Oliver! (1968) : Carol Reed ♥♥♥♥
เข้าชิง Oscar 11 สาขา กวาดมา 5 รางวัล รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของ Charles Dickens ใส่ความเป็น Musical เข้าไปทำให้ดูง่าย สนุกสนาน เพลิดเพลิน เด็กๆดูได้เห็นสาระ ผู้ใหญ่ชื่นชมความงามของศิลปะ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ในบรรดาภาพยนตร์หลายสิบเรื่องตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชน Oliver Twist มีเพียง 3-4 เรื่องเท่านั้นที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
– Oliver Twist (1922) หนังเงียบ กำกับโดย Frank Lloyd มี Lon Chaney รับบท Fagin
– Oliver Twist (1948) กำกับโดย David Lean มี Alec Guinness รับบท Fagin
– Oliver! (1968) หนังเพลง กำกับโดย Carol Reed มี Ron Moody รับบท Fagin
– Oliver Twist (2005) กำกับโดย Roman Polanski มี Ben Kingsley รับบท Fagin
ผมน่าจะไม่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ แต่เคยรับชมภาพยนตร์ฉบับของ Lean กับ Polanski เมื่อครั้นนานมากแล้ว จดจำรางๆได้ว่าไม่ค่อยชอบเสียเท่าไหร่ ทั้งๆที่มันควรเป็นหนังเกี่ยวกับเด็ก แต่กลับเต็มไปด้วยความเครียด ซีเรียส หัวหนักอึ้ง จนไม่สามารถจับสาระประโยชน์อะไรได้ ก็เลยพยายามมองข้ามหนังเรื่องนี้มาโดยตลอด
การรับชมครั้งนี้ พอพบว่าเป็น Musical เกิดอาการอึ้งแปลกใจไม่น้อย ครุ่นคิดระหว่างทาง เออมันก็เจ๋งดีนะ ช่วยลดความตึงเครียดของเนื้อหาลงได้เยอะ แถมทำให้สาระของเรื่องราวโดดเด่นชัดเจนขึ้นมา หลังดูหนังจบทำให้ผมเข้าใจเหตุผลโดยทันทีเลย ว่าทำไม Oliver Twist ถึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนชิ้นสำคัญของโลก
ขอกล่าวถึงผู้แต่งก่อนสักนิด Charles John Huffam Dickens (1812 – 1870) นักเขียนนิยายสัญชาติอังกฤษในยุค Victorian Era เกิดที่ Landport, Portsea Island (Portsmouth) พ่อเป็นเสมียนในกองทัพเรือ ที่รักใคร่ชื่นชอบของผู้คน แต่กลับมีปัญหาการเงินอันเกิดจากความไม่รับผิดชอบของตนเอง ทำให้หนี้มหาศาลจนถูกจับติดคุก ขณะที่แม่และพี่น้องคนอื่นๆหนีทิ้งพ่อไป แต่ Charles Dickens กลับตัดสินใจทำงานในโรงงานโกโรโกโสแห่งหนึ่ง (เป็นงานอะไรสักอย่างเกี่ยวกับรองเท้า) เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว
หลังพ่อออกจากคุกจึงมีโอกาสกลับเข้าเรียนที่ Wellington House Academy จบมาเป็นเสมียนในโรงแรมเล็กๆแห่งหนึ่ง จากนั้นได้งานนักข่าวอิสระให้สมาคมทนายความ คบหญิงสาวสวยแต่ต้องแยกทางเพราะครอบครัวไม่ยอมรับฐานะที่แตกต่าง ต่อมาทำงานนักข่าวที่รัฐสภา เขียนบทความลง The Morning Chronicle และตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกลงใน The Monthly Magazine ใช้นามปากกาว่า Boz
Dickens เป็นคนทำงานหนักหามรุ่มหามค่ำ มีผลงานสม่ำเสมอต่อเนื่อง แถมไม่เคยส่งเรื่องช้ากว่ากำหนด ความสนใจมักเป็นเรื่องราวสะท้อนเสียดสีสังคม รณรงค์ต่อต้านความชั่วร้ายรุนแรงกับเด็กและผู้หญิง (เรียกว่านำเอาประสบการณ์ทั้งหลายที่พบเจอใส่ลงไปในผลงาน) ผลงานเด่นๆอาทิ Oliver Twist (1839), A Christmas Carol (1843), David Copperfield (1850), A Tale of Two Cities (1859), Great Expectations (1861) ฯ
สำหรับ Oliver Twist หรือ The Parish Boy’s Progress นิยายลำดับที่สองของ Dickens เริ่มจากตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายเดือน Bentley’s Miscellany ช่วงระหว่างกุมภาพันธ์ 1837 – เมษายน 1839, เรื่องราวของนิยายสะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิต และสังคมชนชั้นล่างของประเทศอังกฤษ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประกอบด้วย เด็กกำพร้า (Orphan), การใช้แรงงานเด็ก (Child Labour) และอาชญากรรมเด็ก (Children Criminal)
ไม่แน่ใจตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่เหล่าโปรดิวเซอร์/นักแต่งเพลง นิยมนำบทละคร/วรรณกรรมชื่อดังในอดีต มาดัดแปลงตีความใหม่ให้กลายเป็นละครเพลง (Musical) Oliver! ถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยนักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ Lionel Bart เปิดการแสดงใน West End ที่ New Theatre (ปัจจุบันชื่อ Noël Coward Theatre) ตั้งแต่ปี 1960 ได้รับความนิยมอย่างสูงถึง จำนวน 2,618 รอบ นำแสดงโดย Ron Moody รับบท Fagin
สำหรับ Broadway ซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงสร้างโดย David Merrick ออกแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Imperial Theater เมื่อปี 1963 จำนวน 774 รอบ ได้เข้าชิง 10 Tony Award คว้ามา 3 รางวัล (Best Scenic Design, Best Original Score, Best Music Direction)
Sir Carol Reed (1906 – 1976) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Putney, London เป็นลูกนอกสมรสของนักแสดงละครเวทีชื่อดัง Sir Herbert Beerbohm Tree โตขึ้นตั้งใจเป็นนักแสดงตามพ่อ แต่พอได้รู้จักร่วมงานเป็นผู้ช่วยนักเขียนนิยาย Thriller ชื่อดัง Edgar Wallace ก็ตัดสินใจจะเป็นผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องแรก It Happened in Paris (1935), มีชื่อเสียงโด่งดังหลังสงครามโลกจาก Odd Man Out (1947), The Fallen Idol (1948), หนังนัวร์ในตำนาน The Third Man (1949) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Mutiny of the Bounty (1962), The Agony and the Ecstasy (1965) ฯ
อาจมีบางคนครุ่นคิดรู้สึกว่า Reed ผู้กำกับโคตรหนังนัวร์เนี่ยนะ จะมาสร้างหนังเกี่ยวกับเด็ก? Oliver Twist ไม่ใช่แค่หนังเด็กเท่านั้นนะครับ ยังมีใจความสะท้อน’ด้านมืด’ของสังคมออกมาด้วย ซึ่งถ้าคุณสังเกตโปรดักชั่นงานสร้างพื้นหลัง โดยเฉพาะส่วนสลัมของกรุง London ให้สัมผัสคล้ายกับ The Third Man อย่างยิ่ง นี่เป็นการนำเอาสไตล์ความถนัดของตนเองมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้จะเป็นหนังคนละแนวเลยก็ตาม เด็กๆเห็นแล้วคงไม่มีใครกล้าไปย่ำเหยียบสถานที่แบบนี้แน่!
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Vernon Harris ที่นำทั้งจากวรรณกรรมของ Dickens และบทละครเพลงของ Bart มาเลือกในส่วนที่น่าสนใจ หลายบทเพลงไม่ได้ใช้ในหนัง แต่บางครั้งมาในทำนองเพลงประกอบ (Incidental Music) นี่ทำให้หนังมีความลงตัวมากๆ ไม่ยึดติดกับรูปแบบหนึ่งใด
เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กกำพร้าชื่อ Oliver Twist ทำงานใน Workhouse แห่งหนึ่ง แต่เพราะความหัวขบถจึงถูกขายให้กับสัปเหร่อ (Undertaker) แล้วสามารถหลบหนีเดินทางสู่ London รู้จักกับเพื่อนเด็กล้วงกระเป๋า Artful Dodger นำพาไปพบกับต้นตอแห่งความชั่วร้าย Fagin (รับบทโดย Ron Moody) ที่พยายามเสี้ยมสอนให้เขากลายเป็นอาชญากรผู้ยิ่งใหญ่, ต้องไปลุ้นกันว่า Oliver จะสามารถหลุดออกจากวงจรอุบาศว์นี้ได้หรือไม่
-ถ้าใครเคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้มา จะพบว่าหนังตัดตัวละครชื่อ Monks ทิ้งไปเลย ให้เวลากับการร้องเล่นเต้นแค่นี้ก็ 153 นาทีแล้ว ถ้ายังแทรกเรื่องราวนั้นเข้ามาอีกคงได้ความยาวเกิน 3 ชั่วโมงแน่-
Ron Moody ชื่อจริง Ronald Moodnick (1924 – 2015) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ Tottenham, Middlesex ในครอบครัวชาว Jews โตขึ้นเข้าเรียน London School of Economics ตั้งใจจบมาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สมัครเป็นทหารอากาศ RAF จนเชี่ยวชาญ Radar Technician, ช่วงระหว่างกำลังฝึกงาน ทำงาน part-time ในโรงละครเวที เกิดความประทับใจอย่างยิ่งยวดเลยตัดสินใจผันตัวเป็นนักแสดงอาชีพ
รับบท Fagin หัวขโมยสูงวัยมากประสบการณ์ เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว มักมาก ขี้กลัว หวาดระแวง เหมือนจะเป็นคนดีเพราะชอบรับเลี้ยงดูแลเด็กๆกำพร้าไร้บ้าน แต่กลับพยายามปลูกฝังแนวคิดผิดๆ สอนให้รู้จักการลักขโมย กระทำสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อเติมเต็มความฝันของตนเมื่อสูงวัยกว่านี้ จะได้สุขสบายไม่ต้องทุกข์ลำบาก
(ชะตากรรมในนิยายของ Fagin ถูกจับได้และแขนคอ)
ไฮไลท์การแสดงของ Moody คือขณะร้องเล่นเต้นบทเพลง Reviewing the Situation ทั้งสีหน้า ดวงตา วิธีการแสดงออกมีความลังเล ยื้อยัก ชะล่าใจ โดยเฉพาะขณะกรีดกรายนิ้วร้องว่า I’m reviewing the situation. น่าขนลุกพิลึก ท่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนการครุ่นคิดเลยนะครับ
ในชีวิตของ Moody เป็นคนเลือกงานอย่างยิ่ง เขามีความพึงพอใจกับการแสดงบท Fagin นี้อย่างมาก จนไม่คิดว่าจะมีบทบาทไหน หรือการแสดงอื่นใดของใครเทียบเท่าได้อีกแล้ว … แน่นอนว่าเขาคิดผิด ทำให้เสียโอกาสก้าวหน้าทางการงาน และไม่มีผลงานอื่นใดได้รับการจดจำอีกเลย
เกร็ด: นกฮูกของ Fagin ทุกครั้งที่ผู้กำกับตะโกนว่า Action! มันจะหมุนหัว 180 องศา –
Robert Oliver Reed (1938 – 1999) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ หลานของผู้กำกับ Carol Reed เกิดที่ Wimbledon ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รับใช้ชาติหน่วยพยาบาล ปลดประจำการออกมาเลือกงานสายการแสดง ได้รับบทนำครั้งแรก The Curse of the Werewolf (1961) ตอนรู้ว่าลุง?กำลังจะสร้างหนังเรื่องนี้ เข้าไปอ้อนวอนร้องขอเล่นรับเล่นบทนี้ ถือเป็นบทบาทโด่งดังสุดของ Oliver Reed เลยก็ได้
รับบท Bill Sikes เป็นหัวขโมยระดับมืออาชีพ ที่คงเป็นเด็กปั้นของ Fagin จนเติบใหญ่ ไม่สามารถวางมือหรือสรรหาอาชีพสุจริตทำงานได้ ชีวิตไม่รู้จักคำว่าสุขสบาย เต็มไปด้วยความเครียดเก็บกด สะสมความรุนแรงซ่อนเร้นอยู่ภายใน พร้อมปะทุระเบิดออกได้ทุกเวลา และสามารถทำลายล้างทุกสิ่งอย่างรอบข้างให้พังทลายสิ้นสูญ
จริงๆตัวละครนี้ในฉบับ Broadway มีฉากต้องร้องเพลงหนึ่งด้วย (ตอนเปิดตัว) แต่โปรดิวเซอร์ตัดสินใจตัดออก เพราะมันดูไม่เข้ากับบุคลิกความโหดโฉดชั่ว อยู่ดีๆร้องเพลงขึ้นมาคงแปลกพิลึกน่าดู แต่ก็มีการใช้ทำนองเพลงประกอบคลอเป็นพื้นหลัง
เห็นว่า Oliver Reed เป็นนักแสดง method acting ที่พยายามอยู่ในตัวละครตลอดเวลา นี่ทำให้เด็กๆต่างหวาดกลัวไม่มีใครกล้าเข้าหาใกล้ๆ มักเก็บตัวอยู่คนเดียว ก็ต้องถือว่าเป็นการแสดงที่สมจริง บ้าคลั่ง ทรงพลัง และชะตากรรมตัวละครห้องต่องแต่งอยู่ตรงกึ่งกลาง ไม่สามารถกระโดดข้ามเอาตัวรอดถึงอีกฝั่งพ้น (ฝั่งความดี-ความชั่ว)
Mark Lester (เกิดปี 1958) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Oxford ในครอบครัวชาว Jews ตอนอายุ 8 ขวบ เป็นหนึ่งในกว่า 5,000 คนที่มาคัดตัว และได้รับบท Oliver Twist
เด็กชายกำพร้า Oliver Twist มีความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ขาดบ้านและครอบครัวที่จะดูแลเอาใจใส่มอบความรักความอบอุ่นให้ ทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าว ขัดขืน หัวขบถ แต่เมื่อได้ออกเดินทางสู่ลอนดอน พบเจอเพื่อน มิตรภาพ ความอบอุ่น แม้จะยังไม่รู้สำนึกดีชั่วก็ยินยอมพร้อมใจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ชีวิตมันย่อมมีดีได้มากกว่านี้ ถ้าโอกาสนั้นมาถึง
ขณะที่เสียงร้องเป็นของ Kathe Green แต่ Lester ก็ได้แสดงความใสซื่อไร้เดียงสาออกมาให้ผู้ชมเกิดความสงสารเห็นใจ โถเด็กน้อย ทำไมชีวิตช่างอาภัพได้ขนาดนี้ คาดหวังให้พบเจอสิ่งดีๆ และเอาตัวรอดจากความชั่วร้ายนานัปการ
หลังจากนี้ Lester ยังได้เล่นหนังอีกหลายเรื่อง อาทิ Eyewitness (1970), Scalawag (1973), La Prima volta sull’erba (1974) [คว้า Golden Bear เทศกาลหนังเมือง Berlin] แต่พออายุ 19 ตัดสินใจหันหลังให้กับวงการ ค้นหาความสนใจอื่น อาทิ เรียนคาราเต้ได้สายดำ แล้วอยู่ดีๆก็เกิดความสนใจเกี่ยวกับหมอนวดจับเส้นให้กับนักกีฬา เข้าเรียน Osteopath ที่ British School of Osteopathy จบออกมาเปิดคลินิกของตัวเอง Carlton Clinic ที่ Cheltenham ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
เกร็ด: นักแสดงเด็กจากเรื่องนี้จะได้รับค่าตัวเป็นก้อนๆ ซึ่งพออายุครบ 18 ก็จะได้เงินที่เหลือพร้อมโบนัสกำไรของหนัง ซึ่งวันที่ Lester ได้เงินก้อนนี้ เขารีบนำไปซื้อรถ Ferrari ซื้อบ้านที่ Belgravia ปาร์ตี้ พี้ยาจนเงินหมด
Jack Wild (1952 – 2006) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Royton, Lancashire ครอบครัวเป็นชนชั้นทำงาน ฐานะค่อนข้างยากจน ร่วมกับพี่ชาย Arthur พยายามช่วงพ่อแม่หาเงิน ร่วม Audition เป็นส่วนหนึ่งของนักแสดงละครเพลง West End เรื่องนี้ โดยพี่ชายได้บท Oliver ส่วน Jack เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเด็กของ Fagin (เพราะตอนนั้นตัวยังเล็กอยู่) ผ่านมาหลายปีเมื่อเริ่มมีแผนสร้างภาพยนตร์ ถือว่าอายุพร้อม ความสูงถึง ไปคัดตัวนักแสดงอีกครั้ง คราวนี้โตพอได้รับบท Artful Dodger ตามใจหวังเสียที
อนาคตช่างเลือนลางเหลือเกินสำหรับ Artful Dodger หลังจากเรียนรู้จนเชี่ยวชำนาญวิธีการล้วงกระเป๋า ก็มิอาจหักห้ามชะล่าใจตัวเองได้เมื่อเห็นโอกาส เรียกว่าติดในระดับสันดาน ชีวิตนี้คงเลิกเป็นอาชญากรไม่ได้แน่ๆ แต่จะโตขึ้นกลายเป็นแบบ Bill Sikes คงไม่มีใครบอกได้
(ในนิยาย Dodger โดนจับได้ แต่เพราะอายุยังไม่ถึงเลยรอดชีวิตไม่ต้องรับโทษแขวนคอ แค่ก็ถูกส่งไปคุกต่างประเทศ)
การแสดงของ Wild ขโมยซีนแทนทุกฉาก อายุตัวละครน่าจะประมาณ 11 – 12 โตกว่า Oliver นิดหน่อย จึงดูเป็นผู้ใหญ่กว่า (แต่เป็นผู้ใหญ่ในคราบเด็ก) มาดผู้ดีด้วยสูทหรู ถ้าไม่เพราะหน้ามอมแมมใครๆคงคิดไม่ถึงแน่นอนว่าจะเป็นหัวขโมยนักล้วงกระเป๋า
หลังความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ที่ถึงขนาดทำให้ Wild เข้าชิง Oscar, Golden Globe, BAFTA Award มีหรือจะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขา ตอนอายุ 12 ติดบุหรี่อย่างหนัก อายุ 17 ติดเหล้าอย่างหนัก อายุ 21 หางานทำไม่ได้ ชีวิตแต่งงานล้มเหลว ชีวิตล้มเหลว เสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งปาก ขณะอายุ 53 ปีเท่านั้น
ถ่ายภาพโดย Oswald Morris (1915 – 2014) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่น อาทิ Moulin Rouge (1952), Moby Dick (1956), Lolita (1962), Fiddler on the Roof (1971) [คว้า Oscar], The Man with the Golden Gun (1974) ฯ ก่อนหน้านี้เคยเป็น Camera Operator ให้กับ Oliver Twist (1948) ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ผู้กำกับ Reed ชักชวนให้มาถ่ายหนังเรื่องนี้
หนังถ่ายทำด้วยกล้อง Panavision (anamorphic) ขนาด 35mm แลปสี Technicolor
– ครึ่งแรกเขตเมือง London จะเน้นสีเข้ม ดำ น้ำตาล เต็มไปด้วยความสกปรก รกรุงรัง ไม่ได้มีความน่าอาศัยอยู่แม้แต่น้อย,
– ขณะที่ครึ่งหลังหมู่บ้านคนรวย ตกแต่งประดับประดาด้วยตึกขาวโพลน สะอาดตา สบายใจ ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์
สถานที่ถ่ายทำ แทบทั้งหมดสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอ Shepperton Film Studio, Surrey แม้แต่ท้องฟ้ากับพระอาทิตย์ก็วาดขึ้นนะครับ นี้เพื่อจำลองกรุง London ศตวรรษที่ 19 และสามารถออกแบบให้มีลักษณะของ Expressionist สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาได้
ลีลาการถ่ายภาพมีการจัดวางองค์ประกอบ ตำแหน่ง เคลื่อนไหว มุมกล้องได้อย่างสวยงาม แฝงนัยยะสำคัญ สร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมแบบเดียวกับความรู้สึกของ Oliver แทบทั้งหมด
เช่นกันกับเสื้อผ้าตัวละคร ที่เหมือนจะแฝงนัยยะบางอย่างเช่นกัน อาทิ
– Nancy มักสวมชุดสีแดง นัยยะถึง Passion เลือด และปักธงความ…
– Fagin สวมชุดสีเขียว นัยยะของความชั่วร้าย (อ้างอิงจาก The Wizard of Oz)
– Bill Sikes ก็สวมสีเขียวเช่นกัน แต่เป็นเขียวแก่เข้มกว่าชุดของ Fagin มีนัยยะถึงความชั่วร้ายยิ่งกว่า และไม่สามารถย้อนหวนกลับคืนสู่ความปกติได้แล้ว
– Artful Dodger สวมชุดสีน้ำเงิน นัยยะถึง…
เห็นเด็กๆเดินพร้อมเพียงราวกับหุ่นยนต์ในฉากนี้แล้ว ชวนให้ระลึกถึงหนังเรื่อง Metropolis (1925) ราวกับพวกเขาเป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรกลไก หาได้มีชีวิต ความคิด จิตใจเป็นของตนเองไม่ แถมสถานที่นี้ชื่อ God of Love ใครๆคงบอกได้ว่าไม่น่าใช่แล้ว
ฉากที่ Nancy พา Oliver หลบหนีการไล่ล่าของ Bill Sikes ระหว่างทางแทบทุกช็อตจะต้องมีเสา คาน หรืออะไรสักอย่าง ลักษณะเอียงๆเหมือนสามเหลี่ยม นี่คือสไตล์ Expressionist แนวถนัดของผู้กำกับ Carol Reed ไม่ได้เหมือนเปะๆกับ The Third Man แต่ให้สัมผัสคล้ายๆกันกับหนังนัวร์ คือใช้สถานที่แสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร
หนทางสู่รังลับของ Fagin ถ้าไม่เฉลยช่วงท้ายคงไม่มีใครคาดคิดถึงแน่ ว่าอยู่ส่วนลึกสุดของหนองบึง (จะเรียกว่าก้นเบื้องความโสโครกของสังคม) ที่เมื่อฝูงชนต่างพยายามหาทางเปิดเผยออก มันกลับจมลงพังทลาย ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้
ลักษณะการออกแบบฉากนี้ ถือเป็นอีกหนึ่ง Expressionist สะท้อนกับความชั่วร้ายที่อยู่ส่วนลึกสุดในจิตใจมนุษย์
ช็อตที่น่าจะสวยสุดในหนังอยู่ตอนจบ เมื่อ Fagin กระโดดลัลล้าไปกับ Artful Dodger มุ่งสู่เช้าวันใหม่อนาคตที่สดใส (ตรงไหน), ฉากนี้จะเห็นว่าตึกโค้งเอียงไปตามถนน คล้ายกับฉากหมู่บ้านของคนรวยที่ตึกแถวโค้งเอียงไปตามมุมถนนเช่นกัน นี่อาจเป็นการสะท้อนว่า ไม่ว่าคนจนคนรวย ก็สามารถมีชีวิต ความสุข ทุกข์ ได้เหมือนกันไม่แตกต่าง
ตัดต่อโดย Ralph Kemplen (1912 – 2004) นักตัดต่อสัญชาติอังกฤษ ผลงานดังอาทิ The African Queen (1951), Moulin Rouge (1952), Room at the Top (1959), A Man for All Seasons (1966), The Day of the Jackal (1973) ฯ
ถึงหนังจะเล่าในมุมมองสายตาของ Oliver Twist แต่หลายครั้งทีเดียวใช้การส่งไม้ต่อดำเนินเรื่องผ่าน Fagin และตามด้วย Nancy และหรือ Bill Sikes ซึ่งล้วนเป็นตัวละครมีความน่าสนใจกว่าเป็นไหนๆ
ผมชื่นชอบการตัดต่อขณะ Nancy พา Oliver หลบหนีการไล่ล่าของ Bill Sikes เป็นอย่างยิ่ง มีความแม่นยำ พอดีเปะ ลงตัว คมกริบ, เพราะผมนั่งแคปรูปฉากนี้อยู่หลายช็อต เลยสังเกตพบเทคนิคการตัดต่อที่ใช้ ขณะตัวละครวิ่งหนีหายลับไปจากฉากปุ๊ป ก็ทำการตัดควับไปให้เห็นอีกผู้ติดตามทันที (ไม่มีค้างช็อตเปล่าในฉากนี้เลย) ถือว่ามีความรวดเร็ว เร่งรีบ ประกอบเข้ากับเพลง สร้างความลุ้นระทึก อกสั่นไหว นี่เป็นพลังชนิดหนึ่งของการตัดต่อที่สามารถสร้างจังหวะและอารมณ์ร่วมให้เกิดขึ้นได้
สำหรับเพลงประกอบ เรียบเรียงทำนองโดย Johnny Green ทั้งหมดอ้างอิงจากต้นฉบับของ Lionel Bart แต่ก็ตัดหลายเพลงออก และบางเพลงใช้เฉพาะบรรเลง Soundtrack ตัดเสียงร้องออก, จริงๆมีหลายเพลงที่โดดเด่นระดับสามารถเข้าชิง Oscar ได้เลย แต่เพราะมันไม่ใช่ Original Song เลยหมดสิทธิ์ กระนั้นสาขา Best Score สมัยนั้นยังอะลุ่มอะล่วยให้ เพราะมีคำต่อท้ายคือ Original or Adaptation
ไฮไลท์แรกคือบทเพลง Food, Glorious Food ขับร้องโดย Temple Choir ที่ London กำกับโดย Sir George Thalben-Ball แค่เห็นเด็กๆเดินพร้อมเพียงราวกับหุ่นยนต์ ผมก็สะดุ้งเซอร์ไพรส์แล้วละครับ เพราะเพิ่งเข้าใจว่านี่มันหนังเพลงนี่หว่า! ซึ่งบทเพลงนี้สามารถใช้อธิบายความทุกข์ยากลำบาก ชีวิตของเด็กๆกำพร้าที่ถูกผู้ใหญ่กดขี่ข่มเหง แถมกับเด็กๆด้วยกันเอง Oliver ยังกลายเป็นแกะดำ ถูกขับไสไล่ส่ง เห็นแล้วทุกข์ทรมานใจเสียจริง
บทเพลง Where Is Love ขับร้องโดย Kathe Green (ลูกสาวของ Johnny Green) ฉากที่ Oliver ถูกขังในห้องใต้ดินที่เต็มไปด้วยโลงศพ รำพึงรำพันโหยหายในความรักความอบอุ่นของชีวิต, ส่วนตัวคิดว่าบทเพลงนี้ไพเราะสุดในหนังแล้ว ทำให้ผมเกิดความสั่นสะท้านไปถึงทรวง
บทเพลงโคตรไฮไลท์ของหนังคือ Reviewing the Situation ไม่ใช่แค่เสียงร้องหรือทำนอง แต่รวมถึงการแสดงของ Ron Moody ที่ทำให้บทเพลงนี้มีความทรงพลัง น่าหลงใหลมากๆ เป็นความยื้อยักลังเลใจ ครุ่นคิดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ชั่งน้ำหนักตัดสินใจ ฉันจะทำยังไงต่อไปดี
ตอนผมได้ยินเพลงนี้ครั้งแรก เริ่มจากเสียงปี่ก็ชวนให้หวนนึกถึงหนังเรื่อง Fiddler on the Roof (1971) ยิ่งสำเนียง ลีลาลูกคอ เสียงร้องของ Ron Moody มีส่วนคล้ายคลึงกับ Topol พอสมควร
แถมให้กับ Oom Pah Pah ขับร้องโดย Shani Wallis จังหวะ Waltz สนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจที่สุดในหนัง เห็นว่าในฉบับ Broadway นี่เป็นเพลงเปิด Act 2 เท่านั้น ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับเรื่องราวหลัก แต่หนังเรื่องนี้ถือว่าทำให้เกิดการเบี่ยงเบนความสนใจ ชี้เป็นชี้ตาโชคชะตาของ Oliver เลยละ
ก็ไม่รู้ Oom Pah Pah แปลว่าอะไรนะครับ แต่ชวนให้ผมนึกถึงเหล่าคนแคระใน Oompa Loompas จากเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory [ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันนะครับ]
Oliver! เป็นเรื่องราวของเด็กชายผู้โชคร้าย จับพลัดจับพลูเติบโตขึ้นในสังคมอังกฤษ ยุคสมัยที่ยังไม่มีใครสนใจคุณค่าของมนุษย์ และความเสมอภาคเท่าเทียม ชนชั้นล่างของสังคม กรรมกรแรงงาน ต่างต่อสู้ดิ้นรนอย่างลำบากยากเข็น งานแสนหนักแต่ค่าแรงแสนถูก ขณะที่นายทุนพยายามทำทุกอย่างเพื่อลดต้นทุนแล้วได้รับผลผลิตมากๆ (กดค่าแรงต่ำๆ ขยายเวลาการทำงาน) นี่คือสิ่งเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของโลกยุคอุตสาหกรรม ที่จะค่อยๆต่อยอดกลายเป็นระบอบทุนนิยมในไม่ช้า
สำหรับต้นกำเนิดของ Oliver หนังไม่ได้ให้ความสำคัญเสียสักเท่าไหร่ (เพราะมีหลายตัวละครหายไป ทำให้มิอาจเชื่อมโยงความสัมพันธ์เปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ กระนั้นเราอาจสมมติว่า พ่อบุญธรรมที่รับเลี้ยง Oliver ช่วงท้าย คือปู่ของเขาจริงๆ) แต่ในหนังสือของ Dickens ถือว่ามีสาระสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการสะท้อน เปรียบเทียบกับปัญหาของโลกยุคอุตสาหกรรม ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนสองชนชั้น พ่อ-ลูกสาว, ชนชั้นสูง-ชนชั้นต่ำ, คนรวย-คนจน, นายทุน-ลูกจ้าง ฯ
ซึ่งใจความของหนังเรื่องนี้มุ่งเน้นพูดถึง ความดี-ความชั่ว และการเลือกข้างเสียมากกว่า, Oliver เด็กชายที่พบเจอทั้งสิ่งดีงามและชั่วร้าย สุดท้ายก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเลือกอาศัยอยู่กับใคร (เพราะเขาเลือกได้) ตรงกันข้าม Fagin กับ Artful Dodger ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือก แต่เพราะมิอาจหักห้ามใจหรือแปรเปลี่ยนกลับมาเป็นคนดีได้ จึงต้องวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาศว์นี้ต่อไป
หลังจาก Dickens ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ชาวอังกฤษต่างตระหนักเห็นความโหดร้ายทารุณของความเป็นอยู่ในสมัยนั้น จึงพยายามปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งอย่างในทางที่ดีขึ้น คนจนมีงานทำ, สถานที่/สภาพการทำงานมีคุณภาพดีขึ้น, เด็กๆได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย ทำงานได้แต่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม, พวกเขามีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายขึ้น แต่ … ก็ใช่ว่าโลกจะสามารถพลิกเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือได้โดยทันที
วรรณกรรมเรื่องนี้มีสิ่งหนึ่งที่ได้รับการวิพากย์วิจารณ์รุนแรงมากๆตั้งแต่ตอนตีพิมพ์ปีแรกๆ คือตัวละคร Fagin มีลักษณะของชาว Jews ซึ่งการสร้างให้เป็นศูนย์กลางของความชั่วร้าย มองได้ว่าเป็นการ Anti-Semitic (ต่อต้านชาวยิว), เห็นว่าภาพยนตร์ฉบับของ David Lean ที่ Alec Guinness รับบทนี้ เรียกว่าชั่วร้ายจัดเต็ม มองเป็นการเหยียดยังได้ แต่กับหนังเรื่องนี้ เพราะ Ron Moody เป็นชาวยิวเองด้วย เขาจึงพยายามลดความชั่วร้ายนั้นลง เสริมใส่มิติ Comedy ให้กับตัวละคร จนผู้ชมเกิดความรู้สึกทั้งสงสารเห็นใจ และรับรู้มุมความชั่วร้าย นี่เป็นการพยายามบอกว่า ‘ไม่ใช่ชาวยิวทุกคนจะคือศูนย์กลางของความชั่วร้ายของโลก’
ด้วยทุนสร้าง $10 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $37.4 ล้านเหรียญ (ทำเงินสูงสุดอันดับ 7 ของปี) รวมทั่วโลก $77.4 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลาม
เข้าชิง Oscar 11 สาขา กวาดมา 5 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Ron Moody)
– Best Supporting Actor (Jack Wild)
– Best Writing, Adapted Screenplay
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Art Direction Art Direction ** คว้ารางวัล
– Best Sound ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design
– Best Musical Adaptation Score ** คว้ารางวัล
นอกจากนี้หนังยังมอบ Honorary Award ให้กับ Onna White สำหรับการออกแบบท่าเต้นอันโดดเด่นให้กับหนัง
ถ้าถามว่าหนังเรื่องนี้ดีพอจะคว้า Oscar ปีนั้นหรือไม่ มองย้อนกลับไปต้องบอกว่าพูดยาก เพราะ 5 เรื่องที่เข้าชิงไม่มีเรื่องไหนหลงเหลือเป็นตำนานให้พูดถึงในปัจจุบันมากนัก Funny Girl, The Lion in Winter, Rachel Rachel, Rome and Juliet ขณะที่หนังเหนือกาลเวลาอย่าง 2001: A Space Odyssey, The Graduate หรือ Rosemary’s Baby ถูกมองข้ามรางวัลใหญ่โดยสิ้นเชิง
เกร็ด: Oliver! คือหนังเพลงเรื่องสุดท้ายที่คว้า Oscar: Best Picture จนกระทั่ง Chicago (2002)
ขณะที่ BAFTA Award ปีนั้น ถึงได้เข้าชิงถึง 8 สาขา แต่กลับไม่ได้สักรางวัล
– Best Film
– Best Direction
– Best Actor (Ron Moody)
– Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (Jack Wild)
– Best Film Editing
– Best Art Direction
– Best Costume Design
– Best Sound Track
โดยเรื่องที่คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ BAFTA Award คือ The Graduate (1967) ที่เพิ่งเข้าฉาย
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก ตำหนิเดียวคือความยาว แต่ถ้าคุณอินจัดก็อาจมองข้ามไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ, โปรดักชั่น ไดเรคชั่น การแสดง เพลงประกอบ ท่าเต้น ทุกสิ่งอย่างมีความสมบูรณ์ลงตัว ไม่มี Miss สักบทเพลง แต่รู้สึกว่าไม่ถึงขั้น Masterpiece เพราะเมื่อเทียบกับ The Third Man เรื่องนั้นมันระดับตำนานของวงการเลยละ Oliver! คือผลพวงที่เกิดจากการต่อยอด ในสไตล์ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Carol Reed ที่สวยงามลงตัวพอดิบดี
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แนะนำทั้งเด็กและผู้ใหญ่
– เด็กๆจะมีความหวาดสะพรึง กลัวเกรง ละอายต่อบาป ไม่กล้ากระทำความชั่วที่อาจทำให้ตัวตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย
– สำหรับผู้ใหญ่ พยายามหวนระลึกถึงตัวเอง เคยกระทำความชั่ว แสดงความเห็นแก่ตัว หรือปลูกฝังแนวคิดอะไรผิดๆให้กับลูกหลานของคุณบ้างรึเปล่า ตระหนักได้ว่าเคยจงรีบแก้ไขเสียนะครับ
จัดเรต PG-13 เพราะเรื่องราวเต็มไปด้วยแนวคิดผิดๆ มุมมืดของโลก และความชั่วร้ายนานัปการ แต่ผู้ใหญ่สามารถนั่งดูกับเด็กเล็ก ให้คำแนะนำไปด้วยได้จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง
Leave a Reply