La Belle Noiseuse

La Belle Noiseuse (1991) French : Jacques Rivette ♥♥♥♥♥

(12/8/2024) ศิลปินสูงวัย อยากรังสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้าย! นำเสนอความสัมพันธ์อันรุนแรงระหว่างจิตรกรกับนางแบบสาว ที่จักต้องเปลือยกาย บิดซ้ายบิดขวา ทั้งปวดเมื่อย ทั้งอับอาย เพื่อเปิดเผยสิ่งที่อยู่ภายในเนื้อหนังออกมา, คว้ารางวัล Grand Prize (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

ด้วยความยาว 237 นาที (3 ชั่วโมง 57 นาที) อาจทำให้หลายคนเบือนหน้าหนี แต่ถ้าคุณเป็นคนรักงานศิลปะ หลงใหลในภาพวาด งานจิตรกรรม อยากมีโอกาสพบเห็นระหว่างศิลปินรังสรรค์ผลงานศิลปะ La Belle Noiseuse (1991) คือภาพยนตร์ 4 ชั่วโมงที่คุ้มค่าทุกวินาที ใครเป็นเด็กสายศิลป์ สถาปัตย์ ถ้ายังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ถือว่าเสียชาติเกิด!

คราวก่อนที่ผมเขียนบทความนี้ แม้ยังเข้าไม่ค่อยถึงศิลปะชั้นสูง ก็เคยยกย่องสรรเสริญ Best of Painter & Artist Films ติดอันดับ #3 เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้มีเรื่องราวซับซ้อนอะไร ใช้เพียงความอดทน อดกลั้น ทุกข์ทรมานไปพร้อมๆกับนางแบบสาว Emmanuelle Béart แม้สุดท้ายจะไม่มีใครพบเห็นผลงานมาสเตอร์พีซดังกล่าว แต่หนังเรื่องนี้คือการเดินทางผจญภัย เข้าไปในห้องทำงาน พบเห็นจิตวิญญาณของศิลปิน/เหมารวมถึงผกก. Rivette

Jacques Rivette’s La Belle Noiseuse (1991) is the best film I have ever seen about the physical creation of art, and about the painful bond between an artist and his muse.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 พร้อมจัดเป็น Great Movie

Jacques Pierre Louis Rivette (1928-2016) นักวิจารณ์/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Rouen, Seine-Maritime บิดาเป็นเภสัชกร บ้านอยู่ติดกับโรงภาพยนตร์ วัยเด็กหลงใหลการวาดรูปและอุปรากร หลังมีโอกาสอ่านหนังสือของ Jean Cocteau เกี่ยวกับการถ่ายทำ Beauty and the Beast (1946) ตัดสินใจมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังด้านนี้ เข้าร่วมกลุ่ม Ciné-Clubs ถ่ายทำหนังสั้น 16mm เรื่องแรก Aux Quatre Coins (1948), จากนั้นออกเดินทางสู่ Paris แล้วได้พบเจอ Jean Gruault ที่ร้านขายหนังสือ ชักชวนมารับชมภาพยนตร์ที่ Ciné-Club du Quartier Latin แล้วได้พูดคุยถกเถียงหลังการฉายกับว่าที่เพื่อนสนิท Éric Rohmer

Rivette ส่งหนังสั้นที่สร้างขึ้นเพื่อสมัครเรียน Institut des Hautes Études Cinématographiques แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ จึงเข้าคอร์สภาพยนตร์ระยะสั้น University of Paris ระหว่างนั้นแวะเวียนขาประจำ Cinémathèque Française ก่อนได้รับชักชวนเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Gazette du Cinéma (ก่อตั้งโดย Éric Rohmer และ Francis Bouchet) ติดตามด้วย Cahiers du Cinéma มีชื่อเสียงจากเขียนบทความชื่นชม Howard Hawks, Fritz Lang, Roberto Rossellini, Kenji Mizoguchi แล้วด่าทอบรรดาผู้กำกับฝรั่งเศสรุ่นใหม่ๆที่ไม่กล้าได้กล้าเสี่ยง สนเพียงกำไรความสำเร็จ และยังร่วมกับ Truffaut (ตั้งชื่อเล่น “Truffette and Rivaut”) แบกเครื่องบันทึกเสียง เดินทางไปสัมภาษณ์/ตีพิมพ์บทความเชิงลึกจากบรรดาผู้กำกับที่พวกเขาโปรดปราน อาทิ Alfred Hitchcock, Howard Hawks, Fritz Lang, Jean Renoir, Roberto Rossellini, Orson Welles ฯ

สำหรับ La Belle Noiseuse (1991) แปลตรงตัว The Beautiful Troublemaker ดัดแปลงอย่างหลวมๆจากเรื่องสั้น Le Chef-d’œuvre inconnu แปลว่า The Unknown Masterpiece ผลงานประพันธ์ของ Honoré de Balzac (1799-1850) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส รวบรวมอยู่ในนาฎกรรมชีวิต La Comédie humaine (1829-48) เมื่อปี ค.ศ. 1846

ก่อนจะมาเป็น Le Chef-d’œuvre inconnu แรกเริ่มตั้งชื่อว่า Maître Frenhofer แปลว่า Master Frenhofer ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ L’Artiste ฉบับเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1831, นำเสนอเรื่องราวของจิตรกรหนุ่ม Nicolas Poussin เดินทางไปเยี่ยมเยียน Master Frenhofer ที่เงียบหายจากแวดวงการศิลปะนานกว่าสิบปี เล่าให้ฟังเหตุผลที่ซุ่มเงียบเพราะต้องการรังสรรผลงานมาสเตอร์พีซ La Belle Noiseuse แต่ยังไม่พบเจอนางแบบเหมาะสม Poussin จึงเสนอแนะแฟนสาว Gillette ผลลัพท์สามารถวาดภาพออกมาได้อย่างน่าตกตะลึง แต่ขาข้างหนึ่งของเธอสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย สร้างความเกรี้ยวกราด คลุ้มบ้าคลั่งให้กับ Master Frenhofer เผาทำลายผลงาน และถูกไฟครอกเสียชีวิต

ตามสไตล์ของผกก. Rivette ไม่ได้มีการพัฒนาบทหนังใดๆ (เจ้าตัวคงจดจำเรื่องราว Le Chef-d’œuvre inconnu ได้อย่างขึ้นใจ) พยายามถ่ายทำแบบไล่เรียงตามลำดับเวลา (Chronological Order) เพื่อว่าเมื่อวานถ่ายค้างตรงไหน พรุ่งนี้ก็จักเริ่มต้นถ่ายต่อตรงนั้น ให้อิสระนักแสดงในการครุ่นคิดบทสนทนา แต่ไม่ใช่การดั้นสด ทุกเช้ามีการระดมสมอง ขัดเกลาร่วมกับ (Dialogue By) Pascal Bonitzer & Christine Laurent ก่อนเริ่มต้นการถ่ายทำ


ศิลปินหนุ่ม Nicolas Wartel (รับบทโดย David Bursztein) นำพาแฟนสาว Marianne (รับบทโดย Emmanuelle Béart) พร้อมกับพ่อค้างานศิลปะ Porbus (รับบทโดย Gilles Arbona) เดินทางมาเยี่ยมเยียนจิตรกรสูงวัย Édouard Frenhofer (รับบทโดย Michel Piccoli) ผู้ห่างหายจากแวดวงการไปนานหลายปี อาศัยอยู่คฤหาสถ์หรูทางตอนใต้ฝรั่งเศสกับภรรยา/นางแบบ Liz Frenhofer (รับบทโดย Jane Birkin)

Frenhofer คือศิลปินวาดภาพเปลือยที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ปัจจุบันไม่ได้จับพู่กันมานานกว่าสิบปี! ถึงอย่างนั้นเขายังคงมีความกระตือรือล้นถึงภาพวาดในอุดมคติ La Belle Noiseuse ครุ่นคิดเล่นๆถ้าให้ Marianne มาเป็นนางแบบก็คงดี! Nicolas จึงขันอาสาโน้มน้าวแฟนสาว แม้เธอตอบปฏิเสธเสียงขันแข็ง วันถัดมากลับยินยอมปลดเปลื้อง เปลือยกาย ตอบรับการเป็นนางแบบ


Jacques Daniel Michel Piccoli (1925-2020) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นนักไวโอลิน มารดาเล่นเปียโน แต่ความสนใจของเขากลับคือการแสดง ฝีกฝนกับนักแสดงตลก Andrée Bauer-Théraud จากนั้นได้งานภาพยนตร์ Le point du jour (1949), เริ่มเป็นที่รู้จักจาก French Cancan (1955), โด่งดังจากการเป็นหนี่งในขาประจำ Luis Buñuel อาทิ Death in the Garden (1956), Diary of a Chambermaid (1964), Belle de jour (1967), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) ฯ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Contempt (1963), Topaz (1969), A Leap in the Dark (1980), Strange Affair (1981), La Belle Noiseuse (1991), We Have a Pope (2011) ฯ

รับบท Édouard Frenhofer จิตรกรสูงวัย ในอดีตเคยมีชื่อเสียงจากภาพวาดเปลือย โดยมีภรรยา Liz เป็นนางแบบ จนเมื่อสิบปีก่อนพยายามรังสรรผลงานชิ้นเอก La Belle Noiseuse แล้วจู่ๆกลับไม่สามารถจรดพู่กัน วาดภาพนั้นต่อ เพราะหวาดกลัวผลลัพท์ที่จักนำเสนอตัวตนภายในของเธอ อาจบ่อนทำลายความรัก ความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา

กระทั่งการมาถึงของสาวแรกรุ่น Marianne ทำให้ไฟราคะของตนเองคุกรุ่น เมื่ออีกฝ่ายยินยอมตอบตกลงเป็นนางแบบ พยายามขยับจับบิดซ้ายบิดขวา บิดหน้าบิดหลัง บังคับให้ทำท่ายาก ทั้งปวดเมื่อย ทั้งอับอาย เพื่อค้นหาตำแหน่ง ทิศทาง เปิดเผยสิ่งที่อยู่ภายใต้เหนือหนัง จิตวิญญาณของเธอออกมา

Frenhofer is played by Michel Piccoli, the saturnine French star whose eyes can bore through other actors. With his high forehead and sculpted profile, he looks intelligent, but it is a formidable, threatening intelligence.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

ผมเคยเปรียบเทียบ Piccoli เหมือนกับสรพงศ์ ชาตรี ที่ท่านมุ้ยเลือกช่างไฟมาเล่นเป็นพระเอกหนัง! สมัยหนุ่มๆไม่ได้มีความหล่อเหลา หัวเถิก ท่าทางก็ทึ่มๆทื่อๆ เอื่อยๆเฉื่อยๆ แต่โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับดังๆ จนกลายเป็นตำนาน “สัญลักษณ์แห่งวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส”

แต่บทบาทดีที่สุดในชีวิตของ Piccoli คือเมื่อกลายเป็นผู้สูงวัย สายตาดูลุ่มลึก เฉลียวฉลาด ทรงภูมิฐาน เหมือนคนพานผ่านอะไรมาก ท่าทางยังคงเอื่อยๆเฉื่อยๆ เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ช่วงแรกๆขาดความกระตือรือล้น กลัวๆกล้าๆ ไม่จับพู่กันมานานนับสิบปี การมาถึงของหญิงสาวแรกรุ่นทำให้เขาปลุกตื่น เกิดความระริกระรี้ ขีดๆเขียนๆ ขยับจับโน่นนี่ ด้วยความมุ่งมั่น จริงจัง วันแล้ววันเล่าที่ค่อยๆหมดสูญสิ้นกำลังใจ ทำลายทุกสิ่งอย่างจนไม่เหลืออะไร และที่สุดถึงสามารถค้นพบตัวตนแท้จริงภายใน

หลายคนน่าจะทำความเข้าใจได้ไม่ยากว่าตัวละครของ Piccoli คือตัวตายตัวแทนผกก. Rivette ต่างเป็นผู้สูงวัย ใกล้ลงโลง (Piccoli เกิดปี 1925, Rivette เกิดปี 1928) ไม่รู้จะมีโอกาสเล่นหนัง/สรรค์สร้างภาพยนตร์อีกนานเท่าไหร่ แม้ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน กลับมองตารู้ใจ นำเอาประสบการณ์ล้วนๆ มาเป็นบทเรียนให้กับศิลปินรังสรรผลงานศิลปะ!


Emmanuelle Béart (เกิดปี ค.ศ. 1963) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Gassin บิดาคือนักร้องชื่อดัง Guy Béart สืบเชื้อสาย Sephardic Jewish จากประเทศ Egypt, ตอนวัยรุ่นมีโอกาสรับชม Mado (1976) ตกหลุมรักการแสดงของ Romy Schneider เลยมุ่งมั่นเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เดินทางไป Quebec, Canana เพื่อฝึกฝนภาษาอังกฤษถึงสี่ปี แล้วกลับมาเรียนการแสดงที่ฝรั่งเศส เริ่มต้นจากผลงานโทรทัศน์ แจ้งเกิดกับ Manon of the Spring (1986)**คว้ารางวัล César Award: Best Supporting Actress, ผลงานเด่นๆ อาทิ La Belle Noiseuse (1991), A Heart in Winter (1992), Nelly and Mr. Arnaud (1995), Mission: Impossible (1996), 8 Women (2002) ฯ

รับบท Marianne แฟนสาวของ Nicolas หลังคบหาอยู่กินกันมาสามปี ฝ่ายชายเริ่มมีพฤติกรรมเอื่อยเฉื่อย(ทางเพศ) กลายเป็นคนเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ ชอบบงการ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น จู่ๆตอบตกลง Frenhofer โดยไม่เคยสอบถามไถ่ ถึงอย่างนั้นเธอกลับยินยอมเป็นนางแบบเปลือย เพราะต้องการสำแดงอารยะขัดขืน (Rebellion) ฉันก็มีอิสรภาพ สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ ทำอะไรๆด้วยตนเอง

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Marianne คือสัญลักษณ์เชิงบุคลาธิษฐานของประเทศฝรั่งเศส สตรีเพศผู้เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพ

แต่สิ่งที่ Marianne คาดคิดไม่ถึงก็คือการเป็นนางแบบเปลือย ต้องใช้ความอดทน อดกลั้น บิดซ้ายบิดขวา บิดหน้าบิดหลัง ทั้งปวดเมื่อย ทั้งอับอาย ซ้ำร้ายไม่ใช่แค่วันเดียวเสร็จ! เพราะไม่ต้องการยอมรับความพ่ายแพ้(กับแฟนหนุ่ม) จึงพยายามกล้ำกลืนฝืนทน จนผ่านพานช่วงเวลาอคติต่อต้าน สามารถยินยอมรับสภาพการทำงาน แปรสู่ความมุ่งมั่น ทุ่มเท เฝ้ารอคอยผลลัพท์ และยังช่วยผลักดัน Frenhofer (เมื่อตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง) จนรังสรรผลงานออกมาได้สำเร็จ

Emmanuelle Béart has an ethereal beauty, but it is her talent that has made her a leading actress of her generation. We quickly feel, without any dialog or behavior to spell it out, Marianne’s nuisance quality, her nuttiness if you will. Is the coldness and dryness she sees in the portrait what Frenhofer desired her for, or despaired of? 

นักวิจารณ์ Roger Ebert

แค่ซีนแรกๆของหนังก็อาจทำให้ผู้ชมตกหลุมรักในความระริกระรี้ น่ารัก น่าเอ็นดู แต่ความล้มเหลวในการยั่วราคะแฟนหนุ่ม ทำให้เธอสำแดงอาการหงุดหงิด เย็นชา (ของขาด?) สีหน้าบูดบึ้งตึง เต็มไปด้วยความเหนื่อยหน่าย ดูไม่ค่อยพึงพอใจกับสถานการณ์เป็นอยู่ บังเกิดอคติต่อต้าน Frenhofer หลังรับรู้ว่าคือศิลปินวาดภาพเปลือย และยิ่งรับไม่ได้รุนแรงเมื่อเขาตอบตกลงให้ตนเองเป็นนางแบบ(เปลือย)โดยไม่พูดคุยถามไถ่

It’s funny, I had always sworn to myself never to play naked in the cinema, because I find that there is an overdose on the way in which the female body is exploited. And then Jacques arrived. He told me: ‘You are going to play naked.’ And it was exciting to exploit that nudity. Because it’s a real woman playing. And the look of Jacques, that of Michel too, because for me they are inseparable, helped me a lot. But it’s true that when you find yourself naked in front of the camera, it’s very difficult.

Emmanuelle Béart

ด้วยความที่ Béart ไม่เคยเปลือยกายต่อหน้ากล้องมาก่อน มันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ครั้งแรกๆเต็มไปด้วยความอึดอัด ร่างกายแข็งทื่อ กลัวมากจนไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว แต่ด้วยหนังถ่ายทำในสถานที่ปิด ทีมงานไม่กี่คน ล้วนมีความเป็นอาชีพ ทีละเล็กละน้อยค่อยๆปรับตัว ผ่อนคลาย โดยไม่รู้ตัวบังเกิดความพึงพอใจ กล้าที่จะโต้เถียง แสดงความไม่เห็นด้วยในหลายๆครั้ง … นี่ผมแปลจากบทสัมภาษณ์นะครับ มันช่างมีวิวัฒนาการไม่ต่างจากตัวละคร เลือนลางระหว่างชีวิตจริง-การแสดง ผลลัพท์มันจึงโคตรๆตราตรึง อึ่งทึ่ง น่ามหัศจรรย์ใจยิ่งนัก!

I had a few seconds of real discomfort. I wasn’t hurt, just paralyzed. I was very scared. I was unable to move. I no longer had a shell. And then I gradually relaxed. The team was small and I never feared the gaze of people on set. Little by little, I took real physical pleasure in giving something. My body became active. Of course, there were moments of total refusal. I felt like an object. I wanted to escape this image of woman-object. But I especially wanted to transform the image of the model. I wanted this painting to be done in pairs. Between this woman and this painter, there is a clash of two gazes. She looks at him and provokes him. And she doesn’t want to let go.

หลายคนอาจจดจำแต่เรือนร่าง ปทุมถัน หรือพงไพรน้อยๆ แต่ความเจิดจรัสของ Béart คือการใช้สีหน้า ภาษากาย ถ่ายทอดความรู้สึกภายในออกมา ไม่ว่าจะตอนเปลือยเปล่าหรือสวมใส่เสื้อผ้า ทุกขณะล้วนมีความโดดเด่นชัดเจน (เสื้อผ้าสวมใส่ด้วยกระมังที่ทำให้เธออยู่ในสายตาผู้ชมแทบตลอดเวลา) ช่วยสร้างบรรยากาศรอบข้างให้รู้สึกหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา นั่นคือสิ่งที่จักแปรสภาพสู่ภาพวาด La Belle Noiseuse แม้ไม่ถ่ายให้เห็น แต่ผู้ชมย่อมสามารถทำความเข้าใจได้จากการพฤติกรรมตัวละคร


Jane Mallory Birkin (1946-2023) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Marylebone, London มารดาคือนักแสดง Judy Mary Campbell, ส่วนบิดาเป็นลูกพี่ลูกน้องผู้กำกับ Carol Reed เคยให้แนะนำหลานสาวที่อยากเข้าสู่วงการเมื่อตอนวัยรุ่น เริ่มต้นจากตัวประกอบ The Knack …and How to Get It (1965), บทบาทเล็กๆ Blowup (1966), Kaleidoscope (1966), รับบทนำหนังฝรั่งเศส Slogan (1969), โด่งดังจากการขับร้องบทเพลงคู่ร่วมกับ Brigitte Bardot ประกอบภาพยนตร์ Je t’aime… moi non plus (1976) แปลว่า I love you … me neither, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Death on the Nile (1978), Evil Under the Sun (1982), The Pirate (1984), La Belle Noiseuse (1991), A Soldier’s Daughter Never Cries (1998) ฯ

รับบท Liz ภรรยายังสาวของศิลปิน Édouard Frenhofer เคยเป็นนางแบบเปลือยให้กับเขา ตกหลุมรัก แต่งงาน อาศัยอยู่เคียงข้างกันมานาน จนกระทั่งระหว่างรังสรรผลงาน La Belle Noiseuse เกิดความตระหนักว่านั่นคือสิ่งที่ตนเองไม่ควรทำ เพราะมันอาจทำให้ความสัมพันธ์เราสองขาดสะบั้น … นั่นเพราะภาพวาด La Belle Noiseuse จักสำแดงธาตุแท้ตัวตน สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Frenhofer กับนางแบบคนนั้นๆ ที่ปัจจุบันไม่หลงเหลือเยื่อใยใดๆต่อ Liz

แม้ความสัมพันธ์ระหว่าง Liz กับ Frenhofer จะจบสิ้นไปนานแล้ว แต่ทั้งสองยังคงพึ่งพาอาศัย ไม่สามารถแยกย้ายจากกันไปไหน นั่นคือเหตุผลที่ Frenhofer ปฏิเสธสานต่อโปรเจค La Belle Noiseuse เลิกจับพู่กันไปตั้งแต่สิบปีก่อน ซึ่งเธอเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าว จึงพยายามโน้มน้าว Marianne ให้ช่วยเติมเต็มความใฝ่ฝันสามี รังสรรค์ผลงานชิ้นสุดท้าย เพื่อกลายเป็นอมตะนิรันดร์

รูปร่างผอมบาง ใบหน้าซีดเซียวของ Birkin ดูเหมือนคนพานผ่านอะไรๆมามาก เต็มไปด้วยความเก็บอด อัดอั้น เจ็บปวด ชอกช้ำ หลงเหลือชีวิตอยู่ไปวันๆ (งานอดิเรกสตัฟฟ์นก เก็บรักษาความตายให้เหมือนมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์) จนกระทั่งการมาถึงของ Marianne บังเกิดรอยยิ้ม ประกายความหวัง ยินยอมให้บังเกิดความสัมพันธ์ “It’s not about the flesh. Not about nudity. How do you say it? An affair.

บทบาทนี้ช่างมีความซับซ้อน เปราะบาง ละม้ายคล้าย Marianne (ครองรักกับศิลปิน ติสต์ๆเหมือนกัน) แตกต่างตรงการแสดงออก ฝ่ายหนึ่งสำแดงกิริยาท่าทาง ความไม่พึงพอใจออกมาตรงๆ, Liz กลับพยายามเก็บกด อดกลั้น ฝืนทน ยินยอมรับความเจ็บปวดทรมาน (ออกแนวมาโซคิสม์เล็กๆ) แม้ไม่หลงเหลือความรัก ความรู้สึกใดๆต่อกัน ยังขอเพียงได้อยู่เคียงข้าง พึ่งพาอาศัย ขาดกันไม่ได้จริงๆ

การรับชมคราวก่อนผมแทบไม่มีภาพจำตัวละครนี้ เลยเกิดความอึ้งทึ่ง คาดไม่ถึง เพราะเพิ่งตระหนักว่านี่คือบทบาทซับซ้อนสุดของหนัง! ในมุมผู้ชมสมัยใหม่ย่อมรู้สึกสงสารเห็นใจ ไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงยินยอมอดกลั้นฝืน ทนทุกข์ทรมานกับความรักที่ไม่หลงเหลือเยื่อใย (ควรจะเลิกรากันแบบคู่ของ Nicolas & Marianne) แต่คนรุ่นก่อนๆ พ่อ-แม่อยู่กันจนแก่เฒ่า มันคือเยื่อใย ความสัมพันธ์มิอาจตัดขาด


ถ่ายภาพโดย William Lubtchansky (1937-2010) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Vincennes เข้าสู่วงการจากร่วมงาน Agnès Varda ภาพยนตร์ Les créatures (1966), แล้วกลายเป็นขาประจำ Claude Lanzmann, Jacques Rivette, Jean-Luc Godard, ผลงานเด่นๆ อาทิ Israel, Why (1973), Daguerreotypes (1975), Duelle (1976), Here and Elsewhere (1976), Merry-Go-Round (1980), Every Man for Himself (1980), Le Pont du Nord (1981),The Woman Next Door (1981), Love on the Ground (1984), Shoah (1985), La Belle Noiseuse (1991), Joan the Maid (1994), Regular Lovers (2005) ฯ

งานภาพของหนังเลือกใช้อัตราส่วน Academy Ratio (1.37:1) ที่เหมาะสำหรับฉายทางโทรทัศน์ (ยุคสมัยนั้น) แต่ผมครุ่นคิดว่าความตั้งใจของผกก. Rivette ต้องการภาพคับแคบเพื่อให้ดูเหมือนผืนผ้าใบสำหรับวาดรูป ลีลาขยับเคลื่อนเลื่อนกล้องก็สามารถเปรียบดั่งการตวัดพู่กัน แต่งแต้มลงรายละเอียดแสงสีสัน

แม้หนังจะใช้กล้อง MovieCam ฟีล์ม 35mm ที่สามารถแบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา (ตามสไตล์ผู้กำกับรุ่น French New Wave) แต่ลีลาการถ่ายภาพของ La Belle Noiseuse (1991) มักตั้งกล้องอยู่กับที่ แพนนิ่งซ้าย-ขวา ไม่ก็ใช้ดอลลี่ช่วยในการขยับเคลื่อนไหว ได้ภาพที่นิ่ง คมชัด สื่อถึงวิสัยทัศน์อันแน่วแน่ มั่นคง จริงจัง Frenhofer/ผกก. Rivette พยายามค้นหาทิศทาง ท่วงท่านางแบบ (สังเกตว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมุมกล้องแทบไม่เคยซ้ำเดิม) จนกว่าจะพบเจอมุมมองที่ใช่เท่านั้น ไม่สามารถประณีประณอม หรือเกิดความสั่นคลอนขึ้นภายใน

หนังใช้เวลาถ่ายทำเกือบๆ 2 เดือน ระหว่าง 7 กรกฎาคม – 30 สิงหาคม ค.ศ. 1990 โดยปักหลักอยู่ยังคฤหาสถ์ Château d’Assas ตั้งอยู่ Assas, Hérault ชุมชนไวน์เล็กๆทางตอนใต้ฝรั่งเศส สร้างขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1759-60 แทนที่ปราสาทผู้ครองเมือง (Feudal Castle)


Liz สอบถาม Marianne ว่าชื่นชอบอ่านหนังสือหรือเปล่า เธอตอบว่าไม่ “I like what inside.” ใครที่เข้าใจแนวคิดของภาพวาด La Belle Noiseuse ก็น่าจะสามารถเชื่อมโยงกับคำตอบนี้ของ Marianne

และอีกสิ่งน่าสนใจของภาพช็อตนี้ สองสาวต่างคือนางแบบของ Frenhofer เปลือยกายคล้ายแบบรูปปั้น (ดูเหมือนเทพี Venus) ที่ตั้งอยู่ระหว่างพวกเธอ เป็นการเปรียบเทียบที่ชวนให้หลงใหลยิ่งนัก!

คฤหาสถ์แห่งนี้ ช่างดูกว้างใหญ่โต ตั้งอยู่บนเนินเขา อดีตคือที่ตั้งปราสาทผู้ครองเมือง (Feudal Castle) สำแดงถึงความสูงส่ง คนใหญ่คนโต ศิลปินผู้มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง แต่ขณะเดียวกันสถานที่แห่งนี้กลับดูเวิ้งว่างเปล่า สภาพชำรุดทรุดโทรม ก็เหมือนอายุอานามของ Frenhofer ร่วงโรยไปตามสังขารา

ตั้งแต่หน้าคฤหาสถ์ เดินเข้ามาอยู่ภายใน สังเกตว่ามุมกล้องถ่ายมักระดับสายตา พบเห็นแค่พื้น เพดานช่างอยู่สูงเกินอาจเอื้อม (ไม่มี Establishing Shot ด้วยนะครับ) อาจต้องการสื่อถึงพวกเขาคือบุคคลธรรมดาที่ยังมองไม่เห็นสรวงสวรรค์ เข้าไม่ถึงแนวคิดอันสูงส่งของผลงานมาสเตอร์พีซ

ห้องนี้ชื่อว่า Chimera หรือ Chimaeras สัตว์ในปรัมปรากรีก ร่างกายกำยำ เป็นที่รวมของสัตว์ร้ายสามชนิด ส่วนหัวถึงหน้าอกเป็นสิงโต ลำตัวเป็นแพะ บั้นท้ายเป็นมังกรหรืองู … แต่การผสมผสานสัตว์หลายชนิดเข้าด้วยกัน มันช่างไม่มีความจำเป็น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด “unrealistic, unrealisable, wild, foolish or vain dream” ตามคำอธิบายของ Liz (ยืนท่วงท่าเหมือนรูปปั้นเทพี) โปรดปรานห้องแห่งนี้เพราะ “It’s useless.” เพียงเอาไว้โชว์แขกเหรื่อเท่านั้นเอง!

ห้องทำงานของ Frenhofer ต้องเดินลัดเลาะเลียบตึก ตั้งอยู่บริเวณชั้นสอง สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบเมือง ความประทับใจแรกของตัวละคร “It look like a church.” แต่แท้จริงแล้วคือโรงนา ชั้นล่างเป็นคอกม้า … โบสถ์ vs. โรงนา, วิหารศักดิ์สิทธิ์ (สรวงสวรรค์) vs. สถานที่ต่ำตม (ขุมนรก), แต่อย่าลืมว่าพระเยซูก็ถือกำเนิดในคอกม้า!

โดยปกติแล้วห้องทำงานของศิลปิน มักไม่ค่อยอนุญาตให้คนนอกเข้าเยี่ยมชม เพราะมันเหมือนการรุกล้ำเข้ามาในโลกส่วนตัว ห้องหับในจิตวิญญาณ สถานที่ให้กำเนิดผลงาน

การสนทนามื้อเย็น ตอนกำลังจะเข้าประเด็นสำคัญแทนที่จะเป็นอาหารจานหลัก (Main Dish) กลับขณะเตรียมรับประทานของหวาน (Dessert) นั่นเพราะหัวข้อคำถามของ Frenhofer ครุ่นคิดยังไงถ้าแฟนหนุ่มรักงานศิลปะมากกว่าตนเอง “Would you accept it if he loved painting more than you?” นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังคนสองครองรักกัน (การแต่งงาน = อาหารจานหลัก, ครองรักได้นานแค่ไหนก็คือขนมหวานหลังจากนั้น)

ในขณะที่ Liz ยังคงครองรักกับ Frenhofer, คำตอบของ Marianne พร้อมจากไปทันทีถ้าเขาหมดเยื่อใย, แล้ววินาทีนั้น Porbus เป็นลมล้มพับ หัวคะมำลงบนโต๊ะอาหาร ราวกับจะสื่อว่านั่นคือเหตุการณ์กำลังจะบังเกิดขึ้นกับพวกเขา เป็นเหตุให้ไม่มีใครได้รับประทานเค้กทาร์ต (Sweet Tart) กันสักคน! … กล่าวคือไม่มีใครในคณะนี้ที่มีความสุขกับชีวิตหลังแต่งงาน (จริงๆหลังจากหนุ่มๆออกจากโต๊ะอาหารไป สองสาวงับเค้กทาร์ตกันคนละคำ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขอันแสนสั้น)

การสนทนาขณะนี้ระหว่าง Liz กับ Marianne ทำให้ผมตระหนักว่าพวกเธอทั้งสองมีความแตกต่างตรงกันข้าม

  • Liz คือตัวแทนผู้หญิงรุ่นก่อน ยังต้องพึ่งพาอาศัยบุรุษ ยินยอมก้มหัวศิโรราบ ไม่ต่างจากนรกในกรง ชีวิตไร้ซึ่งอิสรภาพ อดทนอดกลั้น ไม่สามารถเลิกราหย่าร้าง
  • Marianne หญิงรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยมีความอดทนอดกลั้นสักเท่าไหร่ โหยหาอิสรภาพ พร้อมจะกางปีกโบยบิน ต้องการความรักที่เท่าเทียม ไม่ใช่นกในกรง หรือถูกควบคุมครอบงำโดยสามี

Nicolas คือคนเสนอแนะ Marianne ให้เป็นนางแบบภาพวาด La Belle Noiseuse โดยไม่เคยพูดคุยปรึกษา ตอบตกลง Frenhofer แทบจะโดยทันที นี่แสดงถึงการวางอำนาจบาดใหญ่ ฉันคือบุรุษมีสิทธิ์ตัดสินใจ ดูอย่างภาพวาดด้านหลัง (ที่บุรุษยืนบดบังสตรี) หรืออย่างตอนยกเท้าขึ้นเตียงพาดไปอีกฟากฝั่ง รุกล้ำพื้นที่นอนของหญิงสาว (ก่อนที่ Marianne จะสั่งให้ขยับขาหนี) … ยังมีรายละเอียดเล็กๆอีกมากมายที่แสดงให้เห็นว่าหนุ่มคนนี้ หล่อแต่รูป จูบไม่หอม ทัศนคติเก่าก่อน ชอบควบคุมครอบงำแฟนสาว

แม้ว่า Marianne จะสำแดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจ Nicolas แต่รุ่งเช้ากลับรีบย่องมายังคฤหาสถ์ของ Frenhofer นี่ไม่ใช่เพราะเธอระริกระรี้อยากร่วมงาน ตรงกันข้ามต้องการเร่งรีบให้เสร็จสรรพ (คงครุ่นคิดว่าวันเดียวน่าจะแล้วเสร็จ) เพื่อสำแดงอารยะขัดขืน (Rebellion) ต่อแฟนหนุ่ม

ภาพช็อตนี้พบเห็น Magali (บุตรสาวของแม่บ้าน) กำลังกระโดดโลดเต้นอยู่นอกหน้าต่าง ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ Citizen Kane (1941) เด็กน้อยไม่รู้เดียงสา ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง ความสามารถในการตัดสินใจ เพียงทำตามคำสั่งผู้ใหญ่ … ในบริบทนี้ Marianne ก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก!

ก่อนที่ Marianne จะเริ่มต้นเป็นนางแบบ เธอสะดุดตากับภาพวาดเปลือยของ Liz ผมสังเกตว่าเรือนร่างของเธอเต็มไปด้วยริ้วรอย ดูเหมือนบาดแผลฟกช้ำ สำแดงถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน พานผ่านอะไรมามาก แต่ยังสามารถยืนอย่างสง่างาม ส่งสายตามุ่งมั่น ไร้ความหวาดกลัวเกรง … เอาจริงๆภาพนี้ถือเป็น La Belle Noiseuse ของ Liz ได้อย่างชัดเจน

ระหว่างการวาดภาพเซสชั่นแรก จะมีแทรกคั่น Nicolas เดินทางมาสอบถามถึง Marianne แล้วได้พูดคุยกับ Liz ที่กำลังทำสัตว์สตัฟฟ์ บอกให้เขาช่วยจับปีกนก สามารถสื่อถึงหน้าที่ของบุรุษ ควรเป็นผู้ช่วยเหลือผลักดันให้สตรีเพศสามารถกางปีกโบยบิน ไม่ใช่จับมาคุมขังไว้ในกรง

ความชื่นชอบสตัฟฟ์สัตว์ของ Liz ยังสะท้อนความสัมพันธ์/ความรู้สึกต่อ Frenhofer ที่แทบไม่หลงเหลือเยื่อใยใดๆ แต่เธอยังคงเก็บรักษา(สัตว์สตัฟฟ์)เอาไว้ แม้ตัวตายแต่ดูราวกับยังมีชีวิต … แนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Psycho (1960) อย่างแน่นอน!

ส่วนอาการเลือดกำเดาไหลของ Nicolas น่าจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกขัดแย้งภายใน ใจหนึ่งอยากให้ Marianne เป็นนางแบบกับ Frenhofer แต่ปฏิกิริยาของเธอทำให้เขารู้สึกผิด รับรู้ตัวว่าเป็นสิ่งที่ตนเองไม่ควรทำตั้งแต่แรก … ร่างกายจึงไม่สามารถควบคุมอาการผิดปกติดังกล่าว

มนุษย์ไม่ใช่หุ่นไล่กา ศิลปินวาดภาพเปลือยใช่ว่าจะไม่มีอารมณ์(ทางเพศ) หลังเสร็จการวาดรูปเซสชั่นแรก จะมีซีนเล็กๆที่ Frenhofer ล้วงกระเป๋าหลัง จับก้นของ Liz นั่นแสดงถึงการปลุกตื่น บังเกิดความกระตือรือล้น ทั้งเรื่องการวาดภาพ และรื้อฟื้นความสัมพันธ์(ทางเพศ)กับภรรยา … ทิศทางที่พวกเขาก้าวเดินระหว่างต้นไม้สองต้น มันช่างดูเหมือนช่องแคม

การทำงานของ Frenhofer มักให้นางแบบปรับเปลี่ยนท่วงท่า บิดซ้ายบิดขวา บิดหน้าบิดหลัง เดี๋ยวยืนเดี๋ยวนั่ง ตำแหน่งวาดภาพ ทิศทางมุมกล้องก็แทบไม่เคยซ้ำเดิม เหล่านี้เป็นความพยายามเพื่อค้นหา ‘มุมมอง’ ที่สอดคล้องวิสัยทัศน์ สามารถสำแดงธาตุแท้ตัวตน เปิดเผยสิ่งที่อยู่ภายใต้เนื้อหนังของหญิงสาวออกมา

I’m going to crumble you, you’re going to break up. We’ll see what’s left of you when you forget everything. Don’t worry, you’ll get it back if you still want it.

Édouard Frenhofer

ปล. ความพยายามในการจัดแจงนางแบบให้มีท่วงท่าทางตามที่ศิลปินต้องการ ชวนให้ผมนึกถึง Vertigo (1959) ของ Alfred Hitchcock อยู่ไม่น้อยเลยละ!

เกร็ด: ภาพวาดทุกชิ้นในหนัง รวมถึงมือที่พบเห็นขณะกำลังวาดรูป ล้วนเป็นผลงานของ Bernard Dufour (1922-2016) จิตรกรสัญชาติฝรั่งเศส ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งสอง พอมีชื่อเสียงจากภาพนามธรรม (Abstract) หลังจากนั้นผันมาวาดภาพเหมือน (Portrait) ก่อนแปรสภาพสู่ภาพโป๊เปลือย (Nude)

Magali ดูมีปฏิกิริยาเศร้าซึม Liz จึงสอบถามถึงคู่หมั้น แฟนหนุ่ม แต่เธอบอกว่าอีกฝ่ายออกจากหมู่บ้านแห่งนี้ไปไกล จึงไม่สามารถสานความสัมพันธ์ … มันช่างสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Liz กับ Frenhofer แม้อยู่เคียงชิดใกล้ แต่กลับเหินห่างไกล แทบไม่หลงเหลือเยื่อใยความรัก

ระหว่างการพูดคุยครั้งนี้นั้น กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง(โดยรางเลื่อน)จนออกนอกห้อง จากนั้นทำการแพนนิ่งไปทางขวา พบเห็นหอระฆัง ทิวทัศน์เมือง Assas ราวกับว่าหญิงสาวทั้งสองยังคงเหม่อมอง โหยหาความสัมพันธ์กับ(อดีต)คนรัก (ที่อยู่ห่างไกลสุดลูกหูลูกตา)

ผ่านมากว่าสองชั่วโมง Frenhofer เพิ่งได้ฤกษ์กล่าวคำว่า “I’m beginning to see you…” ในท่วงท่าที่ Marianne กางแขนสองข้างวางราบบนโต๊ะ ดูไปดูมามีความละม้ายคล้ายการตรึงกางเขนของ Jesus Christ, ภาพที่วาดบนผืนผ้าใบก็มีกรอบล้อมรอบ (โครงสร้างเก้าอี้) คงเพื่อจะสื่อถึงสิ่งพบเห็นอยู่ภายใน

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ปฏิกิริยาท่าทาง Frenhofer เกิดความโล้เล้ลังเลใจ วาดเค้าโครงร่างได้นิดหน่อยแล้วหยุดชะงักงัน สีหน้าดูถอดใจ ไม่สามารถทำอะไรได้ต่อ ทีแรกผมครุ่นคิดว่าอาจเกิดอาการสมองตื้อตัน (Creative Block) แต่พอสังเกตภาพร่างทำให้หวนระลึกถึงภาพวาดเก่าของภรรยา Liz (ที่ Marianne เคยหยุดยืนมองก่อนเริ่มต้นเป็นนางแบบ) นี่สามารถสื่อถึง Frenhofer กำลังทำสิ่งซ้ำรอยเดิม ยึดติดกับอดีต ภาพเก่าเคยวาดเอาไว้

แม้ว่า Frenhofer ถอดใจไปเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่า Marianne เพราะเจ็บมามาก เลยไม่ยินยอมให้เขาล้มเลิกกลางคัน! ทำการปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น “Let me find … my own place” โยกย้ายโต๊ะ เก้าอี้ ขาตั้งรูป ปรับเปลี่ยนตำแหน่งยังบริเวณที่แสงอาทิตย์จากภายนอกสาดส่องลงมา ขยับเคลื่อนไหวท่าทางด้วยตนเอง (ไม่ได้ถูก Frenhofer จับขยับบิดไปบิดมาอีกต่อไป) และกล้องยังค่อยๆเคลื่อนไหลวนรอบ (เพื่อสื่อถึงความเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่การตัดสลับมุมกล้องที่เป็นการฝืนธรรมชาติ ‘forced perspective’)

สิ่งที่ Frenhofer ค้นพบหลังจากให้อิสระ Marianne ในการปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น เลือกตำแหน่ง ท่าทางของตนเอง คือทำให้เขาเรียนรู้ว่าจำเป็นต้องทำลายอดีต ทุกสิ่งอย่างเคยหมกมุ่นยึดติด จึงนำเอาภาพเก่าที่เคยวาดใบหน้าของ Liz มาขีดๆคร่าๆ (ลงสีน้ำเงินมอบสัมผัสอันเย็นชา) ตั้งแนวนอน (ปรับเปลี่ยน Perspective) แล้วซ้อนทับด้วยภาพวาดชิ้นใหม่ (บั้นท้ายระนาบเดียวกับใบหน้า)

ตอนที่ Frenhofer วาดภาพนี้เสร็จ จะยังไม่กากบาทสีแดงกลางภาพ น่าจะเพิ่มเติมตอนยามค่ำคืน ระหว่างพยายามหามุมมอง/ทิศทางที่สอดคล้องวิสัยทัศน์ ก่อนค้นพบว่านี่ยังไม่ใช่ภาพที่ตนเองต้องการ เลยตัดสินใจทำลายภาพวาดดังกล่าว (แบบเดียวกับตอนทำลายใบหน้าภาพวาด Liz)

ค่ำคืนนี้ Marianne ตัดสินใจไม่กลับโรงแรม ขอเข้าพักห้องว่างในคฤหาสถ์ แต่พอเปิดห้องใหม่ Liz พยายามนำเอาสร้อยประดับคล้องคอเธอ กลับถูกปฏิเสธต่อต้านทันควัน “I’ve had enough of you treating me like a doll.” สำแดงความเป็นหญิงสาวรุ่นใหม่ รักในอิสรภาพ ไม่ชอบถูกควบคุมครอบงำ บีบบังคับโน่นนี่นั่น แค่นางแบบวาดภาพก็เหลืออดเหลือทน ฉันไม่ใช่ตุ๊กตา ไม่ใช่นกในกรง คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม

ผมครุ่นคิดอยู่นานว่าการมาถึงของ Julienne น้องสาวของ Nicolas มันมีความจำเป็นอะไร? กระทั่งได้พบเห็นภาพกิ่งไม้กั้นขวางระหว่างตัวละคร และหัวข้อสนทนาขณะนี้บอกว่าเพิ่งได้งานใหม่ ณ Wellington, New Zealand แต่พี่ชายกลับไม่อยากเชื่อ ไม่อยากให้ไป ออกอาการไม่พึงพอใจ … Julienne ไม่ต่างจาก Marianne ถูกครอบงำโดย Nicolas จึงพยายามดิ้นหลบหนี หาหนทางโบยบินสู่อิสรภาพ ไม่ต้องการหลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังอีกต่อไป

ยามค่ำคืน Frenhofer เต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเลใจ ไม่รู้จะเลือกภาพวาดไหน แต่เช้าตรู่เจ้าเหมียววิเชียรมาศ (Siamese Cat) แมวมงคลเข้ามาปลุกตื่น พร้อมประทับอุ้งตีนแมวยังภาพวาดหนึ่ง (แต่จริงๆคือรอยเท้าของ Liz) … ผมการันตีร้อยเปอร์เซ็นต์ว่านี่คือภาพสุดท้ายของ La Belle Noiseuse

ใครเคยรับชม Celine and Julie Go Boating (1974) น่าจะมักคุ้นกับเจ้าเหมียว สัตว์วิเศษ ตัวแทนแม่มด สัญลักษณ์นำโชคดี ผกก. Rivette ย่อมใช้โอกาสนี้แทนการตัดสินใจของ Frenhofer ฟ้าดลบันดาล มาสเตอร์พีซที่มีสัมผัสเหนือธรรมชาติ

เกร็ด: หลายคนอาจสงสัยว่าวิเชียรมาศมันคือแมวไทยไม่ใช่หรือ? ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจตะวันตก มีการส่งแมวสายพันธุ์นี้ไปเป็นของขวัญ ได้รับความนิยมอย่างสูงจากบรรดาชนชั้นสูง จนมีการปรับปรุงสายพันธุ์ ครองทวีปยุโรปโดยไม่รู้ตัว!

หลังพบเห็นภาพใบหน้าถูกขีดๆคร่าๆ Liz พยายามอดกลั้นความรู้สึก เฝ้ารอคอยเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจาก Frenhofer กลับห้องพัก เธอออกเดินมานั่งหน้าโต๊ะเครื่องแป้ง ส่องกระจก เปลื้องมวยผม นั่นสื่อถึงการกำลังจะปลดปล่อยอารมณ์ พูดระบายทุกสิ่งอย่างอัดอั้นมาตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี

จริงอยู่ว่านี่คือจุดแตกหักระหว่าง Liz กับ Frenhofer (ผมเลือกช็อตที่ถ่ายด้านข้าง พบเห็นหน้าต่าง/เงาสาดส่องเข้ามาปกคลุมรูปภาพของ Frenhofer ราวกับถูกกักขัง สื่อถึงการพลัดพรากแยก) แต่มันก็ไม่ได้ทำลายความสัมพันธ์ใดๆ (เพราะทั้งสองไม่ได้หลงเหลือเยื่อใยต่อกันมานานแล้ว) ต่างฝ่ายเหมือนเฝ้ารอคอยช่วงเวลานี้ เพื่อจะเปิดเผยความรู้สึกภายใน ระบายสิ่งอัดอั้นตันใจ เปลือกภายนอกพังทลาย … แบบเดียวกับวาดภาพ La Belle Noiseuse แม้นางแบบจะคือ Marianne แต่ยังสะท้อนจิตวิญญาณของ Liz ได้ด้วยเช่นกัน

เราสามารถแบ่งการทำงานของ Frenhofer ออกได้เป็น 3 ช่วงเวลา

  • ช่วงแรกๆตั้งแต่ลงมือวาดร่างภาพ จะคอยออกคำสั่ง Marianne ให้ขยับร่างกาย บิดซ้ายบิดขวา บิดหน้าบิดหลัง เดี๋ยวยืนเดี๋ยวนั่ง เพื่อค้นหามุมมองที่สอดคล้องวิสัยทัศน์ตนเอง โดยไม่สนว่าฝ่ายหญิงจะยินยอมพร้อมใจหรือไม่
  • จนเมื่อมาถึงจุดๆหนึ่ง Frenhofer เกิดอาการสมองตื้อตัน (Creative Block) ไม่รู้จะทำอะไรยังไง ครุ่นคิดอยากจะล้มเลิกกลางคัน ก่อนถูกผลักดันโดย Marianne ทำการจัดแจง ปรับเปลี่ยนสถานที่ โยกย้ายโน่นนี่นั่น รวมถึงทำท่าทางต่างๆด้วยตนเอง ชื่นชอบมุมมองไหนก็วาดภาพจากจุดนั้น
  • และขณะนี้ผมมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองต่างร่วมแรงร่วมใจ ร่วมมือกันรังสรรผลงาน Frenhofer ค้นพบมุมมอง/ภาพที่อยากวาด, Marianne ก็ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านขัดขืน ยินยอมพร้อมใจ

ทั้งสามช่วงเวลาการทำงานของ Frenhofer สะท้อนวิวัฒนาการสรรค์สร้างภาพยนตร์ของผกก. Rivette ซึ่งก็สามารถแบ่งออกได้เป็นสามยุคสมัย

  • ยุคแรกๆ Paris Belongs to Us (1960) และ The Nun (1966) รังสรรผลงานเต็มไปด้วยรายละเอียด ‘mise-en-scène’ ทุกสิ่งอย่างจะถูกครุ่นคิด วางแผน ตระเตรียมการมาเป็นอย่างดี นักแสดงไม่ต่างจากหุ่นเชิดชัก จับขยับโน่นนี่นั่นโดยผู้กำกับ
  • L’Amour fou (1969), Out 1 (1971) ทำการละทอดทิ้งรูปแบบการทำงานดั้งเดิม ไม่เอาอีกแล้ว ‘mise-en-scène’ เปลี่ยนมาให้อิสระนักแสดงในการดั้นสด (Improvised) อย่างไร้ขอบเขตจำกัด
  • และตั้งแต่ Celine and Julie Go Boating (1974) ค้นพบจุดร่วมอันเหมาะสมระหว่างผู้กำกับ-นักแสดง ควบคุมอย่างพอเพียง ดั้นสดอย่างเพียงพอ เปิดรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยกันผลักดันโปรเจคไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียม

วินาทีที่ Marianne สอบถาม Frenhofer ว่าวาดภาพเสร็จแล้วใช่ไหม? ตำแหน่งที่เธอหยุดยืน มุมกล้องช็อตแรกดูเหมือนอยู่ “ข้างหลังภาพ” เพื่อสื่อถึงสิ่งที่อยู่ในภาพวาด (ที่ไม่มีการถ่ายให้เห็น) ก็คือตัวตนแท้จริง ภายใต้เนื้อหนัง จิตวิญญาณของเธอเอง!

ส่วนภาพปฏิกิริยา (Reaction Shot) ของ Marianne ขณะพบเห็นภาพวาดดังกล่าว ดูหงุดหงิด ฉุนเฉียว ท่าทางไม่ค่อยชอบใจ สัมผัสได้ถึงอารมณ์เกรี้ยวกราด ภายหลังจะมีคำอธิบายจากปากเธอเอง “A thing which was cold and dry.” และช็อตนี้ยังถ่ายติดภาพร่างด้านหลัง จะมองว่าคือกระจกสะท้อน(ภาพวาด) La Belle Noiseuse ก็ได้กระมัง!

หลังจากพบเห็นภาพวาด La Belle Noiseuse ที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณของ Marianne สร้างความอับอาย รับไม่ได้ ไม่สามารถยินยอมรับความจริงว่าฉันเป็นคนเช่นนั้น จึงพยายามหลบซ่อน กักขังตนเองในห้องน้ำ เปิดก็อกน้ำไหล กล้องถ่ายภาพสะท้อนในกระจก นั่งบนชักโครกอย่างห่อเหี่ยว หมดสิ้นเรี่ยวแรงกาย-ใจ … ภาพดังกล่าวราวกับทำให้เธอสูญเสียจิตวิญญาณตนเอง

ค่ำคืนนั้น Liz แอบย่องเข้ามาเชยชมภาพวาด La Belle Noiseuse จากนั้นทำสัญลักษณ์ไม้กางเขนไว้ข้างหลังภาพ (สัญลักษณ์การเสียสละเพื่อมวลมนุษย์ของพระเยซูคริสต์) นี่สามารถตีความได้ร้อยแปดพันอย่าง จุดจบ ความตาย ผลงานชิ้นสุดท้าย, บางคนมองว่าเป็นประกาศตนของ Liz ว่าฉันคือส่วนหนึ่ง ผู้ยินยอมอดทน อดกลั้น อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพวาดนี้

แต่ทว่า Frenhofer กลับนัดหมาย Magali มาช่วยกันก่ออิฐ โบกปูน เก็บซ่อนภาพวาดไว้ในฝาผนัง ไม่ต้องการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ เพราะมันมีความน่าอับอาย ที่แม้แต่เจ้าตัวก็ยินยอมรับไม่ได้! ถึงอย่างนั้นเขากลับไม่สามารถทำลายผลงานของตนเอง (เพราะมันเป็นภาพวาดที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย จิตวิญญาณ สูญเสียทุกสิ่งอย่าง) หลังฉันลาจากโลกนี้ไป ใครอยากนำไปทำอะไรก็ตามสบาย

บางคนอาจจะเชื่อมโยงสัญลักษณ์ไม้กางเขน (ที่ Liz วาดไว้ข้างหลังภาพ) กับฉากที่ Frenhofer ทิ้งตัวลงนอนเคียงข้างภรรยาในรอบหลายสิบปี! ทั้งสองต่างมีสภาพหมดสิ้นเรี่ยวแรงกาย-ใจ ปลดปล่อยทุกสิ่งอย่างให้กับผลงานมาสเตอร์พีซ ไม่ต่างจากคนตาย ทิ้งตัวลงนอนในสุสาน (ภาพเงาหน้าต่างมีลักษณะคล้ายไม้กางเขน) ก่อนจะฟื้นคืนชีพสู่ความเป็นอมตะนิรันดร์

ปฏิกิริยาของทั้งตัวละคร (โดยเฉพาะ Nicholas) และผู้ชมหลายๆคน คงผิดหวังกับภาพวาด La Belle Noiseuse แม้ไม่ใช่ภาพจริงที่ถูกเก็บซ่อนในผนัง แต่นี่นะหรือที่ฉันอุตส่าห์เฝ้ารอคอยมานานเกือบๆ 4 ชั่วโมง เพียงผืนแผ่นหลังเปลือยเปล่า หน้าอกแผบออกมานิสนึง มันสื่อถึงจิตวิญญาณ ภายใต้เนื้อหนังของ Marianne ยังไงกัน?

ผมเองไม่ได้มีความสามารถในการวิเคราะห์ภาพวาดศิลปะนี้สักเท่าไหร่ แค่พอสังเกตลักษณะกอดรัด เหมือนการบีบอัด ราวกับพยายามยัดเยียดร่างกายใส่(ปลา)กระป๋อง มวลรวมมนุษย์ รูปทรงจิตวิญญาณ

หลังจากรับชมภาพวาด La Belle Noiseuse สมาชิกทั้งหก (Frenhofer, Liz, Marianne, Nicolas, Julienne และ Porbus) ต่างเดินสวนกันไปมา สนทนาสองสามประโยคสั้นๆ (ถ่ายทำในลักษณะ ‘Two Shot’) เพื่อเป็นบทสรุปความสัมพันธ์ระหว่างสองบุคคลนั้นๆ

จริงๆก็มีหลายบทสรุปการสนทนาที่น่าสนใจ แต่ผมขอเลือกเฉพาะภาพสุดท้าย Nicolas บอกกับ Marianne ว่าได้เก็บกระเป๋าเสร็จสรรพ พร้อมแล้วจะเดินทาง ถึงอย่างนั้นเธอกลับพูดคำสุดท้าย สั้นๆง่ายๆ “No” หมายถึงยุติความสัมพันธ์ ฉันไม่อยากถูกบีบบังคับ โดนใครออกคำสั่ง ควบคุมครอบงำอีกต่อไป

ปล. ตำแหน่งที่ Marianne ยืนอยู่ขณะนี้เคียงข้างรูปปั้น Chimera ก่อนหน้านี้อธิบายไปแล้วว่าคือสิ่งมีชีวิตที่ผสมผสานหลายสรรพสัตว์เข้าด้วยกัน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์อะไร ก็เหมือนความสัมพันธ์ระหว่าง Nicolas กับ Marianne ต่างคนต่างมีความสนใจไม่เหมือนกัน แตกต่างตรงกันข้าม จะยังฝืนอาศัยอยู่ร่วมกันทำไม?

ตัดต่อโดย Nicole Lubtchansky ชื่อเดิม Nicole Daujat (1937-2014) สัญชาติฝรั่งเศส ภรรยาตากล้อง William Lubtchansky, ขาประจำของผกก. Rivette ร่วมงานกันตั้งแต่ L’amour fou (1969), Out 1 (1971), Celine and Julie Go Boating (1974), La Belle Noiseuse (1991) ฯ

ด้วยความที่หนังถ่ายทำแบบไล่เรียงลำดับเวลา (Chronological Order) กระบวนการตัดต่อเลยไม่ค่อยยุ่งยาก เพียงนำฟุตเทจมาแปะติดปะต่อ สามารถทำได้เลยหลังเสร็จสิ้นการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งโครงสร้างเรื่องราวก็ยังแบ่งออกเป็นวันๆ พร้อมปรากฎข้อความแทรกคั่น อาทิ

  • Ce jour-là, un lundi de début juillet, entre trois et quatre heures de l’après-midi
    • That day, a Monday in early July, between three and four in the afternoon
  • mais, le lendemain matin
    • but, the next morning
  • avant la prochaine pause, cinq minutes de pause.
    • before the next break, five minutes break.

แต่การแบ่งหนังออกเป็นวันๆ (รวมๆแล้วน่าจะประมาณ 7 วัน) มันมีหลายๆช่วงเวลาที่ไม่ค่อยชัดเจน บางครั้งไม่มีข้อความใดๆปรากฎขึ้นมา ผมจึงขอแบ่งโครงสร้างหนังตามความสนใจดีกว่า!

  • อารัมบทก่อนออกเดินทาง
    • Marianne พยายามเกี้ยวพาราสีแฟนหนุ่ม Nicolas ให้หันมาสนใจตนเองบ้าง
    • การมาถึงของ Porbus นำพา Nicolas และ Marianne ก้าวออกเดินทางสู่คฤหาสถ์ Château d’Assas
  • หนึ่งวันกับ Master Frenhofer
    • พอมาถึงคฤหาสถ์ ได้รับการต้อนรับจากภรรยา Liz พูดคุยทักทาย แนะนำสถานที่ ก่อนออกมานั่งดื่มน้ำตรงสวน
    • การมาถึงของ Frenhofer พูดคุยทักทาย ชักชวนไปที่ห้องทำงาน
    • ระหว่างเดินดูผลงานต่างๆ Frenhofer ก็กล่าวถึงภาพวาดในอุดมคติ La Belle Noiseuse ที่ล้มเลิกความตั้งใจไปนาน
    • รับประทานอาหารเย็น พูดคุยถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับนางแบบ(คนรัก), ก่อนที่ Porbus จะเป็นลมล้มพับ จนไม่มีใครได้กินของหวาน
      • Marianne ช่วยเหลือ Liz เก็บข้าวของ แล้วพูดคุยถึงความสัมพันธ์กับคนรัก(ที่เป็นศิลปิน)
    • กลับมาที่ห้องทำงาน Porbus พยายามโน้มน้าวให้ Frenhofer วาดภาพในอุดมคติ La Belle Noiseuse ก่อนที่ Nicolas จะแนะนำให้เลือก Marianne เป็นนางแบบ
    • ทุกคนต่างแยกย้าย เดินทางกลับ
      • ระหว่างทางกลับ Nicolas อธิบายความต้องการต่อ Marianne
      • Frenhofer พูดคุยกับ Liz ถึงการให้ Marianne มาเป็นนางแบบ
      • ในห้องโรงแรม Marianne แสดงความไม่พึงพอใจที่ถูกบีบบังคับให้เป็นนางแบบเปลือย
  • วันแรกของการวาดภาพ
    • เช้าวันถัดมา Marianne เดินทางมายังคฤหาสถ์ Château d’Assas
    • Frenhofer เริ่มต้นด้วยการร่างภาพในหนังสือ เริ่มจากยังสวมใส่เสื้อผ้า เมื่อถึงจุดๆก็ปลดเปลื้องเปลือยกายครั้งแรก
    • Nicolas เดินทางมาพูดคุยกับ Liz ระหว่างกำลังทำการสตัฟฟ์นก
    • เมื่อการวาดภาพวันแรกเสร็จสิ้นลง Frenhofer จึงนัดหมายวันถัดไป สร้างความประหลาดใจให้กับ Marianne เพราะครุ่นคิดว่าแค่เพียงวันเดียว
    • Liz พูดคุยสั้นๆกับ Marianne โน้มน้าวให้เธอกลับมาในวันถัดไป
    • Marianne แสดงท่าทีไม่ยี่หร่าอะไรกับ Nicolas
  • ความสัมพันธ์อันรุนแรงระหว่างศิลปินกับนางแบบ
    • Frenhofer เริ่มลงมือวาดภาพร่างบนผืนผ้าใบ สลับสับเปลี่ยนมุมมอง ทิศทาง ท่าทางนางแบบ สร้างความปวดเมื่อย อ่อนล้า ทั้งร่างกาย-จิตใจให้กับ Marianne
    • ระหว่างพักเบรค Frenhofer อธิบายความต้องการภาพวาดในอุดมคติ La Belle Noiseuse ให้กับ Marianne จนดูเหมือนเธอเริ่มบังเกิดความเข้าใจบางอย่าง
    • Liz ทำงานสตัฟฟสัตว์กับ Magali (บุตรสาวของแม่บ้าน) เล่าถึงแฟนหนุ่มที่เคยชื่นชอบ
    • Frenhofer เริ่มเกิดความร้อนรน กระวนกระวาย พยายามเลือกท่ายากให้กับ Marianne จนตกอยู่ในความสิ้นหวัง ต้องหยุดพักออกไปสูดอากาศหายใจ
    • Nicolas คุยโทรศัพท์กับน้องสาว Julienne บอกจะเลื่อนวันเดินทางกลับ
  • แรงผลักดันระหว่างศิลปินกับนางแบบ
    • เช้าวันถัดมา Frenhofer มาปลุกตื่น Marianne (หลับนอนในห้องทำงาน) เตรียมที่จะเริ่มวาดรูปอีกครั้ง ก่อนพบเห็น Liz เข้ามาช่วยมองหาภาพวาด แต่เธอก็ไม่รบกวนการทำงานของพวกเขา
    • Frenhofer ดูมีท่าทางเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า วาดภาพได้ไม่นานก็หยุดพัก
    • Nicolas นั่งดื่มน้ำส้มกับ Liz สอบถามเหตุผลที่ Marianne ไม่ยอมกลับห้อง
    • ยามค่ำคืน Frenhofer พยายามมองหามุมมองจากภาพวาด ก่อนแยกย้ายขึ้นไปนอน
    • เช้าวันถัดมา Marianne มาถึงก่อนที่ Frenhofer จะลงจากห้องนอน เลยได้พูดคุยกับ Liz อยู่ชั่วครู่หนึ่ง บอกกับเธอไม่ให้เขาวาดรูปใบหน้า
    • Frenhofer ใกล้ที่จะถอดใจ แต่ทว่า Marianne พยายามผลักดันให้ จัดเตรียมสถานที่ ทำท่าทางด้วยตนเอง
    • ครบสัปดาห์ Porbus เดินทางกลับมาเยี่ยมเยียน Liz แต่ภาพวาดยังไม่เสร็จดี ระหว่างกำลังจะเดินทางกลับ ได้รับการทักทายจาก Julienne (น้องสาวของ Nicolas)
  • ภาพวาดใบหน้าที่ถูกทำลาย
    • และแล้ว Frenhofer ก็ได้พบเจอมุมมองที่ต้องการ แต่ภาพแรกเลือกที่จะวาดทับใบหน้าของ Liz
    • Julienne พูดคุยกับ Nicolas ถึงงานใหม่ของตนเอง
    • ค่ำคืนนี้ Marianne หลับนอนในคฤหาสถ์
    • ขณะที่ Frenhofer ก็ทำงานหามรุ่งหามค่ำ หลับนอนบนโซฟาในห้องทำงาน
    • เช้าวันถัดมา Liz พบเห็นภาพวาดที่ใบหน้าตนเองถูกทำลาย ระบายอารมณ์อัดอั้นภายในออกมา
  • La Belle Noiseuse
    • ระหว่างที่ Frenhofer รังสรรภาพวาดสุดท้าย Liz พูดคุยกับ Julienne ถึงความสัมพันธ์อันเปราะบางของตนเองกับสามี
    • Marianne พบเห็นภาพวาด La Belle Noiseuse แสดงปฏิกิริยาไม่ค่อยพึงพอใจสักเท่าไหร่
    • Liz พบเห็นภาพวาด La Belle Noiseuse แล้วทำสัญลักษณ์ไว้เบื้องหลัง
    • ดึกดื่น Frenhofer ขอความช่วยเหลือ Magali (บุตรสาวแม่บ้าน) ช่วยกันก่ออิฐ เทปูน เก็บซ่อนภาพวาดดังกล่าว
    • จากนั้นลงมือวาดอีกภาพ เสร็จแล้วกลับไปนอนเคียงข้างภรรยา
  • ปัจฉิมบท
    • เช้าวันถัดมา ทุกคนได้เชยชม(อีก)ภาพวาด La Belle Noiseuse
    • พอเดินลงจากสตูดิโอ ก็มีจัดเลี้ยงอาหารเล็กๆ
    • ร้อยเรียง ‘Two Shot’ สลับคู่สนทนากันไปมา

นอกจาก Opening & Closing Credit และบทเพลงได้ยินจากวิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง (มีสองบทเพลง Agon และ Petrouchka ประพันธ์โดย Igor Stravinsky) หนังไม่มีการใช้เพลงประกอบอื่นใด แต่จะไปโดดเด่นกับการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) โดยเฉพาะระหว่างขีดๆเขียนๆ ร่างภาพลงกระดาษ พู่กันจรดผืนผ้าใบ มีความดังกว่าปกติมากๆ เพื่อให้ผู้ชมใจจดใจจ่ออยู่กับภาพวาด สัมผัสบรรยากาศระหว่างศิลปินสรรค์สร้างงานศิลปะ


คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยให้ความสนใจสิ่งที่อยู่ “ข้างหลังภาพ” กว่าจะกลายมาเป็นงานศิลปะ ภาพยนตร์ บทความวิจารณ์ชิ้นหนึ่ง มันมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกาย ต่อสู้กับความขัดแย้งภายใน (อารมณ์เกียจคร้าน, ฉันไม่ดีพอ, โหยหาความสมบูรณ์แบบ ฯ) ทั้งยังแบกรับเสียงวิพากย์วิจารณ์ ความคิดเห็นต่าง การโต้ตอบของสังคมที่มักบ่อนทำลายความมุ่งมั่นตั้งใจของศิลปินผู้สร้าง

La Belle Noiseuse (1991) นำเสนอเบื้องหลัง ความครุ่นคิด วิธีการทำงานของศิลปิน จิตรกรสรรค์สร้างผลงานศิลปะ ภาพวาดที่สามารถสะท้อนจิตวิญญาณของนางแบบ พบเห็นแล้วสัมผัสถึงอุปนิสัยใจคอ ธาตุแท้ตัวตน ไม่ใช่แค่เปลือยร่างกาย แต่ยังเปลือยจิตใจ เปิดเผยสิ่งที่อยู่ภายใต้เนื้อหนังออกมา!

สาเหตุที่ Master Frenhofer ไม่วาดภาพภรรยา Liz ไม่ใช่วาดไม่ได้ แต่รับรู้ตัวว่าถ้าวาดแล้วจักบ่อนทำลายความสัมพันธ์ทุกสิ่งอย่าง! แม้ขณะนั้นแทบไม่หลงเหลือความรัก ความรู้สึกใดๆต่อกัน แต่ความที่ทั้งสองพึ่งพาอาศัย อยู่ร่วมกันมานาน จึงไม่อยากตัดขาดเยื่อใยบางๆ ฟางเส้นสุดท้ายหลงเหลืออยู่

แต่การวาดภาพ La Belle Noiseuse กับนางแบบคนใหม่ Marianne เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเขาก็เรียนรู้ว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องตัดขาด ทำลายความสัมพันธ์กับ Liz ด้วยการวาดแบบทับ ทำลายใบหน้าของเธอ แน่นอนย่อมต้องสร้างความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจ ถึงอย่างนั้นหลังจาก Master Frenhofer รังสรรผลงานมาสเตอร์พีซได้สำเร็จ ความขัดแย้งทุกอย่างพลันมลายหายไป ราวกับตายแล้วเกิดใหม่ สิ่งพานผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป

นี่แสดงให้เห็นว่า แม้เรื่องราวหลักๆจะเกี่ยวกับการรังสรรค์สร้างผลงานศิลปะ แต่ขณะเดียวกันยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน (Frenhofer) กับนางแบบ (Marianne) และภรรยา (Liz) ดูราวกับรักสามเส้า เลิกราคนเก่า สานสัมพันธ์คนใหม่ (แต่ในเชิง Professional ไม่ใช่การคบชู้นอกใจ) หรือจะเปรียบเทียบผลงานศิลปะ = บุตรที่คลอดออกมาระหว่างศิลปิน+นางแบบ ก็ได้กระมัง

ความสัมพันธ์ระหว่าง Frenhofer กับ Liz ยังคือภาพสะท้อน “สูตรสอง” ตามสไตล์ถนัดของผกก. Reviette กับเรื่องราวของศิลปินหนุ่ม Nicolas และแฟนสาว Marianne

  • ขณะที่คู่สูงวัย อยู่กันมานาน แม้ไม่หลงเหลือความรัก แต่ทว่า Liz กลับยินยอมอดกลั้นฝืน ทนทุกข์ทรมาน เชื่อว่าหลังตอนจบก็ยังคงอยู่เคียงข้างตราบจนวันตาย
  • ตรงกันข้ามกับคู่หนุ่มสาว อยู่กันมาแค่สามปี กลับแทบไม่หลงเหลือเยื่อใยความรัก มีเรื่องขัดแย้งไม่เว้นวัน เชื่อว่าตอนจบคงถึงเวลาแยกย้าย หนทางใครก็ทางมัน

และเราสามารถเปรียบเทียบตรงๆถึง Master Frenhofer = ผกก. Rivette ตั้งแต่เด็กหลงใหลการวาดรูป เคยอยากเป็นจิตรกร ก่อนผันตัวสู่วงการภาพยนตร์ อีกทั้งยังสะท้อนความสัมพันธ์กับภรรยาคนแรก Marilù Parolini แม้เลิกราหย่าร้างกันมานาน แต่ยังคงอยู่เคียงข้าง ‘professional relationship’ ให้ความช่วยเหลือ ร่วมงานภาพยนตร์อีกหลายครั้ง … La Belle Noiseuse (1991) จึงถือเป็นผลงานที่มีความเป็นส่วนตัว ‘Personal Film’ ตั้งใจทำออกมาให้ยอดเยี่ยม กลายเป็นมาสเตอร์พีซ!

ปล. Out 1 (1971) และ Celine and Julie Go Boating (1974) ถือเป็นภาพยนตร์ระดับมาสเตอร์พีซในมุมมองผู้ชม นักวิจารณ์ ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา! แต่สำหรับผกก. Rivette สรรค์สร้าง La Belle Noiseuse (1991) มีความใกล้ตัว ใกล้หัวใจ ให้เป็นผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของตนเอง

การเขียนบทความวิจารณ์ใน raremeat.blog ทำให้ผมพานผ่านหลากหลายสภาวะทางอารมณ์ (คล้ายๆ Five Stages of Grief ปฏิเสธ โกรธ ต่อรอง ซึมเศร้าและยอมรับ) ประกอบด้วย

  • เริ่มต้นด้วยความมุ่งมั่น กระตือลือรือล้น (Enthusiastic) เต็มไปด้วยความเชื่อว่าฉันจักสามารถรังสรรผลงานออกมาได้ดี
  • พอทำงานไปได้สักพักเริ่มเกิดความหวาดหวั่น กดดัน วิตกกังวล (Anxious) สิ่งที่ฉันทำอยู่นี้ ดีเพียงพอหรือไม่ พยายามนำไปเปรียบเทียบผลงานของใครอื่น
  • เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเกิดอาการเคร่งเครียด สมองตื้อตัน หวาดกลัว (Fear) จนสูญเสียความเชื่อมั่น อยากเลิกรา ละทอดทิ้ง ไม่เอาอีกแล้ว ทำไปก็อับอายขายขี้หน้า
  • ค่อยๆยินยอมรับสภาพเป็นจริง (Acceptance) ทำได้แค่ไหนแค่นั้น สุดความสามารถเท่านี้ ทำดีที่สุดแล้ว อะไรจะเกิดก็เกิด ผลลัพท์ดีแย่แค่ไหนก็ต้องยอมรับโชคชะตา
  • ถ้าผลลัพท์ออกมาดีก็บังเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง (Pride & Pround) แต่กรณีเสียงตอบรับย่ำแย่ก็มักปฏิเสธต่อต้าน กล่าวโทษโน่นนี่นั่น (Deny & Anger)

ขอเรียกว่า “Five Stages of Creation Emotional” นำจากประสบการณ์ส่วนตัวในการทำ raremeat.blog ลองนำไปเปรียบเทียบกับสภาวะทางอารมณ์ของ Master Frenhofer ระหว่างสรรค์สร้างผลงานศิลปะ ก็จะพบว่าไม่ได้แตกต่างกันมากนัก พอตระหนักได้เช่นนี้ นี่คือวินาทีที่ La Belle Noiseuse (1991) กลายเป็นหนังโปรดเรื่องใหม่ของผมโดยพลัน!


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่าดีล้นหลาม สามารถคว้ามาสองรางวัล พลาด Palme d’Or ให้กับ Barton Fink (1991) ของสองพี่น้อง Joel & Ethan Coen

  • Grand Prix (ที่สอง)
  • Ecumenical Jury – Special Mention เคียงข้างกับ Jungle Fever (1991) ของ Spike Lee

ช่วงปลายปียังได้เข้าชิง César Awards จำนวน 5 สาขา น่าเสียดายไม่ได้สักรางวัลเดียว

  • Best Film พ่ายให้กับ Tous les matins du monde (1991) ของ Alain Corneau
  • Best Director
  • Best Actor (Michel Piccoli)
  • Best Actress (Emmanuelle Béart)
  • Best Supporting Actress (Jane Birkin)

ปัจจุบัน หนังได้รับการบูรณะ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Cohen Media และยังมี Potemkine (ฝรั่งเศส), Happinet (ญี่ปุ่น) ฯ

เกร็ด: La Belle Noiseuse (1991) ติดหนึ่งในร้อยภาพยนตร์เรื่องโปรดของปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa ซึ่งผลงานในช่วงทศวรรษ 90s มีเพียงสองเรื่องเท่านั้น (อีกเรื่องคือ Hanabi (1997) ของ Takeshi Kitano)

ตอนเขียนบทความก่อน ผมยังไม่ถึงขั้นโปรดปราน Le Belle Noiseuse (1991) เพียงภาพยนตร์ที่รังสรรผลงานศิลปะอันน่าหลงใหล แต่การรับชมคราวนี้ทำให้ค้นพบความสัมพันธ์กับตนเอง เข้าใจหัวอกทั้งศิลปินและนางแบบสาว เจ็บปวด อัดอั้น เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด นี่ฉันยินยอมมาเป็นนางแบบทำไม? นี่ฉันจะวาดภาพมาสเตอร์พีซนี้ไปเพื่ออะไร? นี่ฉันจะเขียนบทความวิจารณ์ได้อีกนานแค่ไหน?

ถึงผมไม่ได้มีความเชี่ยวชำนาญภาพวาด งานจิตรกรรม แต่เพราะสามารถเข้าถึงภาพยนตร์ชั้นสูง มันจึงเพียงพอทำความเข้าใจศิลปะแขนงอื่นๆ พบเห็นคุณค่า ความงดงาม แค่อาจจะไม่ลึกซึ้งในรายละเอียดเฉพาะทาง … นั่นถือเป็นความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ศิลปะที่ต้องเรียกว่าครอบจักรวาล!

ในแง่ของนวัตกรรม ความแปลกใหม่ ท้าทายขนบกฎกรอบ ขอบเขตจำกัด Le Belle Noiseuse (1991) จึงมิอาจเทียบได้กับ Out 1 (1971) หรือ Céline and Julie Go Boating (1974) แต่ส่วนตัวกลับมองว่านี่คือผลงานสำแดงธาตุแท้ ตัวตน ความเป็นศิลปิน/จิตรกรของผกก. Rivette ออกมาได้สมบูรณ์แบบที่สุด … น่าเสียดายที่มันไม่ใช่ผลงานเรื่องสุดท้ายจริงๆ

จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย ความสัมพันธ์อันรุนแรงระหว่างศิลปินกับนางแบบ และงานศิลปะ

คำโปรย | La Belle Noiseuse ภาพวาดมาสเตอร์พีซของผู้กำกับ Jacques Rivette
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว |


 La Belle Noiseuse

La Belle Noiseuse (1991) French : Jacques Rivette ♥♥♥♥◊

(12/5/2016) หนังเรต 18+ การันตีด้วยรางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เรื่องราวของนักวาดรูปเปลือย (Nude) ที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงาน masterpiece ชื่อ La Belle Noiseuse เมื่อเขาได้พบหญิงสาวที่ยอมเป็นนางแบบให้ กระบวนการวาดภาพทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบจึงเริ่มขึ้น

อย่าตัดสินหน้าหนังเมื่อเห็น 18+ ปุ๊ปแล้วคิดว่ามันต้องเป็นหนังแบบนั้นแน่ๆ นี่เป็นหนังที่ได้ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes และได้รางวัลที่ 2 (Grand Prix) เป็นรองเพียง Palme d’Or เท่านั้นนะครับ แสดงว่าถึงมันจะ 18+ แต่ก็ต้องมีอะไรดีแน่ๆ ถึงได้รับคำชมขนาดนี้

ตอนที่ผมค้นหาหนังแนว Painter ก็ไปสะดุดตากับโปสเตอร์หนังเข้า แค่เห็นก็รู้ได้เลยว่าต้อง 18+ เกี่ยวกับวาดรูป ต้องเป็นภาพ Nude นางแบบเปลือยทั้งเรื่องแน่ๆ หน้าหนังแบบนี้ยังกับหนังเกรด B ที่ไม่น่าจะมีคุณภาพเท่าไหร่ แต่ไฉนคะแนน IMDB กลับค่อนข้างสูง (7.8) เว็บมะเขือเน่าให้ 100% -23 รีวิว เอาว่ะ! ต้องลองสักหน่อย พอโหลดเสร็จเช็คความยาว 237 นาที เกือบๆ 4 ชั่วโมง แม่จ้าว … จะไหวไหมนี่, อย่าตัดสินหนังว่าไม่ดีจนกว่าจะดูจบนะครับ ผมดูหนังเรื่องนี้ผ่านชั่วโมงแรกก็พอมีความสวยงามอยู่บ้าง แต่ยังจับประเด็นอะไรไม่ได้ และความช้าของมันทำเอาผมเกือบจะยอมแพ้ พอกระทั่งได้ยินคำว่า La Belle Noiseuse ภาพวาดนู้ดที่ตั้งใจให้เป็น masterpiece กำลังใจเริ่มมา ยังทนดูต่อไปได้อีกนิด แต่พอเริ่มจะวาดรูปเท่านั้นละ เห้ย! นี่หนังมันจะถ่ายให้เราเห็นกระบวนการวาดภาพตั้งแต่ต้นจนจบไม่มีตัดเลยเหรอ … ใช่ครับ นี่คือเหตุผลที่หนังยาว 4 ชั่วโมง ประมาณสักกลางเรื่องผมก็สลบไสล สิ้นสติสมประดี ยอมแพ้ไปเรียบร้อย

ผมไปหาอ่านบทวิจารณ์หนัง พบว่า Roger Ebert จัดหนังเรื่องนี้ให้เป็น Great Movie ก็แปลกใจมากๆ เพราะถึงระดับ Ebert บอกว่าเป็นหนังยอดเยี่ยม แสดงว่าต้องมีอะไรดีแน่ๆ มีคำพูดประโยคหนึ่งของ Ebert ที่ทำให้ผมฝืนใจกลับไปทนดูต่อ ขณะดูหนังผมร่วมรับความทรมานจากการต่อสู้ระหว่างนางแบบกับนักวาด ผลลัพท์มันเกินความคาดหมาย “I have shared that combat and that bond in that studio, and its devastating outcome.”, ความทรมานในการดูหนังเรื่องนี้ อยู่ในระดับที่ “ข้ามๆไปบ้างก็ได้ ไม่ได้อยากรู้ทั้งหมด” มันมีหนังเวอร์ชั่นที่ผู้กำกับ Jacques Rivette ตัดต่อเหลือความยาว 125 นาทีเพื่อฉายในอเมริกา ใช้ชื่อ La Belle Noiseuse: Divertimento ถ้าคิดว่าทนไม่ไหวจริงๆหนีไปดูเวอร์ชั่นนั้นก็ได้ แต่ผมต้องบอกไว้เลยว่า เวอร์ชั่น 4 ชั่วโมงนี่สุดยอดจริงๆครับ ทนมันไปเถอะครับคุ้มค่าแน่นอนๆ เพราะเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ที่คุณเริ่มเคยชินกับการวาดภาพและนางแบบที่โป๊เปลือย อะไรๆก็จะเร็วขึ้น มีประเด็นหลายอย่างน่าสนใจ ไปๆมาๆจะรู้สึกไม่อยากให้วาดภาพเสร็จ ไม่อยากให้หนังจบ ครั้งล่าสุดที่ผมรู้สึกแบบนี้ คือตอนดู Andrei Rublev (1966) ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวกับ painter เหมือนกันด้วยสิ

Jacques Rivette หนึ่งในผู้กำกับยุค French New Wave ก่อนเป็นผู้กำกับเคยเป็นนักวิจารณ์มาก่อน ได้แรงบันดาลใจในการเป็นผู้กำกับจาก Jean Cocteau (La Belle Et La Bête – 1946) สไตล์ของเขาคือโคตร long-take ว่าไปน่าจะยาวกว่า Andrei Tarkovsky แต่ไม่รู้ถึง Béla Tarr หรือเปล่านะ (ผมยังไม่หาญกล้าพอดูหนังของ Béla Tarr นะครับ) หนังเรื่อง Out 1 (1971) ความยาว 773 นาที (12 ชั่วโมงกว่าๆ) มีคนถาม Rivette ว่าทำไมหนังของเขาถึงยาวจัง ตอบว่าบางทีมันก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องลากเรื่องไปยาวๆ เพื่อตอนกลับจะได้สั้นๆ “Sometimes it is necessary to go a very long distance out of your way in order to come back a short distance correctly”

La Belle Noiseuse ดัดแปลงจากเรื่องสั้นชื่อ Le Chef-d’œuvre inconnu (The Unknown Masterpiece) ของ Honoré de Balzac ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ L’Artiste เมื่อสิงหาคม 1831 ครั้งแรกใช้ชื่อ Maître Frenhofer (Master Frenhofer) เป็นเรื่องราวของ Nicolas Poussin (หนึ่งในนักวาดภาพชื่อดังแห่งยุค) กับอาจารย์ Frenhofer ที่เป็นนักวาดภาพชื่อดัง ได้ไปเยี่ยมเยือน Frans Pourbus ที่เพิ่งวาดภาพ Mary of Egypt เสร็จ Frenhofer ได้วิจารณ์ภาพวาด โดยรู้สึกว่ายังเหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไป ทำให้เขานึกถึง La Belle Noiseuse ที่เขาวาดภาพในหัวไว้เมื่อ 10 ปีก่อนแล้วแต่ยังไม่สามารถวาดออกมาได้ Poussin จึงเสนอให้ Gillette แฟนสาวของเขาเป็นนางแบบให้ ตอนจบเมื่อ Poussin กับ Pourbus ได้เห็นภาพวาดก็เกิดความผิดหวัง ทำให้ Frenhofer เกิดความบ้าคลั่ง ทำลายรูปภาพและเสียชีวิตในคืนนั้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องแต่งนะครับ Frenhofer ไม่ได้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ตัวละครอื่นมีจริง Nicolas Poussin และ Frans Pourbus เป็นนักวาดภาพชื่อดังแห่งยุค มีนักวิเคราะห์มองว่า Frenhofer มีความใกล้เคียงกับ Paul Cézanne นักวาดภาพที่ Matisse และ Picasso ขนานนามให้ว่า “is the father of us all.” ซึ่งครั้งหนึ่งเห็นว่า Cézanne เคยมีความพยายามวาดภาพเปลือย แต่ไม่มีหลักฐานอะไรเหลือไว้, ครั้งหนึ่ง Picasso ได้อ่านเรื่องสั้นนี้แล้วมีความชื่นชอบ Frenhofer อย่างมาก เขาย้ายไปอยู่ Grands-Augustins ใน Paris ที่ซึ่งสถานที่ที่ทำงานของ Porbus ตั้งอยู่ ซึ่งเขาก็ได้วาดภาพ Masterpiece ขึ้นชื่อ Guernica (ลองไปค้นหาดูภาพนี้ใน google เอาเองนะครับ)

Le Belle Noiseuse แปลว่า The Beautiful Nuisance ความสวยงามที่น่ารำคาญใจ หรือความสวยงามที่อยู่ข้างในจิตใจ ในหนัง Noiseuse เป็นคำที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโสเภณีชื่อ Catherine Lescault ซึ่งมีแซวกันเล่นๆว่า Noiseuse มาจาก Noise, Nuts

นำแสดงโดย Michel Piccoli หนึ่งในนักแสดงโคตรสำคัญของฝรั่งเศส ปัจจุบัน (2016) อายุ 90 แล้วยังมีชีวิตอยู่ หนังดังๆของปู่อาทิ Le Mépris (1963) ของ Jean-Luc Godard, Topaz (1969) ของ Alfred Hitchcock, A Leap in the Dark (1980) ทำให้ได้ Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, Strange Affair (1981) ทำให้ได้ Silver Bear for Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, กับบท Frenhofer ตาแก่เฟอะฟ่ะ ตัณหากลับ ถึงภายนอกจะดูเงอะงะยังไง แต่เวลาวาดภาพ คนที่ดูภาพวาดไม่เป็น (อย่างผม) ยังรู้สึกได้ว่า มันยอดเยี่ยมจริงๆ สายตาของเขาดูเหมือนผ่านโลกมามาก มีช่วงหนึ่งที่คนดูคงสงสัยว่า หมอนี่มัน master จริงหรือเปล่า แต่ดูคนอย่าดูแค่ที่หน้านะครับ มันต้องดูข้างใน, ฉากที่ต้องเห็นมือวาดภาพ ใช้บริการของ Bernard Dufour นักวาดภาพ erotic ชื่อดังของฝรั่งเศส

Emmanuelle Béart แปลกนะครับ ปกติผู้หญิงที่เปลือยตัวในระดับสุดๆแบบนี้ มักจะถูกตั้งข้อครหาจนเสื่อมเสีย ความนิยมก็จะลดต่ำลงเรื่อยๆจนกลายเป็นดาวดับแสง แต่ไม่ใช่กับ Béart หลังจากหนังเรื่องนี้เธอกลับยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ บางคนอาจจะจำได้ จาก Mission: Impossible (1996), เราจะเห็นพัฒนาการของตัวละครนี้ขึ้นเรื่อยๆ จากทีตอนแรกๆต่อต้านและทำไปเพื่อประชดแฟนหนุ่ม จากนั้นก็เริ่มเปิดใจรับ (แฟนหนุ่มเริ่มกลายเป็นตัวประกอบ) ภายหลังเธอเริ่มเข้าใจ มีความสมัครใจ สุดท้ายเพื่อให้ได้ที่สุดออกมา เธอผลักดัน Frenhofer ที่เกือบจะยอมแพ้แล้วให้กลับมาสร้างผลงานให้สำเร็จ, ตอนที่เธอเปลือยครั้งแรก ผมรู้สึกรูปร่างเธอดูแปลกๆ ดูไม่สมส่วนเท่าไหร่ แต่พอการวาดดำเนินไปเรื่อยๆ มันมีบางมุมที่ดูดี ยิ่งตอนท้ายๆที่พอเธอเปิดใจรับความทรมานแล้ว หุ่นเธอจะดูดีมากๆ ไม่รู้ผมคิดไปเองหรือเปล่า

แรกๆเราอาจจะตื่นเต้นที่เห็นหญิงสาวสวยเปลือยกายในหนัง แต่พอเห็นดูไปเรื่อยๆ จะเริ่มเคยชิน จากนั้นก็จะเริ่มเบื่อและทรมาน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจะรู้สึกอึดอัด ถ้าทนต่อไปอีกนิดก็จะเริ่มเข้าใจว่าการจะสร้างงานศิลปะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะภาพเหมือน (portrait) ทั้งคนวาดและต้นแบบ ถ้าต้องการให้ได้ภาพที่เป็นที่สุดจริงๆ ไม่รู้ต้องวาดกี่ภาพ กี่มุม ลองผิดลองถูกกี่ครั้งถึงจะวาดสำเร็จ ต้นแบบก็ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ถ้าแค่นั่งเฉยๆก็คงไม่อะไรหรอก แต่ต้องบิดไปมาแบบแล้วค้างไว้นี่สิ ตะคริว แขนขาชา หายใจไม่ออก (สมัยก่อนเห็นว่าจับมัดต้นแบบไม่ให้ดิ้นหรือเคลื่อนไหวเลย-โคตร sadist) บุหรี่สักมวนยังไม่ได้รับอนุญาติให้สูบ ทำเอาคนดูทรมานไปด้วย ใครดูหนังเรื่องนี้แล้วเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเป็นนางแบบ นายแบบวาดรูปเป็นแน่

ถ่ายภาพโดย William Lubtchansky สวยงามมากๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนกล้องที่มีความลื่นไหล ตัดต่อโดย Nicole Lubtchansky (สองคนนี้เคยแต่งงานกันและหย่ากัน) ซึ่งสามารถรับส่งแต่ละฉากได้เข้าขากันมากๆ (ตอนนั้นสงสัยยังเป็นสามีภรรยากันอยู่) สำหรับฉากที่มีการตั้งกล้องไว้เฉยๆ มีเลือกมุมได้น่าสนใจมากๆ ในบางครั้งเราจะเห็นแต่มือที่กำลังวาดรูป (ถ่ายข้ามไหล่), บางครั้งเราจะเห็นแต่คนวาด ไม่เห็นรูป, บางครั้งเห็นทั้งนางแบบและภาพที่กำลังวาด, และหลายครั้งเห็นอาการบิดไปบิดมาของนางแบบที่อดทนอดกลั้นต่อความเจ็บปวด

หนังเรื่องนี้ไม่ถือว่ามีเพลงประกอบนะครับ เพราะใช้การเรื่องราวดำเนินแบบสมจริง Realistic เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นต่อเนื่องประมาณ 4-5 วัน มีตัดสลับเหตุการณ์บ้าง แต่ไม่มีช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน เพลงประกอบจะได้ยินเพลงเฉพาะที่เปิดจากวิทยุ หรือตัวละครร้องฮัมขึ้นมาเท่านั้น, Sound Effect นี่สิจัดเต็ม เสียงคอแร้งกรีดกระดาษ, พู่กันลงสี, ชอล์ก ถ่านขูดกระดาษ ฯ Sound Effect ดังชัดกว่าเสียงพูดคุยอีก นั่นเพราะผู้กำกับต้องการให้ผู้ชมได้สัมผัสกับการสร้างงานศิลปะ ภาพวาดอย่างเต็มที่ ไม่มีเสียงรบกวนอื่นเลย

Frenhofer วาดอะไร? ปกติแล้วการดูภาพวาดดังๆ มันจะมีใจความบางอย่างให้เราศึกษาเข้าใจได้ เช่น ภาพนี้มีแรงบันดาลใจอะไร สร้างขึ้นที่ไหน แสดงความรู้สึกยังไง การใช้เส้น ปากกา สี ประเภทกระดาษ ฯ เพื่ออะไร และสไตล์ของนักวาดมีลักษณะใด, ส่วนตัวผมสามารถวิเคราะห์สไตล์ของนักวาดภาพดังๆหลายคนได้ อาทิ Van Gogh, Picasso ฯ แต่กับ Frenhofer ถ้าเอาภาพมาให้ผมดูเลยก็คงส่ายหัว ไม่เข้าใจว่าใจความของภาพคืออะไร แต่หนังเรื่องนี้มีการอธิบายออกมาเป็นคำพูดให้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องศิลปะเลยสามารถเข้าใจได้ นี่เจ๋งมากๆ, ภาพวาด La Belle Noiseuse นั้นมีภาพเดียวเท่านั้น ทุกครั้งที่วาดภาพหนึ่งเสร็จ Frenhofer จะมีความรู้สึกว่า ตนสามารถทำได้ดียิ่งกว่านี้ เขาจึงพัฒนาฝีมือ รับความเสี่ยงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงภาพสุดท้าย นั่นคือ La Belle Noiseuse ที่แท้จริง (ภาพที่ถูกเทปูนทับไป) ภาพวาดนับสิบก่อนหน้านั้น ไม่ถือว่าเป็น La Belle Noiseuse นะครับ ผมก็ไม่รู้ในภาษาของเด็กศิลป์เขาเรียกว่าอะไร มันคงเป็นการทดลองวาด ลองผิดลองถูก ฯ ในหนังเราจะเห็นพัฒนาการของ Frenhofer เริ่มจากวาดภาพในสมุด ใช้คอแร้งจิ้มหมึกดำ จากนั้นก็เริ่มวาดในกระดาษ ใช้พู่กัน ใช้ชอล์ก ใช้ถ่าน ใช้สี ใช้น้ำมัน ฯลฯ สำหรับนางแบบ ท่าที่เป็นแบบแรกๆก็ยังดูธรรมดา เป็นธรรมชาติ จากนั้นก็เริ่มบิดซ้ายขวา ต้องแน่น ต้องรัด สิ่งที่ต้องการอยู่ภายใต้เนื้อหนัง โครงกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นเอ็น ฯ นี่คือใจความของภาพวาดและเป็นใจความของหนังด้วยนะครับ สิ่งที่เราเห็นด้วยตา มันอาจสวยงาม แต่สิ่งที่อยู่ข้างในมันคือความลึกซึ้ง

เหตุที่ La Belle Noiseuse ถือว่าเป็น Masterpiece เพราะมันวาดภาพออกมาจากข้างใน ไม่ใช่ภายนอกของนางแบบ ซึ่งภาพเป็นยังไงไม่มีใครรู้ หนังมีแค่คำอธิบายว่า “A thing was Cold and Dry” เราไม่ได้เห็นอะไรเลย (ทำเป็น MacGuffin ไปเสียงั้น) แต่การไม่เห็นภาพ ทำให้ผมรู้สึกว่ามันทำให้หนังกลายเป็น Masterpiece ไปเลย เพราะมันกลับกัน รูป La Belle Noiseuse ต้องใช้ใจมอง ใจเราเห็นหรือเปล่า ถ้าใจไม่เห็น ตาก็ไม่เห็นนะครับ

การที่ตัวละครของ Emmanuelle Béart เกิดความกลัว เพราะภาพวาดนั้นมันคือสิ่งที่อยู่ข้างใน เป็นตัวตนของเธอจริงๆ นี่ทำให้ผมเข้าใจเหตุผลที่ Frenhofer ไม่อยากวาดภาพของแฟนสาวตัวเองเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะถ้าเขาวาดสำเร็จ ภาพวาดนั้นจะเป็นเหมือนกับภาพนี้ที่แสดงข้างในจิตใจของแฟนสาวเขาออกมา มันอาจทำให้เขาไม่สามารถรักเธอได้อีก เพราะต้องเลือกระหว่างจะรักเธอหรือรักภาพนี้มากกว่า (ทั้งสองภาพคือตัวตนของคนๆเดียวกัน) ซึ่งตอนนั้น Frenhofer เลือกรักเธอมากกว่าที่จะวาดภาพข้างในเธอออกมา, การได้คนอื่นมาเป็นแบบให้ มันทำให้ Frenhofer ไม่ต้องวิตกว่าภาพที่ออกมามันจะทำลายจิตใจของใคร กระนั้นมันก็ทำร้ายจิตใจของนางแบบอยู่ดี นี่น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยที่ว่าทำไมถึงห้ามวาดหน้า ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ว่าภาพ La Belle Noiseuse อาจจะมีใบหน้าของเธอวาดอยู่ด้วย ซึ่งใครก็ตามที่เห็นจะรู้ว่า นี่เป็นรูปวาดของใคร และภาพมันสื่อถึงจิตใจข้างในตัวตนของเธอว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้าเป็นโครงร่างเฉยๆ (แบบภาพที่เห็นในตอนจบ) เธอคงไม่เกิดความกลัวขนาดนั้น

ภาพวาดที่เราเห็นตอนสุดท้ายมันคืออะไรกัน ผมรู้สึกเหมือนโดนประชดนะครับ เพราะมันคือภาพเปลือย จริงๆ ไม่มีหัว ไม่มีแขน ไม่มีขา ไม่มีตัวตน เป็นเนื้อ หนัง มัง สา แท้ๆ ไม่มีใจความอะไรอยู่ข้างในเลย ตอนผมเห็นร้องออกมาว่า อะไรฟร่ะ! นี่หรือคือ masterpiece ผมไม่สามารถอธิบายความหมายของภาพนี้ เพราะไม่เข้าใจว่ามัน masterpiece ยังไง ใครบอกได้ช่วยไขให้ผมกระจ่างทีนะครับ

คนจะดูหนังเรื่องนี้ได้ต้องใจเย็นพอสมควร มีเวลา ให้โอกาส และเปิดใจให้กว้าง ผมเองบอกตามตรงไม่คิดว่าหนังจะยอดเยี่ยมได้ขนาดนี้ ตอน Andrei Rublev ก็เช่นกัน ผมเกือบจะหยุดดูตั้งแต่เรื่องที่ 2 แต่พอถึงเรื่องที่ 3 มันมีอะไรบางอย่างที่ดึงผมเอาไว้ ลากยาวไปถึงตอนจบก็แบบว่า อ้าปากค้าง พูดไม่ออก หนังมันสุดยอดไปเลย!!! หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้มีตอนจบที่ถึงขนาดนั้น แต่ใจความหลายๆอย่างมันเก็บสะสมมาเรื่อยๆ ถ้าเผลอกดข้ามเมื่อไหร่จะพลาดอะไรสำคัญๆบางอย่างไป ถ้าคุณสามารถทนได้ก็ทนไปเลยครับ 4 ชั่วโมง ครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งเมื่อผ่านครั้งแรกไปเชื่อว่าต้องมีรอบ 2-3 ต่อแน่นอน

ผมไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการวาดรูปเลยนะครับ ดูตอนเขาวาดรูปก็ไม่ได้เข้าใจอะไร ไม่รู้ว่าเทคนิคพวกนี้คืออะไร ทำเพื่ออะไร มีประโยชน์อะไร แต่ผมสามารถเข้าใจจุดมุ่งหมายของศิลปิน เข้าใจภาพวาดนี้ได้เพราะหนังมีการนำเสนอที่ยอดเยี่ยมมากๆ ผมดูภาพเปลือยไม่เป็น ดูหนังจบก็ยังดูไม่เป็น แต่ก็พอเข้าใจศาสตร์และศิลป์ประเภทนี้ ความสวยงามของมันไม่ใช่แค่เปลือกนอก แต่คือสิ่งที่อยู่ข้างใน เมื่อใดที่มีคนสามารถนำเสนอออกมาข้างนอกได้ นั่นแหละครับที่เรียกว่า Masterpiece

หนังเรื่องนี้ 18+ แน่นอน แต่แค่เรต R พอนะครับ ไม่ถึงกับ NC-17 เพราะมันไม่ได้มีฉากรุนแรงอะไร แค่โป๊เปลือย ดูแล้วไม่น่าเกิดอารมณ์อะไร (ในฝรั่งเศสจัดเรต 15+ เท่านั้น) แนะนำกับเด็กสถาปัตย์ เรียนศิลป์ นักวาดรูปทั้งหลาย นี่เป็นหนังที่ “ต้องดู” เลย สำหรับคนชอบหนังดีๆ ใช้ความอดทนสักหน่อยคุณต้องชอบหนังเรื่องแน่ ไม่แนะนำกับพวกมือถือสาก และนักดูหนังรุ่นใหม่ที่ปากคาบสายสินธุ์แต่ใจคิดอย่างอื่น

TAGLINE | “La Belle Noiseuse โดยผู้กำกับ Jacques Rivette ใจความของภาพเปลือยไม่ได้อยู่ที่เนื้อหนังภายนอก แต่อยู่ในกระดูก เส้นเอ็น ลึกเข้าไปในจิตใจของคน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE 

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Best of Painter & Artist Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…]  La Belle Noiseuse (1991)  : Jacques Rivette ♥♥♥♥◊ ถ้าอยากดูจิตรกรขณะสร้างสรรค์ผลงาน ต้องดู La Belle Noiseuse แม้งานศิลปะจะเป็นภาพเปลือย แต่วิธีการนำเสนอของ Jacques Rivette จะทำให้คุณคลั่งไคล้และหลงใหลกับเข้าใจความสวยงามที่อยู่ภายในมากกว่าเรือนร่างของผู้มาเป็นแบบ, เชื่อว่าหลายคนอาจจะทนกับความยาวของหนังไม่ได้ กด fast forward ไปก็ได้สำหรับคนที่ไม่อยากรอ แต่อย่าพลาดกดข้ามช่วงสนทนาแม้แต่น้อย เพราะมันสอดแทรกประเด็นที่เป็นใจความสำคัญของหนังอยู่เรื่อยๆ […]

%d bloggers like this: