Mississippi Burning

Mississippi Burning (1988) hollywood : Alan Parker ♥♥♥♡

สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง! สามนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองจู่ๆสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) จึงส่งสองเจ้าหน้าที่ Gene Hackman & Willem Dafoe มาติดตามค้นหา ก่อนได้ค้นพบเบื้องหลังอันฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะของคนขาวชาวอเมริกันในรัฐ Mississippi

เมื่อวันก่อนผมเพิ่งรับชม Twin Peaks: Fire Walk with Me (1992) คาดไม่ถึงว่าองก์แรกของหนังจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Mississippi Burning (1988) เริ่มต้นจากบุคคลสูญหาย/ถูกฆาตกรรม สำนักงานสอบสวนกลางจึงส่งเจ้าหน้าที่มาสืบสวนคดีความ พบเจอนายอำเภอและลูกน้องที่ไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย พยายามขับไล่ ผลักไส ราวกับซุกซ่อนอะไรบางอย่างไว้ใต้พรม ซึ่งเมื่อความจริงถูกเปิดโปง Mississippi จึงแทบลุกเป็นไฟ … สร้อยของภาคก่อน Twin Peaks ก็ลงท้ายด้วย FIRE เช่นเดียวกัน!

นักวิจารณ์(อเมริกัน)หลายคนยกย่อง Mississippi Burning (1988) คือภาพยนตร์อันดับหนึ่งแห่งปี ค.ศ. 1988 แต่ผมขอแทรกคำว่า ‘ภาพยนตร์ของคนขาวอเมริกัน’ เพราะนี่เป็นหนังสร้างโดยคนขาวอเมริกัน เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิคนผิวสี แต่กลับมีแค่นักแสดงผิวขาวเป็นพระเอก ไม่มีตัวละครเชื้อสาย African-American โดดเด่นเลยสักคนเดียว!

It wasn’t about civil rights. It was a film that used the deaths of the boys as a means of solving the murders and the FBI being heroes.

Carolyn Goodman มารดาของหนึ่งในผู้เสียชีวิต

It was unfortunate that it was so narrow in scope that it did not show one black role model that today’s youth who look at the movie could remember.

นักเรียกร้องสิทธิพลเมือง Medgar Evers

It messed up my mind how white people tell our stories and rewrite history like we weren’t even there. Mississippi Burning gave the idea that black people were cowards who got lynched, beat up, and the glorious FBI saved our necks.

ผู้กำกับ Spike Lee

แต่เอาจริงๆระหว่างรับชม ผมไม่เอะใจด้วยซ้ำว่า Mississippi Burning (1988) คือภาพยนตร์เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิคนผิวสี? พบเห็นเพียงความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะของสังคมอเมริกัน ที่คนขาวสร้างขึ้นและทำลายลงด้วยน้ำมือของตนเอง!

I never understood this to be Hollywood’s ‘civil rights’ picture. It’s an exciting story about something important. You see our moral failures and greatness. It allows us to see American at its very worst and also to see people who displayed great moral courage.

นักเขียนบท Chris Gerolmo

ความน่าสนใจของหนัง ประกอบด้วยการแสดงอันเจิดจรัสของ Gene Hackman (คว้ารางวัล Silver Berlin Bear: Best Actor), Willem Dafoe, โดยเฉพาะ Frances McDormand ในบทบาทภรรยาผู้เต็มไปด้วยความระทมขมขื่น (ครั้งแรกเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress) ลีลาการนำเสนอก็มีชั้นเชิงไม่ธรรมดา ภาพถ่ายสวยๆ (คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography) ลำดับเรื่องราวน่าสนใจ ฟังเพลง Gospel แล้วขนหัวลุกพอง


ก่อนอื่นขอกล่าวถึงสามนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมือง James Chaney (คนผิวสี), Andrew Goodman (Jews) และ Michael Schwerner (Jews) ต่างเป็นสมาชิกองก์กร Council of Federated Organizations (COFO) และ Congress of Racial Equality (CORE) จัดกิจกรรมชื่อว่า Freedom Summer เพื่อรณรงค์ให้ชาวผิวสี African Americans ในรัฐ Mississippi มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1964 เริ่มต้นจากทั้งสามถูกตำรวจ Neshoba County, Mississippi (ที่เป็นสมาชิก White Knights ของ Ku Klux Klan) จับกุมข้อหาใช้ความเร็วเกินกำหนด หลังได้รับการปล่อยตัวจากโรงพักถูกไล่ล่า ฆ่าปิดปากโดยสมาชิก KKK

ปธน. Lyndon Johnson ออกคำสั่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) J. Edgar Hoover ส่งเจ้าหน้าที่ออกติดตามหานักเคลื่อนไหวทั้งสาม! เริ่มต้นจาก John Proctor (ต้นแบบตัวละครของ Gene Hackman) เจ้าหน้าที่ FBI ประจำอยู่ Meridian ทำการค้นหาเบื้องต้น ติดตามด้วยเจ้าหนี้รัฐอีก 150 นายจาก New Orleans จนกระทั่งพบเจอรถเก๋งจอดทิ้งไว้ข้างทาง ผู้ตรวจการ Joseph Sullivan (ต้นแบบตัวละครของ Willem Dafoe) จึงลงพื้นที่ ออกคำสั่งให้ทหารอากาศจาก Meridian สำรวจค้นหาศพในบึง Bogue Chitto … แต่แทนที่จะพบศพทั้งสาม กลับเจอผู้เสียชีวิต ชาวผิวสีที่ถูกฆ่าทิ้ง(ในบึง)หลายคนทีเดียว!

การสูญหายตัวของ Chaney, Goodman และ Schwerner ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติ ขนาดว่า FBI เสนอเงินรางวัล $25,000 เหรียญ จนมีบุคคลนิรนาม Mr. X เปิดเผยเบื้องหลังความจริงทั้งหมด ทำให้ค้นพบศพ ล่อจับกุมสมาชิก KKK จำนวน 18 คน นำไปสู่การพิจารณาคดีความ 1967 United States v. Cecil Price หรือ Mississippi Burning trial หรือ Mississippi Burning case แต่มีเพียง 7 คนถูกตัดสินใจกระทำความผิดจริง

เมื่อปี ค.ศ. 1985, นักเขียนบทหนัง Chris Gerolmo มีโอกาสอ่านหนังสือ Inside Hoover’s FBI: The Top Field Chief Reports (1984) แล้วเกิดความสนใจคดีฆาตกรรม Chaney, Goodman และ Schwerner เลยลองร่างบทหนัง นำไปเสนอโปรดิวเซอร์ Frederick Zollo ช่วยติดต่อหาสตูดิโอ Orion Pictures แสดงความสนใจออกทุนสร้าง

สตูดิโอ Orion พยายามติดต่อหาผู้กำกับ Miloš Forman, John Schlesinger ฯ ก่อนมาลงเอย Alan Parker ประทับใจฉากคดีฆาตกรรมต้นเรื่อง พบเห็นความเป็นไปได้ไม่รู้จบ เลยตอบตกลงโดยพลัน

The power of the opening murder scene and the possibilities that the subsequent story offered drew me to it immediately. It’s rare that projects developed in the Hollywood system have any potential for social or political comment and the dramatic possibilities surrounding the two FBI agents had possibly allowed this one to slip through.

Alan Parker

Sir Alan William Parker (1944-2020) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Islington, London ในครอบครัวชนชั้นแรงงาน (Working Class) วัยเด็กมีงานอดิเรกด้านการถ่ายรูป เรียนไม่จบมัธยมออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Ogilvy & Mather โด่งดังจากการเขียนคำโฆษณา (Copywriter) แล้วจับพลัดจับพลูพัฒนาบทหนังเรื่องแรก Melody (1971), แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการกำกับ แต่ได้รับโอกาสจากสถานีโทรทัศน์ BBC สรรค์สร้างละคอนโทรทัศน์ The Evacuees (1975) คว้ารางวัล BAFTA TV Award: Best Single Play และ International Emmy Award: Outstanding Popular Arts Programming

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ Parker ได้รับการผลักดันให้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Bugsy Malone (1976) แจ้งเกิด Jodie Foster คว้ารางวัล BAFTA Award: Best Supporting Actress และ Most Promising Newcomer, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Midnight Express (1978), Fame (1980), Pink Floyd – The Wall (1982), Birdy (1984), Mississippi Burning (1988), The Commitments (1991), Evita (1996) ฯ

หลังตอบตกลงกำกับ Mississippi Burning ผกก. Parker พยายามปรับปรุงบทหนังร่วมกับนักเขียน Chris Gerolmo แต่ทั้งสองก็มีหลายสิ่งอย่างครุ่นคิดเห็นแตกต่าง จนท้ายที่สุด Gerolmo ขอถอนตัวออกไป (แต่ยังได้รับเครดิตเขียนบทเต็มๆ) ให้อิสระผกก. Parker ปรับเปลี่ยนแก้ไขบทหนังตามวิสัยทัศน์

บทหนัง Mississippi Burning ค่อนข้างแตกต่างจากเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง นอกจากปรับเปลี่ยนชื่อตัวละคร สมมติสถานที่เกิดเหตุ ยังมีสองเหตุการณ์หลักๆที่บิดเบือนไปพอสมควร

  • บุคคลนิรนาม Mr. X ตอนนั้นยังไม่มีการเปิดเผยว่าใคร Gerolmo เลยสร้างตัวละคร Mrs. Pell ภรรยารองนายอำเภอ Clinton Pell หนึ่งในสมาชิก Ku Klux Klan
    • “the fact that no one knew who Mr. X, the informant, was, left that as a dramatic possibility for me, in my Hollywood movie version of the story. That’s why Mr. X became the wife of one of the conspirators.”
      – Chris Gerolmo
  • เหตุการณ์จริงนั้น FBI มีการว่าจ้างนักฆ่า Gregory Scarpa เจ้าของฉายา Grim Reaper หรือ Mad Hatter เคยทำงานให้กับแก๊งค์ Colombo ขณะนั้นถูกจับกุมติดคุกตลอดชีวิต มาชวนค้นหาเบาะแส ลักพาตัวสมาชิก KKK เอาปืนยัดปาก บังคับให้เปิดเผยสถานที่ที่นักเคลื่อนไหวทั้งสามถูกฝังอยู่
    • ในหนังเปลี่ยนเป็น Agent Monk เจ้าหน้าที่ FBI เชื้อสาย African-American ลักพานายกเทศมนตรีเพื่อเค้นหาเบื้องหลังความจริง

เรื่องราวเกิดขึ้นในเมืองสมมติ Jessup Country, Mississippi นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองสามคนได้สูญหายตัวอย่างไร้ร่องรอย สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) จึงส่งสองเจ้าหน้าที่ Rupert Anderson (รับบทโดย Gene Hackman) & Alan Ward (รับบทโดย Willem Dafoe) ออกติดตามหา


Eugene Allen Hackman (1930-2025) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Bernardino, California ครอบครัวหย่าร้างเมื่ออายุ 13 ปี สามปีให้หลังจึงหนีออกจากบ้าน โกงอายุสมัครเข้าทหารเรือ ทำงานหน่วยสื่อสาร ประจำการอยู่ประเทศจีนในช่วง Communist Revolution ต่อด้วย Hawaii และญี่ปุ่น จนปลดประจำการเมื่อปี ค.ศ. 1951 แล้วลงหลักปักฐาน New York ดิ้นรนหางานทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความสนใจด้านการแสดง กลายเป็นเพื่อนร่วมห้อง Dustin Hoffman และ Robert Duvall รับบทเล็กๆในซีรีย์โทรทัศน์ แสดงละครเวที Off-Broadway โด่งดังทันทีจากบทสมทบ Bonnie and Clyde (1967)**เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นๆ อาทิ The French Connection (1971)**คว้ารางวัล Oscar: Best Actor, The Poseidon Adventure (1972); The Conversation (1974), Superman: The Movie (1978), Mississippi Burning (1988), Unforgiven (1992)**คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor, The Royal Tenenbaums (2001) ฯ

รับบท Rupert Anderson ด้วยความที่เคยทำงานในรัฐ Mississippi จึงพอมีประสบการณ์ รับรู้หนทางหนีทีไล่ เข้าใจวิถีชาวเมือง อะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ ควรจะไปแสวงหาข้อมูลจากแห่งหนไหน เมื่อไหร่ควรใช้ไม้แข็ง-ไม้อ่อน สุภาพอ่อนน้อมหรือความรุนแรง, เมื่อครั้นเดินทางไปบ้านรองนายอำเภอ Clinton Pell สังเกตเห็นความผิดปกติของภริยา Mrs. Pell จึงแวะเวียนมาเยียมเยี่ยน แล้วได้เรียนรู้เบื้องหลังความจริง พยายามโน้มน้าวให้เธอทำในสิ่งที่ถูกต้อง!

It felt right to do something of historical importance. It was an extremely intense experience, both the content of the film and the making of it in Mississippi.

Gene Hackman กล่าวถึงความสนใจในโปรเจคนี้

ภาพจำของ Hackman คือบุคคลหัวรุนแรง พูดจาโผงผาง พร้อมระเบิดระบายอารมณ์อัดอั้น แต่ทว่าภาพยนตร์เรื่องนี้แทบไม่มีอะไรแบบนั้น (เพียงขึ้นเสียงกับเพื่อนร่วมงานเนื่องจากมุมมองคิดเห็นแตกต่าง) ทุกสิ่งอย่างล้วนมีเหตุผล แรงจูงใจ ไม่ได้ทำด้วยอารมณ์ เพื่อทำการสืบสวนสอบสวน ค้นหาหลักฐาน พยาน จับกุมผู้อยู่เบื้องหลัง … วินาทีที่ผู้ชมตระหนักว่าทุกการกระทำของตัวละคร ไม่ได้เรื่อยเปื่อยไร้สาระ แต่เคลือบแฝงนัยยะอย่างแยบยล อาจสร้างความขนลุกขนพอง ไม่เคยเห็น Hackman จริงจังขนาดนี้มาก่อน!

ผมอ่านเจอว่าในบทหนังจะมีฉาก Sex Scene ระหว่าง Rupert และ Mrs. Pell การแสดงของ McDormand ก็พยายามชี้นำไปทาง ‘sex abuse’ และ ‘sexual repression’ สีหน้า แววตา ภาษากาย รวมถึงการแต่งกาย พยายามส่งสัญญาณเรียกร้องขอเพศสัมพันธ์ แต่พอมันไปไม่ถึงจุดนั้น ทำให้ทั้งสองดูเป็นผู้เป็นคน กลายเป็นบุคคลคุณธรรมสูงส่ง แบ่งแยกตัวละครออกจาก White Trash กลุ่มนั้น!

He had an amazing capacity for not giving away any part of himself. But the minute we got on the set, little blinds on his eyes flipped up and everything was available. It was mesmerizing. He’s really believable, and it was like a basic acting lesson.

Frances McDormand กล่าวถึงความประทับใจในการร่วมงานกับ Gene Hackman

William James ‘Willem’ Dafoe (เกิดปี ค.ศ. 1955) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Appleton, Wisconsin มีพี่น้องแปดคน, ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าเรียนสาขาการแสดง University of Wisconsin–Milwaukee แต่แค่ปีเดียวก็ออกมาเข้าร่วมคณะการแสดง Theatre X in Milwaukee พอย้ายมาปักหลัก New York City จึงได้เข้าร่วม The Performance Group, สำหรับภาพยนตร์เริ่มจากบทสมทบ Heaven’s Gate (1979), พระเอกเรื่องแรก The Loveless (1981), โด่งดังจากบทตัวร้าย The Hunger (1986), ตามด้วย Platoon (1986), รับบท Jesus Christ เรื่อง The Last Temptation of Christ (1988), Mississippi Burning (1988), Wild at Heart (1990), Shadow of the Vampire (2000), ตัวร้าย Norman Osborn/Green Goblin แฟนไชร์ Spider-Man (2002-07), Antichrist (2009), The Florida Project (2017), At Eternity’s Gate (2018), The Lighthouse (2019) ฯ

รับบท Alan Ward นึกว่าเจ้าหน้าที่จบใหม่ (ได้รับเลือกให้ทำคดีนี้ เพราะเคยทำคดีลักษณะคล้ายๆกันมาก่อน) เป็นคนตรงไปตรงมา ตามตำราเคยร่ำเรียน ไร้ซึ่งไหวพริบ ประสบการณ์ทำงาน ครุ่นคิดว่าปริมาณจะช่วยให้สืบคดีง่ายขึ้น บ่อยครั้งงัดข้อ/ขัดแย้งกับ Rupert Anderson ท้ายที่สุดแม้ไม่อยากยินยอมรับ แต่จำใจต้องน้อบรับวิธีการของอีกฝ่าย

ผกก. Parker มีความสนใจในตัว Dafoe หลังได้ยินข่าวเพิ่งเสร็จจากถ่ายทำ The Last Temptation of Christ (1988) รีบเดินทางสู่ Los Angeles เพื่อพูดคุยโปรเจค ไม่นานก็ตอบตกลง, Dafoe เตรียมตัวด้วยการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับ Neshoba County อ่านนวนิยาย The Courting of Marcus Dupree (1983) และรับชมสารคดีคดีฆาตกรรมดังกล่าว

ผมแอบไม่คุ้นตากับบุคลิกของ Dafoe ภาพลักษณ์ยังดูหนุ่มๆ ละอ่อนวัย หน้าตาสดใส ใส่แว่นสุดเนิร์ด ท่าทางเย่อหยิ่ง หลงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง เหมือนเด็กเพิ่งสำเร็จการศึกษา มันเลยไม่มีความยียวนกวนบาทา หรืออากัปกิริยาหลุดโลกไปไกล … การแสดงที่ดูเป็นผู้เป็นคนของ Dafoe มันช่างจืดชืด ไร้สีสัน (เมื่อเทียบกับบทบาทของ Hackman หรือ McDormand)


Frances Louise McDormand ชื่อเดิม Cynthia Ann Smith (เกิดปี ค.ศ. 1957) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เจ้าของรางวัล Triple Crown of Acting เกิดที่ Gibson City, Illinois เติบโตขึ้นในครอบครัวบุญธรรมของบาทหลวง Vernon W. McDormand โตขึ้นเข้าศึกษาด้านการละคอน Bethany College, West Virginia ต่อด้วยปริญญาโท Yale School of Drama สนิทสนมเพื่อนร่วมห้อง Holly Hunter, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Blood Simple (1984) แต่งงานผู้กำกับ Joel Coen ร่วมงานขาประจำเรื่อยมา, ผลงานเด่นอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ร่วมกับพี่น้อง Coens) อาทิ Mississippi Burning (1988), Almost Famous (2000), North Country (2005), Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (2017) ฯ

รับบท Mrs. Pell ภริยา (Trophy Wife) ของรองนายอำเภอ Clinton Pell ตั้งแต่เรียนจบก็แต่งงาน กลายเป็นแม่บ้าน ครุ่นคิดว่าอนาคตคงสดใส จนเมื่อสันดานธาตุแท้อีกฝ่ายค่อยๆเปิดเผย ตระหนักได้เมื่อสาย ไม่รู้จะทำอะไรยังไงนอกจากอดกลั้นฝืนทน เต็มไปด้วยความเก็บกดอัดอั้น ใกล้คลุ้มบ้าคลั่ง จนกระทั่งการมาถึงของเจ้าหน้าที่ Rupert Anderson ทำให้เกิดความหาญกล้ากระทำสิ่งถูกต้อง

เกร็ด: ตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Connor Price ภริยาของรองนายอำเภอ Cecil Ray Price ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก KKK ถึงอย่างนั้นเธอมิใช่ Mr. X ตอนนั้นยังไม่มีการเปิดเผยว่าใคร เพียงระบุแค่ว่าชายวัยกลางคน แต่นั่นก็ทำให้ใครต่อใครเกิดความเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเธอทรยศหักหลังสามี

McDormand ชอบเม้มปาก กัดฟัน เป็นท่าเฉพาะตัวของเธอสำหรับแสดงอารมณ์เก็บกด อัดอั้น พานผ่านความทุกข์ทรมานมามาก แต่ไม่สามารถโต้ตอบขัดขืน สำแดงปฏิกิริยาใดๆออกมา บางคนอาจเรียกว่า ‘ดื้อเงียบ’ เพียงเฝ้ารอคอยโอกาส ใครบางคน หรือเหตุการณ์ที่สามารถระเบิดระบาย เปิดเผยความใน กระทำสิ่งถูกต้องเหมาะสม

I hope attention is paid to McDormand, who could have turned her role into a flashy showboat performance, but chose instead to show us a woman who had been raised and trained and beaten into accepting her man as her master, and who finally rejects that role simply because with her own eyes she can see that it’s wrong to treat black people the way her husband does. The woman McDormand plays is quiet and shy and fearful, but in the moral decision she makes, she represents a generation that finally said, hey, what’s going on here is simply not fair.

นักวิจารณ์ Roger Ebert กล่าวสรรเสริญการแสดงของ Frances McDormand

บทบาทนี้ของ McDormand ถือเป็นการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว เข้าตานักวิจารณ์ ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม “Hackman’s mastery reaches a peak here, but McDormand soars right with him.” ครั้งแรกเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress (พ่ายให้กับ Geena Davis ภาพยนตร์ The Accidental Tourist (1988))


ถ่ายภาพโดย Peter Biziou (เกิดปี 1944) สัญชาติ Wales เป็นบุตรของตากล้อง Leon Bijou, เข้าสู่วงการในช่วงทศวรรษ 60s เริ่มจากถ่ายทำหนังสั้น, แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Bugsy Malone (1976), Monty Python’s Life of Brian (1979), ผลงานเด่นๆ อาทิ Time Bandits (1981), Pink Floyd – The Wall (1982), Mississippi Burning (1988), In the Name of the Father (1993), The Truman Show (1998) ฯ

งานภาพของหนังโดดเด่นกับการสร้างบรรยากาศทะมึน อึมครึม Jessup County, Mississippi ช่างเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับบุคคลภายนอก ตอนกลางวันมีการย้อมสีให้ดูหม่นๆ รกรุงรัง คละคลุ้งฝุ่นควัน เลือกสถานที่เต็มไปด้วยสภาพปรักหักพัง, ยามกลางคืนก็ปกคลุมด้วยมืดมิด พบเห็นถ่ายภาพย้อนแสงบ่อยครั้ง

ซีเควนซ์น่าสะพรึงกลัวที่สุดของหนังก็ตามชื่อ Mississippi Burning สมาชิกกลุ่ม KKK ทำการจุดไฟเผาบ้าน เผาโบสถ์ รวมถึงเผาสัญลักษณ์ไม้กางเขน เห็นว่าใช้กล้องสามตัวบันทึกภาพพร้อมกัน (จะได้ไม่ต้องมีเผาหลายรอบ) สร้างสัมผัสที่ไม่ใช่แค่เปลวเพลิงมอดไหม้ แต่ยังลุ่มร้อนทรวงในจิตใจผู้ชม!

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะพานผ่านมากว่าสองทศวรรษ แต่ทีมผู้สร้างยังกังวลเรื่องความปลอดภัย ถ้าถ่ายทำยังสถานที่จริง Forsyth County, Mississippi ถึงอย่างนั้นนายกเทศมนตรี Ray Mabus พร้อมการันตี และให้การสนับสนุนทุกสิ่งอย่าง … หนังตั้งศูนย์บัญชาการกลางยัง Jackson, Mississippi สำหรับออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำกว่า 62 แห่ง!

In all, the script now called for 62 different locations, many of which I had found close to the city of Jackson, Mississippi. In Canton, Mississippi, whilst suspiciously scouting the back streets, Colesberry and I were followed and stopped by the local Sheriff – an eery reminder of the beginnings of our story.

Alan Parker

แต่สำหรับเมืองสมมติ Jessup County, Mississippi รวมถึงโรงภาพยนตร์ร้าง ที่ตั้งสำนักงานกลาง FBI กลับเลือกใช้สถานที่ยัง LaFayette, Alabama

Our principle reason for moving to Alabama was the town of Lafayette — one of those small towns nudged into nowhere by newly built highways that had passed them by. The irony was not lost on our production people that I had turned down three hundred other towns to find this one, which was perfect. So “perfect” that an army of carpenters and painters now set to work changing it.


แม้สหรัฐอเมริกามีการยกเลิกระบบทาสมาหลายร้อยปี แต่คนผิวสียังคงไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง โดยเฉพาะรัฐทางตอนใต้ยังมีกฎหมายท้องถิ่น Jim Crow laws แบ่งแยกระหว่างคนขาว-ผิวสี แม้กระทั่งอ่างล้างมือ แต่ถ้าเราสังเกตดีๆหนังจงใจให้อ่างของ WHITE มีสีเข้มๆ ตรงกันข้ามกับ COLORED เป็นอ่างสีขาว

ผมพยายามค้นหาว่าหนังนำเอาฟุตเทจ KKK มาจากไหน? ก่อนค้นพบว่าผกก. Parker ถ่ายทำขึ้นใหม่ เพื่อให้คำกล่าวสุนทรพจน์มีความสอดคล้องเข้ากับเรื่องราวของหนัง

รายการโทรทัศน์ที่ Mrs. Pell กำลังรับชมก่อนถูกสามี/สมาชิก KKK กระทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส คือ To Tell the Truth (1956-68) ไม่แน่ใจว่าตอนไหน ปีไหน แต่เกี่ยวกับการค้นหาใครคือแชมป์โลกผลิตชีส Cheddar … ในบริบทของหนังก็คือ Mrs. Pell ถูกจับได้ว่าเป็นสายให้กับตำรวจ เปิดเผยสถานที่ฝังศพสามนักเคลื่อนไหว

ภาพสุดท้ายของหนังฉายป้ายสุสานถูกทำลาย (คาดเดาไม่ยากว่าต้องเป็นของวัยรุ่นผิวสีที่เสียชีวิต) แต่ด้วยความที่ไม่พบเห็นชื่อ เพียงปีเสียชีวิต ค.ศ. 1964 และข้อความ “NOT FORGOTTEN” สามารถเหมารวมเหตุการณ์ Mississippi Burning case เป็นสิ่งที่ “ชาวอเมริกัน” ไม่ควรหลงลืมหายนะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

ตัดต่อโดย Gerald Hambling (1926-2013) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำผกก. Alan Parker อาทิ Midnight Express (1978), Mississippi Burning (1988), The Commitments (1991), Evita (1996) ฯ

ด้วยความที่ Mississippi Burning case พานผ่านมากว่าสองทศวรรษ คนส่วนใหญ่น่าจะรับรู้บทสรุปเหตุการณ์ดังกล่าว มันจึงไม่จำเป็นต้องปกปิด สร้างความลึกลับ สามารถเปิดเผยตัวฆาตกรสังหารโหดได้ตั้งแต่อารัมบทต้นเรื่อง แล้วหลังจากนั้นถึงนำเสนอกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ (Police Procedural) … ด้วยเหตุนี้หนังจึงมักถูก(คนผิวสี)มองว่าเป็นการเชิดชูการทำงานของคนขาว/เจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI)

แม้หนังจะเริ่มต้นที่การมาถึงของสองคู่หู Rupert Anderson & Alan Ward เดินทางสู่ Jessup County, Mississippi เพื่อติดตามหาสามนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่สูญหายตัวไป แต่หลายต่อหลายครั้งมักนำเสนอผ่านมุมมองของ Rupert ผู้มากด้วยประสบการณ์ทำงาน รับรู้หนทางหนีทีไล่ เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ จนสามารถหาข้อสรุป หลักฐาน และโน้มน้าวพยานปากสำคัญ Mrs. Pell ยินยอมให้การชี้ตัวผู้กระทำความผิด

  • อารัมบท, ความตายของสามนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมือง
  • การมาถึงของ Rupert & Alan
    • Rupert & Alan เดินทางมาถึง Jessup County, Mississippi
    • ไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีจากสำนักงานนายอำเภอ
    • Rupert & Alan เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โบสถ์ที่เพิ่งถูกเผาไหม้ พูดคุยกับชาวบ้านผิวสี แต่ไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ
    • ยามค่ำคืนสมาชิกกลุ่ม KKK ไล่ล่ากระทำร้ายร่างกายชายผิวสีที่พูดคุยกับ Rupert & Alan
    • ห้องพักของ Rupert & Alan ถูกคนร้ายกราดยิง พร้อมจุดไฟสัญลักษณ์ไม้กางเขน
  • ติดตามค้นหาสามนักเคลื่อนไหวที่สูญหาย
    • Alan ติดต่อขอกำลังเสริม จัดตั้งศูนย์บัญชาการในโรงหนังเก่า
    • Rupert เดินสำรวจรอบเมือง แวะเวียนร้านทำผม
    • ค้นพบรถของสามนักเคลื่อนไหว ถูกทิ้งไว้ในหนองบึง
    • Alan ติดต่อขอกำลังเสริมเพิ่มอีกเพื่อติดตามหาศพของทั้งสาม
    • Rupert & Alan เดินทางมาที่บ้านของรองนายอำเภอ Clinton Pell
    • Alan คอยโอกาสหลัง Rupert ออกจากบ้าน หวนกลับมาหา Mrs. Pell
    • ยามค่ำคืนสมาชิก KKK ห้อมล้อมชาวบ้านผิวสีหลังเสร็จพิธีกรรมทางศาสนา
  • ความไม่ร่วมมือของชาว Mississippi
    • เจ้าหน้าที่ยังคงออกติดตามหาศพ, นักข่าวสัมภาษณ์ชาวเมือง
    • Rupert บุกเข้าถ้ำเสือ, รับชมฟุตเทจ KKK
    • ขบวนพาเรดของกลุ่มคนผิวสี
    • ยามค่ำคืน Rupert & Alan ดักเฝ้ารอหน้าสำนักงานนายอำเภอ ไล่ล่าติดตามจนสามารถให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นผิวสี รอดพ้นเงื้อมมือของ KKK
    • รองนายอำเภอ Clinton Pell ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา, นายกเทศมนตรีก็เฉกเช่นเดียวกัน
    • สมาชิก KKK เผาบ้านวัยรุ่นผิวสีคนนั้น
    • Alan โน้มน้าววัยรุ่นคนนั้นให้การกับศาล แต่ทว่าผู้พิพากษากลับตัดสินเพียงทัณฑ์บน
    • ค่ำคืนนั้นวัยรุ่นผิวสีเลยถูกลงทัณฑ์ ประหารชีวิตแขวนคอโดยสมาชิก KKK
    • คำกล่าวสุนทรพจน์ของนายกเทศมนตรี ต่อหน้าสมาชิก KKK
  • กรรมใดใครก่อ
    • Rupert เดินทางมาที่บ้านของ Mrs. Pell บอกกล่าวสถานที่ทิ้งศพสามนักเคลื่อนไหว
    • ค้นพบศพยังบริเวณที่กำลังก่อสร้างเขื่อนใหม่
    • Mrs. Pell ถูกสามีกระทำร้ายร่างกาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส
    • Rupert & Alan เข้าร่วมงานศพวัยรุ่นผิวสี
    • Alan ยินยอมทำตามวิธีของ Rupert เล่นจิตวิทยาสมาชิก KKK
    • แล้วให้เจ้าหน้าที่ FBI ผิวสีลักพาตัวนายกเทศมนตรี Tilman ข่มขู่จนยินยอมรับสารภาพผิด
    • จับกุมผู้ต้องหา ศาลตัดสินโทษ

นอกจากการติดตามค้นหา/สืบสวนสอบสวนที่สองนักสืบ Rupert & Alan ต้องออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ บ่อยครั้งหนังมักแทรกภาพชุมชนคนผิวสี ยามค่ำคืนมักถูกไล่ล่า-หลบหนีจากสมาชิก KKK เต็มไปด้วยความหวาดกลัว อกสั่นขวัญแขวน ปฏิเสธความช่วยเหลือจากบุคคลนอก … รายละเอียดเหล่านี้ช่วยเสริมบรรยากาศให้รัฐแห่งนี้มีความอันตราย ไม่ปลอดภัย บ้านป่าเมืองเถื่อน


เพลงประกอบโดย Trevor Alfred Charles Jones (เกิดปี ค.ศ. 1949) นักแต่งเพลงสัญชาติ South African เกิดที่ Cape Town, South Africa ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลเพลงประกอบภาพยนตร์ ตอนอายุสิบขวบสามารถสองเข้า South African College of Music แล้วได้ทุนการศึกษาต่อ Royal Academy of Music ณ กรุง London จากนั้นทำงานสถานีโทรทัศน์ BBC ก่อนไปเรียนปริญญาโท University of York และเข้าคอร์สเพลงประกอบภาพยนตร์ National Film and Television School โปรเจคจบทำเพลงให้หนังสั้น The Dollar Bottom (1981) คว้ารางวัล Oscar: Best Live-Action Short Film เข้าตาผู้กำกับ John Boorman ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Excalibur (1981), ผลงานเด่นๆ อาทิ Labyrinth (1986), Mississippi Burning (1988), The Last of the Mohicans (1992), In the Name of the Father (1993), Richard III (1995), Notting Hill (1999) ฯ

งานเพลงของ Jones ฟังแล้วเกิดความวาบหวิว สั่นสยิวกาย โดดเดี่ยวเดียวดาย กลิ่นอาย Neo-Noir หลายๆครั้งมีการใช้เครื่องสังเคราะห์เสียง สร้างสัมผัสเหนือจริง ราวกับสิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา Jessup County, Mississippi คือดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน สมาชิกกลุ่ม Ku Klux Klan พร้อมกำจัดบุคคลแตกต่าง สีผิว-ศาสนา-ชาติพันธุ์ ทำให้ผู้อยู่อาศัยเต็มไปด้วยความเก็บกด อดกลั้น อยากระเบิดระบายอารมณ์คลุ้มคลั่ง แต่ยังทำได้เพียงก้มหัวศิโรราบต่อความอยุติธรรมในสังคม

นอกจากงานเพลงดั้งเดิมของ Jones ยังมีการเลือกบทเพลงแนว Gospel ขับร้องโดยศิลปินผิวสี สำหรับรำพันความอัดอั้น ทุกข์ทรมานกาย-ใจ ระบายสิ่งที่อยู่ภายในออกมาผ่านเนื้อคำร้องอ้างอิงศรัทธาศาสนา, เริ่มต้นที่ Opening Credit ระหว่างฉายภาพโบสถ์กำลังมอดไหม้ในกองเพลิงได้ยินบทเพลง Take My Hand, Precious Lord (1938) แต่งโดย Thomas A. Dorsey, ฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย Mahalia Jackson บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1956

เกร็ด: นี่คือบทเพลงโปรดของ Martin Luther King Jr. ซึ่งได้ชักชวน Mahalia Jackson มาขับร้องปลุกใจฝูงชนระหว่างเดินขบวนเรียกร้องสิทธิคนผิวสี และเธอยังขับร้องให้เขาในงานศพปี ค.ศ. 1968

Precious Lord, take my hand
Lead me on, let me stand
I am tired, I am weak, I am worn
Through the storm, through the night
Lead me on through the light
Take my hand, precious Lord
And lead me homeWhen my way grows dreary
Precious Lord, lead me near

When my life is almost gone
At the river I will stand
Guide my feet, hold my hand
Take my hand, precious Lord
And lead me home

บทเพลงที่คนผิวสีขับร้องในพิธีมิสซา (ก่อนถูกสมาชิก KKK ดักรออยู่ภายนอกโบสถ์) ชื่อว่า When We All Get to Heaven (1898) แต่งโดย Emily D. Wilson, คำร้องโดย Eliza E. Hewitt, ในหนังขับร้องโดย Lannie Spann McBride, Barbara Gibson และ Alisa R. Patrick

Sing the wondrous love of Jesus,
Sing His mercy and His grace;
In the mansions bright and blessed
He’ll prepare for us a place.
Refrain:
When we all get to heaven,
What a day of rejoicing that will be!
When we all see Jesus,
We’ll sing and shout the victory!
While we walk the pilgrim pathway,
Clouds will overspread the sky;
But when trav’ling days are over,
Not a shadow, not a sigh.
Let us then be true and faithful,
Trusting, serving every day;
Just one glimpse of Him in glory
Will the toils of life repay.
Onward to the prize before us!
Soon His beauty we’ll behold;
Soon the pearly gates will open;
We shall tread the streets of gold.

หลังเสร็จพิธีมิสซา ออกมาพบเจอสมาชิก KKK ระหว่างที่พวกเขาพยายามวิ่งหลบหนี มีเด็กชายคนหนึ่งนั่งคุกเข่า อธิษฐานขอพระเจ้าอยู่หน้าโบสถ์ ได้ยินบทเพลง Try Jesus (He Satisfies) (1943) แต่งโดย Roberta Martin, ขับร้องโดย Vesta Williams … ผมหาเนื้อเพลงนี้ไม่ได้ ก็ลองแกะเอาเองนะครับ

บทเพลงช่วงท้าย (ขับร้องพร้อมคอรัส) และ Closing Credit (ขับร้องพร้อมเครื่องดนตรี) ชื่อว่า Walk On By Faith แต่งโดย James Cleveland, ในหนังขับร้องโดย Lannie Spann McBride ซึ่งมารับเชิญฉากสุดท้ายด้วยนะ

We cannot see in the future, no, Lord
And we cannot see through dark cloud, Lord
We cannot see, Lord, through all of our tear drops, oh, Lord

Walk on by faith each day
Walk on, Lord, by faith each day

We cannot see, Lord, through our tear drops
And it’s hard to smile through all our trials
We cannot see, Lord, through all of our pitfalls
Lord, have mercy

Oh, happy to walk on
Oh, by faith, Lord, each day
Oh, happy to walk on
Oh, by faith, Lord, each day

On a Monday, I walk on
On a Tuesday, Lord, I keep walking on
And I, led by Jesus, Jesus, be
Lord, You’d be my guide, Lord
Yes, I know You’re able, carry my load
And You can see, Lord, see, Lord, down the road

Yes, happy to walk on
Oh, by faith, Lord, each day
Yes, happy to walk on
Oh, by faith, each day

Our film cannot be the definitive film of the black civil rights struggle, our heroes were still white and, in truth, the film would probably have never been made if they weren’t. This is, perhaps, as much a sad reflection on present day society as it is on the film industry. But with all its possible flaws and shortcomings, I hope that our film can provoke thought and kindle the debate allowing other films to be made, because the struggle against racism continues.

Alan Parker

Mississippi Burning (1988) คือภาพยนตร์แนว Crime Thriller ไม่ใช่ Political & Civil Rights Movement สิ่งที่ผกก. Parker พยายามนำเสนอคือบทเรียนหายนะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ สิ่งที่คนขาวสร้างขึ้นและทำลายตนเอง จากพฤติกรรมดูถูกเหยียดยาม (Racism) อคติต่อต้านบุคคลแตกต่างจากตนเอง (เหมารวมคนผิวสี ชนชาวยิว และใครอื่นที่ไม่ใช่พวกพ้อง Mississippian)

หนังไม่ได้ทำการยกย่องสรรเสริญคนขาว ตามที่บรรดาคนผิวสีทั้งหลายโจมตี แต่พยายามนำเสนอทั้งด้านดี-ชั่ว สร้าง-ทำลาย ที่ล้วนเกิดขึ้นโดยน้ำมือของตนเอง มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชาติพันธุ์เลยสักนิด!

  • Rupert & Alan คือคนขาว/เจ้าหน้าที่ FBI แต่ทั้งสองมีแนวคิด วิธีการทำงานแตกต่างตรงกันข้าม มันไม่เชิงว่า Good Cop & Bad Cop แต่เราสามารถมองในทิศทางดังกล่าว
    • Rupert คือเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์ทำงาน รับรู้หนทางหนีทีไล่ เข้าใจวิถีคนท้องถิ่น
    • Alan อาจไม่ใช่เด็กจบใหม่ แต่ยังไม่ค่อยรู้ประสีประสา กางตำราเข้าว่า เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
  • FBI vs. องค์กรท้องถิ่น (นายอำเภอ, นายกเทศมนตรี ฯ) ต่างเป็นหน่วยงานรัฐ ทำงานเพื่อประชาชน โดยปกติแล้วไม่ยุ่งย่ามก้าวก่ายกันและกัน แต่พอฝั่งฝ่ายใดล้ำเส้น จึงเกิดการขุดคุ้ย เปิดโปงเบื้องหลังความจริง
  • สามี Clinton Pell คือสมาชิกระดับสูงของ KKK แต่ทว่า Mrs. Pell แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็น กลับถูกเหมารวมเพราะสถานะภรรยา ตัวเธอหาได้รังเกียจเดียดฉันท์คนผิวสี ต้องอดรนทนพฤติกรรมชั่วร้ายสามี จนถึงจุดๆหนึ่งมิอาจอดกลั้นฝืนทน พูดบอกความจริงทั้งหมดแก่ Rupert

คนเราจะดีจะชั่ว มันไม่ได้เกี่ยวกับสีผิว เพศสภาพ รูปลักษณ์หน้าตา ฐานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ หรือนับถือพระเจ้าองค์ใด ฯ การจะเหมารวมคนกลุ่มหนึ่งว่าโฉดชั่วร้าย อันตราย ต้องกวาดล้างให้หมดสิ้น มันคือมุมมองอันคับแคบ เห็นแก่ตัว ลุ่มหลงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉัน ‘Supremacy’ เหนือกว่าใครอื่นใด แท้จริงแล้วคนพวกนั้นนะแหละที่ต่ำตม โสมม โฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1988 หลังจากกฎหมาย Jim Crow laws ได้สิ้นสุดลงไปนานแล้ว คนผิวสีได้รับสิทธิ เสรีภาพ สามารถกระทำสิ่งต่างๆอย่างเสมอภาคเท่าเทียม แต่ยังไม่ใช่สำหรับ Hollywood ซึ่งสตูดิโอ/นายทุนส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนขาว-ชาวยิว สนเพียงเงินทอง ความสำเร็จ หนังแนวเรียกร้องสิทธิพลเมือง(ของคนผิวสี)มันขายได้เสียที่ไหน? มันคือภาพสะท้อนโลกความจริงที่โหดร้าย

แซว: Spike Lee เคยพยายามอย่างที่สุดแล้วตอนสรรค์สร้าง Malcolm X (1992) โดยคนดำ เพื่อคนดำ ผลลัพท์ขาดทุนย่อยยับ ยุคสมัยนั้นถ้าไม่ใช่คนดำด้วยกัน ใครจะอยากรับชม?

บางคนอาจยกย่องเจ้าหน้าที่ FBI ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม จับคนร้ายมาลงทัณฑ์, บางคนอาจมองว่าคือสายข่าว Mr. X (หรือในหนัง Mrs. Pell) หาญกล้ากระทำสิ่งถูกต้อง, บางคนกล่าวสรรเสริญผกก. Parker (นักเขียน Chris Gerolmo และสตูดิโอ Orion) ที่กล้าเสี่ยงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ในยุคสมัยที่ชาวอเมริกันยังไม่ให้การยินยอมรับคนผิวสี … แต่ผมมองว่าไม่มีใครเป็นพระเอกในโศกนาฎกรรมครั้งนี้ เพียงความสูญเสียและสูญเสีย และเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน “1964 NOT FORGETTEN” ปัจจุบันยังหลงเหลือสักกี่คนจดจำภาพยนตร์เรื่องนี้???


ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ ช่วงแรกๆเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ดียอดเยี่ยมจึงทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่การมาถึงของกระแสลบจากผู้ชมผิวสี ทำให้รายรับสุดท้ายในสหรัฐอเมริกาหยุดอยู่ที่ $34.6 ล้านเหรียญ แค่เพียงคืนทุนกระมัง (มันมีค่าประสัมพันธ์อีกนะ)

ช่วงปลายปีหนังได้เข้าชิง Oscar, Golden Globe, BAFTA Award รวมถึงคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเมือง Berlin

  • Academy Awards
    • Best Picture พ่ายให้กับ Rain Man (1988)
    • Best Director
    • Best Actor (Gene Hackman)
    • Best Supporting Actress (Frances McDormand)
    • Best Cinematography **คว้ารางวัล
    • Best Film Editing
    • Best Sound
  • Golden Globe Award
    • Best Motion Picture – Drama พ่ายให้กับ Rain Man (1988)
    • Best Director
    • Best Actor – Drama (Gene Hackman)
    • Best Screenplay
  • BAFTA Award
    • Best Direction
    • Best Cinematography **คว้ารางวัล
    • Best Editing **คว้ารางวัล
    • Best Film Music
    • Best Sound **คว้ารางวัล
  • Berlin International Film Festival
    • Silver Bear: Best Actor (Gene Hackman) **คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการสแกนใหม่ ‘digital transfer’ คุณภาพ 4K จัดจำหน่ายโดย Kino Lorber ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 น่าเสียดายไม่มีของแถมนอกจาก Audio Commentary ของผกก. Parker

ระหว่างรับชมผมไม่ได้เอะใจด้วยซ้ำว่าหนังมีใจความเรียกร้องสิทธิพลเมือง เลยไม่ค่อยสนใจการโต้แย้ง (Controversy) ที่คนผิวสีด่าก้นขรม มันคงขึ้นอยู่กับมุมมองผู้ชมว่าจะเห็นด้วย-ไร้สาระ ชาวโลกที่สามอย่างเราๆทำได้เพียงนั่งเหม่อมองเปลวเพลิงมอดไหม้ สร้างและทำลายตนเองของชาวอเมริกัน

จัดเรต 18+ กับคดีฆาตกรรม เหยียดชาติพันธุ์

คำโปรย | Mississippi Burning มอดไหม้ไปกับประวัติศาสตร์การเหยียดผิว สร้างและทำลายตนเองโดยชาวอเมริกัน
คุณภาพ | มอดไหม้
ส่วนตัว | ป่นปี้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: