Pitfall (1962) : Hiroshi Teshigahara ♥♥♥♥
ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Hiroshi Teshigahara, คนงานเหมืองถูกฆาตกรรมโดยไม่ทราบสาเหตุ กลายเป็นวิญญาณล่องลอย พยายามออกติดตามหาเบื้องหลังความจริง แต่รู้คำตอบแล้วจะสามารถทำอะไร? เพียงว่ายเวียนวนอยู่บนโลกหลังความตาย
おとし穴 อ่านว่า Otoshiana แปลว่า Pitfall (คำนาม) หมายถึง กับดัก หลุมพราง อันตรายแอบแฝง ความยากลำบากที่คาดไม่ถึง มักใช้อธิบายปัญหาหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง
ขณะเดียวกันเรายังสามารถแบ่งแยกชื่อหนังออกเป็น Pit (บ่อ หลุม เหมือง) + Fall (ร่วง ตก หล่น หกล้ม จมปลักอยู่ในบางสิ่งอย่าง) เพื่อสื่อถึงชีวิตที่ตกต่ำของคนงานเหมือง พยายามหลบหนีออกจากเหมืองแห่งหนึ่ง แต่กลับหาทำงานอีกเหมืองแห่งหนึ่ง โดนล่อหลอกมาฆ่าโดยไม่ทราบสาเหตุ กลายเป็นวิญญาณล่องลอย จมปลักอยู่ในย่านชุมชนเหมือง ไม่สามารถไปผุดไปเกิดใหม่ … มันช่างเป็นความน่าอเนจอนาถใจ (Pitiful) ยิ่งนัก!
ครึ่งชั่วโมงแรกของ Pitfull (1962) ทำเอาผมเกือบงีบหลับ มีความเอื่อยเฉื่อย ดำเนินเรื่องอย่างเรื่อยเปื่อย จนกระทั่งมาถึงชุมชนเหมืองที่ถูกทิ้งร้าง ถูกปลุกตื่นด้วยบทเพลงสไตล์ Avant-Garde ของ Tōru Takemitsu สร้างความลึกลับ พิศวง และวินาทีที่คนตายกลายเป็นวิญญาณ ใครกันจะหลับต่อได้ลง! … แต่นี่ไม่ใช่หนังผีสไตล์ตุ้งแช่ วิญญาณอาฆาต ติดตามมาหลอกหลอนใคร ออกไปทาง Anti-Ghost เสียด้วยซ้ำ!
ความน่าสนใจของหนังจริงๆ คือการผสมผสานหลากหลายสิ่งอย่างคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน มีความเป็นสารคดีผสมการแสดง เหตุการณ์จริง+เรื่องราวแฟนตาซี ชีวิต+ความตาย ปรัชญา+จิตวิทยา ปัญหาครอบครัว+สังคม+การเมือง ฯลฯ ผกก. Teshigahara ให้คำนิยามภาพยนตร์เรื่อง “Documentary Fantasy”
A cult movie lacking only a cult, Pitfall leaves potential audience hooks (murder, conspiracy, quizzical ghosts, poetic disquietude, a cosmic agent provocateur) dangling in midthought, slicing identification off at the knees.
นักวิจารณ์ Howard Hampton บทความจาก Criterion Collection
เอาจริงๆผมไม่รู้มาก่อนว่า Pitfull (1962) มีเรื่องราวเกี่ยวกับวิญญาณล่องล่อย (เดือนตุลาคมกำลังอยากจะเขียนถึง J-Horror อยู่พอดี) แค่ว่าอยากปรับปรุงบทความ Woman in the Dunes (1964) ผลงานชิ้นเอกของผกก. Teshigahara เลยถือโอกาสนี้รับชมภาพยนตร์เรื่องอื่นๆด้วยเท่านั้นเอง
Hiroshi Teshigahara, 勅使河原 宏 (1927-2001) ศิลปิน ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Chiyoda, Tokyo เป็นบุตรของ Sōfu Teshigahara ผู้ก่อตั้ง Sōgetsu-ryū (草月流) โรงเรียนสอดศิลปะการจัดดอกไม้ (Ikebana หรือ Japanese Floral Art), ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านศิลปะ โตขึ้นเข้าศึกษาจิตรกรรม Tokyo Fine Arts School (ปัจจุบันคือ Tokyo University of the Arts หรือ Tokyogeidai) เป็นลูกศิษย์ของ Okamoto Taro จิตรกร/นักแกะสลักผลงาน Abstract ค้นพบความชื่นชอบจิตรกรอย่าง Antoni Gaudí, Pablo Picasso, รวมถึงผู้กำกับภาพยนตร์ Luis Buñuel, Jean Cocteau ฯ จบออกมาทำงานเป็นจิตรกรอยู่สักพัก จับพลัดจับพลูมีโอกาสเขียนบท กำกับสารคดีเกี่ยวกับงานศิลปะ ก่อนเข้าร่วมกลุ่ม Century Society รับรู้จักว่าที่เพื่อนนักเขียนขาประจำ Kōbō Abe
Kōbō Abe, 安部 公房 (1924-1993) นักเขียนสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kita, Tokyo แต่ไปเติบโตยัง Mukden, Manchuria (ปัจจุบันคือ Shenyang, Liaoning ประเทศจีน) วัยเด็กชื่นชอบสะสมแมลง ร่ำเรียนคณิตศาสตร์ หลงใหลการอ่าน พบเห็นความเหี้ยมโหดร้ายของจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อชนชาวจีน เมื่อโตขึ้นเพื่อที่จะไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เดินทางกลับมาร่ำเรียนแพทยศาสตร์ Tokyo Imperial University ช่วงแรกๆประสบปัญหา ‘Cultural Shock’ ไม่มักคุ้นชินกับวิถีชาวญี่ปุ่น (เพราะอาศัยอยู่ Manchuria มาทั้งชีวิต) ระหว่างนั้นก็เริ่มแต่งบทกวี เขียนเรื่องสั้น นวนิยาย จากนั้นมีโอกาสเข้าร่วมกลุ่ม Night Society ของอาจารย์ Okamoto Taro และนักเขียน Hanada Kiyoteru พยายามผสมผสานความร่วมมือ ‘Collaborative Art’ ก่อนแยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ Century Society ไม่จำกัดแค่สื่อการเขียน แต่ยังเหมารวมภาพยนตร์และศิลปะแขนงอื่นๆ
a man interested in all the arts and seeking a way to bring them together.
Kōbō Abe กล่าวถึงความประทับใจแรกต่อ Hiroshi Teshigahara
ในช่วงทศวรรษ 50s, Abe เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ (Japanese Communist Party) เพื่อต่อต้านการเข้ามาของสหรัฐอเมริกา (ที่ราวกับจะยึดครองญี่ปุ่นเป็นอาณานิคม) คอยบริหารจัดการแรงงาน คนงานเหมือง ชุมชนยากจนในกรุง Tokyo, ระหว่างนั้นตีพิมพ์นวนิยาย The Crime of S. Karuma (1951) คว้ารางวัล Akutagawa Prize (เทียบเท่ากับ Pulitzer Prize ของสหรัฐอเมริกา)
ด้วยข้อเรียกร้อง/ข้อจำกัดมากมายของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ Abe เริ่มเขียนบทความในเชิงต่อต้าน ให้การสนับสนุนหลังพรรคแรงงานโปแลนด์ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาล(คอมมิวนิสต์) แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่สหภาพโซเวียตบุกรุกราน Hungary, Czechoslovakia ฯ (เลยถูกไล่ออกจากพรรคเมื่อปี ค.ศ. 1961) พยายามสรรค์สร้างผลงานที่มีความเป็น ‘Socialist Realism’ เขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรก The Thick-Walled Room (1956) กำกับโดย Masaki Kobayashi
การมาถึงของ Japanese New Wave ในช่วงทศวรรษ 60s นำโดย Shōhei Imamura, Nagisa Ōshima ฯ ต่างปลีกตัวออกระบบสตูดิโอที่ยึดครองวงการภาพยนตร์ตลอดทศวรรษ 50s เพื่อรังสรรค์ผลงานที่เป็นส่วนตัว ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร อาทิ Cruel Story of Youth (1960), Night and Fog in Japan (1960), Blood Is Dry (1960), Pigs and Battleships (1961) ฯ
ผกก. Teshigahara เล็งเห็นโอกาสดังกล่าวที่จะสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของใคร ระหว่างมองหาแรงบันดาลใจ ได้รับชมละคอนโทรทัศน์พัฒนาบทโดย Kōbō Abe เรื่องราวเกี่ยวกับการประท้วงหยุดงานของคนงานเหมืองที่ Mitsui Miike Coal Mine (เหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ที่ในญี่ปุ่น) เลยรีบติดต่อหาเพื่อนเก่า พูดคุยแนวคิด ร่วมกันปรับปรุงบทละคอนโทรทัศน์ให้กลายเป็นภาพยนตร์ Pitfall (1962)
ขอกล่าวถึง Miike Coal Mine, 三池炭鉱 หรือชื่อเต็มๆ Mitsui Miike Coal Mine, 三井三池炭鉱 เหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในพื้นที่ Ōmuta, Fukuoka และ Arao, Kumamoto บนเกาะ Kyūshū ใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น, ได้รับการค้นพบถ่านหินประมาณปี ค.ศ. 1469 แต่เริ่มทำการสำรวจ/ขุดเจาะอย่างจริงจังโดยซามูไรระดับสูง Miike Domain ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1721 ควบคุมดูแลโดยรัฐบาลแห่งชาติ จนกระทั่ง ค.ศ. 1899 บริษัท Mitsui & Co., Ltd. ได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการ
เกร็ด: ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เหมืองแห่งนี้ถูกใช้เป็นค่ายกักกันเชลยสงคราม (Prisoner of War Camp) ประมาณฝ่ายสัมพันธมิตรกว่า 1,735 คน มาใช้แรงงานขุดเหมือง (ถือเป็นค่าย PoW ใหญ่สุดในจักรวรรดิญี่ปุ่น)
เมื่อปี ค.ศ. 1960 ได้เกิดข้อพิพาทแรงงานครั้งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น Miike Struggle, 三池闘争 จุดเริ่มต้นจากบริษัทเจ้าของเหมือง Mitsui Corporation ต้องการจะลดต้นทุนด้วยการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยลดปริมาณแรงงานลง เลยวางแผนจะเลิกจ้างคนงานเหมืองเกือบๆ 1,500 คน เป็นเหตุให้สหภาพแรงงาน (Miike Miners Union) รวมตัวกันประท้วงหยุดงาน โดยได้รับการสนับสนุนจาก General Council of Trade Unions of Japan หรือ Sōhyō สามารถรวบรวมสมาชิกได้กว่า 30,000+ คน
Mitsui Corporation ต้องการกำจัด Miike Miners Union และผู้สนับสนุน Sōhyō จึงครุ่นคิดแผนการอันชั่วร้าย ทำการจัดตั้งสหภาพแรงงานใหม่ (Second Union) ขึ้นยังเหมืองแห่งใหม่ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ ว่าจ้างคนงานกว่า 1,500+ คน ให้การสนับสนุนบุคคลที่อยู่ฟากฝั่งนี้เป็นอย่างดี ปล่อยให้สหภาพแรงงานเก่าอยากประท้วง หยุดงาน ใช้ความรุนแรงก็ตามสบาย
การมาถึงของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ Hayato Ikeda ประกาศจัดตั้งองค์กรแรงงานส่วนกลาง Central Labour Relations Commission (CLRC) เพื่อลดบทบาทอำนาจของ Sōhyō เป็นเหตุให้ Miike Miners Union สูญเสียผู้สนับสนุน จนในที่สุดจำยินยอมรับความพ่ายแพ้ สิ้นสุดการชุมนุมประท้วงในระยะเวลา 312 วัน
หลังสิ้นสุด Miike Struggle ทำให้ Mitsui Corporation สามารถปลดพนักงานออกได้อย่างสบายใจเฉิบ จากแรงงาน 15,000+ คน หลงเหลือเพียง 10,000+ คน แต่ประสิทธิภาพจากการขุดเจาะด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 8,000 ตันต่อวันเป็น 15,000 ตันต่อวัน! และวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 บังเกิดเหตุการณ์ระเบิดในเหมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงคราม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 458 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 555 คน
เกร็ด: Miike Coal Mine ปิดกิจการไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 และได้รับเลือกจากองค์การ UNESCO ให้กลายเป็น World Heritage Site ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015
เรื่องราวของชายวัยกลางคน (รับบทโดย Hisashi Igawa) พร้อมกับบุตรชาย หลบหนีออกจากเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งเพราะถูกใช้แรงงานอย่างหนัก พยายามออกหางานตามสถานที่ต่างๆ แต่ก็ยังจมปลักอยู่กับอาชีพแรงงานขุดเหมือง จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากนายจ้าง เดินทางไปยังหมู่บ้าน(เหมือง)ร้าง ก่อนถูกลอบฆาตกรรมโดยชายสวมสูทขาว (รับบทโดย Kunie Tanaka) เสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุ
แล้วจู่ๆชายคนนั้นได้กลายเป็นวิญญาณ พบเห็นผู้คน(วิญญาณคนตาย)เดินไปมาขวักไขว่ในหมู่บ้านร้างแห่งนั้น พยายามค้นหาคำตอบว่าบังเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้นกับตนเอง ก่อนได้พบเจอหัวหน้าคนงานเหมือง Otsuka หน้าตาเหมือนเปี๊ยบกับตนเอง ฤาว่ามันเกิดเหตุการณ์ฆ่าผิดคน?
ในส่วนของนักแสดง ตัวประกอบแทบทั้งหมดล้วนคือคนงานเหมืองในละแวกสถานที่ถ่ายทำ (บนเกาะ Kyūshū) ส่วนตัวละครหลักๆมาจากฟากฝั่งละคอนเวที เลือกสรรบุคคลหน้าตาธรรมดาๆ ยังไม่เป็นที่คุ้นหน้าคาดตา … แต่พวกเขาเหล่านั้นจักกลายเป็นนักแสดงอาชีพที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
- Hisashi Igawa, 井川比佐志 (เกิดปี ค.ศ. 1936) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Mukden, Manchukuo (ปัจจุบันคือ Shenyang, China) หลังสงครามเดินทางกลับญี่ปุ่น พอเรียนจบมัธยมฝึกฝนการแสดงที่ Haiyuza Training School กลายเป็นเพื่อนสนิทกับ Kunie Tanaka แล้วเข้าร่วมคณะละคอนเวที Haiyuza Theatre Company รับรู้จักกับนักเขียน Abe Kōbō ชักชวนมาร่วมแสดงภาพยนตร์ Pitfall (1962), ผลงานเด่นๆ อาทิ Dodes’ka-den (1970), Ran (1985), Tampopo (1985), Madadayo (1993), After the Rain (1999) ฯ
- รับบทคนงานเหมืองนิรนาม พยายามดิ้นรนหลบหนี ไม่ต้องการจมปลักอยู่กับอาชีพนี้, และอีกบทบาทหัวหน้าคนงานเหมือง Otsuka ที่ได้รับนับหน้าถือตาจากสมาชิก ตระหนักว่ามีใครวางแผนการชั่วร้าย แต่โดยไม่รู้ตัวตกหลุมพรางเข้าอย่างจัง!
- สองบทบาทของ Igawa มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างตรงกันข้าม ทั้งบุคลิก น้ำเสียง เครื่องแต่งกาย ท่าทางขยับเคลื่อนไหว สะท้อนสถานะทางสังคม (Working Class vs. Lower-Middle Class) แต่ในสายตาชนชั้นสูงกว่า (Upper-Middie Class) คนระดับล่างแม้งก็หน้าตาละม้ายคล้ายกันไปหมด
- Sumie Sasaki, 佐々木 すみ江 (1928-2019) นักแสดงตัวประกอบ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Taiwan ผลงานเด่นๆ อาทิ Pitfal (1962), The Insect Woman (1963), Empire of Passion (1978) ฯ
- รับบทเจ้าของร้านขายของชำ อาศัยอยู่ตัวคนเดียวในหมู่บ้านร้าง จริงๆก็อยากจะออกไปจากที่นี่แต่ไม่เงินทุน บังเอิญพบเห็นเหตุการณ์ฆาตกรรมบังเกิดขึ้นกับคนงานเหมือง ก่อนถูกซื้อโดยชายสวมใส่สูทขาว แจ้งความกับตำรวจตามคำที่เขากล่าวอ่าง ก่อนถูกฆ่าปิดปากเอาภายหลัง
- อาจจะไม่ได้สวยเซ็กซี่ หน้าตาดี แต่อากาศร้อนๆ สวมเสื้อผ้าน้อยชิด แถมมุมกล้องเต็มไปด้วย ‘male gaze’ ตัวละครนี้เลยกลายเป็นวัตถุทางเพศ สามารถซื้อได้ด้วยเงิน สนเพียงกระทำสิ่งสนองความพึงพอใจ ตายกลายเป็นวิญญาณก็ได้แต่โทษความมักมาก เห็นแก่ตัวเอง ตกหลุมพรางผู้อื่น
- Kunie Tanaka, 田中 邦衛 (1932-2021) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Toki District, Gifu ในครอบครัวช่างปั้นหม้อ หลังเรียนจบมัธยมทำงานเป็นครูสอนหนังสืออยู่สักพัก ก่อนเปลี่ยนมาดำเนินตามความฝันเข้าร่วมคณะการแสดง Haiyaza Theatre Company สนิทสนิมกับ Hisashi Igawa, แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ The Bad Sleep Well (1960), ส่วนบทบาทสร้างชื่อให้กลายเป็นตำนานคือหนังซีรีย์ Wakadaishō (1961-81) และ Battles Without Honor and Humanity series (1973-74)
- รับบทชายสวมสูทขาว แอบถ่ายรูป ฆาตกรรมคนงานเหมืองนิรนาม จ่ายเงินปิดปากเจ้าของร้านขายของชำให้ปล่อยข่าวลือ ก่อนทุกสิ่งอย่างจักดำเนินไปตามแผนการอย่างไร้ที่ติ
- แค่ภาพลักษณ์ของ Tanaka ก็มีความโดดเด่น ดูยังไงก็คือฆาตกรโฉดชั่วร้าย และการสวมใส่สูทขาว มาดเนี๊ยบ จ่ายเงินซื้อใจเจ้าของร้านขายของชำ สามารถเป็นตัวแทนบุคคลที่มีสถานะทางสังคมระดับสูง ร่ำรวย มากด้วยอำนาจ สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ หาซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง
ถ่ายภาพโดย Hiroshi Segawa, 瀬川浩 ผลงานเด่นๆ อาทิ Pitfall (1962), Woman in the Dunes (1964), The Face of Another (1966), Under the Flag of the Rising Sun (1972) ฯ
ด้วยความที่ผกก. Teshigahara มีประสบการณ์ถ่ายทำสารคดี(ขึ้นชื่อเรื่องการ Improvised) แต่การทำงานกับลูกน้องมาจากฟากฝั่งสตูดิโอ(ที่ยึดติดกับรูปแบบการทำงาน) ทำให้เกิดความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่างกันบ่อยครั้ง ทำไมถ่ายทำนอกสคริป? ปรับเปลี่ยนบทโดยไม่บอกกล่าว? จู่ๆเอากล้องบันทึกภาพสุนัขจรจัด? เห็นว่าไล่ออกผู้ช่วยผู้กำกับถึงสองคน เพราะปฏิเสธถ่ายทำฉากตำรวจข่มขืนเจ้าของร้านขายของชำ
ด้วยความหลงใหลในงานศิลปะ Abstraction งานภาพของหนังจึงมักมีการจัดวางองค์ประกอบ ทิศทาง-มุมกล้อง สร้างสัมผัสบรรยากาศเหนือจริง เต็มไปด้วยความลึกลับ พิศวง ชวนให้ผู้ชมฉงนสงสัย และการดำเนินเรื่องผ่านสายตาของเด็กชาย (รวมถึงวิญญาณคนตาย/บิดาที่เสียชีวิต) แอบถ้ำมอง (Voyeurism) ลอดผ่านผนัง หลบซ่อนในพงหญ้า (บางครั้งก็ยืนโท่งๆโดยไม่มีใครรู้เห็น เพราะเป็นวิญญาณคนตาย) พบเห็นความฟ่อนเฟ่ะ เน่าเละเทะ เบื้องหลังความจริงที่ทำให้ผู้ชม/ตัวละครตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง
ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าหนังถ่ายทำยัง Mitsui Miike Coal Mine หรือไม่? เพราะสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างกลุ่มเคลื่อนไหวแรงงานกับนายจ้างยังคงคุกรุ่น แต่กองถ่ายปักหลักอยู่บนเกาะ Kyūshū และมีการใช้ Archive Footage ฟุตเทจจากเหตุการณ์จริงแทรกใส่เข้ามาในลักษณะ Documentary-like
ค่ำคืนนี้บิดาพร่ำเพ้อฝัน อธิบายสาเหตุผลการหลบหนีออกจากเหมือง เพราะอาชีพนี้มันช่างมืดหม่น ไร้อนาคต เสี่ยงอันตราย ค่าแรงแสนต่ำ แถมยังถูกกดขี่ข่มเหงจากนายจ้าง สอดคล้องเข้ากับภาพซ้อนเข้ามาขณะนี้ เศษดินหิน(ที่ขุดขึ้นมา)ถูกทอดทิ้งกลิ้งลงสู่เบื้องล่าง ชีวิตมีแต่จะสาละวันเตี้ยลง
ระหว่างที่เขาพร่ำเพ้อเหตุผล ยังมีการร้อยเรียงภาพจาก Archive Footage เพื่อให้ผู้ชมเห็นถึงสภาพการทำงาน หายนะจากเหตุการณ์เหมืองถล่ม เพลิงไหม้ มันช่างเป็นอาชีพเสี่ยงอันตราย ท้าความตาย แลกกับค่าแรงแสนต่ำ สถานที่อยู่อาศัยก็ตามมีตามเกิด ไม่ต่างจากนรกบนดิน ทำไมถึงไม่มีใครให้ความสนใจพวกเขาเหล่านี้?
อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าผกก. Teshigahara มีความหลงใหลใน Abstract Art และประสบการณ์จากการถ่ายทำสารคดี ทำให้ชื่นชอบร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ เก็บรายละเอียดชุมชนเหมืองที่ถูกทิ้งร้าง บ้านช่องไร้ผู้คน เนินดินหินกองโต (ที่ขุดขึ้นมาจากเหมือง) มันช่างดูเหนือจริง ไม่น่าจะเป็นไปได้ ไม่มีใครครุ่นคิดจะทำอะไรกับมันเลยหรือไร? … แสดงถึงความไม่ยี่หร่าของเจ้าของ/ผู้มีอำนาจ/เหมารวมรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อเหมืองแห่งนี้หมดสิ้นประโยชน์ก็ปล่อยทิ้งขว้าง กลายเป็นหมู่บ้านผีสิง แทนที่จะต่อยอดพัฒนาไปเป็นอย่างอื่น
ตัวละครเด็กชาย แม้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับเรื่องราว ยังคงวิ่งเล่น ทำโน่นนี่นั่นตามประสา แต่ถือว่าเป็นตัวแทนผู้ชม/คนรุ่นใหม่ (ก็คล้ายๆกับวิญญาณล่องลอย) ทำได้เพียงจับจ้อง แอบถ้ำมอง พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ จดจำภาพเหล่านั้นฝังใจ แล้วเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ …
หลังลงมือฆาตกรรม ชายสวมสูทขาวแวะเวียนมาหาเจ้าของร้านขายของชำ ผู้ชมส่วนใหญ่ย่อมครุ่นคิดว่าหมอนี่ไม่น่าจะมาดีแน่ แต่ก็แอบคาดไม่ถึงว่าจะจ่ายเงินปิดปาก ซึ่งหนังก็แอบซ่อนรายละเอียด ‘Mise-en-scène’ ที่น่าสนใจ
- ประโยคแรกของชายสวมสูทขาว “You saw all that, didn’t you, ma’ma?” ดังขึ้นพร้อมภาพหน้ากาก นี่ไม่ใช่แค่ความพยายามปกปิดบังตัวเอง แต่การแสร้งมาดี จ่ายเงินปิดปากครั้งนี้ ด้วยจุดประสงค์เคลือบแฝงอะไรบางอย่าง
- ตอนวางเงินลงบนพื้น สังเกตว่านำเอารองเท้ามาวางทับ เป็นการสื่อว่าเงินคือของต่ำ สามารถนำมาล่อซื้อใจคน
- และตอนที่ชายสวมสูทขาว พรรณารูปพรรณสัณฐานบุคคลที่ต้องการให้ใส่ร้ายป้ายสี กล้องฉายภาพเทือกเขาสูงใหญ่ เมฆครึ้มกำลังเคลื่อนเข้ามาบดบังแสงสว่าง สามารถสื่อถึงหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามา
การฟื้นตื่นขึ้นเป็นวิญญาณของคนงานเหมือง ใช้ลูกเล่น ‘Reverse Motion’ ถ่ายแบบปกติขณะทิ้งตัวลงนอนกับพื้น แล้วนำมาฉายย้อนกลับจากหลังไปหน้า … ชวนให้ผมนึกถึงโคตรภาพยนตร์ La Belle et la Bête (1946) หรือ Beauty and the Beast ฉบับของ Jean Cocteau เห็นว่าคือหนึ่งในผู้กำกับคนโปรดของผกก. Teshigahara เลยไม่น่าแปลกใจที่รับอิทธิพลนี้มา
จากหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้าง ไร้ผู้คนพักอยู่อาศัย แต่หลังจากเขาถูกฆาตกรรม มีการใช้เอฟเฟ็กเปลี่ยนภาพพร้อมๆกับการ Cross-Cutting ทำให้พบเห็นโลกหลังความตาย (Ghost Town) วิญญาณผู้คนมากมาย ดำเนินชีวิตอย่างล่องลอยเรื่อยเปื่อย ทุกข์ทรมานตามสภาพสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้เสียที
ทั้งการฟื้นคืนชีพ รวมถึงภาพหมู่บ้านผีสิง ไม่ได้มีการตุ้งแช่ หรือทำให้ผู้ชมรู้สึกหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง หวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว แต่ทำออกมาในลักษณะ ‘Anti-Ghost’ เพียงองค์ประกอบหนึ่งของหนัง (ทำให้ผีกลายเป็น Stereotype) เคลือบแฝงนัยยะเชิงนามธรรม เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง ความอยุติธรรมทางสังคม ทำได้เพียงจับจ้อง สังเกตมอง และทอดถอนลมหายใจ (ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมอะไรใดๆ)
หนึ่งในลักษณะ ‘Stereotype’ ของวิญญาณล่องลอย คือไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์ใดๆกับคนเป็น ซึ่งหนังทำการเล่นตลกร้าย ให้ตัวละครยื่นหน้าเข้าหา ตะโกนใส่หน้า ทำหน้าตายียวนกวนประสาท ก่อนตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง นี่ฉันจะทำอะไรยังไงต่อไป?
ไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชมสมัยนั้น ยินยอมรับไม่ได้กับฉากเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขืนเจ้าของร้านขายของชำ! ถือเป็นการบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในองค์กรตำรวจ แต่ความตั้งใจของผกก. Teshigahara ยังเหมารวมถึงพวกผู้มีอำนาจ/รัฐบาลญี่ปุ่น ไม่ได้สนใจแก้ปัญหาอะไรใดๆ ประชาชนไม่ต่างจากโสเภณี ถูกเหยียดย่ำยี บดขยี้ ทำให้ป่นปี้
และพอเจ้าหน้าที่ตำรวจนายนี้เผชิญหน้ากับชายสวมสูทขาว ฆาตกรตัวจริง ก็รีบเผ่นหนีหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ปล่อยให้เธอถูกฆ่ารัดคอ เสียชีวิตในท่านั่งคุกเข่า ขอขมาต่อความโง่เขลา ลุ่มหลงใหลในเงินทอง ตัณหาราคะ ตกหลุมพรางพวกผู้มีอำนาจบาดใหญ่ สุดท้ายกลายเป็นวิญญาณล่องลอย ไม่สามารถไปผุดไปเกิดใหม่
วินาทีที่นักข่าวพบเห็น Otsuka กำลังลงจากบันได เดินตรงเข้ามาหา กล้องซูมใบหน้า (Zoom In) จากนั้นหยุดแน่นิ่ง (Freeze Frame) พร้อมเสียงรัวกลองที่สร้างความตกตะลึง รวมถึงวิญญาณผู้เสียชีวิตแสดงปฏิกิริยาคาดไม่ถึง มันมีบุคคลหน้าตาเหมือนเป๊ะอย่างนี้ด้วยฤา??
จะว่าไปหนังเรื่องนี้ล้วนเต็มไปด้วย “สูตรสอง” นอกจากชายสองคนหน้าตาเหมือนเปี๊ยบ (Doppelgänger) แทบทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดขึ้นสองครั้ง คดีฆาตกรรมสองครั้ง, ชายสวมสูทขาวแวะเวียนมาหาเจ้าของร้านขายของชำสองครั้ง, สหภาพแรงงานเก่า-ใหม่ (สององค์กร) ฯ
ส่วนนัยยะของ Doppelgänger มองผิวเผินคือฆาตกรรมผิดตัว แต่แท้จริงแล้วมันเป็นแผนการของชายสวมสูทขาว ใช้ความตายของชายหน้าตาเหมือน ล่อหลอกลวงให้เป้าหมายแท้จริงให้ตกหลุมพราง และถ้าเราตีความในเชิงสัญลักษณ์ จักค้นพบเรื่องราวส่วนบุคคล (จุลภาค) ขยับขยายสู่หัวหน้าสหภาพแรงงาน (มหภาค)
ปล. หลายต่อหลายครั้งที่มีการซ้อนทับโลกความจริง-ดินแดนหลังความตาย แต่กลับไม่มีสักช็อตที่ Doppelgänger ทั้งสองอยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน
เมื่อตอนที่ Otsuka พบเห็นภาพอีกตนเองที่เสียชีวิต ลองไปตั้งใจฟังเสียงประกอบ (Sound Effect) ผมไม่แน่ใจว่าเสียงอะไร คาดว่าน่าจะเครื่องจักรกำลังทำอะไรบางอย่าง ซึ่งสามารถเทียบแทนความรู้สึกตัวละคร ตกอกตกใจ นี่มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร?? … หนังมีการใช้ลูกเล่นทางเสียงลักษณะคล้ายๆกันหลายครั้งทีเดียว ซึ่งช่วยสร้างมิติอันลุ่มลึก สัมผัสเชิงนามธรรม
ระหว่างที่ Otsuka กำลังทบทวนความคิด ค้นหาความน่าจะเป็นไปได้ อธิบายเรื่องราวสหภาพแรงงานเก่า-ใหม่ จะมีการแทรกภาพเด็กชายกำลังถ้ำมองลอดผ่านรู (พบเห็นตำรวจกำลังข่มขืนเจ้าของร้านขายของชำ) นี่ไม่ได้จะสื่อถึงพฤติกรรมสอดรู้สอดเห็น แต่คือการเปิดเผยเบื้องหลังความจริง สิ่งซุกซ่อนเร้นภายใน ความขัดแย้งที่ต้องมีใครบางคนชักใยอยู่เบื้องหลัง
การเผชิญหน้าระหว่าง Toyama vs. Otsuka, สามารถเปรียบเทียบถึงสหภาพแรงงานเก่า vs. ใหม่, พวกเขาเคยเป็นเพื่อนสนิทสนม อุดมการณ์คล้ายๆกัน แต่ถูกใครบางคนชักใยอยู่เบื้องหลัง “ตกหลุมพราง” ทำให้เกิดความขัดแย้ง เข่นฆ่าแกง ตายในน้ำ-บนฝั่ง ฟื้นคืนชีพกลายเป็นวิญญาณล่องลอย ไม่ได้ผุดได้เกิด ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง … สื่อถึงความพ่ายแพ้ของประชาชน/สหภาพแรงงาน ไม่สามารถเอาชนะอำนาจมืด/นายจ้าง/รัฐบาลญี่ปุ่น
เราสามารถเปรียบเทียบชายสวมสูทขาว = นายจ้าง/ผู้มีอำนาจ/รัฐบาลญี่ปุ่น, ส่วนวิญญาณคนตาย = ประชาชนตาดำๆ พยายามเรียกร้องความยุติธรรม แต่คำตอบได้รับคือความเงียบงัน (แสร้งทำเป็น)มองไม่เห็น เหมือนอีกฝ่ายไร้ตัวตน สนเพียงกระทำตามแผนการ “Exactly as planned.” เสร็จแล้วก็ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง
ตายเช่นไรก็กลายเป็นวิญญาณเช่นนั้น! ความหิวโหยสามารถสื่อถึงชีวิตที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม แม้เขาพอจะทำความเข้าใจเบื้องหลัง สาเหตุผล ค้นพบใครคือบุคคลเข่นฆ่าตนเอง? (ปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดต่อเองว่า ใครคือผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังแท้จริง?) แต่กลับไม่สามารถโต้ตอบ ทวงคืนความยุติธรรม กลายเป็นวิญญาณล่องลอย ไม่ได้ผุดได้เกิด ไม่หลงเหลืออะไร ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวังอาลัย และค่อยๆถูกลบเลือนหายตามกาลเวลา
ตลอดทั้งเรื่องจะมีการแทรกภาพสรรพสัตว์ ที่สามารถเปรียบเทียบ/สะท้อนเหตุการณ์บังเกิดขึ้นขณะนั้นๆ งูเลื้อยคลาน, เด็กชายจับกบมาถลกหนัก, ตกกุ้งขึ้นจากน้ำ ฯ แต่ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะฝูงสุนัขกำลังเดินขึ้นเนินเขา สอดคล้องกับชายสวมสูทขาวขับขี่มอเตอร์ไซด์จากไป สามารถสื่อถึงพวกคนชั่วร้าย(=สุนัข)กำลังก้าวขึ้นมามีอำนาจบาดใหญ่ในสังคม ญี่ปุ่นกลายเป็นดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน ชนชั้นผู้นำไม่เคยเห็นหัวประชาชน
หลังจากพบเห็นสารพัดความตาย ชีวิตไม่หลงเหลือใคร เด็กชายลักขโมยขนม กวาดลูกอมจากร้านขายของชำ จากนั้นเริ่มออกวิ่งจากหมู่บ้านร้าง (มีทั้งช็อตที่กล้องเคลื่อนเลื่อนติดตาม และหยุดนิ่งให้เด็กชายวิ่งเข้าหา) และพานผ่านเส้นทางภูเขาเนินดินหิน (ที่ขุดขึ้นมาจากเหมือง) มันอาจดูเหมือนการเดินทางสู่อิสรภาพ แต่อนาคตของคนรุ่นใหม่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เช่นไรกัน?
ปล. จะว่าไปพวกภูเขา เนินดินหินที่เกิดจากการขุดขึ้นหมือง (ใต้ขุมนรก) ทำให้บนพื้นโลกปกคลุมไปด้วยนรกบนดิน!
ตัดต่อโดย Fusako Shuzui, 守随房子 ผลงานเด่นๆ อาทิ Pitfall (1962), Woman in the Dunes (1964) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองบิดา (และบางครั้งบุตรชาย), ครึ่งแรกหลบหนีออกจากเหมืองแห่งหนึ่ง พยายามมองหางานใหม่ แต่ก็ยังเวียนวนอยู่กับอาชีพคนขุดเหมือง กระทั่งเมื่อถูกฆาตกรรมโดยไม่ทราบสาเหตุ กลายเป็นวิญญาณล่องลอย ผู้ชมจะเริ่มพบเห็นโลกสองใบ (โลกคนเป็น & โลกคนตาย) บิดา(ที่เป็นวิญญาณ)ติดตามนักข่าวไปยังสถานที่ต่างๆ พบเจอกับบุคคลหน้าเหมือน (Doppelgänger) รับรู้แผนการของชายสวมสูทขาว แต่ท้ายที่สุดกลับไม่สามารถทำอะไร (เพราะคนตายไม่สามารถยุ่งกับคนเป็น)
- เรื่องราวของคนขุดเหมือง
- บิดานำพาบุตรชายหลบหนีออกจากเหมืองแห่งหนึ่ง
- พยายามหางานใหม่ แต่ก็ยังเวียนวนอยู่กับอาชีพคนขุดเหมือง
- ได้รับคำแนะนำจากนายจ้างให้เดินทางไปยังสถานที่นัดหมาย
- เดินทางมาถึงหมู่บ้านร้าง หลงเหลือเพียงเจ้าของร้านขายของชำ
- ชายสวมสูทขาวออกไล่ล่าติดตาม แล้วลงมือฆาตกรรม
- ชายสวมสูทขาวจ่ายเงินปิดปากเจ้าของร้านขายของชำ
- คนขุดเหมืองจู่ๆลุกขึ้นยืน ก่อนพบว่าตนเองได้เสียชีวิต กลายเป็นวิญญาณล่องลอยอยู่บนโลกหลังความตาย
- คดีฆาตกรรม
- เจ้าของร้านขายของชำเดินทางไปแจ้งความกับตำรวจ
- ตำรวจแห่กันมายังสถานที่เกิดเหตุ
- นักข่าวเดินทางไปหาหัวหน้าแรงงานเหมือง Otsuka เพราะมีหน้าตาละม้ายคล้ายผู้เสียชีวิต เล่าถึงเบื้องหลัง ความน่าจะเป็น รวมถึงบุคคลผู้ต้องสงสัย
- ชายสวมสูทขาวหวนกลับมา ฆ่าปิดปากเจ้าของร้านขายของชำ
- Otsuka ติดต่อหา Toyama ที่เป็นหัวหน้าแรงงาน/แกนนำชุมนุมประท้วงหยุดงานของเหมืองอีกแห่ง นัดพบเจอยังสถานที่เกิดเหตุ
- แต่พอมาถึงพบเห็นเจ้าของร้านขายของชำถูกฆาตกรรม ทั้งสองจึงเกิดการต่อสู้ เข่นฆ่ากันและกัน
- ชายสวมสูทขาวพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เอ่ยปากเป็นไปตามแผน
ครึ่งแรกของหนังอาจดูค่อนข้างน่าเบื่อ ทำออกมาในสไตล์กึ่งสารคดี มีการร้อยเรียง Archive Footage อธิบายเหตุผลที่บิดาต้องการหลบหนีออกจากอาชีพคนงานเหมือง, ส่วนครึ่งหลังจากถูกฆาตกรรม กลายเป็นวิญญาณล่องลอย ผู้ชมจะตระหนักถึงการมีตัวตนอยู่ตลอดเวลา พอพบเห็นเบื้องหลังความจริงแต่ไม่สามารถโต้ตอบทำอะไร (แบบเดียวกับผู้ชมที่ก็แค่ดูหนังอย่างเดียว) สร้างความห่อเหี่ยว สิ้นหวัง เต็มไปด้วยอารมณ์อึดอัดอั้น อเนจอนาถใจยิ่งนัก!
เพลงประกอบโดย Tōru Takemitsu, 武満 徹 (1930-96) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hongō, Tokyo ก่อนย้ายไปเติบโตยัง Dalian, Liaoning (ประเทศจีน) ถูกบังคับเกณฑ์ทหารตั้งแต่อายุ 14 แม้ได้รับประสบการณ์อันขมขื่น แต่ทำให้มีโอกาสรับฟังเพลงตะวันตก, หลังสงครามโลกกลับมาญี่ปุ่น ทำงานในกองทัพสหรัฐ (ที่เข้ามายึดครองชั่วคราว) แม้ไม่เคยฝึกฝนการเล่นดนตรี แต่เริ่มแต่งเพลงเมื่ออายุ 16 โอบรับแนวคิดเครื่องดนตรีไฟฟ้า แนวทดลอง สไตล์ Avant-Garde ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Experimental Workshop (実験工房 อ่านว่า Jikken Kōbō) ที่พยายามผสมผสานไม่ใช่แค่ดนตรี แต่ยังสรรพเสียง และศิลปะแขนงอื่นๆคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ทำให้มีโอกาสรับรู้จัก Kōbō Abe และ Hiroshi Teshigahara ที่ต่างก็แนวคิดทิศทางเดียวกัน โด่งดังกับระดับนานาชาติกับผลงาน Requiem for String Orchestra (1957), ทำเพลงประกอบภาพยนตร์มากมายนับไม่ถ้วน Harakiri (1962), Pitfall (1962), Pale Flower (1964), Kwaidan (1964), Woman in the Dunes (1964), The Koumiko Mystery (1965), The Face of Another (1966), Samurai Rebellion (1967), Scattered Cloud (1967), Double Suicide (1969), Dodes’ka-den (1970), Under the Blossoming Cherry Trees (1975), Ballad of Orin (1977), Empire of Passion (1978), Ran (1985), Black Rain (1989) ฯ
Takemitsu ไม่ใช่แค่ทำเพลงประกอบ แต่ยังเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนเขียนบท คัดเลือกนักแสดง ค้นหาสถานที่ถ่ายทำ ตัดต่อ ออกแบบเสียง พยายามซึมซับ ทำความเข้าใจทุกสิ่งอย่าง เพื่อสามารถเขียนบทเพลงให้ตรงตามความต้องการของผู้สร้าง
He was always more than a composer. He involved himself so thoroughly in every aspect of a film – script, casting, location shooting, editing, and total sound design.
Hiroshi Teshigahara
แม้งานเพลงของ Takemitsu ถูกจัดเข้าพวก Avant-Garde แต่ก็มีลักษณะของ Minimalist ชอบสร้างเสียงประหลาดๆ ดังขึ้นแล้วเงียบหาย ฟังดูเหมือนเป็นการ ‘Improvised’ คาดเดาอะไรไม่ได้ แต่สามารถสร้างความตึงเครียด บรรยากาศลึกลับ เต็มไปด้วยความพิศวง เตรียมพร้อมให้ผู้ชม/ตัวละครเผชิญหน้ากับ … อะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน???
Pitfall (1962) นำเสนอเรื่องราวของคนงานเหมือง (Coal Miner) ที่ถูกกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง คนหนึ่งพยายามดิ้นหลบหนี อีกคนรวมกลุ่มพวกพ้องก่อตั้งสหภาพเรียกร้องสิทธิแรงงาน แต่ทั้งสองต่าง “ตกหลุมพราง” โดนลอบสังหาร เกิดความเข้าใจผิดจนเข่นฆ่ากันเอง กลายเป็นวิญญาณล่องลอย จมปลักอยู่ในย่านชุมชนเหมือง ไม่สามารถไปผุดไปเกิดใหม่
หลังดูหนังจบเชื่อว่าหลายคนคงตระหนักว่าศพแรก ความตายของบิดา ไม่ใช่การฆ่าผิดตัว! แต่คือแผนการของชายสวมสูทขาว เพื่อให้บุคคลที่เป็นเป้าหมายแท้จริง “ตกหลุมพราง” นัดหมายเพื่อนพ้องอีกคนที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมาพูดคุย แล้วเกิดความเข้าใจผิดกันเอง นี่แสดงถึงอำนาจมืดที่คอยควบคุม ชักใย บงการทุกสิ่งอย่างอยู่เบื้องหลัง
ชาวสวมสูทขาว คือตัวแทนของผู้มีอำนาจ นายจ้าง เจ้าของธุรกิจ นักการเมือง ฯ พยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูดี (สวมใส่ชุดขาว) แต่จิตใจกลับดำมืด ครุ่นคิดแผนการชั่วร้าย หาหนทางกำจัดศัตรูให้พ้นภัยทาง โดยเฉพาะหัวหน้าสหภาพแรงงานที่เป็นก้างขวางคอ ล่อลวงสององค์กรให้เกิดความขัดแย้งกันเอง ท้ายที่สุดแล้วบุคคลได้รับผลประโยชน์สูงสุดจักคือพวกนายทุน ไม่ต้องลงมือลงแรงอะไร
นักเขียน Kōbō Abe แม้เคยเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ไม่นานก็แปรพักตร์มาให้การสนับสนุนชนชั้นแรงงาน (Working Class) ต่อสู้กับนายทุน ต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์! ภาพยนตร์ Pitfall (1962) ก็นำเสนอเรื่องราวคนงานเหมืองถูกกดขี่ข่มเหงจากนายจ้าง กลุ่มสหภาพตกหลุมพรางจากแผนการชั่วร้ายของเบื้องบน เหล่านี้สามารถสะท้อนปัญหาสังคมโดยรวมในยุคสมัยนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เคยให้ความสำคัญกับประชาชน (วิญญาณคนตายอาจตีความถึงการไร้ตัวตนของประชาชนในสายตารัฐบาลญี่ปุ่น) เอาแต่เลียแข้งเลียขาสหรัฐอเมริกา(ที่เข้ามายึดครองญี่ปุ่น) ไม่เห็นหัวผู้เสียสละชีวิต วิญญาณคนตายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ปล. ความพ่ายแพ้ของสหภาพแรงงานใน Miikke Struggle 1960 ยิ่งเป็นการตอกย้ำความไม่เห็นหัวประชาชนของรัฐบาลญี่ปุ่น นำไปสู่อุบัติเหตุเหมืองระเบิดครั้งร้ายแรงในปี ค.ศ. 1963
การนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองวิญญาณคนตาย ก็เหมือนผู้ชมภาพยนตร์ที่ไม่สามารถโต้ตอบ กระทำการอันใด เพียงพบเห็นเหตุการณ์ เรียนรู้เบื้องหลังความจริง แล้วตกอยู่ในความห่อเหี่ยว สิ้นหวัง เต็มไปด้วยอารมณ์อึดอัดอั้น มันช่างน่าอเนจอนาถใจยิ่งนัก!
ส่วนเด็กชาย (บุตรของคนงานเหมือง) คือตัวแทนคนรุ่นใหม่ แอบหลบซ่อน พบเห็นทุกสิ่งอย่าง สภาพสังคมที่มีความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ ความคอรัปชั่นของผู้คน ไม่อยากจินตนาการเลยว่าอนาคตเขาจักเติบโตเป็นผู้ใหญ่เช่นไร?
แม้ตอนออกฉายจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่สารพัดลูกเล่นอันแพรวพราว ได้สร้างชื่อเสียงให้ผกก. Teshigahara ติดอันดับ #7 ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Kinema Junpo สำหรับผลงานเรื่องแรกถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว ผลลัพท์ทำให้มีโอกาสได้เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes (ปีถัดมา) ในสาย International Critics’ Week ตอนนั้นยังไม่มีมอบรางวัลใดๆ
ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะ เพียงแค่ ‘digital transfer’ คุณภาพ High-Definition ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2007 จัดจำหน่าย DVD ของค่าย Criterion Collection และ Eureka! ในคอลเลคชั่น Masters of Cinema
แม้ส่วนตัวรู้สึกว่าหนังมีความเอื่อยเฉื่อยไปสักหน่อย แต่ถ้าผ่านครึ่งชั่วโมงแรกไปได้ก็จักเกิดความเข้าใจอะไรหลายๆอย่าง โดดเด่นกับกับการผสมผสานหลากหลายสิ่งอย่าง คลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างน่าอึ่งทึ่ง วิสัยทัศน์ของผกก. Teshigahara โดดเด่นไม่ด้อยไปกว่าผู้กำกับคนอื่นๆในรุ่น Japanese New Wave และพบเห็นร่องรอยที่จะถูกพัฒนาต่อไปเป็น Woman in the Dunes (1964)
จัดเรต 13+ กับคดีฆาตกรรมผิดตัว
Leave a Reply