Demon Pond

Demon Pond (1979) Japanese : Masahiro Shinoda ♥♥♥

โคตรหนังคัลท์ที่ไม่เคยได้รับกระแสคัลท์! ข้างใต้สระน้ำ Demon Pond คือที่อยู่อาศัยของเทพเจ้ามังกร (Dragon God) คอยปกป้องหมู่บ้านมนุษย์จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ทว่าคนรุ่นใหม่เริ่มไม่เชื่อในปรัมปรา ตำนานพื้นบ้าน ปฏิเสธทำตามวิถีสืบต่อกันมาช้านาน ผลลัพท์เลยก่อให้เกิดหายนะครั้งยิ่งใหญ่

Demon Pond (1979) เป็นภาพยนตร์รำพันความห่อเหี่ยวสิ้นหวังของผกก. Shinoda เต็มไปด้วยความเบื่อหน่ายต่อวิถีโลกยุคสมัยใหม่ พวกเขา(คนรุ่นใหม่)ไม่หลงเหลือเยื่อใย รับฟังคำแนะนำใดๆจากผู้หลักผู้ใหญ่ เช่นนั้นก็ช่างแม้ง ปลดปล่อยน้ำแตก อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ระบายอารมณ์อัดอั้นภายในออกมา

ระหว่างรับชม ผมขยี้ตาแล้ว ขยี้ตาอีก มันเป็นความรู้สึกลึกลับ พิศวง ราวกับต้องมนต์สะกด ความงามของเธอคนนั้นมันช่างตื่นตาตะลึง เหมือนมีบางสิ่งอย่าง !@#$%^ แต่สำหรับคนที่คาดเดาได้ว่าเธอคือใคร อาจบังเกิดความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง … นั่นถือเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นหนังคัลท์เลยก็ว่าได้

ผมยังไม่อยากสปอยย่อหน้านี้ว่าบุคคลนั้นคือใคร? ถ้าคุณอยากเข้าใจความพิศวงดังกล่าว แนะนำให้หารับชมหนังก่อนอ่านบทความนี้ ได้รับการบูรณะ 4K จัดจำหน่ายโดย Criterion Collection หน้าปกสวยโคตรๆ วาดโดย Yuko Shimizu


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Kyōka Izumi, 泉 鏡太郎 (1873-1939) นักเขียนนวนิยาย บทละคอน Kabuki สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kanazawa, Ishikawa วัยเด็กมีความหลงใหล Kusazōshi (คล้ายๆกับ Picture-Book) โตขึ้นเดินทางสู่ Tokyo เพื่อเป็นลูกศิษย์ของ Ozaki Kōyō ระหว่างนั้นตีพิมพ์เรื่องสั้น/นวนิยายลงหนังสือพิมพ์ เริ่มมีชื่อเสียงกับ Noble Blood, Heroic Blood (1894), The Night Patrolman (1985), “Surgical Room (1985) ฯ

สำหรับ 夜叉ヶ池 (1913) อ่านว่า Yasha-ga-ike หรือ Demon Pond คือบทละคอนคาบูกิเรื่องแรกของ Izumi ได้แรงบันดาลใจจากตำนานเทพเจ้ามังกร เมื่อปี ค.ศ. 817 เกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ ฝนขาดฤดูติดต่อกันมาหลายปี วันหนึ่งงูใหญ่(หรือเทพเจ้ามังกร)มาเข้าฝันผู้ใหญ่บ้าน บอกว่าจะดลบันดาลฝนตกแลกกับหนึ่งในบุตรสาว(สำหรับแต่งงานกับเทพเจ้ามังกร) เธอผู้เสียสละชื่อว่า Yasha ก็เลยตั้งชื่อสระน้ำนี้ว่า Yasha-ga-ike

เรื่องราวของละคอนคาบูกิ Demon Pond เป็นการนำเอาตำนานเทพเจ้ามังกรมาพัฒนาเนื้อหาขึ้นใหม่ ดำเนินเรื่องในยุคสมัยปัจจุบันนั้น ค.ศ. 1913 (กว่าพันปีให้หลัง) แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงยุคสมัย คนรุ่นใหม่เริ่มไม่เชื่อในปรัมปรา ตำนานพื้นบ้าน ปฏิเสธทำตามวิถีปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน ผลลัพท์เลยก่อให้เกิดหายนะครั้งยิ่งใหญ่

เมื่อปี ค.ศ. 1978 คณะการแสดงของ Bandō Tamasaburō V ได้ทำการดัดแปลงบทละคอน Demon Pond ให้กลายเป็นละคอนคาบูกิ ณ ABC Kaikan Hall ระหว่างวันที่ 5-17 และ 27-28 กรกฎาคม เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม หนึ่งในผู้ชมคือ Masahiro Shinoda แสดงความสนใจอยากดัดแปลงสร้างภาพยนตร์

Masahiro Shinoda, 篠田 正浩 (เกิดปี ค.ศ. 1931) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Gifu หลังสงครามโลกครั้งที่สองเข้าศึกษาคณะการละคอน Waseda University แต่พอมารดาเสียชีวิตจำต้องทอดทิ้งการเรียน ได้เข้าทำงานสตูดิโอ Shōchiku เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yasujirō Ozu เรื่อง Tokyo Twilight (1957), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก One-Way Ticket to Love (1960), Pale Flower (1964), Assassination (1964), With Beauty and Sorrow (1965), Samurai Spy (1965), จากนั้นออกมาก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง สรรค์สร้างผลงานชิ้นเอก Double Suicide (1969), Silence (1971), Himiko (1974), Under the Blossoming Cherry Trees (1975), Ballad of Orin (1977), Demon Pond (1979), Gonza the Spearman (1986), Childhood Days (1990), Sharaku (1995), Owls’ Castle (1999) ฯ

บทภาพยนตร์ดัดแปลงโดย Tsutomu Tamura (Death by Hanging, Flame and Woman, Diary of a Shinjuku Thief) และ Haruhiko Mimura (Amagi Pass)


ครูสอนหนังสือ Gakuen Yamasawa (รับบทโดย Tsutomu Yamazaki) เดินทางท่องเที่ยววันหยุดมาถึงยังหมู่บ้าน Kotohiki Valley, 琴弾谷 ประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ฝนไม่ตกติดต่อกันมาหลายปี แต่พอเดินข้ามเขากลับพบเจอธารน้ำเล็กๆ ผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ราวกับโลกอีกใบ และยังแวะเวียนเข้าไปยังกระท่อมน้อยหลังหนึ่ง ได้รับการต้อนรับจากหญิงสาวสวย Yuri (รับบทโดย Bandō Tamasaburō V) ผู้มีความลึกลับ พิศวง ราวกับต้องมนต์ แต่งงานอยู่กินกับ Akira Hagiwara (รับบทโดย Gō Katō) เพื่อนสนิทของ Yamasawa ที่สูญหายตัวไปนานกว่าสองสามปี!

Yamasawa บังเกิดความอิจฉาริษยา Hagiwara ที่ได้เมียสวย จึงพยายามโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ทอดทิ้งเธอ เดินทางกลับกรุง Tokyo ด้วยกัน! แต่เขาก็พูดเล่าเบื้องหลัง ตำนานเทพเจ้ามังกรอาศัยอยู่ใต้สระน้ำ Demon Pond และหน้าที่ที่เจ้าตัวตัดสินใจสืบทอดต่อจากผู้ดูแลก่อน ต้องเคาะระฆังที่ตั้งอยู่ข้างบ้านวันละสามเวลา เพื่อไม่ให้เทพเจ้ามังกรทอดทิ้งคำสัญญาว่าจะปกป้องหมู่บ้านจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

แต่ทว่าบรรดาชาวบ้านที่ประสบภัยแล้งมานานหลายปี ได้รวมกลุ่ม พูดคุยถกเถียง จนมีการเสนอแนะพิธีบูชายันต์หญิงสาวสวยกับเทพเจ้ามังกรเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จากนั้นคัดเลือก Yuri ที่แต่งงานอยู่กินกับคนนอก และยังสามารถล้มเลิกประเพณีเคาะระฆังวันละสามเวลา … ผลลัพท์จักเป็นเช่นไรนั้น เช้าวันถัดมาประเดี๋ยวได้รู้กัน


Tsutomu Yamazaki, 山崎 努 (เกิดปี ค.ศ. 1936) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Matsudo, Chiba โตขึ้นฝึกฝนการแสดงจาก Haiyuza Theatre Company แล้วเข้าร่วมคณะ Bungakuza ต่อมามีโอกาสสมทบภาพยนตร์ High and Low (1963), A Woman’s Story (1963), Red Beard (1965), Demon Pond (1979), Kagemusha (1980), The Funeral (1984), Farewell to the Ark (1985), Tampopo (1985), Departures (2008) ฯ

รับบทครูสอนหนังสือ Gakuen Yamasawa ผู้ชื่นชอบการเดินทางผจญภัย เป้าหมายครั้งนี้คือเยี่ยมชมสระน้ำ Demon Pond แต่ระหว่างทางพานผ่านทะเลทรายแห้งเหือด มาถึงหมู่บ้านก็ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ประสบปัญหาภัยแล้ง ด้วยสภาพร่อแร่ใกล้สิ้นใจ บังเอิญพบเจอสายธารเล็กๆที่อยู่ข้ามภูเขา อะไรทำให้เกิดการแบ่งแยกได้ถึงขนาดนี้? จากนั้นแวะเวียนไปยังกระท่อมน้อยหลังหนึ่ง พบเจอหญิงสาวสวย Yuri ความงามของเธอทำให้เขาต้องมนต์สะกด อยากจะเกี้ยวพาราสี ก่อนรับรู้ว่าแต่งงานอยู่กินกับเพื่อนเก่า Akira Hagiwara สูญหายตัวไปนานสองสามปี พยายามพูดคุย โน้มน้าว สำแดงความอิจฉาริษยา ไม่อยากเชื่อเรื่องเล่าปรัมปรา แต่โชคชะตาทำให้เขาได้พบเห็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่น่าตื่นตาตะลึง

หนวดและการแต่งตัวของ Yamazaki ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้ดูทรงภูมิ เหมือนศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักสำรวจภารกิจเป้าหมายบางอย่าง แต่จริงๆแล้วแค่ชื่นชอบเดินทางผจญภัย เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย อยากรู้อยากเห็น อยากพบเจอสิ่งสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ

น่าเสียดายที่บทบาทของ Yamazaki เป็นแค่เพียงตัวแทนของผู้ชม (มุมมองดำเนินเรื่อง) เดินทางมายังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พบเจอเพื่อนเก่า ภรรยาของเขางดงามต้องมนต์สะกด เรียนรู้ปรัมปราเทพเจ้ามังกร ก่อนประจักษ์หายนะ ภัยพิบัติ และสิ่งเหนือธรรมชาติที่จักจดจำฝังใจไม่รู้ลืมเลือน!


Gō Katō, 加藤剛 (1938-2018) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Shizuoka, ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลวรรณกรรมและการแสดง แจ้งเกิดภาพยนตร์ Sword of the Beast (1965), Samurai Rebellion (1967), Lone Wolf and Cub: Sword of Vengeance (1972), The Long Darkness (1972), The Castle of Sand (1974), โด่งดังที่สุดกับซีรีย์ Ōoka Echizen (1970-2006)

รับบท Akira Hagiwara เพื่อนสนิทของ Gakuen Yamasawa เป็นนักสะสมเรื่องราว ชื่นชอบออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อจดบันทึกปรัมปรา นิทานเพื่อนบ้าน Japanese Folklore รวบรวมเขียนหนังสือเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้จัก, เมื่อสองสามปีก่อนเดินทางมาเยี่ยมชมสระน้ำ Demon Pond พักอาศัยอยู่กับผู้ดูแล Yatabei แล้วจู่ๆปู่แกก็พลันด่วนเสียชีวิต ทีแรกไม่ได้ครุ่นคิดจะรับหน้าที่สืบสานต่อ จนกระทั่งตกหลุมรักแรกพบ Yuri เลยตัดสินใจลงหลักปักฐาน เฝ้ารอคอยใครสักคนจะมาพบเจอ

เค้าโครงหน้า กิริยาท่าทาง รวมถึงน้ำเสียงใหญ่ๆของ Katō ช่วยสร้างภาพลักษณ์ตัวละครให้ดูสง่างาม ภูมิฐาน มากด้วยอุดมการณ์ สวมใส่วิกผมเพื่อปลอมแปลงตนเองเป็นอดีตผู้ดูแล Yatabei ในตอนแรกไม่อยากเผชิญหน้าเพื่อนเก่า Gakuen Yamasawa แต่ด้วยความเป็นห่วงเป็นใจ พอฝนตกมันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลึกๆแล้วคงอยากพบเจอใจจะขาด แค่กลัวว่ามิอาจหยุดยับยั้งชั่งใจถ้าถูกโน้มน้าวให้กลับกรุง Tokyo

ปัญหาคือเคมีกับ Yuri เป็นสิ่งที่จับต้องแทบไม่ได้ มันไม่มีความโรแมนติก อีโรติก ถ้อยคำพูดก็ขาดความน่าเชื่อถือ เพียงเคลิบเคลิ้มหลงใหล สะกดจิตตัวเองให้พร่ำเพ้อไปเช่นนั้น … มันอาจเพราะ Katō มีความเป็นผู้ชายแท้ๆ (Alpha Male) เลยไม่ค่อยหวั่นไหว แสดงออกทางอารมณ์กับเรื่องราวรักๆใคร่ๆ อีกทั้ง Bandō Tamasaburō V ก็เป็นผู้ชาย ต่อให้พวกเขาเป็นนักแสดงมืออาชีพ ยุคสมัยนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าฉากนั้น


Bandō Tamasaburō V, 五代目 坂東 玉三郎 ชื่อจริง Shin’ichi Morita, 守田 伸一 (เกิดปี ค.ศ. 1950) นักแสดง Kabuki เลื่องชื่อกับบทบาท Onnagata (นักแสดงชายเล่นเป็นตัวละครหญิง) เกิดที่ Tokyo เป็นเด็กกำพร้า ได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดาบุญธรรม Morita Kan’ya XIV มีโอกาสขึ้นเวทีการแสดงตั้งแต่ 7 ขวบ อุทิศตนเองให้กับละคอนคาบูกิจนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก เคยออกทัวร์ทำการแสดงที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1985, ทั้งยังเคยกำกับภาพยนตร์ Yearning (1993) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin

รับบท Yuri หญิงสาวสวยผู้มีความลึกลับ พิศวง ราวกับต้องมนต์ อาศัยอยู่กับผู้ดูแลคนก่อน Yatabei รับเลี้ยงมามาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งบิดาบุญธรรมตายจากไป พยายามโน้มน้าวให้ Akira Hagiwara ปักหลักอาศัย ครองคู่อยู่ร่วมรักกับตนเอง, การมาถึงของ Gakuen Yamasawa สร้างความหวาดหวั่นกลัวว่าจะถูกสามีทอดทิ้ง แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นชาวบ้านทั้งหลายที่ทรยศหักหลัง บีบบังคับให้เธอเสียสละชีพ บูชายันต์เทพเจ้ามังกร

ส่วนบทบาท Princess Shirayuki ทายาทเทพเจ้ามังกร (Dragon God) ถูกพันธนาการจากคำสัญญาของบรรพบุรุษ ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปจาก Demon Pond วันหนึ่งได้รับจดหมายรักจากเจ้าชายที่ Senja Pond บังเกิดความหลงใหล ตกหลุมรักใคร่ ครุ่นคิดทำลายระฆังใบนั้นเพื่อปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระ แต่เห็นแววตาโหยหาความรักของ Yuri ขณะเดินมาเคาะระฆัง ทำให้เธอยินยอมอดกลั้นฝืนทน เฝ้ารอวันที่คำมั่นสัญญาจักสิ้นสุดลง

มาถึงจุดนี้ทุกคนน่าจะรับรู้แล้วว่า Bandō Tamasaburō V คือผู้ชาย รับบทตัวละครเพศหญิง (มีคำเรียก Onnagata นักแสดงชายเล่นเป็นตัวละครหญิง) ด้วยเหตุนี้ภาพลักษณ์ที่ดูลึกลับ พิศวง ราวกับต้องมนต์ นั่นเพราะต่อให้เขาแต่งหน้าท่าทางเหมือนผู้หญิงสักเพียงไหน ก็ยังมีร่องรอยความเป็นชายหลงเหลืออยู่

เกร็ด: Onnagata ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง Kabuki Play แบบเดียวกับงิ้วจีนก็มีนักแสดงชายรับบทผู้หญิง (นึกถึงภาพยนตร์ Farewell My Concubine (1993)) เหตุผลก็คล้ายๆกันด้วยนะ เพราะในอดีตผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ทำการแสดง ดังนั้นบุรุษจึงต้องเล่นทั้งตัวละครชาย-หญิง

ผมละอยากเปรียบเทียบ Bandō Tamasaburō V กับ Leslie Cheung เสียจริง! ทั้งสองมีใบหน้าเหมือนผู้หญิง พอแต่งองค์ทรงเครื่องก็มีความแนบเนียบ บางคนอาจแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำ ความคลุมเคลือดังกล่าว ทำให้ตัวละครดูทรงเสน่ห์ ไม่ซ้ำแบบใคร จับต้องไม่ได้ ทั้งบทบาท Yuri และเจ้าหญิง Shirayuki (ไม่รู้พี่น้องกันหรือเปล่า) ราวกับบุคคลในเทพนิยาย แฟนตาซี ช่างดูเหนือธรรมชาติมากๆ

แม้ว่า Demon Pond (1979) คือภาพยนตร์เรื่องแรกของ Bandō Tamasaburō V แต่เจ้าตัวเคยแสดงนำในโปรดักชั่นละคอนเวที Kabuki มันจึงไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก, บทบาท Yuri ยังพอพบเห็นกิริยาท่าทางที่ดูเป็นมนุษย์อยู่บ้าง (สำแดงความหวาดกลัวเพื่อนสามี, โอบกอดตุ๊กตาแทนคนรัก ฯ), แต่สำหรับเจ้าหญิง Shirayuki นำเอารูปแบบการแสดง Kabuki ยกมาไว้ในภาพยนตร์เลยก็ว่าได้!

ผมแอบเสียดายที่หนังไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเหตุให้ Bandō Tamasaburō V ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับสื่อภาพยนตร์เท่าที่ควร แม้หลังจากนี้จะเคยกำกับ/แสดงภาพยนตร์เองอีกหลายเรื่อง แต่ก็เป็นแนวบันทึกการแสดง Kabuki ไม่ใช่ผสมผสานการแสดงร่วมกับ Kabuki … แต่แค่ฝีไม้ลายมือการแสดง Kabuki ก็เพียงพอให้ Bandō Tamasaburō V คือสมบัติชาติญี่ปุ่น


ถ่ายภาพโดย Masao Kosugi, 小杉正雄 (Pale Flower, Samurai Spy) และ Noritaka Sakamoto, 坂本典隆 (The Rendezvours, Sada)

งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยลูกเล่นภาพยนตร์ โดดเด่นกับการจัดแสง-เงามืด, ทิศทางมุมกล้อง, ลีลาขยับเคลื่อนไหว (แทร็กกิ้ง-แพนนิ่ง-ซูมมิ่ง), ใช้เทคนิคพิเศษอย่าง Bluescreen (Chroma key), ซ้อนภาพ (Double Exposure), โมเดลจำลอง (Miniature), สโลโมชั่น (Slow-Motion), ฉายภาพถอยหลัง (Reverse Motion) ฯ

อารัมบทการเดินทางของ Gakuen Yamasawa เริ่มต้นจากขึ้นรถไฟ เดินข้ามสะพานเชือก พานผ่านท้องทะเลทราย ก่อนมาถึงยัง Kotohiki Valley (ถ่ายทำยัง Ainokura Village, Shirakawa Village, Sakanai Village, Taira Village) และสระน้ำ Demon Pond (ถ่ายทำยัง Nawagaike Pond) ล้วนถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด, แต่ซีเควนซ์อื่นๆ กระท่อมหลังน้อย ระฆังใบใหญ่ รวมถึงวังบาดาลภายใต้ Demon Pond ทำการสร้างฉากขึ้นภายในสตูดิโอ Shōchiku สังเกตจากภาพวาดท้องฟ้า มีการจัดแสงสีสันที่แปลกตา ต้นไม้ใบหญ้าก็ดูไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่

เกร็ด: เฉพาะในส่วน Special Effect มีรายงานว่าลงทุนไปกว่า ¥200 ล้านเยน ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากห้องแลปสตูดิโอ Toei กำกับดูแลโดย Nobuo Yajima, 矢島信男 ก่อนหน้านี้เคยทำงาน Ofuna Studio บริษัทในเครือของ Shōchiku เลยรับรู้จักผกก. Shinoda เป็นอย่างดี


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง 夜叉ヶ池, Yasha-gai-ke หรือ Demon Pond คือสถานที่ที่มีอยู่จริง ตั้งอยู่ยัง Minamiechizen, Nanjo จังหวัด Fukui อยู่ตอนบนของ Kyoto หันหน้าออกสู่ทะเลญี่ปุ่น

สระแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขา Mt. Yashagaike และ Mt. Sanshugatake ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,100 เมตร มีอาณาบริเวณ 3,800 ตารางเมตร เส้นรอบวง 230 เมตร โดยจุดลึกสุดวัดได้ 7.7 เมตร ไม่มีคลองหรือแม่น้ำเชื่อมต่อ

ทีแรกผมครุ่นคิดว่าหนังเดินทางไปถ่ายทำยัง Demon Pond ก่อนค้นพบว่าแท้จริงแล้วเลือกใช้อีกสถานที่ Nawagaike Pond, 縄ヶ池 ตั้งอยู่ยัง Minodani, Nanto จังหวัด Toyama เป็นสระธรรมชาติอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 830 เมตร

สำหรับหมู่บ้านสมมติ Kotohiki Valley ตระเวรไปถ่ายทำยัง Shirakawa Village, Ainokura Village, Sakanai Village และ Taira Village ต่างมีการออกแบบสถาปัตยกรรม Gassho-style, 合掌造 (แปลตรงตัว Praying Hands Style) จุดโดดเด่นคือหลังคามุงจากทรงสูง เอียงประมาณ 60 องศาเกือบถึงพื้น (ทำให้บ้านดูเหมือนสามเหลี่ยม) เพื่อเวลาหิมะตกจะไหลลงพื้นได้สะดวก

เกร็ด: ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 หมู่บ้าน Shirakawa (และ Gokayama) ได้รับเลือกคัดเลือกจากองค์การ UNESCO ให้เป็นแหล่งมรดกโลก (World Heritage Sites)

หมู่บ้านสมมติ Kotohiki Valley ที่ Gakuen Yamasawa เดินทางผ่านนั้นดูไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไหร่ นั่นอาจเพราะพวกเขากำลังประสบปัญหาภัยแล้ง (Drought) สังเกตจากโทนสีตลอดทั้งซีเควนซ์ มีการย้อมให้ออกส้มๆ น้ำตาลอ่อนๆ มอบสัมผัสเหือดแห้งแล้ง ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ เศษฝุ่นเข้าตา (สื่อถึงชาวบ้านแห่งนี้ที่ต่างมีลับลมคมใน อะไรบางอย่างขัดหูขัดตา) แม่บ้านคนหนึ่งเลยอาสาใช้น้ำนมช่วยล้างให้

เรื่องตลก 69 ก็คือ Gakuen Yamasawa เพียงเดินข้ามภูเขา เข้าป่ามาไม่ไกล ก็ได้ยินเสียงธารน้ำไหล รีบตรงเข้ามาล้างหน้า เศษฝุ่นหายไปจากดวงตาโดยพลัน นี่มันเส้นผมบังภูเขาชัดๆ หรือมีบางสิ่งอย่างบังบดชาวหมู่บ้านแห่งนั้น จึงไม่รู้ไม่เห็น ไม่เคยก้าวออกจากกะลาครอบ?

อาจต้องใช้ประสบการณ์สักนิดหน่อยถึงสามารถรับรู้ว่า กระท่อมน้อยบนเนินเขาคือฉากสร้างขึ้นในสตูดิโอ วิธีสังเกตก็คือต้นไม้ใบหญ้าที่ดูปลอมๆ เมฆหมอกท้องฟ้าเหมือนภาพวาด และทิวทัศน์หมู่บ้านมีความเบลอๆ (น่าจะใช้เทคนิค Bluescreen) เฉดสีไม่ตรงกันสักเท่าไหร่

หนังเล่นตัวเหนือเกินกว่าจะเปิดเผยใบหน้าของ Yuri พยายามทำออกมาให้ดูลึกลับ พิศวง ราวกับต้องมนต์สะกด แวบแรกผมนึกถึงภาพวาด Ukiyo-e ที่หญิงชาวญี่ปุ่นมักมีใบหน้าเรียวยาวรูปไข่ (มาตรฐานความงามของยุคสมัยนั้น?) แต่มองไปมองมา มันมีความตะขิต !#$%^& อะไรบางอย่างติดอยู่ในใจ … อาจจะเรียกได้ว่าความงามสองโลก?

ผมขี้เกียจลงรายละเอียดเยอะนะ แต่กล่าวถึงไว้ตอน Under the Blossoming Cherry Trees (1975) ว่าผกก. Shinoda ชื่นชอบการจัดวางองค์ประกอบภาพ ‘Mise-en-scène’ มักคั่นแบ่งตัวละครด้วยอะไรบางอย่าง ตำแหน่ง ทิศทาง นั่ง-ยืน หันซ้าย-ขวา ระยะใกล้-ไกล หรือจัดวางตัวละครภายในกรอบเฟรมภาพ … ไม่ต้องเสียเวลาขบครุ่นคิดมากก็ได้ แค่เพลิดเพลินไปกับความละเมียดละไมของผู้สร้างก็เพียงพอแล้ว

การกลายร่างปีศาจของปูกับปลา จริงๆแล้วมันไม่มีอะไรเลย แต่ลีลาการนำเสนอด้วยท่วงทำนองเพลงสุดประหลาด แถมด้วยภาพสโลโมชั่นที่เอื่อยเฉื่อยเชื่องช้าอย่างสุดๆ ทำให้ผู้ชมรู้สึกมึนตึง คาดไม่ถึง นี่มันห่าเหวอะไรกัน? ผิดแผกแตกต่างจากการนำเสนอก่อนหน้า วินาทีแปรสภาพสู่หนังคัลท์ ก้าวเข้าสู่ดินแดนเหนือธรรมชาติ

วังบาดาล สถานที่อยู่อาศัยของ Princess Shirayuki ทายาทเทพเจ้ามังกร การออกแบบพยายามทำออกมาให้ดูทะมึน อึมครึม เต็มไปด้วยรากไม้รกๆ เปลอะเปลื้อนโคลนเลน สรรพสัตว์ที่สามารถกลายร่างเป็นปีศาจต่างๆดูสกปรกโสมม แต่ทว่าเจ้าหญิงกลับแต่งหน้าทำผม สวมใส่กิโมโนหรูหรา แสงสว่างสาดส่อง เปร่งประกายเหนือใคร น้ำเสียงพูด กิริยาท่าทาง ทุกสิ่งอย่างล้วนคือการแสดงสไตล์ Kabuki

Princess Shirayuki กับ Yuki (ต่างรับบทโดย Bandō Tamasaburō V) อยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน? นี่น่าจะแค่เทคนิค Bluescreen (Chroma key) นำเอาสองฟุตเทจถ่ายทำแยกไว้มาผสมรวมเข้าด้วยกัน

ผู้ชมส่วนใหญ่คงมีความเข้าใจโดยอัตโนมัติว่า Yuki ไม่สามารถมองเห็น Princess Shirayuki (แต่มันก็ไม่แน่เสมอไป เธออาจแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นก็ได้เช่นกัน) ซึ่งตอนถ่ายทำก็มีลักษณะเช่นนั้นจริงๆ

  • Princess Shirayuki และข้าราชบริพารยืนอยู่บริเวณโดยรอบ
  • Yuki ถ่ายทำกับ Bluescreen ก้าวออกเดินโดยไม่รับรู้ตัวว่ามีใครกำลังจับจ้องมอง

เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น บรรดาปีศาจ สัตว์บริวารของ Princess Shirayuki ต่างราวกับถูกมนต์สะกด ทำให้ต้องเร่งรีบ (แบบสโลโมชั่น) ตะเกียกตะกายกลับไปวังบาดาล ทำการหลบซ่อน ทิ้งตัวลงนอน ร่างกายเจ้าหญิงค่อยๆเลือนหายไปกับรากไม้ใหญ่ จากนั้น(ภาพซ้อน)กลายเป็นปลา แหวกว่ายเวียนวนอยู่ใน Demon Pond ไม่สามารถดิ้นหลบหนีไปไหน

ความทรงจำอันฟุ้งซ่านของ Akira Hagiwara เมื่อครั้นกำลังจะเดินทางกลับบ้าน Yuri เป็นบุคคลเดียวเดินทางมาส่ง ยืนอยู่ฟากฝั่งตรงข้ามหนองน้ำ (หนองน้ำคือสิ่งกั้นขวาง แบ่งแยกทั้งสองออกจากกัน) ทีแรกไม่เคยครุ่นคิดจะเปลี่ยนความตั้งใจ จนเมื่อกระดาษ(ที่จดบันทึกปรัมปราเทพเจ้ามังกร)ปลิดปลิวตกน้ำ ทำให้เขาเกิดความตระหนัก รู้สึกสูญเสียดาย ไม่อยากทอดทิ้งหญิงสาวสวย จึงตัดสินใจลุยน้ำข้ามฝั่ง (ทำลายกำแพงขวางกั้น) ลงหลักปักฐานอยู่ยังสถานที่แห่งนี้

ภาพหลังนี่น่าสนใจ หลังจาก Akira Hagiwara ลุยน้ำข้ามมาหา Yuri มุมกล้องถ่ายติดต้นไม้ใหญ่ครอบครองภาพเกือบๆครึ่งเฟรม สร้างสัมผัสลึกลับ สิ่งเหนือธรรมชาติซุกซ่อนอยู่ด้านหลังฝ่ายหญิง

การประชุมหมู่บ้าน มีลักษณะคล้ายๆการประชุมรัฐสภา (ในเชิงจุลภาค-มหภาค) ประธานนั่งแท่นอยู่กลางที่ประชุม รายล้อมรอบด้วยสมาชิกไล่เรียงตามวิทยฐานะสังคม แม้ว่าทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียง แต่ทว่าความคิดเห็นของประธานและผู้ใกล้ชิด กลับมีอิทธิพลเหนือกว่าใครอื่นใด … นี่กระมังที่เรียกว่าเผด็จการประชาธิปไตย?

ระหว่างที่ชาวบ้านกรูกันเข้ามาจับกุมตัว Yuri เพื่อนำไปบูชายันต์ มันจะมีหลายช็อตถ่ายติดระฆัง ซึ่งพวกเขาต่างถือว่าคือต้นตอปัญหาภัยแล้ง ถ้าไม่มีคนเคาะระฆัง ฟ้าฝนย่อมต้องพรั่งพรูตกลงมา … นี่คือลักษณะของ ‘มิจฉาทิฐิ’ ความไม่รู้ที่นำไปสู่อาการหลงผิด(แบบหมู่) เชื่อว่าการกระทำของตนเองนั้นถูกต้อง แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นเพียงการใช้อำนาจในทางมิชอบ ไม่ต่างจากศาลเตี้ย การกระทำของเดรัจฉาน

ความตายของ Yuri = Akira Hagiwara ตัดสายระฆัง = ถือเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างอดีต-ปัจจุบัน, คำมั่นสัญญาระหว่างมนุษย์-เทพมังกร, ในมุมของผกก. Shinoda น่าจะเป็นการปลดปล่อยตนเอง คลายความหมกมุ่นยึดติด อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ต่อจากนี้ฉันไม่สนห่าเหวใดๆอีกต่อไป

ด้วยความที่ Demon Pond ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ถ้าไม่มองว่าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ/มนุษย์ผิดคำสัญญาเทพเจ้ามังกร (ไม่เคาะระฆังตามเวลากำหนดไว้) นี่อาจคือเหตุการณ์ดินถล่ม เขื่อนแตก ทำให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลไหลลงมาท่วมหมู่บ้านด้านล่าง

ซีเควนซ์ภัยพิบัตินี้ต้องชมเลยว่าทำออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ! ผสมผสานฟุตเทจสถานที่จริง (พบเห็นมนุษย์วิ่งหนีหัวซุกหัวซุน) เข้ากับมวลน้ำที่ดูรุนแรง ทรงพลัง และการพังทลายของโมเดลจำลอง (Miniature) ซัดพาทุกสิ่งอย่างราบเรียบเป็นหน้ากลอง

มันมีซีนเล็กๆที่น่าสนใจระหว่างภัยพิบัติครั้งนี้ คือบรรดาเจ้าขุนมูลนาย ชนชั้นผู้นำ บุคคลที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ ต่างพยายามตะเกียกตะกาย ปีนป่ายขึ้นบนหลังคาบ้าน แต่หัวหน้าใหญ่สุด(สมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่น?)กลับขับไล่ ผลักไส ใช้ไม้ทุบตีลูกน้อง บริวาร สำแดงความเห็นแก่ตัว ไม่ยินยอมให้ใครปีนป่ายขึ้นมาแก่งแย่งสถานที่หลบภัยของตนเอง … แต่สุดท้ายทุกคนก็ต่างถูกคลื่นน้ำซัดพาไปจนหมดสิ้น!

หลังจากมนุษย์ทำลายคำสัญญา ทวยเทพก็ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ ล่องลอยขึ้นจากใต้สระน้ำ Demon Pond โบยบินขึ้นสู่สรวงสวรรค์ … ไม่ใช่ว่า Princess Shirayuki จะเดินทางไปหาเจ้าชายที่ Senja Pond หรอกฤา? ทำไมถึงมี(สาม)ลำแสงสวรรค์สาดส่องลงมาจากเบื้องบน? แล้วบรรดาบริวาร ปีศาจปู ปลา (ที่อุตส่าห์แนะนำตัวละคร) พวกมันจะเป็นยังไงต่อไป?

เห็นแวบแรกผมจดจำได้โดยทันทีว่าคือ Iguazú Falls ที่ประเทศ Brazil เพราะเคยพบเห็นมาหลายครั้งจากภาพยนตร์ The Mission (1986), Happy Together (1997) ฯ แต่ทว่าบริเวณที่นักแสดงก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์ (จริงๆมันคือการคุกเขา ศิโรราบ ท่าทางเศร้าโศกสิ้นหวังจากการสูญเสีย แล้วกรุจะออกไปจากสถานที่แห่งนี้ยังไงดี?) ถ่ายทำในสตูดิโอกับ Bluescreen แล้วผสมผสานเข้ากับภาพน้ำตกด้านหลัง

เอาจริงๆผมว่ามันเว่อวังอลังการไปหน่อยไหม? Demon Pond แค่สระน้ำเล็กๆเท่านั้นเอง ไม่มีทางเป็นน้ำตกขนาดมหึมาขนาดนี้ แต่เราสามารถมองในลักษณะ ‘Expressionism’ ของผกก. Shinoda ที่ต้องการปลดปล่อยน้ำแตก ระบายบางสิ่งอัดอั้นตันใจออกมา

ตัดต่อโดย Zen Ikeda, 池田禅 และ Noritaka Sakamoto, 山地早智子

เรื่องราวของหนังเริ่มต้นที่การเดินทางของ Gakuen Yamasawa มาถึงยัง Kotohiki Valley แล้วบังเอิญพบเจอกับเพื่อนเก่า Akira Hagiwara พากันไปเยี่ยมชมสระน้ำ Demon Pond ก่อนหวนกลับมาเผชิญหน้าเหตุการณ์หายนะ

  • การผจญภัยของ Gakuen Yamasawa
    • Opening Credit + การเดินทางของ Gakuen Yamasawa
    • มาถึงยัง Kotohiki Valley แต่ไม่มีใครเต็มใจต้อนรับสักเท่าไหร่
    • แต่พอเดินข้ามเขา ดื่มน้ำจากลำธาร พบเจอกระท่อมหลังน้อย
    • เข้าไปพูดคุยกับหญิงสาว Yuri ก่อนสังเกตเห็นใครบางคน
    • Akira Hagiwara แม้ไม่อยากพบเจอ Gakuen Yamasawa แต่พอฝนตกก็เกิดความเป็นห่วงเป็นใย
    • Gakuen Yamasawa พูดคุยความหลังกับ Akira Hagiwara จากนั้นชักชวนเดินทางไปเยี่ยมชม Demon Pond
  • ปรัมปรา Demon Pond
    • ชาวบ้านคนหนึ่งแอบมาจับปลา ก่อนถูกปูโจมตี จำต้องหลบหนีเอาตัวรอด
    • ปลากับปูกลายร่างเป็นปีศาจ ระหว่างทางกลับพบเจอปลาดุกนำจดหมายจากเจ้าชายที่ Senja Pond นำมามอบให้กับ Princess Shirayuki
    • Princess Shirayuki อ่านจดหมายแล้วตกหลุมรัก ลุ่มหลงใหล ต้องการเดินทางไปหาเจ้าชาย แต่ถูกแม่นมทัดทานไว้
    • Princess Shirayuki ตั้งใจจะทำลายระฆังใบใหญ่ แต่พอพบเห็นแววตาของ Yuki จึงสามารถสงบสติอารมณ์
    • Akira Hagiwara และ Gakuen Yamasawa เดินทางมาถึง Demon Pond เล่าความหลัง เหตุผลที่ปักหลักอาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งนี้
  • ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
    • ประชุมชาวบ้าน ครุ่นคิดหาหนทางแก้ปัญหาภัยแล้ง ได้ข้อสรุปทำการบูชายันต์ Yuki
    • ชาวบ้านต่างเดินทางไปยังบ้านของ Yuki จับเธอมัดกับวัว เตรียมทำการบูชายันต์
    • Akira Hagiwara และ Gakuen Yamasawa เดินทางกลับมาถึง พยายามปกป้อง ให้ความช่วยเหลือ Yuki
    • Yuki ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทำให้ Akira ตัดสายระฆัง ทำลายคำสัญญาที่เคยให้ไว้
    • เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่หลังคำสัญญาล้มเหลว และ Akira ตัดสินใจฆ่าตัวตายตามภรรยา
    • Princess Shirayuki ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ สามารถโบยบินไปหาเจ้าชายในฝัน

การดำเนินเรื่องของหนังมีความเอื่อยเฉื่อย 124 นาทีที่เยิ่นยาวนาน สไตล์ของผกก. Shinoda มีความเชื่องช้าอยู่แล้วระดับหนึ่ง (ให้เวลากับการสร้างสัมผัสกวีภาพยนตร์) และเมื่อผสมผสานกับการแสดง Kabuki ขึ้นชื่อเรื่องชดช้อยนางรำ มันจึงทวีคูณความช้าขึ้นอีกเท่าตัว! … แต่การเฝ้ารอคอยไคลน์แม็กซ์ ผมรู้สึกว่าคุ้มค่าระดับหนึ่งนะ


เพลงประกอบโดย Isao Tomita, 冨田 勲 (1932-2016) หนึ่งในผู้บุกเบิกดนตรีแนว Electronic Music และ Space Music เกิดที่ Tokyo แต่ไปเติบโตประเทศจีน (ระหว่างถูกยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น) หลังสงครามโลกเข้าศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ Keio University ขณะเดียวกันยังเข้าเรียนการประพันธ์เพลงและออร์เคสตรา จบออกมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อนิเมชั่น Kimba the White Lion (1965), A Fugitive from the Past (1965), ช่วงปลายทศวรรษ 60s หันเหความสนใจสู่ Electronic Music นำเข้า Moog III synthesizer ทดลองสร้างเสียง ผสมเสียง สร้างสัมผัสใหม่ให้วงการเพลง ผลงานเด่นๆยุคหลัง อาทิ A Thousand & One Nights (1969), Cleopatra (1970), Demon Pond (1979), A Class to Remember (1993), The Twilight Samurai (2002), The Hidden Blade (2004), Love and Honor (2006), Kabei: Our Mother (2008) ฯ

ด้วยความที่เรื่องราวของหนังอ้างอิงจากปรัมปรา Japanese Folklore เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงคาดหวังดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น (Traditional Music) แต่ทว่างานเพลง Tomita กลับคละคลุ้งด้วยดนตรีไฟฟ้า Electronic Music สร้างสัมผัสทะมึน อึมครึม ท่วงทำนองมืดหมองหม่น ซึ่งสะท้อนวิถีของคนสมัยใหม่ที่ละเลย มองข้าม ไม่ได้สนใจขนบประเพณี สิ่งเคยยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน

ปล. ผมอ่านเจอว่า Isao Tomita ไม่ได้แต่งเพลงขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่ทำการหยิบยืมจากอัลบัมอื่นๆ ยกตัวอย่าง Clair de lune (Moonlight), The Engulfed Cathedral, Let It Be ฯ ซึ่งอาจทำให้หลายคน (โดยเฉพาะที่เคยฟังเพลงของ Tomita) รู้สึกผิดหวังพอสมควร

ผมไม่ได้มีปัญหาใดๆกับบทเพลงของ Tomita จนกระทั่งการปรากฎตัวของปีศาจปลาและปู เครื่องสังเคราะห์เสียงพยายามรังสรรค์ท่วงทำนองให้มีความยียวน ตลกขบขัน มันอิหยังวะ? ทำเอาบรรยากาศเคร่งเครียดจริงจังก่อนหน้านี้ มลายหายไปหมดสิ้น

สิ่งที่ Tomita ต้องการนำเสนออาจคือความพิลึกพิลั่น พิลึกกึกกือ ท่วงทำนองสร้างสัมผัสเหนือจริง จับต้องไม่ได้ อะไรก็ไม่รู้ แตกต่างจากโลกมนุษย์ทั่วไป แต่ขณะเดียวกันมันทำเหมือนปรัมปรา นิทานพื้นบ้าน Japanese Folklore เป็นเรื่องสนุกสนาน ตลกขบขัน … เอาเป็นว่ามันคือบทเพลงที่แปรสภาพหนังให้กลายเป็นคัลท์คลาสสิก!

ปรัมปรา นิทานพื้นบ้าน Japanese Folklore รวมถึงความเชื่อศรัทธา ค่านิยมสังคม วิถีชีวิต ทัศนคติของคนรุ่นก่อน คือสิ่งที่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ย่อมบังเกิดความเสื่อม หลงลืมเลือน ปรับเปลี่ยนแปลงไปตามสังขาร ไม่มีอะไรมั่นคงยั่งยืนนาน คงอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

เทพเจ้ามังกร (Dragon God) คนโบราณที่ยังไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจเรื่องเหนือธรรมชาติ ไม่ว่ามันจะเป็นเหตุการณ์จริง หรือสิ่งที่ใครบางคนปรุงแต่งขึ้นเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง แต่ก็ทำให้มนุษย์บังเกิดความเชื่อ ศรัทธา ยึดถือกฎระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาช้านาน

แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน การมาถึงของวิทยาศาสตร์ท้าพิสูจน์ความเชื่อศรัทธา ทำให้มนุษย์เกิดความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง สามารถต่อสู้เอาชนะธรรมชาติ! แต่จริงๆแล้วมันยังมีอีกมากมายหลายสิ่งอย่างที่เรายังพิสูจน์ไม่ได้ แทนที่คนรุ่นใหม่จะประณีประณอม รับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นก่อน กลับแสดงออกโต้ตอบอย่างรุนแรง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ใครไม่ใช่มิตร ไม่เห็นด้วยกับฉัน ย่อมคือศัตรู ต้องกำจัดให้พ้นภัยทาง

ผู้ประพันธ์บทละคอน Izumi Kyōka ได้เคลือบแฝงนัยยะการเมืองญี่ปุ่น Taishō Era (1912-26) อันเนื่องจากความอ่อนแอของจักรพรรดิ Taishō ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองจากกลุ่มรัฐบุรุษในระบอบคณาธิปไตยแบบเก่า (Genrō) ไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติญี่ปุ่น (Imperial Diet of Japan) และพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย … ขบวนการเสรีนิยมมีการเรียกขานยุคสมัยนี้ว่า Taishō Democracy

พวกขบวนการเสรีนิยมกลุ่มนี้แหละที่พยายามปลูกฝังความคิดสมัยใหม่ให้กับผู้คน กล่าวว่าญี่ปุ่นมีความล้าหลังเพราะความเชื่อปรัมปรา นิทานพื้นบ้าน เรื่องเหนือธรรมชาติ โลกปัจจุบัน(นั้น)ก้าวไปไหนต่อไหน วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์อะไรๆ เทพเจ้ามังกรไม่มีอยู่จริง … แล้วจะจับตัวหญิงสาวไปทำการบูชายันต์ไปเพื่ออะไร??

ประชาธิปไตยจะเบ่งบานก็ต่อเมื่อประชาชน คนรากหญ้า มีความรู้ความเข้าใจในวิถีประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นอย่างการประชุมหมู่บ้าน ใครต่อใครแม้มีสิทธิ์ออกเสียง แต่สุดท้ายแล้วผู้ตัดสินใจกลับคือชนชั้นผู้นำ เสนอแนะอะไรมาก็สามารถงโน้มน้าวสมาชิก สรรหาข้ออ้างชวนเชื่อ เสียสละเพื่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติ … แต่เอาเข้าจริงก็สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัวทั้งนั้น!

แม้บทละครสร้างขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แต่ทว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นก็มีสภาพไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่ ความพ่ายแพ้ทำให้ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้วิถีชีวิต/จิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นค่อยๆเลือนหาย ถูกระบอบทุนนิยมเข้ากลืนกิน สร้างความเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายให้ผกก. Shinoda รับไม่ค่อยได้กับโลกยุคสมัยใหม่ … หลายๆผลงานในช่วงทศวรรษ 70s ก็ล้วนนำเสนอความขัดแย้ง เห็นต่างระหว่างวิถีโลกยุคก่อน vs. ญี่ปุ่นสมัยใหม่

ไคลน์แม็กซ์ของหนังนำเสนอความท้อแท้สิ้นหวังของทั้งผู้แต่ง Kyōka และผกก. Shinoda รับรู้ว่าไม่มีใครสามารถต่อต้านทานการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย พวกเขาทำได้เพียงยินยอมรับสภาพ ปลดปล่อยตัวตนเอง อารมณ์อึดอัดอั้น ให้ทุกสิ่งอย่างพังทลายไปกับสายน้ำ เพื่อว่าจักสามารถเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ … บางคนมองตอนจบคือการพยากรณ์อนาคตที่จักบังเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรนะครับ ผมแค่สนใจมุมมองความเป็นส่วนตัว ‘ศิลปิน’ ของผู้สร้างมากกว่า

การแสดง Kabuki สามารถจัดเข้าพวกวิถีโลกยุคก่อน มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แม้ยังคงได้รับการสืบสานต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่มันก็มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างมากโข หนึ่งในนั้นก็คือการทดลองของ Demon Pond (1979) พยายามผสมผสาน/เลือนลางระหว่างภาพยนตร์ vs. Kabuki นี่ถือเป็นการทลายกำแพง (คล้ายๆกับเขื่อนแตก) เพื่อสร้างแนวทางศิลปะการแสดงรูปแบบใหม่ … แต่ผลลัพท์กลับกลายเป็นหายนะเสียมากกว่า!


ชื่อผู้กำกับ Shinoda และนักแสดงคาบูกิ Bandō Tamasaburō V เชื่อกันว่าน่าจะการันตีความสำเร็จของหนัง แต่ทว่าเสียงตอบรับจากทั้งภายใน-นอกญี่ปุ่นกลับเงียบกริบ ผู้สร้างเลยเก็บเข้ากรุยาวนาน 42 ปี (มีออกฉายทางโทรทัศน์ TV Asahi แค่ครั้งเดียวเมื่อปี ค.ศ. 1981) ไหนเลยจะมีกระแสคัลท์ติดตามมา

จนกระทั่ง ค.ศ. 2021 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี สตูดิโอ Shōchiku จึงนำเอา Demon Pond (1979) มาปัดฝุ่นบูรณะคุณภาพ 4K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Masahiro Shinoda และนักแสดงนำ Bandō Tamasaburō V สามารถรับชมออนไลน์ หรือหาซื้อแผ่น DVD/Blu-Ray จัดจำหน่ายโดย Criterion Collection

ปล. การเลือก Demon Pond (1979) มาเฉลิมฉลองครบรอบร้อยปีสตูดิโอ Shōchiku เพราะเป็นผลงานที่มีส่วนผสม/องค์ประกอบการแสดงคาบูกิ ซึ่งคือรากฐาน/ธุรกิจแรกของบริษัทก่อนผันตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1920

ผมเพิ่งมารับรู้จัก Demon Pond (1979) ตอนได้รับจดหมายข่าวจาก Criterion ประทับใจหน้าปกสวยๆ จัดจำหน่ายเดือนตุลาคม ค.ศ. 2024 มันช่างพอดิบพอดีอย่างคาดไม่ถึง! ช่วงครึ่งชั่วโมงแรกอาจดูเอื่อยๆเฉื่อยๆ แต่ใบหน้าของ Bandō Tamasaburō V ช่างมีความลึกลับ พิศวง ราวกับต้องมนต์ ฤาว่าบุคคลนี้คือ !#$%^&*

แต่ความน่าหลงใหลของ Bandō Tamasaburō V ยังเทียบไม่ได้กับตอนเจ้าปลากับปูกลายร่างเป็นปีศาจ แถมเสียงดนตรียังมีความกวนประสาท นั่นคือวินาทีแปรสภาพสู่หนังคัลท์ ทำเอาผมกุมขมับ ส่ายหัวอยู่สักพักใหญ่ เลือกที่จะอดรนทนจนไคลน์แม็กซ์ ค่อยรู้สึกชุ่มชื่นใจหลังได้ปลดปล่อยน้ำแตก

แม้ตัวหนังจะมีตำหนิค่อนข้างมาก ดำเนินเรื่องเอื่อยเฉื่อย เยิ่นเย้อยืดยาวเกินไป วินาทีแปรสภาพสู่หนังคัลท์ก็นะ !#$%%^ แต่ก็มีหลายสิ่งอย่างที่น่าหลงใหล เคลือบแฝงนัยยะน่าสนใจ สำแดงอารมณ์ศิลปิน ภาพรวมเลยออกไปทางแง่บวก มันคือความคัลท์คลาสสิก

จัดเรต 13+ ความอัปลักษณ์ภายในจิตใจมนุษย์

คำโปรย | Demon Pond มีความลึกลับ พิศวง ราวกับต้องมนต์สะกด แต่ความพยายามผสมผสานภาพยนตร์กับการแสดง Kabuki กลับกลายเป็นภัยพิบัติย่อยยับเยิน
คุณภาพ | ย่อยยับเยิน
ส่วนตัว | มันคือหนังคัลท์

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: