
The Green Mile (1999)
: Frank Darabont ♥♥♥♥
พัศดีแดนประหาร Tom Hanks พบเห็นปาฏิหาริย์ (Magical Realism) จากนักโทษที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต รับรู้ว่าอีกฝ่ายไม่ได้กระทำความผิด อยากจะช่วยเหลือแต่ไม่สามารถทำอะไร เพียงประจักษ์ความตาย และกลายเป็นนิรันดร์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เมื่อตอน The Shawshank Redemption (1994) ปาฏิหารย์ของนายธนาคาร Andy Dufresne ล้วนเป็นสิ่งจับต้องได้ ไม่ไกลเกินจริง, แต่ทว่า The Green Mile (1999) ก้าวล่วงไปยังดินแดน ‘Magical Realism’ สำแดงอิทธิฤทธิ์ ยินยอมทุกข์ทรมาน ถูกตรึง(กางเขน)เก้าอี้ไฟฟ้า แม้ไม่ได้ฟื้นคืนชีพในสามวัน แต่ก็ได้กลายเป็นอมตะนิรันดร์
The Green Mile (1999) แตกต่างจาก The Shawshank Redemption (1994) ตรงที่บรรดานักโทษแดนประหาร ไม่หลงเหลือโอกาสและความหวัง เพียงนับวันรอคอยความตาย แต่ทว่าช่วงระยะเวลาสั้นๆ สามารถพิสูจน์สันดานธาตุแท้ใจคน ยังคงความเป็นมนุษย์ หรือกลายร่างเดรัจฉาน
ผมรู้สึกว่ามันคือสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้! เมื่อรับชม The Shawshank Redemption (1994) จำเป็นต้องติดตามต่อด้วย The Green Mile (1999) เพราะต่างคือ ‘prison film’ สร้างโดยผู้กำกับ Frank Darabont ดัดแปลงจากนวนิยาย Stephen King ราวกับภาคต่อทางจิตวิญญาณ แม้คุณภาพอาจไม่เทียบเท่า แต่มีความงดงาม ทรงคุณค่า สมควรแก่การ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เตรียมทิชชู่ไว้ด้วยละ!
Frank Árpád Darabont หรือ Ferenc Árpád Darabont (เกิดปี ค.ศ. 1959) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ค่ายผู้อพยพ Montbéliard, France ในครอบครัวชาว Hungarian หลบหนีออกจากประเทศหลังเหตุการณ์ 1956 Hungarian Revolution จากนั้นเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ปักหลักอาศัยอยู่ Los Angeles, วัยเด็กเมื่อมีโอกาสรับชม THX 1138 (1971) ใฝ่ฝันอยากเข้าสู่วงการภาพยนตร์ หลังเรียนจบมัธยม Hollywood High School เข้าทำงานโรงหนัง Grauman’s Egyptian Theatre จากนั้นเป็นผู้ช่วยโปรดักชั่น Hell Night (1981), The Seduction (1982), Trancers (1984), กำกับหนังสั้นเรื่องแรก The Woman in the Room (1983) ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Stephen King จ่ายค่าลิขสิทธิ์เพียง $1 ดอลลาร์ (Dollar Baby หรือ Dollar Deal)
หลังเสร็จจากโปรเจคหนังสั้น Darabont จึงมีโอกาสพัฒนาบทหนัง A Nightmare on Elm Street 3: Dream Warriors (1987), The Blob (1988), The Fly II (1989) ฯ ตามด้วยกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Shawshank Redemption (1994) แม้ตอนออกฉายจะไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่กระแสปากต่อปากทำให้ได้รับกระแสคัลท์ (Cult Following) และกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล!
สำหรับผลงานเรื่องถัดมา The Green Mile ยังคงดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ Stephen King ตีพิมพ์ในลักษณะ Serial Novel จำนวน 6 เล่ม (แต่ภายหลังก็ตีพิมพ์รวมเล่มเดียว เพราะมันไม่ได้ยาวมากมาย) … เป็นการทดลองตีพิมพ์นิยายแบบรูปเล่มรายเดือน (ได้แรงบันดาลใจจากสำนักพิมพ์ Malcolm Edwards เคยตีพิมพ์ผลงานของ Charles Dickens ในลักษณะเดียวกันนี้) ว่ากันว่าเพื่อแก้เผ็ดคนที่ชอบพลิกอ่านเฉพาะบทสุดท้าย แทนที่จะได้พบเจอตอนจบ กลับต้องปีนป่ายหน้าผา (Cliffhanger) ค้างๆคาๆ รออ่านเล่มถัดไป
- The Two Dead Girls ตีพิมพ์มีนาคม ค.ศ. 1996 จำนวน 92 หน้า
- The Mouse on the Mile ตีพิมพ์เมษายน ค.ศ. 1996 จำนวน 96 หน้า
- Coffey’s Hands ตีพิมพ์พฤษภาคม ค.ศ. 1996 จำนวน 96 หน้า
- The Bad Death of Eduard Delacroix ตีพิมพ์มิถุนายน ค.ศ. 1996 จำนวน 96 หน้า
- Night Journey ตีพิมพ์กรกฎาคม ค.ศ. 1996 จำนวน 96 หน้า
- Coffey on the Mile ตีพิมพ์สิงหาคม ค.ศ. 1996 จำนวน 144 หน้า
แซว: ตอนที่ Stephen King ตีพิมพ์นวนิยายเล่มแรก เขาเพิ่งเริ่มเขียนเล่ม 4 ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าให้ตอนจบลงเอยเช่นไร?
There a feeling in The Green Mile that human spirit is alive and well even under the most difficult circumstances. And I think sometimes the more difficult life becomes and there can’t be a place where life’s much more difficult that death row. The more difficult that life become the more the human spirit has a chance to shine.
Stephen King
ผกก. Darabont ใช้เวลา 8 สัปดาห์ในการดัดแปลงบทภาพยนตร์ เห็นว่าตอนเริ่มลงมือเขียน แมวตัวโปรดล้มป่วยเนื้องอก สัตวแพทย์วินิจฉัยว่าคงมีชีวิตอยู่ไม่นาน เขาเลยนำมันกลับมาดูแลที่บ้าน ได้รับประสบการณ์ ‘Green Mile’ เข้าใจความรู้สึกของพัศดี Paul Edgecomb … เจ้าเหมียวเสียชีวิตตอนพัฒนาบทใกล้เสร็จพอดี
It’s the whole Green Mile death row experience… The writing of it was very much that. I had this creature I really cared about walking that mile.
Frank Darabont
บ้านพักคนชรา ค.ศ. 1999 เรื่องราวของ Paul Edgecomb (วัยชรารับบทโดย Dabbs Greer, วัยหนุ่มรับบทโดย Tom Hanks) หลังจากรับชมภาพยนตร์ Top Hat (1935) มิอาจควบคุมตนเอง เต็มไปด้วยความเศร้าโศกเสียใจ จึงเล่าเรื่องราวความหลังให้กับเพื่อนผู้สูงวัย หวนระลึกถึงตอนทำงานเป็นพัศดีแดนประหาร Cold Mountain Penitentiary, Louisiana มีหน้าที่ดูแลนักโทษหลังได้รับการตัดสิน จนถึงวันประหารชีวิต ซึ่งทุกคนต้องเดินผ่าน Green Mile เส้นทางสีเขียวที่ใช้เป็นก้าวเดินจากห้องขังสู่เก้าอี้ไฟฟ้า
การมาถึงของ John Coffey (รับบทโดย Michael Clarke Duncan) ชายผิวสีร่างใหญ่ยักษ์ ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยข้อหาฆาตกรรมเด็กหญิงสองคน แต่สังเกตจากพฤติกรรมรักสงบ พูดจาสุภาพ จิตใจอ่อนโยน มันไม่น่าเป็นไปได้ที่ชายคนนี้จะลงมือฆ่าสังโหดผู้บริสุทธิ์ได้ลง
ซึ่งสิ่งสร้างความคาดไม่ถึงให้กับ Edgecomb คือการที่ Coffey สำแดงอิทธิฤทธิ์รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Urinary Tract Infections), อีกทั้งยังชุบชีวิตเจ้าหนูน้อย Mr. Jingles หลังถูกย่ำเหยียบโดยผู้คุมจอมโหด Percy Wetmore (รับบทโดย Doug Hutchison) และปาฏิหารย์ครั้งสุดท้าย ช่วยรักษาเนื้องอกในสมองภรรยาของหัวหน้าพัศดี Hal Moores (รับบทโดย James Cromwell) หายเป็นปลิดทิ้ง!
นั่นทำให้ชาวพัศดีแดนประหารมีความเชื่อมั่นว่า Coffey คือบุคคลที่พระเจ้าส่งมาช่วยเหลือมนุษย์โลก พร้อมจะให้ความช่วยเหลือพาหลบหนีออกนอกเรือนจำ แต่เขาตอบปฏิเสธเพราะไม่ต้องการสร้างปัญหาให้คนอื่น ยินยอมรับโชคชะตา(กรรม)ของตนเอง และได้มอบพลังบางส่วนให้กับ Edgecomb เปิดเผยเบื้องหลังความจริงต่อคดีฆาตกรรม นั่นทำให้เขาแทบมิอาจอดกลั้นฝืนทน ระหว่างรับชมการประหารชีวิต
Thomas Jeffrey Hanks (เกิดปี ค.ศ. 1956) นักแสดงเจ้าของฉายา Mr. America เกิดที่ Concord, California สมัยเด็กเป็นคนที่เข้ากับใครไม่ค่อยได้ แต่มีความหลงใหลด้านการแสดง โตขึ้นเข้าศึกษาต่อ Chabot College ก่อนย้ายไป California State University สุดท้ายตัดสินใจลาออกเพื่อมาเป็นนักแสดงอาชีพเต็มตัว, ค.ศ. 1979 ย้ายมาปักหลัก New York City แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแนว Slasher ทุนต่ำ He Knows You’re Alone (1980), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Splash (1984), Big (1988), Sleepless in Seattle (1993), สามารถคว้ารางวัล Oscar: Best Actor สองปีติดกับ Philadelphia (1993) และ Forrest Gump (1994), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Apollo 13 (1995), You’ve Got Mail (1998), The Green Mile (1999), Cast Away (2000), Road to Perdition (2002), The Da Vinci Code (2006) ฯ ให้เสียงพากย์ The Polar Express (2004) และ Toy Story Series
รับบทหัวหน้าพัศดีแดนประหาร Paul Edgecomb เป็นคนสุภาพอ่อนโยน มีความเห็นอกเห็นใจนักโทษประหารชีวิต แต่ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ สามารถดูออกว่านักโทษคนไหนรู้สำนึก-ไม่รู้สำนึก การมาถึงของ John Coffey แรกเริ่มตกตะลึกกับความใหญ่ยักษ์ ไม่นานนักก็สัมผัสถึงความสุภาพอ่อนน้อม ต่อมาเมื่อช่วยรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รับรู้แก่ใจว่าอีกฝ่ายไม่ใช่ฆาตกรสังหารโหด แต่ก็มิอาจช่วยเหลือทำอะไร เพียงประจักษ์พยานการจากไปของมหาบุรุษ
ผกก. Darabont เคยพยายามติดต่อ Tom Hanks ให้มาแสดงนำภาพยนตร์ The Shawshank Redemption (1994) แต่คิวไม่ว่าง ติดถ่ายทำ Forrest Gump (1994) ถึงอย่างนั้นทั้งสองมีโอกาสพบเจอช่วงระหว่างเทศกาลล่ารางวัลปลายปี แสดงความสนอกสนใจอยากร่วมงานโปรเจคถัดไป
เกร็ด: Stephen King เล่าว่าสร้างตัวละคร Paul Edgecomb จากภาพนักแสดง Tom Hanks แอบคาดไม่ถึงตอนผกก. Darabont เสนอชื่ออีกฝ่าย เรียกว่าพวกเขาต่างมีภาพความเข้าใจตัวละครตรงกัน
การแสดงของ Tom Hanks เล่นเป็น Tom Hanks มันคือบทบาทภาพจำ พ่อคนดีศรีอเมริกัน มีความเป็นผู้นำ ได้รับการยอมรับจากทั้งหัวหน้าและผู้ใต้บังคับบัญชา เชื่อมั่นในความถูกต้อง เที่ยงธรรม ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ และเต็มไปด้วยความสงสารเห็นใจผู้อื่น, ท้าทายสุดคงคือตอนล้มป่วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แสดงอาการเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน (แต่สีหน้าดูเหมือนหื่นกระหายยังไงชอบกล) ทิ้งตัวลงนอนบนพื้น (The Green Mile) ในสภาพไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น ก่อนได้รับปาฏิหารย์ ราวกับฟื้นคืนชีพขึ้นใหม่
เกร็ด: ในตอนแรกมีการทดลองให้ Tom Hanks แต่งหน้าเป็นผู้ชรา แต่ผลลัพท์ออกมาไม่ดีสักเท่าไหร่ เลยจำต้องเปลี่ยนนักแสดง Dabbs Greer อายุตามหนังคือ 108 ปี ยังดูแข็งแรงเหมือน 70 กว่าๆ
Michael Clarke Duncan (1957-2012) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois วัยเด็กชื่นชอบกีฬาอเมริกันฟุตบอล เคยไปคัดตัวกับ Chicago Bears แต่ถูกมารดาสั่งห้าม เรียนยังไม่ทันจบออกมาทำงานปั๊มน้ำมัน, พนักงานรักษาความปลอดภัย, เคยได้เป็นบอดี้การ์ด Will Smith, Martin Lawrence, Jamie Fox ฯ ก่อนมีโอกาสแสดงตัวประกอบ Bulworth (1998), A Night at the Roxbury (1998), เริ่มเป็นที่รู้จักจาก Armageddon (1998), โด่งดังพลุแตกกับ The Green Mile (1999), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Planet of the Apes (2001), The Scorpion King (2002), Daredevil (2003), Sin City (2005) ฯ
รับบท John Coffey ชายผิวสีร่างยักษ์ ไม่มีใครรับรู้ว่ามาจากไหน (ราวกับร่วงหล่นจากบนท้องฟ้า) ถูกเข้าใจผิดว่าคือฆาตกรฆ่าสองเด็กหญิง เลยโดนตัดสินโทษประหารชีวิต ส่งตัวมาเรือนจำ Cold Mountain Penitentiary ของพัศดี Paul Edgecomb ตลอดเวลาอยู่ที่นี่ทำตัวสุภาพเรียบร้อย ไม่มีร่อยรอยฆาตกรสังหารโหด แถมยังสำแดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ พิสูจน์ให้ใครต่อใครรับรู้ถึงจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ยินยอมรับโชคชะตา(กรรม)โดยไม่ต่อต้านขัดขืน
นักแสดงผิวสีร่างใหญ่ใน Hollywood นั้นมีอยู่ไม่มาก เคยพยายามติดต่อ Shaquille O’Neal, Ving Rhames แต่ทั้งสองต่างบอกปัดปฏิเสธ, เห็นว่า Bruce Willis เป็นคนแนะนำ Michael Clarke Duncan ให้รับรู้จักผกก. Darabont ถือว่าโชคชะตานำพาโดยแท้
เกร็ด: จริงๆแล้ว Michael Clarke Duncan มีความสูงพอๆกับ David Morse เลยต้องใช้มุมกล้อง ยืนบนแผ่นรอง เพื่อให้ตัวละครมีขนาดสูงใหญ่ยักษ์ และยังออกแบบห้องขัง/เตียงนอนให้ดูเล็กกว่าปกติ
รูปร่างภาพลักษณ์ของ Clarke Duncan มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ดูยังไงก็บุคคลอันตราย แต่เราอย่าด่วนตัดสินคนแค่เพียงเปลือกภายนอก! ผู้ชมสมัยนั้นคงคาดไม่ถึงว่าชายคนนี้กลับมีความอ่อนไหว จิตใจอ่อนโยน พร้อมเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่นแม้ต้องอดรนทนเจ็บปวด พบเห็นร่ำร้องไห้บ่อยครั้งมากๆ ใครกันจะไม่รู้สึกสงสารเห็นใจ เขาทำผิดอะไร เหตุไฉนถึงถูกตัดสินโทษประหารชีวิต
นี่คือบทบาทแจ้งเกิดของ Clarke Duncan ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ กลายเป็นที่รักของเด็กๆ ได้รับโอกาสเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor (พ่ายให้กับ Michael Caine ภาพยนตร์ The Cider House Rules) การันตีความมั่นคงในอาชีพการงาน น่าเสียดายอายุสั้นไปหน่อย เสียชีวิตจากโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Attack) สิริอายุเพียง 54 ปี
ถ่ายภาพโดย David Tattersall (เกิดปี ค.ศ. 1960) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Barrow-in-Furness, ร่ำเรียนการถ่ายภาพจาก National Film and Television School, Beaconsfield แจ้งเกิดกับ Con Air (1997), Star Wars Trilogy (1999-2005), The Green Mile (1999), Die Another Day (2002), Speed Racer (2008) ฯ
น่าเสียดายที่ Roger Deakins หลังจาก The Shawshank Redemption (1994) คิวงานแน่นเอียด เลยต้องเปลี่ยนมาใช้บริการ David Tattersall ฝีไม้ลายมือจัดจ้านไม่แพ้กัน โดดเด่นกับการจัดแสง-เงามืด เลือกใช้โทนสีส้มเหลือง-น้ำเงินดำ (แทบจะไม่พบเห็นสีเขียวกับแดง) มอบสัมผัสอบอุ่น-เย็นยะเยือก สองสิ่งขั้วตรงข้าม ชีวิต-ความตาย การพิพากษาตัดสินของพระเจ้า
นอกจากความโดดเด่นเรื่องแสงสี อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจไม่แพ้กันคือลีลาการขยับเคลื่อนกล้อง มีความลื่นไหลต่อเนื่อง ดำเนินไปอย่างช้าเนิบ เพื่อสร้างสัมผัสวันเวลาในเรือนจำแดนประหารที่เคลื่อนคล้อยไปอย่างเชื่องช้า ความตายย่างกรายเข้ามา แต่มันกลับเนิ่นยาวนานชั่วกัปกัลป์ … หนังยาวสามชั่วโมงก็เพื่อจุดประสงค์นี้ด้วยละ!
ขณะที่ฉากภายนอกเรือนจำ (นามสมมติ) Cold Mountain Penitentiary ถ่ายทำยัง Tennessee State Penitentiary ตั้งอยู่ Nashville, Tennessee ฉากภายในทั้งหมดสร้างขึ้นในโรงถ่ายสตูดิโอ Warner Hollywood Studio, West Hollywood เพื่อสามารถขยับเคลื่อนย้ายผนังกำแพง ถ่ายทำภายนอก-ในห้องขังได้โดยง่าย
The Green Mile (1999) มีการละเล่นกับแสงสว่าง-เงามืดได้อย่างน่าประทับใจ, Edgecomb วัยชราตื่นขึ้นจากฝันร้าย กล้องถ่ายโคลสอัพดวงตาสองข้าง ฝั่งหนึ่งสว่าง ฝั่งหนึ่งมืด และเมื่อลุกขึ้นนั่งบนเตียงนอน ภายนอกหน้าต่างสว่างสดใส ตัดกับภายในห้องปกคลุมด้วยความมืดมิด
ความขัดแย้งดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมืด/ความทรงจำจากอดีตที่ยังคงติดค้างคาใจ แต่ร่างกายของเขากลับไม่ได้มีความเจ็บป่วย ไร้โรคไร้ภัย อายุยืนยาวกว่าร้อยปี


ทุกเช้าหลังตื่นนอน ระหว่างรับประทานอาหาร Edgecomb จะแอบก้าวเดินจากบ้านพักคนชราไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง พานผ่านเนินเขากว้างใหญ่ ยาวไกล ปกคลุมด้วยหญ้าสีเขียว … หรือว่านี่คือเส้นทาง The Green Mile???
ในบริบทของหนัง The Green Mile อาจคือเส้นทางสำหรับนักโทษก้าวเดินสู่แดนประหาร, แต่มนุษย์ทุกคนล้วนเกิด-ตาย ไม่มีใครหลบหนีพ้น ต่างก้าวเดินบนเส้นทางสีเขียว(สู่ความตาย)เช่นเดียวกัน แค่ว่ามันจะใกล้-ไกล … สำหรับ Edgecomb ระยะทางสู่ความตายมันช่างมีเหินห่าง ไกลโพ้น ไม่รู้จะถึงปลายทางเมื่อไหร่

ต้นฉบับนวนิยายไม่ได้มีการอ้างอิงถึงบทเพลง Cheek to Cheek จากภาพยนตร์ Top Hat (1935) เพราะเหตุการณ์ทั้งหมด(ที่เล่าเรื่องย้อนอดีต)เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1932 นั่นทำให้หนังจำต้องเปลี่ยนปีดำเนินเรื่อง อายุตัวละคร แต่เราไม่ต้องไปสนใจมันมากก็ได้นะครับ
ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลการเลือกบทเพลงนี้ ไม่ใช่เพราะท่อนคำร้อง Cheek to Cheek แต่คือ “I’m in heaven.” คำนี้มีความหมายสองแง่สองง่าม ช่วงเวลาแห่งสุขราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ หรือจะมองว่าตัวละครกำลังอยู่ในสรวงสวรรค์ตรงๆเลยก็ยังได้! (Edgecomb อาศัยอยู่บ้านพักคนชรา = สรวงสวรรค์?)

ตอนคุณปู่เริ่มเล่าเรื่องย้อนความหลัง สภาพอาการภายนอกฝนตกพรำ โทนสีเย็นๆ มองอะไรแทบไม่เห็น, ตรงกันข้ามกับช่วงท้ายหลังระบายความอัดอั้นภายในออกมาหมดสิ้น ฟ้าหลังฝน ท้องฟ้าสดใส ต้นไม้เขียวขจี โทนสีดูผ่อนคลาย หายจากอาการเศร้าโศก


ผมแอบผิดหวังเล็กๆที่หนังไม่ได้พยายามสำแดงเส้นทาง The Green Mile ให้เด่นชัดนัก! ผู้ชมต้องจับจ้อง สังเกตมองเอาเอง เห็นหรือว่าพื้นมีสีเขียว? มันช่างดูกลมกลืน จนแทบแยกแยะไม่ออก … ท้องทุ่งสีเขียวที่ผมอธิบายไปก่อนหน้ายังมีความชัดเจนยิ่งกว่า!
เกร็ด: ตามคำอธิบายของ Stephen King เส้นทางเดินสุดท้ายของนักโทษประหารมีคำเรียกศัพท์แสลง The Last Mile แต่ทว่าเรือนจำแห่งนี้ Cole Mountain Penitentiary ปูพื้นเสื่อน้ำมันสีเขียว (Linoleum) จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า The Green Mile

Michael Clarke Duncan มีความสูงพอๆกับ David Morse คือ 196 เซนติเมตร (6 ฟุต 5 นิ้ว) แต่ความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ ใช้ลูกเล่นมุมกล้อง นักแสดงยืนบนแผ่นรอง สร้างห้องขังให้มีขนาดเล็กกว่าปกติ ฯ เพื่อทำให้ชายคนนี้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ ใครต่อใครต้องแหงนหน้ามองด้วยความฉงนสงสัย


ระหว่างที่พัศดี Edgecomb อ่านเอกสารคำตัดสินของ Coffey จะมีการฉายภาพเหตุการณ์บังเกิดขึ้น ถ่ายทำตอนพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน (Golden Hour) แสงสีทองช่างมีความงดงาม แต่กลับซ่อนเร้นด้วยหายนะ


หนูจำนวน 15 ตัว ได้รับการฝึกฝนเป็นเดือนๆเพื่อทำการแสดงแตกต่างออกไป ตัวหนึ่งวิ่ง ตัวหนึ่งกินอาหาร ตัวหนึ่งเล่นกายกรรม ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยอยู่ร่วมเฟรมกับนักแสดง (ใช้ลูกเล่นภาพยนตร์อีกเช่นกัน) สิ่งที่พวกเขาก้มมอง คือแสงเลเซอร์สาดส่องสำหรับกำหนดจุดสายตา
การมาถึงของ John Coffey = การปรากฎตัวของเจ้าหนูน้อย คนหนึ่งร่างกายใหญ่ยักษ์ อีกตัวหนึ่งเล็กกระจิดริด ทั้งสองไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร มีเพียงมนุษย์เองนะแหละวุ่นๆวายๆกับการไล่ล่า ติดตามหา ครุ่นคิดว่ามันสกปรก สัตว์เดรัจฉาน จำต้องกำจัดให้พ้นภัยพาล


นี่เป็นอีกช็อตสวยๆที่ผู้ชมส่วนใหญ่คงเพลิดเพลินไปกับหนัง จนไม่ได้ทันสังเกตลูกเล่นนำเสนอ เคลื่อนเลื่อนกล้องพร้อมกับ Cross-Cutting จากช่วงเวลาหนึ่ง (ซักซ้อม) สู่ช่วงเวลาหนึ่ง (เตรียมสถานที่) และอีกช่วงเวลาหนึ่ง (การประหารชีวิต) ทำออกมาได้อย่างลื่นไหล แนบเนียบ ไร้ที่ติ

ฉากประหารชีวิตด้วยเครื่องช็อตไฟฟ้า นอกจากภาพนักโทษถูกไฟช็อต ดิ้นกระแด่วๆ ยังพยายามร้อยเรียงปฏิกิริยาใบหน้าของพัศดี ผู้คุม และบรรดาญาติพี่น้อง (ของผู้เสียชีวิต) ที่เข้าร่วมรับชมการประหาร, ก่อนถึงเวลา คนเหล่านี้มักปากเก่ง สาปแช่งให้ตกนรกหมกไหม้ แต่พอพบเห็นสภาพความตาย ส่วนใหญ่มักเกิดอาการอ้ำอึ้ง พูดไม่ออกบอกไม่ถูก กล้ำกลืนน้ำลายตนเองด้วยกันทั้งนั้น

“Bad news all around.” คำกล่าวของหัวหน้าพัศดี Hal Moores เมื่อเรียกพบ Edgecomb บอกเล่าสองข่าวร้ายบังเกิดขึ้นพร้อมกัน
- การกำลังจะมาถึงของนักโทษประหารคนใหม่ William Wharton (รับบทโดย Sam Rockwell) ต้องโทษคดีฆาตกรรมสามศพ หนึ่งในนั้นคือหญิงตั้งครรภ์
- สังเกตว่า Hal ยืนอยู่ข้างหน้าต่างฝั่งซ้าย ด้านหลังแผนที่รัฐ สื่อถึงการพูดคุยเรื่องหน้าที่การงาน
- ภรรยาของ Hal ตรวจพบว่าล้มป่วยเนื้องอกในสมอง แพทย์ไม่สามารถผ่าตัด
- Hal ย้ายมานั่งอีกฟากฝั่ง หน้าต่างด้านขวาบดบังด้วยบานเกล็ด ภาพด้านหลังคือบุคคล สื่อถึงเรื่องส่วนตัวที่ไร้หนทางออก
การนำเสนอในลักษณะนี้ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบ Wharton ไม่ต่างจากเนื้องอกในสมอง บุคคลสร้างปัญหา ไร้ทางรักษา มีเพียงหนทางเดียวคือเผชิญหน้าความตาย ต้องโทษประหารชีวิต!


นี่เป็นการย้อนรอยก่อน-หลัง ที่ทำให้ผู้ชมตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่าง William Wharton และ Percy Wetmore
- อาชญากร Wharton แสร้งว่าเป็นคนบ้า ท่าทางเอ๋อเหรอ ปล่อยให้ผู้คุมจับแต่งตัว แล้วรอคอยจังหวะกลั่นแกล้ง สร้างความวุ่นวายเมื่อเดินทางไปถึงแดนประหาร
- ผู้คุม Percy กลายเป็นคนบ้าจริงๆ สูญเสียตนเอง ไม่สามารถทำอะไร เลยถูกนำมาปล่อยทิ้งไว้ในโรงพยาบาลจิตเวช
ทั้งสองตัวละครนี้ต่างคือ White Trash ขยะสังคม แตกต่างตรง Wharton เป็นเพียงบุคคลธรรมดา กระทำสิ่งชั่วร้าย ถูกจับกุม ตัดสินโทษประหาร, ขณะที่ Percy มีผู้มีอำนาจ เส้นสาย คนใหญ่คนโตหนุนหลัง จึงสามารถอวดเบ่ง ทำตัวเก่ง ไม่เกรงกลัวกฎหมาย กระทำความผิดยังสามารถเอาตัวรอดโทษประหาร เพียงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล


หลังจากพัศดี Edgecomb แก้ไขปัญหาวุ่นๆวายๆของ Wharton ทิ้งตัวลงนอนในสภาพปางตาย กลางพื้นทางเดิน The Green Mile ก่อนได้ความช่วยเหลือจาก John Coffey สำแดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ (สังเกตเห็น ‘Vertigo Zoom’ นั่นไหม?) รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หายเป็นปลิดทิ้ง ราวกับ(ตายแล้ว)ฟื้นคืนชีพขึ้นใหม่
โดยปกติแล้วปาฏิหารย์ มันไม่น่าจะมีความเว่อวังอลังการขนาดนี้หรอกนะ! แต่ผกก. Darabont พยายามสร้างความ ‘Dramatic’ คลื่นพลังงานทำให้หลอดไฟติด สว่างจร้า แตกละเอียด และลูกเล่นภาพยนตร์อย่าง ‘Vertigo Zoom’ ให้ผู้ชมรับรู้สึกว่ามันมีเหตุการณ์สุดมหัศจรรย์ ‘Magical Realism’ บังเกิดขึ้น


หนังไม่มีคำอธิบายว่ามันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร แต่ผู้ชมล้วนสามารถคาดเดา จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล อย่างภายหลังการสำแดงปาฏิหารย์ Coffey มักทำการพ่นของเสีย สิ่งชั่วร้ายออกจากปาก เป็นภาพที่ช่วยสร้างความสมเหตุสมผล ในความไม่สมเหตุสมผลของเหตุการณ์บังเกิดขึ้น

พัศดี Edgecomb เดินทางไปหาทนาย Mr. Hammersmith (ว่าความให้ John Coffey) รับฟังเรื่องเล่า มุมมองความคิดเห็น เปรียบเทียบคนผิวสี = สุนัข, วันหนึ่งอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยแว้งกัดบุตรชาย สูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง เราควรปล่อยมันไว้จริงๆนะหรือ?
ความครุ่นคิดของ Mr. Hammersmith (รับบทโดย Gary Sinise) สะท้อนทัศนคติชาวอเมริกันตอนใต้ (Deep South) ยุคสมัยนั้นยังยึดถือใน Jim Crow law มองคนผิวสีไม่ต่างจากสัตว์ร้าย เดรัจฉาน ไม่สมควรได้รับสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม กฎหมายถือหางคนขาว ทำผิดเพียงครั้งเดียวต้องฆ่าให้ตกตาย ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจเหตุผลอีกฝั่งฝ่าย

กลับมาในห้องขังของ Del พบเห็นกำลังอ่านนิตยสาร Weird Tales ทีแรกผมไม่ได้สนใจอะไรหรอก เห็นหน้าปกเหมือนพระพุทธรูปเลยลองค้นหาข้อมูล ก่อนพบเจอ Living Buddhess … มันคือนิตยสาร 18+ หรือนี่??
LINK: https://pulpcovers.com/living-buddhess/


Wharton เป็นนักก่อความวุ่นวายในเรือนจำ มีสองเหตุการณ์ให้น่าพูดกล่าวถึง ผมเรียกว่า ‘piss and shit’ ฉี่ใส่เท้า และถุยยาสูบใส่หน้าผู้คุม เลยทำให้เขาถูกสวมใส่เสื้อคนบ้า (Straitjacket) โยนเข้าห้องขังเดี่ยว แต่ไม่เคยรับรู้สำนึกผิดประการใด
ในบริบทของหนังทำการตีตรา Wharton คือบุคคลเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ทำอะไรไม่เคยรู้สาสำนึกผิด แต่ไม่เคยมีอธิบายเบื้องหลัง สาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? มันช่างย้อนแย้งกับ John Coffey ที่พยายามนำเสนอภาพนักบุญ พระผู้ไถ่ เปิดเผยรายละเอียดทุกสิ่งอย่าง … บางทีการกระทำเหล่านี้ของ Wharton อาจเพียงแค่ต้องการเรียกร้องความสนใจเท่านั้นเอง


โดยปกติแล้วการซักซ้อมเตรียมการประหารชีวิต จะหาโอกาสตอนนักโทษพบปะสมาชิกครอบครัว(ครั้งสุดท้าย) แต่สำหรับ Del อาจเพราะไม่มีใครมาเยี่ยมเยียน และบังเอิญว่าสามารถฝึกฝน Mr. Jingles จึงให้เขามาทำการแสดงแก่แขกเหรื่อ บรรดาพัศดีในเรือนจำ … ผมไม่แน่ใจว่าหนังถ่ายทำฟุตเทจการแสดงไว้บ้างหรือเปล่า? แต่เพื่อย่นระยะเวลาจึงฉายเฉพาะตอนผู้คุม Percy Wetmore กำลังซักซ้อมคำกล่าวก่อนการประหารชีวิต
การนำเสนอคู่ขนานดังกล่าว บอกใบ้การกระทำของ Percy Wetmore ว่าไม่ต่างจากแสดงปาหี่ เล่นละคอนตบตา ใฝ่ฝันอยากเป็นบุคคลผู้มีอำนาจตัดสินชีวิตคน เห็นผู้อื่นเจ็บปวดทุกข์ทรมานแล้วมันช่างสุขกระสันต์ สำเร็จความใคร่ ลักษณะอาการซาดิสม์ (Sadism) แต่ถ้าโดนกระทำกลับหาตนเองเมื่อไหร่ …

ย้อนรอยตอน Coffey สำแดงปาฏิหารย์ จับเป้ากางเกงพัศดี Edgecomb รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหายดีเป็นปลิดทิ้ง! คราวนี้ในทิศทางตรงกันข้าม Percy Wetmore ไม่ได้มีอาการป่วยอะไร ถูกนักโทษ Wharton จับเป้ากางเกง เพียงลูบไล้เบาๆ แสดงอาการขลาดเขลา (กลายเป็นคนป่วยจิต) เยี่ยวราดลงพื้น … นามสกุล Wetmore นี่น่าจะจงใจ


มันเหมือนเป็นการระบายอารมณ์เคียดแค้น เพราะก่อนหน้านี้ Percy Wetmore เพิ่งถูกกลั่นแกล้งเยี่ยวราด พอดีสบโอกาสระหว่าง Mr. Jingles วิ่งออกมานอกห้องขัง ไม่ทันหันมาสนใจ เลยโดนย่ำเหยียบเข้าให้ (ช่วงท้ายเครดิตมีข้อความ No animal was harmed. แสดงว่ามีการใช้ Computer Graphic เข้าช่วย) … นี่เป็นลักษณะของการกดขี่ข่มเหง อวดอ้างอำนาจ กลั่นแกล้งบุคคลไม่มีทางต่อสู้ เก่งเฉพาะกับผู้ต่ำต้อยด้อยกว่าตน

ปาฏิหารย์ที่สองของ Coffey ทำการชุบชีวิต Mr. Jingles เพราะเจ้าหนูน้อยไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ถูกย่ำเหยียบอย่างไร้ความปราณี จึงบังเกิดความสงสารเห็นใจ โอบอุ้มในอุ้งมือ (ที่ซุกซ่อนหลอดไฟ) เปร่งประกายแสง เจิดจรัสจร้า ตายแล้วฟื้นคืนชีพ (และกลายเป็นอมตะด้วยนะ!)
แซว: มันอาจดูเป็นความมหัศจรรย์ที่สามารถชุบชีวิตเจ้าหนูน้อย สงสารเห็นใจสัตว์โลก แต่การที่มันอายุยืนยาวนับร้อยปี มันคงไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่?

หลังจาก Mr. Jingles ฟื้นคืนชีพ! Edgecomb เผชิญหน้ากับ Percy Wetmore ผลักอีกฝ่ายนั่งลงเก้าอี้ไฟฟ้า ราวกับเป็นคำเตือน โทษประหาร อย่าทำแบบนั้นอีกเด็ดขาด เข้าใจไหม? … แต่ทว่า Percy Wetmore แบบเดียวกับ Wharton ไม่เคยหลากจำ หรือเกิดความสำนึกสักสิ่งอย่าง

Percy Wetmore จงใจไม่วางฟองน้ำบนศีรษะนักโทษ เป็นเหตุทำให้ Del ต้องทนทุกข์ทรมานจากกระแสไฟฟ้าแผดเผาร่างกาย สั่นสะเทือนมาถึง Coffey สามารถสัมผัสความเจ็บปวดทางจิตวิญญาณ ตัดสลับกลับไปกลับมา แสดงปฏิกิริยาท่าทางเดียวกัน
Wharton ก็เหมือนจะรับสัมผัสได้เช่นกัน แต่เขาแสดงออกเหมือนฝูงชนที่เข้ามาเยี่ยมชมการประหาร ตะเกียกตะกาย ปีนป่าย กระโดดโลดเต้น ส่งเสียงหัวเราะอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง


ย้อนรอยกับ Wharton หลังจาก ‘piss and shit’ ถูกบังคับสวมใส่เสื้อคนบ้า (Straitjacket) โยนเข้าห้องขังเดี่ยวหลายครั้งครา, คราวนี้ถึงคิวของ Percy Wetmore หลังจากเยี่ยวรดกางเกง ช็อตไฟฟ้านักโทษจนไหม้เกรียม เลยถูกบังคับสวมใส่เสื้อคนบ้า (Straitjacket) โยนเข้าห้องขังเดี่ยว ไม่ให้ปริปาก พบเห็นเหตุการณ์กำลังจะบังเกิดขึ้น

ระหว่างที่ผู้คุมลักลอบนำพา Coffey ออกมาจากเรือนจำ พบเห็นท้องฟ้ายามค่ำคืน ชี้นิ้วไปยัง “Cassie, the lady in the rocking chair” นั่นคือกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia) สัญลักษณ์ราชินีประทับบนบัลลังก์ แต่จริงๆแล้วเธอถูกตรึงอยู่บนบังลังก์ ได้รับโทษทัณฑ์จาก Poseidon เพราะอวดอ้างความงามของบุตรสาว Andromeda จนเกิดเรื่องวุ่นๆวายๆไปทั่ว
Poseidon’s punishment: Cassiopeia as a constellation sitting in the heavens tied to a chair.


เมื่อก้าวเหยียบพื้นดิน Coffey หยิบกอหญ้าเล็กๆขึ้นมาสูดดม ก่อนก้าวออกเดินตามเส้นทางธรรมชาติสีเขียว The Green Mile? และถ้าใครช่างสังเกตจะพบเห็นหิ่งห้อยโบยบิน มีความระยิบระยับ (จนดูเหมือนใช้ Computer Graphic) ราวกับรอคอยต้องรับพวกเขาอยู่

ปาฏิหารย์ที่สามของ Coffey รักษาเนื้องอกในสมองของภรรยาหัวหน้าพัศดี Hal Moores วิธีคือทำการจุมพิตริมฝีปาก ดูดเอาสิ่งชั่วร้ายออกมา ทำให้นาฬิกาหยุดเดิน กระจกแตกร้าว บ้านสั่นสะเทือน และโลกทัศน์/ความรู้สึกนึกคิดของประจักษ์พยานทั้งหลายผันแปรเปลี่ยนไปชั่วนิรันดร์
ยุคสมัยนั้นการจุมพิตระหว่างชาติพันธุ์ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ผิดกฎหมาย Jim Crow law ซึ่งในบริบทของหนังคงต้องการสะท้อนความสัมพันธ์คนขาว-ผิวสี ถ้าพวกเขาสามารถให้การยินยอมรับกันและกัน ไม่ปิดกั้นเรื่องพรรค์นี้ อาจก่อเกิดปาฏิหารย์ สหรัฐอเมริกาสั่นคลอน และความเป็นไปได้ไม่รู้จบ


ในทิศทางกลับกัน Coffey จุมพิต Percy Wetmore แต่ทำการปลดปล่อยสิ่งชั่วร้าย ถ่ายเทเข้าสู่ร่างกาย ผลลัพท์ทำให้แสดงอาการป่วยจิต เมื่อถูก Wharton พูดคำหยอกเย้า ยียวน มิอาจอดกลั้นฝืนทน ควบคุมตนเอง ชักปืนขึ้นมาจ่อยิง เข่นฆ่าอีกฝ่ายให้ตกตายลงโดยพลัน!


ทำไมสิ่งชั่วร้ายที่ Coffey ส่งมอบให้กับ Percy Wetmore หลังจากลงมือเข่นฆ่า Wharton ถึงถูกปลดปล่อยออกมา? ผมครุ่นคิดว่าสิ่งชั่วร้ายได้กัดกร่อน ทำลายจิตวิญญาณ Percy จนสูญเสียตนเอง ไม่หลงเหลืออะไรภายใน มันจึงถูกปล่อยออกมา

สิ่งสุดท้ายก่อนตายที่ Coffey ร้องขอจากพัศดี Edgecomb อยากรับชมภาพยนตร์ Top Hat (1935) กล้องพยายามเก็บภาพจากทุกมุมมอง แต่มีสองช็อตที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ
- ภาพแรกถ่ายจากด้านหลัง Coffey พบเห็นเงาบดบังจอภาพ ระหว่าง Fred Astaire & Ginger Rogers กำลังเริงระบำ ขับร้องเพลง Cheek to Cheek ท่อน “I’m in heaven”
- เงาของ Coffey ที่บดบังจอภาพ สร้างสัมผัสเหมือนว่าเขาคือส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ “I’m in heaven”
- ในทิศทางตรงกันข้าม ถ่ายใบหน้าของ Coffey บดบังแสงจากเครื่องโปรเจคเตอร์ด้านหลัง กล่าวชื่นชมสื่อภาพยนตร์ที่มีความงดงาม นักแสดงชาย-หญิงราวกับนางฟ้า เริงระบำบนสรวงสวรรค์ “Angels, just like up in heaven.”
- คำกล่าวนี้ของ Coffey ราวกับเขาเคยอยู่บนสรวงสวรรค์ ยังไงยังงั้น?
ผมอธิบายไปแล้วว่าต้นฉบับนวนิยายไม่มีอ้างอิงถึง Top Hat (1935) เช่นนั้นแล้วฉากนี้จึงเป็นการเพิ่มเติมของผกก. Darabont สำแดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ภาพยนตร์ = สรวงสวรรค์


พัศดี Edgecomb และ John Coffey ตั้งแต่แรกพบเจอมีการจับมือ สัมผัสเนื้อต้องตัวกันหลายครั้ง แต่ผมคิดว่าครั้งที่น่ากล่าวถึงที่สุดคือครั้งแรกกับครั้งสุดท้าย
- ตอนแรกพบเจอ เพราะยังไม่เคยรับรู้จัก เพียงความประทับใจจากรูปลักษณ์ เปลือยภายนอก การจับมือจึงเป็นแค่เพียงการทักทาย ยินดีที่รู้จัก (Coffey เป็นคนยื่นขอจับมือ)
- ครั้งสุดท้ายก่อนการประหาร หลังเรียนรู้จักตัวตนของกันและกัน การจับมือจึงไม่ใช่แค่ร่ำลาจาก แต่ยังแสดงความเคารพ ให้เกียรติ ยินยอมรับกันและกัน (Edgecomb เป็นคนยื่นขอจับมือ)

กลับมาปัจจุบันหลังเล่าเรื่องย้อนอดีตจบสิ้น ผู้สูงวัยทั้งสองสวมชุดคลุมสีแดง ดูราวกับเทวทูต เดินทางมาเยี่ยมเยียนสรวงสวรรค์/บ้านรกๆของ Mr. Jingles ยังคงอาศัยอยู่ในกล่องบุหรี่ ขี้เล่นซุกซนไม่เคยเปลี่ยนแปลง



ทำไม Mr. Jingles ถึงชอบเล่นกับหลอดด้าย? อาจเพราะมันคือสัญญะแห่งชีวิต สามารถเคลื่อนหมุน ดำเนินไป กลิ้งไปกลิ้งมา สำแดงความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณ ไม่มีเส้นด้ายพันธนาการ/สิ่งชั่วร้ายเจือปนจิตใจ

ตัดต่อโดย Richard Francis-Bruce (เกิดปี ค.ศ. 1948) สัญชาติ Australian เกิดที่ Sydney, วัยเด็กวาดฝันอยากเป็นตากล้องตามรอยบิดา Jack Bruce ที่เคยทำงานกับ Cecil B. DeMille แต่ทว่าตนเองกลับได้ทำงานตัดต่อที่ Australian Broadcasting Corporation (ABC), ระหว่างนั้นมีโอกาสร่วมงาน George Miller อาทิ Mad Max Beyond Thunderdome (1985), The Witches of Eastwick (1987), Lorenzo’s Oil (1992), ก่อนย้ายสู่สหรัฐอเมริกา ผลงานเด่นๆ อาทิ The Shawshank Redemption (1994), Seven (1995), The Rock (1996), Air Force One (1997), The Green Mile (1999), Harry Potter and the Philosopher’s Stone (2001) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองชายสูงวัย Paul Edgecomb อาศัยอยู่บ้านพักคนชรา ระหว่างรับชมภาพยนตร์ Top Hat (1935) ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ บังเกิดความเศร้าโศกเสียใจ เลยเล่าเรื่องราวความหลัง (Flashback) เมื่อครั้นทำงานเป็นพัศดีแดนประหาร ให้เพื่อนผู้สูงวัย(และผู้ชม)ได้รับฟัง … แต่หนังจะไม่ตัดสลับกลับไปกลับมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน หวนกลับมาอีกครั้งก็เมื่อเรื่องเล่านั้นจบลง
- อารัมบท,
- เริ่มต้นจากฝันร้ายของชายสูงวัย Paul Edgecomb อาศัยอยู่บ้านพักคนชรา ตื่นเช้ารับประทานอาหาร ก้าวออกเดินไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง
- ยามค่ำคืนรับชมภาพยนตร์ Top Hat (1935) จู่ๆไม่สามารถควบคุมอารมณ์ บังเกิดความเศร้าโศกเสียใจ เลยเล่าเรื่องราวความหลังให้เพื่อนผู้สูงวัย
- การมาถึงของ John Coffey
- John Coffey ถูกส่งตัวมายังแดนประหาร
- Edgecomb อ่านเอกสารความผิดของ Coffey พร้อมฉายภาพเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
- การมาถึงของเจ้าหนูน้อย Mr. Jingles สร้างความวุ่นๆวายๆให้บรรดาพัศดี ขนย้ายข้าวของออกจากห้องเก็บของ แต่กลับไม่พบเจออะไร
- Percy Wetmore แสดงความจงเกลียดจงชัง Mr. Jingles ขนย้ายข้าวของออกจากห้องเก็บของ แต่กลับไม่พบเจออะไรเช่นกัน
- การประหารชีวิตของ Arlen Bitterbuck
- ปาฏิหารย์ของ John Coffey
- Mr. Jingles อยู่ในการเลี้ยงดูของ Eduard Delacroix
- การมาถึงของนักโทษคนใหม่ William Wharton สร้างความวุ่นๆวายๆในแดนประหาร
- อาการป่วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบของ Edgecomb กำเริบขึ้นมา ก่อนได้รับการรักษาจาก Coffey หายดีเป็นปลิดทิ้ง
- หลังจากหายป่วย Edgecomb เดินทางไปหาทนาย Mr. Hammersmith ปรึกษาคดีความของ Coffey
- ภรรยาของ Edgecomb อบขนมตอบแทน Coffey, ขณะเดียวกัน Wharton ยังคงก่อความวุ่นๆวายๆ เลยถูกจับขังแยกเดี่ยว
- ปาฏิหารย์ Mr. Jingles
- Percy Wetmore สบโอกาสกระทืบ Mr. Jingles จนแบนแต๊ดแต๋
- Coffey สำแดงปาฏิหารย์ทำให้ Mr. Jingles ฟื้นคืนชีพ
- การประหารชีวิต Eduard Delacroix โดยที่ Percy Wetmore เป็นคนออกคำสั่ง จงใจทำผิดพลาดจนเกิดหายนะครั้งใหญ่
- ปาฏิหารย์ผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง
- Edgecomb เดินทางไปเยี่ยมเยียนหัวหน้า Hal Moores พบเห็นสภาพภรรยาเดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย
- Edgecomb และเพื่อนพัศดีวางแผนนำพา Coffey ออกจากเรือนจำเพื่อช่วยเหลือภรรยาของหัวหน้า
- เริ่มต้นปฏิบัติการวางยานอนหลับ Wharton, จับขังแยกเดี่ยว Percy Wetmore
- นำพา Coffey มาที่บ้านของหัวหน้า สำแดงปาฏิหารย์อีกครั้ง
- พอกลับมาแดนประหาร ปล่อยตัว Percy Wetmore คลุ้มคลั่งเข่นฆ่า Wharton
- การประหารชีวิต John Coffey
- Edgecomb รับพลังบางส่วนจาก Coffey แล้วได้พบเห็นเบื้องความจริงเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม
- Edgecomb พยายามโน้มน้าว ต้องการให้ความช่วยเหลือ Coffey หลบหนีจากเรือนจำ แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ
- การประหารชีวิต John Coffey
- ปัจฉิมบท
- ตัดกลับมาปัจจุบัน Edgecomb เปิดเผยอายุแท้จริง
- พาเพื่อนผู้สูงวัยมาพบเจอกับ Mr. Jingles ที่ยังมีชีวิตอยู่เช่นกัน!
ด้วยความยาว 189 นาที อาจทำให้หลายคนส่ายหัว เบือนหน้าหนี กับเรื่องราวดราม่า แดนประหาร มันมากไปหรือเปล่า? แต่ผมขอการันตีว่าเป็นหนังสามชั่วโมงที่ดูสนุก ทุกเรื่องราวล้วนน่าติดตาม ไม่มีความน่าเบื่อเลยสักนิด! … เอาจริงๆผมแอบรู้สึกว่าผิดจุดประสงค์ไปสักหน่อย มันควรเป็นสามชั่วโมงที่เยิ่นยาวนานนน เพื่อสื่อถึงการเฝ้ารอคอยความตายของนักโทษประหาร ที่วันเวลาดำเนินไปอย่างเชื่องชักช้า
เพลงประกอบโดย Thomas Montgomery Newman (เกิดปี ค.ศ. 1955) นักแต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California บุตรชายคนเล็กของ Alfred Newman ตั้งแต่เด็กได้รับการฝึกฝนไวโอลิน เข้าเรียนการแต่งเพลงยัง University of Southern California ก่อนย้ายไป Yale University, แรกเริ่มทำงานอยู่ Broadway จนได้รับการชักชวนจากลุง Lionel Newman มาทำงาน 20th Century Fox สนิทสนม John Williams ชักชวนมาให้กำกับออร์เคสตรา Return of the Jedi (1983), จากนั้นเริ่มทำเพลงประกอบภาพยนตร์ The Player (1992), Scent of a Woman (1992), The Shawshank Redemption (1994), American Beauty (1999), Finding Nemo (2003), WALL-E (2008), Skyfall (2012), Spectre (2015), 1917 (2019) ฯ
เกร็ด: จนถึงปี ค.ศ. 2024, Thomas Newman เข้าชิง Oscar ทั้งหมด 15 ครั้ง ยังไม่เคยได้รับสักรางวัล!
งานเพลงถือเป็นอีกองค์ประกอบที่มักถูกเปรียบเทียบกับ The Shawshank Redemption (1994) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้! แต่ธีมหลัก ใจความสำคัญมันละเรื่องราวกันเลยนะ!
- The Shawshank Redemption (1994) เกี่ยวกับมิตรภาพ ความเชื่อมั่นศรัทธา มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง
- The Green Mile (1999) นำเสนอความสิ้นหวัง (Despair) อยุติธรรม (Injustice) กำลังจะเผชิญหน้าความตาย
ด้วยเหตุนี้บทเพลงใน The Green Mile มักมีบรรยากาศเศร้าๆ เจ็บปวดรวดร้าว เคลือบแฝงอยู่ในท่วงทำนองหลัก ส่วนความสิ้นหวังจะไม่ใช่แบบห่อเหี่ยว หมดอาลัยตายอยาก (ยกเว้นกับตัวละครที่กระทำสิ่งชั่วร้ายจริงๆ) แต่จะมีสัมผัสเหนือธรรมชาติ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ “a kind of hyper-reality to intensify the sense of mysticism”
สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเพลงประกอบของ The Green Mile (1999) อาจมีความเหนือกว่า The Shawshank Redemption (1994) คือสารพัดเครื่องดนตรีที่ Newman พยายามแทรกใส่เข้ามา Vietnamese Banjo (Qinqin), Jew’s harp, Bass Marimbas, Tonette, Turkish Saz ฯ ด้วยความที่มันเป็นเสียงไม่ค่อยคุ้นชิน (ไม่รับรู้หน้าตาเป็นยังไงด้วยซ้ำ) เลยช่วยสร้างสัมผัสเหนือธรรมชาติ ราวกับต้องมนต์สะกด ชวนให้ลุ่มหลงใหล … นักวิจารณ์ให้คำนิยามบทเพลงของ Newman มีลักษณะของ Southern Music
ลองฟังบทเพลง Monstrous Big บรรเลงด้วยหลายๆเครื่องดนตรีที่กล่าวมา มันช่างเป็นเสียงที่แปลกประหลาด ไม่ค่อยคุ้นหู เหมือนเบื้องหลังตัวตน John Coffey ไม่มีใครรับรู้เป็นใครมาจากไหน แต่กลับสร้างความลุ่มหลงใหล ฉงนสงสัย ใคร่พิศวง ราวกับต้องมนต์สะกด
The Mouse on the Mile เป็นอีกบทเพลงที่เต็มไปด้วยเสียงเครื่องดนตรีแปลกหู และท่วงทำนองบางท่อนชวนให้ผมนึกถึง Edvard Grieg: In the Hall of the Mountain King เปลี่ยนจาก Mountain King เป็น Mouse King สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความใคร่ฉงนสงสัย มันมาจากไหน? หลบซ่อนอยู่แห่งหนใด? … ตัวตายตัวแทนของ John Coffey ก็ว่าได้!
Billy-Be-Frigged ดังขึ้นตอนที่ Percy Wetmore แรกพบเจอ Mr. Jingles เกิดอาการตื่นตกอกตกใจ แสดงความรังเกียจขยะแขยง กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาต พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไล่ล่า เข่นฆ่า กำจัดให้พ้นสายตา บรรดาพัศดีมาเห็นเข้าก็ปล่อยให้เขาอยากทำอะไรก็ตามสบาย ควายล้วนๆไม่มีวัวผสม
ปล. ทีแรกผมนึกว่า Billy-Be-Frigged แปลงมาจาก Billy-be-damned หมายถึง การถูกประณาม สาปแช่ง, แต่จริงๆแล้วอาจมาจากแสลง frigged แปลว่า Masturbate, to have sexual intercourse (with)
ตรงกันข้ามกับบทเพลง The Bad Death of Eduard Delacroix ที่นำเสนอหายนะระหว่างการประหารชีวิต, Coffey On The Mile เริ่มตั้งแต่ John Coffey ออกจากห้องขัง เดินตามเส้นทาง The Green Mile ไปถึงห้องประหารชีวิต ทำนองเพลงไม่ได้มีความหดหู่ สิ้นหวัง ออกไปทางสว่างสดใสเสียด้วยซ้ำ แต่กลับสร้างความแห้งเหี่ยว มืดหมองหม่นปกคลุมจิตใจผู้ชม มันช่างเป็นก้าวย่างแห่งความทุกข์ทรมาน จนแทบมิอาจกลั้นหลั่งธารน้ำตาไม่ให้หลั่งไหลริน
แดนประหาร (Death Row) คือสถานที่แห่งสุดท้ายสำหรับนักโทษประหาร นับวันถอยก่อนชีวิตดับสิ้นสูญ นักโทษส่วนใหญ่มักใช้เวลาดังกล่าวทบทวนตนเอง ยินยอมรับได้-ไม่ได้ รู้สำนึก-ไม่รู้สำนึกผิด เก่งจริง-เก่งแต่ปาก ยังคงความเป็นมนุษย์ หรือกลายร่างเดรัจฉาน
เกร็ด: มันไม่จำเป็นว่าแดนประหาร หรือพื้นทางเดินสู่ห้องประหาร (Execution Chamber) จะต้องมีสีเขียว ‘The Green Mile’ เพียงคำสมมติที่ผู้แต่ง Stephen King รังสรรค์ขึ้นสำหรับใช้เป็นสัญญะเส้นทางสู่ความตาย
สี่นักโทษประหารชีวิตของ The Green Mile (1999) ต่างเคลือบแฝงนัยยะ/เป็นตัวแทนอะไรบางอย่าง
- Arlen Bitterbuck ชาวอินเดียนแดง (Native American) ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต เพราะลงมือฆ่าชายคนขาวที่แก่งแย่งรองเท้าบูทของตนเอง! ตลอดเวลาในห้องขังแทบไม่เคยปริปากใดๆ
- การกระทำดังกล่าวไม่น่าจะถึงขั้นประหารชีวิต แต่ยุคสมัยนั้นชาวอินเดียนแดงถูกตีตราว่าเป็นบุคคลอันตราย โฉดชั่วร้าย (Racism) ผู้พิพากษาคนขาวย่อมตัดสินเข้าข้างชาติพันธุ์ตนเอง มันจึงมีลักษณะตาต่อตา ฟันต่อฟัน ไม่มีการผ่อนปรนลดโทษใดๆ
- Eduard Delacroix ชาว Cajuns (ลูกครึ่ง French & Indian อาศัยอยู่ Louisiana) ต้องโทษคดีฆ่าข่มขืน เป็นคนปากเก่ง ชอบพูดดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น แต่นั่นเพราะเขาไม่สามารถควบคุมตนเอง รู้สึกเสียใจในทุกสิ่งผิดพลาดไป หวาดกลัวความตาย และก่อนถูกช็อตไฟฟ้ากล่าวขอโทษญาติผู้เสียหาย
- การรับเลี้ยงเจ้าหนู Mr. Jingles แสดงให้เห็นว่า Del ไม่ใช่คนจิตใจชั่วร้าย เขาอาจมีปัญหาบางอย่างทำให้ควบคุมตนเองไม่ได้ และโดยเฉพาะชาติพันธุ์ Cajuns (ลูกครึ่งอินเดียนแดง) มักโดนดูถูกเหยียดหยาม (Racism) จากพวกคนขาวเป็นประจำ
- William Wharton ชายผิวขาว ชาวอเมริกัน (White Trash) ลงมือฆ่า-ข่มขืนด้วยความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ตอบสนองตัณหาความใคร่ ระหว่างอยู่ในห้องขังชอบสร้างความวุ่นวาย ไม่เคยรู้สำนึกผิดใดๆ
- ฉายาตัวละครนี้ Wild Bill เพราะต้องการเลียนแบบ Billy the Kid มือปืน นักฆ่า โจรค่าหัวสูง คือตัวแทนความชั่วร้าย ไร้สามัญสำนึก เดรัจฉาน ไม่ต่างจากคนบ้า
- John Coffey ชาวผิวสีร่างใหญ่ยักษ์ พยายามช่วยชีวิตเด็กหญิงผิวขาวสองคนแต่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นฆาตกร เลยได้รับโทษตัดสินประหารชีวิต เพราะไม่มีอะไรให้ต้องสำนึกผิด เมื่ออยู่ในห้องขังจึงเพียงสงบสติอารมณ์ อดรนทน ยินยอมรับโชคชะตาฟ้าลิขิต
- ด้วยความที่ Coffey เป็นคนผิวสี รูปร่างใหญ่ยักษ์ และยุคสมัยนั้นรัฐตอนใต้ยังยึดถือ Jim Crow laws เลยโดนเหมารวมอคติชาติพันธุ์ (Racism) ขนาดทนายความยังมองเป็นสัตว์ร้าย ต้องกำจัดให้พ้นภัยทาง
นอกเสียงจาก William Wharton ที่เป็นชายผิวขาว (White Trash) นักโทษประหารคนอื่นๆล้วนได้รับผลกระทบจากอคติ/ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ สหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้นที่คนขาวเป็นใหญ่ (สังเกตว่าพัศดี ผู้คุมทั้งหมดล้วนเป็นคนขาว) ถ้าไม่ใช่พวกโรคจิต เสียสติแตก ก็แทบไม่โดนตัดสินโทษประหาร (มากสุดคือจำคุกตลอดชีวิต)
นี่ไม่ได้แปลว่าผู้แต่งนวนิยาย Stephen King เป็นพวก White Supremacy (คือถ้านักโทษประหารมีแต่คนผิวสี ชนพื้นเมือง ไม่มีคนขาว มันคงสามารถมองไปทิศทางนั้น) แต่ในมุมนี้เพียงต้องการสะท้อนปัญหาสังคม ชาวอเมริกัน(คนขาว)ยังคงตัดสินคนแค่เพียงเปลือกภายนอก สีผิว รูปร่างหน้าตา เต็มไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์
เราสามารถเปรียบเทียบ Paul Edgecomb คืออวตารของ King เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว (รวมถึงหนึ่งในผู้คุม Percy Wetmore มีพฤติกรรมไม่ต่างจาก White Trash) ก็แทบมิอาจอดรนทน สูญเสียความเชื่อมั่นในระบบ บังเกิดความสงสารเห็นใจ … หรือก็คือ King มีความเอือมละอาต่อวิถีอเมริกัน ไม่เห็นด้วยต่อการกดขี่ข่มเหงทางชาติพันธุ์
ตัวละคร John Coffey ชายผิวสี มีรูปร่างใหญ่ยักษ์ แรกพบเห็นย่อมเกิดความหวาดกลัว ครุ่นคิดว่าคือบุคคลอันตราย โฉดชั่วร้าย ต้องตีตนออกห่างไกล แต่เมื่อได้พูดคุย เรียนรู้จัก พบเห็นอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ ราวกับสวรรค์ส่งลงมา ไม่ต่างจากพระผู้ไถ่ Jesus Christ เสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ ใครต่อใครถึงเริ่มปรับเปลี่ยนความเข้าใจ … เสี้ยมสอนบทเรียน อย่าด่วนตัดสินคนแค่เพียงเปลือกภายนอก
โชคชะตาของ John Coffey ช่างสอดคล้องกับบั้นปลายชีวิตของ Jesus Christ พยายามให้ความช่วยเหลือมวลมนุษย์ แต่กลับถูกตีตราว่าร้าย จำต้องอดรนทนทุกข์ทรมาน ถูกตรึง(กางเขน)เก้าอี้ไฟฟ้า แม้ไม่ได้ฟื้นคืนชีพในสามวัน แต่ก็ได้กลายเป็นอมตะนิรันดร์ (ภายในจิตใจผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน)
แต่ทว่ามุมมองของ King อ่านจากบทสัมภาษณ์นี้ ดูค่อนข้างจะครุ่นคิดเห็นแตกต่างออกไป
I look back over these pages, leafing through them with my trembling, spotted hands, and I wonder if there is some meaning here, as in those books which are supposed to be uplifting and ennobling. I think back to the sermons of my childhood, booming affirmations in the church of Praise Jesus, The Lord Is Mighty, and I recall how the preachers used to say that God’s eye is on the sparrow, that He sees and marks even the least of His creations. When I think of Mr. Jingles, and the tiny scraps of wood we found in that hole in the beam, I think that is so. Yet this same God sacrificed John Coffey, who tried only to do good in his blind way, as savagely as any Old Testament prophet ever sacrificed a defenseless lamb… as Abraham would have sacrificed his own son if actually called upon to do so. I think of John saying that Wharton killed the Detterick twins with their love for each other, and that it happens every day, all over the world. If it happens, God lets it happen, and when we say “I don’t understand,” God replies, “I don’t care.”
Stephen King
การแสดงปาฏิหารย์ของ Jesus Christ จุดประสงค์เพื่อสำแดงพลังอำนาจ (Authority) ต่อบุคคลที่มีความน่าสงสารเห็นใจ (Compassion) ชักชวนให้ผู้พบเห็นเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเจ้า และอาณาจักรของพระองค์
แต่สำหรับ King ปาฏิหารย์ของ John Coffey ไม่ได้คาดหวังให้ใครเกิดความเชื่อศรัทธา (จะว่าไป King ในฐานะผู้สร้างนวนิยาย ก็มีสถานะไม่ต่างจากพระเจ้า) จุดประสงค์น่าจะเพื่อพิพากษาตัดสิน (Judgement) ว่าใครสมควรได้รับโอกาส ชำระล้างความบริสุทธิ์ หรือต้องถูกลงโทษทัณฑ์ให้สาสม … สรุปก็คือ King = พระเจ้า พยายามสร้างบรรทัดฐานของตนเองขึ้นมาตัดสินผู้อื่น
- Paul Edgecomb พัศดีผู้มีจิตใจดีงาม ล้มป่วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ได้รับปาฏิหารย์จาก Coffey ชำระล้างสิ่งชั่วร้ายภายใน และยังสืบทอดพลังบางส่วน ทำให้อายุยืนยาว กลายเป็นอมตะนิรันดร์
- เจ้าหนูน้อย Mr. Jingles มีความบริสุทธิ์ ไม่เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายอันใด แต่ถูกย่ำเหยียบให้ตกตาย ได้รับปาฏิหารย์ให้ฟื้นคืนชีพ กลายเป็นอมตะนิรันดร์
- ส่วนภรรยาของหัวหน้าพัศดี สะท้อนความใจบุญสุนทานของ Edgecomb ทั้งๆไม่ใช่ปัญหาของตนเอง แต่ขอความช่วยเหลือ Coffey รักษาเนื้องอกในสมอง ให้สามารถครุ่นคิด บังเกิดสติปัญญา เข้าใจปัญหาของมวลมนุษย์
- ตรงกันข้ามกับผู้คุม Percy Wetmore ชอบวางอำนาจบาดใหญ่ กระทำสิ่งเลวร้ายมากมาย ได้รับสิ่งปฏิกูลจาก Coffey กัดกร่อนทำลายภายใน (จิตวิญญาณ) ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง ลงมือเข่นฆ่าฆาตกรเลือดเย็น Wharton ให้ตกตายจากไป (ร่างกาย)
นอกจากเรื่องพระเจ้าและชาติพันธุ์ สิ่งที่ผมถือเป็นเนื้อหาสาระของหนังก็คือ ‘การเผชิญหน้าความตาย’ สิ่งที่ไม่มีใครสามารถดิ้นหลบหนี มนุษย์ทุกคน(ไม่ใช่แค่นักโทษในเรือนจำ หรือจะมองว่าไม่ต่างจากนักโทษในเรือนจำ)ล้วนต้องเผชิญหน้ากับเส้นทางสีเขียว (The Green Mile) ทั้งในสถานะผู้สังเกตการณ์ (อย่างพัศดีและผู้คม) และวันสุดท้ายของชีวิตก็ต้องก้าวเดินผ่านเส้นทางนั้น … แม้เป็นหนังเกี่ยวกับคนคุก แดนประหาร แต่สามารถสะท้อนขีวิต-ความตาย ไม่มีใครหลบหนีพ้น
ผกก. Darabont ได้รับประสบการณ์ ‘The Green Mile’ ระหว่างพัฒนาบทหนัง หลังรับรู้ว่าเจ้าเหมียวตัวโปรดล้มป่วยเนื้องอกในสมอง สัตวแพทย์ไม่สามารถทำการรักษาจึงพากลับมาบ้าน คอยดูแล เอาใจใส่ ให้มันลาจากโลกนี้ไปโดยทุกข์ทรมานน้อยที่สุด
มันไม่ใช่ว่าถ้าบุคคลนั้นใกล้ถึงจุดจบชีวิต (อย่างนักโทษประหาร, คนชรา, ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ฯ) ถึงควรมีจิตเมตตากรุณา แสดงความสงสารเห็นใจ แต่ความคิดแบบนั้นมันคับแคบเกินไป! ความตายมันเป็นสิ่งที่สามารถบังเกิดขึ้นได้ทุกวินาที สะดุดลื่นล้มหัวฟาดพื้น ข้ามถนนถูกรถชน ต้นไม้ล้ม ตึกถล่ม ฯ เช่นนั้นแล้วเราควรมีมรณานุสติ (ระลึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา) และพรหมวิหารธรรม (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม
ปัจฉิมบทของหนัง หลังเปิดเผยอายุแท้จริงของ Paul Edgecomb และการยังมีชีวิตอยู่ของ Mr. Jingles (ทั้งสองต่างรับพลังบางส่วนมาจาก John Coffey) เหมือนผู้สร้างต้องการสร้างข้อคิดที่ว่า ถ้าเราเชื่อมั่นในความดี มีจิตใจเมตตา กรุณา ทั้งยังเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเจ้า จักทำให้ไม่เจ็บไม่ไข้ อายุยืนยาว กลายเป็นอมตะนิรันดร์ (ในเชิงรูปธรรม)
ด้วยทุนสร้าง $60 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินสัปดาห์แรก $18 ล้านเหรียญ เป็นรองเพียง Toy Story 2 (1999) ที่ $18.2 ล้านเหรียญ (เคยขึ้นอันดับหนึ่งบางวัน แต่สุดสัปดาห์สูงสุดแค่อันดับสอง) รายรับทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา $136.8 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกประมาณ $286.8 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม!
ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Oscar จำนวน 4 สาขา น่าเสียดายไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา
- Best Picture พ่ายให้กับ American Beauty (1999)
- Best Supporting Actor (Michael Clarke Duncan)
- Best Adapted Screenplay
- Best Sound
มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่ The Green Mile (1999) จะไม่ถูกเปรียบเทียบเรื่องคุณภาพ ความสำเร็จกับ The Shawshank Redemption (1994) นักวิจารณ์ชอบใช้คำ ‘pale by comparison’ ดูจืดชืด ด้อยกว่า แต่ผมเห็นว่าทั้งสองเรื่องต่างมีคุณค่าไม่ด้อยกว่ากัน
ระหว่างรับชม The Green Mile (1999) ชวนให้ผมนึกถึง Ikiru (1952), The Seventh Seal (1957), Anand (1971), After Life (1998) ฯ ภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต สำหรับนักโทษประหารอาจทำได้เพียงทบทวนตนเอง สำนึก-ไม่รู้สำนึก แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิด จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ย่อมทำให้เขาไม่หวาดกลัวเกรงอะไรทั้งนั้น!
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หนังเต็มไปด้วยบทเรียนการใช้ชีวิตมากมาย ไม่จำเป็นต้องผู้คุม-นักโทษประหาร ตัวเราเองกับผู้คนรอบข้าง อย่าด่วนตัดสินคนจากสีผิว/รูปลักษณ์ภายนอก มีเมตตา กรุณา (มุทิตา อุเบกขา) เชื่อมั่นในคุณความดี แล้วจะได้รับมิตรไมตรี
จัดเรต 13+ กับนักโทษ ความรุนแรง การประหารชีวิต
Leave a Reply