The Breach (1970) , , : Claude Chabrol ♥♥♥♥
เริ่มต้นเช้าวันหนึ่ง สามีตรงเข้ามาทำร้ายร่างกายภรรยาและบุตร ฝ่ายหญิงจึงโต้ตอบด้วยการใช้กระทะทุบศีรษะ! ความรุนแรงบังเกิดขึ้นนี้คงทำให้ใครต่อใครตีตราว่าร้าย รับไม่ได้กับความรุนแรง ต้องเลิกราหย่าร้างเท่านั้น แต่เบื้องหลังความจริงเป็นไร เราคนนอกอย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจ
โดยปกติแล้ว Stéphane Audran (ภรรยาของผกก. Chabrol) มักได้รับบทบาทที่มีความเริดเชิด เย่อหยิ่ง ทะนงตน วางตัวหัวสูงส่ง ไม่ยี่หร่าอะไรใคร อุปนิสัยดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ, แต่สำหรับภาพยนตร์ La Rupture (1970) ไม่รู้ครั้งแรกเลยรึเปล่าเล่นเป็นแม่คนดี มีความแน่วแน่มั่นคง ซื่อสัตย์จริงใจ ยึดถือมั่นในคุณธรรม ภาษามวยปล้ำมีคำเรียกจาก ‘heel’ กลายเป็น ‘baby face’
แต่ความดีเลิศเลอ(เกินไป)ของ Audran ทำให้ต้องประสบเหตุการณ์เลวร้าย รายล้อมด้วยผู้คนเห็นแก่ตัว สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ รอบข้างเต็มไปด้วยความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ สังคมเสื่อมโทรมทราม ปกคลุมด้วยความมืดมิด หลงเหลือแสงสว่างเพียงในความเพ้อฝันกลางวันหลังถูกมอมยา
Mais quelle nuit épaisse tout à coup m’environne?
Jean Racine
What is this darkness envelopeing me?
ผลงานในช่วงยุคทอง (Golden Era) ของผกก. Chabrol (ระหว่างปี ค.ศ. 1968-78) มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เริ่มต้นจาก Les Biches (1968), ได้รับการกล่าวขวัญสูงสุดกับ Le Boucher (1970), ผมพยายามมองหาอีกสักเรื่องที่น่าสนใจ ลองพิมพ์ค้นหา “Best of Claude Chabrol” แล้วพบเจอ Claude Chabrol: 10 essential films ของนิตยสาร Sight & Sound ก่อนพบเห็นภาพ Stéphane Audran เคียงข้างลูกโป่งสีแดง มันมีแรงดึงดูดมากมายมหาศาล ต้องขวนขวายหารับชม La Rupture (1970) ให้จงได้!
ลูกโป่งแดงมันมีอะไรหรือ? คำตอบคือชวนให้ผมระลึกถึงโคตรหนังสั้น Le Ballon Rouge (1956) หรือ The Red Balloon รู้ทั้งรู้ว่ามันคงไม่เกี่ยวเนื่องอะไรกัน แต่มันกลับมีความลึกลับ พิศวง ราวกับต้องมนต์ แรงกระตุ้น ดึงดูดตาดูดใจ อยากรับรู้ให้ได้ว่าเคลือบแฝงนัยยะอะไร
สิ่งโดดเด่นที่อาจเป็นจุดด้อยของ La Rupture (1970) คือความพยายามผสมผสานหลากหลายแนวหนัง Family Drama, Social Drama, (Dark) Comedy, Thriller, Horror, Film Noir, ก่อนตบท้ายด้วย Philosophy Fantasy ผู้ชม/นักวิจารณ์จึงไม่สามารถคาดเดาอะไร มุมมองดำเนินเรื่องก็ผันเปลี่ยนแปลงไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเพื่อสำแดงพลังอารมณ์ ตัวตน วิสัยทัศน์ “Expressionism” ของผกก. Chabrol
Genre is Chabrol’s MacGuffin.
Armond White
Claude Henri Jean Chabrol (1930-2010) ผู้กำกับ/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่ไปเติบโตยังชนบท Sardent, Nouvelle-Aquitaine ครอบครัวเป็นเจ้าของร้านขายยา คาดหวังให้บุตรชายสืบทอดกิจการ แต่กลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” ก่อตั้งชมรม Film Club ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลงใหลเรื่องราวนักสืบ แนวตื่นเต้นลุ้นระทึก (Thriller), หลังสงครามโลกสิ้นสุดเดินทางสู่ Paris เข้าศึกษาต่อ Université de Paris (บ้างว่าร่ำเรียนเภสัชศาสตร์ บ้างว่านิติศาสตร์) แต่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ยัง Ciné-Club du Quartier Latin และ Cinémathèque Française หลังเรียนจบอาสาสมัครทหาร French Medical Corps ไต่เต้าจนได้ยศผู้หมวด (Sergeant) พอปลดประจำการ กลายเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma, ร่วมกับ Éric Rohmer ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ Hitchcock (1957), ให้ความช่วยเหลือ Jacques Rivette สรรค์สร้างหนังสั้น Le coup du Berger (1957), กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Beau Serge (1958) ถือเป็นจุดเริ่มต้นกลุ่มเคลื่อนไหว French New Wave
สำหรับ La Rupture แปลตรงตัว The Breach หรือ The Breakup เป็นโปรเจคร่วมทุนนานาชาติ French-Italian-Belgian ดัดแปลงจากนวนิยาย The Balloon Man (1968) แต่งโดย Charlotte Armstrong (1905-69) นักเขียนหญิงสัญชาติอเมริกัน มีชื่อเสียงจากผลงานแนว Mystery, Suspense, Fantasy
ผกก. Chabrol ทำการดัดแปลงบทค่อนข้างจะซื่อตรงต่อเนื้อเรื่องราวของ The Balloon Man (1968) แค่ทำการปรับเปลี่ยนสถานที่พื้นหลัง (จากสหรัฐอเมริกาสู่ Brussels, Belgium) ชื่อตัวละคร (ให้เป็นภาษาฝรั่งเศส) และโดยเฉพาะโครงสร้างดำเนินเรื่อง พยายามทำลายความลึกลับ (Mystery) เร่งรีบเปิดเผยเบื้องหลังตัวละครที่ได้รับการว่าจ้างจากพ่อสามีตั้งแต่ต้นเรื่อง
เกร็ด: La Rupture (1970) คือภาพยนตร์ลำดับที่สี่จากหก มีคำเรียก “Hélène Cycle” นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหญิงชื่อ Hélène สาวผมบลอนด์ที่มีความคลุมเคลือ (Ambiguous), ทึบแสง (Opaque), ยากเกินคาดเดา (Beyond Comprehension), มักถูกกระทำร้าย ได้รับบาดแผลทางใจบางอย่าง พยายามปกปิดซ่อนเร้น แต่ก็มักถูกรื้อฟื้นให้ต้องเผชิญหน้ากับมัน
เช้าวันหนึ่ง Charles Régnier (รับบทโดย Michel Bouquet) เกิดอาการคลุ้มคลั่งหลังเสพยา กระทำร้ายร่างกายบุตรชายและภรรยา Hélène (รับบทโดย Stéphane Audran) จนเธอต้องโต้ตอบด้วยการใช้กระทะทุบศีรษะ! ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายไปรักษาบาดแผลทางกาย(และจิตใจ)
ระหว่างรอคอยกระบวนการฟ้องหย่า Hélène เช่าห้องพัก (Boarding House) ที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลรักษาบุตรชาย วันหนึ่งได้พบเจอกับ Paul Thomas (รับบทโดย Jean-Pierre Cassel) อ้างว่าคือเพื่อนรู้จัก Charles ขณะนี้ล้มป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย กำลังมองหาสถานที่อยู่อาศัยใกล้โรงพยาบาล แต่แท้จริงแล้วเหตุผลที่หมอนี่พยายามเข้าหาเธอ เพราะได้รับจ้างวานจากพ่อสามี Ludovic Régnier (รับบทโดย Michel Bouquet) ให้ช่วยค้นหา/สร้างหลักฐาน สำหรับใส่ร้ายป้ายสี Hélène เพื่อสามารถเอาชนะคดีความ ได้สิทธิ์ในการเลี้ยงดูแลบุตรชายโดยชอบธรรม
Paul Thomas พยายามขุดคุ้ยค้นหาหลักฐาน เปิดโปงพฤติกรรมชั่วร้ายของ Hélène แต่กลับไม่พบเจออะไร เธอช่างเป็นคนดีแท้ ไม่มีแม้เรื่องด่างพร้อย นั่นทำให้เขาครุ่นคิดแผนการชั่วร้าย ด้วยการมอมยาบุตรสาวเจ้าของหอพัก Elise ลักพาตัวไประเริงรักกับแฟนสาว แต่จนแล้วจนรอดกลับบังเกิดเหตุการณ์วุ่นๆ จนทำให้อะไรๆผิดแผนไปเสียหมด
Stéphane Audran ชื่อเกิด Colette Suzanne Jeannine Dacheville (1932-2018) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Versailles, Seine-et-Oise โตขึ้นฝึกฝนการแสดงยัง Ecole de théâtre Charles Dullin แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับละคอนเวทีนัก เลยผันตัวมาแสดงภาพยนตร์ ร่วมงานครั้งแรกกับสามี Claude Chabrol ตั้งแต่ Les Cousins (1959) ผลงานเด่นๆ อาทิ Les Biches (1958), Le Signe du Lion (1962), Le Boucher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), Violette Nozière (1978), Babette’s Feast (1987) ฯ
รับบท Hélène Régnier หญิงวัยกลางคน แม้ไม่ได้สถานะทางสังคมสูงส่ง แต่มีความมุ่งมั่น เข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต จิตใจโอบอ้อมอารี ไม่เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายใดๆ แม้ยังมีความรักมากล้นต่อสามี กลับถูกครอบครัวกีดกัน ผลักไส (เพราะมีสถานะทางสังคมสูงกว่า) ไม่เห็นชอบตั้งแต่ตอนแต่งงาน โทษว่ากล่าวคือต้นตอทำให้ Charles หันพึ่งยาเสพติด เมื่อบังเกิดความรุนแรงไม่คาดคิด ประกาศกร้าวต้องหย่าร้าง พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเลี้ยงดูแลบุตรชาย
หาได้ยากในภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส ที่ตัวละครหญิงจะมีจิตใจอันบริสุทธิ์ ไม่เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายใดๆ (มันก็น่าคิดนะว่าทำไม) แต่คนดีเกินไป ย่อมถูกอิจฉาริษยา รังเกียจเดียดฉันท์ ใครต่อใครจึงพยายามกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสี เพื่อบดขยี้ ทำให้ป่นปี้ กลายเป็นความท้าทายของ Audran ในการสำแดงความเข้มแข็ง จิตวิญญาณแน่วแน่ มุ่งมั่นคง ไม่โอนอ่อนผ่อนปรน ย่อท้อแท้ต่ออุปสรรคขวากหนาม เผชิญหน้าศัตรูผู้มารุกราน และคาดหวังว่าตอนจบจักพบเจอแสงสว่าง หนทางออกจากโลกอันมืดมิดแห่งนี้
หลายคนอาจชื่นชอบฉากที่ Audran ก้าวลงบันได พูดใส่อารมณ์ กล้าเผชิญหน้าพ่อสามีในที่สาธารณะ แต่ผมกลับเคลิบเคลิ้มหลงใหลตอนเธอถูกมอมยา สายตาเหม่อล่องลอย ก้าวดำเนินไปอย่างไม่รับรู้ตนเอง ถึงอย่างนั้นกลับยังสำแดงความมุ่งมั่น ห่วงโหยหาบุตรชาย นั่นคือสันชาตญาณเพศแม่ จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์เที่ยงแท้ ไม่มีสิ่งชั่วร้ายใดๆสามารถเจือปน!
Jean-Pierre Cassel ชื่อจริง Jean-Pierre Crochon (1932-2007) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris มารดาเป็นนักร้องอุปรากรชื่อดัง Louise-Marguerite Fabrègue, วัยเด็กหลงใหลลีลาการเต้นของ Grace Kelly พยายามฝึกฝน Tab Dance จนมีโอกาสแสดงภาพยนตร์ The Happy Road (1957), เริ่มต้นจากวงการละคอนเวที มีชื่อเสียงในยุคแรกๆจากเป็นนักแสดงตลก Male Companion (1964), ก่อนแจ้งเกิดเต็มตัวกับบทบาทดราม่า Army of Shadows (1969), The Breach (1970), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), Murder on the Orient Express (1974), The Four Musketeers (1974), Vincent & Theo (1990), La Cérémonie (1995) ฯ
รับบท Paul Thomas ชายแปลกหน้า อ้างว่าคือเพื่อนของ Charles พยายามเข้ามาตีสนิท Hélène กำลังมองหาสถานที่พักใกล้โรงพยาบาล แต่แท้จริงแล้วเขาคือบุคคลที่ Ludovic (บิดาของ Charles) ว่าจ้างมาเพื่อค้นหา/สร้างหลักฐาน สำหรับนำไปใช้ว่าความบนชั้นศาล สำหรับเรียกร้องสิทธิ์ในการดูแลบุตรไม่ให้ตกเป็นของฟากฝั่งมารดา แต่ทว่าสารพัดสิ่งที่ชายคนนี้ลงมือกระทำ กลับเต็มไปด้วยความผิดพลาด ล้มเหลว จนท้ายที่สุดก็ไม่สามารถหลบหนีพ้นความผิด
ภาพจำในยุคแรกๆ Cassel เห็นหน้าก็รู้สึกว่าเป็นคนพึ่งพาไม่ได้สักเท่าไหร่ ท่าทางรกๆ เหมือนตัวตลกๆ พยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูดี ลับหลังคือนักต้มตุ๋น หลอกลวง (con artist) เก่งแต่ปาก เอาเข้าจริงกลับทำอะไรไม่สำเร็จสักสิ่งอย่าง ไม่น่าแปลกจะถูกจับได้ไล่ทัน พอกลายเป็นหมาจนตรอกจึงพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยสันชาตญาณ น่าจะไม่รับรู้ตัวด้วยซ้ำว่าทำอะไรลงไป
นี่เป็นตัวละครที่ช่วยสร้างความผ่อนคลาย เสียงหัวเราะ เต็มไปด้วยเรื่องราวตลกขบขัน (แต่หลายคนอาจขำไม่ออกสักเท่าไหร่) ใครดูหนังฝรั่งเศสมาเยอะก็น่าจะติดตาภาพจำยุคแรกๆของ Cassel (มักเล่นเป็นนักแสดงตลก) ผมเริ่มเห็นแววตั้งแต่แรกพบเจอ Ludovic สารพัดคำคุยโวโอ้อวด มันช่างธนูปักเข่า (Death Flag) และพอได้งานได้เงิน ก็รีบตรงไปหาแฟนสาว Sonia (น่าจะโสเภณี) ระริกระรี้อยากร่วมเพศสัมพันธ์ นี่เป็นการบอกใบ้ว่าหมอนี่คือนักต้มตุ๋น หลอกหลวง เก่งแต่ปาก พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่
ถ่ายภาพโดย Jean Rabier (1927-2016) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montfort-L’Amaury จากเป็นศิลปินวาดรูป ผันสู่ทำงานตากล้องภาพยนตร์ เริ่มจากควบคุมกล้อง (Camera Operator) ถ่ายทำหนังสั้นตั้งแต่ปี 1948, ผู้ช่วย Henri Decaë ถ่ายทำ Crèvecoeur (1955), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), The 400 Blows (1959), จากนั้นได้รับการผลักดันจาก Claude Chabrol เป็นตากล้องเต็มตัว/ขาประจำตั้งแต่ Wise Guys (1961), ผลงานโด่งดัง อาทิ Cléo from 5 to 7 (1962), Bay of Angels (1963), The Umbrellas of Cherbourg (1964), Le Bonheur (1965) ฯ
งานภาพของหนังโดดเด่นกับลีลาการขยับเคลื่อนกล้อง (Camera Work) ค่อยๆเคลื่อนไหล แพนนิ่ง-แทร็คกิ้ง-ซูมมิ่ง เดี๋ยวช้า-เดี๋ยวเร็ว ดำเนินไปอย่างมีลับเลศนัย, สถานที่ต่างๆมีการออกแบบให้เต็มไปด้วยลวดลาย รายละเอียด สีสันฉูดฉาด ละลานตา และช่วงไคลน์แม็กซ์ (ระหว่าง Hélène ถูกมอมยา) ละเล่นกับการปรับแต่งสีสัน (Color Effects) เพื่อให้ได้ภาพออกมาดูเหนือจริง (Surreal), โลกแฟนตาซี (Fantasy), หรือในความเพ้อฝัน (Dreamworld) ก็แล้วแต่จะเรียกขาน
หนังเป็นการร่วมทุนสร้าง French-Italian-Belgian ได้งบประมาณก้อนใหญ่จาก Ciné Vog Films สตูดิโอของประเทศ Belgium จึงเรียกร้องขอให้ผกก. Chabrol เลือกหาสถานที่ถ่ายทำยังกรุง Brussels (เมืองหลวงของ Belgium) ถือเป็นโอกาสท่องเที่ยว-ทำงาน ถ่ายทำระหว่างพฤษภาคม – มิถุนายน ค.ศ. 1970
คนที่ไม่ได้เรียนภาพยนตร์อาจไม่เข้าใจ ไม่ทันสังเกตเห็นความผิดแผกแปลกประหลาดของสองช็อตนี้ มันคือการแหกกฎ “180-degree rule” มองผิวเผินเหมือนเพื่อสลับมุมมองตรงกันข้ามระหว่าง Hélène กับบุตรชายและสามี แต่การกระทำผิดกฎดังกล่าว เพื่อนำไปสู่ความรุนแรงบังเกิดขึ้นอย่างไม่ถึง! … แหกกฎก็ต้องถูกลงโทษใช่ไหมละครับ วินาทีนี้ผกก. Chabrol ทำการแหกกฎภาพยนตร์ Hélène (และบุตรชาย)เลยโดนสามีกระทำร้ายร่างกาย
รายละเอียดเล็กๆน้อยๆของสองช็อตนี้ก็น่าสนใจ
- ระหว่าง Hélène พูดคุยกับบุตรชาย “ตื่นเช้าอีกแล้วใช่ไหม?” แต่ทว่าภายนอกหน้าต่างกลับพบเห็นรถโดยสาร (สมมติว่ามันคือรถโรงเรียน) เคลื่อนผ่านไป นี่ไม่ได้แปลว่าเด็กชายตื่นเช้า แต่ทุกคนล้วนสายหมด!
- ส่วนสามี Charles ขณะเดินออกจากห้องนอน มือล้วนเข้าไปในกางเกง นี่ไม่จำเป็นต้องสื่อถึงอารมณ์ทางเพศ แต่คือความคลุ้มคลั่ง อัดอั้นที่สะสมอยู่ภายใน
- สีผนังห้องสังเกตว่ามีทั้งเหลือง-น้ำเงิน ซึ่งเป็นแม่สีที่อยู่ฟากฝั่งตรงข้าม, เฉกเช่นเดียวกับกับลูกเล่นตอนถ่ายภาพ ขณะพูดคุยกับบุตรชายจะใช้การแพนนิ่ง (Panning), แต่พอสลับฝั่งสามีเปลี่ยนเป็นการซูมมิ่ง (Zooming)
- กระทะที่เพิ่งทอดไข่ทำอาหารให้บุตรชาย กลับกลายเป็นอาวุธสำหรับทุบตีสามีเพื่อให้สงบนิ่ง (สร้าง vs. ทำลาย)
- เสียงกระทะทุบสามี ถูกทำให้เด่นดังขึ้นอย่างเด่นชัด ผมรู้สึกว่ามันฟังดูตลกๆ ซึ่งสอดคล้องเข้ากับความตลกร้ายของหนังได้เป็นอย่างดี!
ชื่อหนัง La Rupture ปรากฎขึ้นระหว่างที่รถวิ่งมาถึงทางแยก ก็เพื่อจะสื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงบังเกิดขึ้น จักนำไปสู่การตัดสินใจแยกทาง เลิกราหย่าร้าง ดำเนินตามทางใครทางมัน … Rupture ภาษาฝรั่งเศสสามารถแปลได้ทั้ง Breach (รุกล้ำ ละเมิด ฝ่าฝืน แตกหัก) และ Breakup (แตกร้าว กระจัดกระจาย เลิกราหย่าร้าง)
การเผชิญหน้ากันระหว่าง Hélène กับพ่อสามี Ludovic สังเกตว่ามุมกล้องพยายามสรรหาอะไรสักอย่างมาแบ่งแยกทั้งสองออกจากกัน หรือถ้าไม่อะไรกีดขวางกั้น พวกเขาก็มักมีตำแหน่ง ทิศทาง บางสิ่งอย่างแตกต่างตรงกันข้ามเสมอๆ
แถมให้อีกนิดสำหรับภาพแรก สังเกตว่าเงาของพ่อสามี Ludovic ดูเหมือนคืบคลานอยู่เบื้องหลัง … คือถ้าเงาอยู่เบื้องหน้า ปกคลุมใบหน้าตัวละครจะตีความว่าถูกครอบงำ แต่มุมกล้องช็อตนี้เขายืนอยู่ด้านหลังจึงมีลักษณะของการคืบคลาน พยายามจะครอบงำแต่ยังทำไม่สำเร็จ
คงเพราะรับประทานยาคลายเครียดเข้าไป Hélène จึงมีท่าทางเหน็ดเหนื่อยล้า อ่อนเปลี้ยเพลียแรง หนังจึงพยายามถ่ายทอดอารมณ์ดังกล่าว “Expressionism” ผ่านมุมกล้องที่ดูแปลกๆ ระยะต่ำกว่าสายตา พอคุณหมอเข้ามาพยุงก็ถ่ายข้ามไหล่ทำให้เห็นภาพเบลอๆ หรือตอนเดินไปหอพักพอมาถึงทางเข้าประตูหน้าก็มีการค่อยๆซูมเข้าหา เพลงประกอบฟังดูเลื่อนลอย เคลื่อนคล้อย ราวกับจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว
ผมไม่สามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับหอพัก/ห้องเช่า (Boarding House) ตั้งอยู่แห่งหนไหน? แต่สังเกตจากการออกแบบ รับอิทธิพลสไตล์ Neoclassicism (1760-1830) ยุคสมัยที่ชาวฝรั่งเศสลุกฮือกันขึ้นมาต่อต้านระบบเจ้าขุนมูลนาย หรือศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) จึงโหยหาค่านิยมยุคเก่า นำเอาศิลปะโบราณ กรีกคลาสสิก มาปรับประยุกต์ให้เข้าวิถีสมัยใหม่ … แต่ผมค่อนข้างผิดหวังกับการเลือกสถานที่แห่งนี้ เพราะมันไม่ได้มีความโดดเด่น น่าจดจำประการใด ทั้งๆอุตส่าห์เดินทางไปถ่ายทำยังกรุง Brussels, Belgium ที่ได้รับฉายา “Capital of Art Nouveau” กลับยังยึดแนวทางสไตล์ Chabrol
แต่แม้หอพัก/ห้องเช่าแห่งนี้จะไม่ได้มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น หวือหวา แต่บรรดาสมาชิกผู้เข้าพัก ต่างคนต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาศัยอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาสุดท้าย (ก่อนที่หอพักแห่งนี้จะถูกทุบทำลาย/วันสิ้นโลกาวินาศ)
- Mme. Pinelli (รับบทโดย Annie Cordy) ผู้ดูแล/เจ้าของหอพัก เป็นคนเคร่งครัด เข้มงวดกวดขัน ยึดถือมั่นในศีลธรรม อนุรักษ์นิยม หัวโบราณ
- Elise (รับบทโดย Katia Romanoff) บุตรสาววัยรุ่นของ Pinelli ที่มีอาการผิดปกติทางจิต โดยปกติเป็นคนร่าเริง สดใส ตัวแทนความบริสุทธิ์ ที่จักถูกคนชั่วล่อลวงจนเสียตัว/เสียคน
- Henri Pinelli (รับบทโดย Jean Carmet) สามีของ Mme. Pinelli เป็นคนอ่อนแอ เปราะบาง ไร้สิทธิ์เสียง เพียงก้มหน้าก้มตา ถูกควบคุมครอบงำโดยภรรยา มักแอบดื่มสุรา ก่อนถูกมอมเหล้าโดย Paul Thomas
- เราสามารถมองความผิดปกติของสามี (ทางจิตใจ) และบุตรสาว (ทางร่างกาย) คือผลกระทบจากพฤติกรรมกดขี่ข่งเหง วางอำนาจบาดใหญ่ของภรรยา/เจ้าของหอพัก
- สามผู้สูงวัย The Three Fates (Parcae) ประกอบด้วย Mme Humbert (รับบทโดย Margo Lion), Mme. Claire (รับบทโดย Louise Chevalier) และ Mme. Marineau (รับบทโดย Maria Michi) พวกเธอชอบนั่งริมหน้าต่าง ซุบซิบนินทา เล่นเกมไพ่ ทำนายไพ่ทาโร่ต์ และช่วงท้ายยังพยายามปกป้อง Hélène (หลังถูกมอมเมา) จากภยันตรายรอบข้าง
- Gerard Mostelle (รับบทโดย Mario David) นักแสดงละคอนเวที เวลาจะพูดคุยทำอะไรมักแสดงออกท่วงท่าอย่างเว่อวังอลังการ เป็นคนซื่อตรง ซื่อสัตย์ ยึดถือมั่นอุดมการณ์ ไม่ยินยอมรับความอยุติธรรม
- Dr. Blanchard (รับบทโดย Angelo Infanti) นายแพทย์หนุ่มสุดหล่อ จิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตากับ Hélène พาเธอมาพักอาศัยอยู่ในหอพักแห่งนี้ ถือเป็นสุภาพบุรุษ/วีรบุรุษ ทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน
แซว: การแบ่งแยกชาย-หญิง ห้ามสุงสิง ห้ามใครอื่นมาร่วมหลับนอน มันอาจฟังดูเคร่งครัด มีศีลธรรมสูงส่ง (ตำแหน่งที่นั่งบนโต๊ะอาหารก็มีแบ่งแยกชาย-หญิง) แต่มันสามารถสื่อถึงแนวคิดอำนาจนิยม เจ้าของหอพักนั่งหัวโต๊ะ วางตัวเป็นใหญ่เหนือสามีและบุตรสาว
ห้องพักของ Hélène เคยเป็นพาไล (Veranda) เรือนหรือเพิงโถงที่ต่อเติมจากเรือนเดิม หรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้สำหรับเป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน … ผมมองว่ามันคือส่วนเกินของบ้านนะแหละ! ซึ่งสอดคล้องเข้ากับเรื่องราวของตัวละครนี้ โดนกีดกัน ผลักไส ถูกกระทำร้าย ไม่ได้รับการยินยอมรับจากครอบครัวฝั่งสามี และสังเกตว่าหน้าต่างสีน้ำเงิน มอบสัมผัสหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก พร้อมกับสายลมพัดโชย
กล้องค่อยๆซูมออกจาก (Zoom-Out) ใบหน้าของ Hélène นอนหลับอยู่บนเตียง พอได้ภาพมุมกว้างตัดภาพไปยังคฤหาสถ์หรูของพ่อสามี Ludovic แล้วกล้องค่อยๆซูมเข้า (Zoom-In) สู่บริเวณหน้าต่างชั้นสอง … โดยปกติลีลาการนำเสนอแบบนี้มักสื่อถึง Hélène กำลังนอนหลับฝันถึงคฤหาสถ์หรู แต่ในบริบทนี้กลับเป็นแค่การเปลี่ยนฉาก (Transitional) สลับมุมมองดำเนินเรื่องมายังพ่อสามี
แซว: ขณะที่ภาพมุมกว้างของหอพักถ่ายติดแค่ชั้นหนึ่ง-สอง กับพื้นดิน แต่ทว่าคฤหาสถ์หรูของพ่อสามี ถ่ายติดชั้นบนสอง-สาม-สี่ พร้อมหลังคาและท้องฟ้า … เป็นการสำแดงสถานะทางสังคมของเจ้าของได้เป็นอย่างดี!
ผกก. Chabrol ดูมีความเพลิดเพลินเหลือเกินกับการจัดวางองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง ใช้ประโยชน์จากสถานที่ถ่ายทำสื่อความหมายบางอย่าง ยกตัวอย่างฉากพ่อ-แม่สามี พูดคุยกับทนายความ สอบถามถึงโอกาส ความเป็นไปได้ มีวิธีไหนไหมที่จะทำให้พวกเขาได้รับสิทธิ์ในการเลี้ยงดูแลบุตร
- ฟากฝั่งพ่อสามี Ludovic ด้านหลังคือหน้าต่าง แทนถึงความพยายามค้นหาหน มองหาความเป็นไปได้ วิธีจะเอาชนะคดีความ
- ฟากฝั่งแม่สามี ตำแหน่งที่เธอนั่งคาบเกี่ยวระหว่างประตู-หน้าต่าง แม้เธอไม่ได้มีสิทธิ์เสียงอะไรนัก แต่ก็ยังคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมอยู่บ้าน
- ประตูคือทางเข้า-ออกปกติ แต่หน้าต่างสามารถเป็นสัญลักษณ์ของเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง
- ส่วนทนายความ แม้จะนั่งติดกับประตู แต่มุมกล้องกลับไม่ถ่ายให้เห็นประตู นั่นคือเขารับรู้หนทางออก วิธีการจะเอาชนะคดีความ แต่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลืออะไรใดๆกับครอบครัวนี้
อีกช็อตหนึ่งที่ผมยากจะห้ามใจ คือการพูดคุยตรงบันไดก่อนร่ำลาระหว่าง Ludovic กับทนายความ แน่นอนว่าทางขึ้น-ลง ย่อมเคลือบแฝงนัยยะบางอย่าง, ฝั่งทนายความปฏิเสธรับทำคดี เพียงพอเท่านี้ ลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม ตรงกันข้ามกับ Ludovic ยังคงดื้อรั้น ดึงดัน เพราะมีเงินทอง จึงไม่ยอมหยุดหย่อน เย่อหยิ่งยโสโอหัง ฉันต้องสูงส่ง ยิ่งใหญ่ ทำทุกสิ่งอย่างได้ดั่งใจ
ระหว่างที่ Hélène พูดคุยกับทนาย เริ่มจากภายในห้อง (รายล้อมด้วยผนังกำแพง) แล้วขึ้นรถรางเพื่อไปเก็บข้าวของที่บ้านหลังเก่า (พบเห็นทิวทัศน์ภายนอกเคลื่อนเลื่อนไป)
- การสนทนาภายในห้อง ฟากฝั่งของ Hélène ด้านหลังจะตรงจากกระจก เพื่อสื่อถึงสิ่งที่พูดบอกล้วนสะท้อนออกมาจากภายใน ไม่มีอะไรเคลือบแอบแฝง
- แต่ระหว่างพูดคุยบนรถราง ภาพที่ผมนำมาอาจเห็นไม่ชัดนัก แต่ตลอดทั้งซีเควนซ์จะพบเห็นภาพรางๆ ใบหน้าของ Hélène สะท้อนกระจกด้านข้าง เล่าความรู้สึกที่ยังคงรักสามี แต่มันมีบางสิ่งอย่างทำให้ความสัมพันธ์ต้องขาดสะบั้น
- ทิวทัศน์ภายนอกที่เคลื่อนเลื่อนผ่าน สามารถสื่อถึงอิทธิพลภายนอก ปัจจัยแวดล้อมรอบข้าง คือสิ่งทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง Hélène กับสามี Charles ขาดสะบั้นลงไป
ผกก. Chabrol อุตส่าห์มาปรากฎตัว (Cameo) กลับก้มหน้าก้มตา ทำเป็นเบือนหน้าหนี กลัวใครเห็นซะงั้น!
ห้องทำงานของ Ludovic สังเกตว่าด้านหลังมีรูปปั้นเทพี Themis ผู้ได้ชื่อว่า Goddess of Justice จริงๆต้องปิดตาถือตาชั่ง เพื่อไม่ให้คำตัดสินเอนเอียงไปข้างไหน แต่ทว่ารูปปั้นนี้ทั้งเปิดตา แถมตาชั่งยังเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง บ่งบอกถึงสันดานธาตุแท้ พฤติกรรมชั่วร้ายของพ่อสามีคนนี้ สนเพียงผลประโยชน์ โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ติดต่อนักต้มตุ๋น Paul Thomas ว่าจ้างให้ค้นหา/สร้างหลักฐาน สำหรับนำไปใช้ว่าความบนชั้นศาล
ส่วนฟากฝั่งตรงกันข้ามมีเทพเจ้าอีกองค์ แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าคือใคร ถือไม้ตะพด แสดงถึงความรุนแรง ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ขั้วตรงกันข้ามกับ Goddess of Justice
หลังตอบรับงาน รับเงินก้อนแรก Paul Thomas ก็ตรงรี่ไปยังอพาร์ทเม้นท์ของแฟนสาว Sonia (รับบทโดย Catherine Rouvel) ภายในห้องเต็มไปด้วยโปสเตอร์ ภาพถ่ายโป๊เปลือย ตัวเธอเองก็ระริกระรี้ สนเพียงมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหนุ่ม … ไม่ว่าจะมองมุมไหน ผมก็ครุ่นคิดว่ายัยนี่คือโสเภณี ปลิงคอยเกาะกิน Paul Thomas (คงมีคนอื่นอีกแต่หนังไม่ได้นำเสนอจุดนั้น)
แรกพบเจอระหว่าง Hélène กับ Paul Thomas ยังบริเวณบันไดโรงพยาบาล สังเกตตำแหน่งของพวกเขามีระดับศีรษะแตกต่างกันมากๆ สำแดงถึงความหัวสูง หลงระเริงของฝ่ายชาย เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถหาหนทาง ขุดคุ้ย/สร้างหลักฐาน กดขี่ข่มเหง เหยียบย่ำฝ่ายหญิงให้จมมิด … มันมีข้อความเตือนแปะอยู่ตรงหนัง SILENCE! นี่ก็แอบเป็นความตลกร้ายของหนัง จงใจประชดประชัน Paul Thomas หุบปากไปเสีย!
ระหว่างที่ Hélène กับ Paul Thomas นั่งคุยกันยังร้านอาหาร สังเกตว่ากล้องมีการเคลื่อนเลื่อนไหลซ้าย-ไหลขวา แสดงถึงความโล้เลลังเล ฝ่ายหญิงไม่แน่ใจว่าหมอนี่คือใคร ส่วนฝ่ายชายก็พยายามสรรหาสรรพข้ออ้าง สำหรับตีสนิท ชิดใกล้ เต็มไปด้วยคำโป้ปด ตอแหล ร้อนรนกระวนกระวายใจ
Paul Thomas พอสามารถแทรกซึมเข้ามาในหอพักแห่งนี้ ก็นำพาตนเองเสนอหน้า เสือกไปทั่ว พยายามทำความรู้จักคนโน่นนี่นั่น ไม่เว้นแม้แต่หญิงสูงวัยทั้งสาม โดยปกติพวกเธอจะหันโต๊ะชนหน้าต่าง แต่การมาของชายคนนี้ ถึงขนาดยินยอมขยับเคลื่อนย้าย ให้เขาเข้ารวมวงไพ่ นั่งหันหลังให้หน้าต่าง
แซว: เห็นท่าทางสับไพ่ ก็พอคาดเดาได้ว่าต้องเป็นมืออาชีพ นั่นคือสิ่งถนัดของนักต้มตุ๋นหลอกลวงก็ว่าได้!
หลังความพยายามแล้วพยายามเล่า Paul Thomas ก็ไม่สามารถหาข้อตำหนิติเตียน ค้นพบความด่างพร้อมของ Hélène ราวกับนักบุญ แม่พระมาจุติ ขาวบริสุทธิ์เหมือน Snow White ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มครุ่นคิดแผนการชั่วร้าย ภายในห้องแฟนสาว Sonia ที่เต็มไปด้วยรูปโป๊เปลือย ฝ่ายหญิงขณะนี้ก็ไม่ได้สวมชุดชั้นใน ร่างกายอาจดูสะอาดสะอ้าน แต่จิตใจกลับสกปรกโสมม
Paul Thomas พยายามหาโอกาสพูดคุยโน้มน้าว Hélène ให้เธอยินยอมรับค่ารักษาพยาบาลก็ยังดี แต่เธอกลับมีนิสัยดื้อรั้น ดึงดัน ตอบปฏิเสธทันควัน ในขณะที่กล้องเคลื่อนเลื่อนผ่านกิ่งก้านไม้ ดูราวกับหนามแหลม ทิ่มแทงร่างกายและจิตใจ แทนความเจ็บปวดที่ครอบครัวอีกฝ่ายเคยกระทำไว้ … มุมกล้องลักษณะนี้ ยังสร้างสัมผัสเหมือนมีใครบางคนกำลังจับจ้อง ถ้ำมอง แอบสอดแนมอยู่ไม่ห่าง
มันเป็นความน่าพิศวงเล็กๆที่ Hélène พบเจอคนขายลูกโป่งในสวนสาธารณะครั้งแรก พอดิบพอดีกับการแรกพบเจอ Paul Thomas แต่เธอกลับไม่เคยพูดคุยอะไรใดๆ เพียงจับจ้องมอง แล้วเดินผ่านไป … นี่แสดงว่ามันต้องมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่างระหว่าง Paul Thomas และคนขายลูกโป่ง
- Paul Thomas เข้าหาตีสนิท Hélène โดยมีลับเลศนัย ได้รับมอบหมายจาก Ludovic จึงครุ่นคิดประทุษร้าย
- คนขายลูกโป่งไม่เคยเข้าหา ไม่ได้พยายามตีสนิท แทบไม่เคยพูดจาก กระทั่งครั้งที่สนทนา พูดเตือนด้วยความปรารถนาดี ไร้พิษภัย
ความเป็นดีแท้ของ Hélène ทำให้เธอได้รับการเตือนถึงสามครั้ง จากชายสามคน
- Dr. Blanchard ระหว่างมาตรวจอาการเด็กชาย พูดบอกกับเธอว่าโรงพยาบาลไม่มีคนไข้ชื่อ Paul Thomas
- Gerard Mostelle นักแสดงละคอนเวทีเพิ่งกลับจากไปพบเจอ Ludovic (เจ้าของโรงละคอน) เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราดเพราะอีกฝ่ายพยายามจะจ่ายเงินซื้อตัว ขอให้สอดแนม Hélène จึงนำความมาพูดบอก และกล่าวถึงความสัมพันธ์กับ Paul Thomas
- และคนขายลูกโป่ง ทั้งๆไม่เคยพูดคุยอะไรกันมาก่อน แต่เดินเข้ามาบอกกล่าวว่าวันนี้ไม่คนแอบติดตาม บรรยายรูปพรรณสัณฐานก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าคือ Paul Thomas
ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าฟุตเทจนี้นำจากหนัง X เรื่องไหน? เลยคาดเดาว่าเป็นหนังปลอม “Film within Film” สร้างขึ้นเพื่อใช้ในหนังโดยเฉพาะ นำเสนอพิธีกรรมเปิดบริสุทธิ์ ร่วมเพศสัมพันธ์ คาดหวังให้การสูญเสียพรหมจรรย์ของ Elise ป้ายสีความผิดให้กับ Hélène … แต่เราอย่ามองแค่ผลลัพท์ที่กลับตารปัตรเท่านั้นนะครับ ลองจินตนาการอนาคตของ Elise หลังเรียนรู้จักเรื่องพรรค์นี้แล้ว เธอจะเป็นอะไรยังไงต่อไป?
หลังตระเตรียมแผนการเรียบร้อยเสร็จสรรพ Paul Thomas ก็กลับมายังหอพัก พบเจอ พูดคุยกับ Hélène เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใจ แต่คำตอบของเธอพร้อมมุมกล้องที่พลิกกลับตารปัตร (ทำลายกฎ 180 องศา) ฉันรับรู้เบื้องหลังความจริงของนาย นั่นทำให้ทุกสิ่งอย่างกำลังถึงจุดจบ ล่มสลาย พังทลาย … เป็นซีนเล็กๆที่ล้อกับอารัมบทตอนต้นเรื่อง นำไปสู่บทลงโทษของการแหกกฎ
Paul Thomas พยายามสรรหาข้ออ้าง ฉุกกระชากลากดึง เพื่อบีบบังคับให้ Hélène ทำตามแผนการของตน แต่แล้วจู่ๆโคมไฟถนนพลันส่องสว่าง สร้างความตกอกตกใจจนฝ่ายชายต้องก้าวถอยห่าง ราวกับว่าเขาเป็นคนกลัวแสงสว่าง … นั่นเพราะ Paul Thomas เป็นบุคคลอาศัยอยู่ในความมืด กระทำสิ่งชั่วร้าย เลยไม่สามารถสู้แสงสว่าง
แซว: Paul Thomas ยังพยายามโน้มน้าวให้ Hélène อมลูกกวาด (น่าจะอ้างอิงถึงแอปเปิ้ลเคลือบยาพิษให้กับ Snow White) ทำราวกับเธอเป็นเพียงเด็กน้อยที่ต้องคอยทำตามคำสั่งผู้ใหญ่ แต่หญิงสาวก็มีชีวิตจิตใจ คนเท่ากัน เสมอภาคเท่าเทียม เลยไม่หลงเล่ห์กล ตกเป็นเหยื่อบุคคลชั่วร้าย
Hélène เดินทางมายังคฤหาสถ์ตระกูล Régnier ตรงเข้าโอบกอดพรอดรักสามี แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังคงรักกันดี แต่มีความจำเป็นต้องหย่าร้างเพราะข้อเรียกร้องบิดา-มารดา … เหตุผลอาการซึมเศร้าจนกลายเป็นคนติดยาของ Charles ก็เพราะมิอาจอดทนต่อแรงกดดันจากครอบครัว และผู้คนแวดล้อมรอบข้าง
ซึ่งวินาทีนี้ระหว่างหนุ่มสาวกำลังโอบกอดพรอดรัก กล้องค่อยๆซูมเข้าหามารดายืนอยู่ด้านหลัง ใบหน้าเบลอๆแสดงถึงความตระหนักว่าเธอไม่เคยรับรู้เรื่องราวอะไร ไม่เคยสอบถามความรู้สึกบุตรชาย เอาแต่ตนเองเป็นที่ตั้ง พยายามครุ่นคิดตัดสินใจแทนทุกสิ่งอย่าง
นี่คือหนึ่งในไฮไลท์การแสดงของ Stéphane Audran ระหว่างก้าวลงบันได ขึ้นเสียงใส่อารมณ์ต่อพ่อ-แม่สามี พูดระบายความอัดอั้นต่อหน้าสาธารณะชน โดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น! … คฤหาสถ์หลังนี้อาจไม่ได้อลังการงานสร้างเทียบเท่า Sunset Boulevard (1950) แต่ความหาญกล้าของ Hélène เผชิญหน้าสิ่งอยุติธรรม มีความงดงาม ตราตรึง ทรงพลังไม่ย่อหย่อนกว่า
เจ้าของหอพักกำลังโหวกเหวกโวยวาย เพราะไม่สามารถปลุกตื่นบุตรสาว Elise สามีก็ดื่มเหล้ามึนเมา มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น? แล้วพอ Hélène เดินทางกลับมาถึง ถูกเหนี่ยวรั้งโดย Paul Thomas หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่าเงาของฝ่ายชายพยายามปกคลุมหญิงสาว แต่ก็เฉกเช่นเคย เธอปฏิเสธก้มหัวศิโรราม ไม่ยินยอมทำตามคำร้องขอ ขณะนี้ฉันเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะสนใจเรื่องอื่นใด
เช้าวันถัดมา เริ่มต้นด้วยกล้องจับภาพตรงฉากกั้นห้อง พบเห็นกลุ่มคนกำลังล้อมจับมังกร ซึ่งตอนที่ Hélène เดินมานั่งตรงโต๊ะอาหาร ตำแหน่งของเธอช่างพอดิบพอดี ซ้อนทับกับตัวมังกร สื่อถึงต่อจากนี้กำลังจะถูกรุมห้อมล้อมจากทุกคนรอบข้าง
Paul Thomas กลายเป็นหมาจนตรอก ตัดสินใจผสมสารเสพติดบางอย่างลงในน้ำส้ม ทำให้ Hélène เห็นภาพฟุ้งๆ เกิดอาการเคลิบเคลิ้มล่องลอย โลกใบนี้ช่างดูสว่างสดใส คนรอบข้างต่างเบ่งบานด้วยรอยยิ้ม (=กลุ่มคนกำลังห้อมล้อมจับมังกร) แล้วจู่สันชาติญาณความเป็นแม่ก็สำแดงออกมา ลุกขึ้นออกเดินติดตามหาบุตรชาย
ปล. ขณะที่(สามี) Charles ถูกแรงกดดันครอบครัว ผู้คนรอบข้าง จึงหันไปพึ่งพาสารเสพติด, ตรงกันข้ามกับ (ภรรยา) Hélène สิ้นหวังแค่ไหนก็ไม่เคยคิดใช้ยา กลับถูกหมอบังคับ (ให้ทานยาคลายเครียด) และคราวนี้ดื่มน้ำส้มผสมอะไรสักอย่าง กัญชา? ทำให้เคลิบเคลิ้ม ดวงตาหยาดเยิ้ม ล่องลองเข้าสู่ดินแดนเหนือจริง (Surreal), โลกแฟนตาซี (Fantasy), หรือในความเพ้อฝัน (Dreamworld)
Charles แต่งองค์ทรงเครื่อง กำลังผู้เชือกรองเท้า จับจ้องมองกระจกแตกร้าว ตัวตนในอดีตที่แตกสลาย วินาทีนี้ถือว่าได้ค้นพบตนเอง พร้อมแล้วจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ (ถ่ายมุมก้มเพื่อสื่อว่าเริ่มต้นจากจุดต่ำสุด) โดยไม่สนห่าเหวบิดา-มารดาอีกต่อไป ทำการผลักดัน ก้าวข้ามศพมารดา (รวมถึงภาพสะท้อนรูปปั้น ที่จะมองว่าเป็นตัวแทนบิดาก็ยังได้) เพื่อเดินทางไปหาภรรยาสุดที่รัก
Hélène และหญิงสูงวัยผู้พิทักษ์ทั้งสาม ต่างมานั่งเอ้อละเหยลอยชายอยู่ยังสวนสาธารณะ พร่ำเพ้อรำพัน ขับร้องเพลงเกี่ยวกับความรัก “Love’s pleasures last but a moment, Love’s sorrows last a lifetime.” นี่ไม่ใช่แค่ความรู้สึกของหญิงสาว แต่ยังสามารถเหมารวมถึงผกก. Chabrol ได้ด้วยเช่นกัน!
ตลอดซีเควนซ์นี้ภาพแทนสายตาของ Hélène มักมีการย้อมเฉดสี (Color Effect) คงใช้สารเคมีบางอย่างเพื่อลบบางสีออกไป ผลลัพท์ทำให้แลดูเหมือนภาพสลับลาย (Kaleidoscope) ก็แล้วแต่จะครุ่นคิดตีความว่าคือดินแดนเหนือจริง (Surreal), โลกแฟนตาซี (Fantasy), หรือในความเพ้อฝัน (Dreamworld)
แต่สิ่งน่าสนใจสุดๆคือคนขายลูกโป่ง เมื่อเห็นเฉดสีที่ดูแปลกตา Hélène ถึงกับกล่าวว่า “You’re God.” น่าจะเพราะมองเห็นจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของอีกฝ่าย ไม่มีสิ่งชั่วร้ายเคลือบแอบแฝง แตกต่างจากคนอื่นๆที่ต่างประทุษร้าย สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ สิ่งตอบสนองตัณหาความใคร่ ตัวเธอโหยหาที่จะเป็นอิสระ ได้รับการปลดปล่อยเหมือนลูกโป่งโบยบินสู่ท้องฟ้า … แต่การจะทำเช่นนั้นต้องมีใครสักคนจ่ายค่าลูกโป่ง สื่อถึงข้อแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ
การมาถึงของ Charles สร้างความตื่นตระหนก ตกอกตกใจให้กับ Paul Thomas กลายเป็นหมาจนตรอกเข้าจริงๆ ไขว่คว้าได้มีดแล้วทิ่มแทงเข้าใส่ จากนั้นค่อยๆก้าวถอยหลังเข้าสู่เงามืด ทั้งร่างกายและภาพสะท้อนในกระจก หลงเหลือเพียงเสียงกล่าวอ้างป้องกันตัว (Self-Defense) แต่ด้วยประจักษ์พยาน 3+1 ยังไงก็ไม่รอดพ้นโทษประหารชีวิต … แต่คาดว่าหมอนี่น่าจะฆ่าตัวตายหนีความผิดเสียมากกว่า
แม้เป็นฉากโศกนาฏกรรม แต่ผมก็ไม่อาจอดขำท่ายืนเบียวๆของ Hélène และสามผู้สูงวัย ต่างแสดงอาการตกตะลึง คาดไม่ถึง อ้ำๆอึ้งๆ … แต่ถึงอย่างนั้นแม้สามีถูกฆาตกรรม Hélène กลับไม่รู้หนาวรู้ร้อน จิตใจยังคงล่องลอย ร้องเรียกหาบุตรชาย ก้าวออกเดินจากหอพักไปอีกครั้ง
หลายคนอาจรู้สึกว่าหนังจบลงแบบค้างๆคาๆ อะไรจะบังเกิดขึ้นกับ Hélène? ปฏิกิริยาของ Ludovic หลังสูญเสียภรรยาและบุตรชาย จะยินยอมรับลูกสะใภ้ได้หรือไม่? ภาพลูกโป่งล่อยลอยก่อนสูญหายไป จึงไม่สามารถสื่อถึงการปลดปล่อย ชีวิตได้รับอิสรภาพ แต่คือความเพ้อฝันที่(หญิงสาว)เพียงเหม่อมอง มิอาจขวนขวายไขว่คว้า ยังคงจมปลักอยู่กับโลกความจริงที่เหี้ยมโหดร้าย
ตัดต่อโดย Jacques Gaillard (1930-2021) จากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Les Misérables (1958), ก่อนกลายเป็นขาประจำผกก. Claude Chabrol ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), The Unfaithful Wife (1969), This Man Must Die (1969), The Butcher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971) ฯ
หนังเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ความรุนแรง Charles Régnier กระทำร้ายร่างกายบุตรและภรรยา เรื่องราวในช่วงแรกๆเกาะติด Hélène มองหาสถานที่อยู่ใหม่ พูดคุยกับทนายเพื่อทำเรื่องฟ้องหย่า แต่หลังจากนั้นจะสลับสับเปลี่ยนมุมมองกับ Paul Thomas ได้รับมอบหมายจาก Ludovic (บิดาของ Charles) ว่าจ้างให้ค้นหา/สร้างหลักฐาน สำหรับนำไปใช้ว่าความบนชั้นศาล
- Hélène Régnier
- เช้าวันหนึ่ง Charles กระทำร้ายร่างกายบุตรและภรรยา
- ณ โรงพยาบาล Hélène พูดคุยกับพ่อสามี แสดงเจตจำนงค์ต้องการเลิกราหย่าร้าง
- Hélène มองหาห้องพักที่อยู่ไม่ห่างจากโรงพยาบาล
- Ludovic (บิดาของ Charles) พูดคุยกับทนายความ แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธเพราะเห็นว่าแพ้คดีอย่างแน่นอน
- Hélène พูดคุยกับทนายความ อธิบายเหตุผลที่ Charles กลายเป็นคนแบบนี้
- Paul Thomas
- Paul Thomas ได้รับการติดต่อจาก Ludovic ว่าจ้างให้ค้นหา/สร้างหลักฐาน สำหรับนำไปใช้ว่าความบนชั้นศาล
- พอได้ข้อตกลง Paul Thomas ก็รีบระริกระรี้กลับไปหาแฟนสาว Sonia
- Hélène ขนย้ายข้าวของเข้าห้องพัก พบปะสมาชิกผู้อยู่อาศัย
- แรกพบเจอระหว่าง Hélène กับ Paul Thomas
- Paul Thomas ย้ายเข้ามาอยู่ในหอพัก ทำความรู้จักมักคุ้นสมาชิกผู้อยู่อาศัย
- สารพัดแผนการชั่วร้ายของ Paul Thomas
- Paul Thomas พยายามตีสนิทสมาชิกในหอพัก ขณะเดียวกันก็แอบค้นหาหลักฐาน ด้านมืดของ Hélène แต่กลับไม่พบเจอสักสิ่งอย่าง
- Paul Thomas เรียกร้องขอเงินเพิ่มจาก Ludovic เพื่อนำมาใช้ในแผนการ
- Hélène ได้รับคำเตือนจากคนรอบข้างถึงความไม่ชอบมาพากลของ Paul Thomas
- Paul Thomas ทำการลักพาตัวบุตรสาวเจ้าของหอพัก พาไปเสียสาวกับ Sonia
- แต่ทว่า Hélène กลับปฏิเสธขึ้นรถ ทำให้แผนการของ Paul Thomas ประสบความล้มเหลว
- หมาจนตรอก
- Hélène เดินทางไปสนามบินเพื่อนรอรับ Mr. Rousselet แต่กลับไม่พบเจอใคร
- Hélène เดินทางไปหา(อดีต)สามี Charles พร่ำบอกรัก เผชิญหน้ากับพ่อสามี Ludovic
- พอกลับมาหอพัก Hélène ปฏิเสธยุ่งย่ามก้าวก่ายใดๆกับ Paul Thomas
- เช้าวันถัดมา Paul Thomas แอบใส่ยาลงในน้ำส้ม Hélène ดื่มแล้วเกิดอาการมึนเมา
- Hélène ออกเดินเรื่อยเปื่อยไปพบเจอคนขายลูกโป่ง
- Charles เดินทางมาหาภรรยา Hélène แต่ต้องเผชิญหน้ากับ Paul Thomas
- Hélène ที่ยังคงมึนเมา ก้าวออกจากหอพักเพื่อติดตามหาบุตรชาย
หลายคนคงไม่ชอบการสลับเปลี่ยนมุมมองตัวละคร เพราะทำให้ขาดความต่อเนื่องลื่นไหล เรื่องราวของ Hélène แทบจะหมดสูญสิ้นความสำคัญ กลับมาให้เวลากับใครก็ไม่รู้ ทำโน่นนี่นั่นไร้สาระ เลอะเทอะเละเทะ ไม่มีความสมเหตุสมผลเลยสักนิด แต่นั่นคือแนวทางของผกก. Chabrol ต้องการทำลายความคาดหวัง “Anti-Thriller” ในบริบทนี้อาจเรียกว่า “Anti-Genre”
หรือถ้าเราให้เวลาขบครุ่นคิดสักพัก จักพบว่าการสลับเปลี่ยนมุมมองตัวละคร ก็เพื่อให้ผู้ชมได้พบเห็นเรื่องราวในทิศทางแตกต่างออกไป จากแม่คนดี Hélène กลายเป็นชายอัปรีย์ Paul Thomas ที่มีความอัปลักษณ์พิศดาร เสื่อมโทรมทราม ตัวแทนด้านมืดของโลกใบนี้
เพลงประกอบโดย Pierre Georges Cornil Jansen (1930-2015) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roubain, โตขึ้นเข้าเรียน Conservatoire de Roubaix (เปียโนและดนตรี Harmony) ต่อด้วย Royal Conservatory of Brussels ประพันธ์เพลงออร์เคสตรา, Chamber Music, มีชื่อเสียงจากบทเพลงแนว Avant-Garde จากนั้นกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Claude Chabrol ตั้งแต่ Les Bonnes Femmes (1960)
งานเพลงของหนัง คละคลุ้งด้วยบรรยากาศนัวร์ หลอนๆ ชวนให้ขนหัวลุกพอง เต็มไปด้วยสัมผัสอันตราย สิ่งชั่วร้ายรายล้อมรอบข้าง บางครั้งมีการใช้เสียงสังเคราะห์ ท่วงทำนองจับต้องไม่ค่อยได้ (Avant-Garde) เพื่อสื่อถึงผู้คน แวดวงสังคม โลกใบนี้ช่างเสื่อมโทรมทราม ใครต่อใครล้วนมักมาก เห็นแก่ตัว ครุ่นคิดประทุษร้าย จ้องจะเอาให้ถึงตาย ทำไมมันช่างอัปลักษณ์พิศดารเกินทน
ฉากแรกของหนังเริ่มต้นด้วยความรุนแรงแบบไม่บันยะบันยัง สามีกระทำร้ายร่างกายภรรยาและบุตร บทเพลง Opening Credit ดังขึ้นระหว่างขับรถไปโรงพยาบาล ทำการเคาะเปียโนรัวๆแรงๆ เน้นๆย้ำๆ ซ้ำไปซ้ำมา ในสไตล์ Avant-Garde (เพื่อสื่อถึงความเร่งรีบ ร้อนรน กระวนกระวาย) ก่อนผันแปรเปลี่ยนมาใช้เครื่องดนตรีสังเคราะห์เสียง (น่าจะ Theremin) สร้างความวาบหวิว สั่นสยิวกาย โลกใบนี้มันช่างเหี้ยมโหดร้าย นี่แค่อารัมบทเท่านั้นเองนะครับ!
อีกบทเพลงไฮไลท์ของหนัง คือระหว่าง Hélène มึนเมาจากการถูกมอมยา ทำให้มองเห็นโลกแฟนตาซีที่เต็มไปด้วยแสงสีสัน ท่วงทำนองฟังไม่ได้สดับ กลับสร้างความวาบหวิว สยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน ปั่นป่วนมวนท้องไส้ ไม่เชิงว่าเป็น Psychedelic แต่สามารถดึงดูดผู้ชมให้เคลิบเคลิ้ม ลุ่มหลงใหล ชีวิตไร้หนทางออก ความฝันมิอาจจับต้อง เพียงจ้องมองลูกโป่งล่องลอยสู่อิสรภาพ
La Rupture (1970) เริ่มต้นจากความสัมพันธ์แตกร้าว สามีเกิดอาการมึนเมาหลังเสพยา ไม่สามารถควบคุมนตนเอง ลงมือกระทำร้ายร่างกาย ใช้ความรุนแรงกับบุตรและภรรยา นั่นคือจุดแตกหัก! นำไปสู่การเลิกรา ฟ้องหย่าร้าง ในกรณีนี้ไม่ว่าจะมองมุมไหน ศาลย่อมตัดสินให้สิทธิ์การเลี้ยงดูต้องตกเป็นของมารดา!
แต่ทว่าครอบครัวฝ่ายชาย เนื่องจากฐานะร่ำรวย มีหน้ามีตา สถานะชนชั้นกลางระดับสูง (Upper-Middle Class หรือ Bourgeoisie) จึงพยายามล็อบบี้ทนายความ มองหาช่องโหว่ทางกฎหมาย รวมถึงเล่นสกปรกด้วยการสร้างหลักฐาน ใส่ร้ายป้ายสี ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้สิทธิ์การเลี้ยงดูแลบุตรต้องเป็นของครอบครัวฝั่งสามี!
ผกก. Chabrol เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง เจ้าของธุรกิจร้านขายยา คาดหวังให้บุตรชายสืบทอดกิจการ แต่เขากลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” เลยถูกตัดหางปล่อยวัด ไม่เห็นชอบด้วยกับการแต่งงานกับภรรยาคนแรก Agnès Marie-Madeleine Goute … นี่ก็ชัดเจนมากๆว่าตัวละคร Charles Régnier คือตัวตายตัวแทนผกก. Chabrol
แม้เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง แต่ผกก. Chabrol มักสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่ทำการเสียดสีล้อเลียน สำแดงความจงเกลียดจงชัง นำเสนอพฤติกรรมอัปลักษณ์พิศดาร เชื่อว่าเงินคืออำนาจบารมี เป็นหน้าเป็นตา สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยน ทำอะไรๆได้ทุกสิ่งอย่าง
เมื่อตอนภรรยา(คนแรก)สูญเสียบุตรคนแรก ผกก. Chabrol กลายเป็นคนติดเหล้า สำมะเลเทเมา หันไปพึ่งพาสารเสพติด โชคดีได้ภรรยาสุดแสนดี อดทนอดกลั้น จนสามารถคลอดบุตรคนใหม่สำเร็จ! แถมพอเธอได้รับเงินมรดกก้อนโต ยังมอบเป็นทุนสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Le Beau Serge (1958) ถึงอย่างนั้นเมื่อปี ค.ศ. 1962 พวกเขากลับเลิกราหย่าร้าง
ผมจะไม่สามารถหาข้อมูลว่าทำไมผกก. Chabrol ถึงหย่าร้างกับภรรยาคนแรก? แต่สังเกตว่าหลายๆผลงานต่อจากนั้น มักกล่าวโทษตัวละครเพศหญิง สำแดงอคติ รังเกียจต่อต้าน ใส่ร้ายป้ายสี ให้ถูกกระทำจนป่นปี้ อ้างว่าอีกฝ่ายหมดรัก ไม่ซื่อสัตย์ คบชู้นอกใจ โหยหาอิสรภาพ ระริกระรี้แรดร่าน เรียกว่า “เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น”
พอมาถึง La Rupture (1970) ผมก็ไม่รู้ผกก. Chabrol จู่ๆบังเกิดความตระหนักอะไรขึ้นได้? ภาพยนตร์เรื่องนี้ราวกับคำรับสารภาพผิด ต้องการอธิบายเหตุผล ข้อแก้ต่างตนเอง (ว่าได้รับอิทธิพลจากครอบครัวจนสูญเสียตัวตนเอง) และพยายามครุ่นคิดถึงหัวอก “เอาใจเธอมาใส่ใจฉัน” นำเสนอเรื่องราวความรู้สึกของเธอในช่วงเวลานั้น … สารพัดความรุนแรงที่พบเห็นจากหนัง ไม่จำเป็นว่าต้องคือเหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริง เราสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ได้ทั้งหมด
มันเป็นความบังเอิญระหว่างที่ผมค้นหาว่าทำไมผกก. Chabrol ถึงหย่าร้างภรรยาคนแรก? แล้วดันไปพบเจอบทสัมภาษณ์อธิบายเหตุผลที่เขาหย่าร้างภรรยาคนที่สอง Stéphane Audran มันอาจไม่ได้เกี่ยวเนื่องกันตรงๆ แต่ถือว่าน่าสนใจ
My rapport with Stéphane as an actress is more agreeable now than when we were married. When you spend your days and nights with your wife and then you look through the camera and see her again, it’s just too much.
Claude Chabrol กล่าวถึงเหตุผลเลิกราภรรยาคนที่สอง Stéphane Audran
วงในเล่ากันว่าผกก. Chabrol เกิดความอิจฉาริษยาภรรยา Audran เพราะเธอกลายเป็นตัวตายตัวแทน เป็นหน้าเป็นตา มีชื่อเสียงมากกว่า (คือกลัวว่าเมื่อใครกล่าวถึงภาพยนตร์ของตนเอง จะมีแต่คนนึกถึง Audran) จุดแตกร้าวเห็นว่าเริ่มต้นแถวๆ La Femme Infidèle (1968) หรือ The Unfaithful Wife
The only love that can really exist in the bourgeois family is the love of parents for their children. I’m not against marriage or the family, only the bourgeois family.
นักวิจารณ์เปรียบเทียบผลงานของผกก. Chabrol มีความละม้ายคล้าย Luis Buñuel ที่ต่างโจมตีชนชั้นกลางเหมือนกัน แต่ภาพยนตร์ของ Buñuel ใช้มีดอีโต้ (Machete) โจมตีจากเปลือกภายนอก, ตรงกันข้ามกับ Chabrol ใช้มีดและส้อมบนโต๊ะอาหาร ทิ่มแทง กรีดกราย เปิดโปงสันดานธาตุแท้จากวงใน
แม้ยุคสมัยกำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป (จากการมาถึงของ Mai ’68) แต่ในมุมของผกก. Chabrol แทนที่อารยธรรมมนุษย์จะพัฒนาการไปข้างหน้า สภาพสังคม จิตใจผู้คนกลับกำลังเสื่อมทรามลง อันเนื่องจากอิทธิพลของระบอบทุนนิยม ทำให้เกิดช่องว่าง ระยะห่างระหว่างชนชั้นเพิ่มมากขึ้น คนมีเงินก็รวยล้นฟ้า กระยาจกก็มากมายเต็มท้องถนน ยุคสมัยแห่งความคอรัปชั่น ไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ
ตอนจบของ La Rupture เต็มไปด้วยความคลุมเคลือ ค้างๆคาๆ ทิ้งไว้เพียงโลกนามธรรม ความเพ้อฝัน แฟนตาซีของ Hélène พยายามออกติดตามหาบุตรชาย (แสงสว่างหนึ่งเดียวที่ทำให้เธอยังมีชีวิตอยู่) แต่สภาพขณะนั้นเกือบจะกลายเป็นคนบ้า! คลุ้มคลั่ง สูญเสียสติแตก นั่นสำแดงถึงความหมดสิ้นหวังต่อโลกใบนี้
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แม้เสียงตอบรับค่อนข้างแตก (mixed review) เนื่องจากมีความหลากหลายแนวมากเกินไป “too many beautiful things in it.” แต่ก็ยังมียอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสสูงถึง 927,678 ใบ ต้องถือว่าประสบความสำเร็จประมาณหนึ่ง
Claude Chabrol’s La Rupture (1970) is in my opinion his finest film, but it is a hard one to classify. It can be considered to be a thriller, a film noir, a horror film, or a philosophical fantasy, but it seems to escape the boundaries of all of these genre types. From any angle, the film turns out to be not what you would expect. For this reason the film has been a puzzle to many viewers and has had a variety of critical responses.
The Film Sufi
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ 2K ได้รับทุนสนับสนุนโดยองค์กร Centre national du cinéma et de l’image animée (CNC) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 ผมยังไม่พบเห็นจัดจำหน่าย Blu-Ray แต่มีไฟล์ WEBRip แสดงว่าสามารถหารับชมออนไลน์ได้จากสตรีมมิ่ง Amazon Prime
ถ้าวัดกันที่ความประทับใจแรก (First Impression) ผมมีความชื่นชอบ La Rupture (1970) > Le Boucher (1970) หลงใหลการนำเสนออิทธิพลแวดล้อมรอบข้างที่ส่งผลกระทบต่อ(สภาพจิตใจ)ตัวละคร แต่หลังจากใช้เวลาขบครุ่นคิด ศึกษารายละเอียดหนัง ทุกสิ่งอย่างก็พลิกกลับตารปัตร Le Boucher (1970) >>> La Rupture (1970) นั่นเพราะคนขายเนื้อ/ฆาตกรต่อเนื่อง ทำการสำรวจสภาพจิตใจ เข้าไปในถ้ำมืดมิด แล้วได้รับไฟแช็กส่องสว่าง กลายเป็นประกายแห่งความหวังสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ … ค้นพบว่า La Boucher (1970) มีนัยยะเชิงสัญญะลุ่มลึกกว่าหลายเท่าตัว
แต่ก็ไม่ใช่ว่า La Rupture (1970) ไม่ได้มีดีเด่นอะไร ผมคลั่งไคล้ฉากไคลน์แม็กซ์เมื่อตัวละครของ Stéphane Audran ถูกมอมยา พี้กัญชา ทำให้เคลิบเคลิ้มล่องลอย เพ้อฝันกลางวัน ราวกับอยู่ในโลกแฟนตาซี พยายามปลดปล่อยลูกโป่งสีแดง ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า ตัวเธอเองก็โหยหาอิสรภาพ ท่ามกลางโลกแห่งความสิ้นหวัง
จัดเรต 18+ กับความรุนแรง แผนการชั่วร้าย รายล้อมรอบด้วยความมิดหม่น
Leave a Reply