Les Biches

Les Biches (1968) French : Claude Chabrol ♥♥♥♡

คำว่า Biche ภาษาฝรั่งเศสแปลว่ากวางตัวเมีย (Doe), ขณะเดียวกันยังเป็นศัพท์แสลงของเพศหญิง (Girl, Young Woman) แต่ถ้าเขียนติดกัน Lesbiche หรือ Lesbisch จะหมายถึงเลสเบี้ยน (Lesbian), นำเสนอเรื่องราวรักสามเส้าระหว่างสองสาวและชู้รักหนุ่ม ก่อนกาลมาถึงของ Mai ’68

หลังเสร็จจากสองสามผลงานแจ้งเกิด Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), Les Bonnes Femmes (1960), ผกก. Chabrol อยู่ในช่วงเคว้งคว้าง ไร้ทิศทาง แม้ได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์แทบจะปีละเรื่อง แต่เสียงตอบรับจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมกลับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เพียงทำหนังตามกระแสนิยมเสียส่วนใหญ่

จนกระทั่ง Les Biches (1968) ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ นักวิจารณ์ให้คำนิยาม ‘mature film’ ค้นพบแนวทางภาพยนตร์ของตนเองสักที! ก้าวสู่ช่วงเวลายุคทอง The Unfaithful Wife (1969), This Man Must Die (1969), Le Boucher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971), แต่ผมคงไม่เขียนถึงทั้งหมด เอาแค่พอหอมปากหอมคอ

Les Biches (1968) เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผมตกหลุมรัก Stéphane Audran เข้าอย่างจัง! ท่าทางแมนๆ ป๋าๆ น้ำเสียงไม่ยี่หร่า สวย รวย เริดเชิด ได้หมดถ้าสดชื่น (ทีแรกเป็นเลสเบี้ยนกับ Jacqueline Sassard, ก่อนถูกตกโดย Jean-Louis Trintignant) คำเรียกสมัยนี้คือ “ทรงซ้อ” พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อตอบสนองตัณหา โดยไม่สนห่าเหว ขนบกฎกรอบสังคม ออกฉายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1968 ก่อนกาลมาถึงของ Mai ’68 (พฤษภาคม ค.ศ. 1968) แค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

แซว: Jean-Louis Trintignant คืออดีตคนรัก เคยแต่งงานกับ Stéphane Audran ต้องมาเข้าฉากเลิฟซีนต่อหน้าสามีใหม่ Claude Chabrol มันช่างอึดอัด กระอักกระอ่วน ต้องเป็นความจงใจอย่างแน่นอน!


Claude Henri Jean Chabrol (1930-2010) ผู้กำกับ/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่ไปเติบโตยังชนบท Sardent, Nouvelle-Aquitaine ครอบครัวเป็นเจ้าของร้านขายยา คาดหวังให้บุตรชายสืบทอดกิจการ แต่กลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” ก่อตั้งชมรม Film Club ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลงใหลเรื่องราวนักสืบ แนวตื่นเต้นลุ้นระทึก (Thriller), หลังสงครามโลกสิ้นสุดเดินทางสู่ Paris เข้าศึกษาต่อ Université de Paris (บ้างว่าร่ำเรียนเภสัชศาสตร์ บ้างว่านิติศาสตร์) แต่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ยัง Ciné-Club du Quartier Latin และ Cinémathèque Française หลังเรียนจบอาสาสมัครทหาร French Medical Corps ไต่เต้าจนได้ยศผู้หมวด (Sergeant) พอปลดประจำการ กลายเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma, ร่วมกับ Éric Rohmer ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ Hitchcock (1957), ให้ความช่วยเหลือ Jacques Rivette สรรค์สร้างหนังสั้น Le coup du Berger (1957), กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Beau Serge (1958) ถือเป็นจุดเริ่มต้นกลุ่มเคลื่อนไหว French New Wave

สำหรับ Les Biches (1968) แม้ไม่มีการอ้างอิงในเครดิต แต่ผกก. Chabrol และนักเขียนขาประจำ Paul Gégauff ทำการดัดแปลงหลวมๆ (ประมาณครึ่งเรื่อง) จากนวนิยายอาชญากรรม The Talented Mr. Ripley (1955) ของ Patricia Highsmith (1921-95) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน

เกร็ด: นวนิยาย The Talented Mr. Ripley เพิ่งได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์ Plein Soleil (1960) หรือ Purple Noon กำกับโดย René Clément นำแสดงโดย Alain Delon และพัฒนาบทโดย Paul Gégauff, แต่เชื่อว่าหลายคนคงรับรู้จักอีกฉบับสร้างใหม่มากกว่า The Talented Mr. Ripley (1999) นำแสดงโดย Matt Damon, Gwyneth Paltrow, Jude Law

เรื่องราวของ The Talented Mr. Ripley เกี่ยวกับชายหนุ่ม Tom Ripley ถูกชักชวน ยั่วเย้ายวน สานสัมพันธ์รักร่วมเพศ (ชาย-ชาย) กับเจ้าของธุรกิจวัยกลางคน, แต่ทว่าผกก. Chabrol ไม่ได้มีรสนิยมดังกล่าว จึงทำการสลับเพศชาย-ชาย มาเป็นความสัมพันธ์เลสเบี้ยน หญิง-หญิง ด้วยข้ออ้างเพื่อดึงดูดความสนใจผู้ชม โหยหาความสำเร็จ (หลังจากทำหนังขาดทุนมาหลายเรื่องติดๆ)

ปล. ใครเคยรับชมทั้ง Le Beau Serge (1958) และ Les Cousin (1959) ก็น่าจะรู้สึกว่าพล็อตหลายๆอย่างมีความละม้ายคล้ายกันพอสมควร!


เรื่องราวเริ่มต้นที่สะพาน Pont des Arts ข้ามแม่น้ำ Seine, หญิงสาวสวย รวย เจ้าเสน่ห์ Frédérique (รับบทโดย Stéphane Audran) เกิดความหลงใหลศิลปินไร้นามข้างถนนที่เรียกตนเองว่า Why (รับบทโดย Jacqueline Sassard) จ่ายเงิน 500 ฟรังก์ฝรั่งเศส เกี้ยวพาราสี ชักชวนขึ้นอพาร์ทเมนท์ วันถัดมาพาออกเดินทางไปยังบ้านพักตากอากาศที่ Saint Tropez

หลายวันถัดมา Frédérique ชักชวนเพื่อนฝูงมาร่วมงานเลี้ยง ดื่มด่ำสังสรรค์ หนึ่งในสมาชิกวงเล่นไพ่ สถาปนิกวัยกลางคน Paul Thomas (รับบทโดย Jean-Louis Trintignant) เกิดความลุ่มหลงใหลในหญิงสาวนิรนาม พยายามเกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน วันถัดมานัดหมายจะพบเจอกัน

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความอิจฉาริษยาต่อ Frédérique จึงแอบไปพบเจอ Paul Thomas พูดคุย ดื่มด่ำ พอเริ่มมึนเมาก็ปล่อยตัวปล่อยใจ หลงลืมเวลานัดหมาย เมื่อทั้งสองฟื้นคืนสติ เดินทางไปบอกกับหญิงสาวนิรนามว่าพวกเขาตัดสินใจคบหา สานสัมพันธ์ ย้ายมาอาศัยอยู่บ้านพักตากอากาศแห่งนี้

แม้ถูกทรยศหักหลัง หญิงนิรนามกลับยังคงปักหลักอาศัยอยู่บ้านพักตากอากาศแห่งนี้ ให้การปรนิบัติปรนเปรอทั้งสอง เพราะเจ้าตัวมีความรักต่อทั้ง Frédérique และ Paul Thomas ต้องการความสัมพันธ์รักสามเส้า แต่ทว่ากลับถูกปฏิเสธจาก Frédérique จึงลงมือกระทำการ … !@#$%^&


Stéphane Audran ชื่อเกิด Colette Suzanne Jeannine Dacheville (1932-2018) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Versailles, Seine-et-Oise โตขึ้นฝึกฝนการแสดงยัง Ecole de théâtre Charles Dullin แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับละคอนเวทีนัก เลยผันตัวมาแสดงภาพยนตร์ ร่วมงานครั้งแรกกับสามี Claude Chabrol ตั้งแต่ Les Cousins (1959) ผลงานเด่นๆ อาทิ Les Biches (1958), Le Signe du Lion (1962), Le Boucher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), Violette Nozière (1978), Babette’s Feast (1987) ฯ

รับบท Frédérique หญิงสาวสวย รวย เจ้าเสน่ห์ เป็นเจ้าของกิจการอะไรสักอย่าง มีอพาร์ทเม้นท์ในเมือง และบ้านพักตากอากาศหรูหรา สามารถใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องยี่หร่าอะไรใคร อยากทำอะไรก็ทำ เริดเชิดเย่อหยิ่ง อุปนิสัยดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ครุ่นคิดว่าเงินซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง! แรกพบเจอตกหลุมรักศิลปินสาวข้างถนน ใช้เงินล่อซื้อ เกี้ยวพาราสี ชักชวนมาอาศัยอยู่ร่วม แล้วบังเกิดความอิจฉาริษยาที่เธอสานสัมพันธ์กับชายหนุ่ม Paul Thomas เลยทำการแก่งแย่งเขามาครอบครอง โดยไม่สนความรู้สึกใดๆของอีกฝ่าย

อายุอานามของ Audran ก้าวย่าง 34-35 ถือว่าเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน ‘สาวใหญ่’ แต่สมัยนี้มีคำเรียก ‘ทรงซ้อ’ หญิงสาวฐานะดี มีทุกสิ่งอย่าง รักใคร่เอ็นดูบุคคลอายุน้อยกว่า (ไม่จำกัดว่าชาย-หญิง) สามารถเลี้ยงดูแล (สายเปย์) แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Friend with Benefit) … มันไม่ใช่ว่าตัวละครนี้มาก่อนกาลหรือไร หญิงสาวไฮโซ/ลูกคุณหนูพบเจอได้ทั่วๆไป ความร่ำรวยทำให้พวกเธอไม่ถูกครอบงำด้วยบริบททางสังคม สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ ไร้ขอบเขตจำกัด

ผกก. Chabrol ชอบพัฒนาบทบาทที่มีความท้าทายให้กับศรีภรรยา Audran มักต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (ทั้งทางร่างกาย-จิตใจ) แต่สิ่งที่ทำให้บทบาท Frédérique โดดเด่นเกินหน้าเกินตา คือลีลาการใช้สำเนียง น้ำเสียงพูด มีการละเล่นกับระดับเสียง เดี๋ยวดัง-เดี๋ยวค่อย เดี๋ยวขึ้น-เดี๋ยวลง (ราวกับระลอกคลื่น) และมักลากยาวให้เกิดความต่อเนื่องลื่นไหล … ถึงผมฟังฝรั่งเศสได้นิดๆหน่อยๆ ยังสัมผัสน้ำเสียงอันทรงเสน่ห์ มีความยั่วเย้ายวน รันจวญใจยิ่งนัก!


Jacqueline Sassard (1940-2021) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nice, เข้าสู่วงการตอนอายุ 17 จากแสดงนำภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน Guendalina (1957), ติดตามด้วย March’s Child (1958), Three Murderesses (1959, The Magistrate (1959), Violent Summer (1959), แต่ผลงานได้รับการจดจำสูงสุดคือ Accident (1967), Les Biches (1968) หลังแต่งงานกับนักธุรกิจ ก็ถอนตัวออกจากวงการ

รับบทศิลปินข้างถนน ฐานะยากจน ไม่ยินยอมบอกชื่อเสียงเรียงนาม เรียกตนเองว่า Why รสนิยมทางเพศนั้นไม่แน่ใจ แต่เมื่อได้รับเงิน 500 ฟรังก์ฝรั่งเศสจาก Frédérique ก็ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง ทั้งยังออกติดตามไปอาศัยอยู่ร่วมกัน ณ บ้านพักตากอากาศ

วันหนึ่งระหว่างงานเลี้ยงสังสรรค์ ตกหลุมรักสถาปนิกวัยกลางคน Paul Thomas แต่ยังไม่ทันจะเริ่มสานสัมพันธ์จริงจัง กลับถูกทรยศหักหลัง ตกอยู่ในสภาพกล้ำกลืนฝืนทน เพราะรักทั้งสองคนเลยเกิดความโล้เล้ลังเลใจ เพ้อใฝ่ฝันอยาก(สวิงกิ้ง)ร่วมรักสามคน กลับถูกปฏิเสธจาก Frédérique เป็นเหตุให้เธอตัดสินใจลงมือ

ผมยังคงจดจำภาพความบริสุทธิ์ สดใส ไร้เดียงสาของ Sassard จากภาพยนตร์ Accident (1967) มาเรื่องนี้ช่วงต้นก็คล้ายๆกัน (เปลี่ยนจากชายกลางคนเป็นหญิงทรงซ้อ) ยินยอมศิโรราบต่อ Frédérique แต่ตั้งแต่พบเจอ Paul Thomas แล้วถูกทรยศหักหลัก คาดไม่ถึงว่าจะพบเห็นการถ่ายทอดอารมณ์อันซับซ้อน เกมการละเล่น หักเหลี่ยมเฉือนคมของตัวละครทั้งสาม

วินาทีที่ตัวละครของ Sassard แต่งหน้าทำผม สวมใส่เสื้อผ้าของ Frédérique ราวกับภาพโคลนนิ่ง ช่างละม้ายคล้ายกันอย่างคาดไม่ถึง ทำเอาผมหวนระลึก Vertigo (1959) คาดเดาไม่ยากว่าต้องเกิดการผสมผสาน รวมตัว กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยวิธีการ … หนังเต็มไปด้วยร่องรอย คำบอกใบ้ เยอะเสียจนผมตระหนักว่าผกก. Chabrol ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมเซอร์ไพรส์ตอนจบ แค่เพลิดเพลินไปกับลูกเล่น ลีลาการนำเสนอ สำรวจจิตวิทยาตัวละครที่จักค่อยๆพัฒนาไปถึงจุดนั้นเสียมากกว่า


Jean-Louis Xavier Trintignant (1930-2022) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Piolenc, Vaucluse บิดาเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง คาดหวังบุตรชายโตขึ้นกลายเป็นนักกฎหมาย แต่ภายหลังค้นพบความสนใจด้านการแสดง อพยพย้ายสู่ Paris เริ่มต้นมีผลงานละครเวที โด่งดังทันทีจากภาพยนตร์ And God Created Woman (1956), ผลงานเด่นๆ อาทิ Il Sorpasso (1962), A Man and a Woman (1966), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Great Silence (1966), The Man Who Lies (1968), Z (1969), My Night at Maud’s (1969), The Conformist (1970), Confidentially Yours (1983), Three Colors: Red (1994), Amour (2012) ฯลฯ

รับบทสถาปนิกวัยกลางคน Paul Thomas หน้าตาหล่อเหลา โสด ฐานะปานกลาง ระหว่างกำลังเล่นไพ่ สายตาให้ความสนใจหญิงสาวนิรนาม พูดคุย ชักชวน เกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน นัดหมายพบเจอวันถัดไป แต่กลับถูกแทรกแซง Frédérique ฉกฉวยโอกาส กลายเป็นแมงดาเกาะกิน หนูตกถังข้าวสาร

ว่ากันตามตรง Trintignant ไม่เหมือนแมงดาเลยสักนิด! เพราะใบหน้าที่ดูเคร่งขรึม จริงจัง ท่าทางเย่อหยิ่ง ทะนงตน วางตัวหัวสูงส่ง ไม่น่าจะก้มหัวศิโรราบ ยินยอมเกาะใครกิน … เป็นนักแสดงที่มีพลังดารา (Charisma) ของบุคคลผู้มีเกียรติ ศักดิ์ศรี ยึดถือมั่นในคุณความดี ไม่น่าจะทำตัวต่ำตม สนเพียงเงินทอง สนองกามารมณ์

แต่เหตุผลที่ผกก. Chabrol เลือกนักแสดง Trintignant มันเหมือนเป็นความโกรธแค้น จงเกลียดจงชัง จงใจทำให้อับอาย กับบทบาทที่ไม่เพียงไม่เข้ากับอีกฝ่าย แถมยังต้องเข้าฉากเลิฟซีนกับอดีตภรรยา ต่อหน้าสามีคนปัจจุบัน … ถึงอย่างนั้น Trintignant ยังแสดงออกอย่างมืออาชีพ ไม่มีอะไรติดค้างคาใจ


ถ่ายภาพโดย Jean Rabier (1927-2016) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montfort-L’Amaury จากเป็นศิลปินวาดรูป ผันสู่ทำงานตากล้องภาพยนตร์ เริ่มจากควบคุมกล้อง (Camera Operator) ถ่ายทำหนังสั้นตั้งแต่ปี 1948, ผู้ช่วย Henri Decaë ถ่ายทำ Crèvecoeur (1955), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), The 400 Blows (1959), จากนั้นได้รับการผลักดันจาก Claude Chabrol เป็นตากล้องเต็มตัว/ขาประจำตั้งแต่ Wise Guys (1961), ผลงานโด่งดัง อาทิ Cléo from 5 to 7 (1962), Bay of Angels (1963), The Umbrellas of Cherbourg (1964), Le Bonheur (1965) ฯ

สไตล์ของผกก. Chabrol อาจไม่ได้แพรวพราวด้วยลูกเล่นภาพยนตร์ หรือพัฒนาเทคนิคแปลกใหม่ตามวิถี French New Wave แต่นำเอา Classical Cinema มาพัฒนาให้เป็นแนวทางของตนเองที่ผู้ชมมักคาดไม่ถึง (Classicism with a Twist) รับอิทธิพลอย่างมากๆจาก Alfred Hitchcock จนได้รับฉายา “French Hitchcock” แต่แท้จริงแล้วผมรู้สึกออกไปทาง “Anti-Hichcock” เสียมากกว่า! (ไม่ได้ต่อต้าน แต่ทำในสิ่งตรงกันข้าม)

ลูกเล่นภาพยนตร์ที่น่าสนใจสำหรับ Les Biches (1968) คือลีลาการเคลื่อนกล้องที่จักค่อยๆเลื่อนไหล ดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบร้อน สร้างสัมผัสเหมือนบางสิ่งอย่างกำลังคืบคลานเข้ามา นำพาหายนะให้บังเกิดขึ้น

หนังเริ่มต้นถ่ายทำในกรุง Paris ประมาณไม่ถึงสัปดาห์ (มีแค่สะพาน Pont des Arts และฉากในอพาร์ทเม้นท์) ก่อนเดินทางสู่ Saint-Tropez, Var ตั้งอยู่ทางตอนใต้ฝรั่งเศส ส่วนหนึ่งของ French Riviera


แค่ซีนแรกของหนังก็สำแดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางระหว่าง Frédérique กับศิลปินนิรนาม พบเจอกับตรงกึ่งกลางสะพาน Pont des Arts เชื่อมโยงระหว่างสองฟากฝั่ง (ชนชั้นสูง-ต่ำ)

  • Frédérique สวมใส่ชุดขนสัตว์หรูหรา ราคาแพง ท่าทางเริดเชิดหยิ่ง โยนธนบัตร 500 ฟรังก์ฝรั่งเศสราวกับเศษกระดาษ
  • ศิลปินนิรนามนั่งคุกเข่าวาดรูปบนพื้นสะพาน สวมใส่ยีนส์ราคาถูก เก็บเศษเงินจากผู้ใจบุญสุนทาน ยินยอมศิโรราบต่อเธอผู้บริจาคเงินสูงสุด

ภาพวาดรูปกวาง สื่อตรงๆถึงชื่อหนัง Les Biches แปลว่ากวางตัวเมีย (The Does) ซึ่งในฝรั่งเศสยังหมายถึงหญิงสาว (คล้ายๆที่ชาวอเมริกันเรียกผู้หญิงว่า Chick มาจาก Chicken) และสามารถเปรียบเทียบตรงๆถึงศิลปินนิรนาม ตกเป็นเหยื่อของผู้ล่า Frédérique

ลีลาการนำเสนอของผกก. Chabrol เต็มไปด้วยการล่อหลอก พยายามยื้อๆยักๆให้เกิดความโล้เล้ลังเลใจ เข้าใจผิดๆ ใช่หรือไม่ใช่ ตบหัวก่อนค่อยลูบหลัง แล้วจบลงด้วยสิ่งที่ใครต่อใครคาดคิดเอาไว้ตั้งแต่แรก!

ผมเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะอ่านภาษากาย สายตาของ Frédérique สังเกตเห็นรสนิยมทางเพศ (เลสเบี้ยน) มาตั้งแต่แรกๆพบเจอ แต่หญิงนิรนามกลับยื้อๆยักๆ ทำเหมือนไม่รู้เดียงสา ยินยอมเข้ามาในอพาร์ทเม้นท์ ขออาบน้ำแล้วพูดเหมือนไม่ชอบเล่นหญิง หลายคนคงคิดว่าจบแล้ว ไม่มีอะไร ก่อนเธอสวมใส่เสื้อผ้าเปียกๆ เดินเข้ามาใกล้ ยินยอมให้ปลดกระดุมกางเกง … สุดท้ายมันก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ

เข้ามาในบ้านพักตากอากาศ สิ่งแรกพบเห็นคือโครงกระโหลก เขาสัตว์ ชวนให้ผมนึกถึงสัตว์สตัฟฟ์ใน Psycho (1960) แต่ในบริบทนี้น่าจะสื่อถึงการเป็นผู้ล่าของ Frédérique ไม่ใช่ชื่นชอบการออกล่าสัตว์ ยังหมายถึงล่าอย่างอื่นด้วยนะครับ (ยกตัวอย่าง หญิงนิรนาม=กวางน้อย)

สองคู่หู Robèque และ Riais แมงดาผู้เกาะกิน Frédérique ผมอ่านเจอว่าทั้งสองเป็นเกย์ วันๆไม่เห็นทำการทำงาน นอกจากตะโกนโหวกเหวก ส่งเสียงโวยวาย ตีฆ้องร้องเปล่า โดยไม่สนห่าเหวอะไรใคร …ทั้งสองเป็นตัวตลกที่พยายามจะสร้างสีสัน แต่กลับทำสิ่งน่ารำคาญไม่เว้นวัน สร้างมลพิษให้กับสังคม

คำกล่าวของ Riais สามารถอธิบายเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนจบของหนัง รวมถึงการปฏิวัติ Mai ’68 ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังหนังออกฉาย

Revolution is not a banquet. lt is not made like a work of literature or an embroidery. lt can’t be done so elegantly so calmly or delicately with such sweetness courtesy and generosity. Revolution is an uprising the violence by which a class overthrows another.

Riais

ฉากในวงไพ่ มุมกล้องพยายามจัดวางให้ Frédérique คือจุดศูนย์กลาง แต่ผู้ชมสามารถสังเกตเห็นกิริยาท่าทางชายวัยกลางคน Paul Thomas พยายามจับจ้อง หันมองหญิงนิรนาม สำแดงความสนอกสนใจ เฝ้ารอคอยโอกาสจะเข้าไปพูดคุยถามไถ่

การจัดวาง Frédérique ให้เป็นศูนย์กลางภาพ ไม่ใช่แค่สถานะเจ้าภาพงานเลี้ยง แต่ยังเป็นตำแหน่งที่สามารถรับล่วงรู้เหตุการณ์บังเกิดขึ้นโดยรอบทั้งหมด ท่าทางฝ่ายชายที่แอบจับจ้องมองหญิงนิรนาม เคยพยายามอวดอ้างการเป็นเจ้าของด้วยการสั่งให้ไปเอาเบียร์ (ระยะภาพตื้น-ลึก สำแดงอำนาจบารมีได้เป็นอย่างดี) ถึงอย่างนั้นเขากลับทำเป็นไม่สนใจ (คงไม่คิดถึงความสัมพันธ์หญิง-หญิง เสียมากกว่า)

แม้คุณภาพฟีล์มหนัง ไฟล์ DVD จะไม่ค่อยดีนัก แต่ภาพหลายๆช็อตนี้ระหว่าง Paul Thomas กับหญิงนิรนาม สังเกตว่าฝ่ายชายปกคลุมอยู่ในความมืดมิด ไม่มีแสงใดๆสาดส่องลงบนใบหน้า นี่เป็นการบอกใบ้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองที่กำลังจะจบลงแค่เพียงข้ามคืน One Night Stand (ONS)

ผกก. Chabrol มักไม่ค่อยนำเสนอปฏิกิริยาตัวละครที่มีความรุนแรง กระโตกกระตาก อย่างตอนที่ Frédérique รับรู้เรื่องราว ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงนิรนามกับ Paul Thomas สิ่งที่เธอทำมีเพียงลุกขึ้นไปปิดโคมไฟ ก่อนตัดมาเช้าวันใหม่กำลังเคี้ยวขนมปัง แต่ถ้าเราลองครุ่นคิดในเชิงสัญลักษณ์ จะพบเห็นนัยยะอันลุ่มลึกล้ำ

  • การลุกขึ้นมาปิดไฟ สามารถสื่อถึงจุดสิ้นสุด หยุดความสัมพันธ์ หมดอารมณ์รักใคร่หญิงนิรนาม
  • เสียงเคี้ยวขนมปัง ถูกทำให้เด่นดังอย่างมีนัยยะสำคัญ สามารถสื่อถึงจุดแตกหัก ต้องการทำลายความสัมพันธ์ และพอหญิงนิรนามกลับบ้านมา น้ำเสียงเรียก Why แฝงความเสียดสี แดกกัน ประชดประชัน

ระหว่างเฝ้ารอคอยเวลานัดหมายกับ Paul Thomas พบเห็นหญิงนิรนามกำลังเล่นเปตอง กีฬาที่ผู้เล่นต้องโยนลูกเหล็กให้ใกล้ชิดลูกแก่นมากที่สุด … ในบริบทของหนังสามารถเปรียบเทียบลูกแก่น = Frédérique ที่ใครๆก็อยาก(เกาะกิน)อยู่เคียงชิดใกล้

หลังจากเลิกเล่นเปตอง เธอก็มานั่งตรงเก้าอี้ พบเห็นเกวียนลากรูปปั้นที่ดูเหมือนเศษซากร่างกายมนุษย์ บริเวณหัวใจถูกทำให้ทะลุปรุโปร่ง (เกวียนลากอันนี้จะเคลื่อนมาพอดิบพอดีกับ Frédérique เกิดอาการมึนเมาแล้วเสียตัวให้กับ Paul Thomas) สื่อถึงสภาพจิตใจหญิงสาว สูญเสียความรู้สึก ความบริสุทธิ์ และจิตวิญญาณ

แทนที่จะให้นักแสดงปลดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึกภายในออกมา ผกก. Chabrol เลือกใช้บุคคลรอบข้าง สองตัวตลกเข้ามาก่อกวน สร้างความปั่นป่วน ด้วยละเล่นเกมทายเสียงสรรพสัตว์ สุนัข หมาป่า ไฮยีน่า ฯ แล้วเรียกร้องให้หญิงนิรนามส่งเสียงอะไรบางอย่างออกมา ระหว่างเธอกำลังสะอื้นไห้ ถูกเข้าใจผิดว่าคือจระเข้ … มันกลายเป็นฉากที่เจ็บปวด น่าขยะแขยง สำแดงพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจหัวอกผู้อื่น

ระหว่างที่ Frédérique และ Paul Thomas เดินทางไปกรุง Paris (ตัดเข้าสู่องก์สาม) ทำให้หญิงนิรนามต้องอาศัยอยู่กับไฮยีน่าสองตัว พวกมันพยายามส่งเสียง ตะโกนเรียกหา “Why” “Why” ฟังดูเหมือนคำรำพันของหญิงสาวมากกว่าชื่อตัวละครเสียอีก! สามารถสะท้อนความรู้สึก “ทำไม”ถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ พบเห็นเธอนอนราบกับพื้นดิน ราวกับไร้ชีวิต/จิตวิญญาณ

ผมไม่ได้สนใจว่าสเต็กปรุงไม่สุกหรืออย่างไร แต่การกระทำของ Robèque พยายามหั่นชิ้นเนื้อแบ่งปันหญิงนิรนาม สามารถสื่อถึงการแบ่งผลประโยชน์ แบ่งความรัก แบ่งเงินทองจาก Frédérique พวกเขาอาศัยอยู่บ้านพักตากอากาศแห่งนี้ก็เพื่อเกาะกิน ไม่ต้องดิ้นรน ทุกข์ร้อนเรื่องเงินๆทองๆ ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย สุขเกษมสำราญ

ช่วงแรกๆผมไม่ได้สังเกตความละม้ายคล้ายกันของ Stéphane Audran กับ Jacqueline Sassard แต่พอพบเห็นถ่ายภาพ ‘Two Shot’ ใบหน้าของทั้งสองอยู่เคียงข้าง จึงเริ่มเกิดความเอะใจ ฉงนสงสัย แล้วจู่ๆหญิงนิรนามก็แต่งองค์ทรงเครื่อง สวมเครื่องประดับ ปล่อยหน้าผม สวมใส่เสื้อผ้าทะมัดแมง แปลงกายจนแทบจะกลายเป็น Frédérique นี่เธอกำลังครุ่นคิดวางแผน ตระเตรียมการอะไรบางอย่างแน่แท้!

แซว: ตอนที่หญิงนิรนามกำลังแต่งองค์ทรงเครื่อง (ให้กลายเป็น Frédérique) Frédérique ที่นอนเปลือยกายอาบแดด เกิดอาการหนาวเหน็บ ตัวสั่น (น่าจะทั้งร่างกาย-จิตใจ) จึงร้องขอให้ Paul Thomas ไปหยิบผ้าคลุม แล้วได้พบเจอภาพบาดตาบาดใจ

มุมกล้องภาพนี้จงใจถ่ายติดพงหญ้าระหว่างสองสาวกำลังพูดคุยสนทนา เพื่อสื่อถึงความลับๆล่อๆ เนื้อหา(สนทนา)ที่มีเลศนัย หญิงนิรนามพยายามหลอกปั่นหัว Frédérique สร้างความเคลือบแคลง ให้หลงเชื่อว่า Robèque และ Riais เต็มไปด้วยอคติต่อต้าน อิจฉาริษยา Paul Thomas … แท้จริงแล้วหญิงนิรนาม ต้องการกำจัดสองเกย์ให้พ้นภัยทางเสียมากกว่า!

ฟางเส้นสุดท้ายของ Frédérique เกิดขึ้นระหว่างรับประทานซุป คงมีการปรุงรสจัดอะไรสักอย่าง ครุ่นคิดว่าคงไม่มีใครอื่นทำสิ่งไร้สาระเช่นนี้ (คาดเดาไม่ยากว่าต้องเป็นฝีมือของหญิงนิรนาม) จึงทำการขับไล่ ผลักไส Robèque และ Riais ไม่ต้องการให้อาศัยอยู่สถานที่แห่งนี้อีกต่อไป … และความหน้าด้านหน้าชาของสองเกย์ อ้างว่าไม่มีอะไรติดตัวสักแดง จึงเรียกร้องค่าใช้จ่ายค่าโน่นนี่นั่น เงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง!

พอสองเกย์จากไป ก็ไม่มีใครขัดขวางความสัมพันธ์เราสองสามคน หญิงนิรนามทำการปรนเปรอนิบัติทั้ง Frédérique และ Paul Thomas ค่ำคืนนี้เธอพยายามสารภาพรัก สัมผัส โอบกอด อยากแทรกตัวเข้าไประหว่างกลาง ขณะที่ฝ่ายชายไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว กลับถูก Frédérique กีดกั้นขวาง

ทั้งบทเพลงอันโหยหวน การเคลื่อนเลื่อนกล้องช้าเนิบ และนักแสดงที่ต่างมึนเมา สายตาล่องลอย ช่วยให้ซีเควนซ์นี้ดูหลอกหลอน สั่นสยอง เหมือนจะนำไปสู่เหตุการณ์บางอย่าง

ดึกดื่นหญิงนิรนามลุกขึ้นจากเตียง เดินย่องมาแอบรับฟังเสียงคร่ำครวญคราง ระหว่าง Frédérique ร่วมเพศสัมพันธ์กับ Paul Thomas กล้องตัดสลับระหว่างภายนอก-ใน ผู้ชมได้พบเห็นฉาก Sex Scene แต่หญิงสาวกลับเพียงรับฟังแล้วจินตนาการ นั่นย่อมสร้างความอัดอั้น ชอกช้ำ ต้องการทำอะไรสักสิ่งอย่าง

หญิงนิรนามเดินทางกลับกรุง Paris บุกเข้าไปหา Frédérique พยายามอธิบายความรู้สึกอัดอั้นภายใน แต่อีกฝ่ายกลับไม่สนใจใยดี เพิกเฉยเฉื่อยชา สายตาไม่ยี่หร่า กล่าวถ้อยคำรังเกียจขยะแขยง เปิดเผยสันดานธาตุแท้ (พบเห็นภาพสะท้อนในกระจก) รับไม่ได้กับพฤติกรรมของเธอ … แต่สิ่งที่ตนเองทำมันก็ย้อนแย้งกันอยู่ไม่ใช่หรือ?

ตลอดซีเควนซ์นี้ มักมีแทรกภาพกระเป๋าของหญิงนิรนามอยู่บ่อยครั้ง มันเหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น (มีดสั้น) ผู้ชมเกิดความตระหนังถึงลางบอกเหตุ ราวกับบางสิ่งอย่างเลวร้ายกำลังจะบังเกิดขึ้น!

ถ้าเป็นหนังของ Alfred Hitchcock ฉากฆาตกรรมมักต้องมีลวดลีลาอะไรบางอย่างที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ตรงกันข้ามสำหรับผกก. Chabrol ที่ทำออกมาธรรมดาๆ จืดชืด ไร้อารมณ์ นี่คือเหตุผลที่ผมอยากเรียกว่า “Anti-Hitchcock” แต่เห็นหลายคนชอบเรียก “Anti-Thriller” ไม่ได้แตกต่างกันนัก … แต่วินาทีที่ Frédérique กำลังจะทรุดล้มลง มีลูกเล่น ‘Reply’ และ ‘Jump Cut’ เหมือนภาพกระตุก แต่มันก็ไม่ได้อะไรโดดเด่น น่าจดจำขนาดนั้น

สิ่งน่าสนใจจริงๆคือวินาทีก่อนตาย Frédérique กำลังทาลิปติกบนริมฝีปาก สื่อถึงการกำลังสร้างภาพให้ดูดี แต่สันดานธาตุแท้ ตัวตนแท้จริง สิ่งที่อยู่ภายในกลับมีความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ ไม่ได้เข้ากับชุดขาวสวมใส่

หลังความตายของ Frédérique หญิงนิรนามก็หยิบเอาเสื้อขนสัตว์สีดำ (ที่อีกฝ่ายเคยสวมใส่ตอนแรกพบเจอกันต้นเรื่อง) มาคลุมทับตนเอง จากนั้นทิ้งตัวลงนอนบนเตียง พูดคุยโทรศัพท์ นัดหมายกับ Paul Thomas นี่คือลักษณะการกลายร่าง กลายเป็นอีกคน หรือจะมองว่าสองรวมเป็นหนึ่ง (หญิงนิรนามกลายเป็น Frédérique)

ใครเคยอ่านหรือรับชมภาพยนตร์ The Talented Mr. Ripley คงงงๆว่าจบแล้วเหรอ? นี่แค่ประมาณครึ่งเรื่องเองนะ? รู้สึกเหมือนยังค้างๆคาๆ ยังมีเรื่องราวหลังจากนี้อีกมากมาย แต่สำหรับผกก. Chabrol จบเท่านี้ถือว่าเพียงพอแล้วละ เพราะเขาสนใจเพียงศึกษาพฤติกรรม/สภาพจิตวิทยาตัวละคร ได้โต้ตอบ ฆ่าล้างแค้น และกลายเป็นอีกฝ่าย ผู้ร้ายได้ชัยชนะมันผิดอะไร? … แบบนี้เรียก “Anti-Climax” คงไม่ผิดอะไร

ตัดต่อโดย Jacques Gaillard (1930-2021) จากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Les Misérables (1958), ก่อนกลายเป็นขาประจำผกก. Claude Chabrol ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), The Unfaithful Wife (1969), This Man Must Die (1969), The Butcher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของสองสาว Frédérique และศิลปินนิรนาม แรกพบเจอยังสะพาน Pont des Arts แล้วเดินทางไปยังอพาร์ทเม้นท์กลางกรุง Paris จากนั้นออกเดินทางสู่บ้านพักตากอากาศ ณ Saint Tropez ก่อนได้พบเจอมือที่สาม Paul Thomas สลับกันเกี้ยวพาราสี

เราสามารถแบ่งโครงสร้างของหนัง ตามข้อความที่ปรากฎขึ้นมาจำนวน 4 องก์

  • Prologue
    • แรกพบเจอระหว่าง Frédérique กับศิลปินนิรนามยังสะพาน Pont des Arts
    • พากันไปยังอพาร์ทเม้นท์กลางกรุง Paris
  • Frédérique (นำเสนอผ่านมุมมอง Frédérique)
    • สองสาวออกเดินทางสู่บ้านพักตากอากาศ ณ Saint Tropez
    • พบปะผู้คน เที่ยวเล่นไปยังสถานที่ต่างๆ
    • ระหว่างงานเลี้ยงสังสรรค์ Paul Thomas ให้ความสนใจกับหญิงนิรนาม
    • หลังจากงานเลี้ยง Paul Thomas เกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอนกับหญิงนิรนาม สร้างความอิจฉาริษยาให้กับ Frédérique
    • Frédérique เดินทางไปหา Paul Thomas พูดคุย ดื่มด่ำ พอมึนเมามายก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง
    • Frédérique และ Paul Thomas สารภาพความสัมพันธ์กับหญิงนิรนาม ก่อนทั้งสองเดินทางกลับกรุง Paris
  • Why (นำเสนอผ่านมุมมองหญิงนิรนาม)
    • การจากไปของทั้งสอง สร้างความเศร้าซึมให้กับหญิงนิรนาม
    • พอทั้งสองหวนกลับมา Frédérique พยายามปรับเข้าใจกับเธอ
    • หญิงนิรนามทดลองแต่งองค์ทรงเครื่องเป็น Frédérique เกี้ยวพาราสี Paul Thomas
    • จากนั้นเธอครุ่นคิดแผนการ พยายามปรนเปรอนิบัติทั้งสอง ให้กลายเป็นเราสองสามคน
    • แต่ทว่า Frédérique กลับกีดกัดหญิงนิรนาม ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Paul Thomas แต่เพียงผู้เดียว
  • Epilogue
    • หญิงนิรนามเดินทางกลับมากรุง Paris พบเจอกับ Frédérique ในอพาร์ทเม้นท์
    • จากนั้นแต่งองค์ทรงเครื่อง กลายร่างเป็น Frédérique เฝ้ารอคอยการกลับมาของ Paul Thomas

ด้วยความที่ตอนสามตั้งชื่อว่า Why ทำให้หลายคนเหมารวมว่าหญิงนิรนามชื่อ Why (เพราะตอนสองคือชื่อของ Frédérique) จะตีความแบบนั้นก็ไม่ผิดอะไร แต่ผมมองว่าชื่อตอน Why ก็เพื่ออธิบายเหตุผล ความรู้สึกของเธอหลังถูก Frédérique ทรยศหักหลังเสียมากกว่า!


เพลงประกอบโดย Pierre Georges Cornil Jansen (1930-2015) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roubain, โตขึ้นเข้าเรียน Conservatoire de Roubaix (เปียโนและดนตรี Harmony) ต่อด้วย Royal Conservatory of Brussels ประพันธ์เพลงออร์เคสตรา, Chamber Music, มีชื่อเสียงจากบทเพลงแนว Avant-Garde จากนั้นกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Claude Chabrol ตั้งแต่ Les Bonnes Femmes (1960)

งานเพลงของ Jansen ในภาพยนตร์ของผกก. Chabrol มักมีลักษณะคล้ายๆกันคือแนว Avant-Garde มอบสัมผัสลึกลับ ฟังดูหลอกหลอน สร้างบรรยากาศพิศวง เต็มไปด้วยลับลมคมใน ราวกับบางสิ่งชั่วร้าย หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา แตกต่างคือท่วงทำนองกับลูกเล่นที่ใช้ ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องเข้ากับเรื่องราว/เหตุการณ์ขณะนั้นๆ

สำหรับ Les Biches (1968) บทเพลงสร้างบรรยากาศทะมึนๆ อึมครึม ฟังแล้วรู้สึกปั่นป่วนมวนท้องไส้ หายใจไม่ทั่วท้อง ผู้ชมสัมผัสได้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่ามันต้องมีเหตุการณ์เลวร้าย หายนะบางอย่างบังเกิดขึ้น แต่กว่าที่ช่วงเวลานั้นจะมาถึง ก็แทบจะอกแตกตายเสียก่อน … งานเพลงของ Jansen ไม่ได้สนความไพเราะ ไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจง บางครั้งฟังดูมั่วๆซั่วๆ ท่วงทำนองขัดแย้งกันไปมา (ในสไตล์ Avant-Garde) แต่จุดประสงค์เพื่อสะท้อนจิตวิทยาตัวละคร ชี้นำทางอารมณ์ผู้ชมไปยังเป้าหมายปลายทาง

บทเพลงสร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง สั่นสะท้านทรวงในที่สุดก็คือ Gente Sperduta (แปลว่า Lost People) เสียงร้องโหยหวน คร่ำครวญ มันช่างบีบเค้นคั้น สำแดงความอัดอั้น หญิงนิรนามอยากแทรกตัวเข้าไปในความสัมพันธ์ (Love Triangle) ขณะที่ฝ่ายชาย Paul Thomas ไม่ได้ปฏิเสธต่อต้าน ต้องการโอบรับเราสองสามคน แต่ทว่า Frédérique กลับพยายามกีดกัน ผลักไส ขับไล่ ปิดประตูห้อง สถานที่แห่งนี้มีได้เพียงฉันกับเขา ไม่ใช่เราสามคน

Les Biches (1968) นำเสนอเรื่องราวรักสามเส้า (Love Triangle) เริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างสองหญิง (เลสเบี้ยน) การมาถึงของชายกลางคน ทำให้พวกเธอเกิดความขัดแย้ง แตกหัก ไม่สามารถสานสัมพันธ์รัก เราสองสามคนเลยจบลงด้วยเหตุการณ์โศกนาฎกรรม

ลีลาการนำเสนอ สารพัดลูกเล่นภาพยนตร์ ล้วนพยายามชี้นำผู้ชมให้สามารถทำนายตอนจบ เต็มไปด้วยร่อยรอยโศกนาฎกรรม คาดเดาได้ว่ามันอาจบังเกิดเหตุการณ์เลวร้ายอะไรสักอย่าง! นั่นเพราะเป้าหมายของผกก. Chabrol ไม่ได้ต้องการ(ให้ผู้ชม)ขบปริศนา ค้นหาตัวฆาตกร แต่คือศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ สภาพจิตวิทยา เรียนรู้เบื้องหลัง ทำความเข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไป ลงมือกระทำการนั้นเพราะอะไร?

With the films since Les Biches, I think I’m finally on the right track. I knew I was interested in murder, but what I didn’t realize is that my interest isn’t in solving puzzles. I want to study the human behavior of people involved in murder. I believe I’ve succeeded now in making the audience’s natural interest in murder secondary to its interest in the characters and the situation. If I reveal the identity of the murderer right away, the audience isn’t distracted by who-done-it, and I’m in control.

Claude Chabrol

สำหรับ Les Biches (1968) คือภาพสะท้อนภรรยาทั้งสองของผกก. Chabrol

  • Agnès Goute ภรรยาคนแรกของผกก. Chabrol มาจากครอบครัวมีฐานะ เป็นสาวไฮโซ ได้รับเงินมรดกก้อนโต ให้ทุนสนับสนุนสามีสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Le Beau Serge (1958) แต่พอหมดรัก จับได้ว่าคบชู้นอกใจ สุดท้ายเลยต้องเลิกราหย่าร้าง
    • เปรียบเทียบตรงๆกับ Frédérique จ่ายเงินซื้อตัวศิลปินสาว (หรือก็คือ Chabrol นะแหละ) ครองรักกันสักพัก ก่อนทรยศหักหลังด้วยการแก่งแย่ง Paul Thomas เลยครุ่นคิดอยากเข่นฆ่าให้ตกตาย
  • Stéphane Audran ภรรยาคนปัจจุบันของผกก. Chabrol อาจไม่ได้มีฐานะร่ำรวยเหมือน Goute แต่เคยครองรักกับ Jean-Louis Trintignant จับทั้งสองมาเข้าฉากร่วมกัน มันย่อมต้องบังเกิดความขัดแย้งบางอย่างขึ้นภายใน

การที่หญิงนิรนาม ลงมือฆาตกรรม Frédérique (สัญลักษณ์ของการเลิกราหย่าร้าง Agnès Goute) แล้วแต่งองค์ทรงเครื่อง สวมใส่เสื้อผ้า กลายร่างเป็นอีกฝ่าย นั่นเปรียบเหมือนการแต่งงานใหม่ เปลี่ยนภรรยามาเป็น Stéphane Audran

ด้วยความที่หนังสร้างขึ้นก่อนกาลมาถึงของ Mai ’68 จึงมักถูกมองในแง่มุม Feminist เรียกร้องสิทธิสตรี เนื่องจากหญิงสาวไม่ได้ถูกควบคุมครอบงำโดยบุรุษ มีอิสรภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเพศไม่จำกัดแค่ชาย-หญิง ยังเหมารวมถึง Bisexual (ได้ทั้งชายและหญิง) นั่นคือสิ่งที่สังคมสมัยนั้นยังไม่สามารถให้การยินยอมรับสักเท่าไหร่

แต่ถ้าเราไม่จำกัดเพศสภาพ เรื่องราวรักๆใคร่ๆ, Les Biches (1968) ยังสะท้อนปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ สถานะทางสังคม และอำนาจการเงิน สองสิ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายบ้านเมืองด้วยซ้ำไป! เกิดในตระกูลผู้ดีมีสกุล ลูกคุณหนู ฐานะร่ำรวย หญิงทรงซ้อจึงมีสิทธิ์ในการเลือก(คู่ครอง) ครอบครองเป็นเจ้าของ ละเล่นเกมแห่งอำนาจ เงินสามารถซื้อหาได้ทุกสิ่งอย่าง … แสดงให้เห็นสภาพสังคมอันฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ เสื่อมโทรมทราม ถูกกลืนกินโดยระบอบทุนนิยม และอำนาจนิยม

Les Biches is ultimately not about love, but about the passion for power-games, the only form of expression left in the world of affluence and boredom.

นักวิจารณ์ Vladislav Mijic จาก Senses of Cinema

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงท้าย หญิงนิรนามลงมือฆาตกรรม Frédérique ยังสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการโค่นล้ม ทำลายระบบชนชั้น/สถานะทางสังคม ดังคำกล่าวตอนต้นเรื่องของหนึ่งในคู่หูเกย์ Riais ว่าไว้ “Revolution is an uprising the violence by which a class overthrows another.” ถือเป็นคำพยากรณ์การปฏิวัติ Mai ’68 เมื่อบุคคลชนชั้นระดับล่าง (หญิงนิรนาม) ไม่สามารถอดรนทนต่อพฤติกรรมชนชั้นสูง (Frédérique) จึงเกิดการต่อสู้ ความรุนแรง เข่นฆ่าแกง เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม


หนังเข้าฉายในฝรั่งเศส วันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1968 (ก่อนหน้า Mai’ 68) แน่นอนว่าเสียงตอบรับค่อนข้างย่ำแย่ น่าขยะแขยง สังคมยังยินยอมรับไม่ได้! แต่หลังจากการปฏิวัติเดือนพฤษภาคม (Mai ’68) สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ยอดจำหน่ายตั๋ว 627,164 ใบ เป็นความสำเร็จเล็กๆอย่างคาดไม่ถึง!

ช่วงเดือนมิถุนายน หนังเดินทางไปฉายนอกสายการประกวด (Out-of-Competition) เทศกาลหนังเมือง Berlin แต่คณะกรรมการปีนั้นนำโดย Luis García Berlanga กลับมอบรางวัล Silver Bear: Best Actress ให้กับ Stéphane Audran อย่างงงๆ (ไม่ใช่ Honorary Award แต่เป็น Silver Berlin Bear เลยนะครับ!) … ผมคาดเดาว่าอาจเกิดจากความเข้าใจผิดๆของคณะกรรมการ ครุ่นคิดว่า Les Biches (1968) เข้าฉายในสายการประกวดเลยตัดสินไปเช่นนั้น!

เกร็ด: ในเทศกาลหนังเมือง Berlin ปีเดียวกันนั้น Jean-Louis Trintignant ก็คว้ารางวัล Silver Bear: Best Actor แต่จากภาพยนตร์อีกเรื่อง The Man Who Lies (1968)

ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ พบเห็นเพียงจัดจำหน่าย DVD ของค่าย Pathfinder Home Entertainment ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่นยุคทอง The Claude Chabrol Collection DVD (1968-75) จำนวน 8 เรื่อง Les Biches (1968), The Unfaithful Wife (1969), This Man Must Die (1969), Le Boucher (1970), The Breach (1970), Ten Days’ Wonder (1971) และ Innocents with Dirty Hands (1975)

ถ้าไม่ติดว่าหลายๆองค์ประกอบของหนังมีความละม้ายคล้ายผลงานของผกก. Hitchcock ผมอาจจะชื่นชอบ Les Biches (1968) มากกว่านี้! แต่ก็ยังตกหลุมรักการแสดงของ Stéphane Audran, Jacqueline Sassard, และสไตล์การกำกับของ Chabrol มีความเฉพาะตัวอยู่ไม่น้อย

จัดเรต 15+ เลสเบี้ยน รักสามเส้า อิจฉาริษยา

คำโปรย | Les Biches คือการค้นพบตัวตนเองของผู้กำกับ Claude Chabrol
คุณภาพ | ทรงซ้อ
ส่วนตัว | ดูสนุก

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: