Mauvais Sang

Bad Blood (1986) French : Leos Carax ♥♥♥♥

ในทศวรรษที่โรคเอดส์ (AIDS) กำลังแพร่ระบาดหนัก ผู้กำกับ Leos Carax รังสรรค์สร้าง Mauvais Sang (แปลว่า Bad Blood) ด้วยการสมมติโรคติดต่อ STBO เกิดขึ้นกับคนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีความรักเข้ามาเกี่ยวข้อง Denis Lavant จะอดกลั้นใจจาก Juliette Binoche ได้นานเพียงใด?

ตอนรับชม Boy Meets Girl (1984) ผมรู้สึกว่าผกก. Carax เหมือนไอ้เด็กเมื่อวานซืน ยังหลงระเริง โอ้อวดเก่ง พยายามยัดเยียดทุกสิ่งอย่างที่ตนเองชื่นชอบใส่ลงในภาพยนตร์, แต่พอมาถึงผลงานเรื่องที่สอง Mauvais Sang (1986) แม้ยังมีความสไตล์ลิสต์เฉพาะตัว แต่ระหว่างรับชมไม่รู้สึกกระด้างกระเดื่อง แทบทุกสิ่งอย่างคลุกเคล้าเข้ากันอย่างลงตัวกลมกล่อม ได้รับการสรรเสริญแซ่ซ้อง

A masterpiece of ecstatic cinema from 1986, directed by Leos Carax at the age of twenty-five… With an emotional world akin to that of the New Wave masters, a visual vocabulary that pays tribute to their later works, and a visionary sensibility that owes much to Jean Cocteau’s fantasies, Carax suggests the burden of young genius in a world of mighty patriarchs who aren’t budging.

นักวิจารณ์ Richard Brody จากนิตยสาร The New Yorker

This is a film beyond story, one characterized by an infatuation with the medium itself: the edit, the close-up, the camera angle, movement, colors. Carax uses these tools to vivaciously celebrate cinema, as well as Lavant and Binoche, and his love for both is infectious. For the filmmaker, love is the reason for life.

นักวิจารณ์ Kalvin Henely จากนิตยสาร TIME OUT

สิ่งน่าหลงใหลที่สุดของหนังคือ Beauty and the Beast สองนักแสดงนำ Denis Lavant และ Juliette Binoche แม้เธอเป็นคนรักของ Michel Piccoli แต่มันก็แทบมิอาจหักห้ามใจ … หลังจากรับชม Mauvais Sang (1986) ต้องต่อด้วย Les Amants du Pont-Neuf (1991) แล้วคุณจะรักคลั่ง Lavant & Binoche

ปล. ผมพยายามหาข้อมูลว่า STBO ย่อมาจากอะไร? แต่ก็ไม่พบเจอคำตอบใดๆ ในหนังก็ไม่มีคำอธิบาย รับรู้เพียงแค่ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของคนที่ไม่ได้รักกัน ต้องสวมถุงยางอนามัยเท่านั้น! … แต่ก็ชัดว่าต้องการสื่อถึงโรคเอดส์ (AIDS) ที่กำลังแพร่ระบาดหนักในทศวรรษ 80s


Leos Carax ชื่อจริง Alex Christophe Dupont (เกิดปี ค.ศ. 1960) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Suresnes, Hauts-de-Seine เป็นบุตรของ Joan Osserman นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นิตยสาร International Herald Tribune จึงไม่แปลกที่บุตรชายจะชื่นชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก หลงใหลคลั่งไคล้หนังเงียบของ D.W. Griffith, Lilian Gish, King Vidor ฯ หลังจบมัธยม (หรือลาออกกลางคันก็ไม่รู้) แอบเข้าห้องเรียนคอร์สภาพยนตร์ Université Sorbonne Nouvelle นั่งเคียงข้าง Serge Daney และ Serge Toubiana (ขณะนั้นเป็นบรรณาธิการ Cahiers du Cinéma) เลยมีโอกาสเขียนบทความลงนิตยสาร Cahiers du Cinéma, ต่อมาทำงานในบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์แห่งหนึ่ง เก็บหอมรอมริดนำเงินมาซื้อกล้อง Bolex 16mm ถ่ายทำหนังสั้นเรื่องแรก La Fille Rêvée แต่เกิดอุบัติเหตุไฟสป็อตไลท์ลุกไหม้ เผาทำลายฟีล์มหมดสิ้น! เลยเปลี่ยนมาสร้างหนังสั้นเรื่องใหม่ Strangulation Blues (1980) เข้าฉาย Hyères International Young Cinema Festival คว้ารางวัล Grand Prize for Short Film สร้างความประทับใจให้โปรดิวเซอร์ Alain Dahan พร้อมสนับสนุนโปรเจคภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Boy Meets Girl (1984)

แม้ว่า Boy Meets Girl (1982) จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายรับนัก แต่โปรดิวเซอร์ Alain Dahan ยังคงประทับใจผกก. Carax เลยช่วยหาทุนสร้างสำหรับโปรเจคถัดมา ไดรับเงินสนับสนุนจาก Centre National du Cinéma เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (มากเพียงพอให้สามารถสร้างฉากขนาดใหญ่)

สำหรับภาพยนตร์เรื่องที่สอง Mauvais Sang แปลตรงตัว Bad Blood บางครั้งใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Night Is Young ไม่ใช่แค่นำแรงบันดาลใจจากโรคเอดส์ที่กำลังแพร่ระบาด แต่ยังสะท้อนมุมมองของผกก. Carax ต่อวงการภาพยนตร์ยุคสมัยนั้น “loving without love”

I think it’s important to say that I don’t like other films. There are so few exceptions that it’s true. Mauvais Sang is a film which loved cinema, and which doesn’t love today’s cinema. And that’s important to me. Not to isolate myself or to be badly thought of by other filmmakers, but so that it is seen for what it is by the people who will love it.

Leos Carax

มีนักวิจารณ์ชี้ให้เห็นว่าพล็อตของ Mauvais Sang มีความละม้ายคล้าย Tristan and Iseult (หรือ Tristan and Isolde) ปรัมปรา Chivalric Romance ที่โด่งดังในยุคกลาง (Medieval Era) เรื่องราวรักต้องห้ามของอัศวินหนุ่ม Tristan ตกหลุมรักเจ้าหญิง Iseult ที่กำลังจะแต่งงานกับลุง King Mark of Cornwall ระหว่างทางทั้งสองดื่มน้ำยา Love Potion จนมิอาจหักห้ามใจตนเอง

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส Mauvais Sang มาจากชื่อตอนแรกในหนังสือรวมบทกวี Une saison en enfer (1873) แปลว่า A Season in Hell ของ Arthur Rimbaud (1854-91)


อดีตสมาชิกแก๊งค์มาเฟียสูงวัย Marc (รับบทโดย Michel Piccoli) และ Hans (รับบทโดย Hans Meyer) ติดเงินก้อนโตจากเจ้าหนี้นอกระบบ The American (รับบทโดย Carroll Brooks) จึงวางแผนปล้นห้องแลปผลิตวัคซีนป้องกันโรค STBO พยายามติดต่อหาเพื่อนเก่า/จอมโจรมือทอง Jean ก่อนพบว่าเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน เลยเปลี่ยนเป้าหมายไปยังบุตรชาย(ของ Jean)ชื่อ Alex (รับบทโดย Denis Lavant) ที่อ้างว่าฝีไม้ลายมือเก่งกาจไม่แพ้กัน

หลังรับรู้ข่าวคราวการเสียชีวิตของบิดา Alex ตัดสินใจทอดทิ้งแฟนสาว Lise (รับบทโดย Julie Delpy) เดินทางเข้าเมือง ตอบรับงานปล้นวัคซีน คาดหวังเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทว่ากลับตกหลุมรักแรก Anna (รับบทโดย Juliette Binoche) คนรักของ Marc พยายามเกี้ยวพาราสี ขายขนมจีบ อยากร่วมรักใจจะขาด แต่ก็หวาดกลัวติดโรค STBO … สุดท้ายเขาจักสามารถโจรกรรมวัคซีนสำเร็จหรือไม่


Denis Lavant (เกิดปี ค.ศ. 1961) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine, Hauts-de-Seine เมื่อตอนอายุ 13 บังเกิดความหลงใหล Marcel Marceau เข้าคอร์สฝึกฝนละครใบ้ โตขึ้นเข้าเรียนการแสดง Paris Conservatoire กับอาจารย์ Jacques Lassalle ได้ทำงานละครเวที โทรทัศน์ บทสมทบเล็กๆภาพยนตร์ Les Misérables (1982), แล้วแจ้งเกิดกับ Boy Meets Girl (1984), ผลงานเด่นๆ อาทิ Mauvais Sang (1986), Les Amants du Pont-Neuf (1991), Beau travail (1999), Holy Motors (2012) ฯ

รับบท Alex ฉายา Chatterbox นักจั่วไพ่มือทอง ครองรักอยู่กับ Lise หลังรับรู้ข่าวการเสียชีวิตของบิดา (ที่ไม่ได้พบเจอกันมาตั้งแต่มารดาเสียชีวิต) ตัดสินใจทอดทิ้ง/ออกเดินทางเข้าเมือง ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ตอบรับงานโจรกรรมวัคซีน ก่อนตกหลุมรักแรกพบ Anna พยายามเกี้ยวพาราสี ขายขนมจีบ แต่ก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้เธอเปลี่ยนใจจาก Marc

เมื่อตอน Boy Meets Girl (1984) ผกก. Carax พัฒนาบทหนังขึ้นก่อนพบเจอ Lavant, แต่สำหรับ Mauvais Sang (1986) สร้างตัวละคร(ชื่อเดียวกัน Alex)โดยรับรู้ศักยภาพ เข้าใจความสามารถแท้จริงของอีกฝ่าย

Denis is indispensable… When I consider making a film, before the ideas, before the images, I get the urge to model something with him… Denis is a sculpture, he’s someone who moves, reels, dances like no one else in the world. I couldn’t see him in Boy Meets Girl, so I had to make amends.

Leos Carax

Lavant มักไม่ค่อยแสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้านัก เพียงสายตาอยากรู้อยากเห็น อยากเป็นคนรักของเธอ แต่อากัปกิริยา ลีลาท่าเต้น พยายามเค้นขีดสุดร่างกาย ล้วนถ่ายทอดความรู้สึกภายใน ผู้ชมสัมผัสได้ถึงแรงกระตุ้น (Impulse) ที่มิอาจควบคุม สันชาตญาณสัตว์ร้าย … ภาพลักษณ์ของ Lavant สมกับการเป็น Beast ตกหลุมรัก Beauty อย่างแท้จริง!

ฉากการแสดงที่ผมอยากยืนปรบมือ (Standing Ovation) ให้กับ Lavant คือลีลาท่าเต้นบทเพลง Modern Love มันอาจดูพิลึกพิลั่น แค่เพียงออกวิ่ง กระโดดไปกระโดดมา บิดซ้ายบิดขวา กลับสัมผัสได้ถึงอารมณ์คลุ้มคลั่งรัก บีบเค้นคั้นขีดสุดศักยภาพร่างกาย … มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบกับ Gene Kelly ระหว่างเริงระบำบทเพลง Singin’ in the Rain

After watching the former street performer Levant, bursting with romantic fervor, run down to the street and execute a cartwheel with Gene Kelly–worthy grace to “Modern Love,” you will never think of the Bowie song the same way again. (Just ask Noah Baumbach, who paid explicit homage to the scene in Frances Ha.) This is film-drunkeness at its most inebriated.

นักวิจารณ์ David Fear จากนิตยสาร TIME OUT

Juliette Binoche (เกิดปี ค.ศ. 1964) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, เป็นบุตรสาวนักแสดง/ผู้กำกับ Jean-Marie Binoche และ Monique Yvette Stalens หย่าร้างกันเมื่อตอนเธออายุเพียง 4 ขวบ เลยถูกส่งไปโรงเรียนประจำ แทบไม่เคยพบเจอบิดา-มารดาหลังจากนั้น, ค้นพบความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เข้าศึกษาต่อยัง Conservatoire National Supérieur d’Art Dramatique (CNSAD) แต่เพราะไม่ชอบวิชาเรียนเลยลาออกมา แล้วเข้าร่วมคณะการแสดงออกทัวร์ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ (ใช้ชื่อว่า Juliette Adrienne) จากนั้นเป็นตัวประกอบซีรีย์ สมทบภาพยนตร์ แจ้งเกิดจากผลงาน Hail Mary (1983), Family Life (195), Adieu Blaireau (1985), Rendez-vous (1985), Mauvais Sang (1986), The Unbearable Lightness of Being (1988), Les Amants du Pont-Neuf (1991), Three Colours: Blue (1993), The English Patient (1996) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress

รับบท Anna หญิงสาววัยใกล้สามสิบ ครองรักกับ Marc อายุกว่าหกสิบ! แม้ถูก Alex เกี้ยวพาราสี พร่ำพรอดบอกรัก จากสีหน้าบึงตึง บังเกิดรอยยิ้มสดใส แต่เธอกลับไม่เคยครุ่นคิดผันแปรเป็นอื่น พยายามรักษาความสัมพันธ์เพื่อให้เขาช่วยงานโจรกรรมวัคซีน จนกระทั่งความตายทำให้โบยบินสู่อิสรภาพ

ผกก. Carax ตกหลุมรัก Binoche น่าจะจากภาพยนตร์ Rendez-vous (1985) ชักชวนร่วมงาน เกี้ยวพาราสีระหว่างถ่ายทำ กลายเป็นคู่รักในชีวิตจริง(ไม่ได้แต่งงาน)จนเสร็จสร้าง Les Amants du Pont-Neuf (1991) ถึงแยกย้ายคนละทาง

เพราะรักกระมัง! ทำให้ผกก. Carax พยายามสร้างตัวละคร Anna ให้ดูสูงส่ง ราวกับนางฟ้า (ทั้งใบหน้า+ทรงผมของ Binoche ดูละม้ายคล้าย Louise Brooks) แต่ช่วงแรกๆใบหน้าบูดบึ้งตึง ไม่รู้ไม่พึงพอใจอะไร หลังจากถูก Alex เกี้ยวพาราสี บังเกิดรอยยิ้ม แสดงความขี้เล่นซุกซน จนทำให้ผู้ชมหัวใจละลาย แทบมิอาจหักห้ามใจไม่ให้ตกหลุมรัก

แต่ไฮไลท์การแสดงของ Binoche ไม่ใช่แค่ความหลากหลาย (สุข-ทุกข์ ใบหน้าบึงตึง เศร้าโศกเสียใจ โหยหาอาลัย โบยบินสู่อิสรภาพ) มันคือวินาทีเปลี่ยนผ่านทางอารมณ์ ฉากที่ทำให้ผมหัวใจหลอมละลาย คือขณะร่ำร้องไห้แล้ว Alex พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เธอหยุดร้อง และยิ้มออกมา

มีนักวิจารณ์ในฝรั่งเศสเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับ-นักแสดงหญิง Carax & Binoche ละม้ายคล้าย Jean-Luc Godard & Anna Karina (ตั้งชื่อตัวละคร Anna คงเพื่อเคารพคารวะ Anna Karina) ที่ผู้กำกับเขียนบท สร้างตัวละคร เพื่อส่งหญิงคนรักเป็นดาวดารา … ในฝรั่งเศสเหมือนจะไม่ค่อยพบเห็นแบบนี้สักเท่าไหร่ มันทำให้หนังมีความโรแมนติกเอ่อล้นออกมานอกจอ

French cinema hadn’t seen such a communion between a director and his actor since the duo formed by Jean-Luc Godard – Carax’s idol – and Jean-Paul Belmondo. Another tandem also emerged from this film. Juliette Binoche became for Carax what Anna Karina was for Godard: his muse, his actress, and his partner. We’ve rarely seen a filmmaker direct such an alter ego and so light up his actress with his love for her.

นักวิจารณ์ Serge Daney เขียนลงนิตยสาร Libération

Jacques Daniel Michel Piccoli (1925-2020) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นนักไวโอลิน มารดาเล่นเปียโน แต่ความสนใจของเขากลับคือการแสดง ฝีกฝนกับนักแสดงตลก Andrée Bauer-Théraud จากนั้นได้งานภาพยนตร์ Le point du jour (1949), เริ่มเป็นที่รู้จักจาก French Cancan (1955), โด่งดังจากการเป็นหนี่งในขาประจำ Luis Buñuel อาทิ Death in the Garden (1956), Diary of a Chambermaid (1964), Belle de jour (1967), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) ฯ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Contempt (1963), Topaz (1969), A Leap in the Dark (1980), Strange Affair (1981), La Belle Noiseuse (1991), We Have a Pope (2011) ฯ

รับบท Marc อดีตสมาชิกแก๊งมาเฟีย ปัจจุบันเป็นชายสูงวัย ร่างกายอิดๆออดๆ อาศัยอยู่กับคู่หู Hans และแฟนสาว Anna ด้วยความที่ติดเงินเจ้าหนี้นอกระบบ The American จึงวางแผนโจรกรรมวัคซีน STBO พยายามติดต่อหาเพื่อนร่วมงานเก่า Jean ก่อนพบว่าอีกฝ่ายเพิ่งตายจากไปไม่นาน จำต้องเปลี่ยนมาเป็นบุตรชาย(ของ Jean)ชื่อ Alex ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม อ้างว่าฝีไม้ลายมือเก่งกว่าบิดา! แต่ทว่ากลายเป็นชักศึกเข้าบ้าน เพราะไอ้เด็กเมื่อวานซืนพยายามเกี้ยวพาราสีหญิงคนรักของตนเอง

แซว: Piccoli เป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ ค่าตัวมากสุด ได้ขึ้น Top Bill แต่บทบาทน้อยสุดในบรรดาสามตัวละครหลัก

ผลงานยุคหลังๆของ Piccoli มักรับบทชายวัยดึก สีหน้า-ท่าทางดูเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ร่างกายเจ็บป่วยอิดๆออดๆ เต็มไปด้วยความดื้อรั้น ดึงดัน เอาแต่ใจตามประสาผู้สูงวัย ถึงอย่างนั้นยังมีความโหยหาอะไรบางอย่าง การได้ครองรักกับหญิงสาวรุ่นลูก มันช่างชุ่มชื่นหัวใจ

การมาถึงของไอ้เด็กเมื่อวานซืน ก่อบังเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน เพราะ Alex คือบุตรของอดีตเพื่อนร่วมงาน รักเอ็นดูเหมือนลูกหลาน แต่กลับเกี้ยวพาราสีหญิงคนรัก กระทำสิ่งวุ่นๆวายๆ ไม่รู้จักควบคุมตนเอง ถึงอย่างนั้นเขาพยายามอดกลั้นฝืนทน (จนอาการป่วยกำเริบ) เพื่อให้สามารถพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไป … คล้ายๆกับ King Mark of Cornwall จาก Tristan and Iseult นั่นกระมังคือเหตุผลตั้งชื่อตัวละคร Marc (ภาษาฝรั่งเศสของ Mark)


ถ่ายภาพโดย Jean-Yves Escoffier (1950-2003) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Lyon ฝึกฝนการถ่ายภาพยัง École nationale supérieure Louis-Lumière (ENS Louis-Lumière) เคยทำงานผู้ช่วยตากล้องสารคดี Shoah (1985), ได้รับเครดิตภาพยนตร์เรื่องแรก Simone Barbès ou la vertu (1980), ผลงานเด่นๆ อาทิ Boy Meets Girl (1984), Mauvais sang (1986), The Lovers on the Bridge (1991), Good Will Hunting (1997) ฯ

แม้การออกแบบฉาก ลีลาถ่ายภาพจะมีความสไตล์ลิสต์ไม่น้อยกว่า Boy Meets Girl (1984) แต่ผมกลับรู้สึกว่า Mauvais Sang (1986) ดูลื่นไหล เป็นธรรมชาติ ผสมผสานสิ่งต่างๆเข้ากันได้อย่างลงตัว กลมกล่อม สร้างสัมผัสโลกอนาคตอันใกล้ โมเดิร์นและมืดหม่น … มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบกับ Alphaville (1965) ของ Jean-Luc Godard

ถึงหนังจะถ่ายทำด้วยภาพสี แต่ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากฟีล์มขาว-ดำ ปกคลุมด้วยความมืด ถ่ายทำตอนกลางคืนเสียส่วนใหญ่ แล้วทำการแต่งแต้ม ใส่แดงตรงโน้นนิด น้ำเงินตรงนี้หน่อย ปรากฎเหลืองแค่สองสามครั้ง (ส่วนใหญ่จะเป็นชุดของนักแสดง) แต่จะไม่ค่อยพบเห็นสีเขียวที่ดูสดชื่นชีวิตชีวา (เพียงต้นไม้ตอนต้นเรื่อง และทุ่งหญ้าที่สนามบิน)

ด้วยทุนสร้างที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจาก Boy Meets Girl (1984) ทำให้ผกก. Carax ตัดสินใจทุ่มไปกับการออกแบบสร้างฉากขึ้นในโรงถ่าย ละแวกที่อยู่อาศัยของ Marc ตึกแถว โรงแรม ถนนหนทาง รวมถึงห้องแล็ปที่ Alex บุกเข้าไปโจรกรรมวัคซีน, ส่วนตึกระฟ้า Darley-Wilkinson (D.W.) ดูแล้วน่าจะเป็นโมเดลจำลอง


ช่วงระหว่าง Opening Credit มีการแทรกภาพหงส์ (Swan) ปรากฎขึ้นสองครั้ง คือก่อนเริ่มต้นเครดิต และก่อนปรากฎชื่อ Juliette Binoche นี่ก็แอบชัดเจนว่าผกก. Carax ต้องการสื่อถึงใครที่มีความงดงาม เจิดจรัส ประดุจหงส์ … แต่ภาพมันเบลอๆไปหน่อยหรือเปล่า? ทำราวกับสำนวนเพชรในตม เธอคนงามรอการค้นพบ นำมาเจียระไน กระมังนะ

Marc กล่าวว่า “Jean was pushed.” แม้แต่ลีลาถ่ายภาพยังเคลื่อนเลื่อนกล้องเหมือนผลักเขาตกลงรางรถไฟ แต่ความหมายของ “Pushed” เป็นได้ทั้งรูปธรรมถูกผลักจริงๆ และนามธรรมสามารถสื่อถึงความเครียด แรงกดดันถาโถมเข้าใส่ จึงมิอาจอดรนทนมีชีวิต เลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต

หนังอธิบายอย่างคลุมเคลือถึงความตายของ Jean ว่าเกิดแรงผลักดันจากการติดหนี้สิน The American แต่ผู้ชมทศวรรษนั้นน่าจะเข้าใจบริบทแวดล้อมได้เป็นอย่างดี มันมีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมามากในยุคสมัยนั้นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โรคระบาดทางเพศสัมพันธ์ ฯ ล้วนเป็นแรงผลักดันให้คนฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นทุกๆปี

หลังรับรู้ข่าวคราวการเสียชีวิตของ Jean ตลอดทั้งซีเควนซ์จะเต็มไปด้วยช็อตระยะใกล้ Close-Up, Medium Shot ซึ่งสร้างความอึดอัด ตึงเครียด Marc ถูกบีบบังคับจากเจ้าหนี้ The American (มันจะช็อตหนึ่งแทรกภาพโมเดลเครื่องบิน เพื่อสื่อถึงการเดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา) ต้องชดใช้หนี้สินในระยะเวลาสองสัปดาห์ ไม่เช่นนั้นเขาอาจกลายเป็นศพถัดไป

ผมมองการล้างที่โกนหนวดไฟฟ้า คือสัญลักษณ์ของ Marc ต้องการล้างมือในอ่างทองคำ (=อาชญากรที่ต้องการเกษียณตนเองจากวงการ) แต่ทว่าอดีตติดตามมาหลอกหลอน ถูกพวกพ้องทรยศหักหลัง เชิดเงินหนี ติดหนี้ The American ทำให้เขาต้องทำงานครั้งสุดท้าย แม้ร่างกายจะแทบไม่ไหวแล้วก็ตาม

โดยปกติแล้วหนังจะไม่ค่อยพบเห็นเฉดสีเขียว แต่จะมีอยู่เพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น! โดยครั้งแรก Alex และ Lise นั่ง-นอนเปลือยกายอยู่ใต้ต้นไม้ พวกเขาช่างมีความบริสุทธิ์ ละอ่อนเยาว์วัย สถานที่นี้ราวกับสรวงสวรรค์อีเดน

ระหว่างทางกลับจากสรวงสวรรค์ มีสองสามรายละเอียดที่น่าสนใจ

  • Alex & Lise ต่างคาบบุหรี่สไตล์ Jean-Paul Belmondo อ้างอิงถึงภาพยนตร์ที่คุณน่าจะรับรู้ว่าคือเรื่องอะไร
  • Lise สังเกตว่า Alex เดินหน้าตั้ง เหมือนกำลังไม่สนใจตนเอง จึงหันหลังเข้าพักพิง สัญลักษณ์ของการพึ่งพาอาศัย แต่แม้เป็นการเดินไปข้างหน้า ผมกลับรู้สึกว่าสามารถสื่อถึงทั้งสองคน มีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน (ไม่ใช่แค่ Lise ที่พึ่งพิง Alex)
  • ภาพสุดท้ายคือหยากไย่ ใยแมงมุม สามารถสื่อทั้งสองที่ติดอยู่ด้วยกัน … นั่นอาจคือเหตุผลหนึ่งที่ Alex ต้องการจะทอดทิ้ง Lise
    • ระหว่างที่ภาพหยากไย่ปรากฎขึ้น Lise ร้องขอ Alex อยากเป็นคนขับรถมอเตอร์ไซด์ สัญลักษณ์ของการที่ฝ่ายหญิงคือผู้กำหนดทางชีวิต (เปรียบเทียบง่ายๆก็คือ ช้างเท้าหน้า) แต่ได้รับการตอบปฏิเสธทันควัน

ตัวละคร Lise ดูจะเป็นตัวแทนหญิงสาวสมัยใหม่ รับอิทธิพลจาก Mai ’68 ภายหลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ทำให้สตรีเพศมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียมบุรุษ สามารถก้าวเดินเคียงข้าง พึ่งพาอาศัย และเป็นช้างเท้าหน้า กำหนดทิศทางชีวิตครอบครัว สวมใส่ถึงยางอนามัย รวมถึง Woman-on-Top ในเรื่องเพศสัมพันธ์!

สรวงสวรรค์ของหนุ่มๆได้สิ้นสุดหลังเมื่อกลับมาอพาร์ทเม้นท์ Lise ฉีกถุงยางอนามัย สวมใส่ให้กับ Alex คนสมัยนั้นคงหมดรัก หมดอารมณ์ ราวกับ Sexual Freedom ที่เพิ่งได้รับมาในช่วงทศวรรษก่อนหน้า ถูกตัดตอนอนาคต ถึงจุดสิ้นสุดโดยพลัน!

ปล. ผมไม่ค่อยแน่ใจว่านี่คือครั้งแรกของภาพยนตร์เลยหรือเปล่าที่ถ่ายภาพถุงยางอนามัย? มันคืออะไร? คนสมัยนั้นส่วนใหญ่น่าจะยังไม่รับรู้จักด้วยซ้ำ ส่วนคนรับรู้ย่อมเกิดความอึดอัด กระอักกระอ่วน มันใช่สิ่งควรนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไร?

ตอนที่ Lise กล่าวชมตัวเอง(อ้างจากคำกล่าวของ Alex)ว่าฉันสวยที่สุด(หลังเสร็จกามกิจ) มีการฉายภาพถ่ายหญิงสาวคนหนึ่ง ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าเธอคือใคร แต่เป็นผลงานภาพถ่ายของ Julia Margaret Cameron (1815-79) ช่างภาพหญิงชาวอังกฤษ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายภาพ Soft-Focus ระยะ Close-Up โด่งดังในยุคสมัย Victorian Era

การมาถึงของ Hans แจ้งข่าวการเสียชีวิตของบิดา (จะมีแทรกภาพศพของบิดา) จากนั้นชักชวน Alex เข้าร่วมแผนการปล้นครั้งใหญ่ วินาทีที่พูดเรื่องเงินแล้วตาลุกวาว จู่ๆไฟกระพริบติดๆดับๆ ราวกับจะสื่อว่าเขากำลังเกิดความโลเล้ลังเล สองจิตสองใจ ตอนนี้ยังตัดสินใจไม่ได้ ขอเวลาครุ่นคิดเสียหน่อย

ครั้งแรกที่ Alex พบเจอกับ Anna บนรถโดยสารยามค่ำคืน ลีลาการนำเสนอพยายามทำออกมาให้ดูลึกลับ พิศวง ยังไม่เปิดเผยใบหน้าตรงๆ หลบซ่อนในเงามืด ภาพสะท้อนกระจกบิดๆเบี้ยวๆ เธอคือใคร? … มันชัดเจนว่าผกก. Carax พยายามสร้างซีนนี้ให้ Binoche กลายเป็นบุคคลน่าหลงใหลที่สุด!

ช่วงระหว่างที่ Alex วิ่งหนีจาก Lise มันจะมีขณะที่กล้องจับจ้องใบหน้าทั้งสอง เร่งความเร็ว จนดูเลือนลาง (ตัดสลับกลับไปกลับมาจนเหมือนซ้อนทับกัน) ใครดูหนังถึงตอนจบก็อาจมักคุ้นวิธีการนำเสนอดังกล่าว แต่ในบริบทนี้ Alex พยายามวิ่งหนี โหยหาอิสรภาพ, Lise กลับวิ่งไล่ติดตาม ต้องการฉุดเหนี่ยวรั้งไม่ให้เขาจากไป

หลังหลบหนีจาก Lise ขึ้นรถไฟมาถึงกรุง Paris มันจะมีขณะหนึ่งที่ Alex เดินงอตัว กำหมัดทุบท้อง (บริเวณนั้นคือ Guts ไส้พุง หรือศัพท์แสลงของความหาญกล้า ดื้อรั้น) แสดงอาการเจ็บปวดที่ต้องทอดทิ้งหญิงคนรัก ไม่อยากลาจาก แต่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ นั่นต้องใช้ ‘Guts’ ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวไม่น้อยเลยละ!

ย้อนรอยกับตอนพยายามวิ่งหลบหนีจาก Lise คราวนี้เปลี่ยนมาเป็น Alex ออกไล่ล่าติดตาม Anna (พอรับรู้ว่าตนเองถูก Stalker ก็เร่งรีบหลบหนี) พานผ่านตรอกซอกซอย เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา (บรรยากาศเหมือนฉากไล่ล่าในหนังนัวร์) ก่อนจับพลัดจับพลู มาโผล่หน้าสตูดิโอของ Marc

ทั้งซีเควนซ์นี้เป็นการสร้างฉากขึ้นใหม่ เพื่อสร้างโลกในอนาคตอันใกล้ ขณะที่สตูดิโอของ Marc ดูมีความโมเดิร์น ทันสมัย ภายนอก ตรอกซอกซอย กลับดูรกร้าง เวิ้งว้าง บรรยากาศหนังนัวร์ทศวรรษ 40s-50s … นี่สะท้อนความขัดแย้งในยุคสมัย 80s สังคมดูทันสมัยและเสื่อมทรามไปพร้อมๆกัน

ภาพแรกชัดๆของ Anna เริ่มต้นจากกล้องเคลื่อนจากล่างขึ้นบน (Tilt Up) เหมือนเพิ่งตื่น ท่าทางสะลึมสะลือ หันซ้ายหันขวา ก้ม-เงยใบหน้า … ในยุคสมัย French New Wave ชอบถ่ายภาพ Mugshot นักแสดงหญิง/แฟนสาว ด้วยการหันซ้ายหันขวา หันหน้าหันหลัง เก็บรายละเอียดความงดงามจากทุกทิศทาง

แล้วเมื่อตัดกลับมาภาพเธออีกครั้ง เลือกมุมก้ม ถ่ายด้านข้าง ทำปากเป่าลม หันมาสบตาผู้ชม (Breaking the Fourth Wall) ใครกันจะไม่ตกหลุมรักความขี้เล่นซุกซน … อาจจะเรียกว่าภาพมุมสวยสังหาร(ชุดสีแดง)ของ Binoche ที่ผกก. Carax คัดเลือกสรรมาเรียบร้อยแล้ว

เห้ย! นี่ไม่ใช่หนัง Tom Cruise แต่ผมอ่านเจอว่า Binoche เล่นสตั๊นเองทุกฉาก สมัยนั้นเธอคงเฟี้ยวฟ้าวน่าดู! และช็อตโคตรสวยถ่ายจากร่มชูชีพ นี่ไม่ใช่กล้อง GoPro ติดอยู่บนร่มอย่างแน่นอน คาดว่าคงเป็นเชือกห้อยจากเครื่องบิน (เพราะชูชีพมันไม่น่าจะนิ่งได้ขนาดนี้)

Anna เป็นลมล้มพับระหว่างการกระโดดร่ม (สื่อถึงความยังไม่พร้อมที่จะโบยบิน ได้รับอิสรภาพชีวิต) ทำให้ Alex ฉกฉวยโอกาส โอบกอด (จุมพิต) ช่วยเหลือเธอขณะร่อนลงสู่พื้น (เป็นการบอกใบ้อนาคตว่าเขาจะเป็นคนทำให้เธอสามารถโบยบินสู่อิสรภาพ)

เหตุเกิดน่าจะจากความอ่อนเปลี้ยเพลียแรงของ Marc ร่างกายเจ็บป่วยอิดๆออดๆ ทำให้ Anna ร้องห่มร่ำไห้ เจ็บปวดทุกข์ทรมาน Alex มิอาจทนเห็น “I want to see you smile.” จึงทำการแสดง Ventriloquism (บุคคลที่มีทักษะในการพูดหรือร้องเพลง โดยทำเสียงให้คล้ายกับว่าเสียงนั้นเกิดจากแหล่งเสียงที่แตกต่างออกไป) สร้างเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม พร้อมเปลี่ยนผ้าเช็ดหน้าไม่ซ้ำสี (สื่อถึงความหลากลายทางอารมณ์)

ซีเควนซ์ที่ได้รับการกล่าวขวัญมากสุดของหนัง เปิดวิทยุได้ยินเพลง Modern Love ทำให้ Alex ก้าวออกเดินไปตามท้องถนน กระโดดโลดเต้น สำแดงอารมณ์แห่งรัก มันช่างมีความรุนแรง สุดเหวี่ยง เค้นขีดสุดศักยภาพร่างกาย … ก่อนกาลมาถึงของ Beau Travail (1999) ก็ท่วงท่านี้แหละที่สร้างชื่อให้ Denis Lavant (จริงๆตอน Les Amants du Pont-Neuf (1991) ก็มีอีกท่าเต้นที่เลื่องลือพอๆกัน)

หลายคนอาจฉงนสงสัยว่าท่าเต้นพึลึกๆนี้ ได้รับการเปรียบเทียบกับ Singin’ in the Rain ยังไงกัน? การเต้นของ Gene Kelly เริ่มต้นหลังจากหญิงสาวตอบรับรัก เป็นการสำแดงอารมณ์ แม้ฝนตกยังคงเบิกบาน ชุ่มฉ่ำหัวใจ, ในกรณีของ Denis Lavant ก็คล้ายๆเดียวกัน แสดงความยินดีที่หญิงสาวคลายความเศร้าโศก บังเกิดรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ จึงลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น สนุกสนานครื้นเครง

เมื่อตอน Boy Meets Girl (1984) มีการกล่าวถึงมนุษย์อวกาศเดินทางไปย่ำเหยียดดวงจันทร์, Mauvais Sang (1986) ดำเนินเรื่องในช่วงดาวหางฮัลเล่ย์ (Halley’s Comet) แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนระบบสุริยะในรอบ 75-79 ปี ครั้งล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 และครั้งถัดไป 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2061

จริงๆแล้วการมาถึงของดาวหางฮัลเล่ย์ ไม่ได้ทำให้ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติใดๆต่อโลกมนุษย์ แต่หนังสมมติอนาคตอันใกล้ ทำให้พื้นผิวโลกมีความลุ่มร้อน อุณหภูมิสูงขึ้นหลายองศา ไม่สามารถย่ำเหยียบถนนเท้าเปล่า Alex จึงฉวยโอกาสเจ้าชายขี่ม้าขาว พาหญิงสาว Anna ข้ามท้องถนน ไปส่งโรงแรมฟากฝั่งตรงกันข้าม … การมาถึงของดาวหางฮัลเล่ย์ = การมาถึงของ Alex ช่วงเวลาสั้นๆที่ทำให้ลุ่มร้อนทรวงใน

หลังส่งเจ้าหญิงเข้าโรงแรม Alex ก็ออกมายกรถเต่า แสดงพละกำลัง ทำให้มันพลิกคว่ำ (จากหน้าเป็นหลัง) สะท้อนความรู้สึกอัดอั้น สีสันทางอารมณ์ (=ภาพวาด Abstract ด้านหลัง) แบบเดียวกับตอนกระโดดโลดเต้นบทเพลง Modern Love ภายในอันร้อนลุ่ม จำต้องหาหนทางระบายออกมา

ฉากนี้ชวนให้ผมนึกถึงการพรอดรักตรงระเบียงระหว่าง Romeo & Juliet ในบริบทนี้เขาคือหมาวัดตกหลุมรักดอกฟ้า เธอคือดาวดารา(ถ่ายในสตูดิโอแต่เห็นดวงดาวด้วยนะ)ช่างอยู่ไกลเกินอาจเอื้อมมือไขว่คว้า … นอกจากความสูง-ต่ำ ยังมีการแต่งแต้มสีแดง-น้ำเงิน แสดงความแตกต่างตรงกันข้าม

ผมรู้สึกว่าผกก. Carax อดใจไม่ได้ที่จะแทรกใส่สิ่งนอกเรื่อง ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร เพื่อให้ผู้ชมมองหาความสัมพันธ์คู่ขนาน (เมื่อตอน Boy Meets Girl (1984) มีฉากลักษณะนี้เยอะมากจนดูเละเทะไปหมด) อย่างฉากนี้หลังจากราตรีสวัสดิ์ Anna ปรากฎภาพมารดาพยายามเสี้ยมสอนทารกน้อยให้ก้าวเดิน แล้วจู่ๆไม่ใช่แค่เด็กชาย ยังรวมถึง Alex เดินตุปัดตุเป๋ เหมือนคนมึนเมา/เพิ่งหัดเดิน อาจจะเรียกว่าก้าวแรกแห่งรัก ดำเนินสู่อ้อมอกหญิงคนรัก

Jean-Luc Godard น่าจะคือผู้บุกเบิกภาพถ่ายป้าย ข้อความ ตัวอักษร ฯ นำมาร้อยเรียง แปะติดปะต่อ ในลักษณะ Montage รับอิทธิพลจากศิลปะ Pop Art, ซึ่งสำหรับ Mauvais Sang (1986) ก็มีหลากหลายครั้งที่ใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อรวบรัดตัดตอน หรือต้องการอธิบายอะไรสักสิ่งอย่าง

แวบแรกที่ผมเห็นชายสามคน ถอดเสื้อ ยืนล้อมวง ด้วยภาพขาว-ดำ คุณภาพต่ำๆ ชวนนึกถึงโคตรสารคดีแม่มด Häxan (1922) กำลังปรุงยา Love Potion? … จริงๆน่าจะกำลังพูดคุยแผนการโจรกรรม แต่แอบเชื่อว่าผกก. Carax อ้างอิงถึงหนังเงียบเรื่องนั้นแน่ๆ เฉกเช่นเดียวกับชุดของ Anna แลดูคล้ายแม่มด?

ขณะที่ภาพของ Lise ขับรถมอเตอร์ไซด์ติดตามหาชายคนรัก ถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำที่ดูทันสมัยใหม่(กว่าฉากล้อมวงทำ Love Potion) ผมยังนึกไม่ออกว่าอ้างอิงภาพยนตร์เรื่องไหน แต่สายตาเธอดูมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ต้องการค้นหาเขาให้พบเจอ ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยสิ่งใด!

เช้าวันใหม่ระหว่าง Alex กำลังโกนหนวด Anna เข้ามากลั่นแกล้ง เลยถูกวิ่งไล่ โต้ตอบ แล้วมันจะมีขณะหนึ่งที่เขาหยิบถังดับเพลิงมาฉีด … คุณสามารถจินตนาการนัยยะของการฉีดพ่น Cream(pie) ได้ไกลแค่ไหน?

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ามันเป็นการรับสายซ้อนหรือไร? แต่รายละเอียดเมื่อทั้งสามคุยโทรศัพท์กัน ประกอบด้วย

  • Alex ถ่ายภาพสี ถือผ้าสีแดง พยายามสรรหาข้ออ้างที่จะไม่หวนกลับหาหญิงคนรัก
  • Lise ถ่ายทำด้วยภาพขาว-ดำ อาจสำแดงถึงความห่อเหี่ยว สิ้นหวัง ชีวิตไร้สีสัน
  • Charlie บุคคลที่ Alex มอบโอกาสให้ร่วมรักกับ Lise แต่กลับไม่สามารถทำให้เธอตกหลุมรัก ทำให้กำลังจะติดโรค STBO อยู่ในสถานที่พื้นหลังสีน้ำเงิน พร้อมปิดดวงตาข้างหนึ่ง (จะมองว่าคืออาการป่วย หรือการสูญเสียมุมมอง/วิสัยทัศน์บางอย่าง)

ระหว่างที่ Lise กำลังพูดเล่าความหลังถึงบิดา ในจอโทรทัศน์ฉายภาพยนตร์ La petite Lise (1930) แปลว่า Little Lise กำกับโดย Jean Grémillon … ไม่ใช่แค่ชื่อหนัง ชื่อตัวละคร แต่พล็อตเรื่องก็ละม้ายคล้ายสิ่งที่ Lise กำลังพูดเล่าความหลัง บิดาขี้หึงลงมือฆาตกรรมภรรยา ติดคุกใช้แรงงาน Chain Gang นานหลายปี หลังได้รับการปล่อยตัวจึงเดินทางกลับหาบุตรสาว Lise บลา บลา บลา

Alex ดูไม่ค่อยประทับใจเรื่องเล่าของ Lise เพราะเธอให้การยกย่องเทิดทูน Marc ราวกับบิดา (Father-Figure) พอเขาพยายามพูดโน้มน้าว บอกว่านั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้อง เธอก็ยกมือขึ้นมาปิดหู ปฏิเสธรับฟัง หรือลูกเล่นภาพยนตร์ขณะนี้ที่มีการปรับโฟกัสใกล้-ไกล ต่างฝ่ายต่างปิดกั้น/ไม่สนความคิดเห็นของกันและกัน

Alex ได้รับการติดต่อจากเจ้าหนี้ The American พร้อมจ่ายสองเท่าถ้านำวัคซีนมามอบให้ หลังพบเห็นความดื้อรั้น ปิดกั้นของ Anna จึงติดต่อหา Boris (มือขวาของ The American) นัดพูดคุยในร้านอาหาร มีหัวข้อสนทนาหนึ่งที่น่าสนใจ นายเห็นชายผมขาวด้านหลัง Jean Cocteau? … แต่ทว่า Cocteau ตายไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963?

บางคนอาจตีความว่านักกวีไม่มีวันตาย? แต่ผมมองว่าความครุ่นคิดของ Boris ไม่ต่างจากการจมปลักอยู่ในตู้ปลา (ตำแหน่งที่เขานั่ง ด้านหลังก็คือตู้ปลา) คล้ายๆสำนวนไทยกบในกะลา ถูกครอบงำ/หมกมุ่นยึดติดกับบางสิ่งอย่าง แบบเดียวกับฉากก่อนหน้านี้ที่ Anna ก็ปิดกั้นความคิดเห็นต่างของ Alex … Poor Sap!

ใครที่เคยรับชม Les Amants du Pont-Neuf (1991) แปลว่า The Lovers on the Bridge ผลงานถัดไปของผกก. Carax เมื่อพบเห็นฉากสะพานในหนังเรื่องนี้ มันย่อมบังเกิดความรู้สึกบางอย่าง Nostalgia? นอกจากเป็นสถานที่แห่งการพบเจอ-พลัดพรากจาก (พูดคุยกับ Charlie ที่ล้มป่วย STBO) ต้องการข้ามผ่านอดีต เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ยังติดอยู่กึ่งกลางสะพาน

มันจะมีช็อตที่ปรับโฟกัสใกล้-ไกล (ภาพแรก Alex คมชัด ทิวทัศน์เบลอๆ, ส่วนภาพหลัง Alex หลุดโฟกัส ทิวทัศน์คมชัด) เหมือนเขากำลังครุ่นคิด พรุ่งนี้จะตัดสินใจทำอะไรยังไง ขโมยวัคซีนส่งมอบให้ Marc หรือ The American หรืออะไรอย่างอื่น?

คำกล่าวหลังจาก Marc เสร็จกามกิจกับ Anna มีการกล่าว(เปรียบเทียบ)ถึงแมลงชีปะขาว (Mayfly) หนึ่งในสัตว์อายุสั้นที่สุดในโลก เมื่อถือกำเนิดเป็นตัวเต็มวัย มันจะสืบพันธุ์ และตายในวันเดียวกัน! นี่เป็นการเปรียบเทียบถึง Alex ครุ่นคิดว่าตนเองเก่ง กล้าท้าเสี่ยง ท้ายที่สุดย่อมนำพาหายนะมาให้บังเกิดกับตนเอง

มันอาจดูเป็นเรื่องตลกขบขันที่ Alex เอาปืนจ่อขมับ ใช้ตนเองเป็นตัวประกัน (อ้างอิงถึงภาพยนตร์ Blazing Saddles (1974) กำกับโดย Mel Brooks) แต่เราสามารถตีความถึงการเดิมพันของคนรุ่นใหม่

ทศวรรษ 80s คือช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยเฉพาะการมาถึงของโรคเอดส์ทำให้สูญเสียเสรีภาพทางเพศ (Sexual Freedom) พวกเขาถูกแรงกดดันถาโถมจากทุกสารทิศ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจึงช่างแม้ง ไม่สนห่าเหวอะไรอีกต่อไป กล้าท้าเสี่ยง ไม่มีอะไรจะเสีย ไม่หวาดกลัวความตาย พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ เพศสัมพันธ์โดยไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย ฯ

Lise ได้กลายเป็น Motorcycle Angel บึ่งรถคันที่ Alex ทอดทิ้งไว้ให้ มาช่วยพาหลบหนีจากตำรวจ แต่สิ่งที่ดูแปลกประหลาด คือตอนถ่ายระยะใกล้รถพุ่งไปทางซ้าย แต่พอถ่ายภาพมุมกว้างรถกลับวิ่งไปทางขวา … นี่ถือว่าขัดต่อกฎ 180 องศา (180-degree rule) แต่ก็สามารถสื่อถึงตัวละครได้กระทำสิ่งต้องห้าม (Alex ฆ่าตำรวจเสียชีวิต)

เกร็ด: ไม่รู้ฉากไหนที่ Julie Delpy กล่าวว่าตนเองประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซด์ล้ม แต่ไม่สามารถไปหาหมอทันทีเพราะประกันจะไม่จ่าย โชคดีว่าไม่เลวร้ายถึงขั้นต้องตัดขาทิ้ง

I had a motorcycle accident. In order to make the insurance work, I wasn’t taken to the doctor right away. As a result, my leg became gangrenous – one more day and it was amputation. Moreover Leos Carax was not easy. The actress (Juliette Binoche) was not easy either. It was a set of things where I was really traumatized when I got out of this movie. It was at the limit where I wondered if I wanted to continue what. It wasn’t a pleasant shoot, no.

Julie Delpy

Alex ฉีดวัคซีนใส่ไข่ แล้วเก็บซ่อนไว้ในตุ๊กตาแม่ลูกดก (Matryoshka) มองผิวเผินคือการอำพรางคดี แต่ไข่และตุ๊กตาลูกดก สามารถสื่อถึงความคาดหวังต่อคนรุ่นหลัง Generation ถัดไป จะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้าย STBO สูญเสียเสรีภาพแห่งรัก และเพศสัมพันธ์

จากสภาพอากาศร้อนระอุ (เพราะดาวหางฮัลเล่ย์แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนระบบสุริยะ) หลังการโจรกรรมวัคซีน พลันเปลี่ยนเป็นท้องฟ้ามืดครื้ม หิมะร่วงโรย หนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สั่นสะท้านทรวงใน อารัมบทหายนะ ความตาย จุดจบใกล้เข้ามาเยือน … ทุกสิ่งอย่างพลิกกลับตารปัตรจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เมื่อตอนที่ Alex กลับไปยังสตูดิโอของ Marc แล้วถูกดักซุ่มยิงหน้าร้านโดย The American สังเกตว่ามีหลายช็อตถ่ายทำจากเบื้องบนก้มลงมา Bird’s Eye View แต่ผมชอบเรียกมุมกล้องแนวดิ่งตั้งฉากแบบนี้ว่า God Eye View เพราะมันเหมือนฟ้าลิขิตให้เขาต้องยินยอมรับโชคชะตากรรม ไม่สามารถดิ้นหลบหนี เอาตัวรอด ถูกทรยศหักหลัง (จาก The American) และได้รับความรักเอ็นดู (จาก Marc และ Anna)

ความแตกต่างตรงกันข้ามของสองช็อตนี้ ช่างน่าพิศวงยิ่งนัก!

  • ตอนถูกยิง Alex ภายนอกสตูดิโอ ไม่มีใครเหลียวแล ทิ้งตัวลงนอนตรงฟุตบาท หิมะอยู่บนขอบถนน เส้นตรงที่บิดๆเบี้ยวๆ
  • พอเข้ามาในสตูดิโอ Alex พยายามยืนตัวตรง รายล้อมรอบผู้คน เส้นสีขาวที่พื้นรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก

ระหว่างขับรถไปยังสนามบิน Alex พบเห็นหญิงสาวคนหนึ่งสวนทางมา สวมชุดขาว แม้ยกมือปิดหน้า แต่ดูแล้วช่างละม้ายคล้าย Anna ฤาว่าบุคคลที่เขาเคยออกติดตามหาตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง แท้จริงแล้วคือเธอคนนี้ที่อาจเรียกว่า Doppelgänger ตามความเชื่อปรับปราพื้นบ้านเยอรมัน “มนุษย์ทุกคนบนโลกจะมีฝาแฝดของตนอยู่” หากแต่บุคคลนั้นเป็นคนดี ฝาแฝดก็จะชั่วร้าย หากบุคคลนั้นเป็นคนชั่วร้าย ฝาแฝดก็จะเป็นไปในทางกลับกัน และการที่ฝาแฝดทั้งสองมาพบเจอกัน จักทำให้ทั้งคู่ต้องพบกับจุดจบของชีวิต!

มันมีความพิศวงหนึ่งระหว่างขับรถสู่สนามบิน จู่ๆมีการแทรกภาพดอกทานตะวัน (Sunflowers) ซึ่งมีอยู่สองดอกเคียงคู่กัน ดอกเล็กกำลังเบ่งบาน ดอกใหญ่กำลังแห้งเหี่ยวโรยรา และลีลาการตัดต่อเริ่มจาก ใบหน้าเหี่ยวๆของ The American → ดอกทานตะวัน → หน้าใสๆของ Anna กำลังโอบกอดชายคนรัก … พอเข้าใจสิ่งหนังจะสื่อถึงไหมเอ่ย?

Alex พยายามพร่ำพูด บอกว่าต้องการเดินทางไปจากสถานที่แห่งนี้ แม้ว่าตนเองถูกยิง สภาพร่อแร่ เลือดไหลไม่หยุด สังเกตว่าระหว่างอยู่บนรถ พบเห็นใบไม้แห้งเหี่ยว ร่วงโรย หมอกควันฟุ้งกระจาย และตัดภาพต้นไม้ไร้ใบริมสองข้างทาง … เหล่านี้ล้วนเป็นการอารัมบทความตาย

และวินาทีที่เขาสิ้นใจตาย ชั่วขณะหนึ่งจะมีแทรกภาพจอดำ (Black Screen) นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุฟีล์มกระตุกอย่างแน่นอน แต่คือความจงใจเพื่อสื่อถึงวินาทีแห่งความตาย ทุกสิ่งอย่างมืดมิด จิตดับ ไม่หลงเหลืออะไร

Anna กับ Lise จะมองว่าเป็น Doppelgänger ก็ได้กระมัง? พวกเธอมีความแตกต่างตรงกันข้ามทุกสิ่งอย่าง! เมื่อมาพบเจอกันตอนจบ กลายเป็นประจักษ์พยานความตายของ Alex และหลังจากนี้คนหนึ่งคงจมปลักอยู่กับรักครั้งแรก ส่วนอีกคนจักสามารถโบยบินสู่อิสรภาพ

เมื่อทุกคนต่างแยกย้าย มันจะมีช็อตที่ Lise เข้าเกียร์มอเตอร์ไซด์ จากนั้นตัดมาภาพ Anna เริ่มออกวิ่ง (การเข้าเกียร์คือพร้อมออกเดินทาง) ทอดทิ้งชายคนรักไว้เบื้องหลัง พอทิ้งระยะห่างก็เริ่มกางแขน ถ่ายมุมเงยท้องฟ้า เร่งความเร็วจนใบหน้าเบลอๆ ดูราวกับนกโผลบินสู่อิสรภาพ … หนังทิ้งไว้ให้อิสระผู้ชมว่า Anna เลิกรากับ Marc หรือเปล่า? เอาจริงๆมันไม่จำเป็น แต่จะสามารถมองเช่นนั้นก็ได้

ตัดต่อโดย Nelly Quettier (เกิดปี ค.ศ. 1957) นักตัดต่อหญิง สัญชาติฝรั่งเศส ร่วมงานขาประจำผกก. Claire Denis, Leos Carax ผลงานเด่นๆ อาทิ Bad Blood (1986), The Lovers on the Bridge (1991), Beau Travail (1999), The Intruder (2004), Holy Motors (2012), Happy as Lazzaro (2018), Annette (2021), La Chimera (2023) ฯ

นอกจากอารัมบทที่เริ่มต้นจาก Marc รับทราบข่าวการฆ่าตัวตายของ Jean, เรื่องราวทั้งหมดนำเสนอผ่านผ่านมุมมอง Alex (บุตรของ Jean) ได้รับการติดต่อจาก Hans ตัดสินใจทอดทิ้งแฟนสาว Lise เดินทางเข้ากรุง Paris ตอบรับงานโจรกรรมวัคซีน ตกหลุมรักแรกพบ Anna ระหว่างรอเวลาภารกิจก็เกี้ยวพาราสีเธอ

  • อารัมบท, การฆ่าตัวตายของ Jean ทำให้ Marc ต้องชดใช้หนี้ The American
  • Alex เดินทางเข้ากรุง Paris
    • Alex กับแฟนสาว Lise
    • Hans มาเคาะประตูห้อง Alex ชักชวนมาร่วมงาน
    • Alex ตัดสินใจทอดทิ้ง Lise แล้วเดินทางสู่กรุง Paris
    • เมื่อมาถึงสตูดิโอของ Marc ตกหลุมรักแรกพบ Anna
    • Marc และ Hans ขับรถพา Alex เยี่ยมชมเมือง แนะนำให้รู้จักสถานที่เป้าหมาย ห้องแล็ปตั้งอยู่บนอาคาร Darley-Wilkinson
  • Alex & Lise
    • วันถัดมา Marc นำพา Alex และ Lise ไปฝึกกระโดดร่ม
    • พบเห็นใบหน้าอันเศร้าสร้อยของ Lise ทำให้ Marc พยายามทำทุกสิ่งอย่างให้เธอบังเกิดรอยยิ้ม
    • Alex พยายามเกี้ยวพาราสี Lise
    • Lise ไปนอนค้างคืนที่โรงแรมฝั่งตรงข้าม
  • อดีตติดตามมาหลอกหลอน
    • Marc เริ่มเกิดความคลางแคลงใจ หลังพบเห็น Alex และ Lise มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง
    • Lise โทรศัพท์หา Alex
    • Alex ได้รับข้อเสนอจากเจ้าหนี้ The American
    • บนสะพาน Alex พบเจอกับเพื่อนเก่าที่ล้มป่วย STBO เพราะร่วมรักกับ Lise แอบติดตามจนพบเจอว่าอีกฝ่ายพักอาศัยอยู่แห่งหนไหน
  • โจรกรรมวัคซีน
    • แต่งสูทผูกไทด์ ตระเตรียมพร้อมการโจรกรรม
    • Alex ทำการโจรกรรมวัคซีนสำเร็จ แต่ถูกตำรวจห้อมล้อม
    • Lise ขับมอเตอร์ไซด์มาช่วยเหลือ Alex หลบหนีสำเร็จ
    • ใครๆต่างครุ่นคิดว่า Alex ทรยศหักหลัง แต่หลังจากร่วมรัก Lise เขาก็หวนกลับมา
    • ระหว่างทางกลับถูก Alex ถูกซุ่มยิงโดย The American
    • ยังคงดิ้นรนกลับมายังสตูดิโอเพื่อมอบวัคซีนของจริง
    • และเรื่องราวจบลงระหว่างเดินทางไปสนามบิน

ลีลาการตัดต่อของ Mauvais Sang (1986) ดูมีความลื่นไหลขึ้นจาก Boy Meets Girl (1984) ไม่ได้ใส่ลูกเล่นที่ชวนสับสน หรือกระโดดไปกระโดดมามากนัก แม้ความท้าทายในการรับชมอาจลดลง แต่สามารถเข้าถึงผู้ชมวงกว้าง


ในส่วนของเพลงประกอบ ผกก. Carax ไม่ได้ว่าจ้างนักแต่งเพลงคนไหน แต่เลือกเอาท่วงทำนองหรือท่อนคำร้องจากศิลปินมีชื่อที่สอดคล้องเข้ากับเรื่องราว-อารมณ์ เพลงคลาสสิก (Benjamin Britten, Sergei Prokofiev) เพลงประกอบภาพยนตร์ (Limelight) รวมถึงเพลงร่วมสมัย (J’ai pas d’Regrets, Modern Love) นำมาผสมผสานคลุกเคล้า

ตั้งแต่แรกพบเจอ Alex ชะงักงันกับความงดงามราวกับนางฟ้าของ Anna จนกระทั่งบังเอิญมาพบเจอยังตรอกซอกซอย จึงรีบออกวิ่งติดตาม บทเพลงดังขึ้นคือ Variations on a Theme of Frank Bridge, Op. 10 (1937) ท่อนที่สาม VIII. Funeral March (จากทั้งหมด 10 Variation) ผลงานของคีตกวีสัญชาติอังกฤษ Benjamin Britten (1913-76)

บทเพลงนี้ Britten แต่งให้กับ Frank Bridge (1870-1941) ครูสอนไวโอลินและแต่งเพลง “To F.B. A tribute with affection and admiration” นำเสนอท่วงทำนองที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตอีกฝ่าย ซึ่งสำหรับ Funeral March ตั้งใจแต่งล่วงหน้าเพื่อใช้ในงานศพ แทนการพลัดพรากจากลา … มันอาจฟังดูไม่เกี่ยวกับข้องกับการออกติดตามหญิงสาว แต่เป็นคำพยากรณ์อนาคต จุดจบของ Alex เริ่มต้นก็ตั้งแต่พบเจอ ตกหลุมรักเธอ

เอาจริงๆผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่า Alex จะมีเรื่องชกต่อยกับ Marc ทำไมกัน? อิจฉาริษยา? ไม่พึงพอใจที่อีกฝ่ายปฏิเสธพูดคำว่า “I love you” แต่ระหว่างการต่อสู้ได้ยินบทเพลง Romeo and Juliet, Op. 64 (1935) ท่วงทำนอง Act 1, Scene 2, No. 13: Dance Of The Knights ประพันธ์โดย Sergei Prokofiev … สรุปแล้วพวกเขาจะต่อยกันหรือเต้นรำกันแน่?

ตอนค้นหาคลื่นเสียง ฟังเพลงวิทยุ มันจะมีสองเพลงดังขึ้น J’ai pas d’Regrets (1965) แปลว่า I have no regrets ขับร้องโดย Serge Reggiani, แต่อีกบทเพลงที่น่าสนใจกว่าคือ Modern Love แต่ง/ขับร้องโดย David Bowie รวมอยู่ในอัลบัม Let’s Dance (1983) ประกอบลีลาการเต้นของ Alex ไม่เชิงว่าได้รับรักจาก Anna แค่เพียงแสดงความดีอกดีใจ เธอทำให้โลกของฉันสวยสดใสขึ้นทันตา

I know when to go out
Know when to stay in
Get things done

I catch a paper boy
But things don’t really change
I’m standing in the wind
But I never wave bye-bye
But I try, I try
There’s no sign of life
It’s just the power to charm
I’m lying in the rain
But I never wave bye-bye
But I try, I try
Never gonna fall for

walks beside me
(Modern love) walks on by
(Modern love) gets me to the church on time
(Church on time) terrifies me
(Church on time) makes me party
(Church on time) puts my trust in God and man
(God and man) no confession
(God and man) no religion
(God and man) don’t believe in modern love

It’s not really work
It’s just the power to charm
I’m still standing in the wind
But I never wave bye bye
But I try, I try
Never gonna fall for

walks beside me
(Modern love) walks on by
(Modern love) gets me to the church on time
(Church on time) terrifies me
(Church on time) makes me party
(Church on time) puts my trust in God and man
(God and man) no confession
(God and man) no religion
(God and man) don’t believe in modern love

walks beside me
(Modern love) walks on by
(Modern love) gets me to the church on time
(Church on time) terrifies me
(Church on time) makes me party
(Church on time) puts my trust in God and man
(God and man) no confession
(God and man) no religion
(God and man) I don’t believe in modern love

Modern love (modern love)
Modern love (modern love)
Modern love (modern love)
Modern love (modern love)
Modern love (modern love)
Modern love (modern love)
Modern love (modern love)
Modern love (modern love)
(Modern love)
(Modern love)
(Modern love)
(Modern love)
Modern love, walks beside me
(Modern love)
Modern love, walks on by
(Modern love)
Modern love, walks beside me
(Modern love)
Modern love, walks on by
(Modern love)
Never gonna fall for
(Modern love)
(Modern love)

หลังจาก Anna ตัดสินใจเข้าพักที่โรงแรมฝั่งตรงข้าม Alex โทรศัพท์หา บอกราตรีสวัสดิ์ ทีแรกผมนึกว่าจะใช้บทเพลง Romeo & Juliet ตอนเกี้ยวพาราสีตรงระเบียงหน้าก้อง แต่กลับเป็น Main Theme จากภาพยนตร์ Limelight (1952) ของ Charlie Chaplin ท่วงทำนองเศร้าๆ เหงาๆ โหยหาคร่ำครวญ ไม่อยากพลัดพรากจากลา

หลังการเตรียมการเสร็จสิ้น เริ่มต้นภารกิจโจรกรรม ขับรถออกจากสตูดิโอ ได้ยินบทเพลง Prelude & Fugue for 18 Strings, Op. 29 (1943) ท่อนที่สาม III. CODA (เริ่มต้นนาที 6:45) ประพันธ์โดย Benjamin Britten (1913-76) ท่วงทำนองบอกใบ้ถึงหายนะ บางสิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา

บังเกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างการโจรกรรม โชคดีที่ Alex สามารถหลบหนี ขึ้นรถมอเตอร์ไซด์ของ Lise พากลับชนบท ร่วมรักหลับนอน ทอดทิ้งให้ใครๆครุ่นคิดว่าถูกไอ้เด็กเมื่อวานซืนทรยศหักหลัง, บทเพลงคลอประกอบพื้นหลังคือ Variations on a Theme of Frank Bridge, Op. 10 ท่อนที่ I. Adagio ประพันธ์โดย Benjamin Britten (1913-76)

ทิ้งท้ายภายหลังความตายของ Alex ทำให้ Anna ตัดสินใจออกวิ่ง กางแขน กางปีกโบยบินสู่อิสรภาพ ได้ยินบทเพลง Simple Symphony, Op. 4 (1934) ท่อนที่ III. Sentimental Saraband ประพันธ์โดย Benjamin Britten (1913-76) เป็นบทเพลงที่ Britten นำเอาท่วงทำนองเคยประพันธ์ไว้ตั้งแต่ตอนสมัยยังเด็กๆ ระหว่างปี ค.ศ. 1923-26 มาเรียบเรียง ขยับขยาย อุทิศให้ครูสอนไวโอลินคนแรก Audrey Alston ที่เหมือนจะเพิ่งล่วงลับไปไม่นาน … มันช่างสอดคล้องกับการจากไปของ Alex เปรียบดั่งครูคนแรกสอนให้ Anna รับรู้จักความรักที่แท้จริง!

Mauvais Sang (1986) นำเสนอเรื่องราวความรักที่เป็นไปไม่ได้ระหว่าง Alex กับ Anna แม้เขาพยายามเกี้ยวพาราสี ขายขนมจีบ ทำให้เธอบังเกิดรอยยิ้ม ประกายความหวัง โลกสวยสดใสขึ้นโดยพลัน แต่ทั้งสองกลับถูกกีดกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ

  • Anna เป็นคนรักของ Marc ถือว่ามีคู่ครองอยู่แล้ว Alex จึงมิอาจล่วงเกินเลย ผิดศีลธรรมจรรยา … ทางจิตใจ
  • การมาถึงของโรคระบาด STBO ทั้งสองจึงมิอาจร่วมเพศสัมพันธ์ … ทางร่างกาย

หนทางออกเดียวสำหรับ Alex คือทำการโจรกรรมวัคซีนป้องกันโรค STBO ฉีดใส่ตนเอง ทรยศหักหลัง Marc แล้วหนีไปกับ Anna แต่ทว่าไม่มีอะไรเป็นไปตามความคาดหวัง เพราะทุกคนต่างต้องการวัคซีน จึงเกิดการหักเหลี่ยมเฉือนคม สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน

ความตายของ Alex สร้างแรงกระตุ้นบางอย่างขึ้นภายในจิตใจ Anna ทั้งๆก่อนหน้านี้เขาพยายามเกี้ยวพาราสี ขายขนมจีบ ก็ไม่เคยผันแปรความรู้สึกต่อ Marc แต่โศกนาฎกรรมครั้งนั้น จู่ๆทำให้เธอออกวิ่ง กางปีกโบยบิน โหยหาอิสรภาพชีวิต ราวกับได้ค้นพบ/เรียนรู้จักคำว่ารัก … เมื่อตอนสายไป!

Alex และ Anna คืออวตารของผกก. Carax ที่พยายามเกี้ยวพาราสี ขายขนมจีบ Binoche ไม่แน่ใจว่าขณะนั้นเธอมีแฟนอยู่ก่อนหรือเปล่า แต่หลังถ่ายทำเสร็จทั้งสองกลายเป็นคู่รัก อาศัยอยู่ร่วมกันระหว่าง ค.ศ. 1986-91

นอกจากประเด็นรักๆใคร่ๆของผู้กำกับ-นักแสดง สิ่งสร้างความหลงใหลคลั่งไคล้ให้บรรดานักวิจารณ์สมัยนั้น คือภาพสะท้อนบรรยากาศโลกช่วงทศวรรษ 80s ได้อย่างใกล้เคียงกว่าพวกหนังร่วมสมัยเสียอีก!

Mauvais Sang was made the same year as the Chernobyl nuclear disaster. The 1980s were a time when young people lost their bearings and felt skeptical about the future. Even the sexual freedom they had achieved in the years before was curbed by the discovery of AIDS in 1983, to which Mauvais Sang was one of the first films to allude. The young generation of the 1980s was a disenchanted generation, tormented by the loss of a carefree life: unemployment was affecting more and more people, the population was growing poorer, and the suburban sprawl was spreading… Young people doubted their future prospects and the world seemed submerged by a fin de siècle anxiety and by the fear of imminent catastrophe.

มันอาจฟังดูขัดย้อนแย้งเพราะผกก. Carax เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ค่อยชื่นชอบภาพยนตร์ร่วมสมัยใหม่ (Contemporary Film) แต่ผลงานของพี่แกกลับสะท้อนบรรยากาศยุคสมัยได้อย่างชัดเจนกว่าใคร! เฉกเช่นเดียวกับเรื่องแฟนสาว Alex พยายามทอดทิ้ง Lise ที่เป็นตัวแทนผู้หญิงสมัยใหม่ (อิทธิพลจาก Mai ’68 เรียกร้องสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศ) เปลี่ยนมาเลือก Anna หญิงสมัยก่อนที่ยินยอมก้มหัวศิโรราบต่อบุรุษ

Mauvais Sang แปลว่า Bad Blood โดยปกติแล้วหมายถึงความขัดแข้งรุนแรงระหว่างคนสอง หรือระหว่างวงศ์ตระกูล/บรรพบุรุษ ที่ต้องแลกมาด้วยเลือด ความตาย อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้, ในบริบทของหนังยังรวมถึงการติดเชื้อ AIDS/STBO ทางกระแสเลือดระหว่างร่วมเพศสัมพันธ์

แต่ผมครุ่นคิดว่าความตั้งใจของผกก. Carax ต้องการสะท้อนความขัดแย้งรุนแรง ไม่ชื่นชอบบรรดาภาพยนตร์ร่วมสมัยใหม่ เพราะผลงานของฉันมีความเป็นส่วนตัว ไม่เข้าพวกกับใคร ติดเชื้อเลือดชั่วมาจากบรรพบุรุษ ผู้กำกับรุ่นก่อน ซึมซับรับอิทธิพล สไตล์ภาพยนตร์ นำมาปรับประยุกต์ใช้กับผลงานของตน … เป็นการมองความหมายของ Bad Blood ในเชิงนามธรรม!


เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin แม้เสียงตอบรับจะดีเยี่ยม แต่พ่าย Golden Bear ให้กับ The Theme (1979) [สร้างเสร็จปี ค.ศ. 1979 แต่ออกฉายจริง ค.ศ. 1986] ถึงอย่างนั้นยังสามารถคว้ามาสองรางวัล

  • Alfred Bauer Prize
  • C.I.C.A.E Award – Honorable Mention

ด้วยทุนสร้าง 17 ล้านฟรังก์ (เมื่อตอน Boy Meets Girl (1984) ใช้ทุนสร้างแค่ 3 ล้านฟรังก์) ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศส 504,803 ใบ ไม่รู้เพียงพอคืนทุนแล้วหรือยัง? ช่วงปลายปีได้เข้าชิง César Awards สามสาขา น่าเสียดายไม่ได้รางวัลใดๆติดมือกลับมา

  • Best Actress (Juliette Binoche)
  • Most Promising Actress (Julie Delpy)
  • Best Cinematography

ความสำเร็จอื่นๆของหนัง คือคว้ารางวัล Prix Louis Delluc และได้รับการโหวตติดอันดับ #5 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Cahiers du Cinéma

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K (ไม่แน่ใจว่า digital restoration หรือ digital transfer) ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2014 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Artificial Eye หรือ Carlotta Films U.S.

ทีแรกผมไม่มีแผนเขียนถึง Mauvais Sang (1986) เลยข้ามไปดู Les Amants du Pont-Neuf (1991) แล้วหลงใหลคลั่งไคล้คู่รัก Denis Lavant & Juliette Binoche ก่อนค้นพบว่าทั้งสองเคยเล่นหนังเรื่องนี้ซึ่งก็กำกับโดย Leos Carax จึงรีบขวนขวายหารับชมโดยพลัน

อย่าคาดไม่ถึง! รับชม Mauvais Sang (1986) ทำให้ผมตกหลุมรักคลั่งไคล้ Lavant & Binoche, ลีลาการนำเสนอของผกก. Carax ก้าวกระโดดจาก Boy Meets Girl (1984) อย่างไม่เห็นฝุ่น นี่ถ้าผมไล่เรียงรับชมก่อน Les Amants du Pont-Neuf (1991) และ Holy Motors (2012) อาจยกย่องระดับมาสเตอร์พีซ!

จัดเรต 15+ กับเพศสัมพันธ์ อาชญากรรม ความรุนแรง

คำโปรย | Mauvais Sang จักทำให้ผู้ชมติดโรค STBO
คุณภาพ | วิจิศิป์
ส่วนตัว | ติดเชื้อ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: