Les Cousins

The Cousins (1959) French : Claude Chabrol ♥♥♥♥

ญาติห่างๆของ Le Beau Serge (1958) เดินทางเข้าเมืองหลวง ลุ่มหลงระเริงไปกับแสงสีเสียง (แต่หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ) เต็มไปด้วยสิ่งยั่วเย้ายวน พยายามต่อต้านขัดขืน กลับจบลงด้วยความขมขื่น, คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

แม้ไม่ใช่ภาคต่อ แต่ผมมองว่ามันมีความจำเป็นอย่างมากๆที่ควรรับชม Le Beau Serge (1958) เคียงข้างกับ Les Cousins (1959) [เรื่องไหนก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ] เพราะทั้งสองเรื่องราวกับพี่น้อง ด้วยนักแสดงชุดเดิม ทีมงานเดิม แค่สลับสับเปลี่ยนชนบท-เมืองหลวง

  • Le Beau Serge (1958) นักศึกษาหนุ่มจากเมือง หวนกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเก่าที่ชนบท
  • Les Cousins (1959) หนุ่มบ้านนอกคอกนา เดินทางไปเรียนต่อเมืองหลวง

การรับชมหนังทั้งสองเรื่องติดต่อกัน จักทำให้คุณเข้าใจมุมมอง แนวคิด ตัวตนของผกก. Chabrol ผู้มีความลุ่มหลงในสองสิ่งขั้วตรงข้ามที่สามารถสะท้อนตัวตน สภาพสังคม วงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสยุคสมัยนั้น โหยหาการเปลี่ยนแปลง โอบรับจิตวิญญาณกลุ่มเคลื่อนไหวคลื่นลูกใหม่ French New Wave

ก่อนหน้านี้ Chabrol เคยแต่เขียนบท เขียนวิจารณ์ ไม่เคยทำงานเบื้องหลัง หรือกำกับหนังสั้นใดๆมาก่อน กระทั่งภรรยาได้รับมรดกก้อนโต ผลักดันสามีสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Le Beau Serge (1958) ลองผิดลองถูกจนเกือบกลายเป็นหายนะ … แต่ผลลัพท์ราวกับเคยสรรค์สร้างภาพยนตร์นานกว่าสิบปี (จากคำสรรเสริญของ François Truffaut)

สำหรับ Les Cousins (1959) เพราะมีประสบการณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง จึงเรียนรู้ว่าต้องวางแผน ตระเตรียมการ ทำอะไรยังไง โปรดักชั่นเลยดำเนินไปด้วยความราบรื่น พบเห็นลูกเล่น เทคนิคภาพยนตร์ พัฒนาการรายละเอียด ‘Mise-en-scène’ มากมายเต็มไปหมด … แต่ภาพรวมผมยังแอบรู้สึกว่า Le Beau Serge (1958) มีความบริสุทธิ์ เคลือบแฝงนัยยะสุดลึกล้ำ ที่คงหาไม่ได้จากผลงานอื่นๆของผกก. Chabrol


Claude Henri Jean Chabrol (1930-2010) ผู้กำกับ/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่ไปเติบโตยังชนบท Sardent, Nouvelle-Aquitaine ครอบครัวเป็นเจ้าของร้านขายยา คาดหวังให้บุตรชายสืบทอดกิจการ แต่กลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” ก่อตั้งชมรม Film Club ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลงใหลเรื่องราวนักสืบ แนวตื่นเต้นลุ้นระทึก (Thriller)

หลังสงครามโลกสิ้นสุด เดินทางสู่ Paris เข้าศึกษา Université de Paris (บ้างว่าร่ำเรียนเภสัชศาสตร์ บ้างว่านิติศาสตร์) แต่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ยัง Ciné-Club du Quartier Latin และ Cinémathèque Française หลังเรียนจบอาสาสมัครทหาร French Medical Corps ไต่เต้าจนได้ยศผู้หมวด (Sergeant) พอปลดประจำการกลายเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma, ร่วมกับ Éric Rohmer ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ Hitchcock (1957), ให้ความช่วยเหลือ Jacques Rivette สรรค์สร้างหนังสั้น Le coup du Berger (1957)

Chabrol พัฒนาเรื่องราวของ Les Cousins จากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อครั้นเพิ่มเดินทางมาถึงกรุง Paris เพื่อเข้าศึกษา Sorbonne (ชื่อเล่นของ Universal of Paris) แล้วมอบหมายนักเขียน Paul Gégauff (1922-83) สมาชิกก๊วน Ciné-Club du Quartier Latin และ Cinémathèque française (แต่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นนักวิจารณ์ Cahiers du Cinéma) เข้ามาช่วยขัดเกลาบทสนทนา

เกร็ด: ผกก. Chabrol ร่วมงานขาประจำนักเขียน Paul Gégauff ทั้งหมด 14 ครั้ง ผลงานเด่นๆ อาทิ Les Cousins (1959), Les Bonnes Femmes (1960), Les Biches (1968), Dr. Popaul (1972) ฯ

ทีแรกตั้งใจสรรค์สร้าง Les Consins เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก! แต่พอประเมินทุนสร้างตระหนักว่าการถ่ายทำในเมืองอาจใช้เงินค่อนข้างมาก เลยเปลี่ยนไปพัฒนา Le Beau Serge (1958) ด้วยการเดินทางหวนกลับสู่หมู่บ้านชนบท Sardent น่าจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า

ความสำเร็จของ Le Beau Serge (1958) ทำให้ผกก. Chabrol สามารถยื่นของบประมาณ ติดต่อหาผู้จัดจำหน่ายโปรเจคถัดไป Les Cousins แทบจะโดยทันที! นั่นทำให้เขาก่อตั้งบริษัทโปรดักชั่น AJYM Productions นำเอากำไรจากสองผลงานนี้ มาช่วยสนับสนุนเพื่อนนักวิจารณ์อย่าง Éric Rohmer และ Jacques Rivette ให้มีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์ของตนเอง


เรื่องราวของนักศึกษาหนุ่ม Charles (รับบทโดย Gérard Blain) เดินทางจากต่างจังหวัด มาพักอาศัยอยู่กับลูกพี่ลูกน้อง Paul (รับบทโดย Jean-Claude Brialy) ในอพาร์ทเม้นท์ที่มีความไฮโซ หรูหรา พยายามเสี้ยมสอนวิถีชีวิตชาวเมือง ด้วยการชักชวนเพื่อนฝูงมาร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ เฮฮาปาร์ตี้กันอย่างสนุกสุดเหวี่ยง

ตั้งแต่แรกพบเจอ Charles ตกหลุมรักหญิงสาวสวย Florence (รับบทโดย Juliette Mayniel) แต่เธอโด่งดังกับพฤติกรรมสำส่อน ชอบเปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า วาดฝันอนาคตเลิศหรู เลยถูกกีดกันโดย Paul เพราะมองว่าทั้งสองไม่มีความเหมาะสมแม้แต่น้อย ครุ่นคิดแผนการนำพาเธอมาอาศัยหลับนอน ร่วมรักกันในอพาร์ทเม้นท์ … โดยไม่รู้ตัวเหตุการณ์ดังกล่าวคือจุดเริ่มโศกนาฎกรรม


Gérard Blain (1930-2000) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นหัวหน้าสถาปนิก (Chief Architect) ทอดทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่ยังไม่เด็ก เต็มไปด้วยความขัดแย้งมารดา จึงหนีออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 13 ดิ้นรนเอาตัวรอด หลับนอนข้างถนน เคยถูกผู้ชายข่มขืนจนมีปมด้อยทางเพศ จับพลัดจับพลูได้เป็นตัวประกอบภาพยนตร์ จนได้รับการค้นพบโดย Julien Duvivier ชักชวนมาร่วมงาน Voici le temps des assassins (1956), ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), Hatari! (1962), The American Friend (1977), กำกับภาพยนตร์ Les Amis (1971), Le Pélican (1974) ฯ

รับบทนักศึกษาหนุ่ม Charles เดินทางมาเรียนต่อกฎหมายในกรุง Paris เต็มไปด้วยความใสซื่อ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ยังคงติดมารดา ทุกค่ำคืนต้องเขียนจดหมายส่งหา การมาพบเจอวิถีสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เจิดจรัสด้วยแสงสีสัน ทำให้เขาแทบมิอาจอดกลั้น ลุ่มหลงระเริง ระริกระรี้ตกหลุมรักหญิงสาวสวย Florence ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเธอเคยพานผ่านอะไรมา แต่การกระทำของลูกพี่ลูกน้อง Paul สร้างความเจ็บปวด ชอกช้ำ แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง หมดสูญสิ้นศรัทธา ไม่เหลือกระจิตกระใจทำอะไร สอบตกอย่างไม่น่าเป็นไปได้ และแม้แต่โชคชะตาก็ยังเล่นตลกส่งท้าย

แม้ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนจากสถาบันการแสดงใดๆ แต่ฝีไม้ลายมือของ Blain ช่างมีความละม้ายคล้าย ‘Method Acting’ ผู้ชมสามารถสัมผัสอารมณ์ปั่นป่วนคลุ้มคลั่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน สำแดงผ่านอากัปกิริยา สีหน้า ภาษากาย น้ำเสียงพูดเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย, ครึ่งแรกคือพ่อหนุ่มคลั่งรัก โหยหา คร่ำครวญ ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ แต่เมื่อถูกทรยศหักหลัง เจ็บปวดชอกช้ำ แทบมิอาจอดกลั้นฝืนทนจนสูญเสียตัวตนเอง พ่ายแพ้ภัยต่อวิถีสังคมเมือง

บทบาทอาจมีทิศทางตรงกันข้าม แต่การแสดง Blain กลับแทบจะไม่แตกต่างจาก Le Beau Serge (1958) ตัวละครคาคลั่งด้วยอารมณ์ เก็บกด อัดอั้น ต้องการปลดปล่อยตนเองจากสภาพเป็นอยู่

  • Le Beau Serge (1958) เกิดจากปัจจัยภายใน หมกมุ่นครุ่นคิดมาก โทษว่ากล่าวคือความผิดฉันเอง เลยสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ตอนจนถึงสามารถปลดปล่อยจิตวิญญาณให้เป็นอิสระ
  • Les Cousins (1959) ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม (สังคมเมือง) สร้างแรงกดดัน ทำให้ไม่สามารถปรับตัว จนค่อยๆสูญเสียตนเองและทุกสิ่งอย่าง … ความตาย = ร่างกายกลายเป็นอิสระจากจิตวิญญาณ

Jean-Claude Brialy (1933-2007) นักแสดง/ผู้กำกับ เจ้าของฉายา “the French Cary Grant” สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Aumale, French Algeria บิดาเป็นผู้หมวดประจำการอยู่ Algeria ทำให้ต้องเข้าโรงเรียนในกองทัพ ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก พอเติบโตขึ้นเมื่อมีโอกาสหวนกลับฝรั่งเศส สามารถสอบเข้า East Dramatic Arts Center แล้วมีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ เข้าสู่วงการภาพยนตร์พร้อมๆผู้กำกับรุ่น French New Wave ตั้งแต่หนังสั้น Le coup du berger (1956), ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), A Woman Is a Woman (1961), Claire’s Knee (1970), Le juge et l’assassin (1976), Les innocents (1987) ฯ

รับบท Paul ลูกพี่ลูกน้องของ Charles อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หรูของลุง Henri มาดกูรู รู้จักใครต่อใครมากมาย เป็นคนใจกว้าง มาดนักเลง คุยโวโอ้อวดเก่ง ชอบจัดงานเลี้ยงปาร์ตี้ เชื้อเชิญพรรคพวกพ้องมาดื่มด่ำ สังสรรค์ ลุ่มหลงในแสงสีเสียง ใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง สอบผ่านกฎหมายโดยไม่ใครคาดคิดถึง

การมาถึงของ Charles ให้การต้อนรับอย่างดี พาไปรู้จักผู้คนโน้นนี้ แนะนำโน่นนี่นั่น ชักนำเข้าสู่วิถีชีวิตชาวเมืองอันคลุ้มคลั่ง แต่พอเป็นเรื่องความรัก กลับกีดกันไม่ให้คบหาจริงจังกับ Florence เพราะรับรู้สันดานธาตุแท้อีกฝ่าย ใช้วิถีหักดิบด้วยการให้เธอมาครองรักกับตนเองในอพาร์ทเม้นท์ … นั่นใช่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมควรหรือไม่?

แนวทางการแสดงของ Brialy แตกต่างตรงกันข้ามกับ Blain คือนิยมใช้สันชาตญาณแสดงออก ถ่ายทอดความรู้สึกผ่านภาษากาย ขยับเคลื่อนพริ้วไหวดั่งสายลม (นั่นคือสไตล์การแสดง Classical Hollywood) มีความมาดเท่ห์ ทรงเสน่ห์ คำพูดร้อยเล่ห์มารยา สามารถทำให้ทุกสิ่งอย่างหมุนรอบตัวฉัน กลายเป็นศูนย์กลางจักรวาล … เฉกเช่นเดียวกับการกีดกันความสัมพันธ์ระหว่าง Charles กับ Florence ครุ่นคิดว่าฉันถูกต้อง โดยไม่สนว่าทั้งสองจะคิดเห็นอะไรยังไง

บทบาทของ Brialy ต้องถือว่าเจิดจรัสกว่าภาพยนตร์Le Beau Serge (1958) เพราะสอดคล้องเข้ากับบุคลิก ภาพลักษณ์ สไตล์การแสดง มุ่งเน้นความเว่อวังอลังการ (จนบางทีก็ดูตลกขบขัน) โดยเฉพาะหนวดเคราทำให้ทรงภูมิฐาน มาดเพลย์บอย หัวใจนักเลง โอบรับจิตวิญญาณชาวเมืองยุคสมัยนั้น


ถ่ายภาพโดย Henri Decaë (1915-87) ตากล้อง/วิศวกรเสียง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Saint-Denis โตขึ้นทำงานเป็นช่างภาพ (Photojournalist) ให้กองทัพอากาศฝรั่งเศสช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นเริ่มถ่ายทำหนังสั้น กลายเป็นขาประจำผกก. Jean-Pierre Melville และ French New Wave ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Sea (1949), Les Enfants terribles (1950), Bob le flambeur (1955), Les Amants (1958), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), Les Cousins (1959), The 400 Blows (1959), Purple Noon (1970), Léon Morin, Priest (1961), Le Samouraï (1967), The Red Circle (1970), The Professional (1981) ฯ

แนวทางการถ่ายทำก็คล้ายๆแบบ Le Beau Serge (1958) แบกกล้องขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ใช้เพียงแสงธรรมชาติ ถ่ายทำยังสถานที่จริง แค่เพียงปรับเปลี่ยนพื้นหลังจากชนบทต่างจังหวัด มาเป็นชานเมืองหลวงกรุง Paris

แต่ถึงอย่างนั้นเกินกว่าครึ่งของหนังปักหลักถ่ายทำภายในอพาร์ทเม้นท์ เป็นฉากขึ้นที่สตูดิโอ Studios de Boulogne ตั้งอยู่ยัง Boulogne-Billancourt ชานเมืองตะวันตกของกรุง Paris (ปัจจุบันกลายเป็นย่านธุรกิจของคนรวย) โดดเด่นกับการออกแบบภายในที่ดูโมเดิร์น หรูหรา ทันสมัยใหม่ เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ สิ่งของสะสม งานศิลปะราคาแพงไม่น่าจะถูกๆ

เกร็ด: การออกแบบอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ ไม่ได้ทำเหมือนโปรดักชั่นโทรทัศน์ที่มักเปิดเพดาน (ให้แสงสป็อตไลท์ด้านบนสาดส่องลงมา) และสามารถขยับเคลื่อนย้ายผนังกำแพง (เพื่อให้การถ่ายทำดำเนินไปอย่างสะดวกรวดเร็ว) แต่ก่อสร้างให้เหมือนอพาร์ทเม้นท์จริงๆ (มีเพดานด้วยนะ) แล้วละเล่นกับรายละเอียด ‘Mise en scène’ ตามข้อจำกัดที่พึงมี

เมื่อตอนที่ Charles เขียนจดหมายถึงมารดา พอเสียงคำอ่าน(จดหมาย)ดังขึ้น กล้องจะค่อยๆเคลื่อนไหลพานผ่านรูปภาพ ฝาผนัง (เพื่อสื่อถึงการเดินทางจากชนบทถึงเมืองใหญ่) แพนนิ่งไปเกือบๆครึ่งห้อง 180 องศา สิ้นสุดตรงประตูทางเข้า ก่อนปรับภาพโฟกัส ฉายให้เห็นภาพภายนอกห้อง Paul กำลังเตรียมต้อนรับอดีตแฟนสาวคนหนึ่ง

ความสัมพันธ์ระหว่าง Charles กับมารดา ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะมองว่าถึงขนาด Mother Complex หรือแค่ลูกติดแม่ทั่วๆไป แต่เราสามารถวิเคราะห์ถึงผลกระทบ อิทธิพลต่อตัวละคร เป็นคนเหนียงอาย ไร้ความหาญกล้า จะเรียกว่าหัวโบราณคงไม่ผิดอะไร เชื่อในรักเดียวใจเดียว ด้วยเหตุนี้เมื่อตกหลุมรัก Florance จึงมิอาจคลายความเจ็บปวด ชอกช้ำหลังถูกทรยศหักหลัง

ปล. Claude Chabrol มีความชื่นชอบโปรดปรานภาพยนตร์ของผกก. Alfred Hitchcock ซึ่งหลายๆผลงานมักมีการนำเสนอปม Mother Complex เพื่อแสดงถึงอิทธิพลของมารดาต่อบุตรชาย … ผกก. Chabrol ก็อาจจะเฉกเช่นเดียวกัน!

ขณะที่ข้อความในจดหมายของ Charles เต็มไปด้วยคำสรรเสริญเยินยอ Paris คือสถานที่สุดมหัศจรรย์ แต่ทว่าภายนอกห้อง Paul กลับกำลังจ่ายเงินค่าปิดปากอดีตแฟนสาว สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายทำแท้ง นั่นคือหนทางออกดีที่สุดเพื่อไม่ให้ก่อเกิดปัญหาในอนาคต … นี่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสภาพเป็นจริง vs. สิ่งที่ใครต่อใครเพ้อฝันจินตนาการ Paris อาจเป็นดินแดนราวกับสรวงสวรรค์ แท้จริงแล้วอาจไม่ต่างจากนรกบนดิน!

พบเห็นฉากขับรถออกทัวร์กรุง Paris มีการตัดสลับกลับไปมาจากภาพด้านหน้า vs. เบาะหลังรถ จนเกือบจะเหมือนเทคนิค ‘jump cut’ ผมคาดคิดว่า Jean-Luc Godard น่าจะได้แรงบันดาลใจถ่ายทำซีเควนซ์นั้นใน Breathess (1960) ก็มาจากซีนๆนี้นี่แหละ สถานที่พื้นหลัง ประตูชัย (Arc de triomphe de l’Étoile) ถนนช็องเซลีเซ (Champs-Élysées) ยังๆละแวกเดียวกันเลย

และสถานที่ปลายทาง L’association ตั้งอยู่ละแวก Quartier Latin เป็นการอ้างอิงถึง Ciné-Club du Quartier Latin ชมรมภาพยนตร์ที่บรรดาผู้กำกับรุ่น French New Wave เคยสิงสถิตย์อยู่ก่อนการมาถึงของนิตยสาร Cahiers du Cinéma

Charles แรกพบเจอ ตกหลุมรักแรกพบหญิงสาว Florence ระหว่างกำลังเล่นไพ่บริดจ์ (Bridge) ผมขออธิบายคร่าวๆว่าคือเกมแห่งการประมูล ใครลงไพ่ได้ตามสัญญาก็จะชนะคะแนนในรอบนั้นๆ … เอาเป็นว่าสอดคล้องเข้ากับวิธีการที่จะได้ครอบครองเธอคนนี้

อีกสิ่งหนึ่งน่าสนใจระหว่างแรกทักทาย ภาพวาดพื้นหลังแม้ไม่เคยปรากฎใบหน้า แต่เชื่อว่าหลายคนน่าจะคาดเดาไม่ยาก ภาพเลียนแบบ Mona Lisa ของจิตรกร Leonardo da Vinci นี่เป็นการเปรียบเทียบ Florence ในสายตาของ Charles คือผู้หญิงสวยที่สุดในโลกา

การมาถึงของ Florence ในงานเลี้ยงปาร์ตี้ สังเกตใบหน้าของสองหนุ่ม Charles และ Paul ต่างปกคลุมครึ่งหนึ่งด้วยความมืดมิด ราวกับจะสื่อว่าทั้งสองมีด้านมืด/ลับลมคมต่อหญิงสาว (ในกรณีของ Charles อาจจะคือความครุ่นคิดต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ, ส่วน Paul เหมือนเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันมาแล้ว)

ส่วนภาพมุมกว้างของทั้งสาม สังเกตว่าจะมีอะไรก็ไม่รู้คั่นแบ่ง(น่าจะเตาไฟ)ระหว่างสองหนุ่มกับหญิงสาว เป็นการแบ่งแยก แสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง ไม่มีทางที่พวกเขาจะสามารถครองคู่อยู่ร่วม นอกจากแค่เพียงชั่วครั้งคราว

ระหว่างรับชมผมไม่ได้เอะใจกับเนื้อหาบทกวีของ Paul คลอประกอบบทเพลง Wagner: Tristan and Isolde พอย้อนกลับมาดูฉากนี้เลยตระหนักว่าคือคำรำพันถึงความโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว หลงเหลือตัวคนเดียว ซึ่งสามารถสะท้อนวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ แม้มีผู้คนมากมายรายล้อมรอบรอบ แต่กลับไม่ใครสามารถเติมเต็มช่องว่างภายในจิตวิญญาณ

Oh, Mother … where are you?
I am a poor soldier … alone… all alone … with no friends… with no comrades.
Where are they?
They’re all dead.
All dead.
I’m sad.
I weep.
I cry out, “Help me!”
Mother… But no one hears.
I’m all alone.
One day, the war is over… and spring returns.
The birds sing… the sun shines… music is heard once more… and we find love… love.

ท่อนสุดท้ายของบทกวี “and we find love” มันช่างพอดิบพอดีที่ Paul ถือเชิงเทียนเดินมาถึง Charles กำลังจุมพิตกับ Florence นั่นคือการค้นพบความรักระหว่างคนสอง … บางคนอาจมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นความอิจฉาริษยาของ Paul จึงพยายามครุ่นคิด สรรหาข้ออ้าง วิถีทางไม่ให้ทั้งสองสามารถครองคู่รักกัน

เราต้องไม่ลืมว่าอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้สร้างขึ้นภายในสตูดิโอ ดังนั้นภาพสะท้อนประตูชัยจึงอาจเกิดจากการซ้อนภาพ (หรือใช้โมเดลจำลองประตูชัยตั้งอยู่ด้านกระจก) เพื่อสื่อถึงชัยชนะในการขับไล่ใครคนหนึ่งออกไปจากงานเลี้ยงแห่งนี้ … แต่ผมว่านัยยะจริงๆเคลือบแฝงอยู่ในประโยคที่ก็ไม่รู้ใครพูด “I find it quite mad!” ไม่ใช่แค่ปาร์ตี้ค่ำคืนนี้ที่คลุ้มบ้าคลั่ง แต่ยังคือภาพสะท้อนสังคมเมือง/เหมารวมถึงกรุง Paris

“Broken glass is lucky!” ไคลน์แม็กซ์ของงานเลี้ยงค่ำคืนนี้ คือการทำลายสิ่งข้าวของ เขวี้ยงขว้างขวดแตก (สื่อได้ถึงการทำลายขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี ครุ่นคิดนอกกรอบ) และพากันออกจากอพาร์ทเม้นท์คับแคบ ไปขับรถเล่นรอบกรุง Paris โบยบินสู่อิสรภาพ

ระหว่างแม่บ้านกำลังเก็บกวาด ทำความสะอาดห้องพัก (หลังงานเลี้ยงปาร์ตี้) หนุ่มๆทั้งสองมานั่งตรงเคาน์เตอร์บาร์ Charles คุยโทรศัพท์กับ Florence สังเกตว่ามือของ Paul หันปืน (ไม่มีกระสุน) ไปทางลูกพี่ลูกน้อง นี่เหมือนเป็นการบอกใบ้อะไรบางอย่างแน่แท้!

และหลังจาก Charles วางโทรศัพท์ แทนที่กล้องจะถ่ายให้เห็นทั้งสองแบบหน้าตรง กลับพบเห็น Paul หันทิศทางคนละฟากฝั่ง ซึ่งนั่นคือภาพสะท้อนกระจก สร้างสัมผัสเคลือบแฝง ลับลมคมใน เหมือนกำลังซุกซ่อนอะไรบางอย่าง ไม่ชอบพอความสัมพันธ์ระหว่างลูกพี่ลูกน้องกับผู้หญิงคนนั้น

Florence ที่มาถึงก่อนเวลานัดหมาย เลยถูก Paul (และ Clovis) พูดโน้มน้าว เกลี้ยกล่อมเกลา กรอกหูว่าผู้หญิงอย่างเธอไม่เหมาะกับ Charles จนในที่สุดก็มิอาจอดรนทน ศิโรราบต่อความรู้สึกตนเอง ซึ่งวินาทีที่จุมพิตกับ Paul จะมีการสลับภาพมายัง Clovis เดินไปตรงหน้าต่าง พบเห็นทิวทัศน์ภายนอก (ที่เป็นภาพวาด) นี่เป็นการสื่อถึงพฤติกรรมหญิงสาว = วิถีชาวเมือง/ชาว Paris ระริกระรี้แรดร่าน ปล่อยตัวปล่อยใจ สนเพียงความสุขตรงหน้า ไม่สามารถมีความมั่นคง จงรักภักดีต่อผู้ใด

เมื่อถึงเวลานัดหมาย ภาพแรกถ่ายให้เห็นชั้นบน-ชั้นล่าง เพื่อสื่อถึงความแบ่งแยก แตกต่าง, Paul ยืนอยู่ฟากฝั่งเดียวกับ Florence เดินวนไปวนมา ท่าทางกระวนกระวาย พูดบอกความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา, ขณะที่ Charles หลังพิงกำแพง ทรุดนั่งข้างบันได ตำแหน่งเดียวกับตอนที่เขาและเธอจุมพิตกันครั้งแรก (ระหว่างงานเลี้ยงปาร์ตี้) … นั่นแสดงว่าบันไดเป็นตำแหน่งของการตกหลุมรัก และพลัดพรากจาก (ไม่มีโอกาสได้ปีนป่ายขึ้นชั้นบน/สรวงสวรรค์)

ก็ไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้ Paul และ Florence กำลังรับชมภาพยนตร์อยู่หรือไร จึงพบเห็นเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ยังคงสาดส่องแสง กระพริบติดๆดับๆ ซึ่งสอดคล้องเข้ากับสภาวะทางอารมณ์ของ Charles หลังจากรับรู้ว่าทั้งสองกำลังจะอาศัยอยู่ร่วมกันในอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้

ฉากถัดมา Charles เดินทางไปยังร้านขายหนังสือ พร่ำบ่นเรื่องความรัก และภาพสุดท้ายพบเห็นหนังสือมากมายบนชั้น ผมอ่านฝรั่งเศสไม่ออกแต่มีการแปลซับไตเติ้ลชื่อหนังสือ สอดคล้องเข้าสถานการณ์ขณะนี้อย่างชัดเจน

THE INSULT (L’outrage)
THE LADY LIES (La menteuse suivi de Les Gracques)
THE LAND OF BABARIAN (La Terre du Barbare)
THE AGONY OF LOVE (L’aonie de L’amour)
THE MISFORTUNES OF LOVING (Le malheur d’aimer)
MY MOTHERS CASTLE (Le Château de ma mère)

ตลอดระยะเวลาที่ทั้งสามอาศัยอยู่ร่วมอพาร์ทเม้นท์เดียวกัน มีการพยายามเลือกมุมกล้องที่แสดงให้เห็นว่า Charles คือส่วนเกิน บุคคลที่สาม แทรกตัวอยู่ระหว่างกลาง แต่ขณะเดียวกันกลับยิ่งสร้างแรงกดดัน ความรู้สึกอัดอั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง

ในอดีต ความสัมพันธ์สามเส้าลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สังคมไม่ให้การยินยอมรับ! แต่การมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ กลายเป็นวิถีชาวเมืองพบเจอได้ทั่วๆไป ปฏิกิริยาของ Charles สะท้อนมุมมองคนรุ่นเก่า/หัวโบราณ/อนุรักษ์นิยม (มาจากบ้านนอกคอกนา) ที่ต้องอดรนทนต่อสภาพแวดล้อม วิถีทางสังคมกำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป

Florence นอนอาบแดดอยู่ตรงระเบียงชั้นบน (บริเวณนั้นน่าจะเรียกว่าระเบียงได้กระมัง) นั่นคือสถานที่ที่ Charles ทำได้เพียงเหม่อมองอยู่เบื้องล่าง (ผิดกับ Paul ที่สามารถขึ้นไปเบื้องบน ลูบหลังหญิงสาว และบดบังแสงสว่างไม่ให้ส่องมาถึงลูกพี่ลูกน้อง) กักขังตนเองอยู่ภายใต้ (ภาพแรก Charles ยืนอยู่ด้านหลังรั้วเหล็ก) พยายามเอื้อมมือไขว่คว้า (จุดบุหรี่ให้ Florence) แต่ไม่สามารถครอบครองนางฟ้าบนสรวงสวรรค์

แล้ววันหนึ่ง Florence ก็ร่ำลาจากไป สังเกตจากปฏิกิริยา ภาษากายของ Charles ก้มหน้าก้มตา แสดงถึงความเศร้าโศกเสียใจ แต่พยายามเก็บกด อดกลั้น ไม่แสดงความรู้สึกนั้นออกมาให้ Paul พบเห็น ซึ่งตำแหน่งของพวกเขาคนละฟากฝั่งเคาน์เตอร์ แสดงถึงความเป็นปรปักษ์ บังเกิดอคติต่อกัน

“All that’s over now.” ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่าง Paul กับ Florence แต่ยัง Charles กับ Paul (และ Florence) นี่คือวินาทีที่หนุ่มบ้านนอกได้สูญเสียเกือบจะทุกสิ่งอย่าง

พบเห็นการแสดงจอมพลัง กระชากโซ่ให้ขาด ชวนนึกถึงภาพยนตร์ La Strada (1954) ซึ่งการแสดงนี้เกิดขึ้นระหว่างงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ภายหลังการสอบผ่านฉลุยของ Paul เคลือบแฝงนัยยะปลดเปลื้องพันธนาการ ได้รับอิสรภาพ ไม่ต้องวุ่นวายกับการเรียนการศึกษาอีกต่อไป!

การสอบผ่านของ Paul มันอาจฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ ไม่เคยเห็นอ่านหนังสือจะสอบผ่านได้ยังไง? แต่หนังนำเสนอแค่มุมมองชื่นชอบจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ เบื้องหลังอาจรู้จักแบ่งเวลา สร้างสมดุลให้กับตนเองก็เป็นได้ (ตั้งใจเรียนเต็มที่+ปาร์ตี้สุดเหวี่ยง) ซึ่งเป้าหมายของหนังต้องการสื่อถึงชัยชนะต่อการใช้ชีวิต เพราะเขาไม่ได้หมกมุ่นยึดติดกับรูปแบบแผน ขนบกฎกรอบ วิถีทางสังคมยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา สามารถปลดปล่อยตนเองจากโซ่พันธนาการเสียมากกว่า

การสอบของ Paul ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ทว่า Charles กลับกำลังเริ่มต้นขึ้น! ค่ำคืนนี้เขาจึงตั้งใจจะอ่านหนังสือ แต่เสียงจากภายนอกช่างหนวกหู เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ ส่วนภายในห้อง(=สภาพจิตใจของเขา)ก็ไม่ต่างกัน Florence เข้ามายั่วเย้า เปิด-ปิดไฟห้องน้ำ (นั่นน่าจะคือสัญญาณชักชวนร่วมเพศสัมพันธ์) แต่เขากลับหมกมุ่นอยู่กับกองหนังสือเบื้องหน้า ระหว่างผลักไสเธอออกจากห้อง พบเห็นภาพสะท้อนตรงประตู สำแดงความหดหู่ สิ้นหวัง ทั้งร่างกายและจิตใจ

Wagner: Ride of the Valkyries นำเสนอช่วงเวลาที่นักรบ Valkryies แห่งปรัมปรา Norse ควบขี่ม้ามีปีก (Winged Horses ไม่ใช่ Pegasus เพราะมาจากคนละปรัมปรา) เพื่ออัญเชิญจิตวิญญาณวีรบุรุษผู้พ่ายแพ้จากสนามรบ พาไปสรวงสวรรค์ Valhalla

บทเพลงนี้ดังขึ้นตั้งแต่ที่ Florence เข้ามาในห้องของ Charles แต่มันจะเด่นดังชัดเจนตั้งแต่ที่เขาปิดประตูใส่อดีตคนรัก จากนั้นกล้องแพนนิ่ง 360 องศาไปรอบห้อง ราวกับการเดินทางของ Valkyries เพื่อนำพาวิญญาณของ Charles สู่ดินแดนหลังความตาย … ตั้งแต่ที่ Charles ปิดประตู ขับไล่ Florence ต้องถือว่าหัวใจแตกสลาย ไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น

เมื่อออกจากห้องสอบ กล้องถ่ายภาพระยะ Extreme Close-Up ประชิดติดใบหน้าของ Charles ก่อนค่อยๆซูมออกห่าง ความคับแคบของภาพสร้างความรู้สึกอึดอัด อัดอั้น เหมือนมีบางสิ่งอย่างเลวร้ายเกิดขึ้น ซึ่งผู้ชมสามารถคาดเดาไม่ยากจากบริบทแวดล้อมนี้ ย่อมต้องคือการสอบไม่ผ่าน!

บรรดาผองเพื่อนที่เข้ามาทักทาย สอบถามไถ่ผลการสอบเป็นยังไง? แต่หนังจงใจถ่ายมุมเงยติดท้องฟ้า มองด้วยสายตาดูถูก เหยียดหยาม ‘Poor Guy’ วันๆเอาแต่อ่านหนังสือกลับยังสอบไม่ได้

การสอบไม่ผ่านของ Charles แฝงนัยยะถึงสอบตกการใช้ชีวิต! เพราะเขามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับหนังสือ ตำราเรียน ไม่รู้จักแบ่งเวลา/ปรับตัวเข้ากับวิถีสังคมเมือง ให้อิสระตนเองเที่ยวเล่นสังสรรค์ หมกมุ่นอยู่กับผู้หญิงเพียงคนเดียว ผลลัพท์เลยกำลังจะสูญเสียทุกสิ่งอย่าง!

การสอบไม่ผ่านทำให้ Charles ก้าวออกเดินเรื่อยเปื่อยอย่างไร้จุดมุ่งหมาย แล้วบังเอิญมาพบเจอ Florence ยังร้านอาหารแห่งหนึ่งกับผู้ชายคนใหม่ แต่ทั้งสองก็ทำได้เพียงทอดถอนลมหายใจ ไม่มีทางที่พวกเขาจะหวนกลับมาคืนดี ครองคู่รัก หลงเหลือเพียงความทรงจำวันวาน รอยนิ้วมือทิ้งไว้บนกระจกเท่านั้นเอง

ถึงจะมองเห็นไม่ชัดว่า Charles เดินทางมาถึงยังสถานที่แห่งหนไหน แต่ผมกล้าฟันธงว่าต้องคือแม่น้ำ Seine จุดศูนย์กลาง จิตวิญญาณชาวฝรั่งเศส! ดูจากปฏิกิริยาท่าทาง รวมถึงบรรยากาศซีนนี้ที่ปกคลุมด้วยความมืดมิด ชวนให้ครุ่นคิดว่าเขาอาจกระทำอัตวินิบาต/ฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายกลับแค่ฉีกหนังสือ ฉีกกระดาษ ฉีกบัตรนักศึกษา ปล่อยทิ้งให้ล่องลอยคอไปตามกระแสน้ำ สื่อถึงการหมดสูญสิ้นศรัทธาในตนเอง

พอกลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์ พบเห็นการละเล่นกับแสงเงา ส่องสว่างในสิ่งที่ Charles ครุ่นคิดกระทำ เอื้อมมือหยิบปืน เดินไปตรงเคาน์เตอร์ พบเห็นภาพสะท้อนกระจกระหว่างหยิบกระสุนใส่ปืน นั่นสื่อถึงความครุ่นคิด/จิตใจอยากเข่นฆ่าใครสักคน แต่ก็ไม่ได้อยากให้ใครต้องตกตายลงจริงๆ … นั่นคือเหตุผลที่ Charles ใส่กระสุนปืนเพียงนัดเดียว แล้ววัดดวงด้วย Russian Roulette จะรอดหรือจะตาย ให้เป็นเรื่องของโชคชะตา

หลังความล้มเหลวในการพยายามฆ่า ระหว่างเดินลงมาจากห้องชั้นบน กล้องเคลื่อนผ่านของสะสมที่ดูเหมือนหน้ากากแห่งความชั่วร้าย (สะท้อนถึงวิถีสังคมเมืองที่ใครๆต่างสวมหน้ากากเข้าหากัน) พอเข้ามาในห้องก็ยังถูกโคมไฟบดบัง (แสงสี/ความเจิดจรัสของเมืองใหญ่ บดบังตัวตนของมนุษย์) ก่อนทิ้งตัวลงนอน ขดตัว ท่าทางเหมือนทารกน้อยในครรภ์ (สภาพสิ้นหวังของ Charles โหยหากลับสู่อ้อมอกมารดา)

โศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้น สังเกตว่าสามช็อตนี้ต่างถ่ายมุมก้มลงมา เพื่อสื่อถึง(ความตายเกิดจาก)โชคชะตาฟ้าลิขิต/การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มนุษย์ไม่สามารถต่อต้านทาน

  • ภาพมุมกว้างจะมีเสาสีขาวแบ่งแยกตัวละครออกเป็นสองฟากฝั่ง และ Charles ยกมือขึ้นหักห้าม แต่ดูเหมือนพยายามเอื้อมมือไขว่คว้า (เพียงอากาศธาตุ) ก่อนทรุดล้มลง หมดสิ้นลมหายใจ
  • ภาพความตายของ Charles มีการถ่ายจากสองมุมมองซ้าย-ขวา Paul เข้ามาตรวจสอบลมหายใจ ก่อนก้าวเดินออกไป

สภาพหมดสิ้นหวังอาลัยของ Charles นั่งทรุดลงตรงเก้าอี้ ยกปืนขึ้นจ่ออากาศธาตุ ก่อนได้ยินเสียงกริ่งประตู ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป แต่หลังจากนี้จะเป็นยังไงคงไม่มีใครสามารถคาดเดา ก่อนกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลมายังเครื่องเล่นแผ่นเสียง พอดิบพอดีจบบทเพลง Wagner: Tristan and Isolde ก่อนปรากฎข้อความ Fin (The End)

การจบแบบเคว้งคว้างล่องลอย สะท้อนถึงอิทธิพลสังคมเมือง/โลกยุคสมัยใหม่ ที่กำลังทำลายล้าง เข่นฆ่าวิถีชนบท ชีวิตรูปแบบเก่าๆ ให้มีความเฉิ่มเฉย ล้าหลัง ก่อนค่อยๆเลือนหาย ตายจากไปชั่วนิรันดร์ … ฟังดูเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่นั่นคือสัจธรรมแห่งชีวิต ไม่มีใครสามารถต่อต้านทานการเปลี่ยนแปลง/การมาถึงของคลื่นลูกใหม่!

ตัดต่อโดย Jacques Gaillard (1930-2021) จากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Les Misérables (1958), ก่อนกลายเป็นขาประจำผกก. Claude Chabrol ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), The Unfaithful Wife (1969), This Man Must Die (1969), The Butcher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Charles (และบางครั้ง Paul) ตั้งแต่เดินทางมาถึงกรุง Paris เข้าพักอาศัยในอพาร์ทเม้นท์ลูกพี่ลูกน้อง Paul พาไปแนะนำให้รู้จักวิถีคนเมือง สถานที่สำคัญๆ และยามค่ำคืนดื่มด่ำสังสรรค์ ลุ่มหลงระเริงไปกับแสงสีเสียง สุรานารี ตกหลุมรักแรกพบ Florence กลับถูกกีดกันผลักไส จนชอกช้ำระกำใจ

  • การมาถึงของ Charles
    • Charles เดินทางมาถึงอพาร์ทเม้นท์ของลูกพี่ลูกน้อง Paul
    • Paul ขับรถพา Charles ท่องเที่ยวกรุง Paris มาถึงยัง L’assocation
    • Charles แรกพบเจอตกหลุมรัก Florence
    • พยายามจะติดตามเธอ แต่ออกมาพบเห็นเดินควงผู้ชายอีกคน จึงแวะเข้าร้านหนังสือ
  • งานเลี้ยงสังสรรค์
    • ให้การต้อนรับแขกเหรื่อ Charles ได้พบเจอ Florence อีกครั้ง
    • กิจกรรมสนุกๆในงานเลี้ยง
    • Charles ลากพา Florence ออกมานอกอพาร์ทเม้นท์ พรอดพร่ำรัก ชักชวนกันไปนั่งรถเล่น
    • แต่ระหว่างพยายามขอกุญแจรถ Paul ทั้งคณะกลับพร้อมใจกันออกมาขับรถเล่น
    • ยามเช้าหวนกลับมาอพาร์ทเม้นท์ ปลุกเพื่อนที่มึนเมา แม่บ้านเข้ามาทำความสะอาด
  • Paul กับ Florence
    • Charles ใจจดใจจ่อที่จะพบเจอกับ Florence
    • Paul พยายามพูดโน้มน้าวให้ Florence เลิกยุ่งเกี่ยวกับ Charles
    • กลับกลายเป็นว่า Paul ชักชวน Florence ให้มาอาศัยอยู่ร่วมอพาร์ทเม้นท์ สร้างความเจ็บปวดชอกช้ำให้กับ Charles
    • Charles พยายามอดกลั้นต่อ Paul และ Florence จนทั้งสองเลิกรา แยกจากกัน
  • ความสิ้นหวังของ Charles
    • Paul สามารถสอบผ่านได้อย่างสบายๆ ค่ำคืนนั้นจึงจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง
    • ขณะที่ Charles เพราะต้องสอบวันรุ่งขึ้นจึงก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือ
    • Florence พยายามเข้ามาเกี้ยวพาราสี Charles แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ
    • สุดท้ายแล้ว Charles สูญสิ้นกะจิตกะใจ ทำให้สอบตก
    • กลับมาอพาร์ทเม้นท์นำกระสุนใส่ปืน เลียนแบบ Russian Roulette

เพลงประกอบโดย Paul Misraki (1908-98) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Constantinople, Ottoman Empire (ปัจจุบันคือ Istanbul, Turkey) ในครอบครัว French Jewish บิดาทำงานบริษัทประกัน ด้วยความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก เลยถูกส่งกลับฝรั่งเศส ร่ำเรียนดนตรีกับ Charles Koechlin จากนั้นเริ่มแต่งเพลง Jazz โด่งดังกับหนังพูดของผกก. Jean Renoir เรื่องแรก Baby’s Laxative (1931), ร่วมติดตาม Renoir เดินทางสู่ Hollywood ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ผลงานเด่นๆ อาทิ Manon (1949), Mr. Arkadin (1955), And God Created Woman (1956), Montparnasse 19 (1958), Les Cousins (1959), Les Bonnes Femmes (1960), Le Doulos (1963), Alphaville (1965) ฯ

งานเพลงของ Misraki ใช้บทเพลงแนวถนัด/ร่วมสมัยนั้น Jazz เป็นตัวแทนชาวเมืองหลวง ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสีเสียง สิ่งยั่วเย้ายวนรัญจวนใจ ดึงดูดให้ลุ่มหลงใหล แต่ขณะเดียวกันกลับสร้างความอ้างว่าง เปล่าเปลี่ยว รู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย

แต่บทเพลงที่เป็นไฮไลท์หาใช่ผลงานของ Misraki แต่กลับเป็น ‘diegetic music’ ที่ Paul เปิดจากแผ่นเสียงระหว่างงานเลี้ยงปาร์ตี้ ในเครดิตขึ้นไว้เพียงสามบทเพลง แต่จริงๆมีอยู่สี่บทเพลง ประกอบด้วย

  • Wolfgang Amadeus Mozart: Symphony No. 40 in G minor, K. 550 (1788) ท่อนที่หนึ่ง I. Molto allegro
    • บทเพลงนี้มีชื่อเล่น “Great G minor Symphony” ได้รับยกย่องจากนักวิจารณ์ “a work of passion, violence, and grief.”
  • Richard Wagner: Götterdämmerung (Twilight of the Gods), WWV 86D (1876) บทเพลง Siegfrieds Trauermusik (Siegfried’s Funeral March)
  • Richard Wagner: Die Walküre (The Valkyrie), WWV 86B (1870) บทเพลง Walkürenritt or Ritt der Walküren (Ride of the Valkyries)
  • Richard Wagner: Tristan und Isolde (Tristan and Isolde), WWV 90 (1865) บทเพลง Prelude

อาจเพราะผมเพิ่งเขียนถึง Melancholia (2011) เลยยังคงตราประทับ ฝังจิตฝังใจกับอุปรากร Tristan and Isolde ขนลุกขนพองกับโศกนาฎกรรมช่วงท้าย หัวใจวาบหวิว หมดเรี่ยวแรงกายใจ ตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย นี่นะหรือสังคมเมืองใหญ่ที่ใครๆขวนขวายไขว่คว้า

ชายหนุ่มบ้านนอกคอกนา Charles ออกเดินทางสู่เมืองหลวง แต่การอาศัยอยู่กับลูกพี่ลูกน้อง Paul ทำให้ได้เรียนรู้จักวิถีชีวิตชาวเมือง ลุ่มหลงระเริงในแสงสีเสียง ตกหลุมรักคลั่งหญิงสาวสวย Florence จนกระทั่งเสียการเสียงาน สอบไม่ผ่าน ท้ายที่สุดจึงสูญเสียทุกสิ่งอย่าง

ผู้ชมหลายคนอาจจะมอง Les Counsins (1959) คือภาพยนตร์ต่อต้านสังคมเมือง นำเสนอสารพัดสิ่งยั่วเย้า แสงสีเสียง สุรานารี อิทธิพลภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อคนหนุ่มสาว ทำให้เกิดความลุ่มหลงผิด ครุ่นคิดว่าฉันคือศูนย์กลางจักรวาล สามารถทำอะไรๆได้ทุกสิ่งอย่าง … แต่แท้จริงแล้วความตั้งใจของผกก. Chabrol แตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง!

ในบทความที่ผมเขียนถึง Le Beau Serge (1958) สองตัวละครหลัก François Bayon & Serge ต่างคืออวตารของผกก. Chabrol, ฉันท์ใดฉันท์นั้น Les Cousins (1959) ลูกพี่ลูกน้อง Charles & Paul ก็มีความเป็น Charbrol ในช่วงเวลาแตกต่างกัน

  • Charles = ผกก. Chabrol หลังสงครามโลกครั้งที่สองเดินทางสู่ Paris เพื่อเข้าศึกษาต่อยัง Sorbonne คาดว่าช่วงปีแรกๆคงมีปัญหาในการปรับตัวเข้า เต็มไปด้วยอคติ ต่อต้านวิถีสังคมเมืองอยู่ไม่น้อย
  • Paul = ผกก. Chabrol ภายหลังเรียนจบ อาสาสมัครทหาร พอปลดประจำการกลับมา กลายเป็นคนชื่นชอบงานเลี้ยงสังสรรค์ จัดปาร์ตี้ในอพาร์ทเม้นท์บ่อยครั้ง เชื้อเชิญพรรคพวกนักวิจารณ์ Cahiers du Cinéma มาดื่มด่ำ ร่วมวงสนทนาภาพยนตร์

ใครเคยรับชม(หนังสั้น) Fool’s Mate (1956) และ Paris Belongs to Us (1960) ทั้งสองเรื่องแม้กำกับโดย Jacques Rivette แต่หยิบยืมใช้อพาร์ทเม้นท์ของ Chabrol ที่มีความหรูหรา ใหญ่โต รสนิยมไฮโซ อาจดูแตกต่างจาก Les Cousins (1959) แต่สำแดงให้เห็นถึงการโอบรับวิถีสังคมเมือง (ของ Chabrol) แบบเดียวกับตัวละคร Paul

ขณะที่ Le Beau Serge (1958) ตัวละคร François ต้องการจะทำบางสิ่งอย่างเพื่อให้ความช่วยเหลือ Serge หลุดพ้นจากสภาพเป็นอยู่ และสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่! ในทิศทางกลับกันของ Les Cousins (1959) ตัวละคร Paul พยายามปกป้อง กีดกัน ขัดขวางไม่ให้ Charles ตกหลุมพรางของ Florence แต่ผลลัพท์กลับทำให้อีกฝ่ายประสบโศกนาฎกรรม

หลายคนอาจตีความเพียงแค่ว่า Charles ไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่วิถีสังคมเมือง เพราะมัวแต่ยึดถือมั่นต่อค่านิยม(ทางสังคม)ที่ได้รับการปลูกฝัง คาดหวังจากครอบครัว/มารดา ต้องอ่านหนังสือ ต้องสอบให้ผ่าน ต้องรักเดียวใจเดียว นั่นไม่ใช่สิ่งผิดอะไร แต่ในมุมมองผกก. Chabrol คิดเห็นว่าเป็นเรื่องเฉิ่มเฉยล้าหลัง … ประมาณว่าเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาเมื่อตอนเดินทางสู่ Paris ปัจจุบันโตพอจะให้คำแนะนำคนอื่นว่าไม่ควรยึดติดกับอะไรแบบนั้น

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องเข้ากับอุดมการณ์ French New Wave กลุ่มเคลื่อนไหวที่เลื่องชื่อในการแหกขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี ไม่ยึดติดอยู่กับกฎกรอบข้อบังคับ ทำไมต้องซื่อสัตย์? ทำไมต้องรักเดียวใจเดียว? สังคมเมือง = โลกยุคสมัยใหม่ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับแสงสีเสียง สุรานารี นั่นคืออิสรภาพไร้ขีดจำกัด

โศกนาฎกรรมตอนจบคือการเปรียบเทียบถึงจุดจบยุคสมัย ค่านิยม ความเชื่อศรัทธา วงการภาพยนตร์ ทุกสิ่งอย่างกำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป มันอาจเป็นน่าเศร้าสลด สงสารเห็นใจ แต่โลกยังคงเคลื่อนหมุน กาลเวลาดำเนินไป ไม่มีใครสามารถต่อต้านทานความเปลี่ยนแปลง และการมาถึงของคลื่นลูกใหม่


ด้วยทุนสร้างเพิ่มขึ้นจาก Le Beau Serge (1958) เกือบเท่าตัว FF60 ล้านฟรังก์ฝรั่งเศส (=$160,000 เหรียญ) ยอดจำหน่ายตั๋ว(ในฝรั่งเศส)ก็เฉกเช่นเดียวกัน 1,816,407 ใบ เป็นผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดอันดับสองของผกก. Chabrol (รองจาก Docteur Popaul (1972))

และเมื่อได้รับเลือกเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin สามารถคว้ารางวัล Golden Bear เฉือนเอาชนะภาพยนตร์อย่าง The Hidden Fortress (1958), Tiger Bay (1959) ฯ

กาลเวลาอาจไม่ทำให้ Les Cousins (1959) ได้รับการจดจำเทียบเท่า Le Beau Serge (1958) เพราะเรื่องหลังคือจุดเริ่มต้นกลุ่มเคลื่อนไหว French New Wave จึงทรงอิทธิพล ยังคงถูกกล่าวถึงในปัจจุบัน … แต่ทั้งสองเรื่องถือว่าเกิดมาเป็นพี่น้อง เคียงคู่ เติมเต็มกันและกัน

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 2K เมื่อปี ค.ศ. 2011 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Gaumont, Criterion และ Eureka Entertainment (คอลเลคชั่น Master of Cinema)

แม้ส่วนตัวจะชื่นชอบ Le Beau Serge (1958) มากกว่าเล็กน้อย แต่ทว่า Les Cousins (1959) ก็มีความแพรวพราวในลูกเล่นภาพยนตร์ สองนักแสดงนำสลับกันโดดเด่น (Gérard Blain โดดเด่นกับ Le Beau Serge ขณะที่ Jean-Claude Brialy เจิดจรัสกับ Les Cousins) และพบเห็นพัฒนาการผกก. Chabrol ที่น่าประทับใจ

จัดเรต 15+ กับแสงสีเสียง ความคลุ้มคลั่งของเมืองหลวง

คำโปรย | Les Cousins (1959) ญาติห่างๆของ Le Beau Serge (1958) เดินทางเข้าเมืองหลวง ไม่ใช่เรื่องง่ายจะปรับตัว ผู้กำกับ Claude Chabrol ก็เฉกเช่นเดียว
คุณภาพ | สีสี
ส่วนตัว | คลุ้มคลั่ง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: