The Outsiders

The Outsiders (1983) hollywood : Francis Ford Coppola ♥♥♡

Francis Ford Coppola ไม่เคยครุ่นคิดอยากสร้างหนังเกี่ยวกับวัยรุ่น จนกระทั่งได้รับจดหมายจากกลุ่มนักเรียนมัธยมต้น ลงชื่อเรียกร้องขอให้ช่วยดัดแปลงนวนิยาย The Outsiders (1967) ของ S. E. Hinton แม้ผลลัพท์ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่กลับกลายเป็นคัลท์คลาสสิก

ต้นฉบับที่ผกก. Coppola ตัดต่อเสร็จความยาว 2 ชั่วโมง 13 นาที แต่พอทดลองฉายให้ผู้บริการสตูดิโอ Warner Bros. ได้เสียงตอบรับย่ำแย่ บีบบังคับให้ตัดโน่นนี่นั่นออกจนเหลือเพียง 91 นาที! แน่นอนว่าต้องถูกนักวิจารณ์สับเละเทะ ผู้ชมก็ไม่พึงพอใจที่หลายๆฉากสำคัญในนิยายหายไป (แต่หนังยังประสบความสำเร็จ ทำกำไรคืนกลับมา)

หลายปีถัดมาเมื่อครูประจำชั้นของหลานสาว ชักชวนผกก. Coppola นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายในห้องเรียน ทำเอารู้สึกอับอายที่หนังห่วย เลยลงมือตัดต่อใหม่ตั้งชื่อว่า The Outsiders – The Complete Novel ความยาว 114 นาที เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2005

I think for me, the showdown was when my granddaughter’s class asked me to come and show the film and I was embarrassed to show the normal version. So I cobbled together a version of the whole movie, the whole novel, and I remember looking at it and wondering, ‘Why did I ever cut this down?”

Francis Ford Coppola

The Outsiders – The Complete Novel คือฉบับที่ได้รับกระแสคัลท์ (Cult Following) เสียงชื่นชม ความนิยมแพร่หลาย เพราะทำการแทรกใส่หลายๆฉากตกหล่นหาย ใกล้เคียงต้นฉบับนวนิยายมากที่สุด! แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ เพราะมันยังมีอีก 20+ นาทีสูญหายไป ก็ไม่รู้อนาคตผกก. Coppola จะยินยอมปล่อยต้นฉบับ 2 ชั่วโมง 13 นาที ออกมาไหม?

แต่หนังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมสามารถอดรนทนดูจนจบ คือบรรดานักแสดงวัยรุ่นหน้าละอ่อน Matt Dillon, Tom Cruise, Diane Lane ฯ หลายคนฉายแววรุ่งโรจน์ บางคนก็ลาจากโลกไปแล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า … เวลาผมรับชมหนังวัยรุ่นยุค 80s – 90s รู้สึกเหมือนตนเองแก่ลง ชอบกล?


Francis Ford Coppola (เกิดปี ค.ศ. 1939) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Detroit, Michigan ครอบครัวสืบเชื้อสายอิตาเลี่ยน ปู่ทวดอพยพจาก Naples, พ่อเป็นนักเป่าขลุ่ยประจำวง Detroit Symphony Orchestra, มีพี่น้องสามคนเป็นคนกลาง (น้องสาว Talia Shire เป็นนักแสดง) ตอนเด็ก Coppola ป่วยเป็นโปลิโอ จำต้องพักรักษาตัวอยู่บ้านหลายเดือน ช่วงนั้นทำให้เขารู้จักการเล่นหุ่นเชิด (Puppet Theater) อ่านหนังสือ A Streetcar Named Desire ตอนแรกตั้งใจเลือกเรียนดนตรีตามพ่อ แต่พอรับชมโคตรหนังเงียบ October: Ten Days That Shock the World (1928) ของ Sergei Eisenstein ตัดสินใจแน่วแน่ต้องการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์

หลังเรียนจบจาก Hofstra University เดินทางไปศึกษาต่อภาพยนตร์ University of California, Los Angeles ยังไม่ทันเรียนจบออกมาสรรค์สร้างผลงานเรื่องแรก Tonight for Sure (1962) ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนกระทั่ง You’re a Big Boy Now (1966) เข้าฉายสายประกวดหลักเทศกาลหนังเมือง Cannes แถมเข้าชิง Golden Globe Award: Best Motion Picture – Musical or Comedy ถูกจับตามองฐานะผู้กำกับรุ่น New Hollywood, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Godfather Trilogy, The Conversation (1974), Apocalypse Now (1979) ฯ

ความล้มเหลวของ One from the Heart (1982) ทำให้สตูดิโอโปรดักชั่น American Zoetrope ใกล้จะล้มละลาย สภาพจิตใจย่ำแย่ แต่หลังจากผกก. Coppola ได้รับจดหมายจาก Jo Ellen Misakian บรรณาธิการโรงเรียน Lone Star Junior High School ณ Fresno, California พร้อมลายเซ็นต์เด็กๆเกรด 7 และ 8 (มัธยม 1-2) จำนวน 15 หน้ากระดาษ (ประมาณร้อยกว่ารายชื่อ)

We are all so impressed with the book, The Outsiders by S.E. Hinton, that a petition has been circulated asking that it be made into a movie. We have chosen you to send it to. In hopes that you might also see the possibilities of a movie, we have enclosed a copy of the book.

Jo Ellen Misakian

คำตอบของผกก. Coppola ก็คือ “Who can ignore that?” ระหว่างอ่านนวนิยายเล่มดังกล่าว ประทับใจความสัมพันธ์ของกลุ่มแก๊ง Greaser ชวนระลึกถึงสมัยยังหนุ่มๆ เคยเป็นที่ปรึกษาชมรมการแสดงให้เด็กๆในช่วงวันหยุดฤดูร้อน

The Outsiders (1967) นวนิยายแนว Coming-of-Age ผลงานเรื่องแรกของ S. E. Hinton ชื่อเต็มๆ Susan Eloise Hinton (เกิดปี ค.ศ. 1948) นักเขียนหญิงสัญชาติอเมริกัน เริ่มต้นเขียนตอนอายุ 15 ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มตอนเรียนมัธยมปลาย ก่อนได้รับการตีพิมพ์ตอนเธออายุ 18 ปี

เกร็ด: เมื่อตอนนวนิยายวางแผงจัดจำหน่าย กลายเป็นหนังสือที่ถูกโต้แย้ง ถกเถียง สังคมสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับ (Controversial Book) เพราะความรุนแรงของกลุ่มเด็กวัยรุ่น แต่กาลเวลาทำให้กลายเป็นวรรณกรรมเยาวชน หนังสืออ่านนอกเวลาในโรงเรียนมัธยมของสหรัฐอเมริกา และเมื่อปี ค.ศ. 2019 ได้รับเลือกจากสำนักข่าว BBC เป็นหนึ่งใน 100 Most Inspiring Novels (ไม่เรียงลำดับ)

เครดิตหนังขึ้นชื่อดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Kathleen Rowell แต่ทว่าผกก. Coppola ตัดสินใจโยนบทดังกล่าวทิ้งไป ต้องการอิสระในการปรับปรุงแก้ไขระหว่างการถ่ายทำ ถึงอย่างนั้น Writer’s Guild กลับไม่อนุญาตขึ้นเครดิต (เพราะผกก. Coppola ไม่ได้เป็นสมาชิก Writer’s Guild) เลยจำต้องหยิบยืมใช้ชื่อของ Rowell


พื้นหลัง Tulsa, Oklahoma ปี ค.ศ. 1965, เรื่องราวของ Ponyboy (รับบทโดย C. Thomas Howell) ตั้งแต่บิดา-มารดาเสียชีวิต อาศัยอยู่กับพี่ชายสองคน Darry (รับบทโดย Patrick Swayze) และ Sodapop (รับบทโดย Rob Lowe) พวกเขาต่างเป็นสมาชิกกลุ่ม Greaser ซึ่งประกอบด้วย Johnny Cade (รับบทโดย Ralph Macchio), Dally (รับบทโดย Matt Dillon), Two-Bit (รับบทโดย Emilio Estevez) และ Steve Randle (รับบทโดย Tom Cruise)

ด้วยความที่เป็นน้องคนเล็ก Ponyboy และ Johnny จึงมักถูกกลั่นแกล้งโดยแก๊งคู่อริ Socs นำโดย Bob Sheldon (รับบทโดย Leif Garrett) และ Randy Anderson (รับบทโดย Darren Dalton) ไม่พึงพอใจที่พวกเขาเกี้ยวพาราสีหญิงสาวในกลุ่ม Cherry (รับบทโดย Diane Lane) จนถูกห้อมล้อม รุมกระทืบ Johnny ควบคุมตนเองไม่ได้จึงชักมีดขึ้นมาทิ่มแทง Bob จนเสียชีวิต

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Ponyboy และ Johnny ต้องขอความช่วยเหลือจาก Dally แนะนำสถานที่หลบซ่อนตัวยังโบสถ์ร้างติดภูเขา พอเหตุการณ์เริ่มสงบ แวะเวียนมารับประทานอาหาร พอหวนกลับโบสถ์เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ มีเด็กติดอยู่ข้างใน ทั้งสามเร่งรีบเข้าไปช่วยเหลือ แต่ทว่า Johnny ได้รับบาดเจ็บสาหัส สภาพปางตาย

ด้วยความที่เลือดต้องล้างด้วยเลือด Socs จึงท้าสู้รบกับ Greaser เกิดการตะลุมบอน แต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บสาหัส ถึงอย่างนั้น Johnny กลับทนพิษบาดแผลไม่ไหว แถม Dally ก็มิอาจอดกลั้นฝืนทน สำแดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งจนถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม

สารพัดเหตุการณ์เลวร้ายบังเกิดขึ้นในรอบสัปดาห์นี้ คงทำให้ Ponyboy ได้รับบทเรียนชีวิต ตั้งใจร่ำเรียน สำเร็จการศึกษา จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระพี่ๆ มีอนาคตสดใสกว่าวันนี้


ด้วยความที่หนังคาคลั่งไปด้วยนักแสดง ผมเลยขอกล่าวถึงแค่ตัวละครหลักๆโดยย่อก็แล้วกัน

  • Ponyboy Curtis (รับบทโดย C. Thomas Howell) ด้วยวัย 14 ปี คือสมาชิกอายุน้อยที่สุดของกลุ่ม Greasers ชื่นชอบการดูหนัง อ่านหนังสือ มีความเฉลียวฉลาด สุภาพอ่อนน้อม เป็นคนประณีประณอม ไม่ชอบใช้ความรุนแรง เลยมักถูกแก๊งคู่อริหมายหัว รุมกระทืบ จึงต้องไปไหนมาไหนกับเพื่อนสนิท Johnny ร่วมหัวจมท้าย พานผ่านประสบการณ์เฉียดตายด้วยกัน
  • Johnny Cade (รับบทโดย Ralph Macchio) เพื่อนสนิทของ Ponyboy อายุ 16 อาศัยอยู่กับบิดาขี้เหล้าเมายา ชอบใช้ความรุนแรง จึงไม่ชอบกลับบ้าน เมื่อพบเห็นเพื่อนสนิทถูกรุมกระทืบ มิอาจอดกลั้นฝืนทน ชักมีดขึ้นมาทิ่มแทงแก๊งคู่อริจนเสียชีวิต เต็มไปด้วยความอกสั่นขวัญแขวน ไม่ต้องการติดคุกติดตาราง แต่ขณะเดียวกันกลายเป็นวีรบุรุษ บุกฝ่ากองเพลิงโดยไม่หวาดกลัวเกรง แม้ต้องแลกมาด้วยชีวิตของตนเอง
  • Dallas ‘Dally’ Winston (รับบทโดย Matt Dillon) อายุ 17 ปี ด้วยนิสัยดิบๆ หยาบกร้าน ชื่นชอบความรุนแรงที่สุดในกลุ่ม Greasers แต่สามารถเป็นที่พึ่งพาของ Ponyboy และ Johnny หลังพลั้งพลาดเข่นฆ่าหัวหน้ากลุ่ม Sorc, ความตายของ Johnny ทำให้เขามิอาจอดรนทน ไม่สามารถควบคุมตนเอง กระทำสิ่งคลุ้มบ้าคลั่ง จนถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม
  • Darrel ‘Darry’ Curtis (รับบทโดย Patrick Swayze) พี่ชายคนโต เพิ่งอายุ 20 ปี ต้องกลายเป็นเสาหลักครอบครัว เพราะบิดา-มารดาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ (ถูกรถไฟชน) ต้องทำงานหาเงิน ส่งเสียน้องๆให้มีโอกาสเรียนต่อ (แต่ทว่า Sodapop ตัดสินใจออกจากโรงเรียนกลางคัน ทำงานปั๊มน้ำมัน ช่วยแบ่งเบาภาระพี่ชาย) คงด้วยความเครียด จึงมักมีเรื่องขึ้นเสียงใส่อารมณ์ ทะเลาะเบาะแว้งกับ Ponyboy แต่ทุกครั้งที่มีปัญหา ก็พร้อมออกหน้าปกป้อง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้น้องๆมีอนาคตสดใส

สำหรับฟากฝั่ง Socs หรือ Soc (ย่อมาจาก Social) มีเพียงตัวละครเดียวที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ

  • Sherrie ‘Cherry’ Valance (รับบทโดย Diane Lane) แฟนสาวของ Bob Sheldon (รับบทโดย Leif Garrett) หัวหน้าแก๊ง Socs เธอไม่ชอบที่แฟนหนุ่มสำแดงความหึงหวง อิจฉาริษยา ถึงขนาดใช้ความรุนแรงกับ Ponyboy ชายหนุ่มน้อยที่เธอแอบชื่นชอบ หว่านขนมจีบ เลยพยายามให้ความช่วยเหลือ อาสาเป็นพยานในคดีฆาตกรรม และยังโน้มน้าวสมาชิก(Socs)ไม่ให้ใช้อาวุธระหว่างทำสงคราม

แต่ละแก๊งมีนักแสดงนับสิบๆคน ผกก. Coppola เลยแบ่งแยกให้พวกเขาพักโรงแรมคนละชั้น (พวก Socs ได้พักชั้นบนๆ ห้องนอนหรูๆ, ขณะที่ Greaser พักอยู่ชั้นล่างๆ ห้องราคาถูกๆ) และระหว่างการถ่ายทำก็กระตุ้นให้มีการเล่นอำ (Prank) กลั่นแกล้งกันเองแทบทุกวี่วัน สร้างบรรยากาศมิตร-ศัตรู เพื่อให้การแสดงออกมาดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด

ก่อนเริ่มต้นถ่ายทำผกก. Coppola ใช้เวลาถึงสองสัปดาห์ในการซักซ้อมการแสดง (Rehearsal) บันทึกภาพด้วยวีดีโอเทป เพื่อค้นหาว่าจะถ่ายทำยังไง? เลือกใช้มุมกล้องไหน? และยังเป็นสร้างปฏิสัมพันธ์ให้นักแสดงเกิดความคุ้นเคยชิน กลายเป็นเพื่อนสนิทสนม … และมี(ผู้แต่งนวนิยาย) S. E. Hinton ราวกับมารดาในกองถ่าย คอยให้คำปรึกษา สนิทสนมกับนักแสดงแทบทุกคน


ถ่ายภาพโดย Stephen Henry Burum (เกิดปี ค.ศ.1939) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Dinuba, California สำเร็จการศึกษาจาก UCLA School of Theater, Film and Television จากนั้นทำงานเป็นตากล้องสตูดิโอ Walt Disney ก่อนเกณฑ์ทหารเข้าร่วม Army Pictorial Center ถ่ายทำสารคดีฝึกทหาร พอปลดประจำการกลายเป็นตากล้องโฆษณา, รายการโทรทัศน์, กองสองภาพยนตร์ Apocalypse Now (1976), ได้รับเครดิตถ่ายภาพ The Outsiders (1983), Rumble Fish (1983), The Untouchables (1987), Mission: Impossible (1996) ฯ

แม้งานภาพหนังเต็มไปด้วยลูกเล่น แสงสีสันฉูดฉาด แพรวพราวด้วยภาษาภาพยนตร์ มันอาจไม่ถึงขั้น Rumble Fish (1983) แต่ถือว่ามีความสไตล์ลิสต์ เฉพาะตัว แตกต่างจากวิถี Hollywood ทั่วๆไป และหลายๆช็อตฉากทำการเคารพคารวะ อ้างอิงถึงโคตรภาพยนตร์คลาสสิก Gone with the Wind (1939)

ความสไตล์ลิสต์ของหนัง จุดประสงค์เพื่อสื่อถึงวัยรุ่นสมัยใหม่ที่มีมุมมอง ความคิดเห็น กระทำสิ่งต่างๆผิดแผกแตกต่างจากคนรุ่นก่อน (การอ้างอิงถึง Gone with the Wind ก็คืออดีตที่พานผ่านไป) แต่ผมรู้สึกว่าหลายๆครั้งมันปรุงปั้นแต่ง ประดิษฐ์ประดอยมากเกิน จนดูไม่กลมกลืนลื่นไหลสักเท่าไหร่ … อาจเพราะมีหลายๆฉากที่ถูกตัดทิ้งไปด้วยกระมัง

หนังปักหลักถ่ายทำอยู่ยัง Tulsa, Oklahoma ซึ่งคือละแวกที่อยู่อาศัยของผู้แต่งนวนิยาย S. E. Hinton ใช้เวลาถ่ายทำเกือบๆสองเดือน 29 มีนาคม – 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1982


ในโรงภาพยนตร์ฉายหนังควบ The Hustler (1961) และ Gidget Goes to Rome (1963) แต่เชื่อว่า Ponyboy อาจจะรับชมแค่ The Hustler เพราะนำแสดงโดย Paul Newman

ภาพยนตร์ที่ฉายในโรง Drive-In คือ Beach Blanket Bingo (1965) [ป้ายหน้าโรงหนังขึ้นว่าฉายควบกับ Muscle Beach Party (1964)] มีคำแนวหนัง Beach Party Film หรือ Surf Film สร้างโดยสตูดิโอ American International Pictures (AIP) เจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นโดยเฉพาะ เคยได้รับความนิยมในช่วงปี ค.ศ. 1963-68

สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมคือสนามเด็กเล่น ราวกับจะสื่อว่านี่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแก๊งวัยรุ่น ในมุมมองของพวกเขามันคือกิจกรรมสนุกสนาน ไม่เคยครุ่นคิดจริงจัง ตระหนักถึงความเลวร้ายรุนแรง จนกว่าจะมีใครเลือดตกยางออก พิการหรือเสียชีวิต กลายเป็นเรื่องใหญ่โต ขึ้นโรงขึ้นศาล … แต่เมื่อนั้นมันก็สายเกินแก้ไข

การเลือกโบสถ์ร้างสำหรับหลบซ่อนตัวของ Ponyboy และ Johnny เคลือบแฝงนัยยะอย่างตรงไปตรงมา ว่าคือสถานที่ที่ทำให้พวกเขาปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อชีวิต สามารถกลับตัวกลับใจ กลายเป็นคนใหม่ (มันจะมีฉากตัดผมสั้น สัญญะของการเปลี่ยนแปลงตนเองเช่นกัน) และยังคือสถานที่ไถ่โทษ ชดใช้เวรกรรมของตนเอง

ใครเคยรับชม Gone with the Wind (1939) น่าจะมักคุ้นกับภาพถ่ายย้อนแสง สีเหลืองทองอร่าม ตัวละครปกคลุมอยู่ในความมืดมิด ก่อนกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยห่าง

as God is my witness, I’ll never be hungry again!

Scarlett O’Hara ติดอันดับ 59 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes

สาเหตุที่ผมกล่าวถึงซีนนั้นของ Gone with the Wind (1939) ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงการอ้างอิงผ่านทางภาษาภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่กล่าวถึงจากนวนิยาย แต่ภาพถ่ายย้อนแสง สีเหลืองทองอร่าม ตัวละครปกคลุมอยู่ในความมืดมิด มันช่างละม้ายคล้ายกันยิ่งนัก

และผกก. Coppola ยังได้เพิ่มเติมบทกวีของ Robert Frost ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1923 ตีพิมพ์ลง The Yale Review ก่อนรวมอยู่ในหนังสือ New Hampshire (1923) และสามารถคว้ารางวัล Pulitzer Prize for Poetry

Nature’s first green is gold,
Her hardest hue to hold.
Her early leaf’s a flower;
But only so an hour.
Then leaf subsides to leaf.
So Eden sank to grief,
So dawn goes down to day.
Nothing gold can stay.

นางพยาบาลของ Johnny รับบทโดย S. E. Hinton ผู้แต่งนวนิยาย The Outsiders (1967)

บทกลอนของ Robert Frost พยายามอธิบายว่าแสงสีทอง (ช่วงเวลา Golden Hour) คงอยู่ไม่นาน ประเดี๋ยวก็เลือนลาง เปลี่ยนแปลงเป็นสีอื่น แต่คำพูดสุดท้ายของ Johnny บอกกับ Ponyboy ว่า “Stay Gold” น่าจะหมายถึงให้ใช้เวลาช่วงวัยรุ่นให้คุ้มค่ามากที่สุด!

ช่วงเวลาแสงสีทอง (Golden Hour) คือตัวแทนวัยรุ่นที่แสนสั้น (คาบเกี่ยวระหว่างกลางวัน-กลางคืน, วัยเด็ก-ผู้ใหญ่) คนที่เคยผ่านวัยนั้นมาแล้วย่อมตระหนักว่ามันคือช่วงเวลาอันงดงาม เต็มไปด้วยความทรงจำดีๆมากมาย “Stay Gold” จึงยังอาจหมายถึงคำแนะนำให้พยายามรักษาจิตวิญญาณความเป็นเด็ก/วัยรุ่นไว้ให้นานที่สุด

ตัดต่อโดย Anne Goursaud (เกิดปี ค.ศ. 1943) ผู้กำกับ/นักตัดต่อ สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ The Outsiders (1983), Bram Stoker’s Dracula (1992) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Ponyboy Curtis ในฉบับตัดต่อใหม่ (The Complete Novel) จะเริ่มต้นด้วยการเขียนเรียงความส่งอาจารย์ ตั้งแต่ออกจากโรงภาพยนตร์ (หลังรับชมภาพยนตร์ของ Paul Newman) ถูกก่อกวนโดยแก๊งคู่อริ Socs ต้องออกวิ่งหลบหนีจนมาถึงถิ่นฐานของ Greasers แล้วได้รับความช่วยเหลือจากพี่ๆ พวกพ้อง ขับไล่ศัตรูให้พ้นภัยพาล

โครงสร้างหนังที่เขียนถึงนี้ ผมอ้างอิงจากฉบับตัดต่อใหม่ (The Complete Novel)

  • Opening Credit + Ponyboy เริ่มต้นเขียนเรียงความ
  • Ponyboy และผองเพื่อน Greasers
    • หลังออกจากโรงภาพยนตร์ Ponyboy ถูกไล่ล่าโดยพวก Socs วิ่งหนีเอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด
    • ยามค่ำคืน Ponyboy นอนคุยถึงอนาคตกับพี่รอง Sodapop
    • วันถัดมา Ponyboy และ Johnny ติดตาม Dally ไปยังสถานที่ต่างๆ
    • พอค่ำมืดแอบเข้ามายังโรงฉายหนัง Drive-In เกี้ยวพาราสี Cherry
    • ดึกดื่น Ponyboy และ Johnny หลับนอนนอกบ้าน
  • เหตุการณ์ฆาตกรรม
    • Ponyboy ผลอยหลับกลางดึก พอกลับบ้านมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับพี่ชาย Darry จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน
    • แก๊งคู่อรินำโดย Bob รุมกระทืบ Ponyboy เพราะมายุ่งเกี่ยวกับแฟนสาว เลยถูก Johnny ทิ่มแทงเสียชีวิต
    • Ponyboy และ Johnny ขอความช่วยเหลือจาก Dally แนะนำสถานที่หลบภัย
  • โบสถ์ร้าง ณ Windrixville 
    • พอมาถึงโบสถ์ร้าง เฝ้ารอคอยอย่างเคว้งคว้าง ไม่รู้วันเดือนปี
    • กระทั่งการมาถึงของ Dally พาพวกเขาไปทางอาหาร
    • พอกลับมายังโบสถ์เกิดเหตุไฟไหม้ มีเด็กเล็กติดอยู่ภายใน Johnny และ Ponyboy บุกเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
  • สงคราม Greasers vs. Socs
    • Ponyboy ตื่นขึ้นในโรงพยาบาล รับรู้ว่า Johnny อาการสาหัส
    • กลับมาบ้านขอโทษขอโพยพี่ชาย เตรียมตัวสำหรับทำสงครามกับ Socs
    • Two-Bit คอยเป็นพี่เลี้ยง Ponyboy ระหว่างออกไปข้างนอก พูดคุยส่วนตัวกับ Randy 
    • เดินทางไปโรงพยาบาล เห็นสภาพแผลไหม้เกรียมของ Johnny
    • ก่อนสงคราม Cherry แอบมาพบ Ponyboy อาสาเป็นพยาน และช่วยโน้มน้าวสมาชิก Socs ไม่ให้ใช้อาวุธในสงคราม
    • สงครามระหว่าง Greasers vs. Socs
  • ความคลุ้มคลั่งของ Dally
    • แม้สงครามได้รับชัยชนะ แต่ทว่า Johnny กลับทนพิษบาดแผลไม่ไหว
    • Dally เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ปล้นร้านค้า ก่อนถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม
    • Ponyboy เดินทางไปโรงเรียน Cherry แสร้งทำเป็นไม่รู้จัก, ครูมอบการบ้านให้เขียนเรียงความ
    • กลับมาบ้าน Ponyboy มีเรื่องทะเลาะกับพี่ชาย Darry แต่กลายเป็น Sodapop ที่วิ่งออกจากบ้าน ก่อนทั้งสามจะปรับความเข้าใจกันในที่สุด
  • Ponyboy เขียนเรียงความเสร็จสิ้น + Closing Credit

เพลงประกอบโดย Carmine Valentino Coppola (1910-91) นักดนตรี/แต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน บิดาของผู้กำกับ Francis Ford Coppola เกิดที่ New York วัยเด็กชื่นชอบเป่าขลุ่ย เข้าศึกษา Juilliard School ต่อด้วย Manhattan School of Music จากนั้นเข้าทำงาน NBC Symphony Orchestra ก่อนลาออกมาดำเนินตามความฝัน ประพันธ์เพลงประกอบละคอนเวที ภาพยนตร์ The Godfather Part II (1974), Apocalypse Now (1976), The Outsiders (1983) ฯ

ผกก. Coppola ไม่ค่อยประทับใจงานเพลงที่บิดารังสรรค์ให้ มองว่ามีความโรแมนติกเกินไป แต่ตอนนั้นด้วยความเกรงอกเกรงใจ เลยไม่ได้ตอบโต้แย้งใดๆ แต่เมื่อตัดต่อหนังใหม่ The Complete Novel บิดาล่วงลับไปนานแล้ว จึงเป็นโอกาสปรับแก้ไขเพลงประกอบ โดยเลือกเอาดนตรีป็อปยุค 60s แทรกใส่เข้ามา และเพิ่มเติมเพลงใหม่ๆโดย Michael Seifert และ Dave Pruitt

ผมไม่ได้รับชม Theatrical version เลยบอกไม่ได้ถึงความแตกต่าง แต่ก็รู้สึกว่าการเลือกใช้เพลงป็อปยุคสมัยนั้น สรรหาบทเพลงที่มีเนื้อคำร้องสอดคล้องเข้ากับเรื่องราว มันช่วยเสริมสร้างบรรยากาศหนัง เข้ากับยุคสมัย วัยรุ่น Rock & Roll ได้เป็นอย่างดี … งานเพลงของ Carmine Coppola เท่าที่ผมรับฟังในอัลบัม มันมีความ ‘คลาสสิก’ น่าจะขัดแย้งกับความสไตล์ลิสต์ของหนังอยู่พอสมควร

ซีเควนซ์ที่น่าจะเห็นภาพชัดที่สุดคือฉากสงคราม Greaser vs. Socs ฟังบทเพลง Rumble Variation ดนตรีคลาสสิกก็ไพเราะอยู่หรอก แต่ฉบับตัดต่อหนังใหม่ The Complete Novel เปลี่ยนมาใช้การรัวกลอง ลีดกีตาร์ ดนตรีร็อค ท่วงทำนองเมามันส์ชิบหาย … มันคนละอรรถรสกันเลยละ!

ทิ้งท้ายกับบทเพลง Stay Gold แต่งโดย Stevie Wonder (เป็นบทเพลงเดียวใน Theatrical version ที่ Carmine Coppola ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ) ในอัลบัมมีอยู่หลายเวอร์ชั่นทีเดียว

  • ขับร้องโดย Stevie Wonder เป่าฮาร์โมนิกาโดย Carmine Coppola
  • ขับร้องโดย Stevie Wonder
  • ขับร้องโดย Bill Hughes

ฉบับไพเราะที่สุดผมเลือกขับร้องโดย Bill Hughes ด้วยน้ำเสียงละมุน นุ่มนวล อ่อนไหวกว่า Stevie Wonder ที่พยายามไต่ไล่ระดับ บีบเค้นคั้น ไปให้ถึงจุดสูงสุด แล้วยังต่อด้วยเสียงฮาร์โมนิก้า (ลีลายังกะเป่าแซกโซโฟน)

Seize upon the moment, long ago
One breath away, and there you will be
So young and carefree
Again you will see
That place in time
So gold

Still, away into that way back when
You thought that all would last forever
But like the weather
Nothing can ever, and be in time
Stay gold

But can it be
When we can see so vividly a memory?
And yes, you say so must the day
Too fade away, and leave a ray of sun
So gold

Life is but a twinkling of an eye
Yet filled with sorrow and compassion
Though not imagined, all things that happen
Will age too old
Though gold, gold, gold
Though gold

สิ่งแรกที่ผมนึกถึง Greaser คือภาพยนตร์ Grease (1978) ทรงผมมันวาวของ John Travolta สวมใส่เสื้อหนัง ขับขี่มอเตอร์ไซด์ฮ่าง แต่เท่าที่ค้นหาข้อมูลจึงค้นพบว่ามันมีรายละเอียดมากกว่านั้น

  • Greaser คือคำเรียกกลุ่มวัยรุ่นระดับล่าง (Working Class หรือ Lower Class) ในช่วงทศวรรษ 50s-60s ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็น Italian American และ Hispanic American
  • ตรงกันข้ามกับพวก Socs (มาจาก Social) หรือ Ivy League มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง (Middle Class หรือ Upper Class) สวมใส่สูท แต่งชุดดูมีราคา ชื่นชอบเล่นกีฬา ผู้ดีมีการศึกษา

พื้นฐานทางครอบครัว สังคม ชาติพันธุ์ที่แตกต่าง มันเลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Greaser และ Socs จะบังเกิดความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นแตกต่าง มองหน้าหาเรื่องทะเลาะวิวาท แถมวัยรุ่นใจร้อน ฮอร์โมน(เพศ)พลุกพล่าน หลายครั้งไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง มันจึงเกิดเหตุไม่คาดฝัน โศกนาฎกรรมขึ้นเป็นประจำ

หนังนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมอง Ponyboy Curtis ทั้งๆที่เป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร กลับถูกหมายหัวจากพวก Socs จ้องจะรุมกระทืบ ทำร้ายร่างกาย เพียงเพราะเป็นสมาชิกกลุ่ม Greaser นั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมเลยสักนิด! … นี่ถือเป็นบทเรียนแรกของหนังเลยก็ว่าได้

ค่ำคืนหนึ่งระหว่างรับชมภาพยนตร์ Drive-In จู่ๆ Dally พยายามเกี้ยวพาราสี Cherry ด้วยวิธีการครอบงำ บีบบังคับ สนเพียงร่วมรัก เลยถูกเธอขับไล่ ผลักไส ใครกันจะชอบผู้ชายลักษณะนี้ ตรงกันข้ามกับ Ponyboy มีความสุภาพอ่อนน้อม พูดขอโทษขอโพยแทนเพื่อนฝูง สร้างความประทับใจ เอ็นดูรักใคร่ แอบตกหลุมรักแรกพบ … แต่ผมว่ามันขึ้นกับรสนิยมหญิงสาวมากกว่านะ คนที่ชอบผู้ชายแบบ Dally ก็มีมากมายถมไป

ความอิจฉาริษยาของ Bob (หัวหน้าแก๊ง Socs) ต่อ Ponyboy ที่เข้ามาตีสนิทแฟนสาว Cherry เลยรวมกลุ่มพรรคพวก ดักทำร้าย รุมกระทืบอีกฝ่าย สร้างความอัดอั้นใจให้กับ Johnny ต้องการช่วยเหลือเพื่อนจึงชักมีดขึ้นมาทิ่มแทง เข่นฆ่าอีกฝ่ายจนเสียชีวิต … ทั้งหมดนี้เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เป็น-ตาย ต้องทำอะไรสักสิ่งอย่าง จึงระเบิดระบายความรู้สึกอัดอั้นภายในออกมา

ในสถานการณ์ตรงกันข้าม เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โบสถ์ร้าง Johnny คือบุคคลแรกที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ (ก่อนติดตามด้วย Ponyboy และ Dally ที่พยายามยื้อยัก ไม่อยากเอาด้วย) นั่นไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ หรือแสดงออกโดยสันชาตญาณ แต่น่าจะเกิดจากการหวาดกลัวความตาย(แทนเด็กๆ) และต้องการไถ่โทษความผิดพลาดเคยกระทำ (ที่เคยพลั้งมือเข่นฆ่า Bob)

ความตายของ Johnny สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับ Dally ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย มิอาจอดกลั้นฝืนทน สำแดงอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง ปล้นร้านค้า ก่อนถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม

เรื่องราวของ Johnny และ Dally เต็มไปด้วยบทเรียนเสี้ยมสอน Ponyboy ใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้จักควบคุมตนเอง หยุดยับยั้งชั่งใจ ไม่ปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำ และเมื่อกระทำสิ่งผิดพลาด ควรยินยอมรับ/เผชิญหน้ากับความจริง ไม่ใช่ดิ้นหลบหนี ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง

บทเรียนทิ้งท้ายของ Ponyboy คือปรับความเข้าใจกับพี่ชายทั้งสอง Darry และ Sodapop มันเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว แต่การกระทำดังกล่าวไม่ใช่ว่าไม่รัก เพราะรักมากๆต่างหากถึงทำอย่างนั้น เพื่อให้น้องได้มีโอกาส ได้ดิบได้ดี ได้มีอนาคตสดใส

The Outsiders เป็นชื่อหนังที่ผมไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ เพราะคำว่า ‘คนนอก’ มันขึ้นอยู่กับมุมมองของบุคคลนั้นๆ ส่วนตัวมองว่า Ponyboy ก็คือเด็กอเมริกันธรรมดาๆคนหนึ่ง แต่สำหรับชาวอเมริกันที่ขึ้นชื่อเรื่องการแบ่งแยก แบ่งพรรคแบ่งพวก (Segregation) มันคงประมาณว่า …

  • ในบริบทของหนังอาจจะสื่อถึง Greaser คือคนนอกในมุมของ Socs และชาวอเมริกันส่วนใหญ่
  • พฤติกรรมของ Ponyboy อาจถือว่าผิดแผกแตกต่างจากสมาชิก Greaser คนอื่นๆ
  • และอาจรวมถึงผกก. Coppola สรรค์สร้างหนังวัยรุ่นเรื่องนี้ ได้ผิดแผกแตกต่างจากขนบวิถี Hollywood ทั่วๆไป!

ด้วยทุนสร้าง $10 ล้านเหรียญ แม้เสียงตอบรับค่อนข้างย่ำแย่ แต่ยังสามารถทำเงินได้ $25.7 ล้านเหรียญ ไม่ขาดทุนถือว่าน่าพึงพอใจ ก่อนกาลเวลาทำให้ได้รับกระแสคัลท์ติดตามมาหลังจัดจำหน่ายดีวีดี The Outsiders – The Complete Novel (2005)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K Ultra HD ฉบับ Blu-Ray ของสตูดิโอ Warner Bros. ใส่มาทั้งสองฉบับ (Theatrical Version และ The Complete Novel) พร้อมของแถม (Special Feature) มากมายเต็มไปหมด จัดจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2021

อาจเพราะผมรับชม Rumble Fish (1983) ก่อนหน้า The Outsiders (1983) มันเลยเกิดการเปรียบเทียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้! Rumble Fish เป็นหนัง ‘art house’ ที่แฝงข้อคิดชีวิตในเชิงนามธรรม, ตรงกันข้ามกับ The Outsiders มีความเป็น ‘hollywood’ เข้าถึงผู้ชมวงกว้าง (mainsteam), ด้วยเหตุนี้คนที่ชอบ Rumble Fish มักไม่ชอบ The Outsiders, และคนที่ชอบ The Outsiders มักไม่ชอบ Rumble Fish

แต่เหตุผลจริงๆที่ผมค่อนข้างผิดหวังกับ The Outsiders (1983) คือการขาดความกระตือรือร้นของผกก. Coppola แทนที่จะเผชิญหน้าสตูดิโอ สำแดงความดื้อรั้น นำออกฉายต้นฉบับ 2 ชั่วโมง 13 นาที แต่กลับประณีประณอม อ่อนน้อม ยินยอมตัดต่อเหลือแค่ 91 นาทีที่สร้างความอับอายขายขี้หน้าให้ตนเอง นั่นรวมถึง The Outsiders – The Complete Novel มันอาจพลิกฟื้นความเชื่อมั่น แต่สิ่งใดๆที่สูญเสียไปแล้ว ย่อมไม่มีทางหวนกลับคืนมา

จัดเรต 13+ กับแก๊งวัยรุ่น ฆ่าคนตาย

คำโปรย | แม้ตั้งใจทำตามข้อเรียกร้องเด็กๆ แต่ทว่าผู้กำกับ Francis Ford Coppola กลับสรรค์สร้าง The Outsider แบบไม่ค่อยตั้งใจสักเท่าไหร่
คุณภาพ | ออกทะเลไปไกล
ส่วนตัว | แอบผิดหวัง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: