สัตว์ประหลาด

สัตว์ประหลาด (2004) : อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

หนังไทยเรื่องนี้ คงไม่มีคนคิดว่าจะสามารถกลายเป็นหนังเรื่องโปรดของใครได้ ผมก็ยังแปลกใจตัวเอง ไฉนตกหลุมพลางของเสือสมิงที่แปลงร่างเป็นมนุษย์มาหลอกเอาได้ คงเพราะสมิงตัวนั้นเป็นสาวสวยเหมือนตัวที่มาหลอกนายพราน พอถูกฆ่าแล้วกลายเป็นวิญญาณสัตว์ประหลาด ที่คิดทำอะไรไม่เหมือนใคร ต้องการแค่เพื่อนเล่นหยอกล้อไปวันๆ

ผมดูหนังของคุณเจ้ยมาหลายเรื่อง มีทั้งชอบและไม่ชอบ แต่เรื่องหลังๆจะไม่ชอบรุนแรงมากๆเพราะมันชัดเลยว่า ใจความแฝงในหนังของเขาออกไปทาง “กบฎ” ต่อชาติบ้านเกิดตัวเอง ผมดีใจที่เขาประกาศจะไม่ทำหนังไทยแล้ว มันเหมือนว่ายิ่งทำยิ่งดูถูกคนไทยมากๆ ไม่ได้เป็นการต่อว่าคนไทยที่ดูหนังเขาแล้วไม่เข้าใจนะครับ (ยังไงก็มีคนที่ดูแล้วสามารถคิดตามได้) แต่เพราะความสนใจตอนนี้ คือการวิพากย์สังคมไทยอย่างรุนแรง (สมัยก่อนใครมีแนวคิดอย่างนี้จะถูกเรียกว่า “กบฎ”) ผมชอบหนังยุคแรกๆของเขานะ เป็นผู้กำกับที่มีความเป็นศิลปินสูงมากๆ ผสมผสานกับวิธีคิด-การเล่าเรื่อง ประเพณี-พื้นบ้าน ความเชื่อ-วิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเข้ากันมากๆ แต่เมื่อเขาเริ่มเอาความเห็นส่วนตัวใส่ลงไปในหนังมากเกินไป จากสไตล์การ ‘จับภาพความจริง’ (capture) กลายมาเป็น ‘ความเห็นของฉันต่อภาพความจริง’ (reasons for capture) มีผู้กำกับชื่อดังในตำนานหลายคนที่เป็นแบบนี้ อาทิ Federico Fellini ที่เป็น Fascist, Jean-Luc Godard กับ Marxist ฯ ผมคิดว่ามันคงเป็นไปได้ยากที่คุณเจ้ยจะกลับมาทำหนังที่มีความบริสุทธิ์ใจในการสร้างแบบ สุดเสน่หา หรือ สัตว์ประหลาด ได้อีก แต่ก็แอบหวังว่าเขาจะค้นพบความสนใจอื่น ที่ดีกว่าการทำหนังเสียดสีชาติบ้านเกิดตัวเอง

คนที่บอกว่า สัตว์ประหลาด ไม่ใช่หนังที่ทำให้คนไทยดู หรือ หนังของคุณเจ้ยไม่ได้ทำให้คนไทยดู คำพูดนี้ผิดตั้งแต่คิดแล้วนะครับ หนังที่สร้างบนแผ่นดินไทย พูดภาษาไทย ถ้าไม่ทำให้คนไทยดู จะให้หมาที่ไหนดู? ประเพณี-ความเชื่อ-วิถีชีวิต นี่เป็นสิ่งที่คนไทยแม้จะเกิดภาคกลาง ก็สามารถเข้าใจเหนือ-อีสาน-ใต้ได้ เพราะเราคืออยู่ในผืนแผ่นดินเดียวกัน เข้าใจกันได้ด้วยภาษาพูด ประวัติศาสตร์ และวิถีของสังคมเหมือนกัน หนังของคุณเจ้ย ร้อยทั้งร้อย มีเรื่องราวที่ไทยแท้แน่นอน ไม่มีผู้กำกับไทยคนไหนที่สามารถนำเสนอวิถีชีวิตของคนไทยได้ชัดเจนกว่าอภิชาติพงศ์อีกแล้ว นี่คือเหตุผลหนึ่งที่นานาชาติให้ความยกย่องนับถือ เพราะเขาดูหนังของคุณเจ้ยแล้ว เข้าใจว่าคนไทยคิดยังไง มีความเชื่ออะไร และมีวิถีชีวิตอย่างไร เป็นคนไทยกันเองเท่านั้นแหละที่พอเห็นหนังเกี่ยวกับตัวเองแล้วดันรับไม่ได้ เมืองไทยไม่ใช่แบบนั้น ใครกันแน่ที่คิดผิดนะครับ

สำหรับคนที่ดูหนังเรื่องนี้ไม่เข้าใจ ผมแนะนำยังไม่ต้องรีบไปพยายามทำความเข้าใจมันนะครับ ให้หาหนังเรื่องอื่นๆดูต่อไปเลย ไม่ต้องรีบหาคำตอบ ให้เวลากับมันอีกสัก 5-10 ปีผ่านไปค่อยกลับมาหาดูใหม่ เมื่อนั้นเชื่อว่าคุณจะเห็นอะไรที่แตกต่างไปจากการดูครั้งแรกแน่นอน ซึ่งเมื่อคุณสามารถจับจุดอะไรบางอย่างนั้นได้ เปิดหาบทความที่วิเคราะห์หนังได้เลยนะครับ ปริศนาทั้งหลายที่คาใจจะได้รับคำตอบที่สามารถสนองความคิดของคุณได้แน่นอน ผมเปรียบเทียบกับเกม RPG ‘สัตว์ประหลาด’ ตัวนี้เลเวลประมาณ 80 ถ้าคุณเป็น beginner เลเวล 10 สู้จนตาย รบเป็นร้อย ก็ไม่ทางชนะแน่นอน อย่าไปฝืนเลย ถ้าอยากจะชนะ boss ตัวนี้ให้ได้ ไปเสียเวลาเก็บสะสมประสบการณ์ ทำเลเวลให้ได้อย่างน้อย 60-70 ก่อนดีกว่าไหม แบบนี้ถึงจะพอสู้สูสีได้

ถ้าท่านคิดว่าตัวเองมีความสามารถในการดูหนังสักเลเวล 60 แล้ว ลองดูสิว่าสามารถเข้าใจหนังได้เท่ากับที่ผมจะเล่าให้ฟังย่อหน้านี้หรือเปล่า หนังแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง ครึ่งแรกและครึ่งหลังเป็นสองเรื่องราวที่ไม่ต่อเนื่องกัน จะว่าตรงข้ามกันเลยก็ได้ ครึ่งแรกเป็นเรื่องของฝั่งมนุษย์ ดำเนินเรื่องในเมือง เห็นวิถีชีวิตของผู้คน เรื่องราวความรักของสองหนุ่ม และแนวคิดความเชื่อเกี่ยวกับ ‘ความรัก’ ครึ่งหลังเป็นเรื่องเล่าแฟนตาซี มีตัวละครแค่นายทหารกับคนที่เป็นเสือสมิง ดำเนินเรื่องในป่า ไม่มีบทพูด ใช้ภาพเล่าเรื่อง และมีแนวคิดเกี่ยวกับจิตวิญญาณ การตาย เกิดใหม่ ฯ สองเรื่องนี้ใช้นักแสดงคู่เดิม แสดงว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่สามารถเชื่อมกันได้ อาจเป็นการกลับชาติมาเกิด, เรื่องคนละช่วงเวลา หรือในอีกจักรวาลหนึ่ง ฯ บางคนอาจวิเคราะห์จากแนวคิดว่า สัตว์ประหลาดเป็นสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจของคน ครึ่งแรกเรื่องราวความรักของชาย-ชาย ถือเป็นเรื่องต้องห้าม แต่คนที่รักกันได้ได้ ข้างในเขาคงต้องมีสัตว์ประหลาดแฝงอยู่ ครึ่งหลังคือการที่สัตว์ประหลาดภายในจิตใจ ออกมาป้วนเปี้ยนข้างนอก เปรียบเสือสมิงที่แปลงร่างเป็นมนุษย์ เป็นสัญลักษณ์เชิงนามธรรมที่จับต้องได้ … เข้าใจได้ประมาณนี้ ผมถือว่าท่านเลเวลประมาณ 60 แล้วนะครับ

เข้าใจหนังเลเวล 60 ก็ถือว่าใช้ได้แล้วนะครับ ถ้าเอาไปตัดเกรดในโรงเรียนได้ เกรด 2/เกรด C ถือว่าสอบผ่านแล้ว ค่าเฉลี่ยเมืองไทย medium จะอยู่ที่ 30 กว่าๆเท่านั้น (30 เต็ม 100) ได้ถึง 60 (60 เต็มร้อย) ถือว่าเหนือกว่าความเข้าใจคนไทยทั่วไปแล้ว แต่ถ้าอยากจะเข้าใจให้มากกว่านี้ นี่คือสิ่งที่ผมเข้าใจจากการดูครั้งล่าสุดนี้ … สัตว์ประหลาด ถึงมีการแบ่งออกเป็น 2 เรื่องที่ดูไม่ต่อเนื่องกัน แต่มีใจความเดียวกันและต่อเนื่องกัน ครึ่งแรกเรื่องราวของชายสองคน ที่ปกติแล้วควรจะเป็นเหมือนขั้วแม่เหล็กเหนือทั้งคู่ แต่กลับดึงดูดเข้าหากัน นี่เป็นสิ่งที่ผิดปกติ แต่หนังไม่ได้ต้องการพูดเรื่องราวความรักของชายสองคน แต่เป็นร่างกายกับจิตวิญญาณที่ดึงดูดเข้าหากัน เมื่อเก่ง (นายทหาร) เปรียบได้กับร่างกาย และโต้ง คือจิตใจ ในครึ่งแรกนี้ล้วนแต่เป็นเก่ง ที่รุกเข้าหาโต้งตลอดเวลา ชวนให้ทำโน่นทำนี่ ให้เทปวงแคลช ขอนอนที่ตัก (ความต้องการทางกายไม่ใช่จิต แต่จิตก็ไม่ได้ขัดขวาง) สิ่งเดียวที่โต้งไม่กล้า คือเข้าไปในถ้ำลึก (จิตอยากแต่กายต่อต้าน) … ครึ่งหลัง นักแสดงคู่เดิม เก่งคือนายทหารคนเดิมยังเปรียบได้กับร่างกาย แต่โต้งกลายเป็นเสือสมิงที่กลายเป็นจิตวิญญาณจริงๆ ร่างกายเปลือยเปล่าแทนตัวรูปลักษณ์ของจิตที่ไม่มีอะไรปกคลุม เราอาจจะคิดว่า เก่งตามล่าโต้ง แต่ลิงพูดได้บอกว่า เสือสมิงต่างหากที่เล่นกับเขา (จิตต้องการกาย) แล้วมันต่อเนื่องกันครึ่งแรกยังไง คำตอบคือครึ่งหลังเป็นการแปรสภาพ จากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง จากมีตัวตันกลายเป็นไม่มี โต้งกลายเป็นเสือ เก่งยังคงเป็นเก่ง แต่เขาก็เปลี่ยนไป จากที่ใส่ชุดทหาร ช่วงกลางๆเรื่องเขาถอดชุดออก โพลกด้วยโคลน คลานเหมือนเสือ สั่นกระดิ่งเหมือนวัว เห็นวิญญาณที่ออกจากร่าง หิ่งห้อยที่ไปรวมตัวกันที่ต้นไม้ (นี่เป็นสัญลักษณ์ของการตายและเกิดใหม่) จากกายมนุษย์กลายเป็นสัตว์ ตอนจบการยอมแพ้และความกลัวต่อเสือสมิง คือการยอมให้จิตเข้าสู่ร่างกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน

ใครบางคนบอกว่า ‘เมื่อความรักจบลงมันก็เหมือนกับบางส่วนในตัวเราได้ตายลงไปด้วย เรากลายเป็นคนใหม่ เป็นคนอื่นซึ่งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป’ คำกล่าวนี้แนบสนิทอยู่กับสภาวะในครึ่งหลังของเรื่อง นายทหารหนุ่มเผชิญกับเสือ ผีร้ายที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความทรงจำ เขามีทางเลือกแค่สองทางคือฆ่ามันเสียปล่อยมันออกจากโลกผี หรือไม่ก็ให้มันกินเสีย ไม่ต่างจากความรัก หากเราไม่ลบลืมมันเพื่อก้าวไปข้างหน้า เราย่อมมีแต่ต้องปล่อยให้มันกลืนกิน และเมื่อความรักกลืนกินเรา เราก็ไม่ได้เป็นคนหรือสัตว์อีกต่อไป หาก ‘เปลี่ยนรูป’ไปสู่สิ่งอื่น ไปเป็นคนคนใหม่ คนที่ในที่สุดถูกความรักทิ้งร่องรอยเอาไว้ในการเติบโต

ref: http://filmsick.exteen.com/20100616/entry

ผมเปรียบครึ่งแรกและครึ่งหลังเหมือนแม่เหล็ก ขั้วเหนือ-ขั้วใต้ ที่สมมาตรกัน อาทิ เมือง/ป่า, ผู้คน/สรรพสัตว์, เรื่องจริง/เรื่องเล่า (แฟนตาซี), สว่าง(กลางวัน) /มืด(กลางคืน) ฯ คำพูดที่มีการกล่าวถึงในครึ่งแรก ได้กลายมาเป็นเหตุการณ์จริงๆในครึ่งหลัง เช่น ตอนที่โต้งขึ้นไปร้องเพลงวนาสวาทท่อน “เราจะรักภักดี ร้อยวิญญาณชีวี ที่วนาลีเอย” ครึ่งหลังโต้งกลายเป็นวิญญาณไปเสียจริงๆ, ฉากป้าเล่าให้เก่งและโต้งฟัง เรื่องเข้าถ้ำไฟฉายติดๆดับๆ เก่งไม่กล้าเข้า แต่ครึ่งหลัง เก่งเดินเข้าไปในป่า ไฟฉายติดๆดับ, ฉากเลียมือ มันคือสัญลักษณ์ของ องค์ชาติ การเลียคือสร้างความพึงพอใจ (masturbate) ครึ่งหลังจะมีฉากปลุกปล้ำกันระหว่างเก่งกับโต้ง และการรวมตัวของกายกับจิต (intercourse)

ความก้าวหน้าทางความคิดของคุณเจ้ย คือการที่หนังเรื่องนี้มีพลังทั้งทางด้าน Visceral (ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหนังมังสา) และ Cerebral (ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับสมองและการหาเหตุผล) ครึ่งแรกเป็นเหมือนการเตรียมพร้อมทางร่างกาย ที่มีความต้องการต่างๆมากมาย และความต้องการจิตใจที่สามารถตอบสนองได้ ครึ่งหลังเป็นการนำเสนอสิ่งที่อยู่ในจิตใจ (state of mind) ถ่ายทอดออกมาผ่านการแสดงออกทางร่างกาย การเดินทาง/ต่อสู้ของนายทหาร เป็นหนทางที่ผู้กำกับใช้เพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์บางอย่าง คนดูจะตีความอย่างไรก็ได้ หยิน/หยาง, จิต/รูป, กาย/ใจ, จิตสำนึก/จิตใต้สำนึก ฯ คุณเจ้ยเคยพูดไว้ว่า “มันเป็นเหมือนแม่เหล็กสองขั้วที่ผลักกันแต่ต้องอยู่ด้วยกัน” และ “เมื่อหนังส่วนแรกจบลง มันเหมือนกับว่าผมในฐานะผู้กำกับ ได้ลบความทรงจำของตัวละครทั้งสอง จนพวกเขาต้องออกแสวงหาความทรงจำของตนในช่วงหลัง”

ref: http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/A3720200/A3720200.html

นักแสดงนำศักดา แก้วบัวดี และบรรลพ ล้อมน้อย นักแสดงขาประจำของคุณเจ้ย ผมต้องชมความทุ่มเทของทั้งคู่เลย พี่ศักดาแกแก้ผ้าเห็นไอ้จ้อนวิ่งอยู่ในป่า นี่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นถ่ายในเมืองพี่แกจะยังกล้าอยู่หรือเปล่าเนี่ย ส่วนพี่บรรลพ ผมชอบฉากตอนจบมากๆ คือมันรู้สึกเลยว่าตัวสั่นจริง กลัวจริงๆ แสดงออกทางสีหน้า แววตาได้ชัดเจนมากๆ

ถ่ายภาพโดย วิชิต ธนาพาณิชย์, จรินทร์ เพ็งพานิช และ Jean Louis Vilard การเล่นกับกล้อง โดยเฉพาะการให้นักแสดงหันมามองกล้อง ถือว่าเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก(สยอง)ประหลาด ผมคิดว่าความจงใจของคุณเจ้ย น่าจะเป็นการให้คนดูได้รู้สึกกระอักกระอ่วนร่วมไปกับตัวละครด้วย ชายกับชาย ถ้าคุณสบตากับโต้งแล้วไม่รู้สึกอะไร นั่นอาจหมายความว่าในใจลึกๆคุณอาจจะชอบคนเพศเดียวกันก็ได้

ตอนผมดู Rashomon พบว่า Akira Kurosawa ถ่ายภาพในป่าออกมาได้สุดยอดมากๆ แต่นั่นหนังขาวดำ และกว่า 60 ปีที่แล้ว ในหนังสมัยนี้ ถามว่าใครสามารถถ่ายภาพของป่าออกมาได้งดงามที่สุด ชื่อของอภิชาติพงศ์ นี่ต้องติด top 3 แน่นอน ครึ่งหลังทั้งเรื่องดำเนินเรื่องในป่าตอนกลางคืน มันช่างน่ากลัวมากๆ ผมเคยอยู่ในป่าตอนกลางคืนยังไม่รู้สึกกลัวเท่ากับที่เห็นในหนังเลย (คงเพราะผมไม่เคยอยู่ในป่าคืนมืดกระมัง) และการที่รู้ว่าอันตรายเดินอยู่รอบๆ และถ้าปล่อยใจไปเราก็อาจตายได้ทันที นี่เป็นความรู้สึกที่ได้พร้อมกับตัวละครด้วย สุดยอดไหมละ

การแบ่งหนังเป็น 2 เรื่อง ผมได้ยินมาว่าเกิดขึ้นในกระบวนการตัดต่อ โดย ลี ชาตะเมธีกุล ต้องถือว่าลี เป็นหนึ่งในนักตัดต่อที่เก่งมากๆทีเดียว เขาตัดต่อหนังให้อภิชาติพงศ์ 3 เรื่อง สุดเสน่หา, สัตว์ประหลาด, แสงศตวรรษ สำหรับคนดูหนังทั่วไปเลเวลต่ำๆ เชื่อว่าส่วนใหญ่จะพอดูครึ่งแรกได้ แต่ครึ่งหลังนี่แหละที่ทำให้คนดูส่ายหัว เดินออกจากโรง บ้างถึงขั้นโห่ไล่กันเลยละ เพราะคนส่วนมากจะไม่สามารถทนกับหนังที่ใช้ภาพดำเนินเรื่องอย่างเดียวโดยไม่มีบทสนทนาได้ ครั้งหนึ่งผมก็เคยเป็นแบบนั้นนะครับ แต่แปลกไม่ใช่กับหนังเรื่องนี้ คงเพราะตอนที่ผมดูหนังครั้งแรก ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาอย่างดี และเทคนิคนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน นี่เป็นเรื่องแรกจึงรู้สึกมัน เจ๋งมากๆ

เพลงประกอบ ถือว่าไม่มีนะครับ หนังของคุณเจ้ยจะเน้น Sound Effect เสียส่วนใหญ่ ไม่เน้นเพลงประกอบ จะมีก็แต่ที่นักแสดงร้องในหนังเท่านั้น Sound Effect โดย อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร (AKA Rit) โดยปกติแล้วหนังที่สามารถสร้างอารมณ์เครียด กดดันให้กับผู้ชมได้ มักจะมีงานภาพและเพลงประกอบที่สร้างบรรยากาศให้สัมผัสได้ แต่กับหนังของเจ้ย เป็นงานภาพกับ Sound Effect ที่ถือว่าสุดยอดมากๆ โดยเฉพาะในป่ายามค่ำคืน จิ้งหรีด เรไร เสียงลมพัดที่สมจริงเหมือนเรากำลังอยู่ใจกลางป่าเลย บรรยากาศแบบนี้แหละที่ลึกลับ น่ากลัวที่สุดแล้ว

Tropical Malady แปลว่า โรคร้ายในป่าร้อน … มันคือโรคอะไรกัน ในหนังไม่มีใครป่วยสักคน ชื่อไทย สัตว์ประหลาด ยังดูตรงกว่า มีคนให้ความหมายของชื่อภาษาอังกฤษ ในเชิงเปรียบเทียบทัศนคติของผู้คนในแถบ Tropical (เช่น คนไทย) ที่ไม่ค่อยเปิดรับวัฒนธรรม แนวคิด ความเชื่อใหม่ๆ ว่าเป็นเหมือนโรคร้าย … มันคือความหมายแฝงเชิงเสียดสีตามสไตล์ของคุณเจ้ยนะครับ ผมจะขอตีความอีกอย่างหนึ่ง Tropical ป่าร้อนนี่ก็คือประเทศไทยนะแหละ Malady หรือ โรคร้าย ในบริบทนหนังผมคิดว่าคือ ‘ความเชื่อ’ มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจในคุณเจ้ยคือ เขาเป็นพุทธแท้ หรือพุทธประเภทดีแต่พูด เพราะ ‘ความเชื่อ’ มันตีความได้ 2 แบบคือ 1.โรคที่เกิดจากการมีชีวิต ที่วนเวียนเป็นวัฎจักร เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ไม่หลุดพ้น หรือโรคของการเกิดเป็นมนุษย์ 2.โรคของการยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ ความหมายแรกเป็นการมองแบบพุทธแท้ มนุษย์ประกอบด้วยกายและจิต สาเหตุของการเกิดคือเพื่อมุ่งสู่นิพพาน ส่วนความหมายสอง เป็นการพูดถึงสัตว์ประหลาดที่อยู่ในจิตใจของคุณเจ้ย ที่ดูถูกคนไทยว่าเป็นประเทศที่มีแนวคิดล้าหลัง ฯ ความหมายจริงๆเป็นแบบไหน ก็แล้วแต่ใครจะตีความนะครับ

ถ้าหนังไม่ดีจริง ผมดูครั้งที่ 2 หรือ 3 หรือต่อๆไป คงไม่มีทางที่จะยังชอบอยู่ได้แน่ ความรู้สึกหลังจากการดูครั้งล่าสุด ทำเอาผมยิ่งทึ่งกับหนังมากขึ้นไปอีก กาลเวลามันจะทำให้หนังเก่าๆมีค่าขึ้นจริงๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่โตมาในยุคเข้าร้านเกมเล่น Counter Strike, ได้เคยไปร้านอาหารที่มีผู้หญิงวัยกลางคนร้องเพลงเก่าๆ, เคยเจอกับป้าที่ไม่รู้จัก อุปถัมถ์เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ เล่าเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ-ตำนานต่างๆ, นี่คือภาพเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2547) แปปเดียวเองนะครับผ่านไป 10 ปีแล้ว ครึ่งหลังคือการปล่อยของ โชว์สุดยอดเทคนิคที่ล้ำยุค ทั้งภาพ ตัดต่อและเสียง Sound Effect หนังไม่ได้มีเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมกินใจ แต่เป็นวิธีการการเล่าเรื่อง และภาพวิถีชีวิตที่ร่วมสมัยเดียวกับผม ความ nostagia คือเหตุผลที่ทำให้ สัตว์ประหลาด กลายเป็นหนังไทยสุดโปรดของผม ที่เชื่อว่า ยิ่งเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ได้กลับมาดูทุกครั้ง จะยิ่งหลงรักมากขึ้นไปอีก

กับคนที่ชอบหนังของคุณเจ้ย เชื่อว่าคงไม่มีใครน่าจะพลาด สัตว์ประหลาดแน่ๆ แต่ขอเตือนไว้น่านี่ไม่ใช่หนังที่ควรเปิดให้เด็กดูนะครับ ถ้าเขาดูไม่รู้เรื่องก็ไม่อะไรหรอก แต่ถ้าดันตั้งใจดูแล้วเข้าใจหนังละก็ บรรยากาศครึ่งหลังมันน่ากลัวมากๆ จนอาจกลายเป็นภาพหลอนติดตาเด็กๆไปเลย จัดเรต R แนะนำกับคนอายุ 17-18 ขึ้นไปนะครับ

คำโปรย : “หนังไทยที่ยอดเยี่ยมที่สุด!”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบ : FAVORI

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
3 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Oazsarun Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsarun
Guest
Oazsarun

ผมไม่รู้ว่าปัจจุบันแอดคิดต่อหนังพี่เจ้ยอย่างไรนะ แต่ผมไม่คิดว่าพี่แกเป็น กบฎ ต่อชาติไทยแน่นอน ทุกเรื่องของแกคือเสียดสีสังคมไทยได้ยอดเยี่ยมและจริงที่สุดเท่าที่ผู้กำกับไทยคนไหนจะทำได้ หวังว่าแอดจะกลับมารีวิวผลงานแกนะ เพราะพี่แกในตอนนี้ถือได้ว่าไม่ใช่แค่ผู้กำกับหนังดีทั่วไป แต่ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้กำกับระดับสุดยอดของโลกไปแล้ว ยิ่งเป็นคนไทยด้วยน่าเสียดายที่บ้านเมืองเรามีแค่หยิบมือที่รู้จัก ด้วยความเข้าถึงยากและถูกกีดกัน และวงการหนังบ้านเรามันยังล้าหลังเกินไป

%d bloggers like this: