Swades

Swades (2004) Indian : Ashutosh Gowariker ♥♥♥♡

ภาพยนตร์ที่ปลุกกระแส ‘สำนึกรักบ้านเกิด’ ต่อให้ได้ทำงานระดับวิศวกร NASA เพื่อมวลมนุษย์ชาติ ก็ไม่ควรหันหลังให้กับชาติบ้านเกิด เมื่อเพียงพึงพอแก่ใจขอให้กลับมา พัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญยั่งยืน แม้เพียงส่วนเล็กๆน้อยๆก็ยังดี, โดยผู้กำกับ Lagaan (2001) นำแสดงโดย Shah Rukh Khan ในบทใกล้หัวใจเขาที่สุดแล้ว

ถ้าคุณเป็นชาวอินเดีย แนะนำว่าหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่ถ้าไม่ ก็ไม่ถึงขั้นจำเป็นขนาดนั้น

Swades แปลว่า Homeland, ถิ่นฐานบ้านเกิด คำนี้ตรงกับแนวคิดของ Swadeshi Movement เป็นหนึ่งในลัทธิ/การเคลื่อนไหว ของชาตินิยมอินเดีย ในช่วงที่สหราชอาณาจักรยึดครองเป็นประเทศเมืองขึ้น แนะนำโดย Mahatma Gandhi ใช้เป็นกลยุทธ์ต่อต้าน บอยคอร์ด ไม่ยอมรับทุกสิ่งอย่างที่เป็นของอังกฤษ และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ให้ปลดปล่อยประเทศเป็นอิสระ

เกร็ด: ในหนังจะมีกล่าวถึง Quit lndia Movement อยู่ด้วยนะครับ

Ashutosh Gowariker (เกิดปี 1964) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Kolhapur เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดง ตัวประกอบหนังเรื่อง Holi (1984) สนิทสนมกับ Aamir Khan ได้ร่วมงานกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะผลงานก่อนหน้านี้ล่าสุด Lagaan (2001) ที่สามารถติด 1 ใน 5 เรื่องสุดท้าย เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film น่าเสียดายไม่ได้รางวัล

หลังเสร็จจาก Lagaan เริ่มมองหาความสนใจถัดไป ได้พบข่าวหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์, สองสามีภรรยา Aravinda Pillalamarri กับ Ravi Kuchimanchi หลังจากอาศัยทำงานอยู่ต่างประเทศหลายปี NRI (Non-Resident Indian) กลับมาบ้านเกิดที่ Bilgaon รัฐ Maharashtra  ร่วมกันพัฒนาสร้างเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าจากน้ำไหล ให้กับโรงเรียนในหมู่บ้านชนบทที่อยู่ห่างไกล, Gowariker นำเรื่องราวนี้มาดัดแปลง พัฒนาบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง

เกร็ด: สิ่งเกิดขึ้นที่ Bilgaon ได้กลายเป็น ‘หมู่บ้านต้นแบบ’ ของประเทศอินเดียเลยละ

เห็นว่า Gowariker และทีมงาน ได้พบกับตัวจริง Pillalamarri และ Kuchimanchi ที่ขณะนั้นเป็นอาสาสมัครของ Association for India’s Development (AID) รับคำปรึกษา แนะนำ แถมยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหมู่บ้าน Menawali ที่เป็นพื้นหลังของหนังอีกด้วย

Mohan Bhargava (รับบทโดย Shah Rukh Khan) วิศวกรของ NASA เกิดความเป็นห่วงแม่เลี้ยง ญาติคนสุดท้ายที่อยู่ตัวคนเดียวที่อินเดีย เดินทางกลับบ้านตั้งใจมารับไปอยู่ด้วย แต่เธอย้ายไปอยู่กับ Gita (Gayatri Joshi) เพื่อนหญิงวัยเด็กของ Mohan ที่ปัจจุบันเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่หมู่บ้านชนบทห่างไกล Charanpur, การได้เป็นผู้มาเยือนพักอาศัยอยู่สถานที่แห่งนี่ ทำให้ชายหนุ่มเรียนรู้ถึงความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และความยากลำบากในการใช้ชีวิต ตัวเขาทีแรกไม่ได้รู้สึกอะไร แต่เมื่อเริ่มเข้าใจก็ทนไม่ได้ รู้สึกว่า ‘ฉันต้องทำอะไรสักอย่าง!’

ตัวเลือกแรกของผู้กำกับที่จะมารับบท Mohan คือ Hritik Roshan แต่หลังจากได้อ่านบทจนจบได้บอกปัด เพราะคิดว่าภาพลักษณ์ของตัวละครไม่เข้ากับตน, เช่นกันกับ Aamir Khan ที่บอกว่า ‘I got bored with it.’ ซึ่งเมื่อได้ถึงมือ Shah Rukh Khan นี่กลายเป็นโปรเจคแห่งความทะเยอทะยานของเขาเลย

Shah Rukh Khan (เกิดปี 1965) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เจ้าของฉายา Baadshah of Bollywood (King of Bollywood) เป็นหนึ่งใน 3 King Khan ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการภาพยนตร์ Bollywood (อีก 2 คนคือ Aamir Khan และ Salman Khan),

ภาพลักษณ์ของ SRK เข้ากับลุคของ Mohan ที่เป็น NRI อย่างยิ่ง ร่างกายสูงใหญ่สามารถยืนเคียงข้างฝรั่งแล้วไม่ถูกข่ม ทรงภูมิความรู้เฉลียวฉลาด สามารถ Go-Inter ได้สบายๆ, แต่เหตุที่ SRK ไม่เคยรับเล่นหนังต่างประเทศ เพราะโด่งดังแค่นี้ในอินเดียก็เกินพอแล้วสำหรับคนธรรมดาๆเช่นเขา

“Such great things have happened to such a normal guy like me. I am a nobody who shouldn’t have been able to do all this but I have done it. I tell everyone that there’s this myth I work for; there is this myth called Shahrukh Khan and I am his employee. I have to live up to that … I’ll do it, I am an actor. But I can’t start believing in this myth.”

– Shah Rukh Khan พูดถึงตัวเองเมื่อปี 2007 เมื่อได้รับการยกย่องว่า ‘King of Bollywood’

Mohan เป็นคนโอบอ้อมอารี จิตใจดีกว้างขวาง เฉลียวฉลาดรอบรู้ แต่ความคิดของเขาเป็นแบบมหภาค คือมองโลกในมุมกว้าง ไม่ค่อยที่จะคิดสนใจเรื่องรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ, งานของ Mohan ใน NASA คือวิศวกรออกแบบดาวเทียมที่ใช้ตรวจสอบเมฆและฝน เรียกว่า Global Precipitation Measurement (GPM) ประโยชน์ของดาวเทียมนี้เพื่อพยากรณ์อากาศ และแนวโน้มภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

เกร็ด: โปรเจค GPM เพิ่งใช้งานได้จริงเมื่อปี 2014 นี้เองนะครับ (ช้ากว่าเหตุการณ์ในหนังถึง 10 ปี)

ผมนับถือความทุ่มเทของ SRK ในการรับบทนี้เลยนะ มันอาจไม่มีอะไรเท่าไหร่ แต่ฉากที่ต้องแสดงอารมณ์ความรู้สึก เรียกว่าออกมาจากใจเขาจริงๆ เห็นร้องไห้ตาบวมๆ ก็ตื้นตันสะอื้นตาม ถือเป็นการแสดงที่มีความเป็นธรรมชาติ ใกล้ใจเขาที่สุดแล้ว, พระเอกหนุ่มให้สัมภาษณ์บอกว่า ไม่เคยดูหนังเรื่องนี้จนจบสักครั้ง ประสบการณ์ที่ได้ระหว่างถ่ายทำ เกินกว่าที่จะทนเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกได้

“Making Swades was such an emotionally overwhelming experience that I never saw the finished product. Didn’t want the feeling to end.”

สำหรับบท Gita ผู้กำกับตัดสินใจคัดเลือกนักแสดง Audition ได้ Gayatri Joshi โมเดลลิ่งชื่อดัง และอดีตผู้เข้าประกวด Miss India เมื่อปี 1999 เธอเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย มีผลงานโฆษณาประปราย ไม่เคยมีผลงานภาพยนตร์มาก่อน แต่หลังจากเล่นหนังเรื่องนี้แล้วก็ไม่มีผลงานอื่นอีก … สงสัยพอแต่งงาน คงรีไทร์ออกจากวงการไปเลย (ไฉนชีวิตจริง Gita กลับตรงข้ามกับหนังเสียอย่างนั้นละ!)

Gita เป็นตัวแทนผู้หญิงรุ่นใหม่ของอินเดีย ที่มีความคิดอ่าน ความต้องการเป็นของตนเอง เชื่อมั่นในวัฒนธรรมประเพณีอันดับงามของอินเดีย แต่เลือกปฏิบัติเฉพาะสิ่งที่เข้ากับยุคสมัยใหม่เท่านั้น

ภาพลักษณะของ Joshi เป็นผู้หญิงอินเดียแบบบ้านๆ แต่เธอแต่งหน้าจัด เขียนขอบตาดำตลอดเวลา นี่อาจแสดงถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจภาพลักษณ์ของตนเอง (แต่ก็แปลกประหลาดอยู่นะ คืออยู่บ้านนอกแต่ดันแต่งหน้าจัดห่วงสวยขนาดนี้ นี่มันค่านิยมของคนเมืองนะ)

เกร็ด: Aamir Khan แอบมารับเชิญในหนังด้วยนะครับ อยู่ในฉากฉายหนังเรื่อง Yaadon Ki Baaraat (1973)

ถ่ายภาพโดย Mahesh Aney ตากล้องยอดฝีมือ ที่ปกติเน้นรับงานโฆษณามากกว่า, กับหนังเรื่องนี้ถ่ายภาพธรรมชาติ วิวทิวทัศน์ สองข้างทางประเทศอินเดียได้สวยงามมาก เกิดความเพลิดเพลินผ่อนคลายสบายตา

สังเกตว่าแทบทุก Establish Shot ต้องมีการเคลื่อนกล้องเข้าหาตำแหน่งโฟกัส บางครั้งในมุมกล้องที่สูงขึ้น (ไม่แน่ใจว่าใช้เครนหรือโดรน เพราะบางครั้งกล้องสั่นมาก) ถ้าไม่ใช่ฉากสนทนายากนักจะเห็นกล้องอยู่นิ่งๆ

ผมค่อนข้างชอบฉากประชุมของหมู่บ้าน มีเกิดขึ้นประมาณ 2-3 ครั้งในหนัง ที่เป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างหลายๆบุคคล, ไม่รู้เพราะผมเป็นคนรุ่นใหม่หรือยังไง แทบทั้งหมดเห็นด้วยกับคำพูดของ Mohan รู้สึกเข้าใจเขาว่าคิดไม่ผิดเลย แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงเนี่ย ยิ่งแก่ ยิ่งมีอายุ ยิ่งดื้อดึงหัวรั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำให้เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเรารู้จักครุ่นคิดตาม มีความเฉลียวฉลาดพอ ย่อมที่จะสามารถหาทางออกได้อยู่แล้ว

เกร็ด: นี่เป็นหนังอินเดียเรื่องแรก ที่ได้รับอนุญาติถ่ายทำในศูนย์วิจัย NASA โดยเฉพาะฐานปล่อยจรวด Launch Pad 39A อยู่ที่ Kennedy Space Center รัฐ Florida

ตัดต่อโดย Ballu Saluja, หนังใช้มุมมองของ Mohan เป็นหลัก เริ่มจาก NASA กลับอินเดีย เดินทางสู่ Charanpur ประมาณ 80% ของหนังจะอยู่ที่เมืองแห่งนี้, การตัดต่อขณะเพลงประกอบดังขึ้น หลายครั้งจะมีลักษณะเป็นการ Fast Forward เร่งความเร็ว สรุปรวบรัดเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อให้การเดินทางเร็วขึ้น, กระทำ/สร้างบางสิ่งอย่างเสร็จเร็วขึ้น, บางบทเพลงจะมีการประมวลนำภาพที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ให้เกิดความหวนระลึก รู้ว่ากำลังครุ่นคิดถึงอยู่ ฯ

ข้อเสียรุนแรงของหนังคือระยะเวลาที่นานเกิน 3 ชั่วโมง เรื่องราวขาดความตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งพอไม่ค่อยมีฉากร้องเล่นเต้นให้ครึกครื้นสนุกสนาน คนที่ไม่ชอบแนวนี้ก็จะรู้สึกเบื่อจนหลับไปเลย, การเล่าเรื่องมีความคล้ายสารคดีบันทึกเรื่องราวการเดินทาง (Journal) ที่มีการแสดงความคิดเห็น อารมณ์ความรู้สึก และความต้องการของผู้บันทึกออกมา

เพลงประกอบโดย A.R. Rahman คำร้องโดย Javed Akhtar, Soundtrack มีความกลมกลืนไปกับหนัง ให้สัมผัสของ Impressionist ช่วยเติมเต็มอารมณ์ความรู้สึกของหนัง, ส่วนเพลงมีเสียงร้อง มักจะใช้สรุปรวบรัดเหตุการณ์บางอย่าง ให้เกิดขึ้นจบได้ในบทเพลงนั้นๆ

บทเพลงที่ผมชอบสุด Yun Hi Chala Chala (แปลว่า Keep Roaming O Traveler) ขับร้องโดย Udit Narayan, Kailash Kher, Hariharan นี่เป็นเพลงร้องเล่นๆระหว่างเดินทางจาก Delhi สู่ Charanpur เมื่อ Mohan ขับรถไปผิดเส้นทาง แต่ได้พบชายคนหนึ่งที่เหมือนฤาษีนักพรต บังเอิญกำลังจะไปแถวนั้นพอดี ชี้แนะนำเส้นทางที่ถูกให้

ส่วนบทเพลงรางวัลของหนัง Yeh Tara Woh Tara (Tara แปลว่า ดวงดาว, ชื่อเพลงแปลว่า this star, that star, ดาวดวงนี้ ดาวดวงนั้น) ขับร้องโดย Udit Narayan, Master Vignesh และ Baby Pooja ไฟดับขณะฉายหนังกลางแปลง เป็นใครคงหงุดหงิดหัวเสียเตรียมตัวกลับบ้าน แต่ในความมืดนั้นลองเงยหน้ามองขึ้นบนท้องฟ้า เห็นไหมดวงดาวบนนั้น ลองจินตนาการตามเป็นรูปร่างอะไรหรือเปล่า

แถมให้อีกบทเพลง ที่น่าจะไพเราะสุดของหนัง Saanwariya Saanwariya (แปลว่า ที่รัก, My Love) ขับร้องโดย Alka Yagnik, เป็นบทเพลงรำพันคร่ำครวญถึงคนรักของหญิงสาว ต่อชายคนที่ตนชื่นชอบ การไม่ได้พบเจอเพียงแค่วันกว่าๆก็รู้สึกโหยหายได้ขนาดนี้ (แต่หนังไม่ได้มี passion ระดับนั้นเลยนะครับ)

เพลงนี้ใช้การตัดต่อคู่ขนานของ 2 เหตุการณ์ และนำภาพหวนระลึกจากอดีตนำมาประมวลใส่เข้าไปด้วย

แผ่นดินบ้านเกิด เหมือนผมเคยได้ยินใครที่ไหน ‘เปรียบได้กับแม่คนที่สอง’ ก็ดั่ง Mohan (นี่เป็นชื่อในใบเกิดของ Mahatma Gandhi) ที่พ่อแม่แท้ๆเสียชีวิตไปแล้ว คงเหลือแม่นมที่เขาเปรียบกับแม่คนที่สอง เกิดความรู้สึกต้องการทดแทนบุญคุณ จึงเดินทางกลับบ้านเพื่อรับไปอยู่ด้วย แต่สุดท้ายเธอตัดสินใจไม่ไปไหน และตอนจบเป็น Mohan ที่หวนกลับมาทดแทนบุญคุณทั้งแม่และแผ่นดินบ้านเกิด

NRI ส่วนใหญ่คือคนสมองไหลออกนอกประเทศ มีความรู้ความสามารถแต่มิอาจทนรับสภาพ ความคิดความเชื่อ วัฒนธรรม สังคม ของเพื่อนร่วมชาติ ที่บางทีอาจมองไม่เห็นคุณค่า ขาดโอกาส เต็มไปด้วยคอรับชั่น ฯ, เรื่องราวลักษณะนี้ไม่ได้มีแค่ในอินเดียนะครับ แต่กับประเทศโลกที่สามแทบทั้งนั้น รวมถึงประเทศไทยเองก็มีเยอะด้วย ผมไม่ขอกล่าวหาคนเหล่านี้ว่าเป็นทรยศไม่รักชาติหรือยังไง มันอาจมีเหตุผลส่วนตัวต่างๆนานา ไม่มีใครถืออำนาจสิทธิ์ตัดสินได้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากให้ครุ่นคิดกับแผ่นดินชาติบ้านเกิด คุณเคยคิดทำอะไรที่เป็นการแสดงความ’รักชาติ’ออกมาบ้างหรือเปล่า

นี่คือใจความของหนังเรื่องนี้ ที่เป็นการส่งเสียงร้องเรียก ชักชวนชาวอินเดียทั้งหลายในต่างแดน ให้หันหลังกลับมาแค่มองก่อนก็ยังดี ถ้าคุณมีจิตสำนึกรักชาติที่ยิ่งใหญ่พอตระหนักได้ น้อยคนที่จะไม่อยากกลับมา เพราะดินแดนบ้านเราแห่งนี้แหละ อยู่แล้วเป็นสุขใจที่สุด

หนังได้แอบเสนอแนะทางออกให้กับ NRI ที่อยากกลับมาประเทศด้วย นั่นคือ ก็หาหญิงสาวสวยๆสักคนแต่งงานด้วย รับรองว่าเธอจะทำให้คุณดิ้นไม่หลุดแน่!

ผมเชื่อว่าคนไทยที่รับชมหนังเรื่องนี้ จะสามารถสัมผัสอารมณ์ เข้าใจความทุกข์ยากลำบากของสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังได้ไม่ยาก เพราะวัฒนธรรม/สังคม หลายๆอย่างของบ้านเราคล้ายคลึงกับอินเดียเสียเหลือเกิน, หันมามองเมืองไทย ยังมีอีกมากตามชนบท บนดอย ที่ยังห่างไกลขาดแคลน ไม่ได้รับการช่วยเหลือ อย่ามองเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งไกลตัวนะครับ วันนี้คุณอาจไม่เข้าใจพวกเขา ลองสมมติตัวเองถ้าสักวันหนึ่งเรากลายเป็นอย่างนั้น ไม่มีเงินกินข้าว ขอทานไม่มีใครให้ น้ำใจเผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์วันนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด เดินทาง ขึ้นดอย เห็นคนขายของข้างทางจนๆหิวโหยเหมือนไม่มีอะไรกิน อุดหนุนพวกเขาสักหน่อย อย่าตระหนี่ขี้เหนียวเกินไป เงินไม่กี่บาทขนหน้าแข้งไม่ร่วงหรอก สำหรับพวกเขาเงินแค่นั้นบางทีกินอิ่มได้หลายมื้อเลย

สิ่งเล็กๆที่ผมว่าไปนี้ คนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆ สามารถช่วยเหลือกันได้อยู่แล้วไม่ยาก แต่ในระดับมหภาคมันคงพูดยากจริงๆ ในอินเดียผมก็เห็นใจพวกเขานะ ที่คงจะไม่วันค้นพบทางออกเหล่านั้นเลย โชคดีบ้านเรามีพระบารมีในหลวงปกเกล้าอยู่ ถือเป็นบุญบารมีของชาวไทยโดยแท้

หนังไทยแนวสำนึกรักบ้านเกิดก็มีเยอะมากในยุคสมัยหนึ่ง ครูบ้านนอก (พ.ศ.๒๕๒๑), ลูกอีสาน (พ.ศ.๒๕๒๕), ด้วยเกล้า (พ.ศ.๒๕๓๐) ฯ เผื่อใครสนใจลองหามารับชมดูนะครับ

ด้วยทุนสร้าง ₹2.1 Crore หนังทำเงินทั่วโลกเพียง ₹3.42 Crore (= $5.3 ล้านเหรียญ) คงเพราะนี่ไม่ใช่หนังแนวที่ชาวอินเดียคุ้นเคย ไม่สนุกตื่นเต้น ออกจะจริงจังเครียดเสียหน่อย, กระนั้นหนังได้กระแส Cult ตามมา ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงในยอดขาย CD/DVD

หนังคว้า 2 รางวัล National Film Award ประกอบด้วย
– Best Male Playback Singer บทเพลง Ye Tara Wo Tara
– Best Cinematography

ส่วน Filmfare Award เข้าชิง 8 จาก 7 สาขา ได้มา 2 รางวัล
– Best Film
– Best Director
– Best Actor (Shah Rukh Khan) **ได้รางวัล
– Best Background Score **ได้รางวัล
– Best Music Director
– Best Lyricist บทเพลง Yeh Taara Woh Taara
– Best Playback Singer – Male บทเพลง Yeh Taara Woh Taara
– Best Playback Singer – Female บทเพลง Saanwariya

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้นะ แม้จะดูไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ แต่ได้เปิดโลกทัศน์ แนวคิดอะไรใหม่ๆเพิ่มเยอะเลย และทำให้ผมเกิดความอยากที่จะหวนไปสร้าง/ทำอะไรบางอย่างเพื่อหมู่บ้านชนบทห่างไกลอีกสักครั้ง

สมัยเรียนผมเคยทำค่ายอาสา ครั้งหนึ่งขึ้นดอยไปสร้างโรงเรียน เป็นอะไรที่ทุลักทุเล เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่ก็สนุกมากๆ เห็นความเป็นมิตรของคนไทย เมาปลิ้นหัวราน้ำไม่รู้จักเบื่อ, มันไม่ใช่แค่โรงเรียนที่เราสร้างเสร็จนะครับ แต่คืออนาคต ความฝัน อุดมการณ์ ได้ถูกถ่ายทอดส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ ทำให้พวกเขาไม่เสียโอกาสการเรียนรู้ ได้รับความเท่าเทียมกับผู้อื่น แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้วกับสิ่งที่ทำ

แนะนำกับเด็กๆค่ายอาสา เอาหนังเรื่องนี้ไปเปิด น่าจะได้อะไรๆเยอะเลย, คนทำงานสังคมสงเคราะห์ มูลนิธีแนวพึ่งพา ชาวบ้าน เกษตรกร นักพัฒนา ฯ, คอหนัง Bollywood ชื่นชอบผู้กำกับ Ashutosh Gowariker และแฟนๆนักแสดง Shah Rukh Khan ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรตทั่วไป หนังมีทัศนะคติที่ล้าหลังบ้าง แต่สุดท้ายจะได้รับปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง

TAGLINE | “Swades คือสำนึกรักบ้านเกิดของผู้กำกับ Ashutosh Gowariker ผ่านความรู้สึกจริงแท้ของ Shah Rukh Khan มีดีคุณภาพสาระ แต่ยาวและเครียดไปเสียหน่อย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: