Shoah

Shoah (1985) French : Claude Lanzmann ♠♠♠♠♠

สารคดีความยาว 9 ชั่วโมงครึ่งเรื่องนี้ ได้รับการยกย่องถึงความยิ่งใหญ่ทรงพลัง และมีความเป็น ‘มนุษยธรรม’ ที่สุดในโลก ทั้งๆก็ไม่มีอะไรไปมากกว่าบทสัมภาษณ์ และภาพ Montage จากสถานที่จริง เมื่อครั้นชาวยิวถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยทหารนาซี แต่คือภาพความทรงจำอันชั่วร้ายที่มิอาจลบลืมเลือน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

สักครั้งหนึ่งในชีวิต หาเวลาว่างๆสัก 2-3-4 วัน หรือเช้าจรดเย็น เตรียมตัวกายใจไว้ให้พร้อม เป็นประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ที่ใช้มากยิ่งกว่าความอดทน คือต้องใจรักจริงๆเท่านั้นถึงสามารถนั่งดูสารคดีเรื่องนี้จบลงได้ แต่ทุกวินาทีลมหายใจของหนังมีความคุ้มค่า ทุ่มเทเสียสละของผู้กำกับ Claude Lanzmann และจิตวิญญาณของชาวยิว บันทึกเป็นประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำ ยิ่งใหญ่สมคำ Masterpiece

ผมมีความทุกข์ทรมานกับหนังเรื่องนี้มาก แต่ไม่ใช่เนื้อหาเรื่องราว คือความง่วงหงาวหาวนอน สัปหงกหลับไปไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ แต่ตรงไหนที่เผลอพลั้งพลาดไป ตื่นขึ้นมาคืนสติก็จักหวนย้อนกลับไปทำความเข้าใจตรงนั้นใหม่ให้ได้ทั้งหมด … จริงๆไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น ข้ามๆไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณเกิดความอยากรู้อยากเห็นอยากเข้าใจ แนะนำว่าอย่าเสียสมาธิสักวินาทีเดียวเลยนะ เพราะบทสัมภาษณ์หนึ่งประโยคมันสะท้อนอะไรๆออกมาได้มากมายเต็มไปหมด

Shoah ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่นำเสนอภาพความตายของชาวยิว อันทำให้คุณอ๊วกแตกอ๊วกแตนขยะแขยงรับไม่ได้ ถ้าอยากเห็นภาพเช่นนั้น ไปหาสารคดี Masterpiece อีกเรื่อง Night and Fog (1956) ของผู้กำกับ Alain Resnais มารับชมดูเองนะครับ, สำหรับเรื่องนี้การันตีว่ารอดปลอดจากภาพอันตรายโหดร้าย กระนั้นก็ไม่แน่ว่าแค่บทสัมภาษณ์ของผู้รอดชีวิตขณะบรรยายสิ่งต่างๆที่เคยเกิดขึ้น จะไม่ทำให้คุณคลื่นไส้ปั่นป่วนวิงเวียนลมจับ และถ้าใครมีจิตสัมผัสคงรับรู้ได้ ว่าวิญญาณของชาวยิวทั้งหลายในสถานที่ต่างๆเหล่านั้น ยังคงว่ายวนเวียน จมปลักอย่างน้อยก็ชั่วกัปชั่วกัลป์นี้ไม่ได้ไปผุดไปเกิดอย่างแน่นอน

Claude Lanzmann (เกิดปี 1925) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวเชื้อสาว Jews ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาศัยอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ พออายุ 17 เข้าร่วมกลุ่ม French Resistance ต่อสู้เพื่อปลดแอกฝรั่งเศสจากการยึดครองของ German ทำให้เขาพบเห็นความชั่วร้ายกาจของสงคราม เมื่อเอาตัวรอดผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ กลายเป็นหนึ่งในผู้นำต่อต้านสงครามทุกรูปแบบ

Lanzmann เป็นนักเขียน และเคยเป็นบรรณาธิการให้นิตยสาร Les Temps modernes (แปลว่า Modern Times, ตั้งชื่อตามหนังของ Charlie Chaplin) ซึ่งเริ่มตีพิมพ์หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 [วางขายฉบับแรกเดือนตุลาคม 1945] โด่งดังสูงสุดในช่วง Algerian War (1954-1962) มีจุดยืนสนับสนุน National Liberation Front ของฝ่าย Algerian ต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสที่ใช้อำนาจในทางสงครามมิชอบ ซึ่ง Lanzmann ถือเป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญในช่วงเวลานั้นเลย

หลังสงครามจบ Lanzmann เบี่ยงเบนความสนใจจากนักเขียนไปเป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สารคดี ผลงานเรื่องแรกคือ Pourquoi Israël (Israel, Why) (1973) สำรวจชีวิตของชาว Israel ผ่านมา 25 ปี นับตั้งแต่ 1948 หลังสหประชาชาติยินยอมรับการมีตัวตน ตั้งรัฐอิสราเอล (State of Israel) ให้ชาวยิวบนแผ่นดินปาเลสไตน์ ขับไล่ชาวอาหรับออกจากดินแดนแห่งนี้

ด้วยเสียงตอบรับดีล้นหลามของ Pourquoi Israël ทำให้ Alouph Hareven รัฐมนตรีต่างประเทศของ Israel เมื่อปี 1973 มีความสนใจอยากให้ Lanzmann สร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ Holocaust ในมุมมองของชาวยิว

“There is no film about the Shoah, no film that takes in what happened in all its magnitude, no film that shows it from our point of view,”

แม้ Lanzmann จะตอบรับทำ แต่เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป้าหมาย ผลลัพท์ กำลังจะทำอะไร? ไม่เคยคิดวางแผนการล่วงหน้า พาเพียงทีมงานไม่กี่คน โปรดิวเซอร์ ตากล้อง คนแปลภาษา ฯ ออกเดินทางสู่ประเทศ Poland ยังสถานที่ครั้นอดีตชาวยิวเคยถูกเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ใช้ความคับข้องสงสัยของตนเองเป็นแรงผลักดันดำเนินไปเรื่อยๆ เมื่อพบสิ่งน่าสนใจก็จะขยี้จี้เป็นจุดๆจนกว่าจะได้คำตอบที่น่าพึงพอใจ

“What’s the point? Everything is known, the final result is known: six million were killed. So, why the details? At times, I don’t even understand my method: what made me do it?”

วิธีการของผู้กำกับ เมื่อเดินทางถึงสถานที่แห่งหนึ่ง พบเจอคนควบคุมหัวจักรรถไฟ สอบถามเขาว่า ‘พาฉันไปที่ตั้งค่ายได้ไหม’ แน่นอนเขาพาไป ชี้ให้เห็นจุดนี้คืออะไร เคยมีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง เมื่อจินตนาการตามมันช่างเป็นภาพที่น่าหวาดกลัวขนหัวลุกเสียเหลือเกิน

“When I arrived at the non-places of memory, and I went to find an old train conductor at the Sobibor station, and asked him: ‘Show me. Show me where the camp began.’ He said, ‘Well, I’ll show you.’ We walked a few steps and he said, ‘Look. Here, there was a picket. Here, there was another one.’ And I see myself stepping over that line and saying to myself, ‘Here, I’m inside the camp.’ And I walked ten feet back: ‘Here, I’m outside the camp. On this side is life. On the other side, death.’ And that kind of extreme urgency that I had, to relive this, to cross that imaginary line, is something that, even today, remains unknown even to myself.”

ทำการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตชาวยิว, กลุ่มผู้ต่อต้านใต้ดิน, อดีตทหารมียศของ Nazi (หลายครั้งต้องใช้การแอบถ่าย**), และลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาว Poles ยังสถานที่จริง มันจะเสียเวลามากๆตรงที่ผู้กำกับให้เวลากับการแปลภาษา ซึ่งถ้าตัดออกหรือขึ้น Subtitle แทนจะสามารถร่นเวลาลงได้กว่าครึ่ง แต่คงเพราะต้องการให้เห็นสีหน้า ปฏิกิริยาของผู้ให้สัมภาษณ์ระหว่างรอการสนทนา และยิ่งช็อต Close-Up เห็นริ้วรอยตีนกา อารมณ์ความรู้สึก และหยาดหยดน้ำตา เวลาหัวข้อสนทนานั้นๆ ดึงนำอดีตที่ไม่อยากจดจำให้ต้องหวนระลึกคืนมา

เกร็ด: มีครั้งหนึ่งขณะลักลอบแอบถ่ายแล้วโดนจับได้ ทำให้ Lanzmann ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเดือนๆ แถมถูกตั้งข้อหาไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นสัญญาณความถี่ (unauthorized use of the German airwaves.)

เมื่อขณะไม่มีการสัมภาษณ์ จะถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ (เมื่อเวลา 30 กว่าปีผ่านไป) รถไฟ/รถตู้ ท้องถนน ธรรมชาติป่าไม้ และอุตสาหกรรมในเมือง ทั้งหมดนี้มีลักษณะเหมือน Montage เปรียบเทียบสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับอดีต เช่นว่า ขณะกำลังเล่าถึงขบวนรถไฟที่นำชาวยิวมาสู่ค่าย ก็จะเป็นภาพของรถไฟกำลังเคลื่อนเข้าหากล้อง, อดีตทหารเยอรมันชี้แผนที่ถึงตำแหน่ง ก็มักปรากฎภาพปรักหักพักของสถานที่จริง ฯ

บางครั้งมีการจัดฉากเล็กๆ (แต่ไม่ใช่หัวข้อสนทนา หรืออารมณ์ของผู้ให้สัมภาษณ์) เช่นว่า Simon Srebnik ร้องเพลงภาษา German ขณะล่องเรือในลำคลอง, หรือตอนยืนอยู่ท่ามกลางชาว Poles, Abraham Bomba ขณะกำลังตัดผม, รถไฟกำลังเคลื่อนแล่นเข้าสถานี ฯ

ด้วยความยาว Raw Footage ประมาณกว่า 350 ชั่วโมง ใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 6 ปี เดินทาง 14 ประเทศ และเรียบเรียงร้อยตัดต่ออีก 5 ปีเต็มๆ จัดแบ่งเรื่องราวออกเป็นกลุ่มๆ หมวดหมู่ อะไรที่ต่อเนื่องหรืออธิบายความหมาย เช่นคำว่า ‘Final Solution’ ก็จะเริ่มต้นจากสัมภาษณ์นักประวัติศาสตร์ เพื่อเรียนรู้จักที่มาที่ไป ความหมายของคำนี้ จากนั้นสัมภาษณ์อดีตทหารนาซี อธิบายสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นตามมาและผลกระทบตามมา

ใช่ว่าหนังความยาว 9 ชั่วโมง จะมีแต่การสัมภาษณ์ต่อเนื่องไม่รู้จักจบสิ้น ผมเรียกว่าช่วงเวลาของการพักหายใจ เมื่อหัวข้อเรื่องหนึ่งสนทนาจบสิ้นลงไป ก็จะมีภาพสถานที่ต่างๆ ธรรมชาติ/ในเมือง บางครั้งกล้องจะเคลื่อนไหลตามท้องถนนไปเรื่อยๆ ไร้ซึ่งเสียงสนทนาพูดคุยใดๆสักพักหนึ่ง ถือเป็นช่วงเวลาจังหวะผ่อนคลายความตึงเครียดเล็กๆ จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับประเด็นหนักๆเรื่องถัดไป

แม้ชื่อตอนจะมีเพียง First Era กับ Second Era (สะท้อนช่วงเวลา/วิวัฒนาการของ Death Camp ที่เริ่มจากช่วงง่ายๆ และกลายเป็นก้าวกระโดด) ถ้าคุณรับชมฉบับ Criterion จะมีการแบ่งออกเป็น 4 ส่วน (Blu-Ray 4 แผ่น)  สะท้อนถึงสองช่วงเวลา แต่เราสามารถจัดหมวดหมู่ได้เป็น 4 หัวข้อ
– เรื่องราวของค่าย Chełmno
– ค่าย Treblinka
– ค่าย Auschwitz กับ Birkenau
– และ Warsaw Ghetto

ไฮไลท์ของค่าย Chełmno คือสองผู้รอดชีวิต
– หนึ่งคือเด็กชาย Simon Srebnik ตอนอายุ 13 ปี ล่องเรือร้องเพลงภาษาเยอรมันเพื่อสร้างความบันเทิงผ่อนคลายให้ทหารนาซี แม้จะถูกยิงในช่วงล้างค่ายหลังพ่ายสงคราม แต่รอดชีวิตอย่างปาฏิหารย์ ได้ลี้ภัยสู่ Israel ยินยอมเดินทางกลับ Poland เพื่อเอาชนะก้าวผ่านอดีตของตนเอง
– อีกคนคือ Mordechaï Podchlebnik เป็นหนึ่งในสามชาวยิวที่สามารถหลบลี้หนีออกจากค่ายได้สำเร็จก่อนหน้าการล้างค่าย ตอนให้สัมภาษณ์ชอบยิ้มให้กล้อง แต่ลึกๆในใจยังคงทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส

สำหรับค่าย Treblinka มีสองการสัมภาษณ์ที่ไม่ธรรมดาเลย
– Abraham Bomba ช่างตัดผม เล่างานที่ตนทำในค่ายขณะกำลังตัดผมใครคนหนึ่ง แล้วมีเรื่องหนึ่งเผลอพลั่งหลุดปาก มิอาจทำใจเล่าได้อยู่พักใหญ่ แต่ถูกผู้กำกับโน้มน้าว จนในที่สุดท้ายก็ระบายพลั่งพรูออกมาด้วยคราบน้ำตา (นี่น่าจะเป็นช่วงได้รับการพูดถึงมากสุดของหนังแล้วละ)
– สัมภาษณ์ Corporal Franz Suchomel อดีต SS Officer ที่เคยทำงานใน Treblinka ไม่ได้รับอนุญาติให้ถ่ายทำ แต่ Lanzmann ก็หาทางแอบจนได้ ซึ่ง Suchomel เล่าถึงรายละเอียด Gas Chambers และวิธีการโดยละเอียด ด้วยน้ำเสียงแบบไม่รู้สำนึกผิดแม้แต่น้อย

เรื่องราวในค่าย Auschwitz เล่าโดย Rudolf Vrba เป็นหนึ่งในสองที่สามารถหลบหนีออกจากค่ายได้เมื่อเดือนเมษายน 1944 เขียนรายงานเหตุการณ์ Mass Murder ที่เกิดขึ้นที่นั่น อันเป็นเหตุให้มีการยุติส่งชาว Jews สัญชาติ Hungarian ไปที่ค่าย Auschwitz เมื่อเดือนกรกฎาคม 1944 ว่ากันว่าสามารถช่วยเหลือผู้คนให้รอดได้กว่า 200,000 ชีวิต

อีกคนคือ Filip Müller ที่ทำงานเป็นผู้สร้าง Gas Chamber และเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวจากการอยู่ข้างใน เกิดความสิ้นหวัง ตั้งใจว่าจะตายพร้อมกับครอบครัว แต่มีคนพูดกับเขาว่า

“So you want to die. But that’s senseless. Your death won’t give us back our lives. That’s no way. You must get out of here alive, you must bear witness to our suffering and to the injustice done to us.”

และสลัม Warsaw ghetto เล่าเรื่องโดย Jan Karski สมาชิกของกลุ่มใต้ดิน Polish ไม่ได้เป็นชาว Jews แต่คือตัวแทนผู้ส่งข่าว ได้รับการโน้มน้าวให้เข้าไปพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน Ghetto กับตาตัวเอง ก็ถึงกับอึ้งทึ่งพูดไม่ออก อธิบายว่านั่นไม่ใช่ ‘โลก’ ที่มนุษย์อาศัยอยู่ กลับมารายงานต่อฝ่ายพันธมิตร เพื่อกดดันให้พวกเขาเร่งผลักดันปฏิบัติการช่วยเหลือ ส่งกองทัพเข้าไปปลดแอกชาวยิว

สำหรับชายในโปสเตอร์ Henryk Gawkowski สัญชาติ Polish เป็นคนขับรถไฟจาก Malkinia, ตอนปี 1942 เขาอายุเพียง 20 ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างเครื่อง สามารถขับเคลื่อนหัวรถจักรได้ จำใจต้องทำตามคำสั่งทหารเยอรมัน เพราะถ้าไม่ทำตามจะถูกฆ่าหรือจับส่งค่ายกักกัน กลายเป็นคนขับรถไฟขนส่ง ประมาณการชาวยิว 18,000 คน ในขบวนที่เขาขับพาไปยัง Treblinka มาจากฝรั่งเศส, กรีซ, ฮอลแลนด์, ยูโกสโลวาเกีย ฯ ถ้าเลือกได้อยากฆ่า Hitler เองกับมือ

Gawkowski เป็นคนพาผู้กำกับ Lanzmann มาถึงสถานี Treblinka ชี้ให้เขาเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น หลังจากพูดคุยสนทนากันพักใหญ่ก็เป็นที่ชอบคอ เลยคิดนำภาพของเขามาทำเป็นโปสเตอร์ แทนสัญลักษณ์ของคนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด แม้มิได้เต็มใจและมีความเคียดแค้นฝังอก มองย้อนกลับไปก็มิอาจแก้ไขอะไรได้อยู่ดี

“He was different from the others. I have sympathy for him because he carries a truly open wound that does not heal.”

ก็ใช่ว่า Lanzmann สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสิ้นออกฉายแล้ว ฟุตเทจที่เหลือจะถูกทิ้งขว้างไม่ได้นำไปใช้ทำอะไร ในแผ่นของ Criterion ยังมีบทสัมภาษณ์เต็มๆของอีกหลายคน และ Outtake ตอนนี้ออกมา 4 เรื่องแล้ว
– A Visitor from the Living (1997) เรื่องราวของ Maurice Rossel ตัวแทนของ Red Cross ที่ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับ Theresienstadt
– Sobibor, October 14, 1943, 4 p.m. (2001) เรื่องราว Yehuda Lerner หนึ่งในกลุ่มใต้ดินต่อต้าน ที่สามารถหลบหนีเอาตัวรอดออกมาได้
– The Karski Report (2010) เรื่องราวของ Jan Karski หนึ่งในกลุ่มผู้ต่อต้านสัญชาติ Polish ที่มีโอกาสพบเจอ ปธน. Franklin Roosevelt เมื่อปี 1943
– The Last of the Unjust (2013) เรื่องราวของ Benjamin Murmelstein แรบไบที่เคยอาศัยอยู่ใน Theresienstadt

สิ่งที่โดยส่วนตัวรู้สึกทึ่งสุดในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คือความที่มันไม่มีอะไรเลย แค่บทพูดสนทนาและภาพ Montage แต่สามารถทำให้ผู้ชมเกิดภาพจินตนาการ ความเข้าใจ รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของชาวยิวเข้าไปถึงในระดับจิตวิญญาณ

สถานที่ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป ธรรมชาติก็คืนสภาพกลับสู่สภาวะปกติ ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจีราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หลงเหลือเพียงอดีตและความทรงจำสีเทาที่ยังคงเล่ากล่าวขาน Shoah คือสารคดีบันทึกประวัติศาสตร์ และจิตวิญญาณที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ

มักมีคนถามคำถาม Lanzmann

“What is your message?”

ทุกครั้งเขาจะเงียบไม่ตอบ แต่เคยเขียนอธิบายในหนังสือ The Patagonian Hare

“Each time I remained silent, I was incapable of answering such a question. I still am. There can be no message, no suddenly graspable formula, no definitive accounting. The film gives us a model of understanding not as an accomplishment but as an ongoing practice, throughout a lifetime.”

สิ่งที่ผมมองว่าคือใจความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่สารคดี ปัญหาการเมือง สงคราม หรือชวนเชื่อ แต่คือการกระทำที่เสมือนประจักษ์พยานของผู้กำกับ Claude Lanzmann ราวกับของขวัญอันทรงคุณค่า ที่ทำให้มนุษย์ประเสริฐแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ด้วยการบันทึกเรื่องราวแห่ง ‘ความหวัง’ บทเรียนความทรงจำให้คนรุ่นถัดๆไป รับรู้ซึมซาบซึ้งถึงทรวง ไม่ให้หวนย้อนกลับมาบังเกิดขึ้นบนโลกนี้อีกเลย

ผมใช้เวลาเกือบๆสามวันในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ (เสียเวลาไปมากกับการฟุบหลับ) พลาดอะไรไปก็ย้อนกลับดูทำความเข้าใจ ไม่ได้ใคร่อยากรับรู้รายละเอียดเล็กๆน้อยๆหรอกนะครับ แต่ชอบมองปฏิกิริยาของบรรดาผู้ให้สัมภาษณ์ สายตา อารมณ์ และการแสดงออก ใครจริงไม่จริง รู้สึกอย่างที่พูด ออกมาจากใจหรือเปล่า คือมันเห็นชัดเจนกับปฏิกิริยาภาษากาย โดยเฉพาะอดีตทหารเยอรมันที่ส่วนใหญ่เหมือนยังไม่รู้ตนเอง ว่าไอ้ที่เคยกระทำผ่านมามันเลวร้ายหนักแค่ไหน นี่ทำให้ผมมีความเพลิดเพลินใจในการรับชมจับผิดพวกเขาอย่างมาก ไม่รู้มาก่อนว่าการสัมภาษณ์ล้วงลึก จะทำให้เห็นตัวตน จิตวิญญาณของคนได้ถึงขนาดนี้

การมาถึงของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้มีคำเรียก Pre-Shoah และ Post-Shoah ทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว Shoah ได้กล่าวเล่าถึงจนหมดสิ้นแล้ว เรื่องต่อจากนี้ อย่าง Schindler’s List (1993), The Pianist (2002), Son of Saul (2015) ฯ ไม่ได้มีอะไรใหม่หลงเหลือพูดถึง แค่เล่าในมุมมองแตกต่างของผู้กำกับนั้นๆ และเข้าถึงผู้ชมรุ่นใหม่ได้ง่ายกว่า

เกร็ด: คำว่า Shoah ภาษา Hebrew ปรากฎในคัมภีร์ไบเบิล แปลว่า Calamity, หายนะ ภัยพิบัติ กลายเป็นคำเรียกที่ใช้แทน Holocaust สื่อความหมายถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีเยอรมัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สาระสำคัญของหนังไม่ใช่รายละเอียดที่ว่า ปริมาณชาวยิวเสียชีวิตเท่าไหร่?, ระยะห่างระหว่างสถานีรถไฟสู่ค่ายกี่เมตร?, เตาเผา Gas Chamber ทำงานอย่างไร? แต่คือการหาคุณค่าความหมายของสิ่งที่เรียกว่า ‘มนุษยธรรม’ และอดีตอันเลวร้ายที่ผ่านพ้นเป็นอดีตไปแล้ว ทำอย่างไรถึงกลายเป็นบทเรียนฝังลึกในความคิดทรงจำ ไม่ให้มันหวนย้อนกลับมาบังเกิดขึ้นอีกชั่วนิรันดร์

จัดเรต 18+ ทั้งๆที่ก็ไม่มีภาพความโหดเหี้ยมรุนแรง แต่เรื่องเล่าทั้งหลายมันโหดร้ายเกินจินตนาการ

TAGLINE | “Shoah คือสารคดีบันทึกประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณ ที่มองไม่เห็นด้วยตาแต่สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: