Sweet Home (1989) : Kiyoshi Kurosawa ♥♥♡
บ้านแสนสุขที่เคยเต็มไปด้วยความอบอุ่น อุบัติเหตุคร่าชีวิตทารกน้อย ทำให้บิดา-มารดาราวกับตกนรกมอดไหม้ กลายเป็นปีศาจร้ายสิงสถิตอยู่ในบ้านแสนโศก! พล็อตคาดเดาไม่อยาก แต่เทคนิคพิเศษน่าตื่นตาในยุคสมัยนั้น และยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับวีดีโอเกมส์ Resident Evil
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า Sweet Home (1989) คือภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกเลยหรือเปล่าที่สร้างขึ้นพร้อมๆกับวีดีโอเกมส์ (โดยใช้แนวคิด พล็อตเรื่อง จักรวาลเดียวกัน) ทีแรกตั้งใจจะออกฉายพร้อมๆกัน แต่อาจด้วยความล่าช้าหรือเกิดเหตุการณ์บางอย่าง ภาพยนตร์เข้าฉายมกราคม เกมส์จัดจำหน่ายธันวาคม (แต่ก็ยังปีเดียวกัน ค.ศ. 1989)
ในขณะที่เสียงตอบรับฉบับภาพยนตร์เพียงพึงพอใช้ พล็อตเรื่องคาดเดาง่ายไปหน่อย แต่เทคนิคพิเศษดูยิ่งใหญ่อลังการ (เมื่อเทียบกับมาตรฐาน Special Effect ยุคสมัยนั้น) สร้างความบันเทิง สนุกสนานเพลิดเพลิน
Despite its unsurprising plotting, Sweet Home is action-packed, thrill-packed and effects-packed, resulting in a more than entertaining haunted house ride.
Sweet Home takes almost the opposite approach to the genre, resulting in a colorful, action-packed, special effects-laden rollercoaster horror movie… [It]’s first and foremost an exercise in genre, one with which the cinephile director consciously trod in the footsteps of men like [Robert] Wise and [Tobe] Hooper.
Tom Mes ในหนังสือ The Midnight Eye Guide to New Japanese Film (2004)
แต่ทว่าวีดีโอเกมส์ กลับสามารถสร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการเกมส์ ได้รับยกย่องสรรเสริญ “One of the Greatest Horror Games Ever Made” กลายเป็นหมุดไมล์ (Landmark) วิวัฒนาการครั้งใหญ่ของการออกแบบเกมส์แนว Horror และ Survival Horror รวมถึงยังสร้างแรงบันดาลใจให้แฟนไชร์ Resident Evil, BioShock, อีกมากมายนับไม่ถ้วน!
Sweet Home ไม่ได้เป็นแค่เกมยุคเก่าธรรมดาๆ แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างเกมที่มีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีให้มีความซับซ้อนและสมจริงได้ จากวิธีการเล่าเรื่อง วิธีการดำเนินเกม และเทคนิคในการนำเสนอที่กลายเป็นความคลาสสิคไปแล้ว เกมนี้ถูกจัดให้ติดอันดับต้นๆจากหลายสถาบันในหมวดเกมเขย่าขวัญที่ยอดเยี่ยมตลอดกาลอีกเกมหนึ่ง ถ้าคุณเป็นแฟนเกมแนวสยองขวัญ สมควรอย่างยิ่งที่จะลิ้มลองเกมสมัย 8 bits เกมนี้ที่อัดแน่นไปด้วยความคลาสสิค สั่นประสาทอย่างมีศิลปะ แค่ดนตรีประกอบก็เร้าใจแล้วครับ
บทความจากนิตยสารเกมส์ GAMEMAG ฉบับที่ 630 เมื่อปี ค.ศ. 2012
LINK: https://pantip.com/topic/31392778
ความน่าเสียดายคือหนังหารับชมได้ในปัจจุบัน ไม่ใช่ต้นฉบับตรงตามวิสัยทัศน์ผกก. Kurosawa เพราะถูกโปรดิวเซอร์ Juzo Itami นำไปถ่ายเพิ่ม ตัดต่อใหม่ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดพอสมควร นั่นคือการแทรกแซงที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง พยายามฟ้องร้อง ขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ทว่าผกก. Kurosawa กลับพ่ายแพ้คดีความ (ศาลถือว่าหนังคือกรรมสิทธิ์ของโปรดิวเซอร์ ไม่ใช่ผู้กำกับ) ความโชคร้ายจึงตกกับผู้ชมที่อาจไม่มีวันได้เชยชมฉบับแท้จริงของภาพยนตร์เรื่องนี้ … ไม่มีจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray เพียงคุณภาพ VHS และ LaserDisc เท่านั้นเอง
ทีแรกผมไม่ได้ตั้งใจจะรับชม Sweet Home (1989) บังเอิญพบเจอตอนเขียนถึง House (1977) ซึ่งก็เป็นแนวบ้านผีสิง (IMDB.com มันมีแถบ More like this สำหรับแนะนำหนังคล้ายๆกัน) เลยลองขวนขวายหามาเชยชมสักครั้ง หลังดูจบก็ยังสองจิตสองใจ อยากข้ามไป Cure (1997) และ Pulse (2001) ก่อนตัดสินใจกัดฟันเพราะอ่านเจออิทธิพลหนังเรื่องนี้ มากล้นหลามต่อวงการวีดีเกมส์!
Kiyoshi Kurosawa, 黒沢 清 (เกิดปี 1955) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kobe, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะสังคมวิทยา Rikkyo University ระหว่างนั้นได้เป็นสมาชิกกลุ่มภาพยนตร์สมัครเล่น Parodias Unity ร่วมกับ Tatsuya Mori และ Akihiko Shiota ซึ่งต่างได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีภาพยนตร์ของนักวิจารณ์ Shigehiko Hasumi (ที่รับอิทธิพลมาจาก French New Wave) เริ่มต้นสรรค์สร้างหนังสั้น 8mm, ก่อนได้งานผู้ช่วยกองถ่าย The Man Who Stole the Sun (1979), ผู้ช่วยผู้กำกับ Sailor Suit and Machine Gun (1981), กำกับหนังแนว Pink Film เรื่องแรก Kandagawa Pervert Wars (1983), ติดตามด้วย The Excitement of the Do-Re-Mi-Fa Girl (1985) เชื้อเชิญผู้กำกับคนโปรด Juzo Itami มาร่วมรับบทสมทบ
เกร็ด: Kiyoshi Kurosawa ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆกับ Akira Kurosawa
สำหรับโปรเจค スウィートホーム, Sweet Home แรกเริ่มตั้งชื่อว่า 心霊 อ่านว่า Shinrei แปลว่า Ghost หรือ Spirit, นำเสนอเรื่องราวพ่อ-แม่-ลูกสาว ออกเดินทางท่องเที่ยววันหยุดฤดูร้อนยังหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง แล้วได้พบเจอปีศาจร้าย มารดาฆ่าตัวตายเพราะความกลัว จากนั้นวิญญาณของเธอ (และปีศาจ) ออกติดตามหลอกหลอนสามีและบุตร, วางตัวนักแสดงนำ Toshiya Fujita ประกบ Midori Kiuchi
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผกก. Kurosawa ไม่สามารถติดต่อหาเงินทุน จึงชักชวน Juzo Itami ที่เพิ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามกับภาพยนตร์ The Funeral (1984) และ Tampopo (1985) ให้ช่วยลงทุนในโปรเจคดังกล่าว
การเข้ามาของ Itami จัดแจงปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น เปลี่ยนชื่อหนัง เปลี่ยนพล็อตเรื่องราว เปลี่ยนตัวนักแสดง รวมถึงเลือกทีมงานชุดใหม่ ซึ่งเหตุผลที่ผกก. Kurosawa ยินยอมให้ทุกสิ่งอย่าง เพราะความชื่นชอบส่วนตัว รวมถึงเชื่อมั่นในประสบการณ์ทำงานของอีกฝ่าย … แต่พอเริ่มตระหนักว่าวิสัยทัศน์ของตนเองถูกปรับเปลี่ยน บิดเบือนไปมาก ตกอยู่ในสถานการณ์ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” จะขอถอนตัวก็สายเกินไป
ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ Itama ยังลงทุนวีดีโอเกมส์ ติดต่อผู้กำกับ(เกมส์) Tokuro Fujiwara จากสตูดิโอ Capcom ตั้งใจให้พัฒนาทั้งสองโปรเจคไปพร้อมๆกัน นำเอาบทหนัง รายละเอียดงานสร้างต่างๆ ไปเป็นต้นแบบดัดแปลงสร้างให้เหมาะสมกับรูปแบบเกมส์ Role-Playing สำหรับเล่นบนเครื่อง Family Computer (Famicom) … ในส่วนนี้ผกก. Kurosawa ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวอะไร แต่อนุญาตให้แผนกเกมส์เข้ามาสังเกตการณ์ทำงานของหนังอย่างอิสระ
กองถ่ายสารคดีนำโดยผู้กำกับ Kazuo (รับบทโดย Shingo Yamashiro), บุตรสาว Emi (รับบทโดย Nokko), โปรดิวเซอร์ Akiko (รับบทโดย Nobuko Miyamoto), ตากล้อง Ryō (รับบทโดย Ichiro Furutachi) และพิธีกร/นักบูรณะศิลปะ Asuka (รับบทโดย Fukumi Kuroda), ทั้งห้าออกเดินทางสู่แมนชั่นร้างของอดีตจิตรกรชื่อดัง Ichirō Mamiya เพื่อค้นหาผลงานจิตรกรรมฝาผนังชิ้นสุดท้าย
แมนชั่นแห่งนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เพราะถูกทิ้งร้างมาหลายสิบปี โชคยังดีสามารถพบเจอภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง จึงเริ่มต้นปัดกวาด ทำความสะอาด ฟื้นฟูบูรณะ แต่จู่ๆภาพวาดสรวงสวรรค์กลับกลายเป็นขุมนรก ทารกน้อยมอดไหม้ในกองเพลิง นี่มันเคยเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร? ทำไมแมนชั่นหรูแห่งนี้ถึงถูกทอดทิ้งร้างโดยไม่ใครกล้าเข้าใกล้?
ในส่วนของนักแสดง ผมขอกล่าวถึงเพียงอธิบายรายละเอียดตัวละคร เริ่มจากทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งห้าคน
- Kazuo Hoshino, 星野 和夫 (รับบทโดย Shingo Yamashiro) ผู้กำกับสารคดี เป็นคนง่ายๆ สบายๆ นิสัยกันเอง ไม่ชอบความยุ่งยากวุ่นวาย ลึกๆตกหลุมรักโปรดิวเซอร์ Akiko แต่กลับมีความเหนียงอาย เลยไม่เคยเปิดเผยความรู้สึกออกไป เมื่อเผชิญหน้าภยันตราย แม้เต็มไปด้วยความหวาดกลัวเกรง ก็พร้อมเสียสละตนเองเพื่อช่วยชีวิตบุตรสาว Emi
- Emi Hoshino, 星野 エミ (รับบทโดย Nokko) บุตรสาวของ Kazuo ด้วยความที่มารดาจากไปตั้งแต่ยังเล็ก เลยมีความสนิทสนมกับ(พี่สาว) Akiko อยากจะเรียกมารดาใจจะขาด, ช่วงวันหยุดฤดูร้อนปีนี้ติดตามบิดามาร่วมทำงานในกองถ่าย ออกสำรวจแมนชั่น ก่อนถูกลักพาตัวโดยปีศาจร้าย Lady Mamiya
- Akiko Hayakawa, 早川 秋子 (รับบทโดย Nobuko Miyamoto) โปรดิวเซอร์สาวแกร่ง เป็นคนเรื่องมาก จอมบงการ มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง แต่ลึกๆแล้วเธอมีจิตใจอ่อนไหว โหยหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง ช่วงท้ายยินยอมปลอมตัวเป็นมารดาของ Emi เพื่อเผชิญหน้ากับ Lady Mamiya ทวงคืนบุตรสาวกลับคืนมา
- Nobuko Miyamoto คือภรรยาของโปรดิวเซอร์ Juzo Itami เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้รับบทบาทเด่น
- Ryō Taguchi, 田口 亮 (รับบทโดย Ichiro Furutachi) ตากล้องประจำกองถ่าย ชอบทำตัวเอ๋อเหรอ แต่จริงๆเป็นเสือผู้หญิง คอยสอดแนม แอบติดตาม Asuka หาโอกาสสัมผัสชิดใกล้ ก่อนถูกไล่ล่าโดยเงาปีศาจ (ของ Lady Mamiya) แผดเผาร่างกายขาดเป็นสองท่อน
- Asuka, アスカ (รับบทโดย Fukumi Kuroda) พิธีกรสาวสวย และยังเป็นนักบูรณะงานศิลปะ (Art Restorer) เธอดูอ่อนแอ เปราะบาง แถมมีความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ เจ้าอารมณ์อ่อนไหว เลยถูกวิญญาณร้ายเข้าสิงสถิต พยายามผลักไสตากล้อง Ryō Taguchi ใช้ประแจทุบหัว เลยถูกขวาน(ที่อีกฝ่ายทิ้งไว้)จามลงบนศีรษะ
นอกจากนี้ยังมีอีกสองสองตัวละครที่น่าสนใจ Kenichi Yamamura, 山村健一 (รับบทโดย Juzo Itami แต่งหน้าพิเศษโดย Dick Smith) เจ้าของปั๊มน้ำมันที่อยู่ไม่ห่างไกลจากแมนชั่นร้าง เป็นชายแก่นิสัยดื้อรั้น ก็ไม่รู้เป็นใครมาจากไหน (ดูเหมือนนักล่าปีศาจ Van Helsing) แต่เขารับรู้เบื้องหลังทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับ Lady Mamiya รวมถึงวิธีการเผชิญหน้าต่อสู้ อธิบายพลังจิตวิญญาณอันเข้มแข็งแกร่ง จักสามารถต่อกรเอาชนะทุกสิ่งอย่าง! … แต่สุดท้ายหลังจากช่วยชีวิต Emi เจ้าตัวกลับหลอมละลายกลายเป็นโจ๊ก
อีกตัวละครก็คือ Lady Mamiya, 間宮夫人 (รับบทโดย Machiko Watanabe) ภรรยาของจิตรกร Ichirō เมื่อสามสิบปีก่อนสูญเสียทารกน้อยปีนป่ายเข้าไปในเตาเผา โดยไม่รู้ตัวพลั้งพลาดจุดไฟ มอดไหม้ในกองเพลิง (ใบหน้าของเธอก็เสียโฉมครึ่งหนึ่ง) มิอาจทำใจยินยอมรับ จึงสำแดงอาการคลุ้มคลั่ง ลักพาตัวเด็กทารกในหมู่บ้านมาโยนใส่กองเพลิง (ต้องการให้ตายไปเป็นเพื่อนของลูกน้อย) เมื่อถูกชาวบ้านต้อนจนมุม ตัดสินใจกระโดดเข้าเตาเผาฆ่าตัวตาย ถูกสะกดวิญญาณ กลายเป็นปีศาจร้ายสิงสถิตอยู่ในบ้าน ไม่สามารถไปผุดไปเกิดใหม่
ส่วนจิตรกร Ichirō Mamiya, 間宮 一郎 แค่เพียงถูกกล่าวถึง ไม่เคยปรากฎตัวในหนัง หลังภรรยาเสียชีวิต คงตั้งใจวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังชิ้นสุดท้ายให้แล้วเสร็จสรรพ ก่อนฆ่าตัวตายตามภรรยา … ผมอ่านเจอจาก Wikipedia ของเกมส์นี้ มีทฤษฎีสมคมคิด เชื่อกันว่า Ichirō Mamiya ไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่กลายมาเป็น Kenichi Yamamura (ถึงรับล่วงทุกสิ่งอย่างในแมนชั่นหลังนี้ และยินยอมเสียสละตนเองเพื่อ Emi)
ถ่ายภาพโดย Maeda Yonezo, 前田米造 (1935-2021) ตากล้องสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo, เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยตากล้องสตูดิโอ Nikkatsu Studios จากนั้นถ่ายทำหนัง Pink Film ก่อนร่วมงานขาประจำ Juzo Itami อาทิ The Funeral (1984), A Taxing Woman (1987), Sweet Home (1989), Supermarket Woman (1996) ฯ
ผกก. Kurosawa มีความยินดีอย่างมากๆที่จะได้ร่วมงานหนึ่งในตากล้องคนโปรด ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายภาพมุมกว้าง (Wide Shot) ระยะไกล (Long Shot) แต่ทว่าโปรดิวเซอร์ Itami กลับเรียกร้องสั่งให้ถ่ายแต่ช็อตระยะใกล้ (Close-Up) บันทึกปฏิกิริยาใบหน้าตัวละครในแทบจะทุกๆเหตุการณ์ ถึงขนาดตากล้อง Yonezo ยังเอ่ยปากถาม “Shall we shoot not only close-ups but also long shots?” สุดท้ายแล้วสิทธิ์ในการตัดต่อ ‘final cut’ อยู่ในมือของโปรดิวเซอร์ มันจึงแทบไม่หลงเหลือช็อตระยะไกลในวิสัยทัศน์ของผกก. Kurosawa
เฉกเช่นเดียวกับอัตราส่วนภาพ Widescreen (1.85:1) แต่ทว่าเมื่อกลายเป็น VHS และ LaserDisc มีการตัดขอบซ้ายขวาให้กลายเป็น Fullscreen (4:3) สำหรับฉายทางโทรทัศน์ ซึ่งเหมาะสำหรับช็อตระยะใกล้ (Close-Up) นั่นน่าจะคือความตั้งใจของโปรดิวเซอร์ Itami ตั้งแต่แรกแล้วกระมัง!
งานภาพของหนังแพรวพราวไปด้วยลูกเล่น จัดเต็มเทคนิคพิเศษ แสงสี หมอกควัน เงามืดคืบคลานเข้ามา แต่ไฮไลท์ต้องยกให้แผนก Special Effects ทั้งร่างกายหลอมละลาย และปีศาจตัวสุดท้าย/ลาสบอส Lady Mamiya โดยเฉพาะส่วนใบหน้า (Special Make-Up Effects) ออกแบบโดย Dick Smith (1922-2014) เจ้าของฉายา “The Godfather of Make-Up” โด่งดังจาก The Exorcist (1973), Taxi Driver (1976) ฯ
หนังเริ่มต้น Opening Credit ด้วยการทำเงามือ (Shadow Hand) ได้ยินเสียงทารกหัวเราะคิกๆ คาดเดาไม่ยากว่าบิดา-มารดาน่าจะกำลังละเล่นกับลูกน้อย ซึ่งดูสอดคล้องกับชื่อหนังบ้านแสนสุข!
แต่ทว่าเรื่องราวต่อจากนี้กลับหาคือบ้านแสนโศก ซึ่งเงามือที่เคยทำให้ทารกหัวเราะสนุกสนาน จักแปรสภาพสู่ความมืดมิด สิ่งชั่วร้ายค่อยๆคืบคลานเข้ามา
โดยปกติแล้วหนังมักเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพมุมกว้าง (Establishing Shot) แต่อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าการเข้ามาแทรกแซงของ Juzo Itami ทำให้หนังเต็มไปด้วยช็อตระยะใกล้ (Close-Up) พบเห็นใบหน้าตัวละครเสียส่วนใหญ่ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ามันคือ ‘สไตล์ Itami’ เลยหรือเปล่า? เช่นนั้นแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ย่อมมีความเป็น Itami มากกว่าผกก. Kurosawa
ฉากแรกของหนังถ่ายทำยังทะเลทรายแห่งหนึ่ง Akiko รับฟังข่าวจากวิทยุ ได้ยินข่าวแจ้งว่าพายุ(ทราย)กำลังโหมกระหน่ำ สามารถสื่อถึงการมาถึงของทีมงานถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ที่จักนำพาหายนะให้บังเกิดขึ้น
ช่างภาพ Ryō Taguchi คือบุคคลที่ชอบสร้างปัญหา เหยียบคันเร่งฝ่าขอนไม้ขวางทาง (คือสัญลักษณ์ของการฝ่าฝืน กระทำสิ่งที่คนอื่นไม่ให้การยินยอมรับ) ปีนป่ายเข้าไปเปิดประตูจากภายในแมนชั่น แถมยังใช้ตีนถีบเจดีย์หิน ตามคติความเชื่อชาวญี่ปุ่นคือสิ่งสำหรับสะกดวิญญาณชั่วร้าย
เวลาว่างๆ Emi ออกสำรวจแมนชั่น เข้ามาในห้องนอน (น่าจะของ Lady Mamiya) สังเกตว่าโดยรอบห้องปกคลุมด้วยเงาบานเกล็ด ราวกับใช้กักขังอะไรบางอย่าง เด็กสาวกระโดดโลดเต้นบนเตียงนอน จากนั้นเปิดเครื่องฉายภาพนิ่ง พบเห็นภาพถ่ายของ Lady Mamiya กำลังมอดไหม้ … ตาดีได้ ตาร้ายเสีย
ปล. เมื่อตอนที่ Ryō เตะเจดีย์หิน ยังแค่ได้ยินเสียงประกอบที่ราวกับส่งสัญญาณเตือนอันตราย แต่คราวนี้เมื่อภาพถ่ายมอดไหม้ ราวกับวิญญาณร้ายได้รับการปลดปล่อย ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมได้พบเห็น !#$%^&
แทนที่หนังจะฉายให้เห็นภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังบนฝาผนัง! กลับถ่ายผ่านจอโทรทัศน์ ไม่ก็รูปภาพถ่าย ไม่มีสักช็อตที่ผู้ชมจะได้พบเห็นผลงานที่ผ่านการบูรณะเสร็จแล้วแบบเต็มๆตา แต่นี่เราสามารถทำความเข้าใจถึงนัยยะ ‘ภาพซ้อนภาพ’ ถ่ายภาพจริง ปรากฎในจอโทรทัศน์ และผู้ชมรับชมผ่านโรงภาพยนตร์
ผมขอกล่าวถึงภาพสรวงสวรรค์นี้ก่อนแล้วกัน น่าจะวาดขึ้นตอนที่นางฟ้า Lady Mamiya เพิ่งให้กำเนิดทารกน้อยได้ไม่นาน มีความสไตล์ลิสต์ ลงสีสันจัดจ้าน (สำแดงถึงความสุข ยินดีปรีดา) ออกไปทางลัทธิเหนือจริง (Surreal)
แต่ภาพวาดถัดมาที่ทำการค้นพบ จะมีการตัดสลับระหว่างปฏิกิริยาตัวละคร และรายละเอียดบางส่วนของภาพวาด เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายครั้งจนกระทั่ง Asuka กริ๊ดลั่นหลังเห็นภาพความตายของทารกน้อย! จากนั้นถึงฉายให้เห็นผ่านภาพวาดดังกล่าวผ่านรูปถ่าย ทำไมถึงไม่ถ่ายภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังบนฝาผนังตรงๆ? … คงไม่อยากให้ผู้ชมตกอกตกใจกระมัง?
ภาพนรกนี้ชวนให้ผมนึกถึงผลงานขุมนรกของ Pieter Bruegel the Elder, Hieronymus Bosch ในยุคสมัย Dutch and Flemish Renaissance โดยองค์ประกอบสำคัญคือเตาเผาขยะ ทารกน้อย เปลวไฟมอดไหม้ และบรรดาปีศาจร้ายจับจ้องมองตาไม่กระพริบ … เป็นภาพภูมิทัศน์ขุมนรกที่สำแดงความห่อเหี่ยวสิ้นหวัง ศิลปินคงรู้สึกเหมือนกำลังตกตายทั้งเป็น
มันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่หนังไม่ปูรายละเอียดใดๆเกี่ยวกับ Asuka ทำไมถึงดูอ่อนแอ เปราะบาง? ทำไมกระตือรือล้นอยากบูรณะผลงานของ Ichirō Mamiya? ทำไมส่งเสียงกรีดร้องเมื่อพบเห็นภาพความตายทารกน้อย? ทำไมถึงถูกวิญญาณร้ายของ Lady Mamiya เข้าสิงสถิต? … ถ้าให้ผมคาดเดาคงประมาณว่า Asuka อาจเคยพานผ่านประสบการณ์คล้ายๆกับ Lady Mamiya แท้งลูก? สูญเสียบุตรตั้งแต่ยังเล็ก? เลยมีจิตใจอ่อนไหว ไม่สามารถควบคุมตนเองเมื่อพบเห็นภาพวาดที่สะท้อนกับตัวตนเอง
เกร็ด: ผมอ่านเจอจาก Wikipedia ของเกมส์นี้ อธิบายว่า Lady Mamiya เข้าสิงสถิต Asuka มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ พยายามครอบงำให้เธอเกิดความกระตือรือล้น เดินทางมาบูรณะผลงานของ Ichirō Mamiya นั่นคือจุดเริ่มต้นการเดินทางของกองถ่ายสารคดี
เงาคืบคลานเข้ามา ผมคงไม่อธิบายอะไรมาก เป็นการเคารพคารวะโคตรหนังเงียบ Nosferatu (1922) เพิ่มเติมคือใส่เสียง เพลงประกอบ ตัดต่อให้ดูหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง
แต่ที่น่าสนใจคือร่างกายครึ่งหนึ่งของ Ryō Taguchi ถูกหลอมละลายโดยอิทธิฤทธิ์ของ Lady Mamiya แต่เขายังพยายามตะเกียกตะกาย วิธีการก็คือขุดหลุมให้นักแสดงฝังอยู่ใต้ดินแล้วพยายามตะเกียกตะกาย … เผื่อใครสนใจงานสร้างเบื้องหลังงานสร้าง SFX Behind the Scene
ผมมองความตายของ Asuka คือกรรมสนองจากการกระทำต่อ Ryō Taguchi จริงอยู่ว่าฝ่ายชายมีพฤติกรรมคุกคาม(ทางเพศ) เธอจึงพยายามขับไล่ ผลักไส แม้ตอนที่อีกฝ่ายถูกหลอมละลายครึ่งตัว หยิบคว้าประแจขึ้นมาทุบศีรษะ ผลกรรมเลยถูกขวาน(ที่ Ryō นำมาวางทิ้งไว้)จามกลางกระหม่อมเช่นเดียวกัน … แต่โดยส่วนตัวมองว่ามันไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ เหมือนแค่ต้องการกำจัดตัวละครที่ไม่เกี่ยวข้องให้พ้นภัยทางเท่านั้นเอง!
แม้จะถูกสั่งห้ามจาก Mr. Yamamura แต่กลับไม่ใครยินยอมรับฟัง Kazuo, Akiko และ Emi ต่างหวนกลับเข้ามาภายในแมนชั่น พบเห็นสภาพหลอมละลายของ Asuka และ Ryō สร้างความหดหู่ ห่อละเหี่ยวใจ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันใช้สารเคมีอะไร แต่ความน่าตกตะลึงยังเทียบไม่ได้กับความตายของ Mr. Yamamura พบเห็นตั้งแต่เนื้อหนัง โครงกระดูก ช่างมีความสยดสยองยิ่งนัก!
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า Emi ต้องมนต์สะกด? วิญญาณร้ายเข้าสิง? แต่เอาเป็นว่าถูก Lady Mamiya ลักพาตัวไปยังห้องนอน(ที่เธอเคยกระโดดโลดเต้น) ระหว่างที่ Mr. Yamamura เอาไม้ไล่ผี(ที่ไม่ใช่ไม้กางเขน)ยกขึ้นเผชิญหน้า ใบหน้าในความมืดของเด็กหญิงบังเกิดรอยแตกร้าว … นี่อาจเป็นความพยายามทำลายมนต์สะกด/วิญญาณร้ายที่เข้าสิงสถิต ไม่ได้ส่งผลกระทบทางกายภาพใดๆต่อเด็กหญิง
What we need is concentration. Willpower, that is. Only those whose willpower is strong enough will succeed.
Mr. Yamamura
เอาว่ามันคือตรรกะเพี้ยนๆของหนัง(และเกมส์) ถ้ามนุษย์มีพลังจิตอันแน่วแน่ เข้มแข็ง ย่อมสามารถต่อสู้เอาชนะปีศาจชั่วร้าย แต่การทดลองของ Mr. Yamamura บีบขวดเหล้าให้บิดเบี้ยวมันใช้พลังกาย (Strength) มากกว่าพลังใจไม่ใช่หรือ? … เอาว่าเฮียแกต้องการพิสูจน์ตนเองว่ามี ‘Willpower’ เข้มแข็งแกร่งกว่าใคร เท่านั้นเอง!
เกร็ด: ทีแรกผมนึกว่าแปลผิด มันควรจะเป็น Diablo ไม่ใช่หรือ? ก่อนค้นพบว่า Diavolo คือภาษาอิตาเลี่ยน (ส่วน Diablo ภาษาสเปน) ต่างแปลว่า Devil, ปีศาจร้ายเช่นเดียวกัน
ผมเองก็แอบคาดไม่ถึงว่าเตาเผาขยะจะอยู่ชั้นใต้ดิน มีประตูลับซุกซ่อนอยู่ตรงพื้นห้องอาหาร (นี่แสดงว่า Mr. Yamamura ต้องคือหนึ่งในบุคคลรับรู้เห็นเหตุการณ์จริงเมื่อสามสิบปีก่อน) เมื่อเปิดออกพบเห็นลำแสงสีเขียวแห่งความชั่วร้ายสาดส่องขึ้นมา เพลงประกอบก็กระหึ่มด้วยเสียงสังเคราะห์ (สัมผัสเหนือธรรมชาติ) ก่อนทั้งสามก้าวย่างลงสู่ขุมนรก
การเสียสละของ Mr. Yamamura มันช่างเป็นเรื่องสูญเสียเปล่าโดยสิ้นเชิง! Kazuo และ Akiko ไม่สามารถนำพา Emi หลบหนีออกจากแมนชั่นได้ทันก่อนก้อนเมฆเคลื่อนมาบดบังแสงจันทร์ ทำให้เธอกลางร่าง/ถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง ลากพาตัวกลับเข้าเตาเผาขยะ!
ผมมองเหตุผลความล้มเหลวดังกล่าว เนื่องจาก Mr. Yamamura ถือเป็นตัวแทนบุคคลนอก ไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆต่อ Kazuo, Akiko หรือ Emi การกระทำของเขาเพียงเพื่อพิสูจน์จิตวิญญาณ (Willpower) อันเข้มแข็ง สนองความพึงพอใจส่วนตัวเสียมากกว่า … ปู่แกอาจเป็นคนสุดท้ายที่ยังอยู่จากเมื่อสามสิบปีก่อน เลยต้องการตายในสนามรบ ตามวิถี Bushido กระมังนะ
เมื่อตอนต้นเรื่อง Emi เล่าว่านี่คือชุดของมารดาเคยสวมใส่เข้านอน ทั้งยังแสดงเจตจำนงค์ว่าต้องการมอบชุดนี้ให้กับ Akiko คาดหวังให้มาเป็นแม่ใหม่ แม้ตอนนั้นเธอตอบปัดปฏิเสธ แต่คราวนี้เพื่อเผชิญหน้ากับ Lady Mamiya ตัดสินใจสวมใส่ ยินยอมรับตนเองว่าคือมารดา(ใหม่) ทวงบุตรสาวกลับคืนมา
ระหว่างการเดินทางไปเผชิญหน้ากับ Lady Mamiya มีสองอุปสรรคขวากหนามที่ Akiko ต้องพานผ่านไปให้จงได้ หนึ่งคือหลุมยุบ ผมมองว่าคือสัญลักษณ์ของการเอาชนะตนเองทาง “กายภาพ” เพราะบุคคลที่จิตวิญญาณอ่อนแอ (Willpower) เมื่อพบเจออุปสรรคที่ต้องพลัง (Strengh) แก้ปัญหา มักสรรหาข้ออ้าง ฉันกระโดดข้ามไม่ได้หรอก ถ้าพลั้งพลาดตกหล่นไปจะทำยังไง นั่นคือการยินยอมรับความพ่ายแพ้โดยปริยาย
อุปสรรคที่สองของ Akiko เผชิญหน้ากับเปลวไฟ ซึ่งในบริบทของหนังเป็นแค่เพียงภาพลวงตา นี่คือการเอาชนะตนเองทางจิตใจ “มโนภาพ” เพราะใครๆต่างครุ่นคิดว่าเปลวไฟมันร้อน กลัวการมอดไหม้ หลอมละลาย จิตใจไม่เข้มแข็งที่จะอดรนทน เสียสละตนเองเพื่อบุตรสาว … อาจถูกไฟครอกตายไปแล้วกระมัง
ย่อหน้านี้ผมอยากจะเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับปีศาจ Lady Mamiya มันมีอธิบายอยู่ในคลิป SFX Behind the Scenes แต่โชคร้ายไม่มีซับอังกฤษ เลยขอค้างๆคาๆไว้ก่อน ถ้ามีโอกาส/ไม่ลืมเสียก่อน ก็อาจหวนกลับมาเขียนให้
ผมไม่รู้จะให้เครดิตใครดีระหว่างแต่งหน้าปีศาจ Dick Smith, หรือผู้ออกแบบกลไกเคลื่อนไหว Steve Dunham สามารถทำให้ Lady Mamiya แสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างโคตรๆสมจริง โดยเฉพาะเมื่อพบเห็นทารกน้อย น้ำตาหลั่งไหล … ปีศาจก็มีจิตใจ
โอ้แม่จ้าว มันคติธรรมข้อไหนกันที่ฆาตกรฆ่าทารกน้อย พอสำนึกตัวแล้วได้โบยบินขึ้นสวรรค์?? ซีเควนซ์นี้น่าจะสร้างโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (CGI) ยุคสมัยนั้นยังไม่ค่อยสมจริงมากนัก แต่ก็พอไปวัดไปวาได้ประมาณนี้แหละ
สรุปแล้วบิดาทำอิหยังหวะ? พูดอย่างหล่อว่าจะเข้ามาช่วยบุตรสาว กลับหลบซ่อนตัวอยู่ในตู้เสื้อผ้า นั่นแปลว่าหมอนี่เก่งแต่ปาก พึ่งพาอะไรไม่ได้สักสิ่งอย่าง … แต่ก็เอาเถอะ เพื่อครอบครัวแสนสุข ตอนจบลงอย่าง Happy Ending
เอาจริงๆผมไม่ได้เสียเวลานั่งชม Closing Credit จนถึงตอนจบนี้หรอกนะครับ มันเป็นความบังเอิญล้วนๆระหว่างพยายามหาภาพมุมกว้างของแมนชั่น Mamiya ไถลๆไปเรื่อยๆจนหลังเครดิตถึงค้นพบ After Credit อย่างคาดไม่ถึง! … จะว่าไปก็มีการกล่าวถึงสภาพอันทรุดโทรม โน่นนี่นั่นร่วงหล่น พังแหล่มิพังแหล่มาตลอดทั้งเรื่อง แต่ต้องรอคอยให้หายนะพานผ่านไป ไม่หลงเหลืออะไรในแมนชั่นจึงพังทลายลง
ปล. เผื่อคนหลงครุ่นคิดว่านี่คือการพังทลายของสถานที่จริง สิ่งพบเห็นนี้คือโมเดลจำลอง (Miniatures) ให้ลองไปสังเกตดูว่าไม่มีสักช็อตไหนในหนัง นักแสดงอยู่ร่วมเฟรมเดียวกับภายนอกแมนชั่นแห่งนี้!
ตัดต่อโดย Akira Suzuki, 鈴木晄 (1928-2014) เกิดที่ Osaka, สำเร็จการศึกษาจาก Wakayama University จากนั้นเข้าร่วม Takarazuka Films ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ก่อนย้ายมา Nikkatsu Studios เปลี่ยนมาเป็นนักตัดต่อ มีผลงานกว่า 400+ เรื่อง! อาทิ Branded to Kill (1967), The Man Who Stole the Sun (1979), The Funeral (1984), Tampopo (1985), A Promise (1986), A Taxing Woman (1987), Sweet Home (1989), Supermarket Woman (1996) ฯ
หนังไม่ได้จำเพาะเจาะจงมุมมองการนำเสนอ เริ่มต้นจากทีมงานถ่ายทำสารคดีเดินทางมาถึงแมนชั่นร้างของจิตรกร Ichirō Mamiya แล้วประสบพบเจอเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ครึ่งหลังคือ ‘damsel in distress’ หาหนทางให้ช่วยเหลือเด็กสาว Emi ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของปีศาจร้าย Lady Mamiya
- อารัมบท, Kazuo พูดคุยต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อขออนุญาตเข้าใช้สถานที่
- ค่ำคืนแรกในแมนชั่นร้าง
- ทีมงานถ่ายทำสารคดี เดินทางมาถึงแมนชั่นร้าง
- ขนย้ายข้าวของ เริ่มต้นการบูรณะภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง
- สังเกตเห็นความแปลกประหลาด เนื่องจากภาพวาดจู่ๆมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกลางคัน
- ค่ำคืนนี้ Asuka ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง ทำการขุดศพทารกน้อย
- ปีศาจร้ายออกอาละวาด
- วันถัดมา Akiko ขับรถไปเติมน้ำมัน พบเจอกับเจ้าของปั๊ม Mr. Yamamura
- เมื่อทีมงานพบเจอศพทารกน้อยที่ Asuka ขุดขึ้นมา พากันนำเอากลับไปฝังที่เดิม แต่เธอเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ขับรถพุ่งชนโขดหิน
- Asuka และ Ryō ถูกไล่ล่าโดยเงา มีเหตุอันเป็นไป
- การมาถึง(และจากไป)ของ Mr. Yamamura
- Mr. Yamamura เดินทางมาถึงแมนชั่น พยายามหักห้าม Kazuo, Akiko และ Emi ไม่ให้กลับเข้าไปในบ้าน
- ทั้งสี่พบเห็นความตายของ Asuka และ Ryō
- จู่ๆ Emi ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง กักขังตัวอยู่ในห้องนอน
- Mr. Yamamura เล่าถึงเบื้องหลังบ้านแห่งนี้
- Mr. Yamamura เสียสละตนเองเข้าไปช่วยเหลือ Emi แต่ทว่ากลับไม่สามารถพาหลบหนีออกจากบ้านได้ทัน
- เผชิญหน้ากับ Lady Mamiya
- Kazuo ตั้งใจจะเสียสละตนเอง บุกเข้าไปให้ความช่วยเหลือ Emi (แต่ด้วยความกลัวเลยหลบซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า)
- Akiko ขุดศพทารกน้อยขึ้นมา แต่งตัวเหมือนมารดาของ Emi จากนั้นเดินทางเข้าไปยังเตาเผาขยะ
- Akiko เผชิญหน้าลาสบอส Lady Mamiya แลกเปลี่ยนทารกน้อยกับ Emi
- และหนังจบลงอย่าง Sweet Home
เกร็ด: สำหรับคนเล่นเกมส์ มันจะมีเส้นทางเลือก (Alternate Ending) ที่สามารถทำให้ทุกตัวละครเอาตัวรอดชีวิตไปถึงตอนจบ Happy Ending!
เพลงประกอบโดย Masaya Matsuura, 松浦 雅也 (เกิดปี ค.ศ. 1961) นักแต่งเพลง & ออกแบบเกม (Video Game Designer) เกิดที่ Osaka ระหว่างเข้าศึกษาการจัดการอุตสาหกรรม (Industrial Society) Ritsumeikan University รับรู้จักนักร้อง Chaka (Mami Yasunori) ร่วมกันก่อตั้งวง Psy-S ออกอัลบัม Different View (1985) สไตล์เพลงแนวทดลอง ผสมผสานเครื่องดนตรีไฟฟ้า อุปกรณ์สังเคราะห์เสียง เลยได้รับโอกาสทำเพลงประกอบอนิเมะ, Music Video, วีดีโอเกมส์, รวมถึงภาพยนตร์ Sweet Home (1989) ฯ
แม้ว่า Matsuura จะมีชื่อเสียงจากการทำเพลงประกอบวีดีโอเกมส์ แต่นั่นต้องหลังจาก(เกมส์แรก) Metamor Jupiter (1993) ซึ่งสำหรับ Sweet Home (1989) ได้รับเครดิตเพลงประกอบภาพยนตร์เท่านั้น (Junko Tamiya คือคนทำเพลงให้กับฉบับวีดีโอเกมส์) นำเอาเครื่องดนตรีไฟฟ้า อุปกรณ์สังเคราะห์เสียง สร้างสัมผัสเหนือธรรมชาติ … แต่ผมก็รู้สึกว่ามีกลิ่นอายวีดีโอเกมส์อยู่ไม่น้อย!
บทเพลงที่ถือเป็น Main Theme คือ Visions of Love เสียงเครื่องดนตรีไฟฟ้ามอบสัมผัสโหยหวน คร่ำครวญ ครุ่นคิดถึงลูกน้อย โหยหาช่วงเวลาแสนสุขที่ครอบครัวจักได้อยู่พร้อมหน้า แต่หายนะบังเกิดขึ้นเมื่อวันวาน ทำให้วันนี้ต้องจมปลักอยู่กับความทุกข์ทรมาน
งานเพลงของ Matsuura ชวนให้ผมนึกถึงเกมส์ผจญภัยเก่าๆอย่าง Dragon Quest, Tales of Zestiria ฯ อาจเพราะเสียงจากเครื่องดนตรีสังเคราะห์ มีลักษณะคล้ายไฟล์ MIDI ในเครื่องเกมส์ยุคก่อนที่มีข้อจำกัดเรื่องเสียง เล่นได้ไม่กี่ตัวโน๊ต และบรรเลงท่วงทำนองซ้ำไปซ้ำมา … ในบริบทของหนังอย่างที่อธิบายไป เสียงสังเคราะห์สร้างสัมผัสเหนือธรรมชาติ บทเพลง Picnic in Heaven ก็แล้วแต่จะจินตนาการว่าปิคนิกบนสรวงสวรรค์ หรือขุมนรก/บ้านผีสิง
แวบแรกที่ผมได้ยิน Mother Ghost Theme #1 พลันนึกถึง Bernard Herrmann จากภาพยนตร์ Psycho (1960) ขึ้นโดยพลัน! ท่วงทำนองมีลักษณะเร่งเร้า เน้นย้ำ ใช้เพียงเครื่องสายไต่ไล่ระดับ เพื่อสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก อารัมบทก่อนเข้าสู่เหตุการณ์สยองขวัญ, ส่วนครึ่งหลังของเพลง คือเงาของ Lady Mamiya กำลังค่อยๆคืบคลานเข้ามา นำพาสิ่งชั่วร้าย หายนะ ความตาย … ก่อนไปต่อ Theme #2
Mother Ghost Theme #2 คือการเผชิญหน้าระหว่าง Akiko & Emi vs. Lady Mamiya เริ่มต้นด้วยเสียงออร์แกน สัญญะแห่งความตาย ติดตามด้วยเสียงสังเคราะห์ดังขึ้นพร้อมๆกับระฆังเตือนภัย แต่ฟังแล้วรู้สึกเหมือนไต่ไล่ระดับ? เวียนวงกลม? แท้จริงแล้วมันคือเสียงลวงหู (Auditory Illusion) จนกว่าทารกน้อย/บุตรสาวจะหวนกลับสู่อ้อมอกมารดา ก็ไม่มีทางที่เสียงอื้ออึงดังกล่าวจักเงียบสงัดลง
ทิ้งท้ายกับบทเพลง Home Sweet Home (ที่ไม่ใช่ Sweet Home Alabama) เนื้อร้องโดย Linda Hennrick, ขับร้องประสานเสียงโดย Phillips Choir Boys
Out of the cold, straight is the road
To my home sweet home
Happiness calls, rain never falls
On my home sweet home
Paradise waits inside the gates
Of my home sweet homeOh, home sweet home
A place I will always remember
Oh, home sweet home
Will live on in my heart forever
ชื่อหนัง Sweet Home ผมเลือกคำแปล บ้านแสนสุข แต่เรื่องราวจริงๆกลับออกไปทาง บ้านแสนทุกข์ หรือบ้านแสนโศก เกี่ยวการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว
- Lady Mamiya ไม่สามารถทำใจยินยอมการสูญเสียทารกน้อย จึงกระทำสิ่งคลุ้มบ้าคลั่ง กลายเป็นปีศาจร้าย สามสิบปีผ่านไปยังคงหมกมุ่นยึดติด ไม่สามารถไปผุดไปเกิดเสียที แถมยังส่งผลกระทบต่อสามี Ichirō Mamiya ระบายอารมณ์อัดอั้นผ่านภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง
- Emi Hoshino สูญเสียมารดาไปตั้งแต่ยังเด็ก ค่อยๆลืมเลือนใบหน้าของเธอ แต่กลับไม่ได้หมกมุ่นยึดติด หนำซ้ำยังพยายามจับคู่ให้บิดา Kazuo แต่งงานกับ Akiko จักได้มีครอบครัวอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า
เรื่องราวของ Lady Mamiya สูญเสียทารกน้อย ถือเป็นภาพสะท้อนกับ Emi สูญเสียมารดาตั้งแต่ยังเด็ก คนหนึ่งยังคงหมกมุ่นยึดติด จมปลักอยู่กับความเศร้าโศกเสียใจ แต่อีกคนสามารถปล่อยละวาง พร้อมนานแล้วที่จะให้บิดาสานสัมพันธ์กับหญิงสาวคนใหม่
ซึ่งเมื่อทั้งสองเรื่องราวมาบรรจบ ต่างฝ่ายต่างค้นพบหนทางออกของตนเอง Lady Mamiya กับทารกน้อยสามารถไปผุดไปเกิดใหม่, ขณะที่ Akiko และ Kazuo ก็สามารถเปิดใจให้กัน หลังเอาตัวรอดจากหายนะครั้งนี้ น่าจะทำให้พวกเขาลงเอยด้วยการแต่งงานกันสักที! … หนังเริ่มต้นด้วยบ้านแสนโศก แต่สามารถจบลงด้วยการเป็นบ้านแสนสุข!
สรุปแล้วเนื้อหาสาระของหนัง น่าจะต้องการสื่อถึงชีวิตครอบครัวที่ประสบโศกนาฎกรรม ทำให้ต้องอดรนทนทุกข์ทรมาน ถ้าเราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคขวากหนาม ผ่านช่วงเวลาแห่งหายนะ เอาตัวรอดประสบการณ์เฉียดตาย ก็จักพบเจอสรวงสวรรค์รำไร ความสุขที่ปลายขอบฟ้า
ผมลองครุ่นคิดเล่นๆ แต่มันกลับมีความบังเอิญอย่างคาดไม่ถึง! เราสามารถเปรียบกองถ่ายสารคดี = ผกก. Kurosawa สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ภายใต้ร่มเงา/แมนชั่น Itami Productions แรกเริ่มทุกสิ่งอย่างล้วนดำเนินไปด้วยดี ก่อนหายนะค่อยๆคืบคลานเข้ามา และโปรดิวเซอร์ Juzo Itami กลายร่างเป็นปีศาจร้าย … Nobuko Miyamoto ภรรยาของโปรดิวเซอร์ Juzo Itami ที่รับบทโปรดิวเซอร์ Akiko Hayakawa จะว่าไปมีนิสัยดื้อรั้น จอมบงการ ชอบชี้นิ้วสั่งโน่นนี่นั่น ก็อาจคือภาพสะท้อนตัวตนของ Itami ด้วยเช่นกัน!
เมื่อออกฉายฉบับของผกก. Kurosawa ได้เสียงตอบรับที่ไม่ค่อยดีนัก นั่นอาจคือเหตุผลทำให้โปรดิวเซอร์ Juzo Itami ตัดสินใจถ่ายซ่อม ตัดต่อใหม่ สำหรับจัดจำหน่าย VHS และ LaserDisc สร้างความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง จนถึงขั้นฟ้องร้อง ขึ้นโรงขึ้นศาล แต่คำตัดสินกลับเข้าข้างโปรดิวเซอร์เพราะคือเจ้าของลิขสิทธิ์หนังโดยชอบธรรม
ความพ่ายแพ้ดังกล่าวทำให้ผกก. Kurosawa ตัดญาติขาดมิตร รวมถึงป่าวประกาศไม่ยินยอมรับฉบับตัดต่อใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย กลายเป็นของหายาก ไม่เคยนำออกฉายต่างประเทศ ไม่สามารถจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray (เพราะลิขสิทธิ์ยังอยู่ในการครอบครองของ Itami Production)
เกร็ด: ต้นฉบับหนังดั้งเดิมของผกก. Kurosawa ยังคงเก็บอยู่ในคลังสตูดิโอ Toho แต่ไม่สามารถนำออกมาทำอะไร จนกว่าลิขสิทธิ์หนังที่อยู่กับ Itami Productions จะหมดสิ้นไป!
สภาพของ VHS และ LaserDisc ก็ตามมีตามเกิดตามข้อจำกัดของมัน แต่ก็มีชุมชนแฟนคลับจาก Kineko Video พยายามนำหนังไปปรับปรุง บูรณะ ฉบับดีที่สุดในปัจจุบันสามารถหารับชมทาง [Youtube]
ผมมีความคาดหวังค่อนข้างสูงต่อผกก. Kiyoshi Kurosawa แถมพล็อตเรื่องครึ่งแรกก็มีความน่าสนใจ แต่ตั้งแต่การมาถึงของ(ตัวละคร) Juzo Itami พยายามยัดเยียดเหตุผลอะไรไม่รู้ ฟังไม่ค่อยขึ้น จับต้องไม่ค่อยได้ เริ่มออกทะเลไปไกล โชคดีว่าเทคนิคพิเศษมีความน่าตื่นตา ลุ้นระทึก เลยทำให้สามารถอดรนทนไปถึงฟากฝังตอนจบ
พอค้นหาข้อมูลพบว่าหนังถูกแทรกแซงโดยโปรดิวเซอร์ Juzo Itami แม้งเอ้ย! เข้าใจเลยว่าความเลอะเทอะเละเทะเหล่านั้นมาจากไหน บังเกิดประกายความหวังเล็กๆต่อต้นฉบับของผกก. Kurosawa เชื่อมั่นว่าน่าจะทำออกมาได้กลมกล่อมลงตัวกว่านี้ … แต่ชาตินี้จะมีโอกาสได้เชยชมไหม ก็ขึ้นกับโชคชะตาวาสนา
จัดเรต 18+ กับบ้านผีสิง หลอกหลอน สยองขวัญ
Leave a Reply