The Valiant Ones (1975) Hong Kong : King Hu ♥♥♥♡

(mini Review) ในยุคสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368–1644) รัชสมัยของจักรพรรดิเจียจิ้ง ที่เต็มไปด้วยคอรัปชั่น กำลังมีปัญหากับพวกญี่ปุ่นและโจรสลัดทางตะวันออกของประเทศ นายพลหยูต้าหยู ได้รับภารกิจเพื่อต่อสู้ทำลายญี่ปุนและโจรสลัด เพื่อทวงคืนความสงบสุขกลับคืนมาสู่ประเทศจีน

พล็อตมีเท่านั้นนะครับ แต่หนังถือว่าไม่ธรรมดาเลย กรรมวิธีในการนำเสนอมีความน่าสนเท่ห์ ลึกล้ำเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากความขี้เกียจของผมเอง จะขอพูดถึงหนังแค่สั้นๆคร่าวๆ โดยย่อแล้วกัน (แต่ก็ยาวอยู่ดีนะ)

หลังความล้มเหลวด้านรายรับของ A Touch of Zen ในฮ่องกงและไต้หวัน (นี่ก่อนจะได้ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 1975) ทำให้ King Hu จำใจต้องหวนกลับคืนสู่ Hong Kong เซ็นสัญญากับ Golden Harvest ขอทุนสร้างหนัง 2 เรื่องติด (back-to-back) ถ่ายทำไปพร้อมๆด้วยทีมงานชุดเดียวกัน ประกอบด้วย The Fate of Lee Khan และ The Valiant Ones ทีแรกตั้งใจให้ออกฉายควบพร้อมกันด้วย แต่ Golden Harvest มองว่า The Fate of Lee Khan ดูเข้าถึงง่ายกว่า เลยเร่งให้ออกฉายก่อนปี 1973 ปล่อยให้ The Valiant Ones ล่าช้าไปถึงสองปี ออกฉาย 1975

ทั้งสองเรื่องมีพล็อต โครงสร้างคล้ายๆกัน แถมเป็นแนว Wuxia และรวมดาราดังแห่งยุคหลายคน, ใจความจะเกี่ยวกับชาตินิยมชาวจีนต่อสู้กับผู้รุกรานต่างประเทศ

สำหรับกลุ่มพระเอกในเรื่องประกอบด้วย นายพลหยูต้าหยู (Yu Da-you) รับบทโดย Roy Chiao (หลวงจีนใน A Touch of Zen) ด้านบุ๋นมีความเฉลียวฉลาดลึกล้ำ คิดหน้าคิดหลังรอบคอบเป็นอย่างดี ส่วนด้านบู๋ วิชาฝ่ามือถือว่าไม่ธรรมดา (เตะกับฟันดาบแค่ปานกลางเท่านั้น)

Ying Bai, หยิงบาย รับบท Wu Jiyuan เจ้าของฉายา Wind Blow (ลมอีสาน) ความเฉลียวฉลาดค่อนข้างสูง ส่วนวรยุทธ์ลึกล้ำเป็นอันดับหนึ่งทางเหนือ เก่งทุกอย่างยกเว้นยิงธนู และมีความกล้าหาญเสียสละ รักชาติไม่เกรงกลัวต่อศัตรูพวกมาก

Hsu Feng, สีว์เฟิง รับบท Wu Re-shi เหมือนว่าจะเป็นน้องสาวของ Wu Jiyuan ทั้งเรื่องมีพูดแค่ 1-2 ประโยคเองกระมัง แต่สีหน้าความเคร่งเครียดไม่เคยยิ้ม และยิงธนูแม่นราวจับวาง ทำให้ใครๆต่างจับจ้องให้ความสนใจเธออย่างยิ่ง

สำหรับฝั่งตัวร้าย Han Ying-Chieh รับบท Xu Dong เจ้าของเกาะ หัวหน้าโจรชาวจีนที่เข้าข้างกับญี่ปุ่น ความเฉลียวฉลาดปานกลาง วิทยายุทธมีดีด้านการเตะ สุดท้ายเมื่อจนมุมหยูต้าหยู จึงตัดสินใจรับผิดทุกข้อกล่าวหาที่ขายชาติรับใช้ญี่ปุ่น

Sammo Hung, หงจินเป่า นอกจากเป็นคนออกแบบท่าการต่อสู้ของหนังแล้ว ยังรับบท Bodojin หัวหน้าของทหารชาวญี่ปุ่น ที่เข้ามาปั่นป่วนสร้างความวุ่นวายให้ชายแดนของประเทศจีน, วิทยายุทธของ Bodyjin ถือว่าระดับปรมาจารย์ โดยเฉพาะดาบซามูไร ฟาดฟันอย่างบ้าคลั่งรุนแรง ถ้าไม่เพราะเกิดเหตุสุดวิสัยคงยากที่จะพ่ายแพ้ใคร

Yuen Siu-tien, เหยือนซิวเทียน อาจารย์สอนหมัดเมาให้เฉินหลงในเรื่อง Drunken Master (1978) รับบทเป็นหลวงจีน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการยิงธนูแม่นมาก

ถ่ายภาพโดย Chen Ching-Chu, ขณะที่ The Fate of Lee Khan ส่วนใหญ่ถ่ายทำภายใน (โรงเตี๊ยม) The Valiant Ones แทบทั้งหมดถ่ายทำภายนอก แม้จะไม่เสียเวลาเอาแต่ถ่ายให้ติดพระอาทิตย์แบบ A Touch of Zen แต่ก็มีการเลือกฉากพื้นหลัง สถานที่ถ่ายทำได้อย่างสวยงาม

ตัดต่อโดย King Hu ใช้มุมมองของสองตัวละครเล่าเรื่อง คือ นายพลหยูต้าหยู และ Wu Jiyuan สามารถเรียกได้ว่า ครึ่งแรกเล่าเรื่องโดยฝ่ายบุ๋น ครึ่งหลังเล่าเรื่องโดยฝ่ายบู๋

ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้คือฉากการต่อสู้ช่วงไคลน์แม็กซ์ที่มีการประกบคู่ได้อย่างน่าสนใจมาก
– [คู่รอง] นายพลหยูต้าหยู (เก่งฝ่ามือ) vs Xu Dong (เก่งเตะ)
– [คู่ยิงธนู] Wu Re-shi (เก่งธนู) vs หลวงจีน (เก่งธนู)
– [คู่เอก] Wu Jiyuan vs Bodojin

ถึงผลลัพท์จะเป็นดั่งที่ใครๆสามารถคาดเดาได้ แต่ฉากการต่อสู้ล้วนมีความสนุกสนาน ตื่นเต้น และบางสิ่งอย่างคาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะคู่เอก มีการใช้เทคนิคที่เรียกว่าพายุหมุน (Whirlwind) ตัวละคร Bodojin ทำการฟันดะรอบตัวอย่างบ้าคลั่งและรุนแรง Wu Jiyuan ต้องกระโดดหลบไปมาเพื่อหาจังหวะสวนโต้ตอบ และหนังใช้การเร่งความเร็วตัดสลับ Montage ไปมาของทั้งสองฝ่ายสูงมากๆ ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ลุ้นระทึก หวาดเสียว ผลลัพท์ออกมาต้องบอกว่าสร้างความเข้มข้น (Intense) ตึงเครียดอย่างยิ่งเลยทีเดียว

เพลงประกอบโดย Wang Yun-Dong มีส่วนผสมของทั้งดนตรีงิ้ว และเหมือนจะมีเสียงดนตรีคลาสสิกของชาติตะวันตกผสมเข้ามาด้วย, นี่มีนัยยะคล้ายๆกับการเข้ามาของชาวญี่ปุ่น คือเป็นตัวแทนการรุกรานของชาวต่างชาติ นี่ไม่ทำให้กลิ่นอายบรรยากาศของหนังเปลี่ยนนะครับ เพราะมีทำนองที่ไม่ต่างจากบทเพลงของจีนมากนัก แทบไม่รับรู้สึกถึงความแตกต่าง ต้องสังเกตสักหน่อยก็จะรู้ได้ เพราะมันไม่ใช่เสียงงิ้ว แล้วมันเสียงอะไรละ!

การต่อสู้กับศัตรู ไม่ว่าจะเป็นใคร-ที่ไหน-เมื่อไหร่-อย่างไร จำเป็นต้องมีความรอบรู้ด้านบุ๋น และมีฝีมือการต่อสู้ด้านบู๊ ถึงจะมีโอกาสเอาชนะกำชัยได้, แผนการที่เฉลียวฉลาด รัดกุม รอบคอบ จะทำให้ผู้ปฏิบัติการ จอมยุทธ์ ผู้เสียสละเสี่ยงตาย แนวหน้า มีความเชื่อมั่นไว้ใจ ไม่หวาดหวั่นกลัวเกรงต่อศัตรู เพราะรับรู้ว่าตัวเองจะไม่ถูกทอดทิ้งหรือทรยศหักหลังจากคนที่ตนไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ใช่ว่าความผิดพลาดจะเกิดขึ้นมิได้ ข้างในจิตใจของเขาผู้นั้นย่อมตระหนักถึงความเสี่ยง จึงกล้าที่จะเสียสละต่อสู้ ถ้าตัวตายก็รับรู้ว่า ได้ทำให้อนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

นี่คือองค์ประกอบของหนัง ‘ชาตินิยม’ แบบเดียวกับ The Fate of Lee Khan ที่โชคชะตาของเชื้อพระวงศ์มองโกล ชาวต่างชาติ จำต้องถูกชาวฮั่นแท้ๆขับไล่ออกไปจากดินแดนของพวกเรา, ซึ่งใจความแฝงของหนัง เพราะ King Hu เป็นผู้ฝักใฝ่ในเจียงไคเชก เราจึงสามารถแทนจักรพรรดิเจียจิ้ง ที่เต็มไปด้วยคอรัปชั่น ด้วยเหมาเจ๋อตุง ซึ่งแม้จะเป็นฮ่องเต้ที่ไม่ได้เรื่องเท่าไหร่ แต่เพราะตนเองมีสายเลือดจีน เมื่อมีผู้มารุนรานก็จักต้องร่วมมือกันวางแผนขับไล่ออกไปจากดินแดนของเรา

ผมมีความเพลิดเพลินกับการวางแผนต่อสู้ของทั้งฝ่ายบุ๋นและบู๋เป็นอย่างยิ่ง เกิดความตื่นเต้นประทับใจ อึ้งทึ่งคิดได้ยังไง ลึกล้ำ (แม้จะไม่ค่อยมีอะไรให้คิดต่อเท่าไหร่) บอกเลยว่าถ้าไม่มีหนังเรื่องอื่นระดับตำนานของ King Hu ให้เปรียบเทียบ คงได้ยกย่องสรรเสริญหนังเรื่องนี้เป็นล้นพ้นแน่ แต่เมื่อจำต้องเปรียบเทียบ สู้ไม่ได้ แต่ก็มีมิติบางอย่างที่ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

ประทับใจสุดคือแผนการขณะถูกห้อมล้อมทุกทิศทาง แทนที่พวกเขาจะกลายเป็นลูกไก่ในกำมือ แม้คนจะน้อยกว่ามหาศาล แต่สามารถชิงความได้เปรียบถ้าสามารถฝ่าวงล้อมออกไปได้, นี่มีนัยยะถึงการสิ้นสุดของเจียงไคเช็กด้วย เพราะขณะนั้นได้ถูกห้อมล้อมตัดขาดจากภายนอกทุกทิศทุกทาง (สหประชาชาติไม่ยอมรับ, เกิดความคอรัปชั่นภายในไต้หวัน, ประชาชนเลิกยอมรับฯ ) ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นไปไหนได้อีกแล้ว มีวิธีเดียวเท่านั้นคือสู้จนตัวตาย, เจียงไคเชก เสียชีวิตเมื่อปี 1975 ไม่แน่ใจก่อนหรือหลังหนังเรื่องนี้ออกฉาย

แนะนำกับคอหนังจีน ต่อสู้ฟันดาบ ชื่นชอบแนวกำลังภายใน Wuxia, นักประวัติศาสตร์ชาติจีน ยุคสมัยราชวงศ์หมิง, ชื่นชอบหนังแนวรวมดาราดังแห่งยุค อาทิ Roy Chiao, หยิงบาย, สีว์เฟิง, หงจินเป่าและแฟนๆ King Hu และหงจินเป่าไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความรุนแรงของการต่อสู้ และความตาย

TAGLINE | “The Valiant Ones มีความลึกล้ำโดดเด่นทั้งบุ๋นและบู๋ แม้เป็นผลงานที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของ King Hu แต่แฟนพันธุ์แท้ไม่ควรพลาดเลย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: