The Child of Another (1975) : Jean-Pierre Dikongué Pipa ♥♥♥♥
ชายหนุ่มต้องการแต่งงานกับหญิงสาว แต่ประเพณีของชาว Cameroonian ฝ่ายชายต้องจ่ายค่าสินสอดทองหมั้น แล้วเขาจะไปหาเงินทองจากไหนกัน? ผิดกับลุงแท้ๆ ร่ำรวย มือเติบ ชิงตัดหน้าซื้อเธอมาเป็นภรรยาคนที่ห้า มันช่างเป็นเรื่องราวความรักอันเจ็บปวด หัวใจแตกสลาย
ผมด้อมๆมองๆโปรเจค African Film Heritage Project (AFHP) ที่ World Cinema Project (ของผกก. Martin Scorsese) ร่วมกับ Pan African Federation of Filmmakers (FEPACI), Cineteca di Bologna และองค์การ UNESCO พยายามคัดเลือกภาพยนตร์สัญชาติแอฟริกันมาทำการบูรณะซ่อมแซม เผยแพร่ให้ชาวโลกเป็นที่ประจักษ์
หนึ่งในนั้นและเห็นว่าเป็นเรื่องแรกๆของโครงการนี้ก็คือ Muna Moto (1975) ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) เรื่องแรกของ Cameroon ได้รับยกย่องจากนักวิจารณ์ Aboubakar Sanogo เขียนคำนิยมในบทความเว็บไซต์ Criterion เรียกว่า “gem of cinema” เพชรเม็ดงามที่เกือบจะเลือนหายตามกาลเวลา เพราะแม้แต่ชาว Cameroonian ด้วยกันเองยังไม่ค่อยเห็นคุณค่า (เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใน Cameroon ไม่ได้รุ่งเรือง เฟื่องฟูมากนัก)
เอาจริงๆคุณภาพของ Muna Moto (1975) ไม่ได้ถึงขั้นยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ เต็มไปด้วยข้อจำกัดยุคสมัย แต่ผมให้การยกย่องมาสเตอร์พีซ เพราะตำหนิเหล่านั้นคือสิ่งช่วยให้หนังมีความงดงาม น่าประทับใจ (เหมือนมนุษย์ที่ก็ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ) ช่วงสิบห้านาทีแรกอาจดูไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แถมการตัดต่อสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน อาจสร้างความสับสน มึนงง จะทำออกมาให้สลับซับซ้อนทำไม? แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนมีเหตุผล ถ้าคุณสามารถค้นพบ ก็จักยิ่งเกิดความลุ่มหลงใหล
Jean-Pierre Dikongué Pipa (เกิดปี 1940) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Cameroonian เกิดที่ Douala, French Cameroon ตั้งแต่ยังไม่รู้ประสีประสา มารดาแต่งงานใหม่ เลยเปลี่ยนมาใช้นามสกุลบิดาแท้ๆ+พ่อเลี้ยง, วัยเด็กมีความหลงใหลด้านการแสดง เข้าร่วมคณะละครเวทีสมัครเล่น ก่อนเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อศึกษาต่อ Conservatoire Indépendant du Cinéma Français แล้วชีวิตผันเปลี่ยนมาสรรค์สร้างหนังสั้นสามเรื่อง Un simple (1965), Les cornes (1966) และ Rendez-moi mon père (1966)
สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Muna Moto ถือเป็นอัตชีวประวัติของผกก. Dikongué Pipa เมื่อครั้นยังเป็นเด็กน้อยไร้เดียงสา ฟังจากเรื่องเล่ามารดา บิดาแท้ๆ Pipa Fabien เป็นคนเจ้าชู้ มีเมียหลายคน แต่หลังจากบุตรชายถือกำเนิด มารดา Ndouta Hogbe Agatha จึงตัดสินใจเลิกราหย่าร้าง แล้วแต่งงานใหม่กับชายที่เธอเคยตกหลุมรัก Moukoury Dikongué
Muna moto is linked to my childhood by my culture, my existence, my experimentation of life… I am Muna moto.
Jean-Pierre Dikongué Pipa
บทหนังพัฒนาเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 ขณะผกก. Dikongué Pipa ยังอาศัยอยู่ฝรั่งเศส แต่เพราะไม่ยังสามารถสรรหางบประมาณ สตูดิโอจัดจำหน่าย จึงใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะสามารถยื่นขอทุนจาก French Ministry of Cooperation (ปัจจุบันคือกระทรวงการต่างประเทศ Ministry for Europe and Foreign Affairs) และกู้ยืมรัฐวิสากิจ Consortium Audiovisuel International (CAI) ที่ให้การสนับสนุนวงการภาพยนตร์ในทวีปแอฟริกา
เรื่องราวเริ่มต้นที่เทศกาลแห่งสายน้ำ Ngondo Festival ชายหนุ่ม Ngando พยายามติดตามหา จนได้พบเจอหญิงสาว Ndomé ฉุดกระชาก แย่งชิงบุตรสาว แล้วออกวิ่งหลบหนี แต่ถูกผู้คนไล่ล่าติดตาม รุมห้อมล้อม จนที่สุดโดนต้อนจนมุม จากนั้นเขาถึงเริ่มหวนระลึกความหลัง (Flashback) เมื่อครั้นทั้งสองเคยให้คำสัญญามั่น ว่าจะครองคู่อยู่ร่วมตราบจนวันตาย
แต่เพราะ Mbongo (ลุงของ Ngando) ผู้มีฐานะร่ำรวย เจ้าของกิจการเรือประมงหาปลา สืบทอดกิจการมาจากบิดา (ของ Ngando) แต่งงานมีเมียสี่คน (รวมถึงมารดาของ Ngando) แต่กลับไร้น้ำยา ยังไม่มีบุตรสักคน เมื่อพบเห็น Ndomé จึงนำสินสอดทองหมั้นไปสู่ขอ ซื้อตัวเธอมาครอบครอง สร้างความเจ็บปวด ชอกช้ำ เคยวางแผนจะพากันหลบหนี กลับถูกดักซุ่มทำร้าย สภาพปางตาย เฝ้ารอคอยโอกาสสุดท้ายในเทศกาลแห่งสายน้ำ
หลังจากได้รับงบประมาณอันน้อยนิด ผกก. Dikongué Pipa ออกเดินทางมุ่งสู่ Cameroon เริ่มต้นถ่ายทำเทศกาลแห่งสายน้ำ Ngondo Festival จากนั้นใช้เวลาอีกเก้าเดือนปักหลักอาศัยอยู่หมู่บ้าน Mboussa Sengué, Littoral ทำการคัดเลือกนักแสดง(ละแวกนั้น) มองหาสถานที่ถ่ายทำ … สาเหตุที่โปรดักชั่นล่าช้า ยาวนานกว่า 9 เดือน เพราะไม่มีเงินเพียงพอจ่ายค่าจ้างนักแสดง ผกก. Dikongué Pipa จึงมักต้องเสียเวลาออกเรือหาปลา ล่าสัตว์ เพื่อนำมาทำอาหารเลี้ยงทีมงาน (แทนการจ่ายค่าแรงในแต่ละวัน)
ถ่ายภาพโดย Jean-Luc Léon, ใช้กล้องขนาดเล็ก ฟีล์ม 16mm เพื่อสามารถแบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ขยับเคลื่อนย้ายได้สะดวก แล้วทำการ ‘blow-up’ ให้กลายเป็นฟีล์ม 35mm สำหรับฉายในโรงภาพยนตร์
ช่วงสิบห้านาทีแรกของหนังถือได้ว่ามีลักษณะของ Docu-Drama เพราะทำการบันทึกภาพเทศกาลแห่งสายน้ำ Ngondo Festival แล้วนำมาคลุกเคล้าเข้ากับเรื่องราวปรุงแต่งสร้างขึ้น, ส่วนเหตุการณ์ย้อนอดีตทั้งหมด (Flashback) จะปรับเปลี่ยนมาเป็นสไตล์ Neo-Realist ถ่ายภาพวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคม การต้องต่อสู้ดิ้นรน ทนทุกข์ยากลำบาก
งานภาพของหนัง มองผ่านๆเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่หลายต่อหลายครั้งมีการจัดวางองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง ลูกเล่นภาพยนตร์ที่เคลือบแฝงนัยยะบางอย่าง ถ้าเราให้เวลาขบครุ่นคิด ก็อาจจะค้นพบความมหัศจรรย์ที่คาดไม่ถึง
เทศกาลแห่งสายน้ำ Ngondo Festival จัดขึ้นยัง Wouri River ณ Douala, Cameroon ระหว่างสองสัปดาห์แรกเดือนธันวาคม จุดประสงค์เพื่อให้คนรุ่นใหม่รื้อฟื้นความสัมพันธ์บรรพบุรุษ ตระหนักถึงความสำคัญของขนบวิถี ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ในงานจะมีการเดินขบวน แข่งเรือ ร้องรำทำเพลง โดยกิจกรรมไฮไลท์คือพิธี Jengu ให้ผู้เข้าร่วมดำผุดดำว่ายใต้น้ำ เสมือนเยี่ยมเยือนอาณาจักรใต้ทะเล Miengu (หรือ Jengu) ทำความเคารพเทพเจ้าแห่งสายน้ำ
ระหว่างร้อยเรียงฟุตเทจเทศกาลแห่งสายน้ำ Ngondo Festival จะมีการแทรกคั่นภาพความทรงจำ (ในลักษณะ ‘Flash’ back ปรากฎขึ้นไม่กี่วินาที) พบเห็นหนุ่มสาว Ngando และ Ndomé กำลังเล่นน้ำ วิ่งไล่จับ เกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนาน แต่ช่วงเวลาดังกล่าวกลับเงียบงัน ไร้เสียงเพลง และเสียงประกอบใดๆ (Sound Effect) เหมือนต้องการสื่อถึงความทรงจำกำลังเลือนหาย สูญเสียไป ไม่มีทางที่ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นจะหวนกลับมา
สิบห้านาทีแรกสำหรับผู้ชมมือใหม่ อาจดูไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แนะนำให้รับชมไปจนจบก่อนแล้วค่อยหวนกลับมาอีกรอบ จะพบเห็นว่าตลอดช่วงเทศกาล Ngondo Festival บ่อยครั้งจะแทรกภาพ Ngando พยายามออกติดตามหาหญิงคนรัก Ndomé มีทักคนผิดด้วยนะ ซึ่งวินาทีที่ได้พบเจอกัน สังเกตว่าภาพจะเริ่มจากเบลอๆ ก่อนคมชัดขึ้นเรื่อยๆ สามารถเทียบแทนมุมมอง ความรู้สึกของฝ่ายชาย ครุ่นคิดถึง ห่วงโหยหา น้ำตาเกือบหลั่งไหล โชคชะตาทำให้เราสองไม่สามารถครองคู่รักกัน
ชุดของ Ndomé ถ้าผมหาข้อมูลไม่ผิดน่าจะคือ Kaba Ngondo ชุดประจำชาติพันธุ์ Sawa ที่อาศัยอยู่ทางตอนกลาง และตะวันตกเฉียงใต้ของ Cameroon สังเกตลวดลายดูเหมือนนก แต่มันเหมือนติดตาข่าย อยู่ในกรง ไม่สามารถโบยบิน ดิ้นหลบหนี แฝงนัยยะถึงตัวละครได้อย่างตรงไปตรงมา
ตลอดซีเควนซ์ที่ Ngando นำพาแฟนสาว Ndomé มาแนะนำตัวกับมารดา (และเมียลุงทั้งหลาย) สังเกตว่าจะได้ยินแต่เสียงเครื่องกระทบ (ฟังเหมือนเสียงระนาด) ไร้บทสนทนาและ Sound Effect แต่แค่เพียงภาพพบเห็น อากัปกิริยาภาษากาย ผู้ชมก็สามารถทำความเข้าใจเรื่องราวบังเกิดขึ้นทั้งหมด … เป็นฉากที่เรียบง่าย งดงาม สร้างรอยยิ้มเล็กๆได้อย่างน่าประทับใจ
แรกพบเจอระหว่างลุง Mbongo กับ Ndomé สังเกตว่ากล้องมีการซูมเข้าหาใบหน้า(ของลุง) จับจ้องหญิงสาวในลักษณะ ‘male gaze’ มองทรวดทรงองค์เอว โคลสอัพเนื้อหนังมังสา สั่งให้หมุนโชว์ตัว แล้วลวนลามแต๊ะอั๋ง หลังจากนี้จึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ
Ngando ใช้เวลาว่างที่ไม่ได้ทำประมง ล่าสัตว์ ในการตัดต้นไม้ นำฟืนไปขาย เก็บหอมรอมริด เพื่อสักวันหนึ่งจะได้นำมาเป็นสินสอดทองหมั้นสู่ขอ Ndomé แต่ผมรู้สึกว่าเสียงขวานจามลงบนไม้มันช่างดังกึกก้องกังวาล จนราวกับการสำแดง Expressionist อยากจะกรีดร้อง ระบายอารมณ์อัดอั้น ถึงความทุกข์ทรมานที่ยังไม่สามารถแต่งงาน ครองรักกับแฟนสาว เพราะขนบวิถี ประเพณีวัฒนธรรม คือสิ่งควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้เขาต้องปฏิบัติตามค่านิยมสังคม
หลังจาก Ndomé รับรู้ตนเองว่าคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแต่งงานกับลุง Mbongo เลยตัดสินใจยินยอมเสียความบริสุทธิ์ให้กับ Ngando โดยสถานที่ที่พวกเขาร่วมรักกันนั้นคือบริเวณเนินทราย …ชวนให้นึกถึงโคตรภาพยนตร์ Woman in the Dunes (1964) ขึ้นมาโดยพลัน
ใครเคยรับชม Woman in the Dunes (1964) จักสามารถตีความหมายของ ทราย (Sand/Dune) ถึงสัญลักษณ์ทางเพศ (Sexuality) ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วเย้า เร้าอารมณ์ แรงดึงดูด (เหมือนทรายดูด) ที่พร้อมทำลายชีวิต จิตวิญญาณ มีความอ่อนไหว (เหมือนปราสาททราย) ก่อง่าย พังไว ไร้ความมั่นคง ไม่มีใครสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลง
ระหว่างที่ Ndomé ถูกห้อมล้อมโดยพรรคพวกของลุง Mbongo เพื่อจับพาตัวไปเป็นเจ้าสาว เข้าพิธีแต่งงาน มีการตัดสลับคู่ขนานกับ Ngando กำลังตัดต้นไม้ใหญ่อย่างไม่รู้เรื่องอะไร ว่ากำลังจะสูญเสียเธอไปชั่วนิรันดร์ … ต้นไม้ที่ถูกโค่นล้ม = ความรักที่ล่มสลาย
ซึ่งเสียงตัดต้นไม้ ยังล้อรับกับเสียงรัวกลองในพิธีแต่งงาน (ขวานจามต้นไม้มีเพียงเสียงเดียว ไม่สามารถต่อต้านทานการรัวกลอง ร้องรำทำเพลงของชาวบ้านชาวช่อง) รวมถึงเสียงร่ำร้องไห้ (น่าจะของ Ndomé) ได้ยินแล้วรู้สึกเจ็บปวด อัดอั้น อยากจะกรีดร้องลั่น
Ndomé เมื่อกลับมาถึงบ้านพบเห็นการร้องรำทำเพลง ก็คาดเดาไม่ยากว่าคงเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เดินกลับเข้าห้อง ทิ้งตัวลงนอน ร่ำร้องไห้ จินตนาการเห็นภาพต้นไม้ใหญ่ (แม้จะไม่ใช่ต้นเดียวกับที่เพิ่งโค่นล้ม แต่แฝงนัยยะเดียวกัน = ความรักที่ล่มสลาย) ซ้อนกับภาพลุง Mbongo กำลังข่มขืน ร่วมรักกับ Ndomé มันช่างเป็นภาพที่เจ็บปวด อัดอั้น อยากจะกรีดร้องลั่น แต่ก็ไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไร
เรื่องวุ่นๆของการสวมใส่รองเท้า Ngando เป็นคนเริ่มต้นก่อน ระหว่างพยายามสวมใส่รองเท้าให้บุตรสาว สร้างความไม่พึงพอใจแก่ Mbongo เข้ามาถอดโยนทิ้ง แล้วหยิบเอารองเท้าที่ตนเองซื้อไว้มาให้สวมใส่ มีความหรูหรา ราคาแพงกว่า อวดอ้างอำนาจ บารมี แม้เด็กนี่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไข แต่ก็ถือเป็นลูกของฉัน
ผมว่ามันค่อนข้างชัดเจนที่ลุง Mbongo เป็นคนไม่มีน้ำยา ไร้ประสิทธิภาพทางเพศ (พูดง่ายๆก็คือเป็นหมัน) แต่เพราะสังคมแอฟริกันมีความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ บุรุษต้องมีเมียหลายคน ลูกหลายคน พฤติกรรมของลุงที่แสดงอาการหวาดระแวง Nagando แก่งแย่งภรรยา ปกป้องบุตรสาว ฯ ล้วนสะท้อนสภาพจิตใจอันอ่อนแอ ขาดความเชื่อมั่น กลัวการสูญเสียอำนาจบารมี
ตอนจบของหนังไม่มีคำอธิบายใดๆ เพียงร้อยเรียงภาพประกอบเพลง ตัดสลับระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ที่สามารถสะท้อนกันและกันในระดับครอบครัว-สังคม
- (อดีต) Ngando และ Ndomé ตัดสินใจจะหลบหนีจากหมู่บ้าน แต่ยังไม่ทันไปไหน ถูกพรรคพวกของลุง Mbongo ห้อมล้อม ดักซุ่มโจมตี กระทำร้ายร่างกาย แล้วฉุดกระชากหญิงสาวกลับบ้าน
- (ปัจจุบัน) Ngando หลังจากลักพาบุตรสาวหลบหนีไม่สำเร็จ ถูกฝูงชนห้อมล้อม ตำรวจจับกุมตัว ส่งตัวไปศาล พิจารณาคดีความ ได้รับการตัดสินพาเข้าเรือนจำ ติดคุกติดตาราง
ตัดต่อโดย Andrée Davanture สัญชาติฝรั่งเศส ที่มักตัดต่อภาพยนตร์จากแอฟริกา อาทิ Muna Moto (1975), Baara (1978), Yeelen (1987), Mossane (1996) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Ngando เริ่มต้น ณ จุดสิ้นสุด เทศกาลแห่งสายน้ำ Ngondo Festival พยายามหาโอกาสลักขโมย แย่งชิงบุตรสาวจาก Ndomé แต่พอถูกไล่ล่าติดตาม ต้อนจนมุม ไร้หนทางหลบหนี จึงเริ่มหวนระลึกความหลัง (Flashback) เมื่อครั้นเราสองเคยให้คำสัญญามั่น จะครองรักอยู่ร่วมกันตราบจนวันตาย
- อารัมบท
- ร้อยเรียงภาพเทศกาลแห่งสายน้ำ
- ตัดสลับกับ Ngando พยายามจับจ้องมองหา Ndomé
- จากนั้น Ngando ทำการแก่งแย่งบุตรสาวจากอ้อมอก Ndomé พยายามดิ้นหลบหนี แต่พอถูกต้อนจนมุมจึงเริ่มหวนระลึกอดีต
- (Flashback) เรื่องราวความรักระหว่าง Ngando และ Ndomé
- เสียงบรรยายของ Ngando เล่าถึงตนเอง ลุง Mbongo เหตุผลการแต่งงานมีบุตร
- Ngando นำพาแฟนสาว Ndomé มาแนะนำตัวกับมารดา
- แต่หลังจาก Ndomé พบเจอกับลุง Mbongo ตกเป็นที่หมายปอง
- Ngando ทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเป็นค่าสินสอดทองหมั้น
- (Flashback) ความรักหรือจะสู้เงินทอง
- ระหว่างที่ Ngando เข้าเมืองไปขายฟืน ซื้อของฝาก
- Mbongo เดินทางไปที่บ้าน ต่อรองกับบิดา Ndomé นำสินสอดแต่งงานมามอบให้
- Ndomé ยินยอมเสียตัวให้กับ Ngando จนเธอตั้งครรภ์
- Mbongo สั่งให้พรรคพวกรุมล้อม นำพาภรรยา Ndomé เข้าห้องหอ ตามด้วยงานเลี้ยงฉลองวันแต่งงาน
- (Flashback) บุตรของใคร?
- Ndomé คลอดบุตรสาวของ Ngando แต่ทว่าลุง/สามีเข้าใจว่าคือบุตรของตนเอง
- Ngando ซื้อรองเท้ามาให้บุตรสาวสวมใส่ แต่กลับสร้างความไม่พึงพอใจต่อลุง Mbongo
- Ngando ตัดสินใจเดินทางออกมาจากหมู่บ้าน Ndomé ต้องการร่วมไปด้วย แต่ถูกดักรอโดยพรรคพวกของลุง Mbongo
- ปัจฉิมบท, ย้อนกลับมาปัจจุบัน Ngando ไม่สามารถหลบหนีจากฝูงชน ถูกตำรวจจับกุม ชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ ติดคุกติดตาราง อนาคตเป็นเช่นไรไม่รู้เหมือนกัน
สิบห้านาทีแรกของหนัง อาจเป็นช่วงเวลาที่หลายคนเกาหัว กุมขมับ ดูไม่เข้าใจ ให้เวลากับเทศกาลแห่งสายน้ำ Ngondo Festival ยาวนานเกินไป! ผมแนะนำให้มองเป็นอารัมบท ชื่นชมความงดงามของประเพณี วัฒนธรรม คล้ายๆแบบ Citizen Kane (1942) ที่ก็หมดไปกว่าสิบนาทีกับการเกริ่นนำด้วยฟีล์มข่าว (Newsreel)
บางคนที่สามารถพานผ่านสิบห้านาทีแรกของหนัง อาจยังหงุดหงิดรำคาญใจกับการตัดสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ก็ไม่รู้จะวกกลับมาทำไมซ้ำๆ บ่อยครั้ง ดูไม่ค่อยมีความจำเป็นสักเท่าไหร่ … แต่ผมมองว่าเพื่อเป็นการเน้นย้ำกับผู้ชม ว่าเรื่องราวทั้งหมดคือการย้อนอดีต หวนระลึกความทรงจำ แนวคิดคล้ายแบบไตรภาคแอฟริกันของผกก. Claire Denis ล้วนมีลีลาการดำเนินเรื่องเหมือนกันแทบจะเป๊ะๆ
การดำเนินเรื่องในลักษณะเล่าย้อนอดีต (Flashback) สามารถสะท้อนแนวคิดของผกก. Dikongué Pipa มองภาพยนตร์คือสื่อแห่งความทรงจำ และอาจยังต้องการอ้างอิงถึงยุคสมัยอาณานิคม French Cameroon (1916-60) ที่แม้สิ้นสุดมากว่าทศวรรษ แต่หลายๆสิ่งอย่างยังคงส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบันนั้น (หรือที่เรียกว่าลัทธิอาณานิคมใหม่ Neo-Colonialism)
เครดิตเพลงประกอบขึ้นชื่อ A.G.A’STYL (คาดเดาว่าอาจคือวงดนตรีของ Georges Anderson นักกีตาร์/แต่งเพลงสัญชาติ Cameroonian) ตลอดช่วงเทศกาล Ngondo Festival รวมถึงพิธีแต่งงาน ดูตัวเจ้าสาว กิจกรรมที่ถือเป็นประเพณีท้องถิ่น โบร่ำราณ ล้วนเลือกใช้บทเพลงพื้นบ้าน เครื่องดนตรีท้องถิ่น (บางครั้งพบเห็นเล่นดนตรีสด แต่การบันทึกเสียงเป็นแบบ Post-Synchronization)
และหลายครั้งยังได้ยินกีตาร์ไฟฟ้า สไตล์เพลง Pop-Rock อาจฟังดูไม่ค่อยเข้ากับพื้นหลังของหนัง แต่สอดคล้องกับตัวตน คนรุ่นใหม่ มักได้ยินระหว่าง Ngando กำลังกระทำสิ่งผิดแผกแตกต่าง ขัดแย้งต่อขนบวิถี ประเพณีดั้งเดิม
สำหรับบทเพลงช่วงท้ายของหนังชื่อว่า Muna Tétè แต่ง/ขับร้องโดย Georges Anderson น่าเสียดายที่ผมหาคำแปลเนื้อเพลงไม่ได้ แต่การดีดกีตาร์ค่อยๆ ตีกลองเบาๆ ท่องทำนองผ่อนคลาย เบาสบาย คละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Soul, Folk Pop (ชวนนึกถึง Norah Jones) มันเลยคาดเดาไม่ยากว่าเนื้อร้องน่าจะออกไปทางเพื่อชีวิต ให้กำลังใจ เหตุการณ์ร้ายๆประเดี๋ยวก็ผ่านไป
ด้วยความที่หนังบันทึกเสียงภายหลังการถ่ายทำ (Post-Synchronization) ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก ทำให้เสียงสนทนามักไม่ตรงกับการขยับปาก ด้วยเหตุนี้จึงทำออกมาในลักษณะเสียงบรรยาย เล่าเรื่องความทรงจำเป็นส่วนใหญ่
ข้อจำกัดของการบันทึกเสียง ยังทำให้การเลือกใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) มีความโดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน สังเกตว่าเต็มไปด้วยเสียงธรรมชาติ จิ้งหรีดเรไร (แสดงถึงความป่าเถื่อน ดินแดนทุรกันดารห่างไกล) บางเสียงที่ควรได้ยินกลับเงียบหาย นั่นสร้างสัมผัสแปลกใหม่ ราวกับล่องลอยอยู่ในความเพ้อฝัน/ทรงจำ
มองอย่างผิวเผิน Muna Moto (1975) นำเสนอเรื่องราวความรักของคนหนุ่ม-สาว ที่ต้องเผชิญหน้ากับขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีที่ชาว Cameroonian ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน พยายามแสดงอารยะขัดขืน เผชิญหน้าต่อสู้ แต่สุดท้ายก็มิอาจเอาชนะ ยินยอมศิโรราบต่อโชคชะตากรรม … นักวิจารณ์หลายคนให้คำนิยาม “An African Romeo and Juliet”
ชื่อหนังภาษาอังกฤษ The Child of Another หรือ Somebody Else’s Child มันช่างมีความหมายอันลึกล้ำ ไม่ใช่แค่สื่อถึงบุตรสาวของ Ndomé ไม่ใช่ลูกของสามี (แต่คือบุตรของ Ngando ท้องก่อนแต่ง) ยังแฝงนัยยะถึงสิ่งของๆตนกลับกลายเป็นของคนอื่น ฟังดูคล้ายๆแนวคิดลัทธิอาณานิคม (Colonialism) พวกจักรวรรดินิยมเข้ายึดครอบครองผืนแผ่นดินแดนที่ไม่ใช่ของๆตนเอง
พฤติกรรมของลุง Mbongo ถือว่าไม่แตกต่างจากพวกจักรวรรดินิยม ลัทธิอาณานิคมเก่า-ใหม่ เพราะมีอำนาจ เงินทอง รวมถึงพวกพ้อง จึงทำการกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้หลานชาย และภรรยาทั้ง 4-5 ต้องก้มหัวศิโรราบ ตกเป็นเบี้ยล่าง ไม่สามารถต่อต้านขัดขืน ใช้เงินซื้อใจผู้อื่น … จริงๆต้องเหมารวมถึงขนบวิถี ประเพณีวัฒนธรรม ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้อำนาจแก่บุรุษ สร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ระบอบปิตาธิปไตย (Patriarchy)
Ngando และ Ndomé ต่างคือตัวแทนคนรุ่นใหม่ ในตอนแรกพยายามยึดถือปฏิบัติตามขนบวิถี ประเพณีวัฒนธรรม ตั้งใจทำงานหนัก เก็บหอมรอมริดสำหรับค่าสินสอดทองหมั้น และตั้งใจจะร่วมเพศสัมพันธ์หลังแต่งงาน! แต่หลังจากถูกกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้พวกเขาต้องแสดงอารยะขัด เสียความบริสุทธิ์ ท้องก่อนแต่ง วางแผนพากันหลบหนีออกไปจากสถานที่แห่งนี้ … การกระทำของทั้งสองไม่แตกต่างจาก นักปฏิวัติ
เทศกาลแห่งสายน้ำ Ngondo Festival ควรเป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษ (Ngando ต้องการทวงคืนบุตรสาว) แต่กลับกลายเป็นว่าก่อให้เกิดความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่าง หนุ่มสาวไม่สามารถครองคู่รัก และอาจต้องพลัดพรากจากกันชั่วนิรันดร์
ตอนจบของหนังอาจจะดูสิ้นหวัง เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ/หน่วยงานรัฐ ยังไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ Ngando ถูกจับ ติดคุก ไร้หนทางหลบหนี แต่ความตั้งใจของผกก. Dikongué Pipa คาดหวังให้ผู้ชม(โดยเฉพาะชาว Cameroonian)บังเกิดความตระหนักถึงวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง แล้วเกิดการเรียนรู้ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่ออนาคตลูกหลาน “AUCUN COMBAT Ñ’EST VAIN” แปลว่า NO COMBAT IS IN VAIN
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice (นอกสายการประกวด) ด้วยเสียงตอบรับดียอดเยี่ยม จึงมีโอกาสเดินทางไปฉายหลากหลายประเทศ น่าเสียดายที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ใน Cameroon ยังไม่ได้เฟื่องฟูมากนัก จึงถูกหลงลืม ทอดทิ้ง ไม่มีใครเห็นค่าความสำคัญ
จนกระทั่งหนังได้รับการบูรณะ 4K ในโครงการ African Film Heritage Project เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2021 ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Jean-Pierre Dikongué Pipa ซึ่งภายหลังการฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Marrakech International Film Festival (Morroco) ได้ให้สัมภาษณ์
You have not restored my film. You have restored me. … African cinema has a very bright future, if it could be allowed to blossom. Despite it all, African cinema keeps improving, and it will astonish the Western world.
Jean-Pierre Dikongué Pipa
สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Martin Scorsese’s World Cinema Project No. 4 ประกอบด้วย Prisioneros de la Tierra (1939), Two Girls on the Street (1939), Kalpana (1948), Sambizanga (1972), Muna Moto (1975), Chess of the Wind (1976)
ส่วนตัวมีความชื่นชอบ ประทับใจหนังอย่างมากๆ แม้ลีลาการกำกับของผกก. Dikongué Pipa จะติสต์ไปสักนิด แต่ก็ไม่ยากเกินเข้าใจ แถมรู้สึกเหมือนเรื่องราวมีความใกล้ตัวยังไงชอบกล (อาจเพราะบ้านเราก็ยังนิยมระบบสินสอดทองหมั้น) มันเลยเกิดความเจ็บปวด รวดร้าวทรวงใน หัวใจแตกสลาย
ฟากฝั่งอนุรักษ์นิยมคงเห็นพ้องกับเรื่องราว ประเพณีสินสอดทองหมั้น ถ้าคุณจะแต่งงานแต่กลับไม่มีเงินสักแดง แล้วจะดูแลคู่ครองได้เช่นไร? ตรงกันข้ามกับเสรีชน คนจะรักกันทำไมต้องไปกีดกัน ขวางกั้น สร้างข้อเรียกร้องโน่นนี่นั่น การบีบบังคับรังแต่จะสร้างความเจ็บปวด เศร้าโศกนาฎกรรม
จัดเรต 13+ กับสภาพทุรกันดาร การกดขี่ข่มเหง ความรุนแรง
Leave a Reply