
Wife! Be Like a Rose! (1935)
: Mikio Naruse ♥♥♥♥
บุตรสาวพร่ำบ่นถึงบิดา ไม่เคยแวะเวียนกลับหามารดา มัวแต่เอาอกเอาใจชู้รัก/เมียใหม่ จึงตัดสินใจออกเดินทาง ติดตามค้นหา ก่อนมาพบเจอเบื้องหลังอันขมขื่น ภาพยนตร์ดราม่าครอบครัวสุดซึ้ง ที่จักทำให้ลูกหลานครุ่นคิดถึงหัวอกบิดา-มารดา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Mikio Naruse เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ทศวรรษ 1920s ไต่เต้าจากลูกจ้าง มาเป็นผู้ช่วย ได้รับโอกาสกำกับหนังตามใบสั่งสตูดิโอ ส่วนใหญ่เป็นแนว Comedy, Drama, มีผลงานทั้งหนังสั้น-ยาวมากมายนับไม่ถ้วน (ในเครดิตบนเว็บ IMDB มีทั้งหมด 98 เรื่อง) แต่กว่าจะเริ่มได้รับการยินยอมรับ ก็ต้องรอคอยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Post-War)
ซึ่งผลงานยุคก่อน Post-War จำนวน 60 กว่าเรื่อง แทบทั้งหมดล้วนถูกนักวิจารณ์มองข้าม แต่มันมียกเว้นอยู่เรื่องหนึ่ง! ผมก็ไม่อยากเรียกว่าฟลุ๊คหรอกนะครับ สำหรับคนได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์เยอะขนาดนั้น ถ้ามันไม่มีดีสักเรื่องก็กระไรอยู่ … ผลงานส่วนใหญ่ของ Naruse ล้วนตามใบสั่งสตูดิโอ เป็นแนวที่ขายได้ ประสบความสำเร็จแน่ๆ เสียงตอบรับย่ำแย่ก็ไม่เป็นไร
Wife! Be Like a Rose! (1935) หรือ Kimiko แม้เป็นเพียงภาพยนตร์แนว Comedy Drama ทั่วๆไป แต่ทว่าเรื่องราว การแสดง วิธีการเล่าเรื่อง ทุกองค์ประกอบล้วนมีความลงตัวกลมกล่อม แฝงสาระข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ได้เสียงตอบรับดีล้นหลามจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ ถึงขนาดนิตยสาร Kinema Junpo ยกให้เป็น “The Best Japanese Film of the Year 1935” … เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวของผกก. Naruse ในยุคก่อน Post-War ที่ประสบความสำเร็จระดับนี้!
แถมยังเป็นภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ได้เข้าฉายสหรัฐอเมริกา แต่เสียงตอบรับกลับเลวร้ายย่ำแย่ … อาจเพราะยุคสมัยนั้นชาวอเมริกันยังมองญี่ปุ่นคือศัตรู ภัยเหลือง (Yellow Peril) เลยปิดกั้นเรื่องพรรค์นี้
Mikio Naruse, 成瀬 巳喜男 (1905-69) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ในตระกูลซามูไร Naruse Clan แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน แถมบิดาพลันด่วนเสียชีวิต จึงจำต้องต่อสู้ดิ้นรนกับพี่ชายและพี่สาว ตอนอายุ 17 สมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Shōchiku ไต่เต้าจากลูกจ้าง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yoshinobu Ikeda ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหนัง(เงียบ)สั้นเรื่องแรก Mr. and Mrs. Swordplay (1930), ผลงานช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นแนว Comedy Drama ตัวละครหลักคือผู้หญิง ต้องต่อสู้ดิ้นรนในสภาพแวดล้อมทุกข์ยากลำบาก … น่าเสียดายที่ผลงานยุคหนังเงียบของ Naruse หลงเหลือมาถึงปัจจุบันแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น
โดยปกติแล้วผู้ช่วยผู้กำกับในสังกัด Shōchiku เพียงสามสี่ปีก็มักได้เลื่อนขั้นขึ้น แต่ทว่า Naruse กลับต้องอดทนอดกลั้น ฝึกงานนานถึงสิบปีถึงมีโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก (Yasujirō Ozu และ Hiroshi Shimizu เข้าทำงานทีหลัง แต่ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้กำกับก่อน Naruse) นั่นทำให้เขาตระหนักว่า Shōchiku ไม่ค่อยเห็นหัวตนเองสักเท่าไหร่ ไม่เคยมีห้องทำงานส่วนตัว ยื่นโปรเจคอะไรไปก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ เลยยื่นใบลาออกช่วงปลายปี ค.ศ. 1934 เพื่อย้ายไปอยู่ P.C.L. Studios (Photo Chemical Laboratories ก่อนกลายเป็นสตูดิโอ Toho)
พอย้ายมาอยู่ P.C.L. ก็ได้รับโอกาสทำหนังพูด (Talkie) เรื่องแรก Three Sisters with Maiden Hearts (1935) ทดลองผิดลองถูกอยู่ไม่นาน ก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามกับ 妻よ薔薇のやうに อ่านว่า Tsuma yo bara no yo ni, แปลตรงตัว Wife! Be Like a Rose!
ดัดแปลงจากบทละคอน 二人妻 อ่านว่า Futatsuzuma แปลว่า Two Wifes ประพันธ์โดย Minoru Nakano (1901-73) สำหรับทำการแสดงที่โรงละคอน Shinsei Shinpa Theatre, นำเสนอเรื่องราวของนักกวีผู้มีความเบื่อหน่ายชีวิตเมืองหลวง เลยตัดสินใจทอดทิ้งภรรยาและบุตรสาว เพื่อไปแสวงโชคกับการขุดทอง และครองรักร่วมกับอดีตเกอิชา (มีบุตรด้วยกันอีกสองคน)
ผกก. Naruse ลงมือดัดแปลงบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง ปรับเปลี่ยนมานำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองบุตรสาว Kimiko ใส่ความแก่นแก้ว ไร้เดียงสา ไม่ต้องการทำให้กลายเป็น Melodrama หนักอึ้ง! และสิ่งที่ทำให้หนังได้รับคำชมอย่างล้นหลาม คือการเล่าเรื่องได้อย่างสละสลวย ค่อยๆไต่ไล่ระดับอารมณ์จนถึงจุดสูงสุดอย่างทรงพลัง
In order to avoid falling into the stench of vulgar melodrama, Naruse has imbued the entire story with as much elegance as possible… he has submerged the rising emotions… and has penetrated the human psyche.
Tadahisa Murakami นักวิจารณ์จาก Kinema Junpo
เรื่องราวของ Kimiko Yamamoto (รับบทโดย Sachiko Chiba) หญิงสาวสมัยใหม่ อาศัยอยู่ในกรุง Tokyo กับมารดา Etsuko (รับบทโดย Tomoko Itō) ที่ยังโหยหาอดีตสามี Shunsaku (รับบทโดย Sadao Maruyama) ทอดทิ้งครอบครัวไปอยู่กับอดีตเกอิชา Oyuki (รับบทโดย Yuriko Hanabusa) นานๆครั้งส่งเงินกลับมา แต่ไม่เคยแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ
วันหนึ่ง Kimiko ระหว่างอยู่บนรถแท็กซี่พบเห็นบิดา Shunsaku เดินทางมากรุง Tokyo ครุ่นคิดว่าเขาคงแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนมารดา อุตส่าห์เฝ้ารอคอยดึกดื่นก็ไม่หวนกลับมา เลยตัดสินใจออกเดินทางสู่ชนบท เพื่อพูดคุยโน้มน้าว ลากพาตัวกลับมา ก่อนได้พบเจอภรรยาใหม่/อดีตเกอิชา Oyuki อาศัยอยู่กับบุตรชายและบุตรสาว ในสภาพเพียงพอมีพอกิน หาได้ใช้ชีวิตหรูหราสุขสบาย ค่อยๆตระหนักถึงเหตุผลแท้จริงที่บิดาทอดทิ้งมารดา
Sachiko Chiba, 千葉早智子 ชื่อจริง Tsuruko Chiba, 千葉 鶴子 (1911-1993) เกิดที่ Hiroshima ในครอบครัวมีฐานะ (Upper-Class) ตั้งแต่เด็กฝึกฝนเล่นเครื่องดนตรี Koto ทั้งยังสามารถร้องรำทำเพลง เคยเดินทางไปทำการแสดงยังสหรัฐอเมริกา กลับมาเข้าตาแมวมอง P.C.L. Studios แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของสตูดิโอ Intoxicated Life (1933) กลายเป็นนักแสดงระดับ Superstar คนแรกของค่าย ก่อนได้ร่วมงานว่าที่สามี Mikio Naruse ตั้งแต่ The Actress and the Poet (1935), Wife! Be Like a Rose! (1935), The Girl in the Rumor (1935), แต่อยู่กินกันไม่กี่ปีก็เลิกราหย่าร้าง และรีไทร์จากวงการหลังจากปี ค.ศ. 1943
รับบท Kimiko Yamamoto หญิงสาวสมัยใหม่ นิสัยแก่นแก้ว ไร้เดียงสา เต็มไปด้วยความดื้อรั้น เอาแต่ใจ สามารถทำงานหาเงิน พึ่งพาตนเอง แม้มีแฟนหนุ่ม Seiji (รับบทโดย Heihachirō Ōkawa) ก็ไม่ครุ่นคิดอยากแต่งงานสักเท่าไหร่ นั่นเพราะพบเห็นมารดาที่ยังโหยหาบิดา ทอดทิ้งครอบครัวไปเมื่อสิบห้าปีก่อน ครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายคงมีชีวิตหรูหรา สุขสบาย จึงเต็มไปด้วยความคับข้องแค้นใจ ฟางเส้นสุดท้ายคือพบเห็นเขาในกรุง Tokyo แต่กลับไม่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนหามารดา จึงตัดสินใจออกเดินทางสู่ชนบท โน้มน้าว ลากพาตัวกลับบ้านให้จงได้!
ผมครุ่นคิดว่าตัวจริงของ Chiba ไม่น่าจะแตกต่างจาก Kimiko หญิงสาวสมัยใหม่ นิสัยแก่นแก้ว ไร้เดียงสา ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไข่ในหิน ลูกคุณหนู ยุงไม่ให้ไต่ ไร่ไม่ให้ตอม จึงมีความดื้อรั้น เอาแต่ใจ ครุ่นคิดว่าโลกหมุนรอบตนเอง ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจหัวอกผู้อื่น
ด้วยความสวยสาว ดาวดาราของสตูดิโอ ใครๆจึงปฏิบัติต่อ Chiba ด้วยความรักเอ็นดู ยกเว้นเพียงผกก. Naruse มีความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น เข้าฉากร้องไห้ไม่ได้เลยโดนตำหนิด่าทอจนร่ำร้องไห้ออกมาจริงๆ แต่ก็ต้องชมว่าฉากนั้นอารมณ์มันพรั่งพรูออกมานอกจอเลยละ!
ไม่รู้โชคชะตาเล่นตลกอะไร สงสัยผู้ชายแบบนี้ไม่เคยพบเจอ เลยตกหลุมรัก แต่งงานอยู่กินแม้ถูกมารดาทัดทาน เห็นว่าสาเหตุของการหย่าร้างเพราะเข้ากับครอบครัวฝ่ายหญิงไม่ได้ เลยไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์ของผกก. Naruse มักเต็มมีความรันทด เก็บกดอัดอั้น ขัดแย้งทางสถานะชนชั้น ทุกข์ทรมานใจยิ่งนัก!
ถ่ายภาพโดย Hiroshi Suzuki, 鈴木博 (1898-1964) เข้าร่วมสตูดิโอ Shōchiku ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 จากนั้นย้ายมา P.C.L. Studio ผลงานเด่นๆ อาทิ Three Sisters with Maiden Hearts (1935), The Actress and the Poet (1935), Wife! Be Like a Rose! (1935), The Girl in the Rumor (1935), The Ghost of Yotsuya (1956) ฯ
สไตล์ภาพยนตร์ของผกก. Naruse มีคำเรียก 小市民 映画 อ่านว่า Shōshimin-eiga แปลว่า Common People Drama (หรือ Petty Bourgeois Film หรือ Lower Middle Class Film) ซึ่งมีลักษณะคล้ายผลงานของผกก. Yasujirō Ozu จึงไม่แปลกที่หลายๆแนวคิด วิธีการ รูปแบบดำเนินเรื่อง จะมีความละม้ายคล้ายคลึงกัน
อย่างลีลาการถ่ายภาพ บางคนอาจมองว่า Naruse ลอกเลียนแบบ Ozu? เอิ่ม… จริงๆแล้วทั้งสองคือเพื่อนร่วมรุ่น ได้รับการฝึกฝนจากสตูดิโอ Shōchiku และยุคสมัยนั้นการถ่ายภาพยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย มันเลยไม่แปลกที่จะต้องตั้งกล้องนิ่งๆ ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหวติง นักแสดงเดินเข้า-ออก จัดวางองค์ประกอบภายในเฟรมภาพ
แต่สิ่งที่ Naruse แตกต่างจาก Ozu อย่างชัดเจน! คือความเข้มข้น(จริงๆต้องเรียกว่ารันทน)ของเรื่องราว การดำเนินเรื่องที่จะค่อยๆไต่ไล่ระดับ บดขยี้อารมณ์ นักแสดงได้สำแดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ไม่มุ่งเน้นความ Stylish พยายามทำออกมาในลักษณะ Realistic
หลายคนอาจครุ่นคิดว่าหนังบันทึกภาพกรุง Tokyo ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่มันจะราบเรียบเป็นหน้ากลอง แต่จริงๆแล้วแทบทุกช็อตฉากถ่ายทำในสตูดิโอ ถ้าไม่ใช้โมเดลจำลอง ก็เพียงสร้างฉากหน้าขึ้นมาหลอกตาผู้ชม อันเนื่องจากข้อจำกัดทางเทคโนโลยียุคสมัยนั้น กล้องถ่ายภาพขนาดใหญ่เทอะทะ อุปกรณ์บันทึกเสียงมีความละเอียดอ่อนไหว ไหนจะการขนย้าย ไหนจะการติดตั้ง ถ่ายทำในสตูดิโอจึงมีความสะดวกที่สุด!


หนึ่งในสไตล์ลายเซ็นต์ของผกก. Naruse คือการเดินไปคุยไป ‘cinema of walking’ ก้าวเดินได้นิดนึงแล้วหยุดยืนคุย พอจบหัวข้อหนึ่งก็ก้าวเดินต่อ คุยต่อ แล้วหยุดยืนคุย เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้อยู่หลายครั้ง … ผมไม่แน่ใจว่าหนังเรื่องนี้คือครั้งแรกเลยหรือเปล่า มันยังดูไม่ค่อยกลมกล่อมนัก แต่จักค่อยๆวิวัฒนาการไปเรื่อยๆจนถึงจุดสูงสุดกับผลงานยุคหลังสงคราม (Post-War)



ภาพสุดท้ายของหนังหลังบิดาขึ้นรถจากไป ฉายภาพ Kimiko กับมารดา ซ้อนทับทิวทัศน์ชนบทกำลังเคลื่อนผ่าน (น่าจะถ่ายจากบนขบวนรถไฟ) เพื่อสื่อถึงความครุ่นคิด สภาพจิตใจของพวกเธอที่ต่างโหยหา คร่ำครวญ ครุ่นคิดถึงบิดา/สามี แต่ขณะที่ Kimiko เข้าใจหัวอกบิดา, มารดาเพียงจมปลักอยู่กับความทุกข์โศก ทำตัวเองล้วนๆ โทษใครไม่ได้ทั้งนั้น

ตัดต่อโดย Kōichi Iwashita, 岩下広一 เริ่มต้นเป็นนักตัดต่อประจำสตูดิโอ P.C.L. มีผลงาน อาทิ The Actress and the Poet (1935), Wife! Be Like a Rose! (1935), The Girl in the Rumor (1935), ก่อนโด่งดังกับ Ikiru (1952), Samurai III: Duel at Ganryu Island (1956), The End of Summer (1961) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Kimiko Yamamoto หญิงสาวชาว Tokyo อาศัยอยู่ร่วมกับมารดาที่ยังคงครุ่นคิดถึงบิดา/สามี ชายคนรักหนีไปอยู่กับเกอิชาไม่เคยหวนกลับมา วันหนึ่งเธอมีความครุ่นคิดที่จะติดตามบิดากลับมา จึงออกเดินทางสู่ชนบท แล้วได้พบเห็นสภาพเป็นจริง!
- Kimiko สาวชาวเมือง
- Kimiko ทำงานบริษัทแห่งหนึ่ง สามารถพึ่งพาตนเอง ชอบหยอกล้อเล่นกับแฟนหนุ่ม Seiji
- กลับมาบ้าน พบเห็นมารดาหมกมุ่นอยู่กับการแต่งบทกวี พร่ำรำพันคิดถึงสามี
- ลุงของ Kimiko พยายามจัดแจงให้เธอแต่งงานกับ Seiji แต่ติดปัญหาที่บิดาของเธอต้องยินยอมความ
- Seiji แวะเวียนมาที่บ้านของ Kimiko เพื่อพบเจอกับมารดา
- ระหว่าง Kimiko และ Seiji นั่งแท็กซี่จะไปทานอาหารนอกบ้าน มองออกไปพบเห็นบิดา แต่ติดตามหาไม่พบเจอ
- ครุ่นคิดว่าบิดาคงแวะเวียนกลับมาที่บ้าน เลยจัดแจงทำการรอรับ แต่สุดท้ายกลับรอเก้อ
- Kimiko แวะเวียนไปที่บ้านของ Seiji ขอหยิบยืมเงินเพื่อติดตามหาบิดา
- Kimiko ติดตามหาบิดา
- บิดากำลังพยายามหาแร่ทอง แต่ไม่เคยพบเจอ
- Kimiko มาถึงชนบท พบเจอกับเด็กชายคนหนึ่งนำพาไปที่บ้าน
- Kimiko พบเจอกับ Oyuki และลูกๆทั้งสอง
- Kimiko พบเจอกับบิดา พยายามโน้มน้าวให้เขากลับบ้าน
- หลังจากตระหนักว่าตนเองเข้าใจอะไรผิดๆ พอกลับมาที่บ้านของ Oyuki ก็พรั่งพรูความรู้สึกออกมา
- Kimiko จึงขอหยิบยืมตัวบิดากลับกรุง Tokyo เพื่อจัดการเรื่องแต่งงาน
- Wife! Be Like a Rose!
- การพบเจอระหว่างบิดา-มารดา ไม่ต่างจากน้ำ-น้ำมัน ทั้งสองต่างไม่เคยเห็นพ้องต้องกัน
- หลังจัดแจงธุระเสร็จสิ้น คุณลุงพยายามโน้มน้าวบิดา แต่ทว่า Kimiko กลับยินยอมปลดปล่อยบิดาให้เดินทางกลับหา Oyuki
ลีลาการตัดต่อมีความเป็น ‘สไตล์ Naruse’ อย่างชัดเจน! โดยเฉพาะฉากเดินไปคุยไป มีการสลับสับเปลี่ยนทิศทาง มุมกล้อง เดินๆหยุดๆ คุยจบประเด็นหนึ่งแล้วตัดไปฉากอื่น เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้อยู่หลายครั้ง เพื่อไม่ให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อหน่ายกับการสนทนายืดๆยาวๆ และยังช่วยในการไต่ไล่ระดับอารมณ์ ทวีเนื้อหาเข้มข้น ก่อนบรรลุถึงเป้าหมายปลายทาง
เพลงประกอบโดย Noboru Itō, 伊藤昇 (1903-93) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Matsumoto, ก่อนหน้าเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เคยประพันธ์ออร์เคสตรา โซนาตา บัลเล่ต์ ฯ จากนั้นเข้าร่วมสตูดิโอ P.C.L. ขาประจำผกก. Mikio Naruse ตั้งแต่ The Actress and the Poet (1935), Wife! Be Like a Rose! (1935), The Girl in the Rumor (1935), Morning’s Tree-Lined Street (1936), นอกจากนี้ยังมี Momotarô’s Sea Eagles (1943), Those Who Make Tomorrow (1946) ฯ
งานเพลงของ Itō เลือกใช้เครื่องดนตรีสากลทั้งหมด (อาจเพราะนำเสนอผ่านมุมมองของ Kimiko ซึ่งเป็นหญิงสาวสมัยใหม่ เลยไม่มีการใช้ดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น แม้แต่ฉากการแสดงละคอนเวทียังเลือกใช้เพลงสากล) มีทั้งท่วงทำนองสนุกสนาน-ซึมเศร้าโศก คละเคล้ากันไป ซึ่งล้วนสะท้อนความรู้สึกของ Kimiko ในช่วงเวลาต่างๆ
(ผมแอบรู้สึกงานเพลงของหนัง ได้รับอิทธิพลจากผลงานของ Charlie Chaplin อยู่ไม่น้อยทีเดียว)
ชื่อหนัง Wife! Be Like a Rose! อาจสร้างความสับสนพอสมควร เพราะไม่ได้จะสื่อถึงนางเอก Kimiko (ยังไม่ได้แต่งงาน) แต่คือมารดาที่วันๆคร่ำครวญโหยหา แต่งบทกวีเพ้อรำพันถึง(อดีต)ชายคนรัก ถึงอย่างนั้นเมื่อบุตรสาวลากพาตัวเขากลับมา แสดงพฤติกรรมเหมือนกุหลาบหนามแหลม เจ็บปวด ทิ่มแทง คุยอะไรก็ขัดแย้ง แทบไม่เคยมองหน้าสบตา
ผกก. Naruse แม้ถือกำเนิดในตระกูล(อดีต)ซามูไร แต่ด้วยฐานะยากจน วัยเด็กต้องอดรนทนทุกข์ยากลำบาก เรียนไม่จบ ต้องออกมาทำงานกลางคัน แถมสตูดิโอเก่ากดขี่ข่มเหง ดูถูกเหยียดหยาม เหล่านี้ย่อมสร้างปมด้อยฝังใจ บังเกิดอคติต่อพวกผู้มีอำนาจ ชนชั้นสูง (Upper Class) จึงแทบไม่เคยนำเสนอตัวละครเหล่านั้นในแง่มุมที่ดีสักเท่าไหร่
มารดาของ Kimiko ก็อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนั้น (ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าสะท้อนภาพมารดาของ Sachiko Chiba ด้วยหรือเปล่า) มีความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ นิสัยดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ โลกต้องหมุนรอบตนเอง โหยหาชายคนรัก แต่ไม่เคยเปิดใจรับฟัง ปฏิเสธ ปิดกั้น ไม่พยายามทำความเข้าใจหัวอกอีกฝ่าย
ตัวละครบิดา Shunsaku = ผกก. Naruse ต่างไม่ชอบการถูกบงการ บีบบังคับโน่นนี่นั่น โหยหาอิสรภาพ อยากกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ เพราะเคยยากจนเลยใฝ่ฝันอยากร่ำรวย จึงเลือกอาชีพขุดทอง แม้อาจแค่การเสี่ยงโชค แต่ถ้ามันประสบความสำเร็จย่อมทำให้ชีวิตสุขสบาย และเลือกครองรักครั้งใหม่กับหญิงบ้านนอก/อดีตเกอิชา ที่รู้จักเอาอกเอาใจ ดูแลเอาใจใส่ พึ่งพาอาศัย … เรียกว่าภรรยาในอุดมคติ กระมังนะ!
การนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของ Kimiko (แทนที่จะเป็นบิดา) ทำให้ผู้ชมได้พบเห็นโลกสองด้าน ภรรยาบิดาทั้งสองคนที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม
- มารดา เป็นชาวเมือง วันๆเขียนบทกลอนหาเงิน มีนิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจ ชอบบงการสามี เรียกร้องโน่นนั่นนี่ ด้วยคำพูดเสียดสี แดกดัน สำแดงสีหน้าเย็นชา ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจหัวอกชายคนรัก
- Oyuki อาศัยอยู่ชนบทห่างไกล ประกอบอาชีพใช้แรงงาน มีความขยันขันแข็ง จิตใจอ่อนโยน มีเมตตา พูดจาสุภาพอ่อนหวาน มอบความรัก เอาอกเอาใจใส่สามี ทั้งยังแสดงความสงสารเห็นใจ Kumiki กล่าวขอโทษที่ทำลายครอบครัวของเธอ
บุคคลที่ผิดแน่ๆคือบิดา แต่งงานมีคู่ครองอยู่แล้วกลับทอดทิ้งภรรยาและบุตร หนีไปอยู่กินกับเมียใหม่! แต่มันไม่ใช่ความผิดของเขาฝ่ายเดียว ยังต้องรวมถึงมารดาผู้เห็นแก่ตัว ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจชายคนรัก และ Oyuki ที่ใช้มารยาหญิง แก่งแย่งชิงชายที่มีเจ้าของมาเป็นคู่ครอง … มันช่างเป็นสถานการณ์วุ่นๆวายๆ ปัญหาครอบครัวที่เกิดจากพฤติกรรมมักมาก ไม่รู้จักพอ ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว ปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำ
เรื่องราวของหนังสามารถใช้เป็นบทเรียนสอนได้ทั้งชาย-หญิง ควรเลือกคู่ครองที่สมวิทยฐานะของตนเอง (คนไทยนิยมเรียกว่า ‘ศีลเสมอกัน’) มันไม่ใช่คนรวย-จนรักกันไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับทัศนคติ แรงกดดันจากครอบครัว/สังคม รวมถึงปมด้อยในตนเองมากน้อยแค่ไหน? เมื่ออยู่กันไปแล้วไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตอีกฝ่าย สุดท้ายก็ต้องเลิกรา หย่าร้าง ทางใครก็ทางมัน
ผมไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผกก. Naruse และนักแสดงนำ Chiba ตอนสร้างหนังเรื่องนี้ดำเนินไปถึงจุดไหนแล้ว (พวกเขาแต่งงานกันปี ค.ศ. 1936 มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ก่อนหย่าร้างปี ค.ศ. 1940) แต่มันมีความรู้สึกเหมือนว่า Wife! Be Like a Rose! (1935) พยายามอธิบายความเป็นไปไม่ได้ระหว่างเธอกับฉัน เราสองมีความแตกต่างกันเกินไป?
แต่ถ้ามองหนังในมุมความสัมพันธ์ระหว่าง Kimiko กับแฟนหนุ่ม Seiji ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูไม่ต่างจากจดหมายรัก แนะนำให้เธอค้นหาตัวตนเอง อยากเป็นอย่างมารดา หรืออดีตเกอิชา Oyuki ผู้หญิงแบบไหนที่จะครองคู่รักกับฉัน? … แต่ตอนนั้นไม่ว่าวันนั้นเธอตัดสินใจเลือกแบบใด ท้ายที่สุดในชีวิตจริง Chiba กลับกลายเป็นแบบมารดา เป๊ะๆเลยนะครับ!
ด้วยเสียงตอบรับดียอดเยี่ยมจนสามารถคว้ารางวัล Kinema Junpo: Best Film of the Year จึงได้รับเลือกเป็นตัวแทนญี่ปุ่น เดินทางไปฉายที่ New York เมื่อปี ค.ศ. 1937 ในชื่อ Kimiko น่าเสียดายที่ชาวอเมริกัน ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวสักเท่าไหร่
เกร็ด: เพราะเสียงตอบรับที่ย่ำแย่เมื่อตอน Wife! Be Like a Rose! (1935) ทำให้ญี่ปุ่นค่อนข้างลังเลที่จะส่งออกภาพยนตร์แนว Family Drama นั่นทำให้ชื่อเสียงของ Mikio Naruse (รวมถึง Yasujirō Ozu) ไม่เป็นที่รู้จักของชาติตะวันตกระหว่างยังมีชีวิตอยู่
ผมยังไม่เคยรับชมผลงานอื่นๆของผกก. Naruse นอกจาก Floating Clouds (1955) จึงไม่ได้มีความคาดหวังอะไรมากนัก ทีแรกสองจิตสองใจว่าจะเขียนคอลเลคชั่นหนังเงียบก่อนไหม? (Criterion มีบ็อกเซ็ต Eclipse Series 26: Silent Naruse) แต่ผลัดเอาไว้ตอนเทศกาลหนังเงียบดีกว่า!
การเริ่มต้นที่ Wife! Be Like a Rose! (1935) จากบทความ BFI: Mikio Naruse: 10 essential films เป็นตัวเลือกอันคุ้มค่า รู้สึกเหมือนว่าตัวเองไม่ได้รับชม Family Drama แฝงสาระข้อคิดดีๆมาสักพักใหญ่ๆ ติดอกติดใจความน่ารักน่าชังของ Sachiko Chiba เลยแอบอิจฉาริษยาผกก. Naruse (ที่ได้แต่งงานกับ Chiba) ขึ้นมาโดยพลัน!
คุณภาพงานสร้างอาจไม่ได้ดีเลิศเลอ เต็มไปด้วยภาพเบลอๆ หลุดโฟกัส เสียงพูดอู้อี้ เพลงประกอบอื้ออึง อันด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยียุคสมัยนั้น แต่ถ้าเรารับชมจากตัวเนื้อหา ภาษาภาพยนตร์ ผมว่าหนังเรื่องนี้ก็ดีเพียงพอให้ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ตัวหนังอาจดูเหมือนแค่เสี้ยมสอนให้ลูกหลานเข้าใจหัวอกบิดา-มารดา แต่บทเรียนสำคัญคือการอย่าฟังความข้างเดียว คิดเองเออเอง ด่วนตัดสินใจอะไร ควรต้องทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งสองฝั่งฝ่าย รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อนั้นถึงสามารถค้นพบหนทางออกที่ถูกต้องเหมาะสม
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply