The Elephant Man (1980) : David Lynch ♥♥♥♡
ภาพยนตร์ชีวประวัติ Joseph Merrick เจ้าของฉายา ‘มนุษย์ช้าง’ ทั้งที่เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สุภาพอ่อนโยน แต่กลับถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเพราะหน้าตาอันสุดอัปลักษณ์, เข้าชิง Oscar ถึง 8 สาขา แต่กลับหลุดโผ Technical Award: Best Makeup Effect ทำให้ปีถัดมาถือกำเนิดรางวัลใหม่ Best Makeup
ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จะมิได้มีความลึกลับซับซ้อน เข้าใจได้ยาก แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปจะสามารถอดรนทนรับชมจนจบได้ เพราะความน่ารังเกียจขยะแขยงของตัวละคร จะทิ้งความรู้สึกอันปั่นป่วนพลุกพล่าน จุกแน่นอกหายใจแทบไม่ออก ทุกข์ทรมานรวดร้าวไปถึงทรวง โอ้ละหนอชีวิต! นี่มันเป็นเรื่องของโชคชะตาล้วนๆเลยใช่ไหม
คงเพราะ The Elephant Man เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติที่ค่อนข้างแตกต่างจากปกติทั่วไป ทำให้ผมเกิด 2 ข้อคำถามสำคัญระหว่างรับชม
– เรื่องราวชีวิตของ Joseph Merrick สอนอะไรให้กับผู้ชม?
– ผู้กำกับ David Lynch สร้างหนังเรื่องนี้ ต้องการนำเสนออะไร?
คนส่วนใหญ่คงเริ่มต้นที่ ‘ความสงสาร’ เห็นอกเห็นใจ มองการกระทำของศัลยแพทย์ Frederick Treves คือสิ่งอันดีงามมีมนุษยธรรม แต่เมื่อหนังชวนให้ตั้งคำถาม การกระทำของเขาแตกต่างจาก Mr. Bytes เช่นไร แค่ความรู้สึกดีแย่ มันเพียงพอแล้วหรือที่จะประเมินคุณค่าของคน?
ความเห็นส่วนตัวต่อหนังเรื่องนี้อาจค่อนข้างรุนแรงสักหน่อย เพราะฝั่งตรงข้ามความสงสารเห็นใจ คือการสมน้ำหน้าซ้ำเติม นี่ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนไร้มนุษยธรรมอะไรนะ แต่เมื่อมองเหรียญสองด้านตามทิศทางของผู้กำกับ ก็พาลให้พบกับทางกลาง ซึ่งสุดท้ายพอดูหนังจบ ก็ทำให้ไร้ความรู้สึกใดๆต่อชายตนนี้ทั้งนั้น เหมือนเพิ่งตื่นขึ้นจากฝันร้ายเสียมากกว่า
David Keith Lynch (เกิดปี 1946) ศิลปิน ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Missoula, Montana พ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำงานวิจัยให้กระทรวงเกษตร ส่วนแม่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ช่วงชีวิตวัยเด็ก Lynch ให้คำนิยามว่า ‘totally fantastic’ มีความมหัศจรรย์มากๆ ชื่นชอบการวาดรูป โตขึ้นต้องการเป็นจิตรกรแบบอย่าง Francis Bacon ออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานสายนี้ ดิ้นรนอยู่พักใหญ่ ไปๆมาๆสร้างหนังสั้น Six Men Getting Sick (Six Times) (1967) ได้แรงบันดาลใจจาก ต้องการเห็นภาพวาดของตนเองเคลื่อนไหว ปรากฎว่าชนะรางวัลอะไรสักอย่าง เอาเงินนั้นมาทดลอสร้างภาพยนตร์เรื่องถัดมา The Alphabet (1968) ส่วนผสมของ Live-Action กับอนิเมชั่น นำโปรเจคไปเสนอ American Film Institute รับเงินมาอีกก้อนสร้างหนังเรื่องถัดไปอีก จนกระทั่งกลายเป็น Eraserhead (1977) ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ประสบความสำเร็จล้นหลาม ด้วยกระแส Cult
โปรดิวเซอร์ Stuart Cornfeld ขาประจำของผู้กำกับ Mel Brooks หลังจากรับชม Eraserhead มีความชื่นชอบคลั่งไคล้ ต้องการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนสำหรับโปรเจคถัดไป ซึ่งขณะนั้น Lynch กำลังพัฒนาบทภาพยนตร์ชื่อ Ronnie Rocket แต่คิดว่าคงหาทุนสร้างไม่ได้แน่ เลยบอกกับ Cornfeld นำเสนอบทที่น่าสนใจมาดีกว่า จากทั้งหมด 4 เรื่อง แค่พอได้ยินชื่อ The Elephant Man ก็เลือกโปรเจคนี้โดยทันที
เกร็ด: จริงๆแล้วผู้กำกับ Mel Brooks คือหนึ่งในโปรดิวเซอร์คนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังผลักดันหนังเรื่องนี้ แต่ตกลงกันว่าจะไม่เอาชื่อขึ้นเครดิต เพราะกลัวจะเสียภาพลักษณ์ Comedy ที่เคยสร้างมาจนประสบความสำเร็จ
Lynch เข้ามาขัดเกลาบทหนังของ Christopher De Vore กับ Eric Bergren ที่ดัดแปลงจากหนังสือสองเล่ม
– The Elephant Man and Other Reminiscences (1923) เขียนโดย Frederick Treves
– The Elephant Man: A Study in Human Dignity (1971) เขียนโดย Ashley Montagu
เรื่องราวของ Frederick Treves (รับบทโดย Anthony Hopkins) ศัลยแพทย์ประจำ London Hospital พบเจอกับ John Merrick (รับบทโดย John Hurt) เจ้าของฉายา ‘The Elephant Man’ ในคณะละครสัตว์ที่ London’s East End ซึ่งถูก Mr. Bytes (รับบทโดย Freddie Jones) กักขังหน่วงเหนี่ยวใช้ความรุนแรงป่าเถื่อน, ด้วยความใคร่สงสัยของ Treves จ่ายเงินพา Merrick มาที่โรงพยาบาลเพื่อค้นหาสาเหตุอาการป่วย ภายหลังยังได้สนับสนุนช่วยเหลือ ร่วมกับ Francis Carr-Gomm (รับบทโดย John Gielgud) ให้ที่พึ่งพักพิงในโรงพยาบาลช่วงบั้นปลายของชีวิต
ขอพูดถึงเรื่องของมนุษย์ช้างก่อนแล้วกัน Joseph Carey Merrick หรือ John Merrick (1862 – 1890) เกิดที่ Leicester, England ด้วยความเป็นปกติ แต่ผิวหนังเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุ 21 เดือน จากริมฝีปากตามด้วยก้อนกระดูกหน้าผาก ลำตัว เด่นชัดเมื่ออายุ 5 ขวบ ผิวหนังเป็นก้อนหนาเหมือนช้างและเกือบจะเป็นสีเดียวกัน หลังจากแม่เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมตอนอายุได้ 9 ขวบ พ่อแต่งงานใหม่ทอดทิ้งเขาไป ทำให้ต้องออกจากโรงเรียนเข้าทำงานใน Workhouse อยู่หลายปี จนพบเจอกับ Sam Torr ผู้จัดการคณะละครสัตว์ ที่สนใจมนุษย์ผู้มีความแปลกประหลาด กลับจากทัวร์รู้จักกับ Tom Norman (แบบอย่างของ Mr. Bytes) ปักหลักโชว์ตัวอยู่ตรงข้าม London Hospital มีโอกาสพบเจอศัลยแพทย์ Frederick Treves เชิญชวนให้มาถ่ายรูปทำประวัติกรณีศึกษา แต่ไม่นานร้านของ Norman ถูกตำรวจสั่งปิด Merrick ออกเดินทางไปทัวร์ยุโรปกับผู้จัดการคนใหม่ โดนปล้นปล่อยทิ้งอยู่ที่ Brussels ขณะเดินทางกลับถึง London เพราะสื่อสารไม่ได้เลยถูกตำรวจตรวจค้น พบเจอนามบัตรของ Treves จึงได้รับอนุญาตให้ปักหลักอาศัยอยู่ที่โรงพยาบาล ระหว่างนั้นได้รับการแวะเยี่ยมเยียนจากผู้คนชั้นสูงมากมาย รวมถึง Alexandra, Princess of Wales การเสียชีวิตเกิดจากอาการสำลักขาดอากาศหายใจ (asphyxia) กระดูกคอเคลื่อนเพราะความต้องการนอนราบให้เหมือนมนุษย์ แต่สรีระร่างกายไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
เกร็ด: อวัยวะและโครงกระดูกของ Merrick ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ The Royal London Hospital แต่ปัจจุบันหลงเหลือเพียงโครงกระดูก เพราะอวัยวะต่างๆถูกระเบิดลงทำลายหมดสิ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ความผิดปกติของ Merrick ช่วงทศวรรษก่อน สันนิษฐานว่าเป็นโรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) ปัจจุบันมีชื่อเรียกใหม่คือ Proteus Syndrome ความบกพร่องทางพันธุกรรมของระบบประสาท ไม่ใช่โรคติดต่อ ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ที่สร้างความเจริญเติบโต กระดูกและเนื้อเยื่อเติบโตมากเกินไป กลายเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ซึ่งสามารถกำจัดได้ด้วยการผ่าตัดแต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะบางรายเอาออกแล้วยังเติบโตขึ้นใหม่ได้ต่อเนื่อง อัตราการเกิดประมาณ 1 ใน 4,000 แต่ระดับร้ายแรงแบบกรณีนี้ ตั้งแต่ปี 1970 มีรายงานประมาณ 100 กว่ารายเท่านั้น
ผู้คนสับสนเกี่ยวกับโรคท้าวแสนปมกันอย่างมาก มักเรียกกันผิดๆว่าโรคมนุษย์ช้าง (Elephant Man’s disease) ซึ่งทำให้สับสนกับโรคเท้าช้าง (Elephantiasis) จริงๆแล้วสองโรคนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย เพราะเท้าช้างเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นในเขตร้อน สาเหตุเกิดจากพยาธิเข้าร่างกายก่อให้เกิดการอุดตันของระบบท่อน้ำเหลือง ทำให้บางครั้งอวัยวะเกิดขยายตัวขึ้น รวมทั้งผิวหนังและเนื้อเยื่อก็หนาขึ้นผิดปกติ
reference: http://page9th.net/2014/11/26/มนุษย์ช้าง-elephant-man-เป็นใคร-part-1/
Sir John Vincent Hurt (1940 – 2017) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chesterfield, Derbyshire บ้านของเขาอยู่ตรงข้ามกับโรงหนัง แต่ครอบครัวไม่อนุญาติให้เขาเข้าไปรับชมหรือเป็นเพื่อนกับเด็กๆแถวบ้าน กระนั้นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นได้เข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art เริ่มจากเป็นตัวประกอบ The Wild and the Willing (1962) รับบทนำครั้งแรก A Man for All Seasons (1966) โด่งดังกับ 10 Rillington Place (1971), Midnight Express (1978), Alien (1979), The Elephant Man (1980) ฯ
ช่วงบั้นปลายของ Hurt มักได้รับบทสมทบอาทิ Mr. Ollivander เรื่อง Harry Potter (2001-11), Hellboy (2004, 2008), V for Vendetta (2006), Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull (2008), Tinker Tailor Soldier Spy (2011) ฯ
รับบท John Merrick สุภาพบุรุษหนุ่มผู้โชคร้าย หลังจากทุกข์ทรมานภายใต้ความคอรัปชั่นของ Mr. Bytes พบเจอกับ Frederick Treves ที่พยายามให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง จนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม ได้รับการยอมรับในสังคม แม้ยามค่ำคืนอดีตอันโหดร้ายมักหวนกลับมาอยู่บ่อยครั้ง แต่ช่วงเวลากลางวันที่แสนสุขสันต์ ก็เพียงพอให้เขาพบเจอความสงบสุข พึงพอเพียงในชีวิต
ในตอนแรก Lynch ต้องการ Jack Nance ให้รับบทนำนี้ แต่คงตารางเวลาไม่ว่างเลยมาลงเอยที่ Hurt หลังจากเห็นการแสดงในภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง The Naked Civil Servant (1975)
มันไม่ใช่แค่ 8+2 ชั่วโมงสำหรับการแต่งหน้า+ถอดออก แต่ยังสำเนียงการพูด สายตา ท่าทาง ความรู้สึกของ Hurt เอ่อล้นออกมาได้อย่างสมจริงมากๆ ตัวละครมีอารมณ์อย่างไร ผู้ชมก็สามารถสัมผัสได้เช่นนั้น นี่น่าจะเป็นหนึ่งในการแสดงอันยอดเยี่ยมสุดของปู่เลยละ
จริงๆแล้วผู้กำกับ Lynch ต้องการทำ Makeup ตัวละครด้วยตนเอง แต่ปรากฎว่าไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าไหร่ จำต้องมอบหมายให้ Christopher Tucker ทำการศึกษาโครงกระดูกของ Merrick แล้วปั้นหน้าขึ้นมา เริ่มงานตั้งแต่ตีห้า กว่าจะได้กลับบ้านก็ 4 ทุ่ม วันเว้นวัน เพื่อไม่ให้ Hurt เหน็ดเหนื่อยเกินไป แต่แค่ผ่านวันแรกของการถ่ายทำไป พูดบอกกับภรรยา
“I think they finally managed to make me hate acting.”
ผู้กำกับ David Lynch ให้คำชื่นชมอันเรียบง่าย ภายหลังจากที่ Hurt เสียชีวิตเมื่อต้นปี 2017
“simply the greatest actor in the world”.
แซว: หลังการถ่ายทำ Hurt เก็บใบหน้าเทียมของ John Merrick ไว้เป็นที่ระลึก ใส่ในตู้เก็บของที่บ้าน หลายปีผ่านไปเพื่อนคนหนึ่งโทรบอกว่า ‘โจรขึ้นบ้านนาย’ ถามกลับ ‘มีอะไรถูกขโมยไปบ้าง’ ได้คำตอบว่า ‘ไม่มี สงสัยโจรมันเปิดตู้แล้วเจอใบหน้านั้น เลยตกใจกลัวรีบวิ่งหนีไม่กล้าขโมยอะไร’
Sir Philip Anthony Hopkins (เกิดปี 1937) สัญชาติ Welsh เป็นนักแสดงภาพยนตร์/โทรทัศน์/ละครเวที เรียนจบจาก Royal Welsh College of Music & Drama เมื่อปี 1957 ได้ฝึกงานที่โรงละคร Royal Academy of Dramatic Art in London ถูกค้นพบโดย Laurence Olivier ชักชวนให้เข้าร่วม Royal National Theatre แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Lion in Winter (1968) รับบทเป็น Richard the Lionheart, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Mask of Zorro (1998), Meet Joe Black (1998), The Elephant Man (1980), The Silence of the Lambs (1991), Nixon (1995), Amistad (1997), Thor (2011) รับบท Odin ฯ
เทคนิคของ Hopkins ที่ใช้ในการแสดง จะมีการซักซ้อมบทพูดให้บ่อยมากครั้งที่สุด (เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า สูงสุดน่าจะเกิน 200 รอบ) จนกว่าประโยคจะมีความลื่นไหลออกจากปากอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับไม่ได้ครุ่นคิดอะไร ‘do it without thinking’
รับบท Frederick Treves ศัลยแพทย์ผู้เต็มเปี่ยมด้วยใคร่สงสัยอยากรู้เห็น ต้องการศึกษาเข้าใจความผิดปกติของ John Merrick แม้จะไม่ค้นพบวิธีการรักษาใดๆ แต่ก็ได้ช่วยเหลือให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นเพื่อนคนแรกที่ไม่ได้มองเขาด้วยสายตาของสัตว์ประหลาด
ความนิ่งของ Hopkins ในสายตาท่าทาง โดยเฉพาะขณะพบเจอ The Elephant Man ครั้งแรกถึงขนาดหลั่งน้ำตาลูกผู้ชายออกมา (จริงๆฉากนี้ Hurt ไม่ได้อยู่ในฉาก เป็นการแสดงที่เค้นออกมาจากภายในของ Hopkins เองเลย) รับรู้ตัวเองโดยสำนึก อยากที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือชายคนนี้ในฐานะเพื่อนร่วมโลกใบเดียวกัน
เกร็ด: เพราะการแสดงของ Hopkins ในหนังเรื่องนี้ เข้าตาผู้กำกับ Jonathan Demme ทำให้ได้รับบท Hannibal Lecter เรื่อง The Silence of the Lambs (1991)
สำหรับนักแสดงสมทบ เลื่องชื่อทั้งนั้น
Anne Bancroft นักแสดงหญิงเจ้าบทบาท คว้า Oscar: Best Actress เรื่อง The Miracle Worker (1962) กลายเป็นตำนานจากบท Mrs. Robinson จากเรื่อง The Graduate (1967), รับบท Madge Kendal นักแสดงละครเวทีหญิงชื่อดังในยุค Victorian และ Edwardian ผู้มีความหลงใหลคลั่งไคล้ในตัว John Merrick อย่างยิ่ง น่าจะเพราะอาชีพนักแสดงทำให้เธอสามารถมองข้ามผ่าน ‘หน้ากาก’ ที่เป็นเปลือกนอกของมนุษย์ พบเห็นสนใจใน ‘ตัวตน’ แท้จริงของมนุษย์มากกว่า
Sir Arthur John Gielgud (1904 – 2000) โคตรนักแสดงแห่งยุค หนึ่งในสามทหารเสือของวงการละครเวทีอังกฤษ เคียงคู่กับ Ralph Richardson และ Laurence Olivier, รับบท Francis Carr-Gomm ผู้อำนวยการ London Hospital ที่ในตอนแรกเหมือนจะมิได้ใคร่สนใจในตัว John Merrick สักเท่าไหร่ แต่แท้จริงแล้วคอยเฝ้ามองสังเกตอยู่ห่างๆ แถมยังแอบช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน เป็นตัวละครที่เต็มเปี่ยมด้วยมนุษยธรรมโดยแท้
Frederick Charles Jones (เกิดปี 1927) นักแสดงสมทบสัญชาติอังกฤษ ร่วมงานเป็นขาประจำของผู้กำกับ Lynch อาทิ The Elephant Man (1980), Dune (1984), Wild at Heart (1990), รับบท Mr. Bytes ผู้เป็น Ringmaster (หัวหน้าโรงละครสัตว์) ขี้เหล้าเมามาย ชอบใช้ความรุนแรง สนแต่เรื่องเงินๆทองๆ และการเอาตัวรอดของตนเอง แสดงความรัก เอ็นดู ห่วงใย John Merrick เพราะเป็นตัวหาเงินหาทองให้เท่านั้น
เกร็ด: ในชีวิตจริง Tom Norman ที่เป็นต้นแบบตัวละคร Mr. Bytes ไม่ได้ขี้เมาหัวรุนแรงใดๆทั้งนั้น ทำธุรกิจกับ Merrick เงินได้มาก็แบ่ง 50-50 อย่างเสมอภาคเท่าเทียม
ถ่ายภาพโดย Freddie Francis (1917 – 2007) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ เจ้าของ 2 รางวัล Oscar: Best Cinematography เรื่อง r Sons and Lovers (1960), Glory (1989) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Innocents (1961), The Elephant Man (1980), Cape Fear (1991) ฯ
การเลือกใช้ภาพขาว-ดำ ถือว่าเข้ากับโทนบรรยากาศของหนังอย่างยิ่ง โดดเด่นกับการใช้แสงและเงา ตัวละครสามารถหลบซ่อนตัวเองในความมืดอย่างมิดชิด ก่อนเดินออกมาพบเจอหนทางแสงสว่าง แถมยังไม่ทำให้ John Merrick ดูขยะแขยงสมจริงเกินไปด้วย
หนังของ Lynch มักให้สัมผัสราวกับความเพ้อฝัน, เริ่มต้นด้วยความพร่ามัวเลือนลาง จุดกำเนิดในจินตนาการของ John Merrick ขณะที่ตอนจบล่องลอยเคว้าคว้างท่ามกลางดาวดารา นัยยะถึงความตาย วิญญาณกำลังขึ้นสู่สรวงสวรรค์
ซึ่งฉากเหมือนฝันที่สุดของหนัง คือขณะ John Merrick เดินทางไปรับชมละครเวทีของ Madge Kendal ใข้การซ้อนภาพใบหน้าของเขาเข้ากับการแสดง, ผมค้นหารายละเอียดชื่อชุดการแสดงไม่ได้ แต่ภาพที่ปรากฎซ้อน ประกอบด้วย นกโผลบิน หนูวิ่ง คนติดคุก นางฟ้าเสกสมหวัง ฯ ทั้งหมดเป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนของ Merrick ออกมา
ตัดต่อโดย Anne V. Coates (เกิดปี 1925) นักตัดต่อในตำนานสัญชาติอังกฤษ ขาประจำของ David Lean เข้าชิง Oscar 5 ครั้งแต่ไม่เคยได้รางวัล ประกอบด้วย Lawrence of Arabia (1962), Becket (1963), The Elephant Man (1980), In the Line of Fire (1993), Out of Sight (1998)
หนังใช้มุมมองของ Frederick Treves ในการนำทางเข้าสู่เรื่องราว ไม่รีบร้อนเปิดเผยใบหน้าอันสุดอัปลักษณ์ของ John Merrick ครั้งแรกจะเห็นจากระยะไกลแค่แวบเดียว ตามด้วยผ้าคลุม แสงเงา ซึ่งมองได้ว่าเป็นการพยายามให้ผู้ชมค่อยๆปรับความรู้สึกเข้ากับภาพของตัวละคร (มีความสุภาพนุ่มนวลเหมือน Merrick มากๆ) ก่อนที่ช่วงหลังๆก็จะแช่ยาวๆเลย เห็นกันจนคุ้นเคยชิน เลิกรังเกียจขยะแขยง (แต่บางคนก็คงอาจยังรับไม่ได้อยู่ดี)
ครึ่งหลังนับตั้งแต่ Merrick พูดได้แล้ว หนังจะเปลี่ยนไปใช้มุมมองของเขาเป็นส่วนใหญ่ ที่จะทำให้ผู้ชมมองเห็นอีกด้านมืดที่อยู่ตรงกันข้ามของสังคม ผู้มาย่ำเยือนยามวิกาล ช่วงแรกๆก็แค่โผล่ปรากฎหน้ามาแวบเดียว แต่ครั้งสุดท้ายราวกับงานปาร์ตี้ เต็มไปด้วยความบ้าคลั่งเสียสติแตกโดยแท้
เกร็ด: ในชีวิตจริง Merrick พูดไม่ได้เลยนะครับ เพราะเนื้องอกที่ปากขัดขวางการออกเสียง แต่ได้รับการช่วยเหลือผ่าตัดเปิดปากโดย Treves ทำให้เขาถึงเริ่มหัดพูดได้ทีหลัง, ในหนังมันเลยดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ที่อยู่ดีๆตัวละครก็พูดได้ แถมร่าย Psalm 23 ออกมาด้วย
เพลงประกอบโดย John Morris (เกิดปี 1926) นักแต่งเพลงขาประจำของผู้กำกับ Mel Brooks ผลงานเด่น อาทิ The Producers (1968), Blazing Saddles (1974), The Elephant Man (1980), To Be or Not to Be (1983)
Main Theme เริ่มด้วยเสียง Xylophone ราวกับการกล่อมเด็กเข้านอน แต่แปลกที่กลับให้สัมผัสอันหลอกหลอก สยิวกาย ขนลุกชูชัน ถือเป็นบทเพลงที่อธิบายเรื่องราวชีวิตของ The Elephant Man ได้อย่างเศร้าสลดหดหู่
บทเพลงแห่งฝันร้าย Nightmare สะท้อนด้านมืดของสังคมที่ John Merrick ได้พบเจอ ทำให้เขาหยุดนิ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวติง ขยับตัวต่อต้านทำอะไรได้เลย ‘เดี๋ยวมันก็คงผ่านไป’ นี่คงเป็นสิ่งที่เขาภาวนาขึ้นในจิตใจ
ความบิดเบี้ยวของบทเพลง จากทำนองที่คล้ายกับเครื่องเล่นในคณะละครสัตว์ แทนที่จะสนุกสนานกลับตั้งค่าเสียงผิดกลายเป็นหลอกหลอนขนลุกขนพอง โยกย้ายไปมาในจังหวะ Waltz ใครกันจะไปเต้นลง
สำหรับบทเพลง Pantomime แปลว่าวิจิตรทัศนา หรือการแสดงละคร ด้วยจังหวะ Waltz สุดแสนเรียบง่าย (ให้สัมผัสคล้าย Russian Waltz ของ Dmitri Shostakovich) ทำนองถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนเหมือน Nightmare ด้านบน นี่เป็นช่วงเวลาสุขสันต์สุดในชีวิตของ John Merrick
ฉากนี้ในหนัง เป็นการซ้อนภาพใบหน้าของ Merrick เข้ากับการแสดงของละครเวทีของ Madge Kendal ให้สัมผัสที่ล่องลอยเหมือนฝัน โบกโบยบินเป็นอิสระ ราวกับนกท่ามกลางฟากฟ้านภาลัย
มีบทเพลงหนึ่งแถมท้าย Adagio for Strings (1936) บทเพลงรางวัล Pulitzer Prize for Music ประพันธ์โดย Samuel Osborne Barber II (1910 – 1981) คีตกวีสัญชาติอเมริกา ผู้กำกับเลือกใช้บริการวาทยากร André Previn ร่วมกับ London Symphony Orchestra
หลายคนอาจคุ้นเคยบทเพลงนี้จาก Platoon (1986) ไม่ก็ Amélie (2001) ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงทีเดียว, กับหนังเรื่องนี้ ในฉากสุดท้ายก่อนเข้านอน จินตนาการฝันเห็นดวงดาวดารา ซึ่ง Merrick ก็ยังได้ขับกล่อมด้วยบทกวี Nothing Will Die (1893) เขียนโดย Alfred Lord Tennyson (1809 – 1892)
Never, oh! never, nothing will die;
The stream flows,
The wind blows,
The cloud fleets,
The heart beats,
Nothing will die.
ตามอ่านบทกวีฉบับเต็มได้ที่: https://www.litscape.com/author/Alfred_Lord_Tennyson/Nothing_Will_Die.html
The Elephant Man คือเรื่องราวการต่อสู้เพื่อมีชีวิตของชายคนหนึ่ง ตัวเขาอาจเกิดคำถาม ‘ฉันเกิดมาทำไม?’ กรรมอะไรทำให้ต้องแบกรับความทุกข์ทรมานกายใจแสนสาหัส จมปลักอยู่ในด้านมืดของโลกอันโหดร้ายเย็นชา แต่เมื่อสามารถก้าวเดินออกมาพบเจอแสงสว่างอันอบอุ่น ปริศนาชีวิตนี้ได้ถูกไขข้อกระจ่างออกโดยทันที
“ใครก็ตามที่เคยได้พบเจอกับความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ย่อมมีความเข้าใจสุขแท้ต่อชีวิตที่เต็มเปี่ยมด้วยความสุขสมหวัง”
มันคือโชคชะตาฟ้าดินที่กำหนดให้ร่างกายของเขามีความอัปลักษณ์พิศดาร แต่ด้วยจิตใจอันอ่อนโยนมิได้เลวชั่วร้ายเหมือนใบหน้าตา เมื่อได้รับการค้นพบเจอโดยสุภาพชน ย่อมสามารถมีโอกาสเรียนรู้จักเข้าใจความหมายและคุณค่าของการได้เกิดมามีชีวิต
ผู้กำกับ David Lynch เป็นคนที่มีสองขั้วในตนเอง ชีวิตวัยเด็กมีความอบอุ่นสดใสร่าเริงโลกสวย แต่พอโตขึ้นกลับมักสร้างภาพยนตร์ในลักษณะตรงกันข้าม มักเต็มไปด้วยอัปลักษณ์พิศดารน่ารังเกียจขยะแขยง
“I look at the world and I see absurdity all around me. People do strange things constantly, to the point that, for the most part, we manage not to see it.”
– David Lynch
เท่าที่ผมอ่านชีวประวัติของ Lynch ตัวเขาเข้าร่วมฝึกการนั่งสมาธิกับ Transcendental Meditation ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1973 เคยได้พบเจอกับโยคี Maharishi Mahesh Yogi ผู้ก่อตั้ง TM movement โดยเป้าหมายส่วนตัวคือ นำพาความสันติสุขกลับคืนสู่โลก
เกร็ด: การทำสมาธิแบบล่วงพ้น (Transcendental Meditation) ไม่ได้มีเป้าหมายหลุดพ้น แต่เพื่อการใช้ชีวิตพบเจอความสงบสุข, รักษาอาการเจ็บป่วย, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, ความคิดสร้างสรรค์ ฯ
Lynch สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีความต้องการหลักให้ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ John Merrick แต่ให้เกิดการตั้งคำถาม อะไรคือความเป็นมนุษย์? คุณค่าของคนตัดสินที่อะไร? และเป้าหมายปลายทางของชีวิตอยู่ตรงไหน?
อะไรคือสิ่งบ่งบอกความเป็นมนุษย์? ภาพลักษณ์หน้าตา นิสัยการกระทำ? ครึ่งแรกของหนัง Merrick ถูกแบ่งแยกกีดกันจากคนชนชั้นล่าง+กลางเพราะมีใบหน้าตาไม่เหมือนมนุษย์ แต่ครึ่งหลังเมื่อส่วนที่อยู่ลึกภายในจิตใจ ตัวตนแท้จริงได้รับการเปิดเผย แม้แต่คนชนชั้นสูงยังให้การยอมรับ
การกระทำของ Frederick Treves ต่างอะไรกับ Mr. Bytes? คำตอบคือ วิธีการไม่แตกต่าง แต่ความตั้งใจของผู้ให้ และความรู้สึกของผู้รับนั้นแตกต่าง นั่นเพราะคุณค่าความดีของคนไม่ได้วัดกันที่วิธีการ แต่คือความปรารถนาของหัวใจ
Merrick เป็นคนไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิต แต่ได้รับความพึงพอใจสูงสุดหลังจากพบเจอรู้จัก Treves เติมเต็มส่วนที่ขาดหาย ทำให้ตัวเขาไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เอ่อล้นด้วยความสุข ตายไปก็ไม่มีอะไรต้องเสียดาย ดังคำพูดประโยคที่ว่า
”My life is full because I know I am loved.”
ชีวิตฉันได้รับการเติมเต็ม เพราะรู้จักว่ามีคนรัก, นี่ถือเป็นเป้าหมายสันติภาพ ความตั้งใจของผู้กำกับ Lynch นำเสนอว่า เมื่อใดที่มนุษย์ได้รับรู้จักความรักจากคนรอบข้าง คงไม่มีใครคิดสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้เกิดความขัดแย้ง ก็ดูอย่าง John Merrick ทั้งๆที่ถูกโลกทั้งใบปฏิเสธต่อต้าน แต่เมื่อได้พบแสงสว่างความอบอุ่น แม้เพียงเล็กน้อยก็เกินพอให้อภัยทุกสิ่งอย่างอันชั่วร้ายที่เกิดขึ้นผ่านมากับตนเอง
สำหรับตัวผมมอง John Merrick รวมถึงบรรดาผู้มีความผิดปกติ (Freaks) และคนพิการทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชาตินี้ ล้วนเป็นผลกรรมจากการกระทำเมื่อชาติก่อนๆ ตามต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
– ชาตินี้แขนขาขาด เพราะชาติก่อนเคยทำกรรมชั่ว ตัดแขนขาผู้อื่นหรือทรมานสัตว์
– ใบหน้าน่ารังเกียจอัปลักษณ์ เพราะชาติก่อนเป็นคนโมโหโทโส หัวเสียหงุดหงิดง่าย หน้านิ่วคิ้วขมวด
– พูดไม่ได้ สติปัญญาต่ำ วิกลจริต เพราะชาติก่อนดื่มน้ำเมามาย ก่อเรื่องอาละวาดสร้างความเสียหาย
ฯลฯ
ถ้าคุณมีทัศนคติ ความคิด เข้าใจสัจธรรมของโลกเช่นนี้ ‘ความสงสาร’ มันจะเลือนรางเบาบางจนแทบไม่รู้สึกอะไร น่าสมน้ำหน้าด้วยซ้ำที่กรรมจากชาติก่อนตามทันเห็นผล ว่าไปควรจักเป็นบทเรียนเตือนสติมนุษย์ ให้รู้จักมีสติ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ปฏิบัติศีล ๕ (แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องพรรค์นี้ การตีความมันเลยออกมาด้วยความรู้สึกล้วนๆ)
สิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำสั่งสอน เมื่อพบเจอคนที่มีความผิดปกติ คือให้รู้จักการมี ‘เมตตากรุณา’ ทุกข์ของพวกเขาถือว่าหนักอยู่แล้วไม่มีใครสามารถช่วยเหลือแบ่งเบาได้ แต่ถ้าเราสามารถชี้แนะนำพา ให้จิตใจของเขารู้จักปล่อยวาง ให้อภัย ลดละโลภะ โทสะ โมหะ กรรมในชาติถัดๆไปก็จะเบาบางลง … ว่าไป John Merrick คงน่าที่จะใกล้ชดใช้กรรมหมดแล้วกระมัง เพราะจิตใจของเขาได้พบความสุขสงบ เลิกที่จะทุกข์เพราะรูปอัปลักษณ์ของตนเอง
ด้วยทุนสร้าง $5 ล้านเหรียญ เฉพาะในอเมริกาทำเงินไปถึง $26 ล้านเหรียญ กำไรล้นหลาม, เข้าชิง Oscar 8 สาขา แต่กลับไม่ได้สักรางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture พ่ายให้กับหนังเรื่อง Ordinary People
– Best Director พ่ายให้กับ Robert Redford เรื่อง Ordinary People
– Best Actor (John Hurt) พ่ายให้กับ Robert De Niro เรื่อง Raging Bull
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Costume Design
– Best Film Editing
– Best Music, Original Score พ่ายให้กับหนังเรื่อง Fame
ต้องถือว่า Oscar ปีนี้สายแข็งมากๆ ประกอบด้วย Ordinary People, Raging Bull, Tess ความพ่ายแพ้ของ The Elephant Man ค่อนข้างจะยอมรับได้
กระนั้นมีสาขาพิเศษหนึ่ง Technical Award สมควรต้องได้อย่างยิ่งคือ Best Makeup Effect แต่กลับไร้ชื่อตอนประกาศรางวัล นี่สร้างข้อกังขารุนแรงให้กับ Academy ถึงขนาดปีถัดไปต้องเพิ่มเติมหนึ่งสาขารางวัล Best Makeup มอบให้กับ An American Werewolf in London (1981) เป็นเรื่องแรก
เกร็ด: ก่อนหน้าจะเริ่มมีสาขา Best Makeup ภาพยนตร์สองเรื่องที่คว้ารางวัลคือ 7 Faces of Dr. Lao (1964) กับ Planet of the Apes (1968)
ถึงผมจะไม่รู้สึกอะไรกับ John Merrick แต่ก็มีความชื่นชอบประทับใจหนังพอสมควร ในการแสดงอันทรงพลังของ John Hurt ไดเรคชั่นเหมือนฝันของผู้กำกับ Lynch และการตัดต่อของท่านแม่ Anne V. Coates เต็มไปด้วยลีลา ชั้นเชิง มีความสุภาพนุ่มนวลต่อผู้ชมเป็นที่สุด
แนะนำกับคอหนัง Body Horror ชื่นชอบความอัปลักษณ์แปลกประหลาด สนใจในคณะละครสัตว์ ชีวประวัติของ John Merrick แฟนๆผู้กำกับ David Lynch และนักแสดง John Hurt, Anthony Hopkins, Anne Bancroft, John Gielgud ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับความอัปลักษณ์ของตัวละคร
Leave a Reply