Partie de campagne

Partie de campagne (1936) French : Jean Renoir ♥♥♥♥♡

ข้ออ้างล่าช้าเพราะฝนตก ทำให้ปรมาจารย์ผู้กำกับ Jean Renoir ไม่สามารถถ่ายทำ A Day in the Country ได้สำเร็จเสร็จสิ้น แต่ความงดงามเปรียบดั่งภาพวาด Impressionist โปรดิวเซอร์เลยนำออกฉายกลายเป็นหนังสั้น ได้รับการยกย่องสรรเสริญเหนือกาลเวลา

ให้ตายเถอะ! ผมไม่เข้าใจจริงๆว่าทำไม Jean Renoir ถึงได้ทอดทิ้งโปรเจคนี้ไป คือมันแตกต่างจาก Greed (1924) หรืออย่าง The Magnificent Ambersons (1942) ที่ผู้กำกับถ่ายทำเสร็จสิ้นแต่เป็นความชั่วร้ายของสตูดิโอ กระทำการตัดหั่นโน่นนี่นั่นจนเละเทะไม่เป็นชิ้นดี

แต่จะว่าไปถ้า Partie de campagne (1936) สร้างสำเร็จเสร็จสิ้น อาจไม่ได้รับการจดจำมากยิ่งเท่าฉบับค้างๆคาๆนี้ก็เป็นได้!


Jean Renoir (1894 – 1979) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montmartre, Paris ลูกชายคนรองของจิตรกรชื่อดัง Pierre-Auguste Renoir เติบโตขึ้นโดยการเลี้ยงดูของแม่เลี้ยง Gabrielle Renard ตั้งแต่เด็กพาเขาไปรับชมภาพยนตร์จนเกิดความชื่นชอบหลงใหล ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารม้า (French Cavalry) ถูกยิงที่ขาทำให้พิการ เลยเปลี่ยนมาเป็นนักขับเครื่องบินลาดตระเวน ระหว่างพักรักษาตัวเลยมีโอกาสนั่งดูหนังซ้ำแล้วซ้ำอีกของ Charlie Chaplin, D. W. Griffith, Erich von Stroheim นำเงินจากการขายภาพวาดของพ่อมาซื้อกล้อง ถ่ายทำหนังเงียบจนมีโอกาสได้นำออกฉาย เริ่มประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจาก La chienne (1931), Boudu Saved From Drowning (1932), Le Crime de Monsieur Lange (1935), โด่งดับระดับนานาชาติครั้งแรกกับ La Grande Illusion (1937), และกลายเป็นตำนานเรื่อง La Règle du Jeu (1939)

Partie de campagne ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Une partie de campagne/A part of Countryside (1881) แต่งโดย Guy de Maupassant (1850 – 1893) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ที่เป็นเพื่อนสนิทของพ่อผู้กำกับ Pierre-Auguste Renoir

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่เรื่องสั้นนี้ Maupassant อาจได้แรงบันดาลใจจาก Pierre-Auguste Renoir เพราะสองหนุ่มต่างมีลักษณะนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม (Maupassant กับ Renoir ก็เฉกเช่นกัน)

“two men [who] were friendly enough but frankly admitted they had nothing in common. [Maupassant] always looks on the dark side while [Pierre-Auguste Renoir] always looks on the bright side”.

– Jean Renoir

Monsieur Dufour (รับบทโดย André Gabriello) เจ้าของกิจการร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กรุงปารีส ร่วมกับครอบครัวออกเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนยังชนบทห่างไกล แวะพักรับประทานอาหารกลางวันยังร้านของ Poulain (รับบทโดย Jean Renoir) ซึ่งมีชายหนุ่มสองคน Henri (รับบทโดย Georges D’Arnoux) และ Rodolphe (รับบทโดย Jacques B. Brunius) ต่างกำลังสนใจ Madame Dufour (รับบทโดย Jane Marken) และลูกสาวสุดสวย Henriette (รับบทโดย Sylvia Bataille) พวกเขาเลยวางแผนเกี้ยวพาราสี นำพาพวกเธอให้ แยกจากครอบครัว ไปล่องเรือและฟังเสียงร้องขับขานของนกไนติงเกล


Sylvia Bataille ชื่อเกิด Sylvia Maklès (1908 – 1993) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เชื้อสาย Romanian-Jewish โตขึ้นได้เป็นลูกศิษย์ของ Charles Dullin เข้าร่วมคณะ Groupe Octobre ที่มีผู้กำกับคือ Jacques Prévert, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Faceless Voice (1933), Topaze (1936), บทบาทได้รับการจดจำสูงสุดคือ Partie de campagne (1936)

รับบท Henriette สาวน้อยร่างเล็ก เต็มไปด้วยรอยยิ้มร่าเริงสดใส ลุ่มหลงใหลทุกสิ่งอย่างในชนบทแห่งนี้ ราวกับว่าเมื่อตอนอาศัยอยู่ในเมืองหลวง มีชีวิตไม่ต่างจากนกในกรงขัง เมื่อมีโอกาสก้าวย่างออกมาเลยโบกโบยบิน โหยหาอิสระเสรีอย่างสุขสำราญเต็มที่

ผู้กำกับ Renoir ใช้การคัดเลือกหานักแสดงเพื่อรับบทนี้ และได้ค้นพบ Sylvia Bataille แม้เข้าวงการมาสักพักแต่ก็ไม่ค่อยมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ซึ่งเธอก็หมายมั่นปั้นมือทุ่มเทกายใจอย่างเต็มที แต่พอโปรเจคถูกทอดทิ้งกลางคันทำเอาชีวิตแทบไปต่อไม่ถูก! แถมการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกสิ่งอย่างสะสมมาก็ค่อยๆเลือนลางจางหาย จนสุดท้ายต้องออกจากวงการไม่หวนกลับมา

ตัวจริงของ Bataille หาได้น่ารักบริสุทธิ์แบบในหนังเลยนะครับ เธอแต่งงานตั้งแต่อายุ 20 คลอดบุตรสาว หย่าร้างสามีตั้งแต่ปี 1934 บทบาทเรื่องนี้ถือเป็นการ ‘สร้างภาพ’ ปรุงปั้นแต่งให้ตนเองยังดูเด็ก อ่อนเยาว์ ไร้เดียงสา ระริกระรี้ทั้งท่วงทาทาง สายตา พยายามเล่นตัวแต่ก็พอดูออกว่าโหยหาต้องการ … ไฮไลท์การแสดงคือปีถัดไปหวนกลับมาพบเจอ จากเคยยิ้มแย้มสดใสกลายเป็นอมทุกข์เศร้าโศก โลกความจริงมันช่างเหี้ยมโหดร้ายทารุณแสนสาหัส


Jane Marken ชื่อจริง Jeanne Berthe Adolphine Crabbe (1895 – 1976) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เข้าสู่วงการตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ตัวประกอบภาพยนตร์ของ Abel Gance แต่กว่าจะเริ่มมีชื่อเสียงก็ยุคหนังพูด ผลงานเด่นๆ อาทิ La dame aux camélias (1934), Hotel du Nord (1938), Les Enfants du Paradis (1945), And God Created Woman (1956) ฯ

รับบท Madame Dufour สาวใหญ่ฝีปากกล้า เฉกเช่นเดียวกับลูกสาว Henriette มีความระริกระรี้ ขี้เล่นตัวแต่เร่าร้อนโหยหา พยายามยั่วสวาทสามี แต่คาดว่าคงหมดน้ำยาตีปี๊ปไม่ดังมานมนานกาเล เลยปล่อยตัวปล่อยใจให้หนุ่มๆสุดหล่อหนวดเฟี้ยวพาเธอไป ความสุขเล็กๆบนสรวงสวรรค์ชนบท

ที่ต้องชมเลยคือคารมสนทนาของ Marken เต็มไปด้วยลีลา สองแง่สองง่าม สอดคล้องรับกับการแสดงสีหน้า เล่นหูเล่นตา ส่งความร่านสวาท ยั่วเย้ายวนใจ แม้เรือนร่างเชฟบ๊ะอาจไม่ถูกโฉลกใครต่อใคร แต่สำหรับบางคนคารมเป็นต่อรูปสวยเป็นรอง (ล้อกับ คารมเป็นต่อรูปหล่อเป็นรอง) เรื่องแบบนี้อยู่ที่สายน้ำจะเคลื่อนไหลพาไป ไม่มีใครสามารถควบคุมกำหนดทิศทางได้


Georges Darnoux หรือ Georges Saint-Saens (1907 – 1955) นักแสดง/นักแข่งรถ สัญชาติฝรั่งเศส เพื่อนสนิทของผู้กำกับ Jean Renoir ชักชวนมาร่วมงานทั้งเบื้องหน้า/เบื้องหลัง ตั้งแต่ Boudu Saved from Drowning (1932), Chotard and Company (1933), Toni (1935), The Crime of Monsieur Lange (1936), ได้รับการจดจำสูงสุดก็ Partie de campagne (1936)

รับบท Henri เป็นคนพูดน้อยแต่จริงจัง ไม่ชอบทำอะไรเล่นๆ ครึ่งๆกลางๆ เมื่อตกหลุมรักใครเข้าแล้วก็พร้อมทุ่มเทเสียสละ ถึงขั้นครองคู่อยู่กินแต่งงาน ทีแรกหมายปอง Madame Dufour แต่ชีวิตจับพลัดจับพลูให้ต้องชะตากับ Henriette (ชื่อเดียวกันด้วยนะ!) ไม่อยากเกินเลยกลับมิอาจอดรนทนฝืนความต้องการตนเอง หนึ่งปีให้หลังเมื่อหวนกลับมาพบเจอจึงเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวระทม

ภาพลักษณ์ของ Darnoux ดูหล่ออยู่กระมัง (แต่ผมว่าเฉยๆ) สายตาอ่อนโยน น้ำเสียงนุ่มๆ กิริยามารยาทผู้ดี คงคือเสน่ห์ที่ให้สาวๆตกหลุมหลงใหล … แต่ลึกๆผมว่าความพยายามขัดขืนใจหญิงสาว มันดูหลุดบุคลิกตัวละครไปสักหน่อย และความสัมพันธ์รักโรแมนติกทั้งคู่ ยังไม่เพียงพอให้การกระโดดข้ามปีถัดไป ผู้ชมเจ็บปวดรวดร้าวกับการสูญเสีย (คือจะตกตะลึง คาดไม่ถึงเสียมากกว่ากับสิ่งที่เกิดขึ้น)


Jacques B. Brunius ชื่อเกิด Jacques Henri Cottance (1906 – 1967) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่กรุงปารีส โตขึ้นเริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Luis Buñuel เรื่อง L’Âge d’or (1930), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Crime of Monsieur Lange (1936), Partie de campagne (1936) ฯ

รับบท Rodolphe หนุ่มเพลย์บอยผู้หลงใหลในการไว้หนวดเครา หลงใหลในความงามเร้าใจของ Henriette แต่จับพลัดจับพลูได้มาคือ Madame Dufour พูดคุยหยอกล้อเล่นอย่างสนุกสนาน ซึ่งต่างก็ไม่ได้ครุ่นคิดอะไรจริงจังเกินเลยเถิด ด้วยอุดมการณ์เป้าหมายชีวิตก็แค่นี้ ไม่ได้ต้องการมีอะไรไปมากกว่า

ภาพลักษณ์เพลย์บอยของ Brunius พบเห็นรับรู้ได้ทันที แถมยังลีลาคารม พูดจารับส่ง Madame Dufour ได้อย่างกับเป็นคู่ชีวี แม้เริ่มต้นมิได้ชื่นชอบแต่โชคชะตานำพามาทางนี้ก็ไม่จำเป็นต้องขัดขืนย้อนแย้ง


ถ่ายภาพโดย Claude Renoir (1913 – 1993) หลานของ Jean Renoir ผลงานเด่นๆ อาทิ Toni (1935), Monsieur Vincent (1947), The River (1951), Cleopatra (1963), Barbarella (1968), The Spy Who Loved Me (1977) ฯ

สถานที่ถ่ายทำคือ ริมฝั่งแม่น้ำ Loing ณ เมือง Bourron-Marlotte, Seine-et-Marne ทางตอนใต้ของกรุงปารีส

ผู้กำกับ Renoir ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้โดยใช้แสงจากธรรมชาติทั้งหมด (ถือเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจให้ Italian Neorealist) ซึ่งก็ยังได้ใช้ประโยชน์จากสถานที่ ร้อยเรียงภาพสายน้ำไหลเอื่อย สองฟากฝั่งลำธาร ท้องฟ้ามืดครึม หยาดฝนตกพรำ ฯ ให้สัมผัสเหมือนบทกวีพรรณาความสวยงามของชนบทต่างจังหวัด

นอกจากนี้ยังมีการทดลองมุมกล้องแปลกตา เทคนิคใหม่ล้ำ อาทิ
– Deep-Focus (แต่จะไม่เหมือนที่ Hollywod ใช้กับ Citizen Kane นะครับ) สองหนุ่มเปิดหน้าต่าง พบเห็นสาวๆกำลังโยกแล่นชิงช้า
– ผูกติดกล้องกับชิงช้า จับจ้องใบหน้า Henriette ขณะกำลังโยกแกว่งไกว
– ถ่ายจากบนเรือเห็นตัวละครอยู่บนฝั่ง, หรือเคลื่อนติดตามขณะพายล่องเรือ
– สี่ตัวละครนั่งอยู่ (ไล่เรียงคือ Henri, Rodolphe, Henriette, Madame Dufour) แต่กล้องกลับถ่ายเพียงสามตัวละคร แล้วใช้การแพนนิ่งสลับไปมา เพื่อสะท้อนคู่ความสนใจจริงๆซึ่งนั่งสับหว่างกัน Henri-Henriette และ Rodolphe-Madame Dufour
ฯลฯ

งานภาพของหนังแม้เต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อล่องลอย เคลิบเคลิ้มเหมือนฝัน แต่ 5 นาทีสุดท้ายนั้น เมื่อฝนเริ่มตก และมีการกระโดดเรื่องราวข้ามปีถัดไปนั้น ทุกสิ่งอย่างจะดูมืดครึม อึมครึม หวนกลับสู่โลกความเป็นจริงอันเหี้ยมโหดร้าย

เกร็ด: ผู้ช่วยผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ประกอบด้วย Jacques Becker และ Luchino Visconti

ตัดต่อโดย Marinette Cadix และ Marguerite Renoir (ภรรยาของผู้กำกับ)

หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหนึ่งใด แต่พยายามไกล่เกลี่ย 4-6 ตัวละครหลัก (ครอบครัวของ Monsieur Dufour และสองหนุ่ม Henri, Rodolphe) ให้มีปริมาณถัวเฉลี่ยกันไป โดยมักตัดสลับเรื่องราว เปรียบเทียบการกระทำ จีบสาว = ตกปลา ซึ่งจะมีสองตัวละครที่ใคร่สนใจการตกปลาจริงๆ

เพลงประกอบโดย Joseph Kosma (1905 – 1969) สัญชาติ Hungarian อพยพย้ายสู่ฝรั่งเศสปี 1933 มีโอกาสรู้จักกับนักเขียน Jacques Prévert และกลายเป็นขาประจำของผู้กำกับ Jean Renoir

งานเพลงคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอาย Impressionist ที่จะทำให้ผู้ชมเกิดรอยยิ้มแฉ่งขึ้นที่ใบหน้า เพลิดเพลิน สุขเกษมสำราญ ดื่มด่ำไปกับความงดงามของเรื่องราว ตัวละคร ชนบทดั่งสรวงสวรรค์ และเรื่องราวรักโรแมนติกหวานฉ่ำ


“When painters went out to the countryside round Paris in the 1870s, they would have known they were choosing, or accepting, a place it was easy (almost conventional) to find a bit absurd.”

– นักประวัติศาสตร์ T. J. Clark

ทีแรกผมครุ่นคิดว่า หนังเพียงนำเสนอความงดงามสุดฟินของชนบทต่างจังหวัด ผืนแผ่นดินแดนที่(ยุคสมัยเก่าก่อนนั้น)ผู้คนยังพึ่งพาอาศัยอยู่กับธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งเมื่อคนเมืองได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวพักผ่อนคลาย ราวกับได้พบเจอสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า ช่างเต็มไปด้วยความสนุกสนานเกษมสำราญ

แต่เมื่อค้นหาบทวิจารณ์อ่าน ก็ค้นพบว่าเรื่องราวของหนังสะท้อนสิ่งที่ศิลปินยุคสมัย Impressionism และ Post-Impressionism อาทิ Claude Monet, Pierre-Auguste Renoir, Alfred Sisley, Paul Gauguin, Vincent van Gogh ฯ ต่างออกเดินทางสู่ชนบท เพื่อแสวงหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

เพราะชนบทคือสถานที่แห่งความประทับใจ ‘Impressionist’ เมื่อศิลปินเหล่านั้นสรรค์สร้างผลงาน นำความงดงามของผืนธรรมชาติไปเผยแพร่ให้ชุมชนชาวเมือง ราวกับเป็นการเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ ก่อเกิดความโหยหาเพ้อใฝ่ฝัน พฤติกรรมแสดงออกไม่ต่างจากครอบครัว Monsieur Dufour โดนเฉพาะหญิงสาวที่ยุคสมัยนั้นยังคงมีสภาพดั่ง ‘นกในกรง’ จินตนาการตัวเองว่าสามารถโผลบิน ออกไปยังดินแดนแห่งอิสระเสรีภาพนั้น

แต่ชีวิตใช่ว่าทุกคนจักสามารถดำเนินเดินตามล่องรอยความเพ้อฝันนั้น เมื่อวันหนึ่งในชนบทจบสิ้นลง ก็ต้องตื่นขึ้นพบกับโลกความจริง หญิงสาวไม่อาจหลีกเลี่ยงการแต่งงาน พ่อจับคลุมถุงชนครองคู่กับชายไม่ได้ชอบพอรักใคร่ ถูกครอบงำความคิดอ่านด้วยชนชั้น ฐานะ ทัศนคติคนเมือง และผู้ชายเป็นใหญ่ ยังอีกยาวไกลกว่าทศวรรษแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมจะก้าวย่างมาถึง


ช่วงทศวรรษนั้น Jean Renoir เป็นผู้กำกับที่มีคิวงานแน่นรัดตัวมากกก ถ้าทุกอย่างดำเนินไปตามแผนการ เสร็จจากหนังเรื่องนี้ก็จะต่อด้วย The Lower Depths (1936) โดยทันที! แต่เพราะถ่ายทำยังชนบทห่างไกล ไม่สามารถควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนตกกระแสน้ำเชี่ยวกราก ล่าช้าเสียเวลาจนรับรู้ว่าคงไม่ทันตามกำหนดเดิมแน่ๆ เลยล้มละเลิกความตั้งใจเดินทางกลับกรุงปารีส คาดหวังว่าสักวันถ้ามีเวลาเหลือก็อาจหวนย้อนกลับมา…

แต่ไม่กี่ปีถัดจากนั้นสงครามโลกครั้งที่สองก็มาถึง นักแสดงหนุ่มๆสาวๆก็เติบโตเจริญวัย สถานที่ถ่ายทำได้รับผลกระทบปรับเปลี่ยนแปลงไปแทบจดจำไม่ได้ สิบปีเคลื่อนผ่านไปก็เกินเลยเวลาถ่ายทำอะไรเพิ่มเติม แถมผู้กำกับ Jean Renoir กำลังโกอินเตอร์อยู่สหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้โปรดิวเซอร์ Pierre Braunberger เลยนำฟุตเทจทั้งหมดรวบรวมออกฉายปี 1946 เท่าไหนเท่านั้นดีกว่าเก็บขึ้นหิ้ง ทอดทิ้งปล่อยไว้เฉยๆ

เมื่อตอนออกฉายปรากฎว่าได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม แม้เรื่องราวจะดูห้วนๆแต่เนื้อหาถือว่าครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ไฮไลท์คือฉากโรแมนติกเลิฟซีน มีความงดงามที่ทำให้ผู้ชมอมยิ้มหวาน อิ่มเอิบสุขสำราญใจ

“the love scene on the island is one of the most atrocious and beautiful moments of universal cinema”.

– André Bazin

ถึงหนังจะดูล่องลอยเพ้อฝัน แต่รอยยิ้มปรากฎบนใบหน้าตลอดการรับชมนั้น ทำให้ผมตระหนักถึงความประทับใจ ‘Impressionist’ ลุ่มหลงใหลตราตรึง ทึ่งไปกับความงาม อร่ามตระการตา คุ้มค่าทุกเสี้ยววินาที โดยเฉพาะการแสดงของ Sylvia Bataille และบทเพลงประกอบของ Joseph Kosma อิ่มหนำจนไม่อยากดื่มด่ำอะไรอีก

น่าเสียดายที่สาระของหนังไม่มีอะไรเท่าไหร่ แนะนำคอหนัง Romance, Comedy ชื่นชอบงานศิลปะ Impressionist งานภาพสวยๆ เพลงไพเราะ, แฟนๆผู้กำกับ Jean Renoir และบทบาทที่ควรแจ้งเกิดนักแสดง Sylvia Bataille ไม่ควรพลาด!

จัดเรตทั่วไป

คำโปรย | แม้ผู้กำกับ Jean Renoir จะสร้าง Partie de campagne ไม่ทำสำเร็จ แต่ก็งดงามเพียงพอให้เกิดความประทับใจ สุดฟินอิ่มหนำสุขสำราญกายใจ
คุณภาพ | ทั
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: