Description of a Struggle

Description of a Struggle (1960) French, Israeli : Chris Marker ♥♥♥♥

หลังพานผ่านสารพัดสงคราม Israel ประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 กาลเวลาดำเนินมานับทศวรรษ Chris Marker ออกเดินทางไปบันทึกภาพวิถีชีวิต ผู้คน การต่อสู้ดิ้นรนของประเทศกำเนิดใหม่, คว้ารางวัล Golden Bear (Documentary) จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

แบบเดียวกับ Letter from Siberia (1957) ที่ผกก. Marker ได้รับการชักชวนให้ออกเดินทางไปสำรวจดินแดนแห่งใหม่ บันทึกภาพสถานที่ที่คนสมัยนั้น/ชาวตะวันตกไม่มีโอกาสพบเห็น รับรู้จัก เป็นการเปิดมุมมองโลกทัศน์ ลบล้างความเชื่อ/ภาพจำเลวร้ายที่เคยถูกเข้าใจผิดๆกันมา

แต่ข้อครหาของสารคดีลักษณะนี้ มักถูกมองเป็นการสร้างภาพ ชวนเชื่อ (Propaganda) นำเสนอแค่สิ่งในความสนใจผู้สร้าง หาได้ครอบคลุมอะไรหลายๆ ประวัติศาสตร์ด้านมืด ยิ่งยุคสมัยนี้ความขัดแย้งระหว่าง Israel vs. Palestine อาจทำให้หลายคนไม่อินกับการสงสารเห็นใจประเทศผู้ก่อสงคราม ทัศนะการเมืองแตกต่างตรงกันข้าม

Description of a Struggle (1960) อาจไม่ได้มีลีลานำเสนอแพรวพราวเทียบเท่า Letter from Siberia (1957) แต่แต่ละเรื่องราวล้วนเคลือบแฝงนัยยะอันลึกล้ำ เพื่อสื่อถึงจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ ไม่ใช้เผชิญหน้ากับศัตรู (นั่นจบไปแล้วตั้งแต่ได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ) คือการดิ้นรนเพื่อปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ ประเทศถือกำเนิดใหม่ และโลกยุคสมัยใหม่

The “battle” of the title does not refer to the tank-and-artillery variety, but to the inner struggle of Israeli citizens to adapt to a new view of themselves, in a new country.

คำโปรยจากเว็บไซด์ Letterboxd

Chris Marker, ชื่อจริง Christian François Bouche-Villeneuve (1921-2012) ช่างภาพ ผู้กำกับสารคดี สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine, โตขึ้นเคยเข้าเรียนปรัชญา แต่การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อนาซีเยอรมันยึดครองฝรั่งเศส เข้าร่วมกลุ่ม Maquis (FTP) ส่วนหนึ่งของ French Resistance, หลังสงครามเริ่มต้นเป็นนักข่าว (Journalism) นิตยสาร Esprit ถ่ายภาพ เขียนบทความ แต่งกวี เรื่องสั้น วิจารณ์ภาพยนตร์ ฯ พอย้ายมานิตยสารท่องเที่ยว Petite Planète (แปลว่า Small World) จึงมีโอกาสเดินทางไป(ท่องเที่ยว)ทำงานประเทศต่างๆรอบโลก

ช่วงระหว่างทำงานเป็นนักข่าว Marker เริ่มมีความสนใจในสื่อภาพยนตร์ รับรู้จักกับ André Bazin รวมถึงบรรดาว่าที่สมาชิกกลุ่ม Left Bank อาทิ Alain Resnais, Agnès Varda, Henri Colpi, Armand Gatti, Marguerite Duras และ Jean Cayrol, ได้รับโอกาสถ่ายทำสารคดีเรื่องแรก Olympia 52 (1952), Statues also Die (1953), Sunday in Peking (1956), Letter from Siberia (1957) ฯ

ผกก. Marker ได้รับการชักชวนจาก Wim & Lea Van Leer ผู้ก่อตั้ง The Israeli Film Archives – Jerusalem Cinematheque ให้เดินทางมาบันทึกภาพ ถ่ายทำสารคดี สำรวจประเทศ Israel หลังจากประกาศอิสรภาพเมื่อปี ค.ศ. 1948 เพิ่งมีอายุครบรอบทศวรรษ กำลังอยู่ปรับปรุง พัฒนา วางระบบรากฐานประเทศใหม่ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้เพื่ออนาคต

เกร็ด: ชื่อสารคดี Description of a Struggle นำจากชื่อเรื่องสั้น (German) Beschreibung eines Kampfes (1912) ของ Franz Kafka แต่เนื้อเรื่องราวไม่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ใดๆ


ถ่ายภาพโดย Ghislain Cloquet (1924-81) สัญชาติ Belgian เกิดที่ Antwerp, Belgium ย้ายมาเรียนต่อ Paris แล้วได้สัญชาติเมื่อปี 1940, เริ่มต้นถ่ายทำหนังสั้น Night and Fog (1956), มีชื่อเสียงจาก Le Trou (1960), Classe Tous Risques (1960), The Fire Within (1963), Au hasard Balthazar (1966), The Young Girls of Rochefort (1967), Mouchette (1967), Love and Death (1975), Tess (1979) ** คว้า Oscar: Best Cinematography

แม้แนวคิดจะละม้ายคล้าย แต่ทิศทางของสารคดีเรื่องนี้แตกต่างตรงกันข้ามกับ Letter from Siberia (1957) อันเนื่องจากภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม ท้องทะเลทรายเหือดแห้งแล้ง Israel เพิ่งพานผ่านสงครามมาไม่นาน ยังอยู่ในช่วงปรับปรุง ฟื้นฟู วางระบบรากฐานใหม่ งานภาพจึงมักถ่ายติดท้องทะเลทราย บ้านเรือนถูกทิ้งร้าง เศษขยะ กองขยะ เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะตกอยู่ในความสิ้นหวัง พวกเขามักรวมกลุ่มกันเพื่อทำบางสิ่งอย่าง สร้างเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ความหวังให้กับตนเอง และประเทศชาติ

ในปีที่สร้างสารคดีเรื่องนี้ มีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์สำหรับบันทึกเสียงนอกสถานที่ขึ้นแล้ว แต่มันมีความละเอียดอ่อนอยู่มาก จึงยังไม่มีการเข้าไปพูดคุย สัมภาษณ์ผู้คน (แต่มีการบันทึกเสียงขณะประชุมเย็นวันเสาร์ เพราะอยู่ในห้องปิด ไม่มีเสียงรบกวนมากนัก) ส่วนใหญ่คือเสียงผู้บรรยายฝรั่งเศสของ Jean Vilar อธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้น

เกร็ด: สถานที่ถ่ายทำ อาทิ Haïfa, Jaffa, Mea Sharim, ตลาด La rue Carmel (Tel Aviv), สวนสัตว์ Jerusalem Biblical Zoo, มหาวิทยาลัย Université hébraïque de Jérusalem, ทิวเขา Mount Carmel, ทะเลทราย Judaean Desert, ทะเลสาป Dead Sea ฯ


ผมจะยังไม่อธิบายตรงนี้ว่าคำพูดแรกของหนัง ‘Signs’ เคลือบแฝงนัยยะว่าอะไร แต่ภาพนี้คือวินาทีที่เสียงของผู้บรรยายฝรั่งเศส Jean Vilar ดังขึ้นมา มันมีป้ายตรงไหน? หรือต้องการสื่อถึงอะไรสักสิ่งอย่าง?

หนังเรื่องไหนที่ฉายภาพสวนสัตว์ ร้อยทั้งร้อยมักต้องการเปรียบเทียบ มนุษย์ = สัตว์ในกรง ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ไร้ซึ่งอิสรภาพ ในบริบทของสารคดีเรื่องนี้เหมารวมถึงชาว Israeli อาศัยอยู่ในดินแดน Jerusalem (ถ่ายทำในสวนสัตว์ Jerusalem Biblical Zoo) นครศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาในกลุ่ม Abrahamic ได้แก่ ศาสนายูดาห์, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม

ด้วยความที่ Jerusalem เป็นนครศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนแห่งนี้จึงมักเกิดการต่อสู้ แก่งแย่งชิง รบราฆ่าฟัน นั่นคือโชคชะตาของชาว Israel ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ไม่สามารถหลบหนี ดิ้นหลุดพ้นจากวังวนแห่งหายนะ

ผมไม่ค่อยแน่ใจพิธีกรรมนี้สักเท่าไหร่ ตามคำบรรยายผู้นำจิตวิญญาณ (Rabbi) ของชาว Sephardic Jews ถูกฝังร่างไว้ที่ Sea of Galilee (สถานที่ที่ Jesus Christ เคยสำแดงปาฏิหารย์ ทำให้พายุในทะเล Galilee สงบลง) ทุกปีผู้คนจึงมีขบวนแห่ไปยังทะเลแห่งนั้น เพื่อแสดงความรำลึก อธิษฐานขอพร

ในบริบทของสารคดี เหตุการณ์นี้สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์อดีตพานผ่าน หวนระลึกความทรงจำ ร่วมกันก้าวออกเดินสู่อนาคตสดใส ท้องฟ้าค่ำมืด → ตื่นเช้าวันใหม่

เด็กหนุ่มไถลรถลากลงมาจากบนยอดเขา เมื่อเสียงบรรยายกล่าวว่าเขาเพ้อฝันถึงชัยชนะกีฬาโอลิมปิก ผู้ชมจะได้เสียงกองเชียร์ดังขึ้นตลอดทาง ไปจนถึงย่านแฟลต/ที่พักอาศัยบริเวณตีนเขา (ดำเนินถึงเป้าหมายเส้นชัย)

มันอาจฟังดูย้อนแย้ง แต่ผมมองว่าการไถลลงเขา สื่อถึงความตกต่ำของ Israel จากอดีตเคยเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง การเผชิญหน้าหลากหลายสงคราม เหตุการณ์หายนะมากมาย ดินแดนแห่งนี้เลยสูญสิ้นความยิ่งใหญ่ ส่วนเสียงเชียร์ได้ยินตลอดทาง อาจสื่อถึงกำลังใจให้กับการถือกำเนิด เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ของประเทศนี้

หลังจากการไถลรถเข็นของเด็กหนุ่มถึงเป้าหมายปลายทาง ตัดมาภาพถ่ายทิวทัศน์ข้างทาง และกำลังขับเคลื่อนขึ้นถึงเนินสูง พอมาถึงพบเห็น(น่าจะ)หมู่บ้านจัดสรร ชุมชนเมืองแห่งใหม่ … นี่แสดงถึงความเชื่อมั่น(ขณะนั้น)ของผกก. Marker ว่าประเทศนี้จะสามารถปรับปรุง ฟื้นฟู และหวนกลับสู่จุดสูงสุดได้อีกครั้ง!

เสียงบรรยายไม่ได้เอ่ยกล่าวว่าสถานที่แห่งนี้คืออะไร ผมคาดเดาว่าอาจคือบ่อน้ำพุ หรือเอาไว้เตรียมตั้งอนุสาวรีย์อะไรสักอย่าง (ไม่น่าจะเอาไว้ให้เด็กๆเล่นน้ำหรอกนะ) แต่การนำเสนอภาพนี้ทำให้ผมครุ่นคิดในเชิงเปรียบเทียบถึง Israel จักกลายเป็นดินแดน Oasis (บ่อน้ำกลางทะเลทราย)ในตะวันออกกลาง?

ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีสมัยนั้น การบันทึกเสียงนอกสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนยังทำได้ยาก ทว่าผกก. Marker ก็ได้ครุ่นคิดวิธีการสื่อสารกับผู้คนด้วยการถ่ายภาพนิ่ง นำเอาฟีล์มไปล้างแล้วส่งมอบให้วันถัดๆไป บันทึกปฏิกิริยาของพวกเขา มันช่างงดงาม สร้างความแช่มชื่น อบอุ่นหัวใจ

ผมจดจำไม่ได้ว่าสารคดีเรื่องนี้มีถ่ายติดนกฮูกไหม? แต่ทว่าสัตว์นำโชคของผกก. Marker คือเจ้าแมวเหมียว พบเจอเมื่อไหร่ต้องหันกล้องไปบันทึกภาพเก็บไว้ ช่วงต้นเรื่องก็มีคาเฟ่ตกแต่งหน้าตาเหมือนแมว

ในบรรดาการเปรียบเทียบอันแยบยล คมคายของผกก. Marker ที่ผมรู้สึกอึ่งทึ่งมากสุด คือตอนถ่ายทิวทัศน์ Judaean Desert ตอนแรกเปรียบเทียบพื้นผิวดวงจันทร์ ไปๆมาๆพาดพิง Hiroshima (ที่ถูกระเบิดปรมาณูทำลายล้าง ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง) และย้อนรอยการพังทลายของเมืองในตำนาน Sodom and Gomorrah ถูกพระเจ้าลงทัณฑ์ ทำลายล้าง เพราะได้กระทำความชั่วร้ายเกินกว่าเยียวยา

และหลังจากร้อยเรียงทิวทัศน์ Judaean Desert ยังแทรกใส่ภาพวาด Lot and His Daughters (1520) ไม่รู้ใครคือศิลปิน, ทูตสวรรค์จูงมือ Lot และสมาชิกครอบครัว (ภรรยา+บุตรสาวสองคน) ออกจากเมือง บอกให้หนีไปที่เนินเขา และอย่าหันกลับมามอง! จากนั้นพระเจ้าทรงโปรยกำมะถันและไฟลงมายังเมือง Sodom and Gomorrah (ปฐมกาล 19:24–25) ท้ายที่สุด Lot และบุตรสาวทั้งสองได้รับความรอด แต่ภรรยาไม่สนใจคำเตือน เหลียวหลัง กลายเป็นเสาเกลือ

หลังเสร็จสิ้นการร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ทะเลทราย ภาพถัดมาคือริ้วรอยกระจกแตกด้านหลังรถ นี่สามารถสื่อถึงประวัติศาสตร์ (ด้านหลังรถ) แห่งความแตกแยก คือสิ่งที่จักติดตัวลูกหลานชาว Israeli ดำเนินสู่อนาคต (รถแล่นไปข้างหน้า) ไม่มีวันลบเลือนหาย

ด้วยความที่เป็นนครศักดิ์สิทธิ์ จึงมีธรรมเนียมวันเสาร์ (Shabbat, สะบาโต) พระเจ้าทรงสร้างโลก 6 วัน และทรงพักในวันที่ 7 เป็นเหตุให้ชาว Israeli ต้องหยุดงาน เข้าโบสถ์ สวดอธิษฐาน และตอนเย็นๆจะให้เด็กก่อกองไฟ มอดไหม้บรรดาศัตรูชาวยิว (ตั้งแต่ Titus ถึง Hitler) ให้ตกนรกหมกไหม?

มันมีร้อยแปดพันมุมกล้องที่สามารถเลือกเป็น ‘Establishing Shot’ สำหรับการประชุมเย็นวันเสาร์ แต่ผกก. Marker กลับใช้ภาพที่ถือเป็น ‘Signs’ ถ่ายติดเท้าของหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชม แต่นี่ไม่ใช่อารัมบทหายนะของการประชุม (สามารถผ่านการลงมติเลือกตัวแทน ลุล่วงโดยดี) คาดว่าน่าจะต้องการสื่อถึงวิถีประชาธิปไตยใน Israel มันจะยังคงความบริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์เคลือบแอบแฝงได้อีกนานเท่าไหร่? “How long will their purity last?”

ลองสังเกตที่โต๊ะของประธาน (ที่ยืนอยู่) มันจะมีไมโครโฟนวางอยู่ ทำการบันทึกเสียงการประชุม โชคดีว่าคือห้องปิด ไม่มีเสียงภายนอกรบกวนมากนัก จึงสามารถนำมาแทรกใส่ ได้ยินเสียงของสมาชิก ภาษาฮิบรู (Hebrew) มั้งนะ!

เมื่อเข้าไปถ่ายในสลัม ผมรู้สึกว่าผกก. Marker คงรู้สึกเศร้าสลดใจอยู่ไม่น้อย ถึงขนาดปรากฏตัวหน้ากล้อง เข้าไปพูดคุยสอบถาม (ไม่มีบันทึกเสียงพูดนะครับ) จับมือให้กำลังใจ แต่เธอก็ยิ้มให้ตลอด, ช็อตในบ้านก็จงใจเลือกมุมมืด ถ่ายย้อนแสง ให้เห็นถึงความแร้นแค้น ทุกข์ยากลำบาก หวังว่าครอบครัวนี้จะพบหนทางแห่งแสงสว่าง

การแทรกภาพโปสเตอร์หนัง นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ตัวการ์ตูน จอโทรทัศน์ ฯ เหล่านี้สะท้อนการมาถึงของสื่อตะวันตก ค่อยๆแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง สร้างอิทธิพลให้กับชาว Israeli ผมขี้เกียจลงรายละเอียด ลองไปส่องๆเองแล้วกันว่ามีอ้างอิงถึงอะไร ใครบ้าง?

ภาพฟุตเทจ Newsreel วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1947 ชนชาวยิวตัดสินใจแอบขึ้นเรือ อพยพหลบหนีจากยุโรปกลาง เพื่อแสวงหาถิ่นที่อยู่ใหม่ ไกลจากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ … ผมมาครุ่นคิดดูก็ตระหนักว่า มันไม่ต่างจากตอนโมเสส (Moses) แหวกทะเล Red Sea พาชาวยิวมุ่งสู่แผ่นดินแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า

ซีเควนซ์สุดท้ายของหนัง เริ่มจากร้อยเรียงภาพถ่ายเด็กๆ จากนั้นพบเห็นเด็กชาย & เด็กหญิงวาดภาพอะไรไม่รู้ แต่เมื่อเสียงบรรยายพูดบอกว่า “There she is. Like Israel.” นี่เป็นการเปรียบเทียบ เด็กหญิง = โฉมหน้าประเทศ Israel (National Identity) ต่างอายุประมาณ 11-12 พอๆกัน และกำลังวาดภาพอนาคตด้วยมือของตนเอง!

ตัดต่อโดย Eva Zora (เกิดปี ค.ศ. 1937) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มร่วมงานผกก. Chris Marker ตั้งแต่ Description of a Struggle (1960), ¡Cuba Sí! (1961), Le joli mai (1963), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Old Gun (1975) ฯ

สไตล์สารคดีของผกก. Marker ไม่ได้มีลักษณะโครงสร้างสามองก์ (Three-Act Structure) สามารถแบ่งออกเป็นตอนๆ (Episodic) ซึ่งจะมีรูปแบบ วิธีการ ลีลาการนำเสนอแตกต่างกันไป และมักจะมีบางสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์ หรือใช้คำบรรยายสร้างสัมผัสบทกวี

  • Opening Credit, ร้อยเรียงภาพขาว-ดำ Israel
  • Israel ยุคสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยป้ายโน่นนี่นั่น จากชายเมืองเข้าสู่ใจกลาง ตลาดค้าขาย
  • สรรพสัตว์ในกรง
  • มหาวิทยาลัย Université hébraïque de Jérusalem
  • ฝูงชนชาวยิว เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา
  • ร้อยเรียงภาพปรักหักพัง เด็กชายไถลรถลากลงจากภูเขา
  • เดินทางสู่ Mea Sharim
  • เรื่องราวของภาพถ่าย
  • ทิวทัศน์กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา
  • เด็กๆริมชายหาด และกิจกรรมรอบกองไฟ
  • วันเสาร์ยามบ่าย ประชุมชาวเมือง เลือกตัวแทนเข้าร่วม
  • ภาพการก่อร่างสร้างเมือง ยังมีอีกมากอาศัยอยู่ในสลัม
  • อดีตปรักหักพัง vs. การมาถึงของยุคสมัยใหม่
  • การอพยพ ขึ้นเรือหลบหนีจากยุโรป
  • เด็กหญิงกำลังวาดภาพแห่งอนาคต

เครดิตเพลงประกอบขึ้นว่า Lalan, ชื่อจริง Xie Jing-Lan, 謝景蘭 (1921–95) ศิลปิน จิตรกร นักกวี ดนตรี เกิดที่ Guizhou, China ฝึกฝนการร้องเพลงยัง Shanghai Music Academy, หลังสงครามโลกย้ายมาปักหลักอยู่ฝรั่งเศส ร่ำเรียนการแต่งเพลง เต้นรำสมัยใหม่ Conservatoire de Paris มีความหลงใหล Electronic Music ก่อนได้รับการชักชวนจากผกก. Chris Marker ทำเพลงประกอบสารคดี Description of a Struggle (1960)

โดยปกติแล้วผกก. Marker มักเลือกใช้บทเพลงที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบ สไตล์เพลง ขึ้นอยู่กับเรื่องราว วิธีดำเนินเรื่อง และอารมณ์ศิลปิน แต่ทว่าการร่วมงาน Lalan ที่ไม่ใช่นักแต่งเพลงแท้ๆ (โดดเด่นกับงานศิลปะ และการเต้นเสียมากกว่า) จุดประสงค์เพื่อรังสรรค์บทเพลงที่สร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน ฟังเหมือนเสียงกรีดร้อง โหยหวน คร่ำครวญ พยายามกระเสือกกระสน ดิ้นรน ‘Struggle’ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ … บรรเลงบทเพลงที่มีบรรยากาศเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง!

Description of a Struggle (1960) นำเสนอการเดินทางสำรวจประเทศเกิดใหม่ Israel เพิ่งได้รับการประกาศอิสรภาพมานานนับทศวรรษ แต่ดินแดนแห่งนี้แท้จริงแล้วมีประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมของตนเองยาวนานหลักพัน อาจจะถึงหมื่น-แสนปีเสียด้วยซ้ำ! (ถ้าอ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิล)

มองผิวเผิน สารคดีเรื่องนี้เหมือนพยายามนำเสนอการถือกำเนิด เริ่มต้นใหม่ของ Israel หลังพานผ่านสงคราม ความขัดแย้ง เหตุการณ์หายนะเคยบังเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นับไม่ถ้วน! แม้สถานที่ต่างๆยังมีสภาพปรักหักพัก แต่จิตวิญญาณอันเข้มแข็งของชาว Israeli จักทำให้พวกเขาก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้าย สร้างประเทศขึ้นใหม่ เพื่ออนาคตลูกหลานมีความสว่างสดใส … แต่ถ้อยคำแรกที่ผู้บรรยายเอ่ยถึง ‘Sign’ ไม่ได้หมายถึงแค่เครื่องหมาย ป้ายสัญลักษณ์ ยังคือลางบอกเหตุร้าย “How long will their purity last?”

เกร็ด: เมื่อตอนผู้บรรยายเอ่ยคำแรก ‘Sign’ ลองย้อนไปดูรูปที่แคปมา มันไม่ได้มีป้าย เครื่องหมาย สัญลักษณ์อะไรเลย แต่เป็นเศษซากปรักหักพังอะไรสักอย่าง (เครื่องยนต์กลไก?) ท่ามกลางทะเลทราย นี่ชัดเจนมากๆถึงสัญญะลางบอกเหตุร้าย

ตอนรับชม Letter from Siberia (1957) ผมสัมผัสถึงความตื่นเต้น สนุกสนาน จิตวิญญาณนักสำรวจของผกก. Marker ทำให้สารคดีเรื่องนั้นมีความน่าตื่นตาตื่นใจ ได้เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่, แต่แตกต่างตรงกันข้ามกับ Description of a Struggle (1960) เต็มไปด้วยภาพความทุกข์ยากลำบาก เศษซากปรักหักพัง ทะเลทรายกว้างใหญ่ ผู้คนยากไร้ ฯ มันอาจสามารถมองในแง่ของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสร้างอนาคตใหม่ ขณะเดียวกันการแทรกภาพจากอดีตตัดสลับกับปัจจุบัน ยังตีความได้ถึงการซ้อนทับ เวียนวงกลม ประวัติศาสตร์มันคงหวนกลับมาซ้ำรอยเดิม

สไตล์ของผกก. Marker คือการร้อยเรียง แปะติดปะต่อ ประมวลภาพความทรงจำ แล้วผสมผสานความครุ่นคิดเห็นของตนเองเข้าไป ซึ่งสำหรับ Description of a Struggle (1960) ในบทความวิจารณ์จาก sensesofcinema มีคำกล่าวที่ใช้อธิบายบทสรุปสารคดีเรื่องนี้ “collective psyche of the nation” สิ่งต่างๆพบเห็น ล้วนคือจิตวิญญาณของชาว Israel

Israel has earned the privilege of being free and innocent of its past, the right to material prosperity and to what the commentary calls the vanity, blindness and egotism of nations; but the origins of its existence demand that it conduct itself otherwise.

Catherine Lupton ผู้เขียนหนังสือ Chris Marker: Memories of the Future (2005)

ชื่อสารคดี Description of a Struggle อ้างอิงจากเรื่องสั้นของ Franz Kafka ต่อให้คุณไม่เคยรับรู้จัก แต่สไตล์ Kafkaesque การันตีว่าต้องมีความแปลกประหลาด หลุดโลก เลือนลางระหว่างโลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน … หรือคือเรื่องราว/เหตุการณ์พบเห็นในสารคดีเรื่องนี้ มันอาจเป็นเพียงภาพลวงตา

ก็ดูอย่าง Israel vs. Palestine ในปัจจุบัน มันก็ชัดเจนถึงสันดาน ธาตุแท้ ตัวตน แทนที่จะพูดคุย โหยหาสันติวิธี กลับใช้ความรุนแรงโต้ตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” นั่นคือสันชาตญาณฝังรากลึกในจิตวิญญาณ ส่งต่อจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ไม่มีทางที่ดินแดนแห่งนี้จักพบเจอความสงบสุข

เกร็ด: การมาถึงของ Six-Day War (1967) ผมอ่านเจอว่า ผกก. Marker ทำการล็อบบี้ไม่ให้นำเอาสารคดีเรื่องนี้ออกฉายทางโทรทัศน์ มีนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นว่าเขาคงหมดศรัทธาในดินแดนที่เคยเชื่อว่าน่าจะสามารถเป็นความหวัง อนาคตใหม่ สุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์มันก็ซ้ำรอยเดิม

In 1967, Israel no longer represented the utopia that had attracted Marker at the start of the 1960s, a period during which he also traveled to China and Cuba in search of models of an alternative society.

Ariel Schweitzer

เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนัง Berlin International Film Festival สายการประกวด Documentary and Short Films Competition เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยม สามารถคว้ามา 2 รางวัล

  • Golden Bear (Best Feature-Length Documentary)
  • Best Documentary Film Suitable for Young People

ปัจจุบันสารคดีได้รับการบูรณะ 2K โดย Argos Films ร่วมกับ The Israeli Film Archives – Jerusalem Cinematheque ในห้องแลปของ Éclair Group (ภาพ) และ L. E. Diapason (เสียง) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2014 สามารถหารับชมตามเว็บสารคดี Streaming หรือช่องทางธรรมชาติทั่วไป

แม้ส่วนตัวจะชื่นชอบลูกเล่น ความขี้เล่นของผกก. Marker จากสารคดี Letter from Siberia (1957) แต่ทว่า Description of a Struggle (1960) กลับซุกซ่อนการตีความอันลึกล้ำ ป้ายสัญญาณที่น่าหลงใหล พยากรณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม Israel ช่างเป็นดินแดนแห่งการต่อสู้ ดิ้นรน กระเสือกกระสน ว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏฏะแห่งหายนะ

จัดเรต pg กับภาพหายนะจากสงคราม

คำโปรย | Description of a Struggle สารคดีถ่ายทอดจิตวิญญาณ การต่อสู้ดิ้นรน ว่ายเวียนวน ถือกำเนิด(ใหม่)ของประเทศ Israel
คุณภาพ | ต่สู้ดิ้
ส่วนตัว | ลุ่มลึก

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: