The Lady Vanishes

The Lady Vanishes (1938) British : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥

ด้วยสัมผัส Hitchcockian ทำให้การหายตัวไปของหญิงชราบนขบวนรถไฟ เต็มไปด้วยความลึกลับ ซับซ้อน คาดไม่ถึง เธอมีตัวตนจริงหรือไม่? หรือใครบางคนจัดฉาก เล่นละคอนตบตา แต่จะทำไปเพื่ออะไรกัน?

Most films are slices of life. Mine are slices of cake.

Alfred Hitchcock

นี่น่าจะเป็นคำกล่าวของผกก. Hitchcock อธิบายภาพยนตร์ The Lady Vanishes (1938) ได้อย่างลงตัวที่สุดแล้ว! แต่ละองค์ประกอบของหนังคือเรื่องราว ‘Slice of Life’ นำมาร้อยเรียง แปะติดปะต่อ จิกซอว์ กระเบื้องโมเสก, ขณะเดียวกันด้วยลีลานำเสนอสไตล์ Hitchcockian เต็มไปด้วยลูกเล่นที่มีรสชาดเอร็ดอร่อย ‘Slice of Cake’ สัมผัสละมุน นุ่มนวล คลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างกลมกล่อม

นักวิจารณ์หลายๆคนยกให้ The Lady Vanishes (1938) คืออีกหนึ่งผลงานมาสเตอร์พีซของผกก. Hitchcock [ตอนทำงานอยู่อังกฤษ มักนับแค่สองเรื่อง The 39 Steps (1935) และ The Lady Vanishes (1938)] ที่เต็มไปด้วย “rhymes with joy” สร้างความสรวลเสเฮฮา สนุกสนานเพลิดเพลิน ตื่นเต้นลุ้นระทึก บ้างเรียกว่า “Rom-Com Thriller” และเรื่องราวยังสะท้อนบรรยากาศการเมืองยุคสมัยนั้น สงครามโลกครั้งที่สองใกล้ปะทุขึ้นมาทุกขณะ

Since I know it [The Lady Vanishes] by heart, I tell myself each time that I’m going to ignore the plot, to examine the train and see if it’s really moving, or to look at the transparencies, or to study the camera movements inside the compartments. But each time, I become so absorbed by the characters and the story that I’ve yet to figure out the mechanics of the film.

François Truffaut ยกให้ The Lady Vanishes (1938) คือหนังเรื่องโปรดในบรรดาผลงานของผกก. Hitchcock

ระหว่างรับชมผมก็เป็นแบบ Truffaut ถูกเรื่องราวของหนังดึงดูดความสนใจ ชักชวนให้ใคร่ติดตาม แทบมิอาจละสายตา จนหลงลืมสังเกตสิ่งต่างๆรอบข้าง นั่นแสดงถึงรสสัมผัสอันกลมกล่อม ดำเนินเรื่องอย่างลื่นไหล เป็นไปโดยธรรมชาติ ความสมบูรณ์แบบภาพยนตร์ ยืนยันความเชื่อมั่นโปรดิวเซอร์ David O. Selznick ต้องการเซ็นสัญญา(ทาส) นำพาผกก. Hitchcock มุ่งสู่ Hollywood ให้จงได้!


Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang

ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938) ฯ

สำหรับ The Lady Vanishes ดัดแปลงจากนวนิยายแนวลึกลับ The Wheel Spins (1936) แต่งโดย Ethel Lina White (1876-1944) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ, เห็นว่านำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์เคยเกิดขึ้นจริงระหว่างงาน 1880 Paris Exposition มารดาชาวอังกฤษพาบุตรสาวเข้าพักยังโรงแรม Palace Hotel เธอมีอาการไม่สบายจึงส่งบุตรสาวไปหายารักษา เดินทางทั่วกรุง Paris กว่าสี่ชั่วโมง แต่พอกลับมามารดากลับสูญหายตัวไปอย่างลึบลับ แถมห้องพักของตนเองกลับมีเฟอร์นิเจอร์ วอลเปเปอร์ ทุกสิ่งอย่างปรับเปลี่ยนแปลงไป

The woman was taken sick and they sent the girl across Paris to get some medicine in a horse-vehicle, so it took about four hours. When she came back she asked, ‘How’s my mother?’ ‘What mother?’ ‘My mother. She’s here, she’s in her room. Room 22.’ They go up there. Different room, different wallpaper, everything. And the payoff of the whole story is, so the legend goes, that the woman had bubonic plague and they dared not let anybody know she died, otherwise all of Paris would have emptied.

Alfred Hitchcock เล่าแรงบันดาลใจของหนังให้กับ Peter Bogdanovich

ก่อนหน้าที่ Hitchcock จะเข้ามาคุมบังเหียนโปรเจคนี้ โปรดิวเซอร์ Edward Black เคยมอบหมายผกก. Roy William Neill ซึ่งได้พัฒนาบทแล้วเสร็จกับ Sidney Gilliat และ Frank Launder ตั้งชื่อว่า The Lost Lady แต่ระหว่างออกสำรวจสถานที่ถ่ายทำยัง Yugoslavia ทางการบังเอิญพบเจอว่าบทหนังไม่ได้ซื่อตรงต่อต้นฉบับนวนิยาย ทีมงานจึงถูกขับไล่ออกนอกประเทศ เป็นเหตุให้โปรดิวเซอร์ล้มเลิกโปรเจคนี้กลางคัน

เกร็ด: ช่วงประมาณกลางปี ค.ศ. 1937 ผกก. Hitchcock ได้รับยื่นข้อเสนอจากโปรดิวเซอร์ David O. Selznick ชักชวนมาร่วมทำงานยัง Hollywood แต่เพราะติดค้างสัญญากับ Gaumont British และยังไม่สามารถมองหาโปรเจคที่สนใจ เลยยินยอมเป็นมือปืนรับจ้าง ตอบตกลงดัดแปลง The Lady Vanishes ที่ค้างคาเอาไว้

บทหนังของ Sidney Gilliat & Frank Launder ทำการดัดแปลงนวนิยายของ Ethel Lina White มาอย่างหลวมๆ มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขรายละเอียดโน่นนี่นั่นพอสมควร อาทิ

  • ต้นฉบับนวนิยาย Miss Froy เป็นผู้สูงวัยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรจริงๆ ถูกลักพาตัวเพราะเธอแอบได้ยินข้อมูลลับบางอย่าง ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าสิ่งนั้นมีความสลักสำคัญประการใด?
  • หญิงสาว Iris ไม่ได้มีอะไรบางอย่างตกใส่ศีรษะ แค่เป็นลมล้มพับจากอาการ Sunstroke
  • ในนวนิยายรถไฟจะไม่เคยหยุดจอด หรือมีการยิงโต้ตอบ (ฉากไคลน์แม็กซ์)
  • ตัวละคร Gilbert Redman ในนวนิยายชื่อ Max Hare เป็นวิศวกรโยธาสร้างเขื่อน จึงสามารถสื่อสารภาษาท้องถิ่น
  • ในนวนิยายจะมีการสื่อสารหลากหลายภาษา ทำให้ต้องมีคนแปล แต่หนังตัดประเด็นนี้ทิ้งไป
  • และหนังยังเพิ่มเติมคู่หู Charters & Caldicott ผู้หลงใหลกีฬา Cricket ซึ่งได้เสียงตอบรับดีมากๆ จนทำให้ทั้งสองมีโอกาสปรากฎตัวในภาพยนตร์ โทรทัศน วิทยุ สื่ออื่นๆติดตามมามากมาย

การมาถึงของผกก. Hitchcock แทบไม่ได้ปรับแก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียดใดๆ แค่เพียงขัดเกลาเรื่องราวให้มีความกระชับ บทสนทนาเฉียบคมคายขึ้นกว่าเดิม


เรื่องราวเริ่มต้น ณ เมืองชนบทสมมติ Bandrika, England นักท่องเที่ยวสาว Iris Henderson (รับบทโดย Margaret Lockwood) ต้องการเดินทางกลับกรุง London เพื่อเตรียมเข้าพิธีแต่งงาน แต่เพราะมีหิมะถล่มรางรถไฟ ทำให้ต้องพักอาศัยค้างคืนในโรงแรม ก่อนออกเดินทางตอนเช้า

เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิด ค่ำคืนนี้โรงแรมจึงคาคั่งไปด้วยผู้คน Iris มีโอกาสรับรู้จักหญิงสูงวัยใจดีที่อยู่ห้องข้างๆ Mrs. Froy (รับบทโดย May Whitty) และนักดนตรีวิทยาส่งเสียงดัง สร้างความรำคาญจากห้องข้างบน Gilbert Redman (รับบทโดย Michel Redgrave)

เช้าวันถัดมาก่อนเริ่มออกเดินทาง มีสิ่งอย่างตกลงใส่ Iris ทำให้เธอเกิดอาการวิงเวียนศรีษะ หน้ามืดตาลาย ก่อนเป็นลมล้มพับ ได้รับความช่วยเหลือจาก Mrs. Froy แต่หลังจากนอนหลับอีกตื่น ปรากฎว่าเธอสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ สอบถามจากผู้โดยสารคนอื่นๆกลับไม่มีใครพบเห็น รับรู้จัก สร้างความฉงนสงสัย หญิงสูงวัยคนนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่? หรือใครบางคนจัดฉาก เล่นละคอนตบตา แต่จะทำไปเพื่ออะไรกัน?


Margaret Lockwood (1916-90) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Karachi, British India (ปัจจุบันคือ Pakistan) บิดาทำงานบริษัทรถไฟ เดินทางกลับอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1920 ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการแสดง เริ่มฝึกฝนยัง Italia Conti Academy of Theatre Arts ขึ้นเวทีครั้งแรกตั้งแต่อายุ 12 ปี จากนั้นเข้าเรียนต่อ Royal Academy of Dramatic Art มีผลงานละคอนเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Lorna Doone (1934), เริ่มมีชื่อเสียงกับ The Beloved Vagabond (1936), โด่งดังเป็นที่รู้จัก Bank Holiday (1938), The Lady Vanishes (1938), Night Train to Munich (1940), The Man in Grey (1943), The Wicked Lady (1945), Cast a Dark Shadow (1955) ฯ

รับบท Iris Matilda Henderson หญิงสาวลูกคุณหนู ดูบริสุทธิ์ สดใส แก่นแก้ว ไร้เดียงสา ค่ำคืนนี้เพ้อฝันถึงการแต่งงาน (แต่ลึกๆดูเหมือนไม่ค่อยอยากแต่งงานสักเท่าไหร่) หลังจากมีวัตถุบางอย่างตกใส่ศีรษะ เกิดอาการหน้ามืดตาลาย เป็นลมล้มพับอยู่สักพักใหญ่ ได้รับความช่วยเหลือจาก Mrs. Froy รู้สึกสำนึกบุญคุณ ทำให้ตอนเธอสูญหายตัวไป พยายามออกติดตามหา ไม่ยินยอมเชื่อว่าตนเองพบเห็นภาพหลอน

แรกเริ่มนั้นผกก. Hitchcock มีความสนใจนักแสดง Lilli Palmer ที่เพิ่งเคยร่วมงาน Secret Agent (1936) แต่ภายหลังเปลี่ยนใจเลือกใช้ Margaret Lockwood เพราะขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง (เมื่อเทียบกับ Palmer) เลยเหมาะสมกับบทบาทนี้มากกว่า

one of the films I have enjoyed most in all my career.

Margaret Lockwood

อาจเพราะ Lockwood ยังใหม่ต่อวงการภาพยนตร์ การแสดงของเธอจึงเต็มไปด้วยความกระตือลือร้น ระริกระรี้ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ลองผิดลองถูก ไม่ต่างจากตัวละคร แต่ไฮไลท์คือช่วงเวลาแห่งความสับสน กระวนกระวาย การสูญหายตัวไปของ Mrs. Froy ผู้ชมสามารถสัมผัสความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยของเธอ ออกมาจากข้างใน ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีสิ่งชั่วร้ายเคลือบแอบแฝง

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชม Lockwood คือสามารถเป็นไม้เบื่อไม้เบา ต่อล้อต่อเถียง พ่อแง่แม่งอน เคมีเข้าขากับ Michael Redgrave โดยไม่ถูกพลังดาราอีกฝ่ายกลบเกลื่อน กลายเป็นช่วยเสริมศักยภาพของกันและกัน


Sir Michael Scudamore Redgrave (1908-85) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bristol เป็นบุตรของนักแสดงหนังเงียบ Roy Redgrave และ Margaret Scudamore โตขึ้นเข้าเรียนคณะภาษาอังกฤษ Magdalene College, Cambridge เคยทำงานครูสอนภาษาอยู่สามปี ก่อนผันตัวมาเป็นนักแสดงละคอนเวที กระทั่งมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก The Lady Vanishes (1938) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Dead of Night (1945), Mourning Becomes Electra (1947), The Browning Version (1951), The Night My Number Came Up (1955), The Dam Busters (1955), Time Without Pity (1957), The Quiet American (1958), The Loneliness of the Long Distance Runner (1962) ฯ

รับบท Gilbert Redman นักมานุษยดนตรีวิทยา (Ethnomusicologist) ผู้มีความหลงใหลในดนตรีพื้นบ้าน ระหว่างเล่นแคลริเน็ตร่วมกับคนพื้นเมือง Bandrika ส่งเสียงหนวกหูรำคาญ สร้างความไม่พึงพอใจต่อหญิงสาว Iris พักอาศัยอยู่ห้องชั้นล่าง เป็นเหตุให้ถูกขับไล่ออกจากห้องพัก เลยตัดสินใจบุกรุกห้องของเธอ แก้เผ็ดด้วยการเข้าไปหลับนอนในห้องน้ำ “ตาต่อตา ฟันต่อยาสีฟัน”

วันถัดมาระหว่างกำลังโดยสารรถไฟกลับกรุง London พบเห็น Iris กำลังออกติดตามหาหญิงสูงวัยที่หายตัวไป ทั้งๆไม่ใช่เรื่องของตนเอง แต่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น (จริงๆคือแอบตกหลุมรัก Iris เลยฉกฉวยโอกาสที่จะได้อยู่เคียงข้าง) ในตอนแรกก็ไม่เชื่อว่ามีตัวตน จนเมื่อหลักฐานประจักษ์ชัดเจน จึงพร้อมให้การช่วยเหลือ ติดตามหาหญิงสูงวัยที่หายตัวไป

Redgrave คือหนึ่งในโคตรนักแสดงฟากฝั่งละคอนเวที ขณะนั้นกำลังเป็น ‘rising state star’ เลยไม่มีความกระตือรือล้นอยากรับงานภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้เคยได้รับการติดต่อมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เห็นว่า John Gielgud เข้ามาช่วยโน้มน้าวจึงยินยอมตอบตกลง ผลลัพท์ทำให้แจ้งเกิดโด่งดังระดับนานาชาติโดยพลัน!

ทว่า Redgrave กับ Hitchcock กลับไม่ค่อยลงรอยกันสักเท่าไหร่ (นั่นเพราะ Redgrave ต้องการซักซ้อม ทดลองผิดลองถูกด้านการแสดง ตรงกันข้ามกับ Hitchcock ที่ชอบใช้เทคแรก โหยหาความเป็นธรรมชาติ) แต่ผลลัพท์ของความขัดแย้ง ทำให้ตัวละครดูฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ ท่าทางลุกรี้ร้อนรน ไม่เบื่อไม้เมากับ Lockwood โดยเฉพาะการใช้คำพูดเสียดสี จิกกัด กลายเป็นความรู้สึกถ่ายทอดจากภายใน

สิ่งน่าประทับใจมากๆของ Redgrave คือวิวัฒนาการตัวละคร แรกพบเจอ Iris เต็มไปด้วยความขัดแย้ง จงเกลียดจงชัง (ที่โดนขับไล่ออกจากห้องพัก) แต่หลังมีโอกาสพบเจออีกครั้งบนขบวนรถไฟ ร่วมผจญภัยค้นหา Mrs. Froy สิ่งต่างๆก็เริ่มผันแปรเปลี่ยน ค่อยๆยินยอมรับ ปรับตัว แม้รับรู้ว่าอีกฝ่ายมีคู่หมั้นหมายกำลังจะแต่งงาน แต่ท้ายสุดก็มิอาจหักห้ามใจตนเองให้ตกหลุมรัก … คือมันสะท้อนเข้ากับวิวัฒนาการปรับตัวสู่วงการภาพยนตร์ของ Redgrave อย่างตรงไปตรงมา!


Dame Mary Louise Webster (1865-1948) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Liverpool ในตระกูลผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Liverpool Daily Post เริ่มเป็นนักแสดงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1881 จากโรงละคอนใน Liverpool มายัง West End ก่อนมุ่งสู่ Broadway ก่อนกลายเป็นนักแสดงหญิงคนแรกได้รับแต่งตั้ง Dame (จริงๆได้รับจากทำงานการกุศลในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง), เมื่อตอนอายุ 72 แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Night Must Fall (1937), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Lady Vanishes (1938), Suspicion (1941), Mrs. Miniver (1942), Madame Curie (1943), Lassie Come Home (1943), Gaslight (1944) ฯ

รับบท Miss Froy พี่เลี้ยงเด็กสูงวัย ดูเป็นคนไร้พิษภัย หลงใหลในดนตรี จิตใจเอื้ออารี ให้ความช่วยเหลือ Iris แม้ไม่เคยรับรู้จัก ยังแสดงมิตรไมตรี ใครจะไปคาดคิดว่าเธอคือสายลับ ล่วงรับรู้ข้อมูลบางอย่าง จึงถูกลักพาตัว สูญหายไปอย่างไร้ร่อยรอย

หนึ่งในบทบาทโด่งดังที่สุดของ Dame May Whitty (เห็นว่าโด่งดังกว่าตอนได้เข้าชิง Oscar ทั้งสองครั้งจาก Night Must Fall (1937) และ Mrs. Miniver (1942)) อาจเพราะภาพลักษณ์หญิงสูงวัยไร้พิษภัย ทำให้ไม่มีใครคาดคิดถึงว่าจะมีเบื้องหลัง ลับลมคมใน ถูกลักพาตัว สูญหายไปอย่างไร้ร่องลอย แต่ด้วยความมีมนุษยธรรมของเธอต่อ Iris ทำให้ได้รับความช่วยเหลือ เอาตัวรอดปลอดภัย บทบาทเล็กๆที่สุดแสนยิ่งใหญ่


ต้องขอกล่าวถึงสองคู่หู Charters & Caldicott รับบทโดย Basil Radford (1879-1952) และ Naunton Wayne (1901-70) ผู้มีความลุ่มหลงใหลในกีฬา Cricket ปรากฎตัวครั้งแรกในภาพยนตร์ The Lady Vanishes (1938) แล้วได้เสียงตอบรับ ความนิยมดีล้นหลาม ช่วยสร้างสีสันให้กับเรื่องราว จนมีโอกาสรับเชิญในภาพยนตร์ วิทยุ ละคอนเวที รวมถึงซีรีย์ฉายโทรทัศน์ Charters and Caldicott (1985)

ภาพยนตร์ที่ Radford & Wayne รับบท Charters & Caldicott มีทั้งหมดสี่เรื่อง The Lady Vanishes (1938), Night Train to Munich (1940), Crook’s Tour (1941), Millions Like Us (1943), หลังจากนี้จะปรับเปลี่ยนนักแสดง ไม่ก็เล่นเป็นตัวละครอื่น (ที่มีลักษณะคล้ายๆ Charters & Caldicott)

ถ่ายภาพโดย Jack E. Cox (1896-60) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ผลงานเด่นๆ อาทิ Fanny Hawthorne (1927), Blackmail (1929), Week-End Wives (1929), The Lady Vanishes (1938) ฯ

ตามสไตล์การทำงานของผกก. Hitchcock แทบทั้งหมดถ่ายทำภายในสตูดิโอ Islington Studios ตั้งอยู่ย่าน Shepherd’s Bush, West London สร้างฉากที่มีความยาวเพียง 90 ฟุต และหนึ่งขบวนรถไฟ นั่นแสดงว่าทิวทัศน์ภายนอก ล้วนเกิดจากการใช้ Rear Projection เก็บบันทึกภาพจากเส้นทางรถไฟสาย Longmoor Military Railway

ขณะที่เมืองชนบทสมมติ Bandrika, English แท้จริงแล้วคือโมเดลจำลอง (Miniatures) น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดเบื้องหลัง แต่มีนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นว่าความปลอมๆของสถานที่ รวมถึงวิธีการถ่ายทำ (ทั้ง Rear Projection และ Miniatures) เป็นความพยายามล่อหลอกผู้ชม ‘misdirection’ ผสมผสานระหว่างโลกความจริง (Reality) vs. เรื่องราวปรุงแต่ง (Fictional) เพื่อให้สอดคล้องการสูญหายตัวไปของหญิงสูงวัย เธอมีตัวตนอยู่จริง? หรือแค่เพียงภาพหลอน จินตนาการเพ้อฝัน?

Sometimes Hitchcock’s scenes of brazen falseness… tempt us to assume the Master has grown careless, sloppy, in admitting an obviously fake shot. For example, The Lady Vanishes opens on an obviously miniature setting. This isn’t just to save money. Rather, it’s a play with form, a register of pretending. It’s a visual equivalent to “Once upon a time…,” the traditional start of a folk tale like this. Of course, what “Once upon a time” really means is “Never” but also “Always.” It’s how Fiction trumps History.

นักวิชาการภาพยนตร์ Maurice Yacowar ผู้แต่งหนังสือ Hitchcock’s British Films (1977)

คนที่รับชมหนังจนจบแล้วคงคาดเดาไม่ยากว่า นักกีตาร์+ขับร้องเสียง Baritone คือผู้ส่งมอบรหัสลับ(ผ่านเสียงเพลง)ให้กับ Mrs. Froy ตั้งใจรับฟัง ฮัมตามอยู่บนโรงแรม ซึ่งความตายของตัวละครถือว่าตามสไตล์ Hitchcockian เริ่มจากเงามืดค่อยๆคืบคลานเข้ามา พบเห็นเพียงมือบีบคอ แต่ไม่รับรู้หน้าตา … หลายคนอาจมองว่าฆาตกรคือ McGuffin แต่มันครุ่นคิดไม่ยากว่าต้องเป็นฝีมือของ Dr. Hartz

เมื่อตอนที่มีอะไรบางอย่างตกใส่ Iris มีการใช้เทคนิคภาพยนตร์อย่างเบลอหลุดโฟกัส (fading focus), ซ้อนภาพ (double exposures), หลากหลายเฟรม (multiple frames), ล้อรถไฟหมุนๆ ฯ เพื่อนำเสนออาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ก่อนเป็นลมล้มพับเมื่อขึ้นบนขบวนรถไฟ

แม้เรื่องราวของ The Lady Vanishes (1938) จะเป็นการเดินทางผจญภัย แต่แทบทุกซีเควนซ์ล้วนดำเนินเรื่องในสถานที่คับแคบ/พื้นที่จำกัด ภายในโรงแรม ขบวนรถไฟ (ในโรงถ่ายก็มีพื้นที่แค่ 90 ฟุต) นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการทำงานของผกก. Hitchcock ที่มีการวางแผน ตระเตรียมงานสร้าง ควบคุมทุกสิ่งอย่างให้อยู่ภายใต้งบประมาณ ระยะเวลา รวมถึงสถานที่ถ่ายทำ

ด้วยเหตุนี้เลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่หลายช็อตจะพบเห็นการจัดองค์กระกอบภาพ นักแสดงนั่ง-ยืน ระยะใกล้-ไกล (เพื่อไม่ให้ใบหน้าซ้อนทับ) ก้าวเข้ามาในกรอบเฟรมกำหนดขอบเขตเอาไว้ … นี่จะเป็นลีลาถ่ายทำพบเห็นได้บ่อยในภาพยนตร์ที่ใช้สถานที่คับแคบ/พื้นที่จำกัด มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบเหมือนภาพศิลปะแห่งยุคสมัย Renaissance 

สำหรับคนที่รับชมภาพยนตร์ในยุคคลาสสิกมาเยอะ ย่อมสามารถแยกแยะออกได้ไม่ยาก ทิวทัศน์พื้นหลังคือการฉายภาพผ่านเครื่อง Rear Projection แต่ไม่ใช่แค่นั้น ใครช่างสังเกตย่อมพบเห็นขบวนรถไฟ/การถ่ายภาพล้วนโคลงเคลง สั่นไหวอยู่ตลอดเวลา (พร้อมเสียงประกอบที่เน้นความสมจริงอย่าง เครื่องยนต์ ล้อรถไฟ ฯ) และยังมีแสงจากภายนอกสาดส่องผ่านมาแล้วผ่านไปอยู่เป็นระยะๆ … ถือเป็นภาพยนตร์ที่จำลองการเดินทางด้วยรถไฟได้สมจริงมากๆเรื่องหนึ่ง!

หนึ่งในซีนที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจไม่น้อย ภายหลังการหายตัวไปของ Mrs. Froy เมื่อ Iris กลับเข้าไปในนั่งในห้องโดยสาร พบเห็นภาพใบหน้าของเธอปรากฎขึ้น ก่อนค่อยๆเลือนหาย (dissolve) กลายเป็นผู้โดยสารคนนั้นๆ เวียนวนซ้ำ 3-4 รอบ จนสร้างความตื่นตระหนก ตกอกตกใจ ดวงตาลุกพองโต ซึ่งถ้าใครตั้งใจรับฟังเสียงประกอบ (Sound Effect) เสียงกระฉึกกระฉักของขบวนรถไฟก็จะค่อยๆดังขึ้นด้วย ช่วยเสริมความรู้สึกของหญิงสาว แทบมิอาจอดรนทนอยู่กับพวกคนหลอกลวงนี้อีกต่อไป

มาครุ่นคิดดู Iris ทั้งๆไม่ใช่ญาติพี่น้อง เพิ่งเคยพูดคุย รับรู้จักกันไม่นาน แต่กลับไม่เพิกเฉยต่อการสูญหายตัวไปของ Mrs. Froy (ผิดกับตัวละครอื่นๆที่แทบไม่มีใครสนใจ) บางคนอาจมองในแง่มนุษยธรรม หรือความละอ่อนวัยไร้เดียงสาของหญิงสาว แต่ผมตีความว่าเธอพบเห็นตนเองในหญิงสูงวัย … กล่าวถึง Iris กำลังเดินทางกลับไปแต่งงาน แต่ปฏิกิริยาสีหน้าของเธอ (ตอนอยู่ที่โรงแรม) ดูขาดความกระตือรือล้น เหมือนคนไม่เต็มใจสักเท่าไหร่ ชีวิตหลังจากนี้(หลังจากแต่งงาน) คงไม่มีโอกาสทำอะไรตามใจ ไร้อนาคต ไร้อิสรภาพเสรี ราวกับไร้ตัวตน เหมือนคนสูญหายตัวไป

นี่เป็นอีกซีเควนซ์ที่ใช้ประโยชน์จากเสียงประกอบ (Sound Effect) ได้อย่างยอดเยี่ยม! ระหว่างที่ Iris ดื่มชาในตู้เสบียงกับ Gilbert วินาทีที่เธอตระหนักว่า Mrs. Froy เคยเขียนชื่อบนกระจก พบเห็นหลักฐานคาตา ขบวนรถไฟดันกำลังเคลื่อนเข้าอุโมงค์ทำให้ตัวอักษรเลือนหาย สร้างความร้อนรน ลุกขึ้นมาโวยวาย เสียงหวูดรถไฟยิ่งทำให้หญิงสาวไม่สามารถควบคุมตนเอง วิ่งเข้าไปดึงเบรคฉุกเฉิน ก่อนเป็นลมล้มพับ หมดสติสมประดีอีกครั้ง

ซีเควนซ์ที่ต้องถือว่ามีความเฉียบคมคายที่สุดของหนัง ระหว่างการออกค้นหา Mrs. Froy หนุ่มสาวทั้งสองเดินทางมาถึงขบวนพัสดุ พบเจอกับของเล่น สัตว์เลี้ยง ตู้มายากล ภาพโปสเตอร์ชุดการแสดง ‘The Lady Vanishing’ และพวกเขายังร่วมเล่นเกม เข้าไปในตู้ สูญหายตัว แล้วก็โผล่ออกมา … เป็นซีเควนซ์ที่ล้อละเล่นกับชื่อหนัง และเหตุการณ์บังเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์

หนึ่งในความเป็น Hitchcockian มักทอดทิ้งประเด็นบางอย่างค้างๆคาๆ ให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นต่อจากนั้น (บางคนมองว่า Hitchcock อาจหลงลืม แต่สิ่งเหล่านี้สามารถเหมารวมเป็น McGuffin) ยกตัวอย่างกัปตันคนนี้ที่ใช้ปืนข่มขู่สมาชิกบนตู้โดยสาร (ไม่มีใครรับรู้โชคชะตาของตัวละครหลังจากนี้) หรือการแทรกภาพเรือสำราญเดินทางสู่ London (มองในเชิงสัญลักษณ์ของการเดินทางได้ด้วยกระมัง)

การปรากฎตัวช่วงท้ายของผกก. Hitchcock อาจแฝงนัยยะกลายๆว่านี่อาจคือผลงานเรื่อง(เกือบ)สุดท้ายสรรค์สร้างในอังกฤษ กำลังตระเตรียมตัวออกเดินทางสู่ Hollywood และไม่วายทอดทิ้ง MacGuffin กล่องเล็กๆที่ถืออยู่นั้นใส่อะไร?? สัญญา(ทาส)ของโปรดิวเซอร์ David O. Selznick?

ตัดต่อโดย Robert Dearing (1893-1968) สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Lady Vanishes (1938), Night Train to Munich (1940) ฯ

ช่วงองก์แรกของหนัง ไม่ได้จำเพาะเจาะจงมุมมองตัวละคร ดำเนินเรื่องภายในโรงแรม ณ เมืองชนบทสมมติ Bandrika, English ทำการร้อยเรียงเหตุการณ์วุ่นๆวายๆบังเกิดขึ้นในค่ำคืนนี้

  • ค่ำคืนนี้เกิดเหตุการณ์หิมะถล่ม ทำให้รถไฟไม่สามารถสัญจร ผู้คนเลยแออัดคับคั่งในล็อบบี้โรงแรม
  • ขณะที่ห้องพักชั้นหนึ่งยังมีอาหาร-เครื่องดื่มให้บริการ (เสริฟให้ถึงห้องพัก) แต่ลูกค้าระดับล่างต้องลงมายังร้านอาหาร กลับไม่อะไรหลงเหลือสักสิ่งอย่าง
  • ห้องพักชั้นบนส่งเสียงอึกทึกครึกโครม ทำให้ Iris และ Mrs. Froy นอนไม่หลับ เลยจ่ายเงินใต้โต๊ะให้พนักงานขับไล่ลูกค้าชั้นบน นั่นทำให้ Iris ถูกแก้เผ็ดโดย Gilbert
  • ค่ำคืนนี้จบลงด้วย Mrs. Froy จดจำบทเพลง(ที่เป็นรหัสลับ)จากนักร้องข้างถนน แล้วจู่ๆนักร้องคนนั้นเหมือนจะถูกฆ่าปิดปาก

เช้าวันถัดมาตลอดการเดินทางบนขบวนรถไฟมุ่งสู่กรุง London จะนำเสนอผ่านมุมมองหญิงสาว Iris Henderson ครึ่งหลับครึ่งตื่น พอฟื้นขึ้นมาพบว่าหญิงสูงวัย Mrs. Froy สูญหายตัวไปอย่างลึกลับ พยายามออกติดตามหา จนรับรู้เบื้องหลัง ข้อเท็จจริง ก่อนนำเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์อันตื่นเต้นเร้าใจ

  • การหายตัวไปของหญิงสูงวัย Mrs. Froy
    • ก่อนรถไฟออกเดินทาง มีอะไรบางอย่างตกใส่ Iris ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ก่อนเป็นลมล้มพับเมื่อขึ้นบนขบวนรถไฟ
    • ตื่นขึ้นมารอบแรกได้พูดคุย สนิทสนมกับ Mrs. Froy พากันไปดื่มน้ำชา ก่อนหวนกลับมาพักผ่อน หลับนอนอีกครั้ง
    • แต่พอตื่นขึ้นมารอบสอง Mrs. Froy ได้สูญหายตัวไปอย่างลึกลับ สอบถามผู้โดยสารกลับมีแต่คนบอกว่าไม่รู้จัก ไม่มีตัวตนอยู่จริง
  • หรือทั้งหมดเป็นเรื่องฝันไป?
    • Iris พยายามสอบถามผู้โดยสารคนอื่นๆ แล้วมีโอกาสพูดคุยกับ Dr. Hartz อธิบายว่าอาจเป็นภาพหลอนจากการถูกกระแทกศีรษะ
    • ระหว่างทางขบวนรถไฟหยุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร หนึ่งในนั้นคือผู้ป่วย(มัมมี่)ของ Dr. Hartz ซึ่งพอขบวนรถไฟออกเดินทาง หญิงสูงวัยคนหนึ่งอ้างว่าตนเองคือ Mrs. Froy แต่ทว่ากลับไม่ใช่คนเดียวกัน
    • Iris พอมานั่งยังตู้เสบียงพบเจอหลักฐานคาตาว่า Mrs. Froy มีตัวตนอยู่จริง!
    • Gilbert ก็เฉกเช่นเดียวกัน ค้นพบหลักฐานจากคำให้การของ Iris จนเชื่อมั่นว่า Mrs. Froy มีตัวตนอยู่จริง!
  • มายากลหายตัว
    • Iris และ Gilbert ร่วมกันออกค้นหายังตู้เก็บของ พบเจอของเล่น มายากลหายตัว
    • บังเกิดความฉงนสงสัยว่า Mrs. Froy อาจถูกวางยา แล้วกลายเป็นผู้ป่วย(มัมมี่)ของ Dr. Hartz
    • Dr. Hartz จึงทำการวางยาสลบ Iris และ Gilbert
    • แต่ทั้งสองแสร้งทำเป็นนอนหลับ แล้วให้ความช่วยเหลือ Mrs. Froy
  • ใครคือ Mrs. Froy?
    • ระหว่างขนย้ายผู้ป่วย Dr. Hartz ตระหนักว่าคนไข้(มัมมี่)ไม่ใช่ Mrs. Froy จึงสั่งให้ลูกน้องทำการสลับรางรถไฟ
    • Gilbert ตระหนักว่ารถไฟกำลังออกนอกเส้นทาง พยายามโน้มน้าวผู้โดยสารคนอื่นๆว่ากำลังเกิดเหตุการณ์อันตราย
    • รถไฟหยุดจอดกลางป่า Dr. Hartz ป่าวประกาศให้ส่งตัว Mrs. Froy
    • ทำให้เกิดการต่อสู้ ยิงโต้ตอบ
    • Gilbert ปีนป่ายไปยังห้องเครื่อง สามารถทำให้รถไฟกลับมาออกเดินทางได้อีกครั้ง
    • และพอมาถึงกรุง London หนุ่มสาวทั้งสองเดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศ

ในส่วนของเพลงประกอบไม่มีขึ้นเครดิต นอกจาก Opening-Closing Credit (ประพันธ์โดย Louis Levy & Charles Williams) ทั้งหมดล้วนเป็น ‘diegetic music’ ต้องได้ยินจากแหล่งกำเนิดเสียง ขับร้อง+เล่นกีตาร์ เป่าแคลริเน็ต ฮัมบทเพลง บรรเลงเปียโน ฯ

ผลงานยุคแรกๆ(ที่อังกฤษ)ของผกก. Hitchcock คาดว่าคงจะเข็ดหลากจำจาก Blackmail (1929) เลยไม่ค่อยแทรกใส่บทเพลงที่เป็น ‘non-Diegetic Music’ ยกเว้นเพียงเหตุการณ์สำคัญๆ สร้างความตื่นเต้น ระทึกขวัญ แต่หลังจากเดินทางสู่ Hollywood ที่เทคโนโลยีบันทึกเสียงก้าวหน้ากว่า (และมีนักแต่งเพลงระดับมืออาชีพมากด้วยประสบการณ์) เพลงประกอบจะกลายเป็นองค์ประกอบโคตรๆสำคัญ

ผมพยายามค้นหาว่าท่วงทำนองที่เป็นรหัสลับ นำจากบทเพลงมีชื่ออะไรหรือเปล่า แต่ก็พบว่าไม่ได้มีการกล่าวถึงอะไรใดๆ นั่นแสดงว่าคงเป็น ‘Original Music’ ซึ่งก็อาจจะโดย Louis Levy & Charles Williams ได้ยินครั้งแรกขับร้องโดยนักกีตาร์+ขับร้องเสียง Baritone (โดย Roy Russell) ฮัมตามโดย Mrs. Froy ส่งต่อให้ Gilbert และจบด้วยการบรรเลงเปียโน

ด้วยความที่เสียงฮัมเพลงไม่ได้มีความไพเราะ น่าจดจำสักเท่าไหร่ แต่ผมเกิดความเอะใจอะไรบางอย่าง เลยพยายามจดจำ เปิดฟังซ้ำๆอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งตระหนักว่า Main Theme (Opening+Closing Credit) ล้วนแทรกใส่ท่วงทำนองรหัสลับ แฝงซ่อนเร้นอยู่อย่างโคตรๆแนบเนียน

The Lady Vanishes การหายตัวไปอย่างลึกลับของหญิงสูงวัยบนขบวนรถไฟ คงทำให้ใครหลายคนเกิดความฉงนสงสัย มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร? เธอมีตัวตนจริงหรือไม่? หรือใครบางคนจัดฉาก เล่นละคอนตบตา? ประเด็นคำถามหลักๆก็คือทำไปเพื่ออะไร?

แต่เนื้อหาสาระจริงๆของหนังไม่ได้เกี่ยวกับการหายตัวของหญิงสูงวัย มันคือลูกเล่น ‘misdirection’ ที่พบเห็นบ่อยครั้งในภาพยนตร์ของผกก. Hitchcock ล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความเข้าใจไปทิศทางหนึ่ง แล้วทำการทรยศ/หักมุม เหตุการณ์บังเกิดขึ้นคือลักพาตัว ไม่ใช่สูญหายตัว

เช่นนั้นแล้ว ทำไมหญิงสูงวัยบนขบวนรถไฟถึงถูกลักพาตัว? ใครเคยรับชมผลงานยุคแรกๆของผกก. Hitchcock ช่วงระหว่างอาศัยอยู่อังกฤษ คงมักคุ้นชินกับเรื่องสายลับ ที่มักถูกไล่ล่า หลบหนี เพื่อไม่ให้ข้อมูลลับ (ที่มักเป็น McGuffin) ต้องตกไปอยู่ในเงื้อมมือศัตรูฟากฝั่งตรงข้าม

Mrs. Floy คือหญิงสูงวัยใจดี ที่ดูยังไงก็ไร้พิษภัย แต่นี่ก็อีก ‘misdirection’ ล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิดๆ เมื่อเปิดเผยว่าเธอเป็นสายลับ ย่อมสร้างความแปลกประหลาดใจ แถมข้อมูลลับซุกซ่อนอยู่ในทำนองเพลง มันก็ช่างลุ่มลึกล้ำ ใครกันจะคาดคิดถึง!

สารพัดการหลอกลวง หักมุม คาดไม่ถึง ‘misdirection’ คือสิ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจ เพลิดเพลินบันเทิงอารมณ์ ถือเป็นความโดดเด่นของสื่อภาพยนตร์ บทเรียนสำหรับผู้ชมอย่าด่วนตัดสินผู้อื่นแค่เพียงเปลือยภายนอก รูปร่างหน้าตา เพศสภาพ หรือแม้แต่อายุอานาม ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งสิ้น

ช่วงทศวรรษ 1930s สถานการเมืองโลกมีบรรยากาศตึงเครียด เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ก่อการร้าย สายลับแทรกซึมอยู่แทบทุกแห่งหน บางประเทศเริ่มสำแดงธาตุแท้ตัวตน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ มหาอำนาจ จ้าวโลก สงคราม(โลกครั้งที่สอง)ใกล้ปะทุขึ้นมาในทุกขณะ

ระหว่างการสืบค้นหาข้อเท็จจริง (เกี่ยวกับการสูญหายตัวของหญิงสูงวัย) หรือขณะเกิดความขัดแย้ง (ฉากไคลน์แม็กซ์) หายนะคืบคลานเข้ามา มักพบเห็นบรรดาตัวละครสัญชาติอังกฤษ (เหมารวมถึงรัฐบาล Chamberlain ระหว่างปี ค.ศ. 1937-40) ส่วนใหญ่สำแดงความไม่ยี่หร่า พยายามวางตัวเป็นกลาง ปฏิเสธยุ่งเกี่ยวข้องแว้ง ก่อนถูกยิงแสกกลางหน้า … นี่เป็นการสะท้อนอุปนิสัยตัวตน สันดานธาตุแท้ชาวอังกฤษ ถ้าสงครามไม่คืบคลานมาถึงเบื้องหน้า นาซียกพลขึ้นบก ก็คงเพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่ยี่หร่าอะไรใครทั้งนั้น!

เกร็ด: รัฐบาล Chamberlain คือคำเรียก Arthur Neville Chamberlain (1869-1940) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ระหว่างปี ค.ศ. 1937-40 เป็นผู้ลงนาม Munich Agreement ส่งมอบแคว้น Sudetenland, Czechoslovakia ให้แก่ Nazi Germany เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1938 และปีถัดมาเมื่อ Adolf Hitler บุกรุกราน Poland วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 อีกสองวันถัดมาจึงประกาศสภาวะสงคราม นำอังกฤษเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง

ตอนจบของหนังก็เฉกเช่นเดียวกัน เป็นความพยายามเสียดสีประชดประชันพวกผู้ดีอังกฤษ ที่มักครุ่นคิดว่าทุกสิ่งอย่างต้องจบลงโดยดี Happy Ending แม้แต่พวกผู้ร้ายยังอำนวยอวยพร “jolly good luck.”

All along, the film pits England against the world, with the English characters not necessarily getting the best of it. The loathsome adulterer Todhunter (Cecil Parker at his most unctuous) is the very picture of moral indifference, and only Whitty and Redgrave show much interest, however condescending, in the customs of foreigners. Wayne and Radford, as the cricket fans desperate to get back in time for the match, effortlessly steal the film with their running display of blithe bafflement at all things foreign.

But a film that mocks British insularity and hypocrisy ends as a celebration of British pluck and solidarity, as every British character (except for the cowardly appeaser Todhunter, shot down waving a white flag) finally reveals a courageous nature: the sinister nun is really just a good English girl gone astray, and the complacent cricket fans turn out when the chips are down to be dead shots with nerves of steel. Even Dr. Hartz—the most genial of villains—is forced in the end to wish them “jolly good luck.” The whole climactic episode is a send-up of Boy’s Own heroics—except that the blood on Radford’s hand is all too real. The dreadful shock on his previously imperturbable face is like a harbinger of the real danger with which the film has finally, unavoidably, made contact.

นักวิจารณ์ Geoffrey O’Brien จากบทความใน Criterion Collection

หลังความสำเร็จของ The 39 Steps (1935) สามผลงานต่อมาของผกก. Hitchcock ประกอบด้วย Secret Agent (1936), Sabotage (1936) และ Young and Innocent (1937) เหมือนจะล้มเหลวไม่ทำเงินสักเท่าไหร่ กระทั่งการมาถึงของ The Lady Vanishes (1938) ได้เสียงตอบรับดีล้นหลามโดยทันที ว่ากันว่าอาจทำเงินสูงสุดในสหราชอาณาจักรขณะนั้น

[The Lady Vanishes (1938)] it is arguably the most accomplished, and certainly the wittiest of Hitchcock’s British films, and is up there with the best of his American work.

นักวิจารณ์ Mark Duguid

The Lady Vanishes is one of the greatest train movies from the genre’s golden era, challenged only in the master’s oeuvre by North By Northwest for the title of best comedy thriller ever made.

นักวิจารณ์ Philip French จากนิตยสาร The Guardian

กาลเวลายิ่งทำให้หนังได้รับการยกย่อง กล่าวขวัญถึง หนึ่งในภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษยอดเยี่ยมตลอดกาล!

  • BFI: Top 100 British films (1999) ติดอันดับ #35
  • Empire: The 100 best British films (2016) ติดอันดับ #82
  • TIMEOUT: The 100 Best British Films (2011) ติดอันดับ #31
  • TIME OUT: The 100 best thriller films of all time (2022) ติดอันดับ #54

ปัจจุบันยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ 4K ฉบับของ Criterion Collection (วางจำหน่ายปี ค.ศ. 2011) และค่าย Network (วางจำหน่าย ค.ศ. 2015) ยังเป็นแค่ High-Definition Transfer เท่านั้นนะครับ (เอาไว้ดูแก้ขัดไปก่อน)

ส่วนตัวแม้มีความชื่นชอบหนังอย่างมากๆ ถูกแรงดึงดูดของลีลาดำเนินเรื่อง ชักชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ แทบไม่สามารถลุกจากเก้าอี้ แต่ลึกๆผมแอบผิดหวังกับการเปิดเผยว่าเป็นสายลับ เพราะก่อนหน้านี้ 3-4 เรื่องติดๆของผกก. Hitchcock ล้วนมีเนื้อหาสาระ แฝงใจความสำคัญแบบเดียวกันเลย … แต่เชื่อว่านานๆกลับมาดูที (แบบที่ไม่ใช่ติดต่อเนื่องหลายๆเรื่องแบบนี้) ก็น่าจะทำให้หลงใหลคลั่งไคล้ยิ่งๆขึ้นไป

เกร็ด: มีความพยายามสร้างใหม่ The Lady Vanishes (1979) และ (ฉายโทรทัศน์) The Lady Vanishes (2013) แต่อย่าเสียเวลาไปหารับชมเลยนะครับ

จัดเรต pg กับการสูญหายตัวอย่างลึกลับ ความรุนแรง

คำโปรย | ด้วยสัมผัส Hitchcockian ทำให้การหายตัวไปของหญิงชรา The Lady Vanishes มีความลึกลับ ซับซ้อน คาดไม่ถึง
คุณภาพ | มี
ส่วนตัว | ใจหายใจคว่ำ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: