The Shawshank Redemption

The Shawshank Redemption (1994) hollywood : Frank Darabont ♥♥♥♥

เราสามารถเปรียบเทียบเรือนจำ Shawshank = โลกใบนี้ที่เต็มไปด้วยกฎกรอบ กำแพงห้อมล้อมรอบ นักโทษส่วนใหญ่ต่างก้มหัวศิโรราบ แต่ชายคนหนึ่ง/พระผู้ไถ่ ด้วยจิตวิญญาณอันเข้มแข็งแกร่ง พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อดิ้นหลบหนี ออกจากสังสารวัฎแห่งนี้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เมื่อตอนออกฉาย แม้ได้เสียงตอบรับดียอดเยี่ยม แต่ทว่าภาพยนตร์แนว ‘Prison Films’ ไม่ได้อยู่ในกระแสนิยมของผู้ชมสมัยนั้น ผลลัพท์จึงขาดทุนย่อยยับ เข้าชิง Oscar 7 สาขา ไม่ได้สักรางวัลกลับมา ถึงอย่างนั้นพอทำเป็น VHS คำแนะนำปากต่อปากทำให้มีการเช่ายืม ซื้อ-ขายดีถล่มทลาย กลายเป็นกระแสคัลท์ (Cult Following) และกาลเวลาได้รับการโหวตจากเว็บไซต์ IMDB.com #ติดอันดับ 1 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล

ทว่าในมุมมองนักวิจารณ์ The Shawshank Redemption (1994) ไม่ได้มีสิ่งสร้างความแปลกใหม่ให้กับสื่อศิลปะ นอกจากชาร์ทในสหรัฐอเมริกา ก็แทบไม่เคยพบเห็นติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสารต่างประเทศเล่มไหน Sight & Sound, Cahiers du cinéma ฯ

จากที่เคยเป็นภาพยนตร์ ‘underrated’ ผมไม่อยากใช้คำว่า ‘overrated’ นั่นเพราะ The Shawshank Redemption (1994) ไม่ได้มีดีแค่ Crowd Pleaser หรือ Mass Appeal [IMDB.com เป็นเว็บที่นับคะแนนโหวตจากผู้ชม/ผู้เข้าใช้บริการ] แต่ลีลานำเสนออย่างค่อยเป็นค่อยไปของผกก. Darabont, ความเจิดจรัสสองนักแสดงนำ Tim Robbins & Morgan Freeman และโดยเฉพาะลีลาถ่ายภาพ Roger Deakins ล้วนมีดีเพียงพอให้ได้การยกย่องกล่าวขวัญ

ผมมองว่า The Shawshank Redemption (1994) คือภาพยนตร์ที่จักทำให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ ‘spiritual experience’ เกิดการตื่นรู้ทางธรรม ไม่ว่าเราจะตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเพียงใด ตราบยังมีความเชื่อมั่นศรัทธาอันแกร่งกล้า ทุ่มเทพยายาม มุมานะ อุตสาหะ ย่อมสามารถฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม ดิ้นหลุดพ้นพันธนาการ ได้รับอิสรภาพทางจิตวิญญาณ

Polls and rentals reflect popularity but don’t explain why people value Shawshank so fervently. Maybe it plays more like a spiritual experience than a movie.

Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 พร้อมจัดเป็น Great Movie

I think people want to believe that there is goodness and a moral compass in the world. And I think that’s why Shawshank has that effect on people. It’s the thing in the Stephen King story that I responded to that seemed like a very timeless kind of idea.

Frank Darabont

Frank Árpád Darabont หรือ Ferenc Árpád Darabont (เกิดปี ค.ศ. 1959) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ค่ายผู้อพยพ Montbéliard, France ในครอบครัวชาว Hungarian หลบหนีออกจากประเทศหลังเหตุการณ์ 1956 Hungarian Revolution จากนั้นเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ปักหลักอาศัยอยู่ Los Angeles

วัยเด็กเมื่อมีโอกาสรับชม THX 1138 (1971) ใฝ่ฝันอยากเข้าสู่วงการภาพยนตร์ หลังเรียนจบมัธยม Hollywood High School เข้าทำงานโรงหนัง Grauman’s Egyptian Theatre จากนั้นเป็นผู้ช่วยโปรดักชั่น Hell Night (1981), The Seduction (1982), Trancers (1984), กำกับหนังสั้นเรื่องแรก The Woman in the Room (1983) ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Stephen King จ่ายค่าลิขสิทธิ์เพียง $1 ดอลลาร์

เกร็ด: Dollar Baby หรือ Dollar Deal เป็นโปรเจคที่ Stephen King พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนนักศึกษา หรือบุคคลที่อยากเป็นผู้กำกับ/ทำงานในวงการภาพยนตร์ สามารถติดต่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงเรื่องสั้นของตนเองในราคาเพียง $1 ดอลลาร์

1977 was the year young film makers – college students, for the most part – started writing me about the stories I’d published (first in Night Shift, later in Skeleton Crew), wanting to make short films out of them. Over the objections of my accountant, who saw all sorts of possible legal problems, I established a policy which still holds today. I will grant any student filmmaker the right to make a movie out of any short story I have written (not the novels, that would be ridiculous), so long as the film rights are still mine to assign. I ask them to sign a paper promising that no resulting film will be exhibited commercially without approval, and that they send me a videotape of the finished work. For this one-time right I ask a dollar. I have made the dollar-deal, as I call it, over my accountant’s moans and head-clutching protests sixteen or seventeen times as of this writing.

Stephen King

หลังเสร็จจากโปรเจคหนังสั้น Darabont จึงเริ่มได้รับโอกาสพัฒนาบทหนัง A Nightmare on Elm Street 3: Dream Warriors (1987), The Blob (1988), The Fly II (1989) ฯ พอเริ่มมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง จึงติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงนวนิยาย Rita Hayworth and Shawshank Redemption (1982) ของ Stephen King มูลค่า $5,000 เหรียญ

King เล่าว่าแต่งนวนิยาย Rita Hayworth and Shawshank Redemption (1982) ขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว ตั้งแต่เด็กชื่นชอบรับชมหนังแนว ‘prison film’ และให้นิยามหนังสือเล่มนี้ “prison escape story in the vein of old Warner Bros. films”

เกร็ด: Stephen King ไม่เคยขึ้นเช็ค $5,000 เหรียญ แถมยังซื้อกรอบมาใส่ แล้วส่งคืนให้ Darabont พร้อมข้อความ “In case you ever need bail money. Love, Steve.”

จริงๆแล้ว Darabont ซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายเล่มนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1987 แต่เพิ่งเริ่มลงมือดัดแปลงบทหนังห้าปีให้หลัง ใช้เวลา 8 สัปดาห์ คงรายละเอียดหลักๆไว้แทบทั้งหมด แต่เปลี่ยนมาใช้การเล่าเรื่องด้วยเสียงบรรยาย (Voice Over), ขยับขยายเรื่องราวตัวละครรองอย่าง Brooks, Tommy ให้มีรายละเอียดน่าติดตาม และปรับลดจำนวนพัศดีจากสามคนเหลือเพียง(ตัวร้าย)บุคคลเดียวก็เพียงพอแล้ว

จากนั้นนำไปเสนอสตูดิโอต่างๆใน Hollywood ก่อนได้รับความสนใจจาก Castle Rock Entertainment หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Rob Reiner แสดงความสนอกสนใจบทหนังเรื่องนี้อย่างมากๆ พยายามขอซื้อต่อ $2.5-3 ล้านดอลลาร์ ต้องการกำกับด้วยตนเอง!

You can continue to defer your dreams in exchange for money and, you know, die without ever having done the thing you set out to do.

Frank Darabont บอกปัดข้อเสนอของ Rob Reiner

เกร็ด: แม้ไม่ได้เป็นผู้กำกับ แต่ทว่า Rob Reiner ลงมาเป็นผู้ช่วย/อาจารย์ (Mentor) ให้คำแนะนำมากมายกับ Frank Darabont ด้วยตนเอง!

สำหรับชื่อหนัง เหตุผลที่เลือกตัด Rita Hayworth (1918-87) เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มไม่ค่อยมีใครรับรู้จัก รวมถึงอาจครุ่นคิดว่านี่คือหนังชีวประวัติ! ถึงอย่างนั้นพอหลงเหลือแค่ The Shawshank Redemption คนไม่เคยอ่านนวนิยาย Stephen King ย่อมต้องเกาหัว อิหยังว่ะ? อะไรคือ Shawshank? นี่ไม่ใช่สถานที่ที่มีอยู่จริง!


พื้นหลัง ค.ศ. 1947 ณ Portland, Maine เรื่องราวของนายธนาคารหนุ่ม Andy Dufresne (รับบทโดย Tim Robbins) ถูกจับกุมข้อหาฆาตกรรมภรรยาและชายชู้ แต่ทว่าเจ้าตัวยืนกรานว่าไม่ใช่ผู้ก่อเหตุ แต่หลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ชัด จึงถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต ณ เรือนจำ Shawshank State Prison

Andy เป็นคนเงียบขรึม เก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเริ่มเอ่ยปากพูดคุยกับ Ellis Boyd ‘Red’ Redding (รับบทโดย Morgan Freeman) นักโทษผิวสีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต อาศัยอยู่ในเรือนจำ Shawshank มานานกว่า 20 ปี รับรู้หนทางหนีทีไล่ สามารถสรรหาสิ่งของจากโลกภายนอก ซึ่งสิ่งที่ Dufresne ขอจาก Red คือค้อนแกะสลักขนาด 6-7 นิ้ว เชื่อว่านำมาใช้ในงานอดิเรกแกะสลักหิน

ด้วยความที่ Andy คืออดีตนายธนาคาร วันหนึ่งได้ให้คำแนะนำผู้คุม Byron Hadley (รับบทโดย Clancy Brown) ในการหลีกเลี่ยงภาษีสุดโหด ความถึงหูของพัศดี Samuel Norton (รับบทโดย Bob Gunton) เลยถูกเปลี่ยนตำแหน่งงานในเรือนจำ มาทำงานดูแลบัญชี ช่วยเหลือการฟอกเงิน และสร้างบุคคลสมมุตินามว่า Randall Stephens เพื่อไม่ให้รัฐบาลสาวความผิดมาถึงตัว

ชีวิตในเรือนจำของ Andy เหมือนดำเนินไปอย่างสุขสบาย จนการมาถึงของน้องใหม่ Tommy Williams (รับบทโดย Gil Bellows) ชายหนุ่มที่ติดคุกหลายแห่งเพราะคดีลักเล็กขโมยน้อย วันหนึ่งเล่าว่ามีเพื่อนร่วมห้องขัง คุยโวโอ้อวดว่าได้ลงมือฆาตกรรมภริยานายธนาคารและชู้ของมัน แต่ทว่านายธนาคารผู้นั้นกลับรับเคราะห์แทน! ฤาว่านั่นคือสิ่งบังเกิดขึ้นกับ Andy จึงรีบไปปรึกษาพัศดี เล่าเรื่องราวทั้งหมด คาดหวังจะรื้อคดีความกลับมาพิจารณาใหม่ กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ เรื่องอะไรจะยินยอมปล่อยลูกน้องคนสนิท แถมยังลงมือฆ่าปิดปาก Tommy (แสร้งว่ากำลังหลบหนี)

เมื่อตระหนักว่าความอยุติธรรมที่ตนได้รับมากเกินพอแล้ว วันหนึ่ง Andy จึงสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจากเรือนจำ Shawshank พัศดีเข้ามาตรวจห้องขัง รื้อค้นจนพบเจอรูขนาดใหญ่ (จากค้อนแกะสลักอันจิ้๋ว) ซ่อนอยู่หลังโปสเตอร์นักแสดง รูนั้นต่อตรงสู่ท่อระบายน้ำทิ้ง และออกสู่ภายนอกเรือนจำ รวมระยะเวลาติดคุกทั้งหมด 15 ปี

ในรุ่งเช้าหลังจากนั้น Andy ปลอมตัวเป็น Randall Stephens ตระเวนไล่ถอนเงินฝากของพัศดี Norton ในทุกๆธนาคารที่ฝากไว้ และยังส่งหลักฐานการทุจริต ติดสินบนต่างๆให้สื่อหนังสีอพิมพ์ กลายเป็นข่าวใหญ่โต เจ้าหน้ารัฐบุกเข้ามาตรวจค้น จับกุมตัวผู้คุมและผู้เกี่ยวข้อง ก่อนที่พัศดีจะตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต


Timothy Francis Robbins (เกิดปี ค.ศ. 1958) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ West Covina, California แต่มาเติบโตยัง New York City, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการแสดง สำเร็จการศึกษาจาก UCLA Film School เริ่มต้นเป็นนักแสดงละคอนเวที Theater for the New City, แสดงซีรีย์ รับบทเล็กๆ No Small Affair (1984), สมทบภาพยนตร์ Top Gun (1986), เริ่มมีชื่อเสียงกับ Bull Durham (1988), The Player (1992), Short Cuts (1993), The Shawshank Redemption (1994), Mystic River (2003) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor

รับบท Andy Dufresne นายธนาคารผู้โชคร้าย จับได้ว่าภรรยาคบชู้นอกใจ แม้ไม่ได้ลงมือฆาตกรรมเธอกับชู้รัก แต่ถูกหลักฐานมัดตัวให้ต้องจำคุกตลอดชีวิต รับรู้ตนเองว่าไม่ได้กระทำความผิด เลยปฏิเสธก้มหัวศิโรราบ พยายามมองหาหนทางหลบหนี แม้ต้องใช้เวลานับสิบๆปีก็ยินยอมอดรนทน ดำเนินชีวิตด้วยความหวัง เพราะเชื่อว่าสักวันจักสามารถก้าวออกจากสถานที่แห่งนี้!

ในตอนแรก Darabont พยายามมองหานักแสดงคนโปรดที่อยากร่วมงานอย่าง Gene Hackman, Robert Duvall, Clint Eastwood, Paul Newman แต่ไม่มีใครว่างสักคน นอกจากนี้ยังยื่นข้อเสนอ Tom Cruise (ปฏิเสธร่วมงานผู้กำกับไร้ประสบการณ์), Tom Hank (ติดพัน Forrest Gump), Kevin Costner (ติดพัน Waterworld) ฯลฯ จนกระทั่งมีโอกาสรับชมภาพยนตร์ Jacob’s Ladder (1990) จึงตัดสินใจเลือก Tim Robbins

Robbins ดูเป็นคนเงียบๆ ขรึมๆ ไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใคร แต่โดดเด่นกับแสดงออกทางสีหน้า สัมผัสถึงความห่อเหี่ยวสิ้นหวังเมื่อพบเห็นภรรยาคบชู้นอกใจ และถูกศาลตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต, ถึงอย่างนั้นตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำ แววตาของเขาเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ประกายความหวัง กล้าเผชิญหน้าพูดคุย โต้ตอบกับพวกนักข่มขืน เชื่อมั่นในความถูกต้อง ไม่หวาดกลัวเกรงอะไรใครทั้งนั้น

แต่สิ่งที่หลายคนน่าจะคาดไม่ถึง ประทับใจอย่างสุดๆ คือตอนเล่นละคอนตบตา พูดสั่งเสียกับ Red ปักธงหายนะ (Death Flag) จนทำให้ใครๆครุ่นคิดเข้าใจผิด ฤาว่าค่ำคืนนี้จะวางแผนฆ่าตัวตาย??? แท้จริงแล้วนั่นคือการเตรียมตัวก่อนร่ำลา … ฤาอาจจะตีความ ตายแล้วเกิดใหม่?

การเตรียมตัวของ Robbins เดินทางไปสวนสัตว์ สังเกตสรรพสัตว์ที่ถูกกักขังในกรง พวกมันน่าจะรู้ว่าไม่มีทางหลบหนี แต่ยังคงใช้ชีวิตราวกับได้รับอิสรภาพ, นอกจากนี้ช่วงบ่ายๆยังขอเข้าไปอยู่ในเรือนจำจริงๆ พูดคุยกับนักโทษ ผู้คุม รวมถึงมัดมือมัดเท้า กักขังเดี่ยวหลายชั่วโมง เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้สึกของนักโทษได้อย่างสมจริง

เกร็ด: Robbins รับรู้ว่าผกก. Darabont ไม่เคยมีประสบการณ์ถ่ายทำภาพยนตร์(ขนาดยาว)มาก่อน จึงแนะนำให้เลือกตากล้องประสบการณ์สูงอย่าง Roger Deakins เคยร่วมงานภาพยนตร์ The Hudsucker Proxy (1994) จะช่วยให้การถ่ายทำราบรื่น สำเร็จลุล่วงโดยไม่มีปัญหา


Morgan Freeman (เกิดปี ค.ศ. 1937) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Memphis, Tennessee จากการตรวจ DNA ค้นพบว่าบรรพบุรุษมีเชื้อสาย Songhai และ Tuareg น่าจะมาจากประเทศ Niger, ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ก็มีโอกาสแสดงละครเวทีของโรงเรียน จากนั้นได้ทุนการศึกษา(ด้านการแสดง)ยัง Jackson State University แต่กลับเลือกสมัครทหารอาหาร (U.S. Air Force) ทำงานเป็นช่างซ่อมเรดาร์ หลังปลดประจำการเดินทางสู่ Hollywood ร่ำเรียนการแสดงยัง Pasadena Playhouse เริ่มจากเป็นนักเต้น, ละครเวที Off-Broadway, มีชื่อเสียงจาก Broadway เรื่อง Hello, Dolly! ฉบับคนผิวสี, สำหรับภาพยนตร์แจ้งเกิดจาก Street Smart (1987), Driving Miss Daisy (1989), ผลงานเด่นๆ อาทิ Glory (1989), Unforgiven (1992), The Shawshank Redemption (1994), Se7en (1995), Million Dollar Baby (2004) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor ฯลฯ

รับบท Ellis Boyd ‘Red’ Redding นักโทษชาว Irish-American ถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต อาศัยอยู่ในเรือนจำมากว่า 20 ปี รับรู้หนทางหนีทีไล่ เป็นนายหน้าลักลอบนำเข้าสิ่งของจากโลกภายนอก สนิทสนมกับ Andy หลังจากนำเข้าค้อนแกะสลักอันจิ้๋ว คอยให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัย พบเห็นการเติบโต วิวัฒนาการของอีกฝ่าย รวมถึงวันที่แหกคุกออกไป และเมื่อถึงคราวของตนเองได้รับทัณฑ์บน เดินทางไปยังสถานที่นัดหมาย ใช้ชีวิตบั้นปลายบนสรวงสวรรค์

ต้นฉบับของ Stephen King นักโทษ Red คือชายสูงวัยผิวขาว Irish-American เมื่อปี ค.ศ. 1938 จัดฉากอุบัติเหตุทางรถยนต์(ตัดสายเบรค)เพื่อเรียกร้องเงินประกันจากการเสียชีวิตของภรรยา แต่ทว่าวันนั้นเพื่อนบ้านและบุตรของเธอร่วมเดินทางไปด้วย กลายเป็นเสียชีวิตสามศพ เลยถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิตสามครั้ง

แต่ทว่าโปรดิวเซอร์ Liz Glotzer บอกว่าไม่ต้องไปสนรายละเอียดตัวละคร ในตอนแรกพยายามติดต่อ Sidney Poitier ถูกปฏิเสธเพราะไม่เห็นว่าบทบาทนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ชมได้อย่างไร? ก่อนเปลี่ยนมา Morgan Freeman จากความประทับใจภาพยนตร์ Brubaker (1980)

แซว: เอาจริงๆมันก็พอจะมี Black Irish แต่ทว่า Freeman แค่พูดแซวเล่นๆ “Maybe it’s because I’m Irish.”

ผมหัวเราะลั่นกับการปรากฎตัวครั้งแรกของ Freeman พยายามทำหน้าเหรอหรา แสร้งว่ารู้สำนึกผิดระหว่างพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทัณฑ์บน ก่อนถูกปั้มตรา Reject! แต่ไฮไลท์ของ Freeman คือน้ำเสียงบรรยาย มีความละมุน ลุ่มลึก ลื่นไหล ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล (ราวกับเสียงของพระเจ้า) เล่าเรื่องผ่านการสังเกตชีวิตของ Andy พร้อมแทรกใส่ความคิดเห็น สำแดงอารมณ์อย่างเพียงพอดี

ส่วนการแสดงของ Freeman ดูเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ มีความกลมกลืนเข้ากับนักโทษในเรือนจำอย่างมากๆ ปู่แกใช้ชีวิตแบบไม่คาดหวัง เพียงแววตาฉงนสงสัย ลุ่มหลงใหล อยากรู้อยากเห็นในตัว Andy ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นอีก ช่วยสร้างสีสัน ความน่าตื่นเต้นให้กับชีวิต … ยังคงครุ่นคิดถึงเมื่ออีกฝ่ายเมื่อหลบหนีจากเรือนจำได้สำเร็จ

เกร็ด: The Shawshank Redemption (1994) คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่ Morgan Freeman ให้เสียงบรรยายเรื่องราว ซึ่งนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้ชมจดจำน้ำเสียงอันลุ่มลึก ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล น่าจะคือเหตุผลหนึ่งที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor ด้วยกระมัง!


อีกนักแสดงที่ต้องกล่าวถึงคือ Bob Gunton (เกิดปี ค.ศ. 1945) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Santa Monica, California นับถือ Catholic อย่างเคร่งครัด เคยครุ่นคิดที่จะเป็นบาทหลวง แต่เลือกอาสาสมัครทหาร แผนกติดต่อสื่อสารทางวิทยุ (Radio Telephone Operator) เคยไปประจำการอยูู่ South Vietnam ได้รับเหรียญ Bronze Star, กลับมากลายเป็นนักแสดงละคอนเวที โด่งดังกับต้นฉบับโปรดักชั่น Evita คว้ารางวัล Tony Award: Best Actor in a Musical, ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Demolition Man (1993), The Shawshank Redemption (1994), Patch Adams (1998), The Lincoln Lawyer (2011), Argo (2012) ฯ

รับบทพัศดี Samuel Norton ปากอ้างว่าเป็นคนเคร่งศาสนา แต่มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย แถมเมื่อรับทราบความสามารถด้านการจัดการบัญชีของ Andy (ที่เป็นอดีตนายธนาคาร) จึงเรียกตัวมาให้ช่วยฟอกเงินผิดกฎหมาย กลายเป็นลูกน้องคนสนิท พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อฉุดเหนี่ยวรั้ง ควบคุมครอบงำ ไม่ยินยอมให้เขาหลบหนีเอาตัวรอดจากเงื้อมมือตนเอง

Gunton คือตัวเลือกเดียวของผกก. Darabont ขณะนั้นกำลังถ่ายทำภาพยนตร์ Demolition Man (1993) ที่ต้องโกนศีรษะเข้าฉาก เพื่อจะโน้มน้าวสตูดิโอจึงให้อีกฝ่ายมาทดสอบหน้ากล้อง สวมใส่วิก รวมถึงแต่งหน้าให้เห็นริ้วรอยเหี่ยวย่น (เรื่องราวของหนังดำเนินไปกว่า 20 ปี) ผลลัพท์ได้เสียงตอบรับอย่างดี

ใบหน้าของ Gunton มีความขึงขัง ดุดัน ท่าทางเป็นคนเจ้าระเบียบ ก็ดูเหมาะสมกับอาชีพพัศดี แต่ทว่าทั้งหมดล้วนเป็นการสร้างภาพ ปกปิดบังตัวตนแท้จริง ‘Wolf in sheep’s clothing’ ลับหลังสำแดงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง ใช้อำนาจในทางทุจริต คอรัปชั่น สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ พยายามกอบโกยทุกสิ่งอย่างเข้ากระเป๋าตนเอง … หลังจากถูกเปิดโปง เลือกฆ่าตัวตายหลบหนีความผิด ไม่สามารถเผชิญหน้ายอมรับความจริง


ถ่ายภาพโดย Sir Roger Alexander Deakins (เกิดปี ค.ศ. 1949) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Torquay, Devon วัยเด็กมีความสนใจด้านการวาดรูป เข้าศึกษาออกแบบกราฟฟิก Bath Academy of Art ระหว่างนั้นเริ่มเกิดความสนใจด้านการถ่ายรูป เลยเข้าศึกษาต่อ National Film School จบออกมาเป็นผู้ช่วยตากล้อง/โปรดักชั่นนานถึง 7 ปี ถ่ายทำสารคดี บันทึกภาพคอนเสิร์ต Music Video ฯ ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก Another Time, Another Place (1983), Nineteen Eighty-Four (1984), Barton Fink (1991), The Shawshank Redemption (1994) ครั้งแรกที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography

งานภาพของ Deakins ทำให้หนังดูมีชีวิตชีวา แพรวพราวด้วยรายละเอียด การจัดแสง-เงามืด ลีลาเคลื่อนเลื่อนกล้องที่มีความลื่นไหล ดูแนบเนียน และเป็นธรรมชาติอย่างมากๆ พบเห็นโชว์อ็อฟจริงๆแค่ Helicopter Shot เก็บภาพเรือนจำทั้งหมด

สำหรับคนช่างสังเกต งานภาพช่วงแรกๆมักดูแออัดคับแคบ ห้อมล้อมรอบด้วยผนังกำแพง โทนสีเย็นๆ ปกคลุมด้วยความมืดมิด ไม่ต่างจากขุมนรก, แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป จะเริ่มพบเห็นแสงสว่าง ถ่ายภาพมุมกว้าง โทนสีอบอุ่น และเมื่อก้าวออกจากเรือนจำ ทิวทัศน์ภายนอกช่างดูสดชื่น ผ่อนคลาย ราวกับสรวงสวรรค์

เกร็ด: ด้วยความไร้ประสบการณ์ของผกก. Darabont จึงมักถ่ายทำซ้ำๆหลายเทคที่ไม่มีประโยชน์อะไร ยกตัวอย่างการพูดคุยครั้งแรกระหว่าง Andy กับ Red ใช้เวลาถึง 9 ชั่วโมง! … หนังถ่ายทำวันละ 18 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ รวมระยะเวลา 3 เดือนระหว่างมิถุนายน – สิงหาคม ค.ศ. 1993


โปรดิวเซอร์ Niki Marvin ใช้เวลาถึง 5 เดือนเดินทางไปสำรวจเรือนจำที่ถูกทิ้งร้างทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนานา สำหรับใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ Shawshank State Prison ก่อนตัดสินใจเลือก Ohio State Reformatory หรือ Mansfield Reformatory ตั้งอยู่ Mansfield, Ohio เนื่องจากใช้ก้อนอิฐก่อนสร้างสถาปัตยกรรมแบบ Gothic ก่อสร้างขึ้นระหว่าง 1886-1910 ก่อนถูกทิ้งร้างเมื่อปี ค.ศ. 1990

เกร็ด: อาจเพราะความสำเร็จของ The Shawshank Redemption (1994) ทำให้เรือนจำแห่งนี้ได้รับความนิยม จุดท่องเที่ยวสำคัญของ Mansfiled, Ohio ปัจจุบันจึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมไม่ให้เสียหายไปกว่าเดิม จุดประสงค์หลักคือการท่องเที่ยว (Historical Marker) และใช้สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง

บริเวณเรือนจำยังมีก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ Shawshank Museum เผื่อใครสนใจไปท่องเที่ยว จะได้ไม่พลาดโอกาสเที่ยวชม: https://destinationmansfield.com/venue/shawshank-museum/

ด้วยความที่ผมไม่ได้รับชมหนังมานาน จดจำแค่เพียงลางๆว่าตัวละครน่าจะไม่ได้ลงมือฆาตกรรมภรรยา(และชู้รัก) แต่ช็อตที่สร้างความมั่นใจคือตอนก้าวลงจากรถ พบเห็นเงาต้นอาบฉาบร่างกายของ Andy มอบสัมผัสถึงความโล้เล้ลังเล สองจิตสองใจ … เป็นการภาพถ่ายที่สะท้อนห้วงอารมณ์ ความรู้สึกซ่อนเร้นอยู่ภายใน บทเพลงก็พยายามบอกใบ้ “If I Didn’t Care” เพราะรักจะทำลงได้อย่างไร?

ถ้าไม่นับตอนหลบหนีออกจากเรือนจำได้สำเร็จ, วินาทีที่ Andy ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ถือว่ามีการแสดงออกทางสีหน้าได้อย่างทรงพลัง สัมผัสถึงอารมณ์ห่อเหี่ยว สิ้นหวัง ยินยอมรับโชคชะตากรรม … โดยปกติแล้วคนที่รับรู้ตนเองว่าไม่ได้ทำอะไรผิด มักแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบออกมาอย่างรุนแรง แต่ทว่าชายคนนี้กลับสงบแน่นิ่ง เหมือนมีความไม่แน่ใจในตนเอง ฉันอาจทำผิดจริง? ไม่จริง? นี่คือเรื่องจริง? ไม่จริง?

ภายในจิตใจของ Andy ผมว่ามีความซับซ้อนกว่าที่ผู้ชมทั่วไปครุ่นคิดเข้าใจ เพราะค่ำคืนนั้นเขาดื่มเหล้ามึนเมา มันจึงมีความไม่รู้ ไม่แน่ใจ สับสนในตนเอง แต่เพราะยังรักภรรยาอยู่มาก “If I Didn’t Care” มันจึงมีความรู้สึกผิดที่ครุ่นคิดเข่นฆ่าเธอ (มโนกรรม) นั่นอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขายินยอมรับคำตัดสินของศาล โดยไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านขัดขืนใดๆ

ผมขอกล่าวถึงทั้งสามครั้งที่ Red เข้ามาพบกับเจ้าหน้าที่เพื่อพิจารณาทัณฑ์บน ล้วนมีความแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

  • ครั้งแรกตอนครบรอบ 20 ปี เจ้าหน้าที่มีแต่ชายล้วนสูงวัย ไม่มีแสงสว่างจากภายนอกสาดส่องเข้ามาภายใน สั่งให้นั่ง “Sit” คำตอบของ Red เต็มไปด้วยความเสแสร้ง ทำหน้าตาเหรอหรา ไม่มีความรู้สึกใดๆเคลือบแฝงอยู่ภายใน
  • ครั้งสอนตอนครบรอบ 30 ปี เจ้าหน้าที่ยังเป็นชายล้วน แต่จะเป็นวัยกลางคน(ผมดำ)เสียส่วนใหญ่ พอมีแสงสว่างบางส่วนสาดส่องเข้ามา สั่งให้นั่ง “Sit Down” (สังเกตจากด้านหลังของ Red) ถ้อยคำพูดดูมีความจริงจังมากขึ้น แต่ยังสัมผัสไม่ได้ถึงความจริงใจทั้งหมด
  • ครั้งสุดท้ายครบรอบ 40 ปี เจ้าหน้าที่กลายเป็นคนหนุ่ม (และหญิงสาว) ตำแหน่งที่นั่งไม่ได้แออัดยัดเยียน (มีสองคนย้ายมาหัวโต๊ะ) บอกให้นั่ง “Please sit down” เงาบานเกล็ดอาบฉาบเรือนร่าง Red พูดถ้อยคำออกมาจากความรู้สึกนึกคิด ตรงไปตรงมา ไม่มีการปรุงปั้นแต่งใดๆ

คำพูดของ Red ในครั้งสุดท้ายนั้น มันช่างฟังไม่เข้าหู ดูแล้วไม่น่าจะได้รับการอนุมัติทัณฑ์บน แต่ทว่าหนังใช้การพิจารณาครั้งนี้แทนการตัดสินของพระเจ้า ตามความเชื่อของชาวคริสต์ บุคคลที่ยินยอมสารภาพผิด พูดออกมาจากใจจริง ย่อมมีโอกาสได้รับการไถ่ถอน (Redemption) ตายแล้วขึ้นสู่สรวงสวรรค์ … Red เลยได้รับการปล่อยตัวเมื่อระบายความรู้สึกนึกคิดแท้จริงออกมา

ให้หนังได้โชว์อ็อฟสักหน่อยกับ Helicopter Shot ถ่ายภาพมุมสูงเรือนจำ Shawshank State Prison เคลื่อนจากทางเข้าด้านหน้า ภายนอกสู่ภายใน มอบสัมผัสเหมือนบางสิ่งอย่างกำลังคืบคลานเข้ามา แผ่ปกคลุม ทำให้สถานที่แห่งนี้ปรับเปลี่ยนแปลงไป

ก้าวย่างเข้ามาในเรือนจำ สังเกตว่านักโทษยืนหันหลังให้กับแสงสว่าง (พบเห็นเงาทอดยาวเบื้องหน้า) ขณะที่พัศดี Norton ก้าวย่างออกจากความมืดมิด … นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรือนจำแห่งนี้คือด้านมืดของโลก สถานที่แห่งความต่ำตม ศูนย์รวบรวมเดนมนุษย์ (ที่ถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต)

งานแรกที่ Andy ได้รับมอบหมายในเรือนจำ คือทำงานแผนกซักรีดเสื้อผ้า นี่เคลือบแฝงนัยยะของการชำระล้างจิตวิญญาณให้สะอาดเอี่ยมอ่อง ด้วยกระมัง?

ขณะเดียวกันสถานที่แห่งนี้ยังมีมุมมืด ซุกซ่อนสิ่งชั่วร้าย “the Sisters” แก๊งค์นักข่มขืน (Raptist) หน้าตาหื่นๆ เฝ้ารอคอยโอกาสเหมาะๆ ครอบครองเป็นเจ้าของ (ถ่ายทำในห้องใต้ดินที่ปกคลุมด้วยความมืด พร้อมโทนสีเย็นๆ บรรยากาศหนาวเหน็บ) … หนังพูดอธิบายแค่ว่า Andy พยายามต่อสู้หัวยิบตา แต่สามรุมหนึ่งยังไงก็ไม่มีหนทางชนะ ขึ้นกับจินตนาการผู้ชมว่าพระเอกจะเคยถูกกระทำชำเราหรือไม่?

เริ่มต้นเมื่อทำงานอาสาบนชั้นดาดฟ้า แสงตอนกลางวันก็ดูปกติทั่วไป แต่ความหาญกล้า ท้าตายของ Andy เอ่ยปากให้คำแนะนำด้านการเงินแก่ผู้คุม Byron Hadley ผลลัพท์สามารถยักยอกเงินโดยไม่เสียภาษีสักแดง แลกมากับบรรดาเพื่อนนักโทษทั้งสิบสาม หลังเสร็จงานได้นั่งดื่มเบียร์ยามเย็น (น่าจะถ่ายทำช่วง Golden Hour) … มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบซีนนี้กับ The Last Supper เพราะคำกล่าวของ Red ถึงเพื่อนนักโทษที่ร่วมกันทำงาน “Lords of all Creation”

ต้นฉบับนวนิยายไม่มีฉากรับชมภาพยนตร์ หรือระบุว่าหนังเรื่องไหน? (เพียงโปสเตอร์ Rita Hayworth) แต่เมื่อดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ มันจึงเป็นซีเควนซ์หลีกเลี่ยงไม่ได้! เห็นว่าในตอนแรกครุ่นคิดจะใช้ The Lost Weekend (1945) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Gilda (1946) เพราะฉากการปรากฎตัวของเธอ สร้างความประทับใจให้ผู้ชมสมัยนั้นอย่างล้นหลาม บรรดานักโทษหลงลืมว่าตนเองกำลังติดคุก … เป็นลักษณะหนึ่งของ ‘Escapist’

เกร็ด: ถ้าใช้ฟุตเทจจาก The Lost Weekend (1945) เห็นว่าสตูดิโอ Paramount Pictures เรียกค่าลิขสิทธิ์อย่างแพง! ส่วน Gilda (1941) เป็นของ Columbia Pictures ที่จัดจำหน่าย The Shawshank Redemption (1994) เลยไม่ต้องจ่ายสักแดง

ภาพยนตร์คือสื่อที่ทำให้มนุษย์/นักโทษ รู้สึกเหมือนได้หลบหนี (Escapist) จากโลกความจริงที่เหี้ยมโหดร้าย มันช่างล้อกับการที่ Andy ถูกพวกแก๊งค์ข่มขืนต้อนจนมุมในห้องฉายหนัง และ(น่าจะ)เอาตัวรอดอย่างหวุดหวิดเพราะฟีล์มภาพยนตร์เช่นกัน!

Watch ye, therefore, for ye know not
when the master of the house cometh.

Mark 13:35 (King James Bible)

ประโยคที่ Andy อ้างอิงถึงไบเบิลนี้ สามารถสื่อตรงๆถึงการตรวจค้นห้องขังครั้งนี้ของพัศดี มาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่มีบอกล่วงหน้า อยากจะมาก็มา ฉันเตรียมพร้อมอยู่แล้วทุกสถานการณ์

I’m the light of the world.
He that followeth me shall not walk in darkness,
but shall have the light of life.

John 8:12 (King James Bible)

ส่วนคำกล่าวของพัศดี Samuel Norton อวดอ้างตนเองว่าคือแสงสว่างแห่งโลก และยังบอกด้วยว่าใครยินยอมติดสอยห้อยตาม ย่อมได้รับแสงสว่างด้วยเช่นเดียวกัน … ถือเป็นการโน้มน้าวชักชวน (แต่ออกไปทางบีบบังคับเสียมากกว่า) Andy ให้เข้าร่วมกลุ่มแก๊งค์ฟอกเงิน

คนที่เพิ่งรับชมหนังรอบแรกจะยังไม่เอะใจอะไร, ส่วนคนดูหนังมาหลายรอบก็คงไม่ครุ่นคิดอะไร, ผมบังเอิ้ญอยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง เลือนๆลางๆ จำได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง แต่ไม่หลงลืมว่าด้านหลังโปสเตอร์มีอุโมงค์ขุดแอยซ่อนอยู่ เลยสังเกตดูปฏิกิริยาสีหน้าซีดเผือกของ Andy เต็มไปด้วยความหวาดหวั่น สั่นกังวล โชคดีว่าพัศดียินยอมให้การผ่อนปรน ถอนหายใจโล่ง รอดตายอย่างหวุดหวิด!

มันเป็นการล้อกับโปสเตอร์ Rita Heyworth (และสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ด้านหลัง) ได้อย่างเฉียบขาด! ในห้องทำงานพัศดี Samuel Norton มีข้อความเหมือนจะอ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิล แถมใส่กรอบหรูหรา โดดเด่นสะดุดตา

His Judgement Cometh and that Right Soon…

แต่ทว่าข้อความนี้กลับไม่มีในคัมภีร์ไบเบิลฉบับไหน ใกล้เคียงสุดเท่าที่ชาวเน็ตช่วยกันค้นหามีอยู่สองประโยค

A prayer out of a poor man’s mouth reacheth to the ears of God, and His judgment cometh speedily.

Ecclesiasticus 21:5 (King James Bible)

Fear God and give glory to Him, for the hour of His Judgment is come. Worship Him that made heaven and earth, and the sea and the fountains of waters.

Revelation 14:7 (King James Bible)

นั่นแปลว่าข้อความดังกล่าวเป็นการอุปโหลก คิดเองเออเองของพัศดี บุคคลที่ชอบแอบอ้างว่าตนเองคือแสงสว่างแห่งโลก และสิ่งซุกซ่อนอยู่ด้านหลังคือตู้เซฟ (ไม่เห็นรหัส) เก็บหลักฐานการทุจริต ฉ้อโกง ฟอกเงินอย่างผิดกฎหมาย … ภายนอกสร้างภาพให้ดูดี แต่ลับหลังกลับมีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย! และอีกไม่นานจะได้รับการตัดสินอย่างสาสม

เรื่องราวที่หลายคนเกิดความซาบซึ้ง น้ำตาซึม คุณปู่บรรณารักษ์ Brooks Hatlen (รับบทโดย James Whitmore ผู้มีหน้าตาละม้ายคล้าย Martin Scorsese) อาศัยอยู่ในเรือนจำนานกว่า 50 ปี จู่ๆได้รับทัณฑ์บน กลับออกสู่โลกภายนอกโดยไม่เคยเตรียมตัวเตรียมใจ นั่นทำให้เขาไม่สามารถปรับตัว เป็นอิสระเหมือนนกที่เคยเลี้ยงไว้ ท้ายที่สุดเลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต ทิ้งไว้เพียงข้อความ “Brooks was here” และความเศร้าโศกเสียใจ

อาการเกรี้ยวกราดของคุณปู่ จู่ๆเอามีดจี้คอ Heywood นั่นเพราะเขาอยู่ในสภาวะตื่นตระหนก ตกใจกลัว หลังได้รับอนุมัติทัณฑ์บน เลยไม่รู้จะทำอะไรยังไง ออกไปแล้วจะเอาตัวรอดหรือไม่ เคยใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎกรอบ กำแพงห้อมล้อมรอบ เลยเกิดความหวาดกลัวอิสรภาพ … ครุ่นคิดว่าถ้าใช้ความรุนแรงกับ Heywood จะทำให้ตนเองไม่ต้องออกจากเรือนจำ แต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ

สิ่งแรกที่ผมครุ่นคิดถึงคือการประกาศชัยชนะของ Andy หลังจากส่งจดหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ขอหนังสือ/ของบประมาณสำหรับทำห้องสมุดมาสักพักใหญ่ๆ แล้ววันนี้ได้รับการตอบกลับเป็นครั้งแรก ได้รับกองหนังสือและแผ่นเสียง ใช้จังหวะที่ผู้คุมกำลังไปปลดทุกข์ ตนเองก็เปิดเพลงปลดปล่อยความสุขให้กับสมาชิกเรือนจำ, ส่วนนัยยะของเนื้อเพลง Mozart: The Marriage of Figaro ขอไปกล่าวถึงในส่วนเพลงประกอบนะครับ

เกร็ด: เหตุผลจริงๆที่เลือกใช้ Mozart: The Marriage of Figaro เพราะระหว่างพัฒนาบทหนัง เมื่อไหร่สมองตื้อตัน ครุ่นคิดอะไรไม่ออก ผกก. Darabont จะเปิดรับฟังเพลงโปรดนี้ สร้างความผ่อนคลาย และมักได้แรงบันดาลใจหลายๆอย่าง

หลังจากใช้ชีวิตในเรือนจำมากว่าสามสิบปี มุมมองของ Red ก็คือ “Hope is a dangerous thing.” ตัวเขาไม่มีความคาดหวังใดๆ อยู่ไปวันๆ มีความสุขเล็กๆน้อยๆก็เพียงพอแล้ว แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ Andy ตลอดระยะเวลาสิบปี ไม่เคยมีสักวันหมดสูญสิ้นความหวัง!

Andy มอบของขวัญ (ครบรอบจำคุก 30 ปี?) คือเครื่องเป่าฮาร์โมนิกา (Harmonica) สัญญะแห่งความหวังที่ Red เคยทอดทิ้ง เลิกเล่นตั้งแต่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ แต่ทว่าตลอดทั้งเรื่องกลับไม่เคยพบเห็นเขาเป่าเลยสักครั้ง (ตั้งท่าอยู่ครั้งหนึ่ง ก่อนล้มเลิกความตั้งใจ) ถึงอย่างนั้นผู้ชมจักได้ยินเพลงประกอบ เสียงฮาร์โมนิกา ภายหลังจาก Red ได้รับทัณฑ์บน ปล่อยตัวออกจากเรือนจำ

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น! จดหมายของ Andy ทำให้หน่วยงานอะไรสักอย่างของรัฐ ยินยอมจ่ายเช็คก้อนโต(ค่าปิดปาก)เพื่อก่อสร้างห้องสมุดในเรือนจำ ภาพแรกพบเห็นคือการพังทลายของผนัง (สำหรับขยับขยายห้องสมุด) แต่เดียวนะ มุมกล้องมันช่างละม้ายคลายตอนที่ Andy ขุดอุโมงค์ หลบหนีออกจากเรือนจำ … นี่อาจต้องการสื่อถึงอิสรภาพเล็กๆของ Andy สามารถทุบทำลายข้อจำกัดบางอย่างของเรือนจำแห่งนี้ได้สำเร็จ

ปล. เผื่อใครไม่ทันสังเกต ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งชื่อให้เกียรติกับบรรณารักษ์คนแรก Brooks Hatlen Memorial Library

ทำไมต้องห้องสมุด? ผมมองสัญญะของห้องสมุด คือสถานที่ที่รวบรวมวิชาความรู้ (Knowledge) ก่อให้เกิดสติปัญญา สำหรับศึกษาค้นคว้า ส่งเสริมการอ่าน สร้างความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย และบางครั้งอาจยังช่วยหลบหลีกหนี (Escapist) จากโลกความจริงได้ด้วยเช่นกัน!

หนังสือที่มีการกล่าวอ้างถึง อาทิ Robert Louis Stevenson: Treasure Island (1883), Alexandre Dumas: The Count of Monte Cristo (1844-46) เรื่องหลังดั่งคำบอกเล่าของ Andy ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับการหลบหนีออกจากเรือนจำกลางน้ำ Château d’If

Andy เล่าวิธีการฟอกเงินให้กับ Red (ระหว่างจัดเก็บหนังสือบนชั้นวาง) โดยการสร้างบุคคลนิรนามชื่อว่า Randall Stephens ยุคสมัยนั้นสามารถปลอมแปลงเอกสารผ่านจดหมาย กลายเป็นบุคคลที่มีบัตรประชาชน เลขประกันสังคม ก็เพียงพอทำธุรกรรมการเงินได้ทั้งหมด … ช่องโหว่ทางกฎหมาย = ช่องว่างระหว่างชั้นวางหนังสือ

การมาถึงของ Tommy Williams (รับบทโดย Gil Bellows) แสดงความสนอกสนใจอยากอ่าน-เขียน เรียนหนังสือ สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำ ได้รับการสอนสั่งโดย Andy ข้อความบนกระดานดำนี้น่าสนใจทีเดียว

The cat crept up the tree and out on the limb.

แมวขึ้นต้นไม้ ปีนป่ายไปบนกิ่งก้านที่ดูอันตราย แต่มันมีสำนวน “out on a limb” หมายถึงการตกอยู่ในสภาพสุ่มเสี่ยง (เหมือนเป็นการปักธง ‘Death Flag’ ให้กับ Tommy ยังไงชอบกล) หรือการแสดงความคิดเห็น/ทำอะไรที่ผิดแผกแปลกแยกจากคนอื่น (สามารถเหมารวมทั้ง Andy และ Tommy ต่อสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ขณะ สังคมสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับ)

ปล. เรือนจำสมัยก่อน นักโทษมักถูกตีตราว่าคือเดรัจฉาน เดนมนุษย์ จึงไม่ได้รับโอกาส ไม่มีหรอกความเสมอภาคเท่าเทียม แต่ปัจจุบันค่านิยมสังคมปรับเปลี่ยนไปมาก นักโทษได้รับสิทธิเทียบเท่ามนุษย์คนหนึ่ง ถ้าประพฤติตัวดีย่อมมีโอกาสเรียนหนังสือ ฝึกฝนอาชีพ เมื่อได้รับการปล่อยตัวจักสามารถเอาตัวรอดเองได้ … เรื่องราวของ Andy และ Tommy มันคือการทุบทำลายกำแพง สร้างบรรทัดฐานใหม่ นำเสนอวิวัฒนาการชีวิตในเรือนจำ

ระหว่างที่ Tommy เล่าเรื่องราวถึงอดีตเพื่อนร่วมห้องขัง บุคคลเชื่อว่าคือฆาตกรลงมือเข่นฆ่าภรรยา(และชู้รัก)ของ Andy มีการแทรกภาพอีกฝ่ายขณะอยู่ในเรือนจำ ใบหน้า(ซีกหนึ่ง)ปกคลุมด้วยความมืดมิด โทนสีเย็นๆ บรรยากาศหนาวเหน็บ กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา เปิดเผยใบหน้า และเสียงหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง

เรื่องเล่าของ Tommy มันอาจจะใช่ หรือไม่ใช่ฆาตกรคนเดียวกัน แต่ทว่านั่นถือเป็นโอกาส ความหวัง หนทางพิสูจน์ตนเองของ Andy ว่าเป็นคนบริสุทธิ์ ถูกจับผิด ติดคุกฟรีๆ แต่ทว่าตัวเขาถลำลึกมาไกล เลยได้รับคำตอบปฏิเสธจากพัศดี แถมยังลงมือฆ่าปิดปากชายหนุ่มคนนี้ ด้วยข้ออ้างพยายามหลบหนีออกจากเรือนจำ … ภาพช็อตนี้ถ่ายมุมก้มจากเบื้องบนมองลงมา ทำราวกับตนเองคือพระเจ้า (ซาตาน) กำหนดชะตาชีวิตผู้อื่น

หลังถูกขังเดี่ยวมาสองเดือน รับทราบข่าวการเสียชีวิตของ Tommy มันแทบทำให้ Andy หลังชนฝา หมาจนตรอก นั่งพิงกำแพงด้วยความห่อเหี่ยว สิ้นหวัง Red พยายามเข้ามาชวนคุย ปลอบประโลม แต่การสนทนาครั้งนี้เต็มไปด้วยการปักธง (Death Flag) ลับลมคมใน เหมือนกำลังจะมีเหตุการณ์เลวร้ายบางอย่างเกิดขึ้น

ซึ่งสิ่งที่ถือเป็นการปักธงหายนะ (Death Flag) ชัดเจนที่สุดก็คือ Andy ร้องขอให้ Red ได้รับการปล่อยตัวเมื่อไหร่ ให้เดินทางไปยังสถานที่นัดหมาย ณ Fort Hancock, Texas … นั่นกลายเป็นเป้าหมายปลายทางของ Red (และผู้ชม) ใจจดใจจ่อ เฝ้ารอคอย เชื่อมั่นว่าหนังต้องทำการเปิดเผย มันมีอะไรอยู่ยังสถานที่แห่งนั้น?

ด้วยความที่ Red สังเกตเห็นพฤติกรรมผิดปกติของ Andy ค่ำคืนนี้เขาเลยไม่สามารถทิ้งตัวลงนอน ก่อนการมาถึงของแสงฟ้าแลบ + เสียงฟ้าผ่า สามารถสื่อแทนความรู้สึกภายใน อารมณ์สั่นไหว เต็มไปด้วยความหวาดกังวล กลัวว่าอาจเกิดเหตุการณ์เลวร้าย ความตายของใครบางคน

พอตัด Rita Hayworth ออกจากชื่อหนัง ทำให้มีตัวเลือกภาพโปสเตอร์ที่เป็น ‘Iconic’ ประกอบด้วย

  • ภาพแรก Rita Hayworth ถ่ายแบบชุดชั้นในปลุกใจเสือป่า ให้นิตยสาร LIFE Magazine เมื่อปี ค.ศ. 1941 (ก่อนหน้าเหตุการณ์โจมตี Pearl Harbor เพียงสี่เดือน) โดยตากล้อง Bob Landry นี่คือภาพที่แพร่หลายในหมู่ทหารหาญ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
    • ประมาณการณ์ว่าช่วงสงครามโลก ภาพนี้ขายได้ประมาณ 5 ล้านแผ่น!
    • กองทัพเรือ (U.S. Navy) ให้คำนิยามภาพนี้ “The Red-Head We Would Most Like to be Ship-Wrecked with”
    • เผื่อใครสนใจดูภาพถ่ายอื่นๆใน LIFE Magazine: https://rarehistoricalphotos.com/rita-hayworth-pinup/
  • ภาพกระโปรงปลิวของ Marilyn Monroe จากภาพยนตร์ The Seven Year Itch (1955)
    • ผมรู้สึกว่าภาพ Marilyn Monroe น่าจะเป็นที่รู้จัก โด่งดังที่สุดในคอลเลคชั่นนี้
  • ภาพสุดท้าย Raquel Welch นุ่งน้อยห่มน้อย มนุษย์ล้านปีจากภาพยนตร์ One Million Years B.C. (1966)

ผมจงใจเลือกมุมกล้องที่ดูละม้ายคล้าย ต่างถ่ายออกมาจากภายในห้องหับ (ตอนทุบกำแพงทำห้องสมุด), ตู้เซฟ (เก็บเอกสารทุจริตของพัศดี) และอุโมงค์หลบหนีของ Andy (ในห้องขัง) ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากการทุบผนังกำแพง ทำลายขอบเขต กฎระเบียบข้อบังคับ วิถีทางสังคม ถือเป็นการเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ ก้าวออกสู่อิสรภาพ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น

ในตอนแรกผกก. Darabont ต้องใช้ค้อนแกะสลักทุบท่อน้ำทิ้ง (Sewage Pipe) แต่ชาติไหนมันจะสำเร็จ? เลยเปลี่ยนมาเป็นก้อนหิน และให้คำนิยาม ‘river of shit’ จริงๆแล้วคือน้ำเปล่า ผสมน้ำเชื่อมช็อกโกแลต (Chocolate Syrup) และใส่ขี้เลื่อย (Sawdust) เพื่อให้ดูมีเนื้อมีหนัง ถ่ายตอนกลางคืนมองอะไรไม่ค่อยเห็นอยู่แล้ว

ปล. ปัญหาเดียวกับ Willy Wonka & the Chocolate Factory (1971) น้ำผสมกับช็อคโกแล็ต ถ้าปล่อยทิ้งไว้สักพักจะกลายเป็นสารพิษ สร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม ทีมงานจึงต้องกั้นบ่อน้ำ ไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แล้วค่อยหาวิธีกำจัด/จัดการเอาภายหลัง

ค่ำคืนแห่งอิสรภาพของ Andy จริงๆแล้วไม่ได้จบลงแค่ตะเกียกตะกายออกจาก ‘river of shit’ ความตั้งใจดั้งเดิมของผกก. Darabont ตัวละครยังจะต้องออกวิ่งข้ามท้องทุ่งกว้าง และลักลอบขึ้นรถไฟเข้าเมือง แต่ทว่าระยะเวลาถ่ายทำมีจำกัด แค่ค่ำคืนเดียว (กอปรกับความเรื่องมาก ถ่ายทำมากเทคของผกก. Darabont) เลยตัดสินใจยุติลงแค่เงยหน้าขึ้นฟ้า ยืนอาบน้ำฝน ท่าทางประกาศชัยชนะ

เกร็ด: นี่อาจเป็นฉากโปรดปรานของใครหลายๆคน แต่ไม่ใช่กับตากล้อง Roger Deakins เพราะตอนถ่ายทำมีความเร่งรีบ ดูไม่เป็นธรรมชาติ “too over-lit” แถมยังบ่นว่ารู้สึกเสียดายลืมถ่ายภาพ ‘Close-Up’ ใบหน้าตัวละครตอนตะเกียกตะกายออกมาจากท่อน้ำทิ้ง

ตอนเปิดเผยว่าค้อนแกะสลักซุกซ่อนอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ทำให้ระลึกว่าตอนพัศดีตรวจค้นห้องขังของ Andy ก็เคยหยิบไบเบิลเล่มนี้ขึ้นมาเชยชมแต่ไม่ได้เปิดออกดู เช่นนั้นแล้วคำตอบของ Red ที่ตั้งคำถามความคิดสุดท้ายของพัศดีก่อนเป่าขมองตนเอง “How the hell Andy Dufresne ever got the best of him?” คำตอบก็คือ Holy Bible เล่มนี้นี่เอง!

เกร็ด: เมืองไทยเรามีสำนวน “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง” แต่สำหรับชาวคริสเตียน พระเยซูเคยเอ่ยกล่าว

Do not be deceived: God cannot be mocked. A man reaps what he sows.

Galatians 6:7

สำนวนอังกฤษ “You reap what you sow.” หมายถึงหว่านเมล็ดพันธุ์พืชใด ย่อมได้รับพืชพันธุ์ที่หว่านไว้, พัศดี Samuel Norton ทำการฉ้อฉล คอรัปชั่น จึงถูกทางการตรวจสอบ จับกุม กรรมนั้นหวนคืนสนอง

เมื่อตอนที่ Brook ได้รับการปล่อยตัว ก้าวออกจากประตูเรือนจำ กล้องถ่ายจากภายนอกเข้ามา ราวกับต้องการสื่อถึงจิตวิญญาณที่ยังคงติดคุกอยู่ภายใน ไม่สามารถพบเจออิสรภาพแท้จริง, ตรงกันข้ามกับ Red กล้องถ่ายจากภายใน มองเห็นทิวทัศน์ภายนอก หันมาอำลาบรรดาผู้คุมขัง แล้วก้าวสู่อิสรภาพทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ

ต้นโอ๊คขาว (Shawshank Tree) “like something out of a Robert Frost poem” ไม่เพียงสัญญะแห่งความหวังของ Red แต่กลายเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญของบรรดาผู้ชม! ตั้งอยู่ยัง Malabar Farm State Park ณ Monroe Township, Ohio ความสูงประมาณ 100 ฟุต (30 เมตร) คาดการณ์อายุ 180-200 ปี

Out through the fields and the woods
And over the walls I have wended;
I have climbed the hills of view
And looked at the world, and descended;
I have come by the highway home,
And lo, it is ended.

The leaves are all dead on the ground,
Save those that the oak is keeping
To ravel them one by one
And let them go scraping and creeping
Out over the crusted snow,
When others are sleeping.

And the dead leaves lie huddled and still,
No longer blown hither and thither;
The last lone aster is gone;
The flowers of the witch hazel wither;
The heart is still aching to seek,
But the feet question ‘Whither?’

Ah, when to the heart of man
Was it ever less than a treason
To go with the drift of things,
To yield with a grace to reason,
And bow and accept the end
Of a love or a season?

บทกวี Reluctance แต่งโดย Robert Frost (1874-1963)

ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว (Shawshank Trail) มีผู้คนมาเยี่ยมชมกว่า 35,000+ คนต่อปี! น่าเสียดายถูกฟ้าผ่าหักครึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2011 และโดนพายุลมแรงหักโค่นล้มเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016 ปัจจุบันหลงเหลือเพียงอนุสรณ์สถาน ส่วนเศษซากไม้หักพักถูกนำมาทำของที่ระลึก

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการเอ่ยกล่าวถึง Zihuatanejo, Mexico แต่ผกก. Darabont ไม่ได้มีแผนจะเดินทางไปถ่ายทำ หนังจบลงแค่ Red ขึ้นรถโดยสารมุ่งสู่ชายแดน Mexico ไม่รู้โชคชะตากรรม ทว่าระหว่างการตัดต่อโปรดิวเซอร์ Liz Glotzer ยืนกรานให้ถ่ายเพิ่ม ต้องการให้หนังจบลงอย่าง Happy Ending เพราะได้เงินเพิ่มก็เลยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชายหาดแห่งนี้ถ่ายทำยัง Sandy Point ตั้งอยู่บนเกาะ St. Croix, U.S. Virgin Islands ในทะเล Caribbean (สหรัฐอเมริกาซื้อต่อเกาะแห่งนี้จาก Danish West Indies ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917) ท้องฟ้า-หาดทราย ราวกับสรวงสวรรค์ กลายเป็นฉากโปรดปรานของผู้ชมรอบทดลองฉาย

I think it’s a magical and uplifting place for our characters to arrive at the end of their long saga…

Frank Darabont

ตัดต่อโดย Richard Francis-Bruce (เกิดปี ค.ศ. 1948) สัญชาติ Australian เกิดที่ Sydney, วัยเด็กวาดฝันอยากเป็นตากล้องตามรอยบิดา Jack Bruce ที่เคยทำงานกับ Cecil B. DeMille แต่ทว่าตนเองกลับได้ทำงานตัดต่อที่ Australian Broadcasting Corporation (ABC), ระหว่างนั้นมีโอกาสร่วมงาน George Miller อาทิ Mad Max Beyond Thunderdome (1985), The Witches of Eastwick (1987), Lorenzo’s Oil (1992), ก่อนย้ายสู่สหรัฐอเมริกา ผลงานเด่นๆ อาทิ The Shawshank Redemption (1994), Seven (1995), The Rock (1996), Air Force One (1997), The Green Mile (1999), Harry Potter and the Philosopher’s Stone (2001) ฯ

นอกจากอารัมบทเหตุการณ์ที่ทำให้ Andy ถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต, เรื่องราวของหนังนำเสนอผ่านมุมมอง พร้อมเสียงบรรยายของ Red ชายผิวสี(น่าจะเชื้อสาย Irish-American)สูงวัย อาศัยอยู่ในเรือนจำ Shawshank มานานกว่าสองทศวรรษ ตั้งแต่แรกพบเจอก็เกิดความสนอกสนใจอีกฝ่าย เรียนรู้จัก พึ่งพาอาศัย รวมระยะเวลาประมาณ 20 ปี จนกระทั่งหลบหนีออกจากเรือนจำ และปัจฉิมบทหลังจากนั้น

  • อารัมบท, คดีฆาตกรรม ศาลตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต
  • การปรับตัวกับชีวิตในเรือนจำของ Andy
    • Andy และนักโทษอื่นๆเดินทางมาถึงยังเรือนจำ Shawshank ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น
    • ค่ำคืนแรกในห้องขัง และเช้าวันถัดมา
    • ประมาณเดือนถัดมา Andy เข้าหา Red เพื่อให้ช่วยหาซื้อค้อนแกะสลัก
    • Andy ถูกหมายตาจากพวกนักข่มขืน
    • Andy และผองพวกทำงานบนชั้นดาดฟ้า ให้คำแนะนำด้านการเงินกับผู้คุม Hadley วันสุดท้ายเลยได้ดื่มเบียร์เฉลิมฉลอง
    • ระหว่างรับชมภาพยนตร์ Gilda (1946), Andy ขอให้ Red ลักลอบนำเข้าโปสเตอร์ Rita Hayworth
    • พวกนักข่มขืนพยายามเผด็จศึก Andy เลยถูกผู้คุมจัดการจนพิการ
  • บรรณารักษ์ห้องสมุด
    • วันหนึ่งพัศดีเข้าตรวจค้นห้องขังโดยไม่บอกกล่าว Andy รอดตัวอย่างหวุดหวิด
    • Andy ได้รับมอบหมายหน้าที่ใหม่ เป็นพนักงานห้องสมุด ให้ความช่วยเหลือนักโทษสูงวัย Brooks 
    • Andy กลายเป็นพนักงานบัญชี ให้การช่วยเหลือผู้คนมากมายหลีกเลี่ยงภาษี
    • Brooks ได้รับทัณฑ์บน จำต้องออกจากเรือนจำ แต่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกภายนอก เลยตัดสินใจผูกคอฆ่าตัวตาย
    • Andy เขียนจดหมายขอให้หน่วยงานรัฐจัดสร้างห้องสมุด พยายามอยู่หลายครั้งจนได้รับคำตอบกลับ เปิดแผ่นเสียง The Marriage of Figaro สำหรับเฉลิมฉลอง
    • รัฐบาลส่งมอบทุนให้สร้างห้องสมุดในเรือนจำ สำเร็จตามความตั้งใจของ Andy
    • Andy กลายเป็นนักบัญชี ฟอกเงินทุจริตของพัศดี เล่าการสร้างบุคคลสมมุติ Randall Stephens ให้กับ Red
  • เรื่องราวของ Tommy Williams
    • การมาถึงของนักโทษหน้าใหม่ Tommy Williams ชอบคุยโวโอ้อวด
    • Tommy ต้องการเรียนหนังสือ ร้องขอให้ Andy เป็นครูสอนจนสามารถสอบผ่าน
    • Tommy เล่าเรื่องเพื่อนร่วมห้องขังคนหนึ่ง คุยโวว่าเป็นคนฆ่าภรรยานายธนาคารและชู้รัก แต่ผู้รับเคราะห์คือนายธนาคารถูกจำคุกตลอดชีวิต
    • นำความไปเล่าให้พัศดี แต่กลับเพิกเฉยไม่ใยดี เลยถูกสั่งขังเดี่ยว
    • พัศดีลงมือปิดปาก Tommy Williams
  • การหลบหนีของ Andy
    • หลังได้รับการปล่อยตัว Andy พูดคุยกับ Red อย่างมีเลศนัย
    • เช้าวันถัดมา Andy สูญหายตัวไปจากห้องขังอย่างไร้ร่องรอย บรรดาผู้พยายามออกติดตามหา
    • นำเสนอการหลบหนีของ Andy พร้อมเหตุการณ์วันถัดมาปลอมตัวเป็น Randall Stephens ถอนเงินฝากหมดเกลี้ยง
    • ทั้งยังส่งเอกสารทุจริตให้หนังสือพิมพ์ ทางการเลยส่งเจ้าหน้าที่มาจับกุมพัศดี
  • ปัจฉิมบท,
    • Red ได้รับภาคทัณฑ์ ปล่อยตัวออกจากเรือนจำ
    • เดินทางไปยัง Fort Hancock, Texas สถานที่ที่เคยให้คำมั่นสัญญากับ Andy
    • และออกเดินทางสู่สรวงสวรรค์ ชายหาด Zihuatanejo, Mexico

การเล่าเรื่องผ่านเสียงบรรยาย (ผกก. Darabont เล่าว่ารับอิทธิพลไม่น้อยจาก Goodfellas (1990)) ทำให้หนังเต็มไปด้วย ‘Time Skip’ ผู้ชมไม่ได้มีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราว/ตัวละครมากนัก แต่คือความรู้สึกเดียวกับ Andy ที่ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่ง สูญเสียตนเองกับชีวิตภายในเรือนจำ ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง เชื่อมั่นว่าสักวันฉันจะสามารถหลบหนี ออกจากสถานที่แห่งนี้

ส่วนไฮไลท์การตัดต่อผมยกให้ตอนอารัมบท เห็นว่าดั้งเดิมดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรง จากเหตุการณ์ฆาตกรรม ถูกจับกุม และขึ้นศาลไต่สวน แต่เพราะฉบับตัดต่อแรกความยาวเกินกว่าสองชั่วโมงครึ่ง รอบทดลองฉายผู้ชมง่วงหงาวหาวนอน (ตั้งแต่ฉากแรกเลยเนี่ยนะ!) เลยปรับเปลี่ยนมาการนำเสนอคู่ขนาน ตัดสลับกลับไปกลับมา ทำให้ดูกระชับ รวบรัด สร้างความน่าสนใจเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว! ได้เข้าชิง Oscar: Best Film Editing ด้วยละ!


เพลงประกอบโดย Thomas Montgomery Newman (เกิดปี ค.ศ. 1955) นักแต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California บุตรชายคนเล็กของ Alfred Newman ตั้งแต่เด็กได้รับการฝึกฝนไวโอลิน เข้าเรียนการแต่งเพลงยัง University of Southern California ก่อนย้ายไป Yale University, แรกเริ่มทำงานอยู่ Broadway จนได้รับการชักชวนจากลุง Lionel Newman มาทำงาน 20th Century Fox สนิทสนม John Williams ชักชวนมาให้กำกับออร์เคสตรา Return of the Jedi (1983), จากนั้นเริ่มทำเพลงประกอบภาพยนตร์ The Player (1992), Scent of a Woman (1992), The Shawshank Redemption (1994), American Beauty (1999), Finding Nemo (2003), WALL-E (2008), Skyfall (2012), Spectre (2015), 1917 (2019) ฯ

เกร็ด: จนถึงปี ค.ศ. 2024, Thomas Newman เข้าชิง Oscar ทั้งหมด 15 ครั้ง ยังไม่เคยได้รับสักรางวัล!

ด้วยความที่หนังมีทั้งเสียงบรรยาย เรื่องราวอันเข้มข้น Newman จึงพยายามทำเพลงประกอบด้วยท่วงทำนองที่ไม่โดดเด่นนัก มุ่งเน้นคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ เพื่อไม่ให้เบี่ยงเบนความสนใจผู้ชมมากเกินไป นอกจากฉากโชว์อ็อฟอย่างแนะนำเรือนจำ (บทเพลง Shawshank Prison), ระหว่างหลบหนี (บทเพลง Shawshank Redemption) และมีการใช้ฮาร์โมนิก้า (บทเพลง So Was Red) สัญลักษณ์แทนความหวังของ Red ที่ครั้งหนึ่ง Andy เคยมอบให้เป็นของขวัญ (ไม่เห็นฉากเป่า แต่จะได้ยินในเพลงประกอบแทน)

บทเพลง Shawshank Prison เริ่มต้นด้วยเสียงเชลโล่ทุ้มต่ำ เพื่อสื่อถึงเรือนจำแห่งนี้มีความต่ำตม สถานที่รวบรวมเดนมนุษย์ (ที่ถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต) แต่ทว่าออร์เคสตราติดตามมานั้นกลับมอบประกายความหวัง ตราบยังมีชีวิตและลมหายใจ สักวันหนึ่งอาจมีโอกาสหวนกลับสู่โลกภายนอกอีกครั้ง

Brooks Was Here น่าจะเป็นบทเพลงเศร้าที่สุดของหนัง บรรเลงเปียโนนุ่มๆ เว้นระยะห่างๆ พร้อมออร์เคสตราคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ สร้างสัมผัสเหมือนหายนะค่อยๆคืนคลานเข้าหาอดีตนักโทษสูงวัย Brooks Hatlen ได้รับทัณฑ์บน ปล่อยตัว กลับสู่โลกภายนอก แต่กว่า 40-50 ปีอาศัยอยู่แต่ในเรือนจำ แล้วจะให้ฉันปรับตัว มีชีวิตอยู่(บนโลกภายนอก)ได้อย่างไร?

บทเพลง Shawshank Redemption ดั้งเดิมนั้น Newman รังสรรค์ออกมาในลักษณะ ‘three-note motif’ ค่อยๆไต่ไล่ระดับเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของ Andy หลังจากหลบหนีออกจากเรือนจำได้สำเร็จ แต่ทว่าผกก. Darabont รู้สึกว่ามันเว่อวังอลังการมากเกินไป “too much triumphal flourish” จึงขอให้ปรับลดลงเหลือแค่ ‘single-note motif’ ทำให้บทเพลงมีความหนักแน่น ช้าลง และทรงพลังยิ่งขึ้น

I’m very sensitive to when a score crosses that line between enhancing the emotion and impact of a scene, and when it clobbers the viewer over the head by doing too much–which can actually be a very fine line, so sometimes the change needed is pretty subtle.

Frank Darabont

บทเพลง So Was Red ดังขึ้นหลังจาก Red ได้รับทัณฑ์บน ปล่อยตัวจากเรือนจำ ระหว่างเดินทางไปยัง Fort Hancock, Texas (สถานที่นัดหมายไว้กับ Andy) ดั้งเดิมนั้นแต่งขึ้นสำหรับเครื่องดนตรี Oboe แต่ทว่าผกก. Darabont โน้มน้าวขอให้แทรกใส่ฮาร์โมนิกา เพราะถือเป็นตัวแทนของ Red สัญญะแห่งความหวัง บรรเลงโดย Tommy Morgan เห็นว่าเข้าห้องอัด ครั้งแรกครั้งเดียวผ่าน! … แต่เท่าที่ผมลองฟังในอัลบัมเพลงประกอบ กลับไม่ได้ยินเสียงฮาร์โมนิก้าใดๆ คงจะมีเฉพาะในภาพยนตร์เท่านั้นกระมัง

นอกจาก Original Soundtrack ของ Newman ยังมีอีกสองบทเพลงที่ต้องกล่าวถึง ขอเริ่มจาก If I Didn’t Care (1939) หนึ่งในซิงเกิ้ลขายดีตลอดกาล ยอดจำหน่ายแผ่นเสียงกว่า 19 ล้านก็อปปี้! แต่งโดย Jack Lawrence, ขับร้องโดย Ink Spots feat. Bill Kenny

บทเพลงนี้ดังขึ้นช่วงอารัมบท Andy ในสภาพมึนเมา ขาดสติ ตระเตรียมลงมือฆาตกรรมภรรยาและชู้รัก เนื้อคำร้องพรรณาความเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ เพราะรักจึงหวงห่วงใย ทำไมเธอถึงทรยศหักหลังฉันได้ลง? ถึงอย่างนั้นเขาหาใช่คนลงมือเข่นฆ่าทั้งสอง … ก็เพราะรักอีกเช่นกันจึงทำไม่ลง

If I didn’t care more than words can say
If I didn’t care, would I feel this way?
If this isn’t love then why do I thrill?
And what makes my head go ’round and ’round
While my heart stands still?

If I didn’t care, would it be the same?
Would my every prayer begin and end with just your name?
And would I be sure that this is love beyond compare?
Would all this be true if I didn’t care for you?

If I didn’t care
Honey child, more than words can say
If I didn’t care
Would I feel this way?
Darlin’ if this isn’t love
Then why do I thrill so much?
And what is it that makes my head go ’round and ’round
While my heart just stands still so much?

If I didn’t care would it be the same?
Would my every prayer begin and end with just your name?
And would I be sure that this is love beyond compare?
Would all this be true if I didn’t care for you?

อีกบทเพลงไฮไลท์คือ Sull’aria … che soave zeffiretto แปลว่า On the breeze … What a gentle little Zephyr บทเพลงร้องคู่ (Duettino) ในอุปรากร The Marriage of Figaro, K. 492 (1786) Act 3, Scene 20, ประพันธ์โดย Wolfgang Amadeus Mozart, คำร้องโดย Lorenzo Da Ponte, ทำการดัดแปลงจากละคอนสุขนาฏรรม La folle journée, ou le Mariage de Figaro (1784) (แปลว่า The Mad Day, or The Marriage of Figaro) สร้างโดย Pierre Beaumarchais

เรื่องราวของคนรับใช้ Figaro กำลังจะแต่งงานกับ Susanna แต่ทว่านายจ้าง Count Almaviva พยายามเกี้ยวพาราสี Susanna ความเข้าถึงหู Countess Rosina จึงครุ่นคิดวางแผนแก้เผ็ดสามีให้เข็ดหลากจำ!

I have no idea to this day what those two Italian ladies were singing about. … I’d like to think they were singing about something so beautiful it can’t be expressed in words, and it makes your heart ache because of it.

Ellis Boyd “Red” Redding

แต่ทว่าเนื้อคำร้องของบทเพลงนี้ นำเสนอบทสนทนาระหว่าง Countess Rosina และสาวรับใช้คนสนิท Susanna ผลัดกันอ่านจดหมาย ตระหนักถึงพฤติกรรมคบชู้นอกใจสามี (Count Almaviva) เลยวางแผนการที่จะเปิดโปงความจริงดังกล่าว … เป็นการสะท้อนถึงพฤติกรรมทุจริต คอรัปชั่นของพัศดี และบรรดาผู้คุมในเรือนจำแห่งนี้ ซึ่งภายหลังจาก Andy สามารถหลบหนีกลับสู่โลกภายนอก ทุกสิ่งอย่างจักได้รับการเปิดโปงออกมา

ต้นฉบับอิตาเลี่ยนคำแปลอังกฤษ
Contessa: Canzonetta sull’aria…A little song on the breeze…
Susanna: Sull’aria…On the breeze…
Contessa: Che soave zeffiretto…What a gentle little Zephyr…
Susanna: Zeffiretto…A little Zephyr…
Contessa: Questa sera spirerà…This evening will sigh…
Susanna: Questa sera spirerà…This evening will sigh…
Contessa: Sotto i pini del boschetto.Under the pines in the little grove.
Susanna: Sotto i pini…Under the pines…
Contessa: Sotto i pini del boschetto.Under the pines in the little grove.
Susanna: Sotto i pini…del boschetto…Under the pines…in the little grove….
Contessa: Ei già il resto capirà.And the rest he’ll understand.
Susanna & Contessa: Certo, certo il capirà.Certainly, certainly he’ll understand.

เกร็ด: ในหนังขับร้องโดย Edith Mathis & Gundula Janowitz ร่วมกับ Orchestra of the Deutsche Oper Berlin, กำกับวงโดย Karl Böhm

โดยปกติแล้วนักโทษที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ถ้าไม่ได้มีอาการผิดปกติทางจิต ย่อมต้องตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว สิ้นหวัง ไม่สามารถยินยอมรับคำตัดสินโทษทัณฑ์ ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะปรับตัวเข้ากับชีวิตไร้อิสรภาพในเรือนจำ!

แต่ทว่า Andy Dufresne รับรู้ตนเองว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่กลายเป็นแพะรับบาป ต้องมารับโทษจำคุกตลอดชีวิต เขาเลยปฏิเสธก้มหัวศิโรราบ พยายามหาหนทางต่อสู้ดิ้นรน จิตวิญญาณยังคงเอ่อล้นด้วยความหวัง เชื่อมั่นว่าสักวันจักสามารถดิ้นหลบหนี ก้าวออกจากสถานที่แห่งนี้!

บทเรียนทั่วๆไปที่ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจจาก The Shawshank Redemption (1994) กอปรด้วยมิตรภาพ ความหวัง ความรุนแรง, ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายแค่ไหน ตราบที่เรามีความมุ่งมั่น จิตวิญญาณอันเข้มแข็ง ไม่ย่นย่อท้อแท้ สักวันย่อมต้องสามารถก้าวข้ามอุปสรรคขวากหนาม บรรลุถึงเป้าหมายเส้นชัย เอาชนะภัยพาล ดิ้นหลุดพ้นพันธนาการเหนี่ยวรั้ง ก้าวออกเดินทางสู่สรวงสวรรค์

บทวิเคราะห์ที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง, Andy สามารถเปรียบดั่งพระผู้ไถ่ (Christ-like figure) เป็นคนไม่เคยความหวาดกลัวเกรงอะไร นำพาสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นมากมาย (นักโทษดื่มเบียร์บนดาดฟ้า, สร้างห้องสมุด, เปิดเพลงราวกับเสียงสวรรค์, ช่วยสอนหนังสือ Tommy Williams ฯ) โดยเฉพาะช่วงท้ายสามารถหลบหนีออกจากเรือนจำ ไม่ต่างจากตายแล้วฟื้นคืนชีพ เดินทางสู่ Zihuatanejo, Mexico ดูงดงามราวกับสรวงสวรรค์

พัศดี Norton เคยเอ่ยถ้อยคำจากคัมภีร์ไบเบิล “I am the light of the world.” แต่ทุกการกระทำล้วนบ่งบอกว่าชายคนนี้มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย แต่งตั้งตนเองคือกฎหมาย ไม่ต่างจากเผด็จการ ซาตาน และยังมักถูกเปรียบเทียบกับปธน. Richard Nixon พยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่ลับหลังเต็มไปด้วยความทุจริต คอรัปชั่น

เพื่อนผู้ต้องขัง Red ในหนังไม่มีคำอธิบายว่าเคยกระทำสิ่งเลวร้ายอันใด ถึงทำให้ต้องโทษติดคุกตลอดชีวิต แต่ความเชื่อของชาวคริสเตียน ตราบยังเชื่อมั่นในความรอด (Salvation) ยินยอมรับสารภาพ พูดออกมาจากใจจริง (ครั้งที่สามที่ Red พูดบอกกับผู้คุม นั่นทำให้เขาได้รับทัณฑ์บน ปล่อยตัวจากเรือนจำ) ย่อมสามารถไถ่ถอน (Redemption) และออกเดินทางสู่สรวงสวรรค์

แม้หนังจะเต็มไปด้วยสัญญะของคริสเตียน แต่เรายังสามารถเปรียบเทียบกับปรัชญาพุทธ เรือนจำ Shawshank คือจุลภาคของโลกมนุษย์ เต็มไปด้วยกฎระเบียบข้อบังคับ ไม่แตกต่างจากผนังกำแพงห้อมล้อมรอบ คนส่วนใหญ่ล้วนก้มหัวศิโรราบ ครุ่นคิดว่า(โทษจำคุกตลอดชีวิต)ไร้หนทางดิ้นหลบหนี ตราบจนกว่าจะมีใครสักคนค้นพบหนทาง ก้าวออกจากสังสารวัฏ บรรลุมรรคผล สู่ดินแดนแห่งพระนิพพาน

ท้ายที่สุดแล้วผมอยากย้อนกลับมาอธิบายคอนเซ็ปง่ายๆของสื่อภาพยนตร์ทำให้ผู้ชม “Escapist” หลบหนีออกจากโลกความจริง(ที่โหดร้าย) หลายคนอาจถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว (ในเชิงนามธรรม) ไม่ว่าจะครอบครัว ความสัมพันธ์ อาชีพการงาน สภาพแวดล้อม รวมถึงประเทศของตนเอง ซึ่งโดยไม่รู้ตัว The Shawshank Redemption (1994) อาจกลายเป็นหนทางหลบหนี (โปสเตอร์ภาพยนตร์ปกปิดอุโมงค์ทางออก) สรวงสวรรค์ของใครต่อใคร

ชื่อหนัง The Shawshank Redemption สรุปแล้วมีใครบ้างที่ได้รับการไถ่โทษ? ผกก. Darabont เชื่อว่าทุกคนในเรือนจำ ต่างได้ชดใช้(เวรกรรม)อะไรบางอย่าง บางคนมาก บางคนน้อย ไม่เว้นแม้แต่ผู้คุม พัศดี ต่างก็ตัดสินใจเลือกชะตาชีวิตของตนเอง

Everybody. Everybody gets redeemed in that movie to some degree or another. One of the cool things about life—or drama, if not life—is that a forceful and righteous individual can really effect a lot of change. And some of it’s awfully subtle, maybe it’s just one tiny kernel of grace you take away from knowing this person. And that’s what I love about storytelling too—everybody winds up getting kicked in the ass or uplifted in a really good story. Even the warden, when he puts the gun to his head and pulls the trigger, that’s redemption for this guy.

Frank Darabont 

เกร็ด: Stephen King มีความโปรดปราน The Shawshank Redemption (1994) ถึงขนาดยกให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดที่ดัดแปลงจากนวนิยายตนเอง จึงไว้วางใจผกก. Darabont ให้สรรค์สร้าง The Green Mile (1999) ที่ก็เป็นแนว ‘prison film’ เช่นเดียวกัน!


ด้วยทุนสร้าง $25 ล้านเหรียญ ทำเงินในการฉายครั้งแรกได้ประมาณ $16 ล้านเหรียญ คาดกันว่าเหตุผลที่ประสบความล้มเหลวเพราะฉายคาบเกี่ยวระหว่าง Forrest Gump ($330 ล้านเหรียญ) และ Pulp Fiction ($108 ล้านเหรียญ)

แซว: แต่เหตุผลที่ทั้ง Tim Robbins และ Morgan Freeman พร่ำบ่นกันก็คือชื่อหนัง “What was that Shinkshonk Reduction thing?”

แม้หนังขาดทุนย่อยยับ แต่ด้วยเสียงตอบรับดียอดเยี่ยมเลยทำให้ได้เข้าชิง Oscar ถึง 7 สาขา ถูกมองข้ามผู้กำกับ และอีกนักแสดงนำ Tim Robbins (อาจจะตัดคะแนนกันเองกับ Morgan Freeman) ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้รางวัลใดๆกลับมา

  • Best Picture พ่ายให้กับ Forrest Gump (1994)
  • Best Actor (Morgan Freeman)
  • Best Adapted Screenplay
  • Best Cinematography
  • Best Film Editing
  • Best Sound
  • Best Original Score

ความล้มเหลวในการฉายโรงภาพยนตร์ ทำให้ Warner Home Video ทดลองเสี่ยงกับ VHS จำนวน 320,000 ม้วน ผลปรากฎว่ากระแสปากต่อปาก ทำให้ยอดเช่า-ซื้อ ขายดีอันดับหนึ่งแห่งปี แถมพอฉายทางโทรทัศน์ก็ยังมีผู้ชมอีกนับล้านๆ ประมาณการณ์เมื่อปี ค.ศ. 2014 ยอดขาย Home Video รวมๆแล้วไม่น่าจะน้อยกว่า $80 ล้านเหรียญ! คืนกำไรงามๆ เสือนอนกินสบายๆ

เท่าที่ผมพอจะหาข้อมูลได้ แทบทุกชาร์ท/นักวิจารณ์/นิตยสารที่หนังติดอันดับ ล้วนอยู่ในสหรัฐอเมริกา

  • Empire: 100 Greatest Movies Of All Time (2003) #ติดอันดับ 5
  • Writers Guild of America: 101 Greatest Screenplay (2005) #ติดอันดับ 22
  • Film4: 50 Films to See Before You Die (2006) #ติดอันดับ 13
  • AFI’s 100 Years…100 Cheers (2006) #ติดอันดับ 23
  • AFI’s 100 Years…100 Movies (10th Anniversary Edition) (2007) #ติดอันดับ 72
  • Empire: 500 Greatest Movies Of All Time (2008) #ติดอันดับ 4
  • Empire: 100 Greatest Movies Of All Time (2017) #ติดอันดับ 4

แทบจะทุกๆ 4-5 ปี Warner Bros. จะออกแผ่น Blu-Ray ใหม่ๆมาล่อตาล่อใจ ล่าสุดคือฉบับสแกนใหม่ 4K Ultra HD (2160p HDR Transfer) วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2021

ถ้าผมเขียนถึง The Shawshank Redemption (1994) เมื่อตอนเริ่มทำ raremeat.blog คงได้กล่าวยกย่องสรรเสริญ หนึ่งในภาพยนตร์ทรงคุณค่าแห่งมนุษยชาติ! แต่ด้วยประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น เข้าใจศิลปะภาพยนตร์อย่างลึกซึ้ง จึงตระหนักว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ขนาดนั้น เพียงความบันเทิงที่สามารถเข้าถึงผู้ชมวงกว้าง แฝงสาระข้อคิด และสร้างกำลังใจให้กับชีวิต … สำหรับคนรักหนังทั่วๆไป แค่นั้นก็อาจเพียงพอแล้วละ ไม่ต้องไปสนหัวนักวิจารณ์มันหรอก!

จัดเรต 13+ กับคดีฆาตกรรม ติดคุกตลอดชีวิต

คำโปรย | The Shawshank Redemption ภาพยนตร์ที่จักทำให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ แฝงสาระข้อคิด สร้างกำลังใจให้กับชีวิต
คุณภาพ | ตื่รู้
ส่วนตัว | หลับอยู่

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Oaz Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oaz
Guest
Oaz

หนังเรื่องนี้ดีและเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายด้วย แต่สำหรับนักวิจารณ์ที่ผ่านหนังมาเยอะ ไม่แปลกที่เรื่องนี้ไม่ค่อยถูกจัดอันดับสูงๆเท่าไหร่ Forrest Gump นี่ยิ่งเฉยๆเลย

%d bloggers like this: