Le Beau Serge

Handsome Serge (1958) French : Claude Chabrol ♥♥♥♥

French New Wave เริ่มต้นที่ Le Beau Serge (1958) นำเสนอการหวนกลับหารากเหง้าของผู้กำกับ Claude Chabrol เติบโตขึ้นยังหมู่บ้านชนบท Sardent, France พบเจอเพื่อนเก่ามีสภาพไม่เอาถ่าน บังเกิดความมุ่งมั่น จิตวิญญาณแรงกล้า ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อให้เขาสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่

เราสามารถเปรียบเทียบหมู่บ้านชนบท เพื่อนเก่าในสภาพไม่เอาถ่าน = วงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสขณะนั้น พวกผู้กำกับรุ่นใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งสอง) ยังคงเกาะกินบุญเก่า เอาแต่ชื่อเสียง เงินทอง รังสรรค์ผลงานเน้นความบันเทิง ไร้มูลค่าราคาทางศิลปะ! นั่นสร้างความผิดหวังให้ผกก. Charbrol (และผองเพื่อนว่าที่คลื่นลูกใหม่ French New Wave) บังเกิดความมุ่งมั่น แรงผลักดัน ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อปรับปรุงแก้ไข แม้ยังจินตนาการไม่ออกว่าอนาคตจะเป็นยังไง ขอแค่ได้เริ่มต้น ผลักดันตนเอง ช่วยให้บังเกิดชีวิตใหม่ นั่นถือเป็นก้าวย่างแรกที่จักเปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์ไปตลอดกาล

คนส่วนใหญ่มักคิดเห็นว่า The 400 Blows (1959) คือจุดเริ่มต้น French New Wave และ/หรือ Breathless (1960) นำเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ (Modern Era), แต่เอาจริงๆต้องนับเริ่มต้นที่ Le Beau Serge (1958) แปลว่า Handsome Serge เพราะถือเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) เรื่องแรกของสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหว French New Wave และมีเนื้อหาสาระอย่างที่บอกไป ก้าวย่างแรกสู่การเปลี่ยนแปลง

ผมขอแนะนำเพิ่มเติมถ้าคุณอยากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ให้ติดตามต่อด้วย Les Cousins (1959) แม้ไม่ใช่ภาคต่อแต่ขอเรียกว่าสองพี่น้อง ควรรับชมติดต่อกัน จริงๆแล้วผกก. Charbrol พัฒนาบทเรื่องหลังขึ้นก่อน แต่ประมาณงบสูงไปนิด เลยต้องเปลี่ยนมาสร้าง Le Beau Serge (1958) ด้วยนักแสดงชุดเดิม ทีมงานเดิม แค่สลับสับเปลี่ยนชนบท-เมืองหลวง

  • Le Beau Serge (1958) นักศึกษาหนุ่มจากเมือง หวนกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเก่าที่ชนบท
  • Les Cousins (1959) หนุ่มบ้านนอกคอกนา เดินทางไปเรียนต่อเมืองหลวง

Claude Henri Jean Chabrol (1930-2010) ผู้กำกับ/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่ไปเติบโตยังชนบท Sardent, Nouvelle-Aquitaine ครอบครัวเป็นเจ้าของร้านขายยา คาดหวังให้บุตรชายสืบทอดกิจการ แต่กลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” ก่อตั้งชมรม Film Club ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลงใหลเรื่องราวนักสืบ แนวตื่นเต้นลุ้นระทึก (Thriller)

หลังสงครามโลกสิ้นสุด เดินทางสู่ Paris เข้าศึกษา University of Paris (บ้างว่าร่ำเรียนเภสัชศาสตร์ บ้างว่านิติศาสตร์) แต่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ยัง Ciné-Club du Quartier Latin และ Cinémathèque Française หลังเรียนจบอาสาสมัครทหาร French Medical Corps ไต่เต้าจนได้ยศผู้หมวด (Sergeant) พอปลดประจำการกลายเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma, ร่วมกับ Éric Rohmer ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ Hitchcock (1957), ให้ความช่วยเหลือ Jacques Rivette สรรค์สร้างหนังสั้น Le coup du Berger (1957)

Chabrol แต่งงานกับภรรยาคนแรก Agnès Goute เมื่อปี ค.ศ. 1952 แล้วสูญเสียบุตรคนแรกระหว่างการทำคลอด สร้างความเศร้าโศกเสียใจจนกลายเป็นคนติดเหล้าอยู่สักพักใหญ่ๆ สองปีถัดมาภรรยาถึงสามารถคลอดบุตรคนแรกได้สำเร็จ และหลังจากบุตรคนที่สองถือกำเนิดไม่นาน ได้รับมรดกก้อนโตจากคุณยาย FF32 ล้านฟรังก์ฝรั่งเศส จึงพยายามผลักดันสามีให้ทดลองสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก

ในตอนแรก Chabrol พัฒนาเรื่องราว Les Cousins จากประสบการณ์เมื่อครั้นเพิ่งเดินทางมาถึงกรุง Paris ร่ำเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่เมื่อประเมินงบประมาณ FF32 ล้านฟรังก์ฝรั่งเศสอาจไม่มากเพียงพอ เลยเปลี่ยนมาพัฒนาอีกเรื่องราว Le Beau Serge ด้วยการเดินทางกลับหมู่บ้านชนบท Sardent เชื่อว่าน่าจะประหยัดทุนสร้างได้มากกว่า … แต่เพราะ Chabrol ไม่เคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์มาก่อน (ไม่เคยทำหนังสั้นด้วยนะ) เลยผลาญเงินหมดเกลี้ยง ทั้งๆที่น่าจะประหยัดได้มากกว่านี้ (แต่ทว่า FF32 ล้านฟรังก์ ก็น้อยกว่าทุนสร้างโดยเฉลี่ยภาพยนตร์ฝรั่งเศสยุคสมัยนั้นกว่า 3-4 เท่าตัว)

Le Beau Serge (1958) ถือได้ว่าคือภาพยนตร์อัตชีวประวัติของผกก. Chabrol ทั้งสองตัวละคร François Bayon และ Serge ต่างนำจากประสบการณ์ตรง อวตารของตนเองในช่วงเวลาแตกต่างกัน


เรื่องราวของ François Bayon (รับบทโดย Jean-Claude Brialy) นักศึกษาหนุ่มหล่อ แต่งตัวโก้หรู ราวกับผู้ดีมีสกุล เดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านเกิด Sardent ที่เคยอาศัยใช้ชีวิตวัยเด็ก รู้สึกแปลกประหลาดใจเมื่อพบเห็นสภาพเพื่อนเก่า Serge (รับบทโดย Gérard Blain) ดื่มเหล้ามึนเมา กลายเป็นคนไม่เอาถ่าน รับฟังเรื่องเล่าจากคนรอบข้างถึงรับรู้ว่าแต่งงานกับหญิงสาวชาวบ้าน Yvonne แล้วสูญเสียบุตรระหว่างการคลอด

แม้ว่า François ดูจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชนบท แต่มีความกระตือรือล้นอยากให้ความช่วยเหลือ Serge ขณะเดียวกันก็แอบคบหา Marie (รับบทโดย Bernadette Lafont) หญิงสาววัย 17 ปี น้องสาวของ Yvonne ที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ หลับนอนกับผู้ชายไม่ซ้ำหน้า ไม่เว้นแม้แต่ !@#$%% นั่นทำให้ค่ำคืนงานเต้นรำ François มีเรื่องชกต่อยกับ Serge จนเลือดตกยางออก ถึงอย่างนั้นเขายังคงดื้อรั้น ดึงดัน ต้องการทำบางอย่างสิ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง


Jean-Claude Brialy (1933-2007) นักแสดง/ผู้กำกับ เจ้าของฉายา “the French Cary Grant” สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Aumale, French Algeria บิดาเป็นผู้หมวดประจำการอยู่ Algeria ทำให้ต้องเข้าโรงเรียนในกองทัพ ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก พอเติบโตขึ้นเมื่อมีโอกาสหวนกลับฝรั่งเศส สามารถสอบเข้า East Dramatic Arts Center แล้วมีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ เข้าสู่วงการภาพยนตร์พร้อมๆผู้กำกับรุ่น French New Wave ตั้งแต่หนังสั้น Le coup du berger (1956), ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), A Woman Is a Woman (1961), Claire’s Knee (1970), Le juge et l’assassin (1976), Les innocents (1987) ฯ

รับบท François Bayon นักศึกษาหนุ่ม หน้าตาหล่อเหลา แต่งตัวโก้หรู วางตัวหัวสูงตามประสาคนเมือง คาดว่าน่าจะล้มป่วยวัณโรค (Tuberculosis) เลยตัดสินใจหวนกลับมาพักผ่อน ใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวยังหมู่บ้านเก่า Sardent เคยอาศัยอยู่ช่วงวัยเด็ก พอมาถึงกลับรู้สึกแปลกประหลาดใจ เมื่อพบเห็นเพื่อนเก่า Serge (รับบทโดย Gérard Blain) ดื่มเหล้ามึนเมา กลายเป็นคนไม่เอาถ่าน พยายามจะให้ความช่วยเหลือ แต่เจ้าตัวก็มีสภาพไม่ได้แตกต่างกันนัก

ในช่วงแรกๆดูเหมือนว่า François จะดีเพรียบพร้อมทุกสิ่งอย่าง แต่อาการเจ็บป่วยทางร่างกายย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ สูญเสียความฝันที่เคยอยากเป็นบาทหลวง มามองหาอาชีพที่ทำให้รวยเร็วๆ สังเกตว่าตั้งแต่หวนกลับมาอยู่บ้านเก่า วันๆแทบไม่เห็นทำอะไร ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย เอาแต่หมกมุ่นมักมากอยู่กับ Marie โดยไม่สนใครจะว่ายังไง พยายามให้แนะนำ Serge เลิกรากับภรรยา แต่เขาก็ไม่เคยเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย! จนกระทั่งเมื่อพบเห็นเหตุการณ์ชั่วช้าต่ำทราม แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง โชคดีถูกหมัดของเพื่อนเก่าช่วยชีวิตเอาไว้ จึงบังเกิดความมุ่งมั่น ต้องการจะทำอะไรสักสิ่งอย่างเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนการเริ่มต้นใหม่

ผมเคยรับชมผลงานของ Brialy มาสองสามเรื่อง ติดตากับการไว้หนวดเคราที่ทำให้ดูเจ้าเล่ห์ ทรงเสน่ห์ มาดเพลย์บอย ร้อยอรรถรส เกี้ยวพาราสีใครไปทั่ว แต่ทว่าพอถูกโกนทิ้ง ใบหน้าเกลี้ยงเกลา กลายเป็นพ่อหนุ่มหล่อเหลา เหมือนผู้ดีมีการศึกษา แต่งตัวโก้หรู สร้างภาพลวงหลอกตา … คือต้องหวนกลับมาไว้หนวด ผู้ชมถึงสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง ต้องการทำบางสิ่งอย่าง ยินยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เอาชนะขีดจำกัดของร่างกาย


Gérard Blain (1930-2000) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นหัวหน้าสถาปนิก (Chief Architect) ทอดทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่ยังไม่เด็ก เต็มไปด้วยความขัดแย้งมารดา จึงหนีออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 13 ดิ้นรนเอาตัวรอด หลับนอนข้างถนน เคยถูกผู้ชายข่มขืนจนมีปมด้อยทางเพศ จับพลัดจับพลูได้เป็นตัวประกอบภาพยนตร์ จนได้รับการค้นพบโดย Julien Duvivier ชักชวนมาร่วมงาน Voici le temps des assassins (1956), ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), Hatari! (1962), The American Friend (1977), กำกับภาพยนตร์ Les Amis (1971), Le Pélican (1974) ฯ

รับบท Serge จากเคยสอบติด ได้รับทุนการศึกษา วาดฝันอนาคตทำงานสถาปนิกออกแบบ แต่กลับพลั้งพลาดทำแฟนสาวตั้งครรภ์ เลยจำต้องทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ปักหลักอาศัยอยู่ Sardent แถมเคราะห์ซ้ำกรรมซัด สูญเสียบุตรคนคนแรกหลังคลอดไม่นาน ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย หันไปพึ่งพาสุราเมามาย หาเช้ากินค่ำ มีชีวิตอยู่ไปวันๆ

การหวนกลับมาของเพื่อนเก่า François ทำให้เขารู้สึกอับอาย ไม่อยากพบเจอหน้า เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา รับไม่ได้กับสภาพตนเอง ถึงอย่างนั้นกลับปฏิเสธรับความช่วยเหลือ ปล่อยตัวปล่อยใจ ปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างย่ำแย่ลงกว่าเดิม จนกระทั่งวันคลอดบุตร ถูกฉุดกระชากให้หวนกลับมาเผชิญหน้าความจริง

ทั้งใบหน้า ท่าทางเคลื่อนไหวของ Blain ล้วนเคลือบแฝงด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เหมือนคนพานผ่านอะไรมาก เก็บกด อดกลั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง เต็มไปด้วยเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ต้องการทำอะไรสักสิ่งอย่างแต่ก็ไม่รู้จะทำอะไร อยากไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ก็มิอาจทำได้ ทั้งรักทั้งเกลียดภรรยา เฉกเช่นเดียวกับเพื่อนสนิท François อยากได้รับความช่วยเหลือแต่กลับทำเป็นปฏิเสธหัวชนฝา

การแสดงของ Blain อัดแน่นด้วยอารมณ์ ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกภายในจิตใจตัวละคร ช่างดูละม้ายคล้าย Method Acting ใกล้เคียงกับ James Dean แต่เจ้าตัวไม่ได้เคยผ่านการฝึกฝนอะไรใดๆ นำจากประสบการณ์ส่วนตัว เคยพานผ่านช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวังคล้ายๆเดียวกันนั้น … แตกต่างตรงกันข้ามกับ Brialy ที่ใช้สันชาตญาณการแสดง สไตล์คลาสสิก เหมือนนักแสดงยุค Classical Hollywood

ไคลน์แม็กซ์ของหนังเมื่อ Serge พบเจอหน้าบุตรชายที่เพิ่งคลอดสำเร็จ น้ำมูกน้ำตา ความรู้สึกอัดอั้นภายในทั้งหมดได้ระบายออกมา นั่นน่าจะคือช่วงเวลาหล่อเหลาที่สุด … ตามชื่อหนัง Handsome Serge


ถ่ายภาพโดย Henri Decaë (1915-87) ตากล้อง/วิศวกรเสียง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Saint-Denis โตขึ้นทำงานเป็นช่างภาพ (Photojournalist) ให้กองทัพอากาศฝรั่งเศสช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นเริ่มถ่ายทำหนังสั้น กลายเป็นขาประจำผกก. Jean-Pierre Melville และ French New Wave ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Sea (1949), Les Enfants terribles (1950), Bob le flambeur (1955), Les Amants (1958), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), Les Cousins (1959), The 400 Blows (1959), Purple Noon (1970), Léon Morin, Priest (1961), Le Samouraï (1967), The Red Circle (1970), The Professional (1981) ฯ

Chabrol มีความลุ่มหลงใหลผลงานของผกก. Roberto Rossellini เมื่อตัดสินใจหวนกลับหารากเหง้า ถ่ายทำยังชนบทบ้านเกิด Sardent จึงเลือกรับอิทธิพล Neo-Realist ถ่ายทำยังสถานที่จริง แบกกล้องขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ใช้แสงธรรมชาติทั้งหมด พยายามทำออกมาในสไตล์สารคดี (Documentary-like) บันทึกภาพวิถีชีวิต ผู้คน ตึกรามบ้านช่องในสภาพเสื่อมโทรมทราม นำมาร้อยเรียง แปะติดปะต่อ ฉบับตัดต่อแรกได้ความยาวกว่า 2 ชั่วโมง 35 นาที! จึงต้องตัดทิ้งหลายๆสิ่งอย่างออกไปอย่างน่าเสียดาย

ด้วยความที่ Chabrol ไม่เคยมีประสบการณ์กำกับภาพยนตร์มาก่อน (หนังสั้นก็ไม่เคยสร้าง) ช่วง 4-5 วันแรกจึงเต็มไปด้วยหายนะ เพราะไม่รู้จะถ่ายทำอะไรยังไง เสียเวลากับสิ่งไม่จำเป็นมากมาย โชคยังดีได้ผู้ช่วย Charles Bitsch, Philippe de Broca และ Claude de Givray คอยให้คำแนะนำจึงเริ่มต้นวางแผน ปรับเปลี่ยนแปลง เรียนรู้จากความผิดพลาด

For the record, I have to admit that during the first few days of Le Beau Serge, my first film, I was a real pain in the ass… I made everything very, very complicated because I still didn’t know cinematographic grammar… And I had a hard time finding the viewfinder on the camera! To the degree that in five days’ time very little was filmed save for a tracking shot of Brialy crossing the street, all happy at returning to the village he grew up in. This shot was successful and naturally elegant. Charles Bitsch, one of my three assistants on the film, with Philippe de Broca and Claude de Givray, took me aside to tell me that we were heading for disaster. And that, even if I was the producer, we’d have to stop because we’d end up running out of money. 

Claude Chabrol

โปรดักชั่นหนังยาวนานถึง 9 สัปดาห์ในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 1957-58 โชคดีว่าหิมะค่อยๆตก เลยไม่เป็นอุปสรรคในการถ่ายทำ ทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศหนาวเหน็บ ค่อยแทรกซึมเข้าไปในจิตวิญญาณผู้ชม


ทุกสิ่งอย่างระหว่าง François กับ Serge จะมีความแตกต่างตรงกันข้าม! ตั้งแต่เดินมาถึงทั้งสองก็พบเห็นอยู่คนละฟากฝั่งรถ เสื้อผ้าหน้าผม สถานที่อยู่อาศัย

  • François อาศัยอยู่ชั้นสองโรงแรม ในห้องมีโทนสีสว่าง เฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็น แต่ประดับวอลเปเปอร์ด้วยลวดลายเหมือนกำแพงอิฐ (เพื่อสื่อถึงสภาพจิตใจที่ถูกกักขัง ไร้อิสรภาพ)
  • บ้านของ Serge อยู่สุดปลายหมู่บ้าน สภาพร่อมร่อ ซอมซ่อ เสื่อมโทรมทราม เต็มไปด้วยสิ่งข้าวของเครื่องใช้ และมักปกคลุมด้วยความมืด

ยามเช้าหลังจากปลุก Serge สังเกตว่าภรรยา Yvonne ทำการตั้งนาฬิกาโบราณ (เป็นนาฬิกาที่หรูหราทีเดียว) ราวกับว่าเวลาชีวิตของพวกเขาหยุดอยู่นิ่ง ย่ำกับที่ ไม่ก้าวดำเนินไปข้างหน้า ดูจากสภาพที่อาศัยก็บ่งบอกได้เป็นอย่างดี

หลังเสร็จกามกิจ François พยายามสอบถามข่าวลือ การเสียตัวครั้งแรกของ Marie สังเกตว่าเธอยกขาขึ้นสูง พยายามจะเกาะเกี่ยวโคมไฟ หลายคนอาจตีความถึงการแหกอ้าขา สูญเสียพรหมจรรย์ แต่ผมมองถึงความต้องการไปให้ถึงจุดสูงสุด/สรวงสวรรค์ (ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์ และการเสียสละตนเองเพื่อความสุขผู้อื่นจักได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์)

หลายคนน่าจะคาดเดาจากชื่อ Marie เป็นการอ้างอิงถึง Mary Magdalene หญิงคนบาป (Sinful Woman) แต่กลายเป็นสาวกพระเยซู และได้เดินทางสู่สรวงสวรรค์

ระหว่าง Marie ก้าวลงจากห้องชั้นบน กล่าวถึงมุมมอง/ถ้อยคำพูดของ François ทำราวกับตนเองมีความเลิศเลอ สูงส่ง อยู่เบื้องบน (ช็อตนี้เขาก็ยืนอยู่เบื้องบนจริงๆ ยังไม่ได้ก้าวลงบันได) พบเห็นฉันและคนอื่นๆ (ชาวชนบท) ไม่แตกต่างจากแมลงตัวเล็กๆ ไร้ค่า ไร้ราคา

หลังเลิกงาน กลับมาบ้าน ท่านอนอย่างหมดเรี่ยวแรงของ Serge ชวนให้ผมนึกถึงภาพวาด Dead Christ, The Lamentation of Christ, Lamentation Over The Dead Christ ฯ ไม่จำเป็นต้องจำเพาะเจาะจงจิตรกรคนใดๆ เพราะมีลักษณะคล้ายๆกันทั้งนั้น อาจเคลือบแฝงนัยยะถึงความสิ่งหวังทางจิตวิญญาณ กระมัง

เส้นทางไปหา Marie ของ François มักลัดเลาะผ่านขุนเขา ทิวทัศน์ธรรมชาติ ผิดกับ Serge เลือกเดินผ่านสุสาน สถานที่แห่งความตาย ระหว่างทางก็มักพูดพร่ำบ่น มองโลกในแง่ร้าย ทำราวกับตนเองใกล้จะตกตาย

การปรากฎตัวรับเชิญ (Cameo) ของผกก. Chabrol และผู้ช่วยผกก. Philippe de Broca ซึ่งพวกเขายังมีการอ้างอิงชื่อ

  • Claude Chabrol (สวมแว่น ใส่เสื้อลาย) เรียกตนเองว่า La Truffe (อ้างอิงถึง François Truffaut)
  • Philippe de Broca (สวมเสื้อสีเข้ม) เรียกตนเองว่า Jacques Rivette

สถานที่ที่สองหนุ่มนั่งพูดคุยเปิดอก ยังบริเวณหนองบึงสกปรกแห่งหนึ่ง (แต่มันก็ไม่ได้ดูสกปรกขนาดนั้น) หัวข้อสนทนาก็คือ François พยายามโน้มน้าว Serge ให้เลิกราภรรยา Yvonne เพราะครุ่นคิดว่าหญิงสาวคือต้นเหตุให้เขามีสภาพแบบนี้ แต่กลับถูกโต้ตอบว่านายไม่รู้จักเธอดีพอ พวกเราต่างหากที่จิตใจสกปรกเหมือนน้ำในหนองแห่งนี้

หลังพบเห็นสภาพของ Marie ที่ถูกบิดา (ตัวจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้) ข่มขืนกระทำชำเรา จึงรีบวิ่งไล่ล่าติดตามมาจนถึงยังบริเวณสุสาน เกิดการชกต่อยกันเล็กน้อย คงไม่ต้องอธิบายหรอกกระมังว่าสถานที่แห่งนี้เคลือบแฝงนัยยะอะไร

แต่สภาพของ François หลังจากนั้น ตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง หวนกลับไปยังห้องพัก ทิ้งตัวลงนอนคว่ำ ตรงกันข้ามกับภาพของ Serge ที่นอนแผ่หมดเรี่ยวแรงหลังเลิกงานตอนต้นเรื่อง (Serge นอนหงาย เหนื่อยกาย, François นอนคว่ำ เหนื่อยใจ)

ย้อนรอยกับตอนที่ François ชกต่อยบิดาของ Marie คราวนี้กรรมตามสนอง ระหว่างพยายามโน้มน้าวขอให้ Serge เลิกยุ่งในตัวหญิงสาว กลับถูกชกต่อย ตาปูด หลังงานเลี้ยงเต้นรำ เพื่อนก็เพื่อนเถอะ เรื่องพรรค์นี้นายไม่มีสิทธิ์มาห้ามปราม … นี่ถือเป็นการปลุกตื่น François ให้ละเลิกยุ่งเกี่ยวกับ Marie ได้สำเร็จ

ภาพสุดท้ายของ François มีการซ้อนภาพ/Cross-Cutting หิมะกำลังตกลงมา นี่สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจอันหนาวเหน็บ เจ็บปวดรวดร้าว นี่ฉันหวนกลับมาสถานที่แห่งนี้ทำไม? เพื่ออะไร? มันคุ้มค่าแล้วใช่ไหม?

François กักขังตนเองอยู่ในห้องพักนานนับสัปดาห์ เพื่อครุ่นคิด ทบทวน พิจารณาตนเอง จนกระทั่งการมาถึงของบาทหลวง พยายามแนะนำให้เขาไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ แต่กลับกลายเป็นบังเกิดแรงกระตุ้น ต้องการกระทำบางสิ่งอย่าง … หนึ่งในคำเตือนของบาทหลวง “ครุ่นคิดว่านายเป็น Jesus Christ หรือยังไง?” การกระทำหลังจากนี้ของ François ก็สามารถสามารถตีความไปในทิศทางพิสูจน์ความเชื่อศรัทธาได้ด้วยเช่นกัน!

แม้ร่างกายเจ็บป่วยอิดๆออดๆ สภาพอากาศหนาวเหน็บ แต่ทว่า François กลับก้าวออกมาจากห้อง อาสาให้ความช่วยเหลือ Yvonne พูดคุยเปิดอก ปรับความเข้าใจ ต้องการทำอะไรบางอย่าง เสียสละตนเอง จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายเมื่อภารกิจสำเร็จลุล่วง ก่อนทรุดล้มลงพูดประโยค “I Believe” เชื่อในอะไร? เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง? เชื่อว่า Serge จะสามารถเริ่มชีวิตใหม่? หรือเชื่อในการเสียสละตนเอง จักนำทางสู่สรวงสวรรค์?

ขณะที่ Serge ในสภาพล้มลุกคลุกคลาน เมื่อได้พบเจอหน้าลูก ทั้งหัวเราะทั้งร้องไห้ หันมาสบตาหน้ากล้อง พูดบอกกับผู้ชม “You hear him?” ได้ยินใคร? เสียงร้องทารก? คำพูดสุดท้ายของ François? หรือบางคนอาจจินตนาการไปไกลถึงเสียงของพระเจ้า?

ตัดต่อโดย Jacques Gaillard (1930-2021) จากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Les Misérables (1958), ก่อนกลายเป็นขาประจำผกก. Claude Chabrol ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Beau Serge (1958), Les Cousins (1959), The Unfaithful Wife (1969), This Man Must Die (1969), The Butcher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองนักศึกษาหนุ่ม François Bayon เดินทางกลับหมู่บ้านเกิด Sardent เพื่อพักรักษาตัวในช่วงฤดูหนาว แต่การได้พบเห็นสภาพไม่เอาถ่านของ Serge จึงต้องการให้ความช่วยเหลือ ถึงอย่างนั้นตัวเขาเองก็ไม่ได้ดีเด่นไปกว่ากันมากนัก หมกมุ่นมักมากอยู่กับ Marie สูญเสียตนเองจนแทบจะคลุ้มบ้าคลั่ง

  • การกลับมาของ François Bayon
    • ขึ้นรถโดยสาร ออกเดินทางสู่ Sardent
    • พอมาถึง François ได้รับการต้อนรับจากเพื่อนสนิท Michel ช่วยขนของไปยังสถานที่พัก ระหว่างทางพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบ รวมถึงความเป็นไปของ Serge ทำไมถึงมีสภาพเช่นนั้น
    • เข้าพักในโรงแรมตรงข้ามโรงเรียน
    • ค่ำคืนพยายามทักทาย Serge แต่อีกฝ่ายมึนเมาจนไม่รับรู้ตนเอง
  • วันแรกที่แสนวุ่นวาย
    • เช้าวันถัดมา François เดินทางไปบ้านของ Serge พูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ
    • Marie เข้ามาเกี้ยวพาราสี François ระหว่างที่ Serge ขับรถบรรทุกไปทำงาน
    • François ติดตาม Marie ไปยังบ้านพักของเธอ
    • หลังเสร็จงาน Serge กลับมาบ้าน พร่ำบ่นสภาพของตนเอง อิจฉาริษยาเพื่อนรัก François
    • François แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนบาทหลวง พร่ำเพ้อถึงความฝันที่เปลี่ยนแปลงไป
    • Serge มาดักรอหน้าโบสถ์ ชักชวนไปดื่มด่ำกับเพื่อนฝูง แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ
  • คำแนะนำที่ไม่เป็นประโยชน์อันใด
    • François แวะมาเยี่ยมเยือน Serge แต่อีกฝ่ายไม่เคยอยู่บ้าน
    • วันๆพบเห็น Serge ดื่มเหล้าเมามาย ไม่สนห่าเหวอะไร ครั้งหนึ่งพยายามออกติดตามหา François ยังบ้านของ Marie แต่ก็ไปไม่ถึงไหน
    • François พยายามแนะนำ Serge ให้เลิกราภรรยาเก่า แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ
  • สภาพสิ้นหวังของ François
    • บิดาของ Marie เข้ามาหาเรื่องกับ François จากนั้นไปลงกับหญิงสาว
    • เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พึงพอใจ François จึงลงมือกระทำร้ายร่างกายอีกฝ่าย
    • ในงานเลี้ยงเต้นรำ François ปฏิเสธเต้นกับ Marie ทำให้ Serge ฉกฉวยโอกาสดังกล่าว
    • นั่นทำให้ François มีเรื่องชกต่อยกับ Serge
  • ฉันต้องทำอะไรสักสิ่งอย่าง!
    • สองสัปดาห์ถัดมา François ยังคงขังตัวใจห้อง จนบาทหลวงต้องเข้ามาโน้มน้าวให้เดินทางกลับ
    • François ให้ความช่วยเหลือ Yvonne ระหว่างกำลังจะคลอดลูก ติดตามหาหมอ และลากพา Serge ให้กลับมาดูหน้าลูก

ในบทสัมภาษณ์ผกก. Chabrol ถ้ายึดตามบทดั้งเดิม ไม่ตัดต่ออะไรออกเลย น่าจะได้ความยาวกว่าสามชั่วโมง! ก่อนเริ่มเล็มโน่นนี่นั่นจนเหลือสองชั่วโมงครึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะถ้าอยากให้หนังทำกำไรเยอะๆ ควรต้องไม่เกิน 100 นาที (เพราะในหนึ่งวันจะเพิ่มรอบฉายได้อีกรอบ) … น่าเสียดายฟุตเทจถ่ายทำมาโดยแท้

At the outset, the film was at least two and a half hours long. Luckily I showed it to some people and they said, “Aie, aie!’ So I cut three quarters of an hour. And in comparison with the original scenerio I’d already cut half an hour. So it could have lasted three hours. It was cut mainly in the transitions, and then there were two things which took up a hell of a lot of time. The cutting was done so that the film could be more successful commercially, but I took care to make sure that the topography of the village was respected. So in order to get from one place to another, even if it meant going right across the village, one went right across following the guy or whoever it might be. That took plenty of time!

Claude Chabrol

งานเพลงของหนังแทบทั้งหมดคือ ‘non-diegetic music’ รวบรวมเรียบเรียงโดย Émile Delpierre ยกเว้นเพียงงานเลี้ยงเต้นรำที่ทำการแสดงสดโดยวง Trio (แซกโซโฟน แอคคอร์เดียน และกลองชุด) ของ Géo Legros มุ่งเน้นเติมเต็มเรื่องราว สร้างสัมผัสทางอารมณ์ พรรณาความรู้สึกที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ขณะนั้นๆ

Opening Credit ระหว่างการเดินทางสู่ Sardent เสียงขลุ่ยหวานๆ สร้างความโหยหวน คร่ำครวญ ครุ่นคิดถึงบ้านเก่า (Nostalgia) โหยหาอดีต รำลึกถึงความทรงจำเมื่อครั้นวันวาน แต่เสียงทุ้มต่ำของทูบา สอดแทรกบรรยากาศทะมึน อึมครึม ราวกับมีบางสิ่งเลวร้ายซุกซ่อนเร้น

ตรงกันข้ามกับ Opening Credit ระหว่างที่ Serge กำลังมึนเมา พร่ำบ่นตลอดการเดินทางติดตามหา François พานผ่านเข้าไปในสุสานหลังเมือง บทเพลงจะได้ยินเสียงทุ้มต่ำของเครื่องเป่า สร้างบรรยากาศทะมึน อึมครึม สะท้อนความท้อแท้สิ้นหวังตัวละคร แต่นานๆครั้งจะได้เสียงขลุ่ยหวานๆ สื่อความฝันอันเลื่อนลอย โอกาสที่สูญเสีย หมดสิ้นไป


Le Beai Serge (1958) นำเสนอการเดินทางหวนกลับหารากเหง้าของ François Bayon/ผกก. Chabrol เพื่อเผชิญหน้าปมปัญหาในอดีต เรียนรู้ความผิดพลาด ให้ความช่วยเหลือเพื่อนสุดหล่อ (Handsome) Serge หลุดพ้นจากสภาพเป็นอยู่ ล้มแล้วลุกขึ้นยืน ก้าวออกเดินสู่อนาคตสดใส เริ่มต้นชีวิตใหม่

แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่แค่ Serge ยังเหมารวมถึง François ประสบปัญหาคล้ายๆกันคือ ‘disillusioned youth’ ทั้งสองต่างมีความเพ้อฝัน แต่เหตุบางอย่างทำให้จมปลักอยู่กับจุดตั้งต้น (หรือก็คือหมู่บ้าน Sardent) ไม่สามารถก้าวออกเดินสู่เป้าหมายชีวิต

  • François เคยอยากเป็นบาทหลวง แต่ทว่าอาการป่วย (วัณโรค) ทำให้ต้องหยุดเรียน พักรักษาตัว มองหาอาชีพได้เงินเยอะๆ มาเป็นค่ารักษา หวนกลับหมู่บ้านเก่าครานี้เพราะความคร่ำครวญ โหยหา (พันธนาการทางจิตใจ)
  • Serge สอบติด ได้รับทุนการศึกษา วาดฝันอนาคตทำงานสถาปนิกออกแบบ แต่กลับพลั้งพลาดทำแฟนสาวตั้งครรภ์ เลยจำต้องทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่สามารถเดินทางออกไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ (พันธนาการทางร่างกาย)

Essentially, in Le Beau Serge two films are juxtaposed against each other: one in which Serge is the subject and François the object; the other in which François is the subject, Serge the object. By definition, it’s the first of these films which initially reveals itself. The ideal, for me, is that the other gradually be felt too.

Claude Chabrol

แม้เรื่องราวในหนัง François และ Serge จะมีความแตกต่างตรงกันข้าม แต่ทั้งสองล้วนคืออวตารผกก. Chabrol นำจากประสบการณ์ตรง ในช่วงเวลาแตกต่างกัน

  • François ตนเองในปัจจุบันที่เดินทางกลับไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านเก่า พบเจอผองเพื่อน คนรู้จัก หวนระลึกความหลัง ถ่ายทำภาพยนตร์ เก็บบันทึกทุกสิ่งอย่างไว้ให้คนรุ่นหลัง
    • ขณะเดียวกันเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ ไม่รู้ต้องทำอะไรยังไง จึงเต็มไปด้วยความผิดพลาดมากมาย แต่ก็ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว ทดลองผิดลองถูก จนสามารถถ่ายทำหนังได้สำเร็จ
  • Serge คือตนเองในอดีตที่เคยตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หลังจากสูญเสียบุตรแรกเกิด กลายเป็นคนติดเหล้าเมามาย ทำใจไม่ได้อยู่สักพักใหญ่ๆ

วงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสก็เฉกเช่นเดียวกัน! Chabrol คือหนึ่งในนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma ที่โจมตีวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสสมัยนั้น (ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ว่ามีความเฉิ่มเชย ล้าหลัง เอาแต่รังสร้างผลงานแบบ ‘play safe’ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ท้าทายขอบเขตขีดจำกัด มันถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งใจความภาพยนตร์ Le Beai Serge (1958) สะท้อนถึงความต้องการช่วยเหลือ อยากทำอะไรบางสิ่งอย่าง เพื่อให้(วงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส)สามารถเริ่มต้นใหม่

(Chabrol’s) film starts with psychology and ends with metaphysics.

François Truffaut

คำวิจารณ์ของ Truffaut กล่าวว่าหนังเริ่มต้นด้วยเรื่องราวจิตวิทยา (Psychology) ก่อนแปรสภาพสู่อภิปรัชญา (Metaphysics) นี่เช่นกันสะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลง(วงการภาพยนตร์)ของผกก. Chabrol มันอาจยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง แต่การให้กำเนิดทารกน้อย พบเห็นชีวิตใหม่ เสียงร้องอุแว้อุแว้ “I believe” นั่นคือความเชื่อว่าทุกสิ่งอย่างจักเปลี่ยนแปลงไป (ในเชิงนามธรรม)

ด้วยความที่หนังมีการอ้างอิงถึงสัญญะเชิงศาสนา (Christian symbolism) จึงได้รับการวิเคราะห์ถึงการไถ่ถอน ไถ่บาป สาสำนึกผิด (Redemption) โดยเฉพาะการเสียสละตนเองของ François และคำพูดประโยชน์สุดท้าย “I believe” แต่ความตั้งใจของผกก. Chabrol กลับรู้สึกตรงกันข้าม ทำลายศรัทธาศาสนาลงโดยสิ้นเชิง “farewell to Catholicism”

It completely de-Christianised me. I had loaded the film with stupid symbolism. I had to, in order to rid myself of it all. Now, that’s all over with.

Claude Chabrol

ด้วยทุนสร้าง FF32 ล้านฟรังก์ฝรั่งเศส (ประมาณ $85,000 เหรียญ) เข้าฉายรอบปฐมทัศน์นอกสายการประกวด (Out-of-Competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่าดีล้นหลาม ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสสูงถึง 1,115,381 ใบ ทำกำไรกลับคืนมาไม่น้อย

Technically, the film is as masterly as if Chabrol had been directing for ten years, though this is his first contact with a camera. Here is an unusual and courageous film that will raise the level of French cinema this year.

François Truffaut

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 2K เมื่อปี ค.ศ. 2011 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Gaumont, Criterion และ Eureka Entertainment (คอลเลคชั่น Master of Cinema)

ถ้านำเอา Le Beau Serge (1958) ไปเปรียบเทียบกับ The 400 Blows (1959) หรือ Breathless (1960) อาจรู้สึกห่างชั้นกันมาก เพราะไม่ได้แพรวพราวด้วยลูกเล่น หรือมีลวดลีลานำเสนออันน่าตื่นตาตื่นใจ แต่แนวคิดและเนื้อหาสาระของหนัง โอบรับปรัชญา French New Wave ก้าวย่างแรกสู่ความเปลี่ยนแปลง มันช่างน่าหลงใหล สร้างความประทับใจไม่น้อยกว่ากัน

จัดเรต 13+ กับอาการมึนเมา ความรุนแรง

คำโปรย | Le Beau Serge การหวนกลับหารากเหง้าของ Claude Chabrol แม้พบเจอเรื่องน่าเศร้า แต่บังเกิดความมุ่งมั่น จิตวิญญาณอันแรงกล้า ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
คุณภาพ | ล่
ส่วนตัว | นับหนึ่ง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: