Les Bonnes Femmes

The Good Time Girls (1960) French : Claude Chabrol ♥♥♥♥

วันๆของสี่สาว เช้าไปทำงานอย่างเอื่อยเฉื่อย คอยจับจ้องมองนาฬิกา เลิกงานเมื่อไหร่ราวกับพึ่งปลุกตื่น เต็มไปด้วยความระริกระรี้ เฮฮาปาร์ตี้ ร่วมกิจกรรมสนุกๆยามค่ำคืนมากมาย, รับชมปัจจุบันอาจไม่ค่อยรู้สึกอะไร แต่ชาวฝรั่งเศสสมัยนั้นต่างสำแดงอารมณ์เกรี้ยวกราด รับไม่ได้กับอิสรภาพหญิงสาว

ก่อนกาลมาถึงของการปฏิวัติทางสังคม Mai ’68 ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เคร่งครัดในเรื่องขนบประเพณี (แบบเดียวกับสังคมผู้ดีอังกฤษ) ความสัมพันธ์ชาย-หญิง เต็มไปด้วยกฎกรอบข้อบังคับมากมาย บุรุษคือช้างเท้าหน้า สตรีต้องเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ ไร้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม

Les Bonnes Femmes (1960) ถือเป็นภาพยนตร์ที่มาก่อนกาล ร้อยเรียงเรื่องราวของสี่สาว กลางวันทำตัวเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ พอพระอาทิตย์ตกดินเมื่อไหร่ก็ถึงช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย สำแดงตัวตนแท้จริง โบยบินสู่อิสรภาพ ทำในสิ่งเพ้อใฝ่ฝัน โดยไม่สนห่าเหวอะไรใครทั้งนั้น

เมื่อตอนออกฉายนอกจากถูกนักวิจารณ์สับเละเทะ ผู้ชมส่วนใหญ่(ที่เป็นบุรุษ)ต่างเบือนหน้าหนี รับไม่ได้กับภาพสะท้อนความจริง วิถีทางสังคมที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่าน Les Bonnes Femmes (1960) จึงกลายเป็นภาพยนตร์บันทึกประวัติศาสตร์เรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ร้อยเรียงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆยามค่ำคืน ยังนำเสนอจิตวิญญาณหญิงสาวชาวฝรั่งเศส ก่อนกาลมาถึงของ Mai ’68 … นักวิจารณ์บางคนยกย่องระดับมาสเตอร์พีซ หนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของผกก. Chabrol

Arguably the best as well as the most disturbing movie Claude Chabrol has made to date, this unjustly neglected 1960 feature, his fourth, focuses on the everyday lives and ultimate fates of four young women working at an appliance store in Paris and longing for better things. Ruthlessly unsentimental yet powerfully compassionate, it shows Chabrol at his most formally inventive, and it exerted a pronounced influence on Rainer Werner Fassbinder’s Berlin Alexanderplatz two decades later.

Jonathan Rosenbaum

Claude Henri Jean Chabrol (1930-2010) ผู้กำกับ/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่ไปเติบโตยังชนบท Sardent, Nouvelle-Aquitaine ครอบครัวเป็นเจ้าของร้านขายยา คาดหวังให้บุตรชายสืบทอดกิจการ แต่กลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” ก่อตั้งชมรม Film Club ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลงใหลเรื่องราวนักสืบ แนวตื่นเต้นลุ้นระทึก (Thriller), หลังสงครามโลกสิ้นสุดเดินทางสู่ Paris เข้าศึกษาต่อ Université de Paris (บ้างว่าร่ำเรียนเภสัชศาสตร์ บ้างว่านิติศาสตร์) แต่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ยัง Ciné-Club du Quartier Latin และ Cinémathèque Française หลังเรียนจบอาสาสมัครทหาร French Medical Corps ไต่เต้าจนได้ยศผู้หมวด (Sergeant) พอปลดประจำการ กลายเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma, ร่วมกับ Éric Rohmer ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ Hitchcock (1957), ให้ความช่วยเหลือ Jacques Rivette สรรค์สร้างหนังสั้น Le coup du Berger (1957), กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Beau Serge (1958) ถือเป็นจุดเริ่มต้นกลุ่มเคลื่อนไหว French New Wave

ผกก. Chabrol แม้ขณะนั้นแต่งงานอยู่กับ Agnès Goute (ได้เงินมรดกเป็นทุนสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Le Beau Serge (1958)) แต่เพราะมีนิสัยชอบเที่ยว สังสรรค์ปาร์ตี้ จึงรู้จักใครต่อใคร คลุกคลีหญิงสาวมากหน้าหลายตา (จนภรรยาขอหย่าเมื่อปี ค.ศ. 1962) รับฟังเรื่องเล่าของพวกเธอนำมาพัฒนาบทหนัง Les Bonnes Femmes (1960) ร่วมงานกับนักเขียนขาประจำ Paul Gégauff

อีกแรงบันดาลใจของหนัง นำจากเรื่องราวฆาตกรต่อเนื่อง Eugène Weidmann (1908-39) สัญชาติ German ได้รับการเปรียบเทียบ “modern-day Bluebeard” ลงมือปล้นฆ่าหญิงสาวสวย เมื่อถูกจับกุมร่วมกับพรรคพวกอีกสี่คน ได้รับตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยเครื่อง Guillotine เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1939 ณ เรือนจำ Saint-Pierre, Versailles … คือครั้งการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะครั้งสุดท้ายในฝรั่งเศส

เกร็ด: ในบรรดาผลงานทั้งหมดของผกก. Chabrol เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าชื่นชอบโปรดปราน Les Bonnes Femmes (1960) มากที่สุด!


ร้อยเรียงเรื่องราวของสี่สาวชาวฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษ 50s ทำงานเป็นพนักงานขาย (Saleswomen) ในร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า BELIN

  • Jane (รับบทโดย Bernadette Lafont) ยามกลางวันง่วงหงาวหาวนอน เลิกงานเมื่อไหร่ราวกับเพิ่งปลุกตื่น ชื่นชอบการใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง ไม่ยี่หร่าอะไรใคร แม้หมั้นหมายกับแฟนหนุ่มที่เป็นทหาร แต่กลับเปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า โหยหาความตื่นเต้นเร้าใจ
  • Rita (รับบทโดย Lucile Saint-Simon) หมั้นหมายอยู่กับแฟนหนุ่ม Henri (รับบทโดย Sacha Briquet) ระหว่างพามารับประทานอาหารกับบิดา-มารดา เพิ่งรับรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นคนเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ จอมบงการ ปฏิบัติต่อเธอเหมือนเด็กน้อย ท้ายที่สุดเลยตัดสินใจ…
  • Ginette (รับบท Stéphane Audran) พอฟ้ามืดเมื่อไหร่มักเร่งรีบ ปลีกตัวจากกลุ่ม ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับใคร นั่นเพราะเธอมีความลับปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ ทำงานเป็นนักร้อง วันนั้นบังเอิญเพื่อนร่วมงานเดินทางไปรับชมการแสดง พยายามสวมใส่วิกปกปิดบัง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหลบซ่อนความจริงได้อีกต่อไป
  • Jacqueline (รับบทโดย Clotilde Joano) หญิงสาวอายุน้อยที่สุดในกลุ่ม แค่วันแรกก็เดินทางมาทำงานสาย ชื่นชอบเพ้อฝันกลางวัน ตกหลุมรักพ่อหนุ่มนักขับมอเตอร์ไซด์ Ernest (รับบทโดย Mario David) แอบติดตาม สะกดรอย ราวกับเจ้าชายขี่ม้าขาว เฝ้ารอคอยวันที่เขาจะเข้ามาพูดคุยทักทาย นำพาเธอไปสู่สรวงสวรรค์ หลุดพ้นจากความเบื่อหน่ายในชีวิตวันๆ

ถ่ายภาพโดย Henri Decaë (1915-87) ตากล้อง/วิศวกรเสียง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Saint-Denis โตขึ้นทำงานเป็นช่างภาพ (Photojournalist) ให้กองทัพอากาศฝรั่งเศสช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นเริ่มถ่ายทำหนังสั้น กลายเป็นขาประจำผกก. Jean-Pierre Melville และ French New Wave ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Sea (1949), Les Enfants terribles (1950), Bob le flambeur (1955), Les Amants (1958), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), Les Cousins (1959), The 400 Blows (1959), Purple Noon (1970), Léon Morin, Priest (1961), Le Samouraï (1967), The Red Circle (1970), The Professional (1981) ฯ

แนวทางการถ่ายทำก็คล้ายๆแบบสองสามผลงานก่อนหน้า แบกกล้องขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ใช้เพียงแสงธรรมชาติ ถ่ายทำยังสถานที่จริง สวนสัตว์ ไนท์คลับ ผับบาร์ เก็บบันทึกภาพกรุง Paris ยามค่ำคืนฝังไว้ในไทม์แคปซูล

ด้วยความที่หนังทำออกมาในสไตล์เหมือนสารคดี (documentary-like) ร้อยเรียงภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันของสาวๆ จึงไม่ได้ใช้ลูกเล่นภาพยนตร์ในการนำเสนอมากนัก แต่ทุกๆกิจกรรม/สถานที่ดำเนินไป ล้วนเคลือบแฝงนัยยะความหมายที่สะท้อนความรู้สึก สภาพจิตใจของสาวๆได้อย่างชัดเจน


Whatever the one who’s eating you? Man or wolf,
All bellies look equal,
One day earlier, one day later,
there’s hardly any difference.

Jean de La Fontaine

ข้อความพร้อมเสียงพูดของผกก. Chabrol ไม่ได้จะสื่อถึงใครกินใคร (ในเชิงรูปธรรม) แต่มีนัยยะถึงการกลืนกิน (ในเชิงนามธรรม) บางคนอาจตีความถึงบรรดาสาวๆถูกล่อหลอกโดยบุรุษ แต่ผมมองถึงการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย นั่นคือสิ่งที่ไม่มีใครสามารถต่อต้านทาน ซึ่งสอดคล้องสถานที่พื้นหลัง ถ่ายทำยังจัตุรัส Place de la Bastille พบเห็นเสาอนุสรณ์ Colonne de Juillet (July Column) สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองสามวันแห่งการปฏิวัติ(ครั้งสอง) Révolution de Juillet (July Revolution) เมื่อปี ค.ศ. 1830

เกร็ด: จัตุรัส Place de la Bastille ในอดีตคือตำแหน่งที่ตั้งคุกบัสตีย์ (Bastille) ที่ถูกรื้อถอน พังทลายช่วงระหว่างการปฏิวัติ(ครั้งแรก) French Revolution (1789-99)

หลายคนอาจไม่ได้สังเกตระหว่าง Opening Credit มีการฉายภาพมุมกว้างจัตุรัส Place de la Bastille วนซ้ำๆถึงสามครั้ง นี่ไม่ใช่เพราะฟุตเทจถ่ายมาจำกัดหรือไร แต่อาจสื่อถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วถึงสามครั้ง!

  1. French Revolution (1789-99)
  2. Second French Revolution (1830)
  3. Third French Revolution (1848)

ผมบังเอิญหาข้อมูลได้ว่าสถานที่ที่สาวๆก้าวออกมาคือโรงภาพยนตร์ Biarritz ตั้งอยู่ยัง rue Quentin Bauchart บริเวณหัวมุมของ Champs Elysées กำลังฉายภาพยนตร์ The Destiny of a Man (1959) [ชื่อฝรั่งเศส Le Destin d’un homme] กำกับโดย Sergey Bondarchuk

ส่วนรถมอเตอร์ไซด์ของชายแปลกหน้า Ernest Lapierre คือรุ่น Harley-Davidson FL Hydra Glide

ชายแปลกหน้าสองคน ขับรถหรู 1954 Cadillac, Series 62 ออกติดตามสองสาวไปตามถนน Champs Elysées พยายามเกี้ยวพาราสี โน้มน้าวให้พวกเธอไปสนุกด้วยกัน ทีแรกก็พยายามขับไล่ บอกปัดปฏิเสธ พอรับรู้ว่าพวกเขาอาจเป็นคนมีชื่อเสียง จึงขอเวลาพูดคุยกับเพื่อนสาวยังโรงหนัง Raimu cinema ตั้งอยู่ 63 avenue des Champs Elysées กำลังฉายภาพยนตร์ The Buccaneer (1958) กำกับโดย Anthony Quinn, นำแสดงโดย Yul Brynner, Charles Boyer และ Charlton Heston

Dolly Bell คือนักแสดงเปลื้องผ้า (Striptease artiste) แห่ง Crazy Horse Saloon ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคสมัยนั้น (เคยรับเชิญในภาพยนตร์เรื่องด้วยนะ) แต่สถานที่ทำการแสดงแห่งนี้คือ La Villa ตั้งอยู่ 27 rue Bréa ปัจจุบันน่าจะปิดกิจการไปนานแล้วละ

นัยยะของการแสดงเปลื้องผ้าก็ตรงไปตรงมา สื่อถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ที่พยายามนำเสนอสภาพเป็นจริง เปิดเผยวิถีชีวิตยามค่ำคืนในกรุง Paris และหญิงสาวที่พร้อมปลดปล่อย(จิตวิญญาณ)ตนเองให้เป็นอิสระ

แซว: จริงๆตั้งแต่แรกเริ่ม (ก่อนที่จะพบเจอสาวๆ) ชายวัยกลางคนทั้งสองก็เพิ่งเดินออกจากร้าน Grisbi Club ซึ่งก็เป็นบาร์เปลื้องผ้าเช่นเดียวกัน ได้ยินคำโฆษณา “The most gorgeous nudes in Paris!”

หลายคนอาจไม่ได้เอะใจคำพูดประโยคนี้ของ Jane ภาษาฝรั่งเศส “Je ne peux pas maintenant” แปลว่า “I can’t now” สามารถตีความถึงการมีประจำเดือน เลยไม่สามารถร่วมเพศสัมพันธ์ (One Night Stand) แต่ทว่าฝ่ายชายกลับไม่สนใจ แถมยังจะสองรุมหนึ่งอีกต่างหาก

ในอพาร์ทเม้นท์ของ Jane และ Ginette จะมีรูปภาพพระเอกหนุ่มหล่อ (ตรงกระจก) Jean-Claude Brialy และ (บนเตียงนอน) Gérard Blain ใครเคยรับชม Le Beau Serge (1958) น่าจะมักคุ้นว่าทั้งสองเคยเล่นหนังร่วมกับ Bernadette Lafont

Jane และ Ginette เดินทางมาทำงานยังร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อ BELIN (ดั้งเดิมคือร้าน Fabbro ขายเครื่องมือช่าง ระบบประปา) ตั้งอยู่ 72 Boulevard Beaumarchais ย่าน Paris 11 (11th arrondissement of Paris) ภายในร้านพบเห็นขายโทรทัศน์ โคมไฟ แบตเตอรี่ ฯ ล้วนเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต สิ่งอำนวยความสะดวก สร้างความสุขสบายให้กับคนสมัยนั้น

แซว: ตลอดเวลาทำงาน พบเห็นมีลูกค้าเพียงสองคนเท่านั้น หนึ่งในขายแบตเตอรี่/ถ่านไฟ เพื่อสื่อถึงช่วงเวลา(ทำงาน)ขณะนี้ที่สาวๆต่างกำลังชาร์ทพลังงานให้กับตนเอง เตรียมความพร้อมหลังการเลิกงาน จักได้มีพละพลังในการทำสิ่งต่างๆอย่างสุดเหวี่ยง

การมาสายในวันทำงานวันแรกของ Jacqueline ทำให้ถูกเรียกตัวโดยเจ้าของร้าน (รับบทโดย Pierre Bertin) เรียกมานั่ง มอบดอกไม้ พร้อมขับร้องท่อนหนึ่งจากอุปรากร Bizet: Carmen (1875) บทเพลง La fleur que tu m’avais jetée (The flower you threw at me) … ใครเคยรับชมอุปรากร Carmen จะพบว่านี่เป็นการบอกใบ้โชคชะตากรรมตอนจบของ Jacqueline พวกเธอต่างถูกชายคนรัก !@#$%^

นิตยสารที่ Rita หยิบขึ้นมาอ่านข่าวคดีฆาตกรรม (บอกใบ้ถึงเหตุการณ์ตอนจบของหนัง) คือ Elle ฉบับเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1959 หน้าปกเป็นภาพของ Sophia Loren (แต่ภาพที่เห็นนี้คือด้านหลังปก)

ส่วนแผ่นเสียงที่ Ginette หยิบมาเปิดระหว่างนักกวี Marcel (รับบทโดย Jean-Louis Maury) พบเห็นปกของ Earl Cadillac: surprise partie แต่ทว่าบทเพลงได้ยินกลับเป็นของใครก็ไม่รู้ (ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าเพลงอะไร)

สำหรับสองบทกวีที่ Marcel แต่งขึ้น La Prière de Priape (The Prayer of Priapus) และ Sonnet à Saint Pierre (Sonnet to Saint Peter) ผมลองให้ AI Bard แปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่อ่านแล้วก็ยังงงๆ Saint Peter มองลงมาจากเบื้องบน (ชนชั้นผู้นำ?) ใจความน่าจะอยู่ประโยคสุดท้าย “All is One, One is All” (ความเสมอภาคเท่าเทียม?)

Lorsque Saint Pierre, debout sur son seuil de nuées,
Contemple notre fange au fond de la trouée
Que demanderais-je, apôtre, à quel saint me vouer,
Et de toi, pêcheur d’âmes, ne saurais-je me louer?
When Saint Peter, standing on his cloudy threshold,
Beholds our mire from the depths of the abyss,
What would I ask, apostle, to which saint should I devote myself,
And could I not praise you, fisher of souls?
Mais, lorsque de ton Dieu tu te fais le flambeau,
Je clame pour le mien du fond de mon tombeau.
Je ne crie qu’un seul mot, face à la boue hostile,
Enfant, tout est un, un est tout, ainsi soit-il.
But when you make yourself the torch of your God,
I cry out for mine from the depths of my tomb.
I cry out only one word, facing the hostile mud,
Child, all is one, one is all, so be it.

พอถึงเวลาพักเที่ยง Jane ราวกับเพิ่งตื่นนอน เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น ตกแต่งทรงผมขณะจับจ้องมองภาพสะท้อนในจอโทรทัศน์ พบเห็นใบหน้าของเธอซ้อนสองชั้น ตัวตนเบื้องหน้า จิตวิญญาณเบื้องหลัง นี่คือยุคสมัยแห่งความขัดแย้งระหว่างภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ สิ่งพบเห็นอาจไม่ใช่ตัวตนแท้จริง

Henri ต้องการแนะนำแฟนสาว(ชนชั้นกลางล่าง) Rita ให้กับบิดา-มารดา (ชนชั้นกลางบน) ระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน พยายามพูดให้คำแนะนำโน่นนี่นั่น แสดงความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ จอมบงการ ปฏิบัติต่อเธอเหมือนเด็กน้อยไม่รู้ประสีประสา บอกให้สั่งไอศกรีม Mystère แต่ปรากฎว่าร้านขายหมด สร้างความตกตะลึง คาดไม่ถึง ราวกับหายนะกำลังจะมาเยือน … สามารถสื่อถึงการพบเจอบิดา-มารดาครั้งนี้ คือหายนะของ Rita ก็ได้กระมัง

เกร็ด: ของหวาน Mystère คือส่วนผสมระหว่างไอศกรีมกับขนมเมอแร็งก์ (Meringue) ซึ่งคำพูดสุดท้ายของบริกรสาว “Il n’y a pas de Mystère.” ยังสามารถแปลได้ว่า “There’s no mystery.” นี่น่าจะเป็นการล้อกับความสัมพันธ์ หรือจะตีความถึงหนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนก็ได้กระมัง?

หลังจากรับประทานอาหาร สาวๆต่างเดินทางไปท่องเที่ยวสวนสัตว์ Ménagerie du Jardin des Plantes ตั้งอยู่ 57 rue Cuvier ในย่าน Paris 5 ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1794 (ถือเป็นสวนสัตว์เก่าแก่อันดับ 2 ของโลก) ดั้งเดิมเคยเป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาด 58 เอเคอร์ (230,000 ตารางเมตร) ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1794 จึงเริ่มนำเข้าสัตว์ป่าน้อยใหญ่

หลายต่อหลายครั้งมักพบเห็นมุมกล้องถ่ายจากภายในกรงขัง มองออกไปเห็นสาวๆราวกับสัตว์ป่าที่ถูกขังในกรง สามารถสะท้อนถึงยุคสมัยนั้นที่สตรีเพศยังอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบทางสังคม ไร้ซึ่งอิสรภาพในการครุ่นคิด แสดงออก ไม่ต่างจากสรรพสัตว์เหล่านี่ในกรง

ใครช่างสังเกตจะพบเห็นว่าตั้งแต่แรกพบเจอ ชายขับรถมอเตอร์ไซด์มักแอบติดตาม (Stalker) Jacqueline ไปทุกๆแห่งหน ถ้าแค่นั้นยังไม่รู้สึกหวาดกังวล ก็ต้องวินาทีทีนี้ที่หลังจากภาพเสือโคร่งในกรง ตัดมาใบหน้ากำลังแสยะยิ้ม แยกเขี้ยว บ่งบอกถึงความเป็นผู้ล่า ‘Sexual Predator’ จ้องที่จะทำอะไรบางอย่างหญิงสาว

พนักงานส่งของ Nounours (แปลว่า Teddy Bear) ดูเหมือนจะแอบชื่นชอบ Jacqueline พยายามจะชักชวนเธอไปนัดเดท แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ สังเกตว่าวินาทีที่ทั้งสองพูดเรื่องความรัก จะมีการถ่ายภาพใบหน้าระยะใกล้ (Close-Up Shot) สายตาหญิงสาวดูเลื่อนลอย เพ้อฝัน สร้างความผิดหวังให้กับฝ่ายชายอย่างช่วยไม่ได้

ในบรรดามุมมอง ‘Male Gaze’ น่าสนใจที่สุดก็คือ Point-of-View แทนสายตาคนขับรถมอเตอร์ไซด์กำลังถอดแว่น เพื่อจับจ้อง ถ้ำมองสาวๆในร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เฉดสี(ของแว่นตา)ที่ปรับเปลี่ยนไปนั้น ยังสามารถสื่อถึงตัวตนของพวกเธอ ตอนทำงานมีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง หลังเลิกงานกลับกลายเป็นอีกคนหนึ่ง … ชายคนนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน

เครื่องรางของขลังของ Madame Louis (รับบทโดย Ave Ninchi) ไม่มีการถ่ายให้เห็นว่าคืออะไร จะมองว่าเป็น “MacGuffin” คงได้กระมัง แต่สังเกตจากคำบอกเล่า กล่าวถึงฆาตกรต่อเนื่อง Eugène Weidmann หลายคนน่าจะคาดเดาได้ไม่ยาก และสามารถสื่อถึงสัญลักษณ์ลึงค์ (อวัยวะเพศชาย) … ถึงอย่างนั้น Jacqueline ที่ได้พบเห็น กลับกลายเป็นต้องคำสาป ‘Death Flag’ ครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ประสบโชคชะตาเดียวกับเหยื่อของ Weidmann

ในบรรดาสารพัดภาพนาฬิกา นับถอยหลังเวลาเลิกงานหนึ่งทุ่มตรง ซีนที่ผมชื่นชอบมากสุดคือนักโทษในเรือนจำ ใช้เงาสาดส่องเข้ามาในห้องขังบอกเวลา คล้ายๆกับนาฬิกาแดด คนที่นอนอยู่คือ André (รับบทโดย Claude Berri) แฟนสาวของ Jane (แต่ก็ไม่รู้ติดคุกยังไง?) อีกคนคือ Charles L. Bitsch ผู้ช่วยผู้กำกับหนังเรื่องนี้

มันอาจจะมองเห็นใบหน้าไม่ชัดเจนนัก แต่ได้รับการคาดเดาว่านี่คือผกก. Chabrol (จุดสังเกตคือสวมแว่นตา) กำลังแบกหาม Double Bass เพื่อเคารพคารวะ Alfred Hitchcock จากภาพยนตร์ Strangers on a Train (1951) ที่ก็แบกหามเครื่องดนตรีนี้เช่นเดียวกัน

ซึ่งนัยยะของเครื่องดนตรี Double Bass ก็สามารถสื่อถึงชีวิตสองด้าน (Double Life) กลางวันทำงานอย่างง่วงหงาวหาวนอน พอฟ้ามืดครึ้มกลายเป็นศิลปิน ปลดปล่อยจิตวิญญาณของตนเองสู่อิสรภาพ

Ginette มีความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน แต่ยุคสมัยนั้นเป็นอาชีพรายได้น้อย เอาตัวแทบไม่รอด เธอจึงจำเป็นต้องหางานประจำทำตอนกลางวัน แล้วพอฟ้ามืดก็ออกมาเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวก็ไม่อยากเปิดเผยอีกตัวตน โลกใบที่สองของตนเอง

  • ตอนที่ Ginette พร่ำบ่นถึงเพื่อนร่วมงาน สังเกตว่าเธอหันหน้าเข้าหากระจก พบเห็นภาพสะท้อนความรู้สึกภายใน สิ่งที่จับต้องไม่ได้ ราวกับอยู่ในโลกแห่งความฝัน
  • แต่พอหันกลับมาพูดคุย เผชิญหน้าผู้จัดการโรงละคอน (หันหลังให้กระจก) บอกว่าฉันรักการร้องเพลง รักศิลปะ นั่นแสดงถึงความบริสุทธิ์ จริงใจ นี่คือโลกความจริงที่จับต้องได้สำหรับเธอ

จะมีขณะหนึ่งที่ผู้จัดการโรงละคอน พูดชื่อหนังออกมาตรงๆ “Ah les bonnes femmes…” รำพันถึงความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ เอาแต่ใจของ Ginette … คำว่า Les Bonnes Femmes แม้แปลว่า The Good Girl แต่กลับฟังดูเสียดสี แดกดัน ประชดประชัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน สาวๆทั้งสี่ไม่ได้มีพฤติกรรมที่ดี (Good Girl) เลยสักนิดเดียว!

Ginette สวมวิกผม ปลอมตัวเป็นนักร้องอิตาเลี่ยน Angela Torini เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลไม่พบเจอว่าบุคคลนี้มีตัวตน ซึ่งอาจรวมถึงบทเพลง นักแต่งเพลง น่าจะเป็นการเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด! เหตุผลการปลอมแปลงตัวของ Ginette เพื่อไม่ให้เพื่อนร่วมงานสังเกตเห็น ถึงอย่างนั้นก็มิอาจรอดพ้นสายตา ซึ่งแต่ละคนต่างแสดงปฏิกิริยา ความคิดเห็นแตกต่างกันไป “I can’t believe it.” “It’s fantastic.” “Wow… Shit!” บ่งบอกอุปนิสัยใจคอตัวละครเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน

เกร็ด: สถานที่แห่งนี้คือหอดนตรี (Music Hall) ชื่อว่า Concert Pacra ตั้งอยู่ยัง Boulevard Beaumarchais เปิดให้บริการระหว่างปี ค.ศ. 1855 – 1972 เริ่มต้นจากชื่อ Grand Concert de l’Époque ก่อนขายกิจการให้นักร้องชื่อดัง Ernest Pacra (1852-1925) แปรสภาพเป็น Café-Concert ชื่อว่า Chansonia และหลังจากเสียชีวิต ค.ศ. 1925 ตั้งชื่อให้เกียรติ Concert Pacra จนถึงปี ค.ศ. 1962 (หลังหนังออกฉาย) เปลี่ยนเจ้าของใหม่มาเป็น Théâtre du Marais ก่อนสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ถูกทุบทำลายเมื่อปี ค.ศ. 1972

ถ้าเป็นยุคสมัยนี้คงเรียกว่า Fan-Service แต่ในอดีตการถ่ายทำภาพยนตร์ในสระว่ายน้ำถือเป็นสิ่งต้องห้าม ยิ่งชุดว่ายน้ำวันพีช (One Piece) ทูพีช (Two Piece) ยังถูกตีตราว่ามีความโป๊เปลือย ไม่เหมาะสม … ใครช่างสังเกตย่อมค้นพบผกก. Chabrol ใส่แว่นเล่นน้ำ บรรยากาศสวยๆงามๆแบบนี้จะให้พลาดได้ยังไง

การมาถึงของสองนักล่าวัยกลางคน เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น ระริกระรี้โยนสาวๆลงน้ำ ดำผุดดำว่าย จับกดศีรษะ นี่ไม่ใช่แค่การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) แต่ยังเคลือบแฝงการใช้อำนาจของบุรุษ กดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้สตรีเพศก้มหัวศิโรราบ กระทำตามความต้องการของตนเอง

เกร็ด: สระว่ายน้ำแห่งนี้คือ Piscine Marius Jacotot ตั้งอยู่ Puteaux ชานเมือง Paris ฝากฝั่งตะวันตก เป็นสระน้ำอุ่น อุณหภูมิ 29 องศาเซลเซียส เปิดให้บริการระหว่างเดือนกันยายน – เมษายน (ปิดช่วงฤดูร้อน 3-4 เดือน)

การมาถึงของพระเอกขี่ม้าขาว Ernest Lapierre สร้างความประทับใจให้กับ Jacqueline (และผองเพื่อน) เธอจึงมีความเชื่อมั่น โชคชะตาฟ้าลิขิต ยินยอมร่วมออกเดินทางมุ่งสู่ชนบท Ermenonville อยากพาไปไหนก็ตามสบาย แวะรับประทานอาหาร (ร้านของครอบครัวผู้ช่วยผู้กำกับ Charles Bitsch) เข้าป่าเปลี่ยวๆ ถูกบีบรัดคอ โบยบินขึ้นสู่สรวงสวรรค์ … หลังเสร็จสิ้นการฆาตกรรม ฆาตกรจะลุกขึ้นยืน แหงนเงยขึ้นมองท้องฟ้า กล้องถ่ายมุมก้มลงมา ราวกับถึงจุดสูงสุด สำเร็จความใคร่ ได้กระทำบางสิ่งที่ถือเป็นการปลดปล่อย ระบายอารมณ์อัดอั้นภายในออกมา

พบเห็นจุดจบลักษณะนี้ คนส่วนใหญ่มักมองถึงสาระข้อคิด บทเรียนสอนหญิง “อย่าหลงเชื่อคนแปลกหน้า” แต่ในบริบทนี้ยังสามารถตีความเชิงนามธรรม ถึงการปลดปล่อยจิตวิญญาณให้เป็นอิสระ ความตายก็ถือเป็นหนทางออกหนึ่ง หลบหนีจากโลกความจริงอันโหดร้าย (Escapist)

ผมหาข้อมูลเจอว่ากลุ่มเด็กนักเรียนกำลังขับร้องเพลง Auprès de ma blonde (Next to My Girl) หรืออีกชื่อ Le Prisonnier de Hollande (The Prisoner of Holland) เป็นบทเพลงได้รับความนิยมมาตั้งแต่ค.ศ. 1704 เนื้อคำร้องเกี่ยวกับหญิงสาวกำลังคร่ำครวญกับเจ้านกน้อยในสวนของบิดา ครุ่นคิดถึงสามีที่ถูกจับกุม คุมขังอยู่เรือนจำที่ Holland ช่วงสงคราม Franco-Dutch War (1672-78)

LINK: https://www.youtube.com/watch?v=bTnsuMapE2c

ทั้งบทเพลงที่เด็กๆขับร้อง (สามีที่ถูกจับกุม) กล้องเคลื่อนเลื่อนมายังทะเบียนรถมอเตอร์ไซด์ แถมพอกำลังขับรถหลบหนียังปล่อยทิ้งกระเป๋าตกหล่น ล้วนเป็นการสร้างความหวังให้กับผู้ชม ว่ามีโอกาสที่ฆาตกรคนนี้จะถูกจับกุม เพราะได้ทิ้งร่องรอยหลักฐานเอาไว้มากมาย

เรื่องราวของหนังอาจดูค้างๆคาๆ หลายคนคงเกิดข้อคำถามมากมาย เพื่อนสาวทั้งสามจะรับรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Jacqueline? ฆาตกรจะถูกจับกุมตัวหรือไม่? แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีความสลักสำคัญอันใด เพราะนี่ไม่ใช่หนังแนวสืบสวนสอบสวน มีลักษณะเหมือน ‘essay film’ ร้อยเรียงวิถีชีวิต นำเสนอกิจวัตรประจำวันของหญิงสาวยุคสมัยนั้น พวกเธอต่างโหยหาอิสรภาพ ต้องการหลบหลีกหนี (Escapist) ความตายก็ถือเป็นทางออกหนึ่งได้เช่นกัน

หน้าร้าน Mimi Pinson พบเห็นตอนต้นเรื่อง

ปัจฉิมบทเลยนำเสนอหญิงสาวคนใหม่ Karen Blanguernon ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน นั่งอยู่ตัวคนเดียวในโถงเต้นรำ (Dancehall) ชื่อว่า Mimi Pinson ตั้งอยู่ข้างๆ Grisbi Club (พบเห็นตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง) โด่งดังกับบทเพลงสไตล์ Latin-American … นี่ต้องถือว่าเป็นการเวียนวงกลม เริ่มต้น-สิ้นสุด (ภายนอก-ในร้าน) เกิดขึ้น ณ Rue Quentin Bacquart

หญิงแปลกหน้าก็ต้องคู่กับชายแปลกหน้า (ชายคนนี้ André Jocelyn แต่ไม่ขอกล่าวถึงเพราะไม่มีนัยยะสำคัญอะไร) ระหว่างเริงระบำบทเพลง Valse pour les bonnes femmes (Waltz for Good Women) บรรเลงโดย Jacques Météhen and His Orchestra สังเกตว่าเธอหันมาสบตาหน้ากล้อง “Breaking the Fourth Wall” เพื่อท้าทายขนบกฎกรอบ จับจ้องผู้ชมสมัยนั้น โดยเฉพาะหญิงสาว ท้าทายให้ให้ขบครุ่นคิด ทบทวนตนเอง ตระหนักถึงวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ สามารถตอบสนองความต้องการ ได้รับอิสรภาพแล้วหรือยัง

ภาพสุดท้ายของหนังถ่ายติด Mirror Ball แล้วแต่จะเรียกลูกกระจก บอลกระจก ดิสโก้บอล ลักษณะของมันดูระยิบระยับ เปร่งประกาย สะท้อนแสงสีที่สาดส่องเข้าไป สำแดงถึงความเจิดจรัส อนาคตสดใส สักวันหนึ่งสตรีเพศย่อมได้รับการปลดแอก โบกโบยบินสู่อิสรภาพ

ตัดต่อโดย Jacques Gaillard (1930-2021) จากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Les Misérables (1958), ก่อนกลายเป็นขาประจำผกก. Claude Chabrol ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), The Unfaithful Wife (1969), This Man Must Die (1969), The Butcher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971) ฯ

แม้หนังจะไม่จำเพาะเจาะจงมุมมองการนำเสนอ เพียงร้อยเรียงวิถีชีวิตประจำวันของสี่สาว แต่ทุกกิจกรรมมักต้องพบเห็น Jane มีส่วนร่วมอยู่เสมอๆ

  • หลังเลิกงาน สาวๆต่างแยกย้าย
    • Jane และ Jacqueline ได้รับชักชวนจากสองชายวัยกลางคน ไปดื่มด่ำสังสรรค์
    • ขากลับ Jacqueline แยกตัวกลับห้องพัก ส่วน Jane ไปต่อที่ห้องของชายทั้งสอง
  • วันทำงานที่น่าเบื่อหน่าย
    • ยามเช้าเดินทางไปทำงาน แต่ทว่า Jacqueline กลับมาถึงที่ทำงานวันแรกสายที่สุด
    • งานช่วงเช้าดำเนินไปอย่างน่าเบื่อหน่าย
  • พักกลางวัน
    • พอพักกลางวันเดินทางไปรับประทานอาหาร พบเห็น Rita กับแฟนหนุ่ม Henri และครอบครัวฝ่ายชาย
    • สาวๆไปต่อกันที่สวนสัตว์
  • เข้างานยามบ่าย
    • Jacqueline พยายามโน้มน้าวให้ Madame Louise เปิดเผยเครื่องลางนำโชค
    • จับจ้องมองนาฬิกานับถอยหลังเวลาเลิกงาน
  • หลังเลิกงาน
    • สาวๆพากันไปรับชมการแสดง แล้วได้พบเจอ Ginette ที่เป็นหนึ่งในนักร้อง
    • ต่อจากนั้นสาวๆพากันไปเล่นน้ำ พวกเธอได้รับการช่วยเหลือจากชายขับรถมอเตอร์ไซด์
  • วันหยุดสุดสัปดาห์
    • ชายขับรถมอเตอร์ไซด์พูดคุยทักทายกับ Jacqueline จากนั้นชักชวนเธอไปเที่ยวเล่นชนบท แต่กลับ…
    • สาวๆเต้นรำ จับคู่กับชายแปลกหน้า

หลายคนอาจรู้สึกเบื่อหน่ายกับดำเนินไปอย่างไร้เรื่องราว ไร้เป้าหมาย เพียงร้อยเรียงแปะติดปะต่อกิจกรรมของสาวๆในระยะเวลา 1-2 วัน แต่นั่นคือความตั้งใจของผู้สร้าง เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความน่าเบื่อหน่ายของชีวิต การทำงาน เฝ้ารอคอยเวลาเลิกงาน ฟ้ามืดเมื่อไหร่จักได้รับอิสรภาพ ทำในสิ่งที่หัวใจปรารถนา

ลีลาการตัดต่อถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของหนัง สิ่งที่ผมชื่นชอบมากๆคือการแทรกภาพนาฬิกา ปรากฎขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆครั้ง แถมยังมีลูกเล่นอย่างนักโทษบอกเวลาผ่านเงาแสงอาทิตย์ เป็นวิธีการนำเสนอที่สร้างความรู้สึกโหยหา เฝ้ารอคอย แบบเดียวกับตัวละคร เมื่อไหร่จะถึงเวลาเลิกงานเสียที!


เพลงประกอบโดย Paul Misraki (1908-98) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Constantinople, Ottoman Empire (ปัจจุบันคือ Istanbul, Turkey) ในครอบครัว French Jewish บิดาทำงานบริษัทประกัน ด้วยความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก เลยถูกส่งกลับฝรั่งเศส ร่ำเรียนดนตรีกับ Charles Koechlin จากนั้นเริ่มแต่งเพลง Jazz โด่งดังกับหนังพูดของผกก. Jean Renoir เรื่องแรก Baby’s Laxative (1931), ร่วมติดตาม Renoir เดินทางสู่ Hollywood ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ผลงานเด่นๆ อาทิ Manon (1949), Mr. Arkadin (1955), And God Created Woman (1956), Montparnasse 19 (1958), Les Cousins (1959), Les Bonnes Femmes (1960), Le Doulos (1963), Alphaville (1965) ฯ

งานเพลงส่วนใหญ่ของหนังจะเป็น ‘diegetic music’ ได้ยินขับร้องบรรเลงตามโรงละคอน ผับบาร์ ไม่ก็เปิดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง เน้นความสนุกสนานครื้นเครง แต่ถ้าเป็น ‘non-diegetic’ มักมีสัมผัสชวนฝัน โหยหาคร่ำครวญ และบางครั้ง(บทเพลงของ Jacqueline)ราวกับสัญญาณเตือนอันตราย เหตุการณ์เลวร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา

ปล. ผมพยายามมองหาบทเพลงขับร้องโดย Ginette (Stéphane Audran) ชื่อว่า Dès que tu es parti (As Soon As You Left) บอกว่าแต่งโดย Franco Baldoni, คำร้องภาษาฝรั่งเศส Claude Avenue, แต่ก็ไม่พบเจอรายละเอียดใดๆเช่นกัน เลยคาดว่าน่าจะแต่งโดย Paul Misraki นี้แหละ

Les Bonnes Femmes (1960) ไม่เพียงบันทึกภาพวิถีชีวิต ผู้คน ฝรั่งเศสทศวรรษ 50s-60s (เก็บไว้ในไทม์แคปซูล) แต่ยังความครุ่นคิด จิตวิญญาณหญิงสาวยุคสมัยนั้น ต่างโหยหาอิสรภาพ ค้นหาสิ่งสามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน ปฏิเสธปฏิบัติตามขนบกฎกรอบ ต่อต้านวิถีทางสังคม ค่านิยมสตรีเพศที่เคยได้รับการปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่งมาตั้งแต่โบราณกาล

เหตุผลที่สาวๆรุ่นใหม่มีอุปนิสัยใจคอ พฤติกรรมแสดงออกเช่นนั้น ต้องเท้าความไปถึงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเธอถือกำเนิดในช่วงคาบเกี่ยว (ก่อนหรือหลัง หรือระหว่างก็ได้เหมือนกัน) แล้วเติบโตขึ้นหลังสงคราม (Post Wars) ชีวิตแร้นแค้น ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะตกต่ำ เกิดภัยพิบัติชื่อว่า Great Depression คนรุ่นนี้จึงพยายามหาหนทางหลบหลีกหนี (Escapist) กระทำสิ่งที่สามารถปลดปล่อยตนเอง ไม่ให้จมปลักอยู่กับความทุกข์ทรมาน

เอาจริงๆไม่ใช่แค่สตรีเพศที่โหยหาอิสรภาพ ช่วงทศวรรษ 50s-60s เรียกได้ว่ายุคทองแห่งการเคลื่อนไหว เกิดการปฏิวัติ ปลดแอกอาณานิคม เรียกร้องอิสรภาพมากมายทั่วโลก สิทธิแรงงาน สิทธิสตรี สิทธิคนผิวสี สิทธิคนรักร่วมเพศ ฯ ซึ่งเหตุการณ์ถือว่าทรงอิทธิพลที่สุดก็คือการปฏิวัติ Mai ’68 ปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคมฝรั่งเศสไปโดยสิ้นเชิง! … ผมเคยเขียนถึงประเด็นนี้ในภาพยนตร์ฝรั่งเศสมาแล้วหลายเรื่อง บทความนี้เลยจะไม่ขอกล่าวถึง เพราะตัวหนังยังห่างช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ไกลโข

ผกก. Chabrol ชื่นชอบการดื่มด่ำ สังสรรค์ ออกท่องรัตติกาล เลยมีโอกาสคลุกคลีกับผู้คน(โดยเฉพาะสาวๆ)มากหน้าหลายตา เลยไม่ใช่เรื่องแปลกจะสังเกตเห็นพฤติกรรมผู้หญิงรุ่นใหม่ สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อบอกกับสังคมว่ายุคสมัยกำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป … สอดคล้องเข้ากับแนวคิดของกลุ่มเคลื่อนไหว French New Wave ที่ก็พยายามแหกขนบกฎกรอบ วิถีทางภาพยนตร์เฉกเช่นเดียวกัน!

ความสนใจของผมต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสาวๆทั้งสี่ แต่หวนระลึกถึงตอนเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ เคยทำงานพนักงานบริษัท ตื่นเช้า ขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน ง่วงหงาวหาวนอน เหม่อมองนาฬิกา นับถอยหลังเวลาเลิกงาน เมื่อไหร่จะได้รับอิสรภาพเสียที! … นี่คือความอมตะเหนือกาลเวลาของหนังที่สามารถเข้าถึงผู้ชมทุกเพศวัย


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง ด้วยเสียงตอบรับที่ย่ำแย่จากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ (ในฝรั่งเศสต้องตรวจบัตร เฉพาะผู้ชมอายุ 18+) ทำให้ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสขายได้เพียง 488,771 ใบ ถือว่าขาดทุนย่อยยับ! แต่เพราะบารมีความสำเร็จของสามผลงานก่อนหน้า เลยยังทำให้ผกก. Chabrol ทำหนังเจ๊งได้อีกหลายเรื่อง (ทำหนังขาดทุนต่อจากนี้อีกสามเรื่องติด!)

ปัจจุบันยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ Kino Video ได้ลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย DVD เมื่อปี ค.ศ. 2000 แต่สามารถหารับชมออนไลน์ทาง Amazon Prime (คุณภาพ DVD เช่นเดียวกัน)

ทีแรกผมมีความสองจิตสองใจว่าจะรับชม Les Bonnes Femmes (1960) ดีไหม? แต่ระหว่างเลื่อนผ่านๆคำวิจารณ์ของผู้ชมใน IMDB.com พบเห็นข้อความหนึ่งน่าสนใจ “this film shouldn’t work but it does” สร้างความกระตือรือล้น อยากรู้อยากเห็น มันเวิร์คหรือไม่เวิร์คยังไง โชคดีสามารถหารับชมได้ตามช่องทางธรรมชาติทั่วไป

ผลลัพท์ก็ตามความคิดเห็นนั้นเป๊ะๆ “this film shouldn’t work but it does” ทั้งๆแทบจะไม่มีเรื่องราว เนื้อหาสาระอะไร เพียงร้อยเรียงกิจวัตรประจำวันของหญิงสาว กลางวัน ค่ำคืน แต่คนเคยพานผ่านวิถีชีวิตลักษณะคล้ายๆเดียวกันนี้ ย่อมเข้าถึงจิตวิญญาณของหนังได้อย่างถ่องแท้ ไม่จำต้องเป็นผู้หญิง มนุษย์ทำงานทุกคนย่อมเข้าใจอารมณ์ได้ดี!

จัดเรต 13+ กับความระริกระรี้ยามค่ำคืน

คำโปรย | วันๆของสี่สาว Les Bonnes Femmes มีขึ้นมีลง มีดีมีร้าย เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ ก็จำต้องแลกด้วยบางสิ่งอย่าง
คุณภาพ | ช่ดีๆ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: