Suspicion

Suspicion (1941) hollywood : Alfred Hitchcock ♥♥♥♡

หลังการแต่งงาน Joan Fontaine เต็มไปด้วยความเคลือบแคลง ฉงนสงสัย ชายคนรัก Cary Grant มีพฤติกรรมลับๆล่อๆ เต็มไปด้วยข้อกังขา ‘Suspicion’ ก่อนรับรู้ว่าหมอนี่เป็นคนไม่เอาถ่าน การงานไม่เคยทำ วันๆเอาแต่เล่นพนันหมดตัว แล้วเอาเงินที่ไหนมาจับจ่ายใช้สอย กินหรูอยู่สบาย จู่ๆคนรอบข้างสูญหาย ล้มตาย หรือว่า …

Suspicion (1941) เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะเข้ากับสไตล์ Hitchcockian เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ระทึกขวัญ “Romantic Thriller” สามีของฉันกำลังวางแผนอะไร? เขาคือฆาตกรใช่ไหม? นมแก้วนั้นแอบใส่ยาพิษไว้หรือไม่?

แต่ผมกลับโคตรรำคาญหนังเรื่องนี้เลยว่ะ! นางเอกแม้เป็นคนเฉลียวฉลาด แต่กลับทำเรื่องโง่ๆ เริ่มต้นอยู่เป็นโสดอยู่ดีๆ ระริกระรี้อยากมีผัว (เพราะคำประชดประชันบิดา) ทั้งรู้อีกฝ่ายเป็นเพลย์บอยกลับยังหลวมตัวแต่งงาน พอสังเกตเห็นพิรุธ พฤติกรรมต้องสงสัย ใช้ข้ออ้างความรักอดกลั้นฝืนทน จนหายนะใกล้บังเกิดกับตนเอง … Joan Fontaine ถือว่าเล่นดี แต่มันไม่ใช่บทบาทสมควรค่าแก่รางวัล Oscar: Best Actress สักเท่าไหร่

สิ่งน่าผิดหวังสุดๆก็คือตอนจบ นั่นเพราะ Cary Grant มีภาพลักษณ์พระเอกจะให้มาเป็นฆาตกรได้อย่างไร ผกก. Hitchcock จึงถูกสตูดิโอล็อบบี้อย่างหนัก (และต้องให้ผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code ด้วยไง) พยายามขบครุ่นคิด เค้นสมอง มองหาทางออกสุดๆแล้ว ผลลัพท์เลยโคตรฟังไม่ขึ้น ไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ … ผกก. Quentin Tarantino ให้คำเรียกว่า “Dick-Sucking” เพราะเป็นตอนจบที่ต้องประณีประณอม ไม่ตรงต่อวิสัยทัศน์ผู้สร้างสักเท่าไหร่


Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang

ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938) ฯ

หลังเซ็นสัญญา(ทาส)กับโปรดิวเซอร์ David O. Selznick เดินทางมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ Hollywood เรื่องแรก Rebecca (1940) แต่ทั้งสองเต็มไปด้วยขัดแย้ง แนวทางทำงานที่แตกต่าง แม้ยังติดสัญญากันอยู่ ผกก. Hitchcock กลับพยายามดิ้นหลบหนี ปล่อยให้ตนเองถูกหยิบยืมโดยโปรดิวเซอร์/สตูดิโออื่น … กว่าทั้งสองจะร่วมงานกันอีกก็เมื่อ Spellbound (1945) และ The Paradine Case (1947)

  • ถูกดึงตัวโดยโปรดิวเซอร์ Walter Wanger กำกับภาพยนตร์ Foreign Correspondent (1940)
  • ถูกหยิบยืมจากสตูดิโอ RKO Radio Pictures กำกับภาพยนตร์ Mr. & Mrs. Smith (1941)

เฉกเช่นเดียวกับ Suspicion ดัดแปลงจากนวนิยาย Before the Fact (1932) แต่งโดยนักเขียนชาวอังกฤษ Francis Iles ชื่อจริง Anthony Berkeley Cox (1893-1971), ดั้งเดิมนั้น RKO Radio Pictures ต้องการให้เป็นเพียงหนังเกรดบี พัฒนาบทโดย Nathanael West & Boris Ingster, แต่การมาถึงของผกก. Hitchcock นำพานักเขียนชุดใหม่ Samson Raphaelson, Joan Harrison, Alma Reville (ภรรยาผกก. Hitchcock) ทำการปรับแก้ไขหลายสิ่งอย่าง จนแทบไม่หลงเหลือเค้าของเดิม

จริงๆแล้วผกก. Hitchcock ต้องการดัดแปลงบทหนังให้มีความซื่อตรงต่อต้นฉบับนวนิยาย แต่ด้วยสารพัดข้อเรียกร้องของ RKO รวมถึงข้อจำกัดของ Hays Code จึงจำต้องเป็นต้องปรับเปลี่ยนแปลงรายละเอียดมากมาย อาทิ

  • ในนวนิยาย บิดาของ Lina แสดงความไม่เห็นด้วย ต่อต้านการแต่งงานระหว่างบุตรสาวกับ Johnnie แล้วต่อมากลายเป็นบุคคลแรกที่ถูกเข่นฆ่า (เพราะครุ่นคิดว่าภรรยาจะได้รับมรดก) แต่หนังไม่กล่าวถึงประเด็นนี้ และผู้ชมก็ไม่สามารถเชื่อมโยงความตายกับเหตุการณ์ฆาตกรรม
  • ตอนจบของนวนิยาย Lina เขียนจดหมายลาตายให้กับมารดา ดื่มนมใส่ยาพิษแล้วไม่ตื่นขึ้น, แต่ภาพยนตร์เธอไม่เขียนจดหมาย ไม่ดื่มนม ปล่อยให้ผู้ชมพร่ำเพ้อเอาเองว่ามียาพิษหรือไม่
  • ตอนจบภาพยนตร์เต็มไปด้วยความคลุมเคลือ สามารถตีความว่า Johnnie ไม่ใช่ฆาตกร, หรือเพียงไว้ชีวิต Lina, หรือจะมองว่าเป็นการหลอกให้ตายใจ แล้วค่อยไปเข่นฆ่าเอาภายหลัง ฯ ก็แล้วแต่จะขบครุ่นคิดพิจารณา

พื้นหลัง ค.ศ. 1938, เพลย์บอยหนุ่ม Johnnie Aysgarth (รับบทโดย Cary Grant) พบเจอกับสาวเนิร์ด Lina McLaidlaw (รับบทโดย Joan Fontaine) ตอนแรกไม่ได้ครุ่นคิดอะไร แต่หลังถูกเกี้ยวพาราสี และแอบได้ยินบิดาว่ากล่าวถึงบุตรสาวคงไม่ได้แต่งงาน รอวันขึ้นคาน ทำให้เธอเกิดความกระเหี้ยนกระหือรือ ตัดสินใจหนีตามเขาไป

พอได้แต่งงาน อาศัยอยู่ร่วมกัน เริ่มค้นพบว่าเขามีพฤติกรรมลับๆล่อๆ เต็มไปด้วยข้อกังขา วันๆเอาแต่เที่ยวเล่น กู้หนี้ยืมสิน ติดการพนัน งานการไม่เคยทำ แล้วเอาเงินที่ไหนมาจับจ่ายใช้สอย กินหรูอยู่สบาย จนกระทั่งทราบข่าวการตายของคนสนิท ครุ่นคิดว่าตนเองอาจตกเป็นเหยื่อรายต่อไป


Cary Grant ชื่อจริง Archibald Alec Leach (1904-86) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เกิดที่ Bristol, Horfield ในครอบครัวที่พ่อติดเหล้า แม่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ก็พยายามสอนเขาให้ยิ้มไว้ ร้องเพลง เล่นเปียโน โตขึ้นได้ทุนเข้าเรียน Fairfield Grammar School แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ แต่ตัวเองกลับโดดเรียนจนถูกไล่ออก ใช้เวลาอยู่หลังเวทีที่ Hippodrome ต่อมากลายเป็นนักแสดงออกทัวร์ ตอนอายุ 16 ขึ้นเรือ RMS Olympic เดินทางไปที่อเมริกา ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนพอมีชื่อเสียงใน Broadway แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก This is the Night (1932), เริ่มได้รับบทบาทเด่นกับ Blonde Venus (1932), She Done Him Wrong (1933), โด่งดังกับ The Awful Truth (1937), Bringing Up Baby (1938), His Girl Friday (1940), The Philadelphia Story (1940), กลายเป็นตำนานกับ Notorious (1946), North by Northwest (1959), Charade (1963) ฯ

รับบทเพลย์บอยหนุ่ม Johnnie Aysgarth วันๆไม่เคยทำงานทำการ สนเพียงเล่นพนันแทงม้า ไม่ก็เข้าร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ เพื่อหาโอกาสxี้สาวๆไม่ซ้ำหน้า พยายามเกี้ยวพาราสี Lina McLaidlaw เรียกเธอว่า ‘Monkey Face’ ล่อหลอกให้ตกหลุมรัก แต่งงาน คาดหวังมรดกก้อนโต แต่กลับได้รับเพียงเก้าอี้โบราณสองตัว และภาพวาดเหมือนบิดา เมื่อไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้จึงครุ่นคิดกระทำการ …

แรกเริ่มเมื่อตอนวางแผนสร้างหนังเกรด B มีการติดต่อนักแสดง George Sanders ประกบ Anne Shirley, แต่พอผกก. Hitchcock เข้ามามีส่วนร่วม ครุ่นคิดอยากได้ Laurence Olivier & Frances Dee ก่อนสุดท้ายลงเอยด้วย Cary Grant & Joan Fontaine (หยิบยืม Fontaine มาจากโปรดิวเซอร์ David O. Selznick)

การร่วมงานครั้งแรกระหว่าง Grant & Hitchcock เห็นว่าไม่ค่อยสวยหรูสักเท่าไหร่ นั่นเพราะผกก. Hitchcock แทบไม่เคยให้คำแนะนำด้านการแสดงใดๆ ประคบประหงม Fontaine จนสร้างความอิจฉาริษยา ปฏิบัติต่อเธอทั้งนอก-ในกองถ่ายอย่างเย็นชา แถมพอได้เข้าชิง/คว้ารางวัล Oscar: Best Actress ก็ยิ่งมองหน้ากันไม่ติด เหมือนเคยประกาศกร้าวจะไม่ร่วมงานกับทั้งสองอีก … แต่ทศวรรษถัดมาต้องถือว่า Grant ติดหนี้บุญคุณ Hitchcock เพราะการร่วมงานครั้งถัดๆมา Notorious (1946), To Catch a Thief (1955), North by Northwest (1959) ช่วยพลิกฟื้นชื่อเสียงที่ซบเซาลงไป หวนกลับมาประสบความสำเร็จ และกลายเป็นดาวดาราเจิดจรัสค้างฟ้า

ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลที่ผกก. Hitchcock แทบไม่เคยให้คำแนะนำการใดๆกับ Grant สามารถมองได้สองเหตุผล 1) เชื่อมั่นในพลังดารา ศักยภาพด้านการแสดง ไม่อะไรให้ต้องชี้แนะนำ เพียงเล่นเป็นตัวของตนเองก็เท่านั้น 2) ไม่ชอบตัวเลือกนักแสดงสักเท่าไหร่ เพราะชื่อเสียง ภาพจำของ Grant ทำให้สตูดิโอไม่กล้าเสี่ยงที่จะให้เขากลายเป็นฆาตกรจริงๆ มันเลยทำอะไรกับตัวละครไม่ได้มาก

ซึ่งการที่ Hitchcock ไม่เคยให้คำแนะนำอะไรสักอย่างกับ Grant ทำให้เวลาแสดงบทบาทนี้ เต็มไปด้วยความพะว้าพะวัง โล้เล้ลังเล ขาดความเชื่อมั่น เพราะไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าตัวละครคือฆาตกรหรือไม่? เมื่อถึงจุดๆหนึ่งตัดสินใจหันเข้าหาด้านมืด พร้อมเล่นบทตัวร้าย แต่ตอนจบกลับกลาย … มันเลยไม่น่าแปลกใจที่จะหลุดโผล ไม่มีชื่อเข้าชิง Oscar: Best Actor


Joan Fontaine ชื่อจริง Joan de Beauvoir de Havilland (1917- 2013) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Tokyo, Japan บิดาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ Imperial University, ส่วนมารดา Lilian Augusta Ruse de Havilland Fontaine คืออดีตนักแสดงละครเวทีชื่อดัง ต้นตระกูลสืบเชื้อสายขุนนางอังกฤษ, หลังจากครอบครัวหย่าร้าง มารดาพาเธอและพี่สาว Olivia de Havilland อพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกา โตขึ้นดำเนินตามรอยเท้า เริ่มจากเป็นนักแสดงละคอนเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก No More Ladies (1935), เซ็นสัญญากับ RKO Picture เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Man Who Found Himself (1937), A Damsel in Distress (1937), Gunga Din (1939), The Women (1939), ย้ายมาสังกัด David O. Selznick ทำให้ได้รับบทนำ Rebecca (1940), Suspicion (1941), The Constant Nymph (1943), Letter from an Unknown Woman (1948) ฯ

รับบทสาวเนิร์ด Lina McLaidlaw สวมแว่นหนาเตอะ ชอบอ่านหนังสือ อยู่ตัวคนเดียว ไม่ชอบเข้าสังคม หรือสนใจอยากแต่งงานกับใคร แต่หลังจากถูกบิดาพูดคำสบประมาท เลยตัดสินใจตกหลุมรัก Johnnie Aysgarth โดยไม่สนว่าเขาจะเป็นใคร เคยทำอะไร ก่อนหนีตามกันไปแต่งงาน

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไปสักพัก เธอจึงค่อยรับรู้จักตัวตนของอีกฝ่าย ช่วงแรกๆยังแค่เคลือบแคลงสงสัย เผื่อใจว่าเขาจะสามารถกลับตัวเป็นคนใหม่ แต่นานวันเหตุการณ์กลับยิ่งเลวร้าย หนี้สินท่วมหัวยังใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย กระทั่งรับทราบข่าวการเสียชีวิตของเพื่อนสนิท บังเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่าตนเองอาจตกเป็นเหยื่อรายถัดไป

เมื่อตอนร่วมงานภาพยนตร์ Rebecca (1940) เห็นว่า Fontaine ไม่ค่อยชื่นชอบวิธีการทำงานผกก. Hitchcock ที่คอยจ้ำจี้จำไช ให้คำแนะนำโน่นนี่นั่นมากมาย จนรู้สึกเหมือนพันธนาการเหนี่ยวรั้ง ไร้ช่องว่าง/อิสรภาพทางการแสดง, สำหรับ Suspicion (1941) ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมนัก แต่คราวนี้เพราะมีประสบการณ์ เข้าใจเหตุผลการกระทำ สารพัดคำแนะนำ ควบคุมครอบงำของ Hitchcock ช่วยสร้างความตึงเครียด กดดัน บีบเค้นคั้น สำหรับถ่ายทอดออกมาเป็นอารมณ์ร้อนรน กระวนกระวาย ค่อยๆไต่ไล่ระดับ วิตกจริต ครุ่นคิดมาก มุ่งสู่ความคลุ้มบ้าคลั่ง

วิวัฒนาการตัวละครจากสาวเนิร์ดไร้เดียงสา สู่ภรรยาผู้ทุ่มเท เชื่อมั่นในรัก ก่อนค่อยๆเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต จนเกือบจะสูญเสียสติแตก ถือเป็นบทบาทการแสดงอันท้าทาย ต้องค่อยๆไล่ระดับอารมณ์ ไต่เต้าจนถึงจุดสูงสุด นั่นกระมังคือเหตุผลการคว้า Oscar: Best Actress แต่คนส่วนใหญ่กลับมองว่าคือรางวัลปลอบใจจากปีก่อน Rebecca (1940) ที่สมควรได้มากกว่า

ผมเองก็รู้สึกว่า Fontaine ควรได้รับรางวัล Oscar จาก Rebecca (1940) มากกว่า Suspicion (1941) เพราะบทบาทนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งในตนเอง สามารถสังเกต ขบครุ่นคิด ได้ข้อสรุปว่าสามีคือฆาตกร แต่กลับยังดื้อรั้น ดึงดัน เต็มไปด้วยความหลงผิด โง่งมงาย สุดท้ายแสดงอาการกรีดกราย ร่ำร้องไห้ ไม่อยากตาย … IQ สูงเสียเปล่า กลับทำแต่เรื่องโง่เง่า มันช่างไม่สมเหตุสมผล ไม่มีความน่าสงสารเห็นใจ น่าจะถูกเข่นฆ่าให้ตกตายไปจริงๆ

ถ่ายภาพโดย Harry Stradling Sr. (1901-70) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน แต่ไปสร้างชื่อยังยุโรปก่อนหวนกลับมา Hollywood ผลงานเด่นๆ อาทิ Mr. & Mrs. Smith (1941), Suspicion (1941), The Human Comedy (1943), A Streetcar Named Desire (1951), Johnny Guitar (1954), Guys and Dolls (1955), คว้า Oscar: Best Cinematography สองครั้งจาก The Picture of Dorian Gray (1945) และ My Fair Lady (1964)

อาจเพราะหนังยังไม่ได้ผ่านการบูรณะ ฟีล์มหนังเสื่อมสภาพพอสมควร การสแกนใหม่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่ผมแอบรู้สึกว่ามันเข้าบรรยากาศนัวร์ๆ งานภาพขมุกขมัว บางครั้งแสงสว่างจร้าเกินไป บางครั้งก็มืดๆ เบลอๆ เอาแน่เอานอนอะไรไม่ค่อยได้

งานภาพของหนังอาจไม่ได้มีลูกเล่น เทคนิคภาพยนตร์หวือหวา แต่ทั้งเรื่องสร้างฉากถ่ายทำใน RKO Studios ระหว่างกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ค.ศ. 1941 จึงโดดเด่นกับการจัดแสง-เงามืด ภาพวาดพื้นหลัง และหลายๆครั้ง(ในฉากขับรถ หรือนอกสถานที่)จะใช้เครื่องฉาย Rear Projection

บ้านของ General McLaidlaw (บิดาของ Lina) ภายในตกแต่งให้ดูคลาสสิก ด้วยสิ่งข้าวของโบราณ เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าแก่ แสดงสถานะทางสังคม รวมถึงความคร่ำครึ (หัวโบราณ), บุตรสาวนั่งอยู่ริมหน้าต่าง (ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ All That Heaven Allows (1955)) กระจกด้านหลังราวกับกรงนก เรือนกระจก ถูกกักขัง ไร้อิสรภาพ ต้องการโบกโบยบิน ดิ้นหลบหนีออกไปจากสถานที่แห่งนี้

บ้านหลังใหม่หลังแต่งงานของ Lina แม้มีความโมเดิร์น หรูหรา สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่ทว่าเงาอาบฉาบทั้งตอนกลางวันและค่ำคืน ต่างมีลักษณะเหมือนใยแมงมุม ล่อลวงหญิงสาวให้หลงเข้ามาติดกับดัก ไม่สามารถดิ้นหลบหนี เอาตัวหลุดรอดพ้นจากเงื้อมมือของ …

ผมพบเจอว่าผกก. Hitchcock ปรากฎตัว (Cameo) ถึงสองครั้งในภาพยนตร์เรื่องนี้

  • ตอนต้นเรื่อง พบเห็นชายร่างอวบอ้วน กำลังลากจูงเจ้าม้าเดินผ่านหน้ากล้องไป
  • ตรงหน้าร้านขายหนังสือจะมีตู้ไปรษณีย์ ชายร่างอวบอ้วนคนหนึ่งกำลังส่งจดหมายกลับบ้าน คงไม่ใช่จะสื่อถึงอาการ ‘Home Sick’ หรอกกระมัง?

สองสิ่งที่ Lina ได้รับมรดกจากบิดา ประกอบด้วย

  • เก้าอี้โบราณสองตัว ราคาจริงๆอาจประเมินค่าไม่ได้ สมควรต้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่ทว่า Johnnie กลับไม่เห็นคุณค่าของมัน นำไปจำนำแลกเงินไม่กี่สิบดอลลาร์
    • ผมมองนัยยะเก้าอี้สองตัวนี้ คือสัญลักษณ์ของการลงหลักปักฐาน คนสองแต่งงาน สร้างครอบครัว ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ได้รับนับหน้าถือตาจากลูกหลาน
    • การที่ Johnnie นำเก้าอี้ทั้งสองไปจำนำ ย่อมสื่อถึงการสูญเสียความมั่นคง สร้างความสั่นคลอน ขาดสิ่งสำหรับ(นั่ง)พักพิง
  • รูปภาพวาดของบิดา คงตั้งใจให้บุตรสาวและลูกเขยจดจำตนเอง บังเกิดความภาคภูมิใจ ไม่หลงลืมสิ่งเคยกระทำไว้ แต่เชื่อว่าหลายคนอาจมองนัยยะคล้ายๆ Citizen Kane (1941) สำแดงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ลุ่มหลงตนเอง ตายไปแล้วยังพยายามสร้างแรงกดดัน ควบคุมครอบงำคนรุ่นหลังให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษ

น่าเสียดายที่ผมข้อมูลภาพวาดด้านหลังไม่ได้ (คาดเดาว่าอาจเป็นผลงานของ Piccaso สังเกตจากความบิดๆเบี้ยวๆของรูปทรงแก้วไวน์) แต่สิ่งน่าสนใจสุดของภาพวาดที่ดูเหมือนไม่มีอะไรนี้ คือมีดที่วางอยู่บนโต๊ะ มันช่างโดดเด่น เกินหน้าเกินตา สร้างความเคลือบแคลง ฉงนสงสัยถึงนาย Johnnie เต็มไปด้วยลับเลศนัย อาจมีอะไรบางอย่างซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน

เมื่อตอนที่ Lina ตระหนักรับรู้ว่า Johnnie เป็นคนไม่เอาอ่าว โกหกพกลม พึ่งพาอะไรไม่ได้สักสิ่งอย่าง แถมติดหนี้ติดสินใครต่อใครไปทั่ว พอกลับมาบ้านจึงตัดสินใจจะเขียนจดหมายบอกเลิก แต่สังเกตว่าเงามืดพาดผ่านลำตัวแบ่งครึ่งบน-ล่าง ทำให้รู้สึกเหมือนเธอบังเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน ซึ่งพอเขียนเสร็จก็ตัดสินใจฉีกทิ้ง เพราะยังรัก ไม่อยากเลิกรา แอบคาดหวังว่าเขายังสามารถหวนกลับมา

ภาพวาดในคอลเคลชั่น Still Life (1931) ผลงานศิลปะเหนือจริง (Surrealist) ของ Pablo Picasso แค่ชื่อก็บอกถึงตัวละคร Lina ว่ายังมีชีวิตอยู่ แต่ด้วยลักษณะที่ดูสับสน ยุ่งเหยิง สามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ จิตใจเต็มไปด้วยความปั่นป่วน ฟุ้งซ่าน ไร้รูปร่าง จับต้องไม่ได้

ระหว่างเล่นเกม Crossword หลายคนน่าจะสังเกตเห็นการเรียงตัวอักษร Doubtful และ Murder นี่คือสัมผัสสไตล์ Hitchcockian ที่พยายามชี้นำ บอกใบ้อะไรบางอย่าง เพื่อช่วยสร้างความเคลือบแคลง ฉงนสงสัย บางครั้งอาจเป็นการ ‘misdirection’ ล่อหลอกผู้ชมให้หลงติดกับดัก

ระหว่างที่ Johnnie ถือแก้วใส่นม เดินผ่านความมืดขึ้นบันได มันช่างเป็นซีนที่ดูหลอกหลอน หวาดสะพรึง แฝงความชั่วร้าย แต่สิ่งแปลกประหลาดคือแก้วใส่นมช่างสว่างไสว นั่นเพราะผกก. Hitchcock แอบใส่หลอดไฟลงในแก้ว เพื่อให้มีความโดดเด่น ชัดเจน และดูผิดสังเกต … เพราะมันอาจเคลือบแฝงยาพิษอยู่ข้างใน

วิธีการสร้างความตื่นเต้น ระทึกขวัญ สไตล์ Hitchcockian (ที่จะกลายเป็นแรงบันดาลใจ Kubrickian) เริ่มจากฉายภาพไมล์รถยนต์ (เพื่อให้รับรู้ว่ารถกำลังเร่งความเร็ว) ตามด้วยภาพสองข้างทาง (ฉายผ่านเครื่อง Rear Projection) เคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็วๆ ตัดภาพนักแสดงมีสีหน้าตื่นตระหนัก หวาดกังวล และท้ายที่สุดเพลงประกอบท่วงทำนองรุกเร้า ค่อยๆเพิ่มจังหวะ (Tempo) ความดัง (Volumn) ไต่เต้าจนถึงระดับสูงสุด!

เกร็ด: พื้นหลังของฉากนี้ กองสองไปบันทึกภาพยัง Big Sur ทิวเขาสูงริมชายฝั่งตอนกลางของรัฐ California ความยาว 90 ไมล์ ระหว่าง Monterey Bay และ San Simeon ถือได้ว่าเป็นทิวเขาริมชายฝั่งที่มีทิวทัศนียภาพสวยงามที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ผมแนะนำให้ลองรับฟัง Podcast ที่ผกก. Quentin Tarantino แสดงความคิดเห็นต่อตอนจบของ Suspicion (1941) ที่อาจปรับเปลี่ยนมุมมองคิดเห็นไปโดยสิ้นเชิง! การกระทำสุดท้ายก่อนหนังจบของ Johnnie ช่างเต็มไปด้วยความเคลือบแคลง ฉงยสงสัย เมื่อตะกี้เกือบจะเข่นฆ่ากันตาย หายอาฆาตแค้นแล้วหรือไรถึงเอามือโอบกอดหญิงสาว ราวกับว่ามันยังบางสิ่งซุกซ่อนเร้น นำสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น

LINK: https://www.youtube.com/watch?v=Sayqh91OF4I

ตัดต่อโดย William Hamilton (1893-42) สัญชาติอเมริกัน เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ แต่ผลงานเด่นๆล้วนอยู่ในยุคหนังพูด อาทิ Cimarron (1931), Morning Glory (1933), The Gay Divorcee (1934), Top Hat (1935), Shall We Dance (1937), Stage Door (1937), The Hunchback of Notre Dame (1939), Mr. & Mrs. Smith (1941), Suspicion (1941) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสาวเนิร์ด Lina McLaidlaw ตั้งแต่บังเอิญพบเจอเพลย์บอย Johnnie Aysgarth บนขบวนรถไฟ แรกเริ่มก็ไม่ได้สนใจสักเท่าไหร่ แต่หลังถูกบิดาพูดคำสบประมาณ เลยตัดสินใจตกหลุมรัก ตอบตกลงแต่งงาน โดยไม่สนว่าเขาเป็นใคร เคยทำอะไร ซึ่งนั่นเกือบทำให้เธอต้องสูญเสียใจภายหลัง

  • อารัมบท, แรกพบเจอบนขบวนรถไฟ
  • ความรักของ Lina
    • ในตอนแรก Lina ไม่ได้มีความสนใจในตัว Johnnie แต่ถูกเขาเกี้ยวพาราสี และตอนกลับบ้านได้ยินคำสบประมาทของบิดา จึงตัดสินใจตรงเข้าไปจุมพิต
    • Lina เฝ้ารอคอยที่จะพบเจอ Johnnie อย่างใจจดใจจ่อ จนกระทั่งงานเลี้ยงเต้นรำ
    • ทั้งสองตัดสินใจหนีตามกันไปแต่งงาน
  • ความเคลือบแคลงสงสัย
    • หลังแต่งงาน ฮันนีมูน Lina เพิ่งเรียนรู้ว่า Johnnie ไม่เคยทำงาน พยายามโน้มน้าวร้องขอให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเอง
    • ได้รับของขวัญจากบิดาเป็นเก้าอี้โบราณสองตัว แต่ปฏิกิริยาของ Johnnie ดูผิดหวังพอสมควร
    • เมื่อทั้งสองลงหลักปักฐาน Lina รับรู้จาก Beaky (เพื่อนสนิทของ Johnnie) ว่าสามีชอบเล่นพนันแทงม้า ก่อนพบว่าเก้าอี้โบราณทั้งสองถูกนำไปจำนำเรียบร้อยแล้ว
    • Lina เดินทางไปพบเจอ Captain George Melbeck ลูกพี่ลูกน้อง/นายจ้างของ Johnnie แต่พบว่าสามีไม่เคยเข้าทำงาน แถมยังติดหนี้สินมากมาย
    • Lina ตั้งใจจะเลิกราสามี แต่พอดิบดีบิดาพลันด่วนเสียชีวิต ได้รับมรดกเพียงรูปภาพวาดใบหนึ่ง
  • ความหวาดระแวง วิตกจริต
    • ระหว่างขับรถกลับบ้าน Lina พยายามโน้มน้าวให้ Johnnie เริ่มต้นชีวิตใหม่ วาดฝันธุรกิจ ก่อสร้างรีสอร์ทริมหน้าผา
    • Lina ตัดสินใจกู้หนี้ยืมสินให้กับสามี และร่วมลงทุนกับ Beaky 
    • ระหว่าง Johnnie เดินทางไปติดต่อธุรกิจ มีตำรวจสองนายเดินทางมาที่บ้าน แจ้งข่าวกับ Lina ถึงความตายของ Gordon
    • Lina พูดคุยกับนักเขียนนวนิยายฆาตกรรม Isobel เพราะตระหนักว่าความตายของ Beaky ตรงกับเรื่องราวที่เคยเธอเขียน
    • เย็นวันหนึ่ง Lina กับ Johnnie รับประทานอาหารกับ Isobel และ Dr. Bertram หัวข้อสนทนาเกี่ยวกับ ‘Perfect Murderer’
  • เกือบจะคลุ้มคลั่ง เสียสติ
    • ค่ำคืนนั้น Lina ไม่ต้องจะอยู่ร่วมห้องกับ Johnnie แล้วจู่ๆเป็นลมล้มพับ
    • Johnnie นำนมมาเสริฟก่อนนอน ครุ่นคิดว่าอาจเป็นยาพิษเลยปฏิเสธรับประทาน
    • เช้าวันถัดมา Lina เรียกร้องขออยากกลับบ้าน Johnnie อาสาขับรถไฟส่ง
    • ระหว่างทางเฉี่ยวซ้ายเฉี่ยวขวา เกือบจะพลัดตกลงลงหุบเหว แต่ท้ายที่สุด …

ต้นฉบับนวนิยาย Before the Fact (1932) เป็นการพยายามศึกษาฆาตกร ผ่านมุมมองของบุคคลตกเป็นเหยื่อ แต่ฉบับภาพยนตร์ เพราะสตูดิโอไม่ต้องการให้ Cary Grant กลายเป็นฆาตกร ทุกสิ่งอย่างเลยผันแปรเปลี่ยน รวมถึงชื่อหนัง Suspicion หลงเหลือเพียงความเคลือบแคลง หวาดระแวง และตอนจบสามารถตีความว่าทั้งหมดเป็นเพียงการครุ่นคิดไปเองของหญิงสาว

Suspicion was supposed to be the study of a murder as seen through the eyes of the eventual victim. However, because Cary Grant was to be the killer and Joan Fontaine the person killed, the studio — RKO — decreed a different ending, which Hitchcock supplied and then spent the rest of his life complaining about.

นักเขียน William L. De Andrea กล่าวถึงในหนังสือ Encyclopedia Mysteriosa (1994)

เกร็ด: ว่ากันว่าสตูดิโอ RKO ต้องการตัดทิ้งทุกฉากที่ดูเหมือนว่า Cary Grant คือฆาตกร! แต่พอลองทำแล้วหลงเหลือความยาวหนังแค่ 55 นาที ไม่รู้จะทำอะไรยังไง (เพราะถูกวางยาโดยเทคนิค “in camera”) จึงยินยอมให้ผกก. Hitchcock เข้ามาควบคุมการตัดต่อ ยกเว้นเพียงตอนจบที่เรียกร้องขอ บีบบังคับไม่มีใครตกตาย


เพลงประกอบโดย Franz Waxman หรือ Franz Wachsmann เกิดที่ Königshütte, German Empire (ปัจจุบันคือ Chorzów, Poland) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เมื่อตอนสามขวบถูกน้ำร้อนลวก ทำให้ตาซ้ายบอดสนิท โตขึ้นเข้าเรียนการแต่งเพลง/กำกับวงดนตรี Dresden Music Academy จบออกมากลายเป็นวาทยกรให้กับภาพยนตร์ The Blue Angel (1930), ได้รับเครดิตครั้งแรก Burglars (1930), เริ่มมีชื่อเสียงกับ Liliom (1934), การมาถึงของ Nazi Germany จึงตัดสินใจอพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกา สรรค์สร้างผลงานเด่นๆมากมายนับไม่ถ้วน Bride of Frankenstein (1935), Fury (1936), Captains Courageous (1937), The Philadelphia Story (1940), Rebecca (1940), Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1941), Suspicion (1941), Sunset Boulevard (1950), Night and the City (1950), A Place in the Sun (1951), Rear Window (1954), The Nun’s Story (1959) ฯ

ผมไม่แน่ใจว่าใครคือผู้ตัดสินใจเลือกใช้ Wiener Blut Op. 354 (หรือ Viennese Blood หรือ Vienna Blood หรือ Viennese Spirit) บทเพลง Waltz ประพันธ์โดย Johann Strauss II (1825-99) คีตกวีสัญชาติ Austrian แห่งยุคสมัย Romantic Era, ดังขึ้นทุกครั้งระหว่างงานเลี้ยง เต้นรำ หรือขณะ Lina กำลังมีความสุข เบิกบานหฤทัย คลายความเคลือบแคลงสงสัยสามี

เกร็ด: Wiener Blut เป็นบทเพลงประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้ในงานแต่งงานของ Archduchess Gisela Louise Maria (บุตรสาวของ Emperor Franz Joseph I) และ Prince Leopold of Bavaria วันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1873

เมื่อตอน Rebecca (1940) เมื่อมีการกล่าวถึงอดีตภรรยาผู้ล่วงลับ Rebecca จะได้ยินเสียงเครื่องดนตรีสังเคราะห์ สร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง, ละม้ายคล้ายกับ Suspicion (1941) เมื่อไหร่ที่ Lina บังเกิดความเคลือบแคลงสงสัยสามี Johnnie ก็มักมีเสียงสังเคราะห์ที่สร้างความวาบหวิว สยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน เหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น เต็มไปด้วยลับลมคมใน ข้อเท็จจริงที่ถูกปกปิดซ่อนเร้น ยังไม่ได้รับการเปิดเผยออกมา

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตพบจากบทเพลง Too Fast ค่อยๆมีการไต่ไล่ระดับตัวโน๊ต ความเร็ว (Tempo) รวมถึงความดัง เพื่อสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ตัวละครกำลังพานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย ฟังดูมีกลิ่นอายสไตล์ดนตรี Bernard Herrmann แต่นี่คือผลงานของ Franz Waxman นั่นแสดงว่าผกก. Hitchcock ใกล้ค้นพบแนวทางเพลงประกอบของตนเองแล้วละ!

(Waxman ออกไปทาง Classical Composer เน้นการใช้ออร์เคสตรา ซึ่งถือเป็นรูปแบบวิถีทางเก่าๆ, Herrmann เรียกได้ว่าคลื่นลูกใหม่ ทำการทดลองสรรค์สร้างบทเพลงที่แตกต่างออกไป)

Suspicion แปลว่าความคลางแคลง, ระแวง, สงสัย, ไม่ไว้วางใจ, เกิดข้อกังขา ศังกา วิมัติ ฯ ชายคนรักเต็มไปด้วยลับลมคมใน ไม่เคยทำการทำงาน แต่นำเงินจากไหนมากมาย ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แถมคนข้างกายค่อยๆสูญหาย หรือว่าเขาคืออาชญากร/ฆาตกร?

วันที่หนังออกฉาย 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1941 อยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สถานการณ์โลกกำลังเต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ แต่ทว่าสหรัฐอเมริกากลับยังคงนิ่งเฉย เฉื่อยชา ทำเป็นไม่รู้หนาวรู้ร้อน ไม่ต่างจากหญิงสาว Lina เพียงความเคลือบแคลง ระแวง ฉงนสงสัยสามี Johnnie พยายามมองโลกในแง่ดี เชื่อมั่นในอุดมคติแห่งรัก ครุ่นคิดว่าคงไม่มีอะไรเลวร้ายบังเกิดขึ้นกับตนเอง

ผกก. Hitchcock เดินทางมาทำงาน Hollywood ในช่วงที่ยุโรป/ประเทศอังกฤษกำลังเข้าสู่สภาวะสงคราม พบเห็นพฤติกรรมเพิกเฉยเฉื่อยชาของชาวอเมริกัน พยายามรังสรรค์ภาพยนตร์อย่าง Foreign Correspondent (1940) เพื่อปลุกตื่น สร้างความตระหนักรู้ให้บังเกิดขึ้น … แต่กลับไม่เป็นผลอะไร

Suspicion (1941) ถือเป็นอีกผลงานที่ผกก. Hitchcock ต้องการให้ชาวอเมริกันเกิดความตระหนักถึงพฤติกรรมเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย ครุ่นคิดว่าคงไม่มีอะไรเลวร้ายบังเกิดขึ้น แต่มันจะเป็นเช่นนั้นจริงๆนะหรือ? … เหตุการณ์โจมตี Pearl Harbour วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 คือคำตอบของความประมาทเลินเล่อ ลุ่มหลงระเริงในตนเอง

แต่น่าเสียดายที่สตูดิโอไม่เห็นชอบด้วยที่จะให้ Cary Grant รับบทฆาตกรโฉดชั่วร้าย เพราะกลัวจะทำลายภาพลักษณ์ ตอนจบจึงหลงเหลือเพียงความประณีประณอม สะท้อนโลกทัศน์คับแคบ/หลงผิดของชาวอเมริกัน ไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายใดๆบังเกิดขึ้น ทุกสิ่งอย่างแค่เพียงจินตนการเพ้อฝัน

กลายเป็นว่าบุคคลตกอยู่ในความสิ้นหวังก็คือผกก. Hitchcock ไม่สามารถสรรค์สร้างภาพยนตร์ได้ตรงตามวิสัยทัศน์ ทำอะไรไม่ได้นอกจากพร่ำเพ้อรำพันกับ François Truffaut

Well, I’m not too pleased with the way ‘Suspicion’ ends. I had something else in mind. The scene I wanted, but it was never shot, was for Cary Grant to bring her a glass of milk that’s been poisoned and Joan Fontaine has just finished a letter to her mother: ‘Dear mother, I’m desperately in love with him, but I don’t want to live because he’s a killer. Though I’d rather die, I think Society should be protected from him.’ Then, Cary Grant comes in with the fatal glass and she says, ‘Will you mail this letter to mother for me, dear?’ She drinks the milk and dies. Fade out and fade in on one short shot: Cary Grant, whistling cheerfully, walks over to the mailbox and pops the letter in.

ปล. ดั้งเดิมนั้นผกก. Hitchcock วางแผนจะสรรค์สร้างภาพยนตร์อีกเรื่องกับสตูดิโอ RKO แต่หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ทำเขาล้มเลิกความตั้งใจ ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกันอีก … อุตส่าห์หนีเสือ David O. Selznick ยังมาปะจระเข้ RKO Radio Pictures


ด้วยทุนสร้าง $1.103 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกาเฉพาะปี ค.ศ. 1942 จำนวน $1.8 ล้านเหรียญ รวมตลอดโปรแกรมฉายประมาณ $4.5 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย

ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Oscar จำนวนสามสาขา สามารถคว้ามา 1 รางวัล ประกอบด้วย

  • Outstanding Motion Picture พ่ายให้กับ How Green Was My Valley (1941)
  • Best Actress (Joan Fontaine) ** คว้ารางวัล
  • Best Music Score of a Dramatic or Comedy Picture

ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่สร้างโดย RKO Radio Pictures ปัจจุบันย้ายมาอยู่ในคลังเก็บของ Warner Bros. Discovery เฉกเช่นเดียวกับ Suspicion (1941) ได้รับการสแกนใหม่เมื่อปี ค.ศ. 2016 คุณภาพ 2K จัดจำหน่าย Blu-Ray โดย Warner Archive Collection หรือหารับชมออนไลน์ได้ตามช่องทางทั่วไป iTunes, Google Play, Amazon Prime ฯ

แม้โดยรวมผมจะไม่ค่อยชอบหนัง รู้สึกเหมือนถูกชักจูง ครอบงำ ‘manipulate’ รำคาญความดื้อรั้น โง่งมงายของนางเอก รวมถึงตอนจบไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แต่ความบังเอิญได้รับฟัง Podcast บทสัมภาษณ์ผกก. Quentin Tarantino อธิบายมุมมองตอนจบที่แตกต่างออกไป ทำให้เกิดความชื่นชอบขึ้นมานิสนึง … เพลงประกอบของ Franz Waxman ที่พยายามเรียบเรียง Johann Strauss: Wiener Blut คือสิ่งเดียวที่ทำให้ผมรู้สึกเพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้มหลงใหล

เอาจริงๆตัวหนังไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น คนที่รับชมด้วยความบันเทิงย่อมรู้สึกเพลิดเพลิน ระทึกขวัญ แต่ทว่าสารพัดข้อจำกัดมันช่างบีบรัด ใครสามารถสังเกตเห็นย่อมรู้สึกอึดอัด หรือเมื่อเทียบผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Hitchcock ยังห่างจุดสูงสุดอยู่ไกลโพ้น

จัดเรต 13+ กับความลุ้นระทึก เต็มไปด้วยพิรุธของฆาตกร

คำโปรย | แม้สไตล์ Hitchcockian จะช่วยสร้างความตื่นเต้น ระทึกขวัญ Cary Grant เต็มไปด้วยข้อกังขา แต่ทว่า Suspicion กลับจบลงอย่างน่าผิดหวัง Joan Fontaine รอดชีวิตได้อย่างไร?
คุณภาพ | น่ากังขา
ส่วนตัว | ระทึก ตื่นเต้น

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: