Memento (2000) : Christopher Nolan ♥♥♥♥
ความทรงจำไม่ใช่สัจนิรันดร์ คือสิ่งสามารถบิดเบือน ลบเลือน ผันแปรเปลี่ยน อย่างผู้ป่วยภาวะสูญเสียความจำส่วนอนาคต (Anterograde Amnesia) เพราะไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ จึงถูกคนรอบข้างฉกฉวยโอกาส เดี๋ยวมาดี เดี๋ยวมาร้าย ปลอมตัวเป็นใครก็ได้ จนท้ายที่สุดแม้แต่ตัวตนเองยังพยายามล่อหลอกตัวตนเอง
Memory is unreliable. Memory is not perfect. It’s not even that good. They collect facts, they make notes, and they draw conclusions. Facts, not memories. Memory can change the shape of a room. It can change the color of a car. And memories can be distorted. They’re irrelevant if you have the facts.
Leonard Shelby (รับบทโดย Guy Pearce)
Memento (2000) ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) ลำดับที่สองของผู้กำกับ Christopher Nolan เลื่องชื่อลือชาในลีลาดำเนินเรื่องแบบค่อยๆย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต (Reverse Chronology) ชักชวนผู้ชมทำความเข้าใจเกี่ยวกับความทรงจำ (Memory) ตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือ อะไรคือจริง-เท็จ พิสูจน์ด้วยหลักฐาน พยาน หรือเพียงตัดสินโดยสันชาตญาณ
ผกก. Nolan ต้องการให้ผู้ชมบังเกิดความชะงักงัน เมื่อสองเส้นเรื่องราวเคลื่อนเข้ามาชนกัน (หนึ่งดำเนินถอยหลัง, สองดำเนินจากอดีตไปข้างหน้า) ตระหนักว่าความทรงจำคือสิ่งสามารถบิดเบือน ลบเลือน ผันแปรเปลี่ยน แต่ทว่าปฏิกิริยาผู้ชมส่วนใหญ่กลับมองว่าคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ Teddy คือการโป้ปดหลอกลวง
The most interesting part of that for me is that audiences seem very unwilling to believe the stuff that Teddy [Pantoliano] says at the end and yet why? I think it’s because people have spent the entire film looking at Leonard’s photograph of Teddy, with the caption: “Don’t believe his lies.” That image really stays in people’s heads, and they still prefer to trust that image even after we make it very clear that Leonard’s visual recollection is completely questionable. It was quite surprising, and it wasn’t planned.
Christopher Nolan
ปฏิกิริยาของผู้ชมที่ไม่อยากเชื่อว่า Teddy พูดอธิบายความจริง เพราะถูกหล่อหลอม ล้างสมอง จนกลายเป็นยึดถือเชื่อมั่นข้อความเขียนบนภาพถ่าย “Don’t believe his lies.” ชวนให้ผมนึกถึงแนวคิด große Lüge (แปลว่า Big Lie) ที่ผู้นำนาซี Adolf Hiter เคยอธิบายไว้ในหนังสือ Mein Kampf (1925) แล้วมือขวาคนสนิท Joseph Goebbels นำมากล่าวสรุปโดยย่อ แปลได้ประมาณว่า
If you tell a lie big enough and keep repeating it, people will eventually come to believe it.
Joseph Goebbels
วันก่อนผมเพิ่งเขียนถึง Peppermint Candy (1999) ที่มีการดำเนินเรื่องแบบค่อยๆย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต (Reverse Chronology) แล้วบังเกิดความครุ่นคิดถึง Memento (2000) ไม่ได้รับชมมานาน ถ้าไม่เขียนตอนนี้แล้วจะเขียนตอนไหน ก็เลยเอาสักหน่อยว่ะ!
เกร็ด: มีภาพยนตร์อยู่ประมาณ 4 เรื่องที่ประสบความสำเร็จกับการดำเนินเรื่องแบบ ‘Reverse Chronology’ เปิดเผยเหตุการณ์ในปัจจุบัน แล้วค่อยๆย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต และสิ้นสุดลงตรงจุดเริ่มต้น Je t’aime, je t’aime (1968), Peppermint Candy (1999), Memento (2000) และ Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004)
Christopher Edward Nolan (เกิดปี ค.ศ. 1970) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เกิดที่ Westminster, London บิดาเป็นนักออกแบบโฆษณา มารดาเคยทำงานแอร์โฮสเตส/ครูสอนภาษาอังกฤษ และมีลุงอยู่ NASA สร้างระบบลงจอดยาน Apollo, เมื่อตอนอายุ 7 ขวบ มีโอกาสรับชม 2001: A Space Odyssey (1968) และ Star Wars (1977) เกิดความลุ่มหลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์ นำกล้อง Super 8 ของบิดามาถ่ายทำ Stop-Motion Animation วาดฝันอยากเป็นผู้กำกับมืออาชีพ, สำเร็จการศึกษาสาขาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ University College London (UCL) ทำงานเป็น Script Reader, Camera Operator ค่อยๆเก็บหอมรอมริดเพื่อสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Following (1998)
สำหรับผลงานลำดับที่สอง Memento (2000) ดัดแปลงจากเรื่องสั้น Memento Mori ของน้องชาย Jonathan Nolan (ตอนหนังออกฉายก่อนการตีพิมพ์ เลยถือว่าเป็น ‘Original Story’) ได้แรงบันดาลใจระหว่างคาบเรียนจิตวิทยา ณ Georgetown University เกี่ยวกับผู้ป่วยภาวะสูญเสียความจำส่วนอนาคต (Anterograde Amnesia) นำเรื่องราวดังกล่าวมาพูดคุยกับพี่ชายช่วงปิดเทอม ขับรถท่องเที่ยวจาก Chicago สู่ Los Angeles แล้วพอกลับไปเรียนต่อ ใช้เวลาหกเดือนกว่าจะพัฒนาบทร่างแรกส่งให้พี่ชาย และกว่าจะเขียนเสร็จจริงๆก็อีกเป็นปีๆถัดมา ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Esquire ฉบับเดือนมีนาคม ค.ศ. 2001
เรื่องสั้นของ Jonathan แตกต่างจากภาพยนตร์พอสมควร ตัวละครชื่อ Earl คือผู้ป่วยในสถาบันจิตเวช เพราะไม่สามารถสร้างความทรงจำขึ้นใหม่ จึงพยายามจดบันทึก สักรอยสัก เพื่อโน้มน้าวตนเองให้หลบหนีออกจากโรงพยาบาล แล้วติดตามหาตัวฆาตกรที่ลงมือฆ่า-ข่มขืนภรรยา
เกร็ด: Memento Mori มาจากภาษาละติน แปลว่า จงระลึกถึงความตายอยู่เสมอๆ ชาวโรมันมักกล่าวคำนี้เพื่อเตือนใจทหารก่อนออกรบ ในยุโรปและอเมริกาใช้เป็นถ้อยคำไว้อาลัยคนตาย กุศโลบายให้คนเป็นใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท
ผกก. Nolan นำเอาสองสามสิ่งจากเรื่องสั้นของน้องชายมาพัฒนาต่อยอด (สาเหตุเพราะ Jonathan ใช้เวลาเขียนเรื่องสั้นนานเกินไป!) หลังจากเลือกนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First Person) บังเกิดแนวคิดเล่าเรื่องแบบถอยหลัง (tell the film backwards) เพื่อให้ผู้ชมรับรู้สิ่งต่างๆแบบเดียวกับตัวละคร … แต่บทหนังก็เขียนขึ้นเป็นเส้นตรงแบบปกติทั่วไป
We both agreed that the most interesting approach to his concept by far was to tell the story from the first person point of view, putting the audience or reader right into the mind of the protagonist. My solution to that, which took a while to come up with, was to tell the story backwards so that it denied the audience the information that the protagonist is denied.
Christopher Nolan
บทร่างแรกของหนังเห็นว่ามีความยาวกว่า 170 หน้ากระดาษ! ก่อนที่ผกก. Nolan จะปรับปรุงแก้ไขจนเหลือประมาณ 127 หน้ากระดาษ สำหรับนำไปเสนอโปรเจค พูดคุยโปรดิวเซอร์ Aaron Ryder ช่วยติดต่อหาเงินทุนสนับสนุนได้จากสตูดิโออินดี้ Newmarket Films
เกร็ด: ก่อนหน้า Memento (1999) สถานะการเงินของ Newmarket มีความฝืดเคือง เพราะทำหนังขาดทุนมาหลายเรื่อง แต่ความสำเร็จของหนังทำให้สามารถฟื้นตัว กลายเป็นสตูดิโอจัดจำหน่ายภาพยนตร์เต็มตัว
เรื่องราวของ Leonard Shelby (รับบทโดย Guy Pearce) เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนประกันภัย (Insurance Investigator) วันหนึ่งคนร้ายบุกเข้าในบ้านยามวิกาล ลงมือฆ่า-ข่มขืนภรรยา แล้วตนเองโดนยิงเข้าที่ศีรษะ ล้มป่วยภาวะเสียความจำส่วนอนาคต (Anterograde Amnesia) ทำให้ไม่สามารถสร้างความทรงจำขึ้นใหม่ หลงๆลืมๆทุกสิ่งอย่างในรยะยะเวลาไม่นาที แต่ความสูญเสียครั้นนั้นกลับยังจดจำฝังใจ จึงพยายามหาหนทาง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแก้ล้างแค้น ทวงคืนความยุติธรรมให้ภรรยา
วิธีการของ Leonard คือพยายามถ่ายภาพ(ด้วยกล้องโพรารอยด์) จดบันทึก เขียนรายละเอียด และสักรอยสักข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เชื่อว่าฆาตกรคือชายผิวขาวชื่อ “John G.” หรือ “James G.” เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งสักหมายเลขทะเบียนรถยนต์ ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากหญิงสาว Natalie (รับบทโดย Carrie-Anne Moss) ค้นพบว่าบุคคลนั้นคือ John Edward Gammell ชื่อเล่น Teddy (รับบทโดย Joe Pantoliano) เหมือนคอยแอบติดตาม พบเจอกันบ่อยครั้งในรอบสองสามวันที่ผ่านมา
Guy Edward Pearce (เกิดปี ค.ศ. 1967) นักแสดงสัญชาติ Australian เกิดที่ Ely, Cambridgeshire ประเทศอังกฤษ บิดาเป็นนักบิน Royal New Zealand Air Force ตอนอายุสามขวบ ครอบครัวอพยพไปปักหลักอาศัยอยู่ Geelong, Victoria ประเทศออสเตรเลีย, ระหว่างเข้าเรียนมัธยม Geelong College เป็นสมาชิกชมรมการแสดง Geelong Society of Operatic and Dramatic Arts (GSODA), เริ่มมีชื่อเสียงจากละคอนโทรทัศน์ Neighbours (1986), แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ The Adventures of Priscilla, Queen of the Desert (1994), ทำให้มีโอกาสโกอินเตอร์ L.A. Confidential (1997), Memento (2000), The Time Machine (2002), The Hurt Locker (2008), The King’s Speech (2010), Prometheus (2012), Iron Man 3 (2013) ฯ
รับบท Leonard Shelby แม้ล้มป่วยภาวะเสียความจำส่วนอนาคต ไม่สามารถสร้างความทรงจำขึ้นใหม่ กลับมีความหมกมุ่น มุ่งมั่น ดื้อรั้น เชื่อในสันชาตญาณและระเบียบวินัยของตนเอง ต้องการติดตามหาฆาตกรลงมือฆ่า-ข่มขืนภรรยา ล้างแค้นให้สาสมแก่ใจ!
แต่ความเป็นจริงนั้น Leonard เคยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ Teddy จนมีโอกาสฆ่าล้างแค้นคนร้าย(ที่ข่มขืนภรรยา)สำเร็จเมื่อหลายปีก่อน ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวกลับไม่สามารถจดจำอะไร (รวมถึงการฉีดอินซูลินเกินขนาดให้ภรรยาจนเสียชีวิต) ยังคงหมกมุ่น มุ่งมั่น ดื้อรั้น จนถูกอีกฝ่ายแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการปลอมแปลง John G. ให้กลายเป็นเพชฌฆาตลงมือสังหารอาชญากร กำจัดขยะสังคมมากมาย กระทั่งวันหนึ่งเขียนข้อความลงบนภาพถ่าย “Don’t believe his lies.” นำไปสู่จุดจบที่คาดไม่ถึง
ความตั้งใจแรกของผกก. Nolan อยากได้ Brad Pitt มารับบทนำ ซึ่งอีกฝ่ายก็มีความสนใจแต่ติดปัญหาคิวงานไม่ว่าง เลยพยายามมองหานักแสดงหน้าใหม่ที่(ตอนนั้น)ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียงเท่าไหร่ (ลดค่าจ้างได้ด้วย) อย่าง Charlie Sheen, Alec Baldwin, Aaron Eckhart, Thomas Jane, ก่อนมาลงเอย Guy Pearce ที่มีความกระตือรือล้นอย่างมากๆ ตอนนั้นน้ำหนักร้อยกว่ากิโล (104.3 kilograms) ลดเหลือเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ดูซูบผอมบาง เพื่อให้สอดคล้องกับความหมกมุ่นเรื่องล้างแค้นจนไม่สนอะไรอย่างอื่นของตัวละคร
Pearce มักได้รับบทตัวละครที่มีความมุ่งมั่น จริงจัง พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย/ความใฝ่ฝัน สิ่งเพิ่มเติมกับ Memento (2000) คือลักษณะทางกายภาพ ใบหน้าซีดเซียว ร่างกายซูบผอมบาง ช่วงขับเน้นพฤติกรรมดังกล่าวให้ดูหมกมุ่น คลุ้มคลั่ง จนอาจถึงขั้นวิกลจริต ไม่สนถูก-ผิด จริง-เท็จ เพียงเชื่อในข้อมูลหลักฐาน สันชาตญาณ ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแก้ล้างแค้นให้ภรรยา จนกว่า … เมื่อไหร่ก็ไม่รู้เหมือนกัน
สิ่งที่ผมรู้สึกเพลิดเพลินกับบทบาทของ Pearce คือปฏิกิริยาเอ๋อเหรอ มึงเป็นใครว่ะ? ปรากฎอยู่แทบจะทุกซีเควนซ์ บางครั้งแสร้งเออออห่อหมก ทำเป็นรับรู้จัก ส่วนใหญ่มักพยายามหาโอกาสขุดคุ้ยค้นหาหลักฐานภาพถ่าย เคยเขียนหรือสักรอยอะไรไว้ก็เชื่อตามนั้นโดยสันชาติญาณ ไม่มีการตั้งคำถาม เคลือบแคลงสงสัย พอความจริงปรากฎ (ว่าบางข้อความเกิดจากการบิดเบือนข้อเท็จจริง) ตัวละครนี้แม้งช่างน่าสมเพศเวทนา
Carrie-Anne Moss (เกิดปี ค.ศ. 1967) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Burnaby, British Columbia ประเทศแคนาดา ตั้งแต่อายุ 11 เข้าร่วมคณะการแสดงละคอนเพลงสำหรับเด็กที่ Vancouver แล้วยังได้ออกทัวร์ยุโรปตอนเรียนมัธยม, จากนั้นเดินทางสู่ Los Angeles เข้าศึกษาการแสดง American Academy of Dramatic Arts มีผลงานละคอนเวทีหลายเรื่อง จนกระทั่งแจ้งเกิดกับภาพยนตร์ The Matrix (1999), ผลงานเด่นๆติดตามมา อาทิ Chocolat (2000), Memento (2000), Snow Cake (2006) ฯ
รับบท Natalie พนักงานบาร์ Fredy แสร้งว่าถูกทำร้ายร่างกายโดย Dodd เพื่อขอความช่วยเหลือจาก Leonard กำจัดอีกฝ่ายให้พ้นภัยทาง แลกกับการสืบค้นหาข้อมูลเลขทะเบียนรถยนต์ สำหรับเปิดเผยใครคือฆาตกรลงมือฆ่า-ข่มขืนภรรยา, แต่แท้จริงแล้ว Leonard เป็นคนทำร้ายร่างกาย Natalie ส่วนชายชื่อ Dodd คือพ่อค้ายา/เพื่อนของ Jimmy Grants (แฟนหนุ่มของ Natalie) พยายามออกตามหาอีกฝ่ายที่สูญหายตัวไป (Leonard เข้าใจผิดว่า Jimmy Grants คือ John G. เลยลงมือกระทำร้าย สภาพปางตาย นอนซมซานอยู่ในโกดังร้าง แล้วลักขโมยรถ Jaguar ไปขับขี่)
ในขณะที่ Mary McCormack พยายามล็อบบี้บทบาทนี้ โปรดิวเซอร์ Jennifer Todd ประทับใจการแสดงของ Carrie-Anne Moss จากภาพยนตร์ The Matrix (1999) จึงแนะนำผกก. Nolan ซึ่งก็ให้คำชื่นชมอย่างมากๆ
She added an enormous amount to the role of Natalie that wasn’t on the page.
Christopher Nolan
ภาพจำของ Moss คือสาวแกร่ง เข้มแข็ง เชื่อมั่นในตนเองสูง น่าเสียดายที่บทบาทใน The Matrix (1999) ไม่ได้มีความน่าจดจำไปมากกว่า ‘Action Heroine’ ผิดกับ Memento (2000) ถือเป็นภาพยนตร์ขายการแสดงแท้จริง! ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงลับลมคมใน พบเห็นด้านเข้มแข็ง-อ่อนแอ รู้จักใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดของ Leonard สำหรับสร้างภาพ เล่นละคอนตบตา เต็มไปด้วยมารยาหญิง พบเจอแต่ละครั้งราวกับกิ้งก่าเปลี่ยนสี เปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย
ผมละโคตรชอบตอนที่ Natalie ทำการ(กิ้งก่า)เปลี่ยนสี เปลี่ยนวิธีเข้าหา Leonard ครั้งแรกยั่วให้เขาเกรี้ยวกราดโกรธา ถึงขนาดลงมือตบหน้า กระทำร้ายร่างกาย จากนั้นก้าวออกนอกบ้าน สงบสติอารมณ์ หายใจเข้าลึกๆ แล้วหวนกลับมาเริ่มต้นทุกสิ่งอย่างใหม่ ราวกับไม่เคยมีเหตุการณ์รุนแรงใดๆบังเกิดขึ้น
Joseph Peter Pantoliano (เกิดปี ค.ศ. 1951) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Hoboken, New Jersey ในครอบครัวเชื้อสาย Italian โตขึ้นเข้าศึกษาด้านการแสดงยัง HB Studio แล้วแจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Risky Business (1983), ติดตามด้วย The Goonies (1985), The Matrix (1999), สมทบซีรีย์ The Sopranos (1999-2007), Memento (2000), Daredevil (2003) ฯ
รับบท Teddy ชายแปลกหน้าต้องสงสัย ชอบปรากฎตัวอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย พยายามพูดคุย โน้มน้าว Leonard ให้ล้มเลิกความตั้งใจฆ่าล้างแค้นภรรยา แต่ข้อความในภาพถ่าย “Don’t believe his lies.” จึงไม่เคยหลงเชื่อ รับฟังความคิดเห็นเลยสักครั้ง และด้วยหลักฐานต่างๆบ่งชี้ชัดว่าหมอนี่คือ John G. นำไปสู่จุดจบที่คาดไม่ถึง
แท้จริงแล้วชายคนนี้คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ John Edward Gammell ผู้ทำคดีความให้กับ Leonard คอยให้ความช่วยเหลือจนมีโอกาสฆ่าล้างแค้นคนร้าย(ที่ลงมือข่มขืนภรรยา)สำเร็จเมื่อหลายปีก่อน ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวกลับไม่สามารถจดจำอะไร (รวมถึงการฉีดอินซูลินเกินขนาดให้ภรรยาจนเสียชีวิต) ยังคงหมกมุ่น มุ่งมั่น ดื้อรั้น เลยแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการปลอมแปลง John G. ให้เขากลายเป็นเพชฌฆาตสังหารอาชญากร ขยะสังคม และคนล่าสุดคือพ่อค้ายา Jimmy Grants แต่มันกลับเกิดความผิดพลาดอะไรบางอย่าง
ในตอนแรกมีการติดต่อนักแสดงตลก Denis Leary แต่อีกฝ่ายคิวงานไม่ว่าง เห็นว่า Carrie-Anne Moss เป็นคนแนะนำ Joe Pantoliano ที่เพิ่งเริ่มงานภาพยนตร์ The Matrix (1999) เล่นบทคนทรยศ Cypers แม้สร้างความลังเลให้โปรดิวเซอร์เพราะภาพจำตัวร้าย แต่พอผ่านการทดสอบหน้ากล้อง ผกก. Nolan ยังรู้สึกประหลาดใจในมุมอ่อนไหว ความตลกร้าย ใกล้เคียงภาพของ Leary ที่ครุ่นคิดเอาไว้
ตอนผมยังหนุ่มๆมักจดจำ Pantoliano สลับกับ Joe Pesci เพราะต่างมีสำเนียงเสียงพูด เชื้อสายอิตาเลี่ยนเหมือนกัน ชอบรับบทเจ้าพ่อมาเฟีย ไม่ก็ตำรวจกังฉิน ต้องเคยคิดคดทรยศหักหลังผู้อื่น โฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย กอปรเข้ากับข้อความ “Don’t believe his lies.” ทำให้ไม่หลงเหลือความน่าเชื่อถือเลยสักนิด!
ซึ่งพอเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมด ตัวละครของ Pantoliano ก็เป็นไปตามคาด หาใช่พ่อคนดีสักเท่าไหร่ ไม่แตกต่างจาก Natalie แสวงหาผลประโยชน์จากข้อจำกัดของ Leonard แต่หมอนี่ชั่วร้ายกว่าหลายเท่า เพราะเป็นการหยิบยืมมือฆ่าคน ต่อให้ผู้เสียชีวิตคืออาชญากร ขยะสังคม ก็ไม่สมควรทำตัวเป็นศาลเตี้ยตัดสินคนอื่น … ตอนจบเริ่มต้น ผลกรรมจึงติดตามทันควัน ก่อนหน้าที่ผู้ชมจะรับรู้ตัวเสียอีก!
ในบรรดาตัวละครทั้งหมดของหนัง Teddy ถือว่ามีความน่าสนใจที่สุด เพราะเป็นบุคคลที่ถูกทำให้เข้าใจผิดมาตั้งแต่ต้นเรื่อง โดนพระเอกเข่นฆ่า แถมข้อความในภาพถ่าย “Don’t believe his lies.” มันคือสิ่งที่ติดตา ฝังใจ กลายเป็นความยึดถือเชื่อมั่น จนสิบนาทีสุดท้ายของหนังเปิดเผยว่าคือตำรวจที่คอยติดตาม ให้ความช่วยเหลือ ใครกันจะอยากหลงเชื่อว่าทุกสิ่งอย่างเกิดจากการบิดเบือนความจริง
ในตอนแรกมีการติดต่อตากล้อง Mark Vargo โด่งดังจาก Visual Effect: Director of Photography ภาพยนตร์ Ghostbusters II (1989), Waterworld (1995) ฯ แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธเพราะอ่านบทไม่เข้าใจ เลยส้มหล่นใส่ Walter Pfister ที่ก็เห็นว่าอ่านบทไม่รู้เรื่องเช่นกัน แต่พอมีโอกาสพูดคุยถูกคอผกก. Nolan วิสัยทัศน์ไปด้วยกันได้ดี
ถ่ายภาพโดย Walter C. Pfister (เกิดปี ค.ศ. 1961) ตากล้อง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois แล้วมาเติบโตยัง Irvington, New York City บิดาทำงานทำงานในแวดวงโทรทัศน์ แต่บุตรชายเริ่มมีความสนใจภาพยนตร์ตอน Shamus (1973) เดินทางมาถ่ายทำละแวกบ้านพัก, หลังเรียนจบมัธยม เริ่มต้นทำงานผู้ช่วยโปรดักชั่นสถานีโทรทัศน์ WMDT-TB ก่อนกลายมาเป็นตากล้องสายข่าว ฟรีแลนซ์ถ่ายทำสารคดี กองสองมินิซีรีย์ Tanner ’88 (1988), ระหว่างเข้าเรียนภาพยนตร์ที่สถาบัน American Film Institute ถ่ายทำหนังสั้น Senzeni Na? (1990) เข้าชิงรางวัล Oscar: Best Live-Action Short Film, จบออกมาเป็นผู้ช่วยตากล้อง Janusz Kamiński, ได้รับเครดิตภาพยนตร์เรื่องแรก The Unborn (1991), มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Christopher Nolan ที่เทศกาลหนังเมือง Sundance Film Festival ระหว่างฉายผลงาน The Hi-Line (1998) เลยได้ร่วมงานขาประจำยุคแรกๆตั้งแต่ Memento (2000) จนถึง The Dark Knight Rises (2012), แล้วผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ Transcendence (2014)
หนังเกาะติดตามการค้นหาตัวฆาตกร เพื่อลงมือฆ่าล้างแค้น (Revenge Film) นำเสนอผ่านมุมมอง ‘Point-of-View’ ของ Leonard Shelby งานภาพสามารถแบ่งออกเป็นสองสไตล์ ตามเส้นเรื่องราว/ทิศทางการดำเนินเรื่อง
- เส้นเรื่องที่มีการย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต (Reverse Chronology) จะถ่ายทำด้วยฟีล์มสี นำเสนอการผจญภัยของตัวละคร ที่มักออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ สืบค้นหาใครคือฆาตกรลงมือฆ่า-ข่มขืนภรรยา
- มันจะมีหลายๆครั้งที่ Leonard หวนระลึกถึงความทรงจำถึงภรรยา (ก่อนหน้าถูกฆาตกรรม) เนื่องจากเป็นภาพเหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริง ยังคงติดตราฝังใจ (ความทรงจำก่อนล้มป่วยภาวะสูญเสียความจำส่วนอนาคต จะไม่ถูกลบเลือนหาย) จึงพบเห็นถ่ายทำด้วยฟีล์มสี
- คั่นระหว่างแต่ละการย้อนเวลา จะมีแทรกภาพขาว-ดำ คืออีกเส้นเรื่องที่ดำเนินจากจุดเริ่มต้นไปข้างหน้า (Chronological) ตลอดทั้งซีเควนซ์ถ่ายทำภายในห้องพักโรงแรม Discount Inn พบเห็นพูดคุยโทรศัพท์กับใครบางคน
- ตลอดทั้งซีเควนซ์ในห้องพักโรงแรม คละคลุ้งด้วยบรรยากาศหนังนัวร์ (Film Noir) โดดเด่นกับการจัดแสงสว่าง-เงามืด แต่ลีลาการถ่ายทำออกไปทางสไตล์สารคดี (Documentary-like) ให้อิสระ Guy Pearce ในการดั้นสด (Improvised) พูดไปเรื่อยเปื่อย ไม่รับรู้ตนเอง จนถึงจุดๆหนึ่งทั้งตัวละคร(และผู้ชม)ถึงค่อยตระหนักอะไรบางอย่าง
- สำหรับเรื่องเล่าตอนทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนประกันภัย แล้วมีการแทรกภาพเรื่องเล่าดังกล่าวด้วยภาพขาว-ดำ แต่ทั้งหมดล้วนไม่ใช่เรื่องจริง คือการบิดเบือนความทรงจำของตัวละคร (สามี-ภรรยาคู่นั้นก็คือตัวตายตัวแทนของ Leonard และภรรยา)
เกร็ด: ทุกครั้งที่เส้นเรื่องย้อนเวลา หวนกลับมาบรรจบซีเควนซ์ก่อนหน้า มันจะมีประมาณ 1-2 ซีน 1-2 วินาที ปรากฎภาพเหตุการณ์เดิมซ้อนทับกัน เพื่อให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงเรื่องราว สังเกตจุดเริ่มต้น-สิ้นสุดตอนนั้นๆ … ผมอ่านเจอบทสัมภาษณ์ผกก. Nolan บอกว่าไม่เคยใช้ฟุตเทจซ้ำ แต่ถือถ่ายทำคนละเทคทุกครั้ง
แรกเริ่มต้น/อารัมบทก่อนเข้าสู่เรื่องราว จะมีลูกเล่น “Reverse Motion” ฉายภาพถอยหลังตั้งแต่จุดสิ้นสุด ใครคนหนึ่ง/ฆาตกรถูกยิงเสียชีวิต แล้วค่อยๆย้อนกลับไปถึงตอนเหนี่ยวไก กระสุนลั่น
ตรงกันข้ามกับไคลน์แม็กซ์ของหนัง จะเริ่มจากภาพขาว-ดำ แล้วเมื่อถึงจุดๆหนึ่งจะมีการเปลี่ยนแปรสภาพ ปรากฎภาพสีขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ (พร้อมๆกับฟีล์มโพลารอยด์ที่ค่อยๆคมชัดขึ้นตามลำดับ) … นั่นคือวินาทีที่สองเส้นเรื่องราวดำเนินมาบรรจบกัน
ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้ต้องรัดเข็มขัด ใช้เวลาถ่ายทำเพียงแค่ 25 วัน ระหว่าง 7 กันยายน – 8 ตุลาคม ค.ศ. 1999 เลือกใช้สถานที่จริงแทบทั้งหมด โดยตระเวนไปถ่ายทำทั่วเมือง Los Angeles, California อาทิ Tujunga (โรงแรม Travel Inn ใช้แทน Discount Inn), North Hills (Hill Crest Inn ใช้แทน Mountcrest Inn), Burbank (บ้าน Natalie), Glendale (Grinders Restaurant), Pasadena (บ้านของ Sammy Jankis), Long Beach ฯ
ตัดต่อโดย Dody Jane Dorn (เกิดปี ค.ศ. 1995) นักตัดต่อภาพและเสียง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Santa Monica, California บิดาทำงานออกแบบฉากและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์, ทีแรกเธออยากเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ แต่โชคชะตานำพาให้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ ไต่เต้าจากผู้ช่วยกองถ่าย ผู้จัดการสถานที่ ผู้ตรวจสอบบทหนัง กระทั่งกลายมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อภาพและเสียง ผลงานเด่นๆ อาทิ The Abyss (1989), Memento (2000), Insomnia (2002), Kingdom of Heaven (2005), Australia (2008), Fury (2014), Zack Snyder’s Justice League (2021), Army of the Dead (2021) ฯ
ลีลาตัดต่อของหนังถือว่ามีความท้าทายในการรับชมอย่างมากๆ ต้องใช้เวลาสักใหญ่กว่าจะสามารถปรับตัว ทำความเข้าใจลูกเล่นดังกล่าว เป็นความพยายามเลียนแบบภาวะสูญเสียความจำส่วนอนาคต (Anterograde Amnesia) แต่เพราะผู้ชมไม่มีทางหลงลืมภาพพบเห็น ผกก. Nolan จึงใช้วิธีเล่าเรื่องถอยหลัง (Reverse Chronology) เริ่มจากเหตุการณ์ในปัจจุบัน ค่อยๆย้อนเวลากลับหาอดีต เปิดเผยรายละเอียดทีละเล็กละน้อย
แต่ความโคตรติสต์ของผกก. Nolan ไม่ได้ต้องการแค่เล่าเรื่องถอยหลังเพียงอย่างเดียว! ยังตัดสลับกับเหตุการณ์จากอดีตที่ค่อยๆดำเนินไปข้างหน้า เพื่อให้ท้ายที่สุดทั้งสองเรื่องราวสามารถพุ่งเข้ามาชนกัน! … แนะนำให้ศึกษาแผนภาพที่สร้างขึ้นสำหรับอธิบายโครงสร้างดำเนินเรื่อง เคียงคู่กันไปด้วยนะครับ จะช่วยเสริมความเข้าใจได้มากทีเดียว
- เส้นกราฟสีแดง แม้ลากขึ้นบน แต่จุดเริ่มต้น(ของแต่ละเส้น)กลับถดถอยหลังกลับหาอดีต (Reverse Chronology) มีทั้งหมด 22 เหตุการณ์ (ใช้ตัวอักษร A ถึง V) แต่ละตอนไม่มีระยะเวลาแน่นอน แค่ว่าเริ่มต้นเมื่อตัวละครฟื้นคืนสติ ก่อนสิ้นสุดหลังจากหลงลืมทุกสิ่งอย่าง (บางครั้งจะซ้อนทับเหตุการณ์ก่อนหน้านิดนึง เพื่อให้ผู้ชมสามารถจับจุดเชื่อมโยงของแต่ละตอน)
- ตลอดเส้นกราฟสีแดง ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี
- ทุกครั้งเมื่อสิ้นสุดตอนเส้นกราฟสีแดง จะแทรกภาพเหตุการณ์เส้นกราฟสีน้ำเงิน ดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า (Chronological) ตัดแบ่งออกเป็น 22 ตอนเช่นกัน ก่อนเคลื่อนมาบรรจบ 22-A นำสู่จุดจบของหนัง
- ตลอดเส้นกราฟสีน้ำเงิน ถ่ายทำด้วยฟีล์ม-ขาวดำ ในห้องพักโรงแรม
อีกหนึ่งความน่าสนใจคือเริ่มต้น-สิ้นสุด (ไคลน์แม็กซ์) สังเกตว่าเส้นกราฟจะดูแปลกๆ แต่ในลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม
- Opening Credit & อารัมบท, เส้นกราฟสีแดงจะหันสลับทิศทางจากปกติ นั่นเพราะมีการใช้เทคนิค ‘Reverse Motion’ ฉายภาพถอยหลังจากเหตุการณ์ชายคนหนึ่งนอนจมกองเลือด กลับมาที่ปืนเพิ่งเริ่มลั่นไก
- ไคลน์แม็กซ์ช่วงท้าย, เริ่มจากเส้นกราฟสีน้ำเงินถ่ายภาพขาว-ดำ Leonard ออกจากห้องพักโรงแรม เดินทางมายังโกดังร้าง พลั้งมือเกือบฆ่าคนตาย พอตระหนักได้ถึงความผิดพลาด งานภาพจะค่อยๆปรากฎสีสัน สลับเปลี่ยนเป็นเส้นกราฟสีแดง ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงจุดสิ้นสุดของหนัง
ด้วยโครงสร้างที่โคตรๆสลับซับซ้อน ผมจึงมองว่ามันไม่ค่อยเหมาะที่จะแบ่งหนังออกเป็นองก์ๆ นอกเสียจากถ้าเรามองเรื่องราวทั้งหมดเป็นเส้นตรง ดำเนินเรื่องในระยะเวลาสามวัน … DVD/Blu-Ray ที่เป็น Limited Edition มีของแถมชื่อว่า “Chronological” edit of film ถ้าคุณสามารถค้นหาเจอก็จะรับชมหนังฉบับเส้นตรง
- วันแรกของหนัง
- Leonard คุยโทรศัพท์อยู่ในห้องพักโรงแรม
- เมื่อออกมาจากห้องพัก พบเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจ Teddy ก่อนเดินทางไปโกดังร้าง
- พยายามลงมือเข่นฆ่า John G. ก่อนค้นพบว่าชายคนนั้นคือ James F. “Jimmy” Grantz ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย
- พอ Teddy เดินทางมาถึง พยายามพูดเล่าเบื้องหลังความจริงทั้งหมด แต่ทว่า Leonard กลับปฏิเสธทุกสิ่งอย่าง แล้วทำการบิดเบือน เขียนข้อความลงบนภาพถ่าย(ของ Teddy) “Don’t believe his lies.”
- เดินทางไปร้านสักลาย เพื่อสักเลขทะเบียน(รถของ Teddy)
- ขับรถไปยังบาร์ Fredy แรกพบเจอ Natalie ถูกรับน้องด้วยน้ำลายในแก้วเบียร์
- เดินทางไปบ้านของ Natalie ละเล่นเกมเปลี่ยนความทรงจำอยู่สองสามรอบ ก่อนขอให้เขาช่วยกำจัด Dodd ให้พ้นภัยทาง
- ค่ำคืนนี้ Leonard ว่าจ้างโสเภณีให้ช่วยนอนเคียงข้าง สมมติว่าเป็นภรรยา (คงเพื่อให้นอนหลับฝันดี)
- วันที่สองของหนัง
- เช้าตื่นขึ้นมา Leonard นำเอาสิ่งข้าวของภรรยาไปเผาทำลาย ทำเหมือนว่าเพิ่งสูญเสียเธอได้ไม่นาน
- ระหว่างขับรถถูกพ่อค้ายา Dodd ไล่ล่ากราดยิง
- ก่อนสามารถหลบหนีมายังโรงแรม Mountcrest Inn แอบเข้าพักในห้องอีกฝ่าย เฝ้ารอคอยเวลาหวนกลับมา
- หลังเผชิญหน้ากับ Dodd โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจาก Teddy
- จากนั้นกลับไปหา Natalie สอบถามใครคือ Dodd หลังได้รับคำอธิบาย ค่ำคืนนี้เลยได้หลับนอนกับเธอ
- วันที่สามของหนัง
- เช้าตื่นเช้ามางงๆ ฉันหลับนอนเคียงข้างใคร Natalie ให้สัญญาว่าจะช่วยติดตามหาฆาตกรจากทะเบียนรถ
- เดินทางไปยังโรงแรม Discount Inn แต่จดจำห้องพักตนเองไม่ได้
- พบเจอ Natalie ที่ร้าน Grinders Restaurant
- กลับเข้าห้องพักโรงแรม Discount Inn ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับฆาตกร John G.
- Teddy แวะมาหาที่โรงแรม พากันไปยังโกดังร้าง แล้วลงมือสังหารฆาตกร!
เพลงประกอบโดย David Julyan (เกิดปี ค.ศ. 1967) นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Cheltenham, Gloucestershire ระหว่างศึกษาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ University College London ได้เข้าร่วมชมรมภาพยนตร์ Film Society ทำให้มีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Christopher Nolan เพลงประกอบหนังสั้นนักศึกษา ตามด้วยภาพยนตร์ Following (1998), Memento (2000), Insomnia (2002), The Prestige (2006) ฯ
งานเพลงทั้งหมดของหนังใช้เพียงเครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesized) นำแรงบันดาลใจจาก Vangelis: Blade Runner และ Hans Zimmer: The Thin Red Line สร้างสัมผัสแห่งการสูญเสีย ล่องลอยเคว้งคว้าง ชีวิตดำเนินไปอย่างไร้แก่นสาน ไม่สามารถรับรู้อะไรใดๆ กาลเวลาเคลื่อนพานผ่านนานเท่าใด เพียงความรู้สึกโหยหา พยายามขวนขวายไขว่คว้า แต่ไม่มีวันที่เธอจะหวนกลับคืนมา
I think of the music to Memento of being all Leonard’s theme rather than theme’s for the different characters, themes for his state of mind and how it changes throughout the film. The emotion I was aiming at with my music was yearning and loss. But a sense of loss you feel but at the same time you don’t know what it is you have lost, a sense of being adrift. You have a nightmare and wake up and you are scared and don’t know why you are scared. That’s the state Leonard lives in throughout Memento.
David Julyan
คนที่ไม่มักคุ้นเคยกับเครื่องสังเคราะห์เสียง อาจไม่ทันสังเกตว่างานเพลงสามารถแบ่งออกได้เป็นสองสไตล์ คล้ายแบบเดียวกับการถ่ายภาพ และทิศทางตัดต่อ
- ระหว่างย้อนเวลา หวนกลับหาอดีต (Reverse Chronology) ท่วงทำนองมักมีลักษณะ “oppressive and rumbly noise” เต็มไปด้วยเสียงวุ่นๆวายๆ สร้างความหนวกหู หงุดหงิดรำคาญใจ
- อีกเส้นเรื่องราวที่ดำเนินจากจุดเริ่มต้นไปข้างหน้า (Chronological) ท่วงทำนองมีลักษณะ “brooding and classical” สไตล์บทเพลงคลาสสิก มีความลื่นหู ฟังดูลื่นไหล หัวใจเคลื่อนคล้อย ล่องลอยอย่างไร้จุดหมาย
ผมพยายามเลือกเอาบทเพลงที่มีท่วงทำนองตรงกันข้ามจาก Main Theme พอรับฟังเทียบกับปุ๊ปจะสามารถแยกแยะออกโดยทันที ค้นพบว่าสองสไตล์ที่กล่าวถึงนี้แตกต่างกันอย่างไร
สำหรับ Closing Song ในตอนแรกผกก. Nolan อยากได้ Radiohead: Paranoid Android (1997) แต่ไม่สามารถติดต่อขอลิขสิทธิ์ เลยเปลี่ยนมาใช้ David Bowie: Something in the Air รวมอยู่ในอัลบัม Hours (1999) ซึ่งผมรู้สึกว่าเข้ากับเรื่องราวของหนังมากกว่า
Your coat and hat are gone
I’ve really can’t look at your little empty shelf
A ragged teddy bear
It feels like we never had a chance
Don’t look me in the eyeWe lay in each others arms
But the room is just an empty space
I guess we’ve lived it out
Something in the air
We smiled too fast, then can’t think of a thing to sayLived with the best times
Left with the worst
I’ve danced with you too long
Nothing left to saveLet’s take what we can
I know you hold your head up high
We’ve raced for the last time
A place of no returnAnd there’s is something in the air
Something in my eye
I’ve dance with you too long (yeah)
Something in the air
Something in my eyeAbracadoo, I loose you
We can’t avoid the clash
The big mistake
Now we’re gonna pay and pay
The sentence of our lives
Can’t believe I’m asking you to go
We used what we could
To get the things we want
But we lost each other on the way
I guess you know. I’ll never wanted anyone more than you
Lived all our best times
Left with the worst
I’ve danced with you to long
Say what you will
There’s something in the air
Raced for the last time
Well, I know you’ll hold your head up high
But it’s nothing we have to say
There’s nothing in our eyesBut there’s something in the air
Something in my eye
I’ve danced with you too long
There’s something I have to say
There’s something in the air
Something in my eyeI’ve danced with you too long
Danced with you too long
Danced with you too long
There’s something in the air
Something in the air
เกร็ด: หน้าปกอัลบัม Hours (1999) ได้แรงบันดาลใจจาก Pietà แปลว่า ความสงสาร มักถูกใช้เป็นหัวเรื่องงานศิลปะศาสนาคริสต์ (Christian Art) พระแม่มารีย์ประคองร่างพระเยซูที่เพิ่งอัญเชิญลงจากกางเขน โดยงานประติมากรรมแกะสลักโด่งดังที่สุดในโลกคือ Michelangelo: Madonna della Pietà (1498-99)
Memento (2000) นำเสนอเรื่องราวของชายผู้สูญเสียความสามารถที่จะสร้างความทรงจำขึ้นใหม่ แต่ยังคงตราฝังเหตุการณ์สุดท้ายก่อนล้มป่วยอาการดังกล่าว คือพบเห็นภรรยาถูกข่มขืนกระทำชำเรา ในความเป็นจริงนั้นเธอยังมีลมหายใจ ไม่ได้ถูกฆาตกรรมแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้นกลับไม่สามารถปรับตัวเข้าอาการป่วยของสามี ทำการทดลองเรียกร้องขอให้เขาฉีดอินซูลินกับตนเอง ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังจดจำอะไรไม่ได้ว่า จนสุดท้ายร่างกายทนไม่ไหว สิ้นลมหายใจ
แม้ว่า Leonard จะไม่สามารถสร้างความทรงจำขึ้นใหม่ แต่ความตายของภรรยาทำให้เขาสามารถบิดเบือนเรื่องราวในอดีต เพราะเจ้าตัวเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนประกันภัย จึงผันแปรเปลี่ยนมาเป็นการให้คำปรึกษาปัญหาผู้ป่วยภาวะสูญเสียความจำส่วนอนาคต … หรือก็คือเรื่องราวของ Sammy Jankis และภรรยา
ส่วนความตายของภรรยาก็ถูกบิดเบือน ผนวกรวมเข้าตอนเธอถูกข่มขืนกระทำชำเรา กลายเป็นข้ออ้างความหมกมุ่น ต้องการฆ่าล้างแค้นอาชญากร/ฆาตกร ค้นพบนามกร John G. หรือ James G. ครุ่นคิดวิธีการจดบันทึกข้อมูล หลักฐาน (ผ่านรอยสัก รูปภาพถ่าย ฯ) และใช้สันชาตญาณโต้ตอบ ตัดสินใจ เชื่อมั่นในตนเองโดยไม่มีวิจารณญาณใดๆ
ความตั้งใจของผกก. Nolan ไม่ได้ต้องการจะสร้างความคลุมเคลือ หรือปลายเปิดให้ครุ่นคิดว่า Teddy เป็นตำรวจหรือฆาตกรตัวจริง? แต่มันเกิดจากการบิดเบือนของผู้ชมด้วยกันเอง ยึดติดกับข้อความบนภาพถ่าย “Don’t believe his lies.” จนลุ่มหลงเชื่อทุกสิ่งอย่าง ขาดวิจารณญาณไตร่ตรองถูก-ผิด ไม่สนใจจะครุ่นคิดค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตนเอง … นี่ถือเป็นสิ่งน่าหวาดสะพรึงยิ่งนัก
If you tell a lie big enough and keep repeating it, people will eventually come to believe it.
Joseph Goebbels
ผมไม่ค่อยอยากพาดพิงแนวคิด Nazi แต่ทว่ามันกลับสามารถใช้อธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้นกับ Memento (2000) รวมถึงผู้ชมที่ยังยึดถือเชื่อมั่นว่า Teddy คือฆาตกรตัวจริง! นั่นแปลว่าสิ่งต่างๆบนโลกใบนี้ (ไม่ใช่แค่ความทรงจำ) ล้วนเต็มไปด้วยการบิดเบือน สร้างภาพ เล่นละคอนตบตา ใครต่อใครต่างพยายามฉกฉวยโอกาสจากข้อบกพร่อง ความผิดพลาด เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน … ภาพสะท้อนยุคสมัยปัจจุบันนั้น-นี้ มนุษย์ไม่เพียงล่อหลอกผู้อื่น แต่ยังโกหกตนเองด้วยเช่นกัน!
โลกใบนี้มีสิ่งต่างๆมากมายที่ทำการ “ชวนเชื่อ” ปลูกฝังแนวคิด ค่านิยม ต้นแบบอย่างสังคม กฎหมายบ้านเมือง ศรัทธาศาสนา จนทำให้เราสูญเสียความสามารถในการครุ่นคิดตัดสินว่ามันถูก-ผิด ดี-ชั่ว เบื้องหลังเท็จจริงเป็นเช่นไร นั่นคือความสากล ครอบจักรวาลของหนัง และต้องถือว่าเหนือกาลเวลาด้วยนะ เพราะนำเสนอสิ่งที่อยู่ภายในของมนุษย์ ตั้งคำถามถึงความทรงจำ = ตั้งคำถามทุกสิ่งอย่างบนโลก เรากำลังมองเห็นความจริง หรือทุกสิ่งคือภาพลวงตา
มนุษย์ทำการบิดเบือน สร้างความจริง โกหกตนเองเพื่ออะไร? ส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดหวังต่อสภาพเป็นจริง รู้สึกอับอาย รับไม่ได้รับ ผิดหวังในตนเอง ตราบาปฝังใจ ต้องการลบเลือนสิ่งที่ไม่อยากจดจำ นี่คือลักษณะของการหลบหนี (Escapist) จากโลกความจริง … มันไม่ใช่ว่าการบิดเบือน หลอกลวงตนเองมีแต่ข้อเสียนะครับ ในบางกรณีอย่างผู้ป่วย Shell Shock, PTSD, หรือเคยเหตุการณ์ตราบาปฝังใจ (Trauma) บางทีก็การสูญเสียความทรงจำช่วงเวลานั้น อาจช่วยให้สามารถหวนกลับมาดำเนินชีวิตอย่างคนปกติได้อีกครั้ง!
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice ในแผนก Cinema del Presente (Cinema of the Present) สำหรับภาพยนตร์ที่ทำการบุกเบิกแนวคิด/นวัตกรรมใหม่ เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยม แต่กลับไม่มีสตูดิโอจัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจ (ขนาดว่า Miramax ของ Harvey Weinstein ที่ขึ้นชื่อเรื่องหนัง Art-House ยังไม่เอาด้วย) จนกระทั่งผกก. Steven Soderbergh ช่วยโปรโมทหนังเวลาออกงานสาธารณะ จนในที่สุดก็ได้สตูดิโอ Summit Entertainment ยินยอมจ่ายเงินระหว่าง $5-9 ล้านเหรียญ (หลายแหล่งข่าวระบุจำนวนไม่ตรงกัน)
หนังเข้าฉายสหรัฐอเมริกาวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 2001 เริ่มต้นเพียงแค่ 11 โรงภาพยนตร์ สามารถทำเงินได้ $235,488 เหรียญ จากนั้นกระแสปากต่อปากทำให้ปริมาณผู้ชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสัปดาห์ที่ 11 ขยับขยายไปถึง 531 โรงภาพยนตร์ รายรับทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา $25.4 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $39.7 ล้านเหรียญ ต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม! และช่วงปลายปียังมีลุ้น Oscar และ Golden Globe
- Academy Award
- Best Original Screenplay พ่ายให้กับ Gosford Park (2001)
- Best Film Editing พ่ายให้กับ Black Hawk Down (2001)
- Golden Globes Award
- Best Screenplay พ่ายให้กับ A Beautiful Mind (2001)
เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน คงไม่ผิดอะไรจะกล่าวว่า Memento (2000) คือหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษ 2000s ได้รับการโหวตติดอันดับ
- Writers Guild of America: 101 Greatest Screenplays ever written (2005) ติดอันดับ #100
- Entertainment Weekly: The 100 Best Films From 1983 to 2008 (2007) ติดอันดับ #23
- Empire: The 500 Greatest Movies of All Time (2008) ติดอันดับ #173
- Total Film: 50 Best Movies of Total Film Magazine’s Lifetime (2012) ติดอันดับ #2
- Motion Picture Editors Guild: The 75 Best Edited Films (2013) ติดอันดับ #14
- Empire: The 301 Greatest Movies Of All Time (2014) ติดอันดับ #58
- The Hollywood Reporter: Hollywood’s 100 Favorite Films (2014) ติดอันดับ #9
- BBC: The 21st Century’s 100 Greatest Films (2016) ติดอันดับ #25
ใครเป็นนักสะสมแนะนำให้รีบหาซื้อ DVD 2-Disc Set, Limited Edition ของค่าย Sony Pictures วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2002 ทำออกมาในลักษณะเหมือนรายงานผู้ป่วยจิตเวช (Psychiatric Report) โดยไฮไลท์คือเมนูแผ่นสองมีแบบทดสอบจิตวิทยา ถ้ากดคำตอบถูกต้องจะสามารถรับชม Special Feature หนึ่งในนั้นคือ “Chronological” edit of film ฉบับตัดต่อใหม่โดยเรียงลำดับตามเวลา (เห็นว่ามีฟุจเทจใหม่ที่เพิ่มใส่เข้ามาด้วยนะ)
สูตรกด DVD: https://www.mutedhorn.net/memento-dvd-guide
ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวบูรณะ แต่ฉบับล่าสุด SteelBook Limited Edition Blu-Ray ของค่าย 101 Films จัดจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2023 มีการเพิ่มเติมบทสัมภาษณ์, Commentary รวมถึงของสะสมพวกภาพถ่าย เอกสารหลักฐาน (แบบเดียวกับที่พบเห็นในหนัง) ไม่แน่ใจว่าแผ่นสองยังมีเมนูลูกเล่นเหมือนเดิมไหม แต่นักสะสมไม่ควรพลาดเด็ดขาด
ด้วยความที่ผมไม่ได้รับชม Memento (2000) มานานนับสิบๆปี เลยหลงลืมตอนจบ หรืออาจเพราะตอนนั้นไม่เชื่อคำกล่าวของ Teddy เลยไม่ได้จดจำตอนจบ? … แต่โดยไม่รู้ตัว ประสบการณ์ดังกล่าวช่วยให้ผมทำความเข้าใจหนังได้อย่างลึกซึ้ง ความทรงจำคือสิ่งสามารถบิดเบือน ลบเลือน ผันแปรเปลี่ยน เราจงอย่าไปยึดถือเชื่อมั่นกับมันมากนัก
ความทรงจำเลือนลางๆของผมต่อหนัง คือชื่นชอบแนวคิดและลีลาตัดต่อ แต่ไม่ค่อยกระตือรือล้นอยากรับชมรอบสองสามสักเท่าไหร่ เพราะความซับซ้อน ยุ่งยากท้าทาย ต้องใช้สมาธิอย่างมากในการรับชม
หวนกลับมาคราวนี้ก็ยังรับรู้สึกเช่นนั้น เป็นหนังที่ไม่ค่อยเหมาะกับการดูซ้ำๆสักเท่าไหร่ (สักห้าปี-สิบปี หวนกลับมาดูทีคงไม่เป็นไร) ถ้าไม่เพราะตอนจบสไตล์ Nolan ที่ชื่นชอบหักมุม เปิดประเด็นค้างๆคาๆ เลยค้นพบว่าหนังลุ่มลึกล้ำกว่าที่คาดคิดไว้พอสมควร … แต่ยังไม่สามารถเทียบเคียง Je t’aime, je t’aime (1968) หรือ Peppermint Candy (1999) ที่แม้เรื่องหลังมีความเป็นเกาหลี(ใต้)จัดๆ กลับบดขยี้หัวใจผู้ชมให้แหลกละเอียด
จัดเรต 18+ ความรุนแรง คำหยาบคาย ถูกหลอกใช้
Leave a Reply