Audition (1999)
: Takashi Miike ♥♥♥♡
พ่อสูญเสียแม่ไปหลายปี ลูกชายเร่งเร้าให้แต่งงานใหม่ เพื่อนเลยแนะนำให้ทำการ Audition เลือกเอาคนถูกใจ แต่ใช่ว่าอายุปูนนี้แล้วจะไม่มืดบอดในความรัก นั่นทำให้เขาพบเจอหญิงสาวที่ … หนังเรื่องนี้มาคล้ายคลึงกับ Carrie (1976) ชั่วโมงแรกนำพาอารมณ์ไปอย่าง พอถึงจุดแตกหักไคลน์แม็กซ์ คุณอาจกัดเล็บจนนิ้วกุดแบบไม่รู้ตัว
ขอเตือนไว้ก่อนกับคนโลกสวย ขวัญอ่อน กำลังท้อง หรือวัยรุ่นยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้หลีกเลี่ยงหนังเรื่องนี้ไปเลยนะครับ เพราะมันมีภาพที่จะทำให้คุณเกิดความทรมาน หลอกหลอนฝังใจ ในลักษณะของ Torture Porn ตัวละครมีความสนุกสนาน หัวเราะคิกคักเมื่อเห็นผู้อื่นเจ็บปวด (Sadist)
เกร็ด: Torture Porn, ทัณฑ์ทรมาน แนวใหม่ของภาพยนตร์ Horror ในช่วงทศวรรษ 2000s มีส่วนผสมของ Spatter และ Slasher Film มักนำเสนอภาพความรุนแรงออกมาตรงๆ เต็มไปด้วยเลือด ภาพโป๊เปลือย ตัวละครถูกทรมาน มีการตัดอวัยวะ ผู้ร้ายเกิดความพึงพอใจในกระทำการอันซาดิสม์, ภาพยนตร์ที่เป็นไฮไลท์ของแนวนี้ อาทิ Saw (2004), Hostel (2005), Wolf Creek (2005), The Human Centipede (First Sequence) (2009), A Serbian Film (2010) ฯ
เกร็ด 2: Eli Roth สร้าง Hostel (2005) โดยได้แรงบันดาลใจจากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้
เกร็ด 3: ผู้กำกับดัง Quentin Tarantino ยกให้นี่คือหนึ่งในหนังเรื่องโปรด นับตั้งแต่ปี 1992 (ที่เขาเริ่มสร้างภาพยนตร์)
ส่วนตัวรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เจ๋งมากๆเลยนะ แฝงข้อคิดระแวดระวังภัย เตือนสติมนุษย์เพศชายได้อย่างจู๋หด โดยเฉพาะทัณฑ์ทรมานช่วงท้าย สามารถสะท้อนกฎแห่งกรรม คิดกระทำอะไรเลวๆไว้ สักวันผลนั้นย่อมคืนสนอง
Takashi Miike (เกิดปี 1960) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ พ่อ-แม่เป็นชาวเกาหลี เกิดที่ Yao, Osaka เลยได้สัญชาติญี่ปุ่น เข้าเรียนที่ Yokohama Vocational School of Broadcast and Film ลูกศิษย์ของ Shohei Imamura เริ่มทำงานจากสร้าง direct-to-video หลายสิบเรื่องก่อนมีภาพยนตร์เรื่องแรก Shinjuku Triad Society (1995), มีชื่อเสียงระดับนานาชาติกับ Audition (1999), Ichi the Killer (2001), กำกับตอนหนึ่งของ Three… Extremes (2004), Crows Zero (2007), Terra Formars (2016), Blade of the Immortal (2017) ฯ
เกร็ด: Miike เคยเป็นนักแสดงรับเชิญใน Last Life in the Universe (2003) กับ Hostel (2006)
สไตล์ความสนใจของ Miike ชอบที่จะนำเสนอภาพความรุนแรง เต็มไปด้วยเลือด การทรมานอันโหดร้าย ฯ มักเกี่ยวข้องกับนักเลง, ยากูซ่า, ผู้ป่วยโรคจิต และ Gaijin (ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น) นี่สะท้อนกับตัวตนของเขาวัยเด็ก ราวกับเป็นคนนอกในสังคมญี่ปุ่น
(ญี่ปุ่นเป็นประเทศขึ้นชื่อเรื่องชาตินิยม กีดกันชาวต่างชาติ ถ้ากับเด็กๆมักถูกเพื่อนรวมหัว กลั่นแกล้งสารพัดเพ นี่คงเป็นสภาพแวดล้อมที่ Miike เติบโตมาสินะ)
หนังเรื่องโปรดของ Miike คือ Starship Troopers (1997) ส่วนผู้กำกับที่ชื่นชอบ อาทิ Akira Kurosawa, Hideo Gosha, David Lynch, David Cronenberg, Paul Verhoeven
จากความสำเร็จอันล้นหลามของ Ringu (1998) ทำให้หลายสตูดิโอในญี่ปุ่นกลายเป็นกระต่ายตื่นตูม สนใจสรรหาสร้างภาพยนตร์แนว Horror มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Omega Project แต่เพราะไม่ต้องการซ้ำแนวผี เรื่องราวเหนือธรรมชาติ เลือกซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงนิยาย Audition (1997) ของ Ryū Murakami ที่เป็นแนว Psychological Horror ได้รับการยกย่องว่า ‘Japanese Psycho’ [มีความคล้ายกับหนังเรื่อง Psycho (1960)]
มอบหมายพัฒนาบทภาพยนตร์ให้ Daisuke Tengan ลูกชายคนโตของผู้กำกับ Shohei Imamura มีผลงานเขียนบทเรื่อง The Eel (1997), 13 Assassins (2010) ฯ
Shigeharu Aoyama (รับบทโดย Ryo Ishibashi) พ่อหม้ายวัยกลางคน หลังจากสูญเสียภรรยาจากโรคมะเร็งไป 7 ปี ได้รับการเร่งเร้าจากลูกชายวัย 17 ปี Shigehiko (รับบท Tetsu Sawaki) ที่โตพอเข้าใจความต้องการของผู้ชายด้วยกัน จึงอยากให้พ่อแต่งงานใหม่ (เจ้าตัวเอาแฟนสาวมาอวดถึงบ้านก่อนเลย), นำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับเพื่อนสนิท Yasuhisa Yoshikawa (รับบทโดย Jun Kunimura) โปรดิวเซอร์ผู้สร้างภาพยนตร์ วางแผนทำการ Audition อ้างว่าหาหญิงสาวมาคัดเลือกนำแสดงในภาพยนตร์เรื่องใหม่ แต่แท้จริงแล้วคือเพื่อหาว่าที่ภรรยาใหม่ของ Shigeharu พบเจอตกหลุมรัก Asami Yamazaki (รับบท Eihi Shiina) จนหน้ามืดตามัวบอด ไม่สนฟังคำเตือนใคร
Ryo Ishibashi (เกิดปี 1956) นักแสดง นักร้อง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukuoka, Kyūshū เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นนักร้องนำวงร็อค ARB (Alexander Ragtime Band) เมื่อปี 1977 – 1990 หลังจากนั้นเข้าสู่วงการแสดง โด่งดังกับ Audition (1999), Suicide Club (2002), The Grudge (2004), The Grudge 2 (2006) ฯ
รับบท Shigeharu Aoyama ชายวัยกลางคน ทุ่มเทชีวิตให้กับลูกและการงาน (เป็นผู้สร้างสารคดี) ไม่มีเวลาออกเดทกับสาวไหน แต่เมื่อถูกลูกชายที่โตเป็นหนุ่มเร่งเร้าท้าทายให้หาภรรยาใหม่ คิดเพ้อจินตนาการถึงหญิงสาวในอุดมคติ ยินยอมทำตามคำแนะนำของเพื่อนสนิทโดยไม่สนความถูกต้องเหมาะสม หลังจากได้พบเจอเธอ ก็หลงใหลคลั่งไคล้ หน้ามืดตามัวไม่สนฟังคำเตือนใคร
มุมหนึ่ง Ishibashi ดูเป็นผู้ใหญ่ที่ทรงภูมิ รอบคอบเฉลียวฉลาด เต็มเปี่ยมด้วยมโนธรรม มีความนับน่าถือตา แต่พอตัวละครตกอยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความรัก หลงใหลคลั่งไคล้ กลับกลายเป็นเหมือนเด็กวัยรุ่นใจร้อน เต็มเปี่ยมด้วย passion ตัณหา สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกออกมาจากข้างในได้อย่างสมจริง
ทรงผมรับกับใบหน้าของ Ishibashi มีลักษณะเหมือน Phallic ลึงค์ เป็นอย่างยิ่ง ไม่รู้ผมคิดไปเองหรือผู้กำกับจงใจแฝงนัยยะนี้ไว้หรือเปล่านะ ซึ่งความหมายถือว่าตรงกับ passion ความต้องการของตัวละครนี้เลยละ
Eihi Shiina (เกิดปี 1976) โมเดลลิ่ง นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่เมือง Fukuoka, เมื่อปี 1995 ได้เดินแบบให้กับ Benetton หลังจากเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่น ในการประกวด Elite Model Look ’95, ได้รับบทบาทเล็กๆใน Open House (1998) หลังจากพูดคุยสนทนาแบบเปิดอก เกี่ยวกับทัศนคติเรื่องความรักความสัมพันธ์ ถูกใจผู้กำกับได้รับการร้องขอให้มารับบทนี้
รับบท Asami Yamazaki หญิงสาวผู้โชคร้ายตั้งแต่เกิด พ่อแม่หย่าร้าง ครอบครัวบุญธรรมเลี้ยงดูเธอแบบไม่สนหัว พ่อเลี้ยงกระทำรุนแรง (ไม่ใช่แค่เอาเหล็กเผาไฟจี้ แต่น่าจะถึงระดับข่มขืน) ใช้การเต้นบัลเล่ต์ที่แสนยากเป็นหนทางระบายออกซึ่งความทุกข์ทรมาน แต่เมื่อได้รับอุบัติเหตุรุนแรงจนต้องเลิกเต้น ความเคียดแค้นสะสมจะระเบิดออก ใครก็ตามทำไม่ดีกับเธอจักต้องได้รับผลกรรมนั่นตามสนอง
การได้มา Audition พบเจอกับ Shigeharu Aoyama เหมือนว่าแท้จริงแล้วไม่ได้ต้องการเล่นหนัง หรือตกหลุมรัก หาคนดูแลแต่ประการใด เป้าหมายคือหาเหยื่อผู้โชคร้ายรายใหม่ ที่จะทำให้สามารถระบายความทุกข์อัดอั้นนี้ออกไป ได้เห็นผู้อื่นเจ็บปวดถูกทรมาน ฉันก็หัวเราะคิกๆอย่างสุขสำราญใจ
การแสดงของ Shiina โรคจิตเข้าขั้นทีเดียว รอยยิ้มแฝงไว้ด้วยความคิดชั่วร้าย แถมเรือนร่างอันผอมบอบบางติดกระดูก ฉากที่นั่งรอคอยโทรศัพท์ของ Shigeharu มีความหลอกหลอนน่ากลัวยิ่งนัก, รู้สึกว่าเธอจะกลายเป็น typecast ไปโดยทันทีหลังจากหนังเรื่องนี้ ใครที่ไหนจะกล้าให้มารับบทปกติทั่วไป สภาพแทบไม่ต่างกับ Anthony Perkins จากเรื่อง Psycho (1960)
ผู้กำกับ Miike ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานที่ประหยัด รวดเร็วทันใจ (คงเพราะเติบโตมาจากการสร้าง direct-to-video โดยเฉลี่ยขั้นต่ำปีละ 4-5 เรื่อง) เห็นว่าหนังใช้เวลาถ่ายทำ 3 สัปดาห์ แทบทั้งหมดถ่ายทำยังสถานที่จริง
ถ่ายภาพโดย Hideo Yamamoto ตากล้องขาประจำของ Miike ผลงานเด่นอาทิ Hanabi (1997), Ringu 2 (1999), Audition (1999), Ichi the Killer (2001), The Grudge (2004), Hula Girls (2006) ฯ
เหตุผลที่ Miike เลือก Yamamoto ให้มาเป็นตากล้อง เพราะเป็นคนที่มีความอ่อนไหวต่อความตายอย่างยิ่ง พ่อ-แม่ เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ทำให้เป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว สงบเสงี่ยม แต่ดูก็รู้อาศัยอยู่กับความหวาดกลัวตลอดเวลา
“[Yamamoto was] living in fear, and that sensibility comes through in his work. It’s something I want to make the most of”.
ต้องชมเลยว่างานภาพของ Yamamoto สามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก (Expression) ของตัวละครได้เป็นอย่างดี พบเจอมุมกล้องแปลกประหลาดมากมาย และการจัดแสงสีมีนัยยะสำคัญ
ช่วงแรกๆของหนัง มุมกล้องจะถ่ายแบบตรงไปตรงมาเพราะยังไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกระทบกระเทือนจิตใจของตัวละคร แต่เมื่อ Shigeharu พบเจอกับ Asami จะเริ่มเห็นมุมกล้องแปลกๆ ก้ม-เงย เอียงกระเท่เร่ (Dutch Angle) ถ่ายจากบนเพดาน (Bird Eye View) สายตามด (Ant Eye View) มีความพิศดารหลากหลาย
สำหรับแสงสีก็เช่นกัน ในช่วงแรกๆจะเป็นแสงจากธรรมชาติแทบทั้งหมด แต่หลังจากพบเจอ Asami ราวกับว่าโลกในสายตาของ Shigeharu ได้เปลี่ยนแปลงเต็มไปด้วยแสงสีต่างๆ ที่สะท้อนอารมณ์บรรยากาศของฉากนั้นๆออกมา อาทิ ร้านอาหารเน้นสีเหลือง-แดง (อบอุ่น, สำราญใจ), อดีตโรงเรียนสอนบัลเล่ต์ใช้สีส้มอ่อน (แสงตะวันที่ใกล้ตกดิน), บันไดทางเดินลงสู่ผับมีสีแดง (เลือด/ความตาย),ในห้องโรงแรมเป็นสีน้ำเงิน (เย็นยะเยือก) ฯ
ช็อตหนึ่งในร้านอาหาร ฝั่งของพระเอกนั่งอยู่ในกรอบกระจก สะท้อนถึงความเข้าใจต่อตัวตนของหญิงสาว เป็นเพียงในจินตนาการความคิดของตนเองเท่านั้น
ถ่ายจากเพดานในอีกร้านอาหารหนึ่ง มุมกล้องดีอยู่ดีๆก็ปรากฎช็อคแทรกเข้ามา มีการแบ่งครึ่งราวกับว่าสองฝั่งสะท้อนกันและกัน
– สองฝั่งมีสองโต๊ะ สองคนนั่ง ในมุมที่เอียงตั้งฉากกัน คงสื่อถึงความต้องการจริงๆของพระเอก อยากนั่งข้างๆติดกันมากกว่านั่งตรงข้าม
– เปียโนแกรนด์ เป็นสัญลักษณ์ของความบันเทิง แสดงถึงพระเอกกำลังมีความเพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้มกับการสนทนานี้
– พื้นหลังสีแดง ฉากนี้มีนัยยะถึง Passion เสียมากกว่านะ
ฉากในโรงแรม ห้องหอของทั้งสอง ในตอนแรกเปิดไฟยังมีสีสว่างขาวอยู่บ้าง แต่พอปิดแล้วก็หลงเหลือแต่แสงสีน้ำเงินให้สัมผัสที่เย็นยะเยือก, สังเกตว่าช็อตนี้ ผนังประตู ผ้าม่านผ่าห่ม ล้วนเป็นสีขาวทั้งหมด (อาบด้วยแสงสีน้ำเงิน) แต่สูทของพระเอกกลับเป็นสีดำตรงกันข้าม กำลังจะได้รับการถอดออก
อดีตโรงเรียนสอนบัลเล่ต์ โดดเด่นมากกับแสงสีส้มอ่อน มีความคล้ายแสงตะวันที่ใกล้ลับขอบฟ้า และการเว้นระยะห่างระหว่างสองตัวละคร, มันจะมีฉากถัดๆมาของสถานที่แห่งนี้ จะเปลี่ยนการใช้แสงเป็นสีน้ำเงิน ขณะนั้นความตายกำลังจะมาเยือนชายขาพิการที่กำลังนั่งเล่นเปียโนอยู่
ผมชื่นชอบฉากนี้ที่สุดในหนังเลยนะ เต็มไปด้วยมุมเอียง (Dutch Angle) หลากหลายสุดพิศดาร ใช้แสงสีแดงสร้างบรรยากาศ สะท้อนว่านี่เป็นสถานที่แห่งความตาย และจังหวะการตัดต่อขณะพระเอกรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเจ้าของไนท์คลับแห่งนี้ สร้างความสะดุ้งตกใจกลัว อยู่ดีๆขนลุกซู่ขึ้นมาได้เลยละ
ตัดต่อโดย Yasushi Shimamura ขาประจำของ Miike, ใช้การเล่าเรื่องในมุมมองของ Shigeharu Aoyama แทบทั้งหมด เว้นเพียง Flashback ภาพย้อนอดีตของ Asami ที่แทรกเข้ามาขณะกำลังเล่าเรื่องถึงตัวเอง, ช่วงแรกดำเนินเรื่องไปข้างหน้าเป็นปกติ แต่พอพบเจอกับหญิงสาว การตัดต่อมีกระโดดไปมา ผสมผสานระหว่างเรื่องเล่าย้อนอดีต (Flashback), ความทรงจำ และเพ้อฝันจินตนาการ (จากจิตใต้สำนึก)
การลำดับเรื่องราวลักษณะนี้ เหมือนเพื่อสะท้อนความมืดบอดในรักของ Shigeharu, ช่วงแรกๆเราจะเห็นเฉพาะด้านดีๆของ Asami แต่พอถลำลึกเข้าไปมากๆ (ตั้งแต่เข้าโรงแรม ได้เสียกัน) ด้านมืดของหญิงสาวค่อยๆได้รับการเปิดเผยออกทีละนิด เมื่อบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นกับตัว ทำให้หวนระลึกนึกถึงตอนพูดคุยคบกันแรกๆ ที่เธอได้แอบทิ้งคำใบ้ตัวตนแท้จริง เศษขนมปังบอกเล่าไว้ให้แล้ว ซึ่งผู้ชมจะสามารถรับรู้เรื่องราวนี้ได้ ก็ตามความเข้าใจของพระเอกเท่านั้น
ถึงฉากไคลน์แม็กซ์ช่วงท้าย จะมีความรุนแรงบ้าคลั่งอย่างหนัก แต่ส่วนใหญ่จงใจใช้มุมกล้องบดบัง ให้เห็นว่ากำลังทำอะไรแต่จะไม่เห็นขณะกระทำ การตัดต่อจะแทรกภาพนั้นแบบแวปๆ สลับกับปฏิกิริยาของตัวละคร เสียงร้องกรีดกราย ‘kiri-kiri-kiri’ และ Sound Effect มีความสมจริงอย่ามาก
แซว: ฉากทัณฑ์ทรมาน Ishibashi สังเกตเห็นผู้กำกับ Miike มีความตื่นเต้น เพลิดเพลิน พึงพอใจอย่างยิ่ง ‘having so much fun with that scene’ โดยเฉพาะขณะตัวละครของเขาถูกตัดเท้าออก ใบหน้าสายตาแบบว่าซาดิสม์สุดๆ
เพลงประกอบโดย Kōji Endō อีกหนึ่งขาประจำของ Miike, มานุ่มๆเบาๆกลมกลืนเข้ากับหนัง แทบจะไม่ได้ยินอะไร แต่มีความลุ่มลึกด้วยเสียงเชลโล่ (ความชั่วร้ายแท้จริงของมนุษย์ หลบซ่อนอยู่ภายในเนื้อหนังที่มองไม่เห็น) สร้างสัมผัสบรรยากาศ ให้เกิดความหลอกหลอน ทะมึนๆ
ในห่วงโซ่อาหารประกอบด้วยผู้ล่ากับผู้ถูกล่า ขณะที่สังคมมนุษย์ จะใช้คำว่าผู้เลือกกับผู้ถูกเลือก,
– ผู้เลือก/ผู้ล่า มักมีสิทธิ์ อำนาจ อิทธิพลเหนือกว่าผู้ถูกเลือก/เหยื่อ เพื่อให้สนองความต้องการในทุกสิ่งอย่าง จนกว่าจะสมมูลค่าที่ได้จับจ่ายใช้สอยแลกเปลี่ยน
– ผู้ถูกเลือก/เหยื่อ มักไร้สิทธิ์ ไม่มีอำนาจ คิดกระทำอะไรได้ด้วยตนเอง ตกเป็นเบี้ยล่างของผู้เลือก กระทำหลายสิ่งอย่างเพื่อตอบสนองตามข้อตกลง ทั้งนี้แลกมาด้วยผลตอบแทน ถ้ามันคุ้มค่าพึงพอใจคงยินยอม ก้มหัว รับได้
ตั้งแต่อดีตกาล ผู้ชายมักมีสถานะเป็นผู้เลือก/ผู้ล่า เพราะสรีระร่างกายถูกออกแบบมาให้มีความแข็งแกร่งเหนือกว่า พึงพาได้ ขณะที่ผู้หญิงจักคือผู้ถูกเลือก/เหยื่อ มีช่วงเวลาอ่อนแอคือประจำเดือน ตั้งครรภ์คลอดบุตร จำเป็นต้องได้รับการปกป้องดูแลจากผู้อื่น
เราสามารถตีความหนังได้ว่ามีองค์ประกอบของ Feminist นำเสนออาการขัดขืนของหญิงสาวคนหนึ่ง ตั้งแต่เกิดตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ชาย เก็บกดสะสมความทุกข์ทรมาน เมื่อโตขึ้นพบเจอหนทางแก้แค้นเอาคืน ด้วยการทรมานผู้อื่น
– ฉีดยาชาเข้าที่ลิ้น ทำให้พูด(โกหก)อีกไม่ได้
– ฝังเข็ม, ที่ญี่ปุ่นจะมีบทเพลงเกี่ยวก้อยสัญญา ‘ใครโกหก ต้องกินเข็มพันเล่ม’
– ตัดแขนขา เพื่อไม่ให้อนาคตสามารถไปกระทำอะไรกับใครอื่นได้อีก
ตรงกันข้ามกับ Feminist คือ Misogynist (ผู้เกลียดชังผู้หญิง) หนังสามารถตีความลักษณะนี้ได้เช่นกัน เพราะการกระทำของหญิงสาวเฉพาะกับเพศชายเท่านั้น มองเป็นการแก้แค้นเอาคืน หมกมุ่น เต็มไปด้วยความเกลียดชัง
ต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดความต้องการทางเพศ ‘Sex’ ผู้ชายฝักใฝ่ต้องการครอบครอง ‘เป็นเจ้าของ’หญิงสาว แทบจะได้มิเคยฟังคำ สนใจข้อเรียกร้อง ความต้องการของเธอเลย มืดบอดเมื่อสันชาตญาณความเงี่ยนเข้าครอบงำ เสร็จกิจแล้วก็ทิ้งขว้างเหมือนหมูเหมือนหมา นี่หรือที่เรียกตัวเองว่าสัตว์ประเสริฐ
ผู้กำกับ Miike คงแทนตัวเองด้วย Asami และประเทศญี่ปุ่นคือ Shigeharu ที่เขาอยากเลื่อยขาเก้าอี้ … ไม่ใช่แล้ว! มันเป็นความเก็บกดรุนแรง ที่ตัวเองเติบโตในสังคมรอบข้างไม่ยินยอมรับ คงอยากที่จะทำการล้างแค้นทวงคืนความยุติธรรมแบบหญิงสาวแน่ๆ แต่อดีตอันโหดร้ายสำหรับเขานั้นได้จบสิ้นผ่านไปแล้ว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรม จัดการบุคคลเลวชั่วร้ายนั้นเองแหละ
ความสำเร็จของหนังไม่ได้แค่เฉพาะในญี่ปุ่นทั้งนั้น เสียงตอบรับฝั่งยุโรปและ Hollywood ต่างยกย่องในความสมจริงทำลายล้าง ที่ค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขนาดว่าผู้กำกับ Miike บอกว่า ‘no idea’ ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าถูกใจชาวตะวันตกได้อย่างไร
“[I have] no idea what goes on in the minds of people in the West and I don’t pretend to know what their tastes are. And I don’t want to start thinking about that. It’s nice that they liked my movie, but I’m not going to start deliberately worrying about why or what I can do to make it happen again”.
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ มันเจ็บจี๊ดรวดร้าวรานกับสิ่งที่พระเอกพบเจอ หวนนึกถึงคำโบราณ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ถ้าชีวิตจริงเจอแบบในหนังถือว่าโคตรซวยสุดๆ ต่อจากนี้ต้องระวังตัวเองให้มากๆแล้วละ, ประทับใจสุดของหนังคืองานภาพ ที่ค่อยๆมีความตื่นตา น่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การตัดต่อคิดว่าซับซ้อนเกินไปหน่อยนะ
แนะนำกับคอหนัง Horror แนวจิตๆ มีความ Sadist ผสมโรแมนติก, หมอ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศึกษาทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วย, แฟนๆผู้กำกับ Takashi Miike ไม่ควรพลาด
แนะนำเป็นพิเศษกับคาสโนว่า และคนปลิ้นปล้อน ชอบพูดโกหกหลอกลวงทั้งหลาย หนังคงไม่ทำให้คุณเลิกกระทำอสุจริตนี้ แต่คงมีความระแวดระวังตัวมากขึ้นแน่
จัดเรต 18+ กับความซาดิสม์ รุนแรง
Leave a Reply