Green Fish

Green Fish (1997) Korean : Lee Chang-dong ♥♥♥♡

ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิดผู้กำกับ Lee Chang-dong และนักแสดงนำ Han Suk-kyu เดินทางกลับบ้านหลังเสร็จภารกิจฝึกทหาร พบเห็นความเปลี่ยนแปลงของเมือง Ilsan เพียงไม่กี่ปีเต็มไปด้วยตึกระฟ้าสูงใหญ่ โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้กลายเป็นสมาชิกแก๊งมาเฟีย ดูสิว่าจะไต่เต้าได้ไกลแค่ไหน?

ผมพยายามค้นหาข้อมูล 초록 물고기 อ่านว่า Chorok Mulgogi แปลตรงตัว Green Fish ปลาสายพันธุ์อะไรที่มีสีเขียว? ในหนังกล่าวถึงแค่ปลาสีเขียวตัวนั้นที่เคยช่วยกันไล่จับ? ลองสอบถาม AI Bard ตอบอะไรก็ไม่รู้? ข้อสรุปของผมคือ MacGuffin เอาไว้ล่อหลอกผู้ชมให้คอยจับจ้องมองหา ไม่ได้มีความสำคัญอันใดต่อเรื่องราว แต่ถ้าคุณสามารถขบครุ่นคิดนัยยะเชิงสัญลักษณ์ จักเข้าใจวัตถุประสงค์แท้จริงของผู้สร้าง

Green Fish (1997) ไม่ใช่แค่ผลงานแจ้งเกิดผกก. Lee Chang-dong แต่ยังพลิกโฉมวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้มีแต่หนังสงคราม ประวัติศาสตร์ ชีวิตหรูหราของพวกคนรวย (Chaebol), ครั้งแรกๆนำเสนอเรื่องราวสะท้อนปัญหาสังคม บรรยากาศสมจริง (Realist) เคลือบแฝงความรุนแรงสุดโต่ง … กลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัย New Korean Cinema

เมื่อตอนหนังออกฉาย ค.ศ. 1997 ตรงกับ พ.ศ. ๒๕๔๐ ช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย หรือที่คนไทยเรียกติดปาก “วิกฤตต้มยำ” แม้ว่า Green Fish (1997) จะเข้าฉายหลายเดือนก่อนหน้า แต่ยังสามารถพยากรณ์หายนะ พบเห็นร่องรอย ความฟุ้งเฟ้อ ฟองสบู่ใกล้แตก เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจแทบล้มละลาย!

กันยายนปีนี้มันช่างวุ่นๆวายๆ ผมเห็นโปรแกรม The Absurdity of Life by Yorgos Lanthimos & Efthimis Filippou, The World of Lee Chang-dong และหอภาพยนตร์ยังมีเทศกาลหนังเงียบครั้งที่ #8, ดูแล้วคงไม่สามารถเขียนถึงได้ทั้งหมด เลยตัดสินใจเลือกโลกของ Lee Chang-Dong เพราะเคยเขียนถึงแค่ Peppermint Candy (1999) ถึงเวลาต้องปรับปรุงบทความสักนิดหน่อย


Lee Chang-dong, 이창동 (เกิดปี ค.ศ. 1954) นักเขียนนวนิยาย/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu, North Gyeongsang (เมืองที่ขึ้นชื่อในความขวาจัด/อนุรักษ์นิยม) ในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง (Lower-Middle Class) ตระกูลขุนนางเก่า (Ex-Nobel) แต่ทว่าบิดากลับฝักใฝ่การเมืองฝั่งซ้าย (Socialist) มากด้วยอุดมการณ์ (Idealist) ปฏิเสธทำการทำงาน บีบบังคับให้ภรรยาต้องทำงานหนักหาเลี้ยงครอบครัว

โตขึ้นเข้าศึกษาต่อวรรณกรรมเกาหลี Kyungpook National University จบออกมาทำงานละคอนเวที ครูสอนหนังสือโรงเรียนมัธยมปลาย ตีพิมพ์นวนิยายเล่มแรก Chonri (1983), ได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Park Kwang-su ชักชวนมาร่วมพัฒนาบทหนัง To the Starry Island (1993), A Single Spark (1995)

แม้ไม่เคยฝึกฝนร่ำเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่ประสบการณ์จากการกำกับ/เขียนบทละคอนเวที และตอนร่วมงานผกก. Park Kwang-su ยังขอติดตาม เรียนรู้งานในกองถ่าย ได้รับเครดิตผู้ช่วยผู้กำกับ (First Assistant Director) จึงได้รับการผลักดัน ให้โอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกขณะอายุย่าง 42-43 ปี

How I came to be a director results from a few unexpected coincidences. Because I wanted to ‘punish myself‘ I worked very hard on the set, and it seems that made a good impression on some of the staff and cast members that I didn’t expect. After that, those people kept suggesting that I become a director, and eventually helped me to debut as one. Of course, it’s not as though I had never had the desire to become a director. I had always been curious about the distance between film and reality, and had questions about the apathy of movies (whether commercial movies so-called art films) that were growing farther and farther detached from reality. I wanted to make films that closed the distance a little, between film and reality.

Lee Chang-dong

จุดเริ่มต้นของ Green Fish (1997) เกิดขึ้นเมื่อผกก. Lee Chang-dong ย้ายบ้านใหม่ เข้ามาอยู่อาศัยในย่าน Ilsan New Town (일산신도시) อดีตเคยเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม ขณะนั้นมีการกวาดซื้อที่ดินสำหรับก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์ ตึกสูงใหญ่ผุดขึ้นมากมาย นั่นทำให้เกิดความครุ่นคิดถึงคนเคยอยู่อาศัยละแวกนี้ จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงเข้ากับเมืองใหม่ได้อย่างไร?

One year before making Green Fish, I moved [home] to Ilsan city, a newly constructed apartment complex at the outskirts of Seoul. The area, previously a general Korean agricultural village, following the wave of urbanization was transformed into one of the biggest modern cities erected near Seoul. In other words, one might say that it became an exemplary space symbolizing the thirty years of continuous modernization and economic development in Korea.

As my life unfolded as an inhabitant of this modern space, I started to ask myself questions: the people who lived here before the new city took their living space – what were their dreams? And how could we retrace the memory of them? Green Fish can be considered as a transmission of these questions into film.


เรื่องราวของ Mak-dong (รับบทโดย Han Suk-kyu) ระหว่างเดินทางกลับบ้านหลังเสร็จภารกิจฝึกทหาร แรกพบเจอตกหลุมรัก Mi-ae (รับบทโดย Shim Hye-jin) แต่ขณะที่กำลังจะเข้าไปทักทาย มีเรื่องชกต่อยกับนักเลงเจ้าถิ่น

พอกลับมาถึงบ้านเกิด Ilsan พบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แทบจดจำอะไรไม่ได้ จากท้องทุ่งนากว้างไกล เต็มไปด้วยอพาร์ทเมนท์สูงใหญ่ สมาชิกในครอบครัวต่างแยกย้ายออกไปทำงาน ไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกันเหมือนแต่ก่อน ถึงคราวของ Mak-dong ที่ต้องมองหางานทำเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นทำการทำงานอะไร

กระทั่งแวะเวียนเข้าไปยังไนท์คลับแห่งหนึ่ง พบเจอกับ Mi-ae แนะนำให้รู้จักหัวหน้าแก๊งมาเฟีย Bae Tae-gon (รับบทโดย Moon Sung-keun) จึงมีโอกาสทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ไต่เต้าจนกลายเป็นลูกน้องคนสนิท ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ

แต่การมาถึงของอดีตหัวหน้ามาเฟียเก่า Kim Yang-kil (รับบท Myung Gye-nam) เข้ามากดขี่ข่มเหง อวดอำนาจบารมี ก็ไม่รู้เกรงกลัวอะไร Bae Tae-gon ถึงยินยอมก้มหัวศิโรราบ ยินยอมถูกทำให้อับอายขายหน้าบ่อยครั้ง นั่นทำให้ Mak-dong ตัดสินใจลงมือกระทำบางสิ่งอย่าง แม้รับรู้ว่าอาจทำให้ชีวิตตนเองต้องจบสิ้น


Han Suk-kyu, 한석규 (เกิดปี ค.ศ. 1964) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Seoul โตขึ้นเข้าเรียนสาขาภาพยนตร์และละคอนเวที Dongguk University จบมาทำงานนักพากย์สถานีโทรทัศน์ KBS ก่อนแสดงซีรีย์ Our Paradise (1970), แจ้งเกิดกับ The Moon of Seoul (1994), ส่วนภาพยนตร์เริ่มต้นกับ Doctor Bong (1995), The Ginkgo Bed (1996), โด่งดังพลุแตกกับ Green Fish (1997), No. 3 (1997), The Contact (1997), Christmas in August (1998), Shiri (1999), Double Agent (2003) ฯ

รับบท Mak-dong, 막동이 ชายหนุ่มเจ้าอารมณ์ เป็นคนซื่อตรงต่อความรู้สึก ไม่ได้ชื่นชอบความรุนแรง แต่ถ้าใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ระหว่างเดินทางกลับบ้านหลังเสร็จภารกิจฝึกทหาร ถูกพวกนักเลงรุมกระทำร้ายบนขบวนรถไฟ เลยหาโอกาสโต้ตอบเอาคืนแทบจะโดยทันทีทันใด

นอกจากนี้ Mak-dong ยังเป็นคนจิตใจอ่อนไหว ตกหลุมรักแรกพบ Mi-ae ก่อนรับรู้ว่าเธอเป็นภรรยาของหัวหน้าแก๊ง Bae Tae-gon ทำให้มีโอกาสเข้าทำงาน กลายเป็นสมาชิกกลุ่มมาเฟีย เพียงไม่นานก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ไต่เต้าจนกลายเป็นพี่น้อง กระทั่งการหวนกลับมาของหัวหน้าเก่า Kim Yang-kil พยายามกดขี่ข่มเหง จงใจทำให้อับอาย อดรนทนไม่ไหวจึงตัดสินใจเสียสละตนเอง

แม้เพิ่งประสบความสำเร็จจากผลงาน The Ginkgo Bed (1996) กวาดรางวัลการแสดงมากมาย แต่ทว่า Han Suk-kyu กลับรู้สึกยังไม่ค่อยพึงพอใจในตนเองนัก เพราะมุ่งมั่นทุ่มเทจนมากล้น ดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ (overly calculated) ยินยอมตอบตกลง Green Fish (1997) เพราะเล็งเห็นพื้นที่สำหรับพัฒนาตัวละคร ลองผิดลองถูก และบางฉากก็ได้รับอิสรภาพในการดั้นสด (Improvised)

ผมยังไม่ค่อยมีโอกาสรับชมผลงานของ Han Suk-kyu แต่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม เทพบุตรแห่งวงการภาพยนตร์ช่วงทศวรรษ 90s บทบาทใน Green Fish (1998) เห็นว่าคือหนึ่งในไฮไลท์ นำเสนอความขัดแย้งระหว่างร่างกาย-จิตใจ เป็นคนอ่อนไหว รักครอบครัว รวมถึงเมียเจ้านาย Mi-ae แต่ชีวิตกลับเต็มไปด้วยเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ พี่น้องต่างแยกย้าย มิอาจครองคู่เธอคนนั้น สังคมก็เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น เก็บสะสมอารมณ์เก็บกด อดอั้น กลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมทำลายทุกสรรพสิ่งอย่าง

ไฮไลท์ของ Han Suk-kyu อาจจะเป็นหนึ่งในฉากยอดเยี่ยมที่สุดในการแสดงเลยก็ว่าได้ คือการดั้นสดระหว่างคุยโทรศัพท์กับพี่ชาย รับรู้ความตายกำลังคืบคลานเข้ามา น้ำเสียงสั่นๆ ธารน้ำตาไหลหลั่ง พยายามอดกลั้น แล้วหวนระลึกความทรงจำเกี่ยวกับ “Green Fish” ช่วงเวลานั้นมันอาจฟังดูไร้สาระ แต่สามารถสะท้อนเหตุการณ์บังเกิดขึ้นทั้งหมด! … ความหมกมุ่นในการจับเจ้าปลาสีเขียว ทำให้ทั้งเจ็บตัว ทั้งเสียเวลา และสูญเสียแทบจะทุกสิ่งอย่าง!


Shim Hye-jin, 심혜진 (เกิดปี ค.ศ. 1966) นักแสดง/โมเดลลิ่ง สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Seoul, พออายุ 20 ปี ทำงานเป็นนางแบบ แจ้งเกิดกับโฆษณา Coca-Cola จนได้รับฉายา “Cola-like Woman” จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์ โทรทัศน์ อาทิ Black Republic (1990), Marriage Story (1992), White Badge (1992), To the Starry Island (1993), The Gingko Bed (1996), Green Fish (1997) ฯ

รับบท Mi-ae, 미애 นักร้องสาว คนรักของเจ้าพ่อมาเฟีย Bae Tae-gon วันหนึ่งระหว่างโดยสารรถไฟกลับบ้าน ประทับใจความเป็นลูกผู้ชายของ Mak-dong เมื่อมีโอกาสพบเจอกันอีกเลยแนะนำให้สามีช่วยหาการหางาน คอยให้การสนับสนุนอยู่เคียงข้าง อยู่สองต่อสองเมื่อไหร่พยายามเกี้ยวพาราสี … หนังไม่เปิดเผยว่าทั้งสองเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันหรือไม่ แต่หลังการจากไปของ Mak-dong ยังคงทำให้เธอคร่ำครวญโหยหา

จากสาวหน้าใสในโฆษณา ‘I feel Coke’ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นการพลิกบทบาทของ Shim Hye-jin เลยหรือเปล่า? กลายมาเป็นคนรักหัวหน้าแก๊งมาเฟีย ภายนอกพยายามแต่งตัวสวย เซ็กซี่ ดูมีราคา แต่จิตใจกลับอ่อนไหว เปราะบาง ถูกกระทำมามากจากชายคนรัก ได้รับบาดเจ็บทั้งร่างกาย-จิตใจ แต่เพราะไม่สามารถดิ้นหลบหนีไปไหน จึงจำยินยอมก้มหัวศิโรราบ เป็นได้เพียงทาสบำเรอกาม

ยกเว้นเพียงนานๆครั้งเมื่อได้อยู่เคียงข้าง Mak-dong จิตใจอันบริสุทธิ์ ซื่อตรง รักข้างเดียวของอีกฝ่าย คือกำลังใจให้เธอยังมีชีวิต พานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย พร้อมจะพลีกายถวายทุกสิ่งอย่าง แต่เขา(น่าจะ)ไม่ยินยอมเกินเลยเถิด กลายเป็นเพื่อนที่มากกว่าเพื่อน เอ็นดูรักใคร่ สะอื้อไห้เมื่อจากไป หลงเหลือเพียงภาพถ่าย และความทรงจำที่ไม่มีวันเลือนหาย

Moon Sung-keun, 문성근 (เกิดปี ค.ศ. 1953) นักแสดง/นักการเมือง สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Tokyo, Japan บิดาคือบาทหลวง/นักเคลื่อนไหว Moon Ik-hwan เคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับ Kim Dae-jung ในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร Park Chung Hee, โตขึ้นร่ำเรียนคณะบริหารธุรกิจต่างประเทศ Sogang University ทำงานพนักงานบริษัทนานกว่า 8 ปี เพิ่งเริ่มมีความสนใจด้านการแสดงเมื่อปี ค.ศ. 1985 โด่งดังจากละคอนเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Black Republic (1990), The Road to the Race Track (1991), To the Starry Island (1993), To You from Me (1994), A Single Spark (1995), A Petal (1996), Green Fish (1997) ฯ

รับบท Bae Tae-gon, 배태곤 หัวหน้าแก๊งมาเฟีย ภาพลักษณ์อาจดูเหี้ยมโหดชั่วร้าย บุคคลอันตราย แต่เป็นคนจิตอ่อนไหว ดูแลเด็กๆในสังกัดราวกับพี่น้องครอบครัวเดียวกัน โดยเฉพาะกับ Mak-dong รู้สึกถูกชะตาเป็นพิเศษ ราวกับพบเห็นตัวตนเองเมื่อครั้นยังหนุ่มๆ เลยพยายามสอบถามเป้าหมายชีวิต เพ้อใฝ่ฝันอยากทำอะไร เล่าให้ฟังถึงอดีตที่ก็เริ่มจากศูนย์ ก่อนไต่เต้าจนถึงจุดสูงสุด!

การกลับมาของหัวหน้าเก่า Kim Yang-kil แม้ถูกกดขี่ข่มเหงสารพัด ทำให้อับอายสารพัด กลับสั่งไม่ให้ลูกน้องโต้ตอบ กระทำการสิ่งใด นั่นเพราะอีกฝ่ายเคยมีบุญคุณ ช่วยเหลือตนเองจนมีวันนี้ จึงยินยอมอดกลั้น ฝืนทน การกระทำของ Mak-dong ทำให้เขาต้องเสียสละ …

ภาพลักษณ์ของ Moon Sung-keun เหมือนเจ้าพ่อมาเฟียอย่างมากๆ (กรามของ Sung-keun ชวนนึกถึง Marlon Brando ที่สวมใส่กรามปลอมเวลาเข้าฉาก The Godfather (1972)) วางมาดอย่างดุดัน น่าเกรงขาม เวลาใครทำอะไรไม่พึงพอใจมักขึ้นเสียง ใส่อารมณ์ ใช้ความรุนแรงระบายความอัดอั้นภายใน (กับทั้งลูกน้องและแฟนสาว) แต่ไฮไลท์คือตัวตนอีกด้านที่มีความอ่อนไหว เปราะบาง โดดเดี่ยวอ้างว้าง แม้กระทำรุนแรงกับ Mi-ae ก็ยังร่ำร้องขอให้อยู่เคียงข้างกาย


ถ่ายภาพโดย Yoo Young-gil, 유영길 (1935-98) เกิดที่ Seoul, โตขึ้นระหว่างเข้าศึกษา Inha Institute of Technology (ปัจจุบันคือ Inha University) มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนกองถ่ายของผกก. Yang Ju-nam ตัดสินใจลาออกเพื่อร่วมงานตากล้อง Jang Seok-jun ทำงานเป็นผู้ช่วยถ่ายภาพอยู่หลายปี ได้รับเครดิตครั้งแรก I Would Like to Become a Human (1969) กำกับโดย Yu Hyun-mok, ผลงานเด่นๆ อาทิ Black Republic (1990), To the Starry Island (1993), First Love (1993), A Single Spark (1995), A Petal (1996), Green Fish (1997), Christmas in August (1998) ฯ

แม้แนวหนังจะคือ Crime, Neo-Noir แต่งานภาพครึ่งแรกกลับออกไปทาง Neorealism บันทึกภาพความเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมืองใหม่ Ilsan New Town (일산신도시) ก่อนหน้าปี ค.ศ. 1992 เคยมีแต่ท้องทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา เพียงไม่กี่ปีถัดมาเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง อพาร์ทเม้นท์สูงใหญ่ สถานที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ที่มีฐานะค่อนข้างดี (Upper-Middle Class)

จนกระทั่ง Mak-dong เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มมาเฟีย ไต่เต้าจากรปภ.ชั้นใต้ดิน สู่ลูกน้องชั้นบน ถึงค่อยได้กลิ่นอาย บรรยากาศหนังนัวร์ เต็มไปด้วยความรุนแรง แสงสีสันยามค่ำคืน สะท้อนมุมมืดของมนุษย์ สารพัดลูกเล่นภาพยนตร์ก็พยายามถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจออกมา

สิ่งที่มีความโดดเด่นชัดสำหรับฉบับบูรณะ ก็คือสีเขียวตามชื่อหนัง ‘Green Fish’ คอยแทรกแซมอยู่ตามวัตถุ แสงสี ซึ่งคาดว่าก็น่าจะเคลือบแฝงนัยยะบางอย่าง … ทีแรกผมไม่รู้ว่าหนังผ่านการบูรณะเรียบร้อยแล้ว เลยนั่งชมฉบับ DVD สองแผ่น คุณภาพตามมีตามเกิด เพิ่งมาพบเจอฉบับ 4K ตอนเริ่มเขียนบทความนี้ แม้งเอ้ย เสียอรรถรสในการรับชมไม่น้อย


คงไม่ต้องอธิบายมากความ สองภาพนี้คือระหว่าง Opening vs. Closing Credit ก็ไม่รู้ผกก. Lee Chang-dong ค้นพบเจอบ้านหลังนี้ได้ยังไง (เชื่อว่าน่าจะแบบเดียวกับเรื่องราวตอนปัจฉิมบท บังเอิญขับรถผ่านแล้วแวะเวียนเข้ามารับประทานอาหาร) แถมพยายามเลือกมุมกล้องคล้ายๆเดิมเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ … และที่คาดไม่ถึงสุดๆก็คือหลังคาสีเขียว บ้านจากอดีตหลังเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่

มันเป็นความหงุดหงิดส่วนตัวที่ไม่ได้รับชมหนังฉบับบูรณะ เพราะคุณภาพค่อนข้างต่ำ DVD ทำให้ภาพแตกๆ เฉดสีซีดเซียวกว่าปกติ ผมเลยได้สนใจรายละเอียดสีเขียวมากนัก ซึ่งพอเปิดดูฉบับบูรณะแบบผ่านๆ มันช่างโดดเด่น สะดุดตา เพิ่งตระหนักว่ามีหลายสิ่งอย่างในหนังที่ละเล่นกับแสงสีสันนี้

ภาพฝั่งซ้ายจะมีความเบลอๆ สีซีดกว่า ทำให้สีเขียวดูกลมกลืนเข้ากับรายละเอียดอื่นๆ แต่ภาพฝั่งขวาที่ผ่านการบูรณะ จะมีการย้อมเฉดสีเขียวให้มีความโดดเด่นขึ้นอย่างชัดเจน

ระหว่างอยู่บนขบวนรถไฟ Mak-dong ตกหลุมรักแรกพบหญิงสาวคนหนึ่ง แต่หลังจากถูกพวกนักเลงรุมกระทืบ ก็เต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น หมดสิ้นความสนใจเธอคนนั้นที่นั่งอ่อยเหยื่ออยู่ข้างๆ หยิบเอาโล่รางวัลอะไรสักอย่าง (ทหารดีเด่น?) ไปโต้ตอบเอาคืน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไม่มีการประณีประณอมอะไรทั้งนั้น!

การแสดงดังกล่าวคือภาพสะท้อนชาวเกาหลีใต้ยุคสมัยนั้น คนรุ่นใหม่ล้วนเติบโตพานผ่านยุคสมัยเผด็จการทหาร (ยาวนานกว่า 40 ปี) ย่อมเต็มไปด้วยความเก็บกด อดกลั้น พบเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติสามัญ

สถานีรถไฟเมือง Ilsan เมื่อปี ค.ศ. 1997 ช่างดูหรูหรายิ่งนัก! Mak-dong มองซ้ายมองขวา มาถึงยังบริเวณเส้นทางแยก เราสามารถมองในเชิงสัญญะ อารัมบทเรื่องราวของหนัง ต้องเป็นการค้นหาอะไรสักสิ่งอย่าง? เส้นทาง เป้าหมายชีวิต? หรือออกไปจากสถานที่แห่งนี้?

เมื่อครั้น Mak-dong กลับมาถึงบ้าน สิ่งแรกที่ทำคือโยนเสื้อ(ทหาร)ลงบนพื้น แต่มันกลับดูเชื่องช้ากว่าปกติ นั่นเพราะมีการใช้เทคนิค ‘Slow-Motion’ มอบสัมผัสราวกับปลดเปลื้องภาระ สิ้นสุดหน้าที่ฝึกทหาร (ที่เกาหลีใต้บังคับผู้ชายทุกคนต้องฝึกทหาร) ต่อจากนี้ถึงเวลาทำการทำงาน เริ่มต้นใช้ชีวิต เติบโตเป็นผู้ใหญ่เสียที

คนที่ดูหนังจบแล้วน่าจะรับรู้ความสำคัญของต้นไม้ด้านหลัง ถ้าไม่นับภาพถ่าย Opening Credit นี่คือครั้งแรกพบเห็นระหว่าง Mak-dong กำลังเก็กหล่อหน้ากระจก ป่าวประกาศความฝัน จะทำงานหาเงินให้ได้เยอะๆๆ เพื่อไม่ให้มารดาต้องทำงานรับใช้ใคร … ต้องถือเป็นช็อตที่อดีต (ต้นไม้เติบใหญ่) ตัวตนในปัจจุบัน เพ้อวาดฝันถึงอนาคต รวมกันอยู่ในช็อตเดียว

ตอนมารดาบอกมีหญิงสาวโทรศัพท์หา แต่พอโทรกลับไม่มีใครรับสาย เหตุการณ์ลักษณะนี้มันไม่มีปี่มีขลุ่ยไม่ได้หรอก ซึ่งหนังก็แอบบอกใบ้ด้วยผ้าคลุมสีชมพู ซักตากไว้นอกบ้าน สื่อถึงบุคคลที่โทรมาย่อมคือเธอคนนั้นบนขบวนรถไฟ เก็บกระเป๋าเสื้อผ้า เอกสารต่างๆเอาไว้ให้ เลยสามารถติดตามหาได้ไม่ยาก

เรื่องราวของน้องชายขับรถขายไข่ ฝ่าไฟแดง ถูกตำรวจเรียก จ่ายสินบน แล้วโดนเชิดเงิน มันช่างเป็นวังวนแห่งความคอรัปชั่น เอาจริงๆแม้งก็ผิดด้วยกันทั้งหมด น้องชายเห็นแก่ตัว ไร้สามัญสำนึก ไม่เคารพกฎจราจร ตำรวจพยายามทำตามหน้าที่ แต่พอเงินเข้ากระเป๋า ไร้หลักฐาน ก็พร้อมเชิดหนี กงเกวียนกรรมเกวียน กรรมสนองกรรม

และการที่หนังไม่นำเสนอตอนจบลงเอยเช่นไร ได้เงินคืนไหมฦ ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มฦ หรือยินยอมรับความพ่ายแพ้โดยดี? ก็เพื่อจะสื่อเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นทั่วไป บ่อยครั้ง ทุกวี่วัน ไม่มีจุดจบสิ้น

Mak-dong พบเจอน้องสาวเป็นบาร์โฮส (Hostess) แต่ปกปิดครอบครัวว่าทำงานโรงงาน ทั้งสองวิ่งไล่กันจากร้านมาจนถึงตรอกสลัม แสดงถึงชีวิตที่ไม่ได้เลิศหรู ต้องต่อสู้ดิ้นรน เงินทองไม่ได้หามาง่ายๆ ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถอยู่สุขสบาย … การฉายภาพสลัม ก็เพื่อนำเสนออีกด้านของสังคมเมือง ตรงกันข้ามกับอพาร์ทเม้นท์สูงใหญ่ (พบเห็นตอนไปขายไข่กับน้องชายก่อนหน้านี้) ย่อมต้องมีถิ่นที่อยู่ของผู้ยากไร้

นี่เป็นสองช็อตที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม Mak-dong เข้ามาในไนท์คลับ แล้วพบเจอกับหญิงสาวที่ตนแอบตกหลุมรัก กำลังขับร้องเพลงบนเวที

  • เมื่อกลับจับภาพ Mak-dong นั่งอยู่ด้านล่าง ใบหน้าอาบฉาบด้วยแสงสีแดง ขณะที่บริเวณรอบข้างปกคลุมด้วยแสงสีเขียว
  • กล้องเคลื่อนหมุนแทนมุมมองสายตาของนักร้องสาว Mi-ae บรรดาแขกเหรื่อต่างปกคลุมด้วยแสงแดง แต่เฉพาะกับ Mak-dong กลับพบเห็นสีเขียวโดดเด่นขึ้นมา (ไม่ถึงกับเด่นชัดนัก แต่สามารถแยกแยะความแตกต่าง)
    • นี่สื่อว่าเธอจดจำเขาได้ บุคคลในความสนใจ

นี่เป็นรายละเอียดที่ผมเพิ่งสังเกตเห็นระหว่างเปิดผ่านๆฉบับบูรณะ มันสร้างความแตกต่าง ทำให้อรรถรสในการรับชมเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง!

พบเห็น Song Kang-ho ตอนผอมๆแล้วรู้สึกแปลกๆยังไงชอบกล ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียง วนเวียนอยู่ในแวดวงละคอนเวที ก่อนหน้านี้เพิ่งเคยเล่นตัวประกอบ The Day a Pig Fell into the Well (1996) ก่อนได้รับบทเด่นครั้งแรกกับ Green Fish (1997) คู่กัดกับ Han Suk-kyu เจอหน้ามักหาเรื่องชกต่อย ไม่ถูกชะตากันตั้งแต่แรก

แซว: ด้วยความที่ Song Kang-ho ตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักนัก ผู้ชม/นักวิจารณ์เลยครุ่นคิดว่าเป็นนักเลง มาเฟียจริงๆ

สถานที่แห่งนี้มันที่ไหนกัน สถานที่ราชการ? หรือแค่บริษัททั่วๆไป? แต่ที่แน่ๆวงไพ่ด้านหลังพร้อมขวดสุรา สำแดงถึงองค์กรที่มีความคอรัปชั่นซ่อนเร้นอยู่อย่างแน่นอน!

งานแรกของ Mak-dong คือพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ตรวจสอบรถเข้าออกอาคารจอดรถ คาดว่าน่าจะตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน ซึ่งสามารถใช้เป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ถึงงานระดับล่าง/จุดต่ำสุด เพื่อว่าจักค่อยๆไต่เต้าเลื่อนขึ้นสู่เบื้องบน

เริ่มงานยังไม่ถึงวันเลยกระมัง Mak-dong ก็ได้การเรียกคุยจากสมาชิกแก๊งคนหนึ่งในห้องเก็บสูท (ลองสูท/ทดลองงาน) พบเห็นภาพสะท้อนกระจก ชวนนึกถึงตอนต้นเรื่องที่เคยป่าวประกาศความต้องการต่อหน้ากระจก (บอกมารดาว่าจะหาเงินให้ได้เยอะๆ) นี่คือช่วงเวลาเติมเต็มความฝันดังกล่าว

แม้เพิ่งทำงานได้ไม่กี่วัน Mak-dong ก็แสดงอาการคิดบ้านเสียแล้ว หยิบรูปภาพในกระเป๋าสตางค์ขึ้นมาเชยชม โทรศัพท์พูดคุยกับมารดา และในห้องนอนโกโรโกโสแห่งนี้ สังเกตว่าเตียงนอนยังมีสีเขียว (หลับฝันถึงเจ้าปลาสีเขียว?) … นี่แสดงให้เห็นวิถีชนบทเข้าสู่เมือง ที่ต้องทนอยู่ตัวคนเดียว เหงาหงอย เปล่าเปลี่ยว โหยหาบางสิ่งอย่างสำหรับพึ่งพักพิง

วิถีอาชญากรของ Mak-dong เริ่มต้น-สิ้นสุดที่ห้องน้ำ (บานประตูสีเขียวอ่อนๆ) เริ่มต้นด้วยการทำร้ายตนเอง ใช้ประตูทุบนิ้วจนเลือดอาบ เพื่อใส่ร้ายป้ายสีบุคคลเป้าหมาย สร้างความพึงพอใจให้กับหัวหน้าแก๊งมาเฟีย จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกครอบครัวโดยทันที

ส่วนจุดสิ้นสุดก็ในห้องน้ำเช่นเดียวกัน (เดี๋ยวไว้อธิบายภายหลัง) ถือเป็นสถานที่แห่งความต่ำตม สกปรกโสมม (แม้มันจะโคตรสะอาดก็เถอะ) หรือจะมองเป็นประตูเข้า-ออก โลกใต้ดินแห่งอาชญากรรมก็ได้กระมัง

หลังผ่านการทดลองงาน ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม หัวหน้าแก๊ง Bae Tae-gon จึงเรียกตัว Mak-dong เข้าไปนั่งเคียงข้าง กล้องถ่ายหน้าตรงบนโต๊ะอาหาร ทุกคนระดับศีรษะเท่ากัน เฉกเช่นเดียวกับตอนชักชวนเข้าร่วมเป็นพี่น้อง ครอบครัวเดียวกัน แม้ถ่ายจากด้านข้าง ยังมีความสมมาตรซ้าย-ขวา

จนกระทั่ง Pan-su (รับบทโดย Song Kang-ho) แสดงปฏิกิริยาไม่พึงพอใจ กล่าวว่าสมาชิกคนอื่นๆใช้เวลาเป็นปีๆกว่าจะสามารถเรียกพี่น้องกับหัวหน้า หมอนี่เพิ่งเริ่มงานแค่สองสามวัน ยังไม่รับรู้จักด้วยซ้ำเป็นใครมาจากไหน ทำไมได้รับโอกาส/อภิสิทธิ์เหนือใคร? มุมกล้องถ่ายเอียงๆ เพื่อให้เห็นว่าบุคคลหัวโต๊ะมีระดับศีรษะสูงกว่าคนอื่นใด สำแดงถึงอำนาจ สิทธิ์ขาด ผู้เป็นใหญ่แท้จริงบนโต๊ะนี้

นี่เป็นซีเควนซ์ที่สำแดงถึงความกลับกลอก ปอกลอก เบื้องหน้า-หลัง เปลือกภายนอก-ตัวตนแท้จริง, ปากอ้างว่าทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม พี่น้องครอบครัวเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วใครบางคนกลับมีอำนาจ สิทธิ์ขาด สูงส่งเหนือผู้ใด พร้อมใช้ความรุนแรงถีบส่งถ้าเกิดความไม่พึงพอใจ

Mak-dong พบเจอกับพี่ชายที่เป็นตำรวจ แต่ท่าทางอีกฝ่ายดูเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า แทนที่จะพาไปบ้านกลับมายังร้านสุกี้แห่งหนึ่ง ช่วงแรกๆกล้องถ่ายจากภายในร้านออกมา พี่น้องพูดคุยสนทนา แต่พอเจ้าของร้านมาถึงก็มีการสลับมุมกล้อง (เปลี่ยนเป็นถ่ายจากหน้าร้านเข้ามา) ทำการขับไล่ ผลักไส เก็บจานชาม ไม่ให้ยินยอมให้บริการใดๆ

หนังไม่ได้อธิบายตรงๆว่าเคยเกิดเหตุการณ์อะไร แต่คาดเดาไม่ยากว่าพี่ชายคงเคยเมาอาละวาด ทำลายข้าวของในร้าน จึงถูกแบล็กลิสต์ … ไม่ใช่ว่าตำรวจควรให้บริการประชาชนไม่ใช่ฤา? กลับก่อเรื่องเสียเองซะงั้น! มุมกล้องเลยพลิกกลับตารปัตรตรงกันข้าม

Bae Tae-gon นำพา Mak-dong มายังตึกร้างแห่งหนึ่ง คาดว่าน่าจะเคยเป็นตลาด หรือศูนย์อาหาร ปัจจุบันถูกทอดทิ้งขว้างเพราะไม่มีใครมาใช้บริการ ภายในปกคลุมด้วยความมืดมิด เฉดสีเขียวแก่ๆ จากนั้นหัวหน้าก็เริ่มเล่าความหลัง กล้องค่อยๆปรับโฟกัสไกล-ใกล้ ชายในเรื่องก็คือเจ้าตัวเองนะแหละ เคยแอบมาลักขโมยอาหารแล้วถูกจับเข้าคุก เต็มไปด้วยความโกรธเกลียด (กล้องสลับมุมมอง) ตั้งใจว่าออกมาจะครอบครองสถานที่แห่งนี้ ทุบทำลายแล้วสร้างขึ้นใหม่ แต่ร้านดังกล่าวกลับปิดกิจการไปเสียก่อน

ผมมาครุ่นคิดดูตึกร้างแห่งนี้สามารถเปรียบเทียบถึง “Green Fish” ของ Bae Tae-gon สิ่งที่ตราฝังอยู่ในความทรงจำ หวนระลึกถึงบ่อยครั้ง โหยหาคร่ำครวญ อยากหวนย้อนเวลากลับไปช่วงเวลานั้น

ใครบางคนทำตัวราวกับผู้มีอิทธิพลเข้ามาในไนท์คลับ มองจากระยะไกลๆไม่เห็นอะไร เพียงได้ยินเสียงพูดคุยสนทนาที่เต็มไปด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม จากนั้นกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลเข้าหา แล้วพอ Bae Tae-gon เดินมานั่งฝั่งตรงข้าม สป็อตไลท์สาดส่อง ราวกับเจ้าพ่อมาเพียที่ไม่มีใครกล้าหือรือ

หนังไม่มีการอธิบายออกมาตรงๆว่า Kim Yang-kil คือใคร? มาจากไหน? เพียงเรื่องเล่าเกี่ยวกับสุนัขเคยเลี้ยงไว้ ปัจจุบันเติบใหญ่จนปีกกล้าขาแข็ง ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบถึง Bae Tae-gon คืออดีตลูกน้อง ได้รับการเสี้ยมสอนวิถีทางมาเฟีย แต่ต่อให้ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็เพียงสุนัขรับใช้ ไม่มีวันลุกขึ้นมาแว้งกัดเจ้านาย

Bae Tae-gon จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองให้กับลูกพี่ใหญ่ เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแผนก (Section Chef) แต่ทว่าจุดสูงสุดในอาชีพการงาน กลับถูกภรรยาที่บ้านทรยศหักหลัง คบชู้นอกใจ … นี่เป็นการตั้งคำถามถึงความสำเร็จได้รับ กลับต้องแลกมาด้วยการสูญเสียบางสิ่งอย่าง เหตุการณ์นี้แค่อารัมบทเท่านั้นนะครับ Bae Tae-gon และรวมถึง Mak-dong ก็กำลังจะได้รับบทเรียนนี้เช่นเดียวกัน

ฉากถัดมา Bae Tae-ong ส่งลูกน้องไปลักพาตัวไอ้หนุ่มที่คบชู้นอกใจลูกพี่ใหญ่ สั่งให้ขุดดิน กระทำอนาจาร ก่อนถูกกลบฝัง ไม่ต่างจากตกนรกทั้งเป็น … สูงสุดกลับสู่สามัญ

เหตุการณ์ดังกล่าวคือบทเรียนต่อ Mak-dong ไม่กล้าทำอะไรเกินเลยเถิด Mi-ae กลัวจะมีโชคชะตาแบบเดียวกับไอ้หนุ่มคนนั้น ซึ่งหนังก็พยายามท้าทายด้วยการให้เธอเป็นคนเข้าหา เกี้ยวพาราสี ชักชวนไปที่ห้อง เสนอตัวร่วมรักหลับนอน … หนังพยายามสร้างความคลุมเคลือว่าทั้งสองเกินเลยเถิดกันหรือไม่? แต่ขณะนี้ Mak-dong ยังไม่กล้าทำอะไร เพราะเพิ่งมีต้นแบบอย่างจากไอ้หนุ่มที่ถูกฝัง

ครั้งหนึ่งระหว่างโดยสารรถไฟกลับบ้าน Mi-ae มีความหลงใหลภาพถ่ายต้นไม้ใหญ่หน้าบ้านของ Mak-dong ถึงขนาดขอเก็บเอาไว้ นั่นคงเพราะเธอมีความโหยหา ครุ่นคิดถึงบ้านเกิดจากมา หวนระลึกถึงต้นไม้ใหญ่(ที่ปลูกไว้หน้าบ้าน)คล้ายๆกัน แต่ปัจจุบันมันคงไม่หลงเหลืออะไร ถูกทำลายกลายเป็นเมืองใหญ่ไปหมดสิ้น … รูปภาพนี้ได้กลายเป็น “Green Fish” ของ Mi-ae เลยก็ว่าได้

ความสัมพันธ์ระหว่าง Bae Tae-gon กับ Mi-ae ช่างแปลกประหลาด เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวรัก-เดี๋ยวชิงชัง มองจากเบื้องหน้าก็เหมือนชาย-หญิงทั่วๆไป แต่พอถอดเสื้อเห็นแผ่นหลัง ริ้วรอยบาดแผลเป็นจากการถูกเฆี่ยนตี กระทำร้ายร่างกาย นั่นแสดงถึงความเหี้ยมโหดร้ายของฝ่ายชาย หญิงสาวไม่ต่างวัตถุสำหรับระบายอารมณ์อัดอั้น … ช็อตที่ถ่ายริ้วรอยแผ่นหลัง สังเกตว่ายังพบเห็นตู้ปลา สัญลักษณ์ของการจมปลัก กักขัง (ปลาในตู้=นกในกรง) ไม่สามารถดิ้นหลบหนี หาหนทางออกสู่อิสรภาพ

งานรวมญาติในวันเกิดของมารดา พากันไปดั่งดื่มกินริมแม่น้ำ ไม่ห่างไกลจากทางรถไฟ ช่วงแรกๆพี่น้องก็พูดคุยกันดีๆ แต่ไม่นานก็เริ่มมีปากเสียง ทะเลาะเบาะแว้ง เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วน Mak-dong อดรนทนไม่ไหว ตัดสินใจขับรถวิ่งวนรอบสถานที่ปิคนิคแห่งนี้

เราสามารถเปรียบเทียบครอบครัว Mak-dong คือจุลภาคของชาวเกาหลีใต้ ทุกคนต่างเป็นพี่น้อง ครอบครัวเดียวกัน แต่สารพัดปัญหาขัดแย้งภายใน ทำให้เกิดความแตกแยก ทะเลาะเบาะแว้ง … ผมมองการขับรถเวียนวนรอบของ Mak-dong เปรียบเทียบถึงการปิดประเทศเกาหลี (ในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร) ไม่ให้ใครหลบหนีไปไหน จนกว่าเหตุการณ์วุ่นๆวายๆจะสงบลง ทุกคนต้องนั่งอยู่ภายในวงล้อมนี้

มันไม่ใช่ว่าแก๊งของ Bae Tae-gon ไปหาเรื่องอะไรใคร แต่เป็นพรรคพวกของ Kim Yang-kil ที่เริ่มต้นก่อน จะไม่ให้ตอบโต้ก็กระไรอยู่ ถึงอย่างนั้น Bae Tae-gon กลับเป็นฝ่ายต้องขอโทษขอโพย ส่งตัว Mi-ae ไปปรนเปรอ บำเรอกาม (น่าจะจินตนาการกันเองได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง)

ภาพช็อตนี้ตอนก่อนที่ Bae Tae-gon จะส่งตัว Mi-ae ขึ้นไปบำเรอกาม Kim Yang-kil กล้องถ่ายภายนอกรถ กระจกสะท้อนเส้นแสงสีแดงลากยาวพานผ่านใบหน้า (ของทั้ง Bae Tae-go และคนขับ Mak-dong) … ผมยังครุ่นคิดไม่ออกว่าแฝงนัยยะอะไร แต่ดูเหมือนเส้นเชือกพันธการตัวละครไว้ ทำให้ไม่สามารถดิ้นหลบหนีโชคชะตา

ก่อนหน้านี้ห้องของ Mi-ae ปกคลุมด้วยแสงสีเขียว แต่หลังจากปรนเปรอบำเรอกาม Kim Yang-kil ตกอยู่สภาพห่อเหี่ยวสิ้นหวัง นั่นกระมังทำให้เฉดสีเปลี่ยนมาเป็นท่วงม่วงๆ (แต่ไฟหัวเตียงก็ยังสาดสีเขียวอ่อนๆจางๆ)

คำถามที่ถกเถียงไม่รู้จบ Mak-dong กล้าจะร่วมรักกับ Mi-ae หรือไม่? หนังจงใจสร้างความคลุมเคลือ แต่ผมกล้าฟันธงแบบไม่กลัวหน้าแหก บรรยากาศแบบนี้ อารมณ์พาไป ไม่มีเหตุผลจะหักห้ามใจ

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเชื่อมั่นว่า Mak-dong ยินยอมร่วมรักกับ Mi-ae เพราะซีนถัดมาระหว่างขับรถให้หัวหน้า กล้องถ่ายทิวทัศน์สองข้างทางยามค่ำคืน เต็มไปด้วยแสงสีสันละลานตา พร้อมบรรเลงบทเพลงที่สร้างบรรยากาศทะมึนๆ มืดหมองหม่น ‘gloomy feeling’ ตามคำกล่าวของ Bae Tae-gon ถ้าอีกฝ่ายรับรู้เหตุการณ์บังเกิดขึ้น ตนเองคงไม่ตายดีอย่างแน่แท้!

และเมื่อ Mak-dong ขับรถมาถึงลานจอดรถ โดยไม่รู้ตัวถูกคนทรยศ Pan-su ย้ายข้างไปอยู่ฟากฝั่ง Kim Yang-kil ตรงเข้ามาทุบทำลายกระจก สัญลักษณ์จุดแตกหักความสัมพันธ์

  • ระหว่าง Pan-su กับ Kim Yang-kil (ที่เลือกปฏิบัติ) และ Mak-dong (ไม่ถูกชะตาตั้งแต่แรก)
  • Mak-dong ก็แทบจะไม่สามารถอดรนทนต่อพฤติกรรมของ Kim Yang-kil
  • รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Mak-dong กับ Kim Yang-kil (ในกรณีถ้าครุ่นคิดว่า Mak-dong มีความสัมพันธ์ชู้สาวกับ Mi-ae)

นี่ก็เป็นสองทิศทางคลาสสิกที่ผมอธิบายมาแล้วหลายครั้ง แต่สังเกตว่าทิศทางคราวนี้จะเอนเอียงไปยังฟากฝั่ง Kim Yang-kil เพราะมีอำนาจบารมีเหนือกว่า Bae Tae-gon สามารถชกหน้า ตบปาก โดยที่อีกฝ่ายไม่กล้าหือรือ โต้ตอบกลับ … สังเกตว่า Pan-su ก็ย้ายมานั่งฝั่ง Kim Yang-kil พร้อมแสดงท่าทางเริดเชิด ไม่หวาดกลัวเกรง ผิดกับลูกน้องของ Bae Tae-gon แทบทั้งหมดต่างก้มหน้าก้มตา ยกเว้นเพียง Bak-dong เต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น

หลังการรับประทานอาหารมื้อนั้น Bae Tae-gon และ Mak-dong เดินทางมายังดาดฟ้าอาคารร้าง พร่ำเพ้อรำพันถึงการไต่เต้าจากเบื้องล่างสู่จุดสูงสุด จากนั้นสอบถามถึงความฝันของ Mak-dong นี่คือครั้งแรกพูดบอกความต้องการ และเมื่อลงมาด้านล่างก็เหม่อมองขึ้นไปเบื้องบน ราวกับว่านั่นคือสถานที่ที่ตนเพ้อใฝ่ฝัน อยากไต่เต้าไปให้ถึงจุดนั้น

แต่ทว่าการกระทำหลังจากนี้ของ Mak-dong กลับมีทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม! แทนที่จะเริ่มเก็บหอมรอมริด ริเริ่มต้นธุรกิจครอบครัว กลับลงมือกำจัดภัยพาล เข่นฆ่าศัตรูคู่อาฆาต … นั่นคือแนวทางของเผด็จการทหารเลยก็ว่าได้!

ความเก็บกดอดกลั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่งของ Mak-dong ที่มีต่อ Kim Yang-kil จึงเดินทางสู่ไนท์คลับฟากฝั่งตรงกันข้าม หลบซ่อนตัวในเงามืด เผาทำลายผ้าคลุมสีชมพู (ของ Mi-ae) สัญลักษณ์จิตวิญญาณมอดไหม้ (เห็นเปลวไฟแผดเผาในแว่นตาดำ) จากนั้นแอบเข้าห้องน้ำ ใช้มีดทิ่มแทง เลือดไหลอาบนองท่วมพื้น(ผืนแผ่นดิน)

อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า ห้องน้ำเปรียบเสมือนประตูสู่โลกใต้ดิน จุดเริ่มต้น Mak-dong เข้าสู่แวดวงอาชญากรรม แต่คราวนี้ลงมือฆาตกรรม Kim Yang-kil ถือเป็นจุดสิ้นสุด ปิดประตูทางออก มุ่งสู่ยมโลก ความตาย มอดไหม้ทั้งร่างกาย-จิตวิญญาณ

ฉากมีชื่อเสียงที่สุดของหนังคือการดั้นสด (Improvised) ของ Han Suk-kyu ยังตู้โทรศัพท์! โดยผกก. Lee Chang-dong ให้คำแนะนำคร่าวๆเกี่ยวกับเจ้าปลาสีเขียว แล้วมอบอิสระนักแสดงในการครุ่นคิดบทสนทนาด้วยตนเอง

ในช่วงเวลาที่ Mak-dong รับรู้ตัวเองว่าคงมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน โทรศัพท์หาพี่ชาย (น่าจะคนที่เป็นตำรวจ) ชวนคุยเกี่ยวกับปลาสีเขียวเคยพยายามไล่จับ แต่กลับเกิดเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ รองเท้าสูญหาย น้องสาวโดนผึ้งต่อย ราวกับปลาต้องคำสาป ถ้าไม่ยุ่งกับมันตั้งแต่แรกคงไม่มีใครเจ็บตัว! … คนส่วนใหญ่อาจเปรียบเทียบ Kim Yang-kil = ปลาสีเขียว ถ้าไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวก็คงไม่บังเกิดหายนะติดตามมา แต่ถ้าเราไล่ย้อนไปเรื่อยๆจักค้นพบจุดเริ่มต้นของหนังคือ Mi-ae เธอคือบุคคลแรกที่ชักนำพา Mak-dong เข้าสู่แวดวงอาชญากรรม

แม้เจ้าปลาสีเขียวจะสร้างหายนะให้กับ Mak-dong แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน หลงเหลือเพียงความทรงจำวันวาน กลับรู้สึกโหยหา คร่ำครวญ อยากหวนย้อนกลับไปช่วงเวลาแห่งความสุขนั้น

แซว: หูโทรศัพท์ก็ยังสีเขียวอ่อนๆเลยนะ!

Bae Tae-gon นัดหมาย Mak-dong ไปยังอาคารร้าง ขอให้จุดบุหรี่ท่ามกลางความมืดมิด (แสงสว่างสุดท้ายก่อนจิตวิญญาณดับสูญ) จากนั้นใช้มีดทิ่มแทง แล้วเดินตุปัดตุเป๋กลับไปที่รถ เอาหน้าเบี้ยวๆแนบกระจก (กลายเป็นภาพจำอันหลอกหลอน ไม่รู้ลืมเลือน) … เอาจริงๆผมไม่เข้าใจเหตุผลที่ Bae Tae-gon ต้องฆ่าปิดปาก Mak-dong กลัวจะถูกสาวความผิดมาถึงตน? หรือโดนใบสั่งจากเบื้องบน? หรือแค่ต้องการล้างแค้นแทนผู้มีพระคุณ? หรือจับได้ว่าแอบสานสัมพันธ์ชู้สาวกับ Mi-ae? (เหตุผลหลังสุดมีความเป็นไปได้เพราะ Mi-ae นั่งติดรถมาด้วย)

สิ่งน่าสนใจคือการเลือกอาคารร้าง สถานที่ที่ Bae Tae-gon เคยเล่าความหลังว่าโกรธเกลียดเจ้าของร้านอาหารที่จับส่งตนเองเข้าคุก สักวันหนึ่งอยากจะแก้ล้างแค้น ทุบทำลายตึกแห่งนี้! ในบริบทของหนัง Mak-dong ราวกับว่ากลายเป็นเจ้าของร้านอาหารคนนั้น เพราะได้ทำสิ่งสร้างความโกรธแค้นให้หัวหน้า เลยถูกฆ่าปิดปาก

แต่ผมมองหนังในมุมซับซ้อนกว่านั้นเล็กน้อย ถ้าเรามองว่า Kim Yang-kil คือ(ตัวแทน)เจ้าของร้านอาหารที่ Bae Tae-gon มีความโกรธรังเกียจ แต่ยังอดกลั้นฝืนทน ยินยอมอับอายขายหน้า เพื่อสักวันหนึ่งจักได้โต้ตอบเอาคืน แก้ล้างแค้นด้วยเงื้อมมือตนเอง แต่ทว่า Mak-dong ผู้ไม่รู้ประสีประสาได้ทำลายโอกาสนั้น จึงจำต้องฆ่าปิดปากเพื่อระบายความอัดอั้นคับแค้น

ปัจฉิมบท, หลายเดือนถัดไป Bae Tae-gon และ Mi-ae (ทารกในครรภ์ของ Mi-ae ก็มีความคลุมเคลืออยู่เหมือนกันว่าลูกใคร?) ขับรถออกนอกเมือง แวะเข้ามาร้านอาหารของครอบครัว Mak-dong ซีเควนซ์นี้มีสองสิ่งที่น่าสนใจ

  • ร้านแห่งนี้ทำการเชือดไก่สดๆสำหรับทำอาหาร ผมนึกสำนวน “เชือดไก่ให้ลิงดู” ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชาวเกาหลีใต้ตั้งแต่ยุคเผด็จการทหาร ปกครองด้วยความรุนแรง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำตัวเป็นแบบอย่างให้ประชาชนไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านขัดขืน
  • หลังรับประทานอาหาร Mi-ae ออกมานอกร้าน พบเห็นต้นไม้สูงใหญ่ เกิดความรู้สึกคุ้นเคยอย่างรุนแรง จึงรีบค้นหารูปภาพในกระเป๋า ก่อนตระหนักว่านี่คือต้นไม้เดียวกับภาพถ่ายของ Mak-dong นั่นสร้างความเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ อดีตไม่มีวันเลือนหาย ภาพสะท้อนต้นไม้บนกระจกหน้ารถ สื่อถึงความทรงจำที่ตราฝังอยู่ภายในจิตวิญญาณ

หลายคนอาจมองว่าปัจฉิมบทดูเป็นส่วนเกินของหนัง ตัดจบตั้งแต่ความตายหรืองานศพก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ผมมองว่าผกก. Lee Chang-dong ต้องการนำเสนอการเติมเต็มความฝันของ Mak-dong เคยเล่าว่าอยากเก็บหอมรอมริด เปิดร้านอาหารครอบครัว และทุกคนหวนกลับมาอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าอีกครั้ง … ก็เท่ากับว่าการเสียสละ/ความตายของ Mak-dong ทำให้ครอบครัวมีอนาคตสดใส ดำเนินตามทิศทางเคยวาดฝันไว้ เกาหลีใต้เมื่อหมดยุคสมัยเผด็จการทหารก็เฉกเช่นเดียวกัน

ตัดต่อโดย Kim Hyeon, 김현 เข้าสู่งวงการตั้งแต่ทศวรรษ 70s ผลงานเด่นๆ อาทิ The Autumn After Love (1986), Black Republic (1990), Stairway to Heaven (1992), First Love (1993), Passage to Buddha (1993), To the Starry Island (1993), The Warrior (2001), Lover’s Concerto (2002), กลายเป็นขาประจำผกก. Lee Chang-dong ตั้งแต่ Green Fish (1997) จนถึง Burning (2019)

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Mak-dong หลังเสร็จสิ้นการฝึกทหาร ระหว่างโดยสารรถไฟกลับบ้าน ตกหลุมรักแรกพบหญิงสาวสวย Mi-ae ก่อนภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากเธอเข้าร่วมเป็นสมาชิกแก๊งมาเฟียของ Bae Tae-gon ไต่เต้าจากพนักงานรักษาความปลอดภัยชั้นใต้ดิน จนกลายมาเป็นลูกน้องคนสนิทที่พร้อมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ยินยอมเสียสละตนเองดีกว่าถูกทำให้เสื่อมเสียเกียรติ

  • Mak-dong เดินทางกลับบ้าน
    • ระหว่างโดยสารรถไฟ Mak-dong ตกหลุมรักแรกพบ Mi-ae ก่อนมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับนักเลงเจ้าถิ่น
    • พอกลับมาถึงบ้าน พร่ำบ่นถึงสารพัดความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้น
    • นั่งรถไปกับน้องชาย รับจ้างขายไข่ ก่อนขับรถไล่ล่าตำรวจ
    • พบเจอน้องสาวทำงานบาร์โฮส
    • ยามค่ำคืนแวะเวียนไปยังไนท์คลับ พบเจอกับ Mi-ae ทำงานเป็นนักร้อง
    • เฝ้ารอคอยหลังเลิกงาน พยายามจะพูดคุยกับ Mi-ae แต่ถูกพวกนักเลงกระทำร้ายร่างกาย ถึงอย่างนั้นหัวหน้าแก๊งมาเฟีย Bae Tae-gon กลับตัดสินใจหางานให้
  • Mak-dong ไต่เต้าจากรปภ. สู่ลูกน้องคนสนิท
    • จากการแนะนำของ Bae Tae-gon ทำให้ Mak-dong ได้ทำงานพนักงานรักษาความปลอดภัย แต่ยังไม่ทันไรมีเรื่องชกต่อยกับ Pan-su
    • Mak-dong ได้รับมอบหมายภารกิจ เข้าไปก่อกวนเจ้าหน้าที่ราชการคนหนึ่ง ถึงขนาดทำให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ เพื่อความสมจริงในการแบล็กเมล์
    • Bae Tae-gon ประทับใจในความทุ่มเทของ Mak-dong เลื่อนขั้นให้กลายเป็นลูกน้องคนสนิท
    • มีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นในไนท์คลับ Mak-dong เข้ามาแก้ปัญหา ให้ความช่วยเหลือ Mi-ae พากลับบ้าน
    • แวะเวียนมาเยี่ยมพี่ชายที่เป็นตำรวจ แต่กลับมีปัญหากับภรรยา
    • Bae Tae-gon นำพา Mak-dong มายังตึกร้างแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังถึงความหลัง สอบถามถึงความใฝ่ฝัน
  • การหวนกลับมาของหัวหน้าเก่า Kim Yang-kil
    • หัวหน้าเก่า Kim Yang-kil ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ แวะเวียนมาทักทาย Bae Tae-gon
    • เพื่อนตำรวจของ Bae Tae-gon ขอความช่วยเหลือให้จัดการกับชายชู้ของภรรยา
    • Mi-ae พยายามเกี้ยวพาราสี Mak-dong แต่เขาปฏิเสธจะล่วงเกินความสัมพันธ์
    • Mak-dong แวะเวียนกลับมางานวันเกิดมารดา พบเจอพี่ๆน้องๆ เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ
    • แก๊งของ Kim Yang-kil เข้ามาหาเรื่องพรรคพวกของ Bae Tae-gon
    • Bae Tae-gon จำต้องส่ง Mi-ae เข้าไปปรนเปรอ Kim Yang-kil
    • ค่ำคืนนั้น Mak-dong อยู่สองต่อสองกับ Mi-ae
  • ขีดสุดความอดกลั้นของ Mak-dong
    • ระหว่าง Mak-dong ขับรถให้กับ Bae Tae-gon พอมาถึงลานจอดรถ ถูกโจมตีโดยคนทรยศ Pan-su
    • Bae Tae-gon นัดหัวหน้าเก่ามาพูดคุย กล่าวขอโทษ ถูกตบหน้า ทำให้อับอายขายหน้า
    • Mak-dong อดรนทนไม่ไหวอีกต่อไป จึงตัดสินใจลงมือฆ่าปิดปาก Kim Yang-kil
    • โทรศัพท์ไปคุยกับพี่ชาย หวนระลึกความหลัง ตระหนักถึงโชคชะตากรรม
    • Bae Tae-gon นัดพบเจอ Mak-dong ยังตึกร้างที่เคยแวะเวียนมา
  • ปัจฉิมบท
    • หลายเดือนถัดมา Bae Tae-gon และ Mi-ae บังเอิญแวะเวียนไปรับประทานอาหารยังบ้านหลังเก่าของ Mak-dong

แม้ลีลาดำเนินเรื่องจะค่อนข้างจะเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า (slow pace) แต่ทว่าเรื่องราวมักก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว (แบบเดียวกับการเลื่อนตำแหน่งของ Mak-dong ยังไม่ทันไรกลายเป็นลูกน้องคนสนิทของ Bae Tae-gon) จนสูญเสียหลายๆสิ่งอย่างอุตส่าห์สร้างไว้ ยกตัวอย่างบรรดาญาติพี่น้องของ Mak-dong ต่างมีช่วงเวลาแนะนำตัวละคร หลังจากนั้นกลับไม่มีการสานต่ออะไร เพียงพบเจอตอนรวมญาติวันเกิด-ตาย และปัจฉิมบท … ความสะเปะสะปะดังกล่าว สามารถสะท้อนถึงวิถียุคใหม่ ครอบครัวแยกย้าย ต่างคนต่างอยู่ แทบไม่มีเวลาไปมาหาสู่ แต่หนังเร่งรีบและรวบรัดกับประเด็นเหล่านี้เกินไป จนทำให้ดูขาดๆเกินๆ มากกว่าจะทำความเข้าใจนัยยะซ่อนเร้นดังกล่าว


เพลงประกอบโดย Lee Dong-jun,이동준 (เกิดปี 1967) นักแต่งเพลงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Busan, ระหว่างยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ Sellers and Buyers (1989) แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก กระทั่งสองปีถัดมาชนะการประกวดดนตรี Korea Dance Festival Music Award หลังกลับจากฝึกทหารจึงเริ่มรับทำเพลงประกอบภาพยนตร์จริงจัง โด่งดังจาก The Gingko Bed (1996), Green Fish (1997), Shiri (1999), Save the Green Planet! (2003), Tae Guk Gi (2004), My Way (2011), Miracle in Cell No. 7 (2013), Father and Son (2017), A Birth (2022) ฯ

งานเพลงของหนัง ฟังดูเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย เหงาหงอยเศร้าซึม เสียงเครื่องเป่าช่างมีความโหยหวน เคว้งคว้างล่องลอย มอบสัมผัสแห่งการเปลี่ยนแปลง(ยุคสมัย) คร่ำครวญถึงอดีต วันวานที่เคลื่อนเลยผ่าน ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป จะมีไหมใครสักคนอยู่เคียงข้างกาย

สำหรับบทเพลง Mi-ae’s Song (미애의 노래) ขับร้องโดย Shim Hye-jin มอบสัมผัสเจ็บปวดราวดร้าว ระทมทุกข์ทรมาน คำสัญญารักเคยมีให้กัน วันนี้กลับเต็มไปด้วยความชอกช้ำ หลงเหลือเพียงความขื่นขม จมอยู่ในความสิ้นหวัง … ฟังดูเป็นคำรำพันของ Mi-ae ที่มีต่อ Bae Tae-gon

คำร้องเกาหลีคำแปลอังกฤษ
아직 내 앞에서 넌 웃고 있니
처음 만날 때의 눈빛으로
아직 내 곁에 왜 머무르면서
넌 슬픈 사랑으로 남았니
할 수 있잖아 다시 한번 더
나를 위해서라면 무엇이든 넌
할 수 있다고 약속 했잖아
너의 마지막 사랑 날 위해서
그것만이 날 사랑한
네가 할 수 있는 모든 것이야
제발 이젠 떠나가줘
날 위해서
Are you still smiling in front of me?
With the same eyes you had when we first met.
Why do you still stay by my side?
Have you become a sorrowful love?
You can do it one more time.
You promised you could do anything for me.
Your last love, for me.
That’s all you can do to love me.
Please leave now.
For me.

ช่วงแรกๆที่ยังถ่ายมุมก้ม เสียงฮาร์โมนิก้าทำให้หัวใจสั่นไหว เศร้าโศกเสียใจ เจ็บปวดรวดร้าวกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น แต่พอกล้องๆขยับเคลื่อนให้เห็นทิวทัศน์กว้างไกล อพาร์ทเมนท์สูงใหญ่ เสียงออร์เคสตราดังพร้อมการปรากฎขึ้นของ Closing Credit สร้างความปลดปล่อย โล่งสบาย รู้สึกผ่อนคลาย ค่อยๆหายจากอาการเศร้าซึม ฟื้นตื่นขึ้นจากฝันร้าย บังเกิดประกายความหวัง ตราบยังมีลมหายใจ ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

แซว: หนังชื่อ Green Fish แน่นอนว่าเครดิตต้องมีสีเขียว!

ตั้งแต่ที่พลเอก Park Chung Hee ทำรัฐประหารพฤษภาคม ค.ศ. 1961 ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ปกครองประเทศความเผด็จการ บังคับใช้กฎอันเข้มงวด จนถูกลอบสังหารวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1979, ต่อพลเอก Chun Doo-hwan ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ 1980 Gwangju Uprising นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีร่วมสมัย จนกระทั่ง Roh Tae-woo (ทายาททางการเมืองของ Chun Doo-hwan) ชนะการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1987 ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ให้อิสระประชาชนในการแสดงออก เปิดประเทศเพื่อจัดโอลิมปิคฤดูร้อน 1988 นั่นถือเป็นจุดสิ้นสุดการปกครองระบอบเผด็จการ … นี่คือประวัติความรุนแรง (History of Violence) ของประเทศเกาหลีใต้ อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารยาวนานเกือบ 40 ปี!

รัฐบาลใหม่ของ Roh Tae-woo (1987-93) ต่อด้วย Kim Young-sam (1993-98) ได้ริเริ่มสร้างโปรแกรมปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โน่นนี่นั่นอีกมากมาย ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู (Renaissance) ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ยกตัวอย่างย่านชานเมือง Ilsan จากเคยเป็นท้องทุ่งนากว้างไกล ถูกกวาดซื้อเพื่อสร้างอพาร์ทเมนท์สูงใหญ่

Green Fish (1997) เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน Mak-dong แค่ไปฝึกทหารไม่กี่ปี พอหวนกลับบ้านแทบจดจำอะไรไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่สภาพภูมิทัศน์ปรับเปลี่ยนแปลงไป ยังรวมถึงวิถีชีวิต ครอบครัว อาชีพการงาน สังคมเมืองล้วนผิดแผกแตกต่างจากวิถีชนบท จนไม่รู้จะปรับตัวเองเช่นไร

  • วิถีชนบท สามารถใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไม่เร่งรีบร้อน ทุกคนรับรู้จัก พึ่งพาอาศัย จิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณา ปัญหาเล็กๆน้อยย่อมสามารถพูดคุยปรับความเข้าใจ
    • สังคมเมืองเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ต้องขยันขันแข็ง ขี้เกียจเมื่อไหร่อาจถูกไล่ออกจากงาน รอบข้างเต็มไปด้วยคนแปลกหน้า ไม่เคยพูดคุย ไม่เคยรับรู้จัก เวลามีปัญหาก็ขึ้นโรงพัก เต็มไปด้วยคนมักมาก เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ สนเพียงผลประโยชน์ เงินทอง กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ
  • ในชนบท ครอบครัวมักอยู่กันพร้อมหน้า ปู่-ย่า พ่อ-แม่ พี่-น้อง อาศัยในบ้านหลังใหญ่ พึ่งพาอาศัย ไปมาหาสู่อยู่เป็นประจำ
    • แต่การมาถึงของสังคมเมือง ต่างคนต่างต้องแยกย้ายไปทำงาน นานๆครั้งถึงแวะเวียนกลับพบเจอหน้า

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ Mak-dong ตกอยู่ในสภาพเคว้งคว้าง ล่องลอย ไม่รู้จะปรับตัว ทำการทำงานอะไร พยายามค้นหาตัวตนเอง อะไรคือเป้าหมายชีวิต? เพ้อใฝ่ฝันอยากทำอะไร? … ผกก. Lee Chang-dong ก่อนหน้านี้เคยสอนหนังสือ เขียนนวนิยาย กำกับละคอนเวที นั่นคือการค้นหาอัตลักษณ์ ความสนใจ จนได้รับโอกาสพัฒนาบทหนัง และสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรกนี้ (เข้าร่วมเป็นสมาชิกแก๊งมาเฟีย) ถือเป็นการพบเจอตัวตนเองได้กระมัง

I have always believed in and wanted to create films that reflect the reality we are living in, ever since I started my film career with Green Fish. The perpetual inquiry I hold as a filmmaker is how much a film can mirror and question the reality of our lives.

Through Green Fish, I intended to show that the logic of violence that operates Korean society – the logic of economic development through destructive gentrification and the logic of ruthless gang members – are not so different.

Lee Chang-dong

แม้หนังจะมีลักษณะของ ‘Genre Film’ แนวอาชญากรรม กลิ่นอายนัวร์ๆ (Neo-Noir) แต่ความตั้งใจของผกก. Lee Chang-dong ต้องการสะท้อนวิถีมาเฟียที่ชอบรีดไถ ใช้ความรุนแรง ไม่พึงพอใจอะไรก็หาเรื่องทำร้ายร่างกาย ยึดหลักอำนาจนิยม สังคมชายเป็นใหญ่ เปรียบเทียบกับระบอบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของเกาหลีใต้

เราสามารถทำการเชื่อมโยงหัวหน้าแก๊งมาเฟีย Bae Tae-gon = ประธานาธิบดี Roh Tae-woo (ทายาททางการเมืองของพลเอก Chun Doo-hwan) พยายามปกครองประเทศ/ลูกน้องในสังกัดประหนึ่งครอบครัวเดียวกัน แต่มันก็ไม่ต่างจากการสร้างภาพภายนอกให้ดูดี เบื้องหลังยังเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น

เกร็ด: Roh Tae-woo คือเพื่อนสนิทสนมรุ่นเดียวกับพลเอก Chun Doo-hwan เมื่อได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนพรรค Democratic Justice Party ตัดสินใจลาออกจากกองทัพเพื่อพิสูจน์ตนเองกับประชาชน ให้คำมั่นสัญญาเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และล้มเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึก เลยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างหวุดหวิด!

การหวนกลับมาของหัวหน้าเก่า Kim Yang-kil ทำตัวกร่าง หลงระเริงอำนาจ ใช้ข้ออ้างหนี้บุญคุณ ต้องการจะทวงคืนทุกสิ่งอย่าง! หลายคนอาจเปรียบเทียบถึงพลเอก Chun Doo-hwan ที่เป็นเพื่อนสนิท/มีอิทธิพลต่อ Roh Tae-woo แต่ผมมองว่าผกก. Lee Chang-dong อาจต้องการสร้างจำลองเหตุการณ์สมมติ เพื่อนำเสนอปฏิกิริยาของคนรุ่นใหม่ ถ้าพวกเผด็จการหวนกลับมาเรืองอำนาจในทศวรรษนี้ เชื่อได้เลยว่าคงไม่ใครยินยอมก้มหัวศิโรราบอย่างแน่นอน แบบเดียวกับ Mak-dong ที่พร้อมโต้ตอบด้วยความรุนแรง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ยินยอมเสียสละตนเองเพื่ออนาคตสดใส

เกร็ด: หลังหมดสมัย Roh Tae-woo การเลือกตั้งครั้งใหม่ ค.ศ. 1993 ได้ประธานาธิบดีที่มาจากฟากฝั่งพลเรือน Kim Young-sam สั่งรื้อฟื้นคดีสังหารหมู่ 1980 Gwangju Uprising และริเริ่มโครงการตรวจสอบการฉ้อราษฎร์บังหลวง ค้นพบหลักฐานรับเงินสินบนของ Chun Doo-hwan และ Roh Tae-woo ทั้งสองจึงถูกศาลพิพากษาความผิด

  • Chun Doo-hwan ถูกตัดสินประหารชีวิตก่อนลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต พร้อมค่าปรับหลายล้านๆวอน
  • Roh Tae-woo ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี 6 เดือน ต่อมาได้ทำการยื่นอุทธรณ์ ศาลลดโทษเหลือ 17 ปี

แม้ภายหลังทั้งสองจะได้รับการอภัยโทษจากปธน. Kim Young-sam แต่ต้องถือว่าหมดอำนาจ สิ้นอิทธิพล ไม่มีทางที่เกาหลีใต้จะหวนกลับสู่ยุคสมัยเผด็จการทหารอีกต่อไป!

ปีที่หนังออกฉายตรงกับวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูประเทศ นักธุรกิจนำเงินมาลงทุนมากมาย แต่การจัดการ/เสถียรภาพรัฐบาลยังไม่มั่นคงสักเท่าไหร่ พบเห็นเด่นชัดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อพาร์ทเม้นท์สูงใหญ่มากมายในเมือง Ilsan ขยายตัวเกินกว่าความต้องการของประชาชน สัดส่วนหนี้สูงขึ้น ค่าเงินเลยตกต่ำลง

แม้ว่า Green Fish (1997) จะออกฉายก่อนกาลมาถึงของวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่โดยไม่รู้ตัวได้บันทึกภาพ ร่องรอยหลักฐาน เรื่องราวที่สามารถพยากรณ์หายนะกำลังจะบังเกิดขึ้น … วิกฤตการณ์การเงินดังกล่าวมันไม่ใช่จู่ๆฟองสบู่จะแตกโพละ เราสามารถสังเกตความเป็นไปจากสภาพสังคม การขยายตัวของชุมชนเมือง อพาร์ทเม้นท์สูงใหญ่ ใครกันจะเข้าอยู่อาศัย? ห้องแถวถูกทอดทิ้งร้าง ไนท์คลับที่แทบไม่มีคน ธุรกิจใกล้ล้มละลาย ฯ

เจ้าปลาสีเขียว (Green Fish) คือสัญลักษณ์การรำพันถึงอดีด หวนระลึกความทรงจำ ช่วงเวลาที่อาจฟังดูไร้สาระ เรียกได้ว่าหายนะ (ระหว่างไล่จับปลาสีเขียว แล้วเกิดเหตุวุ่นๆวายๆขึ้นมากมาย) แต่กลับยังโหยหาคร่ำครวญ อยากหวนย้อนกลับไป … แนะนำให้ต่อด้วย Peppermint Candy (1999) โดยพลัน!

(บางคนมองว่าสีเขียว คือสัญลักษณ์ของเผด็จการ(ชุด)ทหารที่ยังติดตราฝังใจชาวเกาหลีใต้ไม่รู้ลืมเลือน)


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่สามารถทำยอดจำหน่ายตั๋ว 203,655 ใบ สูงอันดับ 8 แห่งปี จึงถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม! ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Grand Bell Awards จำนวน 6 สาขา สามารถคว้ามา 5 รางวัล ประกอบด้วย

  • Best Actor (Han Suk-kyu) **คว้ารางวัล
  • Popularity Award (Han Suk-kyu) **คว้ารางวัล
  • Best Actress (Shim Hye-jin) **คว้ารางวัล
  • Best Supporting Actor (Moon Sung-keun)
  • Best Screenplay **คว้ารางวัล
  • Best Music **คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K เสร็จสิ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2024 จัดจำหน่าย Blu-Ray โดยค่าย Film Movement ใครสนใจ Boxset รวบรวมสี่ผลงาน The Poetry of Lee Chang-Dong: Four Films ผ่านการบูรณะแล้วทั้งหมด Green Fish (1997), Peppermint Candy (1999), Oasis (2002) และ Poetry (2010)

ระหว่างรับชม ผมพอคาดเดาได้ว่า Green Fish (1997) ต้องเป็นภาพยนตร์ที่ทรงพลังต่อชาวเกาหลีใต้ สะท้อนบรรยากาศยุคสมัย ความเคว้งคว้างของคนรุ่นใหม่ พยากรณ์การมาถึงของวิกฤตต้มยำกุ้ง นำสู่ความท้อแท้สิ้นหวัง แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง (แบบจุดเริ่มต้นของ Peppermint Candy (1999))

แต่ทว่าพล็อตหนังค่อนข้างคาดเดาง่าย หลายสิ่งอย่างดูขาดๆเกินๆ ไม่สมเหตุสมผล ขาดลูกเล่นนำเสนอที่น่าติดตาม ซึ่งผมมองว่าเกิดจากความอ่อนด้อยประสบการณ์ของผกก. Lee Chang-dong ก็เพิ่งภาพยนตร์เรื่องแรก ยังทดลองผิดลองถูก มองหาสไตล์ลายเซ็นต์ พอพบเห็นร่องรอยความเป็นส่วนตัวอยู่บ้างเท่านั้นเอง

จัดเรต 18+ กับความรุนแรง เข้าร่วมมาเฟีย ฆ่าคนตาย

คำโปรย | Green Fish ความทรงจำสีเขียวของผู้กำกับ Lee Chang-dong ต่อการเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดของเกาหลีใต้
คุณภาพ | ปลาสีเขียว
ส่วนตัว | คร่ำครวญ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: