Kino Eye

Kino-glaz (1924) USSR : Dziga Vertov ♥♥♥♡

แม้มิได้ตื่นตระการตาเท่า Man with a Movie Camera (1929) แต่ Kino-Eye น่าจะคือผลงานยอดเยี่ยมที่สุดรองลงมาของ Dziga Vertov โดยมีโคตรไฮไลท์คือการทดลอง Reverse Motion ไล่ย้อนถอยหลังกลับไป ณ จุดเริ่มต้นของ…

Kino-glaz หรือ Kino-Eye หรือ Cine-Eye หรือ Cinema Eye คือคำเรียกทฤษฎีภาพยนตร์/กลุ่มการเคลื่อนไหว(คล้ายๆ Italian Neorealism, French New Wave)/เทคนิคของผู้กำกับ Dziga Vertov ในการนำเสนอสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยสายตามนุษย์ ผ่านเทคนิค/ภาษาภาพยนตร์ เพื่อเปิดโลกทัศน์ ‘ความจริง’ ให้ผู้ชมได้พานพบเห็น (ในยุคสมัยใหม่แห่งสหภาพโซเวียต ภายหลังการปฏิวัติตุลาคม ค.ศ. 1917)

“The film drama is the opium of the people…down with bourgeois fairy-tale scenarios…long live life as it is!”

– Dziga Vertov

ทัศนะดังกล่าวของ Vertov ถือเป็นมุมมองที่ตรงกันข้ามกับวงการภาพยนตร์ Hollywood (สหรัฐอเมริกา vs. สหภาพโซเวียต มักมีอะไรๆตรงกันข้ามทุกสิ่งอย่าง) เห็นเรื่องราวดราม่าทั้งหลายเปรียบได้กับการสูบฝิ่น เสพติดง่าย ชวนให้ลุ่มหลงใหล เพ้อใฝ่ฝัน แต่แฝงภัยร้ายอันตราย เป็นเหตุให้มนุษย์พลัดพรากจากโลกความจริง

อุดมคติของ Vertov มองว่าโลกทั้งใบนี้คือเรื่องราว ปรากฎเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทำไมไม่เก็บบันทึก ‘ภาพ’ มันเอาไว้ นำมาร้อยเรียงด้วยจังหวะ ภาษา ให้ผลลัพท์ออกมาคล้ายคลึง ‘เครื่องจักรกล’ มากที่สุด! และเมื่อภาพยนตร์กลายเป็นเช่นนั้น จักเรียกว่าวัตถุแห่งความจริง สิ่งอยู่เหนือกาลเวลา มุมมองโลกทัศน์ใหม่ที่สายตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้โดยปกติ

“I am kino-eye, I am a mechanical eye. I, a machine, show you the world as only I can see it. Now and forever, I free myself from human immobility, I am in constant motion, I draw near, then away from objects, I crawl under, I climb onto them… Now I, a camera, fling myself along their resultant, maneuvering in the chaos of movement, recording movement, starting with movements composed of the most complex combinations… My path leads to the creation of a fresh perception of the world. I decipher in a new way a world unknown to you”.

หลังจากผมมีโอกาสรับชม Kino-Pravda (1922-25) ก็ไม่ได้คาดคิดหวังอะไรกับผลงานถัดมาของ Dziga Vertov แต่ก็เกิดความอึ้งทึ่งไปเลยต่อ Kino-glaz (1924) มีสิ่งตื่นตราตะลึง ท้าทายภาษาภาพยนตร์ ถือเป็นเรื่องที่ใช้เทคนิค Reverse Motion ได้อย่างน่าสนใจที่สุด [เรื่องอื่นๆที่เห็นเด่นๆ อาทิ Sherlock Jr. (1924), La Belle et la Bête (1946), Doctor Strange (2016) ฯ]


Dziga Vertov ชื่อจริง David Abelevich Kaufman (1896 – 1954) นักทฤษฎี ผู้กำกับ บุกเบิกสร้าง Newsreels สัญชาติรัสเซีย เกิดยัง Białystok, Russian Empire (ปัจจุบันคือประเทศ Poland) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews โตขึ้นเข้าเรียนด้านดนตรี Białystok Conservatory กระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถูกกองทัพเยอรมันเข้ารุกราน จำต้องอพยพย้ายสู่ Petrograd เปลี่ยนมาให้ความสนใจด้านการเขียน บทกวี เรื่องล้อเลียน นวนิยายไซไฟ ต่อด้วยศึกษาวิชาการแพทย์ ณ Psychoneurological Institute, Saint Petersburg แต่สุดท้ายจบออกมาทำงานเป็นผู้สร้างภาพยนตร์

แม้ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาไม่นาน จักรวรรดิรัสเซียได้เกิดการปฏิวัติภายใน October Revolution ค.ศ. 1917 ซึ่ง Vertov ก็ได้เข้าร่วมฝั่งฝ่าย Bolshevik โค่นล้มอำนาจสำเร็จ หลังจากนั้นได้รับมอบหมายจาก Moscow Cinema Committee ให้เป็นผู้ตัดต่อ Newsreel เรื่องแรกของสหภาพโซเวียต Kino-Nedelya (1918-20) [แปลว่า Cine-week]

ด้วยความที่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์มาก่อนเลย ร่วมงานนักตัดต่อ/ว่าที่ภรรยา Elizaveta Svilova ทดลองผิดลองถูก เก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ จนกระทั่งปี 1922 เริ่มต้นสร้าง Newsreels ในรูปแบบฉบับของตนเอง ตั้งแต่ถ่ายทำ ตัดต่อ กลายมาเป็น Kino-Pravda (1922-25) ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้สร้าง Feature Length เรื่องแรก Kino-glaz (1924) เพื่อพิสูจน์แนวคิด/ทฤษฎีของตนเอง

“the world’s first attempt to create a film object without the participation of actors, directors and artists; without using a studio, sets, costumes. All members of the cast continue to do what they usually do in life”.

– คำนิยมของ Dziga Vertov ถึง Kino-glaz (1924)

Kino-glaz นำเสนอเรื่องราวของเยาวชนนักบุกเบิก (Young Pioneers) หลังเหตุการณ์ปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 อาสาสมัครกลายเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เข้าค่ายปลูกฝัง (ล้างสมอง) ได้รับการเสี้ยมสั่งสอน รู้จักเริ่มทำงานเพื่อชาติตั้งแต่ยังเล็ก ติดโปสเตอร์ชวนเชื่อ แจกจ่ายใบปลิว ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ลำบาก ทั้งยังเป็นหูเป็นตา แนะนำให้ผู้คนสั่งซื้อสิ่งของจากสหกรณ์ เพราะส่งตรงจากผู้ผลิต ราคาถูกกว่า และไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ถ่ายภาพโดย Mikhail Abramovich Kaufman (1897 – 1980) น้องชายแท้ๆของผู้กำกับ Dziga Vertov ที่ได้รับคำชักชวนจากพี่ ร่วมงานกันครั้งแรกน่าจะ Kino-Pravda (1922) ตามต่อด้วยอีกหลายๆผลงาน รวมถึง Man with a Movie Camera (1929)

การทำงานของ Vertov มุ่งเน้นบันทึกภาพเหตุการณ์จริงๆ มีทั้งต่อหน้า ลับหลัง หลบซ่อนกล้องไว้ มิให้ผู้คนรับรู้ตัวเอง หรือต้องเสียเวลาขออนุญาตใคร … แต่เรื่องนี้ยังพอพบเห็นการจัดฉากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะฉากเกี่ยวกับเด็กๆ ตั้งแถว เดินไปติดโปสเตอร์ ฯ ซึ่งบางทีพวกเขาจะป้ำๆเป๋อๆ หันมามองกล้อง ซึ่งถือเป็นการแสดงออกอย่างธรรมชาตินะแหละ

ข้อความใน Title Card บ่อยครั้งพบเห็นขึ้นต้นประโยคว่า ‘Kino Eye’ ติดตามด้วยคำกิริยา อาทิ moves, tells, continues, witnesses ฯ ซึ่งหลังจากนี้จะนำเสนอความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ ถือเป็นมุมที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถมองเห็น อาทิ Reverse Motion, Iris Shot (Flashback), Fast Motion, Slow Motion, Animation, Stop Motion, Dutch Angel ฯ

นอกจาก Reverse Motion ย้อนไปถึงต้นตอของเนื้อสัตว์และขนมปัง ยังมีช็อตเสี่ยงตายที่ถ่ายทำใต้รางรถไฟ น่าจะเป็นครั้งแรกของ Vertov ลงทุนเสี่ยงตายขนาดนี้ ซึ่งใช้วิธีการขุดหลุมแล้วลงไปนอนหลบภัยพร้อมหมุนกล้องถ่ายทำไปด้วย (กล้องสมัยก่อนยังไม่มีระบบอัตโนมัติ เลยจำเป็นต้องมีคนหมุนฟีล์มไปด้วยระหว่างถ่ายทำ)


“Above all, I constructed a true cinema-object not on top of everyday life, but out of everyday life. The story offered by comrade Verevkin’s script did not weigh life down in my work. Instead, the everyday life of the Young Pioneers absorbed the story, making it possible to capture the essence of the young Leninists in their spontaneous actuality. This materialist approach freed us from art cinema’s bourgeois illustration of a literary text, overcame the ‘government-issue’ formalism of the newsreel, and allowed us to productively establish devices for filming with a socialist character”.

– Dziga Vertov

Young Pioneers ชื่อนี้ชวนให้ระลึกถึง Hitler Youth/ยุวชนฮิตเลอร์ ก่อตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ ควบคุม ครอบงำ เสี้ยมสั่งสอน (ล้างสมอง) ปลูกสร้างค่านิยมใหม่ๆ (ของพรรคคอมมิวนิสต์) ให้เยาวชนคนรุ่นถัดไป ได้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจแนวคิด วิถีปฏิบัติ  และสืบสานต่อยอดระบอบให้มั่นคงยั่งยืนนาน

นี่ถือเป็นใจความชักชวนเชื่อที่ส่วนตัวรู้สึกน่าหวาดสะพรึงกลัวไม่น้อย เบื้องลึกเราไม่เห็นหรอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ ว่าบรรดาผู้ใหญ่ได้ปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน ล้างสมองอะไรเยาวชนเหล่านี้บ้าง สิ่งพบเห็นก็แค่เบื้องหน้า เปลือกนอก การสร้างภาพ แสดงออกแต่เรื่องดีๆให้ประชาชน/ผู้ชมรู้สึกยกย่องสรรเสริญ เกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจ พร้อมส่งลูกหลานรุ่นต่อๆไปให้เข้าร่วมโปรแกรมนี้ เพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ

เฉกเช่นนั้นแล้ว คำกล่าวอ้างของผู้กำกับ Vertov ว่าได้ทำการบันทึก ‘ความจริง’ นำเสนอภาพที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้ พานพบเห็น แต่ทั้งหมดต้องถือว่าเป็นเพียงแค่มุมมอง เศษเสี้ยวส่วนหนึ่งข้อเท็จจริง แถมยังมีการบิดเบือด บดบัง ชี้ชักนำความครุ่นคิด … ไม่เข้าใจว่าแบบนี้สามารถเรียกว่า ‘Film Truth’ ได้อย่างไร?

เรื่องสุดท้ายของหนังอาจทำให้หลายคนมึนงง รู้สึกค้างๆคาๆ จบแบบไม่ได้ดั่งใจ … แต่นั่นเป็นการสะท้อนแนวคิด ถ้าพวกเรา(ชาวรัสเซีย) สามารถร่วมมือร่วมแรงใจแข็งขัน (ตามเนื้อเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมา) ความเจริญจากชุมชนเมืองจักสามารถแพร่ขยายสู่ชนบท เหมือนการตั้งเสา ลากสายไฟฟ้า และเมื่อวันนั้นมาถึง แค่เพียงกดสวิตช์เปิด-ปิด กลางคืนจักสว่างไสวเท่ากลางวัน นั่นคือสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ชัชวาลย์


ส่วนตัวไม่ได้ใคร่สนใจในเนื้อหาสาระที่เป็นการชักชวนเชื่อสักเท่าไหร่ แต่แค่พอพบเห็น Reverse Motion เมื่อวัวกระทิงกลับมาฟื้นคืนชีพ นั่นทำให้สายตาตาลุกโพลง เกิดอาการอึ้งทึ่งคาดไม่ถึง ตะลึงในวิสัยทัศน์ มุมมอง Cine-Eye การทดลองแปลกๆของผู้กำกับ Dziga Vertov นำพาสู่ Man with a Movie Camera (1929) ยกระดับขั้นไปอีกขั้น

จัดเรต 15+ กับเนื้อหาใจความชักชวนเชื่อ ล้างสมองเยาวชน

คำโปรย | น่าหงุดหงิดใจตรงเนื้อหาชักชวนเชื่อ แต่งานภาพของ Kino-glaz ชวนให้อึ่งทึ่งอ้าปากค้าง วิสัยทัศน์ของ Dziga Vertov ช่างเหนือกาลเวลาเสียจริง!
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: