The Wrong Man (1956) : Alfred Hitchcock ♥♥♥♡
ครั้งแรกครั้งเดียวที่ผู้กำกับ Alfred Hitchcock สร้างภาพยนตร์จากเหตุการณ์จริง ตำรวจจับผู้ร้ายผิดคน! พยายามเก็บรายละเอียด ถ่ายทำยังสถานที่จริง รวมถึงตัวประกอบ/พยานในที่เกิดเหตุ ทำออกมาในสไตล์กึ่งสารคดี (Docu-Drama)
ความตั้งใจของผกก. Hitchcock ต้องการตีแผ่ความจริง ทำออกมาในลักษณะกึ่งสารคดี (Docu-Drama หรือ Docu-Fiction) จึงพยายามซื่อตรงต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้นให้มากที่สุด ฟังดูมันก็น่าสนใจ แต่เท่าที่ผมสังเกตเห็นใน The Wrong Man (1956) คละคลุ้งด้วยบรรยากาศหนังนัวร์ (film noir) และสไตล์ลายเซ็นต์ Hitchcockian ถ้าไม่มีการเกริ่นนำตอนต้นเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็แทบจะไม่แตกต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Hitchcock
ทีแรกผมไม่ได้ตั้งใจจะเขียนถึง The Wrong Man (1956) แต่ไปพบเจอว่าคือหนึ่งในแรงบันดาลใจ Martin Scorsese สรรค์สร้าง Taxi Driver (1967) [เป็นหนังที่พาทัวร์ New York City เก็บฝังไว้ในไทม์แคปซูล] และ Jean-Luc Godard เมื่อครั้นยังเป็นนักวิจารณ์ เคยเขียนบทความกล่าวยกย่องสรรเสริญภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ยาวเหยียด (ในหนังสือ Godard on Godard บทความวิจารณ์ The Wrong Man ความยาว 7 หน้าล้นๆ)
In violently contrasted lighting, [Hitchcock] speaks: ‘This films is unlike any of my other films. There is no suspense. Nothing but the truth.’ One must read between the lines. The only suspense in The Wrong Man is that of chance itself. The subject of this film lies less in the unexpectedness of events than in their probability. With each shot, each transition, each composition, Hitchcock does the only thing possible for the rather paradoxical but compelling reason that he could do anything he liked.
Jean-Luc Godard
Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang
ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938), จากนั้นเซ็นสัญญา(ทาส)โปรดิวเซอร์ David O. Selznick ออกเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างผลงาน Rebecca (1940), Spellbound (1945), Notorious (1946), พอหมดสัญญา(ทาส)ออกมาก่อตั้งสตูดิโอ Transatlantic Pictures แต่กลับไม่มีผลงานเรื่องไหนประสบความสำเร็จ เลยจำต้องเซ็นสัญญา Warner Bros. สามโปรเจค Stranger on a Train (1951), Dial M for Murder (1954) และ The Wrong Man (1956)
สำหรับ The Wrong Man ถือเป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่ผกก. Hitchcock ทำการดัดแปลงเหตุการณ์เคยเกิดขึ้นจริงเมื่อปี ค.ศ. 1951, เรื่องราวของ Christopher Emmanuel “Manny” Balestrero นักดนตรีทำงานไนท์คลับ Stork Club, New York City วันหนึ่งโดนตำรวจจับกุม เนื่องจากถูกกล่าวหาโดยพนักงานบริษัทประกัน ครุ่นคิดว่าคือโจรปล้นชิงทรัพย์เมื่อหลายวันก่อน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ศรีภรรยา Rose Balestrero เกิดอาการเสียสติแตก (Nervous Breakdown) ต้องเข้ารักษาตัวในสถาบันจิตเวช
นักข่าว Herbert Brean (1907-73) นักข่าวอิสระ/นักเขียนนวนิยายอาชญากรรม หนึ่งในผู้เกาะติดเหตุการณ์ดังกล่าว รวบรวมเรื่องราวตีพิมพ์บทความ A Case of Identity ลงนิตยสาร Life ฉบับเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1953 พร้อมๆขายลิขสิทธิ์ให้สถานี NBC ทำเป็นละคอนโทรทัศน์ ออกอากาศรายการ Robert Montgomery Presents (1950-57): SS5, Ep20 ชื่อตอน A Case of Identity ฉายวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1954
ผกก. Hitchcock เมื่อมีโอกาสอ่านบทความดังกล่าว จึงโน้มน้าวสตูดิโอ Warner Bros. ให้ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงแลกกับการไม่รับค่าตัว (WB ไม่ได้มีความสนใจโปรเจคนี้ แต่พอ Hitchcock บอกไม่รับค่าตัวจึงยินยอมออกทุนสร้าง) แล้วมอบหมายนักเขียน Maxwell Anderson และ Angus MacPhail ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์ พยายามทำออกมาให้ตรงต่อเหตุการณ์จริงมากที่สุด!
เกร็ด: ในเครดิตขึ้นว่า “Based on The True Story of Christopher Emmanuel Balestrero by Maxwell Anderson” แต่เท่าที่ผมลองหาข้อมูล Anderson ไม่เคยเขียนหนังสือ/นวนิยายเล่มดังกล่าว คาดว่าน่าจะคือชื่อบทร่าง (Treatment) เสียมากกว่า!
เกร็ด2: Manny Balestrero ได้รับค่าลิขสิทธิ์จากหนัง $22,000 เหรียญ เพียงพอจ่ายค่ารักษาพยาบาลภรรยา Rose แต่อาการป่วยของเธอเพียงสามารถกลับมาใช้ชีวิต ไม่เคยหายขาดจนวันตาย
เรื่องราวของ Manny Balestrero (รับบทโดย Henry Fonda) นักดนตรีฐานะปานกลาง ทำงานอยู่ Stork Club ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง อาศัยอยู่กับภรรยา Rose (รับบทโดย Vera Miles) และบุตรชายสองคน
วันหนึ่ง Manny เดินทางไปบริษัทประกันเพื่อจะขอกู้ยืมเงินมาให้ภรรยาใช้รักษาอาการปวดฟัน แต่พนักงานกลับเกิดความเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเขาคือโจรปล้นชิงทรัพย์เมื่อหลายวันก่อน จึงแจ้งตำรวจเข้าจับกุมตัว นำพาไปยังร้านค้าต่างๆให้ชี้ตัว ตรวจสอบลายมือพบเห็นความละม้ายคล้ายคลึง เลยถูกส่งตัวขึ้นศาลไต่สวน ฝากขังในเรือนจำ ยังดีสามารถประกันตัวออกมาได้
ความโชคร้ายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ระหว่างที่ Manny และภรรยา Rose ออกติดตามหาประจักษ์พยาน (Alibi) ยืนยันตัวตนในวันเกิดเหตุ ปรากฎว่าบุคคลที่สามารถให้การกลับมีเหตุอันเป็นไป ล้มหายตายจาก จนสร้างความท้อแท้สิ้นหวังให้ Rose สูญเสียสติแตก (Nervous Breakdown) จนต้องส่งเข้ารักษาตัวในสถาบันจิตเวช
โชคยังดีที่สุดท้ายแล้ว โจรผู้ร้ายตัวจริงหวนกลับมาก่ออาชญากรรม ออกปล้นร้านค้าอีกครั้ง ทำให้ Manny สามารถรอดพ้นความผิด เหตุการณ์บังเกิดขึ้นทั้งหมดคือการจับผิดคน!
Henry Jaynes Fonda (1905-82) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Grand Island, Nebraska ในครอบครัว Christian Scientist วัยเด็กเป็นคนขี้อาย ชอบว่ายน้ำ เล่นสเก็ต และวิ่งแข่ง โตขึ้นวาดฝันอยากทำงานสายข่าว เข้าศึกษาต่อ University of Minnesota แต่ไม่ทันเรียนจบกลายมาเป็นนักแสดงที่ Omaha Community Playhouse อาศัยอยู่ร่วมห้องพักเดียวกับเพื่อนสนิท James Stewart, เริ่มมีชื่อเสียงจาก Broadway เรื่อง The Farmer Takes a Wife (1934) กลับมารับบทเดิมในฉบับภาพยนตร์ปี 1935, ติดตามด้วย You Only Live Once (1937), Jezebel (1938), Young Mr. Lincoln (1939), Jesse James (1939), ผลงานขึ้นหิ้ง อาทิ The Grapes of Wrath (1940), The Lady Eve (1941), The Ox-Bow Incident (1943), My Darling Clementine (1946), War and Peace (1956), 12 Angry Men (1957), How the West Was Won (1965) ฯ
เกร็ด: Henry Fonda ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Male Legends ติดอันดับ #6
รับบท Christopher Emmanuel “Manny” Balestrero นักดนตรีวัยกลางคน ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง แม้บางครั้งต้องติดหนี้ยืมสิน แต่ก็มีครอบครัวอบอุ่น ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร จนอยู่มาวันหนึ่งถูกตำรวจจับกุมตัว ตกเป็นผู้ต้องหาโจรปล้นชิงทรัพย์ แถมยังซวยซ้ำซวยซ้อน โชคชะตาไม่เข้าข้าง ก็ยังพยายามอดกลั้นฝืนทน เชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งความจริงต้องปรากฎ
ครั้งแรกครั้งเดียวที่ Henry Fonda ร่วมงานผกก. Hitchcock แม้พี่แกจะดูแก่เกินไปนิด (Fonda ขณะนั้นย่างเข้า 50 แต่ Manny Balestrero ตอนถูกจับกุมอายุ 43 ปี) แต่ภาพจำพ่อคนดีศรีอเมริกัน ไม่เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายอะไร เมื่อถูกกลั่นแกล้ง ตำรวจจับผิดคน ชีวิตพังทลายย่อยยับเยิน ย่อมทำให้ผู้ชมรู้สึกโคตรๆเจ็บปวด สงสารเห็นใจ แผดเผาทรวงใน ยินยอมรับไม่ได้กับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ตัวละครของ Fonda พยายามควบคุมสติอารมณ์ ใช้น้ำเสียงปกติที่มีความละมุนนุ่มนวล สัมผัสถึงความรักเอ่อล้น “Rose, honey, I love you.” “I want the best for her.” แต่ขณะเดียวกันภายในย่อมเต็มไปด้วยความสับสน หวาดกังวล นี่ฉันกระทำความผิดอะไร? กำหมัด อัดอั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง เชื่อในความบริสุทธิ์ของตนเอง จักสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง เอาชนะทุกข้อกล่าวหา
บางคนอาจมองว่า Manny เป็นบุคคลอ่อนแอ โลกสวย มองโลกในแง่ดีเกินไป เมื่อตอนถูกจับหรือขณะส่งตัวเข้าเรือนจำก็ราวกับศิโรราบต่อโชคชะตา แต่ผมมองว่านี่แหละคือบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป “Common Man” ฉันไม่เคยทำอะไรผิดจะให้แสดงปฏิกิริยาอะไร? นอกจากความเก็บกด อัดอั้น เชื่อมั่นว่าความจริงคือสิ่งไม่ตาย เรื่องพรรค์นี้สามารถบังเกิดขึ้นกับใครก็ได้
Vera June Miles (เกิดปี ค.ศ. 1929) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Boise City, Oklahoma แล้วมาเติบโตยัง Pratt, Kansas ก่อนปักหลังอยู่ Wichita ระหว่างเรียนมัธยมทำงานกะดึก Western Union กระทั่งสมัครประกวดนางงามเมื่อปี ค.ศ. 1948 กลายเป็น Miss Kansas และรองชนะเลิศอันดับสาม Miss America, อพยพย้ายสู่ Los Angeles ได้เป็นตัวประกอบโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เซ็นสัญญาสตูดิโอ Warner Bros. แจ้งเกิดกับ The Searchers (1956), The Wrong Man (1956), Psycho (1960), The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ฯ
รับบทศรีภรรยา Rose Balestrero ผู้มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี เป็นแม่บ้านที่ดี เพียงพร่ำบ่นเรื่องอาการปวดฟัน แต่หลังจากสามีถูกจับกุม ระหว่างช่วยติดตามหาพยานมาให้ปากคำ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด พวกเขาเหล่านั้นล้วนมีเหตุเป็นไป จู่ๆเกิดอาการน็อตหลุด สติแตก หัวเราะลั่น จากนั้นเซื่องซึม ดวงตาเหม่อลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว กล่าวโทษตนเองว่าคือสาเหตุให้ชายคนรักตกระกำลำบาก เลยถูกส่งไปรักษาตัวยังสถาบันจิตเวชศาสตร์
ในช่วงแรกๆ Rose ก็แค่แม่บ้าน/ศรีภรรยาทั่วๆไป เอ่อล้นด้วยความรัก ซื่อสัตย์ เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์สามี แต่วินาทีน็อตหลุด สติแตก (Nervous Breakdown) การแสดงของ Miles ต้องถือว่าสร้างความประทับจับใจโดยทันที เริ่มจากเสียงหลุดหัวเราะที่สร้างความวาบหวิว อกสั่นขวัญหาย ต่อด้วยท่าทางเซื่อมซึม ดวงตาเหม่อลอย หมดสูญสิ้นความหวัง นั่นทำให้ผู้ชมรู้สึกจุกแน่นอก หายใจไม่ออก สมองหนักอึ้ง ทั้งๆหญิงสาวไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทำไมโชคชะตากลับทำร้ายเธอได้ถึงเพียงนี้ … ขโมยความโดดเด่นไปจาก Fonda โดยสิ้นเชิง
ผกก. Hitchcock มีความประทับใจ Miles อย่างมากๆ หมายหมั้นปั้นมือให้เป็นผู้สืบทอด Grace Kelly (ที่เพิ่งแต่งงานกลายเป็น Princess of Monaco) หลังเสร็จจาก The Wrong Man (1956) คาดหวังให้รับบทนำ Vertigo (1958) แต่บังเอิญตั้งครรภ์ ถึงอย่างนั้นยังได้ร่วมงาน Psycho (1960), รายการโทรทัศน์ Alfred Hitchcock Presents และ The Alfred Hitchcock Hour น่าเสียดายกลายเป็นเพียงดาวดวงเล็กๆ แต่ก็ยังประดับค้างฟ้า
ถ่ายภาพโดย Leslie Robert Burks (1909-68) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chino, California พออายุ 19 เข้าทำงานแผนก Special Effect ในห้องแลป Warner Bros. ก่อนไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ช่วยตากล้องเมื่อปี ค.ศ. 1929, ควบคุมกล้อง ค.ศ. 1934, แล้วได้รับเครดิตถ่ายภาพตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944, ร่วมงานขาประจำผกก. Alfred Hitchcock เริ่มตั้งแต่ Strangers on a Train (1951) จนถึง Marnie (1964), คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, Color ภาพยนตร์ To Catch a Thief (1955)
I want it to look like it had been photographed in New York in a style unmistakably documentary.
Alfred Hitchcock
ด้วยความตั้งใจที่จะให้ The Wrong Man (1956) มีความซื่อตรงต่อเรื่องราว เหตุการณ์บังเกิดขึ้นมากที่สุด ผกก. Hitchcock จึงพยายามเลือกใช้สถานที่จริง บ้านพัก ไนท์คลับ บริษัทประกัน เรือนจำ สถาบันจิตเวช ฯ ตัวประกอบล้วนเคยเป็นพยานในที่เกิดเหตุจริงๆ นำเสนอด้วยวิธีการอันเรียบง่าย บริสุทธิ์ ‘minimal style’ ออกมาให้เหมือนสไตล์สารคดี (Docu-Drama หรือ Docu-Fictional)
For the sake of authenticity everything was minutely reconstructed with the people who were actually involved in that drama. We even used some of them in some of the episodes and, whenever possible, relatively unknown actors. We shot the locations where the events really took place. Inside the prison we observed how the inmates handle their bedding and their clothes; then we found an empty cell for Fonda and we made him handle the routines exactly as the inmates had done. We also used the actual psychiatric rest home to which his wife was sent and had the actual doctors playing themselves.
แต่ทว่าทุกช็อตฉากของหนัง ล้วนคือมุมมอง ความครุ่นคิด วิสัยทัศน์ สไตล์ลายเซ็นต์ของผกก. Hitchcock ปรากฎพบเห็นอย่างเด่นชัด นั่นทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูไม่ค่อยรู้สึกเหมือนภาพยนตร์(กึ่ง)สารคดี (DocuDrama) ผมขอเรียกว่า Hitchcokian ในรูปแบบ Minimalist ก็แล้วกัน!
แซว: โดยปกติแล้วผกก. Hitchcock นิยมชมชอบทำงานในสตูดิโอ เพราะสามารถควบคุมงานสร้าง รายละเอียดทุกสิ่งอย่าง แต่ทว่า The Wrong Man (1956) มุ่งมั่นตั้งใจลงพื้นที่จริง ถึงอย่างนั้นสภาพอากาศระหว่างการถ่ายทำ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1956 ยามค่ำคืนอุณหภูมิค่อนข้างเย็น และยิ่งตอนเดินทางไปโรงแรมต่างจังหวัด หิมะเพิ่งตก เลยนั่งกำกับอยู่บนรถลีมูนซีน เปิดเครื่องทำความร้อน พร้อมพร่ำบ่นอยู่เรื่อยๆ “This is a mistake!”
ดั้งเดิมนั้นผกก. Hitchcock ถ่ายทำฉากปรากฎตัว (Cameo) ระหว่าง Manny นั่งอยู่ในร้านอาหาร แต่ทว่าตัดสินใจตัดทิ้งฉากนั้น เพราะมันขัดแย้งต่อจริงของหนัง (เรื่องราวอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง มันจึงไม่ควรมีตนเองโผล่เข้ามา) น่าเสียดายที่ฟุตเทจนั้นสูญหายไป (มั้งนะ) หลงเหลือแค่เพียงภาพนิ่ง
ซึ่งการรับเชิญของผกก. Hitchcock เปลี่ยนมาปรากฎตัวแค่ตอนต้นเรื่อง พบเห็นเพียงภาพเงาย้อนแสง และได้ยินเสียงพูด บรรยายวัตถุประสงค์ของหนัง
This is Alfred Hitchcock speaking. In the past, I have given you many kinds of suspense pictures. But this time, I would like you to see a different one. The difference lies in the fact that this is a true story, every word of it. And yet it contains elements that are stranger than all the fiction that has gone into many of the thrillers that I’ve made before.
Stork Club ก่อตั้งโดย Sherman Billingsley (1869-1966) อดีตพ่อค้าสุราเถื่อน (Bootlegger) จาก Enid, Oklahoma เปิดกิจการเมื่อปี ค.ศ. 1929 ขณะนั้นตั้งอยู่ยัง West 58th Street (1929-31) ก่อนย้ายมา East 51st Street (1931-34) และ 3 East 53rd Street (1934-65) ถือเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเซเลป คนดัง วีรกรรมมากมาย อาทิ
- Prince Rainier ทำการสู่ขอแต่งงาน Grace Kelly
- Ernest Hemingway ขึ้นเช็ค $100,000 เหรียญ ได้จากค่าลิขสิทธิ์ดัดแปลงนวนิยาย For Whom the Bell Tolls สำหรับจ่ายบิลเครื่องดื่ม
- ไฮโซ Evalyn Walsh McLean เคยเกือบทำ Hope Diamond (เพชรสีน้ำเงินที่มีชื่อเสียงที่สุดโลก) สูญหายระหว่างดินเนอร์หรู
- Humphrey Bogart ถูกแบนห้ามเข้าไนท์คลับ หลังมีเรื่องโต้เถียงกับเจ้าของ Billingsley
เกร็ด: บุคคลที่อยู่ในวงกลมสีแดง กำลังแจกดอกไม้ให้แขกเหรื่อระหว่าง Opening Credit ก็คือเจ้าของไนท์คลับ Sherman Billingsley
ทศวรรษ 50s เป็นช่วงที่บทเพลงแนว (American) Jazz กำลังแพร่ระบาดไปทั่วทุกผับบาร์ ไนท์คลับ แต่ทว่าวงดนตรีนี้กลับฉีกแนวเพลงเต้นจังหวะ Mambo ที่ไม่ได้มุ่งเน้นออกท่วงท่า ลีลา สะบัดอารมณ์ สังเกตว่าตัวละครของ Fonda ยังเป็นบุคคลเดียวที่เล่นเครื่องสาย (Double Bass) และนักเปียโนคนนั้นคือ Bernard Herrmann
เมื่อตอนที่ Manny เดินทางมายังบริษัทประกัน ลองสังเกตลีลาการนำเสนอ เอาแค่ขณะเข้ามาติดต่อขอกู้เงิน กล้องถ่ายผ่านซี่กรง สายตาพนักงานสาวจับจ้องมองขณะล้วงกระเป๋า หยิบเอกสารด้วยความหวาดระแวง วิตกจริต มันช่างมีความผิดปกติ ลับลมคมใน … ผมมองไม่เห็นความธรรมดาของสามสี่ช็อตนี้เลยนะ มันคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอาย Hitchcockian ที่มีลักษณะคล้ายๆสไตล์ Bressonian
จะว่าไปหนังเต็มไปด้วยภาพระยะใกล้ (Close-Up) โคลสอัพใบหน้าตัวละคร เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นปฏิกิริยา สีหน้า อารมณ์ รวมถึงเก็บรายละเอียดการกระทำสิ่งอย่างๆ ล้วงกระเป๋า ยื่นเอกสาร กำมัด ฯ เหล่านี้ช่างมีลักษณะละม้ายคล้ายผลงานผกก. Robert Bresson หรือจะเหมารวมถึง Carl Theodor Dreyer (The Passion of Joan of Arc (1928)) ได้ด้วยเช่นกัน
ขวามือคือภาพถ่ายลงในนิตยสาร Life จำลองเหตุการณ์ที่ Manny ขณะกำลังจะไขกุญแจบ้าน ถูกตำรวจเรียกทัก ยังไม่ทันทำอะไรก็โดนควบคุมตัวขึ้นรถ พาไปโรงพัก, ผมแอบเสียดายที่ผกก. Hitchcock มีภาพต้นแบบที่ดูโคตรๆหลอกหลอน (ใช้ไฟสาดส่องไปยัง Manny แล้วเงาอาบฉาบตรงประตู) แต่กลับใช้เพียงเงาสลัวๆของกิ่งก้านต้นไม้ (เพื่อสื่อถึงบางสิ่งอย่างพยายามบดบัง กีดกั้นขวางไม่ให้เข้าบ้าน) เลยไม่ค่อยดูน่าจดจำสักเท่าไหร่
เกร็ด: บ้านของ Balestrero ตั้งอยู่ยัง 40-24 78th Street ในย่าน Jackson Heights แต่ทว่าทั้งหน้าบ้านและภายในกลับเป็นการสร้างฉากขึ้นใหม่ที่ Warner Brothers Studios เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายผนังกำแพง เข้าไปถ่ายทำภายในได้อย่างไม่มีอุปสรรค … อีกเหตุผลหนึ่งเพราะครอบครัว Balestrero ย้ายออกไปเรียบร้อยแล้ว
เกร็ด2: ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ซอยแห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Manny ‘The Wrong Man’ Balestrero Way เพื่อเป็นการโปรโมทจุดท่องเที่ยวไปในตัว
แม้หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อตอน Manny ถูกจับขึ้นรถตำรวจ ภาพทิวทัศน์ข้างทางยังคงใช้การฉายผ่านเครื่อง Rear Projection ถ่ายทำในสตูดิโอ … นั่นเพราะกล้องสมัยนั้นมีขนาดใหญ่เทอะทะ ยังไม่สามารถยัดเยียดเข้าไปภายในรถ
โดยคาดไม่ถึง ผมรู้สึกว่าเทคนิคนี้ช่วยสร้างบรรยากาศเหนือจริง กำลังล่องลอยจากไป เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่ทันจะเคาะประตู พูดบอกอะไรกับภรรยา กลับถูกทำให้พลัดพรากจาก (จะเรียกว่าชั่วนิรันดร์เลยก็ยังได้ เพราะไม่มีทางที่ทุกสิ่งอย่างจะหวนกลับคืนมาเหมือนเดิม)
แซว: เมื่อตอน Cary Grant ถูกลักพาตัวใน North by Northwest (1959) ก็โดนขนาบข้างซ้ายขวาเหมือนกัน!
ตลอดเวลาที่ Manny ยินยอมให้ความร่วมมือกับตำรวจ เขากลับไม่ได้รับคำอธิบายใดๆ จับกุมฉันมาทำไม? กระทำผิดข้อหาอะไร? จนกระทั่งวินาทีนี้ที่เขาขึ้นเสียง ใส่อารมณ์ “What are you taking about?” พร้อมกับกล้องเคลื่อนเลื่อนขึ้น ถ่ายให้เห็นมุมก้มลงมา
โดยปกติแล้วใครสักคนก่อนจะถูกควบคุมตัวไปโรงพัก ต้องได้แจ้งข้อกล่าวหา อธิบายเหตุผลว่ามาทำไม แต่การนำเสนอด้วยวิธีการนี้ของผกก. Hitchcock ผมแอบรู้สึกว่าเป็นการแสดงอคติ มองเหตุการณ์บังเกิดขึ้นคือความสะเพร่าของตำรวจ พบเจอผู้ต้องสงสัยก็พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ปิดคดี ได้ความดีความชอบโดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น เหตุการณ์จับคนผิดมันจึงเกิดขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ
เมื่อตอนที่ Manny ส่งตัวเข้าเรือนจำ(ชั่วคราว) กล้องถ่ายมุมมองบุคคลที่หนึ่ง สร้างความรู้สึกเหมือนว่าไม่ใช่แค่ตัวละคร แต่ยังผู้ชมได้รับประสบการณ์เหมือนตนเองกำลังจะถูกคุมขัง อกสั่นขวัญแขวน พอกรงเลื่อนปิด หันไปจับจ้องมองสิ่งต่างๆ เตียงนอน โถส้วม จากนั้นถ่ายภาพมือกำมัด และใบหน้าที่กำลังหมุนๆ เวียนวงกลม ตกอยู่ในความสับสน มึนงง ไม่เข้าใจว่ามันบังเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น
ตลอดทั้งซีเควนซ์นี้ยังได้เพลงประกอบ Overnight in Jail ที่ก็มีลักษณะเวียนวงกลม บรรเลงโน๊ตท่อนเดิมวนซ้ำไปซ้ำมา ค่อยๆเร่งความเร็ว เพิ่มระดับเสียง สร้างความปั่นป่วนมวนท้องไส้ เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน ราวกับพายุคลั่งกำลังถาโถมเข้าใส่
เกร็ด: เมื่อตอนผกก. Hitchcock อายุประมาณ 4-5 ขวบ จดจำไม่ได้ว่าเคยกระทำความผิดอะไร แต่บิดาบอกให้ตำรวจจับขังคุก นอนอยู่ในเรือนจำหนึ่งคืน ประสบการณ์เช่นนี้ใครจะสามารถหลงลืม
เรือนจำแห่งนี้คือ City Prison ตั้งอยู่ยัง 1 Court Square ในย่าน Queen, Manhattan ถ้าคุณตั้งใจรับฟังระหว่างตัวละครกำลังเดินขึ้นบันได้ จะได้ยินเสียงนักโทษตะโกนถาม “What’d they get ya for, Henry??” ตามด้วยเสียงหัวเราะของนักโทษคนอื่นๆ … การที่ผกก. Hitchcock จงใจเก็บเสียงนี้ไว้ ก็เพื่อให้ผู้ชมตระหนักว่านี่คือสถานที่จริง ห้องคุมขังของ Balestrero จริงๆ แต่มันจำเป็นขนาดนั้นเชียวหรือ??
พบเห็นบ้านสองชั้น ชวนให้ผมนึกถึงบ้านสไตล์(จิตรกร) Edward Hopper คล้ายๆแบบภาพยนตร์ Psycho (1960), แต่สถานที่แห่งนี้คือบ้านพักชนบทที่ Manny และ Rose เคยเข้าอาศัยในช่วงระหว่างวันเกิดเหตุการณ์จี้ปล้นบริษัทประกัน ตั้งอยู่ยัง 76 Angola Road ณ Cornwall, New York City ไม่รู้ว่าถูกทุบทำลายไปแล้วหรือยัง
ระหว่างที่ Manny และ Rose ออกเดินทางตามหาพยาน ปรากฎว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัด บุคคลที่ช่วยเหลือพวกเขาได้กลับมีเหตุให้ตกตาย (จริงๆมันมีหลักฐาน/พยานอื่นๆที่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ แต่ทว่าหนังจงใจตัดประเด็นนั้นทิ้งไป เพื่อเพิ่มความเข้มข้น ตึงเครียดให้กับเรื่องราว) วินาทีนั้นหญิงสาวหันเข้าหาเงามืด จากนั้นหลุดหัวเราะอย่างคลุ้มคลั่ง
ระหว่างพูดคุยกับทนาย Rose เริ่มมีท่าทางผิดปกติ สายตาเหม่อลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว วันต่อๆมาพบเห็นไม่หลับไม่นอน นั่งนิ่งๆอยู่ข้างเตียง ดวงตาเบิกพองโต พยายามพร่ำพูดอะไรไม่รู้เรื่อยเปื่อย เรียกร้องโน่นนี่นั่น แล้วจู่ๆหยิบแปรงหวีผมขึ้นมาฟาดใส่ Manny กระแทกกระจกแตก พบเห็นรอยร้าว นั่นคือจุดแตกแยก สูญเสียสติแตก วินาทีที่ Manny สูญเสีย Rose ไปชั่วนิรันดร์
ปล. แม้หนังจะมีหลายช็อตโคลสอัพ แต่ภาพที่ผมมองว่าใกล้เคียงกับ The Passion of Joan of Arc (1928) คือวินาทีที่ Rose พลั้งมือทำร้ายชายคนรัก ทั้งดวงตา ริมฝีปาก รวมถึงเงาอาบฉาบเกือบจะครึ่งหนึ่งใบหน้า พรรณาความเจ็บปวดรวดร้าว โลกภายในที่พังทลาย ตกอยู่ในความท้อแท้ หมดสิ้นหวังอาลัย
ระหว่างจิตแพทย์พูดคุยกับ Rose สังเกตว่าใบหน้าของเธอหลบอยู่ภายใต้โคมไฟ สื่อถึงการ(สะกดจิต)เข้าไปในจิตใต้สำนึก ส่วนจิตแพทย์ผู้สอบถาม เดินวนไปวนมาอยู่ด้านหลัง พยายามหาหนทางช่วยเหลือ แต่ไม่ว่าทิศทางไหนกลับไม่สามารถดึงเธอหวนกลับขึ้นจากโลกใบนั้น
น่าเสียดายที่ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าภาพด้านหลังคือผลงานอะไร แต่ทว่าการสนทนาระหว่าง Manny และจิตแพทย์ถึงข้อสรุปอาการของ Rose ภาพนี้สามารถใช้พรรณาสภาพจิตใจ/โลกภายในของเธอได้เป็นอย่างดี
ถ้าอ้างอิงจากข่าวหนังสือพิมพ์ Manny ส่งภรรยา Rose เข้ารักษาตัวยัง Ossining Sanitarium แต่เมื่อตอนถ่ายทำเหมือนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Greenmont Sanitarium ตั้งอยู่ 128 N Highland Avenue ณ Ossining, New York เห็นว่าสถานที่แห่งนี้ถูกทุบทำลายไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 เพื่อก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์
ภายนอกของ Sanitarium เต็มไปด้วยกิ่งก้านไร้ใบ (ฤดูใบไม้ร่วง?) มีความระเกะระกะ ระโยงระยาง สามารถสะท้อนสภาพจิตใจของ Manny เต็มไปด้วยขวากหนาม เหี่ยวแห้งแล้ง ไร้ความสดชื่นชีวิตวา
ถือเป็นช็อตน่าประทับใจที่สุดของหนัง เพราะมันไม่หลงเหลือหนทางออกอื่นนอกจากเกิดปาฏิหารย์ Manny จึงสวดอธิษฐานต่อพระเป็นเจ้า จากนั้นหนังทำการซ้อนภาพใบหน้าของเขา เข้ากับชายคนหนึ่งที่กำลังก้าวเดินตรงเข้ามา สวมทับพอดิบพอดีกับใบหน้า แล้ว Cross-Cutting พบเห็นชายคนนั้น จอมโจรตัวจริงที่ดูละม้ายคล้ายยังกะแกะ กำลังเตรียมออกปล้นอีกครั้ง!
ผมครุ่นคิดไปมาก็พลันนึกถึง Persona (1966) ของผกก. Ingmar Bergman เอาจริงๆภาพนี้ถือว่าทรงพลัง หลอกหลอน น่าประทับใจไม่น้อยกว่าช็อตแบ่งครึ่งใบหน้า Bibi Andersson และ Liv Ullmann
การเผชิญหน้าระหว่าง Manny กับโจรตัวจริง เอาจริงๆช็อตนี้ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น แค่ต้องการให้ผู้ชมเปรียบเทียบอย่างชัดๆ ทั้งสองมีหน้าตาละม้ายคล้ายกันยังไง แต่การจัดวางทิศทางใบหน้าพวกเขาในลักษณะ Isometric หันตั้งฉาก ก็เพื่อแสดงถึงความแตกต่างตรงกันข้ามทางจิตใจ
หลายคน(รวมถึงผมเอง)คงรู้สึกผิดหวังกับตอนจบแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ‘Anti-Climax’ แต่เอาจริงๆเรื่องราวมันก็มีความสมเหตุสมผลอยู่แล้ว เพราะทุกสิ่งอย่าง/ความซวยซ้ำซวยซ้อน ล้วนเกิดจากโชคชะตาฟ้าลิขิต ไคลน์แม็กซ์ย่อมต้องคือจอมโจรตัวจริงถูกจับกุมแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยอย่างนี้แหละ!
แต่ทว่าว่าตอนจบจริงๆมันไม่ได้มีปาฏิหารย์เกิดขึ้นกับ Rose นั่นเพราะอาการป่วย/บาดแผลภายในจิตใจ เป็นสิ่งที่ไม่มีวันรักษาหาย ดูจากใบหน้าช่างห่อเหี่ยว ไร้เรี่ยวแรง น้ำเสียงแหบแห้ง ต้องใช้เวลาถึงสองปีกว่าจะสามารถฟื้นฟู สงบจิตสงบใจ หวนกลับไปชีวิตได้ตามปกติ
ปล. ตอนที่ Manny ก้าวออกจากห้องของ Rose บรรยากาศว่างๆของโถงทางเดิน ชวนให้นึกถึง Vertigo (1958) หลังจาก Midge พูดคุยกับจิตแพทย์ถึงอาการป่วยของ Scottie (James Stewart) สื่อถึงสภาพจิตใจที่เคว้งคว้าง ว่างเปล่า
ตัดต่อโดย George Tomasini (1909-64) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Springfield, Massachusetts ทำงานในสังกัด Paramount Picture เริ่มมีชื่อเสียงจาก Stalag 17 (1953), โด่งดังจากการร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock ตั้งแต่ Rear Window (1954) จนถึง Marnie (1964)
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง/สายตาของ Manny Balestrero บุคคลธรรมดาๆที่มีชีวิตเรียบง่าย ครอบครัวอบอุ่น ตามวิถีอเมริกันชน จนกระทั่งโชคชะตาเล่นตลก ถูกเข้าใจผิด ตำรวจจับผิดคน ตกเป็นผู้ต้องหา ติดคุกติดตาราง ชีวิตหลังจากนั้นก็ซวยซ้ำซวยซ้อน พบเจอแต่เรื่องร้ายๆ ทำให้ภรรยาสูญเสียสติแตก ต้องเข้ารักษาตัวในสถาบันจิตเวช
- คำเกริ่นนำของผกก. Hitchcock
- ชีวิตของ Manny Balestrero
- ทำงานเล่นดนตรียัง Stork Club
- กลับมาบ้านครอบครัวอบอุ่น
- วันถัดมาเดินทางยังบริษัทประกันเพื่อขอกู้เงิน แต่พนักงานกลับมีความลุกรี้ร้อนรน ครุ่นคิดว่าเขาคือโจรปล้นชิงทรัพย์
- ระหว่างทางกลับบ้าน Manny ถูกตำรวจเข้ารวบตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ฉันผิดอะไร?
- Manny ให้ความร่วมมือกับตำรวจเป็นอย่างดี ยินยอมทำตามคำร้องขอให้บรรดาร้านค้าต่างๆชี้ตัว
- กลับมาโรงพักเขียนข้อความ พิสูจน์ลายลักษณ์อักษรตรงกัน
- พนักงานบริษัทประกันทำการชี้ตัว ค่ำคืนนี้เลยต้องนอนในห้องขัง
- วันถัดมาศาลพิจารณาว่ามีความผิด ถูกส่งเข้าเรือนจำกลาง โชคยังดียังได้รับโอกาสประกันตัว
- การต่อสู้คดีความ
- Rose ช่วยติดต่อทนาย Frank O’Connor ตอบตกลงยินยอมช่วยว่าความ
- ระหว่างเดินทางติดตามหาพยาน (Alibi) กลับไม่พบเจอใคร นั่นทำให้ Rose เกิดอาการสติแตก ไม่สามารถควบคุมตนเอง
- จิตแพทย์วินิจฉัยว่า Rose มีอาการป่วยทางจิต ต้องเข้ารักษาตัวในสถาบันจิตเวช
- ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
- การพิจารณาคดีบนศาลชั้นต้น แต่ทว่าลูกขุนกลับพิจารณาว่าหาข้อยุติไม่ได้
- มารดาโน้มน้าวให้ Manny สวดอธิษฐาน ทันใดนั้นหัวขโมยตัวจริงก็ได้ก่อเหตุซ้ำอีกครั้ง
- แม้ว่า Manny ได้รับการพิสูจน์ความบริษัท แต่อาการป่วยของ Rose ยังไม่ได้ดีขึ้นประการใด
การเริ่มต้นหนังด้วยคำอธิบายของผกก. Hitchcock เป็นการช่วยสร้างความตระหนักแก่ผู้ชม ระลึกอยู่ตลอดเวลาระหว่างรับชม ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเคยบังเกิดขึ้น คือเรื่องจริง! นั่นจะยิ่งเสริมสร้างความอกสั่นขวัญแขวน เพราะมันมีโอกาสเป็นไปได้ว่าอาจบังเกิดขึ้นกับตนเอง/คนรอบข้าง
เพลงประกอบโดย Bernard Herrmann ชื่อเกิด Maximillian Herman (1911-75) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ในครอบครัว Russian Jewish บิดาผลักดันบุตรชายให้ร่ำเรียนไวโอลินตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 13 แต่งเพลงชนะรางวัล จึงมุ่งมั่นเอาจริงจังด้านนี้ โตขึ้นเข้าศึกษา New York University ต่อด้วย Juilliard School จบออกมาก่อตั้งวง New Chamber Orchestra of New York, ก่อนเข้าร่วม Columbia Broadcasting System (CBS) กลายเป็นวาทยากร CBS Symphony Orchestra ระหว่างนั้นมีโอกาสร่วมงาน Orson Welles ทำเพลงประกอบรายการวิทยุ, Radio Drama, ภาพยนตร์เรื่องแรก Citizen Kane (1941), The Devil and Daniel Webster (1941)**คว้ารางวัล Oscar: Best Music, Scoring of a Dramatic Picture, The Magnificent Ambersons (1942), Jane Eyre (1943), Anna and the King of Siam (1946), The Day the Earth Stood Still (1951), Cape Fear (1962), Taxi Driver (1976) ฯ
Herrmann ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock ทั้งหมด 7 ครั้ง ประกอบด้วย The Trouble with Harry (1955), The Man Who Knew Too Much (1956), The Wrong Man (1956), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960) และ Marnie (1964)
โดยปกติแล้วผกก. Hitchcock นิยมชมชอบใช้ ‘Diegetic Music’ กับภาพยนตร์ที่ต้องการบรรยากาศเข้มข้น สมจริง อีกทั้ง The Wrong Man (1956) เป็นผลงานที่เจ้าตัวป่าวประกาศตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “สร้างจากเรื่องจริง” แต่ทว่ากลับมอบหมาย Herrmann ให้ทำเพลงประกอบ … ฟังดูช่างขัดย้อนแย้งกันยิ่งนัก!
ช่วงทศวรรษ 50s แทบจะทุกไนท์คลับในอเมริกา มักบรรเลงบทเพลงสไตล์ (American) Jazz แต่ทว่าวงดนตรีของ Manny กลับมีเพียงเขาที่เล่นเครื่องสาย (Double Bass) ท่วงทำนองสบายๆ ผ่อนคลาย จังหวะ Mambo (ของ Latin America) สำหรับลุกขึ้นมาโยกศีรษะเบาๆ เพื่อให้สอดคล้องเข้ากับวิถีชีวิตอันเรียบง่าย เพียงพอดี (ไม่ใช่เต็มไปด้วยสีสันเหมือนสไตล์ Jazz)
เกร็ด: Double Bass เป็นเครื่องดนตรีมีเสียงนุ่มลึก ทุ้มต่ำที่สุดในบรรดาเครื่องสาย (Bass Instrument) นี่ก็สื่อถึงความเรียบง่ายของชีวิต ไม่ชอบแสดงออกทางอารมณ์ สอดคล้องเข้ากับอุปนิสัยตัวละครได้เป็นอย่างดี
งานเพลงของ Herrmann ในภาพยนตร์ The Wrong Man (1956) พยายามอย่างยิ่งจะไม่ทำตัวให้โดดเด่น ‘Minimal Music’ มุ่งเน้นสร้างบรรยากาศ คลอประกอบพื้นหลังเบาๆ แต่ท่วงทำนองมักเวียนวนไปวนมา เร่งความเร็ว เพิ่มระดับเสียง ในลักษณะ ‘obsessive style’ … นี่คือสไตล์ลายเซ็นต์ของ Herrmann ที่ได้ยินบ่อยครั้งในหนังของผกก. Hitchcock
Overnight in Jail ถือเป็นไฮไลท์ของหนัง! เครื่องสาย Double Bass (เครื่องดนตรีของ Manny) คลอประกอบเบาๆ ด้วยท่วงทำนองเวียนวนซ้ำไปซ้ำมา ส่วนเสียงหลักคือบรรดาเครื่องเป่าที่ความแหลม แสบแก้วหู บรรเลงท่วงทำนองเวียนวนซ้ำไปซ้ำมาเช่นกัน แต่จะค่อยๆเร่งความเร็ว เพิ่มระดับเสียง สร้างความปั่นป่วนมวนท้องไส้ เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน ราวกับพายุคลั่งกำลังถาโถมเข้าใส่ ใบหน้ากำลังหมุนๆ เวียนวงกลม ตกอยู่ในความสับสน มึนงง ไม่เข้าใจว่ามันบังเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น
ตั้งแต่ที่สองพี่น้อง Auguste and Louis Lumière สร้างสิ่งประดิษฐ์ภาพเคลื่อนไหว Cinématographe ทำให้ผู้คนสมัยนั้นแยกแยะไม่ออก The Arrival of a Train at La Ciotat Station (1896) บางคนถึงกับกระโดดหลบ ส่งเสียงกรีดร้อง เพราะครุ่นคิดว่าขบวนรถไฟกำลังพุ่งเข้ามาหาจริงๆ
เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน มนุษย์เริ่มมีภูมิคุ้มกันต่อสื่อภาพยนตร์ เรียนรู้ว่าสิ่งพบเห็นคือการแสดง ปรุงแต่ง เรื่องราวสร้างขึ้น (Fictional Story) มองเป็นความบันเทิง ศิลปะขั้นสูง หลงๆลืมๆไปว่าส่วนใหญ่ล้วนได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง!
การเริ่มต้น The Wrong Man (1956) ด้วยคำกล่าวอ้างของผกก. Hitchcock ภาพยนตร์เรื่องนี้ “สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง” โดยไม่รู้ตัวทำให้เกิดความตระหนัก ผู้ชมระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าเรื่องราวทั้งหมดคือเรื่องจริง! นั่นจะยิ่งเสริมสร้างความตกอกตกใจ อกสั่นขวัญแขวน เพราะมันมีความใกล้ตัว โอกาสเป็นไปได้จักบังเกิดขึ้นกับตนเอง/คนรอบข้าง
ความผิดพลาด/การจับผิดตัวที่เกิดขึ้นใน The Wrong Man เป็นสิ่งที่ไม่มีหนทางป้องกันหรือแก้ไข ใครๆก็สามารถประสบพบเจอเข้ากับตนเอง เพราะมันจึงคือเรื่องของโชคชะตาล้วนๆ บังเอิญหน้าเหมือน บังเอิญซวยซ้ำซวยซ้อน บังเอิญอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ บังเอิญประจักษ์พยานไม่สามารถช่วยอะไร ฯลฯ สิ่งเดียวสามารถทำได้ก็คือสงบสติอารมณ์ ทำจิตใจให้เข็มแข็ง เชื่อมั่นในกระบวนการ ถ้าเราบริสุทธิ์จริงก็ไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวเกรง (แม้กระทั่งความตาย) อธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็อาจช่วยได้กระมัง??
แม้เรื่องราวจะสร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง แต่ผู้ชมสมัยนั้นน่าจะตระหนักรับรู้ว่า The Wrong Man (1956) สามารถสื่อถึงบรรดา Hollywood Ten ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสี ตีตราความผิดโดย McCarthyism เพียงเพราะเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ … กลิ่นอายหนังนัวร์ก็สะท้อนบรรยากาศสงครามเย็น (Cold War) ได้ด้วยเช่นกัน!
ผกก. Hitchcock มีความสนอกสนใจในประเด็น ‘mistaken identity’ มาตั้งแต่ The Lodger (1927), The 39 Steps (1935), Young and Innocent (1937), The Trouble with Harry (1955), North by Northwest (1959), Frenzy (1972) ฯ ผมลองสอบถาม AI Bard วิเคราะห์ออกมาหลากหลายเหตุผลน่าสนใจเดียว
- Heightened Suspense การผิดตัวช่วยสร้างสถานการณ์ให้ตัวละคร (รวมถึงผู้ชม) ตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เสี่ยงตาย เผชิญหน้าความไม่แน่นอน เกิดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก (Suspense) ไม่ก็รู้สึกหวาดระแวง (Paranoid)
- Exploration of Vulnerability ตัวละครต้องเริ่มสำรวจตัวตนเอง เรียนรู้ด้านอ่อนแอ เปราะบาง พึ่งพาสันชาติญาณ ไหวพริบปฏิภาณในการเอาตัวรอด
- Exploration of Morality ในบางครั้งอาจเกิดการเลือนลางระหว่างความถูกต้องเหมาะสม คนบริสุทธิ์ถูกบีบบังคับให้กระทำบางสิ่ง(เลวร้าย)เพื่อเอาตัวรอด เป็นการตั้งคำถามทางศีลธรรมได้เป็นอย่างดี
- Commentary on Society วิพากย์วิจารณ์การพิจารณาคดีความ เหมารวมการตัดสินของสังคม ส่งผลกระทบต่อบุคคลจากหน้ามือเป็นหลังมือ
- Keeps the Audience Guessing ความสนุกที่สุดก็คือ ผู้ชมคาดเดาอะไรไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรต่อไป
I use the “wrong man” theme a lot because it is something everyone can identify with easily. Each of us has at one time or another been wrongly blamed for something we were innocent of.
Alfred Hitchcock
ในบทสัมภาษณ์ Hitchcock/Truffaut เท่าที่ผมพอแกะออก Hitchcock กล่าวว่า The Wrong Man (1956) คือการทดลองที่ล้มเหลว เพราะตนเองหมกมุ่นยึดติดกับการ “สร้างจากเหตุการณ์จริง” จึงทำให้หลายๆสิ่งขาดตกบกพร่อง … ฟังดูไม่ต่างจากตอนสรรค์สร้าง Rope (1948) ที่ก็ยึดติดกับแนวคิดบางอย่าง จนสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเอง
It was purely a documentation of the original case… It was designed in exactly the same matter as everything occurred… being so faithful to the original story caused deficiency to the structure… It wasn’t a movie for me.
แต่ไม่ใช่สำหรับนักวิจารณ์ฝรั่งเศส ต่างหลงใหลคลั่งไคล้ต่อความเป็นไปได้ไม่รู้จบของสไตล์ Hitchcockian ซึ่งเรื่องนี้คือความพยายามทำออกมาให้เรียบง่าย (Minimalism) ใกล้เคียงเหตุการณ์จริง (Realism) บ้างเรียกว่า Docu-Drama ขณะเดียวกันยังมีการเปรียบเทียบถึง Italian Neorealism
ในบทความวิจารณ์ของ François Truffaut เมื่อครั้นยังทำงานอยู่ Cahiers du Cinéma ทำการเปรียบเทียบ The Wrong Man (1956) = A Man Escaped (1956) ของผกก. Robert Bresson ชื่นชมสุนทรียะในศาสตร์สารคดี “the esthetics of the documentary” และยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดของ Hitchcock (ขณะนั้น)
The Wrong Man (1956) is probably his best film, the one that goes farthest in the direction he chose so long ago.
François Truffaut
สำหรับ Jean-Luc Godard ก็เฉกเช่นเดียว จากบทความวิจารณ์ 7 หน้า ผมเลือกมาเพียงหนึ่งประโยคที่สามารถอธิบายทุกสิ่งอย่าง
We are watching the most fantastic adventures because we are watching the most perfect, the most exemplary of documentaries.
Jean-Luc Godard
ผมเองก็คาดไม่ถึงที่ผกก. Hitchcock ยินยอมออกจาก ‘Safe Zone’ โลกส่วนตัวภายในสตูดิโอ เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ยังสถานที่จริง! แม้ไม่ใช่ทุกช็อตฉากในหนัง แต่ความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอความจริง สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย และนี่ถือเป็นก้าวแรกๆสู่อิสรภาพ ปีนป่ายจุดสูงสุดในอาชีพการงาน
ด้วยทุนสร้าง $1.2 ล้านเหรียญ ได้เสียงตอบรับผสมๆในสหรัฐอเมริกา ไม่มีรายงานรายรับ แต่เมื่อเข้าฉายฝรั่งเศสกลายเป็นที่หลงใหลของนักวิจารณ์ ติดอันดับ #4 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Cahiers du Cinéma ยอดจำหน่ายตั๋วประมาณ 8 แสนกว่าใบ ดูแล้วไม่น่าจะขาดทุนอย่างแน่นอน!
ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ แต่เมื่อปี ค.ศ. 2016 มีการสแกนใหม่ ‘digital transfer’ คุณภาพ 2K จัดจำหน่าย Blu-Ray โดย Warner Archive Collection หรือใครสนใจบ็อกเซ็ต Alfred Hitchcock: 4-Film Collection Blu-ray (2020) ประกอบด้วย Suspicion (1941), Dial M for Murder 3D (1954), I Confess (1953), The Wrong Man (1956)
ส่วนตัวชื่นชอบบรรยากาศนัวร์ๆ ความตึงเครียด กดดัน อัดอั้น ปล่อยจิตปล่อยใจให้ถูกผกก. Hitchcock ลากพาไป ความน่าสนใจก็คือการเน้นย้ำตอนต้นเรื่อง “สร้างจากเหตุการณ์จริง” ไม่ต่างจากกิมมิค (Gimmick) กลเม็ดสำหรับล่อหลอกผู้ชมให้หลงติดกับดัก เพราะทั้งหมดทั้งมวล แทบจะทุกสิ่งอย่างของหนัง ล้วนมีความเป็น Hitchcockian เหตุการณ์จริงไม่จริง สมจริงสักเพียงไหน ภาพยนตร์ก็คือภาพยนตร์
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศกดดัน อัดอั้น การจับผิดตัว กลิ่นอายหนังนัวร์
Leave a Reply