Paris Belongs to Us (1961) : Jacques Rivette ♥♥♥♡
หญิงสาวคนหนึ่งบังเกิดความฉงนสงสัย ลุ่มหลงใหล จนกลายเป็นหมกมุ่นกับองค์กรลึกลับ ทั้งๆก็ไม่รู้ว่าคืออะไร? มีอยู่จริงหรือไม่? แต่ทฤษฎีสมคบคิดของคนรอบข้าง สร้างความหวาดระแวง วิตกจริต เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าต้องมีอยู่จริง! … สะท้อนบรรยากาศสงครามเย็น (Cold War) ได้อย่างหนาวเหน็บ
ในบรรดาผู้กำกับรุ่น French New Wave บุคคลแรกที่เริ่มถ่ายทำภาพยนตร์/หนังสั้น Aux Quatre Coins (1948) ก่อนใครอื่นใดนั้นคือ Jacques Rivette (ตั้งแต่ก่อนจะรับรู้จักสมาชิกคนอื่นๆเสียอีกนะ!) แต่ทว่ากลับเป็นคนสุดท้ายที่สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature-Length) จริงๆถ่ายทำเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 แต่เกิดความล่าช้าเนื่องจากไม่มีเงินทุนสำหรับ Post-Production (ตัดต่อ+พากย์เสียง) เลยต้องรอคอยจนกระทั่งเพื่อนผกก. Claude Chabrol และ François Truffaut นำส่วนแบ่งกำไรจากความสำเร็จของ Les Cousins (1959) และ The 400 Blows (1960) มาช่วยเหลือจุนเจือจนแล้วเสร็จ
ความล่าช้า 2-3 ปี ถือเป็นหายนะอย่างใหญ่หลวงของ Paris Belongs to Us (1961) เพราะช่วงเวลาดังกล่าว วงการภาพยนตร์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด (อันเนื่องจากเพื่อนผู้กำกับร่วมรุ่นอย่าง François Truffaut, Jean-Luc Godard ฯ) นั่นทำให้งานสร้างของหนังดูเฉิ่มเฉย ล้าหลัง ขาดความสดใหม่ ผลลัพท์เลยไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกับเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่น
แต่งานสร้างที่ดูล้าหลัง ยังไม่ทำให้ผู้ชมเบือนหน้าหนีเท่ากับความสลับซับซ้อนของหนัง Paris ราวกับเขาวงกต คดเคี้ยวเลี้ยวลด ความยาว 141 นาที ราวกับ 3-4 ชั่วโมง! ตัวละครเดินทางไปโน่นนี่นั่น พูดคุยกับคนนี้นั้น อะไรก็ไม่รู้เยิ่นเย้อยืดยาวเรื่อยเปื่อย ต้องคอยเพ่งพินิจ ตั้งใจรับฟัง เผื่อว่ามันจะมีสาระซุกซ่อนเร้น ปริศนาได้รับการเปิดเผย
“Paris Belongs to Us: Nothing Took Place but the Place” ชื่อบทความวิจารณ์ของ Criterion ต้องถือว่าเป็นการบอกใบ้ คำอธิบายใจความของหนังได้ตรงไปตรงมาที่สุดแล้วกระมัง!
Jacques Pierre Louis Rivette (1928-2016) นักวิจารณ์/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Rouen, Seine-Maritime บิดาเป็นเภสัชกร บ้านอยู่ติดกับโรงภาพยนตร์ วัยเด็กหลงใหลการวาดรูปและอุปรากร หลังมีโอกาสอ่านหนังสือของ Jean Cocteau เกี่ยวกับการถ่ายทำ Beauty and the Beast (1946) ตัดสินใจมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังด้านนี้ เข้าร่วมกลุ่ม Ciné-Clubs ถ่ายทำหนังสั้น 16mm เรื่องแรก Aux Quatre Coins (1948), จากนั้นออกเดินทางสู่ Paris แล้วได้พบเจอ Jean Gruault ที่ร้านขายหนังสือ ชักชวนมารับชมภาพยนตร์ที่ Ciné-Club du Quartier Latin แล้วได้พูดคุยถกเถียงหลังการฉายกับว่าที่เพื่อนสนิท Éric Rohmer
Rivette ส่งหนังสั้นที่สร้างขึ้นเพื่อสมัครเรียน Institut des Hautes Études Cinématographiques แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ จึงเข้าคอร์สภาพยนตร์ระยะสั้น University of Paris ระหว่างนั้นแวะเวียนขาประจำ Cinémathèque Française ก่อนได้รับชักชวนเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Gazette du Cinéma (ก่อตั้งโดย Éric Rohmer และ Francis Bouchet) ติดตามด้วย Cahiers du Cinéma มีชื่อเสียงจากเขียนบทความชื่นชม Howard Hawks, Fritz Lang, Roberto Rossellini, Kenji Mizoguchi แล้วด่าทอบรรดาผู้กำกับฝรั่งเศสรุ่นใหม่ๆที่ไม่กล้าได้กล้าเสี่ยง สนเพียงกำไรความสำเร็จ และยังร่วมกับ Truffaut (ตั้งชื่อเล่น “Truffette and Rivaut”) แบกเครื่องบันทึกเสียง เดินทางไปสัมภาษณ์/ตีพิมพ์บทความเชิงลึกจากบรรดาผู้กำกับที่พวกเขาโปรดปราน อาทิ Alfred Hitchcock, Howard Hawks, Fritz Lang, Jean Renoir, Roberto Rossellini, Orson Welles ฯ
เมื่อปี ค.ศ. 1957 ผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนชื่อดัง Roberto Rossellini ประกาศว่าจะสรรค์สร้างภาพยนตร์ซีรีย์ (Serial Film) เกี่ยวกับชีวิตในฝรั่งเศส (Life in France) เห็นว่าบรรดาว่าที่ผู้กำกับรุ่น French New Wave แทบทุกคนส่งบทหนังไปให้ร่วมพิจารณา Le Beau Serge (1958), Sign of Leo (1959), The 400 Blows (1959), เฉกเช่นเดียวกับผกก. Rivette ร่วมงานเพื่อนนักเขียน Jean Gruault เสนอแนะโปรเจค La Cité ได้รับทุนสนับสนุน ₣100,000 ฟรังก์สวิส แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน Rossellini ทอดทิ้งโปรเจคนี้เพื่อไปสรรค์สร้างภาพยนตร์ยังประเทศอินเดีย … เหตุผลจริงๆคือ Rossellini ตกหลุมรักนักเขียนชาวอินเดีย Sonali Senroy Das Gupta ถึงขนาดขอหย่าร้างภรรยา Ingrid Bergman แล้วทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เดินทางไปแต่งงานที่อินเดีย!
การจากไปของ Rossellini ไม่ได้ทำให้ Rivette และ Gruault สูญเสียขวัญกำลังใจ ยังคงสานต่อโปรเจคนี้ ปรับปรุงแก้ไขบทหนังตามคำแนะนำเคยได้รับ(ของ Rossellini) จนกลายมาเป็น Paris nous appartient แปลตรงตัว Paris Is Ours ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Paris Belongs to Us
เกร็ด: ชื่อหนังได้แรงบันดาลใจจากบทกวีของ Charles Pierre Péguy (1873–1914) สัญชาติฝรั่งเศส “Paris n’appartient à personne” แปลว่า “Paris belongs to nobody.” รวบรวมอยู่ในหนังสือ Œuvres Complètes de Charles-Péguy Volumn 4 (1916) หน้า #499
ตอนเริ่มต้นพัฒนาบทหนัง Rivette และ Gruault น่าจะครุ่นคิดเรื่องราวจากมุมมองผกก. Rossellini ซึ่งถือเป็นบุคคลนอก ชาวต่างชาติ เลยนำเสนอเรื่องราวหญิงสาวแรกรุ่นเพิ่งเดินทางมาถึงกรุง Paris แล้วมีโอกาสคลุกคลีกับบรรดาศิลปิน นักเขียน นักดนตรี ผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศสเปน (anti-Franco) สหรัฐอเมริกา (McCarthyism) ฯ
และอีกสิ่งที่ถูกผสมผสานเข้าไปในหนัง แล้วจะได้รับการพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นหนึ่งในสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Rivette คือการซักซ้อมละคอนเวที (แต่ไม่เคยทำการแสดงจริงๆสักที!) บทละคอนแต่งไม่เสร็จ Pericles, Prince of Tyre (1609) ของ William Shakespeare (1564-1616) … ก็เหมือนหนังเรื่องนี้ที่เต็มไปด้วยความคั่งๆค้างๆคาๆ ไม่มีอะไรได้รับการเปิดเผย ดูจนจบก็ตอบไม่ได้ว่าองค์กรลึกลับมีอยู่จริงหรือไม่?
เกร็ด: ด้วยความที่ยังเป็นผลงานยุคแรกๆ Paris Belongs to Us (1961) และ The Nun (1966) จึงมีการพัฒนาบทหนังที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ทิศทางมุมกล้อง บทพูดสนทนา ฯ แต่หลังจากความเครียดคลั่งระหว่างสรรค์สร้าง The Nun จึงทำให้ผกก. Rivette ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง!
นักเรียนวรรณกรรม Anne Goupil (รับบทโดย Betty Schneider) ระหว่างกำลังศึกษาบทละคอนของ Shakespeare ได้ยินเสียงร่ำไห้จากเพื่อนสาวข้างห้อง เข้าไปสอบถามจึงรับรู้ว่าพี่ชาย Juan ได้เสียชีวิตอย่างมีเลศนัย
ด้วยความที่ Anne เพิ่งมาถึง Paris ได้ไม่นาน จึงยังไม่รับรู้จักใคร พี่ชาย Pierre Goupil จึงชักชวนไปเข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ พบปะเพื่อนใหม่ ในตอนแรกรู้สึกเบื่อหน่ายเพราะไม่รับรู้จักใคร แต่ไม่นานเริ่มมีความสนใจ Philip Kaufman นักเขียนชาวอเมริกันที่อพยพหลบหนีจาก McCarthyism พอมึนเมาตบหน้าหญิงสาวชื่อ Terry แล้วกล่าวหาว่าคือต้นเหตุให้นักดนตรีหนุ่ม Juan เสียชีวิต!
วันถัดมา Anne พบเจอเพื่อนสนิท Jean-Marc (รับบทโดย Jean-Claude Brialy) พาไปทำความรู้จักผู้กำกับละคอนเวที Gérard (คนรักของ Terry) ขณะนั้นกำลังซักซ้อมบทละคอน Shakespeare: Pericles ขาดนักแสดงหญิง เธอเลยถูกโน้มน้าว เกลี้ยกล่อม โดยไม่รู้ตัวยินยอมเข้าร่วมกลายเป็นหนึ่งในนักแสดง
เมื่อเริ่มรู้จักใครต่อใคร จึงสามารถแปะติดปะต่อความสัมพันธ์ Anne จึงเกิดความหมกมุ่น กระตือรือล้นที่จะขบไขปริศนาความตายของ Juan ค้นหาเทปเพลง(ของ Juan)ที่ Gérard ตั้งใจจะนำมาใช้ในการแสดง เฉกเช่นเดียวกับองค์กรลึกลับที่อาจอยู่เบื้องหลังการตาย(ของ Juan) ทีแรกก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เมื่อรับฟังทฤษฎีสมคบคิดมากมาย จึงทำให้เธอเกิดความเชื่อมั่นจริงจัง และพยายามหาหนทางปกป้อง Gérard (ที่แอบตกหลุมรัก) ไม่ให้ตกเป็นเป้าหมายถัดไปขององค์กรดังกล่าว
Betty Schneider ชื่อจริง Elisabeth Amsterdamer (1934-) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Lens, Pas-de-Calais เข้าสู่วงการจากเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ A Bomb for a Dictator (1957), Mon oncle (1959), Classe tous risques (1960), ได้รับการจดจำสูงสุดก็คือ Paris Belongs to Us (1961)
รับบท Anne Goupil หญิงสาวแรกรุ่นจากต่างจังหวัด เดินทางสู่กรุง Paris เพื่อเรียนต่อวรรณกรรม ช่วงแรกๆมีความสดใส ไร้เดียงสา กลัวๆกล้าๆ เพราะยังไม่รับรู้ใคร แต่สิ่งต่างๆรอบข้างสร้างความพิศวง ฉงนสงสัย อยากรู้อยากเห็น เมื่อเรียนรู้จักสิ่งต่างๆ สามารถแปะติดปะต่อเรื่องราว ความสัมพันธ์ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งบังเกิดความกระตือรือล้น ต้องการขบไขปริศนาติดค้างคาใจ
นี่เป็นตัวละครที่สามารถเทียบแทนมุมมองผู้ชม เริ่มต้นจากไม่เคยรับรู้อะไรใดๆ เมื่อได้เพบปะ พูดคุย เรียนรู้จักคนโน้นนี่นั่น ค่อยๆแปะติดปะต่อเรื่องราว ความสัมพันธ์ ก็ขึ้นอยู่กับคุณเองจะเข้าใจหนังได้มากหรือน้อยกว่าหญิงสาวคนนี้!
Goupil อาจไม่ได้สวยโดดเด่น แต่ความเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ ทำให้การแสดงออกมาดูเป็นธรรมชาติ เหมือนหญิงสาวทั่วๆไป โดดเด่นกับแรงผลักดันภายใน เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจสิ่งต่างๆ พัฒนาการสู่ความหมกมุ่น ครุ่นคิดมาก จนหลายครั้งสูญเสียการเสียงาน (ไม่สามารถจดจำบทพูดได้เสียที) สายตาเหม่อล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ต้องการขบไขปริศนา หาคำตอบให้จงได้!
รักครั้งแรกของตัวละครก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน แม้มันจะเป็นเพียงรักข้างเดียว แต่เธอยังพยายามแทรกตัว หาโอกาส ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา และเมื่อตระหนักว่าอีกฝ่ายอาจตกอยู่ในอันตราย แสดงอาการลุกรี้ร้อนรน ต้องการจะปกป้อง ให้ความช่วยเหลือ ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเปิดโปงองค์กรลึกลับนั้นให้จงได้!
ถ่ายภาพโดย Charles L. Bitsch (1931-2016) นักวิจารณ์/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Mulhouse, Haut-Rhin โตขึ้นเข้าศึกษาภาพยนตร์ยัง École nationale supérieure Louis-Lumière รุ่นเดียวกับ Philippe de Broca และ Pierre Lhomme, จากนั้นกลายเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du cinéma และ Arts, สำหรับ Le Coup du berger (1956) ได้รับเครดิตร่วมเขียนบทและถ่ายภาพ
แม้ได้รับเงินทุนก้อนแรกจากผกก. Rossellini จำนวน ₣100,000 ฟรังก์สวิส แต่ยังไม่ห่างไกลความเพียงพอ ต้องขอหยิบยืมเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ถ่ายทำ รวมถึงกู้ยืมเงิน ₣80,000 ฟรังก์สวิสจากนิตยสาร Cahiers du Cinéma ส่วนฟีล์มหนังได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนผู้กำกับ Cluaude Chabrol … แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังแค่เพียงพอสำหรับโปรดักชั่นถ่ายทำเท่านั้น ระหว่างเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน ค.ศ. 1958
แม้ด้วยสารพัดข้อจำกัด แต่งานภาพของหนังก็เต็มไปด้วยรายละเอียด ‘mise-en-scène’ ละเล่นกับทิศทาง มุมกล้อง เคลื่อนเข้าเคลื่อนออก โอบรับแนวคิด Neo-Realist แบกกล้องขึ้นบ่า เดินไปเดินเดินมา ใช้เพียงแสงธรรมชาติ ถ่ายทำยังสถานที่จริง ตระเวนรอบกรุง Paris เก็บบันทึกฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษ 50s เอาไว้ในไทม์แคปซูล
แต่ความน่าสนใจของการถ่ายภาพ สำหรับคนที่ไม่เคยรับรู้จักกรุง Paris ก็อาจรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในเขาวงกต เวียนวนไปวนมา สร้างสัมผัสลึกลับ หลอกหลอน เหมือนมีบางสิ่งหลอกปั่นหัว ควบคุมครอบงำ รู้สึกหวาดหวั่น สั่นสะพรึง สะท้านทรวงใน หนาวเหน็บหัวใจ
Rivette’s tightly wound images turn the ornate architecture of Paris into a labyrinth of intimate entanglements and apocalyptic menace; he evokes the fearsome mysteries beneath the surface of life and the enticing illusions that its masterminds, whether human or divine, create.
นักวิจารณ์ Richard Brody จากนิตยสาร The New Yorker
หลังการเดินทางโดยรถไฟมาถึงกรุง Paris, กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนจากภายนอกเข้ามาในอพาร์ทเม้นท์ (ภายนอก → ภายใน) ใครเคยรับชมภาพยนตร์ของผกก. Alfred Hitchcock น่าจะมักคุ้นกับการเริ่มต้น Establishing Shot ลักษณะคล้ายๆกันนี้ ยกตัวอย่าง Rope (1948), Psycho (1960) ฯ
อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ตั้งอยู่ยัง 11 rue des Dames Augustines, Neuilly-sur-Seine ซึ่งคือที่อยู่อาศัยของเพื่อนผู้กำกับ Claude Chabrol (ขณะนั้น) สถานที่ตั้งเดียวกับภาพยนตร์ Les Cousins (1959) [แต่เรื่องนี้ฉากภายในอพาร์ทเม้นท์สร้างขึ้นในสตูดิโอ] ออกแบบโดยสถาปนิก Henri Delormel (1878-1948) ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1926
ระหว่างที่กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลเข้ามาในห้อง พบเห็นภาพวาด Elvira with White Collar (1918) ของ Amedeo Modigliani ซึ่งก็สามารถสื่อถึงหญิงสาว Anne Goupil ได้อย่างตรงไปตรงมา
และบทละคอน Shakespeare ที่ Anne กำลังอ่านออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษ ผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แต่มีคนจับใจความได้ว่าคือ The Tempest (1610-11) Act I, Scene II: Ariel’s Song ระหว่างเรืออับปาง พระเอกเกยตื้นขึ้นฝั่ง ได้ยินบทเพลงขับร้องโดยจิตวิญญาณแห่งลม Ariel บอกว่าบิดาจมลงก้นเบื้องมหาสมุทรลึก 5 Fathom … Ferdinand เกยตึ้นขึ้นฝั่ง = Anne เดินทางมาถึงยังกรุง Paris
Full fathom five thy father lies;
Of his bones are coral made;
Those are pearls that were his eyes;
Nothing of him that doth fade,
But doth suffer a sea change
Into something rich and strange.(ท่อนที่เหลือ)
Sea-nymphs hourly ring his knell:
Ding-dong.
Hark! now I hear them — Ding-dong, bell.
ห้องของเพื่อนข้างห้อง น้องสาวของ Juan สังเกตว่าเต็มไปด้วยรูปภาพน้อยใหญ่ สำหรับอ้างอิงถึงตัวละคร สำหรับคนช่างสังเกตจะพบว่าภาพบนศีรษะของเธอจะมีการสลับเปลี่ยนรูปแบบเนียนๆ (ก็ไม่รู้จงใจหรือผิดพลาด) ภาพแรกดูเหมือน Madonna and Child (พระแม่มารีย์โอบอุ้มพระเยซูคริสต์ สื่อถึงความรักอันบริสุทธิ์ที่น้องสาวมีให้กับพี่ชาย) แต่ภาพหลังผมดูไม่ค่อยออก แต่ราวกับภาพวาด Expressionist อะไรสักอย่าง
ขณะที่ Anne มีการถ่ายติดกับชุดภาพตัวตลก (Joker) นั่นเป็นคำบอกใบ้ถึงความพยายามทั้งหมดของเธอในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นความกระตือรือล้นที่น่าขบขัน สูญเสียเปล่า เพราะท้ายที่สุดไม่ค้นพบเจอคำตอบอะไรสักสิ่งอย่าง!
แบบเดียวกับกล้องเคลื่อนเลื่อนจากภายนอกเข้าสู่ในอพาร์ทเม้นท์, ทุกซีเควนซ์ของหนังจะเริ่มจากภาพภายนอก/มุมกว้าง (Establishing Shot) นำเข้าสู่สถานที่ที่ตัวละครกำลังดำเนินไปถึง อย่างการเดินทางมาเยี่ยมเยียนพี่ชาย Pierre นัดพบเจอ ณ Café Pressbourg ตั้งอยู่ 3 Avenue de la Grande Armée (ปัจจุบันกลายเป็นภัตตาคารไปแล้ว) เริ่มต้นจากภาพประตูชัย (Arc de triomphe de l’Étoile) แพนนิ่งมาหน้าร้าน แล้วทำการ Cross-Cutting ขณะที่ Anne ก้าวย่างมาถึง
หนึ่งในลีลา ‘mise-en-scène’ ที่พบเห็นบ่อย และได้รับอิทธิพลเต็มๆจาก Hitchcockian คือการสลับเปลี่ยนทิศทาง-ระยะภาพระหว่างการพูดคุย มักเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนหัวข้อสนทนา ถ้าเนื้อหาตึงเครียดจริงจัง ก็มักย่นระยะภาพ Medium Shot → Close-Up (อาจใช้การตัดต่อ ไม่ก็กล้องค่อยๆเลื่อนเข้า) ตรงกันข้ามความผ่อนคลาย จักถอยระยะออกห่างออกจากตัวละคร
- ภาพแรกคือการพูดคุยทักทาย สอบถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างพี่น้อง
- ภาพถัดมาสลับเปลี่ยนมุมกล้อง Anne เล่าถึงความเครียด ชีวิตวุ่นๆวายๆ
- ภาพสามและสี่คือการเข้าเรื่อง! สิ่งที่ Anne ต้องการสอบถามพี่ชาย กล้องเคลื่อนเข้าหาหญิงสาว ก่อนตัดสลับไปมากับภาพ Pierre ระหว่างตอบคำถาม
- การมาถึงของ Ida ทำให้บรรยากาศการสนทนาผ่อนคลายลง กล้องเคลื่อนไหลออก ยังไม่ทันที่ Anne จะได้รับคำตอบใดๆ คั่งๆค้างๆคาๆเอาไว้ แค่ตอบว่าคนรู้จักเท่านั้นเอง
ฉากงานเลี้ยงปาร์ตี้ มันช่างสถานที่เหมาะสำหรับการมารับเชิญ (Cameo) พบเห็นหนุ่มแว่น Claude Chabrol พูดล้อเลียนเทปเพลงของ Juan และผกก. Jacques Rivette นั่งก้มหน้าก้มตา ปิดหูปิดตา แสร้งว่าไม่รับรู้เรื่องอะไร
ตอนผมเห็นนักเขียนชาวอเมริกัน Philip Kaufman สาดไวน์ใส่เฟรมผ้าใบ (ที่สำหรับใช้วาดรูป) ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ La Belle Noiseuse (1991) อีกผลงานชิ้นเอกของผกก. Rivette ความยาวเกือบสี่ชั่วโมงที่พยายามวาดภาพตัวตนแท้จริงของมนุษย์! … เฟรมผ้าใบที่ว่างเปล่า สามารถสะท้อนถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ มันอาจจะมีหรือไม่มีอะไร องค์กรลึกลับมีตัวตนหรือไม่ แต่สิ่งที่ผกก. Rivette พยายามนำเสนอก็คือสาดน้ำ สาดไวน์ ทำให้ดูเหมือนว่ามันมีอะไร (ในความไม่มีอะไร)
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าภาพงานเลี้ยง Bernard เรียกตัว Philip มาสนทนาด้านหลังเฟรมผ้าใบ เรียกร้องขอให้เขาหาสถานที่ลงหลักปักฐาน ไม่ใช่เอาแต่อุดอู้คุดคู้อยู่ในอพาร์ทเม้นท์ของตนเอง นี่ถือเป็นการเปิดเผยตัวตนแท้จริง(ข้างหลังภาพ)ของเจ้าของห้อง
ดราม่าเล็กๆระหว่าง Anne กำลังจะหนีกลับห้อง พอลงจากบันไดหยุดยืนตำแหน่งพอดิบพอดีกับภาพวาด ผมขี้เกียจหาข้อมูลว่าผลงานใคร แต่ลักษณะเหมือนชายคนหนึ่งกำลังนั่งคอย เหมือนเป็นการบอกใบ้ผู้ชมว่ากำลังจะมีเหตุการณ์คาดไม่ถึงบังเกิดขึ้น
ผมไม่ได้สนใจเหตุการณ์ที่ Philip ตบหน้า Terry จนทำให้ Gérard ต้องเข้ามาขัดขวาง แต่คือห้องโถงแห่งนี้ช่างดูคุ้นตายิ่งนัก! เคยพบเห็นตอนหนังสั้น Le Coup du berger (1956) ถ่ายทำยังอพาร์ทเม้นท์ของ Claude Chabrol และรูปปั้นแกะสลักใบหน้า ตั้งอยู่ตำแหน่งเดิมเป๊ะๆ
ส่วนภาพวาดด้านหลังของ Terry Yordan ผมดูไม่ออกว่าผลงานใคร แต่มีลักษณะเหมือน Impressionism หญิงสาวในรูปต่างก้มหน้าก้มตา เหมือนกำลังไว้อาลัยให้กับบางสิ่งอย่าง หรือใครบางที่ตายจากไป … ในกรณีของ Terry แม้ขณะนี้เปลี่ยนมาคบหา Gérard แต่ลึกๆยังเศร้าโศกาต่อการจากไปของ Juan (อดีตคนรักเก่า)
Anne พบเจอกับ Jean-Marc ยัง Place de la Sorbonne หรือ Sorbonne square จัตุรัสตั้งอยู่ Latin Quarter, 5th arrondissement สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1639 โดยกล้องจะเคลื่อนเลื่อนมาจากฟากฝั่งตะวันออก Sorbonne Chapel นั่นแสดงให้เห็นว่าเพื่อนสนิทคนนี้ราวกับที่พึ่งทางใจ … ช่วงท้ายของหนังเมื่อ Anne ไม่สามารถพึ่งพิงใคร ก็หวนกลับมาหา Jean-Marc ให้เขาช่วยติดตามหา Gérard
ส่วนสถานที่ที่ทั้งสองรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันคือ จัตุรัส Place Saint-Sulpice ตั้งอยู่ Latin Quarter, 6th arrondissement สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1754 และด้านหลังยังถ่ายติดโบสถ์ Church of Saint-Sulpice สถาปัตยกรรม Baroques สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1646 กว่าจะเสร็จสิ้นก็ ค.ศ. 1870
ผมจับมัดรวมสี่สถานที่ที่ซักซ้อมการแสดง (Rehearsal) ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่สังเกตว่าจะมีวิวัฒนาการ ขยายขนาดใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จากห้องเล็กๆ (รองรับผู้ชมหลักสิบ) สู่เวทีกลางแจ้ง (หลักร้อย) และโรงละคอนเวที (หลักพัน)
- Anne และ Jean-Marc เดินทางไปหา Gérard กำลังซักซ่อมอยู่ในห้องโถงเล็กๆตั้งอยู่ Montmartre, 15 rue Ravignan ในขณะที่ Jean-Marc ขอถอนตัวออกจากคณะ Anne กลับถูกโน้มน้าว ชักชวน ให้ร่วมทำการแสดง
- หลังจาก Gérard โน้มน้าว Anne ให้ตอบตกลงเป็นนักแสดง ทำการซักซ้อมยังเวทีกลางแจ้ง ณ Montmartre, rue Gabrielle
- การซักซ้อมครั้งถัดมายัง Maison des Jeunes ตั้งอยู่ 12 rue Bossuet
- สถานที่สุดท้ายคือโรงละคอน Théâtre Sarah-Bernhardt (เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Théâtre de la Ville ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967) สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1862 ออกแบบโดยสถาปนิก Gabriel Davioud บรรจุผู้ชมได้ 1,600-1,750 คน
ขอกล่าวถึงบทละคอน Pericles, Prince of Tyre บทละคอน 5 องก์ ที่เชื่อกันว่า William Shakespeare ประพันธ์เพียงครึ่งหลังตั้งแต่องก์สาม 827 บรรทัด ขณะที่สององก์แรก 835 บรรทัด อาจเป็นผลงานประพันธ์ของ George Wilkins เพราะมีลีลาการเขียนแตกต่างจากสไตล์ของ Shakespeare … รวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1906
- องก์หนึ่ง, เริ่มต้นจากนักกวี Gower เล่าเรื่องเกี่ยวกับ King Antiochus ผู้มีความสัมพันธ์ทางเพศ (Incest) กับบุตรสาว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะถ้ามีใครสามารถขบไขปริศนา(ที่เป็นไม่ได้)จะยินยอมให้แต่งงาน แต่ถ้าบุคคลนั้นตอบผิดจะต้องถูกประหารชีวิต, Prince Pericles of Tyre สามารถขบไขปริศนาดังกล่าวได้ แล้วตระหนักว่าถ้าพูดคำตอบออกมา(ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง King Antiochus กับบุตรสาว)ตนเองก็จักถูกประหารชีวิตอยู่ดี จึงตัดสินใจหลบหนีหัวซุกหัวซุนออกนอกประเทศ
- องก์สอง, Prince Pericles ระหว่างล่องเรือกลางมหาสมุทร พายุโหมกระหน่ำ ทำให้เรืออับปางลอยไปเกยตื้นยังหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่ง จากนั้นได้รับชักชวนเข้าร่วมงานเลี้ยงเฉลิมฉลองวันเกิด Thaisa บุตรสาวของ King Simonides ละเล่นเกมการต่อสู้บนหลังม้า (Jousting) จนได้รับชัยชนะ แต่งงานกับเจ้าหญิง และพอได้ยินข่าวเสียชีวิตของ King Antiochus จึงครุ่นคิดเดินทางกลับบ้าน
- องก์สาม, แต่ระหว่างก็พบเจอพายุโหมกระหน่ำ (อีกแล้ว) พอดิบพอดีภรรยา Thaisa ให้กำเนิดบุตรสาวจนเสียชีวิต จึงนำเธอใส่โลงศพปิดผนึกแน่นหนา แล้วมอบทารกแรกเกิด Marina ให้กับนางพยาบาล Lichorida ฝากฝังเพื่อสนิท Cleon & Dionyza เป็นผู้เลี้ยงดูแล ส่วนตนเองเดินทางกลับ Tyre แต่เพียงลำพัง, เช้าวันถัดมามีผู้พบโลงศพ ณ ชายฝั่ง Ephesus ปรากฎว่าเจ้าหญิงยังมีชีวิตอยู่ ครุ่นคิดว่าสามีและบุตรคงลาจากโลกนี้ไป เลยอุทิศตนให้เทพเจ้า Goddess Diana
- องก์สี่, นักกวี Gower เล่าว่าสิบห้าปีผ่านไป Marina เติบโตพร้อมกับ Philoten บุตรสาวของ Cleon & Dionyza แต่ความสวยสาวของเธอทำให้มารดา Dionyza เกิดความอิจฉาริษยา จึงครุ่นคิดจะฆ่าปิดปาก แต่บังเอิญขณะนั้นโจรสลัดบุกมาลักพาตัว ขายต่อให้แม่เล้าที่ Mytilene เพื่อกลายเป็นโสเภณี มีบุรุษมากมายหมายปอง กลับถูกเธอโน้มน้าวให้กลายเป็นคนใหม่ คนแล้วคนเล่า จนแม่เล้าต้องยินยอมให้เธอกลายเป็นสาวรับใช้ ร่ำเรียนการเย็บปักถักร้อย ร้องรำทำเพลง, ขณะที่ Pericles เมื่อเดินทางไปเยี่ยมเยียนบุตรสาว พบเห็นสุสาน(ปลอม)จึงรู้สึกตรอมใจ ออกล่องเรืออย่างไร้จุดมุ่งหมายจนมาถึง Mytilene ผู้ว่าการ Lysimachus มาเฝ้ารอคอยต้อนรับ และแนะนำให้รู้จักสาวรับใช้ Marina
- องก์ห้า, ในตอนแรก Pericles จดจำเธอไม่ได้ แต่พอรับฟังประวัติความเป็นมา ถึงค่อยตระหนักว่านี่คือบุตรสาวของตนเอง และค่ำคืนนั้นเทพเจ้า Goddess Diana มาเข้าฝัน วันถัดมาจึงออกเดินทางสู่ Ephesus เลยได้พบเจอภรรยา Thaisa เมื่อครอบครัวอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า จึงล่องเรือออกเดินทางกลับสู่ Tyre อย่าง Happy Ending
สำหรับฉากการแสดงของ Anne คือ Act IV, Scene I เมื่อตอน Marina อายุ 14-15 ปี พร่ำเพ้อรำพันถึงตอนถือกำเนิด ลมเหนือพัดมาอย่างคลุ้มคลั่ง ทั้งยังสูญเสียมารดา ชีวิตเธอไม่ต่างจากคลื่นลมมรสุม พัดพาทุกสิ่งอย่างกระจัดกระจาย ไม่รู้จะมีโอกาสอยู่พร้อมหน้ากันเมื่อไหร่
Ay me! poor maid,
Born in a tempest, when my mother died,
This world to me is like a lasting storm,
Whirring me from my friends.Is this wind westerly that blows?
When I was born, the wind was north.
My father, as nurse said, did never fear,
But cried ‘Good seaman!’ to the sailors, galling
His kingly hands, haling ropes;
And, clasping to the mast, endured a sea
That almost burst the deck.
แม้จะไม่เห็นหน้าชัดเจน แต่ผมพบเจอว่าบุคคลที่ถูกรถชนก็คือผกก. Rivette ซึ่งก่อนหน้านี้ในงานเลี้ยงปาร์ตี้ รับบทผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาว Romanian ท่าทางลับๆล่อๆ พยายามปิดหูปิดตา เลยคาดว่าถูกฆ่าปิดปาก หรือมองว่าแค่อุบัติเหตุรถชนก็ได้เหมือนกัน
แซว: นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผกก. Rivette ถูกรถชนเสียชีวิต! เมื่อครั้น Breathless (1960) ก็มีฉากคล้ายๆเดียวกันนี้รถเต่า Renault 4CV พุ่งเข้าชนรถสกู๊ตเตอร์ตรงสี่แยก Rue Vernet และ Avenue George V (หน้าร้าน Roneo)
หลังพบเห็นความตายของชายแปลกหน้า Philip ลากพา Anne ออกเดินอย่างรวดเร็ว จากสถานที่แห่งหนึ่ง Cross-Cutting ไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง จนเธอต้องพูดบอกจะรีบไปไหน ถึงค่อยเดินช้าลง จากนั้นพูดพร่ำทฤษฏีสมคบคิดเกี่ยวกับองค์กรลึกลับที่อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง โดยสถานที่สุดท้ายที่พวกเขามานั่งพักคือจัตุรัส Place Saint-Sulpice ตั้งอยู่ทางตะวันออกของ Church of Saint-Sulpice ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1754
ความน่าสนใจของน้ำพุ Fontaine Saint-Sulpice บ้างเรียกว่า Fountain of the Four Cardinal Points (Fontaine des Quatre Points Cardinaux ) แต่ทั้งสี่ทิศประกอบด้วยสี่มุขนายก (Bishop) ไม่มีใครสักคนได้ขึ้นเป็นพระราชาคณะ (Cardinal) … นี่เป็นการแอบบอกใบ้เรื่องเล่าของ Philip ว่าคงไม่แตกต่างจากเบื้องหลังน้ำพุแห่งนี้!
ในห้องพักของ Philip เต็มไปด้วยภาพวาดที่ทำให้ผมนึกถึงเกม Pac Man อ้าปากกว้าง ฟันแหลมคม พร้อมที่จะกัดกลืนกิน ทำลายล้างศัตรู นั่นแสดงถึงวันๆเอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงองค์กรลึกลับ ที่พร้อมกำจัดบุคคลทำบางสิ่งอย่างขัดแย้งต่ออะไรสักอย่าง
ทางฟากฝั่ง Anne ก็มีภาพวาดเหมือนกัน แต่มีการแต่งแต้มลงสีสัน และปริมาณ(รูปภาพ)ไม่มากเท่า Philip เพราะเธอยังไม่ได้รับรู้จักผู้คนมากมาย ความเสี่ยงอันตรายจึงยังน้อยกว่า … แต่ต้องถือว่าได้รับรู้อะไรบางอย่างบ้างแล้ว จึงเริ่มถูกสอดแนม สอดส่อง อยู่ในความสนใจขององค์กรลึกลับ
Anne พบเจอกับ Gérard ณ Pont des Arts สะพานคนเดินเท้าข้ามแม่น้ำ Saine ในกรุง Paris เชื่อมต่อระหว่าง Institut de France และ Palais du Louvre สร้างขึ้นราว ค.ศ. 1802-04 และถูกสร้างใหม่ช่วงปี ค.ศ. 1981-84 (โครงสร้างทรุดโทรมตามกาลเวลา) โด่งดังกับตำนาน “สะพานคู่รัก” คนหนุ่มสาวนิยมนำกุญแจสลักชื่อมาแขวนไว้กับราวสะพาน และโยนลูกกุญแจลงแม่น้ำเพื่อเป็นการแสดงคำมั่นสัญญาในรัก
แม้ขณะนี้ Gérard จะไม่ได้บอกรักกับ Anne แต่เขาพยายามโน้มน้าว ครอบงำ (ถ่ายมุมก้ม) ขอให้เธอตอบตกลงเป็นนักแสดง ซึ่งหญิงสาวก็มีปฏิกิริยาเขินอาย อยากตอบปฏิเสธเพราะรับรู้ว่าตนเองไม่ได้เหมาะสมกับบทบาท ถึงอย่างนั้นกลับมิอาจหักห้ามใจตนเองให้ตกหลุมรัก
ตั้งแต่ที่ Gérard เริ่มอธิบายเหตุผล ความสนใจในบทละคอน Pericles, Prince of Tyre สังเกตว่ามุมกล้องจะถ่ายติดท้องฟ้า ก้อนเมฆ (เพื่อสื่อถึงความใฝ่ฝัน) และมุมกล้องยังสลับฟากฝั่งมาถ่ายติดอีกด้านของสะพาน
Everyone says I’m crazy, even Terry, but the reason I want to stage it is because it’s “unplayable.” But I don’t care. It’s shreds and patches, yet it hangs together overall. Pericles may traverse kingdoms, the heroes are dispersed, yet they can’t escape. They’re all reunited in Act V. I want to show that…
It shows a chaotic but not absurd world, rather like our own, flying off in all directions, but with a purpose.
ประโยคสุดท้ายที่ผมทำตัวหนาเอาไว้ คือคำอธิบายที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างบทละคอน Pericles กับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่การดำเนินเรื่องอาจดูสะเปะสะปะ วุ่นๆวายๆ กระจัดกระจาย แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนเคลือบแฝงด้วยเหตุผล ผู้ชมต้องคอยสังเกต ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ นำเอาทุกสิ่งอย่างมาแปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน
แม้ว่า Anne จะตอบตกลงเล่นบท Marina แต่ระหว่างการซักซ้อมยังเวทีกลางแจ้ง จิตใจกลับไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว มัวแต่ครุ่นคิดถึงแต่การค้นหาเทปเพลงของ Juan จนท่องบทสลับท่อน “When I was born, the wind was north.” ต้องต่อด้วย “My father, as nurse said, did never fear,” แต่ดันย้อนกลับไปพูดประโยคก่อนหน้า “Ay me! poor maid, Born in a tempest, when my mother died” มันราวกับว่า Anne หมกมุ่นอยู่กับการถือกำเนิดท่ามกลางพายุมรสุม คือสิ่งที่ไม่มีใครสามารถควบคุม
‘mise-en-scène’ ระหว่างที่ Anne เดินทางไปหาแฟนสาว/ภรรยาของ Juan ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว สังเกตว่าเธอเดินวนไปวนมารอบห้อง (ตรงกันข้ามกับ Anne ที่ส่วนใหญ่จะยืนแน่นิ่ง ขยับเดินเมื่อต้องการสอบถามบางอย่าง) แสดงถึงความร้อนรน กระวนกระวาย ยังไม่สามารถทำใจยินยอมรับความจริงที่ชายคนรักแอบไปสานสัมพันธ์กับ Terry แล้วฆ่าตัวตายด้วยเหตุผลอะไรไม่ทราบได้
ซีเควนซ์ที่ Anne เดินทางไปพบเจอจิตแพทย์ Dr. de Georges แต่ตลอดทั้งซีเควนซ์กลับให้ความสนใจหญิงสาว/ผู้ป่วยที่ดูยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถอดรองเท้าเดินย่องเข้ามาในห้อง ท่าทางระริกระรี้ พยายามเรียกร้องความสนใจ (จากทั้ง Dr. de Georges และผู้ชม) ดูราวกับว่าทั้งสองเหมือนมีลับลมคมในอะไรบางอย่าง (ทางเพศ) … บางคนคาดการณ์ว่า Dr. de Georges คือสมาชิกองค์กรลึกลับ บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง! หรือจะตีความถึงจิตแพทย์ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการพร่ำเพ้อ หลงผิด ประสาทหลอน (Paranoid) ทั้ง Philip, Terry, Gérard, Juan, Pierre ฯ
ปล. ผมครุ่นคิดว่า Anne จงใจวางลืมถุงมือไว้ที่ห้องของ Dr. de Georges เพื่อว่าจะได้หาข้ออ้าง แอบเข้าไปในห้อง สืบค้นข้อมูลความลับ แต่กลับถูกเขาจับได้อย่างรวดเร็ว!
Pierre พายามอธิบายกับน้องสาว Anne ว่าตนเองเคยทำงาน/เป็นสายให้กับ Dr. de Georges เพราะต้องการช่วยเหลือผองเพื่อน Philip, Terry, Gérard, Juan ฯ ต่างมีอาการทางจิต ครุ่นคิดว่าองค์กรลึกลับมีอยู่จริง ตนเองเป็นพวก Realist ไม่ใช่ Illusionist และบอกกับเธออย่าหลงผิดไปกับคนเหล่านั้น
หลังการพูดคุยดังกล่าว ทุกคนพากันขึ้นบันไดชั้นบน สู่ห้องโถงใหญ่เพื่อซักซ้อมการแสดง หรือจะเรียกว่าดินแดนแห่งมายาคติ (ชั้นล่าง = Realist, ชั้นบน = Illusionist) ช่างมีความแตกต่างตรงกันข้ามกับโถงทางเดินชั้นล่างโดยสิ้นเชิง!
ห้องพักของ Birgitta (อยู่ติดกับห้องของ Philip) เพราะเธอคือนางแบบ (Modelling) จึงเต็มไปด้วยรูปถ่ายของตนเอง ซึ่งหนังยังร้อยเรียงชุดภาพของเธอในลักษณะ ‘Montage’ ปรากฎขึ้นอยู่บ่อยครั้งตลอดทั้งซีเควนซ์ เหมือนเพื่อให้ผู้ชมบังเกิดความประทับใจต่อตัวละคร … แต่ว่ากันตามตรงผมไม่ค่อยเห็นถึงความจำเป็น นั่นเพราะ Birgitta เพียงแค่บุคคลชี้ทางให้ Anne ไม่ได้มีความสลักสำคัญไปมากกว่านั้น
Anne และ Birgitta เดินทางมาพบเจอเพื่อนของ Juan รับบทโดย Jean-Luc Godard (ใช้นามปากกา Hans Lucas) ยังคาเฟ่หน้าโรงแรม Hôtel Royal Saint-Germain ตั้งอยู่ยัง 159 Rue de Rennes
เป้าหมายการสนทนานี้ก็เพื่อสอบถามถึงเทปเพลง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ เพียงชี้ทางต่อถึงนักแสดง Tania Fedin ซึ่งก็ไม่รู้อาศัยอยู่แห่งหนไหน ถึงอย่างนั้นความยียวนกวนประสาทตามสไตล์ Godard พยายามชักชวน Birgitta คืนนี้ว่างหรือเปล่า? … ผมว่าผกก. Rivette น่าจะเขียนเหตุการณ์นี้จากสิ่งที่ Godard เคยกระทำจริงๆ เอามาล้อเล่นกันภาพยนตร์
เมื่อครั้น Gérard ประกาศต่อสมาชิกว่าสามารถติดต่อโรงละคอน ได้สถานที่สำหรับทำการแสดง ทุกคนต่างดีอกดีใจยกเว้นเพียง Terry จู่ๆพูดบอกเลิกราอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ผมเองก็ไม่สามารถทำความเข้าใจว่าเหตุใดเธอถึงสำแดงปฏิกิริยาเช่นนั้น? หวาดกลัวการสูญเสีย? ย้อนรอยเหตุการณ์เคยบังเกิดขึ้นกับ Juan?
สถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นอพาร์ทเม้นท์ของ Gérard แต่ให้ลองสังเกตรูปภาพติดฝาผนัง เหมือนจะเพียงแค่กระดาษขาวๆ ว่างเปล่า ก็ไม่รู้จะสื่อถึงตัวตนของเขา หรือสภาพจิตใจของ Terry ที่หลงเหลือเพียงความเวิ้งว่างเปล่า
พบเห็น Gérard เดินบนหลังคา ชวนให้ผมนึกถึงโคตรหนังสั้น Dada เรื่อง Entr’acte (1924) กำกับโดย René Clair ที่มีทั้งปืนใหญ่, Marcel Duchamp กับ Man Ray เล่นหมากรุกอยู่บนชั้นดาดฟ้า, ถ่ายภาพมุมสูงกรุง Paris พลิกกลับไปกลับมา ด้วยจุดประสงค์ (ของกลุ่มเคลื่อนไหว Dadaism) เพื่อเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ให้กับผู้ชม
Gérard นัดพบเจอ Anne ยัง Café ในโรงละคอน Théâtre Sarah-Bernhardt ซีนนี้ก็มี ‘mise-en-scène’ ไม่แตกต่างจากซีนอื่นๆ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกน่าสนใจก็คือน้ำแร่ Vittel (ยังมีขายถึงปัจจุบัน)
- Gérard บอกกับ Anne ว่าโรงละคอนเรียกร้องขอให้เปลี่ยนแปลงบางสิ่งอย่าง = พนักงานเข้ามาเสริฟน้ำแร่
- จำเป็นต้องเลือกนักแสดงมีชื่อในการแสดง = Gérard เลื่อนแก้วน้ำมาให้ Anne
- Anne ยกน้ำขึ้นดื่ม ทำเหมือนไม่สะทกทะท้าน แต่ภายในย่อมรู้สึกผิดหวัง (ดื่มน้ำเพื่อคลายความร้อนรนจิตใจ)
- มุมกล้องเคลื่อนเปลี่ยนทิศทางหลังจาก Gérard กล่าวขอโทษ และ Anne ก็พูดขอโทษเช่นเดียวกันที่ยังไม่สามารถหาเทปเพลงของ Juan (เปลี่ยนมุมกล้อง=เปลี่ยนหัวข้อสนทนา)
- สุดท้ายกล้องหวนกลับมามุมเดิมหลังจาก Gérard ครุ่นคิดแผนการให้ Anne มาเป็นนักแสดงฝึกหัด (Understudy) ทำให้จิตใจหญิงสาวสงบเย็นลง
แทบจะทุกฉากในหนังล้วนต้องพบเห็น Anne (เพราะเรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองของเธอ) ยกเว้นเพียงครั้งนี้ที่ถ่ายทำในอพาร์ทเม้นท์ของ Terry กักขังตัวอยู่ในห้อง ไม่ยินยอมออกไปไหน เพียงรับโทรศัพท์ (ของ Anne) แล้วปฏิเสธไม่ต้องการพบเจอหน้า! … ภาพแรกในอพาร์ทเม้นท์ของ Terry ถ่ายติดโทรศัพท์ จะมองว่านั่นคือมุมมองของ Anne ก็ได้กระมัง
เอาจริงๆจะถ่ายมุมมองของ Anne โทรศัพท์หา Terry แล้วได้รับคำตอบปฏิเสธก็ได้ แต่หนังคงต้องการนำเสนอปฏิกิริยาของเธอ มีความร้อนรน กระวนกระวาย เดินไปเดินมา นั่นแสดงว่ายังคงรัก คงโหยหา Gérard ไม่ได้ต้องการจะเลิกรา แต่ทว่าถ้าไม่ทำแบบนี้คงมิอาจตัดสินใจยินยอมรับโชคชะตาของเขา
ณ โรงละคอน Théâtre Sarah Bernhardt แม้ว่า Gérard นั่งกำกับอยู่ฟากฝั่งผู้ชม แต่ตำแหน่งของเขากลับต่ำเตี้ยที่สุดในสถานที่แห่งนี้ เลยมักถูกกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ นักแสดงเสนอแนะโน่นนี่นั่น ผู้จัดการโรงละคอนเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนนั่นโน่นนี่ กลายเป็นบุคคลไร้สิทธิ์เสียง ไม่สามารถทำอะไรได้ตามวิสัยทัศน์ของตนเอง
นักแสดง Tania Fedin คือบุคคล(แปลกหน้า)สุดท้ายที่ Anne เดินทางมาพบเจอ สอบถามไถ่ถึงเทปเพลงของ Juan แต่ปฏิกิริยาแสดงออก ถ้อยคำพูดของเธอช่างดูห่อเหี่ยว สิ้นหวัง รำพันถึงวันสิ้นโลก ความตายที่ไม่มีใครหลบหนีพ้น
- ผูกไม้ดามหลัง เพราะเชื่อว่าถ้าร่างกายตั้งตรง (Body is upright) จิตวิญญาณก็เฉกเช่นเดียวกัน (so is the soul)
- ดาว Absinthe หรือ Wormwood อ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิล พันธสัญญาใหม่ หนังสือวิวรณ์ กล่าวถึงดวงดาว/ลูกไฟขนาดใหญ่ตกลงมาบนโลก ในวันที่สามของวันสิ้นโลก
หาได้ยากมากๆที่ Jacques Demy จะมารับเชิญ (Cameo) ปรากฎตัวในภาพยนตร์ ซึ่งเรื่องนี้เขาแทบไม่ได้ทำอะไร เปิดประตู เดินเข้ามาในห้อง พร้อมขนมปังและไวน์ (กายและเลือดของพระเจ้า) สุดท้ายพูดว่า “Ham” คั่นระหว่าง (ภรรยา) “Await his return. Be patient.” และ (Anne) “I can’t wait. I give up.”
Ham คำเรียกนักแสดงที่ชอบเล่นเกินบทบาท ใส่อารมณ์มากเกินความจำเป็น … น่าจะเป็นการสื่อถึง Anne ที่ไม่สามารถอดรนทน ควบคุมตนเอง ต้องการรับรู้ ค้นหาคำตอบ เทปเพลงอยู่ไหน? องค์กรลึกลับมีอยู่จริงหรือไม่? สิ่งเหล่านี้หาใช่ภาระหน้าที่ของเธอแม้แต่น้อย!
ย้อนรอยกับตอนต้นเรื่อง กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนจากนอกอพาร์ทเม้นท์ เข้ามาภายในห้องพักของ Anne พบเห็นกำลังอ่านบทละคอน Shakespeare แต่คราวนี้ได้ยินเสียง Gérard เคาะประตู เข้ามาในห้อง นั่งตรงเตียงนอน บอกว่าลาออกจากการเป็นผู้กำกับละคอนเวที
เมื่อชีวิตไม่หลงเหลืออะไรให้พึ่งพักพิง Gérard จึงพยายามเกี้ยวพาราสี ขายขนมจีบ Anne แต่คำตอบของเธอขณะยืนอยู่ตรงกระจก ภาพสะท้อนความรู้สึกภายใน “If I love you, is that your affair?” นั่นคือคำตอบปฏิเสธที่เหมือนการตบหน้าอีกฝ่าย ขณะนี้ฉันมีเรื่องวุ่นๆวายๆในจิตใจอยู่มากมาย สังเกตจากภาพวาดติดตรงฝาผนัง Modigliani: Elvira with White Collar ถูกกระดาษโครงร่างมนุษย์ของ Philip แปะทับอยู่ … นั่นแสดงถึงอิทธิพล/ความเชื่อ/ทฤษฎีสมคบคิดของ Philip ได้ซึมซับเข้ามาในจิตวิญญาณของ Anne จึงไม่สามารถตอบรับรัก Gérard
ปล. การตอบปฏิเสธของ Anne สามารถมองในทิศทางตรงกันข้ามกับตอนที่เคยตอบรับเป็นนักแสดงของ Gérard ณ สะพาน Pont des Arts … หนังของผกก. Rivette ประกอบด้วยสองสิ่งตรงกันข้ามเสมอๆ
ดึกดื่นกลับมาห้องพัก Anne ได้รับจดหมายของ Gérard ระบุจะฆ่าตัวตายถ้าเธอไม่ติดต่อไปก่อนเที่ยงคืน แต่ขณะนั้นเลยเวลาไปแล้วจะให้ฉันทำยังไง? เหม่อมองออกนอกหน้าต่าง แสดงถึงความห่วงหา ลุ่มร้อนทรวงใน แต่กลับมานั่งอ่านหนังสือ ภาพสะท้อนกระจกสำแดงความเยือกเย็นชา เชื่อมั่นว่านี่คงเป็นการละเล่นเกมเรียกร้องความสนใจของฝ่ายชาย
ถึงอย่างนั้นเมื่อตะวันขึ้น Anne ก็เร่งรีบออกเดินทางไปยังห้องของ Gérard ปรากฎว่าประตูล็อคจึงขอความช่วยเหลือจาก Jean-Marc พบเจอกับ Terry ในห้องที่มีปกคลุมด้วยความมืดมิด ได้รับคำแนะนำไม่ต้องสนใจอะไร น่าจะแค่เกมละเล่นของอีกฝ่าย แล้วเดินไปเปิดเทปเพลงของ Juan จากนั้นพูดเล่าทฤษฎีสมคบคิดตามคำสันนิษฐานของ Philip … ผมขี้เกียจอธิบาย ‘mise-en-scène’ แต่ให้ข้อสังเกตว่า Terry มักหลบซ่อนในเงามืด ขณะที่ Anne จักต้องอาบแสงสว่างนิดๆหน่อยๆ (ไม่จำเป็นต้องอาบทั้งตัว บางครั้งแค่นิดๆหน่อยๆบนเสื้อคลุมก็ใช้ได้) เพราะจิตใจของเธอยังไม่ได้ถูกกลืนกินโดยองค์กรลึกลับนั้น
ระหว่างแท็กซี่กำลังดำเนินไปเรื่อยๆ Anne หันไปพบเจอ Gérard กำลังโอบกอด จะจุมพิตกับ Minna (หนึ่งในนักแสดงของคณะ) พอส่งจดหมายให้อ่าน ตัดสลับมุมกล้อง ฉันนะหรือจะเขียนจดหมายแบบนี้? … เราสามารถตีความได้ทั้ง
- Gérard ไม่ใช่คนเขียนจดหมาย แต่ใครกัน? ซึ่งมีแนวโน้มบุคคลนั้นอาจเป็นผู้ลงมือฆาตกรรม
- หรือจะมองว่าเขากำลังหลอกตนเองอยู่ขณะนี้ เป็นคนเขียนจดหมาย พอถูกจับได้คาหนังคาเขา เลยเกิดความอับอาย สิ้นหวัง นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
ผกก. Rivette น่าจะมีความหลงใหล Metropolis (1927) ของ Fritz Lang อยู่ไม่น้อยเลยละ! เลือกนำฟุตเทจปรัมปรา Babel Tower มนุษยชาติต้องการสร้างหอเทียมฟ้า ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน พระเจ้าทรงพิโรธที่มนุษย์สำแดงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง จึงสาปส่งให้พวกเขาไม่สามารถสื่อสารเข้าใจกันและกัน ก่อกำเนิดภาษาทั่วทั้งแผ่นดิน สร้างความขัดแย้ง สงคราม หอคอยพังถล่มลงมา
ฉันท์ใดฉันท์นั้น องค์กรลึกลับคือสิ่งที่ตัวละครทั้งหลายครุ่นคิดสรรค์สร้างขึ้น มันมีอยู่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่กลับสร้างความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นแตกต่าง บังเกิดหายนะ และนำสู่ความตาย
หลังดูฟุตเทจดังกล่าวเสร็จสิ้น Anne ได้รับโทรศัพท์จาก Terry บอกว่า Gérard เสียชีวิต! ภาพวาด Abstract ด้านหลังน่าจะพรรณาความรู้สึกของเธอขณะนี้ เกิดความสับสน วุ่นวาย ไม่เป็นรูปเป็นร่าง ไม่รู้จะทำอะไรยังไง
เมื่อเดินทางมาถึงห้องพัก (ก็ไม่รู้ของ Terry หรือ Gérard) พบเห็นร่างของเขานอนอยู่บนเตียง ช่างดูละม้ายคล้ายภาพวาด Lamentation of Christ หรือ Lamentation over the Dead Christ (1475-1501) ผลงานของ Andrea Mantegna (1431-1506) จิตรกรสัญชาติ Italian Renaissance … ภาพวาดของ Mantegna มีสามคนที่อยู่เคียงข้างพระเยซู ประกอบด้วย Saint John, พระแม่มารี และ Mary Magdalene พอดิบพอดีกับสามตัวละคร Philip, Terry และ Anne
ความตายของ Gérard ทำให้ใครต่อใครอพยพหลบหนีสู่ชนบท ตกอยู่ในความซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง ราวกับวันโลกาวินาศ แล้วโดยไม่รู้ตัว Terry สถาปนาตนเองเป็นผู้พิพากษา ตัดสินโทษประหาร Pierre เพียงเพราะเคยทำให้กับคนนอก ทรยศหักหลังพวกพ้อง เลยต้องถูกกำจัดให้พ้นภัยพาล … แต่องค์กรลึกลับมันก็แค่แนวความคิด จินตนาการของ Philip เท่านั้นไม่ใช่หรือ? เช่นนั้นแล้วความตายของ Pierre เคยกระทำผิดอะไร? มันช่างไร้เหตุผล ไม่มีความหมายเลยสักนิด!
Anne รำพันประโยคพูดของ Marina จากบทละคอน Pericles, Prince of Tyre กล่าวว่า “Is this wind westerly?” นี่ถือเป็นวิวัฒนาการเรื่องราว จากซักซ้อมละคอนเวที แต่แทนที่เธอจะได้ขึ้นเวทีทำการแสดง ขณะนี้แปรสภาพสู่เหตุการณ์เกิดขึ้นในชีวิตจริง! หญิงสาวกำลังทบทวนความทรงจำ ชีวิตที่ผ่านมาราวกับพายุมรสุม ปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง ถึงอย่างนั้นเธอยังสามารถสงบจิตสงบใจ สำแดงจิตวิญญาณอันเข้มแข็ง “did never fear, but cried ‘Good seaman!'”
Is this wind westerly that blows?
My father, as nurse said, did never fear,
But cried ‘Good seaman!’ to the sailors, galling
His kingly hands, haling ropes;
And, clasping to the mast, endured a sea
That almost burst the deck.
ในบทละคอน Pericles ตัวละคร Marina เหม่อมองท้องทะเล รำพันถึงบิดาที่อยู่ห่างไกล, ฉบับภาพยนตร์ Anne เหม่อมองนกบินโฉบพื้นผิวแม่น้ำ Seine หวนระลึกถึงคนรัก/พี่ชาย ช่วงเวลาเลวร้ายทั้งหลายที่ผ่านพ้นไป
ตัดต่อโดย Denise de Casabianca (1931-2020) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Rififi (1955), แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Jacques Rivette ผลงานเด่นๆ อาทิ Paris Belongs to Us (1961), The Nun (1966), Out 1: Spectre (1972), The Mother and the Whore (1973) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Anne Goupil เพิ่งเดินทางมาถึงกรุง Paris ได้ยินข่าวคราวการเสียชีวิตของ Juan ว่าอาจเกี่ยวข้องกับองค์กรลึกลับ ทีแรกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เมื่อพบปะผู้คน รับฟังทฤษฎีสมคบคิด จึงบังเกิดความหมกมุ่น มุ่งมั่น ต้องการขบไขปริศนา ค้นหาข้อเท็จจริง
- Anne Goupil ทำความรู้จักบุคคลต่างๆ
- Opening Credit เดินทางมาถึงกรุง Paris
- ระหว่างอ่านหนังสืออยู่ในห้อง ได้ยินเสียงร่ำไห้ของห้องข้างๆ รับรู้ข่าวคราวว่าพี่ชาย Juan ของเพื่อนสาวเพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน
- วันถัดมาพบเจอพี่ชาย Pierre ชักชวนไปร่วมงานเลี้ยง
- ในงานเลี้ยงที่น่าเบื่อหน่าย หนุ่มๆเอาแต่สนทนาอะไรก็ไม่รู้ แต่ระหว่าง Anne กำลังจะเดินทางกลับ พบเห็นนักเขียนอเมริกัน Philip Kaufman ตบหน้าหญิงไฮโซ Terry Yordan
- วันถัดมา Anne นัดพบเพื่อนเก่า Jean-Marc พาไปเจอกับผู้กำกับละคอนเวที Gérard Lenz ชักชวนเธอทำการแสดงบทบาทเล็กๆ
- หลังเลิกซ้อมการแสดง Anne พบเห็น Gérard ขึ้นรถไปกับคนรัก Terry, ส่วนตนเองสวนทางกับ Philip พูดคุยเรื่อยเปื่อย มอบคำเตือนเกี่ยวกับองค์กรลึกลับที่คอยสอดแนมทุกสิ่งอย่าง
- ความอยากรู้อยากเห็น
- เมื่อกลับมาห้องพัก ปรากฎว่าเพื่อนสาวห้องข้างๆได้สูญหายตัวไปอย่างลึกลับ
- เดินทางไปพูดคุยกับพี่ชาย Pierre แต่ก็ไม่ได้แสดงความสนใจสักเท่าไหร่
- เดินทางไปพูดคุยกับ Philip แต่ถูกขับไล่ ผลักไส บอกว่าอย่าไปครุ่นคิดมากอะไร จนกระทั่งการมาถึงของ Terry
- Gérard โน้มน้าวให้ Anne กลายมาเป็นนักแสดงในสังกัด เล่าเหตุผลการเลือกละคอนเวที Pericles และพยายามติดตามหาเทปเพลงของ Juan
- พี่ชาย Pierre แวะเวียนมาหาที่อพาร์ทเม้นท์ Anne บอกว่าจะตอบตกลงเป็นนักแสดง
- กลายเป็นสอดรู้สอดเห็น
- หลายสัปดาห์ถัดมาระหว่างซักซ้อมการแสดง Anne หลงลืมๆ ยังคงจดจำบทพูดตนเองไม่ได้
- Anne เดินทางไปพบเจอแฟนสาวของ Juan พูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น และสอบถามถึงเทปเพลงที่ก็ไม่รู้อยู่แห่งหนไหน
- Anne เดินทางไปหา Dr. de Georges สอบถามเกี่ยวกับ Juan แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
- Anne เดินทางไปซักซ้อมการแสดง แต่ครั้งนี้เหมือนไม่มีใครมีกะจิตกะใจอยากซ้อมสักเท่าไหร่
- กลายเป็นความหมกมุ่น
- Anne เดินทางมาพูดคุยกับ Philip ที่ยังสรรหาข้ออ้างปกปิดเบื้องหลังความจริง
- Anne เข้าร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ที่อพาร์ทเม้นท์ของ Gérard
- Anne ตั้งใจมาหา Philip แต่ได้รับการชักชวนจากเพื่อนข้างห้อง Birgitta มาพูดคุย ทำความรู้จัก
- Birgitta พา Anne มาพูดคุยเรื่องเทปกับเพื่อนของ Juan
- Anne แวะเวียนมาเล่าความคืบหน้ากับพี่ชาย Pierre
- มีการนัดประชุมคณะนักแสดงที่ห้องของ Gérard ประกาศให้รู้ว่ามีโรงละคอนอนุญาตให้ทำการแสดง แต่โดยไม่รู้ตัว Terry ประกาศเลิกรากับ Gérard
- ชีวิตจริงไม่ใช่การแสดง
- Gérard นัดพบเจอ Anne เพื่อบอกว่าเธอไม่จำเป็นต้องเป็นนักแสดงอีกต่อไป
- Terry ปฏิเสธพบเจอกับ Anne
- Anne พยายามโน้มน้าวให้ Philip พูดเล่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้น แล้วจู่ๆมีตำรวจมาตรวจค้นโรงแรม เลยจำต้องหลบหนีเข้าห้องพักของ Birgitta
- การซักซ้อมการแสดงบนเวทีจริง แต่ทว่า Gérard กลับถูกเจ้าของโรงละคอนพยายามปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น
- Anne เดินทางไปพบเจอ Tania Fedin เพื่อสอบถามถึงเทปของ Juan แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
- ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
- Gérard ลาออกจากการเป็นผู้กำกับ พยายามเกี้ยวพาราสี Anne แต่เธอตอบปฏิเสธ
- Anne เดินทางมาเล่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้นให้กับพี่ชาย
- พอกลับมาห้องได้รับจดหมายของ Gérard บอกว่าจะฆ่าตัวตาย
- พยายามติดต่อใครต่อใครแต่ไม่มีใครติดต่อได้ จนต้องเดินทางไปหาเพื่อนเก่า Jean-Marc
- พากันไปยังอพาร์ทเม้นท์ของ Terry (ที่มี Philip หลบซ่อนตัวอยู่)
- Anne พบเจอกับ Gérard กำลังพรอดรักอยู่กับหญิงสาวอีกคน
- รับชมฟุตเทจภาพยนตร์ Metropolis (1927)
- Terry โทรศัพท์มาบอกว่า Gérard ถูกฆาตกรรม/ฆ่าตัวตาย
- ต่างพากันหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ชานเมือง
- Terry ลงมือฆาตกรรม Pierre
- คำพูดทิ้งท้ายของ Terry ก็แล้วแต่จะเชื่อว่าองค์กรลึกลับมีอยู่จริงหรือไม่
หลายคนอาจรู้สึกว่าการดำเนินเรื่องของหนังช่างดูเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า เยิ่นเย้อยืดยาวนาน แต่ผกก. Rivette ให้เวลากับการตัดต่อค่อนข้างนาน (เป็นปีๆ) เพื่อทุกสถานที่ ทุกซีเควนซ์ดำเนินไป ต้องมีความต่อเนื่อง เชื่อมโยง บางสิ่งอย่างสัมพันธ์กัน ลักษณะเหมือนการส่งต่อไม้ผลัด ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็ก ผู้ชมต้องคอยสังเกต ค้นหาว่าเบื้องหลังความจริงซุกซ่อนอยู่แห่งหนไหน … จะมองเป็นหนังสืบสวนสอบสวนก็ไม่ผิดอะไร
ลีลาการตัดต่อจะการใช้สารพัดเทคนิค อาทิ Fast Cutting, Jump Cut, Montage (ร้อยเรียงภาพนางแบบ Birgitta), Reverse Shot ฯ แต่จะไม่โดดเด่นเกินหน้าเกินตา มุ่งเน้นสร้างความกลมกลืน สอดคล้องเข้ากับเหตุการณ์บังเกิดในซีเควนซ์นั้นๆ
เพลงประกอบโดย Philippe Arthuys (1928-2010) สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ India: Matri Bhumi (1959), Le Trou (1960), Paris Belongs to Us (1961), The Glass Cage (1965), Chronicle of the Years of Fire (1975) ฯ
โดยปกติแล้วผกก. Rivette ไม่ค่อยใส่ใจเพลงประกอบสักเท่าไหร่! ส่วนใหญ่จะเป็น ‘diegetic music’ ดังขึ้นจากแหล่งกำเนิดเสียง แต่ด้วยความที่ Paris Belongs to Us (1961) บันทึกเสียงทั้งหมดภายหลังถ่ายทำ (Post-Production) บทเพลงทั้งหมดจึงสามารถเหมารวมเป็น ‘non-diegetic’ ได้เลยกระมัง?
ถ้าไม่นับรวมการดีดกีตาร์โดย Jean Borredon, งานเพลงของ Arthuys ฟังดูมีลักษณะ ‘Experimental’ ผสมเสียงหลากหลายเครื่องดนตรี ท่วงทำนองกระโดดไปกระโดดมา ไม่ลื่นไหล ไม่ติดต่อเนื่อง สร้างบรรยากาศลึกลับซับซ้อน พิศวงงงงวย ราวกับสถานที่แห่งนี้มีบางสิ่ง(ชั่วร้าย)ซุกซ่อนเร้น สอดคล้องกับเรื่องราวที่มีความสะเปะสะปะ รายละเอียดต่างๆซุกซ่อนอยู่ในบทสนทนา ค่อยๆเปิดออกมาทีละเล็กละน้อย ผู้ชมต้องคอยแปะติดปะต่อทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกันเพื่อขบไขปริศนา ค้นหาคำตอบด้วยตนเอง!
Paris Belongs to Us (1961) นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวบ้านนอก เข้ามาเรียนต่อในเมืองหลวง เมื่อมีโอกาสรับรู้จักผู้คนมากมาย (ศิลปิน นักเขียน นักดนตรี ฯ ซึ่งล้วนเป็นผู้อพยพลี้ภัย ไม่ใช่ชาว Parisian) ค่อยๆซึมซับแนวคิด เชื่อมั่นในทฤษฎีสมคบคิด เป็นตุเป็นตะถึงองค์กรลึกลับที่อยู่เบื้องหลังความตายของใครหลายๆคน จึงพยายามหาหนทางปกป้องชายคนที่ตนแอบชื่นชอบ แต่สุดท้ายก็มิอาจช่วยเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง!
A film is, in general, a story built upon an idea; I tried to tell the story of an idea, with the aid of the detective story form; that is to say that, instead of unveiling primary intentions at the end of the story, the denouement can’t do anything but abolish them: ‘Nothing took place but the place.’
Jacques Rivette
สิ่งแรกที่ใครต่อใครเมื่อดูหนังจบต้องบังเกิดข้อฉงนสงสัย องค์กรลึกลับนั้นมีอยู่จริง? หรือไม่? ผมมองว่ามันก็แนวคิดเดียวกับ MacGuffin ให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการ มันอาจจะมีอยู่จริง หรือไม่มีอยู่จริง ก็ช่างหัวมันปะไร! ความสนุกคือการได้ติดตามตัวละคร พบปะผู้คน ผจญภัยไปยังสถานที่ต่างๆ … นั่นคือความหมายของ “Nothing took place but the place.”
ความตายของตัวละคร Juan และ Gérard มันอาจเป็นการฆาตกรรม ใครบางคน/องค์กรลึกลับอยู่เบื้องหลัง หรืออาจแค่อกหักรักคุด ถูกชู้รัก Terry ทรยศหักหลัง (อาจคือ Terry ลงมือฆาตกรรมทั้งสองก็ยังเป็นได้) สิ่งเหล่านี้ต่อให้ตั้งใจรับชมสิบๆรอบ ก็ไม่ค้นพบเจอคำตอบใดๆ นั่นเพราะผกก. Rivette ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม แต่คือความค้างๆคาๆนั่นแหละคือบทสรุป!
(ผมขอยกตัวอย่างการตีความหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกอึ่งทึ่ง มันก็ไม่มีผิดมีถูก แค่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งรูปธรรมจับต้องได้มากเกินไป! องค์กรลึกลับทำหน้าที่กำจัด ขับไล่พวกผู้อพยพลี้ภัยออกไปจากกรุง Paris เพื่อว่าดินแดนแห่งนี้จักได้กลายเป็นของชาว Parisian ตามชื่อหนัง Paris Belongs to Us = Parisian)
ในขณะที่ MacGuffin ของปรมาจารย์ Alfred Hitchcock มุ้งเน้นสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึกขวัญ (Thriller & Suspense) แนวทางของผกก. Rivette ทำออกมาในเชิงสืบสวนสอบสวน (Detective Story) ที่สร้างความหวาดระแวง วิตกจริต (Paranoid) เพื่อให้สะท้อนเข้ากับบรรยากาศสงครามเย็น (Cold War) ที่แม้ไม่มีการปะทะต่อสู้กันตรงๆระหว่างสองขั้วหมาอำนาจ แต่กลับสร้างความหนาวเหน็บเย็นยะเยือกภายในจิตใจผู้คน
ความตั้งใจแรกเริ่มของผกก. Rivette และนักเขียน Jean Gruault คงต้องการแค่พาไอดอลของพวกเขา Roberto Rossellini ออกสำรวจกรุง Paris สรรค์สร้างภาพยนตร์ตามสไตล์ถนัด Neo-Realist แต่เมื่ออีกฝ่ายทอดทิ้งโปรเจคนี้ไปอย่างไร้สาเหตุ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีสมคบคิด (ความตายของ Juan = การจากไปของผกก. Rossellini) มีองค์กรลึกลับสักอย่าง คอยสอดแนม จ้องเล่นงาน โต้ตอบบุคคลกระทำสิ่งบางสิ่งอย่าง
ใครเคยรับชมหลายๆผลงานของผกก. Rivette ย่อมพบเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ที่ผมขอเรียกว่า ‘Crisscross’ นี่ไม่ใช่แค่ลีลาตัดต่อ แต่ยังเหมารวมถึงการนำเสนอสองสารพัดสิ่งขั้วตรงข้าม หรือมีความสองแง่สองง่าม … ตามคำกล่าวอ้างของ Jean-Luc Godard
Ever since Parmenides, and his duel between being and not-being,
the greatest minds have jabbered on and on about this brotherly squabble,
wringing hands over Socrates’ alphabet in vain until Google,
power and glory,
liberty and fraternity,
peace and war,
infinity and totality,
penury and democracy,
terror and virtue,
poetry and truth,
et cetera,I actually for a second wanted to add nature and metaphor to all this charivari,
Jean-Luc Godard ในบทความไว้อาลัยหลังการจากไปของ Jacques Rivette เมื่อปี ค.ศ. 2016
believing to grasp reality,
like it’s said by the pros and the amateurs of the profession,
mixing shot and reverse-shot,
but this evades one last time all those vanities,
that the little boy from Rouen, having in the end taken back his mind from his movie life,
as a man simple and complicated as he was,
a match for himself and justly proclaiming:
secret and law — for the screen
did not hide anything from anything.
ความหลงใหลคลั่งไคล้องค์กรลึกลับของผกก. Rivette เพราะมันอยู่ฝากฝั่งตรงกันข้ามกับกฎระเบียบข้อบังคับ “Secret and Law” ซึ่งยังสามารถสะท้อนถึงวิถีภาพยนตร์รูปแบบเก่า vs. การมาถึงของคลื่นลูกใหม่ … เช่นนั้นแล้วองค์กรลึกลับดังกล่าว ก็อาจสามารถสื่อถึง Frence New Wave ได้ด้วยกระมัง!
แซว: ชื่อหนัง Paris Belongs to Us กลับได้แรงบันดาลใจจากบทกวีที่แปลว่า Paris Belongs to Nobody, ขณะที่เรื่องราวก็พบเจอแต่คนนอก ผู้อพยพลี้ภัย ไม่มีใครเป็นชาว Parisian สักคนเดียว!
แม้เมื่อตอนออกฉายจะถูกนักวิจารณ์/ผู้ชมส่ายหัว ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ยังได้รับการโหวตอันดับ #3 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีจากนิตยสาร Cahiers du Cinéma และเมื่อเดินทางไปฉายประเทศอังกฤษ ยังคว้ารางวัล Sutherland Trophy สำหรับความแปลกใหม่ นวัตกรรมไม่ซ้ำแบบใคร (Most Original and Innovative Film)
Jacques Rivette’s troubled and troubling 1960 account of Parisians in the late 50s remains the most intellectually and philosophically mature, and one of the most beautiful… Few films have more effectively captured a period and milieu; Rivette evokes bohemian paranoia and sleepless nights in tiny one-room flats, along with the fragrant, youthful idealism conveyed by the film’s title.
นักวิจารณ์ Jonathan Rosenbaum เขียนถึงเมื่อปี ค.ศ. 2018
for me at least, his debut feature is a perfect film in its way. If the first work of a long career should, at least in the oeuvre-charting rear-vision mirror, offer an appropriately characteristic or even perhaps idiosyncratic entry point into a distinct film-world, then Paris nous appartient is indeed a perfect ‘first’ Rivette in its combination of formal daring and conceptual elusiveness.
นักวิจารณ์ Hamish Ford จาก Senses of Cinema
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2016 สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel
ระหว่างรับชมผมไม่ค่อยชอบหนังสักเท่าไหร่ ซับซ้อน วุ่นวาย จับเนื้อหาสาระไม่ค่อยได้ แต่ถ้าคุณต่อด้วย Out 1 (1971) แล้วสามารถอดรนทนพานผ่าน 13 ชั่วโมงนั้นไป เมื่อหวนย้อนกลับมาพิจารณา Paris nous appartient (1961) จะค้นพบความน่าสนใจอย่างคาดไม่ถึง!
เอาจริงๆผมทะยอยรับชม Out 1 (1971) มาก่อนหน้า Paris Belongs to Us (1961) (คือไม่อยากนั่งดูวันเดียว 13 ชั่วโมง เลยค่อยๆแบ่งดูวันละตอนสองตอน) เลยค้นพบความสัมพันธ์หลายๆอย่าง สไตล์ลายเซ็นต์ และแนวคิดของผกก. Rivette ลึกล้ำระดับอัจฉริยะเลยก็ว่าได้
ถ้าคุณครุ่นคิดว่าตนเองมีความแข็งแกร่งเพียงพอทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา พร้อมยอมตายเพื่อศิลปะ! ก็ต้องลองหารับชมภาพยนตร์ของผกก. Rivette อาจจะเริ่มต้นที่หนังสั้น ตามด้วย Paris Belongs to Us (1961) แล้วถึงค่อย Out 1 (1971) มันจะเป็นประสบการณ์ที่ราวกับตกนรก หมกไหม้ แล้วฟื้นคืนชีพขึ้นใหม่
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศลึกลับ ความหวาดระแวง วิตกจริต ลุ่มหลงผิดๆ
Leave a Reply