La Cérémonie
La Cérémonie

La Cérémonie (1995) French, German : Claude Chabrol ♥♥♥♥

ในฝรั่งเศสมีพิธีกรรมชื่อว่า La Cérémonie (The Ceremony) สำหรับเตรียมตัวนักโทษก่อนถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน แต่แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่มีใครถูกตัดหัว เรื่องราวทั้งหมดคือการเตรียมความพร้อมก่อนครอบครัวถูกสังหารหมู่!

อาจมีบางคนรู้สึกฉุนเฉียว สปอยหนังทำไมตั้งแต่ย่อหน้าแรก? แต่ถ้าคุณรับรู้จัก ‘สไตล์ Chabrol’ นั่นคือสิ่งที่พี่แกพยายามเปิดเผยให้ผู้ชมรับรู้ว่าใครคือฆาตกร หรือบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นตอนจบ เพื่อระหว่างรับชมจะได้ไปขบครุ่นคิดพิจาณารายละเอียดอื่นๆ สังเกตพฤติกรรม สำรวจจิตวิทยาตัวละคร เพราะเหตุใด? ทำไม? กระทำการเหล่านั้นไปเพื่ออะไร?

I’m not at all interested in whodunit. If you conceal a character’s guilt, you imply that his guilt is the most important thing about him. I want the audience to know who the murderer is, so that we can consider his personality.

Claude Chabrol

ขณะที่ Les Bonnes Femmes (1960) ถือเป็นมาสเตอร์เรื่องแรก, Le Boucher (1970) คือผลงานชิ้นเอกในยุคทอง, แต่ภาพยนตร์สมบูรณ์แบบที่สุดของผกก. Chabrol นั้นคือ La Cérémonie (1995) ช่วงประมาณกลางเรื่องเมื่อสองสาว Isabelle Huppert และ Sandrine Bonnaire เล่าความหลังของตัวละคร เห้ย! แม้งคุ้นๆว่ะ มันช่างละม้ายคล้ายพล็อตหนัง(ของผกก. Chabrol)หลายๆเรื่องก่อนหน้า … ใครเคยรับชม Three Colors: Red (1994) ของ Krzysztof Kieślowski วินาทีที่ตระหนักถึงความเชื่อมโยงกับ Blue (1993) และ White (1994) มันจะเกิดอาการขนลุกขนพองอย่างคาดไม่ถึง!

ในขณะที่ Red (1994) ของ Kieślowski เชื่อมโยงกันแค่ไตรภาคสามสี, La Cérémonie (1995) คือการประมวลผลงานทั้งชีวิตของผกก. Chabrol มารวมไว้อยู่ในภาพยนตร์เรื่องเดียว! … คือถ้าคุณมีโอกาสรับชมเพียง La Cérémonie (1995) จะยังเข้าไม่ถึงความยิ่งใหญ่แท้จริงของผกก. Chabrol จนกว่าจะค่อยๆไล่เรียงตั้งแต่ผลงานแรกๆ กระโดดมายุคทอง หรือเอาแค่เรื่องสำคัญๆที่ผมเคยเขียนถึงก็ได้ พอปิดท้ายเรื่องนี้จักพบเห็นสรวงสวรรค์บนสรวงสวรรค์ หนึ่งในมาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมแอบคาดไม่ถึง เพิ่งตระหนักได้ระหว่างรับชม ว่าหลายๆสิ่งอย่างได้กลายเป็นอิทธิพลต่อโคตรภาพยนตร์ Parasite (2019) ของผกก. Bong Joon-ho แต่เรื่องไหนยอดเยี่ยมกว่ากันนั้น ฮืม …


Claude Henri Jean Chabrol (1930-2010) ผู้กำกับ/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่ไปเติบโตยังชนบท Sardent, Nouvelle-Aquitaine ครอบครัวเป็นเจ้าของร้านขายยา คาดหวังให้บุตรชายสืบทอดกิจการ แต่กลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” ก่อตั้งชมรม Film Club ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลงใหลเรื่องราวนักสืบ แนวตื่นเต้นลุ้นระทึก (Thriller), หลังสงครามโลกสิ้นสุดเดินทางสู่ Paris เข้าศึกษาต่อ Université de Paris (บ้างว่าร่ำเรียนเภสัชศาสตร์ บ้างว่านิติศาสตร์) แต่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ยัง Ciné-Club du Quartier Latin และ Cinémathèque Française หลังเรียนจบอาสาสมัครทหาร French Medical Corps ไต่เต้าจนได้ยศผู้หมวด (Sergeant) พอปลดประจำการ กลายเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma, ร่วมกับ Éric Rohmer ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ Hitchcock (1957), ให้ความช่วยเหลือ Jacques Rivette สรรค์สร้างหนังสั้น Le coup du Berger (1957), กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Beau Serge (1958) ถือเป็นจุดเริ่มต้นกลุ่มเคลื่อนไหว French New Wave

สำหรับ La Cérémonie ต้นฉบับคือนวนิยาย A Judgement in Stone (1977) แต่งโดย Ruth Rendell ชื่อเต็ม Ruth Barbara Rendell, Baroness Rendell of Babergh (1930-2015) นักเขียนนวนิยายสัญชาติอังกฤษ มีชื่อเสียงจากแนว Psychological Thriller, Murder Mystery

เกร็ด: ก่อนหน้านี้ A Judgement in Stone (1977) เคยได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์ The Housekeeper (1986) นำแสดงโดย Rita Tushingham

บทภาพยนตร์ร่วมดัดแปลงโดย Caroline Eliacheff (เกิดปี ค.ศ. 1947) อดีตภรรยานักแสดง Robert Hossein หลังหย่าร้างทำงานเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิเคราะห์ ไม่รู้เหมือนกันว่ารับรู้จักผกก. Chabrol ได้อย่างไร แต่มีโอกาสร่วมงานกันสามครั้ง La Cérémonie (1995), Nightcap (2000) และ The Flower of Evil (2003)

ต้นฉบับนวนิยายจะมีแค่เรื่องราวของสาวใช้ (แค่คนเดียว) ได้รับการว่าจ้างให้มาทำงานในคฤหาสถ์หรู แต่ผกก. Chabrol และ Eliacheff ร่วมกันพัฒนาอีกตัวละครเพื่อให้สามารถเติมเต็มกันและกัน โดยอ้างอิงจากคดีร่วมกันฆ่าของสองพี่น้องสาวใช้ Christine (1905-37) และ Léa Papin (1911-2001) ลงมือสังหารภรรยานายจ้างและบุตรสาว เหตุเกิดขึ้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 ณ เมือง Le Mans, แคว้น Pays de la Loire, ทางตะวันตกเฉียงเหนือจากกรุง Paris


เรื่องราวของ Sophie Bonhomme (รับบทโดย Sandrine Bonnaire) ได้รับการว่าจ้างเป็นสาวใช้ให้กับครอบครัว Lelièvre ณ แมนชั่นตั้งอยู่ยัง Brittany ประกอบด้วยสมาชิกสี่คน

  • Catherine (รับบทโดย Jacqueline Bisset) มารดาผู้ว่าจ้าง Sophie แม้แสดงออกว่าเป็นคนง่ายๆ ภายนอกดูสบายๆ พยายามเอาใจใส่ ให้ความสำคัญกับลูกจ้าง แต่แท้จริงแล้วกลับโคตรๆเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ จอมบงการ ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น ทำผิดเล็กๆน้อยๆกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมหาศาล
  • Georges (รับบทโดย Jean-Pierre Cassel) แม้มีความหลงใหลในดนตรีคลาสสิก แต่อุปนิสัยจุกจิกจู้จี้ เจ้ากี้เจ้าการ ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น เคร่งครัดตามหลักศาสนา ใครปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมก็ตำหนิต่อว่า พร้อมขับไล่ผลักไส โดยไม่เคยให้โอกาสใครแก้ตัว
  • Gilles (รับบทโดย Valentin Merlet) บุตรชายของ Catherine กับอดีตสามี เหมือนเป็นคนเงียบๆ วันๆชอบนั่งดูโทรทัศน์ ไม่ก็ติดรถออกไปเตะฟุตบอลกับเพื่อน แต่ขณะเดียวกันชอบสอดรู้สอดเห็นไปทั่ว … เห็นเงียบๆแต่ร้ายนัก!
  • Melinda (รับบทโดย Virginie Ledoyen) บุตรสาวของ Georges กับอดีตภรรยา มีความเริดเชิด เย่อหยิ่ง ชอบทำตัวหัวสูงราวกับเจ้าหญิง ทั้งยังแบ่งแยกสถานะตนเองกับสาวใช้ โดยปกติมักไม่ค่อยอยู่บ้าน ออกไประริกระรี้กับแฟนหนุ่ม แล้วจู่ๆพลั้งพลาดตั้งครรภ์ พอถูกแบล็กเมล์โดย Sophia ก็ทำสะดีดสะดิ้ง หน้านิ่งๆแต่จิตใจเหี้ยมโหดยิ่งนัก!

การมาถึงของ Sophia ช่วงแรกๆได้รับคำชื่นชมจากสมาชิกครอบครัว Lelièvre ตั้งใจทำงาน ปรุงอาหารอร่อย ไม่เคยพร่ำบ่นอะไรให้ได้ยิน แต่การมาถึงของไปรษณีย์สาว Jeanne (รับบทโดย Isabelle Huppert) เริ่มทำให้เธอสำแดงพฤติกรรมหัวขบถ แสดงอารยะขัดขืน เปิดเผยตัวตนแท้จริง และเบื้องหลังความลับลมคมใน กำลังค่อยๆได้รับการเปิดเผยออกมา


Sandrine Bonnaire (เกิดปี 1967) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Gannat, Allier ในครอบครัวชนชั้นทำงาน (Working Class) มีพี่น้อง 11 คน, เมื่ออายุ 16 ปี เข้าตาผู้กำกับ Maurice Pialat ได้รับเลือกแสดงนำ À nos amours (1983) แจ้งเกิดคว้ารางวัล César Award: Most Promising Actress, สองปีถัดมาโด่งดังระดับนานาชาติกับ Sans toit ni loi (1985), ตามด้วย Under the Sun of Satan (1987), Monsieur Hire (1989), La Cérémonie (1995), East/West (1999), The Final Lesson (2015) ฯ

รับบท Sophie Bonhomme สาวใช้ผู้มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ตั้งใจทำงานอย่างไม่เคยบ่น แต่ตัวเธอนั้นเคยมีประวัติความรุนแรง (History of Violence) ปล่อยให้บิดาผู้พิการถูกไฟคลอกโดยไม่เข้าไปช่วยเหลือ อีกทั้งยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ (Dyslexia) กลายเป็นปมด้อยที่เมื่อถูกเปิดเผยอย่างไม่เต็มใจ พร้อมโต้ตอบเอาคืนด้วยความรุนแรง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

การได้พบเจอไปรษณีย์สาว Jeanne Marchal แรกๆดูไม่ชอบความเจ้ากี้เจ้าการ จอมบงการของอีกฝ่าย แต่โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นเพื่อนสนิทสนม ไปมาหาสู่ เที่ยวเล่นสนุกสนาน ทั้งยังค่อยๆซึมซับแนวคิดใหม่ๆ จนกล้าแสดงอารยะขัดขืนต่อครอบครัว Lelièvre และเมื่อถูกไล่ออกจากงาน ร่วมกันกระทำการสังหารหมู่อย่างเลือดเย็น

ผมยังจดจำใบหน้าใสๆของ Bonnaire จากภาพยนตร์ À nos amours (1983) แต่หลังจากรับบทนำ Sans toit ni loi (1985) ราวกับสูญเสียความบริสุทธิ์ ดูเป็นคนกร้านโลก สีหน้าเย็นชา แม้พยายามนิ่งเฉย ไม่แสดงออกทางอารมณ์ แต่ผู้ชมสัมผัสถึงความเก็บกด อดกลั้น อัดอั้นอะไรมาก็ไม่รู้ เต็มไปด้วยลึกลับลมคมใน บางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นไว้ เปิดเผยออกมาเมื่อไหร่ก็หน้านิ่วคิ้วขมวด พร้อมโต้ตอบ แสดงออกด้วยความรุนแรงโดยพลัน!

ช่วงแรกๆคงไม่มีใครเอะใจว่าตัวละครมีลับลมคมในอะไร แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป จู่ๆแสดงท่าทางลุกรี้ร้อน เปิดเผยว่าอ่านหนังสือไม่ออก ต้องขอความช่วยเหลือจาก Jeanne ตั้งแต่นั้นผู้ชมจักเริ่มเป็นห่วงเป็นใย มอบกำลังใจให้สามารถพานผ่านสถานการณ์ครั้งต่อๆไป ฉงนสงสัยว่าทำไมไม่เปิดเผยความจริงออกมา แสดงว่าเบื้องหลังมันต้องมีอะไรซุกซ่อนอยู่มากกว่านี้!

สิ่งสร้างความประหลาดใจให้ผมสุดๆก็คือเคมีเข้าขากันระหว่าง Bonnaire กับ Huppert มันชวนให้นึกถึง Bonnie and Clyde หรืออย่าง Thelma and Louise ภาษาฝรั่งเศสมีคำเรียกว่า ‘folie-à-deux’ อาการจิตเวชของสองผู้ป่วยที่มีความหลงผิด ประสาทหลอนไปในทิศทางเดียวกัน … แม้อุปนิสัยใจคอของทั้งสองตัวละครจะแตกต่างตรงกันข้าม แต่พวกเธอต่างมีอดีตคล้ายๆกัน มันจึงสามารถเข้าใจหัวอก มองตารู้ใจ รับรู้ความต้องการอีกฝ่าย รวมกันเราอยู่ สามารถต่อสู้เผชิญหน้าทุกสิ่งอย่าง!


Isabelle Anne Madeleine Huppert (เกิดปี 1953) นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นชาว Jews ส่วนมารดาทำงานครูสอนภาษาอังกฤษ ผลักดันให้ลูกๆเป็นนักแสดงตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาได้เข้าเรียน Conservatoire à rayonnement régional de Versailles ติดตามด้วย Conservatoire national supérieur d’art dramatique (CNSAD) เริ่มต้นมีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์ Le Prussien (1971), ตามด้วยภาพยนตร์ Faustine et le Bel Été (1972), Les Valseuses (1974), The Common Man (1975), La Dentelliere (1977) **คว้ารางวัล BAFTA Award: Most Promising Newcomer, ผลงานเด่นๆ อาทิ Aloïse (1975), Violette Nozière (1978), Une affaire de femmes (1988), La Cérémonie (1995), The Piano Teacher (2001), Gabrielle (2005), Amour (2012), Elle (2016) ฯ

รับบทไปรษณีย์สาว Jeanne Marchal ผู้มีข่าวอื้อฉาวว่าเคยเข่นฆ่าบุตรสาววัยสี่ขวบ แม้ศาลยกฟ้องเพราะไม่สามารถพิสูจน์หลักฐาน แต่โดนจงเกลียดจงชังจาก Georges Lelièvre สั่งห้ามไม่ให้แวะเวียนมาที่แมนชั่น ถึงอย่างนั้นเมื่อแมวไม่อยู่หนูร่าเริง ตีสนิทสนมกับสาวใช้ Sophie คอยให้คำแนะนำ ความช่วยเหลือโน่นนี่นั่น พยายามปลูกฝังแนวคิดอิสรภาพ พาไปสถานที่ต่างๆเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ จนเมื่อเพื่อนสาวถูกไล่ออกจากงาน เลยร่วมกันกระทำการสังหารหมู่

อีกบทบาทไฮไลท์ในอาชีพการงานของ Huppert เล่นเป็นหญิงสาวจอมบงการ นิสัยเย่อหยิ่งผยอง จองหองอวดดี ระริกระรี้แรดร่าน แรกพบเจอถูกชะตากับ Sophie ฟ้ากำหนดมาให้เราคู่กัน ชอบพูดคุย โน้มน้าว พยายามครอบงำ ชักชวนมาร่วมทำโน่นนี่นั่น กลิ่นอายความสัมพันธ์ Homo-Erotic (จะมองเป็นเลสเบี้ยนเลยก็ยังได้) ตรงกันข้ามกับครอบครัว Lelièvre เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่ลงรอย เฝ้ารอคอยวันจะโต้ตอบเอาคืน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

นอกจาก ‘ภาพจำ’ บุคลิกภาพของ Huppert ที่ตรงกับตัวละครนี้เป๊ะๆ สิ่งโดดเด่นยังคือลีลาอันพริ้วไหว เคลื่อนดำเนินไปอย่างกับสายลม ชีวิตไร้ซึ่งพันธนาการเหนี่ยวรั้ง กระทำสิ่งโน่นนี่นั่นโดยไม่มีใครสามารถควบคุมครอบงำ ทั้งคำพูด การแสดงออก ล้วนมีความตรงไปตรงมาจากสันชาตญาณ … นี่ถือเป็นอีกลายเซ็นต์การแสดงของ Huppert โดดเด่นกับใช้ร่างกาย ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ถ่ายทอดสิ่งอยู่ภายในจิตวิญญาณตัวละครออกมา


ถ่ายภาพโดย Bernard Zitzermann (1942-2018) สัญชาติฝรั่งเศส ร่ำเรียนการถ่ายภาพยัง École nationale supérieure Louis-Lumière (ENS Louis-Lumière) เริ่มต้นทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator), ผู้ช่วยตากล้อง (Assistant Camera), เริ่มได้รับเครดิต Far from Vietnam (1967), สารคดี The Man Who Sleeps (1974), ภาพยนตร์ Molière (1978), Betty (1992), Olivier, Olivier (1992), L’enfer (1994), La Cérémonie (1995) ฯ

สไตล์การถ่ายภาพของ Zitzermann แตกต่างจากอดีตขาประจำ Jean Rabier อย่างเห็นได้ชัด (Rabier รีไทร์หลังจาก Madame Bovary (1991)) ผมสัมผัสถึงความสงบนิ่ง (ตั้งกล้องบนขาตั้ง) เวลาขยับเคลื่อนไหวบนรางเลื่อนจะมีความช้าเนิบนาบ ให้ความรู้สึกเหมือนบางสิ่งอย่าง(ชั่วร้าย)กำลังคืบคลาน หายนะใกล้เข้ามาถึง … ช่วงยุคทองของผกก. Chabrol ก็พบเห็นใช้ลูกเล่นคล้ายๆกันนี้บ่อยครั้ง แต่สไตล์ของ Rabier ไม่เคยสร้างบรรยากาศมืดหม่นได้เพียงนี้

แม้ว่าหนังได้รับการบูรณะ 4K จัดจำหน่าย Blu-Ray โดย Criterion เมื่อปี ค.ศ. 2023 แต่ผมอยากแนะนำให้รับชมฉบับยังไม่บูรณะของ Artificial Eye วางจำหน่ายปี ค.ศ. 2012 มากกว่า! นั่นเฉพาะ Criterion ทำการย้อมสีให้ดูสดสว่างมากเกินไป นั่นทำลายบรรยากาศทะมึน อึมครึม ท้องฟ้ามืดครึ้ม สัมผัสอันหนาวเหน็บ เหือดแห้งแล้ง

หนังปักหลักถ่ายทำอยู่ยังชุมชนคอมมูน Saint-Coulomb และเมืองท่า Saint-Malo ต่างตั้งอยู่ยัง Ille-et-Vilaine, Brittany ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ติดกับช่องแคบอังกฤษ เลือกช่วงเวลาถ่ายทำฤดูหนาว 12 มกราคม – 4 มีนาคม ค.ศ. 1995 ที่สภาพอาการครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่ตลอด


ผมไม่สามารถหารายละเอียดเกี่ยวแมนชั่นแห่งนี้ เลยคาดว่าอาจเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล (Private Mansion) แถมตลอดทั้งเรื่องแทบไม่พบเห็นภาพหน้าตรงชัดๆ ถ้าไม่ไกลลิบๆ ก็ละเล่นกับทิศทาง มุมกล้อง ถ่ายเอียงๆเฉียงๆ ก้มเห็นพื้นถนน (ไม่เคยออกไปเดินเล่นในสวนหน้าบ้านเลยด้วยซ้ำ) สร้างบรรยากาศลับๆล่อๆ ดินแดนแห่งความพิศวง ห่างไกลผู้คน ต้นไม้ยก็ดูเหนี่ยวแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา

ภาพนี้ภาพเดียวสามารถบรรยายธาตุแท้ตัวตน สมาชิกครอบครัว Lelièvre ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์!

  • บิดา Georges นั่งตรงที่วางแขน แท่นแห่งอำนาจ สถานะหัวหน้าครอบครัว และยังเป็นคนเสนอแนะให้เรียกสาวใช้ว่า “Maid” เหมือนจะย่อมาจาก “Made to do Everything” (มันคงเป็นคำในภาษาฝรั่งเศสนะครับ) สำแดงถึงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน วางตัวสูงส่ง
  • มารดา Catherine นั่งอยู่ตำแหน่งที่ถูกครอบงำโดย Georges ขณะเดียวกันก็โอบกอดบุตรชาย(จากอดีตสามี) อะไรอย่างอื่นดูไม่สนใจสักเท่าไหร่
  • บุตรชาย Gilles (ของ Catherine) ตั้งแต่นั่งรากงอกบนโซฟา ก็พยายามเปิดหาช่องโทรทัศน์ ทำเหมือนไม่สนใจใคร แต่ก็รับรู้ทุกความเป็นไป
  • บุตรสาว Melinda (ของ Georges) นั่งห่างจากคนอื่น (เพราะไม่ค่อยอยู่บ้าน) สวมใส่ชุดแดงแรงฤทธิ์ (แสดงถึงความระริกระรี้แรดร่าน ตั้งครรภ์ก่อนแต่งงานกับแฟนหนุ่ม) ดูดัดจริต สูบบุหรี่โดยไม่ยี่หร่าอะไร สนเพียงความสุข/พึงพอใจของตนเอง

อีกสิ่งที่น่าสนใจของภาพนี้คือนาฬิกาด้านหลัง สัญลักษณ์การนับถอยหลังสู่ช่วงเวลาแห่งหายนะ!

ห้องพักของ Sophie ว่าตามตรงมันก็ไม่ได้เลวร้ายตรงไหน มีตู้ มีเตียง มีหน้าต่าง อ่างล้างหน้า เครื่องทำความร้อน แถมด้วยโทรทัศน์สำหรับผ่อนคลายความเหงา แต่เมื่อเปรียบเทียบกับห้องนอนสุดหรูหราของสมาชิกครอบครัว Lelièvres ถึงพบเห็นความแตกต่างราวฟ้ากับเหว! … บางคนเรียกว่าความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ฟากฝั่งตรงกันข้ามจะมองว่ามันคือสถานะ/มูลค่าของบุคคล

ปล. แทบทุกครั้งที่ Sophie เข้ามาอยู่ในห้องพัก พบเห็นเปิดโทรทัศน์และนั่งลงกับพื้น (ไม่เคยขึ้นไปบนเตียง) ราวกับนั่นคือสถานที่/สถานะของเธอ (รวมถึงสามารถตีความว่าถูกครอบงำโดยโทรทัศน์)

หนังเต็มไปด้วยสารพัดมุมก้ม มุมมองแห่งการปรามาส ดูถูก สบประมาท อย่างการเสิร์ฟอาหารเย็นครั้งนี้ แม้รสชาติอาหารจะถูกปาก แต่ทว่าลำดับการเสิร์ฟเหมือนจะไม่ถูกต้อง คือมันต้องทำออกมาให้เป๊ะๆแบบพวกขุนนาง ชนชั้นสูงเชียวฤา? (ล้อกับภาพวาดบนผืนผ้าใบด้านหลัง ดูเหมือนงานเลี้ยงของพวกชนชั้นสูง)

Sophie ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา เพียงใช้เป็นข้ออ้างแทนการบอกว่าอ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งพอมีโอกาสเข้าเมือง เลยนำไปเงินค่าแว่นตาไปซื้อช็อคโกแล็ต … ช็อกโกแล็ต มักถูกมองว่าเป็นขนมสำหรับเด็กๆ (แต่ผู้ใหญ่ก็กินได้) เลยช่วยเสริมภาพลักษณ์ของหญิงสาว ดูเหมือนเด็กน้อย บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา

เอาจริงๆมันไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย แต่ในยุคสมัยที่ใครๆต่างอ่านออกเขียนได้ เธอคงเคยถูกล้อเลียน ดูถูกเหยียดหยาม ตีตราว่าโง่เง่าเต่าตุ่น ชนชั้นต่ำต้อย เลยกลายเป็นปมด้อย จึงไม่ต้องการเปิดเผยมันออกมา … ยุคสมัยก่อนที่การศึกษายังไม่แพร่หลาย การอ่านออกเขียนได้เป็นสิ่งที่ใช้แบ่งแยกชนชั้น สถานะทางสังคมได้เลยละ!

เกร็ด: ขอกล่าวถึง Dyslexia สักเล็กน้อย มันคือภาวะผิดปกติด้านการอ่าน และการเรียนรู้ภาษา ผู้ป่วยจะมีความยากลำบากในการแยกแยะเสียงได้ยิน ไม่สามารถอ่าน เขียน หรือสะกดคำ เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมโยงเสียงเข้ากับตัวอักษร … แต่ผู้ป่วยไม่จำเป็นว่าต้องมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ เป็นความคิดเองเออเองของคนทั่วไปมากกว่า

แมวไม่อยู่หนูร่าเริง เมื่อตอนไม่มีใครอยู่บ้าน Jeanne ถือโอกาสระหว่างมาส่งโปสการ์ด ปีนป่ายทางหน้าต่าง บุกรุกเข้ามาสำรวจภายในบ้าน

  • ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าภาพยนตร์/ซีรีย์ในโทรทัศน์ฉายเรื่องอะไร แต่สังเกตจากหญิงสาวกำลังถอดเสื้อนอก เพียงเท่านี้ก็ชวนให้จินตนาการความสัมพันธ์ระหว่าง Sophie กับ Jeanne เตลิดเปิดเปิงไปไกล
  • Jeanne มีความสนใจหนังสือ Voyage au bout de la nuit (1932) แปลว่า Journey to the End of the Night นวนิยายตีพิมพ์เรื่องแรกของ Louis-Ferdinand Céline (1894-1961) แพทย์/นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส นำเสนอการผจญภัยของตนเอง(ในฐานะหมอ) เดินทางสู่กลุ่มประเทศอาณานิคมแอฟริกา ระหว่างสงครามโลกครั้งหนึ่ง
    • ไม่ต้องไปสนใจรายละเอียดของนิยายก็ได้ แค่เห็นชื่อก็บอกใบ้ทิศทาง/จุดจบของหนัง
  • พอขึ้นไปที่ห้องนอน Jeanne มีการนำชุดของ Catherine มาทดลองสวมใส่ ในอดีตเคยวาดฝันอยากเป็นดารา แต่พอมีชื่อเสียงกลับพยายามหาสถานที่ปลีกวิเวก โหยหาความเป็นส่วนตัว
  • และก่อนออกจากแมนชั่น Jeanne ทำการล้างมือให้สะอาด ทำเหมือนทุกสิ่งที่เธอจับต้อง(ในแมนชั่นแห่งนี้)ราวกับเสนียดจัญไร

วันหนึ่ง Jeanne รถเสียกลางทาง ได้รับความช่วยเหลือจาก Melinda แวะเวียนกลับมาที่บ้าน หลังช่วยซ่อนรถเสร็จขอผ้าขี้ริ้วสำหรับเช็ดมือ แต่มุมกล้องก้มลงเช่นนี้ราวกับพยายามเปรียบเทียบ Jeanne = ผ้าขี้ริ้ว แถมพอเช็ดเสร็จแทนที่จะโยนทิ้ง กลับโยนใส่ตัวเธอราวกับถังขยะ … นี่อาจเป็นการกระทำแบบไม่รู้เดียงสา แต่สร้างความขุ่นเคือง ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง

ถึงผมไม่ค่อยรู้สึกว่าเรื่องพรรค์นี้มันมีสาระห่าเหวอะไร? แต่สำหรับคนจิตใจละเอียดอ่อนไหว คงนำไปครุ่นคิดเล็กคิดน้อย จนเกิดอคติต่อต้าน บานปลายใหญ่โต … คือถ้าไม่ชอบทำไม่พูดบอก ตำหนิต่อว่ากันตรงนั้น ให้มันจบๆไปเลยละ?

เมื่อตอนที่ Sophie เดินทางมาไปรษณีย์ ขอความช่วยเหลือให้ช่วยโทรสั่งของในรายการ สังเกตว่า Jeanne หยิบหมากฝรั่งออกจากปากระหว่างคุยโทรศัพท์ พอเสร็จแล้วก็นำมันกลับเข้าปาก … เอาจริงๆผมไม่รู้สึกว่ามันแปลกประหลาดตรงไหน สมัยเด็กๆพบเห็นบ่อยครั้งไป แต่พวกฝรั่งกลับกระดี๊กระด๊า รับไม่ได้ สกปรก นี่ก็แสดงถึงมุมมองสูง-ต่ำของผู้ชมอย่างชัดเจน

ใครเคยรับชม Les Bonnes Femmes (1960) ก็น่าจะมักคุ้นกับตอนที่หญิงสาวแรกพบเจอครอบครัวฝ่ายชาย ถูกบังคับให้ท่องชื่อจิตรกรคนโน้นนี่นั้น, มาคราวนี้สลับเป็นแฟนหนุ่มแรกพบเจอครอบครัวฝ่ายหญิง จดจำชื่อบทเพลงคลาสสิก Mozart: Concerto for Flute, Harp, and Orchestra, K 299

นี่คือลักษณะของการสร้างภาพของชนชั้นกลาง/สูง ต้องพยายามทำตนเองให้ดูดีในสายตาคนอื่น เพื่อได้รับการยินยอมรับ เติมเต็มความคาดหวังของผู้อื่น … นั่นเป็นสิ่งที่ผกก. Chabrol เกลียดชิบหาย!

ห้องพักของ Jeanne แม้ขนาดใหญ่กว่าห้องของ Sophie แต่เต็มไปด้วยสิ่งข้าวของเครื่องใช้ อะไรไม่รู้มากมายเต็มไปด้วย รกรุงรังจนแทบจะไม่มีพื้นที่ก้าวเดิน แต่บรรยากาศภายในห้องกลับเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ลวดลาย สีสัน ไม่น่าเบื่อหน่ายเลยสักนิด!

ระหว่างรับประทานอาหาร ทั้งสองก็เริ่มพูดคุย เล่าความหลัง ก่อนพบว่าต่างฝ่ายต่างมีชื่อเสียงเสียๆหายๆ ถูกกล่าวหาว่าเคยฆ่าคนตาย แต่ศาลยกฟ้อง หลักฐานไม่เพียงพอ นั่นทำให้พวกเธอมองตารู้ใจ กอดรัดฟัดเหวี่ยง หัวเราะคิกคักกันบนเตียง จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์สาว-สาว

แซว: ใครเคยรับชม Le Boucher (1970) ก็น่าจะมักคุ้นกับการเก็บเห็ดในวันเกิด

หลายคนคงมองว่าการทำงานอาสาให้กับโบสถ์วันอาทิตย์ คือการสร้างภาพของ Jeanne แสร้งว่าเป็นคนดี มีความเชื่อศรัทธาศาสนาอยู่ในใจ แต่ผมกลับรู้สึกว่าเธอมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง พยายามแยกแยะเสื้อผ้าดี-แย่ ตำหนิต่อว่าคนบริจาค โบสถ์ไม่ใช่สถานที่ทิ้งขยะ นั่นกลับสร้างความขัดแย้ง ไม่พึงพอใจ จนถูกบาทหลวงขับไล่ … แต่ใครกันแน่ที่หลอกลวงตนเอง?

Jeanne: The priest smells like pee.
Sophie: My father stank of pee, too!

ผกก. Chabrol เติบโตในครอบครัวเคร่งครัดศาสนา วัยเด็กเหมือนเคยวาดฝันอยากเป็นบาทหลวง (อ้างอิงจากภาพยนตร์ Le Beau Serge (1958)) แต่พอเติบโตขึ้น ได้เรียนรู้ เข้าใจวิถีศาสนา ที่ใช้ความเชื่อศรัทธา ข้ออ้างศีลธรรมจรรยา ในการควบคุมครอบงำ ตัดสินมนุษย์อย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม เลยบังเกิดอคติ ต่อต้าน ขอเป็นคนนอกรีตดีกว่า!

Georges โทรศัพท์หา Sophie เพื่อให้เธอหยิบแฟ้มเอกสารลืมทิ้งไว้ที่บ้าน แต่เพราะเธออ่านหนังสือไม่ออก จึงรีบวางสาย กลับขึ้นห้อง แสร้งทำเป็นรับชมโทรทัศน์เสียงดัง ไม่รู้ ไม่ได้ยิน ทำเป็นไม่สนใจ … สิ่งที่ฉายอยู่ในโทรทัศน์น่าจะคือละคอนหุ่น (แต่ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าทำการแสดงบทเพลงอะไร) ซึ่งสามารถสะท้อนถึง Sophie หน้าที่สาวใช้ไม่ต่างจากหุ่นเชิดชัก บัดนี้จึงเริ่มแสดงอารยะขัดขืน ไม่ยินยอมตามคำสั่ง George

ระหว่างที่ Sophie กับ Jeanne แอบย่องขึ้นห้อง ถูกพบเห็นโดย Gilles นำมาเล่าให้มารดา ระหว่างกำลังรับชมภาพยนตร์ Wedding in Blood (1973) กำกับโดย Claude Chabrol … เหมือนต้องการบอกใบ้ความสัมพันธ์ระหว่าง Sophie & Jeanne กำลังขึ้นห้องหอ แต่งงาน อันจะนำไปสู่หายนะตอนจบ

ในขณะที่ Sophie กับ Jeanne นั่งโอบกอดเคียงบ่าเคียงไหล กำลังรับชมเกมโชว์รายการหนึ่ง (ไม่รู้เหมือนกันว่าเกมอะไร) แต่นัยยะของเกมโชว์ เรียลลิตี้ ก็เหมือนหนังเรื่องนี้ ใกล้จะถึงจุดแจ็คพอตแตก

มันอาจไม่ใช่พอตที่แตก แต่เมื่อบิดา Georges พยายามพูดข่มขู่กรรโชก ไม่อนุญาตให้ Sophie นำพา Jeanne มายังแมนชั่นแห่งนี้ เธอจงใจทำจานกระเบื้องตกแตก เป็นการแสดงอารยะขัดขืน ดื้อเงียบ เรื่องพรรค์นี้ทำไมต้องมาบีบบังคับกัน มันคือจุดแตกร้าวความสัมพันธ์ (ระหว่าง Sophie กับครอบครัว Lelièvre)

ระหว่างที่ Melinda แอบคุยโทรศัพท์กับแฟนหนุ่ม บอกว่าประจำเดือนขาดกว่าสิบสัปดาห์ ห้องนั่งเล่นจากเคยมืดมิดพลันมีแสงสว่างสาดส่องเข้ามา (ราวกับว่าการตั้งครรภ์ คือพรจากสรวงสวรรค์)

จนกระทั่งเมื่อพาดพิงถึงบิดาที่มีความเคร่งครัด ยึดถือมั่นต่อหลักศาสนา ถ้ารับรู้ว่าตนเองท้องก่อนแต่ง หรือแอบไปทำแท้ง คงตัดขาดความสัมพันธ์อย่างแน่แท้ วินาทีนั้นห้องนั่งเล่นพลันมืดหม่น ปกคลุมอยู่ในความมืดโดยพลัน (สำแดงอิทธิพลต่อบิดา/พระเป็นเจ้า ไม่ยินยอมรับการกระทำผิดหลักศีลธรรม)

หลังพูดคุยโทรศัพท์กับแฟนหนุ่ม Melinda พยายามหาเรื่องชวนคุย ถึงขนาดรินน้ำชาให้ (มารยาทการรินน้ำชา มักต้องรินโดยบุคคลที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่า) นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อ Sophie ทำไมต้องมายุ่งวุ่นวาย สอดรู้สอดเห็น กระทั่งโดนจับได้ว่าอ่านหนังสือไม่ออก วินาทีนั้นเธอลุกขึ้นหยิบถ้วยน้ำชาไปเททิ้ง พยายามอดกลั้นจะไม่โต้ตอบ ก่อนควบคุมตนเองไม่อยู่ หันมาแบล็กเมล์เรื่องที่อีกฝ่ายตั้งครรภ์

เมื่อตอนที่ Georges เดินเข้ามาในห้องพักของ Sophie เพื่อบอกเลิกจ้าง ไล่ออกจากงาน ขณะนั้นกำลังรับชมรายการ La Rencontre Avec Primagaz (The Meeting with Primagaz) เกี่ยวกับการล่องเรือใบ ออกทะเล ในบริบทนี้สามารถสื่อถึงอิสรภาพของหญิงสาว ไม่ต้องถูกบีบบังคับให้ทำงานโน่นนี่นั่นอีกต่อไป

จริงๆก่อนหน้าที่ Georges จะเข้ามาในห้อง Sophie รับชมอีกรายการหนึ่ง ศิลปินกำลังขับร้องเพลง น่าเสียดายผมฟังภาษาฝรั่งเศสไม่ออก เลยบอกไม่ได้ว่าบทเพลงอะไร

เมื่อสองสาวกลับมายังแมนชั่น กิริยาท่าทางของ Jeanne มีความเฟี้ยวฟ้าว ราวกับถูกผีเข้า สารพัดสิ่งที่เธอจับต้องล้วนคือสัญญะของลึงค์ (อวัยวะเพศชาย สัญลักษณ์ของการมีอำนาจ จ้าวโลก) ลูกสูบลม ปืนลูกซอง หรือขณะราดช็อกโกแลตลงบนเตียง ยังทำท่าเหมือนพ่นน้ำอสุจิ … ตอนฉีกกระชากเสื้อผ้า ก็ดูเหมือนการพรากพรหมจรรย์

โดยปกติแล้วครอบครัว Lelièvre มีสถานะทางสังคมสูงกว่า Sophie & Jeanne แต่ทว่าขณะนี้พวกเธอแอบเปิดประตูมองพวกเขาลงมาจากด้านบน (กล้องเริ่มจากถ่ายภาพครอบครัว Lelièvre แล้วค่อยๆเคลื่อนเลื่อนขึ้นให้เห็นสองสาวแอบอยู่ชั้นบน) นี่แสดงถึงทุกสิ่งอย่างกำลังจะพลิกกลับตารปัตร สถานะทางสังคมของพวกเขากำลังจะปรับเปลี่ยนแปลงไป

สาเหตุเพราะเมื่อปืนลูกซองอยู่ในมือของสองสาว มันคือสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าสถานะชนชั้น สามารถตัดสินชีวิตเป็น-ตาย อะไรอื่นล้วนไร้ความหมาย ซึ่งเมื่อเสียงปืนดังขึ้น สาวๆยังครุ่นคิดว่าเป็นอย่างอื่น (ครุ่นคิดว่าเสียงดังจากอุปรากรในโทรทัศน์) ไม่ตระหนักรับรู้ว่าหายนะกำลังคืบคลานเข้ามา

เหตุการณ์เกิดขึ้นขณะนี้ พอดิบพอดีกับตอนเริ่มต้นอุปรากร Don Giovanni องก์สอง (Act II) ซึ่งมีเรื่องราวของ Don Giovanni สั่งให้หนุ่มรับใช้ส่วนตัว Leporello สลับเปลี่ยนเสื้อผ้ากับตนเอง … มันช่างพอดิบพอดีกับการสลับสถานะระหว่างครอบครัว Lelièvre และสองสาว Sophie & Jeanne

แซว: สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงอย่างมากๆคือปฏิกิริยาของสองตัวละคร Sophie & Jeanne ในขณะที่ Sophie มีความสงบ เลือดเย็น, Jeanne ยังคงเหมือนปีศาจร้ายเข้าสิง ท่าทางของเธอดูนักเลง เก๋าเจ้งสุดๆ

ระหว่างสองสาวกระทำการสังหารหมู่ครอบครัว Lelièvre ในโทรทัศน์กำลังฉายอุปรากรตอนที่ Don Giovanni ปลอมตัวเป็นคนใช้ กำลังเล่นแมนโดลิน (Mandolin) บทเพลง Deh, vieni alla finestra แปลว่า Ah, come to the window ระหว่างเกี้ยวพาราสีสาวใช้ของ Donna Elvira (อดีตคนรักเก่าของ Don Giovanni)

Deh, vieni alla finestra, o mio tesoro,
deh, vieni a consolar il pianto mio.
Se neghi a me di dar qualche ristoro,
davanti agli occhi tuoi morir vogl’io.
Tu ch’hai la bocca dolce più che il miele,
tu che il zucchero porti in mezzo al core,
non esser, gioia mia, con me crudele,
lasciati almen veder, mio bell’amore!
Come to the window, O my dearest love,
Come and console my weeping.
If you deny me any solace,
Before your eyes I long to die.
You whose mouth is sweeter than honey,
You whose heart cradles sweet desires,
Do not, my beloved, be cruel to me,
At least let me see you, my loved one!

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง หลังจากสังหารหมู่ตายเรียบ Sophie ยังยิงหนังสือบนชั้นวาง นี่เคลือบแฝงนัยยะถึงการไม่เอาทฤษฏี หลักการ ชนชั้นวรรณะ ขนบกฎกรอบ ทุกสิ่งอย่างในตำหรับตำราที่เคยได้รับการปลูกฝังมา … จริงๆจะเรียกว่าต้องการทำลายล้างอารยธรรมมนุษย์เลยว่าได้!

ภาพแรกมันช่างดูเป็นลางบอกเหตุร้าย Sophie มองออกไปเห็น Jeanne โบกมือร่ำลา กำลังจะก้าวเดินหายเข้าไปในความมืดมิด นั่นคือการจากลาครั้งสุดท้าย ก่อนอีกฝ่ายจะได้รับผลกรรมคืนสนอง ถูกชนโดยรถของบาทหลวง (สวรรค์ดลบันดาล)

ซึ่งพอ Sophie ก้าวออกจากแมนชั่น พบเห็นอุบัติเหตุดังกล่าว Closing Credit ปรากฎขึ้นพร้อมเสียงจากเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เพิ่งบังเกิดขึ้น (เสียงปืนและอุปรากร Don Giovanni) เราอาจมองว่าอดีต(เวรกรรม)กำลังติดตามมาหลอกหลอน แม้เธอสามารถลบร่องรอยหลักฐาน แต่เหตุการณ์ทั้งหมดจะไม่มีวันลบเลือนหายไปจากจิตวิญญาณ

ตัดต่อโดย Monique Fardoulis เข้าสู่วงการตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 50s ก่อนกลายเป็นขาประจำผกก. Claude Chabrol ตั้งแต่ Alice or The Last Escapade (1977), Madame Bovary (1991), Betty (1992), L’enfer (1994), La Cérémonie (1995) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสาวใช้ Sophie Bonhomme ตั้งแต่มาสัมภาษณ์งานกับนายจ้างใหม่ ออกเดินทางสู่แมนชั่นหรู จับพลัดจับพลูรับรู้จักกับไปรษณีย์สาว Jeanne Marchal สานสัมพันธ์กันจนสนิทสนม รับอิทธิพลความคิด กล้าสำแดงอารยะขัดขืน และกระทำการสังหารหมู่ครอบครัว Lelièvre 

  • อารัมบท, Sophie Bonhomme สัมภาษณ์งานกับ Catherine Lelièvre 
  • สาวใช้ในแมนชั่นหรู
    • ครอบครัว Lelièvre พูดคุยกันถึงสาวใช้คนใหม่
    • Catherine เดินทางไปรับ Sophie จากสถานีรถไฟ โดยมี Jeanne ติดรถมาด้วย
    • แนะนำแมนชั่น ห้องพัก มอบหมายหน้าที่การงาน
    • ความประทับใจแรกระหว่างอาหารเย็น
    • Georges ขับรถพา Sophie ไปตัดแว่นในเมือง แต่เธอกลับแวะร้านช็อกโกแลต ซื้อแว่นกันแดดราคาถูก
    • นางจ้างเขียนข้อความอะไรสักอย่าง ฝากให้รีดผ้า แต่ทว่า Sophie อ่านหนังสือไม่ออก โชคดีได้รับความช่วยเหลือจาก Melinda 
  • การมาถึงของ Jeanne
    • ครอบครัว Lelièvre ออกเดินทางไปท่องเที่ยว ไม่มีใครอยู่บ้าน
    • Jeanne แวะเวียนมาส่งจดหมาย/โปสการ์ด แล้วฉวยโอกาสออกสำรวจแมนชั่น
    • Jeanne รถเสียกลางทาง Melinda เข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่กลับสร้างความไม่พึงพอใจให้ซะงั้น!
    • Sophie ได้รับมอบหมายให้ซื้อของเข้าบ้าน แต่เธอกลับอ่านหนังสือไม่ออก เลยไปขอความช่วยเหลือจาก Jeanne
    • งานเลี้ยงวันเกิดของ Melinda ตรงกับวันเกิดของ Sophie ทีแรกต้องการลาพัก แต่ยังยินยอมช่วยเหลืองานครึ่งวัน
    • Sophie แอบหนีออกจากงานเลี้ยงกลางคันเพื่อมาพบกับ Jeanne รับประทานอาหารง่ายๆที่ห้องพัก
    • Sophie และ Jeanne เดินทางไปช่วยงานโบสถ์วันอาทิตย์ คัดแยกกองเสื้อผ้า
  • ร่องรอยความขัดแย้ง
    • Georges เดินทางไปไปรณีย์ ตำหนิต่อว่าการทำงานของ Jeanne
    • Georges ลืมเอกสารไว้ที่บ้าน แต่เพราะ Sophie อ่านหนังสือไม่ออกเลยแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่สนใจ
    • หลังรับรู้ว่า Sophie แอบพา Jeanne มาที่แมนชั่น Georges จึงออกคำสั่งห้ามเด็ดขาด
    • Sophie แอบล่วงรู้ความลับของ Melinda ทั้งสองต่างพยายามแบล็กเมล์กันและกัน
    • Melinda พูดบอกความจริงกับครอบครัว ทำให้ Georges ตัดสินใจขับไล่ Sophie ให้เวลาเก็บข้าวของ หางานใหม่ทำ
  • จุดแตกหัก สังหารหมู่
    • Sophie และ Jeanne เดินทางไปรับเสื้อผ้าจากผู้บริจาค แต่พอเดินทางกลับมาถึงโบสถ์กลับถูกบาทหลวงไล่ออกจากงาน
    • ค่ำคืนนี้ครอบครัว Lelièvre แต่งตัวหรูเพื่อรับชมอุปรากร Mozart: Don Giovanni
    • Sophie และ Jeanne กลับมาที่แมนชั่น ละเล่นโน่นนี่นั่น หยิบกระสุนใส่ปืนไรเฟิล

เพลงประกอบโดย Matthieu Chabrol (เกิดปี ค.ศ. 1958) บุตรชายคนโตของผกก. Claude Chabrol ของภรรยาคนแรก Agnès Goute ฉายแววด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก เคยร่ำเรียนการแต่งเพลงกับ Pierre Jansen เลยกลายมาเป็นตัวตายตัวแทน เริ่มทำเพลงประกอบภาพยนตร์กับบิดาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979

งานเพลงของ Matthiew Chabrol มุ่งเน้นสร้างบรรยากาศทะมึน อึมครึม คอยแทรกแซมอยู่ตามช่องว่าง ช่วงเวลาที่ตัวละครบังเกิดความรู้สึกบางอย่าง “Expressionism” สำแดงอารมณ์ปั่นป่วน พลุกพล่าน ระบายความอัดอั้นภายในออกมา … มันไม่จำเป็นต้องรู้สึกทุกข์ทรมานเพียงอย่างเดียว (ยกตัวอย่าง Sophie ยินยอมรับความพ่ายแพ้หลังอ่านหนังสือไม่ออก) บางครั้งยังสำแดงความสุข สนุกสนาน อิสรภาพชีวิต (หลบหนีออกจากงานเลี้ยงเพื่อมาพบเจอ Jeanne)

Opening Credit ใช้เพียงเสียงเครื่องสาย (ไวโอลิน+เชลโล่) ฟังดูโหยหวน คร่ำครวญ กรีดบาดแทงทรวงใน มันช่างขัดแย้งกับอารัมบทที่ก็แค่การว่าจ้างสาวใช้คนใหม่ ทำไมเลือกใช้บทเพลงที่มีความเศร้าโศกาเพียงนี้? … นั่นเพราะเรื่องราวของหนังเป็นการออกเดินทางมุ่งสู่หายนะ โศกนาฎกรรม

อุปรากรสององก์ Don Giovanni, KV 527 (1787) ประพันธ์ทำนองเพลงโดย Wolfgang Amadeus Mozart, นำจากเรื่องราว (Libretto) ภาษาอิตาเลี่ยนของ Lorenzo da Ponte ดัดแปลงตำนานหนุ่มนักรัก (สเปน) Don Juan เปลี่ยนชื่อเป็น (อิตาเลี่ยน) Don Giovanni ผู้พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองหญิงสาวที่ตนหมายปอง จนถูกใครต่อใครหมายหัว พยายามติดตามล้างแค้น กระทั่งบิดาของหญิงสาวคนหนึ่งได้กลายเป็นผีหุ่นปั้นมาลากตัว Don Giovanni ลงขุมนรกไป

เกร็ด: Don Giovanni ถือเป็นหนึ่งในอุปรากรมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก มีส่วนผสมของดราม่า ตลก โศกนาฎกรรม เคลือบแฝงแนวคิดการเมือง สถานะชนชั้น และเรื่องราวเหนือธรรมชาติ

ฉบับที่ครอบครัว Lelièvre นั่งล้อมวงชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์นั้น เป็นบันทึกการแสดงสดของ Herbert von Karajan ร่วมกับ Wiener Philharmoniker (Vienna Philharmonic) และคณะการแสดง Konzertvereinigung Wiener Staatsopernchor ในงานเทศกาล Salzburg Festival เมื่อปี ค.ศ. 1987 … ก็น่าจะคลิปนี้แหละครับ

ครอบครัว Lelièvre ถือว่ามีความเป็นผู้ดีมีสกุล ชนชั้นกลางตอนบน (Bourgeoisie หรือ Upper-Middle Class) ฐานะมั่งมี อาศัยอยู่ในคฤหาสถ์หรูหรา ว่าจ้างสาวรับใช้ (Working Class) ให้มาทำงานบ้าน ปัดกวาดเช็ดถูก ปรุงอาหาร ซื้อข้าวของ งานบริการทุกสิ่งอย่าง

ว่ากันตามตรง ครอบครัว Lelièvre ก็ไม่ได้มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ปฏิบัติกับสาวใช้ Sophie Bonhomme ด้วยความรักใคร่เอ็นดู ขอเพียงแค่พูดบอกก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน ราวกับสมาชิกครอบครัวคนหนึ่ง แต่ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง มันเหมือนมีเส้นบางๆ แบ่งแยก กีดขวางกั้น มุมมอง ความคิด ทัศนคติหลายๆอย่างไม่ตรงกัน

  • ชนชั้นกลาง/สูง ต่างเป็นพวกยึดถือมั่นในอุดมการณ์ หลักการ ข้ออ้างศีลธรรม ทุกสิ่งอย่างล้วนต้องอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบ วิถีทางสังคม ปฏิเสธโอนอ่อนผ่อนปรน พยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูดี เริดเชิด เย่อหยิ่ง ทะนงตน ลุ่มหลงในอำนาจ ตัดสินคนจากเปลือกภายนอก แบ่งแยกขาว-ดำ ถูก-ผิด ดี-ชั่วออกจากกัน
  • ผิดกับชนชั้นทำงาน/ล่าง ไม่ได้มีความยึดถือเชื่อมั่นต่อสิ่งใด ใครว่าอะไรก็ทำตาม วันๆเพียงก้มหน้าก้มตาทำงาน(หนัก) เสร็จแล้วก็ปลดปล่อยตนเอง ใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ กระทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนห่าเหวอะไรใคร ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี ก็แค่พูดบอก-แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการสร้างภาพ สวมหน้ากาก เล่นละคอนตบตา

การมาถึงของ Jeanne (ราวกับปีศาจ Mephisto) ได้สร้างอิทธิพล ปลูกฝังแนวคิด ปรับเปลี่ยนทัศนคติของ Sophie ให้กล้าพูดบอก แสดงออก สำแดงอารยะขัดขืน ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบ เริ่มจะไม่ยินยอมทำตามคำสั่งนายจ้าง และเมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ถูกไล่ออกจากงาน จึงลุกขึ้นมาเผชิญหน้า โต้ตอบด้วยความรุนแรง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ระบายสิ่งอัดอัดภายในออกมา

เราสามารถเปรียบเทียบเหตุการณ์ดังกล่าว กับการลุกฮือของประชาชน ชนชั้นแรงงาน (ตัวแทนของ Sophie & Jeanne) เพื่อต่อสู้เผชิญหน้ากับบรรดาขุนนาง ผู้มีอำนาจ ปกครองประเทศชาติ (ครอบครัว Lelièvre) … คล้ายกับการชุมนุมประท้วง เรียกร้องสิทธิโน่นนี่นั่น รัฐประหาร โค่นล้มเผด็จการ ปฏิวัติการเมือง-สังคม-วัฒนธรรม (Mai ’68) ประกาศอิสรภาพ เหมารวมทุกๆเหตุการณ์ Revolution

(คนส่วนใหญ่มักมองใจความของหนังแค่อคติทางชนชั้น และต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี แต่การปฏิวัติมันสามารถเหมารวมได้ครอบจักรวาล)

ผกก. Chabrol เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง เคร่งครัดศาสนา เจ้าของกิจการร้านขายยา สถานะทางการเงินค่อนข้างมั่งคง ได้รับการคาดหวังให้สืบทอดต่อกิจการครอบครัว … ไม่แตกต่างจากครอบครัว Lelièvre

แต่ทว่าตัวเขากลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” เลยตัดสินใจละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ออกเดินทางสู่กรุง Paris เพื่อทำสิ่งเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน … เปรียบเทียบได้กับ Sophie ถูกชี้นำโดยนางปีศาจ Jeanne จนมีความหาญกล้า ลุกขึ้นมาสำแดงอารยะขัดขืน กระทำในสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ

ในชีวิตจริงผกก. Chabrol แม้ไม่เคยเข่นฆ่าใคร แต่สารพัดความตายในผลงานของเขา ล้วนคือการแสดงออกทางอารมณ์ “Expressionism” ปฏิเสธวิถีชนชั้นกลาง ต่อต้านทุนนิยม สังคม สงคราม การเมือง ศาสนา ฯ สารพัดสิ่งที่เกิดจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ไม่ยินยอมถูกควบคุมครอบงำ ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบ ทำตามคำสั่งโดยไม่สามารถโต้ตอบขัดขืน

La Cérémonie พิธีกรรมก่อนประหารชีวิต = จุดจบครอบครัว Lelièvre คือความคาดหวังของผกก. Chabrol เรียกขำๆว่า “the last Marxist film” อยากที่จะโค่นล้ม ทำลายล้าง รื้อระบบ ปฏิวัติทุกสิ่งอย่าง และเริ่มต้นสร้างโลกใบใหม่

ตามทฤษฎีลัทธิ Marx ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเกิดในสังคมทุนนิยม (Capitalism) อันเนื่องจากความขัดกันระหว่างผลประโยชน์ทางวัตถุของชนกรรมาชีพ (Working Class) กับชนชั้นกระฎุมพี (Bourgeoisie) เป็นการกบฏของพลังการผลิตของสังคม (Productive Forces) ต่อความสัมพันธ์การผลิตของสังคม (Relations of Production) ส่งผลให้เกิดวิกฤติระยะสั้นเมื่อชนชั้นกระฎุมพีประสบความลำบากในการจัดการความแปลกแยกของแรงงาน (Theory of Alienation) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นของชนกรรมาชีพ

วิกฤตนี้จะลงเอยด้วยการปฏิวัติของชนกรรมาชีพ นำไปสู่การสถาปนาสังคมนิยม (Socialism) ซึ่งเป็นระบบที่ให้สังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแล้วกระจายให้แต่ละคนตามการมีส่วนร่วม และการผลิตที่จัดระเบียบโดยตรงสำหรับการใช้สอย เมื่อพลังการผลิตก้าวหน้าขึ้น Marx ยังตั้งสมมติฐานว่าสังคมนิยมในท้ายที่สุดจักแปลงเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ (Communist)

คำอธิบาย Marxism จาก Wikipedia

หลังเข้าฉายในฝรั่งเศสเพียงหนึ่งสัปดาห์ เดินทางต่อไปยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับดียอดเยี่ยม แม้พลาด Golden Lion ให้กับ Cyclo (1995) ของ Tran Anh Hung แต่สามารถคว้ามาสองรางวัลปลอบใจ

  • Volpi Cup for Best Actress มอบให้ทั้ง Sandrine Bonnaire และ Isabelle Huppert
  • Pasinetti Award: Best Actress มอบให้ทั้ง Sandrine Bonnaire และ Isabelle Huppert อีกเช่นเดียวกัน

ในฝรั่งเศสมียอดจำหน่ายตั๋ว 1,090,322 ใบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ช่วงปลายปียังได้เข้าชิง César Awards จำนวน 7 สาขา น่าเสียดายคว้ามาแค่ 1 รางวัลเท่านั้นเอง

  • Best Film
  • Best Director (Claude Chabrol)
  • Best Actress (Isabelle Huppert) **คว้ารางวัล
  • Best Actress (Sandrine Bonnaire)
  • Best Supporting Actor(Jean-Pierre Cassel)
  • Best Supporting Actress (Jacqueline Bisset)
  • Best Writing (Claude Chabrol and Caroline Eliacheff)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K เมื่อปี ค.ศ. 2023 สามารถหาซื้อ Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel และมีแนะนำหนังโดยผกก. Bong Joon-Ho ความยาว 12.59 นาที

แต่ฉบับบูรณะของ Criterion ครั้งนี้ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักมาก เพราะมีการย้อมเขียวมากเกินไป เมื่อเทียบกับ Blu-Ray ของค่าย Artificial Eye เมื่อปี ค.ศ. 2012 สังเกตความแตกต่างอย่างชัดเจน … ผมก็ไม่รู้แบบไหนตรงต่อวิสัยทัศน์ผู้กำกับมากกว่า เอาเป็นว่าก็แล้วแต่ความชื่นชอบ

ผลงานเรื่องอื่นๆก่อนหน้านี้ มักมีการอธิบายเหตุผล แรงจูงใจ ที่มาที่ไป ทำไมฆาตกรถึงเป็นฆาตกร? ลงมือฆ่าคนตายเพื่ออะไร? แต่ทว่า La Cérémonie (1995) กลับแทบไม่มีอะไรแบบนั้น ผู้ชมต้องคอยสังเกตภาษากาย ปฏิกิริยาสีหน้า ท่าทางแสดงออก ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นนามธรรม ไม่ต่างจากพิธีกรรม เพราะมันคือสิ่งที่ผกก. Chabrol ทำออกมาซ้ำๆ สรรค์สร้างภาพยนตร์ลักษณะนี้นับครั้งไม่ถ้วน

การจะทำความเข้าใจแรงจูงใจของสองสาว Isabelle Huppert และ Sandrine Bonnaire มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้น คือย้อนกลับไปรับชมภาพยนตร์เก่าๆของผกก. Chabrol เมื่อถึงจุดๆหนึ่งคุณอาจสามารถทำความเข้าใจ La Cérémonie (1995) โดยไม่ต้องใช้คำอธิบายใดๆ นั่นเพราะ ‘สไตล์ Chabrol’ ซึมซับเข้าสู่จิตวิญญาณ กลายเป็นสันชาติญาณ … อาจเรียกได้ว่า ‘จักรวาล Chabrol’

แม้ว่าผมจะขนลุกขนพองกับหนัง สัมผัสถึงความลุ่มลึกล้ำแบบเดียวกับ Three Colors: Red (1994) แต่ถ้าเอาความชอบส่วนตัวเป็นที่ตั้ง Le Boucher (1970) มีเนื้อหาสาระมากกว่าเป็นไหนๆ

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศทะมึนๆ ความรุนแรงบังเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว

คำโปรย | La Cérémonie งานเลี้ยงฉลองก่อนสังหารหมู่ที่ทำให้ Claude Chabrol กลายเป็นอมตะนิรันดร์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ปั่นป่วนมวนท้องไส้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: