบัน กลับไม่มีใครกล้าแตะต้องผู้ยิ่งใหญ่คนนี้หรือไร? ปลาหมอคางดำ?
จัดเรต 15+ การข่มขืน ปลอมตัวเป็นโจร พฤติกรรมครอบงำ
Leave a Reply