Le Boucher

The Butcher (1970) French : Claude Chabrol ♥♥♥♥

หนังพยายามนำเสนอร่องรอย หลักฐาน บ่งชี้ชัดว่าคนขายเนื้อ (The Butcher) คือฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer) แต่ความสนใจของผู้กำกับ Claude Chabrol ไม่ได้ต้องการไล่ล่าจับกุมตัวคนร้าย ชักชวนผู้ชมร่วมค้นหาเบื้องหลัง สาเหตุผล สำรวจจิตใจคน บังเกิดแรงผลักดันอะไรถึงไม่สามารถควบคุมตนเอง?

นักวิจารณ์มักทำการเปรียบเทียบผกก. Chabrol ว่าเป็น “French Hitchcock” นิยมสรรค์สร้างผลงานที่มีความลึกลับ ตื่นเต้น ระทึกขวัญ (Mystery, Thriller, Suspense) ใครกันคือฆาตกร whodunit? แต่ความเป็นจริงแล้วสไตล์ Chabrol ออกไปในทาง “Anti-Hitchcock” หรือใครหลายคนเรียกว่า “Anti-Thriller” ทำในสิ่งแตกต่างตรงกันข้าม เปิดเผยรายละเอียดใครคือฆาตกรตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือฉากฆาตกรรมที่มักแพรวพราวด้วยลูกเล่นภาพยนตร์ ก็บังเกิดขึ้นแบบงงๆ อะไรว่ะ? อิหยังว่ะ? ตายแล้วเหรอ? ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับมันมากมาย

I want the audience to know who the murderer is, so that we can consider his personality.

Claude Chabrol

เมื่อผู้ชมสามารถคาดเดาได้ตั้งแต่แรกว่า ใครคือฆาตกร? แต่บุคคลนั้นกลับสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป นั่นสร้างความหลอกหลอน สั่นสยองขวัญ เขย่าประสาท แม้ไม่พบเห็นการฆาตกรรมเลยสักฉาก! Le Boucher (1970) กลับได้รับการสรรเสริญจากนักวิจารณ์ ยกย่องระดับมาสเตอร์พีซ หนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของผกก. Chabrol

แต่ระหว่างรับชม ผมไม่ได้รู้สึกว่า Le Boucher (1970) จะมีความยิ่งใหญ่อะไรปานนั้น นั่นเพราะภาพยนตร์แนว Anti-Hero นำเสนอผ่านมุมมองอาชญากร ฆาตกรต่อเนื่อง สำรวจสภาพจิตใจ ค้นหาเบื้องหลัง อธิบายสาเหตุผล เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วๆไปในยุคสมัยนี้ … นั่นแสดงว่านี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่พยายามสร้างความสงสารเห็นใจให้กับฆาตกร เลยถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ กล้าคิดกล้าทำในสิ่งแตกต่าง มันจึงได้รับการกล่าวขวัญมากเป็นพิเศษ กระมังนะ!


Claude Henri Jean Chabrol (1930-2010) ผู้กำกับ/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่ไปเติบโตยังชนบท Sardent, Nouvelle-Aquitaine ครอบครัวเป็นเจ้าของร้านขายยา คาดหวังให้บุตรชายสืบทอดกิจการ แต่กลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” ก่อตั้งชมรม Film Club ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลงใหลเรื่องราวนักสืบ แนวตื่นเต้นลุ้นระทึก (Thriller), หลังสงครามโลกสิ้นสุดเดินทางสู่ Paris เข้าศึกษาต่อ Université de Paris (บ้างว่าร่ำเรียนเภสัชศาสตร์ บ้างว่านิติศาสตร์) แต่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ยัง Ciné-Club du Quartier Latin และ Cinémathèque Française หลังเรียนจบอาสาสมัครทหาร French Medical Corps ไต่เต้าจนได้ยศผู้หมวด (Sergeant) พอปลดประจำการ กลายเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma, ร่วมกับ Éric Rohmer ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ Hitchcock (1957), ให้ความช่วยเหลือ Jacques Rivette สรรค์สร้างหนังสั้น Le coup du Berger (1957), กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Beau Serge (1958) ถือเป็นจุดเริ่มต้นกลุ่มเคลื่อนไหว French New Wave

ผมไม่สามารถหารายละเอียด จุดเริ่มต้น ความสนใจในเรื่องราวภาพยนตร์ Le Boucher แปลตรงตัว The Butcher พัฒนาบทดั้งเดิม (Original Screenplay) โดยผกก. Chabrol แต่คาดว่าต้องการต่อยอด ‘Hélène cycle’ เกี่ยวกับหญิงสาวชื่อ Hélène (ได้แรงบันดาลใจจากนาฎกรรมชีวิตของ Honoré de Balzac) ผู้สามารถปลอบประโลม ทำความเข้าใจ สร้างประกายความหวังให้กับสัตว์ร้ายตนนั้น (มุมมืดที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์)

Hearing the door of her room open suddenly, Hélène rose from the divan, but she saw the marquis and gave a cry of surprise. He was changed almost beyond recognition. His pale face had been bronzed by the tropical sun giving him a poetic appearance. He breathed an air of grandeur, a certain profundity by which even the most vulgar mind must be impressed.

จากหนังสือ La Femme de trente ans (1842) แปลว่า A Woman of Thirty

เกร็ด: Le Boucher (1970) คือภาพยนตร์ลำดับที่สามจากหก มีคำเรียก “Hélène Cycle” นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหญิงชื่อ Hélène สาวผมบลอนด์ที่มีความคลุมเคลือ (Ambiguous), ทึบแสง (Opaque), ยากเกินคาดเดา (Beyond Comprehension), มักถูกกระทำร้าย ได้รับบาดแผลทางใจบางอย่าง พยายามปกปิดซ่อนเร้น แต่ก็มักถูกรื้อฟื้นให้ต้องเผชิญหน้ากับมัน อีกห้าเรื่องที่เหลือประกอบด้วย The Unfaithful Wife (1969), This Man Must Die (1969), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971), Ten Days’ Wonder (1971)

นอกจากนี้ยังมีนักวิจารณ์ชี้ให้เห็นถึงความละม้ายคล้ายคลึงกับ Spellbound (1945) ของ Alfred Hitchcock และ Scarlet Street (1945) ของ Fritz Lang ต่างเป็นการสำรวจจิตวิทยาฆาตกร/อาชญากร มันมีอะไรบางอย่างซุกซ่อนเร้นอยู่ในนั้น?


เรื่องราวของครูสอนหนังสือ Hélène Daville (รับบทโดย Stéphane Audran) แรกพบเจอชายขายเนื้อ Paul Thomas ชื่อเล่น Popaul (รับบทโดย Jean Yanne) ยังงานแต่งงานในหมู่บ้านเล็กๆ Trémolat, ขณะที่ Hélène พยายามรักษาระยะห่าง ไม่ต้องการสานสัมพันธ์เรื่องรักๆใคร่ๆ (เพราะเคยผิดหวังในชีวิตคู่เมื่อหลายปีก่อน) ตรงกันข้ามกับ Popaul เกิดความลุ่มหลงใหล พยายามหาโอกาสเคียงชิดใกล้ ให้ความช่วยเหลือต่างๆนานา เผื่อว่าจะมีโอกาสขึ้นมา

ระหว่างความสัมพันธ์ของทั้งสองดำเนินไปอย่างช้าๆ ก็มักได้ยินข่าวคราวคดีฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer) ขนาดว่าเจ้าหน้าที่จากองค์กรส่วนกลางเข้ามาสืบสวนสอบสวน กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง Hélène พานักเรียนไปทัศนศึกษายังถ้ำตกแต่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์โครมันยอง (Cro-Magnon Man) ขากลับออกมาพบเจอศพผู้เสียชีวิต แล้วมีไฟแช็กที่เคยมอบเป็นของขวัญให้กับ Popaul ตกหล่นในที่เกิดเหตุ นั่นสร้างความหวาดระแวง วิตกจริต ฤาว่าเขาคนนั้นคือ !@#$%^&


Stéphane Audran ชื่อเกิด Colette Suzanne Jeannine Dacheville (1932-2018) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Versailles, Seine-et-Oise โตขึ้นฝึกฝนการแสดงยัง Ecole de théâtre Charles Dullin แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับละคอนเวทีนัก เลยผันตัวมาแสดงภาพยนตร์ ร่วมงานครั้งแรกกับสามี Claude Chabrol ตั้งแต่ Les Cousins (1959) ผลงานเด่นๆ อาทิ Les Biches (1958), Le Signe du Lion (1962), Le Boucher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), Violette Nozière (1978), Babette’s Feast (1987) ฯ

รับบท Hélène Daville ครูสอนหนังสือวัยกลางคน เพิ่งย้ายมาทำงาน Trémolat เป็นครูใหญ่ได้สามปี ก่อนหน้านี้เคยแต่งงานแล้วหย่าร้างสามี เลยตั้งใจว่าจะไม่สานสัมพันธ์กับใครอีก แม้เป็นคนรักเด็ก แต่ชอบทำตัวเย่อหยิ่ง เย็นชา ปากคาบบุหรี่ในที่สาธารณะ ใครจะว่าอะไรไม่สนใจ โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน การได้พบเจอ Popaul ช่วงแรกๆสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ก่อนค่อยๆเรียนรู้ เปิดใจรับ ยินยอมทำความรู้จักอีกฝั่งฝ่าย

วันก่อนผมเพิ่งเขียนถึง Les Biches (1968) เลยยังติดภาพจำ สำเนียงเหน่อๆ ลากเสียงยาวๆของ Audran พอมารับชมหนังที่เธอพูดแบบปกติเลยปรับตัวแทบไม่ทัน! แต่กิริยาท่าทางยังคงเย่อหยิ่ง เย็นชา (ผู้หญิงสไตล์ Hitchcock’s Women หรือจะเรียก Icy Blonde) สร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ปฏิเสธสานสัมพันธ์รักๆใคร่ๆกับผู้อื่นใด จนเมื่อให้ของขวัญแก่ Popaul นั่นคือเริ่มเปิดใจ ยินยอมรับ การพบเจอเจ้าสิ่งนั้น(ไฟแช็ก)ในสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรม สร้างความเคลือบแคลง หวาดระแวง อกสั่นขวัญแขวนเมื่อต้องพบเจอหน้า โชคดีว่าเขายื่นไฟแช็กจุดบุหรี่ (ตระหนักว่าเขาอาจไม่ใช่ฆาตกร) เสียงหัวเราะพร้อมน้ำตา หลั่งระบายความโล่งอกโล่งใจออกมา … ต้องถือเป็นหนึ่งในฉากการแสดงอันตราตรึงที่สุดของ Audran เลยก็ว่าได้!

แต่ความโล่งอกโล่งใจครั้งนั้นไม่ต่างจากลูบหลังแล้วตบหัว นั่นเพราะ Popaul คือฆาตกรตัวจริงๆนะแหละ! การสูญหายไปของไฟแช็ก(ของจริง)ในลิ้นชัก ทำให้เธอตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง ห่อเหี่ยว ตัวคนเดียว ลุกรี้ร้อนรน นี่ฉันล็อกประตูหน้าต่างแล้วหรือยัง? จนกระทั่งเผชิญหน้าอีกฝ่าย ก้าวย่างกรายเข้ามา พบเห็นมีดพกในมือ สงบจิตสงบใจ ยินยอมรับความตาย ก่อนเขาลงมือกระทำร้ายตนเอง ><>< พล็อตแม้งพลิกกลับไปกลับมา จนปรับอารมณ์แทบไม่ทัน (แต่ผมไม่รู้สึกว่ามันจะตราตรึงเทียบเท่าตอนหัวเราะพร้อมน้ำตาหรอกนะ) จนแล้วจนรอด หญิงสาวบังเกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ ให้ความช่วยเหลือพาไปโรงพยาบาล กำแพงสูงใหญ่เคยสร้างไว้พังทลายลงโดยพลัน

ถึงผมเพิ่งเคยรับชมผลงานของ Audran แค่ไม่กี่เรื่อง แต่ก็มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าภาพยนตร์ Le Boucher (1970) ต้องคือในหนึ่งบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของเธออย่างแน่นอน!


Jean Yanne ชื่อเกิด Jean Roger Gouyé (1933-2003) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Les Lilas, Seine แล้วอพยพไปอยู่ Celles-sur-Belle ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เรียนจบแค่ชั้นประถม แล้วไปฝึกฝนเป็นช่างไม้ ก่อนได้เดินทางสู่ Paris ฝึกงานนักข่าวที่ Centre de formation des journalistes (CFJ) แล้วกลายเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์อยู่สักพัก ก่อนหันเหความสนใจสู่การแสดงคาบาเร่ต์ ร้องเพลง อัดอัลบัม ออกรายการโทรทัศน์ แสดงภาพยนตร์ อาทิ Weekend (1967), This Man Must Die (1969), The Butcher (1970), We Won’t Grow Old Together (1972), Indochine (1992) ฯ

รับบท Paul Thomas ชื่อเล่น Popaul ในอดีตเคยเป็นทหารผ่านศึกสงคราม Indochina และ Algerian war พบเห็นเพื่อนมนุษย์ถูกเข่นฆ่าเหมือนผักปลา ปลดประจำการกลับมาทำงานเป็นพ่อค้าเนื้อ ต้องการจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ค้นพบความสนใจในตัว Hélène แต่เธอกลับสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ทำให้เขารู้สึกเก็บกด อัดอั้น บางครั้งจึงไม่สามารถควบคุมตนเอง กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง นั่นคือหนทางเดียวที่จะระบายความทุกข์ทรมานภายในออกมา

สำหรับบทบาทนี้เห็นว่า Auran เป็นคนเรียกร้อง ต้องการร่วมงานกับ Yanne เพราะเพิ่งคลาดกันเมื่อตอน This Man Must Die (1969) และก่อนหน้านั้น Line of Demarcation (1966) ทั้งสองก็ไม่ใช่บทพระนาง

หน้าตาของ Yanne ดูราวกับสัตว์ร้าย แค่ท่าทางหั่นแล่เนื้อก็ดูมีลับเลศนัย แต่เมื่ออยู่เคียงชิดใกล้ Hélène มักทำตัวเหมือนเด็กน้อย สายตาลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักใคร่ พยายามเกี้ยวพาราสี ให้ความช่วยเหลือโน่นนี่นั่น มองผิวเผินดูเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ แต่บ่อยครั้งกลับไม่สามารถควบคุมสันชาตญาณตนเอง

ตั้งแต่ต้นเรื่องที่ตัวละครมีเล่าพื้นหลัง พานผ่านสงครามใหญ่ถึงสองครั้งครา ย่อมทำให้ผู้ชมตระหนักแรงกดดัน ผลักดัน อาการป่วย Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรือที่เรียกว่า Shell Shock ติดภาพการสู้รบ ฆ่าคนตาย ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีพลเรือน ใช้ชีวิตอย่างสามัญชน เลยต้องลงมือฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์ เพื่อให้ตนเองสามารถสงบสติอารมณ์

ไฮไลท์การแสดงของ Yanne คือพยายามต่อสู้กับความขัดแย้งในตนเอง ยินยอมรับว่าฉันคือฆาตกร แต่มันเป็นแรงผลักดันที่มิอาจควบคุม ต้องการรักษาให้หายขาดเลยลงมือกระทำร้ายตนเอง พร่ำพูดกับ Hélène ฉันยังไม่อยากตาย นั่นกระมังคือสิ่งทำลายกำแพงขวางกั้น … แต่มันคงไม่ใช่ผู้ชมทุกคนจักสามารถให้อภัยการกระทำของตัวละคร ต้องลงมือฆ่าอีกกี่คนถึงตระหนักว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง? ถ้าไม่ใช่เพราะถูกเธอจับได้ มันจะมีตอนจบแบบนี้จริงๆนะหรือ?


ถ่ายภาพโดย Jean Rabier (1927-2016) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montfort-L’Amaury จากเป็นศิลปินวาดรูป ผันสู่ทำงานตากล้องภาพยนตร์ เริ่มจากควบคุมกล้อง (Camera Operator) ถ่ายทำหนังสั้นตั้งแต่ปี 1948, ผู้ช่วย Henri Decaë ถ่ายทำ Crèvecoeur (1955), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), The 400 Blows (1959), จากนั้นได้รับการผลักดันจาก Claude Chabrol เป็นตากล้องเต็มตัว/ขาประจำตั้งแต่ Wise Guys (1961), ผลงานโด่งดัง อาทิ Cléo from 5 to 7 (1962), Bay of Angels (1963), The Umbrellas of Cherbourg (1964), Le Bonheur (1965) ฯ

งานภาพของหนังช่างมีความลื่นไหล แพรวพราวด้วยลีลาขยับเคลื่อนเลื่อนกล้อง แพนนิ่ง แทร็กกิ้ง ซูมมิ่ง ล้วนเต็มไปด้วยรายละเอียด ‘mise-en-scène’ นำพาผู้ชมเข้าไปสำรวจเบื้องลึกของถ้ำ สิ่งซุกซ่อนเร้นภายในจิตใจตัวละคร ใช้ประโยชน์จากสถานที่ สภาพอากาศ กลางวัน-กลางคืน ตอนต้นเรื่องมีความสว่างสดใส ก่อนค่อยๆปกคลุมด้วยความอึมครึม และไคลน์แม็กซ์ละเล่นกับเงามืดมิดได้อย่างตราตรึง

ในตอนแรกผกก. Chabrol เล็งชุมชน Les Eyzies-de-Tayac-Sireuil ซึ่งมีแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric Sites) Vézère Valley แต่ทว่าสถานที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปเรียบร้อยแล้ว “Too Touristic” เลยเปลี่ยนมาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ Trémolat, Nouvelle-Aquitaine ห่างไปไม่ไกลมาก แต่มีประชากรเพียง 500-600 กว่าคน

ส่วนฉากภายในถ้ำตกแต่ง (Decorated Caves) ถ่ายทำยัง Grottes de Cougnac ตั้งอยู่ Payrignac, Lot พบเจอถ้ำแรกเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยเมื่อปี ค.ศ. 1949 แล้วอีกสามปีถัดมา ค.ศ. 1952 ถึงพบเจออีกถ้ำห่างไปประมาณสองร้อยเมตร ภายในมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง รูปสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ตรวจสอบอายุระหว่าง 14,000-30,000 ปี

Opening Credit ร้อยเรียงภาพวาดฝาหนัง หินงอกหินย้อน แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ คาดกันว่าเคยเป็นสถานที่อยู่อาศัยของมนุษย์โครมายอง (Cro-Magnon man) หรือมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ เซเปียนส์ (Homo sapiens sapiens) อีกสายวิวัฒนาการก่อนกลายมาเป็นมนุษย์(ชาวยุโรป)ในปัจจุบัน ใบหน้าเล็ก สมองขนาดใหญ่ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถขีดๆเขียนๆ ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อช่วยในการดำรงชีวิต

การเริ่มต้นหนังด้วยจากภาพถ่ายในถ้ำ เพื่อจะสื่อว่าเรื่องราวของหนังเป็นการสำรวจเข้าไปในความครุ่นคิด สภาพจิตใจ มุมมืดภายในตัวละคร เปิดเผยสันชาตญาณบางอย่างที่ยังหลงเหลือจากบรรพกาล

ตามพิธีรีตรอง เจ้าภาพ (ในงานแต่งงานก็คือเป็นเจ้าบ่าว) ไม่ก็ผู้อาวุโสสูงสุด จักเป็นคนหั่นแล่เนื้อ แจกจ่ายด้วยความเท่าเทียม แต่ครานี้ใครต่อใครต่างพูดถึง Popaul เพราะเป็นคนขายเนื้อ เห็นคุยโวว่าคือฆ่าวัวตัวนี้ด้วยตนเอง จึงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ขณะเดียวกันก็เป็นการบอกใบ้ สำแดงพฤติกรรมอันน่าสงสัย

โดยปกติอีกเช่นกัน แขกเหรื่อต้องรอให้เจ้าภาพหั่นแล่เนื้อเสร็จก่อน แล้วถึงค่อยนำไปแบ่งปันคนอื่นๆ รับประทานพร้อมๆกัน เธอผู้นั่งข้างๆ Hélène พอเห็นเขาหั่นแล่เนื้อ ยกจานขึ้นขอ พอได้รับก็หยิบกินโดยทันที ไม่สนพิธีรีตรอง ทำไมต้องรอคอยใคร สร้างความสนอกสนใจให้กับฝ่ายชาย พบเห็นเสน่ห์อันน่าหลงใหล

ทีแรกผมก็ฉงนสงสัยว่าทำไมเด็กชาย Charles ต้องมาขออนุญาต Hélène เพื่อจะดื่มแชมเปญ? คำตอบคือเธอเป็นครูสอนหนังสือ ผู้ปกครอง(ของ Charles)จึงครุ่นคิดว่ามีวุฒิภาวะ/ความรับผิดชอบในการตัดสินใจมากกว่า แต่เหตุผลจริงๆเพราะเธอไม่ชอบการถูกบีบบังคับ อยากจะทำอะไรก็ทำไปสิ ทำไมต้องไปกีดกั้นขวางความอยากรู้อยากเห็น นั่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์

หลังงานแต่งงาน Popaul และ Hélène เดินออกจากงานเลี้ยง ก้าวย่างไปตามท้องถนน สิ่งแรกที่เธอทำคือหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ ท่าทางสไตล์ Bogart/Belmondo (คาบบุหรี่เพื่อความเท่ห์เป็นหลัก) โดยไม่สนห่าเหว ใครจะว่าอะไรฉันไม่สนใจ (ชุดลายจุดก็สามารถสื่อถึงโลกส่วนตัว ไม่ชอบสุงสิงอะไรกับใคร) นี่คงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ฝ่ายชายตกหลุมรัก ลุ่มหลงใหล ประทับใจในความเป็นตัวเธอเอง ไม่ซ้ำแบบใคร

อีกสิ่งน่าสนใจของซีเควนซ์นี้คือเสียงประกอบ (Sound Effect) ลองเงี่ยหูฟังได้ยินเสียงอื้ออึงผู้คน (ดังออกมาจากงานเลี้ยน) สุนัขเห่าหอน ทารกร้องไห้ ฝีเท้าที่เด่นดังกว่าปกติ และโดยเฉพาะเสียงระฆัง ดังบ่อยจนสร้างความหงุดหงุด น่ารำคาญ (เหมือนเสียงสวรรค์ที่คอยตักเตือนพฤติกรรมไม่เหมาะสม/ขัดต่อศีลธรรม)

พอกลับมาถึงโรงเรียน Hélène ก็นำพาผู้ชมออกสำรวจยังห้องเรียน โถงทางเดิน ขึ้นชั้นสองคือห้องพักครู สังเกตว่าตลอดสองข้างทาง เต็มไปด้วยรูปภาพแปะติดเต็มฝาผนัง ผมไม่มีความกระตือรือล้นที่จะแนะนำให้รู้จัก แต่เราสามารถเหมารวมภาพเหล่านี้คือตัวแทน “โรงเรียน” สถานที่สำหรับศึกษาเรียนรู้ วิชาการ ศาสตร์แขนงต่างๆ ศิลปะขั้นสูง ฯ

มันอาจฟังดูเป็นเรื่องตลกขบขันที่ชื่อตัวละครในนาฎกรรมชีวิตของ Honoré de Balzac มีชื่อเดียวกับครู Hélène แต่อย่างที่ผมอธิบายไปแล้วถึง “Hélène Cycle” ภาพยนตร์หกเรื่องของผกก. Chabrol ใช้ชื่อนางเอก Hélène ล้วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทางจิตวิญญาณ

Hearing the door of her room open suddenly, Hélène rose from the divan, but she saw the marquis and gave a cry of surprise. He was changed almost beyond recognition. His pale face had been bronzed by the tropical sun giving him a poetic appearance. He breathed an air of grandeur, a certain profundity by which even the most vulgar mind must be impressed.

จากหนังสือ La Femme de trente ans (1842) แปลว่า A Woman of Thirty

โดยเฉพาะย่อหน้าที่เธออ่านในห้องเรียนนี้ เป็นการบอกใบ้เรื่องราวกำลังจะบังเกิดขึ้นต่อไป นี่ไม่ใช่แค่การโผล่เข้ามาของ Popaul ระหว่างกำลังสอนอยู่นะครับ ยังเหมารวมถึงค่ำคืนสุดท้ายนั้น ที่เบื้องหลังความจริงทั้งหมดจักได้รับการเปิดเผยออกมา!

ทุกครั้งที่ Popaul แวะเวียนมาเยี่ยม Hélène มักนั่งลงตรงเก้าอี้เด็ก จริงๆเก้าอี้ผู้ใหญ่ก็มี แต่ต้องการสื่อว่าตั้งแต่ได้รับรู้จักเธอ ก็ทำให้ตัวเขาราวกับอายุ 14 … ความหมายประมาณนั้นแหละ!

เกร็ด: ภาพวาดหลังโคมไฟคือ Jeanne Hebuterne ภรรยาของ Amedeo Modigliani, ส่วนด้านหลังรูปแกะสลักนกยาง The Census at Bethlehem (1566) ของ Pieter Bruegel the Elder ที่ทำการสมมติ Bethlehem เป็นหมู่บ้านชาว Flemish ในช่วงฤดูหนาว พบเห็น Joseph และพระแม่มารีย์ขณะตั้งครรภ์นั่งอยู่บนลาตัวหนึ่ง

ห้องครัวควรเป็นสถานที่สำหรับแม่ศรีเรือน แต่ทว่า Popaul กลับสวมใส่ผ้ากันเปื้อน อธิบายวิธีปรุงเนื้อแกะ! เฉกเช่นเดียวกันตอนที่เขาหัวเราะ(เยาะ) Hélène เมื่อเธอบอกว่าสามารถขับขี่ มีรถคันเล็กของตนเอง (ยุคสมัยนั้นยังหาได้ยากที่ผู้หญิงจะคนขับรถ) … เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงยุคสมัยที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับผู้ชมสมัยใหม่อาจไม่ค่อยจะเข้าใจนัก ทำไมฝ่ายชายต้องประหลาดใจกับสารพัดพฤติกรรมของหญิงสาว สูบบุหรี่ ขับขี่รถยนต์ ฯ เพราะปัจจุบันเรื่องพรรค์นี้กลายเป็นปกติสามัญ การแสดงออกของ Popaul เลยดูเฉิ่มเชย ล้าหลังตามกาลเวลา

แซว: Hélène บอกว่าจะรับประทานอาหารเย็น เสร็จแล้วขับรถเข้าเมืองไปดูหนัง แต่ผกก. Chabrol ทำออกมาในสไตล์ Yasujirō Ozu คือถ้าตัวละครพูดบอกว่าจะทำอะไร ก็มักกระโดดข้ามไปเลย ยั่วให้อยากแล้วจากไป จะฉายให้เห็นทำไม ไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆต่อเรื่องราว

มีสถานที่มากมายให้พูดคุยกันเรื่องคดีฆาตกรรม หายนะจากสงคราม แต่ขณะนี้ในร้านขายเนื้อ Popaul เล่าภาพความตายที่ตนเองเคยพบเห็น … นี่ถือเป็นการเปรียบเทียบร้านขายเนื้อไม่ต่างจากสนามรบสงคราม, แล่เนื้อฆ่าตัว = ทำลายชีวิตมนุษย์

และเมื่อชายสูงวัยพูดเปรียบเทียบสงครามกับคดีฆาตกรรม “War is horrible, but it’s a Job to be done … whereas a murder like this is savagery.” เราจึงสามารถเปรียบเทียบเพิ่มเติม ร้านขายเนื้อ = คดีฆาตกรรม = สนามรบสงคราม นี่เป็นความสัมพันธ์ที่แอบบอกใบ้ทุกสิ่งอย่าง!

Hélène ชักชวน Popaul ไปเก็บเห็ดในป่าหลังโรงเรียนร่วมกับเด็กๆ แต่สังเกตว่าเขาสามารถเก็บเห็ดได้มากและรวดเร็วผิดสังเกต แสดงถึงความรอบรู้ มากประสบการณ์ หรือจะมองว่าเคยมาทำอะไรลับๆล่อๆแถวนี้บ่อยครั้ง??

ป่าพงไพร มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสันชาติญาณ ธรรมชาติชีวิต หวนกลับสู่รากเหง้า (ก่อนหน้าที่มนุษย์จะกลายเป็นสัตว์สังคมเมือง ตั้งแต่โบราณกาลก็เคยพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ) ซึ่งพอดิบพอดีตรงกับวันเกิดของ Popaul ได้รับของขวัญ “ไฟแช็ก” นี่ชวนให้ผมนึกการใช้ไฟของมนุษย์โบราณ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอารยธรรมเลยก็ได้ว่า … เราสามารถเปรียบเทียบ Popaul ประดุจสัตว์ร้าย/มนุษย์โครมันยอง พอได้รับไฟแช็ก ราวกับค้นพบแสงสว่าง นำทางออกจากถ้ำมืดมิด

หลังกลับจากหาเห็ด ได้รับไฟแช็ก (Prehistory) มาคราวนี้ Hélène จัดกิจกรรมสวมใส่เสื้อผ้าย้อนยุค (น่าจะแถว Renaissance, Baroque Era) ร่วมกับเด็กๆ (และ Popal) ทำการโยกเต้นเริงระบำในสวนหลังโรงเรียน

คนที่รับชมหนังจบแล้ว หรือพอจะคาดเดาได้ว่า Popal คือฆาตกรต่อเนื่อง เมื่อพบเห็นหลายๆฉากที่เขาแวะเวียนมาโรงเรียน พูดคุยเล่นสนุกสนานกับเด็กๆ หรืออยู่สองต่อสองกับ Hélène ย่อมบังเกิดความวาบหวิว สั่นสยิวกาย ฆาตกรแม้งอยู่ใกล้แค่เอื้อม โชคดีแค่ไหนที่ยังรอดชีวิต ไม่ถูกเข่นฆาตกรรม … แต่ถ้าเรามองในทิศทางกลับกัน ฆาตกรก็คือมนุษย์คนหนึ่ง มีชีวิตไม่แตกต่างจากคนอื่น แค่ช่วงเวลาเล็กๆที่เขาไม่อาจควบคุมตนเอง เรื่องพรรค์นี้หาได้น่ากลัวเกรง ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ สามารถเปิดรับความจริงได้มากน้อยเพียงไหน

Hélène พาเด็กๆมาทัศนศึกษายังถ้ำตกแต่ง Grottes de Cougnac เดินผ่านหินงอกหินย้อน และภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง พร้อมคำบรรยายถึงมนุษย์โครมันยอง (Cro-Magnon Man) ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของชาวยุโรป/ฝรั่งเศส แม้ยังมีความป่าเถื่อน ชอบใช้ความรุนแรง เต็มไปด้วยสันชาตญาณสัตว์ (เพื่อการอยู่รอด) แต่ด้วยสมองขนาดใหญ่ทำให้มีความเฉลียวฉลาด สามารถครุ่นคิดประดิษฐ์สิ่งข้าวของต่างๆเพื่อสร้างความสะดวกสบาย และเมื่อมีเวลาหลงเหลือจึงเริ่มขีดๆเขียนๆตามฝาผนัง สำแดงถึงอารยธรรมยุคแรกเริ่มของมนุษยชาติ

หนังพยายามเปรียบเทียบ Popaul กับมนุษย์โครมันยอง รูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้แตกต่างจากมนุษย์ปัจจุบัน แต่การเข่นฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์ ถือว่ามีความชั่วร้าย ป่าเถื่อน กระทำสิ่งสนองสันชาตญาณ ทำให้อารยธรรมมนุษย์ถกถอยหลังสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

พอออกมาภายนอกถ้ำ Hélène บอกให้เด็กๆนั่งหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน ขณะกำลังชื่นชมความงดงามของธรรมชาติ ก็มีเลือดหยดใส่ขนมปัง แหงนเงยหน้าขึ้นไปพบเห็นศพผู้เสียชีวิต น่าจะเพิ่งถูกเข่นฆาตกรรมไม่นานมานี้!

ทีแรกผมก็ไม่ได้เอะใจสักเท่าไหร่ แต่พอสังเกตเห็นท่านอนตายของเหยื่อ กางแขนราวกับถูกตรึงไม้กางเขน เช่นนั้นแล้วไวน์+ขนมปัง = เลือด+เนื้อของพระเยซู ทรงเสียสละและไถ่บาปให้มนุษย์ … นี่ถือเป็นนัยยะเชิงศาสนาที่สื่อถึงความตายของเหยื่อ คือการเสียสละเพื่อให้ฆาตกร (Popaul) ได้เรียนรู้ความผิดพลาด ค้นพบตัวตนเอง มีโอกาสกลับตัวกลับใจ และได้รับการให้อภัยจากพระเป็นเจ้า

ปล. ฉากภายนอกถ้ำถ่ายทำยัง Cingle de Trémolat อยู่ไม่ไกลจาก Trémolat, Dordogne ติดกับแม่น้ำ Dordogne

Hélène ค้นพบไฟแช็กตกหล่นอยู่ไม่ไกลจากศพ (สามารถสื่อถึง Popaul ที่สูญเสียแสงสว่าง สูญเสียอารยธรรม จมปลักอยู่ในความมืดมิด) พอจบจากฉากนั้นตัดมาภาพนี้พบเห็นนั่งขัดสมาธิเพชร กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลเข้าหาตัวละคร เพื่อแสดงถึงความพยายามสงบสติอารมณ์ ไม่ให้เกิดความครุ่นคิดฟุ้งซ่าน ก่อนถูกขัดจังหวะด้วยเสียงเคาะประตู เจ้าหน้าที่ตำรวจจากส่วนกลางต้องการซักถามพยาน

ค่ำคืนนี้เริ่มจากถ่ายมุมก้มลงจากเพดาน (สร้างสัมผัสอันตราย หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา) ระหว่างนั่งทำงานได้ยินเสียงเรียกของ Popaul ขอขึ้นไปบนห้อง แบ่งปันเชอรี่ดอง (โดยปกติแล้วเชอรี่คือสัญลักษณ์ของ Passion & (Sexual) Desire รับประทานกับคนรักจักช่วยกระชับความสัมพันธ์) แต่เพราะก่อนหน้านี้ Hélène เต็มไปด้วยความเคลือบแคลง หวาดระแวง ฉงนสงสัย จึงเกิดอาการโล้เล้ลังเล พยายามเก็บกด ปกปิดบังความรู้สึก … สังเกตว่าแทบจะทุกช็อตของซีเควนซ์นี้มักถ่ายติดโคมไฟสีแดง สัญญาณเตือนอันตราย และจะมีระยะประชิดใกล้ตัวละครมากขึ้น

หลายคนอาจไม่ได้เอะใจ Popaul ทำไฟแช็คสูญหายก็จริง แต่ขณะนี้เขายังไม่รับรู้ว่า Hélène คือคนพบเจอไฟแช็คอันนั้นในบริเวณที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้สำแดงอาการผิดสังเกตใดๆ คงครุ่นคิดแค่ว่าเธอคงสั่นสะเทือนใจ ร่ำร้องไห้จากการพบเห็นผู้เสียชีวิต

ความหวาดกลัวที่ค่อยๆทวีความรุนแรง แม้ว่า Hélène จะพยายามก้มหน้าก้มตารับประทานเชอรี่ดอง แต่ก็มิอาจอดกลั้นฝืนทน มือสั่นๆ น้ำตาไหลหลั่ง พยายามหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ ก่อนพบเห็นเขาหยิบไฟแช็คที่เป็นของขวัญขึ้นมาจุด นั่นทำให้เธอบ่อน้ำตาแตก หัวเราะทั้งน้ำตา หลั่งระบายความโล่งอกโล่งใจออกมา

Popaul เห็นสภาพของ Hélène ที่ควบคุมตัวเองแทบไม่อยู่ จึงขอตัวกลับเพื่อให้สงบสติอารมณ์เพียงลำพัง แต่เธอกลับเรียกร้องขอให้เขาอยู่อีกสักพัก สังเกตว่ามุมกล้องถ่ายอีกฟากฝั่ง/ติดหน้าต่าง (เป็นมุมกล้องที่ยังไม่ปรากฎในซีเควนซ์นี้มาก่อน) ก็เพื่อสื่อถึงมุมมองที่พลิกกลับตารปัตร จากเคยครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายคือฆาตกร วินาทีนี้รู้สึกโล่งอกโล่งใจที่ค้นพบว่าไม่ใช่

ระหว่างงานศพ ช่างเป็นลูกเล่นคลาสสิกที่จะต้องถ่ายทำตอนฝนตก (แทนความสูญเสียใจ ธารน้ำตาหลั่ง) ฟ้าคะนอง บรรยากาศอึมครึม ปรับโทนสีให้ดูครึ้มๆ และที่น่าขบขันที่สุดก็คือนักสืบจากส่วนกลาง พร่ำบ่นฟ้าฝนไม่เป็นใจ ไม่สามารถค้นหาพยาน หลักฐาน ใครคือฆาตกรต่อเนื่อง … บุคคลนั้นก็กำลังก้าวเดินอยู่เคียงข้างกันนี่แหละ!

ตอนต้นเรื่องนำเสนอภาพงานแต่งงาน แต่พอกลางเรื่องเปลี่ยนมาเป็นงานศพ นี่แสดงให้เห็นถึงชีวิตที่พลิกกลับตารปัตร ทิศทางของหนังเรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน พยายามเปิดมุมมอง นำเสนอเรื่องราวฟากฝั่งตรงข้าม ให้ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจโลกทั้งสองด้าน เรียนรู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

แทนที่ฉากถัดจากงานศพจะเป็นการเริ่มต้นเช้าวันใหม่ ภาพพระอาทิตย์ขณะนี้กลับกำลังใกล้จะลาลับขอบฟ้า (เพื่อนำเสนอหายนะกำลังคืบคลานเข้ามา) Popaul เสร็จทำงานร้านขายเนื้อ เตรียมเดินทางไปโรงเรียนเพื่อทาสีผนังให้เสร็จ แต่กล้องกลับถ่ายมุมก้มลงมาขณะเดินออกหน้าร้าน นี่สร้างสัมผัสอันตราย กำลังจะมีเหตุการณ์เลวร้าย ไม่ต่างจากภาพของ Hélène ตอนก่อนหน้า (ที่ถ่ายมุมก้มลงมาในห้องพักครู)

จากสูงสุดหวนกลับสู่สามัญ ไม่ใช่สิ! ระหว่างที่ Popaul ทาสีเพดานในห้องพักครู พลั้งพลาดทำเลือดสีหยดลงมา ล้อกับตอนที่เลือดหยดลงแผ่นขนมปังระหว่างการทัศนศึกษา และความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆนี้ ทำให้เขาพบเจอไฟแช็คในลิ้นชัก เกิดความตระหนัก Hélène คงรับรู้แล้วว่าตนเองคือฆาตกร!

การอาสาปรับปรุงห้องพักครูของ Popaul สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงความพยายามทำให้ Hélène ปรับเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ “ภายใน” ความรู้สึกที่มีต่อตนเอง (ห้องพักครู = สถานที่ภายในจิตใจของ Hélène) แต่วินาทีนี้ระหว่างทาสีเพดาน พลั้งพลาดทำสีหยดลงมา นั่นสามารถพังทลายทุกสิ่งอย่างสร้างมา

ผมไม่ได้ตั้งใจรับฟังปริศนาฟิสิกส์ของ Charles แต่คำตอบของ Popaul ไม่ใช่แค่กล่าวถึงคำถามดังกล่าว ยังรวมถึงสถานการณ์ของตนเองขณะนี้ (ตระหนักว่า Hélène รับรู้ว่าตนเองคือฆาตกร) ไม่รู้จะครุ่นคิดหาคำตอบ หนทางออกอะไรยังไง

รูปภาพที่นำมานี้อาจดูเลือนลาง แต่ก็พอมองเห็นภาพสะท้อน Hélène กำลังเดินเข้ามาตรงหน้าต่าง ซ้อนทับใบหน้าของ Popaul พอดิบพอดี! ภาพช็อตนี้ต้องถือว่าเป็น “poetic appearance” แม้ใบหน้าของเขายังคงเหมือนเดิม แต่ทว่ากลับกลายเป็นบุคคลที่เธอจดจำแทบไม่ได้ (Beyond Recognition) เนื่องจากเกิดความตระหนักว่าอีกฝ่ายคือฆาตกรต่อเนื่อง มีความเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย ชายคนนี้หาใช่คนเคยรู้จักกันไม่! … ดั่งข้อความที่ Hélène เคยอ่านจากนาฎกรรมชีวิตของ Honoré de Balzac

Hearing the door of her room open suddenly, Hélène rose from the divan, but she saw the marquis and gave a cry of surprise. He was changed almost beyond recognition. His pale face had been bronzed by the tropical sun giving him a poetic appearance. He breathed an air of grandeur, a certain profundity by which even the most vulgar mind must be impressed.

จากหนังสือ La Femme de trente ans (1842) แปลว่า A Woman of Thirty

ไม่ต้องไปสนใจหรอกว่า Popaul เข้ามาในโรงเรียนได้อย่างไร (เอาว่าหาทางเข้าได้ก็แล้วกัน) แต่วินาทีแห่งการเผชิญหน้า สังเกตว่ามีการละเล่นกับแสง-เงา ใบหนึ่งครึ่งซีกของทั้งคู่ปกคลุมด้วยความมืดมิด (เพื่อสื่อถึงมุมมืดภายในจิตใจ) และพอเขาชักมีดพกออกมา Hélène ค่อยๆหลับตา สงบจิตสงบใจ ยินยอมรับความตาย ภาพ Fade-to-Black ชั่วครู่ นึกว่าคงถูกฆ่าไปแล้ว ก่อนลืมตาขึ้นมา…

แทนที่ตนเองจะถูกฆ่า Popaul กลับทิ่มแทง ทำร้ายตนเอง นั่นสร้างความตกอกตกใจให้กับ Hélène เดินไปเปิดไฟ (สื่อถึงการพบเจอแสงสว่างของตัวละคร ไม่ต้องการหลบซ่อนอยู่ในเงามืดอีกต่อไป) จากนั้นพยายามช่วยเหลือ ดึงมีดออก พาขึ้นรถ เร่งรีบขับสู่โรงพยาบาล

ระหว่างทางขับรถไปโรงพยาบาล มันช่างรู้สึกเยิ่นยาวนาน สองข้างทางดูมืดมิด เปล่าเปลี่ยว มองอะไรแทบไม่เห็น ภายในรถมักถ่ายภาพโคลสอัพใบหน้านักแสดงทั้งสอง (ด้วยการใช้แสงไฟสาดส่อง) Popaul พร่ำเพ้อถึงความตาย, Hélène กลับสงบเงียบงัน ไม่สามารถเอ่ยกล่าวถ้อยคำ สำแดงความรู้สึกออกทางสีหน้า คราบน้ำตา

ทั้งรับรู้ว่าอีกฝ่ายคือฆาตกร แต่ทว่าการกระทำของเขาได้พิสูจน์ให้เธอเห็น ว่าพร้อมจะกลับตัวกลับใจ เริ่มต้นชีวิตใหม่ นั่นทำให้ Hélène ยินยอมจุมพิต Popaul โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ แต่ใบหน้าของเธอดูเศร้าสลด หดหู่ ดูเจ็บปวดรวดร้าว … เป็นภาพโคลสอัพใบหน้าที่ไม่หลงเหลือความเย่อหยิ่ง เย็นชา เพียงโหยหาชายคนรัก คาดหวังว่าจะบังเกิดปาฏิหารย์ ให้เราสองได้มีโอกาสครองคู่กัน

แต่ทว่าปาฏิหารย์ไม่มีจริง! ลิฟท์ผู้ป่วยของ Popaul ได้เคลื่อนขึ้นชั้นสอง ก็ไม่รู้สรวงสวรรค์ขุมไหน เพียงคุณหมอเดินลงมาบอกว่าคำกล่าวสุดท้าย “Miss Hélène” แล้วขอให้แยกย้ายกลับบ้าน … มันไม่ใช่ว่าสามารถทำ CPR หรือใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจได้หรอกหรือ?? เร่งรีบทำให้ตายจังนะ!

ปล. ตามความเชื่อ(ไม่อิงศาสนา)ของผกก. Chabrol แม้ว่า Popaul เคยกระทำสิ่งชั่วร้าย เข่นฆ่าคนตาย แต่เมื่อได้รับการยกโทษให้อภัยจาก Hélène (ราวกับนางฟ้ามาจุติ) ก็เพียงพอให้เขาได้ขึ้นสรวงสวรรค์ (ตายขณะขึ้นลิฟท์ชั้นสอง)

หลังออกจากโรงพยาบาล Hélène ขับรถมายังริมฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่ดึกดื่นจนฟ้าสาง ก็ยังยืนจับจ้องมอง เหม่อล่อยลอย ราวกับเฝ้ารอคอยอะไรบางอย่าง (หรือจะมองว่าเธอตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย ก็ได้กระมัง)

ภาพชุดสุดท้ายของหนัง ร้อยเรียงทิวทัศน์เมือง Trémolat เคลื่อนจากสะพาน ฟากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ ปกคลุมด้วยหมอกควัน ฤาว่านั่นคือสรวงสวรรค์ ดินแดนที่ Hélène ยังไม่สามารถก้าวข้าม (เพราะยังมีชีวิตอยู่) แต่คือสถานที่อยู่ใหม่ของชายคนรักผู้ล่วงลับ

ตัดต่อโดย Jacques Gaillard (1930-2021) จากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Les Misérables (1958), ก่อนกลายเป็นขาประจำผกก. Claude Chabrol ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), The Unfaithful Wife (1969), This Man Must Die (1969), The Butcher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองครูสอนหนังสือ Hélène Daville เริ่มจากแรกพบเจอคนขายเนื้อ Paul Thomas ชื่อเล่น Popaul พูดคุยถูกชะตา ฝ่ายชายจึงพยายามรุกคืบ สานสัมพันธ์ แต่เธอกลับสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะค่อยๆเปิดใจยินยอมรับ และต้องมีเหตุการณ์เลวร้ายบางอย่างบังเกิดขึ้น กำแพงเบอร์ลินถึงพังทลาย

  • แรกพบเจอ
    • แรกพบเจอในงานแต่งงาน ครูสอนหนังสือ Hélène นั่งเคียงข้างคนขายเนื้อ Popaul
    • หลังงานแต่งงาน Popaul เดินมาส่ง Hélène ที่โรงเรียน
  • พยายามสานสัมพันธ์
    • ระหว่างเด็กๆกำลังวิ่งเล่นสนุกสนาน Hélène ได้ยินข่าวคราวคดีฆาตกรรม
    • Popaul แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน Hélène ระหว่างคาบเรียน นำส่วนแบ่งเนื้อแกะมาให้ เธอจึงชักชวนมาร่วมรับประทานอาหารเย็น
    • Popaul มาตามนัด ร่วมกันทำอาหารเย็น
    • วันถัดๆมา Hélène เดินทางไปซื้อเนื้อที่ร้าน ก่อนชักชวน Popaul มาร่วมปิคนิค เก็บเห็ดในป่า
    • Hélène มอบของขวัญวันเกิดให้กับ Popaul พร้อมเล่าความหลัง Hélène เหตุผลที่ครองตัวเป็นโสด ไม่อยากแต่งงานใหม่
  • ทัศนศึกษายังถ้ำตกแต่ง
    • กิจกรรมโรงเรียน แต่งตัวย้อนยุค เต้นระบำ
    • เดินทางไปทัศนศึกษายังถ้ำตกแต่ง
    • พอกลับออกมา Hélène พบเห็นศพผู้เสียชีวิต พร้อมพบเจอไฟแช็ก (ของขวัญที่เคยมอบให้ Popaul)
    • กลับมาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเพื่อสืบค้นหาตัวฆาตกร
    • ค่ำคืนนั้นแม้ด้วยความหวาดระแวง Hélène ยินยอมให้ Popaul ขึ้นมาที่ห้อง รับประทานเชอรี่ดอง ก่อนโล่งใจหลังพบเห็นเขายื่นไฟแช็กจุดบุหรี่
  • ตัวตนแท้จริงของ Popaul
    • เข้าร่วมงานศพ ท่ามกลางฝนตกพรำ
    • Popaul ตกแต่งทาสีห้องให้ Hélène แล้วพบเห็นไฟแช็กในลิ้นชัก
    • ค่ำคืนนั้น Hélène หลังตระหนักว่าไฟแช็กในลิ้นชักสูญหายไป ความเคลือบแคลงต่อ Popaul ได้หวนกลับมาอีกครั้ง
    • พยายามปิดล็อกประตูหน้าต่าง ไม่ต้องการให้ Popaul บุกเข้ามา
    • แต่พอเขาบุกเข้ามาสำเร็จ Hélène ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง แต่เขากลับลงมือกระทำร้ายตนเอง
    • Hélène ขับรถพาไปส่งโรงพยาบาล
    • แต่พอมาถึง ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข

การตัดต่ออาจไม่ได้มีเทคนิคอะไรหวือหวา แต่ลีลาการดำเนินเรื่องถือว่าน่าสนใจ ทำการล่อหลอกผู้ชม/ตัวละคร โดยใช้ไฟแช็กเป็นเครื่องมือดำเนินเรื่อง (Plot Device) สร้างความหวาดระแวงในตัว Popaul จากนั้นผ่อนคลายเมื่อพบเห็นอีกอัน ก่อนลูบหลังแล้วตบหัว ความจริงไม่แตกต่างจากสิ่งเคลือบแคลงสงสัย

ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ มักมีความกระตือรือล้นในการนำเสนอฉากฆาตกรรม แต่ไม่ใช่สำหรับผกก. Chabrol เลือกนำเสนอผ่านมุมมองหญิงสาว Hélène ตอนได้ยินข่าวคราวก็ไม่รู้สึกหนาวร้อนสักเท่าไหร่ กระทั่งพบเห็นร่างคนตาย และหลักฐานจากคนใกล้ตัว เพียงเท่านั้นก็สามารถสร้างความหวาดระแวง วิตกจริต หลอกหลอน เขย่าประสาทเสียยิ่งกว่าภาพความตายอันน่าขยะแขยงเสียอีก!


เพลงประกอบโดย Pierre Georges Cornil Jansen (1930-2015) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roubain, โตขึ้นเข้าเรียน Conservatoire de Roubaix (เปียโนและดนตรี Harmony) ต่อด้วย Royal Conservatory of Brussels ประพันธ์เพลงออร์เคสตรา, Chamber Music, มีชื่อเสียงจากบทเพลงแนว Avant-Garde จากนั้นกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Claude Chabrol ตั้งแต่ Les Bonnes Femmes (1960)

งานเพลงของหนัง ดังขึ้นเมื่อไหร่ราวกับลางบอกเหตุร้าย สร้างความหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่ามันต้องมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นแน่ๆ นี่คือสไตล์ของผกก. Chabrol ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมขบไขปริศนา ใครคือฆาตกร? ขอแค่เพียงเพลิดเพลินกับบรรยากาศ รายละเอียดต่างๆรอบข้าง ทำความเข้าฆาตกรในอีกมุมที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม

สำหรับ Le Boucher (1970) แค่บทเพลงระหว่าง Opening Credit เริ่มต้นด้วยเสียงระฆัง ดังกึกก้องกังวาล ท่วงทำนองประหลาดๆ สไตล์ Avant-Grade สร้างสัมผัสลึกลับ พิศวง ราวกับต้องมนต์ บอกใบ้ถึงสิ่งชั่วร้ายซุกซ่อนอยู่ในถ้ำ หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา สร้างความหลอกหลอก สั่นสยองขวัญ เขย่าประสาท จนมิอาจอดกลั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง

ไม่ใช่แค่เพลงประกอบที่โดดเด่น สารพัดเสียงประกอบ (Sound Effect) ก็ได้รับการยัดเยียด แทรกใส่เข้ามาเพื่อสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ อาทิ เสียงสุนัขเห่าหอน, ทารกร้องไห้ (ดังจากไหนก็ไม่รู้), และโดยเฉพาะเสียงระฆัง(โบสถ์)ที่ดังขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ทั้งวันทั้งคืน ได้ยินแทบจะทุกช็อตฉากเลยก็ว่าได้!


Le Boucher (1970) นำเสนอเรื่องราวของคนขายเนื้อ กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง เข่นฆ่าชาวเมืองผู้บริสุทธิ์ เป้าหมายถัดไปอาจคือครูสอนหนังสือที่แอบชื่นชอบ ตกหลุมรัก พยายามเกี้ยวพาราสี แต่เธอกลับสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น กลายเป็นความเก็บกด อัดอั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง เกือบจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป

แต่ความสนใจของผกก. Chabrol อธิบายไปหลายรอบแล้วว่าไม่ได้สนใจใครคือฆาตกร whodunit? แต่เป็นทำไปทำไม whydunit? ตั้งแต่เริ่มต้น Opening Credit เพลงประกอบสร้างบรรยากาศหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง รวมถึงร่องรอย หลักฐาน รายละเอียดต่างๆ บ่งชี้ชัดอยู่แล้วว่าคนขายเนื้อเป็นบุคคลต้องสงสัย เต็มไปด้วยลับลมคมใน

ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะสามารถทำความเข้าใจเบื้องหลัง อธิบายสาเหตุผลที่ทำให้คนขายเนื้อกลายเป็นฆาตกรได้ไม่ยาก! อันเนื่องจาก Popaul เคยเป็นทหารผ่านศึก เข้าร่วมสองสงคราม Indochina และ Algerian war พบเห็นเพื่อนมนุษย์ถูกเข่นฆ่าเหมือนผักปลา เมื่อปลดจำการหวนกลับมาบ้าน จึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีพลเรือน ใช้ชีวิตอย่างสามัญชน … มีคำเรียกอาการป่วย Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรือ Shell Shock มักเกิดกับบุคคลพานผ่านสงคราม ยังคงจดจำภาพความตายติดตา ลงมือฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์เพื่อสงบสติอารมณ์ ให้สามารถควบคุมตนเองได้อีกครั้ง

บางคนอาจมองว่าไม่ใช่แค่อิทธิพลจาก Shell Shock แต่ยังมีอีกสิ่งกระตุ้นที่สร้างแรงผลักดันให้ Popaul นั่นคือพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของ Hélène พยายามสร้างกำแพงขึ้นมากีดกั้นความสัมพันธ์ ถ้าเธอเปิดใจรับ ให้โอกาสเขาสักนิด ก็อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย สามารถควบคุมตนเอง ไม่ต้องหาหนทางระบายอารมณ์คลุ้มคลั่ง เข่นฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์

จริงๆมันยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่ช่วยกระตุ้น สร้างแรงกดดันให้กับ Popaul อาทิ เสียงระฆังที่ดังหนวกหู ไม่รู้วันคืน (สามารถสื่อถึงเสียงซุบซิบนินทาของชาวเมืองได้ด้วยกระมัง), ความอิจฉาริษยาคู่รักข้าวใหม่ปลามัน (หนึ่งในผู้เสียชีวิตคือเจ้าสาวในงานแต่งงาน), การมาถึงของนักสืบ/เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ฯ แต่ผมว่ามันก็ไม่ได้มีความสลักสำคัญต่อหนังสักเท่าไหร่

สำหรับนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของการฆาตกรรม ผมนึกถึงโคตรภาพยนตร์ Monsieur Verdoux (1947) ของผู้กำกับ Charlie Chaplin เคยเปรียบเทียบฆ่าคนตายในสงคราม แตกต่างอะไรจากการฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์?

As a mass killer, I’m an amateur by comparison … It’s all business. One murder makes a villain. Millions, a hero. Numbers sanctify.

Monsieur Verdoux

ในหนังก็มีคำโต้ตอบ ความคิดเห็นของผกก. Chabrol กล่าวผ่านตัวละครหนึ่งขณะอยู่ในร้านขายเนื้อ (สถานที่ที่เปรียบดั่งสนามรบ เชือดเฉือน เข่นฆ่า ค้าขายเนื้อสัตว์) “War is horrible, but it’s a Job to be done … whereas a murder like this is savagery.” นี่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างร้านขายเนื้อ vs. ฆาตกรรม vs. สงคราม เชื่อมโยงกันอย่างคาดไม่ถึง!

ผกก. Chabrol สมัยวัยรุ่น หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เคยอาสาสมัครทหาร French Medical Corps เดินทางไปประจำการประเทศ Germany แม้ไม่เคยสู้รบปรบมือกับใคร (ส่วนใหญ่เป็นคนฉายโปรเจคเตอร์ภาพยนตร์) แต่การได้พบเห็นสภาพเสื่อมโทรม ปรักหักพัง ความทุกข์ยากลำบากของผู้คน มันคือภาพติดตาฝังใจ มีโอกาสเมื่อไหร่ก็พยายามสรรค์สร้างภาพยนตร์ต่อต้านสงคราม (Anti-Wars)

เรายังสามารถเปรียบเทียบความหวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัวของ Hélène (ที่มีต่อ Popaul) เข้ากับบรรยากาศในช่วงระหว่างสงคราม ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะมาดีมาร้าย ชีวิตกำลังจะถึงจุดสิ้นสุดแล้วหรือไม่ วินาทีเฉียดเป็นเฉียดตาย จักทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต

ผู้ชมส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจว่าทำไม Hélène ถึงสามารถปรับเปลี่ยนความรู้สึกต่อ Popaul นั่นก็เพราะวินาทีเฉียดเป็นเฉียดตาย ได้ทำลายกำแพงขวางกั้น ครุ่นคิดว่าฉันต้องตายแน่ๆกลับเป็นอีกฝ่ายลงมือกระทำอัตวินิบาต นั่นคือความพยายามพิสูจน์ตนเอง แสดงให้เห็นว่าต้องการกลับตัวกลับใจ ให้อภัยฉันได้ไหม

ตอนจบของหนังย่อมมีคนที่สามารถ และไม่สามารถให้อภัย Popaul ผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิดสิ! กฎแห่งกรรมไม่ใช่สิ่งสามารถให้อภัยกันได้ แต่ถ้าฆาตกรนั้นคือคนใกล้ตัว ญาติพี่น้อง บุคคลที่เรารัก จะให้โกรธรังเกลียดอาจทำไม่ลง เราจึงไม่ควรใช้อารมณ์ด่วนตัดสินใคร พยายามเรียนรู้ ทำความเข้าใจเหตุผลอีกฝ่าย “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” จักทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นเยอะ


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง ด้วยเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมทำให้มียอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสสูงถึง 1,148,554 ใบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม! และพอได้เข้าฉายประเทศอังกฤษ ยังมีโอกาสเข้าชิง BAFTA Award: Best Actress (Stéphane Audran) น่าเสียดายพ่ายให้กับ Liza Minnelli ภาพยนตร์ Cabaret (1972)

แม้ปัจจุบันจะยังไม่พบเห็นข่าวคราวการบูรณะ แต่มีการแสกนใหม่สำหรับจัดจำหน่าย Blu-Ray (ฉบับของ Divisa Films ค่ายจากสเปน) เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 คุณภาพถือว่ายอดเยี่ยม ไร้ตำหนิ

ด้วยเสียงลือเล่าขานของ Le Boucher (1970) ว่าคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดของผกก. Chabrol ทำให้ผมคาดหวังค่อนข้างสูง แต่ระหว่างรับชมกลับรู้สึกผิดหวังพอสมควร ไม่ใช่เพราะคุณภาพย่ำแย่ แค่แนวคิดไม่ได้สดใหม่ ต้องมาทำความเข้าใจภายหลังถึงตระหนักว่าเป็นหนังที่มาก่อนกาล แล้วสร้างอิทธิพลให้คนรุ่นหลังอย่างล้นหลาม

เราอาจต้องให้เวลากับหนัง หรือรับชมผลงานอื่นๆ แล้วค่อยจัดอันดับความชื่นชอบ ก่อนบอกได้ว่ายอดเยี่ยมสมคำร่ำลือจริงๆหรือไม่? ซึ่งท้ายสุดทำให้ผมค้นพบว่า Le Boucher (1970) คือหนึ่งในผลงานชิ้นเอก น่าประทับใจที่สุดของผกก. Chabrol

จัดเรต 18+ กับคดีฆาตกรรมที่สร้างความหลอกหลอน สั่นสยองขวัญ เขย่าประสาท

คำโปรย | Le Boucher หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Claude Chabrol ที่ทำการเชือดเฉือนจิตวิญญาณผู้ชม
คุณภาพ | ชืฉื
ส่วนตัว | ขนหัวลุกพอง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: