Violette Nozière

Violette Nozière (1978) French, Canadian : Claude Chabrol ♥♥♥♡

Violette Nozière ถูกจับกุมข้อหาวางยาพิษฆ่าบิดา ก่อนให้การว่าตนเองถูกข่มขืน (Incest) มาตั้งแต่เด็ก ถึงอย่างนั้นกลับยังถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยกิโยติน, สุดยอดการแสดงของ Isabelle Huppert (คว้ารางวัล Cannes: Best Actress) และ Stéphane Audran (คว้ารางวัล César Awards: Best Supporting Actress)

Violette Nozière (1978) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในยุคทอง “Golden Era” ของผกก. Chabrol ครั้งสุดท้ายร่วมงานภรรยา Stéphane Audran ก่อนหย่าร้างกันเมื่อปี ค.ศ. 1980 (แต่หลังจากหย่าร้าง พวกเขายังหวนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งสองสามครั้ง) ครั้งแรกร่วมงาน(ว่าที่)นางเอกขาประจำคนใหม่ Isabelle Huppert … ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของผกก. Chabrol เลยก็ว่าได้!

ก่อนหน้านี้ Isabelle Huppert เพิ่งคว้ารางวัล BAFTA Award: Most Promising Newcomer to Leading Film Roles จากภาพยนตร์ La Dentelliere (1977) ทำให้เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ กระแสไม่ทันจางหาย ปีถัดมากับผลงาน Violette Nozière (1978) ยังสามารถคว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ส่งเธอให้เจิดจรัส ดาวดาราค้างฟ้า หญิงสาวหน้าใสผู้มีความหาญกล้า ไม่หวาดกลัวเกรง เล่นได้ทุกบทบาท ฆาตกร โสเภณี ถูกข่มขืน (บิดา)กระทำชำเรา ฯ

What’s remarkable in this film, though, is not Chabrol’s vision, which remains consistent, but Huppert’s performance, which is so assured, so complex it’s hard to believe she worked this transformation in character after La Dentelliere (1977).

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนนหนัง 3.5/4

ผมมีความสนอกสนใจ Violette Nozière (1978) เพราะ(ว่าที่)นางเอกขาประจำคนใหม่ Isabelle Huppert ในบรรดาผู้กำกับขาประจำ การร่วมงานกับ Chabrol จำนวน 7 ครั้ง ต้องถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดเลยก็ว่าได้ (แต่ในเรื่องคุณภาพผลงาน ผมว่าขาประจำกับ Michael Haneke ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากกว่า)

  • Violette Nozière (1978) คว้ารางวัล Cannes: Best Actress
  • Story of Women (1988) คว้ารางวัล Venice: Volpi Cup for Actress
  • La Cérémonie (1995) คว้ารางวัล Venice: Volpi Cup for Actress และ César Awards: Best Actress

แต่ว่ากันตามตรงสำหรับ Violette Nozière (1978) ถ้าผกก. Chabrol ไม่ติสต์แตก! ดำเนินเรื่องแบบเส้นตรงทั่วๆไป (Linear Narrative) จะมีความน่าจดจำไม่น้อยกว่า Story of Women (1988) นั่นเพราะการกระโดดข้ามฉากฆาตกรรม แล้วย้อนกลับมาเปิดเผยเอาภายหลัง (Flashback) มันไม่จำเป็นเลยสักนิด!


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Violette Germaine Nozière (1915-66) เกิดที่ Neuvy-sur-Loire เป็นบุตรของพนักงานขับรถไฟ Baptiste Nozière กับมารดา Germaine Joséphine Hézard (ท้องก่อนแต่งงาน เลยไม่รับรู้ว่าบิดาคือใคร) หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอาศัยอยู่อพาร์ทเมนท์ชั้นหก 9 rue de Madagascar ในเขต 12th arrondissement วัยเด็กตั้งใจเรียน สอบได้คะแนนดี แต่หลังจากขึ้นมัธยมทุกสิ่งอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป ครูที่โรงเรียนบรรยายความขี้เกียจสันหลังยาว “Lazy, sneaky, hypocritical and shameless.” คบหากับนักเรียนแพทย์ Pierre Camus, นักเรียนกฎหมาย Jean Dabin, เพื่อนสนิทวัยเด็ก Jean Guillard, ดึกดื่นมักหนีออกจากบ้าน แอบมาขายบริการ โดยที่ครอบครัวไม่เคยรับรู้สนใจ

เดือนเมษายน ค.ศ. 1932, Doctor Henri Déron จากโรงพยาบาล Xavier-Bichat ตรวจพบว่า Violette ติดเชื้อซิฟิลิส เธอพยายามโน้มน้าวให้บอกกับครอบครัวว่าตนเองยังบริสุทธิ์ เพื่อจะได้ใช้ข้ออ้างเป็นโรคทางพันธุกรรม (Hereditary Syphilis) … ภายหลังคาดกันว่าการตรวจโรคสมัยนั้นอาจคลาดเคลื่อนกับวัณโรค เพราะหลายปีต่อมา Violette สามารถให้กำเนิดบุตรถึงห้าคน (ซิฟิลิสเป็นโรคที่ต่อให้รักษาหาย ยังมีผลกระทบ ความเสี่ยงสูงต่อทารกในครรภ์)

วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1933, Violette ปลอมลายมือหมอ ซื้อยานอนหลับ Soménal แสร้งทำเป็นบอกกับบิดา-มารดา ว่าคือยารักษาซิฟิลิสสำหรับครอบครัว แต่ปริมาณยังไม่มากเพียงพอ, วันที่ 21 สิงหาคมปีเดียวกัน เพิ่มปริมาณยานอนหลับขึ้นอีกเท่าตัว เป็นเหตุให้บิดาเสียชีวิต ส่วนมารดารอดตายหวุดหวิด พอกลับมาอพาร์ทเม้นท์แสร้งทำเป็นแก๊สรั่ว เพื่อแจ้งกับเจ้าของอพาร์ทเม้นท์

ด้วยความที่หลักฐานมัดตัว Violette จึงถูกจับกุม ขึ้นศาลไต่สวน กลายเป็นคดีความใหญ่โตหลังเธอให้การว่าถูกบิดาใช้ความรุนแรง ข่มขืน (Incest) มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้ช่วยการพิจารณาคดี ได้รับตัดสินโทษประหารชีวิต ก่อนลดเหลือแค่ทำงานหนัก (Hard Labour) และถูกปล่อยตัวเมื่อปี ค.ศ. 1945

Claude Henri Jean Chabrol (1930-2010) ผู้กำกับ/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่ไปเติบโตยังชนบท Sardent, Nouvelle-Aquitaine ครอบครัวเป็นเจ้าของร้านขายยา คาดหวังให้บุตรชายสืบทอดกิจการ แต่กลับค้นพบความสนใจสื่อภาพยนตร์ “seized by the demon of cinema” ก่อตั้งชมรม Film Club ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลงใหลเรื่องราวนักสืบ แนวตื่นเต้นลุ้นระทึก (Thriller), หลังสงครามโลกสิ้นสุดเดินทางสู่ Paris เข้าศึกษาต่อ Université de Paris (บ้างว่าร่ำเรียนเภสัชศาสตร์ บ้างว่านิติศาสตร์) แต่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ยัง Ciné-Club du Quartier Latin และ Cinémathèque Française หลังเรียนจบอาสาสมัครทหาร French Medical Corps ไต่เต้าจนได้ยศผู้หมวด (Sergeant) พอปลดประจำการ กลายเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma, ร่วมกับ Éric Rohmer ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ Hitchcock (1957), ให้ความช่วยเหลือ Jacques Rivette สรรค์สร้างหนังสั้น Le coup du Berger (1957), กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Beau Serge (1958) ถือเป็นจุดเริ่มต้นกลุ่มเคลื่อนไหว French New Wave

ผกก. Chabrol รับรู้จักคดีอื้อฉาวของ Violette Nozière ตั้งแต่การปล่อยตัวเมื่อปี ค.ศ. 1945 คอยติดตามข่าวคราว มีความสนอกสนใจในเรื่องราวดังกล่าวอย่างมากๆ แต่ไม่เคยครุ่นคิดอยากดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์มาก่อน จนกระทั่งได้พูดคุยกับเพื่อนนักแสดง Pierre Brasseur โน้มน้าวชักชวน สงสัยอยากมีส่วนร่วมในโปรเจค … น่าเสียดายแทน Brasseur ที่แม้เป็นคนเสนอแนะโปรเจค แต่กลับไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ

แทนที่จะเสียเวลาค้นคว้าหาข้อมูล เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ผกก. Chabrol หยิบเอาหนังสือชีวประวัติ Violette Nozière (1975) รวบรวมโดย Jean-Marie Fitère มาทำการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ มอบหมายให้นักเขียน (Adaptation & Scenario) Odile Barski และยังร่วมงานกับ (Scenario) Hervé Bromberger & Frédéric Grendel

เกร็ด: ทายาททั้งห้าของ Violette Nozière ต่างไม่มีใครอยากให้นำเรื่องราวของมารดามาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ แต่ทว่าผกก. Chabrol พยายามพูดคุย โน้มน้าว ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ๆกว่าจะเกลี้ยกล่อม อธิบายความตั้งใจให้พวกเขา จนในที่สุดก็ยินยอมตอบตกลง


พื้นหลังประเทศฝรั่งเศส ช่วงต้นทศวรรษ 1930s, เรื่องราวของ Violette Nozière (รับบทโดย Isabelle Huppert) อาศัยอยู่กับบิดา Baptiste Nozière (รับบทโดย Jean Carmet) และมารดา Germaine Nozière (รับบทโดย Stéphane Audran) ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ดูเคร่งครัด ยึดถือมั่นในศาสนา แต่ทว่าบุตรสาว Violette กลับชอบหลบหนีออกจากอพาร์ทเม้นท์ยามค่ำคืน แอบทำงานเป็นโสเภณี เปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า จนกระทั่งตกหลุมรักนักเรียนกฎหมาย Jean Dabin (รับบทโดย Jean-François Garreaud) พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปรนปรนิบัติ ถึงขนาดลักขโมยเงินครอบครัวมาเลี้ยงดูแล

วันหนึ่งหมอของ Violette แจ้งว่าล้มป่วยซิฟิลิส เธอพยายามโน้มน้าวให้บอกกับครอบครัวว่าตนเองยังบริสุทธิ์ เพื่อใช้ข้ออ้างโรคทางพันธุกรรม แล้วฉกฉวยโอกาสนั้นในการลอบวางนอนหลับกับบิดา-มารดา ครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลังทำให้บิดาเสียชีวิต ส่วนมารดารอดตายหวุดหวิด พอแพทย์ชันสูตรศพ หลักฐานมัดตัว ตำรวจจึงเข้าจับกุม Violette ขึ้นศาลไต่สวน กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์


Isabelle Anne Madeleine Huppert (เกิดปี 1953) นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นชาว Jews ส่วนมารดาทำงานครูสอนภาษาอังกฤษ ผลักดันให้ลูกๆเป็นนักแสดงตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาได้เข้าเรียน Conservatoire à rayonnement régional de Versailles ติดตามด้วย Conservatoire national supérieur d’art dramatique (CNSAD) เริ่มต้นมีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์ Le Prussien (1971), ตามด้วยภาพยนตร์ Faustine et le Bel Été (1972), Les Valseuses (1974), The Common Man (1975), La Dentelliere (1977) **คว้ารางวัล BAFTA Award: Most Promising Newcomer, ผลงานเด่นๆ อาทิ Aloïse (1975), Violette Nozière (1978), Une affaire de femmes (1988), La Cérémonie (1995), The Piano Teacher (2001), Gabrielle (2005), Amour (2012), Elle (2016) ฯ

รับบท Violette Nozière หญิงสาววัยรุ่น หน้าตาใสๆ แต่เหมือนคนพานผ่านอะไรๆมามาก เต็มไปด้วยความเก็บกด อัดอั้น ไม่ชอบความเข้มงวดกวดขัน โหยหาความรักมารดา ต้องการอิสรภาพจากครอบครัว, ซึ่งพอออกจากอพาร์ทเม้นท์ ก็สำแดงธาตุแท้ตัวตน ปล่อยตัวปล่อยใจ ระริกระรี้เข้าหาผู้ชาย รักใครชอบใครก็ยินยอมพร้อมจ่าย (สายเปย์) หาเงินจากการลักขโมย ขายบริการ ทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนห่าเหวอะไร เพียงตอบสนองตัณหาความใคร่ พึงพอใจส่วนตน

ผกก. Chabrol มีความสนใจใน Isabelle Huppert และ Jean Carmet ต้องการให้มารับบทพ่อ-ลูก เพราะทั้งสองเคยร่วมงานภาพยนตร์ The Common Man (1975) โดยตัวละครของ Carmet กระทำการข่มขืน Huppert … คนที่เคยรับชมหนังเรื่องนั้น ย่อมบังเกิดจิตใต้สำนึก (Subconscious) รับรู้ถึงความสัมพันธ์เบื้องลึกระหว่างนักแสดงทั้งสอง

ผมไม่ค่อยได้รับชมผลงานของ Huppert ตอนยังสาวๆมากนัก เลยติดภาพจำหญิงแกร่ง ห้าวเป้ง ใจนักเลง ไร้ความหวาดกลัวเกรง แอบคาดไม่ถึงเมื่อพบเห็นใบหน้าใสๆ ระริกระรี้ร่านผู้ชาย … เป็นบทบาทเหมาะกับช่วงวัยขณะนั้น ยังดูสดใส หน้าใหม่ในวงการ กล้าลองผิดลองถูก มองหาอัตลักษณ์ตัวตน พร้อมรับความท้าทายทุกสิ่งอย่าง

ซึ่งหลังจากภาพลักษณ์ใสๆ ยังไม่ทันไรพอกลับถึงบ้าน มารดากำลังจะเปิดประตูวิ่งแจ้นไปลบรอยลิปสติก กลับมาด้วยความบูดบึ้ง หน้านิ่วคิ้วขมวด ท่าทางเย็นชา เปลี่ยนแปลงราวกับคนละคน แบบที่ไม่มีใครทันตั้งตัว มันเกิดห่าเหว? หรือมีลับลมคมในอะไร? … การแสดงของ Huppert ทำให้ผู้ชมแยะแยกโลกสองใบของเธอได้แทบจะโดยทันที!

จากนั้น Huppert พยายามสร้างสมดุลระหว่างโลกทั้งสองใบ “The horror of her act is matched only by her suffering.” เพื่อให้พบเห็นภาพสะท้อนการกระทำ = ความทุกข์ทรมานที่ได้รับจากครอบครัว ผู้ชมบังเกิดความสงสาร เข้าใจตัวละคร มากกว่ารู้สึกรังเกียจต่อต้านพฤติกรรมชั่วร้ายแสดงออกมา

ถ้าเทียบกับผลงานยุคหลังๆ ฝีไม้ลายมือ ประสบการณ์ด้านการแสดง ผมรู้สึกว่า Huppert ยังห่างไกลจุดสูงสุด! แต่ถือเป็นบทบาทที่เปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ สำแดงความหาญกล้า พร้อมรับคำท้าทาย ไม่หวาดกลัวเกรงแม้ตัวละครจะเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ดำมืดมิดสักเพียงไหน สำแดงอิสรภาพของศิลปิน/นักแสดง กรุยทางสู่ความเป็นอมตะนิรันดร์


Jean Carmet (1920-94) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Tours, Indre-et-Loire เริ่มจากเป็นนักแสดงละคอนเวที มีชื่อเสียงจากเล่นบทตลก ผลงานเด่นๆ อาทิ The Common Man (1975), La Victoire en Chantant (1976), Violette Nozière (1978), Buffet Froid (1979), Circle of Deceit (1981), Les Misérables (1982) ฯ

รับบทบิดา Baptiste Nozière มีความรัก ความเอ็นดู ทะนุถนอมบุตรสาว Violette หลายครั้งยังคอยปกป้องจากมารดา แต่ไม่เคยเรียนรู้ ทำความเข้าใจ สนใจความรู้สึกเธออย่างจริงจัง ปล่อยปละละเลย เพิกเฉยเฉื่อยชา เชื่อมั่นว่าต้องเป็นเด็กดี อนาคตสดใส ไม่สร้างเรื่องเดือดร้อนให้ใคร (มันคือการคิดเองเออเองทั้งหมด)

อย่างที่อธิบายไปแล้วถึงความสัมพันธ์จิตใต้สำนึกระหว่าง Huppert กับ Carmet หนังจึงไม่ได้นำเสนอภาพอันโจ๋งครึ่ม โจ่งแจ้ง สไตล์ของผกก. Chabrol คือพยายามทำให้ตัวละครเหมือนบุคคลธรรมดาๆทั่วไป ไม่ได้ดูอันตราย โฉดชั่วร้าย แต่ยังพบเห็นการสัมผัส ลูบไล้ นั่งบนตัก สร้างความคลุมเคลือ ส่วนที่เหลือก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการ มันอาจจะมีหรือไม่มีเรื่องเพศสัมพันธ์ (Incest) นั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้

การแสดงของ Carmet อาจดูธรรมดาๆ ไม่มีอะไรหวือหวา ไม่มีการเล่ารายละเอียดอะไรสักเท่าไหร่ แต่เพราะตัวละครปกคลุมด้วยความคลุมเคลือ ที่(อาจ)สร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง ทุกครั้งเวลาสัมผัสจับต้อง Violette มักทำให้จินตนาการของเตลิดเปิดเปิงไปไกล


Stéphane Audran ชื่อเกิด Colette Suzanne Jeannine Dacheville (1932-2018) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Versailles, Seine-et-Oise โตขึ้นฝึกฝนการแสดงยัง Ecole de théâtre Charles Dullin แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับละคอนเวทีนัก เลยผันตัวมาแสดงภาพยนตร์ ร่วมงานครั้งแรกกับสามี Claude Chabrol ตั้งแต่ Les Cousins (1959) ผลงานเด่นๆ อาทิ Les Biches (1958), Le Signe du Lion (1962), Le Boucher (1970), The Breach (1970), Just Before Nightfall (1971), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), Violette Nozière (1978), Babette’s Feast (1987) ฯ

รับบทมารดา Germaine Nozière มักมีอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด บ่อยครั้งชอบหาเรื่อง ไม่พึงพอใจบุตรสาว Violette ทั้งๆเป็นลูกแท้ๆ กลับเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา เหมือนว่าจะรับรู้ความสัมพันธ์(ของบุตรสาว)กับสามี จึงพยายามกีดกัน ผลักไส (แสร้งทำเป็น)ไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องการยินยอมรับความจริง

บทบาทของ Audran ราวกับระเบิดเวลา เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย อารมณ์ฉุนเฉียว เอาแน่เอานอนอะไรไม่ค่อยได้ ก็ไม่รู้รับอิทธิพลจากชีวิตจริง ความสัมพันธ์ที่กำลังแตกร้าวกับสามี/ผกก. Chabrol ด้วยหรือเปล่า? ฉากขโมยซีนของ Audran คือระหว่างตอนขึ้นศาลไต่สวน เผชิญหน้ากับบุตรสาว เธอพยายามปิดกั้น ไม่อยากรับฟังความจริง พยายามสรรหาข้ออ้างมาปกป้องตนเอง แต่จนแล้วจนรอด โต้ตอบด้วยความเกรี้ยกราดกราด สิ่งอัดอั้นภายในก็ราวกับได้ปะทุระเบิดออกมา

ความสัมพันธ์ระหว่างผกก. Chabrol กับ Audran เห็นว่าแตกร้าวมาตั้งแต่ The Unfaithful Wife (1969) แต่เหตุผลที่ทั้งสองยังไม่เลิกราหย่าร้าง ก็เพราะความรักต่อบุตรชาย จึงพยายามยื้อย่างความสัมพันธ์ เฝ้ารอคอยให้เขาเติบใหญ่จนพอมีวุฒิภาวะ สามารถรับรู้เข้าใจ ก่อนเซ็นใบหย่าปี ค.ศ. 1980 นั่นทำให้ Violette Nozière (1978) กลายเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายในสถานะสามี-ภรรยา


ถ่ายภาพโดย Jean Rabier (1927-2016) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montfort-L’Amaury จากเป็นศิลปินวาดรูป ผันสู่ทำงานตากล้องภาพยนตร์ เริ่มจากควบคุมกล้อง (Camera Operator) ถ่ายทำหนังสั้นตั้งแต่ปี 1948, ผู้ช่วย Henri Decaë ถ่ายทำ Crèvecoeur (1955), Le Beau Serge (1958), Elevator to the Gallows (1958), The 400 Blows (1959), จากนั้นได้รับการผลักดันจาก Claude Chabrol เป็นตากล้องเต็มตัว/ขาประจำตั้งแต่ Wise Guys (1961), ผลงานโด่งดัง อาทิ Cléo from 5 to 7 (1962), Bay of Angels (1963), The Umbrellas of Cherbourg (1964), Le Bonheur (1965) ฯ

ด้วยความที่พื้นหลังของหนังอยู่ในช่วงทศวรรษ 1930s ส่วนใหญ่เลยเลือกทำฉากภายใน (เพราะสามารถควบคุมรายละเอียดได้ดีกว่า) ห้องพัก โรงแรม ร้านอาหาร เรือนจำ ฯ งานภาพจึงมีระยะกลาง-ใกล้ (Medium และ Close-Up) ด้วยเหตุนี้เลยเลือกใช้อัตราส่วนภาพ 1.66:1 ซึ่งมีความกลางๆ ไม่คับแคบเหมือน Academy Ratio (1.33:1) หรือกว้างเกินไปอย่าง Widescreen (16:9)

ถึงจะบอกว่าอัตราส่วนภาพ 1.66:1 มีความเป็นกลางๆ แต่เมื่อไหร่ที่ Violette กลับอพาร์ทเม้นท์ อาศัยอยู่ร่วมกับบิดา-มารดา มุมกล้องพยายามทำให้ดูแออัด คับแคบ จนแทบจะรู้สึกเหมือน Claustrophobia (อาการกลัวที่แคบ) เพื่อสื่อถึงความเก็บกด อดกลั้นของหญิงสาวที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความคาดหวัง แรงกดดันของครอบครัว

หนังใช้เวลาถ่ายทำเพียงเดือนกว่าๆ ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ถึงสิ้นธันวาคม ค.ศ. 1977 โดยตระเวนไปตาม Paris 5 และ Paris 7 เลือกใช้สถานที่จริงทั้งหมด!


ระหว่าง Opening Credit กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลเข้าไปยังรั้วประตูอพาร์ทเม้นท์ สร้างสัมผัสต้องห้าม สถานที่คุมขัง และเรื่องราวเริ่มต้นเมื่อหญิงสาววัยรุ่น Violette อายุเพิ่งจะ 17-18 ปี แอบย่องออกจากอพาร์ทเม้นท์ยามวิกาล แต่งตัวสวย ทาลิปสติกแดง ไปไหน? ทำอะไร? นั่นหาใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสม สังคมยุคสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับ

Violette และเพื่อนสาว ปีนป่ายขึ้นไปละเลงรูปปั้น Claude Bernard (1813-78) (ตั้งอยู่ยัง Collège de France) นักสรีรวิทยาสัญชาติฝรั่งเศส ผู้ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ “one of the greatest of all men of science” โด่งดังจากการให้คำนิยามภาวะธำรงดุล (Homeostasis) การรักษาดุลยภาพของสิ่งมีชีวิต เพื่อรักษาสถานะเสถียรภาพของร่างกาย … ในบริบทนี้อาจจะเพื่ออธิบายเหตุผลการมีโลกสองใบของ Violette ถือเป็นการปรับสมดุลให้กับตัวตนเอง

แซว: การปีนป่ายขึ้นไปทำอะไรสักอย่างบนรูปปั้น ชวนให้ผมนึกถึงโคตรหนังเงียบ City Light (1931) ขึ้นมาโดยพลัน!

หลังจากใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ ระริกระรี้แรดร่าน แต่พอกลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์ รีบวิ่งแจ้นหลบหน้ามารดา แสร้งทำเป็นกุญแจหล่นแต่กลับไปเช็ดหน้าเช็ดตา ลบรอยลิปสติก และเมื่อเข้ามาในห้อง กล้องเคลื่อนเลื่อนพานผ่านภาพถ่ายสวมใส่ชุดแม่ชี ดูเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ มันช่างไม่เห็นเหมือนพฤติกรรมแสดงออกก่อนหน้า ราวฟ้ากับเหว สวรรค์-นรก ผู้ชมก็น่าจะตระหนักถึงโลกสองใบของ Violette แสดงออกอย่างแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง!

ในขณะที่บิดา-มารดา มีความเคร่งครัด ระเบียบรัตน์ต่อ Violette ต้องเรียบร้อย ต้องตั้งใจเรียน ต้องเป็นโน่นนี่นั่น แต่พวกเขายามค่ำคืนกลับทำตัวระริกระรี้เหมือนวัยรุ่น ดูภาพเปลือย บังเกิดอารมณ์ ร่วมเพศสัมพันธ์ ใช้ข้ออ้างเรื่องของผู้ใหญ่ โดยไม่เคยครุ่นคิดสนใจความรู้สึกของบุตรสาว ประตูเปิดเอาไว้ ส่งเสียงดัง จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล

คนที่มองว่าผู้ใหญ่ สามี-ภรรยา ก็แค่การมีเพศสัมพันธ์มันผิดอะไร? เด็กสาวต่างหากยังไม่ถึงวันเวลา นั่นแสดงว่าคุณไม่เคยทำความเข้าใจวัยรุ่น นี่เป็นช่วงอายุที่ฮอร์โมน(เพศ)กำลังพลุกพร่าน อยากรู้อยากเห็น สนใจเรื่องทางเพศ สถานการณ์ลักษณะนี้ยิ่งทำให้เธอเก็บกด อดกลั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง … นี่ก็สะท้อนบริบทสังคมยุคสมัยนั้นที่ยังปิดกั้นเรื่องเพศด้วยเช่นกัน

นี่เป็นซีนเล็กๆที่เคลือบแฝงลับลมคมในอยู่ไม่น้อย บิดากำลังจะออกไปทำงาน ร่ำลาบุตรสาวและภรรยา

  • แม้การจุมพิตจะเป็นธรรมเนียมฝรั่งเศส แต่กับบุตรสาวมันค่อนข้างดูเยอะ สลับแก้มซ้าย-แก้มขวา สัมผัสหลัง-บ่า เหมือนอยากทำให้นานกว่านี้ถ้าไม่เพราะภรรยากำลังเดินเข้ามา
  • สำหรับภรรยา มีการกอด จูบ หลบมุมบุตรสาว เพื่อแอบบีบบั้นท้าย ดูเหมือนกำลังกลัดมัน อยากร่วมเพศสัมพันธ์กันตรงนี้เลยด้วยซ้ำ

พฤติกรรมของบิดา แสดงให้เห็นว่ายังมีเพลิงราคะคุกรุ่น พยายามหาโอกาส ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของตนเอง ไม่เว้นภรรยาหรือบุตรสาวที่กำลังเบ่งบานสะพรั่ง

ปล. ผมเพิ่งสังเกตเห็นหัวเตียงของ Violette จะมีภาพถ่ายชายหาด ท้องทะเล (ซีนนี้ก็สวมใส่ชุดสีน้ำเงิน) สามารถถึงอาการโหยหาอิสรภาพ ต้องการออกไปจากสถานที่แห่งนี้

มารดาค้นพบจดหมายลับซุกซ่อนอยู่ใต้เตียงนอน พอดิบพอดีกับ Violette ขยับไปขยับมาจนพบเห็นเรียวขาวับๆแวมๆใต้โต๊ะ … พบเห็นความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้กันไหมเอ่ย? ภาพถ่ายชายสูงวัย = เรียวขาวับๆแวมๆ หรือก็คือความสัมพันธ์ใต้โต๊ะ/ทางเพศกับ Violette

ผกก. Chabrol นิยมชมชอบใช้สถานที่ ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ในการพรรณาความรู้สึก ห้วงอารมณ์ขณะนั้นของตัวละคร ซึ่งสำหรับ Violette Nozière (1978) พบเห็นภาพกิ่งไม้ไร้ใบในช่วงฤดูหนาวอยู่บ่อยครั้ง เพื่อสื่อถึงจิตใจอันแห้งเหี่ยว เปล่าเปลี่ยว ไร้ชีวิตชีวา หนาวเหน็บถึงจิตวิญญาณ

อย่างภาพนี้หลังจาก Violette รับรู้ว่าตนเองป่วยโรคซิฟิลิส ออกวิ่งผ่านต้นไม้ที่เหลือเพียงกิ่งก้านไร้ใบ ตั้งใจจะกระโดดแม่น้ำฆ่าตัวตาย แต่พอเหม่อมองกระแสธารธาราเคลื่อนไหล ก็สามารถปลดปล่อยความรู้สึกล่องลอยไปกับสายน้ำ

ผมครุ่นคิดอยู่นานว่าหนังจะแทรกภาพนิมิต ความฝัน ใบหน้านักเรียนกฎหมาย Jean Dabin ว่าที่แฟนหนุ่มของ Violette มาทำไมกัน? อีกไม่นานก็จะได้พบเจอกันอยู่แล้ว? คำตอบคือเพื่อเติมเต็มลีลาการเล่าเรื่อง นอกจากย้อนอดีต (Flashback) มันเลยต้องมีพยากรณ์อนาคต (Flashforward)

ลีลาการนำเสนอภาพความฝันของ Violette เริ่มจากพบเห็นภาพวาดคลื่นซัดหาดทราย จากนั้น Cross-Cutting คลื่นกำลังพัดพา ซ้อนทับ Jean Dabin (รับบทโดย Jean-François Garreaud) ในสภาพเปลือยหน้าอกเดินเข้ามา … ความรักเปรียบดั่งคลื่นลมมรสุม พัดพาเข้ามา ไม่นานก็จากไป

ผมมองว่าผกก. Chabrol นำเสนออย่างโจ่งแจ้งเกินไปเสียด้วยซ้ำ อย่างบิดายืนมองบุตรสาวขณะกำลังอาบน้ำเช็ดตัว หรือเอามือสัมผัสต้นคอ (สัญลักษณ์ของการควบคุมครอบงำ) แต่ผู้ชมสมัยนั้นอาจมองฉากลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป Violette อายุแค่ 17 ถือว่าเป็นเด็ก ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามกฎหมายต้องอาศัยอยู่กับครอบครัว … ผู้ชมสมัยนี้น่าจะโตพอแยกแยะความเหมาะสมกับเรื่องพรรค์นี้ได้แล้วกระมัง

ระหว่างรับชมผมแอบสะกิดใจอยู่เล็กๆ มันมียาป้องกันโรคซิฟิลิสสำหรับครอบครัวด้วยหรือ? จนเมื่อเรื่องราวดำเนินไปอีกสักพัก ถึงค่อยมีการเปิดเผยว่า Violette แอบเขียนจดหมาย ปลอมลายเซ็นต์หมอ ซื้อยานอนหลับมาบดเป็นผง แบ่งใส่ซองจดหมาย แต่ทว่านี่คือครั้งแรก ปริมาณยังไม่เพียงพอ มารดาจึงแค่ล้มป่วย เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล … ถ้าอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง ค่ำคืนนี้บังเอิญมีเหตุการณ์ไฟไหม้ ปลุกตื่นเพราะสำลักควันไฟ รอดตายอย่างหวุดหวิด

แซว: เมื่อตอนทั้งสามดื่มยา บิดาต้องการชนแก้วดื่มพร้อมกัน แต่ทั้งบุตรสาวและภรรยาต่างไม่มีใครสนใจ แสดงถึงครอบครัวนี้ไม่มีความพร้อมเพรียง กลมเกลียวกันเลยสักนิด!

โดยปกติแล้วผู้ชายจะมีสิทธิ์เสียง อำนาจบนเตียง แต่ทว่าเมื่อตอน Violette ร่วมรักครั้งแรกกับ Jean Dabin เธอเป็นคนพูดบอก ออกคำสั่ง ให้เขาปลดเปลื้องเสื้อผ้า อุ้มพาไปบนเตียงนอน แล้วอยากจะทำอะไรก็ทำ (นี่ถือเป็นสิ่งกลับตารปัตรกับวิถีทางสังคม) มาพร้อมการจัดแสงดูฟุ้งๆ ราวกับความเพ้อฝัน

ระหว่างที่ Violette กำลังพรอดรักหลังเสร็จกามกิจในโรงแรม มีการแทรกภาพบนเตียงนอนที่อพาร์ทเม้นท์ เช้าตื่นขึ้นมากลับยังปกคลุมด้วยความมืดมิด แสดงให้เห็นโลกสองใบของเธอมันช่างแตกต่างตรงกันข้าม ราวกับสรวงสวรรค์-ขุมนรก

จุดแตกหักของหนังเป็นการร้อยเรียงซีรีย์เหตุการณ์เข้าด้วยกัน เริ่มต้นจาก Jean Dabin ให้คำมั่นสัญญากับ Violette ร่ำรวยเมื่อไหร่จะพาไปอเมริกา → Violette กลับมาอพาร์ทเม้นท์ ทำลายสิ่งข้าวของในห้องนอนบิดา-มารดา ตั้งใจว่าจะไม่หวนกลับคืนมา → แต่พอเธอกลับไปที่โรงแรม แฟนหนุ่มกลับสูญหายตัวไป → จึงจำต้องหวนกลับมาบ้าน เผชิญหน้ามารดาที่เปิดเผยความลับ(เกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่อชายสูงวัย)ต่อบิดา โดนบังคับให้เขียนจดหมาย เชื้อเชิญมารับประทานอาหารเพื่อพูดคุยเรื่องแต่งงาน → Violette ปลอมแปลงจดหมาย ลายมือหมอ บดยานอนหลับแยกใส่ซอง → แล้ววันแห่งโชคชะตาก็มาถึง

ความต่อเนื่องของซีเควนซ์นี้ เป็นการสำแดงให้เห็นเหตุและผล ไม่ใช่ว่าจู่ๆ Violette ครุ่นคิดอยากฆาตกรรมบิดา-มารดา ทุกสิ่งอย่างล้วนมีที่มาที่ไป หญิงสาวมีความลับที่ไม่อยากเปิดเผย ถึงขีดสุดความอดกลั้น อัดอั้น มิอาจทนต่อแรงกดดันครอบครัวได้อีกต่อไป

ผมมองว่าผกก. Chabrol ต้องการทำลายความคาดหวังของผู้ชม นั่นเพราะคนส่วนใหญ่น่าจะรับรู้อยู่แล้ว หรือสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่กำลังจะบังเกิดขึ้นขณะนี้ จึงตัดสินใจยื้อๆยักๆ ละเล่นตัว สรรหาข้ออ้างมาล่อหลอกผู้ชม กระโดดข้ามไปก่อน ประเดี๋ยวค่อยมาพบเห็นเอาภายหลัง … ลูกเล่นนี้อาจดูที่น่าสนใจ แต่มันไม่ได้มีความจำเป็นต้องติสต์แตกสักเท่าไหร่

สองภาพที่นำมานี้คือวินาทีที่หนังตัดข้าม “Time Skip” เริ่มจาก Violette กำลังจุดเทียนบนโต๊ะอาหาร หันไปพูดชมความงามของมารดา (คำชื่นชมก่อนตาย?) จากนั้นตัดไปยืนอยู่บนรถราง บอกกับพนักงานต้องการลงป้ายถัดไป (สื่อถึงการหลุดพ้นพันธนาการครอบครัว)

พอกลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์ ปฏิกิริยาของ Violette ดูไม่ยี่หร่ากับความตายของบิดา ระหว่างกำลังฉุดลากมารดา พอดิบพอดีได้ยินเสียงนาฬิกาดังบอกเวลา (ผมนับได้ 11 ครั้ง น่าจะประมาณ 5 ทุ่ม) คือช่วงเวลาหลับนอน พักผ่อน หรือจะสื่อถึงกาลร่ำจากลา

อาจเพราะนางพยาบาลทั้งสองรับรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับผู้ป่วย/มารดา Germaine จึงเพ่งมอง Violette ด้วยสายตาจิกกัด เคลือบแคลงสงสัย ไม่ยอมให้คลาดสายตา แถมหนังยังพยายามแช่ค้างภาพให้เนิ่นนาน จนสร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน มองหน้าฉันทำไม?

สายตาของนางพยาบาลทั้งสอง คือแววตาอันโฉดชั่วร้ายของมนุษย์ ที่ชอบด่วนตัดสินคนจากเปลือกภายนอก ภาพพบเห็น พฤติกรรม/การกระทำได้ยินมา ถูก-ผิด ดี-ชั่ว ยังไงไม่รู้ละ ขอแค่ให้ได้ยุ่งวุ่นวาย เสือกเรื่องชาวบ้าน ซุบซิบนินทา … คนสายพันธุ์นี้ช่างอัปลักษณ์พิศดาร จิตใจต่ำตม สร้างมลพิษให้สังคม

ระหว่างหลบหนีการจับกุม Violette นั่งในร้านอาหาร ตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวหัวใจ (เป็นช็อตที่ชวนให้นึกถึงภาพวาดเหงาๆของ Edward Hopper) ก่อนลุกขึ้นมาโยกเต้นเริงระบำ เริ่มจากไม่มีใคร กลายเป็นใครก็ได้ฉันไม่สนใจ ชีวิตล่องลอยเรื่อยเปื่อย ดำเนินไปอย่างไร้แก่นสาน นี่นะหรืออิสรภาพที่เพ้อใฝ่ฝัน

การถูกจับกุมของ Violette มันช่างดูโง่เง่าเต่าตุ่น แต่นั่นเพราะเธอมิอาจอดรนทนอยู่กับความโดดเดี่ยวเดียวดาย โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย เลยทำให้ถูกผู้ชายทรยศหักหลัง แสร้งทำเป็นคนดีมีศีลธรรม แท้จริงแล้วกลับมือถือสาก ปากถือศีล (แบบตอนต้นเรื่องมีชายคนหนึ่งที่ Violette พยายามเกี้ยวพาราสี แต่พอถามว่าจะขึ้นห้องไหมกลับตีตราว่าร้ายโดยพลัน!)

อีกสิ่งน่าสนใจของฉากนี้คือการเลือกใช้สถานที่ สวนสาธารณะ พบเห็นเด็กๆวิ่งเล่น ผู้คนเดินไปมาขวักไขว่ และโดยเฉพาะต้นไม้ด้านหลังมีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ สะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจหญิงสาว หนาวเหน็บเย็นยะเยือก ไม่อยากถูกจับ เพราะจักทำให้ตนเองสูญเสียอิสรภาพ

ผมไม่ค่อยอยากสปอยในช่วงระหว่างการพิจารณาคดีความ แต่อยากให้สังเกตหนึ่งในความฝันฟุ้งๆของ Violette เมื่อยังเป็นเด็กอายุ 12-13 โดยสารรถไฟมาท่องเที่ยวบ้านชนบทของปู่-ย่า หนังจงใจสร้างความคลุมเคลือ เริ่มจากพบเห็นเด็กหญิงนั่งขย่มตักบิดา จากนั้นเธอแอบเห็นมารดากำลังยั่วเย้าบิดาบนเตียง … คือเราสามารถตีความได้ทั้ง Incest และคำโป้ปดหลอกลวงของเด็กหญิง

ปล. การที่ Huppert แสดงเป็นเด็กสาวอายุ 12-13 มันอาจดูไม่สมจริง แต่ทว่าการมีสัญญะเรื่องเพศแล้วให้เด็กอายุเท่านั้นเข้าฉาก ผมว่ามันก็ไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ … หรือจะมองว่านี่คือความฝันที่ Violette นำเอาตนเองตอนโตย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กก็ได้เช่นกัน!

เด็กสาวช่วงวัย 12-13 น่าจะเพิ่งเริ่มมีประจำเดือนไม่นาน จึงเกิดความอยากรู้อยากเห็น ตอนเดินทางมาบ้านชนบทกลับพบว่าบิดา-มารดาไม่เคยอยู่เคียงข้าง พวกเขาหายตัวไปไหนกัน มีความลับลมคมในอะไรที่ไม่สามารถบอกกับตนเอง? หรือแม้แต่คุณยายก็ไม่กล้าตอบคำถามดังกล่าว?

เอาจริงๆถ้าเราครุ่นคิดสักหน่อยก็คงค้นพบคำตอบไม่ยาก นั่นคือบิดา-มารดาของ Violette จงใจทิ้งบุตรสาวไว้กับปู่-ย่า เพื่อพวกเขาจะได้ไประริกระรี้ มีเวลาอยู่ด้วยกันสองต่อสอง ร่วมรักหลับนอน แต่นั่นคือสิ่งที่เด็กหญิงยังไม่สามารถทำความเข้าใจ เลยครุ่นคิดว่าตนเองถูกทอดทิ้งขว้าง จึงโหยหาความรัก ใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง

ปล. โดยปกติแล้วบุตรสาวจะรักพ่อรังเกียจแม่ (Electra Complex) แต่ในกรณีของ Violette กลับพลิกตารปัตร นั่นแสดงว่าบิดาต้องเคยกระทำสิ่งเลวร้ายรุนแรง ถึงขนาดต้องการเข่นฆ่าให้ตกตาย แล้วโหยหาความรัก/การยินยอมรับจากมารดา

ก่อนหน้าที่กล้องจะจับภาพผู้พิพากษาตัดสินคดีกว่า มีการถ่ายให้เห็นภาพวาด Justice and Divine Vengeance Pursuing Crime (1804-08) ของจิตรกรฝรั่งเศส Pierre-Paul Prud’hon (1758-1823) เคยจัดแสดงอยู่ยัง Criminal Tribunal Hall ณ Palais de Justice, Paria (ปัจจุบันย้ายมาเก็บที่พิพิธภัณฑ์ Louvre)

การเริ่มต้นตัดสินคดีความด้วยภาพวาดนี้ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายยุคสมัยนั้นยังอ้างอิงความเชื่อ ศาสนา สิ่งเคยยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา หาได้มีความเที่ยงตรง เที่ยงธรรม ยึดตามหลักการเสมอภาคเท่าเทียม

พอได้ยินคำพิพากษาตัดสิน สิ่งแรกที่ Violette ให้ความสนใจกลับคือสร้อยคอทำตกหล่นหาย สูญสิ้นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ แฝงนัยยะถึงความหมดสิ้นศรัทธาต่อกฎหมายบ้านเมือง คำตัดสินของศาล คณะลูกขุนที่มีเพียงชายล้วน ไร้ความยุติธรรมต่อหญิงสาว … ซึ่งพอเธอได้สติกลับคืนมา ก็โต้ตอบคำตัดสินดังกล่าวอย่างทันควัน “You disgust me.”

ภาพสุดท้ายของหนังหลังเสียงบรรยายโดยผกก. Chabrol ต่อโชคชะตากรรมของ Violette สังเกตว่าเธอเหลือบตามองเบื้องบน ราวกับจับจ้องสรวงสวรรค์ พาดพิงคำตัดสิน(ยุคสมัยนั้น)ที่อ้างความเชื่อศรัทธาศาสนา คำสอนของพระเป็นเจ้า ท้ายที่สุดแล้วตนเองได้รับการอภัยโทษ พ้นผิดทุกข้อกล่าวหา … นี่ต้องถือเป็นการสำแดงอคติ ต่อต้านศาสนา หมดศรัทธาต่อพระเจ้าของผกก. Chabrol

ตัดต่อโดย Yves Langlois (เกิดปี 1945) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Mulsanne, Sarthe ผลงานเด่นๆ อาทิ Violette Nozière (1978), The Plouffe Family (1981), Quest for Fire (1981) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Violette Nozière ช่วงครึ่งแรกนำเสนอวิถีชีวิต โลกสองใบ (ภายใน-นอกบ้าน) ที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม จากนั้นหมอวินิจฉัยว่าติดโรคซิฟิลิส ครุ่นคิดแผนการฆาตกรรม จุดเปลี่ยนคือครึ่งหลังที่จะกระโดดข้ามฉากข้ามฉากฆาตกรรม ต้องรอคอยจนกว่าถูกจับคุม คุมขัง พิจารณาคดีความ ถึงแทรกภาพย้อนอดีต (Flashback) อธิบายเบื้องหลังความจริงทั้งหมด

  • โลกสองใบของ Violette Nozière
    • เมื่ออยู่นอกบ้าน แต่งตัวสวย ขายบริการ ระริกระรี้แรดร่าน เกี้ยวพาราสีผู้ชายไม่ซ้ำหน้า
    • พอกลับมาบ้านกลับสงบเสงี่ยม ตั้งใจเรียน ทำตัวเหมือนเด็กดี แต่แท้จริงแล้วเต็มไปด้วยความเก็บอด อัดอั้น พยายามปิดกั้นเสียงร่วมรักระหว่างบิดา-มารดา
  • Violette ติดโรคซิฟิลิส
    • หมอวินิจฉัยว่า Violette ติดโรคซิฟิลิส
    • Violette รับรู้จากเพื่อนนักเรียนแพทย์ว่าซิฟิลิสสามารถเป็นโรคทางพันธุกรรม จึงนำไปใช้เป็นข้ออ้างกับบิดา-มารดา หลงเชื่อสนิทใจ
    • Violette วางแผนฆาตกรรมบิดา-มารดา แต่ทว่าใช้ยานอนหลับปริมาณน้อยเกินไป
  • Violette กับนักเรียนกฎหมาย Jean Dabin
    • Violette ตกหลุมรักชายในฝัน Jean Dabin พร้อมปรนเปรอ จ่ายเงิน ขอเพียงได้อยู่เคียงข้างกัน
    • Violette ลักขโมยเงินครอบครัว เพื่อมาปรนเปรอ Jean Dabin
    • แต่อีกฝ่ายมักสรรหาสารพัดข้ออ้าง เรียกร้องโน่นนี่นั่น ก่อนสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ
    • มารดาค้นพบจดหมายรักของ Violette แล้วเปิดเผยกับบิดา
  • Violette ลงมือฆาตกรรมบิดา
    • หลังจัดเตรียมอาหารเสร็จสรรพ Violette ก็หาข้ออ้างออกนอกบ้าน
    • หวนกลับมาพบเห็นร่างไร้วิญญาณบิดา ลากพามารดาไปอีกห้อง เปิดแก๊สรั่ว แสร้งว่าเกิดเหตุฆ่าตัวตาย
    • Violette พยายามหาทางหลบหนี แต่สุดท้ายก็ถูกตำรวจควบคุมตัว
  • Violette กับการพิจารณาคดีความและคำตัดสิน
    • Violette ในเรือนจำ หวนระลึกถึงตอนฆาตกรรมบิดา
    • เมื่อพบเจอมารดาในศาล ฝันถึงวัยเด็กที่ยังไม่รับรู้เดียงสา
    • เชิญบรรดาคนรักของ Violette มาให้การต่อหน้าผู้พิพากษา
    • ศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ลดโทษเหลือใช้แรงงานหนักตลอดชีวิต

ใครที่เคยรับชมผลงานของผกก. Chabrol มาปริมาณหนึ่ง ย่อมสัมผัสถึงสไตล์ลายเซ็นต์ แนวทางสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่มักจะ “Anti-Thriller” ฉากฆาตกรรมแทนที่จะแพรวพราวด้วยลูกเล่น กลับทำเหมือนเหตุการณ์ธรรมดาสามัญทั่วไป นั่นคือเหตุผลที่หนังเรื่องนี้เลือกตัดข้ามฉากฆาตกรรม แล้วค่อยแทรกภาพเล่าย้อนอดีตให้พบเห็นคราวหลัง

ผกก. Chabrol ให้เหตุผลการแทรกภาพย้อนอดีตที่มักปรากฎขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เพื่ออธิบายความคลุมเคลือ ไม่รับรู้คำพูดของ Violette จริงเท็จประการใด? แต่ผมกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นเลยนะ นั่นเพราะ Flashback เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญญะ มันยิ่งเสริมข้อกล่าวอ้าง อธิบายเหตุผลว่าทำไมเธอถึงพูดคำโกหกหลอกลวงเสียมากกว่า


เพลงประกอบโดย Pierre Georges Cornil Jansen (1930-2015) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roubain, โตขึ้นเข้าเรียน Conservatoire de Roubaix (เปียโนและดนตรี Harmony) ต่อด้วย Royal Conservatory of Brussels ประพันธ์เพลงออร์เคสตรา, Chamber Music, มีชื่อเสียงจากบทเพลงแนว Avant-Garde จากนั้นกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Claude Chabrol ตั้งแต่ Les Bonnes Femmes (1960)

แวบแรกได้ยินเสียงแซกโซโฟน ท่วงทำนอง Tango มันช่างมีความยั่วเย้ายวน รันจวนใจ ชวนให้นึกถึงหนังสายลับ Mata Hari แต่จะว่าไปเรื่องราวของ Violette Nozière ก็สามารถมองในแง่มุมนั้น เพราะเธอมีโลกสองใบที่แตกต่างตรงกันข้าม เก็บกด-ปลดปล่อย กักขัง-อิสรภาพ สร้างภาพภายนอกเพื่อปกปิดบังตัวตนแท้จริงภายใน

ปล. แซกโซโฟน เป็นเครื่องดนตรีที่สามารถรำพันความรู้สึกตัวละครได้หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่มักใช้ระบายอารมณ์อัดอั้นภายใน โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย

งานเพลงของหนังทำออกมาในสไตล์ย้อนยุค คละคลุ้งกลิ่นอายฝรั่งเศสทศวรรษ 30s เน้นความเรียบง่าย ฟังสบาย ท่วงทำนองคุ้นหู ด้วยเครื่องดนตรีแอคคอร์ดเดียน เปียโน แซคโซโฟน และแต่ง/ขับร้องโดย Dominique Zardi ซึ่งล้วนรำพันความอดกลั้น อัดอั้นของตัวละคร Violette คร่ำครวญ โหยหาอิสรภาพ

บทเพลงที่ผมถือเป็นไฮไลท์ของหนังชื่อว่า Le Poison รำพันความรู้สึกของ Violette ระหว่างวางยาพิษ กระทำปิตุฆาต ท่วงทำนองมีการผันแปรเปลี่ยนไปมา บางครั้งเสียงแซกโซโฟนดังเด่นชัด แล้วจู่ๆเครื่องสายบรรเลงอย่างกรีดกราย เปียโนกดโน๊ตสะเปะสะปะ สารพัดความบิดๆเบี้ยวๆ กระโดดไปกระโดดมา เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย สะท้อนความขัดแย้งภายในจิตใจตัวละครได้อย่างตราตรึง

ถอดบทเรียนจากคดีความอันอื้อฉาวของ Violette Nozière เพราะเหตุใด? ทำไม? หญิงสาววัย 18 ปี ถึงกระทำการปิตุฆาต (Patricide) รวมถึงเกือบจะมาตุฆาต (Matricide) โดยไม่รับรู้สาสำนึกผิดใดๆ

พฤติกรรมดังกล่าวต้องถือว่ามีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย ได้รับฉายา “Ange noir” (Black Angle) แต่ระหว่างการพิจารณาคดีความ เธอกล่าวอ้างว่าถูกบิดาข่มขืนกระทำชำเรา ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงหรือโป้ปดมดเท็จ นั่นทำให้ผู้คนจำนวนมากเกิดอาการชะงักงัน นี่ฉันด่วนตัดสินอะไรไปหรือเปล่า? บังเกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ บ้างถึงกับให้การส่งเสริมสนับสนุนว่าเป็นการโต้ตอบอันเหมาะสม!

ประเด็นมันไม่ใช่ว่า Violette พูดความจริงหรือโกหกพกลม แต่คือคำถามเดียวกับการลงมือฆาตกรรม เพราะเหตุใด? ทำไม? ทุกสิ่งอย่างล้วนมีเบื้องหลัง สาเหตุผล ที่มาที่ไป แรงจูงใจในการกระทำ

สิ่งที่หนังพยายามอธิบายคืออิทธิพลแวดล้อม แรงกดดันจากครอบครัว มารดาผู้มีความเข้มงวดกวดขัน เต็มไปด้วยความคาดหวัง ถ้อยคำเสแสร้ง สร้างภาพ หาได้สนใจความรู้สึกบุตรสาว โดยเฉพาะบิดาพฤติกรรมสำส่อน ถึงไม่พบเห็นขณะร่วมเพศสัมพันธ์กับบุตรสาว แต่การสัมผัส โอบกอด ลูบไล้ ย่อมสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับผู้ชม

การที่คนเราจะมีโลกสองใบ สองตัวตน สองบุคลิกภาพ มักเกิดจากชีวิตด้านหนึ่งที่ไม่สุขสมหวัง เต็มไปด้วยความเก็บกด อดกลั้น ทนทุกข์ทรมาน แล้วถูกพันธนาการไม่ให้ดิ้นหลบหนี จนเมื่อมีโอกาสดิ้นหลุดรอด มุดออกทางช่องว่าง ก็พร้อมปลดปล่อยตนเอง กางปีกโบยบินสู่อิสรภาพ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนห่าเหวอะไรใคร เพียงตอบสนองตัณหาความใคร่ พึงพอใจส่วนตน

  • การโป้ปดมดเท็จ คือความพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดจากสถานการณ์เลวร้าย สรรหาสรรพข้ออ้าง ชักแม่น้ำทั้งห้า ถ้าโดนจับได้ก็ไถลไปต่อ จนกว่าจะถูกต้อนจนมุมถึงค่อยยินยอมรับสารภาพ
  • กลายเป็นโสเภณีไม่ใช่ตอบสนองตัณหาความใคร่ แต่คือทำงานหาเงิน (หลายครั้งก็ลักขโมยจากครอบครัว) เพื่อนำมา …
  • เลี้ยงดูแล ปรนเปรอชายคนรัก/แมงดา เรียกร้องเท่าไหร่ก็พร้อมสรรหามาให้ ใช้เงินซื้อใจเขา ขอแค่เราได้อยู่เคียงข้าง เติมเต็มช่องว่างหัวใจ

ผกก. Chabrol เกิดในชนชั้นกลาง กินหรูอยู่สบาย ครอบครัวมีฐานะการเงินมั่งคั่ง แต่ตัวเขาไม่แตกต่างจาก Violette ถูกคาดหวัง แรงกดดัน ต้องการให้สืบสานกิจการครอบครัว รู้สึกไม่ชอบ ไม่อยากเรียนต่อ พยายามต่อต้านขัดขืน จนกระทั่งค้นพบโลกอีกใบ ถูกลักพาตัวโดยปีศาจร้าย “seized by the demon of cinema”

สิ่งที่ผกก. Chabrol ต้องการกล่าวโทษนั้นไม่ใช่ที่ตัวบุคคล แต่พยายามโจมตีสถานะทางสังคม โดยเฉพาะชนชั้นกลาง (Bourgeoisie หรือ Middle Class) ที่มักทำการปลูกฝัง เต็มไปด้วยความคาดหวัง ราวกับพันธนาการเหนี่ยวรั้ง ชีวิตไร้ซึ่งอิสรภาพ ต้องการโบยบินออกจากคุกคุมขัง … ผลงานยุคหลังๆของผกก. Chabrol มักเกี่ยวกับจุดแตกหักต่อชนชั้นกลาง และทุนนิยมทำให้ทุกสิ่งอย่างฟ่อนเฟะ เน่ะเละเทะ เสื่อมโทรมทราม ไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ

การต่อสู้ดิ้นรนของ Violette ถือได้ว่าคือสัญลักษณ์แห่งสตรีนิยม (Feminist) กล้าจะครุ่นคิด พูดบอก แสดงออก โต้ตอบกับสิ่งชั่วร้าย (โดยเฉพาะอิทธิพลของบุรุษเพศ) เพื่อให้ได้ซึ่งอิสรภาพทางจิตวิญญาณ และเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน หลังสงครามโลกสิ้นสุดไม่นาน เธอก็ได้รับการอภัยโทษ ปล่อยตัวจากเรือนจำ หวนกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติได้อีกครั้ง!


เมื่อปีก่อน La Dentellière (1977) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เห็นว่า Isabelle Huppert เป็นหนึ่งในตัวเต็งคว้ารางวัล Best Actress แต่พลาดไปอย่างน่าเสียดาย, พอมาปีนี้กับ Violette Nozière (1978) เห็นว่า Claude Goretta (ผู้กำกับ La Dentellière (1977)) ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ก็ไม่รู้ว่าช่วยล็อบบี้อะไรไหม แต่มีผู้ชนะรางวัลนี้ถึงสองคน ก็ชวนให้น่าคิดอยู่เหมือนกัน

  • Jill Clayburgh จากภาพยนตร์ An Unmarried Woman (1978)
  • Isabelle Huppert จากภาพยนตร์ Violette Nozière (1978)

เกร็ด: Violette Nozière (1978) คือภาพยนตร์เรื่องแรกของผกก. Chabrol เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes

ด้วยทุนสร้าง 1,360,000 CAD (ดอลลาร์แคนาดา) แม้เสียงตอบรับจะกลางๆ แต่สามารถทำยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศส 1,074,507 ใบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และช่วงปลายปีได้เข้าชิง César Awards จำนวน 4 สาขา คว้ามาเพียงรางวัลเดียว

  • Best Actress (Isabelle Huppert)
  • Best Supporting Actress (Stéphane Audran) **คว้ารางวัล
  • Best Production Design
  • Best Music

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (ไม่รู้ HD หรือ 2K) โดย Laboratoires Eclair ด้วยทุนสนับสนุนจาก ARTE France Cinéma และ René Chateau Video เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2018 แต่เหมือนจะไม่ผู้จัดจำหน่าย DVD/Bluray จึงยังหาช่องทางออนไลน์ไม่ได้ … ฉบับ DVD ของค่าย Koch Lorber แม้งคุณภาพ Bootleg แค่ชื่อบริษัทยังเลียนแบบ Kino Lorber

เกร็ด: ในบรรดาผลงานทั้งหมดของผกก. Claude Chabrol แม้เจ้าตัวไม่เชื่อเรื่องเล่าหญิงสาว (ที่ว่าถูกบิดาข่มขืน) แต่ทว่ากลับชื่นชอบโปรดปราน Violette Nozière (1978) น่าจะที่สุดแล้ว “I fell in love with Violette long before I ever understood her.”

แม้คุณภาพของตัวหนังจะค่อนข้างน่าผิดหวัง ผกก. Chabrol ติสต์แตกไปไกล! แต่ทว่าการแสดงของ Isabelle Huppert (และ Stéphane Audran) ก็เพียงพอให้เพลิดเพลิน น่าติดตาม เกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ เห็นแววความยิ่งใหญ่ ใคร่อยากรับชมการร่วมงานครั้งถัดๆไป

จัดเรต 18+ กับโสเภณี ซิฟิลิส ข่มขืน ฆาตกรรม

คำโปรย | เรื่องราวชีวิต Violette Nozière นำแสดงโดย Isabelle Huppert ปกคลุมด้วยความมืดหมองหม่น น่าสงสารเห็นใจ จุดประกายความหวังให้กับคนรุ่นใหม่
คุณภาพ | มืดหม่น
ส่วนตัว | สงสารเห็นใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: